ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๘๙ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๕

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



ประกาศของคณะปฏิวัติ

ฉบับที่ ๑๘๙[1]
_______________


โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ในขณะนี้ประชาชนได้นิยมเข้าไปขุดค้นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามบริเวณต่าง ๆ ในท้องที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสกลนคร และกำลังลุกลามไปยังจังหวัดอื่น และเนื่องจากมิได้ขุดค้นตามหลักวิชาการขุดค้นโบราณวัตถุจึงเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสำคัญเกี่ยวกับอารยธรรมของมนุษยชาติให้สูญเสียไป เพราะวัตถุที่ค้นพบนั้นเป็นของโบราณเก่าแก่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งโดยอายุลักษณะแห่งการประดิษฐ์ และหลักฐานที่เกี่ยวกับวัตถุเหล่านั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอารยธรรมของมนุษยชาติ คณะปฏิวัติเห็นสมควรรีบดำเนินการป้องกันการขุดค้นทำลายโดยไม่ชอบ เนื่องจากโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ขุดค้นพบนั้นได้ถูกนำไปจำหน่ายจ่ายโอนไปยังบุคคลต่างๆ ซึ่งบางชิ้นสมควรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติยิ่งกว่าของเอกชน และโดยที่การขุดค้นและการจำหน่ายจ่ายโอน ซึ่งประชาชนในท้องที่ดังกล่าวได้กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และเป็นการผิดกฎหมาย สมควรกำหนดมาตรการให้ผู้ครอบครองโบราณวัตถุและศิลปวัตถุปฏิบัติ เพื่อมิให้การกระทำนั้นเป็นความผิดกฎหมายอีกต่อไป หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ห้ามมิให้ผู้ใดขุดค้นหาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามความหมายของพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ภายในบริเวณท้องที่ตามบัญชีท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ หรือภายในบริเวณท้องที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา  ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรมอบหมาย

ผู้ใดฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๒  ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายจ่ายโอนหรือเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้มาจากการขุดค้นภายในบริเวณท้องที่ตามความในข้อ ๑ ออกไปจากสถานที่เก็บโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรมอบหมาย

เมื่ออธิบดีกรมศิลปากรอนุญาตให้จำหน่ายจ่ายโอนโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุใดแล้ว ให้โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นพ้นจากการควบคุมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ผู้ใดฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๓  ให้ผู้มีอยู่ในครอบครองในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้มาจากการขุดค้นภายในบริเวณท้องที่ตามความในข้อ ๑ แจ้งปริมาณ รูปพรรณ และสถานที่เก็บโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นต่ออธิบดีกรมศิลปากร สำหรับสถานที่เก็บในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือต่อนายอำเภอท้องที่ สำหรับสถานที่เก็บในจังหวัดอื่น ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ

ผู้ใดแจ้งปริมาณ รูปพรรณ และสถานที่เก็บโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามความในวรรคหนึ่ง ให้ได้รับยกเว้นโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๓๑ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๕ และมาตรา ๓๕๗ สำหรับความผิดที่ได้เกิดขึ้นแล้วเกี่ยวกับโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น

ให้อธิบดีกรมศิลปากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมศิลปากรมอบหมายมีอำนาจเข้าไปในสถานที่เก็บตามที่ผู้แจ้งได้แจ้งไว้ตามความในวรรคหนึ่ง เพื่อตรวจดูโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่แจ้งปริมาณและรูปพรรณไว้ได้ ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก

ผู้ใดฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดขัดขวางมิให้อธิบดีกรมศิลปากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมศิลปากรมอบหมายเข้าปฏิบัติการตามความในวรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๔  เมื่ออธิบดีกรมศิลปากรเห็นว่าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุใดตามความในข้อ ๓ มีคุณค่าในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี สมควรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ ให้มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ครอบครองส่งมอบโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นต่ออธิบดีกรมศิลปากร ณ สถานที่และภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีนี้มิให้นำความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มาใช้บังคับ  ทั้งนี้ รวมทั้งกรณีที่มีผู้เก็บโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้มาจากการขุดค้นภายในบริเวณท้องที่ตามความในข้อ ๑ ได้ และส่งมอบโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ด้วย

ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ส่งมอบโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามคำสั่งของอธิบดีกรมศิลปากรตามความในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๕  ให้อธิบดีกรมศิลปากรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรมอบหมาย มีอำนาจเข้าตรวจค้นสถานที่อันมีเหตุควรสงสัยว่าจะมีโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุซึ่งมิได้แจ้งปริมาณ รูปพรรณและสถานที่เก็บตามความในข้อ ๓ หรือมิได้ส่งมอบตามคำสั่งอธิบดีกรมศิลปากรตามความในข้อ ๔ วรรคหนึ่ง อยู่ และมีอำนาจยึดหรืออายัดโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น

ผู้ใดขัดขวางมิให้อธิบดีกรมศิลปากรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรมอบหมายปฏิบัติการตามความในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ข้อ ๗  ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
จอมพล ถ. กิตติขจร

หัวหน้าคณะปฏิวัติ


เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๑๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๗/๒๗ กรกฎาคม ๒๕๑๕

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"