ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่/คำนำ
นายกรัฐมนตรี
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่กรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้ ควรจะแถลงให้ทราบถึงที่มาว่า มีปฐมเหตเกิดขึ้นอย่างไร เพื่อเป็นประวัติในการดำเนินงานตามสมควร
ระหว่างที่กรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ กำลังเสาะหาต้นฉบับเอกสารสำคัญของชาติที่หาได้ยากและหนังสือที่พิมพ์แล้วแต่ขาดตลาดหาฉบับไม่ได้มาพิมพ์เพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติอันทรงค่าของชาติ โดยได้ดำเนินการจัดพิมพ์ไปแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งเลือกสรรต้นฉบับรอระยะเวลาพิมพ์ตามลำดับอยู่ก็อีกหลายเรื่องนั้น นายสงวน โชติสุขรัตน์ ผู้สนใจสะสมเอกสารเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ ได้แจงมาที่นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โบราณคดี ว่า มีตำนานเชียงใหม่อยู่รวมด้วยกัน ๘ ผูก ถ้าคณะกรรมการต้องการ ตนจะเป็นผ้คัดและพิมพ์ส่งมาให้ โดยขอค่าคัด ค่าแปล ค่าพิมพ์ เป็นเงิน ๑,๒๐๐ บาท (หนึ่งพันสองร้อยบาทถ้วน) ซึ่งนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้นพเสนอขอรับการพิจาณาในที่ประชุมกรรมการ ครั้งที่ ๖/๒๕๐๙ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๐๙ โดยแถลงต่อที่ประชุมว่า ทราบมาว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่นี้เขียนไว้เป็นอักษรไทยยวน (โยนก) หรือเป็นอักษรพื้นเมืองและเป็นคำเมือง กล่าวถึงประวัติศาสตร์การสร้างอาณาจักรลานนาไทยตั้งแต่แรกสืบมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ นายสงวน โชติสุขรัตน์ ได้ฉบับไทยยวนเรื่องนี้มาจากพระมหาคำหมื่น วุฒิญาโณ วัดเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ คงจะเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่มากก็น้อย และคงจะให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้นจากที่เราเคยทราบอยู่อีกเป็นแน่ ทั้งจะเป็นผลดีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยระหว่างอาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรลานนาไทยเป็นอันมาก ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้วลงมติว่า
"สำหรับตำนานเชียงใหม่ ๘ ผูกนั้น เมื่อขอคิดค่าคัด ค่าแปล ค่าพิมพ์ เป็นเงิน ๑,๒๐๐ บาท อนุมัติให้ดำเนินการได้" โดยมอบให้นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เป็นผู้ติดต่อกับนายสงวน โชติสุขรัตน์ และให้นายชิน ชุมรุม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เป็นผู้ดำเนินการทางการเงิน
ต่อมาเมื่อได้รับต้นฉบับคำแปลตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ซื้อจากนายสงวน โชติสุขรัตน์ มาแล้ว ได้นำเรื่องเข้าขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมกรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ อีกครั้งหนึ่ง ในการประชุม ครั้งที่ ๕/๒๕๑๐ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๑๐ โดยนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เสนอว่า "ตำนานเชียงใหม่ ๘ ผูกซึ่งที่ประชุมลงมติให้ตกลงกับนายสงวน โชติสุขรัตน์ ว่า ให้แปล คัด และพิมพ์ส่งมาให้ จะให้ค่าจัดการเป็นเงิน ๑,๒๐๐ บาทนั้น นายสงวน โชติสุขรัตน์ ได้แปลและพิมพ์ส่งมาให้แล้ว มีข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงอยู่อย่างหนึ่งว่า เท่าที่นายสงวน โชติสุขรัตน์ ได้แปลแล้วคัดเขียนส่งมาให้ ๘ ผูกนี้ ถูกต้องตามต้นฉบับหรือไม่ หนังสือเรื่องนี้จะต้องจัดพิมพ์ในนามของคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ ถ้าหากมีผิดพลาดพลั้งไป จะทำให้คณะกรรมการพลอยเสียชื่อไปได้ ขอให้ที่ประชุมพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย"
ในที่ประชุม คณะกรรมการได้อภิปรายกันมาก รองประธานกรรมการ (พระยาอนุมานราชธน) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ได้เคยทำสิงหนวัติมาแล้ว เป็นเรื่องที่แปลมาจากอักษรลานนาเหมือนกัน ได้ขอให้นายสุด ศรีสมวงศ์ แปล เราก็เชื่อไปตามนั้น เพราะเราให้เกียรติแก่ผู้แปลว่า เขาคงจะทำหรือแปลอย่างดีที่สุด ฉะนั้น ตามตำนานเมืองเชียงใหม่ ๘ ผูกนี้ เราควรดำเนินการไปตามที่นายสงวน โชติสุขรัตน์ แปลจากภาษายวน (คำเมือง) ส่งมาให้ได้" และเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงเจตนารมณ์ของคณะกรรมการ ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ กรรมการ ได้เสนอว่า "ควรทำไปตามฉบับที่ได้มา แล้วอธิบายต้นเหตุของการทำให้ปรากฏไว้ ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเจตนาของคณะกรรมการฯ ผู้ดำเนินได้ดี" และเมื่อได้พิจารณากันแล้ว ที่ประชุมให้ลงมติ "ให้ดำเนินการไปตามที่รองประธานเสนอ" นี่คือปฐมเหตุที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ได้นำมาพิมพ์ในครั้งนี้
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรื่องนี้ เมื่อได้อ่านแล้วจะเห็นว่า คล้าย ๆ กับพงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ได้แปลและเรียบเรียงพิมพ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์โท เจ้าพระสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)⟨)⟩ เรื่องราวทางตำนานคล้ายกันก็มี แตกต่างกันก็มี แต่เจตนารมณ์ของคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ ที่พิมพ์เอกสารสำคัญเรื่องนี้ ก็เพื่อจะรักษาไว้ซึ่งเอกสารอันมีค่าของชาติทางประวัติศาสตร์ขึ้นไว้อีกเรื่องหนึ่ง มิให้ต้นฉบับซึ่งหากไม่ได้พิมพ์ก็อาจเป็นอันตรายหรือถูกซื้อขายไปไว้นอกประเทศเสีย ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ฉะนั้น การที่จะมีความคล้ายกับพงศาวดารโยนกบ้าง หรือแตกต่างกันบ้าง จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่เราได้เอกสารทรงค่าทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง และประโยชน์ที่จะได้จากเอกสารเรื่องนี้ ก็คือ ได้หลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น แม้เพียงส่วนน้อย ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่าสิ่งใด ๆ
เมื่อคณะกรรมการได้ตกลงให้ดำเนินการพิมพ์นั้น ได้กำชับให้พิมพ์ไปตามต้นฉบับทุกตัวอักษร แม้อักขรวิธีก็ให้เป็นไปตามต้นฉบับ มิให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใดทั้งสิ้น ดั่งได้ทราบมาแล้วว่า ต้นฉบับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แปลมาจากอักษรไทยยวน ผู้แปลชื่อ นายทน ตนมั่น และจากการรักษาต้นฉบับอย่างเคร่งครัดนี่เอง ผู้อ่านจะได้พบความแตกต่างกันของชื่อบคคลชื่อสถานที่ในเอกสารเรื่องนี้ลางแห่งเรียกไม่เหมือนกัน เช่น โปสิรินอรถา โมยหวาน สิงหกอยถ่าง จะเกียคามุนี มกโซโป่ อ่องไชย ฯลฯ ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารของเราแล้วทั้งสิ้น แต่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้เขียนไว้เช่นนั้น และคงจะออกเสียงตามนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอยู่คำหนึ่งในหน้า ๑๐๖ บรรทัดที่ ๘ (นับจากบนลงล่าง) คำ "หื้อลัวะจูงหามพาแขกเข้าก่อน" อีกแห่งหนึ่งในหน้า ๑๓๒ บรรทัดที่ ๓๐ เป็น "หื้อลัวะจูงหามเสด็จเข้าแว่ไหว้พระเจ้าพระธาตุ" ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ คณะกรรมการผู้รับมอบให้ดำเนินงานพิมพ์มีความสงสัยคำ "หื้อลัวะจูงหาม" เป็นอันมาก ได้ให้นายทอง ไชยชาติ กรรมการผู้เชี่ยวชาญอักษรและภาษาภาคเหนือภาคอีสาน ไปสอบทานอ่านต้นฉบับที่มีอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ นายทอง ไชยชาติ ได้รายงานมาว่า ได้พบคำที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ผูก ๗ อังกาที่ ๑๔ หน้าหลัง บรรทัดที่ ๑ ว่า "ลวะจูงหมาพาแซกเข้าก่อน"[1] อีกฉบับหนึ่ง "จูงหมา"[2] ตรงกัน และอีกฉบับหนึ่ง คือ พงศาวดารเชียงใหม่ "ลวะจูงหม่า" เช่นกัน[3] เมื่อได้ทราบว่า ต้นฉบับแท้จริงเป็น "จูงหมา" ดั่งนี้ ก็เป็นเรื่องแก้ไขอย่างไรไม่ทันเสียแล้ว จึงปล่อยไปตามที่พิมพ์ และจะหาค้นหาถึงประเพณีให้ลัวะจูงหมานำเสด็จว่าเกิดจากอะไรมาเล่าสู่กันฟังต่อไป
คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารขอขอบคุณนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นายยิ้ม ปัณฑยางกูร นายทอง ไชยชาติ และนายเฉลียว จันทรทิพย์ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์เริ่มตั้งแต่พิมพ์ยกร่างจากฉบับที่นายสงวน โชติสุขรัตน์ แปลและพิมพ์ส่งมาให้ และได้ช่วยกันตรวจทานต้นฉบับ ตรวจใบพิสูจน์ และทำดรรชนี เป็นที่เรียบร้อย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่คงจะอำนวยประโยชน์แก่นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาไม่น้อย โดยเฉพาะครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ว่า มีเหตุมาจากพระยายุทธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ผู้เป็นเชื้อสายพระราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งเป็นพระสหายกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ น้อยใจว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงผิดสัญญา เพราะ "พระยาบรมไตรโลกนารถกับพระยายุทิสเถียงสองแควเมื่อยังนับข้าเจ้าเป็นสหายกัน ยุทิสเถียงจากับพระบรมไตรโลกว่า กันกได้เป็นท้าวพระยาแล้ว จักหื้อข้าเป็นใหญ่ปูนใดจา บรมไตรโลกว่า ผิกูได้เปนพระยาแท้ จักหื้อสหายเป็นอุปราชกินเมืองครึ่งหนึ่ง จาว่าอั้น เมื่อบรมไตรโลกได้เสวยราชสมบัติแท้ เท่าหื้อยุทิสเถียงกินเมืองสองแควเปล่าดาย บ่หื้อเป็นอุปราชดั่งคำอันได้จากัน ยุทิสเถียงเคียดแก่พระยาบรมไตรโลก" ข้อความดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับใด ๆ ของเราเลย เมื่อได้อ่านตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับนี้แล้ว เราจึงได้ทราบถึงสาเหตุที่พระยายุทธิษเฐียร "คิดเป็นกบฏพาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช" เมื่อจุลศักราช ๘๒๒ เพราะน้อยใจมิได้เป็นมหาอุปราชดั่งปรากฏในข้อความที่ยกมา
ปัจจุบัน มีอุปาทานอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในวงการผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ นั่นคือ ไม่ยอมให้ความเชื่อถือต่อเอกสารเก่า ๆ ของชาติที่มีคำ "ตำนาน" นำหน้าชื่อเรื่อง โดยทำความเข้าใจเอาเองว่า ขึ้นชื่อว่า ตำนาน แล้ว จะเชื่อถือเอาเป็นหลักฐานแน่นอนไม่ได้ คงจะเข้าใจว่า ตำนาน หมายถึง นิยายที่เล่ากันสืบ ๆ มาแล้วมารวบรวมเรียบเรียงแล้วจารลงไว้ในใบลานในสมุดข่อยเก็บรักษาไว้ตามหอหนังสือตามตู้สมุดเพียงเท่านั้นเองกระมัง? ไม่เหมือนหลักฐานที่ปรากฏอย่างแน่นอนมั่นคง เช่น ศิลาจารึก ลานทอง ลานเงิน ลานทองแดงจารึก การที่มีผู้เข้าใจและมีอุปาทานเช่นกล่าวก็เป็นเอกสิทธิที่จะพึงมีพึงเชื่อ แต่ตำนานที่บรรพชนของเราประมวลมาเรียบเรียงรวบรวมแล้วจารลงในใบลานในสมุดข่อยก็นับเนื่องเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งเหมือนกัน จะปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริงไม่น่าเชื่อไปเสียทั้งหมด ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะในตำนานนั้น ๆ ได้แสดงออกซึ่งเหตุการต่าง ๆ ในอดีต จดจารเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยการเล่าขานกันต่อมา แม้จนเรื่องราวของบุคคล ของปูชนียสถาน โบราณวัตถุ การสร้างบ้านแปลงเมือง ชาวเราก็ได้รู้ได้ทราบได้ศึกษากันมาจากตำนานเกือบทั้งสิ้น ตำนานในที่แห่งนี้ ก็คือ ประวัติศาสตร์ที่เรามาบัญญัติศัพท์กันให้คมคายขึ้นเท่านั้นนั่นเอง ซึ่งถ้าจะแปลความหมายของประวัติศาสตร์แล้ว ก็คงจะได้ความหมายไม่แตกต่างไปกว่าความหมายของคำ "ตำนาน" นั่นเท่าใดนัก ฉะนั้น จึงหวังได้ว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็คงจะให้ความรู้ในอดีตอันเกี่ยวกับอาณาจักรลานนาที่สัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ในกาลอันล่วงลับไปนับด้วยพันปี แก่ผู้อ่านผู้ศึกษาได้อย่างไม่ต้องสงสัย
คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ ไม่อาจเว้นขอบพระคุณ ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่ได้กรุณาจัดสรรงบประมาณให้กรรมฯ จัดพิมพ์เอกสารเรื่องนี้ขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง นอกจากเรื่องอื่น ๆ ที่ได้อนุมัติให้พิมพ์มาแล้ว ประโยชน์ที่อนุชนจะได้รับจากการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์มีมากจนเกินที่จะนำมากล่าวในที่แห่งนี้ให้ครบถ้วน ในฐานะที่ ฯพณฯ เป็นประมุขรัฐบาลที่ได้ส่งเสริมการศึกษาของชาติอยู่แล้วตามนโยบายการบริหารประเทศชาติ แต่ ฯพณฯ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้วิทยาทาน เท่ากับให้ดวงประทีปแก่อนุชนและผู้ศึกษา ซึ่งไม่มีการให้ใด ๆ จะเลิศไปกว่าการให้ความรู้ อันเป็นการให้ที่ชนะการให้ทั้งปวง
หวังว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่จะให้สารประโยชน์ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยรวมทั้งให้ความรู้ทางภาษาศาสตร์เพิ่มขึ้นแก่ผู้อ่านตามสมควร
วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๔
- ↑ ตำนานฉบับนี้จารเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ปีมะแม หอสมุดแห่งชาติซื้อจากนายสงวน โชติสุขรัตน์ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
- ↑ พงศาวดารเชียงใหม่ ฉบับ ๘ ผูก (ขาดผูก ๑) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหอพระสมุดวชิรญาณไว้เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๐
- ↑ พงศาวดารเชียงใหม่ ฉบับ ๑๐ ผูก (ไม่จบ) สมเด็จพระวันรัต (จ่าย) วัดเบญจมบพิตร จ. พระนคร ให้หอพระสมุดวชิรญาณ ไม่ทราบ พ.ศ. และในพงศาวดารเชียงใหม่ ฉบับเก่าของหอพระสมุดฯ ฉบับ ๑๐ ผูก ในผูก ๗ อังกาที่ ๑๓ (ใบลานที่ ๑๓) หน้า ๑ บรรทัดที่ ๓ ก็มีคำดังกล่าวเช่นกัน