ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๔/๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ ๑๐๔/๒๕๕๗
เรื่อง การกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น




เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความโปร่งใส และอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินและการคลังที่ดี รวมทั้งเป็นการป้องกันและปราบปรามไม่ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ นโยบาย ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างเคร่งครัด

ข้อ ๒ การติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามข้อ ๑ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบแบแผนของทางราชการ โดยมุ่งเน้นแผนงานหรือโครงการประเภทงบลงทุนที่เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม หากในการตรวจสอบนั้นปรากฎว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดมีพฤติการณ์การใช้จ่ายงบประมาณหรือการบริหารงบประมาณในเรื่องใดไปในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว

ข้อ ๓ ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอกำกับดูแลและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปโดยเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นได้เห็นชอบราคากลางงานก่อสร้างโครงการใดที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไปแล้ว ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้ตั้งงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างนั้น รายงานข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบราคากลาง ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภออาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการหรือมอบหมายผู้ที่มีความรู้และความชำนาญด้านการประมาณราคาก่อสร้างให้ไปตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นได้ตามความเหมาะสม
(๒) หากมีข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างใดมีการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่โปร่งใส หรือมีลักษณะที่น่าจะเป็นการดำเนินงานที่ส่อไปในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการตามจำนวนที่เห็นสมควรเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงแสดงข้อเท็จจริง ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภออาจมีคำสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างนั้นไว้ก่อน เพื่อให้มีการตรวจสอบ ทบทวน หรือแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการปรากฎว่าการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้น แล้วดำเนินการตามกฎหมายแก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่ได้กระทำการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบนั้นอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
(๓) การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๓๕ และต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอแล้วแต่กรณี เว้นแต่กรณีการป้องกันหรือบรรเทาสาธารณภัยเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน และกรณีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจซึ่งปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ



๑๐๓/๒๕๕๗ ขึ้น ๑๐๕/๒๕๕๗

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"