ตำนานกรมทหารราบที่ ๔

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
ตำนานกรมทหารราบที่ ๔

กรมทหารบกราบที่ ๔ ปรากฎตามตำแหน่งแลนามกรมที่มีมาโดยลำดับ นับว่าเปนกรมที่สืบเนื่องเชื้อสายมาแต่โบราณกาล อุบัติเดิมก็คือกรมทหารที่ได้แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบแบบยุทธวิธีอย่างยุโรปเปนเริ่มแรกแต่ครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ ตามพระราชพงษาวดารก็ดี ในธรรมเนียบศักดินาทหารเดิมครั้งกรุงเก่าก็ดี ปรากฎมีนามกรมนี้อยู่ว่า "กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง" ซึ่งพระพิพิธเดชะเปนเจ้ากรมนั้น กรมนี้ย่อมมีอยู่แล้วหลายชั่วรัชกาล ในกรุงเก่าแต่เมื่อสมัยแรกมีชาวโปรตุเกตเข้ามาเปนครูทหารเปนเดิมมา แลไม่ต้องมีความสงไสยว่าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชเจ้า กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งนี้จะไม่ได้มีอยู่แลไม่รุ่งเรืองยิ่ง เหตุว่าในรัชกาลนั้นมีนายทหารฝรั่งเศสได้เข้ามาเปนครูทหารอยู่เปนอันมาก เมื่อพ้นสมัยวิไชเยนทร์แล้ว ต่อมาในรัชกาลกรุงเก่าชั้นหลังๆ ความเปนไปของกรมนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงเสื่อมทรามไปตามสมัย ถึงอย่างไรๆ ก็ดีนามกรมนี้ยังคงปรากฎแลมีนามอยู่ตามเดิม เมื่อยังคงมีนามอยู่เช่นนั้น ก็ต้องเข้าใจว่ายังเปนกรมทหารกรมหนึ่ง ซึ่งมีระเบียบยุทธวิธีอย่างยุโรปสืบเชื้อสายกรมเดิมที่เปนมาแล้วแต่กาลก่อน แม้จะลดหย่อนด้วยระเบียบแบบแผนเดิมไปประการใดก็ดี นามกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งนี้ยังคงมีอยู่จนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาโบราณ แต่เปนธรรมดาอยู่เองเมื่อกรุงเก่าถึงซึ่งพินาศลง กรมทหารนี้ก็คงต้องเสื่อมสูญระงับไปชั่วคราว ครั้นถึงสมัยตั้งกรุงธนบุรีแล้ว กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งนี้ก็ได้ตั้งขึ้นอิก เมื่อนามเช่นนี้ยังคงเดิมอยู่ ก็ต้องเปนกรมทหารที่ได้มีระเบียบยุทธวิธีอย่างยุโรปเช่นเคยมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่ย่อมต่างรูปต่างวิธีตามที่จะหาครูบาอาจารย์ได้ในสมัยนั้น อย่างไรๆ ก็ดีกรมทหารอย่างยุโรปคงมีอยู่ในรัชกาลกรุงธนบุรีนั้นแล้วเปนแน่ เช่นปรากฎชัดว่ามีฝรั่งรับราชการที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์แลในการเกณฑ์ทัพหรือแห่แหนในสมัยนั้นกล่าวว่า "ให้เกณฑ์ทหารใส่เสื้อเกราะแลหมวกถือปืน" ดังนี้เปนต้น ทหารเช่นนี้ตามซึ่งเข้าใจว่าเปนกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งนั้น ได้มีติดต่อตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่ระเบียบความเปนไปย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาล เหตุว่าในรัชกาลกรุงธนบุรีก็ดี ในรัชกาลกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นก่อนๆ ก็ดี เปนสมัยเกี่ยวพันธ์กระชั้นชิดอยู่ในการสงคราม ย่อมเปนการยากที่จะหาเวลาแลครูบาอาจารย์จัดการบำรุงกรมทหารตามยุทธวิธีอย่างใหม่ให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นได้ ต้องอาศรัยใช้กำลังทหารตามยุทธวิธีอย่างเก่าอยู่เปนหลัก ความเปนไปของกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งนั้น จึงมีระเบียบแบบแผนเก่าใหม่ปะปนระคนกันไปจนเสื่อมทรามสืบต่อมาตามลำดับ ภายหลังนับว่ากรมนี้กลายเปนกรมทหารอย่างเก่าไปกรมหนึ่ง จะมีเชื้อสายเหลืออยู่ก็แต่เวลาเข้ากระบวนแห่แหนยังแต่งตัวอยู่เปนอย่างฝรั่งต่อมา ครั้งถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระพุทธศักราช ๒๓๗๔ มีนายทหารบกนอกราชการของอังกฤษที่อินเดียผู้หนึ่งชื่อนอกส์มียศเปนนายร้อยเอกซึ่งเรียกกันในเวลานั้นว่ากับตันนอกส์ (กับตันนอกส์ผู้นี้ ภายหลังได้เปนเอเยนต์แลกงซุลเยเนราลอังกฤษประจำกรุงสยาม แลเมื่อกลับออกไปบ้านเมืองแล้วได้เปนขุนนางอังกฤษมีบรรดาศักดิ์เปนเซอร์คือ เซอร์ ทอมัส ยอช นอกส์ นั้น) กับตันนอกส์เข้ามาทางพระเจดีย์สามองค์แลเมืองกาญจนบุรีถึงกรุงเทพฯ เพื่อจะหาการทำ กระทรวงกะลาโหมนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดว่าเปนนายทหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ คือ ภายหลังได้เปนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ในรัชกาลที่ ๕ นั้น รับรองเลี้ยงดูไว้เพื่อจะได้เปนครูฝึกหัดทหาร ขณะนั้นเปนเวลาทรงพระราชดำริห์ที่จะจัดการกรมทหารอย่างยุโรปให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกระลาโหม คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์ ในรัชกาลที่ ๔ นั้น เก็บบุตร์หมู่รามัญเมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองประทุมธานี มาฝึกหัดเปนทหารซีป่ายเช่นอย่างที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์, คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, ได้ทรงจัดบุตร์หมู่ญวนฝึกหัดเปนทหารซีป่ายไว้บ้างแล้วนั้น (ในที่นี้ขออธิบายว่า คำซีป่ายนี้มาแต่ชื่อทหารชาวอินเดียเรียกว่า "สิปาหิ" อังกฤษซึ่งเปนเจ้าของเรียกว่า "เซปอย" เมื่อรัชกาลที่ ๒ รัฐบาลอินเดียแต่งให้ข้าราชการอังกฤษชื่อ ครอฟอร์ด ซึ่งเรียกกันว่า การะฝัด เข้ามาขอทำสัญญา ในหมู่เครื่องราชบรรณาการที่ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายนั้น มีเครื่องแต่งตัวทหารอย่างซีป่ายด้วย ๑๒ สำรับ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศทรงจัดญวนเปนทหาร ได้เอาอย่างเครื่องแต่งตัวซีป่าบรรณาการนั้นมาใช้ จึงเรียกร้องกันว่าทหารซีป่าย แต่ทหารญวนพวกนี้ไม่เกี่ยวแก่ตำนานกรมทหารบกราบที่ ๔ เพราะมีตำแหน่งแลน่าที่ลักษณวิชาอาการเปนเหล่าทหารปืนใหญ่แพนกหนึ่งต่างหาก) ส่วนบุตร์หมู่รามัญที่กล่าวแล้วนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ซึ่งได้เลื่อนที่ขึ้นเปนพระยาศรีสุริวงษ์จางวางมหาดเล็ก ควบคุมบังคับบัญชาจัดขึ้นเปนทหารอีกพวกหนึ่งแต่งตัวอย่างซีป่ายเรียกว่า "ทหารอย่างยุโรป" ให้กับตันนอกส์เปนครูฝึกหัดชนิดทหารราบ มีระเบียบยุทธวิธีแลคำบอกทหารอย่างอังกฤษมีพลทหารที่ฝึกหัดประจำการประมาณ ๑๐๐๐ เศษ แบ่งเปน ๔ ผลัดเข้าเดือน ๑ ออก ๓ เดือน โรงทหารตั้งอยุ่ที่บ้านพระยาศรีสุริยวงษ์ณฝั่งแม่น้ำฟากตวันตก มีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุบผาราม กองทหารอย่างยุโรปที่ได้ตั้งขึ้นใหม่นี้ นับว่าเปนกรมที่มีตำแหน่งแลน่าที่แทนกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งเดิมที่เสื่อมทรามไปนั้น

ครั้นถึงปี ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยวงษ์ผู้บัญชาการทหารอย่างยุโรปนั้นเปนเจ้าพระยาที่สมุหพระกระลาโหม แลให้ข้ามฟากมาอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ซึ่งบัดนี้เปนหมู่ตึกแถวริมถนนเยาวราชแลคลองโอ่งอ่างฝั่งตวันออก กองทหารนั้นจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ณที่นั้น แลได้ปลูกโรงทหารแลทำสนามฝึกหัดใหญ่โตขึ้นมาก ลำดับนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จัดเลขหมู่ลาวแลเขมรในในกระทรวงกะลาโหม แลเลขหมู่ลาวกรุงในกระทรวงมหาดไทย มาเพิ่มเติมเปนทหารฝึกหัดยุทธวิธีอย่างยุโรปขึ้นอีก ๒ พวก อยู่ในความบังคับบัญชาเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ต่อมาจนถึงปี ๒๓๙๘ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงษ์เธอ (ชั้น ๒) กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ ซึ่งในเวลานั้นดำรงพระยศเปนพระเจ้าพี่ยาเธอทรงบังคับบัญชา แลให้ย้ายกองทหารอย่างยุโรปทั้ง ๓ พวกนั้นมาตั้งอยู่ ณ ท้องสนามไชย อันต่อมาได้มีโรงทหารเปนตึกแถวเรียงรายติดต่อกันขึ้นหลายหลัง แลได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดขุนหมื่นสิบยกในกรมต่างๆ สิบชักหนึ่งคนมาเปนทหารอิกพวกหนึ่งเรียกว่ากองเกณฑ์หัด รวมเปนทหารอย่างยุโรปมีขึ้นในครั้งนั้น ๔ กอง เรียกว่ากองทหารอย่างยุโรป (เดิม) ๑ กองทหารมหาดไทย ๑ กองทหารกระลาโหม ๑ กองทหารเกณฑ์หัด ๑ รวม ๔ กอง เปนกรมตรงกับนามกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งนั้นเอง แต่เรียกว่า "กรมทหารน่า" คำว่าทหารน่ามาแต่สำหรับแห่นำกระบวนเสด็จอยู่ข้างน่า แลอิกนัยหนึ่งเปนกรมทหารนอกจากกรมทหารรักษาพระองค์ที่มีน่าที่ต้องไปกระทำราชการก่อน ครั้นถึงปี ๒๔๐๕ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงษ์เธอ (ชั้น ๒) กรมขุนวรจักรธรานุภาพ แต่เมื่อยังเปนพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงบังคับบัญชากรมนี้ ต่อมาได้ปี ๑ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอัพภันตริกามารย์ (ดิศ) แต่เมื่อยังเปนพระยาบำเรอภักดิ์เปนผู้บัญชาการ ประมาณกึ่งปีก็เปลี่ยนเปนพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ คือเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงภายหลังนั้น ลำดับนี้ได้เปลี่ยนกระบวนยุทธวิธีแลคำบอกทหารเปนแบบฝรั่งเศสชั่วคราว เหตุว่ามีครูทหารใหม่เปนชาติฝรั่งเศสชื่อละมาช ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เปนหลวงอุปเทศทวยหาญนั้นมาฝึกหัดจัดการ แต่ไม่ช้านานนักก็กลับเปลี่ยนเปนแบบอังกฤษอิก เพราะมีเหตุหลวงอุปเทศต้องออกจากราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ คือเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์เปนผู้บัญชาการ ได้ใช้นายทหารในกรมทหารน่า ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่านายดาบอันได้รับวิชาความรู้อย่างอังกฤษแต่เดิมเปนครูทหาร เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้เปนพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์บังคับบัญชาต่อมาจนถึงสิ้นรัชกาลที่ ๔

ครั้นถึงปี ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์เปนเจ้าพระยาที่สมุหพระกระลาโหม แต่ยังคงได้บังคับบัญชากรมทหารน่านี้อยู่ แลได้เปนผู้จัดการบำรุงกรมทหารนี้ให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นด้วยกำลังแลวิชา มีความอุสาหะจัดหาครูบาอาจารย์มาวงแบบแผนแลฝึกหัดยุทธวิธีเพิ่มเติม ถึงได้มีการประชุมพลสวนสนามแลประลองยุทธ์ถวายทอดพระเนตร์น่าท้องสนามไชยอยู่เนืองๆ ครั้นถึงปี ๒๔๑๔ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า กรมทหารน่ามีความเจริญรุ่งเรืองเปนหลักฐานแล้ว สมควรที่จะให้มีตำแหน่งนายทหารประจำกรมสมตามแบบแผนกองทหาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิไชยสงคราม (อ่ำ) แต่เมื่อยังเปนพระอินทรเทพเปนผู้บังคับการ ในชั้นแรกมีนายทหารสัญญาบัตรขึ้นบ้างตามสมควร นอกนั้นเปนนายทหารที่เรียกว่านายดาบเช่นแต่เดิมมา แลโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารรักษาพระองค์คือกรมทหารบกราบที่ ๒ บัดนี้ แลกรมทหารล้อมวัง คือกรมทหารบกราบที่ ๑๑ บัดนี้ เข้าสมทบกรมทหารน่าอยู่ในความบังคับบัญชาอันเดียวกัน แม้แต่กรมทหารฝีพายคือกรมทหารบกราบที่ ๓ บัดนี้ก็นับเนื่องเกี่ยวพันธ์อยู่เหมือนกัน เหตุว่าพระอินทรเทพเวลานั้นก็ได้เปนผู้บังคับบัญชากรมฝีพายอยู่ด้วย ภายหลังกรมทหารน่าได้จัดตั้งกองทหารม้าขึ้นอิกกองหนึ่งเมื่อปี ๒๔๑๕ เพราะฉนั้นในสมัยนี้กรมนี้จึงนับว่าคล้ายคลึงดุจกองพลหรือกองทัพอันหนึ่ง ครั้นถึงปี ๒๔๑๗ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งแต่งนายทหารสัญญาบัตรบังคับกองแลกระทำการกองขึ้นเปนอัตรา มียศแลตำแหน่งทหารเรียกตามแบบอังกฤษ แลเปลี่ยนแปลงเครื่องอาวุธยุทธาภรณ์หลายอย่าง การปกครองแลรูปการของกองทหารเรียบร้อยขึ้นตามลำดับ ในสมัยนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช แต่เมื่อยังดำรงพระอิศริยยศเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ รับพระเกียรติศักดิ์เปนนายทหารพิเศษ แต่งเครื่องยศนายพันเอก ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า "ออเนอรารี คอลอเนล" นั้น, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นได้ทรงเกี่ยวข้องแก่กรมทหารน่านั้น เปนเริ่มต้นมาแต่ปี ๒๔๒๑ ส่วนผู้บังคับการกรม คือ พระยาพิไชยสงคราม (อ่ำ) นั้นเรียกว่า "คอลอเนล อิน ชิฟ"

ครั้นถึงปี ๒๔๒๓ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิตแต่เมื่อยังเปนพระยา เปนผู้บังคับการมาได้ปี ๑ เปลี่ยนเปนนายพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแต่เมื่อยังเปนเจ้าหมื่นไวยวรนารถ มียศเรียกว่า "คอลอเนล" คือนายพันเอกนั้น ในปี ๒๔๒๔ นี้ ระเบียบการปกครองในกรมทหารน่าดีขึ้น แลตั้งอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองทั้งกำลังแลวิชา เพราะเหตุว่าได้รับพระบรมราชูประถัมภ์แลความสามารถของผู้บังคับการ ได้เริ่มสร้างโรงทหารน่าขึ้นเปนตึกใหญ่ ซึ่งภายหลังปรากฎนามว่าศาลายุทธนาธิการแลที่เปนศาลากระทรวงกระลาโหมอยู่บัดนี้ ในสมัยนี้ถึงแม้ว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมทหารรักษาพระองค์ กรมทหารล้อมวัง แลกรมทหารฝีพายออกจากความบังคับบัญชากรมทหารน่าไปเปนกรมอิศระมีผู้บังคับการเฉภาะกรมหนึ่งๆ แล้วนั้นก็ดี ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารน่ารับเลขไพร่หลวงแลบุตรหมู่ไม่ว่าหมู่ใดกระทรวงใดที่สมัครเข้ามาเปนทหารในกรมนี้ มีกำหนด ๕ ปีพ้นน่าที่ประจำการ มีคนสมัคเข้ารับราชการเพิ่มขึ้นเปนอันมาก มีพวกลาวทรงดำเมืองเพ็ชร์บุรีเปนต้น พวกนี้เรียกว่า "กองทหารสมัค" มีหลายกอง รวมทั้งกองทหารที่มีอยู่แต่เดิมด้วย จึงยังจัดตั้งเปนกองทหารได้หลายกองพันมีกำลังไม่ลดถอย ทั้งมีทหารม้าเดิมซึ่งได้จัดการเปนกองใหญ่ขึ้น แลแยกจัดเปนกองดับเพลิงอิกแพนก ๑ แลเพิ่มกองทหารช่างขึ้นด้วย กรมนี้ก็นับว่าเปนกรมทหารใหญ่กรมหนึ่งทำนองอย่างกองผสม ส่วนระเบียบยุทธวิธีก็เปลี่ยนแปลงหลายอย่าง มีชาวต่างประเทศเปนครูทหารหลายชาติมีชาวอิตาเลียนเปนต้น เครื่องอาวุธยุทธาภรณ์ก็เปลี่ยนแปลงใหม่เปนลำดับตลอดมา ปี ๒๔๒๘ เจ้าหมื่นไวยวรนารถเปนแม่ทัพไปปราบปรามพวกฮ่อ โปรดเกล้าฯ ให้นายบุษย์แต่เมื่อเปนหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็กเปนผู้บังคับการแทน

ครั้นถึงปี ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น สำหรับบังคับบัญชากรมทหารอย่างใหม่ทั่วไป พระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการที่สำคัญๆ อันเปนผู้บังคับการกรมทหารต่างๆ อยู่ในเวลานั้น ได้รวมมารับราชการตำแหน่งใหญ่ในกรมยุทธนาธิการ เจ้าหมื่นไวยวรนารถซึ่งได้เปนพระยาสุรศักดิ์มนตรีขึ้นแล้วในเวลานั้นก็ได้เปนเช่นนั้นด้วยผู้หนึ่ง ลำดับนั้นกรมยุทธนาธิการได้จัดการเปลี่ยนแปลงแบบแผนหลายอย่าง เปนต้นว่าตัดเติมอัตรากองทหารแลเปลี่ยนยศตำแหน่งตลอดจนคำบอกทหารเปนภาษาไทย แลแก้ไขระเบียบยุทธวิธีใหม่ในกองทหารให้เหมือนกันทั่วไป สมัยนี้กรมทหารน่าจึงเปนกองพันทหารราบกองหนึ่งเรียกว่า "กองทหารน่า" หลวงสิทธิ์นายเวร ได้เปนผู้บังคับการ ต่อมาจนถึงปี ๒๔๓๑ เปลี่ยนเปนนายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ แต่เมื่อยังเปนพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่น ถึงปี ๒๔๓๓ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) แต่เมื่อยังไม่ได้เปนพระยา ปี ๒๔๓๕ นายพลโท พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช แต่เมื่อยังเปนพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่น ในลำดับนี้จนถึงปี ๒๔๓๖ มีเหตุขับขันที่ต้องส่งทหารในกรมนี้แยกย้ายเข้ากองทัพแลกองทหารพิเศษต่างๆ ไปกระทำสงครามแลรักษาพระราชอาณาเขตรหลายตำบล จนไม่สามารถจะมีทหารตั้งอยู่เปนกองใหญ่ได้ เหตุว่าในสมัยนั้นยังเกณฑ์คนเปนทหารได้แต่เฉภาะหมู่ เฉภาะกรม ทั้งเปนพวกทหารสมัคเสียโดยมาก เมื่อเสร็จราชการแล้วก็ต้องปลดปล่อยจากราชการประจำตามประกาศ ส่วนคนหมู่เดิมก็ร่วงโรยบอบช้ำจำเปนต้องทอดให้พักผ่อนชั่วคราว คงจัดให้มีแต่กองทหารน้อยตั้งประจำการอยู่ ณ เมืองราชบุรีกอง ๑ มีนายทหารผู้น้อยบังคับการอยู่เรียกว่า "กองทหารมณฑลราชบุรี"

ครั้นถึงปี ๒๔๔๐ ได้รวบรวมผู้คนจัดเปนกองพันขึ้นอีกตั้งอยู่ณศาลายุทธนาธิการตามเดิม ส่วนกองทหารที่เมืองราชบุรีก็คงยังมีอยู่ด้วยสมัยนี้นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) แต่เมื่อยังเปนนายพันโท แลเปนผู้ที่มีความอุสาหะรวบรวมผู้คนในชั้นหลังนี้เปนผู้บังคับการได้ปี ๑ ถึงปี ๒๔๔๑ โปรดเกล้าฯ ให้นายพลโท พระยาพหลโยธิน (นพ พหลโยธิน) แต่เมื่อยังเปนนายร้อยเอก หลวงศิลปสารสราวุธเปนผู้บังคับการ ปี ๒๔๔๒ เปลี่ยนเรียกนามกองทหารเปนกรมโดยลำดับเลขทั่วไป กองทหารน่าได้นามว่า "กรมทหารบกราบที่ ๔" ถึงปี ๒๔๔๔ ยกกรมนี้จากศาลายุทธนาธิการไปตั้งอยู่ณโรงทหารสวนดุสิต ประจำรักษาราชการแทนกองทหารรักษาพระองค์ ซึ่งได้เปลี่ยนนามเปนกรมทหารบกราบที่ ๒ นั้น ในปีเดียวกันนี้เปนสมัยแรกตั้งกองพลประจำมณฑลต่างๆ โปรดเกล้าฯ ให้หลวงศิลปสารสราวุธ (นพ พหลโยธิน) ซึ่งได้เปนนายพันตรี พระศรีณรงค์วิไชยขึ้นแล้วนั้น เปนผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ มีกรมทหารบกราบที่ ๔ ตั้งอยู่เปนหลักของกองพลนี้ อันได้มีศักดิเปนกองพลอิศระสืบมา ส่วนกรมทหารบกราบที่ ๔ นายพันตรี พระศรีณรงค์วิไชยก็ยังเปนผู้บังคับการอยู่ด้วย ถึงปี ๒๔๔๕ นายพันตรี หลวงโหมหักปัจจนึก (พุ่ม) เปนผู้บังคับการ ในปีเดียวกันเปลี่ยนเปนนายพันเอก พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชาญไชยบวรยศ แต่เมื่อเปนนายพันโท พระองค์เจ้ากาญจโนภาศรัศมี สมัยนี้กรมบัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ ยังตั้งอยู่ณโรงทหารกรมทหารบกราบที่ ๔ ที่สวนดุสิต เปนแต่จัดแบ่งกองทหารในกรมนี้มาตั้งประจำอยู่ณเมืองราชบุรีติดต่อกับกองทหารเดิมที่มีอยู่แล้วณที่นี้ให้มากขึ้น ครั้นถึงปี ๒๔๔๖ กรมบัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ แลกรมทหารบกราบที่ ๔ ได้ยกจากสวนดุสิตออกมาตั้งอยู่ณเมืองราชบุรี มีโรงทหารใหญ่โตตามแบบใหม่ ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองฟากแม่น้ำฝั่งตวันออกดังเช่นเปนอยู่บัดนี้ ในปี ๒๔๔๖ นี้ นายพลโท พระยาเทพอรชุณ (อุ่ม อินทรโยธิน) แต่เมื่อเปนนายพันตรี หลวงสรสิทธยานุการเปนผู้บังคับการ แลเปลี่ยนกันต่อมาตามลำดับ คือในปลายปีนั้นนายพันเอก พระยาวิเศษสิงหนาท (ยิ่ง จุลานนท์) แต่เมื่อเปนนายพันตรี หลวงรัดรณยุทธ ปี ๒๔๔๘ นายพันโท พระสรวิเศษเดชาวุธ (หม่อมราชวงษ์วิง) แต่เมื่อยังเปนหลวงแลนายพันตรี ปี ๒๔๕๑ นายพันโท พระศักดิเสนี (หม่อมหลวงอุดมเสนีวงศ์) ปี ๒๔๕๓ นายพันตรีหลวงรามเดชะ (ตาด สุวรรณวาสี) ปี ๒๔๕๕ นายพันตรี หลวงเสนีพิทักษ์ (สาย บุณยรัตพันธ์) แต่เมื่อยังเปนนายร้อยเอกขุนศัสตรยุทธพิไชย (เปนผู้รั้ง) ในปีเดียวกัน นายพันตรี หลวงโจมจัตุรงค์ (นาก) ปี ๒๔๕๗ นายพันโท หลวงไกรกรีธา (ปลั่ง วิภาตะโยธิน) แต่เมื่อยังเปนนายพันตรี ขุนแผลงผลาญ ปี ๒๔๕๘ นายพันโท พระมหาณรงค์เรืองเดช (แปลก จุลกัณห์) แต่เมื่อยังเปนนายร้อยเอก หลวงกำแหงรณรงค์ เปนผู้รั้งแล้วได้เปนผู้บังคับการต่อมาจนถึงบัดนี้ อนึ่งในปี ๒๔๕๔ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงษานุวงษ์ที่เปนทหารดำรงตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารต่างๆ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดชได้รับตำแหน่งเปนผู้บังคับการพิเศษกรมทหารบกราบที่ ๔ นี้ เพราะเหตุที่ได้เกี่ยวข้องมียศเปนนายทหารพิเศษในกรมนี้มาแต่กาลก่อน ความเปนไปของกรมนี้แม้จะมีเวลายิ่งแลหย่อนอย่างไรก็ดี ก็ควรน่าพิศวง ทั้งมีพระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการที่สำคัญๆ ได้เกี่ยวข้องอยู่ก็มาก เมื่อได้พิจารณาโดยเลอียดแล้วก็จะเห็นได้ว่าเปนกรมทหารสำคัญกรมหนึ่ง

เมื่อว่าถึงฐานะแห่งกองพลทหารบกที่ ๔ ซึ่งภายหลังกรมทหารบกราบที่ ๔ ได้สังกัดอยู่นั้น เดิมเปนกองพลอิศระ ต่อมาเมื่อปี ๒๔๕๖ ยกไปรวมอยู่ในความบังคับบัญชากองทัพน้อยทหารบกที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลโท พระยาพหลโยธิน (นพ พหลโยธิน) ซึ่งในขณะนั้นเปนนายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนาผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ ไปเปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสิมา เปลี่ยนนามบรรดาศักดิ์เปนพระยากำแหงสงคราม โปรดเกล้าฯ ให้นายพลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช แต่เมื่อยังเปนนายพลตรีและกรมหมื่นอยู่นั้น ไปเปนผู้บัญชาการแทนพระยาพหลพลพยุหเสนาอยู่ชั่วคราว แล้วกลับมาเปนผู้บัญชาการกรมพระคชบาล โปรดเกล้าฯ ให้นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ) ไปเปนผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ กลับฐานะเปนกองพลอิศระต่อไปตามเดิมในปีเดียวกันนั้น ครั้นถึงปี ๒๔๖๐ พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ต้องออกไปกระทำการติดต่อกับราชสัมพันธมิตรร่วมศึกในทวีปยุโรปชั่วคราว โปรดเกล้าฯ ให้นายพลตรี พระยาอมรวิสัยสรเดช (พิน โรหิตะพินทุ) แต่เมื่อยังเปนนายพันเอกไปทำการแทน, ถึงปี ๒๔๖๒ พระยาพิไชยชาญฤทธิ์กลับเข้ามารับราชการตามตำแหน่งเดิม ในปีเดียวกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์อีกเล่า โปรดเกล้าฯ ให้นายพลตรี หม่อมเจ้าทศศิริวงศ์เปนผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ สืบมาจนถึงบัดนี้

เมื่อจะกลับกล่าวถึงตำแหน่งแลน่าที่ของกรมทหารบกราบที่ ๔ นี้ที่มีมาแต่ก่อนแล้วตามลำดับ ก็นับว่าเปนกรมทหารกรมหนึ่งซึ่งได้กระทำความดีมีประโยชน์ในราชการแผ่นดินอยู่มากหลาย ตั้งแต่สมัยกรุงทวาราวดีแลกรุงธนบุรีตลอดถึงกรุงรัตนโกสินทรในชั้นต้น นอกจากน่าที่สำหรับฝึกหัดยุทธวิธีอย่างยุโรปตามนามกรมซึ่งปรากฎเดิมว่ากรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งนั้นแล้ว เมื่อเวลามีสงครามคราวใด ก็ไม่เปนที่สงไสยเลยว่าจะไม่ต้องไปสู่ที่สนามรบ เมื่อเวลาสงบศึกก็ย่อมรักษาสถานที่ราชการต่างๆ ตลอดจนเข้ากระบวนแห่แหนทุกอย่างไป ถึงได้เปลี่ยนรูปแลนามกรมในรัชกาลหลังๆ ต่อมาแล้ว ตำแหน่งแลน่าที่ก็มีอยู่เช่นเดิม บรรดากรมทหารอย่างใหม่ทั้งหลาย ไม่มีกรมใดที่จะได้ไปกระทำราชการขับขันแลสู่สนามรบมากยิ่งกว่ากรมทหารบกราบที่ ๔ นี้ ตามที่จะกล่าวให้ชัดเจนได้ในชั้นหลังๆ ดังต่อไปนี้

๑) เมื่อปี ๒๓๙๕ ได้เข้ากระบวนทัพไปกับพระเจ้าบรมวงษ์เธอ (ชั้น ๒) กรมหลวงวงษาธิราชสนิทแต่เมื่อยังเปนพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๔ ในราชการศึกณเมืองเชียงตุง ถึงแม้แต่ในเวลานั้นยังเปนกรมพึ่งก่อร่างสร้างตัวแรกฝึกหัดอันยังไม่ได้จัดระเบียบมุลนายได้ควบคุมกันเปนหลักฐานก็ดี ก็ได้เริ่มต้นไปราชการสงคราม มีแต่นายดาบบังคับการไปกับกับตันนอกส์ผู้เปนครูกำกับไปด้วย

๒) เมื่อปี ๒๔๑๕ ได้เข้ากระบวนทัพไปกับพระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ (เสือ) ซึ่งเปนกองน่า เจ้าพระยามุขมนตรี (เกด) เปนแม่ทัพ, ปราบปรามจลาจลแลจัดราชการหัวเมืองเขมรในพระราชอาณาเขตร

๓) เมื่อปี ๒๔๑๘ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) แต่เมื่อยังเปนเมเยอร์ หลวงทวยหาญรักษาคุมกองทหารเข้ากองทัพเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงไปปราบปรามพวกฮ่อณเมืองหนองคาย เมื่อแม่ทัพกลับกรุงเทพฯแล้วได้เข้ากองทัพพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ต่อไป

๔) เมื่อปี ๒๔๒๖ กับตันขุนรุดรณไชยคุมกองทหารเข้ากองทัพเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก) แต่เมื่อยังเปนพระยาราชวรานุกูลไปปราบปรามพวกฮ่อณทุ่งเชียงคำ

๕) เมื่อปี ๒๔๒๘ เข้ากระบวนทัพนายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แต่เมื่อยังเปนคอลอเนลเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ไปปราบปรามพวกฮ่อณแขวงหัวพันห้าทั้งหกแลสิบสองจุไทย

๖) เมื่อปี ๒๔๓๐ เข้ากระบวนทัพนายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แต่เมื่อยังเปนพระยาแลนายพลตรีไปปราบปรามพวกฮ่ออิกครั้งหนึ่ง, กองทัพได้ตั้งรักษาการอยู่ณเมืองหลวงพระบางราชธานี แลเขตรแขวงในมณฑลนั้นประมาณ ๒ ปี พระยาสุรศักดิ์แม่ทัพกลับกรุงเทพฯ แล้ว นายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท แต่เมื่อยังเปนนายพันเอกพระพลัษฎานุรักษ์บังคับการกองทัพต่อมารวมประมาณ ๗ ปี จึงได้กลับกรุงเทพฯ

๗) เมื่อปี ๒๔๔๕ นายพันตรีหลวงประจันสิทธิการ (จำปา) คุมกองทหารเข้ากระบวนทัพพร้อมด้วยกองทหารกรมอื่นๆ ซึ่งนายพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เปนแม่ทัพไปปราบปรามพวกเงี้ยวณมณฑลพายัพจนเสร็จราชการ

๘) เมื่อปี ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกระลาโหมจัดกองทหารอาสาสมัคออกไปในงานมหาสงครามณทวีปยุโรป, นอกจากนายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ) ซึ่งเปนผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ อยู่ในขณะนั้น ได้ออกไปเปนหัวน่ากองทูตทหารทำการติดต่อกับราชสัมพันธมิตรร่วมศึกนั้นแล้ว, มีจำนวนนายและพลทหารในกรมทหารบกราบที่ ๔ ได้เข้ากองทหารอาสาสมัคออกไปรับราชการสงครามเปนเกียรติยศสำหรับกองของตนด้วย

ตามที่ยกขึ้นกล่าวนี้เฉภาะแต่คราวที่สำคัญๆ อันเกี่ยวด้วยการทัพศึก นอกจากนี้ทหารกรมนี้ต้องเข้าผสมกองทหารพิเศษไปราชการต่างๆ ก็มีอีกเปนหลายคราว ทั้งที่ได้แต่งแต่กองน้อยๆ ไปปราบปรามพวกเหล่าร้ายที่กำเริบต่างๆ ก็มีอีกมาก เช่นปราบปรามอั้งยี่ณมณฑลนครไชยศรีแลราชบุรี แลในกรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๔๓๒ เปนต้น บางสมัยต้องไปเปนกำลังระงับจับโจรผู้ร้ายณหัวเมืองมณฑลต่างๆ เช่นในมณฑลปราจิณที่เมืองชลบุรีเปนต้น อนึ่งเมื่อสมัยยังไม่มีกองตำรวจภูธรแลยังไม่ได้ตั้งกองพลประจำมณฑลต่างๆ อย่างเช่นทุกวันนี้ กรมทหารบกราบที่ ๔ ได้มีน่าที่ไปกระทำการแทน ถึงต้องแต่งทหารเปนกองน้อยๆ แยกย้ายไปประจำอยู่ณหัวเมืองก็หลายมณฑล ใช่แต่เฉภาะในหัวเมือง แม้แต่ในกรุงเทพฯ พระมหานคร กรมทหารบกราบที่ ๔ ก็เคยมีน่าที่จัดพลทหารออกรักษาการพระนครแทนพลตระเวน ซึ่งแต่ก่อนยังเรียกว่าโปลิศก็คราวหนึ่งในระวางปี ๒๔๒๓ นั้น ,ยังน่าที่อื่นๆ เช่นแห่แหนมาแล้วหลายรัชสมัย บรรพบุรุษในกรมของเราได้กระทำความดีแลเคยมีความเหนื่อยยากกรากกรำมาปานใด เราทั้งหลายต้องตั้งใจกระทำราชกิจติดต่อมิให้เสื่อมทรามแลเสียนามของกรมที่ได้มีความดีมาแล้ว แลที่ได้มีธงไชยอันควรเชิดชูอยู่ คือในหมู่ธงอย่างใหม่ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งกรมทหารราบทั้งหลายได้รับพระราชทานครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๓๕ ธงไชยกรมทหารบกราบที่ ๔ ก็เปนธงเดียวที่ได้เคยปลิวไปสู่สนามรบ แลได้จับธงของข้าศึกอันเปนเชลยมาได้ไว้เปนพยานอยู่ก็มีมาก เราต้องรักษานิติของกรมแลกระทำน่าที่อันพึงมีพึงเปนโดยแขงแรง เพื่อเชิดชูเกียรติศักดิ์ของกรมไว้, เมื่อมีความย่นย่อท้อใจหรือหวาดเสียวประการใด ก็จงแลดูชายธงไชยของกรมอันได้มีความศักดิ์สิทธิ์มาแล้วเปนเครื่องหมายยึดมั่นนำใจให้ระลึกถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่นกระแสรับสั่งของพระอินทร์ที่ปรากฎในธชัคคสูตรว่า

"มเมว ตัส๎มึ สมเย ธชัค์คํ อุล์โลเกย์ยาถ มมํ หิโว ธชัค์คํ อุล์โลกยตํ ยัม์ภวิส์สติ ภยํ วา ฉัม์ภิตัต์ตํ วา โลมหํโส วา โส ปหิยิส์สติ"

แปลตรงตามศัพท์ภาษามคธมีความว่า

"ในการนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเรานั่นเทียวเพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี อันจักมี อันนั้นจักหายไป" ดังนี้

ตามคำพระบาฬีที่อ้างมาแล้ว ขอความสวัสดีมีไชยจงมีแก่กรมทหารบกราบที่ ๔ ทุกเมื่อเทอญ.