ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



ประกาศของคณะปฏิวัติ

ฉบับที่ ๓๐๕[1]
_______________



โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า สมควรมีเหรียญที่ระลึกเชิดชูเกียรติเป็นการตอบแทนคุณความดีและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลเพื่อมอบให้แก่ผู้สนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติการป้องกันหรือปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้มีเหรียญเพื่อมอบให้แก่ผู้สนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติการป้องกันหรือปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เรียกว่า “เหรียญสนองเสรีชน” ใช้อักษรย่อว่า ส.ส.ช.

ข้อ ๒  เหรียญสนองเสรีชน เป็นเหรียญโลหะสีเงิน รูปกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๕ มิลลิเมตร ด้านหน้าเหรียญตรงกลางมีรูปจักร มีสมอขัดในวงจักร ซ้ายขวาของจักรมีรูปปีกนกทับอยู่บนพระแสงดาบ เขน และโล่ ตอนบนเป็นรูปครุฑพ่าห์ ด้านหลังเหรียญตรงกลางมีอักษรจารึกว่า “สนองเสรีชน” มีลายไทยประกอบอยู่เบื้องหลัง และมีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ทำด้วยโลหะสีเงินติดที่ห่วง สำหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง ๓๕ มิลลิเมตร พื้นสีน้ำเงิน ตรงกลางมีริ้วสีขาว ๔ ริ้ว กับริ้วสีแดง ๓ ริ้ว สลับกันกว้าง ๑๕ มิลลิเมตร สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าวผูกเป็นรูปแมลงปอ

ข้อ ๓  เหรียญสนองเสรีชนจะมอบให้แก่ผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติการป้องกันหรือปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อันสมควรได้รับเป็นที่ระลึกเพื่อตอบแทนคุณความดีและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล

ข้อ ๔  ถ้าผู้สมควรได้รับมอบเหรียญสนองเสรีชนวายชนม์เสียก่อนได้รับมอบ จะได้มอบแก่ทายาทโดยธรรมคนใดคนหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงความดีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วตามลำดับดังนี้

ลำดับ ๑ คู่สมรส

ลำดับ ๒ บุตรคนใหญ่ของจำนวนบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่

ลำดับ ๓ บิดา

ลำดับ ๔ มารดา

ข้อ ๕  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ข้อ ๖ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
จอมพล ถ. กิตติขจร

หัวหน้าคณะปฏิวัติ


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"