ตำนานหนังสือสามก๊ก/๔๑

จาก วิกิซอร์ซ
๕. ว่าด้วยรูปเรื่องสามก๊ก


ข้าพเจ้าผู้แต่งตำนานนี้ได้เคยอ่านหนังสือสามก๊กหลายครั้ง แต่อ่านครั้งก่อน ๆ ประสงค์เพียงจะรู้เรื่องเป็นสำคัญ ต่อมา อ่านเมื่อจะแต่งตำนานนี้จึงได้ตั้งใจพิจารณาเหตุการณ์ในเรื่องสามก๊ก รู้สึกว่า ตามที่เคยสำเหนียกมาแต่ก่อนเป็นความเข้าใจผิดอยู่หลายอย่าง บางทีผู้อื่นซึ่งเข้าใจผิดเช่นเดียวกับข้าพเจ้าหรือที่ยังไม่เข้าใจรูปเรื่องสามก๊กก็จะมีอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะลองบอกอธิบายรูปเรื่องสามก๊กไว้ในตำนานนี้พอให้ผู้อ่านหนังสือสามก๊กที่แปลเป็นภาษาไทยเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ประเทศจีนเมื่อเริ่มเรื่องสามก๊กนั้น กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นเป็นใหญ่ ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองลกเอี๋ยง ได้ครอบครองแผ่นดินจีนทั่วทั้งประเทศ แลลักษณะการปกครองบ้านเมืองนั้น รัฐบาลกลางบังคับบัญชาการทุกอย่างอยู่เพียงในมณฑลราชธานี นอกนั้นออกไปเป็นหัวเมือง อำนาจการปกครองทั้งฝ่ายทหารแลพลเรือนเป็นสิทธิ์ขาดอยู่กับผู้เป็นเจ้าเมือง[1] เป็นแต่ฟังบังคับบัญชารัฐบาลกลางที่ราชธานี เวลามีศึกสงครามที่ใดก็เกณฑ์ให้เจ้าเมืองคุมกำลังเมืองของตนไปรบพุ่ง หรือถ้าเจ้าเมืองไหนกำเริบเป็นกบฏ ก็มีท้องตราสั่งให้เจ้าเมืองอื่นยกกำลังไปปราบปราม หรือบางทีเกิดจลาจลขึ้นในเมืองหลวง ให้พวกเจ้าเมืองขึ้นเข้าไปช่วยปราบปราบก็มี พวกเจ้าเมืองขึ้นมีอำนาจเช่นนั้นก็มักถือเอาประโยชน์ตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับหน้าที่ในตำแหน่ง บางทีถึงเกิดรบพุ่งแย่งชิงประโยชน์กัน หรือบังอาจขัดแข็งต่อรัฐบาลกลางเพื่อรักษาประโยชน์ของตน รัฐบาลกลางจำต้องมีไหวพริบคอยระวังมิให้พวกเจ้าเมืองขึ้นมีกำลังถึงอาจจะละเมิดหรือต่อสู้อำนาจรัฐบาลกลางได้ วิธีการปกครองอย่างว่ามานี้จำต้องมีพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงอานุภาพมาก หรือมิฉะนั้น ก็ต้องมีอัครมหาเสนาบดีอันมีความสามารถเป็นที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลายทั่วไป การปกครองแผ่นดินจึงจะเรียบร้อย ถ้าขาดทั้งสองอย่าง บ้านเมืองก็มักเกิดจลาจล

หนังสือสามก๊กกล่าวความเริ่มเรื่องตั้งแต่พระเจ้าเลนเต้ได้รับรัชทายาทเมื่อ พ.ศ. ๗๑๑ เพราะปฐมเหตุที่ประเทศจีนจะแยกกันเป็นสามก๊กเกิดแต่พระเจ้าเลนเต้ปราศจากความสามารถ หลงเชื่อถือพวกขันทีในราชสำนัก พวกขันทีจึงกำเริบเอิบเอื้อมแสวงหาอำนาจในราชการบ้านเมืองด้วยอุบายต่าง ๆ ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวงเวลานั้นก็ไม่มีคนสำคัญอันเป็นที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลาย มีขุนนางบางคนที่ซื่อสัตย์คิดจะกำจัดพวกขันทีก็ติดด้วยพระเจ้าเลนเต้ป้องกันไว้ การปกครองแผ่นดินจึงวิปริตผันแปรแลเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมยิ่งขึ้นเป็นอันดับมาจนพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์ลง มีราชบุตรสององค์ต่างชนนีกันแลยังเป็นเด็กอยู่ด้วยกัน ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อ ห้องจูเปียน ได้รับรัชทายาท นางโฮเฮามเหสีผู้เป็นชนนีเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดิน ราชบุตรองค์น้อยนั้นชื่อ ห้องจูเหียบ กำพร้าชนนี นางตังไทฮอผู้เป็นอัยยิกาเลี้ยงมาแต่น้อยแลขวนขวายจะให้ได้ราชสมบัติแต่หาได้ไม่ นางทั้งสองจึงเป็นอริแก่กัน เมื่อพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์แล้ว โฮจิ้น พี่นางโฮเฮา ได้เป็นขุนนสงผู้ใหญ่ ให้ลอบฆ่านางตังไทฮอเสียแล้วคิดจะกำจัดพวกขันทีต่อไป แต่นางโฮเฮาป้องกันพวกขันทีไว้เหมือนอย่างพระเจ้าเลนเต้ โฮจิ้นจะทำการเองไม่ถนัดจึงมีหนังสือไปถึงตั๋งโต๊ะ เจ้าเมืองซีหลง ให้ยกกองทัพเข้าไปปราบพวกขันที ก็ตั๋งโต๊ะนั้นวิสัยเป็นคนพาลสันดานชั่ว เห็นได้ช่องจะเป็นประโยชน์แก่ตน ก็ยกกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวง ครั้นพวกขันทีรู้ว่าโฮจิ้นคิดอ่านกับตั๋งโต๊ะจะกำจัดพวกของตน ก็ชิงทำกลอุบายลวงโฮจิ้นเข้าไปในวังแล้วปิดประตูวังช่วยกันจับโฮจิ้นฆ่าเสีย ฝ่ายพรรคพวกโฮจิ้นพากันโกรธแค้นเอาไฟเผาวังพังประตูเข้าไปไล่จับพวกขันที ในเวลาจับกุมฆ่าฟันกันนั้นไฟเลยไหม้ลุกลามเกิดอลหม่านทั้งพระราชวัง ถึงพระเจ้าแผ่นดินกับราชกุมารองค์น้อยต้องพากันหนีออกจากเมืองไปอาศัยอยู่ที่อื่น ฝ่ายตั๋งโต๊ะได้ช่องก็เข้าจัดการระงับจลาจลแล้วเลยกำจัดพระเจ้าแผ่นดินกับนางโฮเฮาชนนีเสีย ยกห้องจูเหียบราชกุมารองค์น้อยขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้ ตั๋งโต๊ะก็ได้เป็นที่ "เซียงก๊ก" สำเร็จราชการแผ่นดิน[2] เพราะเป็นผู้ยกพระเจ้าเหี้ยนเต้ขึ้นทรงราชย์ แต่พอตั๋งโต๊ะได้เป็นเซียงก๊กขึ้นก็ประพฤติพาลทุจริตต่าง ๆ พวกขุนนางในเมืองหลวงไม่มีใครสามารถจะกำจัดตั๋งโต๊ะได้ ก็พากันหลีกหนีไปอยู่ตามหัวเมืองเป็นอันมาก[3] ก็ในพวกที่หนีตั๋งโต๊ะไปนั้นคนหนึ่งชื่อ โจโฉ ไปคิดอ่านชวนเจ้าเมืองขึ้นหลายเมืองให้ยกกองทัพเข้าไปปราบตั๋งโต๊ะ แต่การก็ไม่สำเร็จเพราะพวกเจ้าเมืองเหล่านั้นต่างถือเปรียบเกี่ยงแย่ง ไม่เป็นสามัคคีกัน มัวคิดหาอำนาจบ้าง เกิดเป็นอริต่อกันบ้าง การครั้งนี้เป็นต้นเหตุอันหนึ่งซึ่งเจ้าเมืองต่าง ๆ เกิดรบพุ่งชิงอำนาจแลอาณาเขตกันต่อมาในเรื่องสามก๊ก

ส่วนตั๋งโต๊ะนั้น แม้พวกหัวเมืองไม่สามารถกำจัดได้ด้วยกำลังทหารก็ดี ต่อมาไม่ช้า อ้องอุ้น ขุนนางในเมืองหลวง ก็กำจัดได้ด้วยใช้กลสตรี แต่เมื่อกำจัดตั๋งโต๊ะได้แล้ว อ้องอุ้นไม่สามารถจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเรียบร้อยได้ แลพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นก็ซ้ำเป็นกษัตริย์ปราศจากความสามารถอีกองค์หนึ่ง พรรคพวกของตั๋งโต๊ะมีลิฉุย กุยกี เป็นหัวหน้าจึงอาจทำการแก้แค้นฆ่าอ้องอุ่นเสีย แล้วบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้ตั้งพวกของตนเป็นขุนนางผู้ใหญ่มีอำนาจในเมืองหลวงต่อมา แล้วทรยศต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วยประการต่าง ๆ ที่สุดถึงพยายามจะกำจัดพระเจ้าเหี้ยนเต้ พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องทิ้งเมืองหลวงหลบหนีมีความเดือดร้อนเป็นสาหัส จึงมีรับสั่งให้หาโจโฉซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองตวกุ๋นอยู่ในเวลานั้นเข้าไปช่วย โจโฉเข้าไปปราบปรามพวกกบฏได้ราบคาบ ก็ได้เป็นที่เซียงก๊กอยู่ในเมืองหลวงต่อมา แต่ในเวลานั้น หัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องมาแต่ครั้งตั๋งโต๊ะแลครั้งลิฉุยกุยกียังมีมาก พวกผู้ดีที่หนีตั๋งโต๊ะไปจากเมืองหลวงในคราวเดียวกันกับโจโฉก็ได้ไปเป็นเจ้าเมืองอยู่หลายคน เมื่อโจโฉได้เป็นเซียงก๊กขึ้น ที่อ่อนน้อมต่อโจโฉก็มี ที่เฉย ๆ อยู่คอยดูว่าโจโฉจะทำอย่างไรก็มี

โจโฉเป็นคนฉลาดมีสติปัญญาสามารถผิดกับตั๋งโต๊ะ อาจปกครองบังคับบัญชาการบ้านเมืองแลทำนุบำรุงกำลังรี้พลให้มณฑลราชธานีมีอำนาจขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่มักทำการตามอำเภอใจ ขุนนางที่มิใช่พรรคพวกของโจโฉจึงมักเกลียดชัง แต่ก็ไม่มีใครสามารถจะกำจัดได้ด้วยคนทั้งหลายในราชธานีนิยมกันอยู่โดยมากว่าโจโฉทำการเพื่อรักษาราชอาณาจักรในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอ แต่โจโฉใช้อำนาจเพลินไปจนถึงทำให้พระเจ้าเหี้ยนเต้ได้ความคับแค้นถึงเอาพระโลหิตเขียนเป็นหนังสือลับร้องทุกข์ขอให้ผู้มีความจงรักภักดีช่วยกำจัดโจโฉ ความทราบไปถึงหัวเมือง พวกเจ้าเมืองที่มีกำลังแลมิได้เป็นพรรคพวกของโจโฉก็ถือว่า โจโฉเป็นศัตรูของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนอย่างตั๋งโต๊ะ แล้วพากันกระด้างกระเดื่องขึ้น ฝ่ายโจโฉก็ถือว่าตัวเป็นเซียงก๊กมีหน้าที่จะต้องปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน จึงเกิดรบกันขึ้น ทั้งสองฝ่ายประกาศอ้างเหตุใส่ความข้อเดียวกัน ฝ่ายโจโฉว่า พวกเจ้าเมืองเป็นกบฏต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฝ่ายพวกเจ้าเมืองก็ว่า โจโฉเป็นกบฏต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ในเวลากำลังรบพุ่งกันนั้น ต่างก็ถือว่าเป็นข้าของพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วยกัน เวลาโจโฉมีท้องตราอ้างรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกไปถึงหัวเมืองที่เป็นข้าศึก หัวเมืองเหล่านั้นก็เคารพนบนอบต่อท้องตรา เป็นแต่ไม่ยอมฟังบังคับบัญชาของโจโฉ การที่พวกหัวเมืองต่อสู้ทหารเมืองหลวงหรือบางทีตีเข้าไปจนแดนเมืองหลวงก็ถือว่ารบกับอัครมหาเสนาบดี หาได้คิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ ผลของการที่รบพุ่งกันนั้น ฝ่ายโจโฉมีชัยชนะปราบหัวเมืองได้โดยมาก ปราบไม่ลงแต่หัวเมืองที่ซุนกวนกับเล่าปี่ปกครอง

ซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกังตั๋งอันเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออก ได้ครองเมืองโดยสืบสกล แลเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมปกครองบ้านเมืองดี จึงมีคนนิยมเข้าเป็นพวก จนมีกำลังมาก เล่าปี่นั้นเดิมเป็นคนอนาถา แต่สกุลสูงเป็นเชื้อสายในราชวงศ์ฮั่น แลเป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี กับเผอิญได้คนดีมีฝีมือไว้เป็นนายทหารหลายคน จึงมีชื่อเสียงปรากฏ แลพวกเจ้าเมืองมักเชิญให้ไปช่วยในเวลาเกรงศัตรู แต่เล่าปี่เป็นคนอาภัพ แม้ได้นายทหารดีก็มีกำลังรี้พลน้อย มักต้องหลบหนีเอาตัวรอดเนือง ๆ จึงไม่สามารถตั้งมั่นเป็นหลักแหล่ง จนได้ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษาแนะนำให้ไปเป็นสัมพันธมิตรกับซุนกวนช่วยกันต่อสู้โจโฉจึงรักษาตัวได้ และต่อมา จึงไปได้เมืองเสฉวนเป็นที่มั่นอยู่ทางทิศตะวันตก เรื่องราวตอนนี้ แม้พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นแต่อย่างเจว็ดอยู่ในศาล ในพงศาวดารก็ยังนับว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินทั่วทั้งประเทศจีน

ครั้นโจโฉตายลง โจผีลูกโจโฉได้เป็นที่เซียงก๊กแทน เลยถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้เสียจากราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๗๖๓ แล้วตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ใหม่เรียกว่า ราชวงศ์วุย ฝ่ายเล่าปี่ถือว่าเป็นสมาชิกราชวงศ์ฮั่นก็ตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์สืบราชวงศ์ฮั่นขึ้น ณ เมืองเสฉวน ซุนกวนไม่อยากยอมขึ้นแก่โจผีหรือเล่าปี่ก็ตั้งตัวเป็นเอกราชขึ้นที่เมืองกังตั๋งบ้าง[4] ตั้งแต่นี้ ประเทศจีนจึงแยกกันเป็นสามก๊ก คือ สามราชอาณาเขตอันเป็นอิสระแก่กัน อาณาเขตของพระเจ้าโจผีได้นามว่า "วุยก๊ก" อาณาเขตของพระเจ้าเล่าปี่ได้นามว่า "จ๊กก๊ก" อาณาเขตของพระเจ้าซุนกวนได้นามว่า "ง่อก๊ก" เป็นอยู่นั้นไม่นานเท่าใด พอสิ้นพระเจ้าเล่าปี่ พระเจ้าโจผี แลพระเจ้าซุนกวนแล้ว เชื้อสายที่รับรัชทายาทสืบมาก็เสื่อมความสามารถลงด้วยกันทั้งสามก๊ก สุมาเจียวซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการวุยก๊กปราบจ๊กก๊กได้ก่อน แล้วสุมาเอี๋ยน ลูกสุมาเจียว ชิงราชสมบัติวุยก๊กตั้งราชวงศ์ใหม่เรียกว่า ราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปราบง่อก๊กได้อีกก๊กหนึ่ง แผ่นดินจีนก็กลับรวมกันเป็นราชอาณาเขตเดียวสืบมา สิ้นเรื่องสามก๊กเท่านี้

ลำดับเหตุการณ์ในเรื่องสามก๊กตามศักราชเป็นดังอธิบายต่อไปนี้

  พระเจ้าเลนเต้ครองราชสมบัติ ปีวอก พ.ศ. ๗๑๑

  พระเจ้าเหี้ยนเต้ครองราชย์สมบัติ ปีมะเมีย พ.ศ. ๗๓๓

  โจโฉรบทัพเรือกับพวกซุนกวนแลเล่าปี่ ปีชวด พ.ศ. ๗๕๑

  จิวยี่ตาย ปีขาล พ.ศ. ๗๕๓

  เล่าปี่ได้เมืองเสฉวน ปีมะเมีย พ.ศ. ๗๕๗

  กวนอูเสียเมืองเกงจิ๋วแก่ซุนกวน ปีกุน พ.ศ. ๗๖๒

  โจผีถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้แล้วก็ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าโจผี ปีชวด พ.ศ. ๗๖๓

  เล่าปี่ตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ณ เมืองเสฉวน ปีฉลู พ.ศ. ๗๖๔

  ซุนกวนตั้งตัวเป็นเอกราชเมืองกังตั๋ง ปีขาล พ.ศ. ๗๖๕

  พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ พระเจ้าเล่าเสี้ยนรับรัชทายาทครองจ๊กก๊ก ปีเถาะ พ.ศ. ๗๖๖

  พระเจ้าโจผีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจยอยรับรัชทายาทครองวุยก๊ก ปีมะเมีย พ.ศ. ๗๖๙

  ซุนกวนตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองกังตั๋ง ลบศักราชเก่า ตั้งศักราชใหม่ นับปีระกา พ.ศ. ๗๗๒ เป็นศักราชพระเจ้าซุนกวนทรงราชย์ (แต่ในหนังสือสามก๊กที่แปลเขานับเอาปีขาลเมื่อพระเจ้าซุนกวนตั้งเป็นเอกราชเป็นต้น)

  ขงเบ้งตาย/พระเจ้าเหี้ยนเต้สวรรคต ปีขาล พ.ศ. ๗๗๗

  พระเจ้าโจยอยสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮองรับรัชทายาทครองวุยก๊ก ปีมะแม พ.ศ. ๗๘๒

  สุมาอี้ตาย ปีมะแม พ.ศ. ๗๙๔

  พระเจ้าซุนกวนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าซุนเหลียงรับรัชทายาทครองง่อก๊ก ปีวอก พ.ศ. ๗๙๕

  พระเจ้าโจฮองถูกถอดจากราชสมบัติวุยก๊ก พระเจ้าโจมอขึ้นครองราชสมบัติ ปีจอ พ.ศ. ๗๙๗

  พระเจ้าซุนเหลียงถูกถอดจากราชสมบัติง่อก๊ก พระเจ้าซุนฮิวขึ้นครองราชสมบัติ ปีขาล พ.ศ. ๘๐๑

  พระเจ้าโจมอสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮวนขึ้นครองราชสมบัติวุยก๊ก ปีมะโรง พ.ศ. ๘๐๓

  พระเจ้าเล่าเสี้ยนเสียบ้านเมืองแก่วุยก๊ก ปีมะแม พ.ศ. ๘๐๖

  พระเจ้าโจฮวนถูกถอดจากราชสมบัติ สุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชสมบัติวุยก๊กเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จิ้น ปีระกา พ.ศ. ๘๐๘

  พระเจ้าซุนฮิวเสียบ้านเมืองแก่ราชวงศ์จิ้น ปีชวด พ.ศ. ๘๒๓

  สามก๊กรวมเข้าเป็นก๊กเดียวอยู่ในการปกครองของพระเจ้าสุมาเอี๋ยนต้นราชวงศ์จิ้น ปีชวด พ.ศ. ๘๒๓

หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้ากำหนดจำนวนปีเป็นต่างสมัยในเรื่องสามก๊ก ก็แบ่งได้เป็นสามสมัย คือ

  สมัยราชวงศ์ฮั่นทรุดโทรมในรัชกาลพระเจ้าเลนเต้ ยี่สิบเอ็ดปี

  สมัยตั้งก๊กในรัชกาลพระเจ้าเหี้ยนเต้ สามสิบปี

  สมัยสามก๊ก หกสิบปี

คำนวณเวลาของพงศาวดารเรื่องสามก๊ก รวมเป็นหนึ่งร้อยสิบเอ็ดปี

หนังสือสามก๊กดีอยู่ที่พลความอันกล่าวถึงอุบายการเมืองแลการสงคราม ควรนับว่าเป็นหนังสือซึ่งน่าอ่านอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

  1. ที่เรียกว่าเมืองในเรื่องสามก๊กนั้น เป็นเมืองใหญ่อย่างหลายมณฑลรวมกันก็มี เป็นเมืองอย่างกลางเช่นมณฑลเดียวก็มี เป็นแต่อย่างเมืองเดียวก็มี
  2. ผู้แปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทยแปลศัพท์ เซียงก๊ก ว่า "พระยามหาอุปราช" (เห็นจะเอานามซึ่งมีอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือนมาใช้) แต่ชอบใช้โดยย่อว่า "มหาอุปราช" มักทำให้ฉงนว่า จะเป็นตำแหน่งรัชทายาทหรืออย่างไร ที่แท้ตำแหน่งเซียงก๊กนั้นเป็นอัครมหาเสนาบดีที่เรียกอย่างอังกฤษว่า ปริมิเอ หรือ ไปรม์มินิศเตอร์ เท่านั้น
  3. พวกเจ้าเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องสามก๊กตอนหลังเป็นผู้ที่หลีกหนีจากเมืองหลวงไปในคราวนี้หลายคน
  4. ซุนกวนตั้งตัวเป็นเอกราชใช้นามแต่ว่า วุยอ๋อง ก่อน ต่อเมื่อพระเจ้าเล่าปี่แลพระเจ้าโจผีสิ้นพระชนม์แล้วจึงราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์