ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ร.ศ.๑๑๕

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชปรารถในการก่อพระฦกษ์สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย

ศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ล่วงแล้ว ๒๔๓๙ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม จุลศักราช ๑๒๕๘ วานระ สังวัจฉระ ภัทรบทมาศ ชุษณปักษ สับตมีดิถี รวิวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๕ กันยายนมาศ เตรสมะมาสาหะคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตร วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศอุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรกรีบรมนารถ มหามกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์บูรพาดูลย์กฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคล ประสิทธิ สรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิ์สมญา พินิตประชานารถ เปรมกระมลขัตติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณคุณสาร สยามาทินครวรุฒ เมกราชดิลก มหาปริวารนายก อนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินทร อเนกชนนิกร สโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัติ นพปดลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหา บรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชโรดม บรมนารถ- ชาติอาชาไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสิตลหฤไทย อโนปไมยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกราชาธิราช บรมนรถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริห์ว่า

จำเดิมแต่ได้เสด็จเถลิง ถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเศกแล้วมาได้ทรงทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองเจริญขึ้นโดยลำดับ แต่พระสัทธรรมในพระบรมพุทธสาสนานี้ ย่อมมีเหตุปัจจัยอาศรัยกันแลกัน เมื่อพระปริยัติสัทธรรมเจริญแพร่หลายอยู่ พระปฏิบัติสัทธรรมจึ่งจะเจริญไพบูลได้ เมื่อพระปฏิบัติสัทธรรมไพบูลอยู่ พระปฏิเวทสัทธรรมจึงจะสมบูรณ์ได้ พระปริยัติสัทธรรมย่อมเป็นรากเหง้าเค้ามูลแห่งพระสาสนา ๆ จะดำรงอยู่แลเจริญขึ้นก็ด้วยพระปริยัติสัทธรรม การที่จะบำรุงพระปริยัติสัทธรรม อันเป็นรากเหง้าของพระพุทธสาสนาให้ไพศาลบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็ย่อมอาศรัยการบำรุงให้มีผู้เล่าเรียน แลที่เล่าเรียนให้สะดวกยิ่งขึ้น

การเล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรม ที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำรุงทั่วไปทุกพระอาราม แต่ยังหาเป็นอันนับว่าบริบูรณ์แท้ไม่ เพราะเป็นแต่สถานที่เล่าเรียนในชั้นต้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวิทยาลัยที่จะเล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูงขึ้น ๒ สถาน ๆ หนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกาย ให้ตั้งที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร พระอารามหลวง พระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกสถานหนึ่ง เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่าย มหานิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงนี้ มีนามว่า "มหาธาตุวิทยาลัย" ได้เปิดการเล่าเรียน แต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ ศก ๑๐๘ สืบมา แต่สังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุุวิทยาลัยนี้ ยังไม่เป็นที่สมควรแก่การเล่าเรียน ในสมัยที่การเรียนเจริญขึ้นสืบมานี้

จึงทรงพระราชดำริห์ที่จะทรงสร้างสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยนี้ขึ้นใหม่ให้เป็นสถานอันสมควรแก่การเล่าเรียน การนี้ยังอยู่ในระหว่างพระบรมราชดำริห์ ยังหาทันตลอดไม่พอประจวบ เวลาที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีพระราชประสูติกาล ณ วันพฤหัสบดี เดือนเจ็ด แรมสิบสองค่ำ ปีขาน สัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๔๐ ตรงกับ วันที่ ๒๗ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๙๗ เสด็จสวรรคต ล่วงไปในวันที่ ๔ มกราคม รัตนโกสินทร์ ๑๑๓ ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น เก้าค่ำ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๒๕๖

จึงทรงพระราชดำริห์ว่า โดยราชประเพณีที่มีมาแต่ก่อน เมื่อพระบรมวงศ์ที่ได้ดำรงพระเกียรติยศชั้นสูงสวรรคต ก็ได้เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ตามพระเกียรติยศ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเชิญพระศพไปประดิษฐาน พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุมาศนั้น ก็การทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่เช่นเคยมานั้น เป็นการเปลืองพระราชทรัพย์ ไปในสิ่งซึ่งมิได้ถาวร แลมิได้เป็นประโยชน์สืบเนื่องไปนาน เป็นการลำบากแก่คนเป็นอันมาก แลได้ประโยชน์ชั่วสมัยหนึ่ง แล้วก็อันตรธานไป

ครั้งนี้มีสมัยที่จะต้องทำการพระเมรุมาศขนาดใหญ่นั้นขึ้น ควรจะน้อมการทำพระเมรุมาศนั้นมารวมลงในการพระราชกุศล ส่วนสาสนูปถัมภนกิจวิทยาทาน วิหารทานการก่อสร้างสังฆิกเสนาสน์ สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยนี้ ให้พระราชกุศลบุญราศีส่วนทักษิณาทาน เนื่องในภารถาวรวัตถสถาน เป็นที่ตั้งแห่งสาสนธรรมสัมมาปฏิบัติแห่งพุทธบริษัท สัปปุริสชนสำเร็จประโยชน์ อิฐวิบูลผลสืบเนื่องไปตลอดกาลนานแล จะได้เป็นเหตุให้งดเว้นการทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ อันเป็นเครื่องเปลืองประโยชน์เปล่าดังพรรณนามาแล้วนั้น

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงษ์ เป็นผู้บัญชาการให้เจ้าพนักงาน ทำการก่อสร้าง วิทยาลัยยอดปรางค์ ๓ ยอด ล้วนแล้วด้วยถาวรภัณฑ์ อันมีกำหนดส่วนยาวแต่ทิศเหนือมาทิศใต้ ๘๘ วา ส่วนกว้างในทิศเหนือ แลทิศใต้นั้น ส่วนละ ๘ วา ๓ ศอก ส่วนกลางตั้งแต่ทิศตะวันตก มาทิศตะวันออก ๒๕ วา ส่วนกว้างในมุขใหญ่ ๑๑ วา ส่วนสูงในร่วมมุขยอดใหญ่นั้น ๒๒ วา ในร่วมยอดน้อยทั้ง ๒ แห่งละ ๑๖ วา ด้วยพระราชทรัพย์ ๕,๔๐๐ ชั่ง

เพื่อได้เป็นที่เชิญพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศล ทักษิณาทานมีการมหกรรมแล้ว จะได้เชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศขนาดน้อย ณ ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิง

เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนนี้เสร็จ แล้วจะได้ทรงพระราชอุทิศถวายถาวรวัตถุนี้ เป็นสังฆิกเสนาสน์ สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเปนที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมแลวิชาชั้นสูงสืบไปภายหน้า พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า "มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย" เพื่อให้ เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป

พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงษ์ ได้ทรงบัญชาการให้เจ้าพนักงานจับการก่อสร้างจำเดิมแต่การรื้อขนปราบแผ้ว ส่วนที่ควรทำนั้น มาแต่วันที่ ๒๔ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ บัดนี้ การทำรากสังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัยนี้ แล้วเสร็จควรจะวางศิลาฤกษ์ได้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุคำประกาศแสดงพระพระราชดำริห์อันนี้ แลแผนที่รูปถ่ายตัวอย่างสังฆิกเสนาสน์นั้น กับหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา อันเป็นหนังสือพิมพ์ราชการในสมัยนี้ เลือกคัดแต่ฉบับที่สมควร แลเหรียญที่รฤกในการพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งทองเงิน แลเบี้ยทองแดงซึ่งใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ลงในหีบศิลาพระฤกษ์แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์

ในที่นี้ ณ เวลาเย็นวันที่ ๑๒ กันยายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๕ รุ่งขึ้นเวลาเช้าวันที่ ๑๓ กันยายน พระสงฆ์ได้รับพระราชทานฉัน เวลาบ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยโดยเสด็จพระราชดำเนินมา ณ ที่ประชุมนี้ ครั้นถึงกำหนดศุภมหามงคลฤกษ ทรงวางศิลาพระฤกษ และอิฐปิดทอง ปิดเงิน ปิดนาค ซึ่งเปน อิฐฤกษลง ณ ที่อันจะได้ก่อสังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัยเปนประถม โดยนิยมแห่งโบราณราชประเพณีแล้ว นายช่างจะได้ทำการต่อไปให้สำเร็จโดยพระบรมราชประสงค์

ขอผลแห่งพระบรมราชประสงค์ซึ่งจะทรงบำรุงพระพุทธศาสนาให้สถิตย์สถาพร และจะให้วิทยาการแพร่หลาย อันเป็นทางมาแห่ง ประโยชน์ความศุขของมหาชนทั่วไปนี้ จงสำเร็จ โดยพระบรมราชประสงค์ จงทุกประการ เทอญ.

หมายเหตุ

[แก้ไข]


อ้างอิง

[แก้ไข]
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓ แผ่นที่ ๒๕ วันที่ ๒๐ กันยายน ร.ศ. ๑๑๕ หน้า ๒๖๕ - ๒๖๘