จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษ/ตอนที่ 7
ตอนที่ ๗ ว่าด้วยที่ว่าราชการ ชื่อปาลิเมนต์แลเมืองเบอมิงฮัม เมืองแมนเชสเตอ เมืองลิเวอปูล แลเมืองชิฟิลว์
[แก้ไข]วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง มิศเตอร์เฟาล์ให้จัดรถมารับพวกราชทูตไปเฝ้ากวีนที่ปาลิเมนต์ (๑) ที่นั้นเปนตึก ใหญ่โตกว้างขวาง ก่อด้วยศิลาสูงประมาณ ๓๐ วาเศษมียอดแหลม สำหรับประชุมขุนนาง ครั้นไปถึงแล้วเจ้าพนักงานจัดแจงให้นั่งอยู่ตาม ที่อันควร จนเวลาบ่าย ๒ โมงกวีนจึงเสด็จมาเปนกระบวนแห่อย่างหลวง มีรถเจ้าเทียมม้ารถละ ๓ คู่ ๕ รถนำมาก่อน ถัดมาถึงทหารแต่งตัวใส่เกราะเงินขี่ม้าตะพายปืน ๒ แถว ๆ ละ ๒๕ คน รวม ๒ แถว ๕๐ คน ต่อมาทหารใส่เกราะเหล็ก ขี่ม้าถือดาบ ๒ แถว ๖๐ คน ทหารแต่งตัว อย่างสกอดลันด์ ถือหวายเทศซ่นเงิน ๒ แถว ๖๐ คน ถือตระบอง หุ้มเงิน ๒ แถว ๖๐ คน ถือขวานปลายเปนกฤช ๒ แถว ๔๐ คน แล้ว ถึงรถกวีนทรง สลักเปนลวดลายปิดทอง เทียมม้า ๔ คู่ บนหลัง คารถทำเปนอย่างตราสำหรับเมือง บนท้ายรถมีทหารขัดกระบี่ยืนอยู่ ๔ คน ต่อไปหลังรถมีม้าแต่งเครื่องที่พระราชทานออกไปแต่กรุงเทพ ฯ ม้าหนึ่ง (๒) แล้วทหารแต่งตัวใส่เกราะตะพายปืนถือดาบขี่ม้าดำ ๔ แถว ๑๐๐ ม้า เมื่อกวีนเสด็จถึงที่ปาลิเมนต์ มีทหารแต่งตัวอย่างสกอดลันด์ ถือขวานปลายเปนกฤช ยืนคอยรับเสด็จ ๒ แถว ๒๐ คน ถือปืน ปลายหอก ๒ แถว ๖๐ คน ขุนนางเดินนำเสด็จ ๒ แถว ๓๐ คน ขุนนาง เชิญพระมาลากำมะหยี่คนหนึ่งเชิญเกราน์ประดับเพ็ชรคนหนึ่ง เดินนำ เสด็จไปก่อน เมื่อกวีนเสด็จลงจากรถ เจ้าซึ่งเปนสามีชื่อปรินสอาลเบิต จึงรับพระกรข้างซ้ายเดินไปด้วยกัน เจ้าเฟรดดริกวิลเลี่ยมก็ตามเสด็จ ด้วย เมื่อกวีนเสด็จดำเนินไปนั้น มีกำมะหยี่แดงประมาณยาว ๑๐ ศอก กว้าง ๒ ศอก ริมปักทองผูกกับบั้นพระองค์ แล้วมีผู้หญิงชาย กำมะหยี่นั้นคู่ ๑ ถัดออกไปขุนนางถืออิก ๒ คู่ แล้วมีทหารถือตระบอง หุ้มเงินอิก ๔ คู่ ก่อนกวีนยังไม่เสด็จเข้าไปนั้น เจ้าหญิงลูกเธอ องค์ใหญ่กับเจ้าหญิงน้องดุกแกมบริชเดินเข้าไปก่อน ไปนั่งอยู่บนที่ แห่งหนึ่งตรงหน้าพระที่นั่งโธรน แล้วกวีนจึงเสด็จไปขึ้นบนพระที่นั่งโธรน ปรินสอาลเบิตจึงนั่งลงบนที่ข้างซ้าย แต่ลดต่ำลงกว่าพระที่นั่งของกวีน หน่อยหนึ่ง เจ้าชายลูกเธอที่ ๒ ชื่อปรินสเวลส์ นั่งบนที่ข้างขวา สูงเท่ากับบิดา มีขุนนางคนหนึ่งเชิญพระแสงดาบยาว อิกคนหนึ่ง เชิญกราน์ประดับเพ็ชรสำหรับกษัตริย์ยืนอยู่ริมพระที่นั่งข้างขวา ฝ่ายซ้าย มีขุนนางยืนถือแส้หวายเทศอีก ๔ คน
กวีนนั้นทรงฉลองพระองค์ขาว กระจังที่ใส่พระเศียร สร้อยระย้าใส่พระศอ กำไลใส่พระกร แลธำมรงค์ ล้วนประดับเพ็ชรสิ้นทั้งนั้น เมื่อเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งโธรนแล้ว จึงทรงอ่านหนังสือประมาณ ๖ นาที ทรงอ่านแล้วก็เสด็จลงจากพระที่นั่งจะกลับคืนไปวังบักกิงฮำ เยนเนอรัล กัศต์จึงพาพวกราชทูตไปดูกระบวนแห่เสด็จอยู่ที่หน้าห้องแห่งหนึ่ง เมื่อ รถทรงมาถึงที่นั้นพวกราชทูตพร้อมกันถอดหมวกก้มศีร์ษะลงคำนับกวีนแลปรินสอาลเบิต ก็ก้มพระเศียรลงรับ แล้วเสด็จเลยไป ราชทูตก็ ขึ้นรถกลับมาที่อยู่ (๓)
วันจันทร เดือนอ้าย แรม ๖ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ราชทูตไป หาเลอรด์กลาเรนดอน แล้วบอกว่าจะลาไปเที่ยวดูที่ทางที่ทำสิ่งของประหลาดที่เมืองเบอมิงฮัม เมืองแมนเชสเตอ แลเมืองลิเวอปูล เลอรด์ กลาเรนดอนจึงตอบว่า ท่านจะไปดูการทั้งปวงนั้นชอบแล้ว เชิญไปเถิด
วันอังคาร เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ เวลาเที่ยง ราชทูต อุปทูต หม่อมราโชไทย จมื่นราชมาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ๕ นายกับล่ามเสมียนคนใช้รวม ๑๐ คน แต่จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูตป่วยอยู่หาได้ ไปไม่ พวกราชทูตขึ้นรถไฟไปเมืองเบอมิงฮัมก่อน ตามทางที่ไปจาก เมืองลอนดอนนั้นมีนา เข้าโพด เข้าสาลี นาหญ้า ไร่ผัก แลเปนสวนบ้างบ้านบ้าง หนทางที่รถไฟไปบางทีต้องเข้าในภูเขา เจาะเปนอุโมงค์ยาว ๑๐๐ เส้นบ้าง ๒๐๐ เส้นบ้าง บางแห่ง ๖๐ เส้นบ้าง ๗๐ เส้นบ้าง ในอุโมงค์นั้นมืดไม่เห็นสิ่งใดเลย บางแห่งทำเปนตะพานข้าม แล้วมีคลองน้ำไหล เรือเดินได้บนตะพาน ใต้ตะพานเปนทางคนเดิน บางแห่งบนตะพานก็มีคลองใต้ตะพานก็มีคลอง เปนคลองเรือเดินได้ทั้ง ๒ ชั้น ตั้งแต่ เมืองลอนดอนถึงเมืองเบอมิงฮัมทาง ๑๑๒ ไมล์ คือ ๕,๐๔๐ เส้น เมื่อ ไปถึงแล้ว เจ้าเมือง (๔) จึงมาหาราชทูต เชิญไปให้พักอยู่ที่โฮเต็ล โฮเต็ลนั้นชื่อกวีนส์โฮเต็ล รุ่งขึ้นเจ้าเมืองจึงจัดรถ ๓ รถมารับราชทูต แลข้าหลวงไปดูที่ทำเครื่องทองเหลือง ที่ทำเบี้ยทองแดง ที่ทำแก้วทำ กระจก ที่ทำเครื่องเหล็ก ที่ทำถาดกระดาษ หีบกระดาษของต่าง ๆ ทำด้วยกระดาษแล้วทาน้ำมันเขียนลายทอง (๕) ราชทูตพักอยู่ในเมือง เบอมิงฮัม ๔ วัน
วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเที่ยงแล้ว จึงพร้อมกัน ขึ้นรถไฟไปถึงเมืองแมนเชสเตอ ทาง ๑๑๐ ไมล์ คือ ๔,๙๕๐ เส้น เจ้าเมืองก็มาคอยรับ (๖) เชิญให้ทูตานุทูตไปพักอยู่ที่โฮเต็ลกวีนเหมือน อย่างเมืองเบอมิงฮัม ราชทูตพักอยู่ ๗ วัน ได้ไปเที่ยวดูหลายตำบล คือที่ทำฝ้าย ที่ทอผ้า ที่ทำปืน ที่ทำของอื่นอีกหลายอย่าง (๗)
ณวันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงครึ่ง จึงขึ้น รถไฟออกจากเมืองแมนเชสเตอไปเมืองลิเวอปูล ทาง ๔๐ ไมล์ คือ ๑,๘๐๐ เส้น เจ้าเมืองก็มาคอยรับเหมือนเมืองที่ว่ามาแล้วนั้น แต่ท่านผู้อ่านผู้ฟังจะสงสัยว่าเหตุใดเจ้าเมืองจึงจะรู้จะได้มาคอยรับ ข้าพเจ้าจะบอกให้ท่านทราบ ด้วยเมื่อราชทูตจะออกจากเมืองนี้ไปเมืองโน้น ฝ่าย เจ้าเมืองข้างนี้บอกไฟฟ้า ที่อังกฤษเรียกว่าเตลคราฟไปถึงเมืองข้างโน้น ว่าราชทูตจะไปเวลานั้น และจะถึงเวลานั้น เพราะฉนี้เจ้าเมืองข้างโน้นรู้ จึงได้มาคอยรับ
เมื่อราชทูตไปถึงเมืองแล้ว รุ่งขึ้นวันหนึ่งเจ้าเมืองจัดรถมารับ ๓ รถพาไปดูอู่สำหรับตั้วสิวกำปั้น อู่นั้นบางทีมีหลังคา บางทีก็ไม่มี หลังคาทำด้วยแก้วเพราะจะให้สว่าง เสาแลขื่อเครื่องทั้งปวงทำด้วยเหล็ก พื้นล่างข้างอู่ก่อด้วยศิลา เมื่อกำปั่นเข้าในอู่แล้วจึงปิดประตูเสีย สูบน้ำ ออกจนหมด ในอู่ก็แห้งดี คนเดินยืนนั่งทำการได้ ที่เมืองลิเวอปูลมี อู่มากเรียง ๆ กันไปตามลำแม่น้ำ กำปั่นเข้าอู่ไว้ดูเสากระโดงสพรั่งดัง ต้นหมาก จะนับจะประมาณมิได้
เวลาค่ำเจ้าพนักงานนำไปดูละคอน ละคอนเมืองนั้นเล่นม้าคล้ายละคอนในเมืองลอนดอน แต่ม้าดีกว่าม้าที่เมืองลอนดอน ใช้ให้ยิงปืน ก็ได้ แล้วให้รำเท้า ให้กินโต๊ะ ให้ก้มศีร์ษะหมอบลงคำนับราชทูตแล คนอื่น ๆ ม้าก็ทำตาม เจ้าของเห็นม้าเมิน จึงเอาผ้าเช็ดหน้าม้วน ให้เล็กทิ้งไปแล้วใช้ให้ม้าไปเที่ยวหา ม้าก็เที่ยวดมเอากลิ่นหาผ้าได้ คาบเอากลับมาให้ เจ้าของทำเปนไม่เห็นแกล้งเดินหนีเสีย ม้าก็เดิน ตามไปจนเจ้าของรับเอา แต่ทำดังนั้นถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้งม้าก็หาผ้าได้ ทุกที แล้วบอกม้าว่าเราจะเอาผ้านี้โยนขึ้นไป จงคอยรับเอา อย่าให้ตกถึงพื้นได้ แล้วม้วนผ้าโยนขึ้นไป ม้าก็เอาปากรับเอาไม่ตกเลย บางที เล่นหกคะเมนไต่ลวดต่าง ๆ จะรำพรรณเรื่องละคอนให้สิ้นเห็นยืดยาวนัก ว่าแต่พอเปนสังเขป ยังวิเศษมากอยู่ พวกราชทูตพักอยู่ในเมืองลิเวอปูล ๔ วัน (๘)
ณวันพฤหัสบดี เดือน ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงครึ่ง พร้อม กันไปขึ้นรถไฟกลับมาเมืองแมนเชสเตอ รุ่งขึ้นเปนวันตรุษข้างอังกฤษ ชาวบ้านชาวเมืองเลิกการไม่ได้ค้าขาย แล้วเอากิ่งไม้ดอกมาปักในเรือน ทุกบ้านทุกเมือง เวลาค่ำเลี้ยงโต๊ะชวนมิตรสหายญาติกามากิน แล้ว ร้องเล่นเต้ารำเปนการสนุกต่าง ๆ (๙)
วันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ บ่าย ๕ โมง ราชทูตขึ้นรถไฟออกจากเมืองแมนเชสเตอ ไปทาง ๕๐ ไมล์ คือ ๒,๔๗๕ เส้น ถึงเมืองชิฟิลด์ (๑๐) เมืองนั้นทำเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำด้วยเหล็ก ราชทูตพักอยู่ ๒ วัน เที่ยวดูการงานเสร็จแล้ว ณวันอังคารเดือน ๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ บ่าย โมงครึ่งออกจากเมืองชิฟิลด์ ขึ้นรถไฟมาเมืองเบอมิงฮัม ทาง ๖๐ ไมล์ คือ ๒,๗๐๐ เส้น อยู่ในเมืองนั้น ๒ วัน ณวันพฤหัสบดี เดือน ๒ แรมค่ำ ๑ บ่าย ๕ โมงครึ่งออกจากเมืองเบอมิงฮัม กลับมาเวลา๔ ทุ่มครึ่งถึงโฮเต็ล ในเมืองลอนดอน เมื่อพวกราชทูตไปพักอยู่ที่เมืองใด ๆ เจ้าเมืองก็เอา ใจใส่ให้เลี้ยงดูเปนสุขทุกแห่งทุกตำบล
วันอังคาร เดือน ๒ แรม ๖ ค่ำ หนาว ปรอทลงถึงที่ ๒๘ น้ำแขงวันพฤหัสบดีเดือน ๒ แรม ๑๔ ค่ำ มิศเตอร์กริศติ เปนบุตรเศรษฐี อยู่ในเมืองลอนดอน มาเชิญพวกราชทูตไปดูรำเท้าที่บ้าน วันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ กวีนรับสั่งให้มาเชิญพวกราชทูตทั้ง ๖ คนไปที่ตึกสำหรับชักรูปให้ช่างชักรูปถวาย (๑๑) ราชทูตทั้ง ๓ จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ๕ คนพร้อมกันขึ้นรถไปที่ตึกนั้นแต่หม่อมราโชไทย จับไข้อยู่ไปหาได้ไม่ นายช่างได้ชักรูปถวายแต่ ๕ รูป
(๑) คือ ในพิธีเสด็จเปิดปาเลียเมนต์
(๒) ที่มีม้าจูงนี้ ควรสังเกตว่าจัดเปนการพิเศษสำหรับทูตไทย
(๓) แต่งพรรณาพิธีเปิดปาเลียเมนต์อังกฤษในหนังสือนี้ถูกต้องน่าชม
(๔) ที่ว่าเจ้าเมืองตรงนี้ คือ อธิบดีประชาภิบาล ชื่อนายยอน เรดคลิฟ
(๕) ในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า วันพุธตรงกับเดือนอ้ายแรม ๘ ค่ำ ทูตไปดู ที่เหล่านี้ คือ
๑ ห้างวันฟิลด์ (ทำเครื่องแก้ว )
๒ ห้างฮีตันแอนสัน ทำเบี้ยทองแดง
๓ ห้างฮีตันบริษัท ทำของทองเหลือง ทองแดง
๔ ห้างเยนเนอแอนด์เบตตริช ทำเครื่องกระดาษ
ค่ำไปดูโอปรา เล่นที่โรงแคลเลอรี อิลลัสเตรชัน รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดีไปดูที่ทำการ ต่าง ๆ คือ
๑ ห้างเตเลอ ทำเครื่องจักรต่าง ๆ ทูตสั่งให้ทำเครื่องโรงกระสาปน์.
๒ ห้างรีฟทำเครื่องอาวุธ
๓ ห้างเอลกิงตัล แอนเมสัน ทำเครื่องเงิน
วันเสาร์ไปดูห้างคอลลิส ช่างพิมพ์เงิน ค่ำไปดูโอปราอิกครั้ง ๑.
(๖) แมย์ประชาภิบาลเมืองแมนเชสเตอ ชื่อ นายแมกกี.
(๗) หนังสือพิมพ์อังกฤษว่า วันจันทร์ตรงกับเดือนอ้ายแรม ๑๓ ค่ำ ทูตไปดู ที่ต่าง ๆ ในเมืองแมนเชสเตอ ดังนี้
๑ โรงจักรปั่นฝ้ายแลทอผ้าของเซอเอลกะนา อามิเตช
๒ ไปดูศาลากลาง
๓ โรงไว้สินค้าของนายวัตส
๔ โรงทำปืนของนายวิดเวอท
รุ่งขึ้นวันอังคาร ไปดูที่ต่าง ๆ ในเมืองแมนเชลเตอ คือ
๑ โรงทำเครื่องจักร ของห้าง ชาบแอนด์ สต๊วต
๒ โรงจักร (ทอผ้า) ของห้าง แฟเบน
วันพุธ ไปแต่ราชทูต ไปดูที่ต่าง ๆ คือ
๑ โรงทำรถพ่วงรถไฟ ของนายแอชบุรี
๒ โรงทำตะปูเกลียว ของนายแคลสโค
๓ ห้างทำเครื่องเพ็ชรพลอย ของนายเฟอนิส
(๘) รายการทูตไปเมืองลิเวอปูล ตามที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์อังกฤษนั้นแมย์ ชื่อนายโฮล์ม มารับไปพักที่โฮเต็ล ชื่อ อเดลฟี ในวันนั้นเซอเอดวาดคัซต์ ที่ เปนพนักงานกรมพระราชพิธีได้คุ้นเคยกับทูตแล้วเชิญทูตไปเลี้ยงกลางวันที่ลิโซ คาสเตล บ้านสำหรับสกุล แล้วพาไปดูอู่เรือที่ตำบล เบอเกนเหด รุ่งขึ้นไปดูอู่เหนือ แล้วดูอู่ ต่าง ๆ ลงมาจนที่สุดอู่ชื่อปรินส์ ดูท่าขึ้นที่ทำใหม่ แล้วไปดูโรงต่อเรือกำปั่นของนาย ยอนแลด ค่ำไปดูละคอนโรง ชื่อ รอแยล แอมฟีทีเอเตอ วันอังคารไปดูตึกเซนต์ยอช เปนตึกที่ประชุมสำหรับเมือง แล้วไปห้างขายของของนายเฮาสเบิค แล้วไปดูโรงหล่อ ของห้างฮอสฟอล แล้วไปดูโรงจักรเลื่อยไม้ของนายนิโคลสัน แล้วไปดูโรงหล่อของ ห้างฟอเซตแอนด์เปรสตัน เวลาค่ำไปดูละคอนม้าโรงชื่อ เฮงเลอวะไรเอตีเซอคัส วันพุธ แมย์เชิญไปเลี้ยงแบงเควตที่ศาลากลาง เชิญกงสุลต่างประเทศกับผู้มีบันดาศักดิมาพบทูต
(๙) คือ คฤศต์มัส.
(๑๐) รายการต่างๆที่ทูตไทยไปดูที่เมืองเชฟฟิลด์ ตามที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ อังกฤษ ดังนี้
ทูตพักที่โฮเต็ลรอแยล นายแยกสัน แมย์เมืองเชฟฟิลด์มาต้อนรับ วันจันทร์ พาไปดู
๑ โรงถลุงเหล็กกล้า ชื่อเอตนา
๒ โรงทำมีด ชื่อหาตฟอด
๓ โรงถลุงเหล็ก ชื่อวิกเกอ
๔ โรงทำมีด ของนายโยเสฟ รอเยอ ช่างหลวง
เวลาค่ำไปดูละคอนแปนโตไมม์ ที่โรงทิเอเตอรอแยล วันอังคารไปห้างยอนเฉบเปิด
(๑๑) ถ่ายรูปที่นายเมยัล ถนนรีเยนต์ แต่หนังสือพิมพ์อังกฤษว่า ถ่ายก่อนไปหัวเมือง ที่ว่าตรงนี้เห็นจะถ่ายใหม่อีก ในตอนกลับจากหัวเมือง ปรากฎว่า นายปาเกอ์ แฮมมอนด์ จะเปนเศรษฐีฤๅพ่อค้าไม่ปรากฎ เชิญทูตไปเลี้ยงกลางวัน เปนการประชุมใหญ่
งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
- (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
- (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
- (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
- (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
- (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก