ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๕

จาก วิกิซอร์ซ
ประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๒๘๕
_______________

โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศและระบบการบัญชี ได้วิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว แต่กฎหมายว่าด้วยการบัญชีได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ บทบัญญัติต่าง ๆ ไม่รัดกุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า และเพื่อให้สอดคล้องกับระบบการภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรในปัจจุบัน หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติการบัญชี พุทธศักราช ๒๔๘๒

(๒) พระราชบัญญัติการบัญชี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖

บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ให้ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้แทน

ข้อ ๒  ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

“สารวัตรบัญชี” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ และหมายความรวมถึงผู้ทำการแทนด้วย

“สารวัตรใหญ่บัญชี” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ และหมายความรวมถึงผู้ทำการแทนด้วย

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทะเบียนการค้า

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ข้อ ๓  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งสารวัตรใหญ่บัญชี สารวัตรบัญชี และพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ข้อ ๔  ให้มีสำนักงานกลางบัญชีในกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ให้รัฐมนตรีมีอำนาจจัดตั้งสำนักงานบัญชีในท้องที่ซึ่งรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ในท้องที่นั้น และขึ้นต่อสำนักงานกลางบัญชี การจัดตั้งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๕  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นปกติในประเภทต่อไปนี้

(๑) ขายสินค้า

(๒) ซื้อขายที่ดิน

(๓) ขายทอดตลาด

(๔) โรงแรม หรือภัตตาคาร

(๕) นายหน้า หรือตัวแทน

(๖) รับขนโดยใช้ยานพาหนะซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องจักรหรือรับขนทางทะเล

(๗) ธนาคาร รับแลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อขายตั๋วเงิน ให้กู้ยืมเงิน เครดิตฟองซิเอร์ โพยก๊วน หรือโรงรับจำนำ

(๘) ประกันภัย

(๙) เก็บของในคลังสินค้า

(๑๐) การไฟฟ้าหรือการประปา

(๑๑) การแสดง การเล่น การกีฬา หรือการประกวดที่จัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจากผู้เข้าดู ผู้เข้าฟัง หรือจากผู้มีส่วนเข้าร่วมในการนั้น

(๑๒) ให้เช่าทรัพย์หรือให้เช่าซื้อ

(๑๓) รับจ้างทำของ

(๑๔) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

(๑๕) ธุรกิจอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

การกำหนดตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และระบุวันเริ่มทำบัญชีไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๖  ให้บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนบริษัทจำกัด และนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งประกอบธุรกิจที่รัฐมนตรีกำหนดตามข้อ ๕ มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ให้ผู้จัดการเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีมีสำนักงานสาขา ให้ผู้มีหน้าที่จัดการสำนักงานสาขานั้นเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี

ข้อ ๗  ให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจัดทำบัญชีเงินสด แต่ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรจะกำหนดให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีใดจัดทำบัญชีต่อไปนี้ทุกประเภทหรือบางประเภทเพิ่มขึ้นก็ได้

(๑) บัญชีรายวัน

(๒) บัญชีแยกประเภท

(๓) บัญชีสินค้าซึ่งอยู่ในครอบครอง

ให้นำข้อ ๕ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การกำหนดตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

ข้อ ๘  ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดในเรื่องต่อไปนี้

(๑) ชนิดของบัญชีรายวันหรือบัญชีแยกประเภทที่ต้องทำ

(๒) ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี

(๓) ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี

(๔) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี

(๕) บัญชีใดสำหรับการประกอบธุรกิจใด ในท้องที่ใดที่ต้องมีตราของสำนักงานกลางบัญชีหรือสำนักงานบัญชีประทับ

(๖) หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอประทับตราบัญชีและการขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปประทับตราบัญชี ณ สถานที่ประกอบธุรกิจของผู้ขอ

ข้อ ๙  การลงรายการในบัญชี ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีต้อง

(๑) ลงเป็นภาษาไทย หรือจะลงเป็นภาษาต่างประเทศก็ได้ แต่ต้องมีภาษาไทยกำกับด้วย หรือจะลงเป็นรหัสด้วยเครื่องจักรทำบัญชีก็ได้ แต่ต้องส่งมอบคำแปลรหัสที่เป็นภาษาไทยต่อสำนักงานกลางบัญชี หรือสำนักงานบัญชี

(๒) เขียนด้วยหมึก หรือดีดพิมพ์ หรือตีพิมพ์

ข้อ ๑๐  ให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีปิดบัญชีครั้งแรกภายในสิบสองเดือนนับแต่วันที่มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ และปิดบัญชีครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือนนับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อน เว้นแต่ในกรณีที่ประสงค์จะเปลี่ยนรอบปีบัญชีและได้รับอนุญาตจากสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีแล้ว จะปิดบัญชีก่อนครบรอบสิบสองเดือนก็ได้

ข้อ ๑๑  ให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศจัดทำงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ยื่นต่อสำนักงานกลางบัญชีหรือสำนักงานบัญชี ภายในห้าเดือนนับแต่วันปิดบัญชีตามข้อ ๑๐

งบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนต้องมีรายการย่อตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

งบดุลต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบ

ข้อ ๑๒  ให้นำข้อ ๑๑ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นบริษัทจำกัด ทำงบดุลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

ข้อ ๑๓  ให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจนั้น แต่ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจะขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชี เพื่อเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่อื่นก็ได้

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๑๔  ให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีนับแต่วันปิดบัญชี หรือจนกว่าจะมีการส่งมอบตามข้อ ๑๖ แต่เมื่อได้เก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีแล้ว ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจะขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีไม่เก็บรักษาต่อไปก็ได้

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๑๕  ถ้าบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีแจ้งต่อสำนักงานกลางบัญชีหรือสำนักงานบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบ หรือควรทราบถึงการสูญหายหรือเสียหายนั้น

ข้อ ๑๖  เมื่อผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเลิกประกอบธุรกิจโดยเหตุอื่นนอกจากเหตุล้มละลาย ให้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีแก่สารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันเลิกประกอบธุรกิจ และให้สารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีดังกล่าวไว้ห้าปี หรือจนกว่าจะครบกำหนดเวลาตามข้อ ๑๔ สุดแต่ระยะเวลาใดจะสั้นกว่า

เมื่อผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีร้องขอ ให้สารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีมีอำนาจขยายกำหนดเวลาเก้าสิบวันตามวรรคหนึ่งได้ตามสมควร

ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนและบริษัทจำกัดซึ่งเลิกประกอบธุรกิจโดยมีการชำระบัญชี

ข้อ ๑๗  ให้สารวัตรใหญ่บัญชี สารวัตรบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีเพื่อให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หรือสถานที่เก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

ข้อ ๑๘  ให้สารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือ

(๑) ให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการบัญชีหรือการเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี

(๒) ให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีมาเพื่อตรวจสอบ

ข้อ ๑๙  ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ สารวัตรใหญ่บัญชี สารวัตรบัญชี และพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๒๐  ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อความใด ๆ ซึ่งทราบหรือได้มาเนื่องจากการปฏิบัติการตามข้อ ๑๗ หรือข้อ ๑๘ เว้นแต่จะมีอำนาจทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ ๒๑  ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีใดไม่ปฏิบัติตามข้อ ๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสองร้อยบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ข้อ ๒๒  ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีใดไม่ปฏิบัติตามประกาศของอธิบดีที่ออกตามข้อ ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าสิบบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ข้อ ๒๓  ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีใดไม่ปฏิบัติตามข้อ ๙ ข้อ ๑๑ วรรคหนึ่ง ข้อ ๑๓ วรรคหนึ่ง ข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง ข้อ ๑๕ หรือข้อ ๑๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

ข้อ ๒๔  ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีใดไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

ข้อ ๒๕  ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นบริษัทจำกัดผู้ใดไม่ทำงบดุลตามข้อ ๑๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

ข้อ ๒๖  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่สารวัตรใหญ่บัญชี สารวัตรบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติการตามข้อ ๑๗ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีซึ่งสั่งตามข้อ ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๒๗  ผู้ใดฝ่าผืนข้อ ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๒๘  ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นนิติบุคคลผู้ใดกระทำความผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามข้อ ๗ ข้อ ๑๑ ข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง หรือข้อ ๑๖ วรรคหนึ่ง กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคล ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับโทษที่กำหนดไว้สำหรับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นด้วย

ข้อ ๒๙  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งบัญชี หรือเอกสารประกอบการลงบัญชี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๓๐  ผู้ใดลงรายการเท็จในบัญชี แก้ไขบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีเพื่อให้ผิดความจริง หรือละเว้นการลงรายการในบัญชี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๓๑  ให้บุคคลซึ่งมีหน้าที่ทำบัญชีอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับหรือบุคคลซึ่งเริ่มประกอบธุรกิจเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วแต่ก่อนวันที่ประกาศของรัฐมนตรี ซึ่งออกตามข้อ ๕ ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลบังคับ และบุคคลนั้นมีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ให้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ จนกว่าประกาศของรัฐมนตรีซึ่งออกตามข้อ ๕ ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลบังคับ

ให้บุคคลตามวรรคหนึ่งจัดทำบัญชีและรับผิดในการจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พุทธศักราช ๒๔๘๒ จนกว่าประกาศของรัฐมนตรีมีผลบังคับ เมื่อประกาศของรัฐมนตรีมีผลบังคับแล้ว ถ้าบุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีตามประกาศของรัฐมนตรี ให้จัดทำบัญชีดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะมีการงบบัญชี

ข้อ ๓๒  ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕

จอมพล ถ.  กิตติขจร

หัวหน้าคณะปฏิวัติ


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"