ข้ามไปเนื้อหา

บันทึกพระยาทรงสุรเดชเมื่อวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475/บทที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ

บันทึกพระยาทรงสุรเดช[๑]
การปฏิวัติ ๒๔ มิย. ๗๕

ผู้ที่ทราบความจริงแห่งรายละเอียดของการปฏิวัติครั้งนี้มีอยู่เพียงไม่มากนัก และในจำนวนนี้ยังไม่พูดความจริงเสียอีกส่วนหนึ่งด้วย ฉะนั้น จึงเป็นการยากสำหรับผู้ที่มีเจตนาจะรู้ความจริงในการค้นคว้าหาหลักฐานอันแน่นอนที่เชื่อถือได้ เหตุสำคัญที่ทำให้ความจริงเลอะเลือนไป ก็เนื่องจากการเกิดเป็นศัตรูกันขึ้นในพวกปฏิวัติด้วยกัน เมื่อเป็นศัตรูกันขึ้นแล้ว ก็ใส่ร้ายกัน ยกเอาความดีขึ้นมาเป็นของตัว ปั้นความชั่วใส่ผู้อื่น สำหรับราษฎรที่มิได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง ก็ย่อมเชื่อไปตามที่ได้ยินได้ฟังมาโดยไม่มีหลักฐานอันใด ส่วนผู้ที่มีการศึกษาเพียงพอก็ย่อมใช้สติปัญญาพิจารณาประกอบ มีส่วนที่ใกล้ความจริงบ้าง แต่ก็คงไม่รู้จริงโดยตลอดอยู่นั่นเอง

พวกที่จะคิดปฏิวัติมีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า พวกพลเรือนซึ่งมีหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นหัวหน้าได้เริ่มคิดการนี้ตั้งแต่ปีไหน แต่ทราบว่า ทางการฝ่ายทหารมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา, นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช, นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ กับนายพันเอก พระประศาสน์พิทยายุทธ[๒] ได้สนทนากันถึงเรื่องเช่นนี้ก่อนเวลาปฏิวัติในราว ๒–๓ ปี โดยไม่รู้ว่ามีพวกพลเรือนคิดอยู่เหมือนกัน ทางฝ่ายพลเรือนถึงแม้จะได้ทหารเป็นพวกไว้บ้างแล้ว ก็เป็นแต่เพียงพวกมียศน้อยและไม่มีตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ด้วยเหตุที่ต้องการได้ทหารตัวสำคัญ ๆ เข้ามาเป็นพวกด้วยนั่นเอง จึงได้ติดต่อรู้ถึงกันขึ้น เป็นอันว่าเกิดมีพวกขึ้น ๔ พวก

๑.พวกพลเรือน มีหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นหัวหน้า[๓]

๒.พวกทหารเรือ มีนายนาวาตรี หลวงสินธุ์สงครามชัย[๔]

๓.พวกทหารบกชั้นยศน้อย มีนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า

๔.พวกนายทหารชั้นสูง มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ

สาเหตุที่ทำให้เกิดมีพวกปฏิวัติครั้งนี้ ไม่ใช่สาเหตุอันเดียวกันเป็นแน่ทีเดียว มันเป็นการยากที่จะรู้ความตั้งใจจริงของแต่ละคน เพราะใครเลยจะเปิดเผยความตั้งใจของตัวซึ่งไม่เป็นมงคล ความคิดที่จะกู้ชาติโดยสุจริตใจจะมีอยู่ในตัวบุคคลใดบ้างในจำนวนนี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะหยั่งรู้ได้ แต่เท่าที่ได้ยินพูดและแสดงความประสงค์ออกมา และเท่าที่ได้สังเกตเห็นความเป็นไป อากัปกิริยา ของเขาแล้ว ก็รู้ได้ทีเดียวว่า ส่วนหนึ่งต้องการบริหารงานตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งที่ตัวไม่มีความรู้และไม่เคยผ่านงานต่ำ ๆ มาเลย! มันเป็นคราวเคราะห์ดีของเขาที่ความคิดอัปมงคลเช่นนี้มิได้เข้าหูหัวหน้าชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร สิ่งที่เข้าหูมีเพียงว่า ทำเพื่อชาติ ไม่เห็นแก่ตัว ทำเสร็จแล้วต่างก็จะปลีกตัวออกไปทำมาหากินกันตามลำพัง! เป็นอันว่าสาเหตุที่แสดงออกนอกหน้ามาล้วนแต่กู้ชาติ

เป็นความจริงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๗ มิได้แสดงความสามารถที่จะแก้ไขงานของชาติให้รุ่งเรืองขึ้นได้ มุ่งแต่จะฟื้นฐานะของเจ้าที่ตกต่ำมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๖ ให้รุ่งโรจน์ขึ้น โดยจะเห็นได้ถนัดว่า มีการแต่งตั้งเจ้ากันหนักมือ จนในสุดท้ายตำแหน่งใหญ่ ๆ และสำคัญทั้งหมดต้องอยู่ในมือของเจ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการระวังรักษาเก้าอี้พระเจ้าแผ่นดินในตัว ความจริงไม่เป็นการเสียหายอะไรถ้าตั้งเจ้าที่เฉียบแหลมสามารถขึ้นทำหน้าที่สำคัญ แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น ดูสักแต่ว่าเป็นเจ้าละก็ตั้งได้โดยไม่จำกัดเสียเลย[๕]

ตามที่มีคนเข้าใจว่า ที่เกิดปฏิวัติเนื่องมาจากการเพิ่มภาษีอากรและความยากจนค่นแค้นของราษฎรนั้น ไม่มีมูลแห่งความจริงเลย ราษฎรไทยกลัวเจ้า และกลัวนายของเขาทั้งหมด ยังกับหนูและแมว ลำพังราษฎรจะไม่มีปัญญาคิดปลดแอกได้เลย และจะไม่มีใครกล้าชักชวนกันควบคุมเป็นพวกขึ้นได้ แม้จะต้องอดตายเพราะความยากจน ก็ทนอดตาย กับที่กล่าวกันว่า การปฏิบัติครั้งนี้ย่อมจะต้องราบรื่นอยู่เอง เพราะราษฎรมีความต้องการอยู่พร้อมแล้วนั้น ก็ไม่ถูกต้องอีกเหมือนกัน แม้ทุกวันนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒) ราษฎรก็ไม่กระจ่างแจ้งในเรื่องระเบียบการปกครองเอง ทั้งที่โฆษณาและมีคนไปชี้แจงให้ฟังเสมอ ๆ อย่าว่าแต่ราษฎรชาวนาเลย แม้พวกข้าราชการเองก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจวิธีปกครอง เพราะฉะนั้น จึงเกือบกล่าวได้ว่า เมื่อก่อนปฏิวัติ คนไทยเรารู้จัดการปกครองวิธีเดียวเท่านั้น ยกเว้นส่วนน้อยเหลือเกิน สำหรับราษฎร เมื่อหนักหนาเข้า ก็ได้แต่บ่นอุบอิบว่าแย่แล้วเจ้าพระคุณ ส่วนข้าราชการไม่มีความรู้สึกอะไร นอกจากว่าถูกแต่งตั้งให้มาเป็นนายของราษฎรแล้ว และคอยหาโอกาสฝากเนื้อฝากตัวเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จะได้กรุณาเขาให้ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นและเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ส่วนงานของชาติรอไว้ก่อนได้ ผลเสียแห่งงานของชาติดูไม่ทำให้เกิดความรู้สึกละอาย ส่วนพวกที่เกลียดเจ้าก็มีอยู่เป็นธรรมดา แต่พวกนี้ก็ดีใจเมื่อทราบว่ามีการปฏิวัติ แต่ก็เพียงเท่านั้น ไม่มีส่วนทำให้การปฏิวัติสำเร็จง่ายขึ้นเลย ความไม่เข้าใจและความไม่เอาใจใส่ของราษฎรเราเห็นได้ถนัดเมื่อวันประกาศรัฐธรรมนูญที่พระที่นั่งอนันต์ฯ วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ต้องต้อนราษฎรให้เข้าไปฟังในพระที่นั่งกันเสียแทบแย่ และก็ได้จำนวนราษฎรสักหยิบมือเดียวไปยืนฟังโดยไม่รู้เรื่องอะไร หากจะมีละครให้ดู และมีเจ๊กก๋วยเตี๋ยวด้วยแล้ว คนจะไปมากกว่านั้นมาก ในปีต้น ๆ ที่มีราษฎรไปงานรัฐธรรมนูญกันมาก นั่นไม่หมายความว่าเพราะเข้าใจและเลื่อมใสการเปลี่ยนแปลง ต้องการเที่ยวสนุกเท่านั้น ไม่ต้องการรู้อะไรมากไปกว่ามีการมหรสพอะไรที่ไหนวันใดเท่านั้น

เป็นอันว่าการปฏิวัติครั้งนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ เพราะนายทหารบกผู้เป็นหัวหน้าตกลงใจเด็ดขาดให้ลงมือทำ เพราะฉะนั้น เหตุผลผู้เป็นหัวหน้าจึงน่าจะต้องถือเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดขึ้นโดยแท้

เหตุผลข้อที่ ๑ ก็คือ เป็นที่ประจักษ์แน่แล้วว่าพระเจ้าแผ่นดินแสดงความไม่สามารถในการที่จะบงการโดยอำนาจอับโซลู้ดให้งานของชาติเจริญรุ่งเรืองได้

เหตุผลข้อที่ ๒ พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมดมุ่งแต่เพียงทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย

ทั้งสองข้อนี้ประกอบกันย่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ชาติไทยทรงกับทรุดเท่านั้น ควรเปลี่ยนวิธีให้ราษฎรได้มีโอกาสรู้จักวิธีปกครองตัวเอง และรับผิดชอบกันเองในความเจริญหรือความเสื่อมของชาติ แทนที่ให้พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวรับผิดชอบ ซึ่งไม่มีท่าทางจะดีขึ้นได้ เป็นที่ประจักษ์แก่หัวหน้าฝ่ายทหารอยู่เหมือนกันว่า เมื่อเปลี่ยนแล้ว ยังจะมีความขลุกขลักยุ่งยากเป็นธรรมดา เพราะเป็นของใหม่ ไม่มีใครเลย การหาตัวบุคคลสำหรับบริหารงานในตำแหน่งสำคัญ ๆ แสนยาก ราษฎรก็ยังไม่มีการศึกษาถึงขีดที่จะปกครองตัวเองให้เป็นผลดีจริง ๆ ได้ แต่เมื่อไรเล่าถึงจะมีคนที่ดี ๆ ไว้สำหรับบริหารงาน และเมื่อไรเล่าราษฎรจึงจะถึงขีดที่ว่านี้ ในเมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่เปิดโอกาส ตายแล้วเกิดใหม่ก็คงยังจะเป็นอยู่เช่นนั้น ตกลงจะต้องเริ่มต้นเสียในเมื่อไม่อยากจะปล่อยไปตามบุญตามกรรม อาศัยการเลือกเฟ้นอย่างตรงไปตรงมาคงจะได้ตัวบุคคลซึ่งแม้จะไม่ดีเลิศแต่ก็พอทำได้ เพราะเราสามารถจะช่วยกันได้หลายแรง ไม่เหมือนระบอบอับโซลู้ดซึ่งไม่มีการช่วยกัน ต่างคนต่างทำ เอาหน้าต่อพระเจ้าแผ่นดินตัว และพระเจ้าแผ่นดินบงการแต่ผู้เดียว ผิดถูกไม่มีใครกล้าคัดค้าน ส่วนราษฎรซึ่งเป็นผู้อ่อนการศึกษา ก็ต้องอาศัยความเจตนาดีของผู้บริหารที่จะช่วยเหลือให้ได้มีโอกาสรู้จักการปกครองตัวเองดีขึ้นตามลำดับจนกว่าจะถึงขีด

นอกจากเหตุผลสำคัญ ๒ ประการนี้ รายละเอียดปลีกย่อยแห่งความเลอะเทอะของงานแห่งชาติย่อมเป็นที่ประจักษ์อยู่ ไม่มีความจำเป็นต้องยกมากล่าวให้ยืดยาว เพราะรายปลีกย่อยย่อมเกิดจากส่วนสำคัญ ๒ ประการนี้

ในเดือนมีนาคม ๒๔๗๔ พระยาทรงฯ ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารในกรมยุทธศึกษาทหารบก ได้ถือโอกาสในการเป็นประธานกรรมการสอบไล่นักเรียนนายร้อยในสนามที่ราชบุรี รวบรวมหาพรรคพวกและคิดกะแผนการปฏิวัติรวมกับพระประศาสน์พิทยายุทธ พระสิทธิเรืองเดชพล[๖] ซึ่งเป็นกรรมการสำคัญ

ณ ที่ราชบุรีนี้เอง ทั้งสามท่านได้คิดแผนการขึ้นอันหนึ่ง กะว่ายึดพระที่นั่งอัมพร ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ ๗ แล้วจะขอถวายความอารักขาแก่ในหลวง เพื่อเป็นประกันในการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญต่อไป

แต่แล้วแผนนี้ก็ต้องเลิกล่ม เพราะพระประศาสน์ฯ ได้เสนอผลเสียว่า แม้จะยึดพระที่นั่งอัมพรได้ แต่ทว่าจะได้เข้าเฝ้าในหลวงก็ย่อมต้องผ่านมหาดเล็กและบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีกมาก อันเป็นธรรมดาที่ในหลวงจะต้องมีผู้ห้อมล้อม ผู้ห้อมล้อมนี้เองอาจจะขัดขวาง และถ้ามีการขัดขวางเกิดขึ้นเช่นนั้นแล้ว ก็จะต้องมีการปะทะกันด้วยกำลัง อย่างไรเสีย การปฏิบัติก็จะหลีกการนองเลือดไปมิได้[๗]

ผู้กะแผนการมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่จะมิให้มีการนองเลือดเกิดขึ้นได้

ต่อมาได้คิดแผนการแบบจู่โจมขึ้นได้ ซึ่งเป็นแผนการที่ใช้ในการปฏิวัติครั้งนี้

ในการประชุมทุก ๆ พวก ยกเว้นหัวหน้าผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ต้องให้ทหารตามกรมกองต่าง ๆ อย่างน้อยในกรุงเทพฯ แทบทั้งหมดตกลงเข้าเป็นพวกด้วยเสียก่อน จึงจะยอมตกลงลงมือปฏิวัติ ความคิดข้อนี้หัวหน้าฝ่ายทหารไม่เห็นด้วย และเป็นการแน่เหลือเกินที่พวกคิดปฏิวัติจะต้องถูกจับเสียก่อนเมื่อทำเช่นนั้น เพราะพวกนายทหารเวลานั้นส่วนมากกลัวเจ้า และมีจำนวนมากที่จะต้องฉวยโอกาสนำความเรื่องนี้เสนอผู้บังคับบัญชา เพราะเป็นชิ้นสำคัญสำหรับทำให้เกิดผลดีสำหรับตัว และชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เวลานั้นเกือบจะรับรองได้ทีเดียวว่าต้องนำเรื่องเสนอถึงพระเจ้าแผ่นดินทุกคนในเมื่อได้ฟังเรื่องนี้ ความชอบอะไรเล่าจะดีไปกว่านี้ เป็นอันว่าไม่มีการชักชวนนายทหารตามกรมกองต่าง ๆ เลย ยิ่งพลทหารด้วยแล้วยิ่งเป็นการไร้ประโยชน์ทีเดียวที่จะให้รู้เรื่องนี้ ทางฝ่ายพลเรือนและนายทหารชั้นยศน้อยยังเห็นว่าแต่เพียงเท่าที่รู้กันอยู่นั้นจำนวนน้อยนักและไม่มีกำลังทหารเสียด้วย การณ์จึงได้เนิ่นช้าแรมปีโดยไม่มีการตกลงเริ่มปฏิวัติและไม่มีแผน ครั้นเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนปฏิวัติ ได้มีการประชุมพวกหัวหน้าบ่อยขึ้น แต่ในเวลาประชุมก็ไม่มีใครแสดงแผนออกมาให้เห็นได้ว่าเป็นแผนที่ใช้การได้ ทุก ๆ คนมุ่งแต่นั่งฟังเพื่อทราบว่าหัวหน้าฝ่ายทหารได้รับผลในทางเพิ่มพูนกำลังสำคัญ ๆ ขึ้นหรือเปล่า และจะทำอย่างไร

ในจำพวกผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร มีพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ กับพระยาฤทธิ์ฯ มียศและบรรดาศักดิ์เท่ากัน. พระยาพหลฯ อยู่ในตำแหร่งจเรทหารปืนใหญ่ ไม่มีอำนาจบังคับทหาร แต่ก็เป็นตำแหน่งสูงกว่าคนอื่น. พระยาทรงฯ เป็นอาจารย์ใหญ่วิชาทหารในโรงเรียนนายร้อย ไม่มีอำนาตบังคับทหารเช่นเดียวกัน พระยาฤทธิ์เป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ในกรุงเทพฯ เป็นคนเดียวที่มีทหารอยู่ในมือ เป็นทหารปืนใหญ่ ๒ กองพัน (รวม ๔ กองร้อย) พระยาพหลฯ มอบให้พระยาทรงฯ เป็นผู้คิดและกะการณ์ทั้งหมด, ท่านเป็นแต่เพียงจะปฏิบัติตามทุกอย่างที่จะได้รับมอบให้ทำ ส่วนพระยาฤทธิ์ฯ ก็ไม่สมัครคิดอะไรเช่นเดียวกัน พระประศาสน์ฯ ทำด้วยทุกอย่างที่จะมอบให้

ในเดือนมิถุนายน ได้มีการประชุมกันที่บ้านนายประยูร ภมรมนตรี[๘] ผู้ที่ไปประชุมมีบุคคลชั้นหัวหน้า เช่น เจ้าคุณพหลฯ เจ้าคุณทรงฯ พระประศาสน์ฯ หลวงประดิษฐ์ฯ หลวงสินธุ์ฯ และหลวงพิบูลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถวางแผนการอะไรลงไปได้[๙]

ครั้นก่อนหน้าวันที่ ๒๔ เพียงน้อยวัน ได้นัดประชุมกันที่บ้านพระยาทรงฯ มีหัวหน้าสำคัญ ๆ มาประชุมเช่นเคย จนถึงวันประชุมนี้ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ผู้อำนวยการฝ่ายทหารยังไม่ทราบรายชื่อของพวกที่จะร่วมด้วย พวกหัวหน้าต่าง ๆ เขาก็ไม่ยอมบอกให้ว่าใครบ้าง บอกแต่เพียงจำนวนพอประมาณ เป็นอันว่า เท่าที่ผู้อำนวยการทหารรู้แน่ว่าเป็นพวกก็มีอยู่ดังต่อไปนี้

พวกของ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช

๑.พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา

๒.พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์

๓.พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการ

๔.พ.ต. หลวงชำนาญยุทธศิลป์

๕.พ.ต. หลวงสวัสดิ์รณรงค์

๖.พ.ต. หลวงสฤษดิ์ยุทธศิลป์

๗.ร.อ หลวงรณสิทธิพิชัย

๔. ๕. ๖. ๗. สี่คนนี้เป็นครูอยู่ในโรงเรียนนายร้อยใต้บังคับบัญชาพระยาทรงฯ

นอกจาก ๗ คนนี้ยังมี ร.อ. หลวงทัศนัยนิยมศึก นายทหารม้า ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นครูสอนในโรงเรียนทหารม้า เวลานี้ตายเสียแล้ว ทั้งคนนี้ด้วยเป็น ๘ คนด้วยกันที่นับว่าใช้ได้แน่

พวกของหลวงประดิษฐมนูธรรม ไม่ทราบว่ามีเท่าใดและใครบ้าง ได้เห็นอยู่ ๒–๓ คนเท่านั้นทั้งนายประยูรซึ่งเป็นผู้ติดต่อระหว่างพวกต่าง ๆ

พวกของหลวงสินธุ์ฯ ไม่ทราบว่ามีเท่าไรและใครบ้าง เห็นแต่พระประศาสน์ฯ ติดต่ออยู่กับหลวงศุภชลาศัย[๑๐]

พวกของหลวงพิบูลฯ ก็ไม่ทราบว่ามีใครบ้างเช่นเดียวกัน

เมื่อพิจารณาตามนี้ จะเห็นได้ว่า หัวหน้าที่จะเป็นผู้ดำเนินการปฏิวัติมีลูกมือที่เรียกใช้ได้แน่นอนเพียง ๘ คนเท่านั้น นอกจากนั้นไม่แน่และไม่รู้เสียด้วยว่ามีตัวจริงอยู่หรือเปล่า และเป็นคนชนิดไหน จำนวนเท่าใด

ในวันประชุมครั้งสุดท้าย หัวหน้าฝ่ายพลเรือน หลวงสิทธุ์ฯ และหลวงพิบูลฯ ต้องการทราบอย่างแน่นอนว่า ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้มีกำลังอยู่ในกำมือไว้แล้วเท่าใด เป็นทหารกรมไหนบ้าง ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้แจ้งความจริงให้ทราบว่า ยังไม่มีอะไร นอกจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ แต่ในวันปฏิวัติ ซึ่งกำหนดวันที่ ๒๔ จะต้องได้ทหารในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เมื่อถูกซักไซ้ว่าจะได้มาอย่างไรและจะทำอย่างไร ผู้อำนวยการฝ่ายทหารไม่ยอมบอกว่าจะได้มาด้วยวิธีไร จะทำอย่างไร เป็นแต่ขอให้หัวหน้าต่าง ๆ นำลูกน้องของตัวมาในวันที่ ๒๔ เวลา ๐๕.๐๐ น. ที่ตรงการรถไฟตัดถนนห่างจากบ้านพระยาทรงฯ ประมาณ ๒๐๐ เมตร ส่วนทหารเรือไม่ต้องมา ให้หลวงสินธุ์ฯ นำทหารเรือทั้งหนายและพลทหารเท่าที่จะรวมได้ มีกระสุนพร้อม มาถึงหน้าพระลานพระบรมรูปทรงม้าเวลา ๐๖.๐๐ น. ตรง ทหารบกทั้งหมดจะไปถึงที่นั้นตามกำหนดเวลานี้ ส่วนพวกพลเรือนให้แบ่งแยกไปคุมตามวังเจ้าที่สำคัญ ๆ ไว้ อย่าให้เล็ดลอดออกมาปฏิบัติการใด ๆ โดยเราไม่รู้ สำหรับกรมพระนครสวรรค์[๑๑] นั้น ใช้จำนวนให้มากเข้าไปในวังเพื่อเชิญตัวมาที่พระที่นั่งอนันต์ เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ผู้หนึ่งจะขอถอนตัว อ้างว่าไม่มีทางสำเร็จเลย ไม่เห็นมีอะไรที่เป็นกำลังที่ทำให้เขาอุ่นใจ แต่ไม่ใช่คำตอบที่แน่นอน เป็นแต่พูดว่าจะมาหรือไม่มายังไม่แน่ ส่วนหลวงสินธุ์ฯ ตกลงจะทำตามกำหนด

จากผลของการประชุมครั้งสุดท้าย ผู้อำนวยการฝ่ายทหารจะต้องตกลงใจลงมือปฏิวัติในวันที่ ๒๔[๑๒] ด้วยจำนวนนายทหารที่แน่นอนจริง ๆ ๘ นาย กับหลวงสินธุ์ พร้อมด้วยนายและพลทหารเรือซึ่งไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าใด (หลวงสินธุ์ฯ ในขณะนั้นมิได้มีอำนาจบังคับหน่วยทหารเรือ เป็นแต่เพียงครูในโรงเรียนนายเรือ เพราะฉะนั้น จำนวนทหารจะมีมากไม่ได้)

ความคิดของผู้อำนวยการฝ่ายทหารในเวลานั้นมิได้เปิดเผยให้ใครทราบ เฉพาะพระยาพหลฯ และพระประศาสน์ฯ เท่านั้นที่รู้มาก พระประศาสน์ฯ รู้เกือบทุกอย่าง เมื่อถูกซักถามจากพวกที่ร่วมด้วย ก็บอกแต่เพียงว่า ถึงวันที่ ๒๔ เป็นได้ทหารหมดทั้งกรุงเทพฯ การที่ปกปิดไว้เป็นความลับจนถึงชั่วโมงสุดท้ายนั้น ผู้อำนวยการฝ่ายทหารถือว่าเป็นการสำคัญที่สุด มิฉะนั้น การปฏิวัติจะไม่สำเร็จได้เลย ถ้าเปิดเผยให้พวกร่วมด้วยรู้เสียก่อน เขาก็จะต้องถอนตัวออกหมด แทนที่จะมี ๑๐ คน คงจะเหลือ ๓ คนเท่านั้น มีอยู่คนหนึ่งซึ่งในระยะหลังชักจะไม่ค่อยเอาใจใส่อยู่แล้ว หากบอกแผนให้รู้ ก็ต้องถอนตัวแน่นอนทีเดียว พระยาฤทธิ์ฯ ได้รับมอบหน้าที่ให้นำรถยนต์บรรทุกสำหรับลากปืนใหญ่ชนิดมอริสมาตั้งเตรียมพร้อมไว้ที่สนามฝึกหัดของเขาเวลา ๐๕.๐๐ น. โดยอ้างว่าจะตรวจรถยนต์ทั้งหมดของกรมทหารปืนใหญ่ของเขา แล้วก็ให้ตัวเขาทำเป็นเดินตรวจรถไปมา รอจนกว่าหัวหน้านำจะไปถึงเพื่อสั่งการใช้รถยนต์นั้น แผนของผู้อำนวยการก็มีอยู่ว่า จะต้องรวบรวมทหารให้มากที่สุดเท่าที่จะรวมมาได้จากกรมกองทหารในกรุงเทพฯ ไปรวมไว้พระที่นั่งอนันต์ และบังคับทหารเหล่านั้นไว้ให้อยู่ในเมือ เชิญเจ้าชั้นผู้ใหญ่บางองค์เข้ามาคุมไว้ในพระที่นั่งอนันต์สำหรับเป็นประกันเพื่อมิให้พระเจ้าแผ่นดินคิดแก้ไขเหตุการณ์โดยที่กลัวภัยจะมาถึงเจ้าผู้ใหญ่ที่ถูกคุมอยู่นั้น ผู้บังคับการกรมต่าง ๆ ผู้บัญชาการกองพล แม่ทัพของทหารในกรุงเทพฯ ตลอดจนเสนาธิการทหารบก จะต้องถูกนำตัวมาคุมไว้ ในระหว่างนี้เอง จะได้ทำหนังสือนำไปกราบบังคมทูลขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ

ไม่มีปัญหาอะไรถ้ารวบรวมทหารในกรุงเทพฯ ได้เป็นส่วนมาก และบังคับทหารนั้นไว้ได้แล้ว การปฏิวัติก็ต้องสำเร็จ เพราะอำนาจอยู่ที่ทหารเท่านั้น ตำรวจและราษฎรในกรุงเทพฯ จะไม่ทำอะไรเลย ปัญหามีอยู่ว่า จะได้ทหารมาอย่างไร

ในเมื่อพวกร่วมมือด้วยกันไม่มีใครสั่งทหารได้เลยสักคนเดียว ยกเว้นพระยาฤทธิ์ฯ ซึ่งสั่งได้เฉพาะกรมของเขาเท่านั้น แต่ก็เป็นทหารเล็กน้อยและไม่สำคัญ ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้เลือกใช้วิธีลวงและอาศัยความรวดเร็วกระทันหัน มิทันให้ใครได้มีเวลาได้สติและไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ลวงเอาทหารไปให้ได้และเร็วที่สุด การติดต่อทางโทรศัพท์ตั้งแต่เวลาเช้ามืดต้องป้องกันไว้ โดยมอบให้นายประยูรเป็นผู้จัดการ เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่ในกรมไปรษณีย์อยู่เวลานั้น

ทางหัวเมืองต่าง ๆ ผู้อำนวยการฝ่ายทหารไม่เอาใจใส่และไม่วิตกถึงเลย เพราะการที่จะรวบรวมทหารจากหัวเมืองมาคิดแก้ไขเหตุการณ์นั้นจะต้องใช้เวลามาก กว่าพวกหัวหน้าฝ่ายทหารทางหัวเมืองจะรู้เรื่องกระจ่างแจ้งก็เป็นเวลาที่จัดการในกรุงเทพฯ เสร็จหมดแล้ว และต่างคนต่างจะยกทหารมาจากหัวเมืองโดยลำพังนั้นไม่ได้ ทั้งเวลานั้นทหารหัวเมืองก็มีแต่ทหารใหม่ ทหารปีที่ ๑ ลาพักไปหมดแล้ว ทหารใหม่ยังไม่มีค่าทางทหารเท่าใด และอาวุธสำคัญ ๆ ก็อยู่ในกรุงเทพฯ หมด

แผนที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารคิด ที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญ ๆ มีอยู่เท่านี้ ไม่มีปัญหาอะไร ย่อมมีส่วนบกพร่อง เพราะผู้อำนวยการไม่ได้เปิดเผย พระประศาสน์ฯ เป็นผู้ช่วยในการทำแผนบ้าง การทำรายละเอียดลงในกระดาษก็ไม่มี เพราะไม่แน่ว่าตำรวจจะมาค้นบ้านเมื่อใด จึงคัดแต่ส่วนสำคัญ ๆ ไว้แต่ในตัวเท่านั้น ไม่ให้มีหลักฐานที่จะเป็นผลร้ายในเมื่อเกิดจับกุมขึ้นเสียก่อน ปรากฏภายหลังว่า ตำรวจได้เอาชื่อผู้อำนวยการฝ่ายทหารไปถวายกรมพระนครสวรรค์เหมือนกัน แต่พระองค์ท่านไม่เชื่อ การที่ตำรวจรู้เรื่องเป็นเลา ๆ ว่าจะมีการปฏิวัติขึ้นนั้น ไม่มีปัญหาอะไร เพราะพวกหนุ่ม ๆ คุยกันไม่ได้ เท่าที่ได้ยินภายหลัง

นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคนทราบล่วงหน้า ฉะนั้น ก่อนหน้าวันที่ ๒๔ จึงมีพลตำรวจมาคุมบ้านผู้อำนวยการฝ่ายทหาร, พระประศาสน์ฯ และหัวหน้าสำคัญ ๆ แต่ก็มิได้จับกุมอย่างไร อาจเป็นเพราะตำรวจรู้สึกว่า ถ้าทหารทำการปฏิวัติ เขาก็มีเหตุผลเห็นสมควรด้วย

เป็นที่ตกลงกันแล้วระหว่างผู้อำนวยการฝ่ายทหารกับหัวหน้าฝ่ายพลเรือนว่า ทางฝ่ายทหารจะยึดอำนาจไว้ให้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการทางหนังสือเกี่ยวด้วยการขอรัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญ การตั้งสภาฯ และรัฐบาล เหล่านี้ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือนทั้งสิ้น

วันที่ ๒๓ เป็นวันเตรียมการของผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ได้ไปพบผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เวลานั้นเป็นนายพลโท พระเหี้ยมใจหาญ[๑๓] และขอให้ผู้บังคับการโรงเรียนนำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดไปที่หน้าพระลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อให้นักเรียนทั้งหมดได้ดูการฝึกหัดต่อสู้รถรบ โดยจะขอให้มีรถจริง ๆ มาทำให้ดู ไม่เป็นการยากในการที่ผู้บังคับการโรงเรียนจะยินดีทำตาม เพราะผู้บังคับการโรงเรียนมีความนิยมอยู่ในตัวของผู้อำนวยการฝ่ายทหารอยู่แล้วด้วย และผู้อำนวยการฝ่ายทหารย่อมเป็นอาจารย์ใหญ่สอนวิชาทหารอยู่ในโรงเรียนนั้นด้วย จึงเป็นอันตกลงได้โดยง่าย ต่อจากนี้ก็ได้ไปหาผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีก ๒ คน ขอร้องให้นำทหารของตัวไปฝึกหัดที่หน้าพระลานในเช้าวันที่ ๒๔ เวลา ๐๖.๐๐ น. เพื่อจะได้ขอแรงให้ทหารเหล่านั้นได้มีส่วนช่วยเหลือเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนจะให้ทำอะไร จะบอกในเช้าวันนั้น ต่อนั้นไปด้ไปหาผู้บังคับกองพันทหารช่างที่บางซื่อ ขอร้องให้เขานทำทหารของเขาทั้งหมดมาฝึกหัดที่สนามหญ้าโรงทหารของเขาเพื่อขอความช่วยหลือเล็กน้อยในการฝึกต่อสู้รถรบ ใช้เวลาเพียงน้อย ไม่เป็นการยากที่จะตกลง เพราะพวกนี้รู้กันทั้งนั้น และเนื่องจากเป็นใหญ่กว่า จึงเกรงใจและไม่ซักถามอะไร

การนัดหมายให้ทำเช่นนั้นก็ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ทหารมารวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นการสะดวกที่จะรวบรวมเอาในตอนรุ่งเช้าเท่านั้นเอง มิฉะนั้นเขาก็ให้ทหารกระจายกันไปฝึกหัดห่างไกล เป็นการยากแก่การรวบรวม นอกจากนี้มิได้ไปนัดหมายใครไว้อีก เป็นแต่คิดจะไปรวมเอาในตอนท้ายโดยไม่รู้ตัว เป็นอันว่าการเตรียมการในวันที่ ๒๓ หมดเพียงเท่านี้ เป็นการเตรียมการเพียงเล็กน้อย แต่รักษาความลับไว้อย่างมิดชิด

ทหารที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ เวลานี้มีกรมทหารราบที่ ๓ มหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์ ทั้งสองกรมนี้กรมละ ๓ กองพัน กับมีกรมทหารราบที่ ๒ อีก ๑ กรม ในจำนวนทหารราบได้นัดหมายกับผู้บังคับกองพันไว้เพียง ๒ คนเท่าที่กล่าวมาแล้ว เป็นกองพันในกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็ก ๑ กองพัน และกองพันในกรมทหารราบที่ ๒ อีก ๑ กองพัน แต่ก็ได้นัดหมายเพียงให้เอาทหารปีที่ ๒ มาเท่านั้น

เป็นอันว่าจนถึงเวลากลางคืนวันที่ ๒๓ ก็ยังไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นที่นับว่าแน่นอน นอกจากกรมทหารปืนใหญ่ของพระยาฤทธิ์ฯ อย่างเดิมเท่านั้นเอง

สำหรับวันนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้นัดเวลาพบ ๐๕.๐๐ น. โดยกะว่าจะสั่งมอบหน้าที่ให้เสร็จภายในเวลาเพียงประมาณ ๑๕ นาที แล้วจะได้รีบไปยังกรมทหารม้า ซึ่งกะไว้เป็นที่หมายอันแรก ให้ถึงก่อนเวลาเป่าแตรปลุกทหารเพียงเล็กน้อย (เวลาปลุกทหาร ๐๕.๓๐ น.)

นายร้อยเอก หลวงทัศนัยฯ กับนายทหารม้าชั้นนายร้อยโทและนายร้อยตรีอีก ๓ นาย มาถึงบ้านพระยาทรงสุรเดชเป็นพวกแรกเวลา ๐๔.๐๐ น. เศษ เนื่องจากมีเวลามากจึงได้ทำความเข้าใจกันละเอียดลออ นายทหารม้าทั้ง ๔ คนนี้ได้รับมอบให้นำรถยนต์เกราะกับรถเล็ก ๓ เดนลอยด์ออกจากโรงให้หมด และควบคุมตลอดทางไปหน้าพระลาน

เวลา ๐๕.๐๐ น. ผู้อำนวยการฝ่ายทหารมาถึงตำบลนัดพล มีพวกของผู้อำนวยการเองทั้งหมดรออยู่ที่นั่น จึงเริ่มสั่งการ ข้อความสำคัญก็สั่งก็คือ เราจะต้องไปกรมทหารม้าก่อน เพื่อให้ได้รถยนต์เกราะและรถรบเล็กไว้ในมือ ต่อจากนั้นจึงไปกรมทหารปืนใหญ่เพื่อบรรทุกทหารขึ้นรถยนต์ของปืนใหญ่แล้วนำไปหน้าพระลาน พระยาพหลฯ มีหน้าที่งัดคลังกระสุนของกรมทหารม้ากับหลวงสฤษดิ์ยุทธศิลป์ แล้วอำนวยการขนกระสุนมาขึ้นรถใช้ทหารซึ่งจะส่งให้ภายหลัง (เครื่องมืองัดกุญแจคลังได้เตรียมเอามาในรถด้วยแล้ว) พระประศาสน์ฯ มีหน้าที่ไปปลุกและคุมตัวนายดาบ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ฯ[๑๔] มาที่หน้าที่ว่าการทหารม้า ผู้อำนวยการจะรวมนายทหารม้าของกรมทหารม้าทั้งหมด ณ ที่นั้น หลวงชำนาญยุทธศิลป์ หลวงสวัสดิ์ณรงค์ และหลวงรณสิทธิพิชัย มีหน้าที่ขึ้นไปบนโรงม้า แล้วปลุกเร่งทหารแต่งตัวโดยเร็ว ไม่ให้ล้างหน้า และเรียกแถวคุมจากโรงม้าที่ถนนหน้ากรมทหารม้า และนำเดินไปกรมทหารปืนใหญ่ (โรงทหารม้าอยู่ห่างจากโรงทหารปืนใหญ่ระยะทางเดินประมาณ ๑๐ นาที)

เวลาสุดท้ายก่อนสั่งเสร็จ พวกหลวงพิบูลฯ มาถึง มีนายทหารมาด้วยอีกหลายนาย จำไม่ได้ว่ากี่คน ผู้อำนวยการฝ่ายทหารจึงได้มอบหน้าที่ให้ไปคุมบ้านผู้การทหารม้า และถ้าออกมา ก็ให้เชิญตัวขึ้นรถคุมไว้ อย่าให้ติดต่อกับทหารได้เท่านั้น

สั่งเสร็จแล้วขึ้นรถตรงไปโรงทหารม้า ลงจากรถ ต่างแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ตามที่สั่งไว้ ประจวบเวลาเป่าแตรปลุกพอดี

เมื่อถึงหน้าที่ว่าการกรมทหารม้า ผู้อำนวยการฝ่ายทหารพร้อมด้วยพระยาพหลฯ และพระประศาสน์ฯ ก็พรวดเข้าไปในกองรักษาการพร้อมกัน ตัวท่านผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้เรียกผู้บังคับกองรักษาการมาและเริ่มแสดงตามแผน คือ ใช้วิธีลวง ทำเป็นดุผู้บังคับกองรักษาการว่า เวลานี้เกิดขบถในกรุงเทพฯ มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ ฉะนั้นให้ไปปลุกนายทหารและสั่งมาประชุมที่หน้าว่าการโดยเร็ว เป็นคำสั่งของแม่ทัพ ผู้บังคับกองรักษาการยอมปฏิบัติตามโดยไม่มีอาการอิดออดหรือลังเล

ระหว่างนี้ผู้ที่ได้รับมอบหน้าต่าง ๆ ก็รีบไปปฏิบัติงานของตัว กำลังพลุกพล่านกันนั้นเอง เจ้าคุณพหลฯ ก็งัดคลังกระสุน และขนกระสุนออกอย่างรวดเร็ว พระประศาสน์ฯ ไปคุมตัวพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ มาได้ แล้วได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากปากผู้อำนวยการฝ่ายทหารว่า ให้เป็นผู้ควบคุมคนสุดท้าย อยู่จนกว่ารถรบจะเคลื่อนไปพ้นประตูหมดบ้านในบริเวณโรงทหาร มายืนเรียงแถวต่อหน้าผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ด้วยคำพูดไม่มากนัก ทำให้นายทหารเหล่านั้นรู้ว่ามีเหตุอันไม่เคยมีมาก่อน แต่เขาจะมีความเข้าใจลึกซึ้งไปถึงไหนไม่ทราบ แต่ไม่มีใครแสดงออกมาเลย ทุกคนยืนสงบ ไม่มีอาการเคลื่อนไหว คอยฟังคำสั่งว่าจะสั่งอะไรไปเท่านั้น ในระหว่างนี้เองรถยนต์และรถรบเล็กเคลื่อนที่ผ่านออกไปเรื่อย ละทหารจากกองร้อยต่าง ๆ ของกรมทหารม้าก็เดินแถวผ่านออกมาเรื่อยจนหมด ผู้อำนวยการจึงสั่งให้นายทหารที่ยืนรอด้วยความสงบไม่ไหวติงนั้นขึ้นรถยนต์ในคันเดียวกันในความควบคุมของคนหนึ่งจากพวกร่วมมือ ทั้งรถยนต์บรรทุก รถยนต์นั่ง รถยนต์เกราะ รถรบ และแถวทหารเดินเท้าเคลื่อนที่ไปสู่กรมทหารปืนใหญ่

การปฏิบัติคั่นแรกสำเร็จไปด้วยความราบรื่นและรวดเร็ว เพราะเหตุไรกองรักษาการของทหารม้าจึงไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเหตุไรยามคลังกระสุนจึงปล่อยให้พระยาพหลฯ งัดคลังกระสุนและขนกระสุนไปได้ ทำไมนายสิบพลทหารของกรมทหารม้าจึงยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายทหารซึ่งมิได้เป็นผู้บังคับบัญชาของตัวด้วยความราบรื่น ทำไมนายทหารที่มาเรียงแถวอยู่ข้างหน้าผู้อำนวยการฝ่ายทหารจึงรักษาความสงบเงียบ ปล่อยให้นายทหารอื่นนำทหารของตัวผ่านหน้าตัวออกไปได้ และในเวลาต่อ ๆ ไปก็คงนั่งเฉยเช่นนั้น ไม่แสดงกิริยาหรือวาจาอันเป็นเครื่องหมายที่จะขัดแย้งแต่อย่างใดเลย เป็นเพราะนายสิบนายทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ? เปล่าเลย! ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไร ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองที่เป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ!

สำหรับพลทหารทั้งหมด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีความยุ่งยากอะไร เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนครั้งแรก นายสิบแม้ว่าจะรับราชการมานาน แต่ก็ไม่เคยโดนอย่างนี้เช่นเดียวกัน ไม่สามารถทราบว่าจะมีบางคนคิดสงสัยและรู้สึกถูกลวงหรือไม่ เพราะมิได้มีใครเอาใจใส่สอบสวนเรื่องเหล่านี้เพื่อเป็นบทเรียน แต่นายสิบทุกคนทำราชการเพื่อเลี้ยงท้องและครอบครัวของตัว สิ่งใดที่อาจเป็นความผิดกระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของตนได้แล้ว เป็นต้องงดไม่กระทำทีเดียว เมื่อต่างคนต่างไม่กล้าทำอะไรโดยกลัวผิดเช่นนี้ ก็ไม่มีใครกล้า ตกลงต้องทำตามที่คนอื่นเขาทำกันทุก ๆ คน เพราะคิดเสียว่าเขาทำกันทั้งหมด คงจะเป็นการถูกต้องแล้วหรือ หากจะผิดก็ผิดไปด้วยกันทั้งหมด ข้อสำคัญก็คือเรื่องชนิดนี้ไม่เคยมีตัวอย่างมาเลย จึงไม่มีใครคิดตกว่าตัวควรทำอย่างไร ถึงแม้จะสงสัย สำหรับนายทหารก็มีส่วนคล้ายนายสิบ พลทหาร อยู่ด้วย แต่เนื่องจากมีการศึกษาสูงกว่า และมีความรับผิดชอบบังคับบัญชาทหารตน จึงมีเหตุผลที่จะคิดไปได้ว่า พวกนี้อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นได้ แต่นายทหารทั้งหมดรู้จักผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกนี้สงบนิ่ง

เมื่อขบวนเดินเท้าเหล่าทหารม้ามาถึงโรงทหารปืนใหญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้สั่งให้ทหารทั้งหมด ทั้งพวกทหารม้าและปืนใหญ่ ขึ้นรถยนต์ของกรมทหารปืนใหญ่ซึ่งเรียงแถวอยู่ในลานฝึกหัดของกรมทหารปืนใหญ่ของพระยาฤทธิ์อัคเนย์

ทหารทั้งหมดแย่งกันขึ้นรถ ไม่คิดอะไรมากไปกว่านั่งรถสบายไม่ต้องเดิน ส่วนรถจะแล่นไปข้างไหนไม่ถามถึงขบวน จนรถผ่านหน้ากองพันทหารช่าง ทหารกำลังฝึกหัดอยู่บนสนามหน้ากองพัน ด้วยการกวักมือประกอบด้วยเสียงตะโกนของผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ผู้บังคับกองพันทหารช่างเข้าใจว่า ถึงเวลาที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารต้องการใช้ทหารของตัวตามที่ได้ทำความเข้าใจตกลงกันไว้แต่เย็นวานแล้ว จึงสั่งทหารขึ้นรถ พวกทหารวิ่งแข่งกันขึ้นรถด้วยความร่าเริง แสดงให้เห็นว่า เขาอยากนั่งรถสบาย แทนที่จะต้องยืนขาแข็งอยู่บนสนามฝึกหัดอันน่าเบื่อ รถบรรทุกขบวนยืดยาวเท่าที่มีมาเต็มเสียแล้ว ต่อไปนี้แล่นรวดเดียวถึงหน้าพระลาน โดยไม่หยุดเรียกทหารในกรมทหารราบที่ ๓ ซึ่งอยู่ติดกับกองพันทหารช่าง ขบวนรถยนต์ถึงหน้าพระลานเวลา ๐๖.๐๕ น. คลาดเวลาที่นัดไว้กับหลวงสินธุ์สงครามชัย ๕ นาที หลวงสินธุ์ฯ พร้อมด้วยทหารเรือ มีจำนวนพลทหารประมาณร้อยคน ได้มารออยู่ตั้งแต่ก่อน ๐๖.๐๐ คงจะเป็นเวลานานแสนนานสำหรับหลวงสินธุ์ฯ นานถึงกับเขาเริ่มหมดหวังและคิดว่าไม่พ้นตะรางแน่ พอเห็นต้นขบวนรถยนต์โผล่ เขาก็โล่งใจ และสั่งทหารขยายแถวปิดถนนราชดำเนินซึ่งพุ่งตรงมาถนนหน้าพระลาน

ณ ที่นั้นมีกองพันทหารราบซึ่งได้นัดหมายไว้เมื่อวันที่แล้วกำลังฝึกอยู่ นักเรียนนายร้อยทั้งหมดในความควบคุมของผู้บังคับการโรงเรียนและครูวิชาทหารของผู้อำนวยการฝ่ายทหารก็พร้อมอยู่ที่นั่น

ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้ต้อนทหารทั้งหมดเข้าประตูรั้วเหล็กของพระที่นั่งอนันต์ฯ ภายหลังที่พระยาพหลฯ ได้อ่านคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้ถูกตะโกนแต่งตั้งแต่ขณะนั้นเป็นต้นไป

ภายหลังปรากฏว่า นายทหารที่ได้ฟังการอ่านคำประกาศของพระยาพหลฯ ส่วนมากยังไม่รู้เรื่องอะไร เมื่อสั่งให้เข้าไปในรั้วพระที่นั่ง ก็เข้าไปอย่างนั้นเอง เมื่อทหารเข้าไปในรั้วแล้ว ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้สั่งให้เข้าแถวคละกันหมดทุกเหล่า เตรียมพร้อมสำหรับที่จะสั่งใช้ได้ต่อไป การที่ให้เข้าแถวคละกันเช่นนี้ย่อมเป็นการป้องกันมิให้ผู้บังคับบัญชาคนใดคนหนึ่งสั่งการแก่ทหารของตัวได้สะดวก เพราะทหารของตัวมิได้รวมกันอยู่ กระจายแซกอยู่ทั่วไป ห่างไกลกัน นายทหารจับกลุ่มซุบซิบห่างจากแถวทหาร เขายังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาไม่รู้และมีความคิดที่จะทำอะไรกัน เขาดูความเป็นไปด้วยความสงบและไม่เอาใจใส่ ส่วนมากไม่ถูกเรียกใช้จากผู้อำนวยการฝ่ายทหาร เพราะพวกนี้ไม่แสดงความประสงค์ที่จะได้ถูกใช้ เขายับยั้งอยู่แต่ห่าง ๆ นั่งเป็นกลุ่ม ๆ ผู้อำนวยการก็ไม่รู้จักเป็นส่วนมาก เพราะจำนวนทหารที่ออกไปจากโรงเรียนหลายรุ่น จำนวนมากด้วยกัน ไม่สามารถจะจำได้

พวกร่วมมือกันที่ถูกใช้เป็นหัวแรงต่อไปนี้คือพระประศาสน์ฯ เขาได้รับมอบให้นำรถยนต์และรถเกราะไปเชิญตัวเจ้าชั้นผู้ใหญ่และผู้บังคับบัญชาชั้นผู้ใหญ่ ในชั้นต้นตรงไปเชิญกรมพระนครสวรรค์ฯ ก่อน ผู้ที่ช่วยแข็งแรงในวันนั้นตั้งแต่เช้าก็มีหลวงวีระโยธาซึ่งมิได้รู้เรื่องอะไรมาก่อนเลย เขาเป็นผู้นำรถยนต์ไปต้อนทหารที่ยังเหลืออยู่และมิได้นัดหมายไว้ที่ท้องสนามหลวงมาได้อีกมาก

การที่ไปต้อนเอามาได้ง่ายก็เนื่องจากไม่มีผู้บังคับบัญชาชั้นผู้ใหญ่อยู่ที่นั่นด้วย มีแต่พวกชั้นผู้บังคับหมวดซึ่งเป็นนายทหารใหม่ ๆ โดยมาก เมื่อเห็นหลวงวีระฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับกองพันอยู่ในกรมเดียวกันมาเรียก ก็ไปด้วยโดยง่าย ด้วยวิธีนี้จำนวนทหารในบริเวณพระที่นั่งอนันต์ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ จนในสุดท้ายตามกรมกองต่าง ๆ แทบจะไม่เหลือทหารปีที่ ๒ เลย นับว่าได้รวมอำนาจทหารไว้ที่บริเวณพระที่นั่งอนันต์ได้จริง ๆ ในเช้าวันนั้นเอง[๑๕]

ขบวนของพระประศาสน์ฯ เต็มไปด้วยนักเรียนนายร้อยที่สมัครไปด้วย พวกนักเรียนนายร้อยเป็นกำลังอันสำคัญที่สุดในวันนั้นที่ ๒๔ มิถุนายน พวกนี้แสดงความยินดีปรีดาทั่วกัน และสมัครไปทุกแห่งไม่ว่าจะไปทำอะไรที่ไหน

งานสำคัญที่พระประศาสน์ฯ ได้รับให้ไปทำนั้น คงทำความหนักใจให้ตัวพระประศาสน์ฯ เป็นอย่างมาก เพราะความสำคัญและใหญ่โตของกรมพระนครสวรรค์ฯ นั้นย่อมใหญ่หลวงเกินกว่าที่แม้จะถวายตัวเฝ้าก็ทั้งยาก แต่พระประศาสน์ฯ จะต้องไปเชิญตัวมาให้ได้ งานนี้จึงเป็นงานสำคัญ ฝ่าความตาย และต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณเป็นอย่างมาก

พระยาสีหราชเดโชชัย[๑๖] อีกผู้หนึ่งก็เป็นบุคคลที่เข้มแข็งและไม่ใช่คนยอมคนง่าย ๆ มีผู้แจ้งว่า พระยาสีหราชฯ มีปืนติดตัวเสมอ ทำงานที่โต๊ะก็ระมัดระวังไม่ยอมทิ้งปืน พระประศาสน์ฯ ย่อมจำเป็นต้องใช้ความกล้าเป็นพิเศษ

ขบวนรถเกราะและนักเรียนนายร้อยถึงหน้าวังบางขุนพหรม พระประศาสร์ฯ เกรงว่า ตำรวจโรงพักบางขุนพรหมจะเป็นภัยข้างหลัง ถ้าขืนนำขบวนพรวดพราดเข้าไป จึงได้รวบหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งเป็นร้อยตำรวจโทผู้หนึ่งให้ตามไปในขบวนด้วย ครั้นแล้วก็เคลื่อนเข้าในวังบางขุนพรหม ยามที่ประตูยอมให้ผ่านโดยดี

พระประศาสน์ฯ ได้แจ้งให้ ร.ต.ท. ผู้นั้นเข้าไปกราบทูลว่า ขอเชิญเสด็จออกมาพบกัน โดยให้เวลา ๑๐ นาที

ตามความเป็นจริงปรากฏตัวว่า พวกในวังรู้ตัวแล้วว่ามีเหตุเกิดขึ้นไม่ดีแน่ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ได้มารวมอยู่ในวังด้วยหลายคน, ระหว่างที่คอยอยู่นั้นได้ปรากฏเสียงปืนลั่นออกจากตัวตึก ทันทีนั้นปืนกลในรถเกราะก็ปล่อยกระสุนออกไปบ้างเป็นการขู่ ยกปากลำกล้องขึ้นฟ้า, เสียงปืนในตึกเงียบหายไป

เมื่ปรากฏเหตุการณ์เช่นนั้น พระประศาสน์ฯ จึงจำเป็นต้องสั่งจัดขบวนพร้อมต่อสู้ โดยให้นักเรียนนายร้อยขยายแถว และรถเกราะถอยออกไปบริเวณสนามเพื่อคุมเชิง รออยู่เป็นเวลา ๑๐ นาทีแล้ว ไม่เห็นผู้ใดมาแจ้งข่าว พระประศาสน์ฯ จึงสั่งขบวนติดดาบและขยายแถวเดินเข้าไปในวังตอนหลัง แต่ได้ห้ามมิให้นักเรียนนายร้อยลงมือปฏิบัติการอย่างใดโดยมิได้รับคำสั่ง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและใช้กำลังถึงนองเลือด พระประศาสน์ฯ และนักเรียนนายร้อยเดินเรื่อยเข้าไปจนถึงเรือนซึ่งจดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้เห็นเสด็จในกรมฯ พระชายา และราชบริพารประมาณ ๑๐๐ คน จับกลุ่มกันและบางคนถืออาวุธปืนเตรียมต่อสู้ กรมพระนครสวรรค์ฯ ได้ตรัสออกมาก่อนว่า พระประศาสน์ฯ เป็นกบฏ พระประศาสน์ฯ ได้พยายามชี้แจงและเป็นผู้ถวายความปลอดภัยรับรองในเรื่องอันตรายแก่ทุก ๆ คน กรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงรีรอพระทัยอยู่ครู่หนึ่ง ลงท้ายเสด็จดำเนินมาที่สนามหญ้าหน้าตึกใหญ่และยืนตรัสอยู่อีกนาน

ระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์มิงามขึ้น คือปรากฏว่า นายพลตำรวจโทผู้หนึ่งควักปืนโคลท์ขนาด ๙ ม.ม. ออกจะยิงพระประศาสน์ฯ แต่เป็นคราวเคราะห์ดี นายทหารเรือพวกพระประศาสน์ฯ ซึ่งยืนคุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ เห็นก่อน ก็ได้รีบปัดปืนนั้นโดยทันที พระประศาสน์ฯ เก็บปืนได้

กรมพระนครสวรรค์ฯ ตกลงจะมาด้วย แต่ขอเปลี่ยนเสื้อ ซึ่งเวลานั้นทรงเสื้อกุยเฮง พระประศาสน์ฯ ไม่ยอม เพราะได้ทราบข่าวว่า ในวังมีปืนกลตั้งเรียงรายอยู่ อาจทำการต่อสู้ได้ ในที่สุดเสด็จในกรมฯ ก็ยินดีขึ้นรถกะบะทั้ง ๆ ที่ทรงเสื้อกุยเฮงเช่นนั้น พระชายาและบริพารสนิทตามมาด้วยหลายคน

ขบวนพระประศาสน์ฯ ออกจากวังบางขุนพรหมจะตรงไปบ้านพระยาสีหราชฯ ที่วัดโพธิ์ ขณะที่ผ่านสนามหลวง พระยาประศาสน์ฯ เห็นหลวงวิริยะโยธา[๑๗] ควบคุมทหารมาหัดที่นั่น จึงตะโกนสั่งให้ไปหาผู้อำนวยการที่พระที่นั่งอนันต์

เป็นคราวเคราะห์ดีของพระประศาสน์ฯ และพวก ที่ไปพลพระยาสีหราชฯ ในขณะที่กำลังเข้าห้องน้ำ จึงเป็นการง่ายที่จะเชื้อเชิญตัวให้ไปในขบวน ที่แท้จริงได้ไปพบในโอกาสอื่นก็เกรงว่าน่าจะมีการต่อสู้ถึงขนาดเจ็บและตายได้

พลทหารที่มาจากกรมกองต่าง ๆ ได้ใช้ประจำอยู่ในบริเวณพระที่นั่งอนันต์นั่นเอง เตรียมพร้อมสำหรับแก้ไขเหตุการณ์ที่่จะเกอดขึ้น สำหรับการรักษาสถานที่พระที่นั่งอนันต์นั้น ได้ใช้สยามยึดบริเวณรั้วและช่องทางสำคัญ ๆ ทั้งวางอาวุธบนตัวตึกเพื่อป้องกันการเข้าตี โดยใช้นายเรียนนายร้อยพร้อมด้วยปืนกลอุดตามช่องหน้าต่างบนพระที่นั่ง หัวหน้าที่ได้รับการมอบในการระวังรักษาสถานที่วันนั้น และวันต่อ ๆ ไปก็มีหลวงวีระโยธาและพระเหี้ยมใจหาญ

ผู้ที่ถูกเชิญตัวมาที่พระที่นั่งอนันต์ในเช้าวันนั้นมีกรมพระนครสวรรค์ฯ กรมพระนริศฯ กรมพระยาดำรงฯ นายพลตำรวจตรี หม่อมเจ้าวงศนิรชร นายพันเอก หม่อมเจ้านักขัติมงคล นายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก นายพลตรี พระยาเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยาน นายพลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร ซึ่งเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาเวลานั้น มิได้ไปเชิญตัวที่บ้านเพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เนื่องจากเอานักเรียนนายร้อยมาเสียหมดแล้ว แต่ท่านที่มาโรงเรียนคงจะเนื่องจากได้ยินเหตุการณ์ จึงมีผู้เชิญตัวมาเสียด้วย พวกผู้บังคับการกรมต่าง ๆ มีบางคนถูกเชิญมา บางคนมิได้ไปเชิญตัว มาเองที่ ๆ เกิดเหตุ เจ้าและผู้ใหญ่ชั้นสูงได้ถูกเชิญตัวมาไว้ที่เดียว ส่วนผู้บังคับการกรมต่าง ๆ มิได้ทำอะไร คงปล่อยให้เป็นอิสระอยู่ เป็นแต่เพียงมีคนคอยสังเกตกิริยาอาการไว้เท่านั้น แต่ผู้ที่สังเกตกิริยาอาการเห็นว่า ผู้บังคับการรวมกลุ่มกันซุบซิบ เกิดไม่ไว้ใจ จึงได้นำตัวไปคุมไว้ในห้อง มีบางคนต้องการจะปล่อยโดยขอให้คำมั่นสัญญา แต่เจ้าตัวขอร้องให้ขังเขาเสียด้วย มีพระยาเฉลิมอากาศ และพระยาสุรเดชรณชิต ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ทางฝ่ายตำรวจมีตัวอธิบดีเท่านั้นที่ถูกเชิญตัวมา[๑๘]

ผู้ที่มิได้กล่าวนามไว้ในที่นี้มีส่วนหนึ่งที่มิได้อยู่ในกรุงเทพฯ เช่น นายพลโท หม่อมเจ้าอลงกฏ รัฐมนตรีกลาโหม เป็นต้น[๑๙] นอกจากนั้นที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เห็นว่าไม่จำเป็น ผู้บัญชาการและแม่ทัพที่อยู่หัวเมืองมิได้จัดการอะไร

มีรายหนึ่งที่กระสุนปืนลั่น คือ ที่บ้านผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ เป็นเวลาสายมากแล้ว นายร้อยโท ขุนศรากร[๒๐] ซึ่งเป็นหัวหน้าสันติบาลอยู่เวลานี้ ยังเฝ้าอยู่หน้าบ้าน คงจะเนื่องจากได้ทราบเหตุการณ์ทางโทรศัพท์ พระยาเสนา[๒๑] ก็ออกจากบ้าน ขุนศรีฯ กับพวกที่ไปเฝ้าอยู่มีหน้าที่ต้องป้องกันมิให้พระยาเสนาฯ ไปติดต่อกับกำลังส่วนใดส่วนหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ได้ แต่การเชิญตัวขึ้นรถเพื่อนำมาที่พระที่นั่งอนันต์มิได้เป็นไปโดยละม่อม คงจะเนื่องด้วยความตื่นเต้น ขุนศรีฯ ได้ยิงพระยาเสนาฯ บาดเจ็บ ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล มีรายเดียวเท่านี้ นอกนั้นไม่มีใครถูกยิงเลย เพราะไม่ปรากฏการต่อสู้แม้แต่เล็กน้อยตลอดระยะเวลาจนเสร็จ

การเชิญตัวเจ้านายและชั้นหัวหน้าบางคน และการต้อนทหารมายังพระที่นั่งอนันต์ ได้ทำการติดต่อกันไปจนสาย เนื่องจากจำนวนรถยนต์มีจำกัด ทัง้คนที่จะใช้ไปทำการเหล่านี้ก็หายาก โดยมากหลบหน้าไม่อยากให้ใช้ แต่ก็นับว่าส่วนสำคัญเสร็จไปได้ในตอนเช้านั่นเอง การยึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ก็ได้ทำตามลำดับเท่าที่จะมีรถยนต์ว่าง แต่ก็ต้องหยุดชะงักรถยนต์บ่อย ๆ สถานที่ยึดไว้ก็มีกรมช่างแสง คลังแสง กรมไปรษณีย์โทรเลข สถานีวิทยุ สถานีหัวลำโพง

ในเวลานั้นนายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ท่านได้ถูกขอร้องให้ช่วยเหลือด้วยการสั่งไปทั่วทุกกรมกองแทนรัฐมนตรีให้รักษาความสงบอยู่กับที่ตั้งของตน ท่านได้ช่วยเหลือโดยตลอด

นับตั้งแต่ตอนสายเป็นต้นมา พระที่นั่งอนันต์ได้เป็นที่ทำงานของพวกหลวงประดิษฐมนูธรรม และในวันนั้นเองได้สั่งเรือรบหนึ่งลำ มีนายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย เป็นผู้ถือหนังสือกราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานรัฐธรรมนูญออกไปยังที่ประทับชายทะเลที่พระที่นั่งไกลกังวล ในหนังสือได้กราบบังคมทูลขอร้องให้พระองค์เสด็จกลับกรุงเทพฯ ด้วยเพื่อบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป

เป็นอันว่าการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะปฏิวัติได้สำเร็จโดยราบรื่นภายในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายนนั่นเอง ต่อไปนี้ก็รอคำตอบของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถ้ามิทรงตอบรับ ก็จะได้ตั้งพระองค์อื่นขึ้นแทน แต่ก็เป็นโชคดีเมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้สั่งให้พระประศาสน์ฯ ไปเข้าเฝ้าร่วมกับคณะกราบทูล ในหลวงทรงด้วยดียินยอมประนีประนอมมิได้ปฏิเสธ นับว่าได้รับรัฐธรรมนูญโดยราบรื่นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน

งานที่ยังต้องทำกันในพระที่นั่งอนันต์ซึ่งเป็นงานติดต่อกันไปหลายวันภายใต้การรักษาการณ์อย่างแข็งแรงก็คืองานตั้งสภา, ตั้งรัฐบาล, การเปลี่ยนแปลงจึงจะนับได้ว่าปลอดภัย และเริ่มดำเนินงานตามแผนใหม่ด้วยรัฐบาลชุดใหม่ได้ทั้งหมดทีเดียว กรมพระนครสวรรค์ฯ นั้น พวกปฏิวัติยังเกรงอยู่ เพราะเคยเป็นตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก กองทัพเรือ และเป็นรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยด้วย จึงกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินขอให้เสด็จออกไปเสียจากประเทศสยามก่อน เจ้านายนอกนั้นไม่สำคัญ

^๑. คุณหญิงทรงสุรเดชได้ให้สัมภาษณ์กับผู้รวบรวมว่า บันทึกนี้ เจ้าคุณทรงสุรเดชเป็นผู้เขียนเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ที่สถานที่พักห้องแถวเลขที่ ๓๖ ถนนรีโซ ตำบลดาเกา ไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม

^๒. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งรองจเรทหารปืนใหญ่

นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน ๒๔๓๕–๒๔๘๗) ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก

นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ ๒๔๓๒–๒๕๐๙) ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ ๑

นายพันเอก พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

^๓. หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์ ๒๔๔๓–) เลขานุการกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม

^๔. นายนาวาตรี หลวงสินธุ์สงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน ๒๔๔๕–) ผู้อำนวยการโรงเรียนนายทหารเรือ ดูประกอบ นายหนหวย "ทหารเรือวันปฏิวัติใหญ่" (กรุงเทพฯ, ๒๔๙๒)

^๕. ดูประกอบ หลวงโหมรอญราญ "เมื่อข้าพเจ้าก่อกบฏ" เล่ม ๑ กรุงเทพฯ, ๒๔๙๒, หน้า ๒–๖

ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะนึกจริง ๆ หรือแกล้งกล่าวหาก็ตามที ถือได้ว่าเป็นจุดความคิดที่นำไปสู่การปฏิวัติ

^๖. พระสิทธิเรืองเดชพล

^๗. ดูเชิงอรรถที่ ๙ ประกอบ

^๘. นายประยูร ภมรมนตรี รับราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

^๙. กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ว่า “พระยาทรงฯ ได้เสนอแผนการซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ว่า จะใช้กำลังคนเป็นจำนวนมากจู่โจมเข้ายึดพระราชวังที่ประทับพระเจ้าอยู่หัวในเพลาดึก ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จโดยฉับพลัน แล้วจะบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวลงนามในรัฐธรรมนูญ แผนการนี้เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายกันแล้ว ส่วนมากมีความเห็นว่า อาจก่อให้เกิดความตื่นเต้นหวาดเสียวแก่ประชาราษฎรมากเกินไป ที่ประชุมจึงได้ตกลงกันให้พระยาทรงฯ ร่างแผนการเสนอใหม่ให้มีความละมุนละม่อมกว่าแผนการอันแรก”

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕, กรุงเทพฯ, ๒๔๙๐ หน้า ๒๐๒–๒๐๓, จากหนังสือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ดูจะขัดกับบันทึกของพระยาทรงฯ เพราะแผนการข้างต้นนี้พระยาทรงฯ ว่าเป็นเรื่องที่ประชุมกันที่ราชบุรี

^๑๐. นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ประจำกรมเสนาธิการทหารเรือ โปรดดูบันทึกคำสัมภาษณ์ของหลวงศุภชลาศัย โดย “ไทยน้อย” ๕๐ บุคคลสำคัญ (ชุดที่ ๒), แพร่พิทยา กรุงเทพฯ, ๒๕๐๔ หน้า ๗๒๐–๘๕๒

^๑๑. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (๒๔๒๔–๒๔๘๗) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

^๑๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนไว้ยืดยาวเกี่ยวกับการกำหนดวันปฏิวัติ คือ ในการประชุมครั้งที่ ๔ ที่ประชุมได้กำหนดเอาวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายนเป็นวันลงมือ อย่างไรก็ดี คณะปฏิวัติได้สืบทราบว่า โดยปรกติกรมพระนครสวรรค์มักจะทรงเลือกเอาวันเสาร์เป็นวันเสด็จประพาสสำราญพระอิริยาบถตามลำน้ำเจ้าพระยา และมักจะประทับแรมคืนอยู่บนเรือพระที่นั่ง และไม่เสด็จกลับวังจนกว่าจะถึงวันจันทร์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะลงมือทำการในวันอาทิตย์แล้ว ก็อาจจะไม่ได้พระองค์กรมพระนครสวรรค์มาเป็นตัวประกัน บรรดาหัวหน้าก่อการจึงติดต่อปรึกษากันให้เลื่อนการลงมือทำการเป็นวันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน” กุหลาบ สายประดิษฐ์ หน้า ๒๑๑, อย่างไรก็ดี จากการประชุมอีกครั้งในวันที่ ๒๑ มิถุนายน “ได้ตกลงให้เลื่อนวันลงมือทำการไปวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ซึ่งเป็นวันตัวของท่านหัวหน้าคณะราษฎร ทั้งนี้เพราะเหตุว่าที่ประชุมได้รับรายงานว่า ในวันอังคาร เรือยามฝั่งยังไม่กลับ ถ้าลงมือในวันอังคาร ก็จะขาดกำลังความร่วมมือของคณะทหารเรือไปมาก ถ้ารอไปจนถึงวันพฤหัสบดีแล้ว ก็จะได้กำลังทหารเรือมาเพิ่มกำลังอย่างเป็นที่น่าอุ่นใจทีเดียว” กุหลาบ สายประดิษฐ์ หน้า ๒๑๓–๒๑๔ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เล่าต่อไปอีกว่า วันปฏิวัติถูกเลื่อนเป็นครั้งที่สาม และได้กำหนดเป็นครั้งสุดท้ายว่าเป็นวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน เนื่องจาก “ทางพวกหัวหน้าก็ได้รับรายงานว่า พรรคพวกทั้งฝ่ายทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ซึ่งมีอยู่ในเวลานั้นทั้งหมดรวม ๑๑๕ คนนั้น มีหลายคนยังไม่พร้อมที่จะลงมือทำการ” หน้า ๒๑๖ เพิ่งอ้าง

^๑๓. พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย มียศเป็นนายพันโท ดู จำรัส สุขุมวัฒนะ แผนการปฏิวัติ เล่าโดย พล.ต. พระประศาสน์พิทยายุทธ, กรุงเทพฯ, ๒๔๙๑, หน้า ๗๕–๗๖

^๑๔. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

^๑๕. หลวงวีระโยธา มียศเป็นนายพันตรี ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันราบรักษาพระองค์ ดู จำรัส สุขุมวัฒนะ อ้างแล้ว, หน้า ๑๒๑–๑๒๓

^๑๖. พระยาสีหราชเดโชชัย มียศเป็นนายพลโท ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพบก จำรัส สุขุมวัฒนะ เขียนไว้ว่า “พระยาสีหราชเดโชชัย (เป็น) นายทหารเสือมือขวาของสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ พระยาสีหราชเดโชชัยนี้ ถ้าหากหลุดมือไปได้ ก็คงจะไปสั่งทหารทั้งปวงให้มารบเราอย่างแน่นอน เพราะตัวบุคคลคนนี้เป็นคนจริงเสียเหลือเกิน เป็นที่ครั่นคร้ามอย่างที่สุดในบรรดาทหารในเวลานั้น” อ้างแล้ว หน้า ๑๑๗

^๑๗. ที่ถูกควรเป็นหลวงวีระโยธา ดังเชิงอรรถหมายเลข ๑๓ ข้างต้น

^๑๘. อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้นคือพลโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ ได้ทราบเรื่องปฏิวัติทันทีเมื่อมีการยึดกรมไปรษณีย์ในตอนนั้น ดู นายหนหวย ทหารเรือวันปฏิวัติใหญ่ หน้า ๑๖๐–๑๖๕ กับ จำรัส สุขุมวัฒนะ แผนปฏิวัติฯ หน้า ๑๑๒–๑๑๔

^๑๙. นายพลโท พระองค์เจ้าอลงกฏ เสนาธิการทหารบก ภายหลังทรงสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิสรอุดมศักดิ์ (๒๔๒๓–๒๔๙๕) แต่ “ไทยน้อย” อ้างแล้ว กล่าวว่า เจ้าพระองค์อลงกฏดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกลาโหม

^๒๐. ที่ถูกคือขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร ๒๔๔๕–)

^๒๑. พระยาเสนาฯ คือ พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์) ผู้บัญชาการกองพลหนึ่งรักษาพระองค์ ดู “ไทยน้อย” อ้างแล้ว, หน้า ๖๐๗–๖๒๗