ตำนานหนังสือสามก๊ก/๕๑

จาก วิกิซอร์ซ
๖. ว่าด้วยวินิจฉัยเรื่องสามก๊ก


ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในตอนข้างต้นว่า นักปราชญ์จีนคนหนึ่งชื่อ กิมเสี่ยถ่าง แต่งคำอธิบายคล้ายคำนำเรื่องสามก๊กไว้ คำอธิบายนั้นมีอยู่ในหนังสือสามก๊กภาษาจีนปรากฏว่า กิมเสี่ยถ่างแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๗ แปลออกเป็นภาษาไทยดังต่อไปนี้[1]

ข้าพเจ้าอ่านหนังสือเรื่องต่าง ๆ เห็นเป็นเรื่องที่นักปราชญ์แต่งดีหกเรื่อง คือ เรื่องจังจื๊อ เรื่องหนึ่ง ลีส่าว เรื่องหนึ่ง ซือมาเซียนซือกี เรื่องหนึ่ง โต้วโพ้วลุดซี เรื่องหนึ่ง ซ้องกั๋ง เรื่องหนึ่ง ไซเซีย เรื่องหนึ่ง ข้าพเจ้าได้แต่งคำอธิบายหนังสือเหล่านั้นไว้ทุกเรื่อง ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านคำอธิบายก็ยอมว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้รู้ถึงความคิดของผู้แต่งหนังสือนั้น ๆ บัดนี้ ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่องสามก๊กฉบับนี้เห็นว่า ควรรับเข้าเป็นเรื่องดีได้เรื่องหนึ่ง เพราะเนื้อเรื่องขยายความในพงศาวดารเป็นหลักฐานดียิ่งนัก หนังสือเรื่องอื่น ๆ แม้ที่นับว่าดีก็ไม่มีเรื่องใดดีถึงเรื่องสามก๊กเลย

หากมีคำถามว่า หนังสือเรื่องต่าง ๆ อันเป็นเรื่องแต่งก่อนสมัยราชวงศ์จิวก็ดี แลเรื่องภายหลังสมัยนั้นมาจนปรัตยุบันนี้ก็ดี เขาก็แต่งโดยอาศัยพงศาวดารคล้ายสามก๊กทุกเรื่อง ดังฤๅจึงว่าดีไม่ถึงเรื่องสามก๊ก

ตอบว่า เรื่องสามก๊กกล่าวถึงกระบวนการแย่งชิงอาณาเขตกันอย่างน่าอ่านน่าฟังนัก เรื่องแย่งชิงอาณาเขตตั้งแต่โบราณมาจนปรัตยุบันนี้ก็มีมาก แต่ไม่มีเรื่องใดน่าพิศวงเหมือนเรื่องสามก๊ก ผู้แต่งเรื่องสามก๊กมีความรู้มากทั้งฉลาดเรียงความ ในบรรดานักประพันธ์ตั้งแต่โบราณมาจนปรัตยุบันนี้ ผู้แต่งเรื่องสามก๊กควรนับว่าเป็นชั้นเอกได้คนหนึ่ง อันเรื่องแย่งชิงอาณาเขตครั้งราชวงศ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในพงศาวดารมาเป็นลำดับเรื่องอื่น ๆ จะเก็บเอาเรื่องออกแต่งได้ไม่ยาก แม้นักประพันธ์สามัญความรู้น้อยก็แต่งได้ ด้วยเหตุนี้ หนังสือเรื่องอื่น ๆ จึงไม่เทียมเรื่องสามก๊ก ข้าพเจ้าอ่านเรื่องสามก๊กแล้วลองพิจารณาเหตุการณ์บ้านเมืองครั้งนั้นก็ไม่เห็นทางที่จะสันนิษฐานให้แปลกกับที่แต่งไว้ได้เป็นอย่างอื่น

คือ เมื่อรัชกาลพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นเป็นสมัยราชวงศ์ฮั่นทรุดโทรม อำนาจไปตกอยู่แก่ตั๋งโต๊ะ หัวเมืองทั้งปวงก็แข็งเมืองขึ้น เป็นเหตุให้เกิดรบพุ่งกัน ถ้าหากในตอนนี้เล่าปี่มีกำลังมากเหมือนอย่างว่าปลาอยู่ในน้ำ เมื่อได้เมืองเกงจิ๋วแล้ว เล่าปี่ยกไปปราบปรามหัวเมืองฮ่อปัก เช่น เมืองกังหลำ เมืองกังตั๋ง เมืองจิ๋น เมืองยง เหล่านี้ เพียงแต่ประกาศไปตามหัวเมืองทั้งปวงก็คงยอมอยู่ในอำนาจ (เพราะเล่าปี่เป็นเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น) บ้านเมืองก็จะเป็นสุขสืบไปดุจครั้งกองบู๊ (ในเรื่องตั้งฮั่น) คงไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองปรากฏเป็นสามก๊ก

ตั๋งโต๊ะชิงราชสมบัติยังไม่สมควรคิดก็ถูกฆ่าตาย แล้วอำนาจไปตกอยู่แก่โจโฉ บังอาจบังคับพระมหากษัตริย์ให้มีรับสั่งไปตามหัวเมืองตามใจตน กระแสรับสั่งก็ไม่เป็นที่เชื่อถือ แต่ถึงกระนั้น ก็จำต้องเคารพเพราะราชวงศ์ฮั่นยังปกครองแผ่นดินอยู่ ฝ่ายเล่าปี่ตกอับไม่สามารถทำนุบำรุงราชวงศ์ฮั่นให้รุ่งเรือง หัวเมืองภาคเหนือภาคใต้แห่งแม่น้ำเอี้ยงจือเกียงก็ตกอยู่ในอำนาจของโจโฉแลซุนกวน ต่างพยายามแย่งชิงกัน ยังเหลือแต่หัวเมืองภาคตะวันตกเฉียงใต้ (เสฉวน) สำหรับเล่าปี้จะได้อาศัย ถ้าเล่าปี่ไม่ได้ขงเบ้งเป็นกำลังแลไม่ได้ไปช่วยซุนกวนรบกับโจโฉที่ตำบลเชียะเบี้ย[2] ในภาคตะวันออก หัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ คือ เมืองฮันต๋งและเมืองเสฉวนนั้น ก็คงตกเป็นของโจโฉ เพราะเหตุที่ซุนกวนไม่สามารถต่อสู้โจโฉได้ บ้านเมืองก็คง (จะไปรวมอยู่ในอำนาจโจโฉ) กลายเป็นเหมือนเมื่อครั้งอองมัง (ในเรื่องตั้งฮั่น) ชิงราขสมบัติราชวงศ์ฮั่น การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองก็คงไม่ปรากฏให้เห็นเป็นสามก๊ก

ตั้งแต่โจโฉข้ามพ้นตำบลฮัวหยงแล้วถึงขานยามขาไก่เลิกทัพกลับเมือง บ้านเมืองตอนนี้เริ่มเป็นรูปสามก๊ก จนพวกซุนกวนพร้อมใจกันสู้รบชนะข้าศึกแล้ว[3] รูปสามก๊กจึงปรากฏเป็นสามก๊กแท้จริง แม้โจโฉทำบาปกรรมไว้มาก จนคนทั้งหลายพากันแค้นเคือง ที่ประกาศโทษไปตามหัวเมืองก็มี แช่งด่าต่อหน้าก็มี ลอบทำร้ายก็มี วางยาพิษก็มี เอาไฟเผาก็มี เข้าปล้นก็มี จนโจโฉต้องตัดหนวดฟันหักตกม้าตกคูเมืองเกือบตายหลายครั้ง แต่ก็ไม่ตาย แม้ผู้เป็นศัตรูโจโฉมีมาก ผู้เป็นพรรคพวกช่วยเหลือก็มีมาก ดูเหมือนดินฟ้าอากาศบันดาลจะให้บ้านเมืองเป็นสามก๊ก โจโฉผู้เชี่ยวชาญในการโกงจึงยังไม่ตาย ได้อยู่ทรยศราชวงศ์ฮั่นดังแมลงมุมชักใยคอยจับสัตว์ เทพดาตกแต่งให้จิวยี่เกิดมาเป็นคู่คิดกับขงเบ้ง ก็ตกแต่งให้สุมาอี้เกิดมาเป็นคู่คิดกับโจโฉ ดูเหมือน (เทวดา) เกรงสามก๊กจะรวมเข้าเป็นก๊กเดียวเสียในตอนกลาง จึงให้ผู้มีปรีชาสามารถเกิดมาทำการให้แยกกันสืบไป

อันการแย่งชิงอาณาเขตนั้นก็เคยมีมาแต่โบราณหลายครั้ง ที่มีผู้ตั้งตัวเป็นเจ้าได้ก็มี เป็นสิบสองก๊กก็มี เป็นเจ็ดก๊กก็มี เป็นสิบหกก๊กก็มี เป็นไซ่ฮั่นตั้งฮั่น[4] ก็มี เป็นเอกราชภาคเหนือแลเอกราชภาคใต้ก็มี เป็นตังงุ่ยไซงุ่ย[5] ก็มี ครั้งนั้น ๆ ผู้ที่ได้เมืองก็มี ที่เสียเมืองก็มี ที่อยู่ถาวรก็มี ที่สูญสิ้นไปโดยเร็วก็มี อย่างช้าไม่เกินสิบสองปี อย่างเร็วก็ไม่ถึงปี ยังไม่มีเรื่องใด ๆ ซึ่งผู้เจริญจะเจริญอยู่และผู้ทรุดโทรมจะสูญสิ้นตลอดระยะเวลาช้านานถึงหกสิบปีเหมือนเรื่องสามก๊กนี้เลย

เรื่องสามก๊กนี้เป็นเรื่องดีจริง นักปราชญ์ได้อ่านก็ชอบใจ ใครมีปรีชาสามารถได้อ่านก็ชอบใจ ชาวบ้านร้านตลาดได้อ่านก็ชอบใจ ทุคตะเข็ญใจได้อ่านก็คงจะชอบใจ ครั้งกวยทองห้ามฮั่นสิ้นอย่าให้ไปช่วยพระเจ้าฮั่นโกโจแล้วแนะให้ฮั่นสิ้นแข็งเมืองไว้ให้เป็นสามก๊ก[6] แต่ครั้งนั้น ฮั่นสิ้นไม่ทิ้งความสัตย์ซื่อซึ่งเป็นข้าของราชวงศืฮั่น ฝ่ายห้างอี๋มีแต่ความดุร้ายไม่มีความคิด ได้ฟ่ามแจ้งไว้ใช้ก็ใช้ไม่เป็น หัวเมืองทั้งปวงไปตกอยู่ในความคิดแลกำลังของพวกราชวงศ์ฮั่นรวมเข้าเป็นก๊กเดียว เรื่องสามก๊กนี้มีลางมาแต่สมัยเมื่อตั้งราชวงศ์ฮั่นดังกล่าวมา ครั้นราชวงศ์ฮั่นทรุดโทรมจึงปรากฏเป็นสามก๊ก พระเจ้าฮั่นโกโจเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นตอนเริ่มเจริญ เล่าปี่เป็นกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นตอนทรุดโทรม ผู้หนึ่งสามารถเอาเมืองจีนได้ทั้งสามเมือง อีกผู้หนึ่งไม่สามารถเอาดินแดนโจโฉไว้ได้แต่สักคืบเดียว ทั้งนี้ ก็คือดินฟ้าอากาศบันดาลให้ราชวงศ์ฮั่นรุ่งเรืองสืบมาด้วยประการดังนั้นและให้ทรุดโทรมสิ้นไปด้วยประการดังนี้แล

เดิมข้าพเจ้ากำลังสืบสวนหาหนังสือเรื่องดี ๆ พอเพื่อนเขาเอาคำอธิบายเรื่องสามก๊กซึ่งเม่าจงกังแต่งมาให้ดู[7] ข้าพเจ้าเห็นคำอธิบายนั้นถูกใจจึงได้เอาเหตุผลเรื่องสามก๊กมาลงไว้ในที่นี้ ให้เม่าจงกังทำแม่พิมพ์พิมพ์สืบไป เพื่อท่านทั้งหลายที่อ่านหนังสือเรื่องนี้เห็นความคิดข้าพเจ้ากับความคิดเม่าจงกังตรงกัน

หมดความอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเพียงนี้ นับว่าเป็นความเห็นของจีน ยังมีความเห็นของไทยวินิจฉัยเรื่องสามก๊ก ข้าพเจ้าเคยได้ยินกล่าวกันมาก่อน แต่ว่าช้านานมาแล้ว ลืมไปเสียโดยมาก นึกได้ในเวลาเมื่อแต่งตำนานนี้แต่สองราย

รายหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็ก ได้เคยเห็นพระสารสาสน์พลขัณฑ์ (สมบูรณ์) ซึ่งเป็นตำแหน่งอนุศาสนาจารย์กรมทหารมหาดเล็กอยู่ในเวลานั้น พยายามจะแต่งหนังสือสามก๊กใหม่อีกสำนวนหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยถามว่า จะแต่งทำไม พระสารสาสน์ฯ บอกว่า หนังสือเก่าแต่งยังสะเพร่าอยู่หลายแห่ง ได้ยกตัวอย่างตรงที่ "กวนอูกักด่าน" ซึ่งมีปัญหาว่า ขงเบ่งรู้อยู่แล้วว่ากวนอูคงไม่ทำอันตรายโจโฉ เหตุใดจึงใช้ให้กวนอูไปคอยจับโจโฉ ในหนังสือสามก๊กฉบับเดิมแก้ข้อนี้ว่า เพราะขงเบ้งจับยามเห็นว่าโจโฉยังไม่ถึงที่ตายจึงใช้กวนอูไปเพื่อจะให้ใช้คุณของโจโฉ พระสารสาสน์ฯ เห็นว่า แก้เช่นนั้นไม่ถูก เหตุที่แท้นั้นเพราะขงเบ้งเห็นว่า จำจะต้องเอาโจโฉไว้ให้เป็นคู่แข่งกับซุนกวน ถ้ากำจัดโจโฉเสีย ซุนกวนมีกำลังมากอยู่แต่ก๊กเดียวก็คงจะทำอันตายเล่าปี่ ที่ไหนจะปล่อยให้ตั้งตัวได้ แลยังชี้ตรงที่อื่นอีกแต่ข้าพเจ้าลืมเสียหมดแล้ว เห็นพระสารสาสน์ฯ เขียนหนังสือสามก๊กฉบับนั้นอยู่นาน แต่ข้าพเจ้าไม่ได้สนใจจะขออ่าน ก็ทราบไม่ได้ว่าแต่งแก้เป็นอย่างไรแลจะแต่งได้ตลอดเรื่องหรือไม่ สันนิษฐานว่า ถ้าไม่ค้างอยู่จนพระสารสาสน์ฯ ถึงแก่กรรมก็คงไปติดอยู่ด้วยไม่มีใครรับพิมพ์จึงเลยเงียบหายไป ต้นฉบับที่พระสารสาสน์ฯ เขียนไว้นั้นใครจะได้ไว้ในบัดนี้หรือเป็นอันตรายสูญไปเสียแล้วก็หาทราบไม่[8]

อีกรายหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยได้ยินคำผู้หนึ่งจะเป็นใครก็ลืมไปเสียแล้วกล่าวว่า เรื่องสามก๊กนั้นแต่งดีจริง แต่ผู้แต่งเป็นพวกเล่าปี่ ตั้งใจแต่ละยกย่องเล่าปี่เป็นสำคัญ ถ้าหากพวกโจโฉแต่งเรื่องสามก๊กก็อาจจะดำเนินความในเรื่องสามก๊กให้ผู้อ่านเข้าใจกลับกันไปได้ว่า โจโฉเป็นผู้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ฝ่ายเล่าปี่เป็นผู้คิดร้าย เพราะมีข้อที่จะอ้างเข้ากับโจโฉได้หลายข้อ เป็นต้นแต่ชั้นเดิมที่โจโฉเป็นผู้รู้สึกเจ็บร้อนด้วยแผ่นดินไปเที่ยวชักชวนพวกหัวเมืองให้ช่วยกันปราบตั๋งโต๊ะซึ่งเป็นราชศัตรู และต่อมาเมื่อโจโฉจะได้มีอำนาจในราชธานีนั้น ก็เป็นด้วยพระเจ้าเหี้ยนเต้มีรับสั่งให้หาเข้าไปแต่งตั้ง มิได้กำเริบเอิบเอื้อมเข้าไปโดยลำพังตน เมื่อโจโฉได้เป็นที่เซียงก๊กแล้วสามารถปกครองบ้านเมืองแลปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องให้กลับอยู่ในบังคับบัญชาของรัฐบาลกลางอย่างแต่ก่อนได้โดยมาก ข้อที่กล่าวหาว่าโจโฉเป็นศัตรูราชสมบัตินั้นก็อาจจะคัดค้านได้ว่า ถ้าโจโฉเป็นศัตรูราชสมบัติจริง จะกำจัดพระเจ้าเหี้ยนเต้เสียเมื่อหนึ่งเมื่อใดก็กำจัดได้ ที่ไหนจะยอมเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่จนตลอดอายุ แลความข้อนี้อาจพิสูจน์ได้ด้วยเมื่อโจผีได้เป็นที่แทนโจโฉก็ชิงราชสมบัติได้โดยง่าย ส่วนเล่าปี่ที่ว่าเป็นคนดีก็ดีแต่อัธยาศัย แต่เรื่องประวัติของเล่าปี่ซึ่งปรากฏในเรื่องสามก๊กดูเป็นแต่เที่ยวรบพุ่งชิงบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่เห็นว่าได้ตั้งใจขวนขวายช่วยพระเจ้าเหี้ยนเต้จริงจังอย่างใด คำที่กล่าวนี้เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับรูปเรื่องสามก๊กก็เห็นชอบกล ดูเหมือนจะต้องรับว่าเป็นความจริงอย่างหนึ่งในข้อที่ผู้แต่งหนังสืออาจจะจูงใจผู้อ่านให้นิยมได้ตามประสงค์ ยกเรื่องสามก๊กนี้เป็นอุทาหรณ์ได้เรื่องหนึ่ง แม้ไทยเรามิได้เป็นพวกข้างไหน ใครอ่านเรื่องสามก๊กหรือเพียงได้ดูงิ้วเล่นเรื่องสามก๊กก็ดูเหมือนจะเข้ากับเล่าปี่ด้วยกันทั้งนั้น

  1. พระเจนจีนอักษรเป็นผู้แปล แต่ข้าพเจ้า (ผู้ไม่รู้ภาษาจีน) ได้แก้ไขถ้อยคำแต่งสำนวนไทยหลายแห่ง ถ้าคลาดเคลื่อนจากภาษาจีนไปมากนักขออย่าติโทษพระเจนจีนอักษร
  2. เชียะเบี้ยเป็นชื่อภูเขาแปลว่า ชันดังกำแพง อยู่ที่ฝั่งแม้น้ำซามกัง หนังสือเรื่องสามก๊กที่พิมพ์แล้วเรียกว่า ที่ฝั่งแม่น้ำซามกัง
  3. หมายความว่า ตอนลกซุนตีทัพพระเจ้าเล่าปี่แตกยับเยินแล้วตีทัพพระเจ้าโจผีแตกพ่าย
  4. ในเรื่องชิดก๊กไซ่ฮั่นแลตั้งฮั่น ตั้งแต่พระเจ้าฮั่นโกโจครองราชสมบัติถึงอองมังเป็นกบฏ ตอนนี้เรียก ไซ่ฮั่น ในเรื่องไซ่ฮั่นแลสามก๊ก ตั้งแต่พระเจ้าฮั่นกองบู๊ฮ่องเต้ครองราชสมบัติถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกจากราชสมบัติ ตอนนี้เรียก ตั้งฮั่น
  5. ในเรื่องตั้งจิ้น ตอนพระเจ้าแผ่นดิวอ๋าวงุ่ยหนีไปอยู่กับอูยุ่นไถ ตอนนี้เรียก ไซ่งุ่ย เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอ๋าวงุ่ยหนีไปแล้วพวกขุนนางพร้อมกันเชิญพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ครองราชสมบัติ ตอนนี้เรียก ตั้งงุ่ย
  6. ในเรื่องชิดก๊กไซ่ฮั่น ตอนฮั่นอ๋องรบกับฌ้อปาอ๋อง กวยทองบอกให้ฮั่นสิ้นแข็งเมืองไว้ให้เป็นสามก๊ก ฮั่นอ๋อง ก๊กหนึ่ง ฌ้อปาอ๋อง ก๊กหนึ่ง ฮั่นสิ้น ก๊กหนึ่ง
  7. สันนิษฐานว่า เม่าจงกังแต่งคำอธิบายได้ก่อน กิมเสี่ยถ่างชำระแต่งเป็นคำอธิบายนี้ขึ้นใหม่ เม่าจงกังยอมว่าดีกว่าของตนจึงให้พิมพ์
  8. ถ้าใครได้ไว้แลบอกมาให้ราชบัณฑิตยสภาทราบจะขอบคุณเป็นอันมาก