ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2562

โดยที่เป็นการสมควรมีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ และข้อ ๑๔ แห่งข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต พ.ศ. ๒๕๖๒ อธิการบดี โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณบดีในการประชุมครั้งที่ ๔๐/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงมีมติให้ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต พ.ศ. ๒๕๖๒"
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
"นิสิต" หมายความว่า นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"คณะ" หมายความว่า ส่วนงานหรือหน่วยงานที่มีนิสิตอยู่ในสังกัด
"คณบดี" หมายความว่า หัวหน้าส่วนงานหรือหน่วยงานที่มีนิสิตอยู่ในสังกัด
ข้อ ๔ การแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบปกติ เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี หรือเครื่องแบบงานพิธีการ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ในข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต
นิสิตอาจแต่งเครื่องแบบตามวรรคหนึ่งตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกก็ได้
กรณีนิสิตหญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม ให้แต่งกายตามวรรคหนึ่ง แต่อนุโลมให้มีลักษณะดังนี้
(๑) เสื้อ แขนเสื้อเป็นแขนยาว ปลายแขนเสื้อติดกระดุม
(๒) กระโปรง ความยาวของกระโปรงอยู่ที่ข้อเท้า
(๓) ผ้าคลุมศีรษะ สีขาว ไม่มีลวดลาย
(๔) เครื่องหมายตราพระเกี้ยว ประดับบนเสื้อผ้าคลุมศีรษะให้ปรากฏเห็นบริเวณอกเบื้องขวา
ข้อ ๕ การแต่งกายด้วยชุดสุภาพ มีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับนิสิตชาย ประกอบด้วย
(ก) เสื้อมีแขน ห้ามใช้เสื้อยืดไม่มีปก ใส่ชายเสื้อไว้ในกางเกง หรือเสื้อพระราชทาน หรือเสื้อตรวจการ (เสื้อซาฟารี) กลัดกระดุมให้เรียบร้อย
(ข) กางเกงขายาว ไม่รัดรูปและไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายในลักษณะทีไม่เหมาะสมแก่สุภาพชน
(ค) รองเท้าหุ้มส้นหรือมีสายรัดส้น และไม่ใช่รองเท้าแตะคีบ
(๒) สำหรับนิสิตหญิง ประกอบด้วย
(ก) เสื้อมีแขน ไม่รัดรูป ห้ามใส่เสื้อยืดไม่มีปกหรือเอวลอย ไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายในลักษณะที่ไม่เหมาะสมแก่สุภาพชน
(ข) กระโปรงคลุมเข่า หรือกางเกงขายาว ไม่รัดรูป และไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายในลักษณะที่ไม่เหมาะสมแก่สุภาพชน
(ค) รองเท้าหุ้มส้นหรือมีสายรัดส้น และไม่ใช่รองเท้าแตะคีบ
ข้อ ๖ การแต่งกายของนิสิตในโอกาสต่าง ๆ เป็นดังนี้
(๑) ในงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี หรืองานพิธีการ ให้นิสิตแต่งกายตามที่ระบุในหมายกำหนดการ กำหนดการ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัย
(๒) ในการเข้าเรียน
(ก) นิสิตระดับปริญญาตรี ให้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบปกติ เว้นแต่อาจารย์ผู้สอนกำหนดให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพโดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านคณบดี และยกเว้นนิสิตระดับปริญญาตรีในหลักสูตรที่รับเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีมาแล้วเข้าศึกษา ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ
(ข) นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ
(๓) ในการเข้าสอบ
(ก) นิสิตระดับปริญญาตรี ให้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบปกติ ยกเว้นนิสิตระดับปริญญาตรีในหลักสูตรที่รับเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีมาแล้วเข้าศึกษา ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ
(ข) นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ
(๔) ในการติดต่อหน่วยงานของมหาวิทยาลัย
(ก) นิสิตระดับปริญญาตรี ให้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบปกติหรือชุดสุภาพ
(ข) นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ
(๕) ในการเข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการแต่งกายไว้เป็นอย่างอื่น นิสิตสามารถแต่งกายด้วยชุดทั่วไป ได้แก่ เสื้อมีแขน กระโปรงหรือกางเกงที่ไม่มีลักษณะเป็นการแต่งกายล่อแหลมหรือเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายจนเกินไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสมแก่สุภาพชน
ข้อ ๗ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้
ในการตีความ หรือในกรณีที่มีปัญหาขัดข้องเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด
บรรณานุกรม[แก้ไข]
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2562, 7 พฤศจิกายน). ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2562.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"
