ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 7 เมษายน ร.ศ. 116
ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
๑ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า หัวเมืองมลายูฝ่ายตวันตกมีอยู่ ๓ เมือง คือ เมืองไทรบุรี ๑ เมืองปลิศ ๑ เมืองสตูน ๑ แลหัวเมืองทั้ง ๓ นี้ควรจะจัดให้มีแบบแผนบังคับบัญชาการเปนอย่างเดียวกัน ให้ราชการบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
๒ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮะมิด) มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแลกรุงเทพมหานครเปนอันมากมาเนืองนิตย์ แลมีสติปัญญาอุสาหะจัดการเมืองไทรบุรีเจริญเรียบร้อยยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
๓ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้เจ้าพระยาไทรบุรีเปนข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการเมืองปลิศ ๑ เมืองสตูน ๑ รวมทั้งเมืองไทรบุรีด้วย เปน ๓ เมือง
๔ให้เจ้าพระยาไทรบุรีมีอำนาจที่จะตรวจตราบังคับบัญชาผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน แลมีคำสั่งให้จัดการบ้านเมืองตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตทุกอย่างเพื่อให้ราชการบ้านเมืองเหล่านั้นเรียบร้อยแลเจริญขึ้น แลให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน ศรีตวันกรมการหัวเมืองทั้ง ๒ นั้น ฟังบังคับบัญชาเจ้าพระยาไทรบุรีในที่ชอบด้วยราชการทุกประการ
๕ผู้ว่าราชการเมืองปลิศแลเมืองสตูนคงมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาว่ากล่าวศรีตวันกรมการไพร่บ้านพลเมืองนั้น ๆ แลรับผิดชอบในราชการบ้านเมืองทุกอย่าง แต่ต้องกระทำตามบังคับแลคำสั่งของเจ้าพระยาไทรบุรีตามบรรดาการที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น
๖ต้นไม้เงินทองเมืองปลิศ เมืองสตูน ซึ่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองฝ่ายทะเลตวันตกเคยบอกส่งเข้ามากรุงเทพฯ นั้น แต่นี้ไป เมื่อถึงกำหนด ให้เจ้าพระยาไทรบุรีบอกนำส่งเข้ามากรุงเทพฯ
๗ข้อราชการบ้านเมืองซึ่งผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน เคยมีใบบอกต่อข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายทะเลตวันตก เพื่อแจ้งข้อราชการฤๅหารือราชการก็ดี ฤๅเพื่อให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ ก็ดี แต่นี้ไป ให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน มีใบบอกไปยังเจ้าพระยาไทรบุรี เพื่อแจ้งข้อราชการฤๅหารือราชการ ฤๅเพื่อให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ เหมือนเช่นนั้น แต่ในราชการบางอย่างซึ่งเปนแบบแผนเคยมีท้องตราจากกรุงเทพฯ ตรงไปตามหัวเมืองก็ดี ที่หัวเมืองเคยบอกตรงเข้ามากรุงเทพฯ ก็ดี ก็ให้คงเปนไมตามแบบแผนเดิมนั้น แต่ต้องแจ้งความให้เจ้าพระยาไทรบุรีทราบด้วย
แต่การที่ว่ามาในข้อนี้ไม่เกี่ยวข้องถึงฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายร้องทุกข์ฤๅเพื่อจะกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทโดยเฉพาะ การเช่นนี้ย่อมเปนราชประเพณีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้แก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วไปมิได้เลือกหน้า ใครจะถวายก็ได้ ไม่ห้ามปราม
๘ผลประโยชน์ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน เคยได้ในตำแหน่งเท่าใด ให้คงได้อย่างแต่ก่อน ส่วนผลประโยชน์ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเหล่านั้นได้เคยให้ประจำตำแหน่งศรีตวันกรมการเท่าใด ถ้าศรีตวันกรมการเหล่านั้นยังรับราชการบ้านเมืองตามสมควรแก่น่าที่ ก็ให้คงได้รับผลประโยชน์ไปอย่างเดิม แลเงินผลประโยชน์ เงินภาษีอากร ที่ได้ในเมืองปลิศ เมืองสตูน มากน้อยเท่าใด เงินเมืองใด ให้จัดจ่ายใช้ราชการทำนุบำรุงในเมืองนั้น แลให้มีบาญชีทั้งรายรับแลรายจ่ายแยกออกเปนเมือง ๆ อย่าให้ปะปนกัน
๙ตำแหน่งแลเกียรติยศบันดาศักดิ์ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน แลศรีตวันกรมการเมืองทั้ง ๒ เมืองนั้น เคยมีมาประการใด ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้น การที่จะเลือกสรรตั้งแต่งศรีตวันกรมการผู้ใหญ่ในเมืองปลิศแลเมืองสตูนนั้น ตำแหน่งใดว่างลง ให้เจ้าพระยาไทรบุรีปฤกษาหารือด้วยผู้ว่าราชการเมืองนั้นเลือกสรรผู้ซึ่งสมควร แล้วมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล เมื่อทรงพระราชดำริห์เห็นขอบแล้ว ก็จะได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสัญญาบัตรตามธรรมเนียม ส่วนตั้งแต่งกรมการผู้น้อยนั้น ให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน หารือต่อเจ้าพระยาไทรบุรี เมื่อเจ้าพระยาไทรบุรีเห็นชอบด้วยแล้ว ก็ตั้งได้
๑๐เจ้าพระยาไทรบุรีต้องมีบอกรายงานการที่ได้จัดแลเหตุการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตรแขวงเมืองปลิศแลเมืองสตูนเข้ามากราบบังคมทูลเนือง ๆ แลบรรดาการที่เจ้าพระยาไทรบุรีจะจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเมืองปลิศ เมืองสตูน ประการใด ก็ให้มีใบบอกเข้ามาขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนตามแบบแผนขนบธรรมเนียมในราชการ
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 7 เมษายน ร.ศ. 116". (2440, 9 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 14, ตอน 6. หน้า 73–75.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"