ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ฉบับที่ 30

จาก วิกิซอร์ซ

เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๐๕ ก

๓ ตุลาคม ๒๕๔๙
หน้า ๑๗
ราชกิจจานุเบกษา

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ฉบับที่ ๓๐
เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๓ เรื่อง การตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ นั้น โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้กว้างขวางขึ้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๓ เรื่อง การตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙

ข้อให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

(๑) นายกล้าณรงค์ จักทิก เป็นกรรมการ
(๒) นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นกรรมการ
(๓) คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นกรรมการ
(๔) นายจิรนิติ หะวานนท์ เป็นกรรมการ
(๕) นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นกรรมการ
(๖) นายบรรเจิต สิงคะเนติ เป็นกรรมการ
(๗) นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ เป็นกรรมการ
(๘) นายสวัสดิ์ โชติพานิจ เป็นกรรมการ
(๙) นายสัก กอแสงเรือง เป็นกรรมการ
(๑๐) นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ เป็นกรรมการ
(๑๑) นายอุดม เฟื่องฟุ้ง เป็นกรรมการ
(๑๒) นายอำนวย ธันธรา เป็นกรรมการ

ในกรณีที่มีกฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่การได้รับแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการตรวจสอบ

ให้กรรมการตรวจสอบตามวรรคหนึ่งเลือกกรรมการด้วยกันเองคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และมีอำนาจแต่งตั้งเลขานุการคนหนึ่ง และผู้ช่วยเลขานุการตามความจำเป็น

ในกรณีที่มีกรรมการว่างลง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ต้องมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนกรรมการที่ว่างลง

ข้อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรับผิดชอบงานด้านธุรการของคณะกรรมการตรวจสอบ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบมอบหมาย

ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมมือดำเนินการตามที่คณะกรรมการตรวจสอบร้องขอ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูล บุคลากร หรือการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบ

ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดหาสถานที่ทำการของคณะกรรมการตรวจสอบตามความเหมาะสม และในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบร้องขอ ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐมาช่วยปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดให้

ข้อให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณให้กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเจียดจ่ายจากเงินเหลือจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบ ในกรณีที่ไม่เพียงพอแก่ค่าใช้จ่าย ให้คณะรัฐมนตรีสนับสนุนงบประมาณตามที่จำเป็น

ค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบ และค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี

ข้อให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

(๒)ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื่อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

(๓)ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

(๔)ตรวจสอบการการะทำของบุคคลใด ๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ในกรณีที่เห็นว่า การดำเนินการในเรื่องที่ตรวจสอบมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือมีพฤติการณ์ว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น คู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศนี้ นอกจากอำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย

(๑)พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม

(๒)พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(๓)ประมวลรัษฎากร โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรเฉพาะที่เกี่ยวกับการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งวรรคสอง และวรรคสาม คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูล หรือเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด และให้มีอำนาจเรียกสำนวนหรือเรื่องที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หรือเรียกสำนวนการสอบสวนหรือการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถ้ามี มาพิจารณา และให้ใช้เป็นสำนวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยจะสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่มีเรื่องเดียวกันอยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือคณะกรรมการธุรกรรม ให้ประสานงานเพื่อดำเนินการตามควรแก่กรณี

ข้อให้คณะกรรมการตรวจสอบแจ้งรายชื่อบุคคลตามข้อ ๕ แก่สถาบันการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมที่ดิน กรมสรรพากร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้นั้น เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน และการเสียภาษีอากร ตลอดจนการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับบุคคลตามข้อ ๕ คู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้น ให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบภายในเวลาและตามวิธีการที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนด

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ส่งข้อมูลและเอกสารให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบได้

มิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับการแจ้งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง

ข้อในกรณีที่บุคคลซึ่งถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามข้อ ๕ ไม่แจ้งข้อมูลตามข้อ ๖ หรือไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ถูกยึด ยักย้าย จำหน่าย หรือจ่ายโอนทรัพย์สินที่ถูกอายัด ให้ถือว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบ และเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลตามข้อ ๖ ไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดตามข้อ ๖ หากมีกรณีเกิดความเสียหายขึ้นจากการที่ไม่ดำเนินการนั้นให้หน่วยงานหรือ บุคคลดังกล่าวรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ข้อบรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามข้อ ๕ ถ้าเจ้าของทรัพย์สินพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดได้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น

ข้อในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้ถือว่า มติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง แต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าบุคคลใดทำผิดกฎหมาย และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้น

ข้อ๑๐ในการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการตามที่มอบหมายได้

ข้อ๑๑ให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตามประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งและการตรวจสอบหรือสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนคืนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี

ข้อ๑๒การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๓ เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ โดยประกาศฉบับนี้ ไม่กระทบกระเทือนการกระทำใด ๆ ที่คณะกรรมการตรวจสอบได้กระทำไปก่อนที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
พลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"