ประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ ๒๕๔๑

จาก วิกิซอร์ซ

ประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูป

ระบบสถาบันการเงิน

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์

และเงินลงทุนของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะ

หรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ (๓) แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์และเงินลงทุนของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  คำนิยามในประกาศนี้

เว้นแต่ข้อความจะแสดงเป็นอย่างอื่น

“ปรส.” หมายความว่า องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินที่คณะกรรมการ ปรส. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้และได้ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา ๓๐ เพื่อดำเนินการแทนสถาบันดังกล่าว

“พรก.” หมายความว่า พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐

“คณะกรรมการตามมาตรา ๓๐” หมายความว่า คณะกรรมการที่คณะกรรมการ ปรส. ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา ๓๐ แห่ง พรก. เพื่อดำเนินการแทนได้ทุกประการและทำการชำระบัญชีของสถาบันการเงิน

“ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐” หมายความว่า ประธานของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๐

“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมาการจำหน่ายหลักทรัพย์และเงินลงทุนซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย ปรส.

“หลักทรัพย์” หมายความว่า หลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕

“หลักทรัพย์จดทะเบียน” หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

“หลักทรัพย์ไม่จดทะเบียน” หมายความว่า หลักทรัพย์อื่นนอกเหนือจากหลักทรัพย์จดทะเบียน หลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหลักทรัพย์รัฐบาล

“หลักทรัพย์ต่างประเทศ” หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ออกภายใต้กฎหมายต่างประเทศหรือจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

“หลักทรัพย์รัฐบาล” หมายความว่า ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรที่ออกโดยองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเฉพาะ หรือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเฉพาะ

“เงินลงทุน” หมายความว่า ส่วนที่ลงทุนในห้างหุ้นส่วน รวมถึงการลงทุนหรือร่วมทุนแบบอื่นที่ไม่อยู่ในลักษณะของการลงทุนในหลักทรัพย์

“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในประเทศ ซึ่งรวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์กรุงเทพฯ ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้

“ประมูล” หมายความว่า การประมูลโดยวิธีการยื่นซองประกวดราคาและ/หรือการแข่งขันราคาตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ระบุไว้ในประกาศนี้ หรือตามที่ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ จะประกาศเป็นครั้งคราว

“ผู้จัดการขาย” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ ให้เป็นผู้ขายหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนตามประกาศนี้

“ผู้ประมูล” หมายความว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลหรือผู้เข้าร่วมการแข่งขันราคา

“ผู้ซื้อ” หมายความว่า ผู้ที่ประมูลได้ หรือผู้ที่แข่งขันราคาได้

“ราคากลาง” หมายความว่า ราคาหรือช่วงของราคาของหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ และได้รับความเห็นชอบจากประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ โดยวิธีการประเมินราคากลางให้คำนึงถึงราคาตลาดในปัจจุบัน และ/หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน และ/หรือ มูลค่าและผลตอบแทนในอนาคต และ/หรือ ความเสี่ยงในการถือครองหลักทรัพย์หรือเงินลงทุน และ/หรือ ปัจจัยอื่น ๆ ตามที่คณะอนุกรรมการเห็นสมควรเป็นเกณฑ์ประกอบการประเมิน

“ราคาขาย” หมายความว่า ราคาที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ

“สถาบันการเงินกลุ่ม ๑๖” หมายความว่า สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐

“สถาบันการเงินกลุ่ม ๔๐” หมายความว่า สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ลงวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ยกเว้นสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้

ข้อ ๒  หลักเกณฑ์

๒.๑ กรณีหลักทรัพย์รัฐบาลหรือหลักทรัพย์จดทะเบียน ให้เสนอขายโดยวิธีการประมูลหรือขายผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการของตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง หรือวิธีการอื่นตามที่กำหนดโดยประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ ซึ่งผ่านการพิจารณาเสนอของคณะอนุกรรมการ

๒.๒ กรณีหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือเงินลงทุนในต่างประเทศ ให้เสนอขายผ่านทางศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องหรือขายโดยวิธีการที่กำหนดโดยกฎหมายของประเทศที่ออกหลักทรัพย์ หรือเงินลงทุนนั้นตั้งอยู่ หรือวิธีการอื่นที่กำหนดโดยประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ ซึ่งผ่านการพิจารณาเสนอของคณะอนุกรรมการ

๒.๓ กรณีหลักทรัพย์ไม่จดทะเบียนหรือเงินลงทุน ซึ่งไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัด ข้อห้าม หรือเงื่อนไขในการโอน ซึ่งกำหนดไว้ในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นหรือผู้ร่วมทุนรายอื่น หรือข้อบังคับของผู้ออกหลักทรัพย์ ให้เสนอขายโดยวิธีการประมูลหรือวิธีการอื่น ตามที่กำหนดโดยประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ ซึ่งผ่านการพิจารณาเสนอของคณะอนุกรรมการ

๒.๔ ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ ต้องเห็นชอบรายการหลักทรัพย์และเงินลงทุน รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลก่อนวันประมูล

ข้อ ๓  การกำหนดราคา

ให้ผู้จัดการขายเสนอราคากลางของหลักทรัพย์และเงินลงทุนที่จะประมูลหรือขายให้กับคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอให้ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ ให้ความเห็นชอบโดยการพิจารณาและให้ความเห็นชอบดังกล่าวนั้นให้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่สถาบันการเงินจะได้รับเป็นสำคัญ

ข้อ ๔  ผู้ประมูลและผู้ซื้อ

๔.๑ ภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุไว้ในข้อ ๔.๒ ผู้ประมูลอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ก็ได้ แต่ต้องมิใช่บุคคลดังต่อไปนี้

(ก) เป็นกรรมการ อนุกรรมการ พนักงานของ ปรส. รวมถึงผู้ปฏิบัติงานให้แก่ ปรส.

(ข) เป็นกรรมการตามมาตรา ๓๐ ของสถาบันการเงินนั้น

(ค) เป็นผู้จัดการเฉพาะกิจหรือที่ปรึกษาเฉพาะกิจของสถาบันการเงินนั้น

(ง) เป็นผู้จัดการขาย หรือ

(จ) บุคคลอื่นที่ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ กำหนด

๔.๒ ผู้ประมูลหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนต้องเป็น

(ก) ผู้ที่สามารถรับโอนหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนที่เสนอประมูลได้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนที่เสนอประมูล และ

(ข) หากการรับโอนหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนดังกล่าว จะทำให้ผู้ประมูลเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทอื่นที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้องมีคุณสมบัติหรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ผู้ประมูลต้องมีคุณสมบัติหรือได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานอื่นที่กฎหมายกำหนด ตามแต่กรณี

๔.๓ ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ อาจกำหนดคุณสมบัติของผู้ประมูลเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

๔.๔ ผู้ประมูลมีหน้าที่จะต้องตรวจสอบก่อนเข้าประมูลว่าตนเป็นผู้ที่สามารถรับโอนหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนที่เสนอประมูลได้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขทั้งปวงของหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนที่เสนอประมูล

ในกรณีที่ผู้ซื้อรายใดไม่สามารถรับโอนหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนที่ประมูลได้มาไม่ว่าในกรณีใด ๆ ภายในเวลาที่ประธานกรรมการตามมาตรา ๓๐ กำหนด ผู้จัดการขายมีสิทธินำหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนดังกล่าวออกประมูลอีกครั้ง  ทั้งนี้

(ก) หากผู้ซื้อได้ชำระเงินให้แก่สถาบันการเงินแล้ว สถาบันการเงินจะคืนเงินค่าซื้อหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนให้กับผู้ซื้อเมื่อได้รับชำระราคาจากผู้ซื้อรายใหม่ครบถ้วน

(ข) ในกรณีที่การประมูลครั้งใหม่ได้ราคาสูงสุดน้อยกว่าการประมูลครั้งก่อน ผู้ซื้อรายก่อนต้องรับผิดชอบในส่วนต่างในทุกกรณีไม่ว่าผู้ซื้อจะได้ชำระเงินให้แก่สถาบันการเงินแล้วหรือไม่

(ค) ผู้ซื้อรายก่อนจะต้องชำระเบี้ยปรับให้กับผู้จัดการขายในอัตราร้อยละสองของราคาขายในครั้งก่อน โดยอาจหักจากเงินค่าซื้อหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนที่จะคืนให้ตามข้อ (ก)

ข้อ ๕  วิธีการ

๕.๑ วิธีการประมูล

๕.๑.๑ ให้ผู้ประมูลยื่นเอกสารการประมูลตาม รูปแบบ วัน และเวลาที่ผู้จัดการขายกำหนด

๕.๑.๒ ผู้ประมูลมีสิทธิได้รับข้อมูลและเงื่อนไขเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนนั้นเท่าที่ผู้จัดการขายหรือสถาบันการเงินจะจัดหาให้ได้ก่อนการประมูล

๕.๒ วิธีการชำระราคา

๕.๒.๑ กรณีจำหน่ายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์ การชำระราคาให้เป็นไปตามวิธีการและระเบียบของการจำหน่ายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์นั้น

๕.๒.๒ กรณีจำหน่ายหลักทรัพย์โดยวิธีการประมูลหรือวิธีอื่น ผู้ซื้อต้องชำระราคาทั้งจำนวนรวมถึงค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในวันโอนกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์นั้น แต่ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดโดยผู้จัดการขาย

๕.๒.๓ ผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ภาษี อากรแสตมป์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการโอนและการรับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุน

๕.๒.๔ ในการชำระราคา ให้ใช้เงินสดและ/หรือเช็คที่ธนาคารเป็นผู้ออก (แคชเชียร์เช็ค หรือดร๊าฟท์) สั่งจ่ายเข้าบัญชีของสถาบันการเงินนั้น และ/หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของสถาบันการเงินนั้น โดยผู้ซื้อต้องแสดงหลักฐานการโอนเงินแก่สถาบันการเงินนั้น  ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะโอนกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์และเงินลงทุนให้แก่ผู้ซื้อเมื่อสถาบันการเงินได้รับชำระเงินโดยครบถ้วน

๕.๒.๕[๑] ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมการประมูลประสงค์จะชำระราคาด้วยวิธีการอื่น ให้เสนอต่อคณะกรรมการ ปรส. เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณีไป

๕.๓ ผู้ประมูลจะต้องจัดให้มีหลักประกันการประมูลตามที่จะกำหนดในการประมูลแต่ละครั้ง

๕.๔ ให้สถาบันการเงินเจ้าของหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนโอนเงินค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๑ ของราคาขายเข้าบัญชีธนาคารของ ปรส. ภายใน ๕ วันทำการ นับแต่วันที่สถาบันการเงินนั้นได้รับการชำระราคาขาย

ข้อ ๖  ให้ผู้จัดการขายจัดทำรายงานสรุปผลเกี่ยวกับหลักทรัพย์และเงินลงทุนที่ได้จำหน่ายให้กับคณะกรรมการตามมาตรา ๓๐ ทุกวันที่ ๑ และ ๑๖ ของทุกเดือน

ข้อ ๗  การอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ในประกาศนี้ ให้เสนอต่อคณะกรรมการ ปรส. เพื่อพิจารณา

ข้อ ๘[๒]  ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ  ๒๕๔๑

อมเรศ  ศิลาอ่อน

ประธานกรรมการ

องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน

ประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสภาบันการเงิน เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์และเงินลงทุน ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะ หรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม[๓]


[๑] ข้อ ๕.๒.๕ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสภาบันการเงิน เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์และเงินลงทุน ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน ๕๖ ราย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

[๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนพิเศษ ๒๕ ง/หน้า ๖/๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑

[๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนพิเศษ ๒๘ ง/หน้า ๗๐/๒๑ เมษายน ๒๕๔๒


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"