ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514

จาก วิกิซอร์ซ
ประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๓

ตามที่ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติว่า คณะปฏิวัติ ซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไว้เรียบร้อยแล้วนั้น เพื่อความเรียบร้อยในการปกครองประเทศ คณะปฏิวัติจึงให้

๑.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ สิ้นสุดลง

๒.วุฒิสภา สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรี สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ

๓.องคมนตรีคงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไป

๔.ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายและประกาศคณะปฏิวัติ

๕.มีกองบัญชาการคณะปฏิวัติ โดยจอมพล ถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือน และเป็นผู้รักษาสถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร

๖.ให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบงานในกระทรวง และบรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า เป็นอำนาจของรัฐมนตรี ให้เป็นอำนาจของปลัดกระทรวง และให้ปฏิบัติราชการโดยขึ้นตรงต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือผู้ซึ่งคณะปฏิวัติมอบหมาย ราชการใดที่มิใช่ราชการประจำตามปกติ หรือที่เป็นปัญหาหรือเป็นนโยบาย หรือเกี่ยวพันกับกระทรวงอื่น ให้ปลัดกระทรวงเสนอขอความวินิจฉัยต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติโดยผ่านทางหัวหน้ากองอำนวยการ สำหรับข้าราชการทหาร ให้ผ่านทางหัวหน้ากองอำนวยการฝ่ายทหาร สำหรับข้าราชการพลเรือน ให้ผ่านทางหัวหน้ากองอำนวยการฝ่ายพลเรือน

๗.ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เลขาธิการ รองผู้อำนวยการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ผู้ช่วยเลขาธิการ ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองในส่วนราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ คงดำรงตำแหน่งต่อไป และให้หัวหน้าส่วนราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการโดยขึ้นตรงต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือผู้ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิวัติมอบหมาย

อนึ่ง คณะปฏิวัติขอประกาศว่า คณะปฏิวัติจะยังไม่ทำการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ทั้งหลายอาจพิมพ์ออกจำหน่ายได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจข่าวก่อน เพราะคณะปฏิวัติเชื่อใจว่า หนังสือพิมพ์ทั้งหลายจะให้ความร่วมมือแก่การปฏิวัติครั้งนี้ ด้วยวิธีเสนอข่าวความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ตามที่เป็นจริงและด้วยความเป็นธรรม ให้ความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจในทางที่จะช่วยกันสร้างสรรประเทศและประชาชน การกระทำใด ๆ ของหนังสือพิมพ์ที่เป็นไปในทางก่อเรื่องร้าย เสนอความเท็จแก่ประชาชน หรือปราศจากความเป็นธรรม จะถูกยับยั้งด้วยอำนาจปฏิวัติ ซึ่งจำเป็นสำหรับความปลอดภัยของประเทศชาติ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์ที่ทำตนเป็นปากเสียงของชนต่างชาติ ออกเสียงแทน หรือเชิดชูลัทธิที่เป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือพยายามยุแยกให้แตกสามัคคีในชาติโดยทางตรง ทางอ้อม หรือด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องประสพการปราบปรามอย่างเด็ดขาด

  • ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔
  • จอมพล ถ. กิตติขจร
  • หัวหน้าคณะปฏิวัติ

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก