ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


พระราชโองการ
พระราชโองการ


ประกาศ
สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช[1]




สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่างลง สมควรที่จะสถาปนา สมเด็จพระราชาคณะขึ้นดํารงตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนา ให้สมบูรณ์สืบไป

จึ่งทรงพระราชดําริว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระผู้เจริญในสมณคุณยินดีในเนกขัมมปฏิบัติสมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร รัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม ดํารงสถาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและราชอาณาจักรอย่างไพศาลดังมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภาร ในประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะมหาสังฆนายกเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ แล้ว นั้น

ครั้นต่อมา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณ สามารถรับภารธุระพระพุทธศาสนา เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย ยังการพระศาสนาให้เรียบร้อยและเจริญมั่นคงยิ่งขึ้นเป็นลําดับตลอดมา ในการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานครเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงานพระธรรมทูต และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔ – ๑๕ (ธรรมยุต) ประธานกรรมการคณะธรรมยุต กรรมการเถรสมาคมธรรมยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและนายกกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้านการศึกษา รับเป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณร เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นประธานศูนย์ธรรมศึกษา ในสํานักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ เป็นกรรมการฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้จัดมอบทุนสนับสนุนและส่งเสริมแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์้งสามัญศึกษาและปริยัติศึกษา เพื่อให้ศิษยานุศิษย์มีโอกาสได้รับการศึกษาชั้นสูงยิ่งขึ้นด้านสาธารณูปการ เป็นประธานกรรมการควบคุมดูแลการปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามให้มีสภาพมั่นคงสง่างามดังที่ปรากฏในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังได้อุปการะการสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้แก่วัดต่าง ๆ เป็นจํานวนมาก ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ได้รับเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และสนับสนุนช่วยเหลือทางราชการในการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยต่าง ๆ ตามเหตุการณ์ทุกครั้ง ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้รับอาราธนาแสดงธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะ ให้แก่ผู้มารักษาศีลปฏิบัติธรรม เป็นผู้บุกเบิกนําพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย รวมทั้งได้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีรูปแบบ ทําให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคงในไพรัชประเทศ มีวัดและพระสงฆ์ไทยอยู่ประจําที่เครือรัฐออสเตรเลียหลายแห่ง รวมทั้งเป็นผู้แทนมหาเถรสมาคมในคราวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาวันสําคัญสากลของโลก ณ สํานักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต ดํารงมั่นในไตรสิกขามิได้เสื่อมถอย มีจริยาการสํารวมเรียบร้อย ไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส เป็นคุรุฐานียบัณฑิตผู้มีกิตติประวัติอันผ่องแผ้ว สงเคราะห์พุทธบริษัท ปกครองคณะสงฆ์ เป็นอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล เป็นที่เคารพสักการแห่งมวลพุทธศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑลตลอดจนประชาราษฎรทั่วไป สมควรจะได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึ่งมีพระราชโองการโปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธํารง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์ พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณสุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญ

ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป คือ พระมหาคณิสรพุทธศาสนิกนิกรปสาทาภิบาล สกลสังฆประธานมหาสถาวีรกิจการี นายกบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑ พระครูวินยาภิวุฒิ ๑ พระครูสุตตาภิรม ๑ พระครูวิจารณ์ธรรมกิจ พระครูพระปริต ๑ พระครูวิจิตรธรรมการ พระครูพระปริต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูโฆสิตสุทธสร พระครูคู่สวด ๑ พระครูอมรสรนาท พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิลาสบรรณวัตร ๑ พระครูพิพัฒบรรณกร ๑ พระครูสังฆวิธาน ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ขอให้พระคุณผู้ได้รับตําแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพรในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน


ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอน ๕ ข / ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ /หน้า ๑



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"