ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ ตามคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘

จาก วิกิซอร์ซ

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์)

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๕ ข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๑๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๕ ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน อันเป็นประกาศของคณะปฏิวัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงออกประกาศกำหนดให้การออกบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารซึ่งมีลักษณะตามที่ระบุไว้ในประกาศนี้ เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ออกให้แก่ผู้บริโภคซึ่งระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยมีการชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ไว้ล่วงหน้า เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือค่าอื่นใดแทนการชำระด้วยเงินสดและได้มีการบันทึกมูลค่าหรือจำนวนเงินที่ชำระไว้ล่วงหน้า “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามประมวลกฎหมายอาญา “ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค “ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคล คณะบุคคล หรือบุคคล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานของรัฐไม่ว่าในการใด ๆ “สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

หมวด ๑ การจัดตั้งและการขออนุญาต

ข้อ ๒ ให้การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ (๑) หน่วยงานของรัฐ (๒) สถาบันการเงิน (๓) ผู้ออกบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้บริโภคเพื่อใช้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเพียงรายเดียว (๔) ผู้ออกบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้บริโภคเพื่อใช้ซื้อสินค้า และหรือรับบริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการหลายราย ณ สถานที่ที่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน

ข้อ ๓ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด และต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี การยื่นคำขอรับอนุญาตให้ยื่นผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย ตามแบบและเอกสารหลักฐานที่ระบุไว้ในแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ (๑) สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัท (๒) สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท (๓) สำเนาข้อบังคับของบริษัท (๔) สำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท นอกจากนี้ ให้แจ้งชื่อ ประวัติการทำงาน และคุณวุฒิของกรรมการและผู้สอบบัญชี พร้อมทั้งสำนักงานสาขาและสถานที่ตั้งของสำนักงานสาขา ถ้ามี เมื่อได้รับคำขอรับอนุญาต และเอกสารหลักฐานตามวรรคสองถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง

ข้อ ๔ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีเงินทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าสองร้อยล้านบาท

หมวด ๒ เงื่อนไขในการดำเนินงาน

ข้อ ๕ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องระบุรายละเอียดและวิธีการบริหารเงินที่ได้รับล่วงหน้าจากผู้บริโภคอย่างชัดเจน และจัดให้มีการบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ข้อ ๖ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องระบุรายละเอียดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเนื่องจากการใช้บริการบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้ชัดเจนครบถ้วนในเอกสารชี้ชวนใบสมัคร และสัญญา ทั้งนี้ ตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ข้อ ๗ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้อง (๑) รายงานให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบถึงการเปิดสำนักงานสาขาแห่งใหม่ หรือย้ายหรือปิดสำนักงานสาขา ทั้งนี้ สำนักงานสาขาไม่รวมถึงจุดให้บริการชั่วคราว หรือสำนักงานหรือจุดให้บริการของตัวแทนที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์แต่งตั้ง โดยให้เป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด (๒) รักษาข้อมูลของผู้บริโภคไว้เป็นความลับ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ (ก) การเปิดเผยโดยได้รับคำยินยอมเป็นหนังสือจากผู้บริโภค (ข) การเปิดเผยตามหน้าที่ หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวน หรือการพิจารณาคดี (ค) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ นั้น (ง) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย

ข้อ ๘ ห้ามผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์กระทำการ ดังต่อไปนี้ (๑) ลดทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี (๒) หยุดหรือระงับการดำเนินกิจการเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี (๓) ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการขออนุญาตตามความในข้อ ๘ (๑) และ (๒) ให้ยื่นขอรับอนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยและให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง

ข้อ ๙ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) การบริหารเงินที่ได้รับล่วงหน้าจากผู้บริโภค (๒) ค่าธรรมเนียมใด ๆ เกี่ยวกับการใช้บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ (๓) การตรวจสอบและการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ (๔) การแลกคืนเป็นเงินสด (๕) การปฏิบัติและจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้บริโภค (๖) การปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียน (๗) การจัดทำบัญชีและรายงาน (๘) เรื่องอื่น ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าจำเป็นเพื่อความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชน

ข้อ ๑๐ ห้ามผู้ใดซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ (๑) เคยเป็นบุคคลล้มละลาย (๒) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต (๓) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนการอนุญาตตามข้อ ๑๐ แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (ฉบับลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕) (๔) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนการอนุญาตตามข้อ ๑๐ แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) (๕) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนการอนุญาตตามข้อ ๑๑ (๖) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (๗)[๑๐] เคยเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดหรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

ข้อ ๑๑ เมื่อปรากฏว่า (๑) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการดำเนินงานประการใดประการหนึ่ง (๒) ฐานะการเงินหรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนอย่างร้ายแรง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นแก้ไขการที่ได้ฝ่าฝืนละเลยหรือแก้ไขฐานะการเงินหรือการดำเนินงานให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดและให้รายงานให้รัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า หากผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์มิได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ระงับการดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ในการนี้ รัฐมนตรีจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ปฏิบัติด้วยก็ได้ หากผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ยังคงฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามความในวรรคสอง ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นและให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์มีความประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้แจ้งรัฐมนตรีผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาและมีคำสั่งว่าควรจะอนุญาตให้เลิกได้เมื่อใด ภายใต้เงื่อนไขและวิธีการอย่างใด ทั้งนี้ ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามวรรคสอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้รัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ทราบก่อนครบกำหนดดังกล่าว ในการนี้ ให้ขยายระยะเวลาพิจารณาออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อรัฐมนตรีอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์เลิกประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามวัน

ข้อ ๑๓ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๕ และประกาศฉบับนี้ รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานของกิจการตามที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้ และการดำเนินคดีสำหรับความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๕

ข้อ ๑๔ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องจัดให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้สอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์มาให้ถ้อยคำหรือแสดงสมุดบัญชีเอกสารและหลักฐานอื่น อันเกี่ยวกับกิจการผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นตามความประสงค์ของพนักงานเจ้าหน้าที่

ข้อ ๑๕ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศฉบับนี้ต้องรับโทษตามที่ระบุไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๕

บทเฉพาะกาล

ข้อ ๑๖ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบกิจการนั้นต่อไป ให้ยื่นคำขอรับอนุญาตภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ

ข้อ ๑๗ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ยื่นคำขอรับอนุญาตตามข้อ ๑๖ หากมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วต่ำกว่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในข้อ ๔ เมื่อได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ต้องจดทะเบียนเพิ่มทุนและเรียกชำระทุนเพิ่มให้ครบถ้วนภายในหกเดือนนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ

ข้อ ๑๘ ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๒)

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๓)

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๔)

ข้อ ๔ บทเฉพาะกาล ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์รายใดที่ให้บริการก่อนที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับและมีกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๑๐ (๖) หรือ (๗) ให้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศฉบับนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๒)  ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๒)  ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๓)  ข้อ ๗ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๔)  ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๓)  ข้อ ๘ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๔)  ข้อ ๑๐ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๒)  ข้อ ๑๐ (๕) เพิ่มโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๒)  ข้อ ๑๐ (๖) เพิ่มโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๔) [๑๐] ข้อ ๑๐ (๗) เพิ่มโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) (ฉบับที่ ๔)  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๑๑๔ ง/หน้า ๑/๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนพิเศษ ๔ ง/หน้า ๑๗/๑๔ มกราคม ๒๕๕๔  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๑๑๓ ง/หน้า ๓/๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๑๔๔ ง/หน้า ๓/๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙

________________________________________ 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ ตามมาตรา ๗ แห่ง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื่องจากงานนี้เป็น

(๑) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

(๒) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

(๓) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น

(๔) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

(๕) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (๑) ถึง (๔) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น    



งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"