ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๕
ประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๒๕๓[1]
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า กำหนดเวลาการจำหน่ายสุราและดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราและกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนตามความในพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ยังไม่เหมาะสม สมควรมีบทบัญญัติให้มีการอนุญาตให้จำหน่ายสุราและดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราในเวลาที่ห้ามจำหน่ายสุราได้ในบางกรณี และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนเสียใหม่ หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕
(๒) พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๔
(๓) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๖ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕
ข้อ ๒ ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๓ ถึงประเภทที่ ๖ ตามความในกฎหมายว่าด้วยสุรา หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราดังกล่าวจำหน่ายสุราทุกชนิดในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา และตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจสำหรับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่น
ห้ามมิให้ผู้ใดดื่มสุราชนิดใด ๆ ณ สถานที่ขายสุราในกำหนดเวลาห้ามจำหน่ายสุรา เว้นแต่สถานที่ขายสุรานั้นได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ตามวรรคหนึ่ง
การจำหน่ายสุราและดื่มสุราในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เปิดทำการได้เกินเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ให้กระทำนอกเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง และวรรคสองได้เฉพาะหลังจากเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา จนถึงเวลาปิดทำการ
หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาต การอนุญาต การออกใบอนุญาต การแสดงใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การจำหน่ายสุราของผู้ได้รับใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการออกและการต่ออายุใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ข้อ ๓ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
(๑) ดำเนินกิจการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
(๒) ยอมให้ผู้มีอาการเมาสุราจนประพฤติวุ่นวาย หรือครองสติไม่ได้ เข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ขายสุราระหว่างเวลาเปิดทำการ
(๓) จำหน่ายสุราให้แก่ลูกค้าที่มีอาการเมาสุราจนประพฤติวุ่นวาย หรือครองสติไม่ได้แล้ว
(๔) จำหน่ายสุรานอกเวลาที่กำหนดในใบอนุญาต
(๕) ฝ่าฝืนกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
การสั่งพักใช้ใบอนุญาต ให้สั่งพักใช้ได้ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน
ข้อ ๔ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๒ วรรคหนึ่ง หรือจำหน่ายสุราในเวลาห้ามจำหน่าย ระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ ๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อ ๕ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๒ วรรคสอง หรือกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อ ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ข้อ ๗ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๗๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"