ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชชกาลที่ 7/เล่ม 7/เรื่อง 5

จาก วิกิซอร์ซ


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรรวบรวมและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรม และขยายให้คุ้มครองไปถึงศิลปกรรมด้วย

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้


มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช ๒๔๗๔"

มาตราภายในบังคับมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ และพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. ๒๔๕๗

มาตราในพระราชบัญญัตินี้

"ลิขสิทธิ์" หมายความถึงสิทธอันมีแต่ผู้เดียวที่จะทำขึ้นหรือทำซ้ำซึ่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรม หรือส่วนสำคัญแห่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้น ๆ ไม่ว่าจะทำเป็นรูปร่างอย่างไร และทั้งหมายความรวมถึงสิทธิในการนำออกเล่นแสดงต่อประชาชนด้วย ถ้าเป็นปาฐกถา หมายถึงสิทธิในการนำออกกล่าวแสดง หรือถ้าวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้นยังมิได้โฆษณาไซร้ ศัพท์นี้หมายถึงสิทธินำออกโฆษณาด้วย

ลิขสิทธิ์กินความถึงสิทธิอันมีแต่ผู้เดียวที่จะ

(ก)ทำขึ้นหรือทำซ้ำซึ่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรม เล่นแสดงซึ่งนาฏกียกรรม โฆษณาซึ่งคำแปลแห่งวรรณกรรม

(ข)ถ้าเป็นนาฏกียกรรม เปลี่ยนให้เป็นเรื่องอ่านเล่นหรืออื่น ๆ อันไม่ใช่นาฏกียกรรม

(ค)ถ้าเป็นเรื่องอ่านเล่นหรือหนังสืออื่นอันมิใช่นาฏกียกรรม หรือเป็นศิลปกรรม เปลี่ยนให้เป็นนาฏกียกรรมโดยวิธีนำออกแสดงต่อประชาชนหรือโดยวิธีอื่น

(ง)ถ้าเป็นวรรณกรรม หรือนาฏกียกรรม หรือดนตรีกรรม ทำขึ้นเป็นแผ่นเสียง หรือกระดาษม้วนเจาะรู หรือภาพยนตร์ หรือทำโดยวิธีอื่น ๆ ซึ่งอาจนำวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้น ๆ ออกแสดงได้โดยเครื่องกล

สิทธิอันมีแต่ผู้เดียวในการกระทำดั่งกล่าวข้างต้นนี้ กินความถึงสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำด้วย

"วรรณกรรมและศิลปกรรม" หมายความรวมการทำขึ้นทุกชะนิดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกศิลป จะแสดงออกมาโดยวิธีหรือรูปร่างอย่างใดก็ตาม เช่น สมุด สมุดเล็ก และหนังสืออื่น ๆ ปาฐกถา กถาอื่น เทศนา หรือวรรณกรรมอื่น ๆ อันมีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือนาฏกียกรรม หรือนาฏกีย-ดนตรีกรรม หรือแบบฟ้อนรำ และการเล่นแสดงให้คนดูโดยวิธีใบ้ ซึ่งแบบการแสดงนั้น ๆ ได้กำหนดไว้เป็นหนังสือหรืออย่างอื่น เพลงดนตรีมีคำร้องหรือไม่มี การวาดเขียน การเขียนระบายสี สถาปิตยกรรม ภาพหุ่น การแกะ และการพิมพ์หิน รูปประกอบเรื่อง แผนที่ภูมิประเทศ แผนผัง ภาพร่าง และการปั้นอันเกี่ยวเนื่องกับภูมิศาสตร์ แผนการสำรวจภูมิประเทศ สถาปิตยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ รูปถ่าย และรูปที่ทำขึ้นโดยวิธีคล้ายคลึงกับการถ่ายรูป

"โฆษณา" เมื่อใช้เกี่ยวกับวรรณกรรมหรือศิลปกรรม หมายความว่า นำสำเนาจำลองออกจำหน่าย ทั้งนี้ ไม่กินความถึงการเล่นแสดงซึ่งนาฏกียกรรม หรือดนตรีกรรม หรือการแสดงปาฐกถา หรือการแสดงศิลปกรรมต่อประชาชน หรือการสร้างสถาปิตยกรรมซึ่งเป็นศิลป

"ผู้ประพันธ์" ให้กินความถึงผู้แต่งเพลงดนตรี ผู้ทำหรือก่อให้เกิดซึ่งศิลปกรรม เช่น ช่างเขียน ช่างภาพหุ่น สถาปนิก ฯลฯ ด้วย

"หนังสือพิมพ์" หมายความว่า วรรณกรรมที่ตีพิมพ์ขึ้นในภาษาใด ๆ ซึ่งมีข่าว หรือแสดงความเห็น หรือประกาศแจ้งความอย่างใด ๆ รวมทั้งหนังสือรีวิวและแมกกาซินซึ่งโฆษณาหรือที่เห็นได้ว่ามีเจตนาจะโฆษณาเป็นระยะเวลามีกำหนดหรือเป็นครั้งคราวไม่มีกำหนด


มาตราภายในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ประพันธ์วรรณกรรมและศิลปกรรมมีสิทธิจะได้ลิขสิทธิ์

(ก)ถ้าวรรณกรรมและศิลปกรรมนั้นได้โฆษณาอยู่แล้ว ได้โฆษณาในพระราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก และ

(ข)ถ้าวรรณกรรมและศิลปกรรมนั้นยังไม่ได้โฆษณาในวันที่ก่อให้เกิดวรรณกรรมและศิลปกรรมนั้นขึ้น ผู้ประพันธ์เป็นคนในบังคับสยามหรือมีถิ่นที่อยู่ในพระราชอาณาจักร

มาตราคำแปลหรือแปลงมาใช้ หรือการจัดลำดับแห่งดนตรี การทำซ้ำแต่เปลี่ยนรูปเสียใหม่ซึ่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมชิ้นเดียวหรือหลายชิ้นรวมกัน ท่านว่า ย่อมได้รับความคุ้มครองเหมือนหนึ่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมที่คิดขึ้นเอง แต่ท่านมิให้เป็นเหตุเสื่อมสิทธิของผู้ประพันธ์เดิม

มาตราเรื่องที่แต่งเป็นตอนติดต่อกัน และนิยายต่าง ๆ บรรดาที่โฆษณาออกมาในหนังสือพิมพ์นั้น ท่านห้ามมิให้ผู้ใดเอาเรื่องเหล่านั้นในภาษาเดิมก็ดี หรือคำแปลก็ดี มาโฆษณาซ้ำอีกโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ประพันธ์ก่อน

บทบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับถึงเรื่องอื่น ๆ ในหนังสือพิมพ์ด้วย ถ้าผู้ประพันธ์หรือบรรณาธิการได้บอกไว้โดยชัดแจ้งในหนังสือพิมพ์ฉะบับที่โฆษณาออกมานั้นว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเอาไปโฆษณาซ้ำ ถ้าเป็นหนังสือประจำคาบไซร้ การห้ามนั้นได้กล่าวไว้โดยใช้ถ้อยคำทั่ว ๆ ไปในตอนต้นแห่งหนังสือทุกคราวแล้ว ท่านว่า เท่านั้นเป็นการเพียงพอ

ถ้าไม่มีการห้ามไว้ดั่งกล่าวนั้นไซร้ ท่านว่า จะโฆษณาซ้ำก็ได้ แต่ต้องบอกไว้ด้วยว่าเรื่องมาจากไหน การห้ามนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับถึงเรื่องแห่งข้อโต้เถียงทางการเมือง ข่าวประจำวัน หรือรายงานเหตุเบ็ดเตล็ด

ผู้ประพันธ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะโฆษณาซึ่งวรรณกรรมของตนด้วยวิธีใด ๆ เว้นแต่จะขัดด้วยข้อสัญญาพิเศษ

มาตราผู้ประพันธ์นาฏกียกรรมหรือนาฏกีย-ดนตรีกรรมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะนำออกเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นนำออกเล่นแสดงต่อประชาชนซึ่งนาฏกียกรรมหรือนาฏกีย-ดนตรีกรรมของตน ไม่ว่านาฏกียกรรมหรือนาฏกีย-ดนตรีกรรมนั้นจะได้โฆษณาแล้วหรือยัง

ในระวางที่ยังคงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในคำแปล ท่านว่า ผู้ประพันธ์ย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่ผู้อื่นจะเอาคำแปลแห่งนาฏกียกรรมหรือนาฏกีย-ดนตรีกรรมของตนไปเล่นแสดงต่อประชาชนโดยมิได้รับอำนาจ

ผู้ประพันธ์ดนตรีกรรมที่ยังไม่ได้โฆณานั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่ผู้อื่นจะนำดนตรีกรรมของตนไปเล่นแสดงต่อประชาชนโดยมิได้รับมอบอำนาจ ถ้าดนตรีกรรมนั้นได้โฆษณาแล้ว ท่านว่า ผู้ประพันธ์จะได้รับความคุ้มครองในการที่ผู้อื่นเอาไปเล่นแสดงต่อประชาชนโดยมิได้รับอำนาจ ก็ต่อเมื่อผู้ประพันธ์ได้บอกไว้โดยชัดแจ้งที่หน้าปกหรือตอนเริ่มต้นแห่งดนตรีกรรมนั้นว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเอาไปเล่นแสดง

มาตราผู้ประพันธ์ดนตรีกรรมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะมอบอำนาจให้

(๑)ทำดนตรีกรรมนั้น ๆ เพื่อให้ใช้ได้ด้วยเครื่องกลอันทำให้เกิดเสียงดนตรีนั้นขึ้นอีก

(๒)แสดงดนตรีกรรมนั้นด้วยเครื่องกลนั้น ๆ ต่อประชาชน

บทบัญญัติมาตรานี้ ท่านมิให้ใช้บังคับถึงดนตรีกรรมซึ่งได้ทำให้ใช้ด้วยเครื่องกลก่อนใช้พระราชบัญญัตินี้

มาตรา๑๐ผู้ประพันธ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำวรรณกรรม วิทยาศาสตรกรรม หรือศิลปกรรมของตนเป็นภาพยนตร์แสดงให้ประชาชนดู

ในการจัดแบบการแสดงหรือจัดลำดับเนื้อเรื่องแห่งภาพยนตร์ ถ้าผู้ประพันธ์ได้ทำให้มีลักษณะที่เป็นของตนเองโดยฉะเพาะหรือมีลักษณะที่คิดขึ้นเองไซร้ ท่านว่า ภาพยนตร์นั้นได้รับความคุ้มครองเหมือนหนึ่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรม แต่ถ้าลักษณะเช่นว่านั้นไม่มีไซร้ ท่านว่า ได้รับความคุ้มครองอย่างรูปถ่าย

การนำวรรณกรรม วิทยาศาสตรกรรม หรือศิลปกรรมมาทำเป็นภาพยนตร์นั้น ท่านว่า ได้รับความคุ้มครองเหมือนหนึ่งเป็นของคิดขึ้นใหม่ แต่ทั้งนี้ ท่านว่า ไม่เป็นเหตุเสื่อมสิทธิของผู้ประพันธ์วรรณกรรม วิทยาศาสตรกรรม หรือศิลปกรรมซึ่งนำมานั้น

บทบัญญัติข้างต้นนี้ให้ใช้บังคับถึงการทำซ้ำหรือการทำขึ้นโดยวิธีการอย่างอื่น ๆ ซึ่งมีทำนองเดียวกับภาพยนตร์

มาตรา๑๑การทำซ้ำดั่งต่อไปนี้ ท่านว่า ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ คือ การถือเอาซึ่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมของผู้อื่นโดยทางอ้อมและโดยที่เจ้าของมิได้ให้อำนาจ เป็นต้นว่า เอาไปแปลงรูป หรือจัดดนตรี หรือเปลี่ยนเรื่องอ่านเล่น นิยาย หรือกาพย์กลอน เป็นนาฏกียกรรม หรือเปลี่ยนนาฏกียกรรมเป็นเรื่องอ่านเล่น นิยาย หรือกาพย์กลอน ไม่ว่าจะได้ทำโดยเป็นการทำซ้ำตามรูปเดิม หรือแปลงรูป แต่มิได้เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม หรือย่นย่อในข้อสำคัญ และไม่มีลักษณะที่เป็นวรรณกรรมหรือศิลปกรรมที่คิดขึ้นใหม่

มาตรา๑๒ภายในบังคับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ประพันธ์วรรณกรรมหรือศิลปกรรมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แห่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้น โดยเงื่อนไขดั่งต่อไปนี้

(ก)ถ้าเป็นรูปที่พิมพ์จากแผ่นแกะ รูปถ่าย หรือรูปภาพ เมื่อแม่พิมพ์หรือสิ่งอื่นซึ่งเทียบได้กับแม่พิมพ์นั้นมีผู้อื่นสั่งทำ และได้ทำโดยมีราคาสินจ้างไซร้ ถ้ามิได้มีข้อสัญญาไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่า บุคคลผู้สั่งทำแม่พิมพ์หรือสิ่งอื่นซึ่งเทียบได้กับแม่พิมพ์นั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

(ข)ถ้าผู้ประพันธ์เป็นลูกจ้างแรงงานหรือเป็นลูกมือฝึกหัดผู้ประพันธ์ได้ทำวรรณกรรมหรือศิลปกรรมขึ้นในหน้าที่ผู้รับจ้าง และมิได้มีข้อสัญญาไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่า บุคคลผู้จ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ถ้าวรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้นเป็นเรื่องหรือข่าวส่งให้หนังสือพิมพ์ แมกกาซิน หรือหนังสือพิมพ์ประจำคาบอันคล้ายคลึงกันไซร้ ถ้ามิได้มีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ท่านว่า ผู้ประพันธ์มีสิทธิจะห้ามการโฆษณาวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้น ๆ ในที่อื่นนอกจากที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งหนังสือพิมพ์ แมกกาซิน หรือหนังสือประจำคาบนั้น ๆ

(ค)ถ้าวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้นได้ทำขึ้นหรือโฆษณาโดยหรือในคำสั่งหรือความควบคุมของรัฐบาลไซร้ ถ้ามิได้มีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ท่านว่า ลิขสิทธิ์เป็นของรัฐบาล

มาตรา๑๓ท่านว่า ลิขสิทธิ์นั้นโอนได้ทางมฤดกหรือทางอื่น

เจ้าของลิขสิทธิ์แห่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมจะโอนสิทธิทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตลอดหรือไม่ตลอดอายุของลิขสิทธิ์ก็ได้ และจะให้ประโยชน์อันเกิดแต่ลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่นก็ได้ แต่ท่านว่า การโอนสิทธิหรือให้ประโยชน์เช่นนั้นไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเจ้าของหรือตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากเจ้าของ


มาตรา๑๔ท่านว่า ลิขสิทธิ์มีอายุตลอดชีวิตผู้ประพันธ์ และต่อไปอีกสามสิบปี ส่วนที่ออกโฆษณาเป็นตอน ๆ อายุแห่งความคุ้มครองเริ่มแต่วันโฆษณาตอนนั้น ๆ

ถ้าผู้ประพันธ์ตายก่อนโฆษณา ท่านว่า อายุลิขสิทธิ์มีกำหนดสามสิบปีเริ่มแต่วันโฆษณา

มาตรา๑๕ถ้าหลายคนเป็นผู้ประพันธ์ร่วมกัน ท่านว่า อายุลิขสิทธิ์มีกำหนดตลอดชีวิตผู้ประพันธ์ และต่อไปอีกสามสิบปีเริ่มแต่วันตายของผู้ประพันธ์ผู้ตายหลังที่สุด

มาตรา๑๖อายุลิขสิทธิ์แห่งรูปถ่ายหรือรูปที่ทำขึ้นโดยวิธีคล้ายคลึงกับการถ่ายรูป ท่านว่า มีกำหนดสามสิบปีเริ่มแต่วันถ่ายหรือทำรูปนั้นขึ้น

มาตรา๑๗อายุลิขสิทธิ์แห่งแผ่นเสียง กระดาษม้วนเจาะรู หรือสิ่งซึ่งทำโดยวิธีอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดเสียงซ้ำได้ด้วยเครื่องกลนั้น ท่านว่า มีกำหนดสามสิบปีเริ่มแต่วันที่ได้ทำแผ่นเดิมซึ่งเป็นที่มาแห่งสิ่งนั้น ๆ

มาตรา๑๘อายุลิขสิทธิ์แห่งภาพยนตร์ ท่านว่า มีกำหนดสามสิบปีเริ่มแต่วันถ่าย

มาตรา๑๙อายุลิขสิทธิ์แห่งหนังสือพิมพ์ ท่านว่า คาบหนึ่ง ๆ มีกำหนดสามสิบปีเริ่มแต่วันที่ลงในคาบนั้น ๆ

สิทธิของผู้ประพันธ์เรื่องที่แต่งเป็นตอนติดต่อกัน หรือเรื่องอื่น ๆ ในหนังสือพิมพ์นั้น ท่านว่า ให้อยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๔


มาตรา๒๐ผู้ใดมิได้รับความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กระทำการซึ่งพระราชบัญญัตินี้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว ท่านว่า ผู้นั้นละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การกระทำต่อไปนี้ ท่านไม่ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

(๑)การใช้โดยธรรมซึ่งสิ่งมีลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์แห่งการร่ำเรียนส่วนตัว การค้นหาความรู้ การติชม วิจาร หรือการย่อหนังสือพิมพ์

(๒)การทำหรือโฆษณาภาพระบายสี ภาพวาดเขียน ภาพแกะ หรือรูปถ่ายแห่งภาพหุ่นหรือการช่างทางศิลป ถ้าภาพหุ่นหรือการช่างทางศิลปนั้น ๆ ตั้งประจำอยู่ณที่สาธารณหรือในโรงเรือนสาธารณ หรือการทำหรือโฆษณาภาพระบายสี ภาพวาดเขียน ภาพแกะ หรือรูปถ่ายแห่งสถาปิตยกรรมซึ่งเป็นศิลป

(๓)การนำมาโฆษณารวมกันเพื่อประโยชน์การศึกษา วิทยาศาสตร์ หรือประชุมชิ้นวรรณคดี ซึ่งความอันคัดมาสังเขปหรือคำแปลสังเขปอันยาวพอควรจากวรรณกรรมหรือศิลปกรรม หรือทำซ้ำซึ่งรูปศิลปและรูปถ่าย ในเมื่อการทำซ้ำนั้นเป็นเครื่องให้เข้าใจคำที่อธิบายเป็นหนังสือ แต่การทำเช่นนี้ต้องแสดงที่มาแห่งสิ่งซึ่งมีลิขสิทธิ์นั้นไว้ด้วย

(๔)การโฆษณาสิ่งเล่านี้ในหนังสือพิมพ์ คือ รายงาน ปาฐกถา กถาอื่น หรือเทศนาที่ได้แสดงต่อประชาชน หรือคำแถลงการณ์ที่ได้กล่าวในทางอรรถคดี แต่ผู้ประพันธ์ทรงไว้ซึ่งสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะโฆษณาโดยวิธีอื่น

มาตรา๒๑ผู้ใดกระทำการดั่งต่อไปนี้ ท่านให้ถือว่า ผู้นั้นละเมิดลิขสิทธิ์ คือ

(ก)ขาย หรือให้เช่า หรือในทางค้า นำออกแสดง เสนอขาย หรือเสนอให้เช่า หรือ

(ข)แจกจ่ายเพื่อประโยชน์ในการค้า หรือ

(ค)แสดงต่อประชาชนเพื่อการค้า หรือ

(ง)สั่งเข้ามาในพระราชอาณาจักรเพื่อขายหรือให้เช่า

ซึ่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมอันตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นวรรณกรรมหรือศิลปกรรมที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์


มาตรา๒๒ถ้ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ ท่านว่า เจ้าของย่อมมีทางแก้โดยขอให้ห้าม ให้คิดบัญชี หรือขออย่างอื่นตามกฎหมายในเรื่องละเมิดสิทธิ

ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า วรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้นเป็นสิ่งอันมีลิขสิทธิ์อยู่ และให้สันนิษฐานไว้ก่อนด้วยว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จำเลยจะได้ตั้งประเด็นเถียงว่าไม่มีใครมีลิขสิทธิ์ หรือเถียงสิทธิของโจทก์ ถ้ามีประเด็นเช่นนั้น ท่านว่า

(ก)ถ้าชื่อซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของพิมพ์ไว้หรือแสดงไว้ตามแบบธรรมดาไซร้ ถ้ามิพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อพิมพ์หรือแสดงไว้นั้นเป็นผู้ประพันธ์ในส่วนศิลปวัตถุและรูปถ่ายนั้น เครื่องหมายบ่งฉะเพาะของผู้ประพันธ์ซึ่งตราไว้นั้นมีผลเช่นเดียวกับชื่อ

(ข)ถ้าไม่มีชื่อพิมพ์หรือแสดงไว้ หรือถ้าชื่อที่พิมพ์หรือแสดงไว้นั้นมิใช่ชื่อของผู้ประพันธ์หรือชื่อซึ่งทราบกันทั่วไปว่าเป็นชื่อของผู้ประพันธ์ และมีชื่อซึ่งอ้างว่าเป็นชื่อผู้โฆษณา หรือชื่อเจ้าของได้พิมพ์หรือแสดงไว้ตามแบบธรรมดาไซร้ ถ้ามิพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ว่าบุคคลซึ่งมีชื่อพิมพ์หรือแสดงไว้นั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

มาตรา๒๓สำเนาจำลองละเมิดลิขสิทธิ์แห่งสิ่งอันมีลิขสิทธิ์อยู่ จะเป็นทั้งชิ้นหรือแต่ส่วนมากก็ดี แม่พิมพ์ที่ใช้แล้วหรือตั้งใจจะใช้ในการทำให้เกิดสำเนาจำลองเช่นว่านั้นก็ดี ท่านให้ถือว่า เป็นทรัพย์สินของเจ้าของลิขสิทธิ์ และเจ้าของลิขสิทธิ์จะฟ้องเรียกทรัพย์สินนั้นก็ได้

มาตรา๒๔คดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ท่านมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันละเมิด


มาตรา๒๕ผู้ใดรู้อยู่แล้ว

(ก)บังอาจทำขึ้นเพื่อขายหรือให้เช่าซึ่งสำเนาจำลองละเมิดสิทธิแห่งสิ่งอันมีลิขสิทธิ์อยู่ก็ดี หรือ

(ข)ขาย หรือให้เช่า หรือในทางค้า นำออกแสดง เสนอขาย หรือเสนอให้เช่า ซึ่งสำเนาจำลองละเมิดสิทธิก็ดี หรือ(ค)แจกจ่ายสำเนาจำลองละเมิดสิทธิเพื่อประโยชน์ในการค้าก็ดี หรือ

(ฆ)เพื่อการค้า นำออกแสดงในที่สาธารณซึ่งสำเนาจำลองละเมิดสิทธิก็ดี หรือสั่งหรือนำเข้ามาในประเทศสยามซึ่งสำเนาจำลองละเมิดสิทธิเพื่อขายหรือให้เช่าก็ดี

ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาททุกสำเนาจำลอง แต่มิให้เกินห้าร้อยบาทสำหรับการค้ารายหนึ่ง

ผู้ใดรู้อยู่แล้วบังอาจทำหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งแม่พิมพ์เพื่อทำสำเนาจำลองละเมิดลิขสิทธิ์ หรือรู้อยู่แล้วแต่เพื่อหากำไรบังอาจยังให้มีการเล่นแสดงหรือนำออกแสดงในที่สาธารณซึ่งสิ่งมีลิขสิทธิ์ โดยมิได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

ผู้ใดต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดซ้ำภายในห้าปี และความผิดครั้งก่อนและครั้งหลังเป็นความผิดตามบทบัญญัติในมาตรานี้ ท่านว่า ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับตามอัตราอย่างสูงที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา๒๖ผู้ใดละเมิดบทบัญญัติวรรค ๓ แห่งมาตรา ๗ หรือละเมิดบทบัญญัติในอนุมาตรา (๓) แห่งมาตรา ๒๐ อันเกี่ยวด้วยการสำแดงที่มาแห่งสิ่งซึ่งมีลิขสิทธิ์ ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา๒๗คดีละเมิดตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ท่านว่า ให้ฟ้องได้ต่อเมื่อเจ้าทุกข์ว่ากล่าวขึ้น


มาตรา๒๘ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขต่อไปนี้ ท่านว่า บทแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับถึงวรรณกรรมหรือศิลปกรรมที่ได้โฆษณาในต่างประเทศซึ่งเป็นสมาชิกแห่งสันนิบาตลิขสิทธิ์เหมือนหนึ่งว่าได้โฆษณาเป็นครั้งแรกในพระราชอาณาจักร และใช้บังคับถึงวรรณกรรมและศิลปกรรมซึ่งผู้ประพันธ์ในขณะที่ทำวรรณกรรมและศิลปกรรมนั้นเป็นคนในบังคับหรือพลเมืองหรือมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งเป็นสมาชิกแห่งสันนิบาตลิขสิทธิ์ เหมือนกับผู้ประพันธ์เป็นคนในบังคับหรือพลเมืองหรือมีถิ่นที่อยู่ในกรุงสยาม แต่ถ้าอายุแห่งความคุ้มครองในประเทศที่เกิดวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้นกำหนดไว้ต่ำกว่าที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ไซร้ ท่านว่า อายุแห่งความคุ้มครองในพระราชอาณาจักรต้องไม่เกินกว่ากำหนดอายุแห่งความคุ้มครองในประเทศที่เกิดนั้น

มาตรา๒๙การรับประโยชน์แห่งสิทธิตามหมวดนี้ ท่านว่า ต้องอยู่ในบังคับแห่งวิธีการและเงื่อนไขดั่งต่อไปนี้

(ก)เมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกฎหมายของประเทศที่เกิดแห่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้นได้กำหนดไว้

(ข)ถ้าเป็นวรรณกรรมหรือนาฏกียกรรม เมื่อล่วงกำหนดสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งโฆษณาไปแล้ว สิทธิที่จะห้ามมิให้ทำขึ้น ทำซ้ำ เล่นแสดงในที่สาธารณ หรือโฆษณาซึ่งคำแปลจะทรงไว้ได้ต่อเมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ให้อำนาจผู้อื่นแปลวรรณกรรมหรือนาฏกียกรรมนั้นในภาษาซึ่งต้องการจะป้องกันมิให้ผู้อื่นแปล และได้โฆษณาคำแปลนั้นแล้วภายในพระราชอาณาจักรก่อนล่วงพ้นกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น

มาตรา๓๐ประเทศที่เกิดแห่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้น กำหนดดั่งนี้

ถ้าเป็นวรรณกรรมหรือศิลปกรรมที่ไม่ได้โฆษณา ประเทศที่เกิด คือ ประเทศของผู้ประพันธ์

ถ้าได้โฆษณาแล้ว ประเทศที่เกิด คือ ประเทศที่ได้โฆษณาเป็นครั้งแรก

ถ้าได้โฆษณาพร้อมกันในหลายประเทศซึ่งเป็นสมาชิกแห่งสันนิบาตลิขสิทธิ์ ประเทศที่เกิด คือ ประทเศซึ่งกฎหมายบัญญัติอายุแห่งความคุ้มครองสั้นที่สุด

ถ้าได้โฆษณาพร้อมกันในหลายประเทศซึ่งมิได้เป็นสมาชิกและในประเทศซึ่งเป็นสมาชิดแห่งสันนิบาตลิขสิทธิ์ ประเทศที่เกิด คือ ประเทศซึ่งเป็นสมาชิก

มาตรา๓๑ท่านให้ใช้บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ตั้งแต่วันที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระวางประเทศ ว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำณกรุงเบอร์นเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๘๖ ซึ่งได้แก้ไขณกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๘ และสำเร็จบริบูรร์ด้วยโปรโตคลเพิ่มเติม ลงนามณกรุงเบอร์นเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๔


มาตรา๓๒พระราชบัญญัตินี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงวรรณกรรมและศิลปกรรมซึ่งมีอยู่แล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ และยังมิได้ตกเป็นสาธารณสมบัติเพราะเหตุที่ล่วงพ้นอายุแห่งความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้

วรรณกรรมอันได้โฆษณาในพระราชอาณาจักรก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ และตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น ท่านว่า ได้ประโยชน์ในส่วนอายุแห่งความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเก่าอันออกนามมาแล้ว หรือตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่อายุในพระราชบัญญัติไหนจะนานกว่า

มาตรา๓๓กิจการอันไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ แต่ได้กระทำขึ้นก่อนใช้พระราชบัญญัตินี้ และเมื่อเวลากระทำเป็นการชอบด้วยกฎหมายที่ใช้อยู่ไซร้ ท่านห้ามมิให้นำมาฟ้องเป็นคดี

สำเนาจำลองอันชอบด้วยกฎหมายตามความในวรรคก่อน ยังมีอยู่เมื่อใช้พระราชบัญญัตินี้ ท่านว่า คงจำหน่ายจ่ายแจกได้ต่อไป ถ้าเป็นคำแปลหรือสิ่งที่ทำซ้ำอย่างอื่นซึ่งอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่า เจ้าของลิขสิทธิ์แห่งคำแปลหรือสิ่งที่ทำซ้ำอย่างอื่นนั้นนำออกจำหน่ายจากแจกได้ แม้เมื่อใช้พระราชบัญญัตินี้แล้ว

ประกาศมาณวันที่ ๑๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๔ เป็นปีที่ ๗ ในรัชชกาลปัจจุบัน

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๘ วันที่ ๒๑ มิถุนายน หน้า ๑๒๗)