ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๗๐ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ประกาศของคณะปฏิวัติ


ฉบับที่ ๗๐[1]


_______________



โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีมีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมากขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การปกครองและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน คณะปฏิบัติเห็นเป็นการสมควรปรับปรุงท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีเสียใหม่ โดยแยกอำเภอบางอำเภอออกจากการปกครองของจังหวัดอุบลราชธานีจัดตั้งเป็นจังหวัดยโสธร หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้



ข้อ ๑

ให้แยกอำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้ว ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี แล้วรวมจังตั้งเป็นจังหวัดยโสธร มีเขตท้องที่ตามที่อำเภอดังกล่าวมีอยู่ในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ


ข้อ ๒

ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ และสิทธิของจังหวัดอุบลราชธานีในส่วนที่เกี่ยวกับอำเภอตามข้อ ๑ ไปเป็นของจังหวัดยโสธร


ข้อ ๓

ให้บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งซึ่งใช้บังคับอยู่ในอำเภอตามข้อ ๑ คงมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง


ข้อ ๔

การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการภาษีอากร การทะเบียน และการอื่น ๆ ซึ่งปฏิบัติอยู่ในอำเภอตามข้อ ๑ ให้ดำเนินไปเช่นเดิม จนกว่าจะมีการสั่งเปลี่ยนแปลง ส่วนรายได้ที่เก็บได้จากอำเภอตามข้อ ๑ ตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้จัดส่งทางจังหวัดยโสธร


ข้อ ๕

ให้สมาชิกสภาจังหวัดในเขตเลือกตั้งของอำเภอตามข้อ ๑ เป็นสมาชิกสภาจังหวัดยโสธร และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดเข้าเป็นสมาชิกสภาจังหวัดยโสธรให้ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ

ให้สมาชิกภาพแห่งสภาจังหวัดยโสธรตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลงในวาระแรก เมื่อถึงคราวออกตามวาระของสมาชิกสภาจังหวัดอุบลราชธานี


ข้อ ๖

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดเป็นสมาชิกสภาจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มให้ครบจำนวนตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัดกำหนดไว้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ และให้อยู่ในตำแหน่งตามระยะเวลาของสมาชิกสภาพแห่งสภาจังหวัดอุบลราชธานีจะสิ้นสุดลงตามวาระ


ข้อ ๗

ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพุทธศักราช ๒๕๑๕ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ในส่วนที่เกี่ยวกับอำเภอตามข้อ ๑ ไปเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร


ข้อ ๘

ให้โอนข้าราชการและลูกจ้างของอำเภอตามข้อ ๑ ที่สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร


ข้อ ๙

ให้เปลี่ยนชื่อ อำเภอยโสธร เป็น อำเภอเมืองยโสธร


ข้อ ๑๐

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้


ข้อ ๑๑

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นไป



ประกาศ ณ วันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕


จอมพล ถ. กิตติขจร
หัวหน้าคณะปฏิวัติ



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๒๑/ฉบับพิเศษ/หน้า ๑/๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"