จดหมายเหตุ เรื่อง เจ้าพระยาภูธราภัยยกกองทัพไปปราบฮ่อ/ผู้วายชนม์

จาก วิกิซอร์ซ
  • นายพลเรือตรี พระยาราชวังวรรค์
  • พ.ศ. ๒๔๑๒–๒๔๖๔

ประวัติพระยาราชวังสรรค์

นายพลเรือตรี พระยาราชวังสรรค์ (เติม บุณยรัตพันธุ์) ทจ, ทม, ตช, รจม, รัตน วปร, ๓ ราชองครักษ์ องคมนตรี เกิดที่บ้าน คลองสพานหัน กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ เมษายน ปีมะเสง เอกศก จุลศักราช ๑๒๓๑ (พ.ศ. ๒๔๑๒) เปนบุตรนายจ่ารง (กลิ่น บุณยรัตพันธุ์) บุตรเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก มารดาชื่อ เกสร เมื่ออายุเจริญขึ้น บวชเปนสามเณรอยู่ที่วัดเครือวัลย์ ได้เล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักพระเทพกระวี (นิ่ม) วัดเครือวัลย์วรวิหาร ครั้นถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ อายุ ๑๘ ปี ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กอยู่ในเวรศักดิ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๓ ตำลึงอยู่ ๓ ปี แล้วเลื่อนขึ้นปีละ ๕ ตำลึง อยู่ ๒ ปี ปีละ ๗ ตำลึง ปี ๑ ปีละ ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง ปี ๑

ถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัฏเปนนายรองกวด มหาดเล็กเวรฤทธิ อยู่ ๒๕ วัน ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานสัญญาบัฏเลื่อนเปนนายสนิท มหาดเล็กหุ้มแพรเวรศักดิ ใน พ.ศ. นี้ ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีพระราชทานเบี้ยหวัดเปนเงินเดือน ตำแหน่งหุ้มแพร นายสนิทหุ้มแพรได้รับพระราชทานเดือนละ ๔๐ บาท

ในระหว่างนี้ นายสนิทได้มีหน้าที่ราชการหลายอย่าง คือ เปนมหาดเล็กรายงารตรวจการก่อสร้างถาวรวัตถุที่วัดมหาธาตุ ได้ตรวจรายงารศาลในเวลาที่พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เปนเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แลได้ไปตรวจสืบราชการกับเจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ที่มณฑลนครศรีธรรมราชตลอดถึงเมืองไทรบุรีในการที่ราษฎรอพยบครอบครัวไปต่างเมือง ถึงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัฏเลื่อนขึ้นเปนจมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๘๐ บาท

ถึงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนนายด้านทำการที่พระราชวังดุสิต คือ ตัดถนนเบญมาศนอก กว้าง ๒๓ วา ยาว ๑๔ เส้น ตั้งแต่ถนนดวงตวันในไปถึงสพานมัฆวาฬ ตัดทางถมดินปูอิฐทำรางน้ำแล้วเสร็จ ทำถนนคอเสื้อแต่คลองท่อทองไปจดคลองเปรมประชากร ตัดทางถมดินปูอิฐ แล้วขุดคลองลำปรัดแต่ถนนลูกหลวงผ่านคลองบ้านยวน คลองผดุง ไปจดคลองขื่อท่าริมทางรถไฟสายนครราชสิมา แลมีหน้าที่รักษาสวนที่เขากบ เมื่อเวลาเปนนายด้านไปรับราชการที่วังสวนดุสิต โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินในพระคลังข้างที่เปนค่าพาหนะไปมาเดือนละ ๖๐ บาท รวมทั้งเงินเดือนด้วยเปนเดือนละ ๑๔๐ บาท ได้รับพระราชทานบำเหน็จซองบุหรี่หนังลงยา กลักไม้ขีดไฟหนังลงยา มีพระบรมนามาภิธัยย่อ (จปร) ดุมข้อมือเชิ๊ตทองลงยามีพระบรมนามาภิธัยย่อเหมือนกัน กับเงินในส่วนพระองค์อิก ๓๐๐ บาท เปนรางวัลพิเศษสำหรับนายด้าน แลสิ่งอื่นเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ อิกบางอย่าง

ถึงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการอยู่ในกระทรวงทหารเรือ ได้เปนว่าที่นายนาวาตรี ตำแหน่งปลัดกรม ในกองทะเบียนกรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๒๐๐ บาท แต่ยังคงมีตำแหน่งในกรมพระตำรวจด้วย ถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคม โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัฏให้เปนพระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวร คงรับราชการอยู่ในกระทรวงทหารเรือแลกรมพระตำรวจ

ถึงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัฏยศเปนนายนาวาตรีในกระทรวงทหารเรือ คงรับราชการอยู่ในกรมทะเบียนกรุงเทพฯ นั้น

ถึงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัฏยศเปนนายนาวาโท คงรับราชการอยู่ในกองทะเบียน

ถึงวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดเกล้าฯ ให้เปนผู้บังคับการกองทหารเรือมณฑลจันทบุรี รับราชการอยู่ในมณฑลนั้น ๓ ปี

ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้กลับเข้ามารับราชการที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งหน้าที่ปลัดกรม ๆ ทหารเรือชายทเล ถึงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัฏยศเปนนายนาวาเอก คงรับราชการในตำแหน่งปลัดกรมนั้น

ครั้นถึงวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัฏบันดาศักดิเปนพระยาราชวังสรรค์ คงอยู่ในตำแหน่งปลัดกรมตามเดิม

ถึงวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดเกล้าฯ ให้เปนผู้บัญชาการกรมทหารเรือชายทเล ถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๗ โปรดเกล้าฯ ให้เปนราชองครักษ์เวร

ต่อมาถึงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนตุลาการศาลกรมบัญชาการทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเลื่อนขึ้นเปนนายพลเรือตรี ต่อมาถึงวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเปนองคมนตรี

ในระหว่างที่พระยาราชวังสรรค์ได้รับราชการอยู่นั้น มีบำเหน็จความชอบหลายครั้ง ได้รับพระราชทานพานทองแลเครองราชอิศริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า แลเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๒ ทวิติยาภรณ์ แลช้างเผือก ชั้นที่ ๓ ตริตาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ในรัชกาลปัจจุบัน ชั้นที่ ๓ แลเหรียญจักรมาลา เหรียญราชรุจิทอง กับทั้งเหรียญที่รฦกในการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิอิกหลายอย่าง

พระยาราชวังสรรค์ได้แต่งงารกับคุณหญิงทองคำ มีบุตรธิดารวม ๖ คน คือ

 สุวรรณ บุณยรัตพันธุ์

 รองอำมาตย์โท ขุนรักษ์นรา (เต็ม บุณยรัตพันธุ์) ตจ, บม,

 รองอำมาตย์ตรี ต่อ บุณยรัตพันธุ์

 อุไร บุณยรัตพันธุ์

 สุพรรณ บุณยรัตพันธุ์

 ทองใบ บุณยรัตพันธุ์

แลมีบุตรด้วยภรรยาอื่นอิกคน ๑ ชื่อ นายร้อยโท เติบ บุณยรัตพันธุ์

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๔ พระยาราชวังสรรค์เริ่มมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะเกี่ยวในทางอุจาระธาตุพิการ ต่อมาถึงวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ อาการป่วยกลายไปเปนทางอัมพาตอย่างแรง ครั้นถึงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เวลา ๒ นาฬิกาก่อนเที่ยง พระยาราชวังสรรค์ถึงแก่อนิจกรรม อายุได้ ๕๓ ปี เวลาพระราชทานน้ำอาบศพ มีกลองชนะเขียว ๖ จ่าปี่ ๑ หีบทองลายก้านขด ชั้นรองหีบ ๒ ชั้น ฉัตรเบญจาตั้ง ๔ เปนเกียรติยศ

อนึ่ง เมื่อเวลาพระยาราชวังสรรค์ป่วยหนักใกล้แก่จะถึงอนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงพระกรุณาเสด็จไปเยี่ยมเมื่อได้ทรงทราบข่าว พระยาราชวังสรรค์จึงได้กราบทูลฝากฝังศพแลครอบครัว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงรับเปนพระธุระจัดการศพตลอดจนถึงวันพระราชทานเพลิง นอกจากนี้แล้ว ยังได้ทรงพระกรุณาเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระกุศลประทานแก่ศพพระยาราชวังสรรค์เมื่อวันทำบุญสัตตมวาร ปัญญาสมวาร ศตมวาร ตลอดจนการศพเมื่อจะได้รับพระราชทานเพลิงด้วย

สิ้นประวัติพระยาราชวังสรรค์เพียงเท่านี้

(สำเนา)
ที่ ๙๗/๘๓๗
กรมราชเลขาธิการ
พระราชวังบางปอิน
 
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔
แจ้งความมายัง คุณหญิงทองคำ ราชวังสรร

ด้วยได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า นายพลเรือตรี พระยาราชวังวรร ถึงอนิจกรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าแสดงความเสียพระราชหฤทัยมายังท่าน

  • (ลงพระนาม) ธานีนิวัต
  • ลงนามแทนราชเลขาธิการ