ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชชกาลที่ 8/เล่ม 2/เรื่อง 36
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗)
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า เป็นการสมควรที่จะวางหลักกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อทำกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือทำการเหมืองแร่ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย
จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗”
มาตรา๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ให้ยกเลิกบทบัญญัติในส่วนที่ ๒ ภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔ บทบัญญัติมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พุทธศักราช ๒๔๖๑ และบทบัญญัติในกฎหมายอื่นใดซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
ส่วนบทบัญญัติมาตรา ๑๒๒ และ ๑๕๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔ บทบัญญัติมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวงที่ได้รับสัมประทาน พุทธศักราช ๒๔๗๓ หรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นใดซึ่งกำหนดให้ใช้โดยตรงหรือโดยอนุโลมซึ่งบทบัญญัติในส่วนที่ ๒ ภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔ อันพระราชบัญญัตินี้ได้ยกเลิกเสียแล้วนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยตรงหรือโดยอนุโลม
มาตรา๔ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“การเวนคืน” หมายความว่า การบังคับเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามเงื่อนไขแห่งพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า กระทรวง กรมในรัฐบาล หรือทะบวงการเมืองอื่น หรือบุคคลผู้กระทำการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งมีอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ ที่ได้รับอำนาจให้กระทำหรือควบคุมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้
มาตรา๕อสังหาริมทรัพย์ซึ่งรัฐบาลต้องการเพื่อกิจการใด ๆ อันเป็นสาธารณูปโภคหรือเพื่อการเหมืองแร่นั้น เมื่อมิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๖เมื่อรัฐบาลได้ตกลงจะกระทำกิจการใดอันเกี่ยวแก่สาธารณูปโภค แต่ยังมิได้ทำการสำรวจที่ที่เจาะจงให้แน่นอนไซร้ จะได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่คิดว่าจะเวนคืนนั้นขึ้นฉะบับหนึ่ง
ในพระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุ
(ก)ความประสงค์ที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์
(ข)เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์
(ค)กำหนดเขตต์ที่ดินที่ต้องเวนคืน
ให้มีแผนที่หรือแผนผังประเมินเขตต์ที่ดินในบริเวณที่คิดว่าจะต้องเวนคืน และแสดงเขตต์ที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ประเมินนั้นเป็นราย ๆ ติดไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น แผนที่หรือแผนผังที่กล่าวมานี้ให้ถือว่าเป็นส่วนแห่งพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาเช่นว่านี้มีอายุสองปี หรือตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้นแต่ต้องไม่เกินห้าปี แล้วแต่จะเห็นว่าจำเป็นเพื่อทำการสำรวจที่ดินที่เจาะจงต้องเวนคืนนั้น
มาตรา๗ภายในกำหนดอายุแห่งพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตราก่อน เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปกระทำกิจการใด ๆ ในที่ดินซึ่งอยู่ภายในเขตต์ตามแผนที่เท่าที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อการสำรวจ แต่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ปกครองทรัพย์สินโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องได้รับคำบอกกล่าวถึงกิจการที่ต้องกระทำไม่น้อยกว่าสามวันก่อนเริ่มกระทำกิจการนั้น และชอบที่จะได้รับค่าทดแทนสำหรับความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากการที่กระทำนั้น
มาตรา๘เมื่อได้กระทำการสำรวจที่ซึ่งต้องเวนคืนตลอดทั้งหมดหรือฉะเพาะแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ให้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อีกฉะบับหนึ่งเพื่อให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้ระบุที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องเวนคืน พร้อมทั้งนามเจ้าของหรือผู้ปกครองทรัพย์สินโดยชอบด้วยกฎหมาย
ให้มีแผนที่หรือแผนผังแสดงเขตต์ทรัพย์สินที่เวนคืนอย่างชัดเจนไว้ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้ถือว่าแผนที่หรือแผนผังนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินั้น
เขตต์ที่ดินนั้นต้องปักหลักหมายเขตต์ไว้โดยชัดเจนก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติ
มาตรา๙นอกจากที่จะต้องโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ท่านให้เจ้าหน้าที่มอบสำเนาอันแท้จริงแห่งพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติดั่งกล่าวในมาตรา ๖ และ ๘ พร้อมทั้งแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัตินั้น ๆ ไว้ณสถานที่เหล่านี้ คือ
ก.ที่ทำการเจ้าหน้าที่
ข.ที่ทำการข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตั้งอยู่
ค.ที่ว่าการอำเภอหรือหอทะเบียนที่ดิน (ถ้าหากมี) ในตำบลซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตั้งอยู่
สำเนาพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติ และแผนที่ซึ่งมอบไว้นั้น ให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้โดยไม่คิดมูลค่า
มาตรา๑๐นับตั้งแต่วันโฆษณาพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดั่งกล่าวมาในมาตรา ๘ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตกมาเป็นของเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่จะมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินค่าทำขวัญแล้วตามที่บัญญัติไว้ในมาตราต่อไป
ตั้งแต่วันโฆษณาพระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ท่านว่า บรรดาการจำนองบุริมสิทธิหรือทรัพย์สิทธิซึ่งมีอยู่ในส่วนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเวนคืนนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง แต่สิทธิของผู้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับชดใช้จากเงินค่าทำขวัญ (ถ้าหากมี) นั้นยังคงมีอยู่ แต่ผู้รับประโยชน์จะต้องร้องขอรับชำระจากเงินค่าทำขวัญนั้นภายในหนึ่งเดือนนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ หรือถ้าเงินค่าทำขวัญนั้นให้แก่เจ้าของทรัพย์สินในวันใดภายหลัง ก็ต้องร้องขอเสียก่อนวันนั้น
ตั้งแต่วันโฆษณาพระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถ้าผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นโอนสิทธิให้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่ฉะเพาะเงินค่าทำขวัญเท่านั้น
มาตรา๑๑เงินค่าทำขวัญนั้น ท่านให้กำหนดให้แก่
(๑)เจ้าจองที่ดินที่ต้องเวนคืน
(๒)เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ซึ่งมีอยู่ในที่ดินนั้นในวันออกพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา ๖ หรือได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตพิเศษจากเจ้าหน้าที่
(๓)ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่ต้องเวนคืน แต่การเช่านั้นต้องมีหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่เป็นหนังสือ และได้ทำไว้ก่อนที่ออกพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา ๖ หรือได้ทำขึ้นภายหลังวันนั้นโดยได้รับอนุญาตพิเศษ และการเช่านั้นยังไม่ระงับไปในวันหรือก่อนวันที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าครอบครองที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างนั้น แต่เงินค่าทำขวัญในการเช่านี้พึงกำหนดให้ฉะเพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง ๆ โดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินหรือบ้านเรือนก่อนสัญญาเช่าระงับ
(๔)เจ้าของต้นไม้ยืนต้นซึ่งขึ้นอยู่ในที่ดินในวันออกพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา ๖ หรือปลูกขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตพิเศษ
(๕)เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อถอนได้ซึ่งอยู่ในที่ดินในวันออกพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา ๖ แต่เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อถอนได้นั้นต้องไม่เป็นผู้ที่จำต้องรื้อถอนสิ่งเหล่านั้นไปเมื่อเพียงแต่ได้รับแจ้งความของเจ้าของที่ดิน แต่เงินค่าทำขวัญดั่งกล่าวในอนุมาตรา ๕ นี้พึงกำหนดให้ฉะเพาะค่ารื้อขนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งค่าปลูกสร้างใหม่ด้วย
(๖)บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางหรือเสียสิทธิในการวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินซึ่งต้องเวนคืนตามมาตรา ๑๓๔๙ หรือ ๑๓๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อบุคคลเช่นว่านั้นได้ให้ค่าทดแทนในการที่ได้ใช้สิทธินั้น ๆ แก่เจ้าของที่ดินไปแล้ว
มาตรา๑๒เมื่อต้องเวนคืนโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างแต่เพียงส่วนหนึ่ง เจ้าของจะร้องขอให้เวนคืนส่วนที่ยังเหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้นั้นด้วยก็ได้
เมื่อมีข้อพิพาทกัน ท่านได้ตั้งอนุญาโตตุลาการดั่งที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘
มาตรา๑๓เนื่องจากการที่เวนคืนที่ดิน ถ้าเนื้อที่ดินแปลงใดที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่าร้อยตารางเมตรหรือด้านใดด้านหนึ่งต่ำกว่า ๑๐ เมตร เจ้าของจะร้องขอให้เวนคืนที่ดินนั้นหมดทั้งแปลงก็ได้ แต่ที่ดินที่เหลือนั้นต้องไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน
มาตรา๑๔เงินค่าทำขวัญที่จะให้แก่เจ้าของตามมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษใพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉะบับใดเป็นฉะเพาะแล้ว ให้กำหนดเท่าราคาทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนในวันที่ออกพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา ๖ ตามราคาที่ซื้อกันในตลาด โดยต้องไม่คิดหักจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้แก่ผู้รับประโยชน์ตามมาตรา ๑๐ วรรค ๒ และตามพฤตติการณ์พิเศษเป็นเรื่อง ๆ ไป
ถ้าต้องเวนคืนทรัพย์สินแต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นต้องลดน้อยถอยราคาลง ให้กำหนดเงินค่าทำขวัญให้ฉะเพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันลดน้อยถอยราคานั้นด้วย
ถ้าเจ้าของอยู่ในที่ดินหรือโรงเรือนซึ่งต้องเวนคืนนั้นก็ดี หรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่ดินหรือโรงเรือนนั้นก็ดี ให้กำหนดเงินค่าทำขวัญให้สำหรับการเสียหายจริง ๆ (ถ้าหากมี) ที่ผู้นั้นได้รับในการที่ต้องออกจากที่ดินหรือโรงเรือนนั้นด้วย
มาตรา๑๕ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้ทรัพย์สินที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษในขณะนั้นไซร้ ท่านให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักกับเงินค่าทำขวัญ
แต่ทั้งนี้มิให้ถือว่าราคาทรัพย์สินที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทำขวัญเพื่อจะให้เจ้าของทรัพย์สินต้องกลับใช้เงินให้อีก
มาตรา๑๖ห้ามมิให้คิดเงินค่าทำขวัญสำหรับราคาที่ดินที่สูงขึ้นเพราะทรัพย์สินเหล่านี้ คือ
(๑)โรงเรือนหรือสิ่งที่เพิ่มเติมการเพาะปลูกหรือการทำให้ที่เจริญขึ้นหรือการเช่าซึ่งได้ทำขึ้นภายหลังวันออกพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา ๖ โดยมิได้รับอนุญาตพิเศษจากเจ้าหน้าที่ เว้นแต่การทำนาหรือการทำสวนตามที่จัดทำอยู่ตามปกติ
(๒)โรงเรือนหรือสิ่งเพิ่มเติม การเพาะปลูกหรือการทำให้ที่เจริญขึ้น หรือการเช่า ซึ่งปรากฏว่าได้ทำขึ้นก่อนวันพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา ๖ โดยอุบายฉ้อฉลเพื่อประสงค์ที่จะได้รับเงินค่าทำขวัญ
มาตรา๑๗ภายในกำหนดสามเดือนนับตั้งแต่ประกาศพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้ว และเมื่อเจ้าหน้าที่ร้องขอรัฐบาลจะได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ ให้มีจำนวนกรรมการคณะหนึ่งสามคน คนหนึ่งเป็นพนักงานของเจ้าหน้าที่ อีกสองคนเป็นพนักงานกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงเศรษฐการ หรือกระทรวงการคลัง แล้วแต่จะเห็นเป็นการสมควร
คณะกรรมการนี้ให้มีหน้าที่ตรวจดูที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องเวนคืน และพยายามไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันในเรื่องจำนวนเงินค่าทำขวัญ
นามกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และตำบลท้องที่ซึ่งกรรมการจะออกไปกระทำการตามหน้าที่นั้น ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา๑๘เมื่อได้รับสำเนาพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้ว ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอจัดการให้กำนันผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ราษฎรในเขตต์ที่ที่เกี่ยวข้องให้ทราบข้อความในพระราชบัญญัตินั้น และจัดการโฆษณาให้ทราบโดยวิธีใดอื่นอีกเท่าที่จะทำได้ ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ปิดประกาศแจ้งความไว้ณที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งต้องเวนคืน และส่งประกาศแจ้งความให้แก่บรรดาบุคคลผู้มีสิทธิได้เงินค่าทำขวัญหรือรับชำระเงินจากค่าทำขวัญตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๐ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเจ้าพนักงานทราบได้จากทะเบียนที่ดินหรือจากทางอื่น โดยส่งประกาศแจ้งความให้บุคคลดั่งกล่าวแล้วนั้นเอง หรือโดยทางจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ และเจ้าพนักงานปกครองท้องที่จะต้องแจ้งให้บุคคลนั้น ๆ ทราบด้วยว่า จะต้องเสนอคำขอร้องต่อกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในเวลาที่มาตรวจ
มาตรา๑๙กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องแจ้งความล่วงหน้าให้อำเภอทราบถึงวันที่จะมาตรวจอย่างน้อยหนึ่งเดือน และเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ต้องแจ้งวันที่กำหนดนั้นให้ราษฎรในท้องที่ทราบทั่วกัน ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่แจ้งแก่บุคคลผู้ที่อ้างว่ามีสิทธิหรือประโยชน์ในส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์สินอันต้องเวนคืนให้ไปอยู่ด้วยตนเองในเวลาตรวจ หรือให้ผู้แทนไปเพื่อแจ้งการขอร้องของตนต่อกรรมการ
ผู้ที่มาเองไม่ได้หรือจะให้ผู้อื่นมาแทนไม่ได้นั้น ต้องทำเป็นเรื่องราวยื่นต่อที่ว่าการอำเภอก่อนวันที่กรรมการมาตรวจ
มาตรา๒๐เมื่อถึงวันกำหนดนัด ให้กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชี้แจงต่อหน้าผู้ที่เกี่ยวข้องหรือต่อหน้าผู้แทนให้ชัดเจนเท่าที่จะทำได้ว่า ทรัพย์สินใดบ้างซึ่งต้องการเวนคืนและมีกำหนดเขตต์เพียงใด ในกรณีที่หลักเขตต์ทำลายหรือศูนย์หาย ให้กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จัดการให้ปักหลักเขตต์เสียใหม่
กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องรับพิจารณาคำขอร้องทั้งที่เป็นหนังสือหรือด้วยวาจา ทั้งต้องพิจารณาเรื่องราวซึ่งมีผู้ยื่นไว้ต่ออำเภอตามความในมาตรา ๑๙ วรรคสุดท้ายด้วย
เมื่อมีข้อพิพาทกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิในทรัพย์สินอันต้องเวนคืนหรือด้วยเรื่องสิทธิอื่น ๆ ซึ่งทำให้บุคคลชอบที่จะเรียกเงินค่าทำขวัญได้ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการพยายามไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทนั้นให้เป็นที่ตกลงกันเสีย
ให้กรรมการทำบัญชีรายชื่อผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินอันต้องเวนคืน กับบัญชีรายชื่อผู้อ้างว่ามีสิทธิในทรัพย์สิน (นอกจากกรรมสิทธิ) ซึ่งควรจะได้รับเงินค่าทำขวัญ และบัญชีรายชื่อผู้ขอรับชำระเงินจากค่าทำขวัญ แบ่งแยกให้รู้ว่าเป็นคำขอร้องที่ไม่มีข้อโต้เถียงประเภทหนึ่ง และเป็นคำขอร้องที่ยังมีข้อโต้เถียงอีกประเภทหนึ่ง
ให้กรรมการปิดประกาศแจ้งความไว้ณที่ว่าการอำเภอแจ้งวันที่ได้ทำการตรวจเสร็จนั้นด้วย
มาตรา๒๑ให้กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทำความตกลงกับผู้มีสิทธิซึ่งไม่มีข้อโต้เถียง และพยายามทำความตกลงกันในเรื่องจำนวนเงินค่าทำขวัญอันจะต้องใช้ให้นั้น
เมื่อได้ตกลงกันในเรื่องนี้แล้ว ให้เขียนข้อตกลงและเงื่อนไขลงไว้ แล้วให้ทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพะยาน
เมื่อได้จ่ายเงินค่าทำขวัญตามที่ได้ตกลงกันนั้นแล้ว ให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินอันต้องเวนคืนนั้นได้
มาตรา๒๒ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ตกลงปรองดองกันได้ ให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือเสนอกำหนดราคาเด็ดขาดไปให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ
หนังสือเสนอราคาเด็ดขาดเช่นนี้ เมื่อมีใบรับหรือรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยมีพะยานอย่างน้อยสองคนลงนามรับรองว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งแก่ผู้รับโดยถูกต้องแล้ว ให้ถือว่าได้ส่งแก่ผู้รับแล้ว
มาตรา๒๓ถ้าคำเสนอของเจ้าหน้าที่ไม่มีคำสนองรับภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำเสนอนั้นไซร้ ท่านว่า คู่กรณีแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘ ได้
มาตรา๒๔ถ้าหาตัวบุคคลซึ่งจะเป็นผู้ได้รับเงินค่าทำขวัญไม่พบไซร้ ให้กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดจำนวนเงินค่าทำขวัญตามที่เห็นสมควร และวางเงินจำนวนนั้นไว้ต่อศาล
เมื่อได้วางเงินต่อศาลแล้ว ท่านว่า เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้
ถ้าภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันวางเงิน ผู้ชอบที่จะได้รับเงินค่าทำขวัญแสดงตนให้ปรากฏไซร้ ท่านว่า ผู้นั้นจะยอมรับเอาจำนวนเงินซึ่งกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์วางไว้หรือขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการก็ได้
เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีแล้ว ห้ามไม่ให้ร้องขอตั้งอนุญาโตตุลาการ และผู้ชอบที่จะได้รับเงินค่าทำขวัญจะร้องขออย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะขอรับเงินค่าทำขวัญที่วางไว้ต่อศาลดั่งกล่าวมาแล้วให้เป็นการเสร็จกันไป
มาตรา๒๕ถ้าก่อนที่ได้ใช้เงินค่าทำขวัญให้แก่อีกฝ่ายซึ่งชอบที่จะได้รับ หรือก่อนพ้นกำหนดหนึ่งปีดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นด้วยเรื่องกรรมสิทธิในทรัพย์สินซึ่งต้องเวนคืน หรือด้วยเรื่องการแบ่งส่วนแห่งเงินค่าทำขวัญไซร้ ท่านว่า ให้กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี พยายามไกล่เกลี่ยคู่พิพาททุกฝ่ายให้ปรองดองตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ
เมื่อทุกฝ่ายตกลงกันฉะเพาะจำนวนเงินค่าทำขวัญ แต่ไม่ตกลงกันในเรื่องส่วนแบ่งแล้ว ให้นำเงินจำนวนที่ตกลงกันไปวางศาล เงินจำนวนนี้ให้โอนหรือแบ่งตามคำพิพากษาของศาลหรือตามข้อตกลงแห่งคู่กรณี เมื่อได้วางเงินแล้ว ให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้
เมื่อไม่เป็นที่ตกลงกันได้ในจำนวนเงินค่าทำขวัญไซร้ ให้เจ้าหน้าที่บอกกล่าวเป็นหนังสือเสนอจำนวนเงินค่าทำขวัญเด็ดขาดไปยังคู่พิพาทดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ ถ้าคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับเอาตามจำนวนที่เสนอเช่นนั้นภายในเวลาสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ลงในหนังสือบอกกล่าวไซร้ ท่านว่า ทุกฝ่ายมีสิทธิขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘ ได้
เมื่อได้จ่ายเงินค่าทำขวัญเสร็จไปแล้ว หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีดั่งกล่าวมาข้างต้น ท่านว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลผู้ที่มาเสนอคำขอร้อง ผู้ขอร้องมีสิทธิแต่จะฟ้องร้องบุคคลผู้ได้รับเงินค่าทำขวัญไปหรือผู้ซึ่งมีนามว่าจะได้รับเงินที่วางไว้เท่านั้น
มาตรา๒๖เมื่อไม่ปรากฏผู้เป็นเจ้าของหรือบุคคลอื่นผู้ชอบที่จะได้รับเงินค่าทำขวัญหรือไม่มีคำร้องขอเช่นนั้นในเวลาหรือก่อนเวลากรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทำการตรวจ เจ้าหน้าที่จะเข้าครอบครองทรัพย์สินในเวลาใด ๆ ภายหลังการตรวจนั้นก็ได้ แต่เมื่อเสร็จการตรวจแล้ว บุคคลผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ชอบที่จะเรียกร้องเอาเงินค่าทำขวัญจากเจ้าหน้าที่ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ปฏิบัติตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ และ ๒๓
มาตรา๒๗ถ้าเจ้าหน้าที่อ้างว่า ผู้มาขอร้องในขณะหรือก่อนที่กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทำการตรวจนั้นเป็นผู้ไม่มีสิทธิอย่างใด ๆ ดั่งที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๑ ไซร้ ท่านว่า เจ้าหน้าที่จะขับไล่ผู้ขอร้องนั้นออกจากที่ไม่ได้ นอกจากจะฟ้องขอให้ขับไล่ต่อศาลซึ่งมีอำนาจ
เมื่อคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ศาลจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าครอบครองทรัพย์สินโดยมีเงื่อนไขอย่างใด ๆ (เช่น ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือให้วางเงิน เป็นต้น) ตามซึ่งศาลจะเห็นสมควรก็ได้
มาตรา๒๘ถ้าจะต้องตั้งอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่า ให้ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันว่าด้วยอนุญาโตตุลาการบังคับโดยอนุโลม
มาตรา๒๙ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ใช้เงินค่าทำขวัญซึ่งได้กำหนดไว้ตามที่ตกลงกันเอง หรือตามที่อนุญาโตตุลาการกำหนดให้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ตกลงกันหรือวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไซร้ ท่านให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
เงินค่าทำขวัญที่อนุญาโตตุลาการกำหนดให้นั้น ถ้าเกินกว่าจำนวนเงินที่ว่างไว้ตามความในมาตรา ๒๔ หรือ ๒๕ ไซร้ ให้คิดดอกเบี้ยอย่างเดียวกันในจำนวนเงินที่เกินนั้น
มาตรา๓๐ถ้าฝ่ายซึ่งชอบที่จะได้รับเงินค่าทำขวัญปฏิเสธไม่ยอมรับเงินค่าทำขวัญซึ่งได้ตกลงกำหนดกันเองก็ดี หรืออนุญาโตตุลาการกำหนดให้ก็ดี เมื่อเจ้าหน้าที่ได้นำเงินค่าทำขวัญเช่นว่านั้นวางศาลแล้ว ท่านว่า เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินได้
มาตรา๓๑การร้องขอรับเงินที่วางไว้ต่อศาลนั้น ให้ร้องขอรับภายในห้าปีนับตั้งแต่วันวางเงิน ถ้าไม่ร้องขอภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ท่านให้ริบเงินนั้นและคืนให้เจ้าหน้าที่ไป
มาตรา๓๒เว้นแต่จะเป็นที่ดินของรถไฟ ถ้าภายในห้าปีนับแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ปรากฏว่า ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือแต่ส่วนใดมิได้เคยใช้หรือกำลังใช้ในการสาธารณูปโภคหรือในการเหมืองแร่อันเป็นความประสงค์ในการเวนคืนนั้นไซร้ เมื่อได้คืนเงินค่าทำขวัญที่ได้รับแล้ว ท่านว่า เจ้าของเดิม ทายาทของเจ้าของเดิม หรือผู้รับโอนมีสิทธิเรียกทรัพย์สินคืนได้ แต่การเรียกร้องเช่นนั้น ท่านว่า ต้องร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาห้าปีดั่งกล่าวมาแล้วข้างต้น และการส่งทรัพย์สินคืนเช่นว่านั้น ถ้าจะพึงมี ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ๑๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับ
มาตรา๓๓ถ้าเจ้าของหรือผู้อยู่ในทรัพย์สินซึ่งต้องเวนคืนไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นในเมื่อเจ้าหน้าที่มีสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ที่จะกระทำเช่นนั้นได้ไซร้ เมื่อเจ้าหน้าที่ฟ้อง ท่านว่า ศาลมีอำนาจสั่งให้ขับไล่ได้ทันที แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของเจ้าของหรือผู้อยู่ในทรัพย์สินในอันที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวในภายหลัง
มาตรา๓๔บรรดาการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัติจัดซื้อที่ดินซึ่งได้ประกาศก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ท่านว่า คงอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัตินั้น ๆ
(ตามมติคณะรัฐมนตรี)
รัฐมนตรี