ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๘/๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ ๙๘/๒๕๕๗
เรื่อง การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้




โดยที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีปัญหาความมั่นคงของชาติและความไม่สงบในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้านอย่างกว้างขวาง ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ อันจะทำให้สามารถบรรลุผลในการขจัดหรือลดปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดความสงบสุขในพื้นที่ ความปลอดภัยในชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ตลอดจนมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๗ ซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้ในการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จนกว่าจะมีนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่

ข้อ ๒ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แบ่งการบริหารงานเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับนโยบาย ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และระดับหน่วยปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ระดับนโยบาย ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ให้คำปรึกษา
(๒) ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ดังต่อไปนี้
(ก) ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกย่อว่า “คปต.” ประกอบด้วย ประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการบูรณาการงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๐๗/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(ข) ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันในการบูรณาการแผนปฏิบัติการ แผนงาน และโครงการของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ในด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนสร้างความประสานสอดคล้องในทุกมิติ
(๓) ระดับหน่วยปฏิบัติ ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลัก มีหน้าที่รับผิดชอบขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งปวงในพื้นที่ และให้ศูนย์อำนายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดให้มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหน้า เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า

ข้อ ๓ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดการปฏิบัติตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๗ ทั้งนี้ สำหรับการปฏิบัติงานตั้งแต่ปลายปีงบประมาณ ๒๕๕๗ เป็นต้นไป และให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการปฏิบัติงานตามแนวทางดังต่อไปนี้

(๑) ให้กองอำนวนการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคง เสริมสร้างศักยภาพ ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่เป้าหมาย เร่งรัดการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน ดำเนินการลดพื้นทีเขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และคุ้มครองหรือเผ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนและเป้าหมายอ่อนแอ เพื่อลดความเสี่ยงภัยจากการก่อเหตุการณ์รุนแรง ทั้งนี้ โดยต้องมีการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและหมู่บ้าน
(๒) ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบในการประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนขบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นการสร้างหลักประกันความต่อเนื่องและความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่มในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย โดยในแผนดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาครอบคลุมวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ของเขตในเชิงหลักการของกระบวนการ กลไกในการขับเคลื่อนในระดับต่าง ๆ การเชื่อมโยงกับบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมและการสนับสนุนจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ทางด้านเครื่องมือ ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็น
(๓) ให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทุกหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนโดยการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความตระหนักในการปฏิบัติตามกฎหมายและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย
(๔) ให้ศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนราชการ และหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เร่งรัดดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกด้านและทุกมิติโดยเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่อย่างแท้จริงและเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนสอดคล้องกับปัญหา ความต้องการของประชาชน และลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละพื้นที่ด้วย

ข้อ ๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการบูรณาการงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อ ๒ (๒) (ก) ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการดังนี้

(๑) พิจารณาให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติงาน แผนงาน โครงการ และการจัดตั้งงบประมาณ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งแนวทางและมาตรการการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ได้มีการพิจารณาของหน่วยงานหรือองค์กรตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่ออนุมัติ
(๒) พิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดพื้นที่พิเศษ เขตพัฒนาพิเศษ กรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่พิเศษ และการบริหารและการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษ หลังจากที่ได้มีการพิจารณาของหน่วยงานหรือองค์กรตามทีกฎหมายกำหนด แล้วเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่ออนุมัติ
(๓) กำหนดกรอบและแนวทางการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ในการแก้ปัญหาความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานของกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และแผนปฏิบัติการที่กำหนดขึ้น
(๔) กำกับ เร่งรัด ติดตาม และบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและแผนปฏิบัติการที่กำหนดขึ้น โดยต้องสอดคล้องกับการบริหารราชการและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงาน รวมทั้งจัดให้มีระบบการติดตามประเมินผลในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
(๕) เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(๖) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มอบหมาย

ข้อ ๕ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจพิจารณาเรื่องใดกับกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสามคน เพื่อมีมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องนั้น และเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีปกติ ให้ประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แจ้งให้ที่ประชุมทราบมติดังกล่าวด้วย

ข้อ ๖ ให้ที่ปรึกษา กรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่งตั้ง ได้รับเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามระเบียบของทางราชการ สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการโดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ข้อ ๗ ให้มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(๑) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน
(๒) ประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลและการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
(๓) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมาย

ให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อ ๘ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามอำนาจหน้าที่นของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติอาจร้องขอต่อส่วนราชการเพื่อจัดส่งข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการหรือเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไปช่วยปฏิบัติงานของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานตามปกติ แล้วแต่กรณี และจะให้ไปช่วยปฏิบัติงานเต็มเวลา บางเวลา หรือนอกเวลาก็ได้

ข้อ ๙ ข้อสั่งการของประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องใดหรือการดำเนินการใด ๆ ตามข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นก่อนวันที่มีประกาศนี้ ให้ถือว่าข้อสั่งการหรือการดำเนินการนั้นเป็นมติหรือการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามประกาศนี้ ต่อเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมีมติรับรองหรือให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ



๙๗/๒๕๕๗ ขึ้น ๙๙/๒๕๕๗

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"