ประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

จาก วิกิซอร์ซ

ประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูป

ระบบสถาบันการเงิน

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินประเภท

ศิลปวัตถุ วัตถุมงคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่า

ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะ

หรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ (๓) แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินประเภท ศิลปวัตถุ วัตถุมงคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่า ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  คำนิยามในประกาศนี้

เว้นแต่ข้อความจะแสดงเป็นอย่างอื่น

“ปรส.” หมายความว่า องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินที่คณะกรรมการ ปรส. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินการได้ และได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการแทนสถาบันดังกล่าว

“พรก.” หมายความว่า พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐

“คณะกรรมการตามมาตรา ๓๐” หมายความว่า คณะกรรมการที่คณะกรรมการ ปรส. ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา ๓๐ แห่ง พรก. เพื่อดำเนินการแทนสถาบันการเงินได้ทุกประการและทำการชำระบัญชีของสถาบันการเงิน

“ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐” หมายความว่า ประธานของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๐

“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินประเภทศิลปวัตถุ วัตถุมงคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่า ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย ปรส.

“ศิลปวัตถุ” หมายความว่า วัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปะ เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ภาพจำลอง รูปปั้น รูปแกะสลัก รูปหล่อ รูปจำลอง เป็นต้น และให้รวมถึงอุปกรณ์และสิ่งประกอบของวัตถุดังกล่าวด้วย

“วัตถุมงคล” หมายความว่า วัตถุที่เป็นสิ่งเคารพและสักการะของบุคคล

“เหรียญ” หมายความว่า เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึกซึ่งผลิตในวโรกาสหรือโอกาสพิเศษ เหรียญกษาปณ์เก่าที่เลิกใช้หรือหยุดผลิตแล้ว หรือเหรียญที่มีลักษณะพิเศษอันเป็นที่นิยมของนักสะสม

“ธนบัตร” หมายความว่า ธนบัตรที่ระลึกซึ่งผลิตในวโรกาสหรือโอกาสพิเศษ ธนบัตรเก่าที่เลิกใช้หรือหยุดผลิตแล้ว หรือธนบัตรที่มีลักษณะพิเศษอันเป็นที่นิยมของนักสะสม เช่น ฉบับที่มีเลขเดียวกันหรือเรียงกัน เป็นต้น

“วัตถุมีค่า” หมายความว่า ของเก่าหรือของอันเป็นที่นิยมของนักสะสม หรือทรัพย์สินที่มีคุณค่าหรือราคาซึ่งมิได้รวมอยู่ในความหมายของศิลปวัตถุ วัตถุมลคล เหรียญ ธนบัตร เช่น อัญมณี เครื่องเงิน เครื่องทอง เขาสัตว์ กระจกประดับ เครื่องแก้วเจียระไน นาฬิกาเก่า เป็นต้น

“ประมูล” หมายความว่า จัดให้มีการประมูลโดยวิธีขายทอดตลาดหรือแข่งขันราคา

“ขาย” หมายความว่า การขายตามวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

“ผู้ทำการ” หมายความว่า ผู้ดำเนินการจัดประมูลหรือผู้ที่จัดให้มีการแข่งขันราคาตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในประกาศนี้

“ผู้ประมูล” หมายความว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลหรือผู้เข้าร่วมการแข่งขันราคา

“ผู้ซื้อ” หมายความว่า ผู้ที่ประมูลได้หรือแข่งขันราคาได้

“ราคาขาย” หมายความว่า ราคาที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ

“ราคากลาง” หมายความว่า ราคาที่กำหนดโดยผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ โดยคำนึงถึงราคาตามบัญชี ราคาทุน ราคาตลาด คุณค่าทางศิลปะ และคุณค่าอันควรตามประเพณีนิยมของทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ประกอบ ราคาดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ ก่อนทำการประมูล หรือเป็นราคาที่กำหนดขึ้นตามข้อ ๔.๑.๔ หรือ ๔.๒.๕ แล้วแต่กรณี

ข้อ ๒  หลักเกณฑ์

การขายทรัพย์สินประเภทศิลปวัตถุ วัตถุมงคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่าของสถาบันการเงินจะกระทำได้โดยวิธีเปิดประมูลโดยเปิดเผย หรือแข่งขันราคา และให้ ปรส. ได้รับค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๑ ของราคาที่ขายได้

สถาบันการเงินที่จะขายทรัพย์สิน ต้องประกาศลงหนังสือพิมพ์อย่างน้อย ๑ ฉบับ เพื่อแจ้งวัน เวลา สถานที่และวิธีประมูลก่อนวันประมูลภายในระยะเวลาตามสมควร

ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบรายการทรัพย์สินและราคากลางของทรัพย์สินที่จะทำการประมูลหรือแข่งขันราคาก่อนทำการประมูล

ข้อ ๓  เงื่อนไข

๓.๑ ผู้ทำการ

๓.๑.๑ ผู้ทำการจะต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพการขายทอดตลาดและค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า และ/หรือ ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุที่ไม่ได้ห้ามทำการค้าตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ/หรือ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และได้วางหลักประกันการประมูลตามเกณฑ์ที่ ปรส. กำหนด

(๒) สถาบันการเงินเจ้าของทรัพย์สินโดยประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ อาจมอบหมายให้บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นผู้ทำการแทนสถาบันการเงินนั้น  ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

๓.๑.๒ ผู้ทำการตามข้อ ๓.๑.๑ (๑) จะมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนจากการทำการประมูลทรัพย์สินให้กับสถาบันการเงิน ตามที่ระบุในประกาศนี้เท่านั้น

๓.๑.๓ ผู้ทำการต้องจัดระบบรักษาความปลอดภัยและประกันภัยตามสภาพแห่งทรัพย์สิน โดยผู้ทำการเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายระบบรักษาความปลอดภัย ค่าประกันภัย รวมทั้งค่าขนส่งด้วย

๓.๑.๔ ให้สถาบันการเงินเป็นผู้ว่าจ้างผู้ทำการโดยประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้าง หรือเป็นผู้มอบหมายผู้ทำการแทน

๓.๑.๕ ผู้ทำการต้องพิจารณาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจของทางราชการเข้าตรวจทรัพย์สินก่อนการประมูลว่าทรัพย์สินดังกล่าวสามารถนำออกประมูลได้หรือไม่ ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่จะประมูล แล้วแต่กรณี เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

๓.๒ ผู้ประมูลและผู้ซื้อ

๓.๒.๑ ผู้ประมูลอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ต้องมิใช่บุคคลดังต่อไปนี้

(๑) เป็นกรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา พนักงานของ ปรส. รวมถึงผู้ปฏิบัติงานให้แก่ ปรส.

(๒) เป็นกรรมการตามมาตรา ๓๐ ของสถาบันการเงินนั้น

(๓) เป็นผู้จัดการเฉพาะกิจหรือที่ปรึกษาเฉพาะกิจของสถาบันการเงินนั้น

(๔) ผู้ทำการหรือตัวแทนของผู้ทำการ

๓.๒.๒ ผู้ประมูลมีสิทธิตรวจสอบสภาพทรัพย์สินได้ตามประเพณีปฏิบัติของการประมูล หรือตามที่คณะอนุกรรมการเห็นสมควร แต่ต้องไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นเสียหายหรือเสื่อมค่าลง

๓.๒.๓ ผู้ประมูลมีสิทธิได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินจากผู้ทำการก่อนการประมูล การประมูลเป็นไปตามสภาพของทรัพย์สินไม่ว่าจะเห็นประจักษ์หรือไม่ โดยสถาบันการเงินและผู้ทำการไม่รับรองและไม่รับผิดชอบต่อการรอนสิทธิ สภาพของทรัพย์สิน และข้อมูลที่ผู้ทำการได้แสดงไว้

๓.๒.๔ ผู้ซื้อต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียวซึ่งค่าธรรมเนียมภาษี ค่าขนส่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบและการรับมอบ รวมทั้งการโอนและการรับโอนกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สิน

๓.๒.๕ ผู้ซื้อต้องรับมอบทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นภายในเวลา ๔ วันทำการ นับจากวันที่สถาบันการเงินนั้นได้รับชำระราคาขายครบถ้วนแล้ว หากเกินกำหนดเวลาดังกล่าวให้ผู้ทำการหรือสถาบันการเงิน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการผิดนัดในอัตราร้อยละ ๑๐ ของราคาขาย แต่ไม่เกิน ๕๐๐ บาท ต่อรายการต่อวัน โดยผู้ทำการหรือสถาบันการเงินนั้นจะไม่รับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่อง การสูญหาย และ/หรือ ความเสียหายใด ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากผู้ซื้อไม่มารับมอบทรัพย์สิน ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ รวมทั้งเหตุสุดวิสัยภายในกำหนด ๓๐ วัน นับจากวันที่ชำระราคาขายครบถ้วน ให้ถือว่าผู้ซื้อได้สละสิทธิในทรัพย์สินนั้น และไม่ติดใจเรียกร้องเอาคืนเงินที่ชำระแล้วทั้งหมด รวมทั้งยินยอมให้สถาบันการเงินมีสิทธินำทรัพย์สินนั้นออกประมูลใหม่

๓.๒.๖ ผู้ประมูลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เข้าประมูล เช่น กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นต้น

๓.๓[๑] ราคาที่ประมูลขายจะต้องไม่ต่ำกว่าราคากลาง

๓.๔ ค่าจ้าง ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า หรือ ค่าตอบแทน

๓.๔.๑ ปรส. มีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียม โดยสถาบันการเงินเจ้าของทรัพย์สินต้องโอนเงินค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๑ ของราคาที่ขายได้เข้าบัญชีธนาคารของ ปรส. ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่สถาบันการเงินได้รับเงินจากผู้ซื้อครบถ้วน

๓.๔.๒[๒] สถาบันการเงินเจ้าของทรัพย์สินต้องชำระค่าจ้าง ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนการดำเนินการให้แก่ผู้ทำการตามข้อ ๓.๑.๑ (๑) ตามอัตราที่คณะอนุกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐

ทั้งนี้ ปรส./ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ อาจกำหนดให้ผู้ทำการได้รับค่าจ้าง ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนโดยวิธีการอื่น โดยจะประกาศวิธีการดังกล่าวก่อนวันประมูล

ข้อ ๔ วิธีการ

๔.๑ วิธีประมูล

๔.๑.๑ ผู้ทำการจะเปิดทำการประมูลตามวันและเวลาประมูลของผู้ทำการ และ/หรือ ตามวันและเวลาประมูลที่ ปรส. กำหนด แล้วแต่กรณี โดยผู้ทำการจะประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการประมูลทรัพย์สินของสถาบันการเงินในที่เปิดเผย ณ สถานที่ทำการประมูลให้ผู้ประมูลทุกรายทราบก่อนเริ่มการประมูลและให้ถือว่าผู้ประมูลทุกรายรับทราบและตกลงยินยอมกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประมูลที่กำหนดในประกาศนี้ทุกประการ

๔.๑.๒ ให้เริ่มการประมูลจากราคากลาง

๔.๑.๓ กรณีที่มีผู้ประมูลเสนอราคามากกว่า ๑ ราย ผู้ทำการจะปรับราคาขึ้นครั้งละไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ ของราคากลาง หรือตามอัตราที่คณะอนุกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ จนกว่าจะมีผู้ประมูลเสนอราคาสูงสุดรายสุดท้าย และเมื่อผู้ทำการแสดงความตกลงด้วยการเคาะขายหรือให้สัญญาณหรือด้วยกิริยาอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดตามจารีตประเพณีในการประมูล ให้ถือว่าผู้ประมูลที่เสนอราคาสูงสุดรายสุดท้ายเป็นผู้ซื้อ

๔.๑.๔ กรณีที่ไม่มีผู้ประมูลเสนอราคา หรือไม่มีผู้ประมูลเสนอราคาในการขายทรัพย์สินซ้ำตามข้อ ๔.๒.๕ เป็นเหตุให้ผู้ทำการไม่สามารถแสดงความตกลงด้วยการเคาะขายหรือให้สัญญาณ หรือด้วยกิริยาอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดตามจารีตประเพณีในการประมูล ให้ผู้ทำการนำทรัพย์สินนั้นเสนอต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาราคากลางอีกครั้ง โดยราคากลางใหม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ และให้ผู้ทำการนำทรัพย์สินนั้นออกประมูลใหม่

๔.๒[๓] วิธีการชำระราคา

เว้นแต่ ปรส. โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ จะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่น

๔.๒.๑ กรณีที่ทรัพย์สินราคาไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทต่อรายการ ผู้ซื้อต้องชำระราคาเป็นเงินสด หรือบัตรเครดิตโดยผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการใช้บัตร หรือเช็คธนาคาร (แคชเชียร์เช็ค) หรือวิธีการอื่นที่ ปรส. อนุญาตเป็นรายกรณี ทั้งจำนวนในวันที่ประมูลได้

๔.๒.๒ กรณีที่ทรัพย์สินราคาสูงกว่า ๑๐,๐๐๐ บาทต่อรายการ ให้ผู้ซื้อทำสัญญาซื้อขายและวางมัดจำเป็นเงินสด หรือบัตรเครดิตโดยผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการใช้บัตร หรือเช็คธนาคาร (แคชเชียร์เช็ค) หรือวิธีการอื่นที่ ปรส. อนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งมีมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของราคาขาย แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ บาท และผู้ทำการตามข้อ ๓.๑.๑ (๑) จะต้องนำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินภายในวันทำการแรกของธนาคารนับจากวันที่ประมูลได้ พร้อมทั้งนำส่งหลักฐานการโอนเงินแก่สถาบันการเงินนั้นโดยไม่ชักช้า

๔.๒.๓ ภายใน ๗ วันทำการของธนาคารนับจากวันที่ประมูลได้ ผู้ซื้อต้องชำระราคาส่วนที่เหลือทั้งหมดของราคาขาย โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของสถาบันการเงินเจ้าของทรัพย์สินที่ผู้ทำการได้แจ้งไว้พร้อมนำส่งหลักฐานการโอนเงินแก่สถาบันการเงินนั้นโดยไม่ชักช้า หากเกินกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ซื้อยินยอมให้สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกเก็บค่าเสียหายจาการผิดนัดในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของราคาขายต่อทรัพย์สินหนึ่งรายการต่อวัน หรือตามอัตราที่จะได้กำหนดขึ้นโดยความเห็นชอบของประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ และได้ประกาศให้ทราบล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม หากผู้ซื้อไม่ชำระเงินตามวรรคก่อนไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ รวมทั้งเหตุสุดวิสัยภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่ประมูลได้ ให้ถือว่าผู้ซื้อได้สละสิทธิในทรัพย์สินนั้น และไม่ติดใจเรียกร้องเอาคืนเงินที่ชำระแล้วทั้งหมด

๔.๒.๔ กรณีที่ผู้ซื้อมิได้ชำระราคาส่วนที่เหลือและมิได้แจ้งเหตุขัดข้องอันเป็นกรณีสุดวิสัยแก่ผู้ทำการภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ ๔.๒.๓ วรรคแรก ให้สถาบันการเงินมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ โดยชำระค่าจ้าง ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนตามที่ระบุไว้ในข้อ ๓.๔.๒ แก่ผู้ทำการ

๔.๒.๕ ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามข้อ ๔.๒.๒ หรือ ๔.๒.๓ และไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องตามข้อ ๔.๒.๔ ให้ถือว่าผู้ซื้อได้สละสิทธิในทรัพย์สินนั้น และยินยอมให้ผู้ทำการนำทรัพย์สินนั้นออกขายซ้ำอีกครั้ง โดยให้ใช้ราคากลางใหม่ที่ผ่านการพิจารณาได้รับความเห็นชอบจากประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐

ข้อ ๕  การอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ในประกาศนี้ ให้สถาบันการเงินเสนอต่อคณะกรรมการ ปรส. เพื่อพิจารณา

ข้อ ๖[๔]  ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

อมเรศ  ศิลาอ่อน

ประธานกรรมการ

องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน

ประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินประเภทศิลปวัตถุ วัตถุมลคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่า ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม[๕]


[๑] ข้อ ๓.๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขายทรัพย์สินประเภทศิลปวัตถุ วัตถุมลคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่า ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

[๒] ข้อ ๓.๔.๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขายทรัพย์สินประเภทศิลปวัตถุ วัตถุมลคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่า ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

[๓] ข้อ ๔.๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขายทรัพย์สินประเภทศิลปวัตถุ วัตถุมลคล เหรียญ ธนบัตร และวัตถุมีค่า ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

[๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนพิเศษ ๒๓ ง/หน้า ๑๑/๑๘ มีนาคม ๒๕๔๑

[๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนพิเศษ ๕๔ ง/หน้า ๓๗/๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"