ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๐
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๐ จดหมายเหตุของพระณรงค์วิชิต ( จอน บุนนาค ) เรื่องราชทูตไทยไปประเทศฝรั่งเศส ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔
พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงศพ นายพันตรี หลวงศรีเสารุธ ( เจิม โชติดิลก ) เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
คำนำ นายพันโท พระยุธการบัญชา ( จอน โชติดิลก ) เสนาธิการกองพลทหารบกที่ ๓ มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ว่าจะทำการปลงศพสนองคุณ นายพันตรี หลวงศรีเสารุธ ( เจิม โชติดิลก) ผู้เปนบิดา มีศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือเปนของถวายแลจ่ายแจกเนื่องในการกุศลทักษิณานุปทานเวลาพระราชทานเพลิงศพสักเรื่องหนึ่ง ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ในการเลือกเรื่องหนังสือประจวบเวลาข้าพเจ้าปรารภอยู่ถึงหนังสือเรื่องหนึ่ง ด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้หอพระสมุด ฯ ได้พิมพ์จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยเรื่องราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรียังราชสำนักสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียเมื่อปีมะเสงในรัชกาลที่ ๔ ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเรื่องนั้นพากันกล่าวว่า หอพระสมุด ฯ ควรจะพิมพ์จดหมายเหตุของพระณรงค์วิชิตเรื่องราชทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรี ยังสำนักสมเด็จพระเจ้า นะโปเลียนที่ ๓ เอมเปอเรอฝรั่งเศส เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยอิกเรื่องหนึ่ง เพราะเปนจดหมายเหตุเรื่องทูตครั้งรัชกาลที่ ๔ มีอยู่ ๒ เรื่องด้วยกัน ที่จริงกรรมการหอพระสมุดฯ ได้ปราถนาจะพิมพ์จดหมายเหตุ ของพระณรงค์วิชิตมานานแล้ว แต่ติดขัดอยู่ด้วยหาฉบับไม่ได้จบเรื่องคิดเวลาที่ได้พยายามหาฉบับมาเห็นจะกว่า ๑๐ ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้ จึง ปลงใจทอดธุระว่าเห็นจะพ้นวิสัย ซึ่งจะหาฉบับให้จบได้เสียแล้ว จึงได้ชวนให้นายพันโท พระยุทธการบัญชา พิมพ์จดหมายเหตุพระณรงค์วิชิต
(๒) เพียงเท่าฉบับที่มีอยู่ ให้สมประสงค์ของผู้ซึ่งจะใคร่อ่านมีอยู่เปนอันมาก นายพันโท พระยุทธการบัญชา เห็นชอบด้วย จึงได้จัดพิมพ์ให้สำหรับแจกในงารศพนายพันตรี หลวงศรีเสารุธ เรื่องราวที่ราชทูตไทยไปต่างประเทศ ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงแสดงความไว้โดยพิสดาร อยู่ข้างต้นหนังสือจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยแล้ว จะยกเอามาพิมพ์ให้เต็มสำเนาในที่นี้อิกก็จะยืดยาวนัก จะกล่าวความแต่มูลเหตุซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรียังราชสำนักเจ้าแผ่นดินในยุโรป อัน เปนต้นเรื่องของจดหมายเหตุเรื่องนี้ คือ. เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษทรงแต่งให้ เซอ ยอน เบาริง เปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นแล เครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชวนให้กรุงสยามทำหนังสือสัญญา ตามแบบอย่างทางพระราชไมตรีใน ระหว่างต่างประเทศที่มีอิศระเสมอกัน ทูตอังกฤษเข้ามาคราวนั้น เข้าใจ ด้วยกันทั้งฝ่ายไทยแลฝ่ายอังกฤษ ว่าเปนการสำคัญกว่าทูตที่เคย เข้ามาคราวก่อน ๆ ด้วยเปนครั้งแรกที่เปนราชทูตเชิญพระราชสาส์น ของพระเจ้าแผ่นดินอันเปนมหาประเทศหนึ่งในยุโรป เข้ามายังกรุง รัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เซอ ยอน เบาริง เข้ามาคราวนั้นเปนอย่างเดียวกับราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์
( ๓ )
มหาราชครั้งกรุงเก่า จึงโปรดให้จัดการรับรองตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายน์รับราชทูตฝรั่งเศส ฝ่ายข้าง เซอ ยอน เบาริง ที่เข้ามานั้นก็ปราถนาจะให้ไทยรับรองให้เกียรติยศสูงกว่าเมื่อ ยอน ครอเฟิด แล เฮนรี เบอร์นี เปนทูตของผู้สำเร็จราชการหัวเมืองอินเดียของอังกฤษเข้ามาแต่ก่อน เตรียมหาจดหมายเหตุครั้งสมเด็จพระนารายน์รับราชทูตฝรั่งเศสเข้าไว้สอบทานการที่ไทยรับรอง เมื่อเห็นว่าการรับรองเปนทำนองเดียวกันก็พอใจ ได้กล่าวความอันนี้ไว้ในจดหมายเหตุของ
เซอ ยอน เบาริง ที่เข้ามาในคราวนั้น
ความปรากฎในจดหมายเหตุของ เซอ ยอน เบาริง ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เข้าเฝ้าในที่รโหฐานได้มีรับสั่งปรารภว่า มีพระราชประสงค์จะทรงแต่งทูตานุทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนถึงเมืองอังกฤษ แต่ยังขัดข้องอยู่ด้วยไม่มีเรือ
ที่จะไปถึงยุโรป แลทรงหารือ เซอ ยอน เบาริง ถึงลักษณะพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการที่จะส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ว่าอย่างไรจะสมควรในสมัยนั้น เซอ ยอน เบาริง ทูลว่า พระราชสาส์นนั้นถ้าทรงพระราชนิพนธ์เปนภาษาอังกฤษเห็นจะดี ด้วยยังไม่มีพระเจ้าแผ่นดินประเทศใดในทิศตวันออก นอกจากพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะได้ทรงศึกษาทราบภาษาอังกฤษ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียคงจะทรงยินดีที่จะได้รับพระราชสาส์นเช่นนั้น ส่วนเครื่องราชบรรณาการนั้น เห็นว่าถ้าให้เปนของไทยทำ เปนสิ่งของเครื่อง
( ๔ )
ใช้สอยตามประเพณีในกรุงสยาม จะสมควรกว่าอย่างอื่น ได้ความตามจดหมายเหตุของ เซอ ยอน เบาริง ดังกล่าวมานี้
ต่อมาอิกปีหนึ่ง ถึงปีมะโรง พ.ศ.๒๓๙๙ นายพลแยกสันประธานา
ธิบดีแห่งสหปาลีรัฐอเมริกา แต่งให้นายเตาว์เซนด์ แฮริส เปนราชทูตสมเด็จพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอมเปอเรอฝรั่งเศสแต่งให้นายมองติดนีเปนราชทูต เข้ามาชวนทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอย่างเดียวกับประเทศอังกฤษ ในส่วนทางประเทศอเมริกาจะมีเรื่องราวเปนสาขาความอย่างไรบ้างข้าพเจ้ายังหาทราบไม่ แต่ทางข้างฝรั่งเศสนั้น เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะได้ดำรัสปรารภกับราชทูตฝรั่งเศส ถึงพระราชประสงค์ที่จะใคร่แต่งราชทูตไทยไปเจริญทาง
พระราชไมตรีตอบแทนถึงประเทศฝรั่งเศส ราชทูตทูลความนั้นไปยังเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ ความปรากฏว่าเอมเปอเรอมีรับสั่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสบอกมายังเสนาบดีว่า ถ้าพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งราชทูตไปประเทศฝรั่งเศส เอมเปอเรอก็จะทรงยินดีที่จะให้
เรือรบฝรั่งเศสมารับราชทูตไป แลให้กลับมาส่งเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบพระประสงค์ของเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ ทรงพระราชดำริห์ว่า อังกฤษ
ได้มาเจริญทางพระราชไมตรีก่อน จะแต่งทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบ แทนประเทศฝรั่งเศส ไม่บอกให้อังกฤษทราบเสียก่อนหาควรไม่ จึงโปรดให้เสนาบดีบอกไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า เดิมมีพระราช
( ๕ )
ประสงค์จะแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรียังประเทศอังกฤษ การ
ขัดข้องอยู่ด้วยเรื่องเรือที่ทูตจะไป จึงยังหาได้แต่งทูตไปไม่ บัดนี้ไทย
ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ประเทศฝรั่งเศสจะให้เรือรบมารับราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทน จึงโปรดให้แจ้งความมาให้ทราบ เพราะมีพระราชประสงค์ในทางพระราชไมตรีต่อประเทศอังกฤษเหมือนกัน ถ้าหากว่ารัฐบาลอังกฤษส่งเรือมารับราชทูตไทยเหมือนอย่างฝรั่งเศส ก็จะทรงยินดีที่จะแต่งราชทูตไทย
ไปยังประเทศอังกฤษอย่างเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษตอบมาว่า สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียทรงยินดีที่จะให้เรือรบมารับแลส่งราชทูตไทย แลจะต้อนรับราชทูตไทยให้สมควรแก่พระเกียรติยศด้วยประการทั้งปวง ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์เปนราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีเปนอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์เปนตรีทูต เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนประเทศอังกฤษ เมื่อปีมะเส็งพ.ศ. ๒๔๐๐ ส่วนประเทศฝรั่งเศสในระยะนั้นพระเจ้านะโปเลียนมีการสงคราม จึงต้อง
รอมาจนปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์เปนราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนาถเปนอุปทูต พระณรงค์วิชิตเปนตรีทูต เชิญพระ
ราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอม
เปอเรอฝรั่งเศส เจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนประเทศฝรั่งเศส
( ๖ ) พระณรงค์วิชิตผู้แต่งจดหมายเหตุเรื่องนี้ ชื่อ จอน บุนนาค เปนบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ ต่อมาได้เปนที่พระพรหมาธิบาล ในรัชกาลที่ ๕ กระบวรที่แต่งจดหมายเหตุเรื่องนี้ ตั้งใจจะแต่งให้เปน คู่กับจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย ซึ่งแต่งครั้งราชทูตไปประเทศอังกฤษ ถ้าว่าโดยทางวรรณคดีผิดกันที่พระณรงค์วิชิตมิได้เปนกวีเหมือนเช่นหม่อมราโชทัย กระบวรเรียงความสำนวนไม่ถึงกัน แต่ ควรชมความอุสาหะที่ได้เรียบเรียงให้เปนเรื่องราวปรากฏอยู่ เสียดายแต่ฉบับตอนปลายหายสูญเสีย ถ้าหากจะยังไม่สูญ ท่านผู้ใดได้ไว้ ส่งมาให้หอพระสมุด ฯ กรรมการจะขอบคุณเปนอันมากทีเดียว. อนึ่งในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ เจ้าภาพได้เรียงประวัติของผู้มรณภาพส่งมาขอให้พิมพ์ไว้เปนที่ระลึกด้วย ได้ตรวจดูเห็นว่าเรียงมาเรียบร้อยไม่มีที่ควรจะแก้ไขอันใด จึงได้ให้พิมพ์ลงไว้ ต่อท้ายคำนำนี้ กรรมการหอพระสมุด ฯ ขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณา นุปทาน ซึ่งเจ้าภาพงารศพ นายพันตรี หลวงศรีเสารุธ ได้บำเพ็ญ เปนการสนองคุณท่านผู้เปนบุรพการี ด้วยสามารถความกตัญญูกตเวทีแลที่ได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หล สภานายก หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ( ๗ ) ประวัติ นายพันตรี หลวงศรีเสารุธ (เจิม โชติดิลก)
๑) นายพันตรี หลวงศรีเสารุธ (เจิม โชติดิลก) เปนบุตร ขุนวรเทพีพลารักษ์ (จ่าง) มารดาชื่อกรอง เกิดที่ตำบลบ้ายบุ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ขณะที่เปนเด็กได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยจากมารดาเพียงเขียนได้ อ่านออก แล้วก็มิได้ไปศึกษาในสำนักใดอีก เปนด้วยบิดามารดา มีบุตรชายคนเดียว และเกรงกลัวอันตรายต่าง ๆ ตามอย่างของคน บางคนในสมัยนั้น ครั้นเมื่อเจริญวัยขึ้นก็จะต้องเปนทหาร คือที่เรียก ว่าบุตรหมู่ ทหารมหาดเล็ก ฉะนั้นเมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ อายุย่างเข้า ๑๖ ปี บิดาจึงส่งเข้าเป็นนักเรียนในกองช่างทหารมหาดเล็ก ได้รับ พระราชทานเงินเดือนๆละ ๔ บาท แล้วเลื่อนเงินเดือนขึ้นตามลำดับ คือ ก) พ.ศ. ๒๔๒๗ เดือนละ ๖ บาท ข) พ.ศ. ๒๔๒๘ " ๘ " ค) พ.ศ. ๒๔๓๐ " ๑๒ " ง) พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้รับยศเปนจ่านายสิบ เดือนละ ๑๔ บาท ๒) ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้ย้ายจากกองช่าง มารับราชการใน กรมทหารมหาดเล็ก พอถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็มีราชการทัพเกิดขึ้นเปนเวลาที่นายทหารยังมีน้อย จึงได้เลื่อนขึ้นทำการนายร้อยโท รับพระ
( ๘ )
ราชทานเงินเดือนๆละ๓๒บาท และไปราชการทัพทางจังหวัดนครราชสิมาจังหวัดอุบล, ( คราวปี ร.ศ. ๑๑๒ ) แต่คงเปนด้วยราชการทัพสงบไปและการโจรผู้ร้ายชุกชุมหรือด้วยเหตุใดก็ตาม ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ นี้เองต้องไปรักษาราชการจับโจรผู้ร้าย ที่ด่านประคำเมืองนางรองและที่จังหวัด
ประโคนไชย สำหรับสมัยนั้นย่อมได้รับความลำบากกรากรำมาก ด้วยบ้านเมืองมีผู้คนน้อยและไม่เจริญเหมือนสมัยนี้ ทั้งราชการจับโจรผู้ร้ายที่อยู่ในหำเลที่มีป่าดงมาก ๆ เช่นนี้ก็เปนการลำบากยากแค้นมิใช่น้อยบางครั้งก็ต้องนอนในดงซึ่งกลางคืนมีแต่เสียงสัตว์ร้ายเปนดนตรี และถึง
กับเดิรนำหน้าหมวดทหารไปประทะกับเสือขนาดใหญ่อย่างจังหน้าก็เคยมี.
๓) ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ จึงเข้ารับราชการประจำอยู่ในกองทหารราบที่ ๖ จังหวัดอุบล ( บัดนี้เปนกรมทหารบกราบที่ ๑๐ ) ในระหว่าง
ที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดอุบลนี้ ได้ทำหน้าที่ราชการพิเศษอีกคือพ.ศ. ๒๔๓๙ คุมเกวียนเงินส่วยจากจังหวัดอุบลมาส่งกรุงเทพฯ ในการเดิรทางเกวียนสมัยนั้น ไม่ใช่มาทางจังหวัดนครราชสิมา ( เพราะรถไฟยัง
ไม่มีเดิรเช่นสมัยนี้ ) ต้องผ่านทางจังหวัดศรีโสภณ ช่องตะโก ปราจิณกินเวลาเดิรทางนานวันตั้งเดือน และต้องควบคุมเกวียนบรรทุกเงินที่มีจำนวนนับด้วย ๑๐๐ เล่ม เช่นนี้ก็เปนการลำบากกรากกรำมาก ต้อง
อดหลับนอนแลหิวโหยเพราะกินอาหารผิดเวลานั้นและมาก เพราะเกวียนเดิรทางไม่สะดวก บางครั้งก็ไปหักขวางทางและขาดตอนกัน ถ้าจะหยุดรอกันก็ไปไม่ถึงกำหนดที่พักความลำบากแก่คนแลสัตว์ก็จะมีมาก
( ๙ )
หรือถ้าสัตว์ไม่ได้กินอาหารก็จะไม่มีกำลังไปในวันต่อไป เมื่อเกวียน
ขาดตอนกันดังนี้ก็ต้องออกตรวจด้วยตัวเองไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนและกลางดงกลางป่าอย่างไร จำต้องผ่านไปโดยมิได้คิดว่าชีวิตจะเปนอันตรายด้วยสัตว์ร้ายนั้นเลย ครั้นเสร็จจากการส่งเงินส่วยแล้ว ก็ต้องควบคุมเกวียนบรรทุกยาฝิ่น อัฐทองแดง กลับขึ้นไปส่งจังหวัดอุบลอีกขณะนี้มณฑลอุบลกับร้อยเอ็จรวมกันเรียกว่ามณฑลอิสาณ ยังมิได้ใช้อัฐทองแดง ยังใช้เงินลาวเรียกว่าเงินราง ( ฮาง ) และส่วนย่อยของ
เงินที่ใช้แทนอัฐเรียกว่าราด ในการควบคุมเกวียนกลับขึ้นไปครั้งนี้
ถึงฤดูน้ำมาก ยิ่งเดิรทางลำบากเปนใหญ่หลวง บางครั้งทั้งเกวียน
และคนต้องเดิรทางท่องน้ำตั้ง ๆ ครึ่งวัน เมื่อเกวียนจำนวนมากเดิร
ไปในที่น้ำท่วมถ้าไปถึงที่อ่อนทางเดิรก็เปนหล่มไปบ้างบางแห่ง จึงเกิดกาหลไปไม่ทันตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ หักแช่น้ำอยู่บ้าง โคกระบือผอมโซลากไม่ไหวบ้าง มีเหตุต่าง ๆ นา ๆ ล้วนแต่เปนความลำบาก
ยากแค้นอย่างร้ายกาจ มิได้สดวกสบายดังสมัยนี้เลย แลคงรับ
ราชการอยู่ในจังหวัดอุบลจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ จึงออกเปนกองหนุนสังกัดกรมทหารมหาดเล็ก และมาอยู่บ้านเดิมจังหวัดธนบุรี.
๔ ) ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๒ ถูกเรียกเข้ารับราชการประจำการในกองทหารรักษาพระองค์ ( กรมทหารบกราบที่ ๒) อีก และเปนนายร้อยตรีรับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๓๕ บาท ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ เกิดขบถผีบุญผีบ้าทางจังหวัดอุบล ทางราชการต้องการนายทหารขึ้น
( ๑๐ ) ไปเพิ่มเติม ต้องไปรับราชการอยู่จังหวัดอุบลอีก คงได้รับเงินเดือนอัตรานายร้อยตรีชั้น ๒ เดือนละ ๖๕ บาท และในปีนี้ได้ตั้งกองตำรวจภูธรขึ้นที่จังหวัดอุบล กรมตำรวจภูธรจึงขอไปรับราชการเปนเกียกกายกองตำรวจภูธร รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๘๐ บาท และด้วยความไม่ถนัดในทางการหนังสือ จึงขอร้องกลับเข้ารับราชการในกองทหารราบที่ ๖ ได้อีก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ และเลยได้เลื่อนขึ้นเปน นายร้อยโท รับพระราชทานเงินเดือน ๘๐ บาท และคงรับราชการอยู่จังหวัดอุบล ได้เลื่อนยศ, ชั้นเงินเดือน, และตำแหน่งตามลำดับ จนถึงเปนนายร้อยเอกชั้น ๒ ผู้บังคับกองร้อย มีบันดาศักดิ์เปน ขุนสลายสัตรูสูญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ จึงได้ย้ายมาสำรองราชการกรมเกียกกายทหารบก ๕) เมื่อตั้งกรมเสบียงทหารบกขึ้นแล้ว จึงได้เปนหัวหน้าพแนกที่ ๑ กรมเสบียงทหารบก พ.ศ. ๒๔๕๕ รับเงินเดือนชั้น ๑ เดือนละ ๑๔๐ บาท และคงรับราชการต่อมาจนได้เลื่อนยศบันดาศักดิ์เปนนายพันตรี หลวง ศรีเสารุธ รับพระราชทานเงินเดือนชั้น ๒ เดือนละ ๒๒๐ บาท ครั้นถึงเดือนกรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ป่วยเปนโรคมะเร็งดอกบุกในปาก ไม่สามารถจะรับราชการประจำได้จึงต้องออกเปนกองหนุนรับพระราชทานเบี้ยหวัด และอาการป่วยก็ทวีขึ้นตามลำดับ จนถึงวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เวลาเช้าจึงถึงแก่กรรม.
( ๑๑ ) ๖ ) เครื่องราชอิศริยาภรณ์ที่ได้รับ คือ พ.ศ. ๒๔๓๗ เหรียญรัชฏาภิเษก พ.ศ. ๒๔๓๙ เบ็ญจมาภรณ์มงกุฎ พ.ศ. ๒๔๔๒ เหรียญจักรมาลา พ.ศ. ๒๔๔๒ เหรียญประพาศมาลา พ.ศ. ๒๔๔๗ เหรียญทวิธาภิเษก พ.ศ. ๒๔๕๑ เหรียญรัชมงคล พ.ศ. ๒๔๕๒ เหรียญรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. ๒๔๕๗ เบ็ญจมาภรณ์ช้างเผือก ๗ ) ตามที่ได้เขียนประวัติมาทั้งนี้ ผู้เขียนใคร่ออกความเห็นเพื่อเตือนใจแก่เพื่อนนายทหารว่า ท่านนายทหารเก่า ๆ นั้นท่านย่อม ต้องรับราชการด้วยความลำบากยากแค้นเปนที่สุด แม้ชีวิตก็ต้องพลี เพื่อราชการ แม้ความรู้ท่านจะอ่อน แต่ความมั่นคงและหนักแน่น ของท่านก็ควรเปนตัวอย่างอันดี ทั้งผู้เขียนก็เคยไปกรากกรำมาด้วย บ้างบางคราว ก็ไม่ปรากฏว่าท่านพร่ำบ่นถึงความยากลำบากเลย มี แต่เห็นท่านเคยร่าเริงและพูมใจ เมื่อท่านเล่าถึงความหลังที่ท่านทำ ราชการมานั้น.
สารบารพ์ ตอนที่ ๑ ว่าด้วยราชทูตออกจากกรุงเทพฯ จนถึงเมืองสิงคโปร์ หน้า ๑ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยราชทูตออกจากสิงคโปร์จนถึงเกาะลังกา ๑๕ ตอนที่ ๓ ว่าด้วยราชทูตออกจากเกาะลังกาจนถึงเมืองเอเดน ๒๒ ตอนที่ ๔ ว่าด้วยราชทูตออกจากเมืองเอเดนจนถึงเมือไกโร แลเมืองอาเล็กซันดรี ๒๖ ตอนที่ ๕ ว่าด้วยราชทูตออกจากเมืออาเล็กซันดรีจนถึง เมืองตุลน เมืองมาเซ เมืองไลยอน แลเมืองปารีศ ๓๘ ตอนที่ ๖ ว่าด้วยราชทูตเข้าเฝ้าเอมเปอเรอฝรั่งเศส ๔๗ ตอนที่ ๗ ว่าด้วยราชทูตเที่ยวดูสถานที่ต่าง ๆ ๕๗
ระยะทางราชทูตสยามไปกรุงฝรั่งเศส เมื่อปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓
ตอนที่ ๑ ว่าด้วยราชทูตออกจากกรุงเทพ ฯ จนถึงเมืองสิงคโปร์ ข้าพระพุทธเจ้า พระณรงค์วิชิต ได้รับพระราชทานจดหมายระยะ ทาง ตั้งแต่ทูตานุทูตกราบถวายบังคมลาออกจากกรุงเทพพระมหานคร ไปเจริญทางพระราชไมตรีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ใจความว่า ณวันพฤหัสบดีเดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๓ ปีระกายังเปนโทศก เพลาบ่าย ๕ โมง ทูตานุทูตพร้อมกันที่หน้าพระที่นั่ง อนันตสมาคมในพระบรมมหาราชวัง ราชทูต พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี จางวางพระคลังสินค้า ชื่อเดิมชื่อแพ อายุได้ ๔๓ ปี เปนบุตรที่สองสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถราชสุริยวงศ์ตระกูลพงศปติฏฐา มุขมาตยาธิบดี ไตรสรณศรีรัตนธาดา สกลมหา รัชชาธิเบนทร์ ปรเมนทรมหาราชวโรปการ มโหฬารเดชานุภาพบพิตร คนซึ่งไปด้วยราชทูตนั้น นายสมบุญ บุตรราชทูต ๑ ขุนสมบัติบดีเสมียน ๑ นายฮวด ล่าม ๑ ขุนราชสมบัติ คนใช้ ๑ หมื่นนราภักดี คนใช้ ๑ รวม ๖ คน อุปทูต เจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรขวา ชื่อเดิมชื่อวอน อายุได้ ๓๓ ปี เปนบุตรที่หนึ่งเจ้าพระยาศรี สุริยวงศ์ สมันตพงศพิสุทธ มหาบุรุษรัตโนดม ที่สมุหพระกระลาโหม ๑
๒
คนซึ่งไปด้วยอุปทูตนั้น นายชาย บุตรอุปทูต ๑ นายหวาด บุตรพระยาอภัยสงคราม ๑ หลวงชาติสุรินทร์ เสมียน ๑ ขุนจรเจนทเล ล่าม ๑ นายเอี่ยม มหาดเล็ก ๑ นายเนตร มหาดเล็ก ๑ พันทนงสิงหนาท
คนใช้ ๑ นายซุ่นคนใช้ ๑ รวม ๘ คน ตรีทูต พระณรงค์วิชิต เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวาในพระบวรราชวัง ชื่อเดิมชื่อจอน อายุได้ ๒๖ปี เปนบุตรที่เก้าสมเด็จพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ วรุตมพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาลนาถ สกลราชวราณาจักราธิเบนทร์ ปรเมนทรมหาราชา
นุกูล สรรพกิจมูลมเหศวร์ เชษฐามาตยาธิบดี ตรีสรณรัตนธาดา อดุลยเดชานุภาพบพิตร ๑ คนซึ่งไปด้วยตรีทูตนั้น นายเปีย มหาดเล็กล่าม ๑ หมื่นหาญณรงค์ เสมียน ๑ พันสกลบันลือ คนใช้ ๑ รวม ๔ คน
บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ล่ามใหญ่ ๑ ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการในพระบรมมหาราชวัง หลวงอินทรมนตรี เจ้ากรมสรรพากรนอก ๑ นายสรรพวิชัย มหาดเล็กหุ้มแพร ๑ ขุนมหาสิทธิโวหาร ปลัดกรมอาลักษณ์ ๑ หมื่นจักรวิจิตรกรมพระแสงในซ้าย ๑ ขุนศรีวิสุทธากรเสมียน ๑ นายเนียมคนใช้ ๑ นายสังคนใช้ ๑ นายเดชคนใช้ ๑
รวม ๘ คน ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการในพระบวรราชวัง หมื่นจินดารักษ์ หัวหมื่นพระตำรวจนอกขวา ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณา
การ ๑ รวม ๒๘ คน เชิญพระราชสาส์นใส่พานทอง ๒ ชั้น ขึ้นตั้งบน
พระราชยานกงหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งกระบวรแห่ออกประตูเทวา
พิทักษ์ ไปตามถนนเลี้ยวป้อมเผด็จดัสกร ทูตานุทูตเข้ากระบวรเดิร
ตามพระราชยานพระราชสาส์นพร้อมกัน พระราชสาส์นในพระบวรราชวัง
๓ แห่ไปบันจบกระบวรที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี ส่งลงเรือม่านทองณประตูท่าพระ ไปส่งขึ้นเรือพระที่นั่งมณีเมขลา ปืนทองกระสุน ๕ นิ้วสลุตส่งพระราชสาส์นที่ประตูท่าพระ ๒๑ นัด สลุตที่ประตูพรหมพระบวรราชวัง ๒๑ นัด กระบวรแห่นั้นมีคู่แห่เดิรหน้าร้อยหนึ่ง เดิรหลังหกสิบ รวม ๑๖๐ ทหารปืนแห่หน้า ๔๐ ธงมังกรหน้า ๖๐ หลัง ๔๐ รวมร้อยหนึ่ง จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ กลองชนะ ๓๐ คู่ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ รวม ๑๐ สังข์ ๒ มโหรธึก ๒ สำรับ เครื่องสูงเจ็ดชั้น ๒ ห้าชั้น ๑๐ บังแทรก ๖ บัง พระสูรย์ ๑ รวม ๑๙ ปืนแดง ๑๔ บอก ตำรวจถือมัดหวาย ๕ คู่ ภูษามาลาเชิญพระกลด ๑ คู่เคียงพระราชยานพระราชสาส์นนั้น คือพระยาพิพัฒนโกษา ๑ พระยาเพ็ชร์ชฏา ๑ พระยาเพ็ชรปราณี ๑ พระยา ประสิทธิศุภการ ๑ พระยาประชาชีพบาล ๑ พระศรีสุนทรโวหาร ๑ พระวิเชียรปรีชา ๑ พระเมธาธิบดี ๑ พระมหาราชครูมหิธร ๑ พระราชครูพิเชต ๑ รวม ๑๐ คน กระบวรแห่เรือนั้น ในเรือพระที่นั่งมณีเมขลา มีเครื่องสูง ๑๐ ธงมังกรหน้า ๘ ธงเสือปีกท้าย ๖ รวม ๑๔ ทหารปืน ๑๒ คน ภูษามาลา ๑ อาลักษณ์ ๑ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ กลอง ชนะ ๕ คู่ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ สังข์ ๒ เรืออรเทพกิจการ ๑ เรือ ชลธารมาระมุข ๑ แห่หน้าประโคมโหรธึกลำละสำรับ เรือพระที่นั่ง มหาไชยเทพ ใส่เครื่องมงคลราชบรรณาการ ๑ เรือเสพสหายไมตรี ๑ เรือนทีเทพธิดา ๑ รับทูตานุทูตแห่ไปถึงป้อมพิไชยประสิทธิ์ ยิงปืนสลุต ๒๑ นัด ถึงป้อมปิดปัจนึกเปนเวลาค่ำหาได้สลุตไม่ เรือพระราชสาส์น เรือแห่เรือตามล่องลงไปถึงเมืองสมุทปราการเวลาค่ำ ๒ ทุ่ม พณหัวเจ้า
๔ ่ท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธ์ มหาบุรุษรัตโนดม ฯ ที่สมุหพระกระลาโหม ไปเรือฤทธิแรงศรถึงเมืองสมุทปราการเวลา ๓ ยาม แล้วใช้จักรนำหน้าเรือพระที่นั่งมณีเมขลา ประโคมแตรสังข์กลองชนะ ยี่เรือกลไฟทั้งปวงก็ตามออกไปถึงเรือรบฝรั่งเศส เปนเรือกลไฟ ชื่อเรือรอนเดอ ทอดอยู่นอกสันดอน วันศุกร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลา ๒ โมงเช้าพร้อมกันทอดสมออยู่ห่างเรือรบประมาณ ๒ เส้น กำมดันโท ยอนให้ชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลาง แต่เสาหน้าเสาท้ายนั้นชักธงฝรั่งเศสชักธงบริวารขึ้นยอดเสาแล้วพาดลงมาตามปลายเพลาถึงปากเรือทั้ง ๓ เสา ทหารขึ้นยืนเพลาเสาหน้าชั้นต้นเสา๑๒คน ชั้นสอง ๘ คน ชั้นสาม ๖ คน รวม ๒๖ คน เสากลางเท่าเสาหน้า เสาท้ายชั้นต้น ๘ คน ชั้นสอง ๖ คน ชั้นสาม ๔ คน รวม๑๘ คน เวลานั้นคลื่นใหญ่เรือพระราชสาส์นเข้าเทียบไม่ได้ กำมดันโทยอนจัดเรือโบต ๔ ลำ ๑๒ กรรเชียง ๒ ลำ ๘ กรรเชียงลำหนึ่ง ๔ กรรเชียงลำหนึ่งมีธงฝรั่งเศสปักท้ายทั้ง ๔ ลำ มารับพระบรมราชสาส์นพระบวรราชสาส์นที่เรือพระที่นั่งมณีเมขลา แลรับพณหัวเจ้า ท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับพวกทูตานุทูตแลข้าราชการที่ไปส่งขึ้นเรือรบฝรั่งเศส กำมดันแลขุนนางนายทหารแต่งตัวยืนรับอยู่ที่ประตู มีทหารยืนแถวถือปืนไรแฟนชะนวนทองแดงสพายดาบ๒แถวๆละ ๒๔ คน นายทหารสพายดาบคน ๑ เป่าแตรคน ๑ รวม ๒๖ คน เมื่อเชิญพระราชสาส์นขึ้นบนเรือแล้วเป่าแตรขึ้นเปนสำคัญ กำมดัน นายทหาร แลทหารเลวก็คำนับพระราชสาส์น ทหารที่ยืนเพลาร้องฮิบเอมเปรอพร้อมกัน ๓ หน
๕
แล้วลงมาเข้ายืนปืนใหญ่บอกละ ๑๑ คน ปืน ๑๐ บอกเปนคน ๑๑๐ คน มี
นายทหารบอกแล้วยิงสลุต ๒๑ นัด กำมดันให้เชิญพระบรมราชสาส์น
พระบวรราชสาส์นขึ้นไว้บนโต๊ะในห้องข้างท้าย แล้วให้เรือโบตออกมารับเครื่องมงคลราชบรรณาการแลสิ่งของทูตานุทูตเสร็จแล้วเวลา ๕ โมงเช้าพณหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่ไปส่งทูตานุทูตนั้น ลากำมดันแลขุนนางนายทหารลงจากเรือรบฝรั่งเศส
กลับเข้ามาณกรุงเทพพระมหานคร ทหารขึ้นยืนเพลาร้องโฮโรคำนับอิกครั้ง ๑ แล้วลงมายิงปืนใหญ่สลุตพณหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ๑๙ นัด กำมดันจัดที่ให้ราชทูต อุปทูต ตรีทูต อยู่ห้องข้างท้ายที่ไว้พระ
ราชสาส์น แต่ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่าม คน
ใช้นั้น อยู่ห้องดาดฟ้าชั้นกลางข้างท้าย ราชทูต อุปทูต ตรีทูต นายสรรพวิชัย นายชาย บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ๗ นายนั้น รับพระราชทานโต๊ะเดียวกันกับกำมดัน แต่หลวงอินทรมนตรี ขุนมหาสิทธิโวหารหมื่นจักรวิจิตร หลวงชาติสุรินทร์ ขุนจรเจนทเลล่าม ขุนสมบัติบดี
นายสมบุญ นายหวาด นายเอี่ยมรวม ๙ คน รับพระราชทานโต๊ะเดียวกันกับพวกออฟฟิเซอ ๆ ๖คนรวม ๑๕ คน คนชาวสยามนอกนั้น ๑๓ คน รับของแจกรับพระราชทานเหมือนอย่างลูกเรือ วิกลเตอรบุตรกงสุล
ฝรั่งเศสที่อยู่ว่าการแทนกงสุลณกรุงเทพ ฯ นั้นโดยสานไปเมืองสิงคโปร์ด้วย เรือยี่รอนเดอลำนี้ยาว ๒๖๐ ฟิต คิดเปนไทย ๓๙ วา ปากกว้าง ๓๔ ฟิต คิดเปนไทย ๕ วา ๑๐ นิ้ว ท้องลึก ๒๑ ฟิต คิดเปนไทย ๓ วา
๖
คืบ ๒ นิ้ว กินน้ำลึก ๑๘ ฟิต คิดเปนไทย ๒ วา ๒ ศอกคืบ ๘ นิ้ว สามเสาเปนเรือกลไฟจักรท้าย กำลัง ๑๖๐ แรงม้า กำมดันแลขุนนางนายทหาร ๆ เลวกลาสีรวม ๒๒๐ คน ดาดฟ้าชั้นบนมีปืนเล็กใหญ่รายปากเรือ กระสุน ๘ นิ้วข้างละ ๕ บอก หน้าเรือมีปืนทองเหลืองรางแท่นกระสุน ๓ นิ้วบอกหนึ่ง ดาดฟ้าชั้นกลางเปนที่คนอยู่หามีช่องปืนไม่ มีแต่ปืนใหญ่ใส่รางไว้บอกหนึ่ง.
รุ่งขึ้นณวันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำเวลา ๓ โมงเช้า กำมดันให้ใช้จักรเรือรบออกจากที่ทอดสมอนอกสันดอน ครั้นเวลาย่ำค่ำถึงหน้า
เขาตะเกียบ ตั้งหัวเรือไปหว่างทิศตะเภาพัดหลวงแล่นออกลึก
วันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำเวลาเช้าแลไม่เห็นฝั่ง ลมตะเภา
พัดเสมอ ลุดเตนเนนเอาแผนที่มาคิดดู รู้ว่าเรือถึงหน้าเมืองกำเหนิด
นพคุณ.
วันจันทร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาบ่ายเรือถึงหว่างเกาะหลักเกาะมันตรงกัน คลื่นสงบเรือเดิรโมงละ ๖ น๊อด เวลานั้นเปนลม
หัวเขาพัดกล้า กำมดันให้ใช้ใบช่วยจักรทั้ง ๓ เสา เรือเดิรเร็วขึ้นโมงละ ๗ น็อด.
วันอังคารเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้า แลเห็นเขาไชรงเขานั้นอยู่ในป่า แขวงเมืองตานีข้างใต้ ตรงเขานั้นลงมาเปนแหลมชาย
ทเลเรียกว่าแหลมงู เวลา ๕ โมงเช้านายทหารซ้อมทหารปืนเล็ก
๒๘ คน เวลาบ่ายเรือไปถึงตรงหน้าเมืองกลันตันเห็นเกาะปะรินเตียน
๗
เกาะเร๊ดแตง ๒ เกาะข้างทิศตะเภา แขกเรียกว่าเกาะดิดัง อยู่ใต้เมือง
กลันตัน เวลาย่ำค่ำถึงหน้าเมืองกรังตานู วันพุธเดือน ๕ แรมค่ำ ๑ เวลาเที่ยงเรือไปถึงตรงหน้าเมืองปะหัง เวลาบ่าย ๓ โมงเห็นเกาะนาคใต้เมืองปะหังอยู่หว่างตะเภาสลาตัน.
วันพฤหัสบดีเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ เวลาเช้าเห็นเกาะปูลูออ เวลา ๔ โมงเช้าเห็นแหลมโรมแมเนียข้างขวา เขาปีนแตงเมืองเรียวอยู่ข้างซ้าย เวลาเช้า ๕ โมงถึงปากช่องกองศิลาขาว ที่ศิลาขาวนั้นเปน
ศิลางอกขึ้นพ้นน้ำบ้าง อยู่ใต้น้ำบ้าง เปนที่น่ากลัวเรือเข้าออกจะเปนอันตราย มีหอคอยสำหรับตามโคมเปนที่สำคัญเรือเข้าออก อังกฤษเรียกว่าแล็ดเฮา แล็ดเฮานี้นเปนของอังกฤษทำขึ้นบนกองศิลาขาว สูง ๑๐๐ ฟิต คิดเปนไทย ๑๕ วา มีคนอังกฤษผลัดเปลี่ยนกันรักษาทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อเรือไปใกล้แล็ดเฮาที่เรือชักธงฝรั่งเศสขึ้นปลายเพลาโกซีเสาท้าย คนที่รักษาแล็ดเฮาก็ชักธงอังกฤษขึ้นรับ เรือพ้น
ที่นั่นเข้าไปแล่นใกล้ฝั่ง เห็นบ้านเรือนแขกหลายตำบล เวลาบ่าย
โมง ๑ ถึงปากน้ำยะโฮ เวลาบ่าย ๓ โมงถึงที่ทอดสมอหน้าเมือง
สิงคโปร์ รวม ๖ วัน กำมดันให้ชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลาง ชักธงอังกฤษขึ้นเสาหน้า แล้วยิงสลุตธงอังกฤษ ๒๑ นัด ที่ป้อมเมืองสิงคโปร์สลุตตอบ ๒๑ นัด วิกลเตอร์บุตรกงสุลฝรั่งเศสที่อยู่ว่าการแทนกงสุลกรุงเทพ ฯ ซึ่งออกไปด้วยนั้น ลงเรือโบตขึ้นไปเมืองสิงคโปร์ก่อน พระพิเทศพานิช สยามพิชิตภักดี ผู้ว่าราชการกงสุลกรุงสยาม
๘
ลงมาที่เรือรบ ทักถามทูตานุทูตแล้วถามถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามทั้ง ๒ พระองค์ แลพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงเปน
สุขสบายอยู่หรือ ราชทูตตอบว่าทรงเปนสุขสบายอยู่ พระพิเทศพานิชถามราชทูตว่าจะขึ้นไปเมืองสิงคโปร์เวลาไร ราชทูตบอกว่ากำมดันจะขึ้นไปต่อณวันแรม ๓ ค่ำ พระพิเทศพานิชบอกกำมดันว่าแรม ๓ ค่ำเปนวันศุกร์เปนวันตายของพระเยซู ห้ามการสลุตไปจนถึงวันจันทร์เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำจึงจะสลุตได้ พระพิเทศพานิชบอกว่าเจ้าเมือง
สิงคโปร์แลกงสุลฝรั่งเศส ได้ปรึกษากันแล้ว ถ้าทูตานุทูตจะขึ้นวันแรม ๓ ค่ำก็ได้แต่ไม่ได้สลุต วันนี้เจ้าเมืองจัดทหารเตรียมคอยสลุตรับทูตา
นุทูตอยู่พร้อมแล้ว ราชทูตจึงว่ากับกำมดันว่าการสลุตนี้เปนการใหญ่สำคัญ จะขอขึ้นวันนี้ เจ้าเมืองสลุตรับจะได้เปนพระเกียรติยศแด่พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระนคร กำมดันว่าตามแต่ราชทูตจะเห็นควรเถิด เวลาบ่าย ๕ โมงกำมดันจัดเรือโบต ๓ ลำ ราชทูต อุปทูต ตรีทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กำมดันโทยอน ๕ คนไปลำ ๑ ราชทูต อุปทูต
ตรีทูตสวมเสื้อเยียรบับนุ่งยกทองใส่สนับเพลา ใส่หมวกแก๊บมีพระตราคาดเข็มขัดคาดรัตคด ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน
ล่าม แต่งตัวตามบรรดาศักดิ์ไปลำหนึ่ง คนใช้ไปลำหนึ่ง ครั้นถึงสพานหน้าป้อม เจ้าเมืองให้อัศดีกำรองเจ้าเมืองที่ ๓ มารับคน ๑ มีทหาร
ถือกระบองห้ามคนตามทาง ๖ คน พระพิเทศพานิช ๑ มิศกอชิด
กงสุลฝรั่งเศสสำหรับเมืองสิงคโปร์ ๑ นายห้างองกฤษ ๑ นายห้าง
๙
ฝรั่งเศส ๑ นายห้างแขกเทศ ๑ นายห้างจีน ๑ มาคอยรับทูตานุทูต
อยู่ที่สพานน้ำ เมื่อทูตานุทูตขึ้นสพานแล้วที่เรือรบยิงปืนสลุตส่ง ๑๙ นัดที่ป้อมยิงปืนสลุตรับ ๑๙ นัด กงสุลฝรั่งเศสจัดรถไว้ ๓ รถ ราชทูต อุปทูต ตรีทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กำมดันโทยอนไปรถ ๑ เทียมม้าเทศ ๒ ม้า ให้ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่าม คนใช้ไป ๒ รถ เทียมม้ารถละม้า กงสุลฝรั่งเศสพาทูตานุทูตไปอยู่
โฮเต็ลชื่อเลศเปอแรน จัดรถไว้ให้ใช้สำหรับโฮเต็ล ๓ รถ ในโฮเต็ล
นั้นมีเตียงนอนครบทุกนาย เลี้ยงทูตานุทูตวันละ ๓ เวลา มีเครื่อง
ใช้สอยสำหรับโฮเต็ลครบทุกอย่าง
วันศุกร์เดือน ๕ แรม ๓ ค่ำเวลา ๕ โมงเช้า มิศกอชิดกงสุลฝรั่งเศสเมืองสิงคโปร์ ๑ เดอกัศเตลโนกงสุลฝรั่งเศสกรุงเทพ ฯ ๑
เบดรีโนกงสุลอิศปันยอลเมืองสิงคโปร์ ๑ พระพิเทศพานิช สยามพิชิตภักดี ๑ เถ้าแก๋หวดนายห้างพระยาพิศาลศุภผล ๑ เถ้าแก๋อี๋นายห้างพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ๑ หกนายมาที่โฮเต็ลเยี่ยมทูตานุทูตปราไสกันอยู่ประมาณชั่วโมง ๑ ราชทูตเชิญพระราชหัดถเลขาให้พระพิเทศ
พานิช ๆ รับพระราชหัดถเลขาขึ้นคำนับเหนือศีร์ษะแล้วลากลับไป
วันเสาร์เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำเวลา ๕ โมงเช้า จีนกับตันกิมเสงมาที่โฮเต็ล ทักถามทูตานุทูตแล้วลากลับไป ฝ่ายราชทูต อุปทูต ตรีทูต ไปหาตอบแทนกงสุลฝรั่งเศสเมืองสิงคโปร์ กงสุลกรุงเทพ ฯ พูดกัน
๑๐ อยู่กึ่งหนึ่ง ราชทูต อุปทูต ตรีทูตลาไปหาตอบแทนพระพิเทศพานิช ราทูตบอกพระพิเทศพานิชว่า มีพระราชหัดถเลขาฝากทูตานุทูตออกมาถึง เซอริดเซิดมะกอศแลน ซึ่งเปนผู้สิทธิขาดในการตัดสินความในเมืองสิงคโปร์ฉบับ ๑ พระพิเทศพานิชจึงพาราชทูต อุปทูต ตรีทูตไปหาเซอริดเซิดมะกอศแลน ๆ ลงมารับเชิญให้นั่งเก้าอี้แล้ว ถามว่าทูตานุทูตมาตามทางมีความสุขสบายอยู่หรือ ราชทูตตอบว่า มีความสุขสบายอยู่ แล้วราชทูตบอกกับเซอริดเซิดมะกอศแลนว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามทั้งสองพระองค์ ทรงรำลึกถึงท่านมากอยู่ จึงพระราชทานพระราชหัดถเลขาออกมาให้ท่านฉบับ ๑ ทูตานุทูตออกมาครั้งนี้จะมีการธุระเกี่ยวข้องสิ่งใดท่านจะได้ช่วยสงเคราะห์ เซอริดเซิดมะกอศแลนตอบว่าขอบพระเดชพระคุณพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ทรงรำลึกถึงข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามีความยินดีมาก แล้วราชทูตเชิญ พระราชหัดถเลขาให้เซอริดเซิดมะกอศแลน ๆ รับพระราชหัดถเลขาแล้วว่า ทูตานุทูตออกมาครั้งนี้จะมีธุระสิ่งใด ข้าพเจ้ามีอำนาจเท่าใดก็จะช่วยธุระท่านทูตานุทูตทั้งสิ้น ราชทูตตอบว่าซึ่งท่านมีใจสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์แลได้รับธุระสิ่งประสงค์ของทูตานุทูตซึ่งออกมาครั้งนี้นั้น ข้าพเจ้าขอบใจท่านเปนอันมาก แล้วทูตานุทูตก็ ลากลับมาโฮเต็ล วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๕ ค่ำเวลาเช้า มิศกอชิดกงสุลฝรั่งเศสเมืองสิงคโปร์ ๑ เดอกัศเตลโนกงสุลฝรั่งเศสกรุงเทพ ฯ ๑ กำมดัน
๑๑
โทยอน ๑ สามนายมาหาทูตานุทูตที่โฮเต็ล แล้วราชทูต อุปทูต ตรีทูตไปหาตอบแทนจีนกับตันกิมเสงที่ตึกบนเนินเขา จีนกับตันกิมเสง ( ว่า ) ราชทูต อุปทูต ตรีทูตได้มาบนที่อยู่ของข้าพเจ้าๆขอบใจเปนอันมาก เมื่อราชทูตออกไปกรุงลอนดอนครั้งก่อน ข้าพเจ้าก็ได้เชิญมากินโต๊ะครั้งหนึ่งแล้วจีนกับตันกิมเสงให้เอาของหวานน้ำองุ่น น้ำชามาเลี้ยงทูตานุทูตแล้วพาทูตานุทูตไปชมเก๋งที่กลางสระสวนจันทร์สองสระ สระหนึ่งอยู่เชิงเขา น้ำทเลไหลเข้าออกได้เปนที่ปล่อยปลาต่าง ๆ สระหนึ่งอยู่บนเนิน
เขาน้ำจืดเปนที่เลี้ยงปลาเงินปลาทอง พูดกันอยู่ชั่วโมงหนึ่งทูตานุทูต
ก็ลากลับมาโฮเต็ล เวลาค่ำเถ้าแก๋อี๋นายห้างพระภาษีสมบัติบริบูรณ์เชิญทูตานุทูตไปกินโต๊ะที่ตึกพร้อมด้วยพระพิเทศพานิช เลี้ยงอย่างจีนครั้นเลิกเลี้ยงแล้วเวลา ๒ ทุ่ม พระพิเทศพานิชกับเถ้าแก๋อี๋มาส่งทูตา
นุทูตถึงโฮเต็ล แล้วลากลับไป.
วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำเวลา ๓ โมงเช้า กงสุลฝรั่งเศสสำหรับเมืองสิงคโปร์มาบอกทูตานุทูต ว่าเมื่อวันมาถึงเจ้าเมืองให้อัศดีกำมารับแล้วก็ได้ยิงสลุต ขอให้ทูตานุทูตไปหาเจ้าเมืองด้วยจึงจะควรราชทูตตอบว่าพระบาท สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามก็ได้มอบหมาย ฝากทูตา
นุทูตมาถึงท่านกงสุลทุกประการ ทูตานุทูตออกมาครั้งนี้จะแวะ
บ้านไหน เมืองไหนควรจะไปหาผู้ใด ก็สุดแต่กงสุล ๆ จึงว่าเจ้าเมือง
นัดเวลา ๕ โมงเช้าจะลงมารับทูตานุทูตที่โก๊ด ครั้นถึงเวลา ๕ โมงเช้าราชทูต อุปทูต ตรีทูตแต่งตัวเหมือนเมื่อขึ้นจากเรือรบเสร็จแล้ว มิศกอชิด
๑๒
กงสุลฝรั่งเศสเชิญให้ทูตานุทูตขึ้นรถหนึ่ง ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียนล่ามแต่งตัวตามบรรดาศักดิ์ไปสองรถ บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กงสุลฝรั่งเศสกำมดีนโทยอนไปรถหนึ่ง พระพิเทศ
พานิชสยามพิชิตภักดีไปรถหนึ่ง ครั้นไปถึงหน้าโก๊ดมีทหารแขกดำ
แต่งตัวถือปืนไรแฟนยืน ๒ แถว ๆ ละ ๑๒ คน มีนายแถวคนหนึ่ง คนกลองคนหนึ่งรับอยู่ที่หน้าโก๊ด อัศดีกำลงมาเชิญทูตานุทูตขึ้นไปยังที่
เจ้าเมืองอยู่ เจ้าเมืองเชิญทูตานุทูตให้นั่งเก้าอี้ มีอังกฤษนั่งอยู่ด้วย
เจ้าเมืองคนหนึ่ง มักฟาซันที่สองคนหนึ่ง มิศตอโปรเกอที่สามคนหนึ่ง
เจ้าเมืองถามว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามทั้งสองพระองค์ทรงเปนสุขสบายอยู่หรือ ราชทูตตอบว่าเปนสุขสบายอยู่ เจ้าเมืองถามทูตานุทูตมา
ในเรือรบฝรั่งเศส เห็นกฏหมายธรรมเนียมแลการงารในเรือชอบหรือไม่ราชทูตตอบว่าในเรือจัดการเรือเรียบร้อยดี เจ้าเมืองจึงว่าเมืองสิงคโปร์นี้เปนที่พักฝ่ายยุโรป ทูตไปข้างหน้าจะได้เห็นบ้านเมืองต่าง ๆ ดีกว่านี้มีอิกมาก พูดกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงลากลับโฮเต็ล เจ้าเมืองชื่อ
กาวันนาอายุ ๕๐ ปี ขาซ้ายข้างหนึ่งถูกปืนเมื่อรบเมืองบังคลา ครั้นเวลาบ่าย ๒ โมงพระพิเทศพานิชสยามพิชิตภักดี มาเชิญราชทูต อุปทูต
ตรีทูต นายสรรพวิชัย หลวงอินทรมนตรี ขุนมหาสิทธิโวหาร ขุนจรเจนทเล บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ๘ นายไปกินโต๊ะพร้อมด้วยจีนยี่น้อง พระพิเทศพานิช ๑ กงสุลอิศปันยอน ๑ นายห้างกัดตะรี ๑ กงสุลว่าการวิลันดา เดนมาร์ก ปรุซเซีย ๑ นายแบงก์สำหรับรักษาคลังเงินเมือง
๑๓ สิงคโปร์ ๑ เถ้าแก๋อี๋นายห้างพระภาษี ๑ รวม ๖ นาย ครั้นเวลาค่ำ ทุ่มหนึ่ง เจ้าเมืองให้มาเชิญราชทูต ๑ อุปทูต ๑ ตรีทูต ๑ ขุนจรเจน ทเล ๑ บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ๑ ไปกินโต๊ะที่บ้านอยู่บนยอดเขาพร้อมด้วยมักฟาซันที่สอง ๑ อัศดีกำที่สาม ๑ ภรรยาเจ้าเมือง ๑ ภรรยามักฟาซัน ๑ ผู้หญิงอังกฤษญาติเจ้าเมือง๑ผู้หญิงอังกฤษบุตรนายห้าง ๑ กงสุลฝรั่งเศส ๑ มองเซียไซแม๊ก ๑ มองเซียไซยา เปนผู้กำกับซื้อของ บรรทุกเรือรบฝรั่งเศส ๒ นายกำมดันโทยอน ๑ กับตันเรือกันโบตสำหรับเมืองสิงคโปร์ ๑ กงสุลอิศปันยอน ๑ รวม ๑๓ นาย เลี้ยงอย่างอังกฤษพูดกันแต่เรื่องกินโต๊ะทั้งสิน เวลายามเศษเลิกโต๊ะแล้วทูตานุทูตลากลับมาโฮเต็ล. วันอังคาร เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ เวลาค่ำมิศกอชิดกงสุลฝรั่งเศสเมืองสิงคโปร์มาเชิญราชทูต อุปทูต ตรีทูต นายสรรพวิชัย หลวง อินทรมนตรี นายชาย บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ไปกินโต๊ะที่ตึกพร้อมด้วยพระพิเทศพานิช ๑ บาดหลวงแบรันเมืองสิงคโปร์๑ กำมดันโทยอน ๑ มองเซียไซแม๊ก มองเซียไซยา เปนขุนนางฝรั่งเศส ๒ นาย เดอกัศ เตลโนกงสุลกรุงเทพ ฯ ๑ วิกลเตอรบุตรกงสุลกรุงเทพ ฯ ๑ แฮนดิน นายห้างฝรั่งเศส ๑ บาดหลวงออซู่ ๑ ดอกเตอร์สเล็ม ๑ รวม ๑๙ นายเลี้ยงอย่างฝรั่ง เวลายามเศษเลิกโต๊ะแล้วลากลับมาโฮเต็ล มิศกอชิด กงสุลฝรั่งเศสสำหรับเมืองสิงคโปร์ มาส่งทูตานุทูตถึงโฮเต็ลแล้วลา กลับไป.
๑๔
วันพุธ เดือน ๕ แรม ๘ ค่ำเวลา ๕ โมงเช้า เซอริดเชิดมะกอศ
แลน ๑ มิศเตอรกะมิงพนักงารฝ่ายกรมท่า ๑ เดอกัศเตลโนกงสุล
ฝรั่งเศสกรุงเทพ ฯ ๑ วิกลเตอรบุตรกงสุลฝรั่งเศสกรุงเทพ ฯ ๑ พระ
พิเทศพานิช ๑ มิศกอชิดกงสุลฝรั่งเศสเมืองสิงคโปร์ ๑ มาเยี่ยมตอบแทนทูตานุทูตที่โฮเต็ล พูดกันอยู่ประมาณชั่วโมง ๑ แล้วลากลับไป
เวลาบ่าย ๔ โมงเศษพระพิเทศพานิช ๑ มิศกอชิดกงสุล ๑ กำมดัน
โทยอน ๑ เถ้าแก๋อี๋ ๑ ไปรับทูตานุทูตที่โฮเต็ลมาลงเรือมักฟาซันที่ ๒
อัศดีกำที่ ๓ มาส่งทูตนุทูตที่สพานน้ำ ครั้นทูตานุทูตลงเรือบตแล้ว
ที่ป้อมยิงปืนสลุตส่ง ๑๙ นัด ที่เรือรบชักธงช้างเผือกแล้วยิงปืนสลุตรับ ๑๙ นัด ทูตานุทูตพักอยู่เมืองสิงคโปร์ ๗ วัน.
๑๕
ตอนที่ ๒ ว่าด้วยราชทูตออกจากสิงคโปร์
จนถึงเกาะลังกา
วันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำเวลาบ่าย ๓ โมง กำมดันให้ใช้จักรเรือรบออกจากที่ทอดสมอเมืองสิงคโปร์ไป เลี้ยวอ้อมแหลมเมืองสิงคโปร์ เวลาบ่าย ๔ โมง ถึงกองศิลาตำบล ๑ ศิลานั้นงอกขึ้นพ้นน้ำบ้างอยู่ใต้น้ำบ้าง เปนศิลาดำอยู่หว่างเมืองสิงคโปร์ข้างขวา เกาะสุมาตราข้างซ้าย อังกฤษทำแล็ดเฮาไว้สำหรับตามโคมให้เรือเข้าออก เห็นเปนสำคัญ สูงประมาณ ๑๐๐ ฟิต เวลาบ่าย ๕ โมงถึงช่องมาลากาข้างขวา. วันศุกร์เดือน ๕ แรม ๑๐ ค่ำเวลาเช้าถึงหน้าเมืองมาลากาเรือไปใกล้ฝั่ง แลเห็นบ้านเรือนบนบกหลายตำบล เวลาบ่าย ๔ โมงพ้นแหลมมาลากา เวลาบ่าย ๕ โมงครึ่งถึงที่โขดแห่งหนึ่งอยู่กลางช่องทางไปเมืองบังคลา ไปเกาะหมาก แขกเรียกว่าเกาะปูลูปีนัง น้ำลึกประมาณ ๙ ศอก ๑๐ ศอก เปนที่เรือโดน อังกฤษจึงให้กำปั่น ๒ เสาครึ่งลำหนึ่งไปทอดไว้สำหรับตามโคม เรือไปมาได้เปนที่สังเกต. วันเสาร์เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำเวลาเช้าเรือแล่นออกลึกไม่เห็นฝั่งเวลาเที่ยงลุดเตนเนนคิดแผนที่สอบดูรู้ว่าเรือถึงตรงเกาะหมาก เวลาค่ำเห็นเกาะปูลูเปราข้างขวาไม่มีคน. วันอาทิตย์เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาบ่ายแลเห็นเขาบนเกาะ สุมาตรา อยู่ทิศตะเภาข้างซ้าย.
๑๖ วันจันทร์เดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ เปนลมสลาตันคลื่นใหญ่ เวลาบ่าย ๕ โมงเรือไปพ้นเกาะสุมาตรา เวลา ๔ ทุ่มฝนตกจนเวลา ๗ ทุ่มขาดเม็ด. วันอังคารเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ เรือแล่นออกลึกไม่เห็นเกาะ เห็นฝั่ง ๑๐ วัน. วันพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำเวลา ๒ โมงเช้า แลเห็นเกาะลังกา และเกาะลังกานั้นอังกฤษเรียกว่าเกาะซิลอนข้างทิศว่าว เวลา ๔ โมงเช้าเรือไปใกล้ปากอ่าวป้อมแหลมคาลี กำมดันให้ชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลาง ชักธงฝรั่งเศสขึ้นปลายเพลาโกซีเสาท้าย มีเรือออกมา รับจ้างนำร่อง เข้าไปถึงที่ทอดสมอในอ่าวป้อมแหลมคาลี รวมวัน ตั้งแต่ออกจากเมืองสิงคโปร์ ๑๕ วันถึงเกาะซีลอน กำมดันให้ชักธงอังกฤษขึ้นเสาหน้า ยิงปืนสลุตธง ๒๑ นัด ที่ป้อมยิงปืนตอบรับ ๒๑ นัด กำมดันโทยอนให้ออฟฟีเซอขึ้นไปหาเอเยนชื่อมิศเบลี ผู้รับว่าการกงสุล ฝรั่งเศสที่ป้อมแหลมคาลี ออฟฟีเซอกลับมาแจ้งความว่ามิศเบลีบอกว่าโฮเต็ลที่ให้จัดไว้รัทูตานุทูตนั้น มีโฮเต็ลเล็ก ๆ ไม่สมควรแก่ทูต จะจัดหาโฮเต็ลที่ใหญ่ได้แล้วจึงจะให้คนมาบอก เวลาบ่าย ๓ โมงครึ่งมิศเบลีเอเยนให้คนมาบอกว่าโฮเต็ลที่จะรับทูตานุทูตนั้นได้แล้ว เวลานี้ฝนยังตกอยู่ ถ้าทูตานุทูตจะขึ้นโฮเต็ล ที่ป้อมเห็นจะยิงสลุตรับไม่ได้ทูตานุทูตปรึกษากับกำมดันว่าการสลุตเปนพระเกียรติยศ คอยให้ฝน หยุดก่อนจึงจะขึ้น ที่ป้อมจะได้ยิงสลุตรับ กำมดันก็เห็นด้วยทูตานุทูต
๑๗
ฝนตกตั้งแต่เวลา ๕ โมงเช้าจนค่ำก็หาหยุดไม่ทูตานุทูตจึงไม่ได้ขึ้นโฮเต็ล.
วันศุกร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำเวลา ๕ โมงเช้า กำมดันจัดเรือโบต ๓ ลำ ราชทูต อุปทูต ตรีทูตแต่งตัวเหมือนเมื่อขึ้นเมืองสิงคโปร์
ราชทูต อุปทูต ตรีทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กำมดันโทยอน ๕ นายลงเรือโบตลำ ๑ ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่าม
แต่งตัวตามบรรดาศักดิไปลำ ๑ คนใช้ไปลำ๑ นายทหารที่เรือยี่รอนเดอจัดทหารถือปืนไรแฟนคำนับส่งทูต ๒ แถว ๆ ละ ๖ คนเป่าแตรคน ๑ ครั้นทูตานุทูตลงจากเรือแล้ว ทหารที่เรือยี่รอนเดอยิงสลุตส่งทูตานุทูต๑๙ นัดทูตานุทูตมาใกล้สพาน มิศโฟเบิด ผู้ว่าการป้อมแหลมคาลีให้ทหาร
ยิงปืนสลุตรับ ๑๙ นัด เมื่อทูตานุทูตขึ้นสพานแล้ว มิศโฟเบิดให้นายทหารที่รักษาการถนนมารับ ๓ คน ถือธงสำหรับทหารคน๑ถือกระบอง ๒ คน
มิศเบลีเอเยนจัดรถรับทูตานุทูต ๓ รถ ทูตานุทูตไปถึงหน้าโก๊ดในเมืองมีทหารอังกฤษแต่งตัวถือปืนยืนคำนับ ๑๒ คน เป่าแตรคน ๑ ทูตานุทูตไปถึงโฮเต็ล ๆ นั้นชื่อว่าสิวิวอยู่ในป้อมแหลมคาลี มิศเบลีเอเยนจัดรถ
ไว้ให้ใช้สำหรับโฮเต็ล ๓ รถ ครั้นเวลาเที่ยงมิศเบลีมีหนังสือมาถึง
ราชทูต ว่าเวลานี้ทูตานุทูตพึ่งขึ้นมาจากเรือยังวุ่นวายอยู่ ต่อรุ่งพรุ่งนี้ข้าพเจ้ามิศเบลีจึงจะมาเยี่ยมทูตานุทูตที่โฮเต็ล การุณารัตน์ชาวสิงหฬหลานเจ้าเมืองคนเก่ามาทักถามทูตานุทูตที่โฮเต็ล เวลาบ่ายโมง ๑
กอนันกอนาพนักงารฝ่ายกรมท่า ๑ มิเยอบีซันขุนนาง ๑ ดอกเตอ
๑๘ กอนันผู้ตัดสินความ ๑ มิศเปนขุนนางนายทหารปืนใหญ่ ๑ มิศมิเดนขุนนางนายทหารปืนเล็ก ๑ รวม ๕ นายมาที่โฮเต็ล ถามว่าทูตานุทูต อยู่หรือไม่ คนเฝ้าโฮเต็ลบอกว่าทูตยังรับประทานอาหารอยู่ อังกฤษ ทั้ง ๕ นายส่งแต่ก๊าดขึ้นมาทักถามทูตานุทูตตามธรรมเนียมแล้วลากลับไป. วันเสาร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำเวลา ๕ โมงเช้า พระสิริสมณะวัดแหลมคาลี ๑ มิศโฟเบิดผู้ว่าการป้อมแหลมคาลี ๑ มาทักถามทูตานุทูตที่โฮเต็ลประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วลากลับไป เวลาบ่ายโมง ๑ ราชทูต อุปทูต ตรีทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กำมดันโทยอนไปหาตอบแทนมิศโฟเบิดที่คอเวอนแมนต์สเตเชนหาพบไม่ พบแต่กอนันมักกอนา ๑ มิเยอปีซัน ๑ ดอกเตอกนัน ๑ มิศแปนขุนนางนายทหารปืนใหญ่ ๑ มิศมิเดนขุนนางนายทหารปืนเล็ก ๑ ห้านายบอกว่ามิศโฟเบิดไปบ้านแล้วราชทูต อุปทูต ตรีทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กำมดันโทยอนก็ ตามไปที่บ้านมิศโฟเบิดบนยอดเขาหาพบไม่ ภรรยามิศโฟเบิดออกมา รับเชิญทูตให้ขึ้นไปบนตึก บอกว่าเวลานี้มิศโฟเบิดไม่อยู่ พูดกันอยู่ กึ่งโมงลากลับมาโฮเต็ล. วันอาทิตย์เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทูตานุทูตเที่ยวดูที่ป้อมแหลมคาลีที่ป้อมแหลมคาลีนั้นเปนอ่าวเข้าไปประมาณ ๕๐ เสัน กว้างประมาณ ๓๐ เส้น ปากอ่าวอยู่ทิศตะเภา ฟากตวันออกเปนเขามีแล็ดเฮา ตำบล ๑ ฟากตวันตกมีป้อมมีแล็ดเฮาอิกตำบล ๑ ในอ่าวมีกอง ศิลาพ้นน้ำบ้างใต้น้ำบ้าง อังกฤษทำทุ่นเหล็กทอดไว้ ริมกองศิลาให้เปน
๑๙
ที่สังเกตเรือเข้าออก ทั้ง ๒ ฟากเปนทางเรือเดิร ที่เรือทอดอยู่กว้างประมาณ ๑๐ เส้น มีกำปั่น ๓ เสาบ้าง ๒ เสาบ้างเสาครึ่งบ้าง บรรทุกถ่านศิลาแลของอื่น ๆ ทอดขายอยู่ในอ่าว ๒๗ ลำ เรือเมล์เข้าออกเนือง ๆ ป้อมนั้นเปนของพุทเกตทำไว้แต่เดิม กำแพงก่อด้วยศิลา
สูง ๕ วา เชิงกำแพงด้านหน้าถึงน้ำ ๓ ด้าน ตวันออกด้าน ๑ ตวันตกด้าน ๑ ทักษิณด้าน ๑ ทำเชิงเทิน ๒ ชั้น ๆ บนกว้าง ๘ ศอก เปนที่
เดิรเล่นเวลาเย็น ๆ ชั้นล่างกว้าง ๔ วา ที่แห่งใดได้ทางปืนถนัด
อังกฤษทำแท่นวงเดือนมีสพานเหล็กสำหรับใส่ปืนกระสุน ๘ นิ้วทุกแห่งร่มปืนนั้นทำด้วยเหล็กสังกะสี ด้านทักษิณมีปืนอยู่บนแท่น ๕ กระบอกด้านตวันตกมีแต่แท่นหามีปืนไม่ ด้านตวันออกนั้นอยู่ในอ่าวตรงที่เรือทอดตามกำแพงมีปืนอยู่บนแท่น ๖ กระบอก ที่มุมใกล้ประตูทำเปนป้อมอิกชั้นหนึ่ง มีเสาธงมีปืนรางเหล็ก ๔ ล้อ กระสุน ๕ นิ้ว ๑๒ กระบอกด้านอุดรนั้นเปนบนบกมีป้อม ๒ ชั้นสูงประมาณ ๑๐ วา ป้อม ๑ ทำลม้ายคล้ายป้อมพิชัยประสิทธิ์ มีปืนกระสุน ๘ นิ้ว ๖ กระบอกเปนที่สลุต
มีเสาธงมีซุ้มคนอาศรัยฝน ทหารผลัดเปลี่ยนกันรักษาทั้งกลางวัน
กลางคืน ป้อมแหลมคาลีนี้มีประตูเข้าออกด้านอุดรประตูเดียว ทำตึกเปนกำแพงคร่อมประตูไว้ ตึกยาวประมาณ ๒ เส้น ในกำแพงตรงประตูทำที่โรงทหารหลัง ๑ ยาวประมาณ ๑๕ วา มีทหารอยู่ ๒๐๐ คน
ทหารแขกดำมีบุตรภรรยาอยู่พร้อม ทหารชาวยุโรปแต่งตัวถือปืนไรแฟน
๒๐ ประจำอยู่หน้าโรงคน ๑ ที่ประตู ๒ คน ทหารแขกดำถือกระบองเที่ยวเดิรประจำอยู่ทุกถนน มีห้างอังกฤษพื้น ๒ ชั้นขายของต่าง ๆ สองห้างเปนที่ตึกอยู่แลให้เช่าหลายตึก ตึกแขกพื้นดินชั้นเดียวขายเครื่องแก้วบ้าง แหวนบ้าง เพ็ชร์บ้าง พลอยบ้าง หลายตึก โรงร้านแขกชาวสิงหฬ ขายผักผลไม้ต่าง ๆ ทุกถนน ลูกจ้างทำงารใช้สอยเปนคนชาวสิงหฬ ๓ ส่วนแขกดำส่วน ๑ นอกกำแพงฝ่ายทิศอุดรตรงป้อม ๒ ชั้น อังกฤษทำทางรถไปถึงเมืองกะลุมบู เมืองกันดี กำหนดทาง ๑๒๐๐ เส้น ที่พัก ๖ แห่งมีสายเตเลคราฟมาแต่เมืองบุ้มบายเมืองกะลุมบูเมืองกันดีถึงป้อมแหลมคาลี ตั้งแต่เชิงกำแพงออกไปนอกป้อมประมาณ ๓ เส้น ถึงตึกแถวของอังกฤษของแขกพื้น ๒ ชั้น ๒ แถวยาวประมาณ ๕ เส้นเปนที่อยู่บ้าง ให้คนเช่าสำหรับขายปลาผลไม้แลของต่าง ๆ บ้าง มีถนนเดิรกลางกว้างประมาณ ๔ วา ที่เชิงกำแพงหน้าป้อมสูงแลเห็นอ่าวชายหาด มีโรงใส่ถ่านศิลา ๓๐ โรง มีสวนมะพร้าวตามบ้านตามเขามากกว่าต้นไม้อื่น ชาวสิงหฬทำเรือยอยู่ตามสวนแลเนินเขาแลเชิงเขา เรือนนั้นเล็ก ๆ พื้นดินฝาขัดแตะด้วยแขนงไม้ทิ้งดิน หลังคามุงด้วยใบมะพร้าว ดูเปนคนยากจนมาก การุณารัตน์ชาวสิงหฬหลานเจ้าเมืองคนเก่านั้น เข้ารีดถือสาสนาคฤศต์ มีตึกพื้น ๒ ชั้นหลัง ๑ ทำ สอาดประหลาทกว่าราษฎรชาวสิงหฬ แต่ชาวสิงหฬมิได้นับถือ ชาวสิงหฬเข้ารีดฝรั่งส่วน ๑ ไม่เข้ารีดสัก ๗ ส่วน วัดพระสงฆ์มีอยู่ตาม บ้านสวนหลายอาราม แต่พระสงฆ์นั้นเปนสองพวก ไม่เปนสามัคคี
๒๑
ร่วมสังฆกรรมกัน เพราะถืออย่างอุบาลีวงศพวกหนึ่ง ถืออย่างบรามวงศพวกหนึ่ง ต่างติเตียนกัน วัดพระสิริสมณะนั้นอยู่บนภูเขามีกุฎี
ทำเปนตึกหลังหนึ่ง พระวิหารทำเปรซุ้มกลมมีพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอกองค์หนึ่ง มีพระเจดีย์สูง ๗ วาองค์หนึ่ง มีพระสงค์ ๖ รูป พระสงฆ์ในเกาะซิลอนนั้นไม่ได้ไปเที่ยวบิณฑิบาตด้วยมีกฎหมายห้าม ชาวบ้านต้องออกไปที่วัดส่งกับปีย์ของฉันทั้งเช้าทั้งเพล ที่แหลมคาลีนั้นฝนตกเสมอหาเปนระดูไม่ เรือเมืองนั้นชางสิงหฬทำใช้ไม่เหมือนประเทศอื่น
รูปเรือนั้นกลมเหมือนมาดยังไม่ได้เบิก ยาวประมาณ ๔ วาบ้าง ๕ วาบ้าง ปากกว้างศอก ๑ สูงน้ำประมาณศอก ๑ มีไม้พาดออกไปจากปากเรือ ๒ อันยาวประมาณ ๕ ศอก ๖ ศอก มีไม้ทุ่นผูกติดกับ
ปลายไม้ที่พาดออกไปจากปากเรือลอยอยู่บนน้ำ เรือนั้นถึงจะออกทะเลคลื่นใหญ่ลมกล้าประการใด เรือก็ไม่เปนอันตราย ทูตานุทูตพักอยู่แหลมคาลี ๔ วัน.
๒๒ ตอนที่ ๓ ว่าด้วยราชทูตออกจากเกาะลังกาจนถึงเมืองเอเดน
วันอังคารเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้ากำมดันโทยอนขึ้นไปรับทูตานุทูตที่โฮเต็ลมาลงเรือโบตที่สพาน ทหารที่ป้อมยิงสลุตส่ง ๑๙ นัด ที่เรือรบยีรอนเดอชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลางแล้วทหารยิงปืนสลุตรับ ๑๙ นัด เวลาบ่าย ๓ โมงกำมดันให้ใช้จักรเรือออกจากที่ทอดสมออ่าวแหลมคาลี เวลานั้นเปนลมสลาตันคลื่นใหญ่ ตั้งหัวเรือไปทิศ ตวันตก วันศุกร์เดือน ๖ แรม ๙ ค่ำเวลาเช้า ๒ โมงหม้อน้ำเครื่องจักรรั่วกำมดันให้หยุดทำจักรแลยาหม้อ ๓ ชั่วโมง จึงได้ใช้จักรไป. วันอาทิตย์เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำเวลาย่ำรุ่ง เห็นเขาบนฝั่งแหลมดารดาพุมเปนทวีปแอฟริกา ข้างซ้ายเปนลมหว่างทิศตะเภาหว่างสลาตันอ่อน ๆ คลื่นราบใช้ใบได้ทั้ง ๓ เสา. วันจันทร์เดือน ๖ แรม ๑๓ ค่ำเวลา ๒ โมงเช้า หมอนข้อเสือ เคริ่งจักรสลายชำรุดหยุดจักรทำอยู่ กำมดันให้ใช้ใบลมพัดอ่อน ๆ เรือเดินโมงละ ๒ น๊อต เวลาบ่ายครึ่งโมงแก้เครื่องจักรแล้วใช้จักรไป เรือเดิรโมงละ ๖ น๊อต. วันอังคารเดือน ๖ แรม ๑๓ ค่ำ เวลาเช้าแลเห็นเขาเห็นฝั่งแหลมเอเดน เมื่อเรือมาใกล้ปากอ่าวแหลมเอเดน กำมดันให้ชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลาง ชักธงฝรั่งเศสขึ้นปลายเพลาโกซีเสาท้าย แล้วอังกฤษ เจ้าท่าออกมารับนำร่อง พาเรือยีรอนเอดเข้าไปทอดสมอในอ่าวแหลมเอเดน
๒๓
ตั้งแต่ออกจากเกาะซีลอนรวม ๑๕ วันถึงเมืองเอเดนเวลาบ่ายโมง ๑ กำมดันให้พวกออฟฟิเซอขึ้นไปบอกกัปตันเปละแฟผู้สำเร็จราชการเมืองเอเดน ว่าจะขอสลุตธงอังกฤษ กัปตันเปละแฟจึงตอบว่าซึ่งจะสลุตธงอังกฤษนั้น ขอยกเสียเถิด จะขอสลุตรับแต่ทูตานุทูตที่เรือยีรอนเดอ
จึงหาได้สลุตธงอังกฤษไม่ ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมงกัปตันเปละแฟลงมา
ทักถามทูตานุทูตที่เรือยีรอนเดอ เวลาบ่าย ๕ โมงกำมดันโทยอนจัด
เรือโบต ๓ ลำให้ราชทูต อุปทูต ตรีทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดีล่ามกัปตันเปละแฟ กำมดันโทยอนรวม ๖ นายลำ ๑ แต่ราชทูต อุปทูต ตรีทูต แต่งตัวเหมือนเมื่อขึ้นเมืองสิงคโปร์ ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่าม แต่ตัวตามบันดาศักดิ์ลงลำ ๑ คนใช้ลำ ๑ เมื่อราชทูต อุปทูต ตรีทูต จะลงเรือโบตนายทหารจัดทหารถือปืน
ไรแฟนสพายดาบคำนับส่งทูตานุทูต ๒ แถว ๆ ละ ๖ คน เป่าแตรคน ๑ ครั้นเรือโบตออกจากเรือยีรอนเดอแล้ว ทหารที่เรือยีรอนเดอยิงปืนสลุตส่งทูต ๑๙ นัด ทหารที่ป้อมบนเขายิงปืนสลุตรับ ๑๙ นัด เรือไปถึงท่า
มีรถมาคอยรับทูตานุทูตอยู่ ๒ รถ กัปตันเปละแฟขึ้นรถไปด้วย ทูตา
นุทูตไปอยู่โฮเต็ลชื่อปรินสเวไกลน้ำ ๒ เส้น กัปตันเปละแฟจัดรถไว้ให้ใช้สำหรับโฮเต็ล ๓ รถ ให้ทหารแขกดำเดิรยามรักษาอยู่ยามละ ๒ คน
ที่ปากอ่าวเปนเขาทั้ง ๒ ฟาก ๆ หนึ่งตวันออกเปนแหลมเอเดน ฟาก
ตวันตกเรียกเขาปิลมัด แหลมทวีปอาหรับปากช่องกว้างประมาณ ๗๐ เส้น
๘๐ เส้น เปนอ่าวเข้าไปกว้างยาวมาก แขกบอกว่าหนทาง ๕ ไมล์
ในท้องอ่าวเปนหาดทราย บนบกมีต้นอินทผาลำมากกว่าต้นไม้อื่น มี
๒๔ เรือรบกลไฟจักรข้างของอังกฤษทอดอยู่ลำ ๑ เปนเรือสำหรับรักษาป้อมเอเดน มีเรือสกุนเนอแล่นไปมาตระเวนอยู่ในอ่าวลำ ๑ ที่แหลมเอเดน เดิมมีบ่อน้ำจืดจองแขกในเขตแดนอาหรับมาซื้อขาย แต่น้ำนั้นกร่อย หาจืดสนิทไม่ ที่หว่างเขาอังกฤษขุดบ่อได้น้ำจืดกับทำที่ขังน้ำฝนไว้หลายตำบล ทุกวันนี้ปิแอนดโอกอมปนีอังกฤษให้มิศโฟเบิดบีตาซันอังกฤษเอาเครื่องกลั่นน้ำมาตั้งโรงกลั่นอยู่ ๔ โรง ได้น้ำจืดสนิทวันละ๔.๓๒๐ กะลันคิดเปนไทยกะลันละ ๕ ทนาน ซื้อขายกัน ๒๕ กะลันเปนเงินรูเปีย ๑ มีตึกห้างโฮเต็ลของอังกฤษ ของพุทเกต ของแขกเทศเปนที่อยู่บ้าง ให้เช่าบ้างหลายหลัง ตึกนั้นก่อด้วยศิลาถือปูนหลังคาทำเหมือนเพดานสูงข้างหนึ่งต่ำข้างหนึ่ง บนหลังคาปูด้วยต้นอินทผาลำถือปูนทับ เรือน แขกดำทำเล็ก ๆ พื้นดินหลังคาสูงประมาณ ๔ ศอกบ้าง ๕ ศอกบ้าง ฝาแลกหลังคาทำด้วยใบอินทผาลำบ้าง เอาเสื่อคลุมเปนประทุนบ้าง ข้างในขุดดินลงไปศอกหนึ่งบ้าง ศอกเศษบ้าง อยู่ตามชายหาดหน้าเขาบ้าง ตามชะวากเขาบ้าง ตามเนินเขาบ้าง ทำถนนทางรถเดิรหน้าเขาริมน้ำ บ้าง ตัดทางขึ้นบนเขาไปในเมืองทางหนึ่ง ที่เขาสูงเจาะเปนอุโมงค์ทำทางเดิรเข้าในเมือง ๒ ตำบล ๆ หนึ่งยาวประมาณ ๒ เส้นตำบลหนึ่งยาวประมาณ ๓ เส้นเดิรตลอดถึงกัน เขานั้นเปนศิลาบ้าง ดินปนทรายบ้าง ที่เชิงเขามีหญ้าบ้างเล็กน้อย แต่ต้นไม้ใหญ่หามีไม่ ด้านเหนือติด แผ่นดินทวีปอาหรับ อังกฤษทำกำแพงประจบถึงเขา กำแพงนั้นก่อด้วยศิลามีคูตลอดกัน มีป้อมมีปืนตามกำแพง ๒ ป้อม เขานั้นมีประตู เข้าออกตามกำแพงประตูหนึ่ง มีทหารรักษาทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาด
๒๕ มีโรงทหาร ๔ ตำบล ทหารอังกฤษมีอยู่ ๘๐๐ คน ทหารแขกดำ ๒ ส่วนลูกจ้างใช้สอยเปนแขกดำผมหยิกทั้งสิ้น ชาวเมืองใช้อูฐใช้ฬาบรรทุกของต่าง ๆ มาก รถเทียมด้วยม้าเทศบ้างฬาบ้าง กัปตันเปละแฟ ผู้สำเร็จราชการเมืองนั้นทำตึกอยู่บนเขาข้างในอ่าว เขานั้นอยู่ริมน้ำยอดต่ำปราบทำเปนป้อมมีเสาธงมีปืน ๓ ตำบล อากาศทั้งกลางวันกลางคืนร้อนมากกว่าเย็น กัปตันเปละแฟบอกว่าเมื่อเดือน ๑๑ ปีวอกโทศก ฝนตกครั้งหนึ่งมากจนตึกพังคนตายเปนอันมาก เว้นมา ๕ เดือนตกอิกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนนั้นฝนตกปีละครั้งบ้าง สองปีครั้งหนึ่งบ้าง ผลไม้ผักต่าง ๆ ที่จะรับประทานนั้น แขกฝ่ายแผ่นดินอาหรับเอามา ซื้อขายมิได้ขาด. วันพุธเดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ กัปตันเปละแฟผู้สำเร็จราชการเมืองเอเดน เชิญราชทูต อุปทูต ตรีทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กำมดันโทยอน ๖ นายไปกินโต๊ะที่บ้านกัปตันเปละแฟบนเขา พร้อมด้วยขุนนางนายทหาร ๔ คน ภรรยากัปตันเปละแฟ ๑ หญิงน้องภรรยากัปตันเปละแฟ ๑ เจ็ดคนเลี้ยงอย่างฝรั่ง พูดกันแต่เรื่องกินโต๊ะ จนเวลา ๒ ทุ่ม เลิกโต๊ะแล้ว ทูตานุทูตก็ลากลับโฮเต็ล. วันพฤหัสบดีเดือน ๖ แรม๑๕ ค่ำเวลาบ่าย ๔ โมง กำมดันโทยอนขึ้นมารับทูตานุทูตที่โฮเต็ลมาลงเรือที่ท่า ครั้นเรือโบตทูตานุทูตออกจากท่าแล้ว ที่ป้อมเอเดนยิงปืนสลุตส่งทูต ๑๙ นัด ที่เรือยีรอนเอดชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลาง ยิงสลุตรับ ๑๙ นัด ทูตานุทูตพักอยู่เรือคืน หนึ่ง ด้วยเครื่องจักรชำรุดยังทำไม่แล้ว ทูตานุทูตพักอยู่เมือง เอเดน ๓ วัน. ๒๖ ตอนที่ ๔ ว่าด้วยราชทูตออกจากเมืองเอเดนจนถึง เมืองไกโรแลเมืองอาเล็กซันดรี
วันศุกร์เดือน ๗ ขึ้นค่ำ ๑ เวลาบ่ายโมงเศษเปนลมตวันออกพัดกล้ากำมดันโทยอน ให้ถอนสมอใช้แต่ใบเรือออกจากที่ทอดสมอเมืองเอเดนแล้วตั้งหัวเรือไปทิศสลาตัน เรือเดิรโมงละ ๕ น๊อตครึ่ง เวลาบ่าย ๒ โมงครึ่งจักร์แล้วได้ใช้จักนด้วยเรือเดิรโมงละ ๗ น๊อต เรือแล่นไป ใกล้ฝั่งทวีปอาหรับข้างขวา เห็นภูเขาเห็นหาดถนัด เวลา ๗ ทุ่มเรือไปถึงที่ช่องแคยแบบเวลแมนเดบเข้าทเลแดง มีเกาะชื่อเปรรีนเกาะหนึ่งอังกฤษทำแล็ตเฮาสำหรับตามโคมอยู่ข้างซ้าย เรือแล่นไปข้างขวาพ้นเกาะนั้นแล้ว วันเสาร์เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำเวลาโมงเช้าเห็นฝั่งทั้ง ๒ ฟากเวลา ๕ โมงถึงเกาะแยแปนยุวาข้างซ้ายไม่มีคน เกาะเล็กๆ มีอยู่ ๒ เกาะ เวลาย่ำค่ำถึงเกาะเลบบาเยออยู่ข้างขวา วันอาทิตย์เดือน ๗ ขึ้น ๓ ค่ำเวลาบ่าย ๓ โมงครึ่ง เปนลมตวันตกพัดกล้าคลื่นใหญ่ใช้ใบด้วย จนใบโกซีเสาท้ายขาด เวลาย่ำค่ำลมโต้หน้าใช้ใบไม่ได้ เรือ เดิรโมงละ ๒ น๊อต ๖ วัน. วันอาทิตย์เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลาย่ำค่ำ แลเห็นฝั่งเรียกว่า เลฮุมอยู่ทิศตวันตกข้างซ้าย. วันพฤหัสบดีเดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่มถึงซาดดอนเปนช่องเข้าไปท่าสุเอส.
๒๗
วันศุกร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำเวลาเช้า เรือแล่นมากลางช่องเห็นฝั่งทั้ง ๒ ฟาก เวลา ๔ ทุ่มเกิดพายุกล้าคลื่นใหญ่โต้หน้าเรือเดิรโมงละน๊อตวันอาทิตย์เดือน ๗ แรม ๒ ค่ำเวลา ๔ โมงเช้า เรือไปใกล้แลเห็นป้อม
ท่าสุเอส กำมดันให้ชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลาง ธงฝรั่งเศสขึ้นเสา
ท้าย เรือไปถึงที่ทอดสมอท่าอ่าวสุเอส ตั้งแต่ออกจากเมืองเอเดน
รวม ๑๗ วันถึงท่าสุเอส ครั้นเรือทอดสมอแล้ว มหะมัดเบผู้สำเร็จ
ราชการท่าสุเอส มิศเตอร์กอศเตอเอเยนของคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศส
ผู้รับว่าการเรือรบเมืองอาเล็กซันดรีแลท่าสุเอส ลงมาทักถามทูตานุทูต
ที่เรือยีรอนเดอ มหะมัดเบบอกว่ามีคำสั่งเจ้าไกโรมาว่า ถ้าทูตานุทูตกรุงสยามไปถึงแล้ว ให้จัดเรือกลไฟออกมารับขึ้นไปอยู่ที่โฮเต็ลสำหรับ
เจ้าไกโรมาพัก แลสั่งให้เลี้ยงดูทูตานุทูตให้บริบูรณ์ มหะมัดเบว่าได้
ติดไฟเรือกลไฟไว้แต่แรกเห็นธงช้างเผือก ทราบว่าเปนเรือทูตานุทูตกรุงสยาม ได้บอกเตเลคราฟไปเมืองอาเล็กซันดรีแล้ว กงสุลฝรั่งเศส
ซึ่งอยู่ที่เมืองอาเล็กซันดรีตอบมาว่าจะลงมารับทูตานุทูตณท่าสุเอส ครั้นเวลาเช้า ๕ โมงเรือกลไฟจักรข้างกินน้ำลึก ๔ ฟิตออกมารับพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการแลทูตานุทูตที่เรือยีรอนเดอ ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่ามแต่งตามบรรดาศักดิ์ แลคนใช้ลงเรือกลไฟจักรข้าง หน้าเรือปักธงพระจอมเกล้า ท้ายเรือปักธงตุระเกีย มหะมัดเบผู้สำเร็จราชการท่าสุเอส
มิศเตอร์กอศเตอเอเยนคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศส ก็ลงเรือกลไฟไปด้วย
เมื่อทูตานุทูตลงเรือนั้น ทหารเรือยีรอนเดอแต่งตัวถือปืนไรแฟนคำนับ
๒๘ ส่งทูตตามธรรมเนียม ยิงปืนใหญ่สลุตส่งทูต ๑๙ นัด ทหารที่ป้อมท่าสุเอสสลุตรับ ๑๙ นัด เรือทูตไปถึงเทียบท่าแล้ว เรือยีรอนเดอชักธง ตุระเกียขึ้นเสาหน้าแล้วยิงสลุตธง ๒๑ นัดทหารที่ป้อมสลุตตอบ ๒๑ นัด มหะมัดเบพาทูตานุทูตขึ้นอยู่ที่โฮเต็ล มีคนรับใช้เลี้ยงดูตามธรรมเนียมห้องโฮเต็ลนั้นแต่งต่าง ๆ กัน คนที่ท่าสุเอสนั้นเปนชาติเติ๊กบ้าง อาหรับบ้าง แขกดำบ้าง มีเรือจักรขุดคลองอยู่ลำ ๑ เรือกลไฟเล็ก ๆ สำหรับออกไปรับคนรับของที่เรือเมล์แลเรือรบ ๓ ลำ มีโฮเต็ลใหญ่ของอังกฤษตั้งอยู่ริมน้ำสำหรับรับคนเรือเมล์หลังหนึ่ง มีตึกอยู่ก่อด้วยดินดิบพน ๓ ชั้นบ้าง ๒ ชั้นบ้าง ชั้น ๑ บ้าง ประมาณร้อยหลังเศษ ที่ป้อมนั้นไม่สู้ มั่นคง มีแต่ปืนใหญ่ตั้งไว้ พอสลุตรับส่งตามธรรมเนียม ๕ กระบอกรถไฟเดิรขึ้นลงเมืองไกโรมิได้ขาด โรงที่พักรถไฟนั้น เสาแลหลังคา ทำด้วยเหล็ก เวลาบ่าย ๒ โมง มิศเตอร์ยอแวกงสุลอังกฤษที่ ๒ ซึ่ง อยู่ที่ท่าสุเอสมาทักถามทูตานุทูตที่โฮเต็ล พูดกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงลากลับไป วันจันทร์เดือน ๗ แรม ๓ ค่ำเวลา ๕ โมงเช้า กงสุลฝรั่งเศสเมืองอาเล้กซันดรีที่ ๑ กีแบนเวียระที่ ๒ แฟสะกิดขุนนางเมืองไกโร ๑ สิกกิเปขุนนางฝ่ายกรมท่า ๑ มาถึงท่าสุเอส ครั้นเวลาบ่ายโมง ๑ มาทักถามทูตานุทูตที่โฮเต็ล กีแบนเวียระกงสุลฝรั่งเศสบอกว่า คอเวอนแมนต์ทราบว่าทูตกรุงสยามออกมาช้านานแล้ว ได้จัดให้เรืออัคโมเดมารับทูตคอยอยู่ที่ท่าเมืองอาเล็กซันดรีถึง ๔๐ วันแล้ว ราชทูตตอบว่ามากลาง ทเลถูกพายุจัดลมพัดโต้หน้าเรือหลายวันการจึงช้าไป สิกกิเปขุนนาง
๒๙ ฝ่ายกรมท่าบอกว่าเจ้าไกโรให้จัดรถไฟสำหรับเจ้าไกโรทรงเที่ยวเล่นนั้นมารับทูตานุทูตให้สมแก่พระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ราชทูตตอบว่าซึ่งเจ้าไกโรให้ท่านนำรถไฟมารับข้าพเจ้าทั้งปวง ข้าพเจ้าขอบพระเดชพระคุณเจ้าไกโรเปนอันมาก พูดกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง กีแบนเวียระกงสุลฝรั่งเศส แฟสะกิดขุนนางเมืองไกโร สิกกิเปขุนนางฝ่ายกรมท่าลากลับไป เวลาบ่าย ๕ โมงกีแบนเวียระกงสุลฝรั่งเศส สิกกิเปขุนนางฝ่ายกรมท่าเชิญทูตานุทูตขึ้นรถไฟ รถที่ทูตไปนั้นข้างนอกทาเขียวเขียนลายทอง ข้างในเปนไม้ลาย ๓ ห้องมีเก้าอี้นั่ง ๕ เก้าอี้เก้าอี้นอน ๓ เก้าอี้ ม่านแพรเหลืองเบาะที่นั่งนอนทำด้วยต่วนลายแดง ลวดลายสลักฝานั้นปิดทองทั้งสิ้น กงสุลฝรั่งเศส ๒ นาย ขุนนาง เมืองไกโร ๒ นายไปด้วยทูตานุทูต รถที่ใส่เครื่องมงคลบรรณาการ รถผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่ามคนใช้ มีขอเหล็กเกี่ยวติดกันไปมา ๑๕ รถ ไปตามระยะทางหยุดเติมน้ำเติมถ่าน ๒ ครั้งเวลา ๕ ทุ่มถึงตึกที่พักรถไฟในเมืองไกโรเปนระยะทาง ๙๐ ไมล์ ตึกที่ พักรถไฟหลังคาช่องหน้าต่างทำด้วยกระจกทั้งสิ้น ที่ท่ารถไฟนั้น เจ้าไกโรให้ซิมมีแฟนเดขุนนางผู้สำเร็จราชการทางรถไฟที่ ๒ จักรถเทียมม้ามาคอยรับทูตอยู่ ๕ รถ ครั้นทูตานุทูตลงจากรถไฟแล้ว ซิมมิแฟนเด ขุนนางเชิญทูตานุทูตขึ้นรถ ๆ ที่ราชทูต อุปทูต ตรีทูตไปนั้นเปนรถยนต์ทารักลวดลายปิดทองมีโคมหน้าท้าย ๔ โคม มีสักหลาดคลุมหน้ารถ ปักไหมทองระบายห้อยลงมาจากที่นั่งสาระถีมีตราตุระเกีย รถนั้นเทียมม้าเทศ ๔ ม้า มีทหารเติ๊กสพายดาบถือกระบองส้นเงินขี่ม้านำหน้ารถ
๓๐ ๔ ม้า แขกอาหรับเดิรถือคบเพลิงไปข้างรถ ๔ คน รถผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่าม ๓ รถ เทียมม้ารถละ ๒ ม้า มี ทหารเติ๊กขี่ม้านำหน้ารถละ ๒ ม้า แขกอาหรับถือคบเดิรข้างรถ ๆ ละ ๒ นาย รถที่คนใช้ไปนั้นเปนรถตระเวนใหญ่เทียมด้วยล้อ ซิมมิแฟนเดพาทูตานุทูตไปอยู่บ้านหลวงสำหรับรับแขกเมืองต่างประเทศ เจ้าไกโรให้ลุดฟิแอบแฟนเดขุนนางฝ่ายกรมท่ากับหมอมากำกับอยู่ด้วยทูตานุทูตที่บ้านหลวง ๒ คน เลี้ยงโต๊ะวันละ ๓ เวลา จัดรถไว้ให้ใช้ ๔ รถ มีทหารเติ๊กสพายดาบถือกระบองส้นเงินขี่ม้านำหน้ารถ ๆ ละ ๒ ม้า วันอังคารเดือน ๗ แรม ๔ ค่ำเวลา ๔ โมงเช้า เจ้าพนักงารมารับหนังสือเสนาบดีไปแล้ว ลุดฟิแอบแฟนเดกับกงสุลฝรั่งเศสที่ ๑ ที่ ๒ พาทูตานุทูตไปเฝ้าเจ้าไกโร ราชทูต อุปทูต ตรีทูตแต่งตัวเหมือนเมื่อขึ้นเมืองสิงคโปร์ ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่ามแต่งตัวตามบรรดาศักดิ์รวม ๑๗ นายไป ๔ รถ เมื่อรถทูตเข้าไปถึงในประตูวัง มีทหารแต่งตัวตามภาษาเติ๊กถือปืนไรแฟนสพายดาบยืนอยู่ คำนับ อยู่ ๒ แถวๆละ ๑๖๐ คน มีปี่พาทย์สำรับหนึ่ง ๔๑ คน ทูตานุทูตลงจากรถแล้ว ขุนนางเชิญทูตานุทูตขึ้นไปบนตำหนักเจ้าไกโร ๆ ทรงเครื่องขาวทรงมาลาสีม่วงอย่างเติ๊กเสด็จออกมารับคำนับ เชิญทูตานุทูตให้นั่งเก้าอี้เปนอันดับกัน ๘ นาย นอกนั้นยืนอยู่ในประตูตำหนักทั้งสิ้น มีขุนนางแลคนใช้ยืนเฝ้าอยู่ ๑๗ คน เจ้าไกโรตรัสปราไสแก่ทูตานุทูตว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามทั้งสองพระองค์เปนสุขอยู่หรือ ราชทูตทูลว่าทรง เปนสุขสบายอยู่ แล้วเจ้าไกโรตรัสว่า ทูตานุทูตมาครั้งนี้อยู่ดีด้วยกัน
๓๑ หมดหรือ ราชทูตว่าอยู่ดีด้วยกันทั้งสิ้น ตรัสปราไสว่าเมืองไกโร เปนเมืองอันร้อนระดูร้อนที่กรุงสยามเหมือนกันหรือ ราชทูตว่าร้อนระดูนี้เหมือนระดูร้อนที่กรุงสยาม แล้วคนใช้เอากล้องสูบยามีถาดรองหัวกล้องคันกล้องนั้นพันไหมทองเปนลายต่าง ๆ ยาว ๓ ศอก ส้นกล้องทำด้วยอำพันทองทำปลอกประดับเพ็ชร์ แล้วขุนนางเชิญหีบหนังสือเสนาบดีใส่ถาดคลุมผ้าปักทองประดับเพ็ชร์มาส่งให้ราชทูต ๆ จึงถวายเจ้าไกโร ๆ รับแล้วส่งให้ขุนนางไป คนใช้จึงเอาน้ำกาแฟมาเลี้ยงทูตานุทูตคนละถ้วย ถ้วยกาแฟนั้นทำเปนลองทองคำหุ้มประดับเพ็ชร์ทั้งสิ้น เจ้าไกโรตรัสแก่กงสุลฝรั่งเศสแลขุนนางว่า ถ้าทูตานุทูตจะไปเที่ยวดูวังแลสวนแห่งใด ๆ ให้พาไปจงทุกแห่ง บนตำหนักเจ้าไกโรที่ออกรับทูตานุทูตนั้นพื้นปูด้วยศิลาลาย ผนังถือปูนซุ้มลวดลายปิดทองมีระย้าแก้วใหญ่ ๓ ระย้า วัง นั้นอยู่ริมแม่น้ำเรียกว่าแม่น้ำไนล์ มีทางรถไฟเข้าไปในวังทางหนึ่ง เจ้าไกโรตรัสปราไสอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วทูตานุทูตก็ลากลับมาที่พัก เมื่อทูตออกมาเจ้าไกโรออกมาส่งถึงประตูตำหนัก ทูตานุทูตขึ้นรถแล้วก็เสด็จขึ้น เวลาบ่าย ๔ โมงกงสุลฝรั่งเศสแลขุนนางพาทูตานุทูตไปดู รูปพรรณสิ่งของ แลรูปมนุษย์ รูปสัตว์ต่าง ๆ ที่ทำด้วยทองคำ ทำด้วยเงิน ทำด้วยทองเหลือง ทำด้วยทองแดง ทำด้วยศิลา เปนของโบราณขุดได้ในแผ่นดิน มีหนังสือแลเลขบอกศักราชไว้ได้กว่าสามพันปีสี่พันปี ก็มี แล้วพาไปดูโบถบนเขากลางเมือง โบถนั้นสูงกว้างใหญ่รูปสัณฐานกลมคล้ายวัดแขกที่ตะเกี่ย กว้างประมาณ ๓๐วาเศษ เสาในโบถทำด้วยศิลาลายเหลืองขาวทั้งแท่ง ใหญ่ประมาณ ๖ กำ ยาวประมาณ ๔ วาเศษ
๓๒ ศิลาเสานั้นดูลม้ายคล้ายศิลาโมรา ฝรั่งเศสเรีกว่าอาละบาสเตร พื้น แลผนังดาดด้วยแผ่นศิลาลายแผ่นหนึ่งยาวศอกคืบ กรอบแลเพดานทำ ลายสลักต่าง ๆ ปิดทองทั้งสิ้น มีระย้าแก้วใหญ่แขวนอยู่กลางระย้า ๑ มีโคมห้อยเปนอันมาก ในโบถนั้นมีห้องอยู่ห้องหนึ่งเปนที่ฝังศพเจ้าไกโรองค็เก่า ในห้องฝาผนังปิดด้วยโหมดเทศ พื้นปูด้วยเยียระบับมีเครื่องทรงของเจ้าไกโรองค์เก่าจัดวางไว้ในห้องพร้อม โบถนั้นเปนของเก่าชำรุดมาก เจ้าไกโรองค์นี้ทำซ่อมแซมขึ้นได้ ๒๓ ปี ผนังข้างนอก ช่างก็ยังทำศิลาลายประดับอยู่ทุกวัน ริมโบถนั้นมีวังเจ้าไกโรพักวัง ๑ มีโรงทหาร ป้อมปืนใหญ่ ทหารรักษาอยู่ ๕๐๐ คน วันพุธเดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ขุนนางเติ๊กกงสุลฝรั่งเศสพาทูตานุทูตไปดูสกูลโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีเด็กเรียนหนังสือแลวิชาต่าง ๆ อยู่ประมาณ ๓๐๐ เศษ มีครูสอนอยู่ ๕ พวก สอนให้เรียนหนังสือเติ๊ก พวก ๑ สอนให้เรียนวิชาช่างเขียนอย่างตึกบ้านหัดจับกระเบียดต่าง ๆ พวก ๑ สอนให้เรียนวัดแดดทำแผนที่พวก ๑ สอนให้เรียน หนังสือฝรั่งเศสพวก ๑ สอนให้เรียนหนังสืออังกฤษพวก ๑ แล้ว พาไปดูวังเจ้าไกโรทำไว้สำหรับไปพักบนเขา ใกล้กับโบถอิก ๒ วัง ในวังนั้นผนังในปิดกระดาษลายทองบ้าง ทาขาวบ้าง เขียนทองบ้าง มี ห้องพื้นปูศิลาลายบ้าง ปูพรมลายสีต่าง ๆ บ้าง ม่านหมอนเบาะทำ ด้วยโหมดเทศบ้าง เยียระบับบ้าง ต่วนแดงต่วนเหลืองบ้าง ประตูห้อง ลดเลี้ยวเข้าออกหลายห้อง เปนที่อยู่ตามระดูร้อนระดูหนาว มีสระอาบน้ำทำด้วยศิลาขาวห้องหนึ่ง มีน้ำพุขึ้นมาไหลจากปากสัตว์ ห้องในวังนั้น
๓๓ มีระย้าเครื่องแก้ว โคมกระจกตั้งห้อยสีต่างกันทุก ๆ ห้อง ทูตานุทูต ดูทั่วแล้วก็กลับมาที่พัก เวลาบ่าย ๓ โมงขุนนางจึงนำไปดูสวนแห่งหนึ่ง อยู่ริมแม่น้ำไนล์ สวนนั้นโดยยาว ๒ ไมล์ กว้างไมล์ครึ่ง มี ตำหนักที่พักในสวนแห่งหนึ่ง มีสระน้ำจืดสระหนึ่งมีเกาะอยู่กลางสระตามขอบสระก่อด้วยศิลาอ่อน ทำเปนรางน้ำไหลได้รอบ ในพื้นราง สลับเปนรูปสัตว์น้ำต่างๆทำระเบียงล้อมรอบ ด้านนอกใส่ฝากระจกทั้ง ๔ ด้าน มีประตูเข้าออก ๔ ประตู ข้างในเพดานเขียนรูปภาพแลลายต่าง ๆ เสาแลพื้นทำด้วยศิลาลายเหมือนเสาโบถ ที่มุมทิศตวันตกทิศตวัน ออกทิศเหนือทิศใต้ทั้ง ๔ ด้านทำเปนมุขสำหรับเจ้าไกโรประทับ มี เก้าอี้ที่นั่งที่นอน ม่านทำด้วยโหมดเทศบ้าง แพรฝรั่งเศสสีต่างกันเพดานแลผนังเขียนลายทองพื้นปูพรมลายต่าง ๆ กันทั้ง ๓ มุข พื้นแลเพดานฝาฝังไม้ขาวไม้ดำเปนลายมุก ๑ เกาะกลางสระนั้นกว้างยาว ๔ วา มีเรือโบตเล็ก ๆ อยู่ในสระ ๒ ลำ ตามสวนมีซุ้มกลมเปน ที่นั่งเล่น ๕ แห่ง มีวังอยู่วังหนึ่งมีหม่อมห้ามอยู่คนหนึ่ง มีหญิง คนใช้แลขันฑีหลายคน วังแลซุ้มทำด้วยเหล็ก พื้นชั้นบนปูด้วย ศิลาลาย ชั้นล่างเอาก้อนกรวดเล็ก ๆ สีขาวสีดำมาวางเรียงประดับเปนลวดลายสลับกัน มีถนนเดิรเลี้ยวไปมาหลายถนน ริมถนนปลูกต้นไม้ ตัดยอดลงเสมอกันเปนกำแพงแก้วทุกถนน ในสวนปลุกต้นไม้มีผลบ้าง ต้นไม้ดอกต่าง ๆ บ้างหลายอย่าง มีร่องเล็ก ๆ สำหรับน้ำเดิรไปทั่ว ๕
๓๔
ทั้งสวน โรงจักรสูบน้ำเข้าสวนอยู่ริมตลิ่ง สวนอยู่ใต้เมืองทางรถม้า
เดิรชั่วโมง ๑ ที่เมืองไกโรมีวังเจ้าไกโรอยู่หลายแห่ง มีหม่อมห้าม
อยู่ทุกวัง ใช้ขันทีรักษาเหมือนธรรมเนียมจีน เจ้าไกโรนั้นอยู่ไม่
เปนที่ เวลากลางคืนไปอยู่ที่วังไหนก็ปิดไม่ให้ขุนนางแลราษฏรรู้ เปนธรรมเนียมของผู้ครองบ้านเมืองอย่างนี้มีมาแต่โบราณ ในเมืองมีตึก
มีบ้านมีตลาดมาก
วันพฤหัสบดีเดือน ๗ แรม ๖ ค่ำเวลาเช้า กงสุลฝรั่งเศสแล
ขุนนางเติ๊กพาทูตานุทูตไปลงเรือกลไฟจักรข้างที่วังเจ้าไกโร ล่องลงไป
ดูเมืองสร้างใหม่ ตามลำแม่น้ำ ๒ ฟากนั้นมีบ้านคนอยู่ตลอดถึงเมืองมีแม่น้ำแยกขึ้นไปทางเหนือ ราษฏรซึ่งตั้งบ้านอยู่ริมแม่น้ำทั้ง ๒ ฝั่ง
จำจักรเทียมด้วยม้าด้วยโคสำหรับวิดน้ำขึ้นทำนา ด้วยประเทศนั้นฝนน้อยนัก ตั้งแต่เมืองไกโรล่องลงมา ๒ ทาง แม่น้ำคดอ้อมเปนหาด
ตื้นบ้างลึกบ้าง ทาง ๒ ชั่วโมงถึงเมืองสร้างใหม่ ๆ นั้นมีคูรอบยาวประมาณ ๓ ไมล์ กว้างประมาณ ๒ ไมล์ มีกำแพงป้อมปืนใหญ่
วางรายรอบเมือง มีวังแลตึกดินโรงทหารแลสวนปลูกผลไม้ต่าง ๆ
มีที่หัดทหารปืนใหญ่ปืนเล็ก มีทหารเปนชาติเติ๊กบ้างอาหรับบ้างแขกดำบ้าง แต่งตัวตามเพศภาษาเติ๊กรักษาเมืองอยู่ ๒,๐๐๐ คน มีม้าเทศสำหรับนายทหาร ๒๐๐ ม้า มีประตูเข้าออก ๔ ประตู ทำสพานข้ามคูเปนบานพับปิดได้เปิดได้เปนของคิดขึ้นใหม่ ฟากหนึ่งทำป้อมมีปืนใหญ่ปืนเล็กแลทหารรักษาอยู่พร้อม ทำสพานก่อด้วยศิลาข้ามแม่น้ำ มี
ช่องน้ำเดิรเปนช่องกว้างประมาณ ๒ วา ๕๘ ช่อง มีช่องเรือเดิรริมตลิ่ง
๓๕ ทั้ง ๒ ฟาก ที่ช่องเรือเดิรนั้นทำเปนบานพีบทั้ง ๒ ช่อง รวม ๖๐ ช่องตามช่องปิดน้ำได้ทุกช่อง พื้นสพานปูด้วยไม้มีคนรักษาอยู่ที่ต้นสพานคอยตรวจคน ๆ ข้ามฟากต้องเสียเบี้ยจึงได้ข้าม นายทหารจัดทหาร ยิงปืนใหญ่ให้ทูตานุทูตดู กระสุนโดดบ้าง กระสุนปรายบ้าง กระสุนแตกบ้าง ๒๔ นัด กระสุนแตกนั้นแตกบนอากาศบ้าง ตกถึงดินแตกบ้างต่าง ๆ กัน ป้อมกำแพงแล้วเสร็จ แต่ตึกยังทำอยู่ทุกวัน ริมตลิ่ง หน้าเมืองลงเขื่อนก่อด้วยศิลาขึ้นเปนชั้น ๆ ดูมั่นคงเรียบร้อยทั้ง ๒ ฟากเวลาเที่ยงเมื่อทูตลงเรือจะกลับมาที่พักณเมืองไกโรนั้น ทหารยิงปืนใหญ่บนกำแพงเมืองสลุตส่งทูต ๑๙ นัด เรือนั้นทวนน้ำจนเวลาบ่าย ๓ โมง จึงถึงที่พัก ทูตานุทูตพักอยู่เมืองไกโร ๓ วัน ในวันนั้นเวลาบ่าย ๕ โมงขุนนางเติ๊กกับกงสุลฝรั่งเศส เชิญทูตขึ้นรถไฟออกจากเมืองไกโรไป เมื่ออาเล็กซันดรี ตามทางมีที่หยุดใส่น้ำใส่ถ่าน ๓ ครั้ง มีสพานเหล็กข้ามแม่น้ำใหญ่ ๓ ตำบล มีโฮเต็ลเปนที่หยุดเลี้ยงโต๊ะตำบล ๑ ตาม ทางนั้นเปนทุ่งบ้าง เปนภูเขาบ้าง เปนป่าบ้าง มีบ้านคนอยู่หลายตำบล เวลา ๗ ทุ่มถึงเมืองอาเล็กซันดรีเปนทาง ๑๒๐ ไมล์ ขุนนางเติ๊กแล กงสุลฝรั่งเศสพาทูตานุทูตไปอยู่ที่บ้านหลวง ชื่อ มูแซเพียฮอเนออาเล็กซันดรี เลี้ยงดูเหมือนที่เมืองไกโร มีขุนนางมากำกับอยู่ด้วยทูตสองคน วันศุกร์เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำเวลาเช้า ขุนนางเมืองไกโร ขุนนาง เมืองอาเล็กซันดรีพาทูตานุทูตไปดูวังเมืองอาเล็กซันดรี ๒ ตำบล มีเครื่อง ตกแต่งห้องคล้ายที่เมืองไกโร ผิดกันแต่ผนังปิดกระดาษลายทอง
๓๖
แล้วพาไปดูเรือยอดเปนเรือกลไฟจักรข้าง ๒ ลำ ๆ หนึ่งใหญ่ดาดฟ้า ๓ ชั้นมีห้องข้างหน้าข้างท้ายมาก มีช่องปืนทหารรักษาอยู่พร้อม ลำหนึ่ง
ดาดฟ้า ๒ ชั้น ห้องที่ข้างหน้าฝาทำด้วยไม้ลาย ห้องที่ข้างท้ายมีฝากระจกใหญ่อยู่หว่างช่องหน้าต่าง ๆ ขอบสลักลายปิดทองประดับพลอยสีต่าง ๆ มีเครื่องตั้งเครื่องห้อยม่านสีต่างกันทุกห้อง ที่พื้นปูศิลาลาย
ปูพรม ปูกระเบื้องเคลือบ เพดานทาขาวลวดลายปิดทอง เปนเรือสำหรับเจ้าไกโรไปเที่ยวเล่นทเล เมืองอาเล็กซันดรีนั้นอยู่ชายทเลแหลมยื่น
ออกจากฝั่งมีป้อมมีแล็ตเฮา อ่าวที่ทอดสมอเรือคล้ายกับแหลมคาสี
มีเรือรบลูกค้า ๒ เสาบ้าง ๓ เสา ๔ เสาบ้าง มาแต่เมืองอื่นบ้าง ของเจ้าไกโรบ้าง เปนเรือกลไฟแลเรือใบทอดอยู่ประมาณ ๑๐๐ ลำเศษ
บนบกมีถนนตลาดมีตึกสูง ๔ ชั้นบ้าง ๓ ชั้น ๒ ชั้นๆ หนึ่งบ้าง ตึกบ้านมากกว่าแหลมคาลีสัก ๒ เท่า มีทางรถไฟไปมาทางหนึ่งรถไฟเดิร
ทุกวันมิได้ขาด มีอู่เรือก่อด้วยศิลา ประตูปิดน้ำเปิดน้ำทำด้วยเหล็ก ๓ อู่เหมือนที่เมืองสิงคโปร์ มีโรงจักรสูบน้ำทำท่อล่ามมาผุดขึ้นกลางเมือง
๒ แห่งสำหรับชาวบ้านใช้แลรดถนน แล้วมีท่อเหล็กไหลไปเข้าทุ่งนาแลสวนทั่วกัน ขุนนางแลพลเมืองซึ่งขึ้นแก่เมืองไกโรนั้น เปนชาติเติ๊กบ้าง ชาติอาหรับบ้าง
เวลาบ่าย ๓ โมงขุนนางเติ๊กพาทูตไปดูสวนอิกตำบล ๑ อยู่ริมคลองน้ำจืด ในสวนมีต้นไม้ผลไม้ดอกไม้ต่าง ๆ เหมือนสวนเมืองไกโร แต่
วังในสวนนั้นผนังตึกข้างนอกก่อด้วยฟองน้ำ ไม่ได้ถือปูนดูเหมือนเปน
๓๗
ของคนยากจน ข้างผนังถือปูนห้องทาสีเขียนลายทอง มีเครื่องตั้ง
เครื่องห้อย กระจกตั่งเก้าอี้นั่งเก้าอี้นอน แต่งห้องสีต่างกัน พื้นปูศิลา
ลายบ้าง ปูพรมบ้าง เอาก้อนกรวดวางเรียงขัดหน้าเสมอกันเปนลาย
งามประหลาทห้องหนึ่ง มีสระเลี้ยงปลาเงินปลาทองริมวัง ๒ สระ เวลาบ่าย ๔ โมงทูตกลับมาที่พัก เวลาบ่าย ๕ โมงกงสุลฝรั่งเศสพากำมดันมือแตรัศเรืออัศโมเด คูระซิดปาซา เจ้าเมืองอาเล็กซันดรีมาทักถามทูตานุทูตพูดจาอยู่ครึ่งชั่วโมงลากลับไป ทูตานุทูตพักอยู่เมืองอาเล็กซันดรี ๓ วัน
๓๘
ตอนที่ ๕ ว่าด้วยราชทูตออกจากเมืองอาเล็กซันดรี
จนถึงเมือง ตุลน เมืองมาเซ เมืองไลยอน แลเมืองปารีส
วันเสาร์เดือน ๗ แรม ๘ ค่ำเวลาบ่าย ๒ โมง ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่ามแต่งตัวตามบรรดาศักดิ์ไปหาตอบแทนคูระซิดปาซา เจ้าเมืองอาเล็กซันดรีลาจะลงเรือ แล้วไปหากีแปนเวียระกงสุลฝรั่งเศส ภรรยากงสุลฝรั่งเศสเอาน้ำองุ่นแลขนมปังหวานมาเลี้ยงทูตานุทูต พูดจากันอยู่ครึ่งชั่วโมง กำมดันมือแตรัศขึ้นไปรับทูตานุทูตที่บ้านกงสุลฝรั่งเศสเมืองอาเล็กซันดรี กงสุลฝรั่งเศสก็ตามไปส่งทูตานุทูตลงเรือที่สพานหน้าเมือง เรือโบตที่จัดไว้ ที่ท่าสพานหน้าเมืองนั้น เปนเรือเจ้าไกโรแต่งไว้ส่งทูตานุทูตลำหนึ่ง มีธงเติ๊กปักท้าย เรือโบตฝรั่งเศส ๔ ลำจัดไว้รับทูตมีธงฝรั่งเศสปักท้าย ราชทูต อุปทูต ตรีทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กำมดันมือแตรัศ ไปเรือโบตเจ้าไกโรลำหนึ่ง ๑๘ กรรเชียง เบาะที่นั่งที่พิงนั้นทำด้วย โหมดเทศ เพดานนั้นทำด้วยแพรลายทองเปนแพรฝรั่งเศส ผู้กำกับ เครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียนล่ามแลคนใช้ไปเรือโบตฝรั่งเศส ๔ ลำ ในอ่าวเมืองอาเล็กซันดรีมีเรือรบฝรั่งเศสทอดอยู่ ๓ ลำ เปนเรือ มารับทูตลำหนึ่ง เรือบรรทุกเสบียง ๒ ลำ เมื่อเรือโบตทูตออกจากท่าแล้วทหารที่ป้อมยิงสลุตส่ง ๑๙ นัด ทหารที่เรืออัศโมเดยิงสลุตรับ ๑๙ นัดทหารเรือรบทั้ง ๓ ลำขึ้นยืนเพลา ทูตไปใกล้เรืออัศโมเด กำมดันให้ทหาร
๓๙
ชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลาง ทหารร้องฮิบเอมเปอเรอโฮโร ๓ ครั้ง
พร้อมกันทั้ง ๓ ลำ ครั้นทูตขึ้นเรือทหารแต่งตัวถือปืนไรแฟนยืนเป่าแตรคำนับทูตตามธรรมเนียม แล้วชักธงเติ๊กขึ้นเสาหน้ายิงปืนสลุตธง๒๑ นัดที่ป้อมยิงสลุตตอบ ๒๑ นัด เรือรับทูตลำนี้เปนเรือฟาริเก็จจักรข้างชื่อ
อัศโมเดยาว ๒๒๐ ฟิต ปากกว้าง ๓๙ ฟิต กินน้ำลึก ๑๘ ฟิต กำลัง ๔๕๐ แรงม้า ดาดฟ้า ๓ ชั้น ๆ บนชั้นกลางตามปากเรือมีช่องปืนข้างละ ๑๕ บอก แต่ในเรือมีปืนมา ๑๔ บอก มีขุนนางนายทหาร ๆ เลว กลาสีสำหรับเรือ ๑๘๐ คน เวลาบ่าย ๕ โมง กำมดันให้ใช้จักรออกจากที่
ทอดสมอเมืองอาเล็กซันดรี.
วันจันทร์เดือน ๗ แรม ๑๐ ค่ำเวลาบ่าย ๔ โมง เห็นเกาะกันดีอยู่ข้างขวา มีบ้านเมืองเปนคนชาติกริ๊กขึ้นแก่เมืองโรม.
วันอังคารเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำเวลา ๕ โมงเช้า เรือถึงช่องมี
ภูเขาทั้ง ๒ ฟาก เรือไปหว่างกลางเกาะซิดซีลีข้างเหนือกับฝั่งแผ่นดิน
เอตะเลียนข้างใต้ แต่ที่เกาะซิดซีลีนั้นมีตึกอยู่ตามเขาแลชายหาด
มีสวนปลูกต้นผลไม้ต่าง ๆ เปนแถวแนวเนื่องกันไปมาก ดูงดงามยิ่ง
กว่าเกาะทั้งปวงในข้างอินเดีย ฟากแผ่นดินเอตะเลียนนั้น มีบ้านเมืองตามบนเขาแลชายทเลเรี่ยรายไปไม่มากนัก แลเห็นถนัดทั้ง ๒ ฟาก
เวลาบ่าย ๓ โมง เรือพ้นช่องออกทเล เรียกว่าทเลมัตะแรนแยน
วันศุกร์เดือน ๗ แรม ๑๔ ค่ำเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เรือถึงที่เกาะตำบลหนึ่ง ฝรั่งเศสเรียกว่าเขาไฟ เวลาเรือไปถึงนั้นเปนเวลากลางวันเห็นแต่ควันขึ้นอยู่เสมอมิได้ขาด
๔๐ วันเสาร์เดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ เวลา ๓โมงเช้าถึงช่องเขาทั้ง ๒ ฟากข้างขวาเรียกว่าเกาะกระสะเปนเขตแดนของฝรั่งเศส มีบ้านเมืองเห็นถนัด เปนเมืองสมภพของพระเจ้าแอมเปอเรอเนโปเลียน บอนนีปาดฟากข้างซ้ายเกาะสะวะเดนเปนของเอตะเลียนไม่มีคนมีแต่แล็ตเฮาสำหรับ ตามโคมอยู่ชายทเล ๒ ตำบล เวลาบ่าย ๒ โมงครึ่งเรือถึงหน้าเมืองอาซัดเซียวฝนตกประปราย วันอาทิตย์เดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำเวลา ๒ โมงเช้า เรือถึงปากอ่าวเมืองตุลน กำมดันให้ชักธงช้างเผือกขึ้นเสากลาง ธงฝรั่งเศสขึ้น ปลายเพลาโกซีเสาท้าย เรือแล่นเข้าไปในอ่าวท่าเมืองตุลน ตั้งแต่ ออกจากเมืองอาเล็กซันดรีรวม ๘ วันถึงท่าเมืองตุลน เรือทอดสมอแล้วมองติคนี กับอัดมีราลผู้สำเร็จราชการเรือรบ แลกำมดันเรือรบ ๖ นายรวม ๘ นายแต่งตัวเต็มยศมาทักถามทูตานุทูตที่เรืออัศโมเด มองติคนีบอกทูตว่าสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอทราบว่าทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์น ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามทั้งสองพระองค์ออกมา จึงรับสั่งให้ข้าพเจ้ามาคอบรับทูตานุทูตอยู่ที่ท่าเมืองตุลนหลายวันแล้ว ทูตานุทูต มาตามทางอยู่เปนสุขด้วยกันทั้งสิ้นหรือ ราชฑูตตอบว่าทูตานุทูตมา ครั้งนี้ ด้วยอำนาจความรักษาแลความทนุบำรุงของเจ้าพนักงารทั้งปวงแลพระกรุณาของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระนคร ข้าพเจ้าทั้งปวงจึงได้มีความสุขอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น แล้วก็ได้เห็นบ้านเมืองแลของประหลาทต่างๆ ด้วย ราชทูตพูดกับมองติคนีว่าสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอรับสั่งให้
๔๑
ท่านมาคอยรับข้าพเจ้าทั้งปวงนั้น ข้าพเจ้าทั้งปวงมีความยินดีนัก ด้วย
ท่านได้เคยเข้าไปกรุงสยามได้คุ้นเคยกันมาแล้ว การอย่างธรรมเนียมประเทศไทยกับธรรมเนียมฝ่ายยุโรปไม่เหมือนกัน การจะควรประการใดขอท่านได้บอกให้ทราบ ข้าพเจ้าจะได้จัดการให้ถูกต้องตามธรรมเนียมมองติคนีตอบว่าการอย่างธรรมเนียมนั้น ท่านอย่าได้วิตกเลย
ข้าพเจ้าจะช่วยชี้แจงให้ท่านทราบทุกอย่าง พูดกันอยู่ประมาณครึ่ง
ชั่วโมง อัดมิราลผู้สำเร็จราชการเรือรบแลกำมดันเรือรบ ๖ นายก็ลา
กลับไป แต่มองติคนีคอยทูตอยู่ที่เรืออัศโมเด เวลา ๔ โมงเช้า
กำมดันมือแตรัศจัดเรือโบต ๘ กรรเชียง ๗ กรรเชียง ๖ กรรเชียง ๔ กรรเชียง ๔ ลำ ราชทูต อุปทูต ตรีทูต แต่งตัวเหมือนเมื่อขึ้นเมือง
สิงคโปร์ มองติคนี บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี กำมดันมือแตรัศ
เชิญพระบรมราชสาส์นพระบวรราชสาส์นไปเรือโบต ๘ กรรเชียงลำหนึ่งผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่ามคนใช้แต่งตัวตาม
บันดาศักดิ์ไป ๓ ลำ ทหารเรืออัศโมเดแต่งตัวถือปืนไรแฟนยืนแถว
คำนับส่งตามธรรมเนียม แล้วยิงปืนใหญ่สลุตส่งทูต ๑๑ นัด มองติคนี
บอกว่าเปนธรรมเนียมฝรั่งเศส เรือรบใหญ่ที่ทอดอยู่หน้าป้อมลำหนึ่งยิงปืนสลุตคำนับธง ๒๑ นัด ทหารเรือรบที่ทอดอยู่ในอ่าวถือปืนยืนคำนับ
มีกลองมีแตรพร้อม ทูตมาถึงท่าแล้วเชิญพระราชสาส์นขึ้นรถ มี
ปี่พาทย์ฝรั่งประโคมที่ท่าสำรับหนึ่ง ๓๖ คน ทหารปืนยืนแถวคำนับ
พระราชสาส์นสองข้างถนนตลอดจนถึงโฮเต็ลทางประมาณ ๒๐ เส้นเศษ
๖
๔๒ ทหารใส่เสื้อเกราะเดิรเท้าเคียงรถพระราชสาส์นไปข้างละ ๑๒ คน ทหารขี่ม้าแห่นำ ๑๒ ม้า ทหารเดิรเท้าตาม ๒ แถว แถวละ ๑๐๐ คน มอง ติคนีพาทูตานุทูตไปอยู่โฮเต็ลชื่อกากกอลอ ตามทางที่แห่พระราชสาส์นไปนั้นยกธงฝรั่งเศสทุกหน้าต่างตึก เวลาทูตกินโต๊ะ มีปี่พาทย์ฝรั่ง ทำเพลงต่าง ๆ สำรับหนึ่ง ๓๖ คนทุกเวลา มองติคนีเปนผู้กำกับอยู่ด้วยทูต เวลาบ่ายโมงหนึ่งเจ้าเมืองชื่อบอยวิลเลียมกับขุนนางฝ่ายพลเรือน ๓๓ นาย มาทักถามทูตานุทูตที่โฮเต็ลแล้วลากลับไป เวลาบ่าย ๒ โมงเยนะราลวาเอโชนายทหารใหญ่กับขุนนางนายทหาร ๒๔ นายมาทักถามทูตานุทูตแล้วลากลับ ไปเมื่อเวลาเจ้าเมืองแลขุนนางมานั้น มองติคนีให้ทูตานุทูตแต่งตัวรับเหมือนเมื่อขึ้นจากเรือ เวลาบ่าย ๕ โมง มองติคนีพาทูตานุทูตไปดูแห่พระเยซู ตามถนนราษฏรโปรยดอกไม้ทุกถนนมีทหารขี่ม้านำหน้ารถ ๑๔ ม้า เปนเวลาประชุมการบุญของเจ้าเมืองแลขุนนางราษฏรชายหญิงทั่วทั้งเมือง เวลาค่ำจุดดอกไม้เพลิงต่าง ๆ เวลา ๒ ทุ่มเลิกกลับมาโฮเต็ล มีทหารถือปืนมาเดิรยามรักษาประตูโฮเต็ลยามละ ๒ คน ทหารขี่ม้าสพายดาบยามละม้า ที่ท่าตุลนนี้เปนอ่าวใหญ่เปนฮาเวอสำหรับไว้เรือรบ ห้ามเรือลูกค้าเข้าไม่ได้ บนฝั่งมีเขาล้อมรอบ เมืองตามเนินเขาแลไหล่เขา ที่ดินราบมีตึกมีสวนมีห้างขายของ ตึกสูง ๕ ชั้น ๔ ชั้น ๓ ชั้นเปนอันมาก ในอ่าวเรือรบทอด อยู่ประมาณ ๑๕๐ ลำ วันจันทร์เดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้า ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ แต่งตัวตามบันดาศักดิ์
๔๓ ๖ นาย ไปหาตอบแทนเจ้าเมือง มีขุนนางนายทหารอยู่ด้วยเจ้าเมือง ๘ นาย พูดกันอยู่กึ่งโมง เจ้าเมืองให้เอาน้ำองุ่นหวาน น้ำกาแฟมา เลี้ยงทูตานุทูต เวลา ๕ โมงเช้าลากลับมาโฮเต็ล เวลาเที่ยงเจ้า เมืองให้อัดมิราลพาทูตานุทูตไปดูเรือรบใหญ่ ดาดฟ้า ๔ ชั้นรายแคม มีปืนใหญ่กระสุน ๘ นิ้วทั้ง ๔ ชั้น มีทหาร ๒,๐๐๐ คน ทหารทำท่ายิงปืนใหญ่กระบวรรบให้ทูตานุทูตดูแล้ว ทูตานุทูตลงจากกำปั่นรบ ทหาร ยิงปืนสลุตส่ง ๑๗ นัด แล้วพาไปดูเรือยอดเปนเรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอเสด็จไปเที่ยวเล่นทเล เปนเรือกลไฟจักรข้างในเรือยอดนั้นมีห้องตกแต่งประดับประดางดงาม สิ่งของซึ่งใช้ในเรือมีตรา พระนามสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอประจำอยู่ทุกสิ่ง ครั้นกลัมมาบนบกแล้วมองติคนีพาทูตานุทูตไปดูสวนดอกไม้ในบ้านเจ้าเมือง ที่ช่างหล่อเหล็กแห่งหนึ่งที่ช่างปั้นแห่งหนึ่ง ที่ช่างฟั่นเชือกแห่งหนึ่ง แล้วพา ไปดูแมนุแฟกเจอที่ช่างเหล็กแห่งหนึ่ง ที่ช่างกลึงแห่งหนึ่ง แล้วพา ไปดูคลังสำหรับไว้เครื่องศัสตราวุธต่าง ๆ จัดตั้งประดับเปนลายดอกไม้ต่าง ๆบ้าง ประดับเปนรูปเก๋งแลรูปสัตว์แลลายอื่น ๆ อิกหลายอย่าง ที่เปนของแขวนไว้นั้นประดับเปนตราดอกไม้บ้างประดับเปนระย้าต่าง ๆ บ้างประดับแล้วไปด้วยเครื่องอาวุธทั้งสิ้นดูเรียบร้อยงดงาม แล้วไปดูเครื่องมือแลของเครื่องสวมตัวคนสำหรับทำการใต้น้ำ เครื่องที่สวมตัวนั้น ศีร์ษะทำด้วยทองเหลือง ในตาทำด้วยแก้วหนา ปล่องที่หายใจนั้นทำด้วยยางเปนสายยาวลอยขึ้นมาอยู่พ้นน้ำ แล้วมีเสื้อกางเกงถุงมือถุงเท้า
๔๔
ทำด้วยยางติดกับทองเหลืองหุ่นที่ครอบศีร์ษะแล้วมีซองสำหรับใส่เครื่อง
มือติดกับเอวด้วยเมื่อทูตานุทูตดูนั้นผู้รักษาให้คนที่เคยทำการใต่น้ำสวมเครื่องแล้วลงไปดำน้ำให้ทูตดู ครั้นคนที่ดำน้ำกลับนั้นขึ้นมาบนบกแล้วเปลื้องเครื่องออกเสีย เสื้อผ้าที่ใส่ตัวนั้นหาเปียกไม่ แล้วไปดูอู่เรือ
ก่อด้วยศิลา ๑๒ อู่ เรือรบนั้นเปนเรือกลไฟจักรท้ายทุกลำ มีกำมดัน
ออฟฟิเซอทหารพร้อมหัดซ้อมทุกเวลา เรือรบนั้นดาดฟ้า ๔ ชั้นบ้าง๓ ชั้น ๒ ชั้นบ้าง มีปืนใหญ่ประจำเรือลำละ ๖๐ บอกบ้าง ลำละ ๗๐ บอกบ้างถ้ามีกิราชการเวลาไร อัดมิราลบังคับให้ไปเวลาใดก็ต้องไปในเวลานั้นเวลาค่ำเจ้าเมือง ๑ ขุนนาง ๓๐ นาย หญิงภรรยาเจ้าเมือง ๑ หญิง
ญาติมองติคนี ๒ รวม ๓๔ มากินโต๊ะพร้อมด้วยทูตที่โฮเต็ล เวลา
๒ ยามก็เลิกลากลับไป ทูตานุทูตพักอยู่เมืองตุลน ๒ วัน
วันอังคารเดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำเวลาบ่ายโมง ๑ มองติคนีพาทูตา
นุทูตขึ้นรถไฟไปจากเมืองตุลน ไปตามทางมีเขาศิลาบ้าง เนินดินบ้างตามชะวากเขามีทุ่งนาบ้างเล็กน้อย มีบ้านมีไร่ที่สวนตลอดทาง ทางรถไฟไปนั้นมีอุโมงค์ลอดใต้เขา ๖ ตำบล หยุดรถเติมน้ำเติมถ่านรับคนส่งคนที่บ้านตามทาง ๑๓ ครั้ง ถึงเมืองมาเซเวลาบ่าย ๔ โมงเปนทาง ๕๔ ไมล์ ขุนนางจัดรถเทียมม้าตามธรรมเนียมคอยรับทูตานุทูต ๕ รถพาทูตขึ้นรถไปอยู่โฮเต็ล ๆ ชื่อเดกอลอนี มองติคนีกำกัยอยู่ด้วยทูตา นุทูต เวลาค่ำมองติคนีพาทูตไปเที่ยวดูตลาดขายของ ตามถนนตลาดนั้นสว่างไปด้วยโคมมีไฟก๊าดทุกถนน เที่ยวดูอยู่จน ๒ ยามกลับมาโฮเต็ล
๔๕ วันพุธเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้ามองติคนีกับขุนนางเจ้าภาษีพาทูตานุทูตไปดูกำแพงกันคลื่นที่ปากอ่าวก่อด้วยศิลา หน้ากำแพงนั้นก่อด้วยอิฐ ๆ นั้นทำด้วยก้อนศิลาเล็ก ๆ ย่อยก้อนกรวดมาประสมปูนตีพิมพ์ ยาว ๖ ศอกกว้าง ๓ ศอก ถมตลอดกำแพงยาวประมาณไมล์หนึ่ง ที่ ถมยังไม่ได้ก่อกำแพงก็มี ทำป้อมไว้บนที่ถมนั้น ๒ ป้อมมีปืนป้อมละ ๖ บอก ทางจำเพาะเรือเดิร ในอ่าวมีเรือลูกค้าแลเรือเมล์จอดได้ชิด ฝั่ง เรือทอดอยู่ในอ่าวเมืองมาเซนั้นทั้งเรือใบเรือกลไฟใหญ่น้อยประมาณ ๓๐๐ ลำ แล้วพาไปดูสัตว์ต่าง ๆ ทำคอกแลกรงไว้ในสวนบนภูเขา มีช้างอยู่ช้างหนึ่งทำรั้วเหล็กกั้นไว้ ในรั้วเหล็กนั้นทำสระไว้สำหรับให้ช้างอาบน้ำสระ ๑ ทำตึกไว้ให้นอนหลัง ๑ เขาฝึกให้กินขนมปังกิน เหล้าแวน เจ้าของฝึกให้เป่าแตรรำเท้าเปนจังหวะเพลง สัตว์อิกอย่างหนึ่งตัวลายคล้ายกวางดาวบนศีร์ษะเปนปุ่ม ๒ ปุ่มเหมือนเขากวางเมื่อแรกขึ้น หน้าแลใบหูเหมือนกวางแต่ฅอนั้นยาวประมาณ ๔ ศอก ท้ายต่ำหางสั้นเหมือนหางสุกร ฝรั่งเศสเรียกว่าซีคราบเฟอ ให้กินขนมปัง เปนอาหารทำโรงให้อยู่งดงาม ยังสัตว์อื่นมีอิกหลายอย่างแต่เปนสัตว์คล้ายกับสัตว์ในกรุงสยาม เมืองมาเซหามีคลองน้ำจืดไม่ ชาวบ้าน ชาวเมืองใช้น้ำบ่อ มีโรงจักรสูบน้ำทำท่อล่ามไปทั่วเมือง แลล่ามไป เข้าสวนเข้านาทุกแห่ง ในเมืองทำท่อเหล็กล่ามท่อน้ำมาผุดขึ้น ๔ ตำบลทำรูปสัตว์ต่าง ๆ ไว้ให้น้ำไหลออกจากปากสัตว์ มีท่อใหญ่สำหรับเทน้ำโสโครกไหลออกไปทเลท่อหนึ่ง ที่พื้นดินริมเขานั้นปลูกต้นไม้ไว้เปนที่
๔๖
ประชุมคนนั่งเล่นเวลาเย็น ๆ ทั้ง ๔ ตำบล เจ้าเมืองแลขุนนางหาได้มาหาทูตไม่ ทูตานุทูตก็ไม่ได้ไปหาเจ้าเมือง
วันพฤหัสบดีเดือน ๘ ขึ้น๖ ค่ำเวลา ๔ โมงเช้า มองติคนีเชิญทูตานุทูตขึ้นรถไฟไปจากเมืองมาเซ ทางรถไฟลอดอุโมงค์ ๘ แห่ง
มีสพานข้ามแม่น้ำใหญ่ ๔ ตำบล เล็ก ๒ ตำบล รวม ๖ ตำบล ตามทางเปนทุ่ง มีตึกบ้านสวนที่นาตลอดจนถึงเมืองไลยอน ถึงเมืองไลยอนเวลาบ่าย ๔ โมงเศษเปนทาง ๑๖๘ ไมล์ เจ้าเมืองจัดรถเทียมม้าคู่ตอยรับทูตานุทูต ๕ รถ มีทหารขี่ม้านำหน้ารถ ๔ ม้า พาทูตานุทูตไป
อยู่โฮเต็ลชื่อการาน มองติคนีก็อยู่ด้วยทูต มีทหารสพายดาบรักษาประตูโฮเต็ลอยู่ยามละ ๒ คน เมืองไลยอนนั้นไกลทเลแต่มีแม่น้ำใหญ่เข้าไปถึงเมือง เปนหาดทรายน้ำตื้น เหนือเมืองใต้เมืองมีบ้านตลอด
มีโรงจักรสูบน้ำล่ามท่อเข้าไปทุกบ้านทุกตึก มีที่น้ำไหลออกจากปากสัตว์เปนที่ประชุมนั่งเล่น ๑๐ ตำบล
วันศุกร์เดือน ๘ ขึ้น๗ ค่ำเวลาเช้า มองติคนีพาทูตานุทูตไปดูโรงช่างทำของต่าง ๆ เปนเมืองทำผ้าแพรดี ช่างทอนั้นทอเปนรูปมนุษย์แลรูปสัตว์ ต่าง ๆ ก็ได้ ทอเปนรูปสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอ รูปพระมเหษี
รูปพระเจ้าลูกยาเธอ รูปกวีนวิกตอเรีย รูปเจ้าหญิงลูกเธอ ทำ
เปนท่อน ๆ พอได้หน้ากระจก รูปช่างผู้คิด รูปทหารผู้ใหญ่ก็มี ซื้อ
ขายกันในกรุงปารีสในบ้านในเมืองมาก รูปนั้นมีแต่สีขาวสีดำ เปนลายเส้นเดียวเหมือนรูปถ่าย สีอื่น ๆ หามีไม่ ถ้าถ่ายรูปออกไปให้กับ
ช่างแล้ว ช่างก็ทอได้ทุกรูป เวลาบ่ายโมงหนึ่งเจ้าเมืองขุนนางฝ่าย
๔๗ ทหารแม่ทัพใหญ่มาทักถามทูตานุทูตที่โฮเต็ล แล้วพาทูตานุทูตไปดูทหารที่ป้อมบนภูเขา ทหารทำท่ารบเปนพวก ๆ รบกันกลางแปลงบ้าง ขุดสนามเพลาะทำค่ายบ้าง แล้วพาไปดูที่บ้านทหารอยู่ เปนที่ประชุมบรรดาทหารอยู่ที่นั้น พอเจ้าเมืองไปถึงนายทหารเป่าแตรขึ้น มีทหาร แต่งตัวถือปืนออกจากตึก ออกมายืนแถวที่สนามหน้าตึก ๒ แถว สนามนั้นยาวประมาณ ๒ ไมล์ มีนายทหารขี่ม้าถือดาบ ๒๔ ม้า มีปี่พาทย์ ๕ สำรับ เจ้าเมืองให้สารถีขับรถทูตานุทูตไปตามหน้าทหารที่ยืนแถวจนตลอดทหาร ๆ ประมาณ ๒๐,๐๐๐ เศษ แล้วพาทูตานุทูตไปดูสัตว์ต่าง ๆ ทำคอกแลกรงขังไว้ ในสวนนอกเมืองตำบลหนึ่ง เวลาค่ำมองติคนีพาทูตานุทูตไปดูละคอน โรงละคอนนั้นเปนตึกใหญ่มีที่คนดู ๕ ชั้น ถ้า คนเปนเศรษฐีแลคนมั่งมีได้ดูชั้นต่ำแต่ต้องเสียเงินมาก ด้วยว่าได้เห็น ตัวละคอนใกล้ แม้นดูชั้นสูงขึ้นไปเสียเงินน้อยลง แต่เห็นไกลออก ไปทุกชั้นด้วยเปนที่สูง ละคอนนั้นเล่นเรื่องพงศาวดารกษัตริย์เอดเตเลียนแต่โบราณมา ครั้นสิ้นบทแล้วก็ปิดม่านหน้าโรงลงเสีย แล้วเปลี่ยนแปลงฉากในโรงใหม่ ต่อบทอื่นไปอิก บางทีก็เห็นเปนน้ำ บางที ก็เห็นเปนไฟ บางทีก็เห็นเปนคนออกมาจากดอกไม้ แต่เพดานเปน ดวงพระจันทร์เปนดาวเปนเมฆเหมือนอากาศ เวลา ๒ ยามละคอนเลิกมองติคนีพาทูตานุทูตกลับมาโฮเต็ล. วันเสาร์เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำเวลาเช้าโมง ๑ มองติคนีเชิญทูตานุทูตไปขึ้นรถไฟไปจากเมืองไลยอน ทางรถไฟลอดอุโมงค์ยาวบ้างสั้น บ้าง ๑๘ แห่ง มีสพานเหล็กเสาก่อด้วยศิลาข้ามแม่น้ำใหญ่ ๓ ตำบล
๔๘ เล็ก ๒ ตำบลรวม ๕ ตำบล มีโฮเต็ลหยุดรถกินโต๊ะแห่งหนึ่ง รถหยุด เติมน้ำเติมถ่านรับคนส่งคน ๑๔ ครั้ง ตามทางมีบ้านมีเรือนมีนาแล สวนตลอดไปจนถึงโรงหยุดรถกรุงปารีส เวลาค่ำทุ่มหนึ่งถึงกรุงปารีสเปนทาง ๓๘๔ ไมล์ คอเวอนแมนต์ให้จัดรถรับทูตานุทูต ๕ รถเทียม ม้าคู่ มีทหารขี่ม้าสพายดาบนำหน้ารถ ๔ ม้าตามหลัง ๔๗ ม้า คน เป่าแตร ๒ ม้า นายทหารม้าหนึ่ง รวม ๕๕ ม้า พาทูตานุทูตไปอยู่โฮเต็ลชื่อแปนเรศปิโร ว่าเปนที่สูงสอาด มองติคนีกับทูตอยู่คนละฟากถนน ไกลกันทางประมาณ ๒ เส้น มีโปลิศสพายดาบเดิรยามรักษา ยามละ ๒ คน จักรถไว้ให้ใช้ ๓ รถ มิศโกโดเสมียนที่เข้ามา กรุงเทพ ฯ ด้วยมองติคนีนั้น มากินโต๊ะอยู่ด้วยทูตคนหนึ่ง คอเวอนแมนต์ให้เสมียนพูดอังกฤษได้มากำกับอยู่ที่โฮเต็ลคนหนึ่ง ชื่อมิศลำเบ.
๔๙ ตอนที่ ๖ ว่าด้วยราชทูตเข้าเฝ้าเอมเปอเรอฝรั่งเศส
วันจันทร์เดือน ๘ ขึ้น ๑๐ ค่ำเวลาบ่าย ๔ โมงมองติคนีพาราชทูต อุปทูต ตรีทูต นายสรรพวิชัย หลวงอินทรมนตรี ขุนมหาสิทธิโวหาร หลวงชาติสุรินทร์ ขุนสมบัติบดีรวม ๘ คน แต่งตัวตามบันดาศักดินำหนังสือเจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดีที่พระคลังไปให้มินิศเตอทูวแนลผู้สำเร็จราชการต่างประเทศ มินิศเตอทูวแนลว่าออกมารับเชิญทูตานุทูตให้นั่งเก้าอี้ตามลำดับ แล้วราชทูตบอกแก่มินิศเตอทูวแนลว่า ข้าพเจ้าเชิญหนังสือเจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดีที่พระคลัง ผู้ว่าการต่างประเทศคำนับมายังท่านฉบับ ๑ ราชทูตจึงส่งหนังสือให้มินิศเตอทูวแนล ๆ รับหนังสือแล้วถามราชทูตว่าทูตานุทูตมาตามทางสบายอยู่หรือ ราชทูต ตอบว่าเปนสุขสบายอยู่ พูดจาอยู่ประมาณครู่หนึ่งแล้วคนใช้เอาน้ำกาแฟ น้ำองุ่นขนมน้ำแขงมาเลี้ยงทูตานุทูต พูดกันอยู่ประมาณโมงหนึ่งลากลับมาโฮเต็ล วันอังคารเดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำเวลาบ่าย ๔ โมง มินิศเตอทูวแนลกับมองติคนีมาหาทูตานุทูตที่โฮเต็ล แล้วมินิศเตอทูวแนลถามว่า ทูตานุทูตมาอยู่ที่โฮเต็ลสบายดีอยู่หรือ เดือนนี้เปนระดูร้อน ราชทูต ตอบว่ามีความสบายอยู่มิสู้ร้อนนัก แล้วราชทูตถามมินิศเตอทูวแนลว่าท่านกำหนดจะให้ทูตานุทูตเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอวันไร มินิศเตอ ๗
๕๐
ทูวแนลตอบว่าจะไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอก่อน จะโปรดให้เฝ้าวันไรจึงจะกำหนดให้ทราบ มินิศเตอทูวแนลว่าอยากจะใคร่ดูเครื่องมงคลราชบรรณาการ ราชทูตจึงสั่งผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการให้เชิญหีบเครื่องมงคลราชบรรณาการที่เปนเครื่องทองลงยา เครื่องทองคำ เครื่องอาวุธมาเปิดให้ดู แล้วมินิศเตอทูวแนลชมว่าเครื่องมงคลราชบรรณาการทำที่กรุงสยามงามดี เปนของประหลาทยังไม่เคยเห็นราชทูตจึงจัดสิ่งของในหลวงซึ่งโปรด ฯ พระราชทานออกไปให้แก่มินิศเตอทูวแนล โต๊ะถม ๑ กาถมกลม ๑ กล่องบุหรี่ถม ๑ รวม ๓ สิ่ง กับ
ดาบสันกลมฝักกาไหล่ทองบ้าง หุ้มทองคำประดับพลอยด้ามกาละปังหาฝังดอกไม้ทองคำเล่ม ๑ ราชทูตให้แก่มินิศเตอว่าเปนของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทฝากมาพระราชทานแก่มินิศเตอทูวแนล มินิศเตอทูวแนลได้รับสิ่งของทั้งปวงแล้วมีความยินดีเปน
อันมาก พูดจาอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง มินิศเตอทูวแนลแลมอง
ติคนีกลับไป.
วันพฤหัสบดีเดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลาเช้ามองติคนีมาบอกทูตา
นุทูตว่า มินิศเตอทูวแนลได้ไปเฝ้ากราบทูลสมเด็ลพระเจ้าแอมเปอเรอแล้วมีรับสั่งกำหนดให้ทูตานุทูต เฝ้าถวายพระราชสาส์นเครื่องมงคลราช
บรรณาการที่พระราชวังฟอเตลโปล ณวันพฤหัสบดีเดือน ๘ แรม ๕ ค่ำเวลาบ่าย ๕ โมง จะต้องไปรถไฟ ราชทูตจึงว่ากับมองติคนีว่าขอท่าน
ได้ไปหารือมินิศเตอทูวแนลด้วย มินิศเตอจะโปรดให้ทูตานุทูตเฝ้าสัก
กี่คน มองติคนีตอบว่าการข้อนี้ไม่ใช่ธุระของมินิศเตอทูวแนล แล้ว
๕๑ แต่ราชทูตจะเห็นควร ราชทูตจะจัดให้เฝ้าสักกี่คนขอให้ข้าพเจ้าทราบด้วยราชทูตจึงให้ทำบาญชีชื่อทูตานุทูตที่จะให้เฝ้านั้น ราชทูต ๑ อุปทูต ๑ ตรีทูต ๑ ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ หลวงอินทรมนตรี ๑ นายสรรพวิชัย ๑ ขุนมหาสิทธิโวหาร ๑ หมื่นจักรวิจิตร ๑ สี่คน นายสมบุญบุตรราชทูต ๑ นายชายบุตรอุปทูต ๑ นายเอี่ยมมหาดเล็ก ๑ เสมียน ขุนสมบัติบดี ๑ หลวงชาติสุรินทร์ ๑ ล่าม ขุนจรเจนทเล ๑ นายเปี่ยม มหาดเล็ก ๑ รวม ๑๔ คนนั้นให้เฝ้า แต่หมื่นจินดารักษ์ ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ ในพระบวรราชวัง ๑ นายหวาดบุตรพระยาอภัยสงคราม๑ นายเนตร มหาดเล็ก ๑ สามคนนี้หาให้เฝ้าไม่แล้วราชทูตจึงให้จดหมายรายชื่อคน ๑๔ คน ซึ่งจะให้เฝ้ามอบให้แก่ มองติคนี ๆ รับจดหมายแล้วลากลับไป เวลาค่ำมองติคนีพาทูตานุทูตไปดูละคอนโรงใหญ่ในเมืองปารีส ละคอนนั้นเล่นก็คล้ายกันกับที่เมืองไลยอน แต่ที่โรงแลเครื่องเล่นแลฉากเครื่องตั้งแต่งแขงแรงกว่าเมืองไลยอน จะพรรณาไปยืดยาวนัก เวลา ๒ ยามละคอนเลิก แล้วทูตา นุทูตก็กลับมาโฮเต็ล วันศุกร์เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำเวลาเช้า มองติคนีพาช่างเขียนถ่ายรูปมาที่โฮเต็ล มองติคนีบอกว่ามีรับสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอให้พาช่างมาขอให้ทูตแต่งตัวอย่างไทย จะให้ช่างถ่ายรูปไว้สำหรับแผ่นดิน ในเวลานั้นช่างได้ถ่ายรูปราชทูต รูปนายสรรพวิชัย ๒ คนแผ่นหนึ่ง รูปอุปทูต รูปนายชาย ๒ คนแผ่นหนึ่ง ตรีทูตแผ่นหนึ่ง หลวงอินทรมนตรี
๕๒ แผ่นหนึ่ง ขุนมหาสิทธิโวหารแผ่นหนึ่ง รวม ๕ แผ่น แล้วเขียนประสานให้สีเหมือนสีตัวด้วย วันพฤหัสบดีเดือน ๘ แรม ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงมองติคนีพาขุนนางเจ้าพนักงารมารับเครื่องมงคลราชบรรณาการ ไปตั้งที่พระราชวังฟอเตลโปล ราชทูตจึงให้หลวงอินทรมนตรี ขุนมหาสิทธิโวหาร แต่งตัวตามบันดาศักดิ์ ๒ นายกำกับไปจะได้จัดตั้งด้วย ครั้นเวลาบ่าย ๒ โมงครึ่ง มาเชอวายยางขุนนางฝ่ายทหาร ๑ มารอนเตลริศ ขุนนางฝ่ายกรมท่า ๑ มองติคนี ๑ สามคนจักรถมารับทูตานุทูตที่โฮเต็ล ๕ รถ เทียมม้า ๔ ม้า สารถีขับรถใส่หมวกภู่ทอง ใส่เสื้อปักทองขับรถละ ๒ คน ราชทูต อุปทูต ตรีทูต แต่งตัวใส่สนับเพลานุ่งยกทอง คาด เข็ดขัด คาดกรองทอง ใส่เสื้อเยียระบับอย่างน้อยชั้นใน เสื้อกรุยกรองทองชั้นนอก ราชทูตขัดกระบี่ฝักทองคำลงยา ใส่มาลามีพระตราจอมเกล้าประดับเพ็ชร์ อุปทูตขัดกระบี่ฝักนาคบ้างทองคำประดับพลอย ใส่มาลา มีพระตราจอมเกล้าประดับทับทิม ตรีทูตขัดกระบี่ฝักกาไหล่ทอง ใส่ทรงประพาสมีพระตราปิ่นเกล้าทองคำ บาดหลวงลุยวิศลอนนาดีล่าใหญ่ นายสรรพวิชัย หมื่นจักรวิจิตร นายสมบุญบุตรราชทูต นายชาย บุตรอุปทูต ขุนสมบัติบดี หลวงชาติสุรินทร์ ขุนจรเจนทเลล่าม นายเปีย ล่ามมหาดเล็ก นายเอี่ยมมหาดเล็ก แต่งตัวตามบันดาศักดิ์ ๑๒ คน รถที่หนึ่งเปนรถราชทูตเชิญหีบพระราชสาส์นขึ้นรถมีขุนนางไปด้วยในรถมาเชอวายยางขุนนางฝ่ายทหาร ๑ มองติคนี ๑ บาดหลวงลุยวิศ ลอนนาดี๑รถที่สองนั้นอุปทูต ตรีทูต มารอนเตลริศขุนนางฝ่ายกรมท่า ๑ นายชายบุตรอุปทูต ๑ รวม ๔ นาย ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ
๕๓ เสมียน ล่ามไป ๓ รถ ออกจากโฮเต็ลทางไมล์หนึ่งถึงที่โรงพักรถไฟ มีขุนนางฝ่ายทหารพลเรือนคอยรับทูตานุทูตอยู่ที่ท่ารถไฟหลายนายแล้วมองติคนีเชิญทูตานุทูตให้เชิญพระราชสาส์นขึ้นรถไฟ ขุนนาง ที่มาคอยอยู่ที่นั้นก็ไปพร้อมกับทูตานุทูต ทาง ๑๒๐ ไมล์ ถึงที่พักรถไฟ ณพระราชวังฟอเตลโปล ทูตานุทูตลงจากรถไฟแล้วเชิญพระราชสาส์นขึ้นรถเทียมม้า 4 ม้าทุกรถไปตามถนน ราษฏรยกธงตามหน้าต่างทุกตึกไปทาง ๓๐ เส้นถึงพระราชวัง มีปี่พาทย์ประโคมสำรับหนึ่ง ๓๖ คน มีทหารแต่งตัวถือปืนไรแฟนยืนข้างถนนข้างละ๒แถวเปนทหาร๒,๐๐๐คน ทหารใส่เสื้อเกราะขี่ม้ายืนหลังทหารปืนข้างละ ๒ แถวเปนทหาร๔๐๐ม้า รวมทหาร ๒,๔๐๐ คน กำแพงวังด้านทางทูตเข้านั้นเปนรั้วเหล็กยอดปิดทอง มีประตูใหญ่ ๔ ประตู รถทูตานุทูตเข้าไปในพระราชวังถึง บันไดเกย ทูตลงจากรถแล้ว ขุนนางพาทูตานุทูตขึ้นไปบนตำหนัก เข้าพระทวารลดเลี้ยวไปประมาณเส้นหนึ่ง มีทหารใส่เสื้อเกราะยืน๒ แถวถือดาบถือขวานประมาณ ๕๐๐ คน ครั้นถึงห้องพระตำหนักแห่งหนึ่ง ขุนนางฝ่ายกรมวังออกมารับให้ทูตานุทูตหยุดพัก เปิดหีบพระราชสาส์น ออกแล้ว ราชทูตเชิญพระราชสาส์นในพระบวรราชวังรวมลงในพานพระราชสาส์นใหญ่ มองติคนีกับขุนนางกรมวังนำราชทูตเชิญพระบรมราชสาส์นแลพระบวรราชสาส์น กับทูตานุทูตเข้าไปถึงท้องพระโรง ที่เสด็จออก แล้วคลานตามลำดับเข้าไปถึงพระที่นั่ง ราชทูต ก็วางพานพระราชสาส์นลง ห่างกับที่สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอเสด็จออกประทับอยู่นั้นประมาณ ๘ ศอก ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมครั้งหนึ่ง
๕๔ แล้วหมอบอยู่ ราชทูตอ่านทูลเบิกถวายพระราชสาส์นเครื่องมงคล ราชบรรณาการเปนคำไทยก่อน แล้วบาดหลวงลุยวิศลอนนาดีล่ามอ่านแปลเปนคำฝรั่งเศสถวายจบแล้ว ๆ ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมอิกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอมีรับสั่งตอบว่า ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ ที่ได้รับทูตแลขุนนางเรือรบซึ่งเข้าไปกรุงเทพมหานครโดยความยินดี แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแต่งทูตานุทูตให้เชิญพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรีอิกนั้น ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเปนอันมากแต่ก่อนกรุงฝรั่งเศสกับกรุงสยามอยู่ไกลกัน เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสตีได้เมือง ไซ่ง่อนเขตแดนญวนเปนของฝรั่งเศส แผ่นดินก็ใกล้กันกับกรุงสยาม คอเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายมีธุระการงารสิ่งใดจะได้ปรึกษาหารือกัน พระราชไมตรีก็จะได้สนิทกันมากทวีขึ้นไป ขอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ทั้งสองพระองค์ ทรงพระชนมายุยืนยาวให้มาก พระราชไมตรีทั้งสองพระนครจะได้ถาวรวัฒนาสืบไปภายหน้าชั่วฟ้าแลดิน ทูตถวายบังคมพร้อมกันอิกครั้งหนึ่ง แล้วราชทูตเชิญพานพระราชสาส์นเข้าไปถวายสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอทรงรับต่อพระหัดถ์ แล้วส่งพระราชสาส์นให้มินิศเตอทูวแนลผู้สำเร็จราชการต่างประเทศ ราชทูตคลานถอยออกมาถึงที่เฝ้าทูตานุทูตถวายบังคมอิกครั้งหนึ่ง ขุนนางบอกว่าจะเสด็จขึ้นทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมคลานถอยหลังออกมา แล้วมีรับสั่ง ให้ทูตานุทูตยืนขึ้นทุกคน สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอแลแอมเปรศพระ มเหษีพระเจ้าลูกยาเธอเนโปเลียน เสด็จมาไต่ถามทุกข์สุขถึงสมเด็จ
๕๕ พระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ แลพระบรมวงศานุวงศท่านเสนาบดีผู้ใหญ่แลทูตานุทูต แล้วรับสั่งให้หาตัวนายชายมาให้พระเจ้าลูกยาเธอเนโปเลียนจับมือนายชาย สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอนั้นตรัสภาษา ฝรั่งเศส แอมเปรศพระมเหษีนั้นตรัสภาษาอังกฤษ แล้วเสด็จเลย ไปทอดพระเนตรเครื่องมงคลราชบรรณาการ รับสั่งว่าฝีมือช่างไทยทำ สิ่งลงยาลายสลักประดับเพ็ชร์ประดับพลอยงามกว่าของในประเทศอื่นแล้วเสด็จขึ้น เมื่อแอมเปรศพระมเหษีเสด็จมานั้น มีหญิงสาวแต่งตัว มีใบไม้เพ็ชร์ผูกฅอ ใส่กำไลมือประดับเพ็ชร์ ถือชายพระภูษา ๔ คนท้องพระโรงที่เสด็จออกนั้น พื้นสองชั้น ๆ บนมีพระแท่นยาวแล้วมีพระพระที่นั่งเรียงกัน ๓ องค์ สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอเสด็จประทับพระ ที่นั่งองค์กลางมีเศวตฉัตร ทรงพระมาลากอกแฮต ทรงฉลองพระองค์ดำ ทรงพระสังวาลแพรแถบแดงห้อยพระตรา ทรงสนับเพลาแดงริ้วดำสองข้างทรงพระแสงฝักหนังดำ แต่งพระองค์เหมือนอย่างนายทหารแอมเปรศพระมเหษีนั้นทรงเครื่องขาวประดับแล้วไปด้วยเพ็ชร์ ประทับอยู่พระที่นั่งซ้าย พระเจ้าลูกเธอทรงเครื่องดำอย่างทหาร เสด็จยืน อยู่ข้างพระที่นั่งที่ฝ่ายขวา ข้างขวามีทหารแต่งตัวถือกระบองยืนอยู่ ๑๘คน ข้างซ้ายมีหญิงภรรยาขุนนางบ้าง สาวใช้บ้าง ยืนอยู่ ๓๐ คน ชั้นล่างเปนที่ขุนนางเฝ้า มินิศเตอแลขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยแต่งตัวสพายดาบยืนเฝ้าอยู่ข้างละ ๑๙ คน ทูตานุทูตเฝ้าอยู่กลางขุนนาง ถัดออกมา ๒ ข้างท้องพระโรง ตั้งเครื่องมงคลราชบรรณาการ มองติคนีพาทูตานุทูตไปดูห้องแลพระแท่นของแอมเปรศพระมเหษี มีหลายห้องมีเตียงโต๊ะ
๕๖ เก้าอี้ตั้งแลเครื่องใช้สอยต่างกันทุกห้อง เครื่องทรงของแอมเปรศพระ มเหษีที่แต่งพระองค์เมื่ออกรับทูตานุทูตนั้นก็ทรงเปลื้องกองไว้ในห้องให้ทูตานุทูตดูด้วย แล้วมองติคนีกับขุนนางกรมวังก็พาทูตานุทูตออกไปที่ห้องแห่งหนึ่ง แอมเปรศพระมเหษีเสด็จมายืนเสวยขนมอยู่ที่นั้น แล้ว จึงพระราชทานให้ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ๆ ได้รับขนมต่อพระหัดถ์ แอมเปรศพระมเหษี แต่ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ เสมียน ล่ามรับสั่งให้ขุนนางแจก แอมเปรศพระมเหษีจึงรับสั่งให้หาตัวนายชายไปให้ใกล้แล้วตรัสกับมองติคนีว่าทรงพระเมตตานายชายมาก จะทรงจูบได้หรือไม่ได้ มองติคนีทูลว่าได้ แอมเปรศพระมเหษีก็ทรงจูบ นายชายแล้วประทานขนมให้ต่อพระหัดถ์ แล้วแอมเปรศพระมเหษีรับสั่งแก่ทูตานุทูตว่า สิ่งของซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงยินดีมานั้นเปน ของงามดี จะเก็บรักษาไว้เปนที่ทรงระลึกถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ทั้งสองพระองค์ ทูตานุทูตทูลว่าของถวายนั้นเปนเครื่งสำหรับขัติยราชตระกูลของกษัตริย์อย่างสูง ใช้ได้แต่ในหลวง แล้วแอมเปรศพระ มเหษีก็เสด็จขึ้น มองติคนีกับขุนนางกรมวังก็พาทูตานุทูตไปกินโต๊ะ ที่ห้องแห่งหนึ่ง ประมาณครึ่งชั่วโมงมองติคนีก็พาทูตานุทูตขึ้นรถ กลับพระราชวังฟอเตลโปล ขึ้นรถไฟกลับเวลาค่ำทุ่มหนึ่งถึงโฮเต็ล ที่กรุงปารีส.
๕๗
ตอนที่ ๗ ว่าด้วยราชทูตเที่ยวดูสถานที่ต่าง ๆ
วันเสาร์เดือน ๘ แรม ๗ ค่ำ มองติคนีเชิญราชทูต อุปทูต ตรีทูต นายชายบุตรอุปทูต บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ไปที่บ้านมอง ติคนีอยู่ ราชทูตว่ากับมองติคนีว่าทูตานุทูตไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอแล้ว ท่านจะให้ทูตานุทูตไปหาขุนนางที่แห่งใดบ้างก็แล้วแต่ท่านมองติคนีว่ากับราชทูตว่าจะพาทูตานุทูตไปเฝ้าเจ้าหญิงน้องนางเธอองค์หนึ่ง กับมินิศเตอมริน ผู้ว่าราชการกำปั่นรบคนหนึ่ง แต่ขุนนางนอกจากนั้น ทูตานุทูตให้แต่ก๊าดไปก็ได้ พูดกันอยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่งลากลับมาโฮเต็ล. วันจันทร์เดือน ๘ แรม ๙ ค่ำเวลาบ่าย ๕ โมง มินิศเตอทูวแนลกับมองติคนีมากินโต๊ะด้วยทูตที่พัก มินิศเตอทูวแนลบอกทูตว่าของถวายพระเจ้าน้องเธอนั้น ให้ทูตพาไปเฝ้าถวายเองจึงจะดี ราชทูตตอบว่าชอบแล้ว มินิศเตอทูวแนลบอกทูตว่าพระราชวังแวดไซนั้น ทำไว้ แต่โบราณไม่ได้ดัดแปลง ครั้งแผ่นดินพระเจ้าลุวิศที่ ๑๔ ทูตไทยได้ไปเฝ้าครั้งหนึ่ง พระเจ้าลุวิศเสด็จออกรับทูตที่นั่น ควรทูตานุทูตจะไปดู ราชทูตตอบว่าชอบแล้ว มินิศเตอทูวแนลว่าวันอาทิตย์เปนวันเลิกการ มีคนไปเที่ยวดูมากจะพาทูตานุทูตไปดูในวันนั้น พูดจากันอยู่เวลา ๒ ทุ่ม มินิศเตอทูวแนล มองติคนีก็ลากลับไป.
๕๘ วันศุกร์เดือน ๘ แรม ๑๓ ค่ำเวลาบ่ายโมงหนึ่ง มองติคนี พาราชทูต อุปทูต ตรีทูต นายสรรพวิชัย หลวงอินทรมนตรี ขุน มหาสิทธิโวหาร บาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ล่าม ไปหามินิศเตอมริน ผู้สำเร็จราชการกำปั่นรบ มินิศเตอมรินถามว่าทูตานุทูตมาตามทางมีความสุขสบายอยู่หรือ ราชทูตตอบว่ามีความสุขสบายอยู่ มินิศเตอมรินถามว่าท่านมาขึ้นที่ท่าเมืองตุลน ๆ นั้นห้ามเรือลุกค้ามิให้เข้าออก เพราะเปนที่ไว้เรือรบแลเปนที่ฝึกหัดทหารเรือ แลทำเครื่องอาวุธใช้ในการ เรือ ท่านได้เห็นการทั้งปวงชอบใจหรือไม่ ราชทูตตอบว่าสิ่งของซึ่งได้เห็นที่เมืองตุลนนั้น เปนของดีวิเศษประเสริฐสมควรแก่บ้านเมืองใหญ่แล้วมินิศเตอมรินจึงให้จัดของหวานแลผลไม้น้ำองุ่นน้ำกาแฟ มาเลี้ยงทูตา นุทูต พูดกันอยู่ชั่งโมงหนึ่งลากลับมาโฮเต็ล ครั้นเวลาค่ำมองติคนี พาทูตานุทูตไปดูละคอนอิกแห่งหนึ่ง เรียกว่าละคอนม้า โรงละคอนนั้นก่อด้วยศิลาทำรูปกลมคล้ายกับป้อม หลังคามุงด้วยศิลาดำ คอสองนั้นทำเปนบานกระจก ข้างในมีเก้าอี้พื้นปูด้วยกำมะเยี่ที่สำหรับคนนั่งดู ที่กลางโรงนั้นทำเหมือนสังเวียนไก่กว้างประมาณ ๑๐ วา กลางโรงนั้นมีระย้าแก้วใหญ่ตามไฟก๊าดระย้าหนึ่ง สว่างไปทั้งโรง มีประตูเข้าออก ๒ ประตู ๆ ข้างหนึ่งนั้นจำเพาะนั่งได้ชั้นต่ำ ถ้าคนเข้านั่งชั้นต่ำต้องเสียเงินมาก เพราะได้เห็นใกล้ ประตูชั้นบนเห็นไกล แต่เสียเงินน้อยลง ละคอนนั้น เมื่อแรกเล่นมีเด็กออกมา ๒ คนเล่นหกคเมน แล้วมีผู้ใหญ่ออก มาคนหนึ่ง ถือไม้ยาวประมาณ ๕ ศอกมีไม้กางเขนพาดขวางอยู่ข้างบน
๕๙
ยาวออกมาจากไม้ข้างละ ๒ ศอก คนผู้ใหญ่ก็ชูขึ้นเดิรไปมา เด็ก ๒ คนก็หกคเมนหมุนอยู่ที่ไม้กางเขนเหมือนจังหัน ครั้นสิ้นบทก็กลับเข้าโรง
มีชายคนหนึ่งออกมาขี่ม้า แต่แรกนั่งขี่ก่อนขับให้ม้าห้อวิ่งวงไปในสังเวียน พอม้าห้อเต็มฝีเท้าแล้ว ชายนั้นก็ปลดบังเหียนม้าออกเสีย
ให้ม้าอยู่แต่ตัวเปล่า ๆ ไม่มีสิ่งใดเปนที่ยึดหน่วง บางทีก็กลับหน้ามาข้างหลัง บางทียืนขึ้นเท้าหน้าเหยียบศีร์ษะเท้าหลังเหยียบบ่าม้า แล้วเต้นรำเท้าเปลี่ยนท่าต่าง ๆ แล้วคนข้างล่างยกปีบมายาวประมาณ ๓ ศอกกว้างพอตัวคนลอดได้ชูขวางหน้าไว้ ม้าก็ห้อลอดไปใต้ปีบแต่คน
บนหลังม้านั้นโดดเข้าไปในปีบ ไปลงหลังม้าได้ดังเก่า แล้วคนข้างล่างโยนมีดขึ้นไปให้คนบนหลังม้า ๘ เล่ม คนบนหลังม้าก็เลี้ยงมีดไว้ไม่
ให้ตกลงมาถึงดิน สิ้นบทแล้วก็กลับเข้าโรง แลมีหญิงสาวคนหนึ่ง
ออกมาขี่ม้า ม้านั้นวิ่งเสมอกัน ๔ ม้าหญิงนั้นยืนขี่คนเดียว แล้วรำเท้าก้าวไปในกำลังม้าห้อ ๔ ม้า แล้วเปลี่ยนแปลงยักเยื้องทำท่าทางต่าง ๆ มีเด็ก ๓ คนออกมาโหนชิงช้า ๆ นั้นผูกเรียงกัน ๓ แห่ง แห่งหนึ่งห่าง
กันประมาณ ๔ วาเศษ สูงพ้นดินประมาณ ๖ ศอก แล้วเอาโต๊ะมาวางต่อกันตลอดที่ชิงช้าผูกไว้ ปูพรมสำหรับรองเท้า ผู้ใหญ่พอเอื้อมถึง
ชิงช้าแล้วมีเด็กยืน ๒ ข้างสูงพ้นดินประมาณ ๘ ศอก ริมกับคนที่นั่งดูแล้วเด็กนั้นก็ขึ้นไปบนที่สูง ผู้ใหญ่คนหนึ่งยืนอยู่บนโต๊ะ ก็โยนชิงช้า
ที่หนึ่งไปให้เด็ก ๆ นั้นก็รับเอาชิงช้าเหนี่ยวไว้ ๒ มือ แล้วจึงโยนตัว
ลอยไป ผู้ใหญ่คนนั้นก็ไปจับชิงช้าที่สองไกวให้โยนไปมา เด็กที่โหน
๖๐
ชิงช้านั้นก็กลับหน้าไปเสีย หาดูชิงช้าที่โยนรับไม่ แล้วหกคเมนกลับมาจับชิงช้าที่สองได้ แล้วผู้ใหญ่ที่ข้างล่างนั้นก็โยนชิงช้าที่สาม โยนมา
ใกล้เด็กนั้นก็เอาเท้าเกี่ยวชิงช้าที่สองไว้ วางมือกลับหน้ามาจับชิงช้า
ที่สามได้ แล้วเปลี่ยนแปลงท่าทางต่าง ๆ ทำได้เหมือนกันทั้ง ๓ คน
สิ้นเพลงแล้วก็กลับเข้าโรง แล้วแต่งสุนัขจูตัวผู้นั้นใส่กางเกงใส่เสื้อโก๊ด
ใส่หมวกขนเหมือนผู้ชาย ตัวเมียนั้นแต่งเหมือนผู้หญิงแล้วออกมา
เต้นรำเท้าเปนคู่ ๆ สิ้นเพลงแล้วก็กลับเข้าโรง แล้วยังมีวานรขี่รถ
ออกมา รถนั้นเทียมด้วยสุนัขคู่ ๑ มีวานรเปนสารถีหน้ารถตัวหนึ่ง
ท้ายรถตัวหนึ่ง วานรตัวนายแต่งเปนผู้หญิงผู้ชายนั่งอยู่ในรถ แล้ว
สารถีก็ขับรถวิ่งวงไปในสังเวียน แล้ววานรข้างท้ายรถนั้นโดดลงจาก
รถแล้วไปยึดบังเหียนสุนัขให้รถหยุดแล้วก็กลับขึ้นท้ายรถดังเก่า วานรสารถีข้างหน้าก็ขับรถให้รถวิ่งวงไปสิ้นเพลงแล้วก็กลับเข้าโรง แต่กระบวรสัตว์ซึ่งเล่นนั้นยังเปลี่ยนแปลงอิกหลายอย่างต่างๆ จะกล่าวไปก็ยืดยาวนัก เวลา ๒ ยามละคอนเลิกแล้ว มองติคนีก็พาทูตานุทูต
กลับมาโฮเต็ล.
วันเสาร์เดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำเวลาบ่ายโมงหนึ่ง มองติคนีพาทูตานุทูตไปดูคลังทำเงิน ที่คลังนั้นก่อด้วยศิลาทำแน่นหนามั่นคงนัก มีห้องมากกว่ามาก แต่เงินที่ในคลังนั้นทำเปนแท่ง ๔ เหลี่ยมก็มี ที่กลมเหมือนปึกขี้ผึ้งก็มี ที่ยาวรีเหมือนแผ่นอิฐก็มี กองไว้เปนแพนกกัน
มากนัก แต่ที่จะทำเปนเงินแฟรงนั้นหล่อไว้แท่งยาวประมาณศอกคืบกว้างประมาณ ๒ นิ้ว หนาประมาณกึ่งนิ้วอยู่แพนกหนึ่ง แล้วจึงเอา
๖๑ มาหีบ แต่หีบนั้นถ้าจะเปรียบก็คล้ายกันกับหีบฝ้าย แต่เปนเครื่องเหล็กใช้กลไกมีหีบที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตั้งเรียงเปนแถวกันหลายหีบจนถึงหีบที่สุด เงินนั้นก็บางได้ที่เรียบร้อยเสมอกัน เปนมันเหมือนกับขัดไว้ แล้วเอา ไปใส่ในที่สำหรับตัดให้กลมแห่งหนึ่ง ตัดกลมแล้วเอาไปใส่ในที่สำหรับทำเม็ดขอบเงินแห่งหนึ่ง แต่ที่หีบแลที่ตัดกลมแลที่ทำขอบนั้นไม่ต้องลำบากใช้คน ใช้กลไกไฟจักรทั้งสิ้น คนเปนแต่คอยป้อนเหมือนป้อน หีบอ้อย ด้วยเครื่องมือที่ตัดกลมแลทำขอบนั้น เขาทำไว้สำเร็จแล้ว จึงตัดทีเดียวได้ไม่ต้องลำบากวุ่นวายหลายหน แล้วจึงเอาไปตีตรา ๆ แล้วชั่งดูแฟรงใดหนักแฟรงใดเบาก็เอาออกเสีย เอาแต่ที่ได้ตาชั่ง ๆ แล้วจึงต้มให้ขาว แต่ที่ตีตราแลชั่งแลต้มให้ขาวบริสุทธิ์นั้นใช้คนทั้งสิ้นชั้นบนนั้นมีตราตัวอย่างทุกแผ่นดิน แลเงินชาติภาษาอื่น ๆ ก็มีมาก ตราที่เปนรูปคนก็มี ครั้นดูทั่วแล้วมองติคนีก็พาทูตานุทูตไปดูที่ทอพรมพรมนั้นทำเปนสดึง ไม่เปนฟืมเหมือนทอผ้า แต่ทอได้ทุกอย่าง เปน รูปคนแลรูปสัตว์เปนดอกไม้ทอได้ต่าง ๆ ทุกอย่าง งดงามเหมือนกับเขียน แต่คนที่ทอนั้นเปนผู้ชายทั้งสิ้น ทูตานุทูตดูทั่วแล้วเวลาบ่าย ๕ โมงเศษกลับมาโฮเต็ล. วันอาทิตย์เดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำ มองติคนีพาทูตานุทูตไปดู พระราชวังแวดไซ ขึ้นรถไฟไปจากกรุงปารีสทาง ๑๖ ไมล์ถึงพระราชวังมีตึกมีบ้านมาก มีเขามีป่ามีสวนปลูกผลไม้ดอกไม้ต่าง ๆ มีที่น้ำพุผุด ขึ้นจากสระจากที่ต่าง ๆ หลายตำบล มีถนนเดิรได้ทั่วกัน สองข้างถนน มีต้นไม้ใหญ่สูงประมาณ ๗ วา ๘ วา ต้นห่างกันประมาณ ๔ วา ลาง
๖๒ ถนนกิ่งที่ออกมาขวางถนนต่ำ ๆ นั้นตัดเสีย เอาไว้แต่กิ่งที่ไปตามถนนลำต้นนั้นแบนไปตามถนนยอดนั้นคลุมเข้าหากัน แล้วตัดยอดเสมอไว้ช่องกลางห่างกันประมาณศอกหนึ่ง มีทหารโปลิศรักษาทุกถนน มี พระราชวังทำไว้บนเขาแลในป่า ๓ แห่ง มีพระแท่นที่ข้างหน้าข้างในหลายแห่งต่าง ๆ กัน ห้องที่พระเจ้าลุวิศเสด็จออกมารับทูตกรุงสยามครั้งนั้น พระแท่นที่เสด็จออกก็ยังรักษาไว้งดงามบริบูรณ์อยู่ ห้อง อิกแห่งหนึ่งทำเปนตู้กระจกใหญ่ ใส่เครื่องทรงของพระเจ้าลุวิศ มีพระ มงกุฏฉลองพระองค์อย่างโบราณ พระแสงทรงแลเครื่องใช้สอยแต่ ครั้งพระเจ้าลุวิศจัดไว้ในนั้นทั้งสิ้น พระตำหนักนั้นใหญ่โต มีโรง ละคอนอยู่ในวัง มีรูปพระเจ้าแผ่นดินกรุงฝรั่งเศส เขียนใส่กระจก ติดไว้กับฝาผนัง ๖๘ พระองค์ จนถึงสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอเนโปเลียนที่ ๓ พระองค์นี้ มีฉลากบอกพระนามพระชัณษาศักราชแน่นอนทุก พระองค์มีโรงรถสำหรับกษัตริย์เลียบพระนคร แรกครองแผ่นดิน ๔ รถ ๆ นั้นปิดทองประดับพลอย มีรูปเทวดาฝรั่งประดับทั่วทั้งรถดูงามวิเศษนัก รถอิกอย่างหนึ่งสำหรับเล่นน้ำแข็ง แต่ไม่มีล้อมีคัน เหมือนอย่างเลื่อน ข้างบนมีหลังคาคล้ายกับเกี้ยว มีที่จำเพาะนั่ง ได้คนเดียว แต่ไม่ได้เทียมม้า มีคนเสือกข้างหลังคน ๑ แล้วไปดู ตำหนักที่ในสวนอิกแห่งหนึ่งทำเปนตำหนักเล็ก ๆ หลังคามุงด้วยใบไม้ฝาแลเสานั้นทำด้วยต้นไม้เครือไม้ ข้างในฝาปิดกระดาษลายทอง ม่านแลเบาะเก้าอี้ทำด้วยแพรเหลืองทั้งสิ้น ในสวนที่พระราชวังแวดไซนั้น
๖๓
มีธารคลองน้ำไหลมาแต่เขาหลายตำบล ทูตานุทูตดูทั่วแล้วเวลาบ่าย
๔ โมงก็กลับมาโฮเต็ล.
วันจันทร์เดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้นค่ำ ๑ เวลาทุ่มเศษ มินิศเตอ
ทูวแนล ผู้สำเร็จราชการต่างประเทศมีก๊าดมาเชิญทูตานุทูตที่ได้เฝ้าสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอที่ ๑๔ นายกับบาดหลวงลุยวิศลอนนาดี ๑ ไปกินโต๊ะที่บ้านมินิศเตอทูวแนล แต่อุปทูตนั้นป่วยหาได้ไปไม่ ทูตานุทูตไปกินโต๊ะพร้อมด้วยมินิศเตอทูวแนลกับขุนนางฝ่ายทหารพลเรือน๕๔คนบาดหลวง ๒ รูป หาได้พูดด้วยราชการสิ่งใดไม่ ครั้นกินโต๊ะเสร็จ
แล้วมินิศเตอทูวแนลเชิญพระตราดวงหนึ่งกับเงินกระดาษ ๑,๕๐๐ แฟรง
ให้แก่บาดหลวงลุยวิศลอนนาดีล่าม ว่าสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอ
โปรดพระราชทานด้วยมีความชอบได้เปนล่าม เมื่อมองติคนีเข้ามา
ณกรุงเทฑ ฯ ครั้งหนึ่ง ได้เปนล่ามเมื่อทูตานุทูตออกมาณกรุงปารีส
ครั้งหนึ่ง แล้วจะพระราชทานเปนเงินปี ให้ปีละ ๕๐๐ แฟรงทุกปี ครั้นเสร็จแล้ว เวลา ๔ ทุ่มทูตานุทูตก็กลับมาโฮเต็ล.
วันอังคารเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้น ๒ ค่ำ เวลาบ่ายโมงหนึ่ง
มองติคนีพาทูตานุทูตไปดูสวนแลสัตว์ต่าง ๆ ในสวนนั้น ถ้าต้นไม้
สิ่งใดเปนของอยู่ในประเทศร้อน ก็ทำเปนโรงแก้วครอบต้นไม้นั้นไว้
แล้วไขไอร้อนเข้าไปให้ต้นไม้นั้นบริบูรณ์ดี ด้วยได้รับไออากาศที่ร้อน
ในสวนนั้นมีต้นผลไม้ร่มรื่นพื้นสอาดดีบริสุทธิ์ มีสระน้ำอยู่ในสวนสระหนึ่ง
น้ำนั้นเย็นใสสอาด สวนนั้นตั้งอยู่ทิศตวันออกชื่อว่า ตุอิเลรี เขาทำที่
๖๔
เลี้ยงสัตว์ไว้ ถ้าสัตว์ ๔ เท้าเปนต้นว่าเสือแลหมีสิงห์โตเปนสัตว์ร้าย
เขาทำเปนตึกซี่กรงเหล็กกั้นเปนห้อง ๆ ทำที่ให้นอนห้องหนึ่งที่ออกมา
ให้คนดูห้องหนึ่ง ถ้าสัตว์เชื่องก็ทำคอกขังไว้ สัตว์ที่เรียกว่าสิงห์โตนั้นหน้าเท้าเหมือนเสือ ขนฅอยาว ขนตัวสั้น ตัวแดงหางยาวปลายหางเปนพวง ฝรั่งเศสเรียกว่าลิยองดุร้ายยิ่งกว่าเสือ มีสัตว์อิกอย่างหนึ่ง
เปนของประหลาทไม่มีในเขตแดนสยาม เท้าหน้าสั้นเท้าหลังยาว รูปคล้ายชมดมีถุงอยู่ที่ท้อง เมื่อเวลาเที่ยวหากินลูกก็ออกมาจากถุงท้องเที่ยวเดิรตามแม่ คนที่ไปดูตบมือให้ตกใจลูกก็วิ่งเข้าในถุงท้องแล้วเยี่ยมหน้าออกมา แม่ก็พาวิ่งไป ฝรั่งเศสเรียกว่า กังกูลู เปนสัตว์บก
ถ้าสัตว์น้ำเปนต้นว่าจรเข้แลสัตว์ต่าง ๆ ที่โตก็ใส่ไว้ในสระ แต่สัตว์อิกอย่างหนึ่งหน้าสั้นคล้ายกับนาคมีเท้า ๒ เท้า หางคล้ายกับหางปลา.
หมดฉบับเพียงนี้
งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
- (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
- (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
- (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
- (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
- (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก