บ้วนฮ่วยเหลา/เล่ม ๑/ก

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ


ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานจัดพิมพ์หนังสือชุดภาษาไทยเพื่อทบทวนงานที่ได้ดำเนินมาแล้วในปีแรก คณะกรรมการดำเนินงานได้มีมติให้เพิ่มการจัดพิมพ์หนังสือชุดภาษาไทยขึ้นอีกสามชุด คือ ชุดประชุมพงศาวดาร ชุดรามเกียรติ์ และชุดพงศาวดารจีน

ชุดพงศาวดารจีนซึ่งจัดเป็นชุดที่ยี่สิบนี้ คณะกรรมการได้มีมติให้จัดพิมพ์เฉพาะเรื่องที่นับเนื่องเป็น "พงศาวดารจีน" จริง ๆ เสียก่อน ส่วนเรื่องจีนอื่น ๆ ที่จัดว่า เป็น "เกร็ด" พงศาวดารบ้าง หรือที่แต่งเป็นแบบนวนิยายบ้าง ให้จัดพิมพ์ต่อภายหลัง

ความจริงหนังสือพงศาวดารจีนไม่ว่าประเภทใดมีผู้นิยมอ่านกันมาก ในสมัยก่อน ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปติดพงศาวดารจีนเหมือนกับการรับประทานอาหาร ฉะนั้น จึงปรากฏว่า บรรดาหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องลงเรื่องจีนอย่างน้อยหนึ่งเรื่องเป็นประจำ นักอ่านจะซื้อหนังสือพิมพ์รายวันเพื่ออ่านเรื่องจีนวันต่อวัน เรื่องที่ลงพิมพ์นั้นบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เคยพิมพ์เป็นเล่มมาแล้ว แต่หาอ่านไม่ได้ เพราะต้นฉบับเดิมหายาก และมิได้มีการพิมพ์ขึ้นใหม่ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่แปลขึ้นใหม่จากนวนิยายจีนซึ่งแต่งอิงพงศาวดาร บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่นักประพันธ์ไทยแต่งข้นเองทำนองแต่งนวนิยายอาศัยพงศาวดารจีน เรื่องอิงพงศาวดารจีนที่น่าอ่านเพราะเป็นเรื่องมีคติแก่ชีวิตและครอบครัวก็มีหลายเรื่อง เช่น เรื่องจอยุ่ยเหม็ง เป็นต้น

ส่วนเรื่องจีนที่จัดได้ว่า เป็นเรื่อง "พงศาวดาร" นั้นปรากฏจากหนังสือตำนานสามก๊ก พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสสั่งให้แปลขึ้นสองเรื่อง คือ เรื่องไซ่ฮั่น เรื่องหนึ่ง กับเรื่องสามก๊ก เรื่องหนึ่ง โปรดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง ทรงอำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น และให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก นับเป็นเริ่มแรกของการแปลพงศาวดารจีนมาเป็นภาษาไทย ในรัชกาลที่ ๒ ได้มีการแปลบ้าง แต่ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ได้มีการแปลในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลต่อ ๆ มา

แต่การแปลพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทยในครั้งนั้นหาได้แปลตามลำดับราชวงศ์กษัตริย์จีนไม่ เข้าใจว่า อาจเพ่งเล็งไปในความสนุกของเรื่อง หรือตามแต่จะหาต้นฉบับได้มากกว่า ทั้งผู้อ่านไม่ปรารถนาจะหาความรู้ทางประวัติศาสตร์นอกจากความสนุกเป็นสำคัญ แต่ในการพิมพ์คราวนี้ คณะกรรมการมีความคิดเห็นว่า ควรจะจัดพิมพ์ใหม่ตามลำดับราชวงศ์กษัตริย์จีน ซึ่งบางทีจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจของประวัติศาสตร์บ้าง จึงได้เรียงลำดับการพิมพ์ดังต่อไปนี้ คือ

๑.   ไคเภ็ก
  • เริ่มแต่ประวัติศาสตร์ยังเจือปนด้วยนิยาย
  • เช่น การสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ สร้างโลก ฯลฯ
  • จนถึงตอนใกล้ประวัติศาสตร์ กษัตริย์องค์แรก ๆ ของจีน
  • ตั้งแต่สมัยที่กษัตริย์ได้ขึ้นเสวยราชย์โดยราษฎรเป็นผู้เลือก
  • จนถึงปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ คือ
  • กษัตริย์ราชวงศ์แฮ่ กับกษัตริย์ราชวงศ์เซียว
  • (ก่อนพุทธศักราช ๒๑๕๔ ปีถึงก่อนพุทธศักราช ๑๒๔๐ ปี)
๒.   ห้องสิน
  • ราชวงศ์เซียว และราชวงศ์จิว
  • (ก่อนพุทธศักราช ๑๒๔๐ ปีถึงพุทธศักราช ๒๙๗)
๓.   เลียดก๊ก
๔.   ไซ่ฮั่น
  • ราชวงศ์จิ๋น และราชวงศ์ฮั่น
  • (พ.ศ. ๒๙๘–๓๓๗)
๕.   ไต้ฮั่น
๖.   ตั้งฮั่น
๗.   สามก๊ก
  • ราชวงศ์ฮั่นตอนปลาย ต่อราชวงศ์วุยและราชวงศ์จิ้นตอนต้น
  • (พ.ศ. ๓๓๗–๘๐๗)
๘.   ไซจิ้น
  • ราชวงศ์จิ้น ราชวงศ์ซอ ราชวงศ์ชี
  • ราชวงศ์เหลียง และราชวงศ์ตั้น
  • (พ.ศ. ๘๐๘–๑๑๓๒)
๙.   ตั้งจิ้น
๑๐.   น่ำซ้อง
๑๑.   ส้วยถัง
  • ราชวงศ์ซุย และราชวงศ์ถังตอนต้น
  • (พ.ศ. ๑๑๓๒–๑๑๖๑)
๑๒.   ซุยถัง
๑๓.   เสาปัก
  • ราชวงศ์ถัง
  • (พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๔๕๐)
๑๔.   ซิยิ่นกุ้ย
๑๕.   ซิเตงซัน
๑๖.   ไซอิ๋ว
๑๗.   บูเช็กเทียน
๑๘.   หงอโต้ว
  • ราชวงศ์เหลียง ราชวงศ์จัง ราชวงศ์จิ้น
  • ราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์จิว
  • (พ.ศ. ๑๔๕๐–๑๕๐๓)
๑๙.   น่ำปักซ้อง
  • ราชวงศ์ซ้อง
  • (พ.ศ. ๑๕๐๓–๑๘๑๙)
๒๐.   บ้วนฮ่วยเหลา
๒๑.   โหงวโฮ้วเพงไซ
๒๒.   โหงโฮ้วเพงหนำ
๒๓.   โหงวโฮ้วเพงปัก
๒๔.   ซวยงัก
๒๕.   ซ้องกั๋ง
๒๖.   เปาเล่งถูกงอั้น
๒๗.   ง่วนเฉียว
  • ราชวงศ์หงวน
  • (พ.ศ. ๑๘๒๐–๑๙๑๑)
๒๘.   เม่งเฉียว
  • ราชวงศ์เหม็ง
  • (พ.ศ. ๑๙๑๑–๒๑๘๖)
๒๙.   เองเลียดต้วน
๓๐.   ซองเต๊กอิ้วกังหนำ
๓๑.   ไต้อั้งเผ่า
๓๒.   เซียวอั้งเผ่า
๓๓.   เนียหนำอิดซือ
๓๔.   เม่งมวดเซงฌ้อ
  • ราชวงศ์เช็ง
  • (พ.ศ. ๒๑๘๗–๒๔๕๔)
๓๕.   เชงเฉียว

รวมทั้งสิ้นเป็นหนังสือสามสิบห้าเรื่อง ซึ่งถ้าแบ่งตามขนาดหนังสือชุดภาษาไทยก็อาจจะได้ไม่ต่ำกว่าห้าสิบเล่ม ต้นฉบับพิมพ์พงศาวดารจีนตามบัญชีดังกล่าวนี้ในปัจจุบันหาอ่านกันได้ยาก เพราะส่วนใหญ่มิได้มีการพิมพ์ขึ้นใหม่ นอกจากเรื่องที่นิยมกันว่า สนุก ๆ มากเท่านั้น การพิมพ์คราวนี้ก็ต้องยืมต้นฉบับจากหลายเจ้าของด้วยกัน ซึ่งคุรุสภาต้องขอแสดงความขอบคุณท่านเจ้าของต้นฉบับทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะความเอื้อเฟื้อของท่านเท่ากับเป็นการช่วยรักษาวรรณกรรมของชาติให้คงไว้ส่วนหนึ่ง และการจัดพิมพ์นั้นได้แก้ไขเฉพาะอักขรวิธี ส่วนถ้อยคำสำนวนต่าง ๆ ได้คงไว้ตามเดิม ซึ่งท่านจะได้ทราบภาษาที่คนไทยเรานิยมใช้เมื่อร้อยปีเศษมาแล้วว่าเป็นอย่างไร