ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชกาลที่ 5/เล่ม 7/เรื่อง 33

จาก วิกิซอร์ซ

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ทุกวันนี้ เมื่อมีผู้ใดได้อุสาหะแต่งหนังสือขึ้นด้วยสติปัญญาแลวิชาความรู้ของตนเพื่อพิมพ์จำหน่ายให้เกิดผลประโยชน์ ถ้าหนังสือเรื่องใดจำหน่ายได้มาก ก็มักมีผู้อื่นบังอาจเอาหนังสือเรื่องนั้นไปพิมพ์ขึ้นขายโดยพลการ กระทำให้เสื่อมทรามผลประโยชน์ซึ่งสมควรจะได้แก่ผู้แต่งโดยความชอบธรรม มีอยู่เนือง ๆ แลการอย่างนี้ ในนา ๆ ประเทศโดยมากย่อมมีกฎหมายห้ามปรามไม่ให้ผู้อื่นลอกคัดหรือพิมพ์จำหน่ายหนังสือซึ่งผู้แต่งมิได้อนุญาต ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า สมควรจะมีพระราชบัญญัติตั้งขึ้นไว้ในพระราชอาณาจักร์สำหรับคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ของผู้แต่งหนังสือตามสมควรแก่ยุติธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้ว่า

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้มีนามว่า, "พระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร,ศ, ๑๒๐"

มาตราให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศเปนต้นต่อไป

มาตราผู้ใดได้แต่งหนังสือรวมเปนเล่มก็ดี หรือเปนแต่ส่วนของเล่มก็ดี ถ้าได้กระทำถูกต้องตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ผู้นั้นมีกรรมสิทธิ์ในหนังสือที่ตนได้แต่งนั้นเหมือนกับทรัพย์สมบัติของตน

มาตราผู้มีกรรมสิทธิ์ในหนังสือเรื่องใด มีอำนาจที่จะพิมพ์ จะคัด จะแปลเปนภาษาอื่น แลจะจำหน่ายหรือขายหนังสือที่ตนมีกรรมสิทธิ์นั้นได้แต่ผู้เดียว ผู้อื่นที่มิได้รับอนุญาตจากผู้มีกรรมสทธิ์ จะพิมพ์ หรือจะคัด จะแปลเปนภาษาอื่น แลจะจำหน่ายหรือขายหนังสือนั้นไม่ได้

มาตราให้กรรมสิทธิ์คงอยู่ตลอดอายุของผู้แต่งหนังสือ แลคงต่อไปตั้งแต่วันที่ผู้แต่งถึงมรณภาพอีก ๗ ปี แต่ถ้าหนังสือเรื่องใด นับแต่วันที่ผู้แต่งได้รับกรรมสิทธิ์จนสิ้น ๗ ปี ภายหลังผู้แต่งมรณภาพ รวมเวลากรรมสิทธิ์ไม่ถึง ๔๒ ปีไซ้ ก็ให้กรรมสิทธิ์คงอยู่ต่อไปจนนับรวมได้ ๔๒ ปีตั้งแต่วันที่ได้รับกรรมสิทธิ์หนังสือเรื่องนั้น จึงให้สิ้นอายุกรรมสิทธิ์

มาตราหนังสือเรื่องใด ถ้าผู้แต่งถึงมรณภาพก่อนได้รับกรรมสิทธิ์ ถ้าผู้รับมรฎกนำมาขอกรรมสิทธิ์ภายในกำหนด ๑๒ เดือนนับแต่วันที่ผู้แต่งถึงมรณภาพไป ก็รับกรรมสิทธิ์หนังสือเรื่องนั้นได้ แลให้กรรมสิทธิ์นั้นมีอายุ ๔๒ ปีนับตั้งแต่วันผู้แต่งถึงมรณภาพไปเปนกำหนด

มาตราต่อหนังสือซึ่งได้พิมพ์ในพระราชอาณาจักร์แลได้จำหน่ายครั้งแรกในพระราชอาณาจักร์ จึงจะมีกรรมสิทธิ์ได้

มาตราหนังสือตำราเรียนซึ่งรัฐบาลได้ลงทุนให้แต่งขึ้นไว้ กรรมสิทธิ์แห่งหนังสือนั้นอยู่ในรัฐบาลทุกเมื่อ

มาตราหนังสือซึ่งได้แต่งขึ้นหรือได้พิมพ์จำหน่ายก่อนแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้นั้น

ข้อถ้าผู้แต่งได้ถึงมรณภาพก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้แล้ว หนังสือนั้นจะมีกรรมสิทธิ์ไม่ได้

ข้อถ้าผู้แต่งยังอยู่ แลเปนผู้พิมพ์จำหน่ายเอง ถ้ามาขอกรรมสิทธิ์ภายใน ๑๒ เดือนนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ก็รับกรรมสิทธิ์ได้

ข้อถ้าผู้แต่งยังอยู่ แต่ได้ขายเรื่องหนังสือนั้นให้ผู้อื่นไปพิมพ์จำหน่ายเปนสิทธิ์ขาดแล้ว หนังสือเรื่องนั้นจะมีกรรมสิทธิ์ไม่ได้

ข้อถ้าผู้แต่งยังอยู่ แต่ได้ยอมให้ผู้อื่นพิมพ์จำหน่ายโดยมีสัญญาแบ่งผลประโยชน์กันมาประการใด ผู้แต่งจะขอกรรมสิทธิ์ ต้องบอกให้ผู้พิมพ์จำหน่ายทราบก่อน ถ้าผู้พิมพ์จำหน่ายยินยอม ผู้แต่งจึงจะมีกรรมสิทธิ์ได้ ถ้าผู้พิมพ์จำหน่ายร้องขัดขวาง ก็ให้ศาลพิจารณาดูผลประโยชน์ที่จะพึงได้พึงเสียในคดีเรื่องนั้นตามกฎหมายแลประเพณี แลให้ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาว่าหนังสือเรื่องนั้นควรมีกรรมสิทธิ์หรือไม่

มาตรา๑๐บรรดาหนังสือซึ่งจะมีกรรมสิทธิ์ได้ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องลงพิมพ์แล้ว แลผู้แต่งต้องนำหนังสือเรื่องนั้นมาให้เจ้าพนักงานจดลงทะเบียนแต่ภายในกำหนด ๑๒ เดือนตั้งแต่ได้พิมพ์จำหน่าย หรือถ้าเปนหนังสือที่ผู้แต่งถึงมรณภาพก่อนได้รับกรรมสิทธิ์ ผู้รับมรฎกต้องนำมาขอจดทะเบียนแต่ภายในกำหนด ๑๒ เดือนนับแต่วันมรณภาพของผู้แต่ง

มาตรา๑๑หนังสือเรื่องใดที่ได้มีกรรมสิทธิ์แล้ว แม้ผู้มีกรรมสิทธิ์ได้แก้ไขแลพิมพ์ขึ้นเปนฉบับหลังต่อไป จะนำฉบับหลังมาจดทะเบียนขอกรรมสิทธิ์ในฉบับนั้น ๆ ต่อไปก็ได้

มาตรา๑๒บรรดาหนังสือที่นำมาจดทะเบียนขอกรรมสิทธิ์นั้น ให้ผู้ขอกรรมสิทธิ์ส่งหนังสือนั้นไว้กับเจ้าพนักงานฉบับ ๑

มาตรา๑๓ให้เจ้าพนักงานมีสมุดจดทะเบียนไว้สำหรับจดบาญชีหนังสือที่มีผู้ขอกรรมสิทธิ์จงทุกราย แลเมื่อได้จดหนังสือเรื่องใดลงทะเบียน ต้องให้ผู้ขอกรรมสิทธิ์แลเจ้าพนักงานลงชื่อไว้ในทะเบียนเปนสำคัญ แลสมุดฉบับที่ผู้ขอกรรมสิทธิ์ได้ส่งไว้ต่อเจ้าพนักงานนั้น ก็ให้เจ้าพนักงานแลผู้ขอลงชื่อไว้เปนสำคัญอย่างเดียวกัน

มาตรา๑๔ผู้ใดได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ต้องนำหลักฐานเปนสำคัญในการที่ได้โอนกรรมสิทธิ์นั้นมาแสดงต่อเจ้าพนักงาน เมื่อเจ้าพนักงานเห็นเปนการถูกต้องแล้ว ก็ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้นั้น ต่อเมื่อได้จดโอนในทะเบียนแล้ว ผู้รับโอนจึ่งจะมีอำนาจในกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๑๕บรรดาหนังสือที่มีกรรมสิทธิ์ ผู้มีกรรมสิทธิ์จะต้องถวายไว้สำหรับหอหลวงฉบับ ๑ หอพระสมุดวชิรญาณฉบับ ๑ แลหอพุทธสาสนสังคหะฉบับ ๑

มาตรา๑๖บรรดาหนังสือที่มีกรรมสิทธิ์อยู่นั้น ห้ามมิให้ผู้ใดลอกคัด หรือแปลเปนภาษาอื่น หรือพิมพ์จำหน่าย โดยหาผลประโยชน์ก็ดี หรือไม่หาผลประโยชน์ก็ดี แลห้ามมิให้ผู้ใดช่วยจำหน่ายหนังสือซึ่งคัดลอก หรือแปล หรือพิมพ์โดยผิดกฎหมายเช่นนั้น เว้นไว้แต่เมื่อได้รับหนังสืออนุญาตของผู้มีกรรมสิทธิ์ยอมให้ทำ จึงทำได้ ถ้าผู้ใดกระทำผิดตามที่ว่ามาในมาตรานี้ ผู้นั้นมีความผิดถานล่วงกรรมสิทธิ์ ผู้มีกรรมสิทธิ์มีอำนาจที่จะฟ้องเรียกสินไหมเปนค่าเสียหายหรือค่าทำขวัญได้ตามสมควร แลบรรดาหนังสือซึ่งได้พิมพ์ขึ้นโดยล่วงกรรมสิทธิ์ ให้ถือว่าเปนทรัพย์ของผู้มีกรรมสิทธิ์ ๆ มีอำนาจที่จะฟ้องเรียกริบเอาจากผู้ใดใดซึ่งยึดถือหนังสือนั้นไว้ ถ้าขัดขืนไม่ส่งให้ ก็ให้ฟ้องเรียกสินไหมค่าเสียหายหรือค่าทำขวัญหรือเปนเลมิดอำนาจศาลได้

มาตรา๑๗ให้เรียกค่าธรรมเนียมจดทะเบียนกรรมสิทธิ์หนังสือ เรื่องละ ๕ บาท ค่าโอนกรรมสิทธิ์ เรื่องละ ๕ บาท เปนกำหนดค่าธรรมเนียมทั้งนี้ ให้เรียกจากผู้ขอกรรมสิทธิ์หรือผู้ขอโอนกรรมสิทธิ์

มาตรา๑๘ให้เจ้ากรมพระอาลักษณ์เปนผู้รักษาแลจัดการให้เปนไปตามพระราชบัญญัตินี้

ประกาศมาณวันที่ ๑๒ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ เปนวันที่ ๑๑๙๖๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้