ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๔
ประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๒๔ [1]
โดยที่จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านประวัติศาสตร์และการปกครองมาช้านาน แม้ในปัจจุบันการประกอบอาชีพของประชาชนแต่ละจังหวัดก็ได้ดำเนินไปในลักษณะที่เป็นจังหวัดเดียวกัน และการจัดหน่วยราชการสำหรับรับใช้ประชาชนก็ได้กระทำในรูปให้มีหน่วยราชการร่วมกัน เช่น การศาล การรับจดทะเบียนกิจการบางประเภท คณะปฏิวัติจึงเห็นสมควรที่จะรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกันเพื่อการบริหารราชการจะได้ดำเนินไปโดยประหยัดและมีประสิทธิภาพ บังเกิดความเจริญแก่จังหวัดทั้งสองโดยรวดเร็วซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นหนึ่งจังหวัด เรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี
นครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด มีเขตท้องที่ตามที่จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีมีอยู่ในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๒ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดของนครหลวงกรุงเทพธนบุรีให้เรียกว่า ผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และตำแหน่งข้าราชการอื่นที่เกี่ยวกับราชการของนครหลวงกรุงเทพธนบุรีให้เรียกตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยไม่ต้องมีคำว่าจังหวัด
ให้นครหลวงกรุงเทพธนบุรีมีรองผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรีสองคน
ข้อ ๓ สภาจังหวัดของนครหลวงกรุงเทพธนบุรีให้เรียกว่า สภานครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ข้อ ๔ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ และสิทธิของจังหวัดพระนครและของจังหวัดธนบุรี ไปเป็นของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ข้อ ๕ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ งบประมาณ ข้าราชการและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครและองค์การบริหารส่วนจังหวัดธนบุรี ไปเป็นขององค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ข้อ ๖ ให้สมาชิกภาพแห่งสภาจังหวัดพระนครและสภาจังหวัดธนบุรีสิ้นสุดลง
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรจำนวนหนึ่งเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานครหลวงกรุงเทพธนบุรี เพื่อดำเนินกิจการของสภานครหลวงกรุงเทพธนบุรีไปพลางก่อน
ข้อ ๗ ให้บรรดาข้าราชการและลูกจ้างของจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดธนบุรี คงปฏิบัติงานของนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและองค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรีต่อไปตามที่เคยปฏิบัติ ณ สถานที่เดิมจนกว่าจะมีการสั่งเปลี่ยนแปลง
การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการภาษีอากร การทะเบียน การอื่น ๆ รวมทั้งการติดต่อประสานงาน ให้ดำเนินไปเช่นเดิมจนกว่าจะมีการสั่งเปลี่ยนแปลง
ข้อ ๘ ให้บรรดาข้อบัญญัติจังหวัด ระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง หรือประกาศขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครและขององค์การบริหารส่วนจังหวัดธนบุรี ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันประกาศให้ใช้บังคับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ คงใช้บังคับได้ต่อไปในเขตท้องที่เดิมจนกว่าองค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรีจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ข้อ ๙ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย คำสั่ง ระเบียบหรือข้อบังคับใดอ้างถึงจังหวัดพระนครและหรือจังหวัดธนบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดธนบุรี ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คำสั่ง ระเบียบหรือข้อบังคับนั้นอ้างถึงนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือองค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ ๑๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม ๘๘/ตอนที่ ๑๔๔/หน้า ๘๑๖/๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๔
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"