ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๒

จาก วิกิซอร์ซ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อาศัยความอำนาจในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32,33,34,36,38,41,43,45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรี จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร, จ.นนทบุรี อ.เมือง, จ.สมุทรปราการ อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง, จ.ปทุมธานี อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง, จ.นครปฐม อ.พุทธมณฑล และ อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

ด้วย ปรากฏว่าได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ การสื่อสาร หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายใน ที่จะมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายของแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะกระทำที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยการยุยงให้มีการกระทำความผิดต่อกฎหมาย

ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรง และเกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกส่วนหนึ่ง ดังเช่นการปิดถนน โดยมุ่งหมายให้เกิดความวุ่นวาย จนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศหยุดราชการ ในวันที่ 10 เมษายน 2552 มีการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่บริหารราชการสำคัญของประเทศ เข้าทำการขัดขวางและบุกยึดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2552 มีการขัดขวางการปฏิบัติราชการ และพยายามทำร้ายนายกรัฐมนตรีและหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสถาบันสูงสุด และบุคคลสำคัญของประเทศ

การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการชุนนุมโดยไม่สงบ ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจอันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย ของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

นายกรัฐมนตรี จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และ อ.วังน้อย อ.บางประอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี