ประกาศในการเลื่อนยศพระยาไทรบุรีเปนเจ้าพระยาไทรบุรี ลงวันที่ 29 สิงหาคม ร.ศ. 114 (รก.)
ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๘ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทคตินิยม เอฬกะสังวัจฉระ ภัทรบทมาศ ชุษณปักษ ทสมีดิถี ครุวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ สิงหาคมมาศ เอกูณติงสติมมาศาหคุณประเภท ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริห์ว่า พระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหมัด รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี เปนผู้ซึ่งได้ทรงคุ้นเคยแลทรงพระกรุณาโดยเฉพาะมาแต่ยังเยาว์ เพราะได้ทรงสังเกตเห็นอัธยาไศรยความมั่นคงหลักแหลมคล้ายคลึงกับเจ้าพระยาไทรบุรีผู้เปนบิดามาก เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เปนพระยาไทรบุรี ก็หวังพระราชหฤไทย์อยู่ว่า พระยาไทรบุรีคงจะปกครองไพร่บ้านพลเมืองให้มีความผาสุก แลทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นโดยความอุสาหะ อย่างเจ้าพระยาไทรบุรีได้ทำมาแต่ก่อน
ตั้งแต่พระยาไทรบุรีได้บังคับบัญชาราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณมาจนบัดนี้ ก็ได้ถึง ๑๕ ปี การที่พระยาไทรบุรีได้ปกครองแลทำนุบำรุงบ้านเมืองก็มีผลเปนความเจริญขึ้นโดยลำดับ สมดังที่ได้มีพระราชหฤไทยหวังนั้นทุกประการ
อิกประการหนึ่ง พระยาไทรบุรีได้มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทประจักษแก่พระราชหฤไทยมาแต่ก่อนฉันใด พระยาไทรบุรีก็ได้คงรักษาความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทอยู่มิได้เคลื่อนคลาศ แลหมั่นเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเนือง ๆ
อนึ่ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตก ได้เสด็จไปถึงเมืองไทรบุรี พระยาไทรบุรีก็ได้จัดการรับเสด็จโดยความเอื้อเฟื้อเต็มกำลังที่จะให้เปนพระเกียรติยศแลเปนศุขสำราญแก่บรรดาพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทซึ่งได้โดยเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นทั่วกัน มิได้คิดแก่ความลำบากเหน็ดเหนื่อยประการใด
อนึ่ง สรรพราชการที่มีเกี่ยวข้องกับเมืองไทรบุรี ทั้งการภายนอกแลภายใน พระยาไทรบุรีได้ปฏิบัติราชการโดยความซื่อสัตย์สุจริต แลมีอัธยาไศรยโอบอ้อมอารี เปนที่รักใคร่สรรเสริญของพลเมือง แลบรรดาข้าราชการ แลชนทั้งปวงเปนอันมาก ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ความชอบความดีของพระยาไทรบุรีตามที่กล่าวมานี้ สมควรจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เพิ่มอิศริยยศพระราชทานพระยาไทรบุรีให้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้เปนแบบอย่างแก่หัวเมืองประเทศราชทั้งปวง แลให้เปนความยินดีแก่ศรีตวันกรมการ ไพร่บ้านพลเมือง เมืองไทรบุรีทั่วกัน
จึ่งมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหมัด รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี ขึ้นเปนเจ้าพระยา มีอิศริยยศอย่างสูง รับราชทินนามตามตำแหน่งว่า เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุล
ต่านมหมัด รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวงษ์ผดุง ทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเฃตร ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี ได้รับเครื่องราชอิศริยาภรณ์สำหรับตระกูลเปนวิสามัญสมาชิกตำแหน่งที่ ๑ ชื่อ ปฐมจุลจอมเกล้า เปนเครื่องราชอิศริยาภรณ์อย่างสูงสุดสำหรับข้าราชการในกรุงสยาม ให้เปนเกียรติยศของกรุงเทพมหานคร ได้บังคับบัญชาญาติพี่น้องแลศรีตวันกรมการทั้งปวงบรรดาอยู่ในเฃตรแดนเมืองไทรบุรีทั้งสิ้น ตามที่เจ้าพระยาไทรบุรีแต่ก่อนได้บังคับบัญชามานั้น โดยยุติธรรมแลชอบด้วยราชการ จงเว้นการควรเว้น อุสาหะประพฤติการควรประพฤติ แลรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อกรุงเทพมหานคร ตามอย่างตามธรรมเนียมเจ้าพระยาไทรบุรีแต่ก่อนจงทุกประการ
แลให้ญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ทั้งปวง มีความสมัคสโมสร ช่วยเจ้าพระยาไทรบุรีคิดอ่านการนคร แลราษฎรมลายูนาครี ให้เกษมศรีสมบูรณ มีความเจริญขึ้น โดยความพร้อมพรักสามัคคีธรรมสุจริตทุกประการ
ขอให้สิ่งซึ่งเปนเหตุเปนประธานในสกลโลกจงอนุเคราะห์รักษาเจ้าพระยาไทรบุรี แลญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ทั้งปวง ให้เจริญศุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการเทอญ
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก