ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชกาลที่ 6/เล่ม 5/เรื่อง 11

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติ
กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. ๒๔๕๗

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า เปนเวลาอันสมควรที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ เพื่อขยายให้คุณประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้แผ่ไพศาลไปถึงบุคคลอื่นที่มิใช่เปนผู้แต่งหนังสือ แลจะได้ทำให้บรรดาครู กับทั้งผู้แสดงปาฐะกะถา แลผู้แต่งเรื่องราวต่าง ๆ มีอุสาหะกระทำการแต่งหนังสือต่าง ๆ ให้เปนคุณประโยชน์ถาวรแก่บ้านเมืองยิ่งขึ้น

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. ๒๔๕๗
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเปนต้นไป
มาตรา ๓ คำที่ว่า "หนังสือ" ในพระราชบัญญัติเดิมนั้น ให้เปนที่เข้าใจว่าหมายความตลอดถึงสมุดที่เปนเล่ม หรือภาคหรือพแนกของเล่มสมุด หรือหนังสือเล่มเล็ก ๆ หรือกระดาดชนิดใดที่มีอักษรพิมพ์ กระดาดพิมพ์บทเพลง แผนที่ หรือแบบตัวอย่าง หรือเรื่องลครต่าง ๆ แลเรื่องดนตรีต่าง ๆ ด้วย
มาตรา ๔ การจดฐเบียรที่กรมพระอาลักษณ์นั้น ต้องให้มีข้อความพิศดารดังต่อไปนี้
(๑)ชื่อหนังสือ
(๒)ศุภมาศวันเดือนปีที่พิมพ์ขึ้นครั้งแรก
(๓)ชื่อแลสำนักงานของผู้พิมพ์
(๔)ชื่อแลที่สำนักอาศรัยของผู้เปนเจ้าของกรรมสิทธิ์ (ในประการที่ ๓ แลที่ ๔ นั้น แม้จะเปนบุคคลคนเดียวกัน ก็ไม่เปนการขัดข้อง)
มาตรา ๕ ถ้าหนังสือเรื่องใดได้พิมพ์ขึ้นโดยไม่มีชื่อผู้แต่งแล้ว การจดฐเบียร จะจดแต่ชื่อแลที่สำนักอาศรัยของผู้พิมพ์หนังสือคนแรกนั้นลงแทนชื่อแลที่อยู่ของผู้แต่งหนังสือ ก็ให้เปนการใช้ได้ แต่ต้องให้ผู้แต่งหนังสือนั้นมีอำนาจที่จะแปลแลเพิ่มจำนวนเล่มที่แต่งให้มากขึ้นได้เสมอ เว้นไว้แต่ผู้แต่งกับผู้ที่มีชื่อปรากฎว่าเปนเจ้าของกรรมสิทธิ์จะได้ทำสัญญากันไว้เปนอย่างอื่นเท่านั้น
มาตรา ๖ คำที่ว่า กรรมสิทธิ์ นั้น ให้เปนที่เข้าใจแลหมายความว่า อำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวในการที่จะพิมพ์ จะแปล หรือจะเพิ่มจำนวนเล่มหนังสือที่แต่ง ซึ่งมีคำว่า กรรมสิทธิ์ ติดอยู่ด้วยนั้น ให้มากขึ้นได้ แลบรรดากรรมสิทธิ์ทั้งนี้ ให้ถือว่า เปนทรัพย์ส่วนตัวบุคคล ซึ่งจะต้องวินิจฉัยในเรื่องจัดการทรัพย์มรฎกของผู้ตายเช่นอย่างสังหะริมะทรัพย์ฉนั้น
มาตรา ๗ ผู้แต่งหนังสือปาฐะกะถาใด ๆ เรื่องเดียวหรือหลายเรื่องก็ดี หรือบุคคลผู้ที่ได้รับซื้อหรือรับโอนฉบับหนังสือปาฐะกถานั้น ๆ มาจากผู้แต่งก็ดี มีอำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เีดยวที่จะพิมพ์แลโฆษนาหนังสือปาฐะกถานั้น ๆ ได้ ถ้าและผู้ใดบังอาจลอกคัดหนังสือเช่นนี้ โดยทางศัพท์เลขก็ดี หรือขีดเขียนอาการอย่างใด ๆ แลเอาไปพิมพ์ หรือทำเปนเล่ม แลเอาออกโฆษนา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้แต่ง หรือจากผู้ที่ได้รับซื้อหรือรับโอนมาจากผู้แต่งก็ดี แลผู้ใดรู้แล้วว่า หนังสือนั้น ๆ ได้พิมพ์ขึ้นแลเอาออกโฆษนาโดยไม่ได้รับอนุญาต บังอาจเอาหนังสือปาฐะกถานั้น ๆ ไปขายหรือเอาออกตั้งวางขายก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิดตามโทษานุโทษที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเดิมแล้วฉนั้น
มาตรา ๘ บุคคลผู้ที่ได้เสียค่าธรรมเนียมเข้าไปฟังการแสดงปาฐะกะถาในที่ใด ๆ หรือผู้ที่ได้เข้าไปฟังแลอยู่ในที่นั้นโดยทางใด ๆ ก็ดี ท่านห้ามมิให้ถือแลสันนิษฐานว่า เปนผู้ที่ได้มีอนุญาตหรือได้รับความยินยอมให้พิมพ์ ลอกคัด แลโฆษนาเรื่องปาฐะกะถานั้น ๆ โดยเหตุที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปฟังการแสดงปาฐะกะถานั้นเลยเปนอันขาด
มาตรา ๙ ผู้แต่งหนังสือปาฐะกะถาใด ๆ เรื่องเดียวหรือหลายเรื่องก็ดี หรือผู้ที่ได้รับซื้อหรือรับโอนหนังสือนั้นมาจากผู้แต่งก็ดี เมื่อก่อนที่จะแสดงปาฐะกะถานั้น ๆ จะต้องนำหนังสือมาจดฐเบียรที่กรมพระอาลักษณ์โดยข้อความพิศดาร ดังต่อไปนี้
(๑)เรื่องของหนังสือปาฐะกะถา
(๒)ศุภมาศวันเดือนปีของหนังสือปาฐะกะถา หรือภาคต้นของหนังสือนั้น
(๓)ชื่อแลที่สำนักอาศรัยของผู้แสดงปาฐะกะถา
(๔)ชื่อแลที่สำนักอาศรัยของผู้เปนเจ้าของกรรมสิทธิ์
มาตรา ๑๐ การเก็บรวบรวมข้อความต่าง ๆ ก็อาจจะพึงเปนเหตุให้มีกรรมสิทธิ์ได้ เมื่อได้มีผู้เก็บรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่ใคร ๆ จะเก็บได้นั้นมารวมเข้าเปนเล่มแล้ว ผู้เก็บรวบรวมเรื่องทีหลังจะลอกคัดเรื่องราวจากหนังสือเล่มนั้นไม่ได้ จะทำได้ก็ต้องเปนการดำเนิรเค้าความในเรื่องที่ตนได้เก็บมาเอง
มาตรา ๑๑ หนังสือที่ออกเปนกำหนดเวลา ซึ่งรวมทั้งหนังสือพิมพ์ หนังสือวินิจฉัยข้อความของหนังสือต่าง ๆ หนังสืออ่านเล่นที่ออกเปนครั้งคราว หนังสืออธิบายข้อความในวิชาการต่าง ๆ หรือหนังสือที่ออกเปนลำดับกันไปนั้น เมื่อได้นำมาจดฐเบียรแล้ว ก็ให้มีกรรมสิทธิ์ได้
มาตรา ๑๒ การจดฐเบียรตามความในมาตรา ๑๐ แลมาตรา ๑๑ นั้น ให้จดข้อความโดยพิศดารดังต่อไปนี้
(๑)ชื่อของหนังสือที่รวบรวมเปนเล่มขึ้น หรือหนังสือที่ออกเปนกำหนดเวลา
(๒)ศุภมาศวันเดือนปีที่พิมพ์เล่มต้นหรือภาคต้นเมื่อครั้งแรก
(๓)ชื่อแลที่สำนักอาศรัยของผู้พิมพ์ (ถ้าผู้พิมพ์ไม่ใช่ผู้เปนเจ้าของกรรมสิทธิ์)
(๔)ชื่อแลที่สำนักอาศรัยของผู้เปนเจ้าของกรรมสิทธิ์
มาตรา ๑๓ รัฐบาลก็ดี หรือผู้รับมอบธุระของรัฐบาลก็ดี มีอำนาจที่จะร้องขอกรรมสิทธิ์ได้เช่นอย่างบุคคลสามัญฉนั้น คนใช้ของรัฐบาลที่มีน่าที่แต่งหนังสือนั้น เมื่อแต่งหนังสือแบบแผนใด ๆ ขึ้นแล้ว กรรมสิทธิ์ในการแต่งหนังสือนั้นต้องเปนของรัฐบาลทุกเมื่อ บรรดาหนังสือเรื่องการศึกษาทั้งหมดซึ่งรัฐบาลได้จัดทำแลพิมพ์ขึ้นโดยเสียค่าใช้จ่ายไปนั้น กรรมสิทธิ์ในหนังสือนั้น ๆ จะต้องคงเปนของรัฐบาลเสมอ
มาตรา ๑๔ การจดฐเบียรหนังสือภาคต้นหรือเล่มต้นนั้น ให้คุ้มต่อไปถึงหนังสือภาคหลังหรือเล่มหลังต่อไปด้วย การจดฐเบียรหนังสือพิมพ์รายวันหรือหนังสือที่ออกเปนคราว ๆ ฉบับแรกก็ให้คุ้มต่อไปถึงหนังสือเช่นกล่าวนี้ที่ออกฉบับหลัง ๆ ด้วย การจดฐเบียรหนังสือที่ผู้แต่งเขียนเปนเรื่องลำดับกันไปในครั้งแรก ก็ให้คุ้มตลอดไปถึงหนังสือเรื่องนั้นซึ่งผู้แต่งจะออกในครั้งหลัง ๆ ดุจเดียวกัน
มาตรา ๑๕ หนังสือซึ่งมิบังควรจะเอาออกขาย โดยเหตุที่เปนเรื่องหยาบคาย เรื่องลบหลู่ดูถูกศาสนา หรือเรื่องยุยงให้เกิดจลาจลนั้น จะให้มีกรรมสิทธิ์ไม่ได้ อนึ่ง หนังสือเรื่องใดที่กล่าวคำเท็จเพื่อประสงค์จะหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อต่าง ๆ ก็ต้องห้ามมิให้มีกรรมสิทธิ์เหมือนกัน
มาตรา ๑๖ ผู้หนึ่งผู้ใดจะขอตรวจดูสมุดฐเบียรกรรมสิทธิ์เรื่องใดที่กรมพระอาลักษณ์ก็ได้ เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมให้เรื่องละ ๑ บาท แลจะต้องการสำเนาที่ถูกต้องในเรื่องใดตามรายการในฐเบียรก็ได้ เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมให้ฉบับละ ๕ บาท
มาตรา ๑๗ สำเนาฐเบียรที่ได้รับรองว่าถูกต้องนั้น จะนำมายื่นเปนพยานในศาลต่าง ๆ ได้ ทั้งเปนที่เชื่อได้ในชั้นต้นว่า มีหลักฐานในเรื่องเปนเจ้าของกรรมสิทธิ์หนังสือหรือเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์นั้นด้วย
มาตรา ๑๘ ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนด้วยข้อความในรายการอย่างใด ๆ ที่จดในบาญชีฐเบียรของกรมพระอาลักษณ์ ก็อาจจะทำคำร้องยื่นต่อศาลแพ่งขอให้ออกคำสั่งให้เปลี่ยนแก้หรือลบทำลายรายการนั้นเสียได้
มาตรา ๑๙ ผู้ใดแกล้งจดเองหรือกระทำให้ผู้อื่นจดรายการที่เปนเท็จลงในบาญชีฐเบียรก็ดี หรือผู้ใดแกล้งแนะนำหรือกระทำให้มีสำเนาเท็จขึ้นในเรื่องรายการฐเบียรอย่างใด ๆ ก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด อาจถูกฟ้องหาให้ต้องโทษตามความผิดในส่วนที่ ๕ หมวดที่ ๗ แห่งกฎหมายลักษณอาญาได้
มาตรา ๒๐ ผู้เปนเจ้าของกรรมสิทธิ์มีอำนาจที่จะร้องขอหมายห้ามมิให้ผู้ล่วงเลมิดกรรมสิทธิ์พิมพ์โฆษนาหรือขายหนังสือได้ต่อไป ในการทำคำร้องขอหมายห้ามนั้น ท่านว่า ไม่จำเปนจะต้องพิสูตรถึงความเสียหายอย่างใด ๆ ที่ได้เกิดขึ้นโดยแท้นั้นเลย ให้ศาลเปนที่พอใจว่า การเสียหายอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ บรรดาสมุดหนังสือทั้งหมดที่อยู่ในความยึดถือของผู้ทำการล่วงเลมิดนั้น ต้องตกเปนทรัพย์สมบัติของผู้เปนเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น
มาตรา ๒๑ ในคดีใด ๆ ที่ฟ้องร้องกันด้วยเรื่องล่วงเลมิดกรรมสิทธิ์นั้น โจทย์หาจำเปนจะต้องพิสูตร์ว่าการล่วงเลมิดนั้นได้เปนไปโดยแกล้งไม่ แม้ความเจตนาสุจริต ก็จะไม่มีผลที่เปนเหตุให้แก้ตัวได้ ทั้งจะต้องเปนข้อสันนิษฐานได้ว่า ผู้ล่วงเลมิดได้มีเจตนาร้ายที่จะให้เกิดความเสียหายขึ้นเพราะการล่วงเลมิดแห่งกิจการนั้นด้วย
มาตรา ๒๒ บรรดาบุคคลที่จะได้รับกรรมสิทธิ์นั้น ท่านให้พึงเขียนแซกข้อความลงในหนังสือที่ตนจะร้องขอกรรมสิทธิ์ที่น่าหนังสือ หรือที่ใบปกน่าสมุด หรือส่วนใด ๆ ของสมุดที่จะเห็นได้โดยง่ายนั้น เปนคำว่า "มีกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ"
ประกาศมาณวันที่ ๑๖ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เปนวันที่ ๑๔๙๗ หรือปีที่ ๕ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
(เล่ม ๓๑ วันที่ ๒๐ ธันวาคม น่า ๔๖๒)