ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชกาลที่ 5/เล่ม 1/เรื่อง 1

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า แต่ก่อนมา ธงที่ใช้ในราชการต่าง ๆ ยังหาเปนแบบอย่างแน่นอนไม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งกองข้าหลวงให้ตรวจแบบอย่างที่สมควรแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้เปนแบบแผนสืบไป ให้ผู้ที่มีน่าที่ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ธงนั้น ๆ ทำให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ

ข้อ ๑ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์

ข้อธงพระบรมราชธวัชมหาสยามินทร์นั้น พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ เปนรูปโล่ตราแผ่นดิน มีจักรกรีไขว้กันอยู่บนโล่ มหาพิไชยมงกุฎสรวมบนจักกรี มีเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้าง ในโล่ตราแผ่นดินนั้น ช่องบนเปนรูปช้างไอยราพตสามเศียร พื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวานั้นเปนรูปช้างเผือก พื้นชมภู เปนนามสัญญาแห่งมลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายนั้นเปนรูปกฤชคดแลตรงสองอันไขว้กัน พื้นแดง บอกสัญญานามมลายูประเทศ แลมีแท่นรองโล่แลเครื่องสูง ๗ ชั้น พื้นเหลือง รวมสัญญานามที่หมายเหล่านี้ทั้งสิ้นจึงเปนบรมราชธวัชมหาสยามินทร์สำหรับพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสยามินทร์แต่พระองค์เดียว ธงนี้ชักขึ้นที่แห่งใด เปนที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่นั้น ชักขึ้นในเรือพระที่นั่งฤๅเรือรบแล้ว ต้องชักขึ้นที่เสาใหญ่อยู่เปนนิตย์

ข้อ ๒ ธงจุฑาธิปไตย

ข้อธงจุฑาธิปไตย คือ ราชธวัชสำหรับแผ่นดินกรุงสยาม เปนรูปช้างไอยราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น มีบุษบกแลเครื่องสูง ๗ ชั้นสี่องค์ ในกลางบุษบกมีอักษร จ.ป.ร. จุฬาลงกรณ์บรมราชาธิราช ไขว้กัน เปนพระนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัตยุบัน แลมีจุลมงกุฎ ไนยหนึ่งว่าพระเกี้ยวยอด อยู่บนอักษรพระนามนั้น (ที่หมายพระนามาภิไธยในบุษบกนั้นเปลี่ยนตามรัชกาล) ราชธวัชสำหรับใช้ชักขึ้นในพระมหานครเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง แลใช้เปนราชธวัชสำหรับพลหลวง ที่เรียกว่าทหารกรมต่าง ๆ ถ้าทหารกรมหนึ่งกรมใดจะไปราชการสงคราม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนิรในกองนั้น ต้องใช้ธงนี้เปนที่หมายสำคัญแทนพระองค์ ฤๅเวลาที่ออกยืนแถวรับเสด็จฤๅเจ้านายต่างประเทศ ใช้เปนเกียรติยศเท่านั้น

ข้อ ๓ ธงเยาวราชธวัช

ข้อธงเยาวราชธวัช สำหรับราชตระกูลนั้น เหมือนอย่างธงบรมราชธวัช คือ มีโล่ตราแผ่นดินแลจักรกรี ยกแต่มหาพิไชยมงกุฎ เครื่องสูง แท่น แลพื้นน้ำเงินเท่านั้น สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือรบแลเรือพระที่นั่งลำหนึ่งลำใดซึ่งราชตระกูลพระองค์นั้นได้เสด็จไปโดยราชอิศริยยศทางราชการ เปนที่หมายว่าราชตระกูลนั้นอยู่บนเรือรบฤๅเรือพระที่นั่งลำนั้น ธงเยาวราชธวัชนี้จำเพาะใช้ได้แต่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดา ของพระเจ้าแผ่นดิน แลพระบรมวงษ์ กรมสมเด็จ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น แลพระองค์เจ้า ในพระบรมมหาราชวัง เปนต้น ซึ่งมีราชอิศริยยศสมควรที่จะรับสลูตอย่างหลวงในเรือรบทหารยืนเพลาแลยิงสลูต ๒๑ นัด ทหารบกยืนแถวคลี่ธงจุฑาธิปไตย ธงไชยเฉลิมพล แตรเป่าเพลงสรรเสริญบารมี ถวายคำนับเปนเกียรติยศเท่านั้น ราชตระกูลนอกนั้น ถ้ามีราชการไป ต้องได้พระบรมราชานุญาตเปนการพิเศษก่อน จึงใช้ธงเยาวราชธวัชสำหรับพระองค์ได้

ข้อ ๔ ธงไชยเฉลิมพล

ข้อธงไชยเฉลิมพล พื้นธงเปนสีต่าง ๆ ตามแต่ทหารจะเห็นสมควร แต่ที่มุมข้างบนมีแพรแดงเปนรูปธงโตหนึ่งในหกส่วนของธงใหญ่ มีรูปช้างเผือกทรงเครื่อยืนแท่น ที่พื้นธงนอกจากธงช้างที่มุมมีตราสำหรับกองทหารนั้น เปนธงสำหรับใช้เมื่อมีการรับเสด็จในเวลาพระราชพิธีใหญ่ แลสำหรับเกียรติยศตามซึ่งจะโปรดเกล้าฯ ให้รับ แลเมื่อกองทหารจะไปปราบศัตรู ก็ใช้ธงนี้ไปในกองทัพด้วย

ข้อ ๕ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น

ข้อธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนมีโล่ตราแผ่นดิน แลมีจักรกรีมงกุฎข้างบนนั้น สำหรับราชทูตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลข้าหลวงใหญ่ไปราชการพิเศษ ซึ่งผู้ที่รับราชการไปนั้นอยู่ในสถานตำแหน่งผู้ที่แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินฤๅผู้แทนคอเวอนเมนต์ จึงจะใช้ได้ เปนที่หมายยศของผู้ที่รับราชการนั้น ชักขึ้นที่เสาน่า

ข้อ ๖ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น

ข้อธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมข้างบนมีโล่ตราแผ่นดิน สำหรับกงซุลประจำราชการต่างประเทศ

ข้อ ๗ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น

ข้อธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนมีวงขาวกลมโตหนึ่งในสี่ส่วนของกว้างแห่งธงนั้น ในกลางวงมีตราตำแหน่งของผู้ซึ่งไปราชการนั้น ถ้าเปนผู้ว่าราชการเมือง ก็ให้ใช้ตรานามเมืองในวงนั้น

ข้อ ๘ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น

ข้อธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนมีจักร์สำหรับชักท้ายเรือพระที่นั่งแลเรือรบหลวง

ข้อ ๙ ธงเกตุ

ข้อธงเกตุเปนรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น พื้นธงนั้นสีขาบสำหรับชักขึ้นที่น่าเรือรบ แลเปนธงสำหรับหมายยศแม่ทัพเรือตำแหน่งที่นายพลเรือเอกชักขึ้นที่เสาใหญ่ ตำแหน่งที่นายพลเรือโทชักขึ้นที่เสาน่า ตำแหน่งที่นายพลเรือตรีชักขึ้นที่เสาท้าย

ข้อ ๑๐ ธงหางแซงแซว

ข้อ๑๐ธงหางแซงแซว ข้างต้นพื้นแดง กลางเปนวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายหางแซงแซวนั้นสีขาบ สำหรับหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่ มีจักร ๔ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือโท มีจักร ๓ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือตรี มีจักร ๒ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือจัตวา มีจักร ๑ ดวง

ข้อ ๑๑ ธงหางจรเข้

ข้อ๑๑ธงหางจรเข้ ข้างต้นพื้นแดง กลางเปนวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายสีขาบ ยาว ๓๐ ฟิต กว้าง ๖ นิ้ว สำหรับใช้ในเรือรบทั้งหลาย เปนที่หมายยศตำแหน่งผู้บังคับการดังนี้ ตำแหน่งที่นายเรือเอก มีจักร ๔ ดวง ตำแหน่งที่นายเรือโท มีจักร ๓ ดวง ตำแหน่งที่นายเรือตรี มีจักร ๒ ดวง ตำแหน่งที่นายเรือจัตวา มีจักร ๑ ดวง

ข้อ ๑๒ ธงนำร่อง

ข้อ๑๒ธงนำร่องของกรุงสยามเปนรูปช้างเผือกเปล่า พื้นแดง ขอบนอกขาวทั้ง ๔ ด้าน สำหรับชักบอกเปนที่หมาย ชักขึ้นที่ใด นำร่องอยู่ที่นั่น

ข้อ ๑๓ ธงชาติสยาม

ข้อ๑๓ธงชาติสยามเปนรูปช้างเผือกเปล่า พื้นแดง ใช้ในเรือกำปั่นแลเรือทั้งหลายของพ่อค้า เรือกำปั่นแลเรือต่าง ๆ ของไปรเวตทั่วไปในชาวสยาม

ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ เปนวันที่ ๘๕๓๖ ในรัชกาลปัตยุบันนี้