ตำรานพรัตน์/ตำรา
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสุริยวงศ์มนตรี, พระมหาวิชาธรรม, หลวงลิขิตปรีชา, หลวงภักดีจินดา, นายชม ปฤกษาพร้อมกันสอบตำราเพชรรัตน์กับตำหรับพราหมณ์ซึ่งหลวงภักดีจินดาได้เรียนไว้มาชำระเทียบต้องกันสามฉบับ พระมหาวิชาธรรมค้นพระบาฬีพุทธศาสตร์ประกอบกับตำหรับไสยศาสตร์ หลวงลิขิตปรีชา อาลักษณ แต่งตำหรับพุทธศาสตร์ประกอบกับตำราไสยศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย ในพระบาฬีคัมภีร์พุทธศาสตร์นั้นว่า
"วชิรํ รตฺตํ อินฺทนีลํ เวฬุริยํ รตฺตกาฬมิสฺสกํ โอทาตปีตมิสฺสกํ นีลํ ปุสฺสราคํ มุตฺตาหารัญฺจาติ อิมานิ นวกาทีนิ รตนานิ ตสฺมา รตนชาติโย อเนกวิธา นานาปเทเสสุ อุปฺปชฺชนฺตีติ เวทิตพฺพา"[1]
อธิบายตามพระบาลีว่า รตนานิ อันว่ารัตนชาติทั้งหลาย อเนกวิธา มีประการเปนอันมากจะประมาณมิได้ นวกาทีนิ มีแก้วเก้าประการเปนอาทิ คือ แก้ววิเชียร ๑ แก้วแดง ๑ แก้วอินทนิล ๑ แก้วไพฑูรย์ ๑ แก้วรัตกาลมิศก ๑ แก้วโอทาตปีตมิศก ๑ นีลรัตน์ ๑ แก้วบุษราคำ ๑ แก้วมุกดาหาร ๑ แก้วทั้งเก้าประการมีพรรณต่างกัน แต่แก้ววิเชียรนั้นมีสีงามบริสุทธิ์ดุจดังน้ำอันใส ตำราไสยศาสตร์ชื่อว่า 'เพ็ชร' นับถือว่า เปนมงคลอันพราหมณ์ทั้งหลายนำมาใช้ให้ช่างเจียรในผูกเรือนธำมรงค์ประดับด้วยเนาวรัตน์ จัดเอาเพ็ชรตั้งเปนประถม, รตตํ อันว่าแก้วมีพรรณแดงงามสดใสยิ่งนัก ในตำราไสยศาสตร์สมมุติชื่อว่า "ปัทมราช" ถ้ามีสีแดงอ่อนดังผลเมล็ดทับทิมสุกนั้น ชื่อว่า ทับทิม ประดับเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์เปนที่สอง, อินฺทนีลํ อันว่าแก้วอินทนิลมีพรรณผลนั้นเขียวเลื่อมประภัษศร[2] ดั่งแสงแห่งปีกแมลงทับ ในตำหรับไสยศาสตร์ชื่อว่า 'แก้วมรกฎ' ประดับเรือนนพรัตน์เปนที่สาม, เวฬุริยํ อันว่าแก้วไพฑูรย์มีสีเหลืองเลื่อมพรายดังสีสรรพ์พรรณบุบผชาติทั้งหลาย มีสีดอกทรึกเปนอาทิ ตำราไสยศาสตร์ว่า 'แก้วไพฑูรย์' ประดับนับเข้าในเรือนนพรัตน์เปนที่สี่, รตฺตกาฬมิสฺสกํ อันว่าแก้วอันมีสีดำและสีแดงเจือแกมกัน[3] ดูงามสดใส ในตำราไสยศาสตร์ชื่อว่า 'แก้วโกเมน' สมมุติว่ามีคุณอันพิเศษ นำมาผูกเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์จัดเปนที่ห้า, โอทาตปิตมิสฺสกํ อันว่าแก้วอันมีสีขาวกับสีเหลืองเจือกันนั้น ตำราไสยศาสตร์ว่า แก้วเพทาย ประดับเนาวรัตน์เปนที่หก, นีลํ อันว่านิลมีสีดังดอกอัญชันแลดอกสามหาว ประดับเรือนเนาวรัตน์เปนที่เจ็ด, ปุสฺสราคํ อันว่าบุษราคำมีสีเหลืองเลื่อมประภัษศรดั่งสีวงแววหางปลาสลาด นัยหนึ่งมีสีดังหลังปู ประดับเรือนนพรัตน์เปนที่แปด, มุตฺตาหารํ อันว่ามุกดาหารมีสีดังมุกอันเลื่อมพรายดูงามเปนที่จำเริญจักขุบุคคลอันเลงแลดู ประดับเรือนพระธำมรงค์นพรัตน์เปนที่เก้า.
โบราณจารย์พฤฒาพราหมณ์ทั้งหลายผู้ฉลาดชำนาญในไตรเพท เหตุรู้จักคุณพิเศษแห่งรัตนชาติทั้งปวง จึงเลือกคัดจัดรัตนชาติเก้าประการมีผลอันบริสุทธิ์สิ้นโทษทั้งนี้มาเจียรใน ได้ศุภฤกษ์ดี จึงประดับเรือนเนาวรัตน์เปนพระธำมรงค์ประกอบแก้วทั้งเก้าประการต้องตามตำหรับไสยศาสตร์ นับถือว่าเปนมงคลอันวิเศษ เหตุดั่งนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงมีคำอธิบายเปนพระบาฬีว่า "ตถา รตฺตนีลาทิเภทา อเนกวิธา มณโย นานาฐาเนสุ ปากฏา" แปลว่า อันว่ารัตนชาติทั้งหลายมีสีดำ แลสีแดง แลมีสีต่าง ๆ ซึงวิเศษนอกกว่าแก้วเก้าประการนี้มีเปนอันมาก ย่อมบังเกีดในที่แทบเชีงพระเมรุบรรพต และเกีดในที่ท้องพระมหาสมุท แลเกีดในที่เขาวิบูลบรรพต แลเกีดในป่าพระหิมพานต์ แลบังเกีดด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ แลบังเกีดในบ่อแก้วทั้งหลายในแดนมนุษย์ด้วยอานุภาพบุญฤทธิ์แห่งกระษัตริย์ทั้งหลายมีสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราชเปนอาทิ รัตนชาติทั้งหลายก็ปรากฎมีมาคุ้มเท่าทุกวันนี้.
จะกล่าวตำราไสยศาสตร์สืบไป ในต้นตำราไสยศาสตร์นั้นว่า เมื่อตั้งภัทรกัลป ยังมีอสูรตนหนึ่งชื่อ มหาพลอสูร มีตระบะกิจพิธีอันอุกฤษฐ์ คิดจะไว้เกียรติยศปรากฎในแผ่นดินสิ้นกัลปาวสาน อสูรนั้นจึงตั้งพิธีอดอาหารเจ็ดวันก็สิ้นชีวิต เทวาทั้งหลายจึงนำกระดูกร่างกายอสูรอันตายนั้นไปเรี่ยรายฝังไว้ทุกแห่ง ก็บังเกีดเปนเพ็ชรรัตน์ พระมหาฤๅษีองคตจึงตั้งแต่งตำราพิจารณาเพ็ชรรัตนชาติอันมีคุณและมีโทษไว้เปนฉบับสำหรับผู้มีปรีชาจะได้ศึกษาเรียนรู้ดูเพ็ชรรัตน์อันมีคุณพิเศษ แลจะประกอบด้วยโทษแก่ผู้ถือนั้น ดังนี้ อันว่ารัตนชาติทั้งหลายบังเกีดในกฤดายุค แลเกีดในไตรดายุค แลเกีดในทวาปรยุคตราบเท่าถึงกลียุคทุกวันนี้ จะกล่าวกำเนิดสกูลเพ็ชรอันประเสริฐกว่าแก้วทั้ง ๘ ประการนั้นก่อน อันว่าเพ็ชรมี ๓ ประการ คือ เพ็ชร์ประถมชาติ ประการ ๑ เพ็ชร์ทุติยชาติ ประการ ๑ เพ็ชร์ตติยชาติ ประการ ๑. อันว่าเพ็ชร์ประถมชาติอันประกอบด้วยคุณพิเศษมี ๕ จำพวก เพ็ชร์ทุติยชาติมีคุณ ๔ จำพวก เพ็ชร์ตติยชาติมีโทษ ๑๒ จำพวก.
เพ็ชร์ประถมชาติมีคุณพิเศษ ๕ ประการ ชื่อว่า ขัตติยชาติ นั้น มีน้ำแดงดังผลตำลึงสุก เมื่อพิจารณาดูในผลนั้น มีรัศมีขาว, เหลือง, ดำ, เขียว, รุ้งกินน้ำ, เมื่อส่องดูด้วยแดด เปนดวงแล่นออกจากเหลี่ยมเปนสีเบญจรงค์ด้านละ ๘ ดวง ผู้ใดถือเพ็ชร์ขัตติยชาติ แม้สกูลไพร่ จะได้เปนนาย ๆ จะได้เปนขุน ๆ จะได้ครองเมือง ถ้าวงศาพญา จะได้เปนกระษัตริย์ กระทำสงครามจะมีไชยชนะแก่ข้าศึกปราบสัตรูพ่ายแพ้ทุกทิศ ให้ผูกเรือนธำมรงค์ทรงใส่นิ้วชี้เบื้องขวา เปนเพ็ชร์ประถมชาติประการ ๑.
เพ็ชร์ชื่อ สมณชาติ มีพรรณเหลืองดังน้ำมันไก่ พิจารณาดูในผล มีรัศมีแดง, เขียว, ขาว, ดำ, หงสิบบาท[4] ครั้นส่องดูด้วยแดด เห็นแสงทอกันดังแสงตวันเมื่อเที่ยงเปนช่วงแล่นออกจากเหลี่ยมหลายสีเปนเบ็ญจรงค์ทุกด้าน เพ็ชร์ดังนี้มีราคาจะคณนามิได้ ให้ผูกเรือนแหวนถือนิ้วชี้มือเบื้องขวา จะจำเริญสุขสมบัติสมบูรณด้วยอานุภาพเพ็ชร์อันมีคุณพิเศษ เปนเพ็ชร์ประถมชาติประการ ๒.
เพ็ชร์ชื่อ พราหมณชาติ นั้น มีพรรณขาวช่วง พิจารณาดูในผล มีรัศมีแดง, ดำ, เหลือง, เขียว, หงสิบบาท ครั้นส่องต้องแสงตวัน แสงทอกันดังแสงพระอาทิตย์เมื่อเที่ยง เพ็ชร์ดังนี้ดีนัก จะคณนาค่ามิได้ ให้ถือนิ้วชี้ขวา สมบัติจะไหลมาสู่ สัตรูทำร้ายมิได้ เปนเพ็ชร์ประถมชาติประการ ๓.
เพ็ชร์ชื่อ แพสชาติ นั้น มีพรรณเขียว พิจารณาดูในผลนั้น รัศมีขาว, แดง, เหลือง, ดำ, หงสิบบาท ถ้าส่องด้วยแสงแดด เปนแสงทอกันดั่งแสงตวันเมื่อเที่ยง ผู้ใดได้เพ็ชร์ดังนี้ ให้ถือนิ้วชี้เบื้องขวา ชอบค้าขายจะมีกำไรมาก จะจำเรีญศุขสวัสดิ์สัตรูอัปราไชย เปนเพ็ชร์ประถมชาติประการ ๔.
เพ็ชร์อันชื่อ สูทชาติ นั้น มีพรรณดำดุงดังตกั่วตัด พิจารณาในผล มีรัศมีแดง, เหลือง, ขาว, เขียว, หงสิบบาท ครั้นส่องดูด้วยแดด เห็นเปนดวงแล่นฉวัดเฉวียนออกจากเหลี่ยมด้านละ ๘ ดวงดุจดังรุ้งกินน้ำ, เบ็ญจรงค์ แสงทอกันดั่งแสงตวันเมื่อเที่ยง เพ็ชร์ดังนี้ดีนัก ให้ผูกเรือนแหวนถือนิ้วชี้ขวา จะมีไชยแก่ข้าศึกสัตรู จะอยู่จำเรีญศุขสวัสดิ์ จะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ชอบทำไร่ไถนาสร้างสวนดีนัก เปนเพ็ชร์ประถมชาติประการ ๕ กล่าวสกูลเพ็ชร์ประถมชาติ ๕ ประการอันประกอบด้วยคุณพิเศษสิ้นเท่านี้.
อันว่าเพ็ชร์ทุติยชาติอันประกอบคุณมี ๔ จำพวกนั้น จำพวกหนึ่งเปนเพ็ชร์ยอด มีภู ๖ ภูรอบผลหน้ากระดาน ๘ แห่ง มีท้องแลหลังเหมือนกัน ถ้าจะพลิกกลับเปนยอดก็ได้ถูกภู ประการ ๑ จำพวกหนึ่งผลเปนเหลี่ยม มีแสงทอกันอยู่ดูดังลายเขม ประการ ๑ จำพวกหนึ่งสีเหลืองเปนสังวาลอินท์ธนู ประการ ๑ จำพวกหนึ่งมิได้กล่าวสี แต่มีผลนั้นเบากว่าแก้วผลึก[5] เปนประมาณ ประการ ๑ เพ็ชร์ ๔ จำพวกนี้มีคุณวิเศษนัก ผู้ใดถือเพ็ชร์ทุติยชาตินี้ อาจคงแก่เครื่องศัสตราวุธจะแทงฟันกายผู้นั้นบมิเข้า จะเปนที่เสน่ห์แก่เทพยดามนุษย์ทั้งหลาย จะได้เปนใหญ่ในที่ยศศักดิ์ จักบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ สัตรูพ่ายแพ้อำนาจ เพลีงบมิไหม้เรือน งูขบบมิปวดพิษม์ ด้วยฤทธิ์เพ็ชร์อันวิเศษนัก แต่อย่าให้คนป่วยไข้ถือ โรคจะกำเรีบ กล่าวคุณเพ็ชร์ทุติยชาติ ๔ จำพวกสิ้นเท่านี้.
อันว่าเพ็ชร์ตติยชาติประกอบด้วยโทษมี ๑๒ จำพวก คือ เพ็ชร์ผลหาภูมิได้ ๑ เพ็ชร์มีผลเบี้ยว ๑ เพ็ชร์ผลเปนรอยยาว ๑ ผลนั้นเปนลมเข้าอยู่ใน ๑ ผลแตก ๑ ผลนั้นเห็นเปนรู ๑ รูปผลดังทนานมะพร้าว ๑ ผลช้ำดังผมพึ่งโกน ๑ ผลนั้นเห็นดั่งรูเจาะ ๑ ผลดำมิได้มีน้ำอื่นแกม ๑ ผลเปนรอยดังตีนกา ๑ และเพ็ชร์มีผลอันระคนด้วยโทษ ๑ ๑๒ ประการนี้ นายช่างผู้ฉลาดเจียรในสิ้นโทษผลบริสุทธิ์แล้วก็จะกลับเปนคุณดังกล่าวมานั้น ถ้ากระทำมิหมดโทษ เพ็ชร์นั้นก็จะให้โทษแก่ผู้ถือ จะเสียทรัพย์เงินทอง จะต้องเครื่องศัสตราวุธป่วยลำบากเปนสาหัส สัตรูหมู่ข้าศึกจะปองทำร้าย จะฉิบหายทั้งช้างม้าช้าใช้สรอย จะเกีดโรคพยาธิ จะเกีดภัยด้วยเพลีงแลน้ำเนือง ๆ ด้วยโทษอันถือเพ็ชร์มิสิ้นโทษนั้น เพ็ชร์ตติยชาติเปนเพ็ชร์โทษ ๑๒ จำพวกสิ้นเท่านี้.
อนึ่ง สกูลเพ็ชร์พิเศษอันเกีดในแดนเมืองกลึงคราชนั้น แสงเขียวดุจดังทองจาว ชื่อ กลึงคเพ็ชร์, เพ็ชร์อันบังเกีดในแดนเมืองมิลินลราช มีสีเหลืองขาวดังสีงาช้าง ชื่อ คชเพ็ชร์, ช้างกลัวนัก, เพ็ชร์อันเกีดในแดนเมืองปันทรราช สีดังหิงคูล ภาษาพราหมณ์ว่า สีดุจดังยางโพธิ์ จำพวกหนึ่งสีดังหงสิบบาท ทั้งสองประการนี้ชื่อ ปันทรเพ็ชร์, เพ็ชร์อันบังเกีดในแดนเมืองสามลราช ในผลนั้นมีรัศมีแดงเท่าเมล็ดพรรณผักกาดอันผ่าสามซีกเอาแต่ซีกหนึ่งก็ดี เท่าศีร์ษะแมลงวันหัวเขียวก็ดี ชื่อว่า เพ็ชร์สังหาร, ผูกเรือนแหวนถือ ข้าศึกสัตรูจะพ่ายแพ้อำนาจ อาจแก้คุณปิศาจทั้งปวงประสิทธิ์นัก, อนึ่ง เพ็ชร์อันเกีดในแดนเมืองบุษบากรราช สีผลนั้นเหมือนดังดอกเบ็ญมาศ ชื่อ หิมพานเพ็ชร์ และเพ็ชร์สังหาร หิมพานเพ็ชร์ ทั้งสองจำพวกนี้ มีคุณอันพิเศษนัก, ให้ถือเมื่อกระทำพิธีสมโภชเชีญขวัญมังคลาภิเศก จะเกีดศุขศิริสวัสดิ์จำเรีญ หมู่ปัจจามิตร์สัตรูแต่ก่อนจะเข้ามาอ่อนน้อมยอมสาภิภักดิ์ด้วยอานุภาพเพ็ชร์นี้ จะมีประสงค์สิ่งใดก็จะได้สำเร็จทุกประการ เพ็ชร์อันบังเกีดในแดนเมืองไภยรากราช รัศมีผลนั้นดุจดังน้ำอยู่บนใบบัว ชื่อ ไภยรากรเพ็ชร์ ผู้ใดถือจะมีอำนาจ อาจกันอันตรายภัยได้ถึง ๑๐๘ ประการ ดีนัก. กล่าวสกูลเพ็ชร์อันพิเศษบังเกีดในแดนเมืองทั้ง ๖ แห่งสิ้นเท่านี้.
อนึ่ง สกูลเพ็ชร์อันบังเกีดด้วยอำนาจเทพยุดาประดิษฐานไว้ในที่ทั้งปวงมี ๖ จำพวก ดังนี้ เพ็ชร์อันเกีดในศิลา มีผลแดงดุจดังทองแดงก็ดี ดังสีพระจันทร์อันงามก็ดี เพ็ชร์สองจำพวกนี้ชื่อว่า ติลาเพ็ชร์, เพ็ชร์จำพวกหนึ่งเกีดในปุ้มเปือกกุสุมาลีมหาสมุท เพ็ชร์นั้นผลมีสีขาวใสดุจดังน้ำค้างใบบัวก็ดี มีน้ำแดงขำหมอก, เขียว, ขาว ทั้งสองจำพวกนี้ชื่อว่า อินทรเพ็ชร์, เพ็ชร์จำพวกหนึ่งเกีดในดอกบัวสัตบุษย์ มีสีผลนั้นขนานกัน คือ สีดำ, แดง, ขาว, เหลือง, เขียว, เจือกันดังปพาลนาคราช ชื่อว่า นาคราชเพ็ชร์, เพ็ชร์จำพวกหนึ่งเกีดในศีร์ษะแรตก็ดี เกีดในศีร์ษะเหยี่ยวก็ดี เกีดในศีร์ษะนกกระเรียนก็ดี มีสีขาวดังละลอกสมุท ชื่อว่า เพ็ชร์ราวุธ, เพ็ชร์จำพวกหนึ่งบังเกีดด้วยอานุภาพพระอินทร์ มีรัศมีกล้าดุจดังแสงพระอาทิตย์ มีฤทธิ์นัก ชื่อ สังขนิลเพ็ชร์ ท้าวสุราคราชให้เพ็ชร์นี้แก่หณุมานครั้งไตรดายุคนั้น.
อันว่าเพ็ชร์ที่เทพยุดาประดิษฐานทั้ง ๖ จำพวกดังกล่าวมานี้ เปนมหาวิเศษนัก มิอาจคณนาค่าแลคุณได้เลย สกูลเพ็ชร์คุณ ๒๑, โทษ ๑๒, ๓๓ จำพวกเท่านี้.
พระองคตมหาฤๅษีผู้มีปรีชาชำนาญในไตรเพทกล่าวอุปเทศลักษณะปัทมราช[6] อันมีคุณแลประกอบด้วยโทษสืบไป ในลักขณะปัทมราชนั้น ชื่อ ชาติรังค เปนประถมชาติ ๑ ชื่อ กระวินทร เปนทุติยชาติ ๑ ชื่อ เสาวคณฑี เปนตติยชาติ ๑ ชื่อ กรวางค เปนจัตุถชาติ ๑ แลปัทมราชอันเปนประถมชาตินั้นมีสีต่างกัน ๙ ประการ ประการหนึ่ง ผลนั้นสีแดงดังดอกสัตบุษย์เมื่อบาน ประการ ๑ มีผลนั้นดังดอกจงกลนี ประการ ๑ ผลนั้นมีสีดังดอกทับทิม ประการ ๑ ผลนั้นมีสีดังแมลงเต่าทอง ประการ ๑ ผลนั้นมีสีดั่งเปลวประทีปเมื่อจะใกล้ดับ ประการ ๑ ผลนั้นดั่งพระอาทิตย์แรกขึ้นมาเพื่อเพลาเช้า ประการ ๑ ผลนั้นดังผลเม็ดทับทิมอันสุกเข้ม ประการ ๑ ผลนั้นแดงดั่งดวงตานกจากพราก[7] ประการ ๑ ผลดังสีถ่านเพลิงแดง ประการหนึ่ง ทั้งเก้าประการนี้เปนสีแห่งปัทมราชอันเปนประถมชาติ เท่านี้
อันว่ากระวินทปัทมราชอันเปนทุติยชาตินั้นมีสีผลต่างกัน ๙ ประการ ประการหนึ่ง สีผลนั้นแดงก่ำดังดอกเสอ้งนา[8] ประการหนึ่ง ผลนั้นสีดังดอกทองกวาว ประการหนึ่ง สีดังดอกทองหลาง ประการหนึ่ง สีดังดอกไม้แดง ประการหนึ่ง สีดังดอกกระหมุดแดง ประการหนึ่ง ดังสีเลือดกระต่าย ประการหนึ่ง สีแดงดังศีร์ษะลิงโลด ประการหนึ่ง สีแดงดังชาติหรคุณ ประการหนึ่ง สีแดงดังผลมะกล่ำไฟ ทั้ง ๙ ประการนี้ชื่อว่า ปัทมราช อันเปนทุติยชาติ เท่านี้.
อันว่าเสาวคณฑีปัทมราชอันเปนตติยชาตินั้นมีสีต่างกัน ๕ ประการ ประการหนึ่ง ผลแดงดังดวงตานกกระเหว่า ประการหนึ่ง สีแดงดังน้ำฝาง ประการหนึ่ง สีแดงดังผลสะบ้าสุก ประการหนึ่ง สีแดงดังดอกงิ้ว ประการหนึ่ง สีแดงดังดอกรักแดง ปัทมราชทั้ง ๕ ประการนี้เปนน้ำตติยชาติ สิ้นเท่านี้.
อันว่ากรวางคปัทมราชอันเปนจัตุถชาติมีสีต่างกัน ๔ ประการ ประการหนึ่ง ผลนั้นมีเหลืองเจือสีแดงดังผลกระดอมสุก ประการหนึ่ง สีดังอิฐแดง ประการหนึ่ง สีดั่งน้ำขมิ้น ประการหนึ่ง สีแดงอ่อนกว่าดอกทองกวาว ปัทมรา⟨ช⟩ทั้ง ๔ ประการนี้เปนน้ำจัตุถชาติ สิ้นเท่านี้.
โทษอันมีในผลปัทมราชทั้งหลายอันเปนประถมชาติ, ทุติยชาติ, ตติยชาติ, จัตุถชาติ, ก็ดี มีโทษ ๑๖ ประการ ประการหนึ่ง กลางผลว้าม ประการหนึ่ง ผลแตก ประการหนึ่ง ผลเห็นน้ำขาวติดอยู่ ประการหนึ่ง ผลเปนรูเจาะ ประการหนึ่ง ผลเห็นน้ำขาวไหลไปมาในผล ประการหนึ่ง ลมเข้าอยู่ในผล ประการหนึ่ง ผลรอยบิ่น ประการหนึ่ง ผลช้ำดังผมพึ่งโกน ประการหนึ่ง ผลนั้นดินแดงเข้าอยู่ใน ประการหนึ่ง ดินดำเข้าอยู่ในผล ประการหนึ่ง สลายทั้งผล ประการหนึ่ง ผลเปนน้ำดำ ประการหนึ่ง ผลเบี้ยวบิด ประการหนึ่ง ผลเปนภู ประการหนึ่ง เปนดังควันไฟอยู่ในผล ประการหนึ่ง เปนสีเหลืองคำเปลวอยู่ในผล ปัทมราชอันมีมลทินโทษ ๑๖ ประการดังกล่าวมานี้ ผู้มีปรีชารู้ว่า ผลปัทมราชติดมลทินกระทำชำระโทษสิ้นแล้ว ก็จะสิ้นโทษกลับเปนคุณ ถ้ามีโทษพึงละเสีย ถ้าผู้ใดมิได้รู้ว่าเปนพลอยโทษ เอามาถือ จะบังเกีดโทษเปนพิบัติ แม้นผู้มีสกูลจะกำจัดจากที่ยศศักดิ์แลบริวาร จะเกีดโรคพิการลำบาก จะพลัดพรากบุตร์ภรรยาญาติวงศา จะเกีดอันตราย จะตายด้วยต้องคมอาวุธ แลไฟจะไหม้เรือน ปัทมราชอันประกอบด้วยโทษ ๑๖ ประการเท่านี้ ปัทมราชจำพวกใดน้ำแลสีดีต้องลักษณะก็ดี ถ้าผลเปนโทษ กระทำมิสิ้นโทษไซร้ ผู้ปรีชาพึงละเสียเถีด จัญไรนัก.
จักกล่าวคุณในปัทมราช ๑๐ จำพวก จำพวกหนึ่ง มีน้ำนิลเข้าอยู่ใน ให้เอาผลนั้นเผาด้วยเพลีง เอาออกไว้ให้เย็นเอง อย่าให้ถูกน้ำ ปัทมราชนั้นจึงจะบริสุทธิ์ จำพวกหนึ่ง มีรัศมีในผลนั้นสีต่างกันถึง ๑๐, ๙, ๘, ๖, ๕. ประการก็ดี ผลนั้นมีสัณฐานดังรูปไข่ไก่ผ่ากลางก็ดี ดั่งรูปมะนาวตัดกลางก็ดี ถ้าผู้ใดถือปัทมราชอันน้ำนิลอยู่ในเผาด้วยเพลีงแล้ว น้ำแดงแสงงามบริสุทธิ์ดุจดังฟ้าแดงเมื่อตวันตกแลพระอาทิตย์แรกอุไทย และโทษ ๑๖ ประการมิได้ติดอยู่ในผลนั้น ผู้ถือจะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ และมีช้างม้าข้าใช้เปนอันมาก จักจำเรีญสุขสำราญใจหาโรคพยาธิมิได้ จะมีอายุยืนด้วยอานุภาพปัทมราชอันมีคุณพิเศษนั้น.
ผู้ใดถือปัทมราชอันมีรัศมีในผลนั้นถึง ๑๐ ประการ แลผลนั้นสัณฐานรูปดั่งไข่ไก่ผ่ากลางก็ดี ดั่งมะนาวตัดกลางก็ดี เนื้อสนิทบริสุทธิ์เว้นจากโทษ ๑๖ ประการ ผู้นั้นจะได้เปนพญา ถ้าอยู่เมือง ฝนจะตกในเมืองนั้นเดือนละ ๓ ครั้ง ปัทมราชอันมีรัศมี ๑๐ ประการนั้น ถ้าผลหนัก ๑๒ กล่ำ รัศมีขึ้นสูงได้ ๔๒ องคุลี ถ้าปัทมราชผลนั้นมีรัศมีแต่ ๙ ประการ หนัก ๑๒ กล่ำ รัศมีออกจากผลได้ ๑๘ องคุลี ปัทมราช ๒ ประการนี้ควรแก่ท้าวพญาทรง ปัทมราชอันเปนสามัญ ผลนั้นมีน้ำ (๑) เขียวดังสีผลึก (๒) น้ำสีดั่งผลเมล็ดทับทิมดิบ (๓) น้ำดั่งเมล็ดทับทิมสุก (๔) น้ำดั่งสีกลีบบัวหลวงอันบาน (๕) น้ำดั่งสีฟ้าแดงเมื่อตวันจะใกล้ตก (๖) น้ำสีดั่งถ่านเพลีงแดง ถ้าผลหนักสามสลึง รัศมีออกจากผล ๔ องคุลี ถ้าหนักบาทหนึ่ง รัศมีออกจากผลนั้น ๔๒ องคุลี ถ้าหนักห้าสลึง รัศมีออก ๔๖ องคุลี รัศมีเลื่อมพรายทั้งผลนั้นมีรูปดั่งไข่ไก่ผ่ากลางก็ดี ดั่งมะนาวตัดกลางก็ดี และเว้นจากโทษ ๑๖ ประการดั่งกล่าวมานั้น ผู้ใดถือ จะมีเงินทองทรัพย์สิ่งของโคกระบือช้างม้าข้าคนเปนอันมาก จะอยู่เย็นเปนสุขด้วยอานุภาพปัทมราชอันมีคุณพิเศษนั้น.
อันว่าปัทมราชอันเปนมัธยม พิจารณาดูสีผลแดงเรื่อ ๆ ก็ดี แดงก่ำก็ดี แดงอ่อนก็ดี สีเหลืองเจือแดงดั่งหงสิบบาท หาดำ, ขาว, เขียว, มิได้ก็ดี ถ้ามีเขียวผ่านแดงก็ดี มีเหลืองผ่านแดงก็ดี เมื่อส่องดูในผลเปนละลอกสมุทแลดั่งปีกแมลงวันก็ดี ถ้าถือไปเด็ดใบไม้มิได้มีเงาปรากฎในผลนั้นก็ดี ปัทมราชดังกล่าวมานี้เปนมัธยมอย่างกลาง ถ้าจะพิกัดราคาโดยสถานต่ำเปนทองร้อยหนัก พิกัดค่าอย่างกลางหนักชั่งทองหนึ่ง พิกัดค่าอย่างยิ่งเปนทองหมื่นหนัก. อนึ่ง ปัทมราชเมื่อพิเคราะห์ดูเห็นแต่สีขาวเจืออยู่ในผลแต่สิ่งหนึ่งก็ดี มีแต่สีเขียวเจืออยู่ก็ดี มีแต่สีเหลืองเจืออยู่แต่สิ่งเดียวก็ดี ถ้าจะพิกัดค่าบาททองหนึ่งเปนราคาต่ำ พิกัดค่าทองร้อยหนักเปนอย่างกลาง พิกัดค่าอย่างยิ่งหนักชั่งทองหนึ่ง ปัทมราชมัธยมดังกล่าวมานี้ ถ้าผลนั้นบริสุทธิ์สิ้นโทษแล้ว ผู้ถือจะจำเรีญสุขศิริสวัสดิ์ทุกประการด้วยอานุภาพปัทมราชอันมีคุณพิเศษนั้น พรรณนาปัทมราชอันจะให้คุณ, โทษ, สิ้นเท่านี้.
จะกล่าวกำเนีดไพฑูรย์อันบังเกีดแทบเชีงเขาวิบูลบรรพต แลบังเกีดในบ่อแก้วทั้งหลายต่าง ๆ อันว่าไพฑูรย์อันชื่อ มโนหรไพฑูรย์ นั้น มีแสงขนานกันหลายสี ดุจดังเอาดอกไม้ทุก ๆ พรรณแกมกับสลับหลายสี ดังเอาดอกบัวเผื่อนประดับคลับคล้ายเห็นลายดำ, แดง, ขาว, เขียวดังแมลงเต่าทอง ลายทั้งผองได้ ๕, ๖ สิ่ง ไพฑูรย์จำพวกนี้มีสกูลสูงเหมือนดังไพฑูรย์อันบูรณกาสูรถือไปเล่นสกามีไชยชนะแก่ท้าวทนนไชยโกรพภะยะราช และไพฑูรย์อันบังเกีดในแดนเมืองพิรุลภูมิเปนประถมชาติมี ๓ จำพวก จำพวกหนึ่ง พิจารณาดูในผลนั้นเปนเส้นสีขาวกับสีเหลืองเคียงกันผ่านอยู่กลางผลนั้นเปนแสงอินท์ธนูสังวาล จำพวกหนึ่ง สีดังเปลวไฟ จำพวกหนึ่ง สีดังตาแมว ๓ จำพวกนี้ชื่อ ประถมชาติไพฑูรย์, แลไพฑูรย์ทุติยชาตินั้น จำพวกหนึ่ง พิจารณาดูในผลนั้นดังแววหางนกยูง จำพวกหนึ่ง ดั่งแสงแมลงคาเรือง จำพวกหนึ่ง ดังพรรณดอกปริก ๓ จำพวกเปนทุติยชาติไพฑูรย์, แลไพฑูรย์ตติยชาตินั้น จำพวกหนึ่ง พิจารณาดูในผลนั้นมีสีดั่งสีใบทองกวาวเขียวอ่อน จำพวกหนึ่ง สีเขียวเหลืองอ่อนดังงูเขียวปากปลาหลด จำพวกหนึ่ง สีดั่งใบไผ่อ่อน จำพวกหนึ่ง สีเขียวเจือแดงดั่งกาบไผ่อ่อนอันเกีดได้เดือนหนึ่ง จำพวกหนึ่ง สีดั่งดอกกล้วยพึ่งบาน ๕ จำพวกนี้เปนตติยชาติ. แลไพฑูรย์อันเปนจัตุถชาตินั้น จำพวกหนึ่ง พิจารณาดูในผลนั้น มีสีดั่งปีกแมลงทับ จำพวกหนึ่ง สีเหลืองสีเขียวเจือกันดั่งสีผลหมากสง สองประการนี้เปนจัตุถชาติไพฑูรย์.
อันว่าไพฑูรย์อันประกอบไปด้วยคุณมี ๑๐ ประการ ประการหนึ่ง ผลนั้นกลมมีสัณฐานดั่งก้นทนาน จำพวกหนึ่ง สีหม่นระคนสีเหลืองดังพรวนไฟไหม้ แลมีแสงเปนเส้นรีตามผล เมื่อกลอกดู เดีนไปมาถึงริมทั้งสองข้างถึงสองเส้นสามเส้นก็ดี จำพวกหนึ่ง กลมดั่งผลมะพร้าวผ่ากลางศีร์ษะสูง เมื่อกลอกดู มีแสงแล่นไปมาอยู่ในผลนั้นดีนัก ผู้ใดถือ จะเปนเสน่ห์ จะจำเรีญความสุข จำพวกหนึ่ง มีแสงขาวรีผ่านศีร์ษะ จำพวกหนึ่ง มีแสงเปนเส้น กลอกผลดู แสงกลับไปมาถึงริม แลริมนั้นมีน้ำแดงด้วย ผู้ใดถือ จะมีไชยชนะแก่ข้าศึก สัตรูทำร้ายมิได้ ไฟมิไหม้เรือน ข้าหนีมิได้ จำพวกหนึ่ง แสงเหลืองแลเขียวแกมแดง แลผลรีดั่งข้าวเปลือก จำพวกหนึ่ง แสงเหลืองแกมเขียว ผู้ใดถือ งูขบ มิได้ปวดพิษม์ มีตะบะเดชะเปนอันมาก ทำไร่นาสร้างสวนจะเกีดผลมาก จำพวกหนึ่ง แสงขาวหม่น ใครถือค้าขาย มีสิ่งสินมาก จำพวกหนึ่ง แสงแดงแกมขาวดังสีเปลือกเสม็ดอ่อน ใครถือ คุณไสยทั้งหลายจะทำมิได้เลย.
อันว่าไพฑูรย์มีสีหลายพรรณสลับกันได้ถึง ๑๐ สี ถ้าผลหนัก ๑๒ กล่ำ รัศมีขึ้น ๖๐ องคุลี เปนค่าทอง ๓๑๓ โกฏิหนักทอง แลพิกัดค่าไพฑูรย์อันเปนปฐมะ, ทุติยะ, ตติยะ, จัตุถะ, ชาติดังกล่าวมานี้ ผู้มีปรีชาพึงพิกัดค่าดุจดังปัทมราชอันเปนปฐมะ, ทุติยะ, ตติยะ, จัตุถะ, ชาตินั้นเถีด.
ไพฑูรย์จำพวกหนึ่งลายดั่งจักร์ แลมีน้ำเปนแถวแดง, ขาว, เหลือง, เขียว, ดำ, หงสิบบาท เข้าจดดุมจักร์ แลวงดุมจักร์นั้นเปนเกลียวดุจดังเกลียวลวดทอง แสงดั่งหิ่งห้อย มีอินท์ธนูผ่านจักร์ เมื่อส่องดูด้วยแดด เปนดวงแล่นออกได้ ๓๒ ดวง และดวงนั้นเปนสีเบ็ญจรงค์ แสงกล้าดั่งตวันเมื่อเที่ยง ไพฑูรย์จำพวกนี้มีราคาร้อยโกฏิ, พันโกฏิ, ล้านโกฏิ, ก็ดี จะพิกัดค่าเปนอันขาดมิได้ ผู้ใดถือ สมบัติจะมาสู่ด้วยอานุภาพแก้ว จะมีศรีสวัสดิ์ยิ่งนักแล.
ไพฑูรย์จำพวกหนึ่งผลลายดั่งตานกแขกเต้าก็ดี ดั่งตานกพิราบก็ดี ดังตาตักกะแตนก็ดี มีอินท์ธนูผ่านกลาง เมื่อพิศดูอินท์ธนูเวียนตามแถวน้ำในผลดั่งหิ่งห้อย เมื่อส่องด้วยแดด แสงทอตาดั่งแสงตวันเมื่อเที่ยง ถ้าผลหนักไพ ๑ ค่าชั่งทอง ๑ หนัก ๒ ไพ ค่าหมื่นทอง ๑ หนัก ๓ ไพ ค่าแสนทอง ๑ ถ้าหนัก ๔, ๘, ๙, ๑๐ ไพ ค่าโกฏิทอง ๑ ขึ้นตามน้ำหนักนั้นเถีด.
ไพฑูรย์จำพวหนึ่งผลลายเปนสีเจือกันดั่งเบ็ญจรงค์ แลผลลายดั่งละลอกสมุท หาอินท์ธนูมิได้ มีแต่เมาลีดั่งหมอกอยู่กลางผลนั้น ถ้าผลหนักไพ ๑ ค่าทองร้อยหนัก ถ้าผลหนัก ๒ ไพ ค่าทองสองร้อยหนัก ถ้าผลหนัก ๓, ๔, ๑๐ ไพ ค่าชั่งทอง ๑.
ไพฑูรย์จำพวกหนึ่งผลขาวบริสุทธิ์ดั่งละลอกน้ำ หาอินท์ธนูมิได้ แลเปนละลอกเขียวก็ดี แดงก็ดี ดำก็ดี เหลืองก็ดี หาเมาลีมิได้ ถ้าผลนั้นหนักไพ ๑ ค่าบาททอง ๑ ให้ขึ้นค่าไพละบาททอง ถ้ามีละลอกแลเมาลีด้วย แต่หาอินท์ธนูมิได้ ถ้าผลนั้นหนักไพ ๑ ค่าตำลึงทองหนึ่ง ให้ขึ้นค่าไพละตำลึงทอง.
ไพฑูรย์จำพวกหนึ่ง พิจารณาดูในผลนั้น มีรัศมีเปนสายขาว, แดง, เขียว, เหลือง, ดำ, ก็ดี เปนแต่ ๒, ๓, ๔ สายก็ดี หาละลอกมิได้ หาเมาลีมิได้ หาอินท์ธนูมิได้ ไพฑูรย์จำพวกนี้จะประมาณค่ามิได้เลย.
อันว่าไพฑูรย์มีผลอันบริสุทธิ์สิ้นโทษก็ดี แลผลอันมีโทษแลช่างเจียรในกระทำให้สิ้นโทษต้องลักขณะก็ดี จะมีค่าแลมีคุณเปนอันมาก และพลอยอันประกอบไปด้วยโทษ ช่างเจียรในกระทำมิสิ้นโทษ คือ สีผลนั้นตายกลางยอด ผู้ใดถือ จะตายจากพี่น้องลูกเมีย ข้าคนในเรือนจะตาย ผู้ถืออันศีร์ษะว้ามกลางก็ดี อนึ่ง ผลบางก็ดี จะเข็ญใจทุกเมื่อ ผู้ใดถือพลอยโทษอันศีร์ษะตลอดดั่งก้นทะนาน จะต้องเครื่องอาวุธ ถ้าไปค้า จะเสียของ ผู้ใดถือพลอยโทษอันมีน้ำขุ่นมัว จะผิดพี่น้อง ผู้ใดถือพลอยโทษอันเปนรูเจาะ มีสิ่งสินไว้มิคง ผู้ใดถือพลอยโทษอันมีแผลรุ้งเข้าไปในผลนั้น ผู้ถือจะเปนโทษร้อนใจนัก ผู้ใดถือพลอยโทษมีสีดำดั่งปีกกา ผู้ถือจะเปนโจร.
อันว่าไพฑูรย์จำพวกอันประกอบไปด้วยคุณมีรูปดั่งไข่ผ่ากลางก็ดี ดั่งมะนาวผ่ากลางก็ดี ดั่งเมล็ดละหุ่งก็ดี แลมีผลบริสุทธิ์เว้นจากโทษ ๘ จำพวกดั่งกล่าวมานี้ ถ้าผู้ใดได้ไพฑูรย์อันประกอบด้วยคุณอยู่ณเมืองใด ฝนจะตกในเมืองนั้นเดือนละ ๓ ครั้ง กล่าวลักขณะไพฑูรย์สิ้นเท่านี้.
อันว่ามุกมีกำเนีด ๑๕ แห่ง เกีดในศีร์ษะปลาทั้งปวง ผลเท่าเมล็ดมะกล่ำไฟ สีขาวแกมแดงดั่งดอกแคฝอย ผู้ใดถือ เบาตัว ดำน้ำมิจมเลย, เกีดในหอยโข่งใหญ่ ผลกลมดั่งไข่จิ้งจก สีพรรณ์ขาวดั่งสีสังข์ ผู้ใดถือ จะจำเรีญสุข จะมีสมบัติ, เกีดในศีร์ษะสมัน รัศมีกล้าดั่งพระอาทิตย์ และสีดั่งตานกเค้า, อันว่ามุกจำพวกหนึ่งย่อมบังเกีดในงาช้าง หารัศมีมิได้ มีพรรณแดง รูปใหญ่เท่าไข่ไก่ ถือรบศึกชนะ ช้างไล่มิได้เลย ช้างกลัวนัก, เกีดในคอผู้หญิง หนึ่ง เกีดในคอผู้ชาย หนึ่ง เกีดในคอนกกระทุง ๓ จำพวกนี้เกีดแต่ในกฤดายุค ทวาปรยุค จะได้เกีดในกลียุคทุกวันนี้หามิได้ จึงมิได้กล่าวคุณไว้ในตำรา.
หนึ่งเกีดในต้นอ้อย, เข้า, ไม้ไผ่ ผู้ใดถือ เปนเสน่ห์ หนึ่ง เกีดในหัวงู มีอานุภาพมาก ผู้ใดถือรบศึก ข้าศึกเห็นดั่งงูจะขบ กลัวหนีไปเอง หนึ่ง เกีดในเขี้ยวหมู ผลเท่าเล็บเหยี่ยว ลายน้อย หนึ่ง สีเหลืองดั่งสีเล็บเหยี่ยว ผู้ใดถือ จะประสิทธิ์ทุกประการ หนึ่ง เกีดในหอยชะเล แสงขาวดั่งเงิน จำพวกมุกเกีดในหอยชะเล ๔ แห่ง แห่งหนึ่งเกีดในชะเลปาลฤๅษีเทศ แห่งหนึ่งเกีดในหอยชะเลปาลิไลยะเทศ แห่งหนึ่งเกีดในหอยชะเลตะนาวศรี แห่งหนึ่งเกีดในหอยชะเลสิงหล รัศมีงาม สีหม่นดั่งเมล็ดพรรณผักกาด แลมุกอันเกีดในชะเลสิงหลนั้นสีขาวบริสุทธิ์ดุจดังปัด รัศมีลายเลื่อม และมุกอันเกีดในหอยชะเลตะนาวศรี น้ำแดง ผลใหญ่ แลมุกจำพวกหนึ่งเกีดในเมฆ มีรัศมีดั่งพระอาทิตย์ ถ้าจะแลดูแสงทอตานัก มุกจำพวกนี้พิทยาธรแลฤๅษีทั้งหลายจึงจะถือได้ มนุษย์บห่อนจะถือได้เลย.
อันว่ามุกจะให้จำเรีญคุณแก่ผู้ถือมี ๖ จำพวก จำพวกหนึ่ง เหลืองอ่อนดั่งรัศมีพระจันทร์ จำพวกหนึ่ง ถือเย็นแก่มือ จำพวกหนึ่ง เบาแก่มือ จำพวกหนึ่ง ถือเย็นแก่ตา จำพวกหนึ่ง มีรูปดั่งดีนก จำพวกหนึ่ง กลมขาวบริสุทธิ์.
อันว่ามุกมีโทษ ๑๐ ประการ[9] ประการหนึ่ง ดั่งหนามติดอยู่ในผล ๑ เม็ดทรายติดอยู่ในผล ๑ สองประการนี้ ผู้ใดถือจะป่วยเปนไข้จะเปนฝี, ผู้ใดถือมุกอันดินดำเข้าติดอยู่ในผลก็ดี ดินแดงเข้าอยู่ในผลก็ดี ผู้ถือสมบัติจะฉิบหาย ผู้ใดถือมุกโทษอันมีผลเบี้ยวก็ดี เปนฝาแฝดก็ดี ผู้ถือจะเข็ญใจไร้ยาก, ผู้ใดถือมุกโทษอันเปนลายกลีบ ผู้ถือจะเปนหูหนวก, ผู้ใดถือมุกโทษอันหัวคร่ำมีสีดั่งน้ำไหลไปมา ผู้ถือจะต้องเครื่องศัสตราวุธ.
ผู้ใดถือมุกอันประกอบด้วยคุณ ๖ จำพวก แลเว้นจากโทษ ๑๐ ประการ ผู้ถือจะมีไพร่ฟ้าข้าไทช้างม้าศฤงคารบริวารเปนอันมาก จะอยู่สุขสำราญด้วยอานุภาพมุกอันมีคุณพิเศษดั่งกล่าวมานี้.
องคตฤๅษีจะกล่าวไข่มุก ถ้า ๓๔๐ ลูก แลหนักบาทหนึ่ง ค่า ๗,๐๐๐ มุก ๒๕๐ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๘,๕๐๐ มุก ๒๔๐ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๑๑,๔๐๐ มุก ๒๑๑ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๑๕,๐๐๐ มุก ๑๕๗ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๑๘,๐๐๐ มุก ๑๕๐ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๒๔,๐๐๐ มุก ๑๔๐ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๔๐,๐๐๐ มุก ๙๐ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๗๐,๐๐๐ มุก ๗๐ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๑๐๐,๐๐๐ มุก ๔ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๒๐๐,๐๐๐ มุก ๓๕ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๓๐๐,๐๐๐ มุก ๒๖ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๔๐๐,๐๐๐ มุก ๒๑ ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่า ๕,๕๐๐,๐๐๐ หนักเงิน.
อนึ่ง ค่ามุกอันอุดมแลเว้นจากโทษดั่งกล่าวมานั้น ให้ชั่งดู ผิหนักกล่ำหนึ่ง ค่าสลึงทอง ผิหนักสองกล่ำ ค่าสองสลึงทอก สามกล่ำ สามสลึงทอง ขึ้นค่าไปโดยอันหนักนั้นแล.
อันว่านิลอันบังเกีดในแดนลังกาเปนชาตินิล ๓ จำพวก จำพวกหนึ่ง สีเขียวมีน้ำแดงเจือกัน ชื่อ ขัตติยชาติ นิลจำพวกหนึ่ง มีน้ำขาวเจือกัน ชื่อ พราหมณชาติ นิลจำพวกหนึ่ง เขียวมีน้ำดำเจือกัน ชื่อ ศูทรชาติ แลนิลอันมีคุณพิเศษ ๑๑ จำพวก จำพวกหนึ่ง ดั่งน้ำคราม ชื่อ ปริวารนิล จำพวกหนึ่ง ดั่งสีดอกอัญชัน ชื่อ นิลอัญชัน จำพวกหนึ่ง ส่องดูด้วยแดด มีสีเปนสายขาวเลื่อมในผลนั้น ชื่อ อินทนิล จำพวกหนึ่ง เนื้อเขียวสีพรายเหลืองดั่งปีกแมลงทับ ชื่อ สะระกาลังคนิล จำพวกหนึ่ง ดั่งสีตาวัว ชื่อว่า ราชนิล จำพวกหนึ่ง สีดั่งดอกบัวครั่ง ชื่อ นิลบล อนึ่ง ดั่งแววหางนกยุง ชื่อ มหาราชนิล หนึ่ง เนื้อเขียวเจือสีขาว ชื่อ นิลคณฑี จำพวกหนึ่ง สีดั่งดอกสำหาว ชื่อ นิลมาศคณฑี จำพวกหนึ่ง สีดั่งขนคอนกกระเหว่า ชื่อ พัทนิล จำพวกหนึ่ง เอาสำลีปัดแลดูรัศมีจับสำลี แลจำพวกนิลมีลักขณะดังกล่าวมานี้เปนนิลอันมีคุณวิเศษ.
อนึ่ง นิลอันประกอบด้วยโทษมี ๘ ประการ คือ นิลโพรด ผลนั้นขาวหม่น ๑ มีอันธการเชี่ยนตะโหนดเปนสีขาว, ดำ, ประการ ๑ ผลแตกสลาย ๑ ลมเข้าอยู่ใน ๑ ศีร์ษะขาว ๑ น้ำเหลืองดั่งน้ำขมิ้น ๑ น้ำเหลืองดั่งน้ำสนิมขี้เหล็ก ๑ ดินเข้าอยู่ในผลนั้น ๑ ผู้ใดถือนิลโทษชื่อ นิลโพรด อันขาวหม่นก็ดี ลมเข้าอยู่ในก็ดี ผู้ถือสิ่งสินมิคง ผู้ใดถือนิลอันธการขาว, ดำ, ผู้ถือจะเจ็บไข้หาความสุขมิได้ ผู้ใดถือนิลโทษอันเหลือง จะต้องเขี้ยวงา ผู้ใดถือนิลโทษอันดินเข้าอยู่ในก็ดี อันน้ำสนิมเหล็กก็ดี จะเปนโรคลมกษัยดาน กล่าวนิลโทษสิ้นเท่านี้.
ผู้ใดถือนิลอันประกอบด้วยคุณ ๑๑ ประการ แลเว้นจากโทษ ๘ ประการ ผู้ถือจะเปนสุข จะมีทรัพย์สมบัติเปนอันมาก.
องคตฤๅษีกล่าวกำเนิดมรกฎ, นาคสวาท, ครุธธิการว่า แต่ก่อนยังมีพระยานาคตตัวหนึ่งชื่อ พาสุกินนาคราช พญาครุธพาเอาไปกินณเมืองตรุดตาด เมื่อพาสุกินนาคราชจะตาย จึงคายโลหิตออกเปนประถมเกีดเปนนาคสวาท คายโลหิตออกภายหลังเกีดเปนมรกฎ น้ำลายพญานาคอันตกลงเปนครุธธิการ.
อันว่านาคสวาทมี ๔ ประการ ประการหนึ่ง สีผลดั่งเห็บตับเต่า ประการหนึ่ง สีผลเขียวเหลืองดั่งงูเขียวปากปลาหลด ประการหนึ่ง สีผลเขียวดังผิวไม้ไผ่เกีดได้หนึ่ง, สอง, เดือน อนึ่ง เขียวเจือดำ ๔ ประการดังกล่าวมานี้ชื่อ นาคสวาท มีคุณอันวิเศษนัก ถ้าเปนฝีอันมีพิษม์ก็ดี ตะขาบแมลงป่องแลงูอันมีพิษม์สารพัดพิษม์ขบตอดเอาก็ดี ให้เอานาคสวาทกลั้นใจชุบลงในน้ำ เอาน้ำนั้นมาทากิน หายปวดพิษม์ทั้งปวง ถ้าถือรบศึก จะมีไชยชนะแก่ข้าศึกด้วยอานุภาพนาคสวาทอันมีคุณวิเศษ.
ท่านให้ลองดู เมื่อเดือน ๓, ๔ ให้ทำบัดพลีเครื่องกระยาบวงสรวงนาคสวาทตั้งไว้ในที่อันสมควร ถ้าเห็นคลับคล้ายดุจดังงูในที่บัดพลีนั้น จึงจะเปนนาคสวาทแท้.
อันว่าครุธธิการอันมีคุณวิเศษ ๓ ประการ ประการหนึ่ง สีผลเขียวดั่งสนิมทองเหลืองอันตกอยู่ในดิน ประการหนึ่ง สีผลดังสำริดอันต้องเปลวเพลิงสีเขียวหม่น ประการหนึ่ง สีผลเขียวเสร้าดังทองเหลืองมิได้ชำระ แลครุธธิการ ๓ จำพวกอันประกอบด้วยคุณวิเศษนี้ ผู้ใดถือ จะมีไชยชนะแก่สัตรู จะเปนที่รักแก่คนทั้งปวง จะจำเรีญยศศักดิ์.
อันว่ามรกฎอันประกอบด้วยคุณมี ๔ จำพวก จำพวกหนึ่ง สีผลเขียวดั่งใบแก้ว จำพวกหนึ่ง สีผลเขียวเหลืองดั่งขนคอนกแขกเต้า จำพวกหนึ่ง สีผลเขียวพรายดั่งปีกแมลงทับ จำพวกหนึ่ง เอาสำลีปัดดู สีจับสำลีสีเขียวไปสิ้น มรกฎ ๔ จำพวกเปนอย่างดี.
มรกฎอันประกอบด้วยคุณเปนอย่างกลางมี ๙ ประการ ประการหนึ่ง สีผลเขียวใสดังสีขนคอนกกระเหว่า ประการหนึ่ง สีผลดั่งตานกแขกเต้า ประการหนึ่ง สีผลเขียวเหลืองดั่งใบจิก ประการหนึ่ง สีเขียวพรายดั่งแมลงค่อมทอง ประการหนึ่ง สีเขียวดั่งขี้ทอง ประการหนึ่ง สีเขียวดั่งใบเข้า ประการหนึ่ง สีดั่งใบโลด ประการหนึ่ง สีดังใบแค ประการหนึ่ง สีเขียวแก่ดั่งงูเขียวสังวาลพระอินทร์ มรกฎอย่างดี ๔ กลาง ๙ ๑๓ ประการ มีรูปบางแลกลม เว้นจากโทษ ๔ จำพวก ผู้ใดถือ งูขบมิปวดพิษ งูมิขึ้นเรือน จะจำเรีญสุขทุกประการ.
มรกฎอันประกอบไปด้วยโทษ ๔ จำพวก จำพวกหนึ่ง สีผลดั่งสีข้าวสุกขยำกับแกงฟัก จำพวกหนึ่ง ดินเข้าอยู่ในผล จำพวกหนึ่ง สีสะว้าม จำพวกหนึ่ง เบี้ยวรูปแอ่งทรายนอน และพลอยโทษ ๔ ประการดังกล่าวมานี้ ช่างเจียรในกระทำให้บริสุทธิ์ ก็จะสิ้นโทษ แม้นกระทำมิสิ้นโทษ ผู้ใดถือ จะเกีดอันตรายต่าง ๆ พรรณามรกฎสิ้นเท่านี้.
อันว่าเพทายอันบังเกีดในแดนเมืองสิงคราชมี ๑๓[10] จำพวกนั้น จำพวกหนึ่ง น้ำในผลนั้นพิจารณาดูเปนสีเหลืองดั่งน้ำขมิ้น ชื่อ ริตุกะเพทาย จำพวกหนึ่ง น้ำในผลนั้นสีขาวใส ชื่อ จุมกุดิเพทาย จำพวกหนึ่ง น้ำในผลนั้นสีดั่งน้ำฝาง ชื่อ ครังคราทิเพทาย จำพวกหนึ่ง สีแดงดั่งน้ำครั่ง น้ำในผลสีดั่งดอกสำหาวอยู่ด้วย ชื่อ สุรคนธีเพทาย จำพวกหนึ่ง กลม น้ำในผลนั้นมีเหลืองดั่งดอกคูนอยู่ด้วย ชื่อ ไคเสบพเลดเพทาย จำพวกหนึ่ง น้ำในผลนั้นมีสีหลายพรรณเจือกันอยู่ ชื่อ ชไมยเพทาย จำพวกหนึ่ง น้ำขาวดั่งน้ำค้างไหลไปมาอยู่ในผลนั้น ชื่อ ทันตรเพทาย จำพวกหนึ่ง ดั่งน้ำติดอยู่ในดอกบอนในผลนั้น ชื่อ ระวางคเพทาย จำพวกหนึ่ง สีแดง แลน้ำในผลนั้นแดงดังปัทมราช ชื่อ โควินทเพทาย จำพวกหนึ่ง น้ำแดงแลขาวปนกัน ชื่อ กตเพทาย จำพวกหนึ่ง น้ำแดงแลดำเปนต้น จำพวกหนึ่ง แดงแลเหลืองปนกัน เพทายดังกล่าวมานี้ ถ้าดูน้ำและสีคล้ายเหมือนปัทมราช จะใคร่รู้ ให้เอาเพทายกับปัทมราชมาสีกันดู ถ้ามีรอย ชื่อ เพทาย ถ้าหารอยมิได้ เปนปัทมราช นัยหนึ่ง ให้ฝนด้วยหินกากเพ็ชร์ดู ถ้ามีรอย ชื่อ เพทาย นัยหนึ่ง ให้ทาปูนไว้ ๓ วัน จึงเอาน้ำมะพร้าวนาลิเกล้างปูนออกดูผิว ถ้าผิดเพ็ชร์พลอยนั้น ชื่อ เพทาย ถ้าผิวเปนปรกติอยู่ ชื่อ ปัทมราช กล่าวเพทายสิ้นเท่านี้. (จบ)
มุก๎ตา มาณิก๎ย ไวฑูร๎ย | โคเมทา วัช๎รวิฑ๎รุเมา | |
ปัท๎มราโค มรกตํ | นีลัศ๎เจติ ยถาก๎รมํ ฯ |
๑ | เพ็ชรดี | (เพ็ชรที่หนึ่ง) | ||
๒ | มณีแดง | (ทับทิม) | ||
๓ | เขียวใสแสง | มรกฎ | ||
๔ | เหลืองใสสด | บุษราคำ | ||
๕ | แดงแก่ก่ำ | โกเมนเอก | ||
๖ | ศรีหมอกเมฆ | นีลกาฬ | ||
๗ | มุกดาหาร | หมอกมัว | ||
๘ | แดงสลัว | เพทาย | ||
๙ | สังวาลสาย | ไพฑูรย์ |
- ↑ ไม่ใช่พระบาฬีที่เปนพระพุทธวัจนะ เปนความที่คัดมาจากสำนวนอรรถกถาซึ่งแก้ความในพระบาฬีเดิมบางแห่งอันกล่าวถึงรัตนะ
- ↑ ปภัสสร ม. ประภาสวร ส. สีพรายแสงพราวเหมือนพระอาทิตย์แรกขึ้น
- ↑ แดงก่ำ
- ↑ เข้าใจว่า 'หงสบาท' ม. สีคล้ายเท้าหงษ์ คือ สีแดงเรื่อ หรือสีแสดก็ว่า.
- ↑ แก้วหินสีขาว.
- ↑ พลอยสีแดง พลอยทับทิม
- ↑ ม. จักกวาโก ส. จักรวาก นกจากพราก เปนห่านหรือเป็ดชนิดหนึ่ง อังกฤษเรียก Brahminy duck บ้าง เรียก Ruddy goose บ้าง ชื่อลาตินว่า "Anas Casarca"
- ↑ โดยมากเรียกว่า ต้นเซ่ง มักเกิดในที่นา
- ↑ หมายเหตุ: มุกมีโทษ ๑๐ ประการ?
- ↑ หมายเหตุ เพทายเกีดในแดนเมืองสิงคราช ๑๓