ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๑

จาก วิกิซอร์ซ

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๑ จดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม หมอ ดี บี บรัดเล แต่ง นายป่วน อินทุวงศ เปรียญ แปลเปนภาษาไทย

พิมพ์ในงารศพพระยาสารสินสวามิภักดิ ( เทียนฮี้ สารสิน ) บ ช, ร จ ม, ร ป ฮ, เดือนตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๘

พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร



คำนำ หมอบรัดเล ได้พิมพ์หนังสือไว้เรื่องหนึ่งเรียกว่า บางกอกคาแลนดา เปนทำนองประดิทิน พิมพ์ปีละเล่ม เริ่มแต่คฤศตศก ๑๘๕๙ ในรัชกาลที่ ๔ มาจนคฤศตศก ๑๘๗๓ ในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๐๒ -๒๔๑๖) ในหนังสือนี้มีเรื่องต่าง ๆ ในทางโบราณคดีที่น่ารู้อยู่หลายเรื่องจะยกเปนตัวอย่างดังเช่นจดหมายเหตุเรื่องที่พวกมิซชันนารีอเมริกันแรก เข้ามาถึงสยามประเทศนี้ เมื่อในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหมอบรัดเลแต่งเองบ้าง มิซชันนารีคนอื่นแต่งบ้าง ข้าพเจ้าคิดใคร่จะแปลออกพิมพ์เปนภาษาไทยมานานแล้วเเต่ยังขัดข้องอยู่ด้วยติดการอื่นจะแปล เองไม่ได้ และหาตัวผู้อื่นที่จะแปลยังไม่ได้ก็ต้องรอมา บัดนี้มีโอกาศและเครื่องเตือนใจเกิดขึ้น ด้วยคุณหญิงสารสินสวามิภักดิ์มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ว่าปราถนาจะพิมพ์หนังสือแจกเนื่องในทักษิณานุปทานงารฝังศพพระยาสินสวามิภักดิ์ ( เทียนฮี้ สาระสิน ) ขอให้กรรมการหอพระสมุด ฯ ช่วยเลือกเรื่องหนังสือ และจัดการพิมพ์ให้สักเรื่อง ๑ ข้าพเจ้าระลึกถึงความหลังแต่ครั้งข้าพเจ้าแรกเข้ารับราชการเปนตำแหน่งนักเรียนนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็กเมื่ออายุได้ ๑๔ ปี เวลานั้นพระยาสารสิน ฯ เปนตำแหน่งผู้ช่วยนายแพทย์อยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ได้เริ่มรู้จักกับข้าพเจ้าแล้วได้เปนมิตร์กันแต่นั้นมา และภายหลังได้มารับราชการร่วมกันเมื่อพระยาสารสิน ฯ เปนที่พระมนตรีพจนกิจ ครั้งข้าพเจ้าบัญชาการกระทรวงมหาดไทย ได้ชอบพอกันสนิทสนม กอบทั้งพระยาสารสินฯ เคยมีคุณูปการโดยได้เปนเพื่อนเที่ยวทางไกลและได้รักษาเวลาเจ็บป่วย แม้จนเมื่อตัวพระยาสารสิน ฯ เองป่วยอาการโรคเรื้อรังจนต้องออกจากราชการ และจะไป

(๒) ไหนได้ด้วยลำบากแล้ว ทราบว่าข้าพเจ้าป่วยอาการมากยังอุส่าห์ตามขึ้นไปช่วยรักษาถึงบ้านแป้งที่อำเภอบางปอินครั้งหนึ่ง ด้วยความรักใคร่ไมตรีซึ่งนับได้ว่าได้มีต่อกันมาตั้งแต่รู้จักกัน จนตลอดอายุของพระยาสารสิน ฯ ด้วยประการฉนี้ ในการที่เจ้าภาพมาขอให้ช่วยจัดการพิมพ์หนังสือเเจกในงารศพพระยาสารสิน ฯ ข้าพเจ้าจึงรู้สึกว่าให้โอกาศแก่ข้าพเจ้า พอจะได้ลงแรงคิดอ่านทำการสนองคุณพระยาสารสิน ฯ บ้างแม้เล็กน้อย ในการเลือกเรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกในงารศพพระยาสารสิน ฯ ข้าพเจ้าระลึกขึ้นถึงหนังสือจดหมายเหตุเรื่องพวกมิซชันนารีอเมริกันเข้ามากรุงสยาม ซึ่งได้กล่าวมาข้างต้น เห็นว่าถ้าแปลจดหมายเหตุนั้นออกพิมพ์แจกในงารศพพระยาสารสิน ฯ จะเหมาะดีหนักหนา ด้วยพระยาสารสิน ฯ เปนผู้ทรงวิชาคุณโดยได้เปนศิษย์พวกมิซชันนารีอเมริกัน ปรากฎว่าเปนชาวสยามคนแรกที่ได้เรียนวิชาแพทย์ฝรั่ง (จากหมอเฮาส์ มิซชันนารีอเมริกัน แล้วออกไปเรียนวิชาต่อในประเทศอเมริกา ) จนได้ประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ สมควรนับว่าเปนผู้ทรงคุณวิเศษยิ่งกว่านักเรียนรุ่นเดียวกันอีกประการหนึ่ง บัดนี้มีผู้พอจะแปลหนังสือภาษาอังกฤษได้ในหอพระสมุด ฯ เอง จึงได้ให้นายป่วน อินทุวงศ เปรียญ แปลจดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามากรุงสยามพิมพ์เปนประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๑ เพื่อแจกในงารศพพระยาสารสินฯ หวังใจว่าท่านทั้งหลายที่ได้รับหนังสือเรื่องนี้ไปคงจะพอใจอ่านทั่วกัน



นายพันตรี พระยาสารสินสวามิภักดิ์ พ.ศ. ๒๓๙๑ - ๒๔๖๘

(๓) ประวัติพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สาระสิน)

นายพันตรี พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สาระสิน) บ.ช. ร.จ.ม., ร.ป.ฮ, เกิดในตอนปลายรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันอังคาร เดือน ๙ แรมค่ำ ๑ ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๑๐ (พ.ศ.๒๓๙๑) ตระกูลเปนพลเรือน บิดาเปนเชื้อจีนชื่อนายปั้นจู๊ลั่ว มารดา เปนไทยชื่อหนู พระยาสารสิน ฯ จึงได้ชื่อว่าเทียนฮี้ ตามทางตระกูล ฝ่ายบิดา ตระกูลถือพระพุทธสาสนา เมื่อพระยาสารสิน ฯ ยังเปนเด็กผู้ปกครองได้นำไปฝากให้เล่าเรียนอักขระสมัยในสำนัก พระอาจารย์ทองวัดทองนพคุณ เรียนอยู่ ๗ ปี พระยาสารสิน ฯ เปนผู้มีอุปนิสัยชอบเล่าเรียนมาแต่น้อย เมื่อเรียนรู้อักขระสมัยเบื้องต้นแล้ว ผู้ปกครองประสงค์จะให้เล่าเรียนรู้วิชาชั้นสูงต่อขึ้นไป ในสมัยนั้นประจวบเวลาพวก มิซชันนารีอเมริกันแรกตั้งโรงเรียนรับสอนภาษา และวิชาต่างประเทศขึ้น ที่ตำบลสามเหร่ ไม่ห่างไกลกับที่อยู่ของตระกูลของพระยาสารสิน ฯ นัก ผู้ปกครองจึงนำไปฝากให้เล่าเรียนในโรงเรียนของพวกมิซชันนารี ก็ลักษณการที่พวกมิซชันนารีเข้ามาตั้งฝึกสอนนั้น ประสงค์จะชวนคนให้เข้ารีตถือสาสนาคริสเตียนเปนสำคัญ การที่ฝึกสอนวิชาอย่างใด ๆ ให้เปนแต่ทางที่จะจูงไปให้เข้ารีตเปนที่สุด เด็กที่เข้าเปนนักเรียน ถึงแม้จะเข้าไปโดยประสงค์จะเล่าเรียนเพียงวิชาการ ก็ต้องศึกษาคติทางสาสนาคริสเตียน และรับประพฤติตามนิยมของครูบาอาจารย์ซึ่งใช้เปนหลักสูตรของโรงเรียนนั้นด้วย เมื่อพระยาสารสิน ฯ เข้าไปเปนนักเรียนในโรงเรียนของพวกมิซชันนารีอายุยังเยาว์ แต่เปนผู้มีอุปนิสัยรัก

(๔) เล่าเรียน ไม่ช้าก็ได้เปนนักเรียนอย่างยอดของโรงเรียน ทั้งที่มีความสามารถและยอมสมัคเข้ารีตถือสาสนาคริสเตียนตามประสงค์ของอาจารย์อาศรัยเหตุทั้งสองประการที่กล่าวมา พวกมิซชันนารีอเมริกันจึงส่งพระยาสารสิน ฯ ไปยังประเทศสหปาลีรัฐอเมริกา ให้ไปเรียนวิชาแพทย์ตามใจรัก ไปเล่าเรียนตลอดหลักสูตรจนได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ชั้นเอมดี ในมหาวิทยาลัยนิวยอก เมื่อคฤศตศก ๑๘๗๑ (พ.ศ. ๒๔๑๔ ) แล้วจึงกลับคืนมายังบ้านเมือง เมื่อพระยาสารสิน ฯ สำเร็จการเล่าเรียนได้ประกาศนียบัตรเปนเเพทย์กลับมาถงกรุงเทพ ฯ ประจวบโอกาศ ด้วยครั้งนั้นพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงจัดตั้งกรมทหารมหาดเล็ก อันล้วนแต่เปนผู้ดีมีบันดาศักดิ์สำหรับรักษาพระองค์ หมอเฮาส์ มิซชันนารีอเมริกัน ซึ่งเคยเปนครูและเปนผู้จัดส่งพระยาสารสิน ฯ ไปอเมริกา จึงนำพระยาสารสิน ฯ ไปหาพระยาสุรศักดิมนตรี (แสง ชูโต ) ซึ่งเปนนายพันโทผู้บังคับการกรมมหาดเล็กคนแรก แจ้งว่าพระยาสารสิน ฯ ได้เรียนวิชาแพทย์อย่างฝรั่ง รู้จนถึงการตัดผ่า ซึ่งยังไม่มีหมอไทยได้เล่าเรียนในเวลานั้น บางทีจะเปนประโยชน์แก่ราชการกรมทหารมหาด เล็กที่ตั้งใหม่ พระยาสุรศักดิมนตรีเห็นชอบด้วย จึงรับนำพระยาสารสิน ฯ เข้าถวายตัวทำราชการ ก็ในเวลานั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระวรวงศเธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ เปนตำแหน่ง นายแพทย์ในกรมทหารมหาดเล็ก จึงทรงพระกรุณาโปรด ฯ ตั้งหมอเทียนฮี้ คือพระยาสารสิน ฯ ให้เปนตำแหน่งผู้ช่วยนายแพทย์ รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กแต่ พ.ศ. ๒๔๑๕ เปนต้นมา

(๕) ถึง พ.ศ.๒๔๒๒ ครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี (เจิม แสงชูโต) เมื่อยังเปนที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ จัดการกรมทหารหน้า เจ้าพระยาสุรศักดิ ฯ ได้กราบบังคมทูลขอนายทหารมหาดเล็ก ซึ่งได้เคยรับราชการด้วยกันมาแต่ก่อน ออกไปช่วยราชการในกรมทหารหน้าหลายนาย พระยาสารสิน ฯ อยู่ในผู้ซึ่งเจ้าพระยา สุรศักดิ ฯ กราบบังคมทูลขอไปคน ๑ ได้ไปรับราชการในตำแหน่งนายแพทย์ ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๒๘ เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ ฯ ยังเปนเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เปนแม่ทัพคุมทหารหน้าขึ้นไปปราบฮ่อ ซึ่งมาเบียดเบียนเขตแดนเมืองหลวงพระบาง พระยาสารสิน ฯ ได้เปนตำแหน่งนายแพทย์ไปรับราชการสงครามครั้งนั้นคราวหนึ่ง ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี เปนพระยาสุรศักดิมนตรีคุมกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อซึ่งมาตีเมืองหลวงพระบาง พระยาสารสิน ฯ ได้กลับขึ้นไปด้วยอีกครั้งหนึ่ง ในระยะนี้ได้พระราชทานยศเปนนายร้อยเอกแล้ว รับราชการทนความลำบากตรากตรำอยู่ช้านาน ได้ช่วยรักษาพยาบาลพลทหาร ทั้งข้าราชการและพลเมืองมีความชอบ ได้เลื่อนยศเปนนายพันตรี และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ กับทั้งเหรียญปราบฮ่อเปนบำเหน็จ ต่อมาถึงพ.ศ.๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ ฯ ไปเปนเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เจ้าพระยาสุรศักดิ ฯ ขอพระยาสารสิน ฯ ไปเปนล่ามประจำกระทรวง ได้พระราชทานสัญญาบัตร์เปนหลวงดำรงแพทยาคุณ ในปีนั้นพระยาสารสิน ฯ รับราชการอยู่ในกระทรวงเกษตราธิการ ๒ ปีเศษ

(๖) ถึง พ.ศ.๒๔๓๗ ระหว่างเจ้าพระยาภาสกรวงศ เปนเสนาบดีกระทรวงธรรมการ บังคับการกรมพยาบาลด้วย เจ้าพระยาภาสกรวงศได้คุ้นเคยและทราบคุณวุฒิของพระยาสารสิน ฯ มาแต่ครั้งรับราชการทหารมหาดเล็ก กราบบังคมทูล ฯ ขอพระยาสารสิน ฯ ย้ายไปจากกระทรวงเกษตร ไปเปนตำแหน่งผู้ตรวจการโรงพยาบาล และเปนผู้ฝึกสอนนักเรียนในโรงเรียนแพทย์ด้วย พระยาสารสิน ฯ รับราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการต่อมาจน พ.ศ.๒๔๔๑ ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้ ได้เปนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ปรารภจะจัดการบำบัดความไข้เจ็บของราษฎรตามหัวเมือง จึงกราบบังคมทูล ฯ ขอย้ายพระยาสารสิน ฯ เมื่อยังเปนหลวงดำรงแพทยาคุณจากกระทรวง ธรรมการมารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิ์ขึ้นเปนพระมนตรีพจนกิจ ตำแหน่งเจ้ากรมฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ ในระยะนี้ได้ไปตรวจราชการตามหัวเมืองกับข้าพเจ้า และไปโดยตำแหน่งของตนเองก็หลายคราว แต่พระยาสารสิน ฯ รับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทยไม่ได้นานเพราะเกิดเปนโรคเคาต์ อันเปนโรคไม่มีเวลาหายขาด และเปนขึ้นเมื่อใดเกิดทุกข เวทนากล้าถึงไม่สามารถจะทำกิจการอันใดได้ พระยาสารสิน ฯ ปรารภแก่ข้าพเจ้าว่าได้รับราชการมาแต่หนุ่ม ถึงราชการจะหนักเบาอย่างไรก็ไม่มีความรังเกียจ ถ้ายังมีกำลังสามารถที่จะรับราชการสนองพระเดชพระคุณให้สมกับที่ทรงพระกรุณา ฯ ชุบเลี้ยงได้ ก็จะพยายามสนองพระเดชพระคุณไปจนตลอดชีวิต ได้ตั้งใจมาดังนี้เปนนิตย์ แต่โรคที่มาเกิดเปนขึ้นจะตายก็ไม่ตาย จะรักษาให้หายขาดก็ไม่ได้ กลายเปน

(๗) สามวันดี สี่วันไข้ ไม่รู้ว่าจะเจ็บเมื่อใดจะหายเมื่อใด จะอยู่ในตำแหน่งราชการก็ไม่เห็นจะทำประโยชน์อันใดได้ คุ้มกับที่ทรงพระกรุณา ฯ ชุบเลี้ยง คิดว่าอายุก็มากแล้วขอให้ข้าพเจ้านำความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลาออกจากราช การประจำ ข้าพเจ้ามิรู้ที่จะขัดขวางได้ด้วยทราบอัชฌาสัยพระยาสารสิน ฯ อยู่ว่า เปนคนมั่นคงในวัตปฏิบัติซึ่งตนคิดเห็นว่าชอบธรรม มิได้เห็นแก่ประโยชน์ตนเปนสำคัญกว่าความรู้สึกว่ายิ่งกว่าเปนหน้าที่ของตน จึง ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชา นุญาต ให้ออกจากตำแหน่งประจำราชการตามประสงค์เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ ตั้งแต่พระยาสารสิน ฯ ออกจากตำแหน่งราชการแล้ว ไปประกอบการค้าขายพอมีความผาสุกบ้าง และเวลามีโอกาศที่จะช่วยราชการอย่างใดได้ ก็ได้ช่วยราชการตามกำลังทุกคราวมา อาศรัยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน จึงได้พระราชทานยศเปนอำมาตย์โทเมื่อพ.ศ.๒๔๕๔ แลพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนบันดาศักดิ์ขึ้นเปนพระยาสารสินสวามิภักดิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ พระยาสารสิน ฯ เปนผู้มีอัธยาศัยซื่อตรงแลอ่อนโยน เมื่อได้คุ้นเคยสมาคมกับผู้ใดไม่ว่าจะเปนชั้นบันดาศักดิ์สูงหรือต่ำ หรือเปนคนชาติใดภาษาใด ย่อมชอบพอไม่มีใครชัง ถ้าจะกล่าวว่าเปนผู้ซึ่งมีมิตรสหายกว้างขวางมากอย่างยิ่งคนหนึ่งก็เห็นจะไม่ผิดห่างไกล ในตอนเมื่อพระยาสารสิน ฯ ชราโรคเคาต์ก็ยังเปนอยู่เปนครั้งเปนคราว และเปนโรคหืดเพิ่มเติมด้วยอีกอย่างหนึ่ง จึงนับว่าเปนผู้ทุพลภาพป่วยมาช้านาน จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๘ คำนวณอายุได้ ๗๘ ปี (๘) พระยาสารสิน ฯ ถือสาสนาคริสเตียนมาตั้งแต่หนุ่ม ดังกล่าวมาแล้ว ได้ช่วยทนุบำรุงการต่าง ๆ ของพวกมิซชันนารีอเมริกันมาเนืองนิจ แต่ส่วนครอบครัวนั้นพระยาสารสิน ฯ ยอมให้ถือสาสนาตามสมัคไม่บังคับน้ำใจ เพราะฉนั้นภรรยาและบุตรธิดาของพระยาสารสิน ฯ จึงถือพระพุทธสาสนาทั้งนั้น บุตรธิดาที่มีตัวอยู่ในเวลานี้ คือ ๑ ธิดาชื่อองุ่น เปนภรรยาหลวงอัยการโกศล ๒ ธิดาชื่อลิ้นจี่ เปนหม่อมห้าม หม่อมเจ้าดนัยวรนุช ในสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ๓ ธิดาชื่อแสง เปนภรรยาพระเทพประชา ๔ บุตรชื่อพจน์ ๕ บุตรชื่อกิจ ๖ ธิดาชื่ออรุณ ๗ ธิดาชื่อคนึง สิ้นประวัติพระยาสารสินสวามิภักดิเพียงเท่านี้ กรรมการหอพระสมุด ฯ ขออนุโมทนากุศลบุญราศีฉวนิธานกิจซึ่งเจ้าภาพได้บำเพ็ญเปนอนวัชกรรม ด้วยความกตัญญูกตเวที และที่ได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย สภานายก หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๒๓ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๘ สารบารพ์ เรื่องมิซชันนารี อเมริกัน มาประเทศสยาม หน้า ๑ ชื่อพวกมิซชันนารี ที่เข้ามาเมืองไทย " ๑ เหตุที่มิซชันนารีเข้ามาเมืองไทย " ๑ มิซชันนารีคณะที่ ๑ " ๒ มิซชันนารี คณะที่ ๑ มาถึงกรุงเทพ ฯ " ๒ มิสเตอร์ เม็ตเฮิสต์ เข้ามาถึงเมืองสงขลา " ๒ พวกมิซชันนารี ได้รับความเอื้อเฟื้อจากกงสุล ปอตุเกต " ๓ พวกโรมันคาธอลิก ริษยาพวกมิซชันนารี " ๓ พวกมิซชันนารี ยื่นคำร้องต่อเจ้าพระยาพระคลัง " ๔ พวกมิซชันนารี แจกหนังสือสอนสาสนาแลยารักษาโรค " ๕ พวกมิซชันนารี เรียนหนังสือไทย " ๕ พวกมิซชันนารี แปลคัมภีร์ใบเบลเปนภาษาไทย " ๕ ม. กัตส์ลาฟ ไปเมืองสิงคโปร์ " ๕ พวกมิซชันนารี เขียนภาษาไทยด้วยตัวอักษรโรมัน " ๖ พวกมิซชันนารี แปลพระคัมภีร์ออกเปนภาษาไทย ภาษาลาว แลภาษาเขมร " ๖ พวกมิซชันนารี แต่งอภิธานอังกฤษเปนไทย กับไวยากรณ์ ภาษาไทยแลภาษาเขมร " ๖ พวกมิซชันนารี พิมพ์หนังสือไทยด้วยตัวอักษรโรมัน " ๖



(๑๐) พวกมิซชันนารี ส่งหนังสือภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาญวน ไปให้สมาคมการสาสนาในอเมริกา หน้า ๖-๗ ม. ทอมลิน ไปสิงคโปร์ " ๗ ม. ทอมลิน แต่งงาร " ๗ ม. กัตส์ลาฟ กลับมาเมืองไทย " ๗ นางกัตส์ลาฟ ถึงแก่กรรม " ๗ ม. กัตส์ลาฟ ไปประเทศจีน " ๗ จดหมายเหตุของ ม. กัตส์ลาฟ " ๘-๙ หมอบรัดเล สรรเสริญ ม. กัตส์ลาฟ " ๙ ม. กัตส์ลาฟ ขอมิซชันนารีจากประเทศพม่า " ๑๐ ม. กัตส์ลาฟ เขียนจดหมายถึงคณะอเมริกัน บอด ออฟ คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ ฟอเรนมิซชันส์ ในประเทศ อเมริกา " ๑๐-๑๑ เรเวอเรนต์ เอบีล ได้รับคำสั่งให้มาเมืองไทย " ๑๑ ม. ทอมลิน กลับมาเมืองไทย " ๑๑ เรเวอเรนต์ เอบีล มาถึงเมืองไทย " ๑๑ ม. ทอมลิน แจกหนังสือสอนสาสนาแลยารักษาโรค " ๑๒ ม. ทอมลิน ตั้งโรงสวด " ๑๒ เรเวอเรนต์ เอบีล เขียนหนังสือถึงคณะ เอ.บี.ซี.เอฟ.เอม. " ๑๒-๑๓ เรเวอเรนต์ เอบีล กับทอมลิน ไปสิงคโปร์ " ๑๓


(๑๑) เรเวอเรนต์ เอบีล กลับมาเมืองไทย หน้า ๑๔ เรเวอเรนต์ เอบีล แจกหนังสือแลยารักษาโรค " ๑๔ จดหมายเหตุของ เรเวอเรนต์ เอบีล " ๑๔ พวกมิซชันนารี ได้จีนบุญตี๋เปนกำลังในการสาสนา " ๑๕ เรเวอเรนต์ เอบีล ไปสิงคโปร์ " ๑๖ เรเวอเรนต์ โรเบิดเบิน ถึงแก่กรรม " ๑๗ เรเวอเรนต์ เอบีล รับตำแหน่งหัวหน้าสอนสาสนาที่สิงคโปร์ " ๑๗ เรเวอเรนต์ เอบีล ออกจากสิงคโปร์ไปประเทศอเมริกา " ๑๗ คณะกรรมการ ประกาศว่าจะส่งมิซชันนารี เข้ามาเมืองไทย " ๑๘ เรเวอเรนต์ ยอน เทเลอร์ โยนส์ เดิรทางจากพม่ามาสิงคโปร์ " ๑๘ เรเวอเรนต์ เอบีล พบกับ เรเวอเรนต์ โยนส์ ที่สิงคโปร์ " ๑๘ มิซชันนารี ชุดที่ ๒ แลที่ ๓ " ๑๙ มิซชันนารี ชุดที่ ๒ แลที่ ๓ มาถึงเมืองไทย " ๑๙ มิซชันนารี เช่าที่ดินทำที่พัก " ๑๙ กิจการของพวกมิซชันนารี " ๒๐ ประวัติ เรเวอเรนต์ ยอน เทเลอร์ โยนส์ " ๒๐ ประวัติ หมอ ดี. บี. บรัดเล " ๒๑ ล. ฮันเตอร์ รับบัญชาจากพระยาศรีพิพัฒน์ให้มาเชิญ หมอบรัดเล ไปหา " ๒๑ พระนายพาหมอบรัดเล ไปตรวจดูคนไข้ " ๒๒


(๑๒) หมอบรัดเล ตั้งร้านขายยา หน้า ๒๓ หมอบรัดเล รักษาคนป่วยที่ร้านขายยา " ๒๓ เจ้าฟ้าน้อย ( พระปิ่นเกล้า ฯ ) เสด็จเยี่ยมพวกมิซชันนารี " ๒๔ หมอบรัดเล ไปเฝ้าเจ้าฟ้าน้อย " ๒๔ หมอบรัดเล กับรอบินสัน ไปเฝ้าพระองค์ น. " ๒๔ เจ้าพนักงานมาตรวจร้านขายยา " ๒๕ นายกลิ่นเริ่มเตือนเรื่องที่อยู่ " ๒๕ พวกมิซชันนารี ไปดูเรือปิรามัส " ๒๕ ม. ฮันเตอร์ พาพวกมิซชันนารีไปหาผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลัง " ๒๖ ล. ฮันเตอร์ นำเรื่องที่ไปเจรจากับพระยาโชฎึก มาแจ้ง แก่พวกมิซชันนารี " ๒๗ กัปตัน เวลเลอร์ เกิดวิวาทกับพระวัดเกาะ " ๒๗ หมอบรัดเล ไปเยี่ยมกัปตัน เวลเลอร์ " ๒๘ ม. ฮันเตอร์ เตือนให้ชำระเรื่องพระตีกัปตัน เวลเลอร์ " ๒๙ นายกลิ่น เร่งให้พวกมิซชันนารี ย้ายไปจากที่อยู่ " ๒๙ พระสงฆ์วัดเกาะที่ตีกัปตันเวลเลอร์ ถูกลงทัณฑกรรม " ๒๙ ม.ฮันเตอร์ เลี้ยงโต๊ะ " ๓๐ ผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลัง เชิญพวกมิซชันนารีไปฟังคำ เด็ดขาดเรื่องที่อยู่ " ๓๐ พวกมิซชันนารีย้ายที่อยู่ " ๓๑


(๑๓) ลูกสาว ยอนสัน ตาย หน้า ๓๑ พวกมิซชันนารี ย้ายไปอยู่หน้าวัดประยุรวงศ์ " ๓๑ พวกมิซชันนารี ไปดูในหลวงเสด็จพระราชดำเนิร ทางชลมารค " ๓๒ หลวงนายสิทธ์ มาหาพวกมิซชันนารี " ๓๓ พวกมิซชนนารี ไปบ้านหลวงนายสิทธิ์ " ๓๓ พวกมิซชันนารี ไปดูเรืออาเรียล ซึ่งหลวงนายสิทธิ์ ต่อมาจากเมืองจันทบุรี " ๓๔ ท่านผู้หญิงกลิ่น " ๓๔ เรื่องลูกของพวกมิซชันนารี " ๓๔ เปิดร้านขายยาใหม่ " ๓๕ หลวงนายสิทธิ์ ชวน ยอนสัน กับภรรยาไปเมืองจันทบุรี " ๓๕ หมอบรัดเล กับยอนสัน ลงเรือไปเมืองจันทบุรี " ๓๖ มารดาแลภรรยาของหลวงนายสิทธิ์ " ๓๖ มารดาของหลวงนายสิทธิ์กลับเพียงสันดอน " ๓๗ ศรีมหาราชา " ๓๗ แหลมสิงห์ " ๓๘ ท่าเรือเมืองจันทบุรี " ๓๘ อู่ต่อเรือไทยที่เมืองจันทบุรี " ๓๙ หมอบรัดเล ไปถึงบางกะจะ " ๓๙


(๑๔) พวกมิซชันนารี ไปถึงบ้านหลวงนายสิทธิ์ที่เมืองจันทบุรี หน้า ๓๙ หมอบรัดเล ลงเรือเดิรทางกลับมากรุงเทพ ฯ " ๔๐ หมอบรัดเล กลับถึงกรุงเทพ ฯ " ๔๐ พระยาภัยโณฤทธิ์ " ๔๐ หมอบรัดเล รักษาพระยาภัยโณฤทธิ์ " ๔๐ กงสุล ปอตุเกต เลี้ยงโต๊ะ " ๔๑ เจ้าฟ้าน้อย เชิญหมอบรัดเล ไปที่วัง " ๔๑ ธรรมเนียมอยู่ไฟของหญิงไทย " ๔๑ หม่อนเจ้าหญิงใหญ่ สิ้นชีพ " ๔๒ หมอบรัดเล เฝ้าสมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทร " ๔๓ พวกมิซชันนารี จะไปอยุธยา " ๔๖ พวกมิซชันนารี ไปหาพระยาพิพัฒน์โกษา ขอหนังสือ เดิรทางไปอยุธยา " ๔๗ หมอบรัดเล รักษาพระยาพิพัฒน์โกษา " ๔๘ ฤดู สำเภาเข้าออกเมืองไทย " ๔๙ พวกชาววังมาหาพวกมิซชันนารี " ๔๙ ระเบียบรักษาพระสงฆ์ของพวกมิซชันนารี " ๕๐ แห่พระศพ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ " ๕๐ จีน เปนครูการพนัน " ๕๑ นายทหารเรืออเมริกัน มาหาหมอบรัดเล " ๕๑


(๑๕) เจ้าฟ้าใหญ่ ( พระจอมเกล้า ฯ) ตรัสสั่งให้หมอบรัดเล ไปเฝ้าที่วัดราชาธิวาส หน้า ๕๒ รอบินสัน เลี้ยงน้ำชา " ๕๓ อรรคราชทูต อเมริกัน เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน " ๕๓ หมอบรัดเล รักษาเจ้าฟ้าใหญ่ " ๕๔ หมอบรัดเล กับ ม. ฮันเตอร์ ไปหาเจ้าพระยานคร " ๕๕ หมอบรัดเล ตรวจโรคเจ้าพระยานครกับลูกชายแลลูกสาว " ๕๖ เรเวอเรนต์ ยอนสัน กับภรรยา กลับจากเมืองจันทบุรี " ๕๗ พวกคนไข้ของหมอบรัดเล " ๕๗ เจ้าฟ้าใหญ่ มีลายพระหัดถ์ ถึงหมอบรัดเล " ๕๗ หมอบรัดเล แจกหนังสือสอนสาสนาแก่เจ้าพระยานคร " ๕๙ ลูกชายของรอบินสันตาย " ๕๙ พิมพ์หนังสือไทย ฉบับแรก " ๕๙ เจ้าพระยาพระคลัง กลับจากเมืองจันทบุรี " ๕๙ เจ้าฟ้าน้อย ทรงสัพยอก หมอบรัดเล " ๖๐ ธรรมเนียมประชุมในวันพุธ ของพวกมิซชันนารี " ๖๐ พระยาพิพัฒน์แลพระยาโชฎึกต้องโทษ " ๖๐ ม. รีด กับ เดเวนปอร์ต กลับมาจากสิงคโปร์ " ๖๑ เจ้าพระยาพระคลัง ให้หมอบรัดเลแสดงเครื่องมือตัดผ่า " ๖๒ หมอบรัดเล ขอเช่าที่ดินของเจ้าพระยาพระคลัง " ๖๒


(๑๖) ม.รีด กับ ม. เดเวนปอร์ต ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง เรื่องที่อยู่แลที่สร้างโรงพิมพ์ หน้า ๖๒ วันเกิด ของหมอบรัดเล " ๖๓ นางเดเวนปอร์ต มาถึงกรุงเทพ ฯ " ๖๓ พญาช้างเผือกเจ็บ " ๖๓ เจ้าพระยาพระคลังเปนกังวลเรื่องพญาช้างเผือก " ๖๔ สมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทร์สวรรคต " ๖๔ หญิงชาวอยุธยา " ๖๕ พวกมิซชันนารี พิมพ์หนังสือไทย " ๖๕ เรือรบไทยน้ำหนัก ๗๐๐-๘๐๐ ตัน " ๖๕ หมอบรัดเล เริ่มปลูกฝี " ๖๖ เจ้าพระยาพระคลัง อนุญาตให้หมอบรัดเลเรียกเอาค่า ปลูกฝีคน " ๖๖ จดหมายเหตุทั่วไปของพวกมิซชันนารี พ.ศ. ๒๓๗๙ " ๖๖





จดหมายเหตุ เรื่องมิซชันนารีอเมริกันมาประเทศสยาม

สาสนาของพระเยซูคริสต์ ซึ่งฝรั่งมาสั่งสอนในสยามประเทศนี้เปน ๒ ลัทธิ ลัทธิหนึ่งเรียกว่าโรมันคาธอลิก พวกบาดหลวงฝรั่งเศสนำมาสอนแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ตั้งติดต่อมาจนบัดนี้ อิกลัทธิหนึ่งเรียกชื่อว่าโปรเตสแตนต์ เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานี หาปรากฎว่ามีฝรั่งชาติใดนำมาสั่งสอนไม่ จนเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกมิซชันนารีอเมริกันจึงนำเข้ามาตั้งเปนทีแรกแต่พวกมิซชันนารีที่เข้ามาในเมืองไทยครั้งนั้น มาต่างกันเปน ๓ คราว คราวแรก คือ ม. ทอมลิน กับ ม. กัตส์ลาฟ แลเรเวอเรนต์เอบีล ซึ่งเปนพวกมิซชันนารี คณะลอนดอนมิซชันนารี โซไซเอตี มาก่อน คราวที่ ๒ คือ เรเวอเรนต์ ยอนเตเลอร์โยนส์กับภรรยา เเละ เรเวอเรนต์วิล เลยมดีน ซึ่งเปนมิซซันนารีคณะอเมริกัน เเบบติสต์ บอด เข้ามา คราวที่ ๓ เรเวอเรนต์ รอบินสันกับภรรยา เรเวอเรนต์ เอส. ยอนสันกับภรรยา เเละหมอ ดี.บี. บรัดเลกับภรรยา ซึ่งเปนมิซชันนารีคณะอเมริกันบอด ออฟ คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ โฟเรนมิซชันซ์ เข้ามา มิซชันนารีที่มาคราวที่ ๑ นั้น มาโดยลำพัง ด้วยมาสอนสาสนาอยู่ในเมืองจีน มาทราบว่ามีจีนมาอยู่ในประเทศสยามมากจึงตามมาไม่ได้รับคำสั่งจากสมาคมการสาสนาในประเทศอเมริกา แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยได้เห็นว่าเมืองนี้สมควรจะเปนที่แผ่สาสนาคริสตัง จึงได้มี ๑


๒ จดหมายเเจ้งความดำริห์ของตนไปยังสมาคมการสาสนา แลออกความเห็นให้ส่งมิซชันนารีเข้ามาตั้งสอนสาสนาในเมืองไทย ส่วนชุดมาคราวที่ ๒ กับที่ ๓ นั้น มาโดยได้รับคำสั่งโดยตรงจากสมาคมการสาสนาในประเทศอเมริกา แลเมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วชุดที่ ๒ กับชุดที่ ๓ นี้ได้รวมกันเข้าเปนคณะเดียวกัน ให้ชื่อใหม่ว่า อเมริกัน แบบติสต์ บอดแอนด์ อเมริกัน บอด ออฟ คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ โฟเรน มิซชันส์ มิซชันนารีทั้ง ๓ ชุดนี้ได้มาดำเนิรการ คือเผยแผ่สาสนาอย่างเดียวกันเรื่องราวของมิซชันนารีทั้ง ๓ คณะนี้ มีเค้าความดังจะได้เล่าโดยย่อต่อไปนี้ มิซชันนารีคณะที่ ๑ ม. กัตส์ลาฟ กับ ม.ทอมลิน เมื่อก่อนจะมาสู่ประเทศสยามได้มาพักอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ จนณวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๑ โดยสานเรือสำเภาจีนลำหนึ่งแล่นใบมา ๑๙ วัน มาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม นอกจากมิซชันนารีทั้ง ๒ ที่กล่าวเเล้ว ยังมีมิซชันนารีอีกคนหนึ่งชื่อ ม.เม็ดเฮิสต์ อยู่ที่เมืองบัตตาเวียในเกาะชวา ตั้งใจจะมาเมืองไทยเมื่อปลาย พ.ศ.๒๓๗๐ แต่ในปีนั้นมีเหตุขัดข้องเสียมาไม่ได้ ครั้นมาถึงปี พ.ศ.๒๓๗๑ ได้ทราบว่า ม. กัตส์ลาฟ กับ ม. ทอมลิน กำลังเตรียมเดิรทางจะมาเมืองไทย เห็นเปนโอกาศเหมาะที่จะสมทบมาด้วยได้ จึงโดยสานเรือใบออกจากเมืองบัตตาเวียเดิรตามมายังเมืองสิงคโปร์แต่มาไม่ทัน ม. กัตส์ลาฟ กับ ม.ทอมลิน ได้ออกเรือจากสิงคโปร์มา


๓ เสียได้ ๒ วันก่อน จึงเปนอันคลาศกัน เมื่อการเปนเช่นนั้น ม. เม็ดเฮิสต์ จึงโดยสานเรือลำหนึ่งมายังเมืองปหัง เมืองตรังกานู เมือง คมามัน เมืองปัตตานี แลต่อมาจนถึงเมืองสงขลา เพื่อจะหาเรือใหญ่อาศรัยมายังกรุงเทพ ฯ หรือไปเมืองญวน แต่ก็ไม่สำเร็จอีก ม. เม็ดเฮิสต์ ก็กลับไปยังเมืองสิงคโปร์ ฝ่าย ม. กัตส์ลาฟ กับ ม.ทอมลิน ครั้นมาถึงกรุงเทพ ฯ มาพบ ม. คาลอส เดอซิลเวียรา ซึ่งเปนกงสุลปอตุเกตอยู่ในครั้งนั้น ๑ ได้ช่วยเหลือพวกมิซชันนารีทั้ง ๒ นี้เปนอันมาก คือให้ที่อยู่แลเมื่อถูกเกียจกันก็ได้ช่วยป้องกัน บ้านที่มิซชันนารีทั้ง ๒ นี้อยู่นั้น จึงอยู่ใกล้กับกงสุลปอตุเกต พอ ม. กัตส์ลาฟ กับ ม. ทอมลิน มาอยู่ในเมืองไทยได้ ๒ สัปดาห ขออนุญาตจากรัฐบาลได้แล้วก็เริ่มชักชวนพวกจีนให้เข้าถือสาสนาคริสตัง แลแจกจ่ายหนังสือสอนสาสนาซึ่งพิมพ์มาแต่เมืองจีน การที่เที่ยวแจกหนังสือนั้น พวกถือสาสนาโรมันคาธอลิกเที่ยวพูดหาว่า พวกอเมริกันจะมาปลุกให้พวกจีนก่อการกำเริบ จนทราบถึงพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงสดุ้งพระทัย จึงตรัสสั่งให้เอามาแปลออก แต่ครั้นทรงทราบว่ามิได้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเปนปฏิปักษ์แก่รัฐบาล ก็โปรด ฯ อนุญาตให้พวกมิซชันนารีสั่งสอนอยู่ได้อีกต่อไป ถึงเช่นนั้นก็ดีก็ยังมีข่าวว่าได้มีประกาศออกห้ามมิให้ไทยผู้ใดผู้หนึ่งรับแจกหนังสือ ถ้าเจ้าพนักงาร ๑ มาแต่รัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งเปนที่หลวงอภัยวาณิช


๔ พบหนังสือนั้นมีอยู่ที่ผู้ใด ผู้นั้นจะต้องถูกจับแลริบหนังสือนั้นทันที เหตุเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่มิซชันนารีทั้ง ๒ อยู่เนือง ๆ (มิซชันนารีทั้ง ๒ ก็ยังพยายามที่จะสอนสาสนาแก่ไทยด้วย) จน ม. คาลอส เดอซิลเวียราต้องพลอยถูกตำหนิติโทษในการที่รับพวกมิซชันนารีทั้ง ๒ นี้ไว้ แลในที่สุดได้รับคำสั่งให้ไล่เขาทั้ง ๒ ไปตามเรื่อง แต่ ม. คาลอส ได้วิ่งเต้นช่วยเหลืออย่างแขงแรง แลคงเปนมิตรอันดีอยู่จนถึงที่สุด ครั้งนั้นเจ้าพระยาพระคลัง ๑ถึงบอกให้ ม. ฮันเตอรพ่อค้าอังกฤษคนแรก ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในกรุงเทพ ฯ จัดการเอาคนทั้ง ๒ นี้ลงเรือไปส่งเสียยังเมืองสิงคโปร์ เมื่อพวกมิซชันนารีทั้ง ๒ รู้เรื่องว่าตัวจะต้องถูกไล่ดังนั้น จึงยื่นคำร้องต่อเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ อยากทราบถึงคดีที่เขาถูกกล่าวหา แลอยากทราบว่าเหตุใดเขาจึงจะต้องถูกไล่ออกจากเมืองไทย โดยมิได้มีความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด เขาอ้างว่าเขาควรจะได้รับความยุติธรรมเท่ากับพวกบาดหลวงโรมันคาธอลิกเหมือนกันแลว่าถ้าเขาจะต้องถูกไล่จริง ๆ แล้วก็ขอให้รัฐบาลออกหนังสือให้เขาฉบับหนึ่ง แจ้งความผิดของเขาที่สมควรจะถูกไล่ออกจากประเทศ จะได้เอาไปแสดงแก่อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ การคัดค้านอันแขงแรงของเขาทั้ง ๒ นี้มีผลดี กล่าวคือเจ้าพระยาพระคลังตกลงอนุญาตให้เขาอยู่ต่อไปอีก แต่ขอให้เขาระมัดระวังในเรื่องแจกหนังสือให้มาก ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ เปนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์


๕ เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสงบกันไปแล้ว เขาทั้ง ๒ ได้กลับตั้งต้นดำเนิรการตามเดิมอีก คือแจกหนังสือแต่แจกอย่างระมัดระวัง ( แจก ฉเพาะจีน ) แลแจกยารักษาโรคต่าง ๆ (ให้ทั้งไทยแลจีน) ด้วยต่อมาไม่ช้านักคนทั้งหลายก็มีความชอบพอเชื่อถือเขา พากันมารับหนังสือแจกแลขอยาเปนจำนวนมาก ประมาณเดือนเศษเท่านั้นเขาก็ได้มีโอกาศสมาคมติดต่อกับประชาชนมีจำนวนมาก แลในจำนวนหนังสือจีน ๒๕ หีบซึ่งเขาเอามา ก็เหลืออยู่แต่เพียง ๒ หีบเท่านั้น ในระหว่างนี้เขารู้สึกว่าหนังสือสอนสาสนาที่แจกอยู่นั้น ถ้ามีเปนภาษาไทยแจกแก่พวกไทยบ้างแล้ว จะมีประโยชน์มาก เขาจึงเริ่มเรียนภาษาไทยเเลจัดการจ้างจีนแลพม่าให้แปลพระคัมภีร์ (ไบเบล) จากภาษาจีนเปนไทย คือให้จีนคนหนึ่งชื่อ คิง ซึ่งเปนผู้รู้ภาษาไทยแปลภาษาจีนออกเปนภาษาไทยโดยวิธีว่าปากเปล่า ให้พม่าคนหนึ่งชื่อฮันเปนผู้จดเรียบเรียงตามคำที่จีนคิงแปลออกจากภาษาจีนนั้นเปนภาษาไทยแต่เมื่อได้แจกหนังสือ (ภาษาจีน) แลยาที่มีอยู่หมดแก้ว ม. ทอมลินเกิดไม่ใคร่สบายแลคิดที่จะกลับไปรักษาตัวยังเมืองสิงคโปร์ ทั้งจะได้ไปเอาหนังสือแลยามาไว้อีก วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๗๒ ม.ทอมลินลงเรือออกจากเมืองไทยไปยังเมืองสิงคโปร์ ทิ้งให้ ม. กัตส์ลาฟดำเนิรการต่อไปในเมืองไทยโดยลำพัง ในระหว่าง ๖ เดือนตั้งแต่ ม. ทอมลิน กับ ม. กัตส์ลาฟ มาอยู่ในเมืองไทยนั้น ได้จัดการแปลพระคัมภีร์ใหม่อันพรรณนาถึงเกียรติ


๖ คุณของพระเยชูคริสต์ทั้ง ๔ คัมภีร์ (คือ คัมภีร์ แมตธิว มาร์ค ลูกแล จอน) ออกเปนภาษาไทย เขียนด้วยอักษรโรมันจบบริบูรณ์ ๑ แลทั้งได้แต่งอภิธานภาษาอังกฤษกับภาษาไทยขึ้นอีกเล่ม ๑ สำเร็จตั้งแต่ อักษร เอ ไปจนถึงอักษร อาร์ กับทั้งได้ช่วยกันแปลพระคัมภีร์ออกเปนภาษาลาว เขมร แลแต่งอภิธานกับไวยากรณ์เปนภาษาไทยแลภาษาเขมรไว้อีกด้วย แต่หนังสือที่ ม. กัตสลาฟ แล ม. ทอมลิน แต่งไว้ในครั้งนั้น ไม่ใคร่จะถูกต้องเรียบร้อยนัก เพราะฉะนั้นจึงได้พิมพ์ออกเพียง ๒ คัมภีร์เท่านั้น คือคัมภีร์ลูก กับคัมภีร์จอน ( พระคัมภีร์ทั้ง ๒ ที่ว่าได้พิมพ์ขึ้นนั้น พิมพ์ด้วยตัวอักษรโรมัน เพราะในเวลานั้นตัวพิมพ์อักษรไทยยังหามีในประเทศนี้ไม่ ) หนังสือที่แปลออกจากพระคัมภีร์เหล่านี้ ภายหลัง ม. กัตส์ลาฟส่งไปให้เรเวอเรนต์ รอบินสัน มอบไว้เปนสมบัติของสมาคม อเมริกัน แบบติสต์ บอด แอนด์อเมริกัน บอด ออฟ คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ โฟเรน มิซชันซ์ พร้อมด้วยหนังสือต่าง ๆ ที่เปนภาษาไทย ภาษาลาว แลภาษาญวนอีกเปนจำนวนมาก หนังสือไทยต่างๆ ที่ ม. กัตส์ลาฟให้แก่สมาคมนั้น ยังคงอยู่ในสมาคมต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๔๐๙ ส่วนต้นฉบับที่เขียนด้วยกระดาษไทยนั้น ภายหลังได้เอาใช้ทำใบปกหนังสือเสียหมด ก่อนที่ ม. ทอมลิน จะออกไปจากประเทศสยาม เขาได้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่มิซชันนารีได้ทำไปในระหว่างเวลา ๖ เดือน มอบ ๑ พวกบาดหลวงโรมันคาธอลิกก็ใช้เขียนภาษาไทยด้วยอักษรโรมันเหมือนกัน


๗ สำเนาให้กัปตันคอฟฟิน ชาวอเมริกัน๑ขอให้ส่งไปยังสมาคมการสาสนาในอเมริกา เมื่อ ม. ทอมลิน ไปเมืองสิงคโปร์แล้ว ม. กัตส์ลาฟ ได้ทำการอยู่ในเมืองไทยอีกหลายเดือน ได้แต่งหนังสืออธิบายเรื่องสาสนาคริสตังเปนภาษาไทย แลได้แปลพระคัมภีร์ใหม่บางตอนออกเปนภาษาไทยครั้นทำงารของตนได้ตามที่ได้กะไว้แล้ว จึงได้ออกจากเมืองไทยไปยังสิงคโปร์ชั่วคราว เพื่อจะจัดการพิมพ์หนังสือเหล่านั้น ในการที่ไปคราวนี้เขาได้แต่งงารกับนางสาวมาเรียเนเวล ซึ่งแต่ก่อนนี้ได้เคยอยู่ในตระกูลของหมอแอนดริวรีดเมืองลอนดอน ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๗๒ ม. กัตส์ลาฟกลับมาเมืองไทยอีก อาศรัยมากับเรืออเมริกัน ลำ ๑ ซึ่งเดวิสันเปนกัปตัน ม. เดวิสันผู้นี้ได้เคยเปนคนถือจดหมายฉบับหนึ่งไปให้สมาคมการสาสนาที่ในอเมริกา ขอให้สมาคมจัดการส่งมิซชันนารีมายังเมืองไทย ม. กัตส์ลาฟกับภรรยาได้ช่วยกันพยายามทำการที่จะให้การสาสนาเจริญยิ่งขึ้น มิได้เบื่อหน่าย ได้แปลหนังสือเรื่องสาสนาออกหลายเล่ม ใช้เวลามาก แทบว่าจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอนเลย แลทั้งได้จ้างคนคัดสำเนาไว้อีกเปนจำนวนมาก ม.กัตส์ลาฟกับภรรยาได้ดำเนิรการอันยากลำบากของเขาอีกต่อมาจนถึงวันที่ ๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๗๓ นางกัตส์ลาฟ คลอดบุตรีแฝดแล้วตกโลหิตถึงแก่กรรมในสองสามชั่วโมงนั้นเอง ส่วนบุตรี ๑ กัปตันคอฟฟินคนนี้ ที่มาพาเด็กแฝดสองคนติดกัน ชื่ออินกับชื่อจันไปอเมริกา


๘ แฝดนั้น คนหนึ่งตายตั้งแต่คลอด อีกคนหนึ่งอยู่มาได้เกือบถึงกลางเดือนมิถุนายนปีนั้นก็ตาย ม. กัตส์ลาฟเมื่อต้องพรากภรรยาที่รัก แลต้องอยู่แต่ตัวคนเดียวเช่นนั้น ก็เกิดความรำคาญใจจึงคิดที่จะไปยังประเทศจีน ครั้นวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๗๔ ม. กัตส์ลาฟ โดยสานเรือสำเภาออกไปประเทศจีน ก่อนที่ ม.กัตส์ลาฟจะออกเดิรทางไป ได้ทิ้งบุตรีน้อยไว้แก่แม่นมไทยคนหนึ่ง แลสั่งแม่นมคนนั้นไว้ว่าถ้าได้พบกับนางทอมสัน ซึ่งยังอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ในเวลานั้น มากรุงเทพ ฯ เมื่อใดก็ขอให้มอบลูกของตนให้แก่นางทอมสันนั้นไป แต่ว่าพอไปถึงสันดอนในวันที่ ๙ ได้ทราบข่าวว่าบุตรีนั้นตายเสียอีก เรือสำเภาที่ ม.กัตส์ลาฟโดยสานนั้นออกจากสันดอนไปในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ก่อนหน้าที่ ม.ทอมลิน แลเรเวอเรนต์เอบิลมาถึงสองสามวันเท่านั้น ม.ทอมลินหวังว่าจะมาให้ถึงกรุงเทพ ฯ ก่อน ม.กัตส์ลาฟออกจากเมืองไทย แล้วจะชวนให้อยู่ในเมืองไทยอีกครึ่งปีหรือปีหนึ่ง เพื่อช่วยกันแก้ไขพระคัมภีร์ที่ได้แปลออกเปนภาษาไทยไว้แล้วนั้นให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น แต่ไม่ทันกัน เพราะ ม. กัตส์ลาฟไปเสียก่อนแล้ว ตามจดหมายเหตุของ ม. กัตส์ลาฟ เขียนไว้มีใจความว่า ก่อนที่เขาจะลงเรือใบไปเมืองจีนสองสามวัน ได้พบกับพ่อค้าจีนชาวเมืองกวางตุ้งตอนตวันออกคนหนึ่งชื่อลินจัง ได้เคยเปนมิตรกันมาแต่ก่อนจีนคนนี้ชวนให้เขาไปเรือใบของตนเเต่ ม. กัตส์ลาฟไม่ไปด้วย เพราะไม่


๙ ชอบกิริยาของจีนคนนั้น ม. กัตส์ลาฟได้ลงเรือใบของจีนอีกคนหนึ่งชื่อซินชันตรงไปเมืองเทียนสิน เรือที่ไปบรรทุกไม้ฝาง น้ำตาล พริกไทยขนนกแลผ้าดอก มีลูกเรือประมาณ ๕๐ คน ม. ฮันเตอร์ กัปตันดอสันแล ม.แมคโดแนล ได้ตามไปส่งจนถึงเรือ เรือล่องลงไป ๖ วัน พอวันที่ ๙ ถึงสันดอน เมื่อคืนวันที่ ๘ ม. กัตส์ลาฟป่วย อาการหนักมากแทบจะไม่รอด แต่พอเช้าวันที่ ๙ ก็พะเอินค่อยยังชั่ว วันที่ ๑๔ เมื่อเรือยังทอดอยู่ที่สันดอนมีไทย (ชาวด่าน) คนหนึ่งไปหา ม. กัตส์ลาฟ ขอตรวจเข้าของ เมื่อตรวจไม่พบสิ่งของที่ต้องห้ามแล้วก็กลับไป เรือทอดอยู่ที่สันดอนจนถึงวันที่ ๑๗ ครั้นวันที่ ๑๘ จึงออกเดิรทางต่อไป วันที่ ๑๙ ถึงเกาะคราม วันที่ ๒๒ กันยายน ถึงปากน้ำไพโฮเมืองเทียนสิน ( ความที่กล่าวมาตอนนี้คัดจากหนังสือไจนิส เรโปซิตอรี เล่ม ๑ หน้า ๘๑, ๘๔ , ๘๗, ค.ศ. ๑๘๓๒ ) ตามเรื่องของ ม. กัตส์ลาฟ ซึ่งได้กล่าวมาข้างบนนี้ หมอบรัดเลสรรเสริญ ม.กัตส์ลาฟว่าเปนผู้มีความพากเพียรอุสาหะยิ่งนัก เพราะ เมื่อมาถึงเมืองไทยใหม่ ๆ มีผู้อิจฉาริษยามาก แต่ก็ได้อดทนพยายามประกอบกิจที่ตั้งใจไว้มิได้เอาใจใส่ต่อสิ่งเหล่านั้น จนในที่สุดได้ผ่านพ้นอุปสัคทั้งหลายนั้น ๆ เสียได้ กลับเปนผู้มีหน้ามีตา ในระหว่างเวลาอยู่ในเมืองไทยได้แจกหนังสือว่าด้วยเรื่องสาสนาแลแจกยารักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งเปนอุบายในการที่จะดำเนิรกิจในสาสนาให้สดวกยิ่ง ๆ ขึ้นเพราะ ๒


๑๐ การแจกยาแลรับรักษาโรคซึ่งบรรดามิซชันนารีทั้งหลายกระทำกันในสมัยนั้น คนไทยจึงเรียกบรรดาพวกมิซชันนารีว่า " หมอ" นี่เปนกิจการส่วนหนึ่งซึ่ง ม.กัตส์ลาฟได้กระทำไปในเวลาที่ตนอยู่ในเมืองไทยยังมีกิจอย่างอื่นอีกซึ่งนับว่า ม.กัตส์ลาฟได้ทำในเวลาที่ตนออกจากเมืองไทยไปแล้ว คือในเวลาที่ตนยังอยู่ในเมืองไทย ได้ตรวจดูอุปนิสัยใจคอของไทยแลไตร่ตรองถึงความเปนไปต่าง ๆ ในเมืองนี้ เมื่อเห็นว่าเมืองนี้สมควรจะเปนที่แผ่สาสนาคริศตังให้มาประดิษฐานอยู่ได้แล้ว จึงมีจดหมายไปถึงคณะผู้อำนวยการสาสนาซึ่งตั้งสาขาอยู่ในกรุงลอนดอนออกความเห็นให้คณะรีบจัดการส่งมิซชันนารีเข้ามายังเมืองไทย แลได้เขียนจดหมายถึง เรเวอเรนต์เจ.จัดสัน ที่ประเทศพม่าอีกฉบับหนึ่ง เปนใจความว่าอยากได้หนังสือสอนสาสนาเปนภาษาพม่าบ้าง และต้อง การมิซชันนารีซึ่งเคยทำการอยู่ในประเทศพม่าสักคนหนึ่งเพื่อประโยชน์จะสั่งสอนพวกพม่าและญวนซึ่งอยู่ในเมืองไทยนี้ หนังสือที่ ม.กัตส์ลาฟเขียนไปนั้น ม.ทอมลินเพื่อนร่วมคิดก็ได้ช่วยเหลือชี้แจงเหตุผลสนับสนุนความเห็นเพิ่มเติมลงไปในหนังสือนั้นอีกด้วย แต่ในเวลานั้นมิซชันนารีในประเทศพม่าก็มีจำกัด ไม่มีตัวมิซชันนารีที่จะส่งให้เข้ามาช่วยเหลือในเมืองไทยได้ ครั้นต่อมา ม.กัตส์ลาฟ กับ ม.ทอมลิน ได้พยายามเขียนจดหมายขอมิซชันนารีเข้ามาทำงารในเมืองไทยอีก คราวนี้เขียนถึง คณะอเมริกัน บอด ออฟ คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ โฟเรน มิซชันซ์ ซึ่งอยู่ในประเทศอเมริกา-


๑๑ ฝากกัปตันคอฟฟินไป เมอคณะกรรมการได้รับหนังสือของ ม.กัตส์ลาฟ ก็เห็นชอบด้วย แต่เวลานั้นยังไม่มีตัวมิซชันนารีที่จะส่งตรงมายังเมืองไทย แต่บังเอิญประจวบกับเวลาที่เรเวอเรนต์ เดวิด เอบิล มิซชันนารี ประจำตวันออกของคณะนั้น กำลังจะเดิรทางไปเมืองกวางตุ้ง คณะกรรม การจึงสั่งให้ เรเวอเรนต์ เอบิล แวะมาเมืองไทยด้วย เรเวอเรนต์ เอบิลได้มาทัน ม. ทอมลิน ที่สิงคโปร์ แลเลยสมทบกันเดิรทางต่อมาถึงเมืองไทย พฤติเหตุของ ม. กัตส์ลาฟ หมดเพียงเท่านี้ จะได้เล่าถึงพฤติเหตุของ เรเวอเรนต์ เอบิล กับ ม.ทอมลิน อีกต่อไป ฝ่าย เรเวอเรนด์ เอบิล เมื่อได้ทำการที่เมืองกวางตุ้ง แลโดยสานเรือไปยังเกาะชวา แลเกาะอื่น ๆ เพื่อตรวจหลักฐานของฮอลันดา ตามคำสั่งโดยตรงของผู้อำนวยการคณะแล้ว จึงออกเดิรทางไปเมืองสิงคโปร เพื่อหาเรือต่อมาเมืองไทย บังเอิญพบกับ ม. ทอมลินซึ่งออกไปเปลี่ยนอากาศที่นั้น กำลังจะเดิรทางกลับมากรุงเทพ ฯ เขาทั้ง ๒ จึงได้เดิรทางมาด้วยกัน วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๗๔ จึงโดยสานเรือชื่อโซเฟีย ( เปนเรืออาหรับชนิดหนึ่ง ) ซึ่งชาวอังกฤษเปนกัปตัน ออกจากสิงคโปร์มาเมืองไทย ได้มาถึงกรุงเทพ ฯ ในวันที่ ๒ กรกฎาคม พอมาถึง ม.คาลอส เดอ ซิลเวียรา กงสุลปอตุเกศ ได้มีความเอื้อเฟื้อรับรองคนทั้ง ๒ เปนอย่างดี มีสิ่งที่ทำให้ ม. ทอมลิน เสียใจอยู่อย่างหนึ่ง คือมาไม่ทัน ม. กัตส์ลาฟ เขาทั้ง ๒ ได้พักอยู่ที่เรือนซึ่งเคยอยู่กับ ม. กัตส์ลาฟครั้งอยู่ก่อนนั้น


๑๒ ม. ทอมลิน กลับมาประเทศสยามเที่ยวนี้ ได้นำยามาเปนจำนวนมาก หนังสือจีน ๖ หีบ แลหนังสือภาษาไทยพิมพ์ด้วยตัวอักษรโรมัน ๓๐๐ ฉบับ ม. กัตส์ลาฟ ได้เหลือหนังสือไว้ให้เขาอีก ๗ หีบ ครั้นจัดแจงที่อยู่ที่พักเรียบร้อยแล้ว ม. ทอมลินก็เริ่มแจกหนังสือ แจกยาอีก มีผู้มาขอยาแลหนังสือเปนจำนวนมาก ในไม่ช้าหนังสือภาษาไทยที่นำมาก็หมด๑ ม. ทอมลิน รู้สึกปลื้มใจในการงารที่ได้ทำไปแล้วนั้นมาก แลพูดถึงคนสำคัญ ๆ ซึ่งได้เคยไปหาเขาแลขอหนังสือจากเขา เช่นพระองค์หนึ่งซึ่งเปนสมภารอยู่ในวัดของเจ้าพระยาพระคลังก็ได้เคยมาขอลอกพระคัมภีร์ใหม่ไปหลายภาค ม. ทอมลินได้ตั้งโรงสวดสำหรับบูชาพระเจ้าขึ้นแห่งหนึ่ง ในเรือนของเขา มีการสวดมนต์กันทุก ๆ วันเสาร์ คำสวดนั้นเปนภาษาจีน มีพวกจีนไปทำสักการบูชากันมาก ในพวกจีนเหล่านั้น ม. ทอมลินเคยพูดถึงเด็กคนใช้ ๒ คนว่าไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เขายินดีเท่าที่ได้เห็นเด็ก ๒ คนของเขากลับใจได้เห็นปรากฎอยู่ดังนี้เลย เมื่อ เรเวอเรนต์ เอบิล เห็นชัดว่า เมืองไทยจะเปนสถาน ที่ ๆ จะประดิษฐานสาสนาคริสตังอันสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งเช่นนี้แล้ว จึงได้มีหนังสือไปยังคณะกรรมการ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๔ ว่า " มีสิ่งหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าควรจะเตือนคณะกรรมการให้ทราบ คือ เมืองไทย ๑ คิดไม่เห็นว่า หนังสือนั้นจะมีประโยชน์ในการสอนสาสนาได้อย่างไร เพราะ ไทยในสมัยนั้นเห็นจะอ่านอักษรโรมันได้น้อยเต็มที


๑๓ ในเวลานี้มีผู้ที่ต้องการจะรับโอวาทคำสั่งสอนมากมาย เกินกำลังที่พวกมิซชันนารีที่มีอยู่จะเทศนาสั่งสอนให้ทั่วถึงกันได้ แลกรุงเทพ ฯ เปนสถานที่ใหม่อันสำคัญที่พวกเราต้องการยึดไว้เปนที่ประดิษฐานสาสนาสมควรแล้วที่จะต้องมีผู้ช่วยเหลือ เหตุนั้นขอให้ส่งมิซชันารีมาอีกสองหรือสามคนโดยเร็วที่สุด" แลกล่าวต่อไปในหนังสือฉบับเดียวกันนั้นว่า "อันข้อซึ่งจะพูดจากันด้วยเรื่องจะตั้งที่เมืองไทยเปนแหล่งแห่งสาสนานั้น จะต้องจัดการเสียในเวลาเร็วที่สุด อนึ่ง ม. ทอมลิน เพื่อนผู้เอาการเอางารของข้าพเจ้า ก็ดูเหมือนว่าจะไม่อยู่ในเมืองไทยอีกนานเท่าไรนัก เขาได้มาจากสิงคโปร์โดยมิได้เอาพวกจีนลูกน้องมาด้วย แลครอบครัวของเขาก็ยังอยู่ที่เมืองสิงคโปร์" เรเวอเรนด์ เอบิล ชอบเมืองไทยมาก แลตั้งใจว่าจะไม่โยกย้ายไปที่อื่นอีก แต่ภายหลังมาประสบเกิดป่วยไข้เข้า เรเวอเรนต์ เอบิลจึงคิดที่จะไปเปลี่ยนอากาศที่เมืองอื่นชั่วคราว ด้วยในครั้งหนึ่ง (เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๙๓ ) น้ำขึ้นมาก ท่วมถนนหนทางทั่วทุกแห่งอยู่ประมาณสองเดือนเศษ จนหาที่เหมาะ ๆ จะออกกำลังกายไม่ได้ จึงทำให้เกิดเปนไข้ขึ้น นี่เองเปนเหตุทำให้เขาคิดจะไปรักษาตัวที่เมืองสิงคโปร์พร้อมกับ ม. ทอมลิน ซึ่งจำเปนต้องไปเยี่ยมภรรยาผู้ป่วยอยู่ที่สิงคโปร์นั้นด้วย ครั้นถึงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๓๗๔ เรเวอเรนต์ เอบิล กับ ม. ทอมลิน จึงออกเดิรทางจากเมืองไทยไปสิงคโปร์ วันที่ ๑๓ ก็ถึง


๑๔ เรเวอเรนต์ เอบิล ได้ไปเที่ยวที่สิงคโปร์แลมละกาเช่นนั้น การป่วยไข้ก็กลับหายเปนปรกติ ครั้นวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๗๕ เรเวอเรนต์ เอบิล ได้โดยสานเรือสำเภากลับมาเมืองไทยอีก แต่มาโดยลำพัง ม. ทอมลินหาได้กลับมาด้วยไม่ เที่ยวนี้ เรเวอเรนต์ เอบิล ตั้งใจจะมาให้ถึงกรุงเทพฯ ก่อนที่จะมีเรือสำเภาลำใดลำหนึ่งไปยังเมืองจีน โดยประสงค์จะจัดการฝากหนังสือเรื่องสาสนาคริสตังไปยังเมืองจีน ครั้นวันที่ ๑๘ พฤษภาคม เขาได้มาถึงกรุงเทพ ฯ ม. เดอซิลเวียรา ได้รับรองเปนอันดี แต่ในเที่ยวนี้เขารู้สึกว่าที่กรุงเทพ ฯ มีการกวดขันมากไม่เหมือนเมื่อก่อน ภายหลังที่เขามาถึงแล้วไม่สู้ช้านัก มีหมายประกาศออกครั้งที่ ๒ ห้ามไม่ให้ราษฎรรับแจกหนังสือต่าง ๆ แต่เขาก็ยังได้รับอนุญาตให้ฝากหนังสือไปยังเมืองจีนได้ดังความปราถนา เรเวอเรนต์ เอบิล ได้แจกจ่ายยารักษาโรคต่าง ๆ ให้แก่คนเจ็บป่วยมีจำนวนมาก ซึ่งมีมาหาทุก ๆ วัน แลรู้สึกมีความปลื้มใจที่ได้เห็นว่ามีผู้มาทำสักการบูชาพระเปนเจ้าในวันเสาร์ขึ้นมากหน้าหลายตา การที่มาประชุมกันไหว้พระเปนเจ้าเช่นนี้แม้ในเวลาที่ เรเวอเรนต์ เอบิล ไปอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ก็ได้กระทำกันอยู่เนือง ๆ เรเวอเรนต์ เอบิล รู้สึกยินดีมาก ได้จดหมายเหตุไว้ว่า "แต่ก่อนนี้ในวันเสาร์มีพวกจีนมาไหว้พระสวดมนต์เพียงครั้งละ ๑๒ ถึง ๒๐ คนเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้มีครั้งละมาก ๆ ในบาญชีปรากฎว่ามีผู้มาเข้าชื่อถือสาสนามากขึ้นเปนลำดับ ข้าพเจ้าเชื่อว่าต่อไปจะเปนสมาคมหรือสโมสรอันใหญ่ได้แห่ง


๑๕ หนึ่ง ในระหว่างเวลาแจกยาข้าพเจ้าเคยอธิบายแก่ผู้มาขอว่าควรจะไปในการพิธีที่ในโรงสวดของข้าพเจ้าบ้าง ได้กำหนดวันแลชั่วโมงแก่เขาเหล่านั้นให้ไปรับยาณที่นั้น โดยวิธีนี้ได้มีคนไปยังโรงสวดเปนอันมาก ต่างมีความยินดีแลพอใจจนดูเหมือนว่าไม่มีความเกียจคร้านในเรื่องนี้เเสียเลย นอกจากนี้ยังมีอีกประมาณ ๖ คน ได้มีความร่าเริงในผลของการสวดมนต์ไหว้พระ แลรับคำสั่งสอนทุก ๆ วัน ผลที่ ปรากฎแล้วคือว่ามีคนหมู่มากเห็นแล้ว ว่าคำสอนของสาสนาคริสตังเปนคำสอนอันดีแลแท้จริง แลบางคนถือมั่นฝังหัวใจเสียจนไม่มีเวลาที่จะลืมได้อีกเลย แลเขาทั้งหลายคงจะละการนับถือลัทธิอื่น ๆ แลมาเชื่อถือในพระเปนเจ้าอันแท้จริงของเราพระองค์เดียวได้อย่างแน่นอน แต่ข้าพเจ้าไม่กล้าพอที่จะทำพิธีรับหรือตั้งชื่อให้แก่ใคร ๆ ที่จะเข้าสาสนาด้วยตัวข้าพเจ้าเองได้ เพราะฉะนั้นความหวังที่จะให้เขาทั้งหลายอยู่ในคำสั่งสอนไปทุกสิ่งทุกอย่าง เปนของยากมาก หรืออยู่ไกลที่สุดเพราะหัวใจของเขาพึ่งจะหลุดพ้นจากความมืดมนท์ได้ใหม่ ๆ เท่านั้น" มีจีนผู้หนึ่งซึ่ง ม. กัตส์ลาฟ ได้ทำพิธีรับเข้าสาสนาไว้ ต่อมา ปรากฎว่าเปนผู้เชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระเปนเจ้าเสียจริง ๆ จีนผู้นี้ คือ จีนบุญตี๋ที่กลับมาจากเมืองจีนและญวน ได้ช่วยหลือ เรเวอเรนต์ เอบิลมาก คือเปนผู้ฝึกหัดคนที่ไปสวดมนต์ให้รู้ระเบียบ ก่อนที่ เรเวอเรนต์ เอบิล จะออกไปจากเมืองไทย เขาได้ตั้งใจให้จีนบุญตี๋เปนผู้แนะนำกำกับผู้ที่จะมาทำพิธีทั้งหมด แลได้ตกลงกับ ม. ซิล


๑๖ เวียรา ขออนุญาตให้ผู้ที่จะมาทำพิธีพักอาศรัยทำกันในเรือนหลังเดิมที่เคยทำกันมานั้นได้ ในการที่จะปลูกสร้างสิ่งใด ๆ ขึ้น เพื่อจะได้ให้เปนการสดวกแก่มิซชันนารีนั้น เรเวอเรต์ เอบิล ออกความเห็นว่าควรจะสร้างถนนอิฐ ในระหว่างที่พักของมิซชันนารี แลหมู่บ้านจีน แลควรทำสัญญากับเจ้าฟ้า (คือพระปิ่นเกล้า) ว่าด้วยที่อยู่ให้เปนหลักฐาน แลเหมาะโอกาศดีก็จะได้เลยแนะนำพระองค์ ให้เข้าถือสาสนาคริสตังเสียด้วยทีเดียว เรเวอเรนต์ เอบิล ได้รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าฟ้าพระองค์นี้มาตั้งแต่แรกเข้ามาถึงเมืองไทยใหม่ ๆ พระองค์มีพระเมตตาแก่เขาเช่นเดียวกับที่ได้มีพระเมตตาแก่ ม. กัตส์ลาฟ แล ม. ทอมลิน แล เรเวอเรนต์ เอบิล ได้กล่าวถึงคุณ (หลวงนาย ) สิทธิ (ซึ่งภายหลังได้เลื่อนขึ้นเปนพระนายไวย๑) ซึ่งเปนผู้ที่พวกมิซชันนารีหวังจะได้อาศรัยเปนอันมากอีกคนหนึ่ง แต่เพราะเกิดเหตุมีความไม่ผาสุกขึ้นเนือง ๆ ในระหว่างเวลาที่เรเวอเรนต์ เอบิล อยู่ในเมืองไทย จึงคิดที่จะเดิรทางจากเมืองไทยไปยังเมืองอื่น วันที่ ๕ พฤศจิกายน เรเวอเรนต์ เอบิล โดยสานเรือใบของ ม. ฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษออกจากกรุงเทพ ฯ ไปยังสิงคโปร์ ม. ฮันเตอร์ ๑ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์


๑๗ นี้เปนผู้ที่ ม. กัตส์ลาฟ ชมว่าเปนผู้หนึ่งมีความเอื้อเฟื้อแก่มิซชันนารี เปนอย่างดี โดยความเอื้อเฟื้อของกัปตัน นอริส เรเวอเรนต์ เอบิล จึงได้ โดยสานเรือไปสิงคโปร์โดยมิได้เสียค่าโสหุ้ยอย่างใดเลย พอเขาถึงสิงคโปร์ไม่สู้ช้านัก เรเวอเรนต์ โรเบิด เบิน ซึ่งเปนคนสอนสาสนาประจำอยู่ที่สิงคโปร์ก็ถึงแก่มรณะ เรเวอเรนต์ เอบิล ไปทันยังได้ พยาบาลเขาอยู่จนหมดลมหายใจ เรเวอเรนต์ เอบิล รู้สึกว่าตนมีความสุขมากขึ้น เมื่อได้รับเชิญให้เปนหัวหน้าสอนสาสนา จึงตกลงยอมรับหน้าที่ ความหวังเดิมที่คิดว่าจะกลับไปประเทศอเมริกา เปนอันงดเลิกไว้ก่อน เรเวอเรนต์ เอบิล ได้พยายามเรียนภาษารักษาไข้เจ็บคนในพื้นเมือง แลพยายามแจกหนังสือสาสนาคริสตังให้แก่พวกจีนทุก ๆ บ้าน โดยเหตุที่ตนตรากตรำต่องารมากเช่นนี้ โรคเดิมก็กลับกำเริบขึ้นอีก เลยจำเปนต้องออกจากเมืองสิงคโปร์ไปยังประเทศอเมริกา ตามคำเชื้อเชิญของคณะกรรมการ ซึ่งต้องการจะให้เขากลับไปประจำอยู่ที่นั่นตั้งแต่เขายังอยู่ในกรุงเทพ ฯ แล้ว วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๗๖ เขาโดยสานเรืออังกฤษออกจากสิงคโปร์ไปประเทศอังกฤษ เมื่อได้ท่องเที่ยวไปในประเทศอังกฤษ ฮอลันดา เยรมัน ฝรั่งเศส แลสวิสเซอรแลนด์แล้ว ก็กลับไปยังประเทศอเมริกา ๓


๑๘ ความจริง เรเวอเรนต์ เอบิล ผู้นี้ เมื่ออยู่เมืองไทยได้ตั้งใจว่าจะเอาประเทศนี้เปนที่ประดิษฐานสาสนา ถ้าหากว่าเขามีความผาสุกสบายดีแล้ว เขาคงจะไม่ไปที่ไหนอีก จะเปนมิซชันนารีอยู่ในเมืองไทยจนถึงที่สุด เหตุนั้นคณะกรรมการจึงถือว่าเขาเปนมิซชันนารีประจำการแพนกประเทศสยามผู้หนึ่ง ในต้นปี พ.ศ.๒๓๗๕ คณะกรรมการได้มีประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะส่งมิซชันนารีเข้ามายังเมืองไทย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๖๕ ม. สเตเฟน และ เรเวอเรนต์ ชารล์สรอบินสัน ได้ถูกคณะกรรมการเลือกให้มาดำเนิรการสอนสาสนาในเมืองไทย เรเวอเรนต์ อิรา เตรซี ก็หวังว่าจะได้มาเปนผู้ช่วยด้วยผู้หนึ่ง แต่ภายหลังให้ไปเสียยังประเทศจีน วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๕ ขณะที่ เรเวอเรนต์ เอบิล ยังอยู่ในประเทศสยาม เรเวอเรนต์ ยอน เทเลอร์ โยนส์ ได้ถูกพวกมิซชันนารีที่เมืองพม่า เลือกให้เข้ามาเปนมิซชันนารีในเมืองไทยแลได้ออกเดิรทางจากมอลเมนมาสิงคโปร์ ในเวลาที่ เรเวอเรนต์ โยนส์ ยังอยู่ที่สิงคโปร์ เรเวอเรนต์ เอบิล ได้ออกไปจากประเทศสยาม พบกันที่นั่น ก่อนที่เอบิลจะออกเดิรทางไปอเมริกา ได้เล่าให้ ม.โยนส์ฟังถึงเรื่องสมาคมน้อย ๆ ของตนในกรุงเทพ ฯ แลขอให้ ม. โยนส์ช่วยเอื้อเฟื้อสมาคมนั้นให้ได้มาประชุมกันเหมือนแต่ก่อน จนกว่าพวกมิซชันนารีจะมาถึง เรื่องราวของมิซชันนารีชุดที่ ๑ ซึ่งเข้ามาทำกิจการในเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๒ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๕ หมดความเพียงเท่านี้

๑๙ มิซชันนารีชุดที่ ๒ แลที่ ๓ มิซชันนารีชุดที่ ๒ คือ เรเวอเรนต์ ยอน เทเลอร์ โยนส์ กับภรรยา แล เรเวอเรนต์ วิลเลียมดีนกับภรรยา มิชชันนารีชุดที่ ๓ คือ เรเวอเรนต์รอบินสันกับภรรยา เรเวอเรนต์ เอส.ยอนสันกับภรรยา แลหมอ ดี.บี.บรัดเลกับภรรยา มิซชันนารีชุดที่ ๒ เปนคณะ อเมริกัน แบบติสต์ บอด มาถึงเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ ชุดที่ ๓ เปนคณะ อเมริกัน บอด คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ ฟอเรน มิซชันส์ มาถึงเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ ภายหลัง ๒ คณะนี้รวมเปนคณะเดียวกัน แลเรียกชื่อย่อว่าคณะ เอ.บี.ซี. เอฟ. เอม. (แทนคำว่า อเมริกัน บอด คอมมิซชันเนอร์ฟอร์ ฟอเรนมิซชันส์ ) ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นนั้น มิซซันนารีชุดที่ ๒ มาจากประเทศพม่า ชุดที่ ๓ มาจากประเทศอเมริกา แต่ก่อนจะมาถึงเมืองไทย ต้องเดิรทางมายังเมืองสิงคโปร์เสียก่อนแล้วจึงได้เดิรทางต่อมายังประเทศสยามอิกต่อหนึ่ง เมื่อพวกมิซซันนารีชุดที่ ๒ มาถึงเมืองไทยใหม่ ๆ ได้พักอยู่ที่บ้านกงสุลปอตุเกต ต่อมาไม่สู้ช้านัก จึงได้ว่าเช่าที่ของนายกลิ่น ตุลาการคนหนึ่ง ซึ่งเปนน้องชายของ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จี่) พระราชาคณะผู้ใหญ่ฝ่ายพระสงฆ์ไทยองค์หนึ่ง เหนือวัดเกาะขึ้นมาเล็กน้อย แลได้สร้างเรือนทำด้วยไม้สักขึ้น ๒ หลังเปนที่พักอาศรัย ครั้นเมื่อมิซชันนารีชุดที่ ๓ เข้าถึงเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ จึงได้ตรงมาอยู่ที่


๒๐ เรือน ๒ หลังนี้ทีเดียว ที่ ๆ พวกมิซชันนารีเช่าจากนายกลิ่นอยู่นั้นเปนที่สกปรก มีเรือนเตี้ย ๆ หลังคามุงจากอยู่รอบทางเข้าบ้านก็เปียกแฉะเสมอ ข้างหน้าบ้านเปนคูต้องใช้เรือ หรือมิฉนั้นก็ต้องเดิรบนไม้กระดานแผ่นเดียวซึ่งทอดยาวยืดเปนสพานเดิรเท้าไป ข้อนี้เพราะวัดเกาะอยู่ใกล้แม่น้ำที่เปนชายเลนลุ่มน้ำขึ้นถึงอยู่เสมอ ในที่ใกล้เคียงกับที่ ๆ มิซชันนารีอยู่นั้นมีตลาด (สำเพ็ง) ตลาดนี้เอง พวกมิซชัน นารีได้พบคนเจ็บป่วยบ่อยๆ เพราะอยู่ในที่ ๆ สกปรกอันเปนบ่อเกิดแห่งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่เรือน ๒ หลังนี้ นอกจากเปนที่พักของพวกมิซชันนารีแล้ว ยังใช้เปนสถานที่จำหน่ายยาแลรักษาโรคต่าง ๆ ด้วย กิจการของพวกมิซชันนารีทั้ง ๒ ชุดนี้ ก็อย่างเดียวกับชุดที่ ๑ กล่าวคือตั้งหน้าทำการแจกหนังสือสอนสาสนาคริสตังแลแจกยาสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ อันเปนอุบายให้คนรักใคร่นับถือแล้วจะได้ชักชวนเข้าถือสาสนาได้ง่าย ๆ เพราะฉนั้น จะได้กล่าวถงกิจการของพวกมิซชันนารีเหล่านี้แต่เฉพาะบางคน ซึ่งเปนคนสำคัญแลเปนคนที่อยู่ในเมืองไทยนานที่สุด เท่านั้น เรเวอเรนต์ ยอน เทเลอร์ โยนส์ ๑ มิซชันนารีผู้นี้อยู่ในคณะอเมริกัน แบบติสต์ บอด มาถึงเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ พอมาถึงแล้วก็เริ่มสืบถามถึงพวกที่เลื่อมใสในสาสนาคริสตัง ซึ่ง เรเวอเรนต์ เอบิล ได้สั่งไว้เมื่อพบกันที่สิงคโปร์ให้ช่วยทนุบำรุงให้จงได้นั้น เขาสามารถรวบรวมคนพวกนั้นเข้าเปนคณะ ๑. ในหนังสือแสดงกิจจานุกิจ เรียกว่า หมอยอน


๒๑ น้อย ๆ ได้อิก แลให้มาประชุมกันได้ในวันทำพิธีไหว้พระเปนเจ้า คือประชุมกันสวดมนต์แลอ่านพระคัมภีร์ แลให้โอวาทสั่งสอนทั่วทุกคน ในปีนั้นเองมีจีน ๓ คน ได้สมัคขอให้ทำพิธีรับตนเข้าในสาสนา เรเวอเรนต์ ยอนเทเลอร์ โยนส์ ได้ทำพิธีรับจีนทั้ง ๓ คนนั้น ในวันที่ ๘ เดือนธันวาคม คือ จีนเปง ๑ จีนใจ ๑ แลจีนไลเสง ๑ แต่ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๗ เขาทั้ง ๓ ได้ถึงแก่กรรมเสียทั้งหมด หาไม่คงจะเปนกำลังในการช่วยเผยแผ่สาสนาให้แพร่หลายได้บ้างเปนแน่ คณะน้อยซึ่ง เรเวอเรนต์ เอบิล โอวาทสั่งสอน ก็เชื่อถือพระเปนเจ้าแลอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของโยนส์เปนอันดี เพราะฉนั้นโยนส์นับว่าเปนคนสำคัญผู้หนึ่งซึ่งได้มาคุมคณะน้อย ๆ นั้นขึ้นไว้ได้อันเปนปัจจัยให้ผู้อื่นเข้าในสาสนาได้สืบ ๆ มา เรื่องราวของ เรเวอเรนต์ โยนส์ นอกจากที่ได้เล่ามาแล้วนี้ ก็ไม่เห็นมีอะไรควรจะเล่าไว้ในที่นี้อิก จะขอเล่าถึงผู้อื่นอิกต่อไป หมอ ดี. บี. บรัดเล หมอบรัดเล เปนคนสำคัญที่สุดในคณะอเมริกัน บอด คอมมิซ ชันเนอร์ ฟอร์ ฟอเรน มิซชันส์ ซึ่งมาถึงเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ ฉนั้นจะได้นำเรื่องของหมอผู้นี้มาเล่าให้ผู้อ่านได้ฟัง ตามจดหมายเหตุรายวัน ซึ่งตัวหมอบรัดเล ได้จดไว้เอง ดังต่อไปนี้ ๑ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้ ม.ฮันเตอร์ ซึ่งเปนพ่อค้าชาวยุโรปคนเดียวที่อยู่เมืองไทยในสมัยนั้น มาหาหมอบรัดเลแต่เช้า บอกว่าพระยาศรีพิพัฒน์ (พระยา ๑. ความตรงนี้เปนสำนวนคนอื่นแซก


๒๒ ศรีพิพัฒน์ผู้นี้ภายหลังได้เปนสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ให้มาเชิญตัวเขาไปในพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้ไปรักษาคนใช้แลพวกเชลยซึ่งป่วยเปนไข้ทรพิษแลโรคอหิวาต์ เขายอมไปรักษาโดยเต็มใจ แต่เอา ม.ฮันเตอร์ไปด้วย ชั้นแรกเขาไปที่บ้านของพระยาศรีพิพัฒน์นั้นก่อนแล้วภายหลังจึงได้ไปหาพระนายซึ่งเปนน้องภรรยาของพระยาศรีพิพัฒน์ (เห็นจะเปนพระนายศรีเอี่ยม ซึ่งเปนเจ้าพระยาพลเทพ ในรัชกาลที่ ๔) พระนายได้นำเขาไปยังที่ ๆ คนเจ็บอยู่ เมื่อไปถึงที่คนเจ็บอยู่ พระนายได้ ชี้แจงกับเขาว่าในหลวงมิได้เอาพระทัยใส่ในบุคคลเหล่านั้นดอก๑ ถ้าว่าเขารักษาบุคคลเหล่านี้หายได้ดีเรียบร้อยแล้ว ในหลวงจึงจะให้เขาเข้าไปทำการรักษาคนชั้นสูงในวังต่อไป ครั้งนี้เปนการทดลองความสามารถของเขาดูก่อน เขาเห็นจริงด้วยตามคำบอกเล่าของพระนายว่าในหลวงมิได้เอาพระทัยใส่ในบุคคลเหล่านั้น เพราะคนป่วยเหล่านั้นล้วนแต่เปนเชลยแลทาสทั้งนั้น คนไข้เหล่านี้อยู่ในที่สกปรกชื้นแฉะ หลังคาเรือนก็ทำด้วยกระแชง อย่างหลังคาเรือซึ่งใช้ในการสงครามอันจอดอยู่ที่คลองบางหลวง อาหารการกินก็ไม่สอาด คนรักษาพยาบาลก็ไม่มี คนไข้เหล่านี้ล้วนแต่มีอาการเพียบ ๆ ไปตามกัน สถานที่อยู่ก็สกปรก อาหารการกินก็ไม่สอาดพอเช่นนั้น เขาก็หมดหนทางที่จะช่วยเหลือได้ เขาได้อธิบายถึงเรื่องความไม่สอาดของอาหารการกินแลความสกปรกของที่อยู่ให้พระนายฟัง แลดูเหมือนว่าพระนายก็เห็นจริงด้วย เขาได้ปลอบโยนเอาใจคนไข้ต่าง ๆ แลพวกคนไข้ก็ได้แสดงอาการขอความช่วยเหลือจากเขา แต่ไม่ไหว หมดความสามารถของเขาเสียแล้ว ๑. คำซึ่งบอกนั้น สันนิษฐานว่าเห็นจะบอกว่า "ไม่ใช่ข้าราชการ"

๒๓ เมื่อพระนายสังเกตเห็นเขารักษาโรคไข้ทรพิษแลอหิวาต์ไม่ไหวเช่นนั้น จึงถามเขาว่า คนที่เปนโรคอหิวาต์ก็ดี ไข้ทรพิษก็ดี ถ้าเพียงแต่เห็นเท่านั้น อาจบอกได้หรือไม่ว่า จะตายหรือจะรอด เขาตอบว่าบอกไม่ได้ เมื่อได้ฟังคำปฏิเสธเช่นนั้น พระนายก็แสดงท่าว่าเขาเห็นจะไม่ใช่หมอที่เก่งจริงดังโจทย์กันเสียแล้ว ในเมืองไทยนี้ ในครั้งนั้นเห็นจะมีหมอชั้นเลว ๆ เที่ยวอวดคุยต่าง ๆ ว่าเพียงแต่ได้เห็นคนไข้ก็รู้ได้ทีเดียวว่าจะตายหรือรอด เปนจำนวนมาก เที่ยวหลอกลวงคนโง่ ๆ ให้เชื่อถือความสามารถของตัว แลพรรณนาคุณยาเสียอย่างเลิศลอย จึงถือกันจนชินว่าถ้าหมอที่เก่งแล้วพอแลเห็นคนไข้ก็รู้ทีเดียวว่าจะเปนหรือตาย เพราะฉนั้นเมื่อพระนายได้ฟังคำปฏิเสธของหมอบรัดเลจึงได้แสดงว่าหมอบรัดเลไม่เก่งจริงดังว่า ครั้นสนทนากับพระนายพอสมควรแก่เวลาแล้ว เขาก็กลับมายังบ้าน วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๘ เขาได้จัดบ้านแลร้านขายยาให้เปนระเบียบเรียบร้อย คอยโอกาศที่เขาจะได้ทำการรักษาคนเจ็บป่วย วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๘ เขาได้รักษาคนป่วยหลายคน อนุญาตให้มาขอความช่วยเหลือเขาได้ตลอดทั้งวัน แต่ความจริง การรักษามีต้องทำเพียงวันละ ๑ หรือ ๒ ชั่วโมงเท่านั้นก็พอ



๒๔ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้ เขาได้รักษาคนไข้หลายคน แต่โดยมากเปนจีน ในเย็นวันนี้ เจ้าฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้า) เสด็จมาเยี่ยมพวกมิซชันนารี วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้ เขาได้สัญญาไว้ว่าจะไปเฝ้าเจ้าฟ้าน้อย แลได้ไปเฝ้าตามสัญญานั้น วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๘ เขาพร้อมด้วย ม. รอบินสัน ได้ไปเฝ้าพระองค์น.๑พระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่ง ซึ่งประทับอยู่ในวัง พระองค์ น. นี้โปรดภาษาอังกฤษมาก เขาได้เขียนอักษรอังกฤษทั้งสระแลพยัญชนะ แลตัวกล้ำพร้อมเสร็จถวายพระองค์ไว้ในวันนี้เอง เขาพร้อมด้วยเรเวอเรนต์ รอบินสัน ได้รับเกียรติยศให้รับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับพระองค์ น. แลเมื่อเสร็จการรับประทานอาหารแล้ว พระองค์ น. ยังได้พาไปดูเครื่องพิณพาทย์อิกด้วย ในเครื่องพิณพาทย์เหล่านั้น เขาทั้ง ๒ ชอบฆ้องวงมากกว่าอย่างอื่น วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๘ มีคนป่วยมาหาพวกมิซชันนารีเปนอันมาก ถึงกับที่อยู่แน่นไปหมด ตั้งแต่เช้าจนเย็น พวกคนป่วยที่มาเหล่านี้ ล้วนแต่เปนคนที่มีโรคอย่างอาการมากจึงมาทั้งนั้น ๑. พระองค์ น. นี้สันนิษฐานว่า จะเปนพระองค์เจ้าคเนจร (กรมหมื่นอมเรนทร บดินทร) เวลานั้นพระชันษาได้ ๒๐ ปี


๒๕ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๘ มีข้าราชการไทยคนหนึ่ง มาที่ร้านยาของพวกมิซชันนารีดูเหมือนเพื่อจะสืบสวน พอไปถึงร้านได้เที่ยวดูตามขวดยาต่าง ๆ แลลองจิบน้ำในแก้วบนโต๊ะว่าจะเปนเหล้าหรือน้ำตาลเมา วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ นายกลิ่นซึ่งเปนเจ้าของที่ ๆ พวกมิซชันนารีเช่าอยู่นั้น มาบอกแก่พวกมิซชันนารีว่า การที่พวกมิซชันนารีอยู่ในที่นั้น พวกข้าราชการไม่ใคร่พอใจ สงสัยการประกอบอาชีพของพวกมิซชันนารี นายกลิ่นออกความเห็นว่า พวกมิซชันนารีควรจะไปขออนุญาตจากเจ้าพระยาพระคลังเสียก่อนจะดีกว่า มิฉนั้นอาจถูกไล่ให้ออกจากที่นั้นได้ มิวันใดก็วันหนึ่ง วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ ตอนเช้าวันนี้ มีคนป่วยมาหาหมอบรัดเล กว่า ๑๐๐ คน เพื่อขอคำแนะนำในทางยาแลขอยาสำหรับรักษาโรค เขาได้ให้คนป่วยเหล่านั้นสวดมนต์แลอ่านพระคัมภีร์ก่อนที่เขาจะให้ยารักษาโรค เพื่อเปนการชักจูงคนป่วยให้เห็นฤทธิ์เดชของพระเจ้าว่าศักดิ์สิทธิ์ เมื่อสวดมนต์แล้วกินยาจะได้หายดี แลต่อไปจะได้มีความเชื่อถือในพระเจ้ามาก ๆ แลในวันเดียวกันนี้เอง หมอบรัดเลพร้อมด้วยพวกมิซชันนารีได้ไปหา ม.ฮันเตอร์ แลได้ไปดูเรืออังกฤษลำหนึ่ง ชื่อ ปิรามัส ซึ่ง ๔


๒๖ กับตัน เวลเลอร์ นำเข้ามา กับตันเวลเลอร์ผู้นี้ ทำงารอยู่กับ ม.ฮันเตอร์ทั้งได้ไปดูเรืออิกลำหนึ่ง ซึ่งพึ่งมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อ ๒-๓ วันก่อนนี้ เรือลำนี้ต่ออย่างแบบอังกฤษ แต่เปนของพ่อค้าชาวเมืองสุหรัด (อยู่ในอินเดีย) คนหนึ่ง แลคนเรือทั้งหมดก็เปนชาวเมืองสุหรัด วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ ม. ฮันเตอร์ พาพวกมิซชันนารีไปหาผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลัง เจรจากันด้วยเรื่องที่ ๆ พวกมิซชันนารีอยู่ แต่ผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ แต่ได้แนะนำให้ ม. ฮันเตอร์พาพวกมิซชันนารีไปหาพญาโชฎึก (ทองจีน) ซึ่งเปนผู้มีอำนาจเด็ดขาดในที่ดินแปลงนั้น พวกมิซชันนารีรู้สึกว่ายากมาก ถ้าพระยาโชฎึกเปนผู้มีอำนาจเด็ดขาดในที่ดินแปลงนั้นแล้ว ทราบอยู่ว่าแกเปนคนที่ไม่ชอบพวกคริสตัง เมื่อ ม.ฮันเตอร์จะกลับ ผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังได้แนะนำอิกว่าควรไปหาพระยาโชฎึก แลได้ชี้แจงว่าการที่พวกมิซชันนารีจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นนั้น เปนเพราะพวกมิซชันนารีแจกหนังสือมากเกินไปจนเปนที่น่าสงสัย แลเปนการผิดธรรมเนียมการทำบุญของคนไทย ที่จริงการทำบุญแจกหนังสือนั้น รัฐบาลก็ยินยอมให้ทำเหมือนกัน เเต่ต้องเปนบางครั้งบางคราว หรือเเจกเเก่พระเจ้าพระสงฆ์ ไม่แจกแก่บุคคลทั่วไป เมื่อผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังอ้างข้อขัดข้องให้ฟังดังนั้นแล้วจึงได้กล่าวต่อไปอิกว่า ถ้าหากว่าไม่เปนการขัดข้องแก่ธรรมเนียมไทยดังว่าแล้ว ตัวท่านก็ไม่อยากจะขัดขวางในเรื่องการบุญกุศลของพวกมิซชันนารีเลย แลว่าตัวท่านก็ชอบการบุญกุศลอยู่เหมือนกัน


๒๗ ผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังพูดดูเหมือนเปนทีเล่นทีจริง แต่เปนข้อความสำคัญมาก ผู้ช่วยนี้เปนน้องชายของสมเด็จองค์ใหญ่ (ซึ่งได้ถึงพิราลัยไปเสียภายหลังเมื่อได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างอังกฤษกับไทย เมื่อปี พ.ศ ๒๓๙๙ ได้ ๒-๓ วัน เท่านั้น) ในเวลาที่ หมอบรัดเล เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ตัวเจ้าพระยาพระคลังไม่อยู่ ไปเมืองจันทบุรี เพื่อสร้างป้อมป้องกันพวกญวน แลได้ต่อเรือใบไทยลำใหญ่ขึ้นเปนครั้งแรก ท่านมีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อคุณสิทธิ์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเปนตำแหน่งหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก) เปนมือขวาในการช่วยต่อเรือ แลเปนคนสำคัญของเมืองไทย วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ ม. ฮันเตอร์ มาหาพวกมิซชันนารี บอกว่าได้ไปหาพระยาโชฎึกมาแล้ว พระยาโชฎึกบอกว่า พวกมิซชันนารีจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ซึ่งมีอิก ๓ แห่ง แต่ที่ดินทั้ง ๓ แห่งที่พระยาโชฎึกบอกให้นั้น ล้วนแต่เปนที่พวกบาดหลวงโรมันคาธลิกอยู่ทั้งนั้น พระยาโชฎึกไม่ชอบให้พวกมิซชันนารีสวดมนต์เปนภาษาจีนแลแจกหนังสือแก่จีน เพราะเมื่อพวกมิซชันนารีได้พวกมาก ๆ แล้ว เกรงว่าจะคิดการกำเริบขึ้นในภายหลัง วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ กัปตันเวลเลอร์ เกิดวิวาทขึ้นกับพระวัดเกาะ ถูกพระวัดเกาะตีปางตาย เรื่องทเกิดขึ้นเปนดังนี้ คือในเย็นวันนั้น กัปตันเวลเลอร์


๒๘ กับ ม. ฮันเตอร์ ถือปืนมาเที่ยวเล่นที่บ้านพวกมิซชันนารี นึกอุตริจะไปยิงนกพิราบเล่น ม. ฮันเตอร์คุยอยู่กับพวกมิซชันนารี กัปตันเวลเลอร์ถือปืนเดิรเข้าไปในวัด พอไปถึงก็ยิงนกพิราบตาย ๒ ตัว ขณะนั้นเปนเวลาที่พระกำลังสวดมนต์เย็นอยู่ เมื่อได้ยินเสียงปืนพระจึงได้กรูกันออกมา เดิมก็เพียงแต่จะว่ากล่าวกันก่อน แต่ทำไมจึงได้เกิดตีกันขึ้นก็ไม่ทราบ กัปตันเวลเลอร์ถูกตีที่ท้ายทอย แผลสาหัสถึงกับสลบไป ปืนก็หาย พอ ม.ฮันเตอร์ทราบเรื่องฉวยปืนได้ก็วิ่งไปช่วยกัปตันเวลเลอร์ คิดเคืองพระเปนอันมาก ไปถึงก็ว่าพระเสียต่าง ๆ นา ๆ แต่ ม. ฮันเตอร์เปนผู้ที่มีคนยำเกรงมาก หาไม่ก็คงจะโดนพระตีเข้าอิก พอกัปตันเวลเลอร์ได้สติ ม. ฮันเตอร์ก็ช่วยพยุงให้เดิรมาที่บ้านพวกมิซชันนารี ทั้งยังเปรอะเปื้อนเลือดอยู่ ในระหว่างที่ หมอบรัดเลจัดการพันแผลอยู่นั้น กัปตันเวลเลอร์ยังเปนลมสลบไปอิกหลายครั้ง ม.ฮันเตอร์ได้รีบไปหา ปอร์ดกัปตัน (หมายความว่าเจ้าท่า) แลคาดคั้นว่าให้นำเรื่องนี้ขึ้นชำระให้จงได้ ปอร์ดกัปตันตกใจ จึงรีบนำคดีไปเสนอต่อผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลัง วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้ หมอบรัดเล ไปเยี่ยมกัปตันเวลเลอร์ พบกำลังนอน แต่อาการค่อยยังชั่วมากแล้ว ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่กำลังไต่สวนกันอย่างเอาจริงเอาจัง ม. ฮันเตอร์ คาดคั้นจะเอาเรื่องให้ได้



๒๙ วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้ ม. ฮันเตอร์เตือนขอให้รีบชำระเรื่องพระตีกัปตันเวลเลอร์อิก มีข่าวว่าในหลวงได้ตรัสสั่งให้พระราชาคณะประชุมหารือตัดสินอธิกรณ์นั้นโดยเร็ว วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ นายกลิ่น (เจ้าของที่) มาขับไล่พวกมิซชันนารีอิก ว่าถ้าในหลวงเสด็จผ่านมาเห็นเข้า ตัวเขาจะต้องถูกลงพระราชอาญาอย่างหนักแลอิกราว ๒๐ วัน ในหลวงจะเสด็จพระราชดำเนิรทางชลมารคมายังวัดเกาะ ฉนั้นขอให้พวกมิซชันนารีรีบย้ายไปเสียก่อนกำหนดเสด็จพระราชดำเนิรนี้ให้ได้ วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้ สมเด็จพระสังฆราช ลงทัณฑกรรมพระสงฆ์ที่ตีกัปตันเวลเลอร์ โดยให้นั่งกลางแดดครึ่งวัน แลทัณฑกรรมอย่างอื่นอิก แล้วได้มีประกาศของสมเด็จพระสังฆราชออกห้ามมิให้พวกพระสงฆ์เกะกะวุ่นวายกับพวกฝรั่งอิกต่อไป วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้ พวกมิซชันนารีไปหาผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลัง ร้องทุกข์เรื่องพวกจีนทำเสียงอึกทึกต่าง ๆ อันเปนเครื่องหนวกหู ผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลัง (พระยาพิพัฒน์) รับรองเปนอันดี แลว่าจะต้องประชุม



๓๐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองขอให้จัดการเรื่องนี้ให้ พวกมิซชันนารีรู้สึกดีใจแลขอบใจผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังในเรื่องนี้มาก วันที่พวกมิซชันนารีไปหาผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังนี้ ว่ามีเทศน์ด้วย (เห็นจะเปนวันพระ) วันที่ ๒๐ วันนี้เปนวันเกิดของ ม. ฮันเตอร์ ๆ มีการเลี้ยงโต๊ะที่บ้าน ได้เชิญพระยาศรีพิพัฒน์ แลบุตร์ชายหัวปี๑ ของท่านมากินเลี้ยงด้วย บุตร์ชายหัวปีของพระยาศรีพิพัฒน์ผู้นี้ พวกมิซชันนารีว่าเปนข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร วันที่ ๒๖ กันยายน วันนี้มีคนป่วยมาก วันที่ ๓๐ กันยายน วันนี้ผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลัง เชิญเรเวอเรนต์ รอบินสัน กับยอนสัน ไปที่บ้านเพื่อฟังคำเด็ดขาดเรื่องพวกมิซชันนารีจะต้องย้ายที่อยู่ในภายในกำหนด ๕ วัน พวกมิซชันนารีจึงต้องไปเช่าบ้านเล็ก ๆ ของเรเวอเรนต์โยนส์อยู่หลังหนึ่ง กับบ้านของ ม. ฮันเตอร์ อิก ๒ หลัง วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๘ เมื่อพวกมิซชันนารีจะต้องย้ายจากที่อยู่เดิมเช่นนี้ จึงต้องไปอาศรัยบ้านเรเวอเรนต์โยนส์อยู่บ้าง ม. ฮันเตอร์อยู่บ้างไปพลางก่อน จนกว่าจะหาที่อยู่ได้เปนปรกติ เรเวอเรนต์รอบินสัน ไปพักอยู่กับพวกปอตุเกต เรเวอเรนต์ยอนสันไปอยู่ที่แพซึ่งพวกมิซชันนารีซื้อไว้ว่าจะทำร้านขายยาหมอบรัดเลกับครอบครัวไปอยู่ในบ้าน สันต ครูส์ (กุฎีจีน) พอรู้ข่าวว่า ๑ คือ พระสุริยภักดี (สนิธ)


๓๑ พวกมิซชันนารีจะต้องย้ายไปเช่นนี้ พวกคนป่วยพากันเสียดายเปนอันมาก พวกมิซชันนารีจะย้ายไปในวันนี้แล้ว แต่บุตรีของเรเวอเรนต์ยอนสัน (มารี) ป่วยมาก จึงต้องผัดไปอิก เรื่องที่ถูกย้ายสถานที่นี้ เพราะรัฐบาลรังเกียจด้วยพวกมิซชันนารีอยู่ในระหว่างบ้านของพวกจีนแลเปนที่นับถือของพวกจีนมากด้วย เกรงว่า เมื่อพวกมิซชันนารีมีพวกมาก ๆ แล้ว จะชักชวนพวกจีนก่อการกำเริบขึ้น วันที่ ๕ ตุลาคม พวกมิซชันนารีต้องย้ายไปวันนี้ เพราะหมดกำหนดที่ผัดไว้ ถึงแม้ว่าลูกสาวของเรเวอเรนต์ยอนสันเจ็บจวนจะตายเรเวอเรนต์รอบินสันได้ย้ายไปอยู่กับพวกปอตุเกต ใกล้กับโรงสวด ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ แล้ว วันที่ ๖ ตุลาคม วันนี้ลูกของเรเวอเรนต์ยอนสันตาย วันที่ ๗ ตุลาคม วันนี้ได้จัดการฝังศพผู้ที่ตายใกล้กับที่ ๆ ฝังศพของเมีย ม. กัตส์ลาฟ แลศพของคนอื่น ๆ ซึ่งได้ ฝังไว้ ในกาลก่อน เรเวอเรนต์ ยอนสันกับภรรยา มาอยู่กับพวกมิซชันนารีได้ ๕วัน แล้ว ก็กลับไปพักยังแพที่ไปอยู่นั้นอิก (แพหลังนี้จอดอยู่หน้ากุฎีจีน) ต่อมาพวกมิซชันนารีย้ายไปอยู่ทางฝั่งคลองอิกฟากหนึ่งใกล้กับพวกปอตุเกต มีห้างอังกฤษอยู่ในระหว่างกลาง (ที่ ๆ ว่านี้อยู่ริมน้ำหน้าวัดประยุรวงศ์) พวกมิซชันารีได้ทำสัญญาเช่ากับเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังปลูกเรือนให้พวกมิซชันนารีอยู่ ๒ หลัง เปนเรือนขนาดใหญ่ คิดเอาค่าเช่าเดือนละ ๖๕ บาท พวกมิซชันนารีไม่เห็น


๓๒ ว่าแพงนัก เมื่อคิดเทียบกับเรือนที่พวกลอนดอนมิซชันนารีเช่าอยู่ที่สิงคโปร์แลปินังก็เห็นว่าดีกว่า ด้วยเรือน ๒ หลังนี้เปนเรือนไม้ มุงด้วยกระเบื้องอย่างวัดมีระเบียงรอบ ทำแขงแรงดี วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้พวกมิซชันนารีไปอยู่ในเรือปิรามัส เพื่อคอยดูในหลวงเสด็จ พระราชดำเนิรทางชลมารคไปพระราชทานกฐินตามอารามต่าง ๆ ซึ่งอยู่ริมน้ำ พระองค์เสด็จไปโดยเรือกันยาปิดทอง ยาวประมาณ ๑๐๐ ฟิต กว้างประมาณ ๖ หรือ ๘ ฟิต หัวท้ายปิดทอง ตรงกลางมีพระแท่นที่ประทับ ในหลวงประทับบนพระแท่น มีม่านปิดรอบพระแท่น มีฝีพายประมาณ ๖๐ คน นั่งเปนคู่ ๆ พายพร้อม ๆ กัน แลมีคนตีฆ้องคอยให้จังหวะพายด้วย มีเรืออิกลำหนึ่งร้องเพลง (เห่) ตามเสด็จมาข้างหลังเรือทรง (คือเรือไตรพระกฐินควรจะไปข้างหน้า) นอกจากเรือทรงนี้แล้วยังมีเรือขนาดใหญ่อิก ประมาณ ๖๐ ลำ อยู่หน้าเรือพระที่นั่งบ้าง ตามมาข้างหลังบ้าง เปนกระบวรใหญ่ ตามธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ถือกันว่าเปนการไม่สมควรยิ่งนัก ที่คอยจ้องมองดูในหลวงซึ่งเสด็จผ่านมา ฉนั้นเมื่อเสด็จไปถึงไหนพวกที่แอบดูต้องหลบไปหมด ประตูหน้าต่างก็ต้องปิด เรือแพนาวาจะผ่านไปมาไม่ได้ ผู้ที่ต้องการจะดูจริง ๆ ต้องคอยระวัง คือเมื่อเสด็จผ่านมาตรงตัว ต้องหมอบก้มหน้าลงทำความเคารพ แต่พวกฝรั่งได้รับความผ่อนผันให้ยืนดูได้ แต่ต้องเปิดหมวกถวายคำนับ พวกฝรั่งได้


๓๓ รับผ่อนผันพิเศษเช่นนี้ หมอบรัดเลเลยถือโอกาศดูในหลวงเสียพอใจทางช่องกระจกเรือปิรามัส ปอด กัปตัน เกรงว่าเรเวอเรนต์ยอนสันกับภรรยาซึ่งอยู่ที่แพ จะปล่อยให้คนใช้แลพวกเด็ก ๆ ไปยืนดูในหลวงจึงไปวางยามไว้คอยห้าม แลสั่งอย่าให้อึง วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๘ วันนี้ มีขุนนางไทยหนุ่มคนหนึ่ง มาหาพวกมิซชันนารี ขุนนางหนุ่มผู้นี้ พวกมิซชันนารีกล่าวว่า ท่าทางคมขำ เฉียบแหลม พูดจาไพเราะ เมื่อแรกมาถึง ได้สนทนากับพวกมิซชันนารีอยู่สักพักหนึ่ง ครั้นจวนจะกลับ จึงได้สนทนากับ ยอนแบบติสต์ ผู้ช่วยในร้านขายยา ตอนที่คุยกับยอนแบบติสต์นี้เอง ขุนนางหนุ่มคนนั้นได้บอกว่า ตัวท่านคือหลวงนายสิทธิ์ (คือสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ) บุตรหัวปีของเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ พึ่งกลับมาจากจันทบุรี โดยเรือที่ไปต่อมาจากที่นั่น ซึ่งได้ให้ชื่อว่า "อาเรียล" ส่วนบิดาของท่านยังคงอยู่ที่จันทบุรี เมื่อพวกมิซชันนารีรู้เข้าเช่นนี้ จึงเชื้อเชิญให้ท่านอยู่สนทนากันอิกก่อน ท่านก็ยอมอยู่สนทนาด้วยอิกครู่หนึ่ง ขณะเมื่อจะลาไปได้เชิญให้พวกมิซชันนารีไปเที่ยวที่บ้านของท่านบ้าง วันที่ ๒๔ ตุลาคม วันนี้พวกมิซชันนารี ได้ไปหาหลวงนายสิทธิ์ยังบ้านของท่าน บ้านของหลวงนายสิทธิ์นี้ หมอบรัดเลกล่าวว่าใหญ่โต ๕



๓๔ งดงามมาก ที่หน้าบ้านเขียนป้ายติดไว้ว่า "นี่บ้านหลวงนายสิทธิ์ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย" ที่บ้านหลวงนายสิทธิ์นี้ พวกมิซชันนารีได้รู้จักคนดี ๆ อิกหลายคน ข้อนี้พวกมิซชันนารีรู้สึกชอบพอแลรักใคร่ท่านมาก วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ พวกมิซชันนารีไปชมเรือใบ อาเรียล ซึ่งต่อมาจากเมืองจันทบุรีมาถึงได้ ๒-๓ วันเท่านั้น จะนำมาถวายให้ในหลวงทอดพระเนตร พวกมิซชันนารีกล่าวว่า เรือ อาเรียลนี้ เปนเรือลำแรกที่ทำเทียมเรือฝรั่งหลวงนายสิทธิ์ไม่มีแบบดี แต่เที่ยวได้จำแบบจากเรือฝรั่งลำโน้นนิดลำนี้หน่อย แล้วมาทำขึ้น ถึงเช่นนั้น นับว่าทำพอใช้ทีเดียว หลวงนายสิทธิ์ผู้นี้เปนคนฉลาดไหวพริบนัก คนไทยออกจะฉลาดเทียมฝรั่งแล้ว นอกจากเรือ อาเรียล ที่นำมาถวายทอดพระเนตร หลวงนายสิทธิ์ยังได้ต่อเรืออื่น ๆ ที่เมืองจันทบุรีนั้นอิกเปนจำนวนมาก น้ำหนักตั้งแต่ ๓๐๐ ตัน ถึง ๔๐๐ ตัน ภรรยาของหลวงนายสิทธิ์ (ชื่อท่านผู้หญิงกลิ่น) นิสัยคล้ายกับสามี ชอบสมาคมกับชาวต่างประเทศ ได้ชอบพอรักใคร่กับนางแบบติสต์มาก ถึงกับเคยไปนอนค้างที่บ้านนางแบบติสต์ กินหมากติด เรเวอเรนต์โยนส์มีลูก ๓ คน แต่ ๒ คนก่อน พออายุได้ ๑๐ เดือน เศษก็ตายเสียเช่นเดียวกันทั้ง ๒ คน เวลานี้เหลืออิกคนเดียว เปนคนที่ ๓ ชื่อ ฮอวาร์ด คนนี้ก็อิกนะแหละไม่ใคร่จะสมประกอบป่วยๆ


๓๕ ไข้ ๆ อยู่เสมอ จึงได้มอบให้หมอบรัดเล เปนผู้คอยรักษา ลูกของพวกมิซชันนารีมักไม่ค่อยจะรอด ข้อนี้เปนของธรรมดา ดูแต่ลูกของรอบินสันตายเหมือนกัน เนื่องด้วยลูกเจ็บ ๆ ไข้ ๆ นี้ นางโยนส์ คิดจะเอาลูกไปไว้ในเรือลำหนึ่งซึ่งทอดอยู่นอกสันดอน แลถ้ายังไม่ค่อยยังชั่วก็จะได้ให้เลยไปอยู่เสียที่สิงคโปร์ทีเดียว เรื่องเด็กของพวกมิซชันนารีเลี้ยงยากนั้น หมดบรัดเลออกความเห็นไว้ว่า เปนเพราะแม่บำรุงรักษาไม่ดี อากาศก็ไม่ดีด้วย บิดามารดามักไปอยู่เสียที่สิงคโปร์ทิ้งลูกไว้ทางนี้บ้าง อนึ่งแม่นมไทยก็เต็มทีไม่ค่อยจะมีวิธีอะไรมากนัก นอกจากจะหาของต่าง ๆ ให้เด็กกินกัน เด็กร้องไห้เท่านั้น เมื่อพี่เลี้ยงนางนมไทยไม่มีความรู้ในทางเลี้ยงเด็กเช่นนี้แล้ว บิดามารดาของเด็กยังไว้ใจเชื่อถือ ก็นับว่าเปนความผิดของบิดามารดาเอง วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ วันนี้ เปิดห้างขายยาใหม่ที่บ้านพวกมิซชันนารี ห้องหับจัดสอาด สอ้านเรียบร้อยดี มีห้องเหลืออิกห้องหนึ่ง จึงจัดเปนห้องสำหรับผสมยา วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๘ เรเวอเรนต์ ยอนสันกับภรรยามาหาหมอบรัดเลแจ้งว่า หลวงนายสิทธิ์ เชิญเขาทั้ง ๒ ไปเมืองจันทบุรี แลจะให้พักอยู่ที่นั่นสัก ๖ เดือน ด้วยหลวงนายสิทธิ์ ภรรยาแลลูก มีความประสงค์จะเรียนภาษาอังกฤษ



๓๖ ในโอกาศอันนี้ ยอนสันจะได้แจกหนังสือแลสอนสาสนาแก่พวกจีนที่จันทบุรีด้วย วันที่ ๗ ยอนสันกับภรรยาตกลงจะไปกับหลวงนายสิทธิ์แน่นอน หมอบรัดเลก็จะไปด้วย แต่ไปเปลี่ยนอากาศชั่วคราวเมื่อสบายดีแล้วจะกลับมา เพราะหมอบรัดเลไม่ใคร่จะสบายมาตั้งแต่พวกมิซชันนารีถูกไล่ออกจากที่อยู่เดิม หมอเปนผู้วิ่งเต้นเรื่องที่อยู่อันเปนภาระธุระมากมาย วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๓๗๘ หมอบรัดเล ออกจากบ้านไปลงเรือ อาเรียล ซึ่งจะไปยังเมืองจันทบุรี พร้อมด้วยยอนสันกับภรรยา ไปถึงเรือเวลาเที่ยงตรงได้พบกับมารดาแลภรรยาของหลวงนายสิทธิ์ไปถึงเรือก่อนแล้ว มารดาแลภรรยาของหลวงนายสิทธิ์นี้ เปนคนอัธยาศัยดีทั้งคู่ คุณกลิ่น (ภรรยาหลวงนายสิทธิ์) ออกตัวแลขอโทษแก่พวกฝรั่งว่าเรือคับแคบ หลวงนายสิทธิ์จัดให้พวกฝรั่งพักบนดาดฟ้าชั้นบน หมอบรัดเลต้องอยู่พรากจากเมียเปนครั้งแรกตั้งแต่แต่งงารมา เรือแล่นไปสดวกดีเกินที่คาดหมายกัน วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๘ รุ่งเช้าเรือล่องลงมาถึงปากน้ำ มารดาแลญาติพี่น้องผู้หญิงของหลวงนายสิทธิ์ลงเรือมาส่งแค่นี้แล้วขึ้นจากเรือที่ปากน้ำ ตกเวลากลางคืนพวกมิซชันนารีร้องเพลงเล่นกันแก้ง่วง หลวงนายสิทธิ์บอกว่า


๓๗ บนดาดฟ้าดีกว่าข้างล่าง เพราะข้างล่างปะปนกันมากนัก พวกที่อยู่ข้างล่างก็ซ้อมเพลงกล่อมช้างเผือกที่ได้ณเมืองจันทบุรีกัน วันหนึ่งร้องหลาย ๆ เที่ยวกลับไปกลับมาจนน่าเบื่อ ม. ยอนสันกับภรรยาอยู่ห้องใกล้ ๆ กับหมอบรัดเล พวกมิซชันนารีที่ไปเมืองจันทบุรีคราวนี้ ได้รับความเอาใจใส่จากกัปตันลีช พวกลูกเรือแลผู้ที่มาด้วยเปนอย่างดี วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๘ พอน้ำมากข้ามสันดอนได้ ก็ออกเรือ หลวงนายสิทธิ์แสดงว่ามีความเสียใจที่ต้องจากมารดาไป แลมารดาก็เหมือนกัน เมื่อจะจากไปแสดงว่าเสียดายที่จะจากบุตรแลหลาน ในจำพวกบุตรของหลวงนายสิทธิ์ชั้นหลังได้เปนอรรคมหาเสนาบดีเเลเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมคนหนึ่ง (คือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน วอน บุนนาค) เรือแล่นไปโดยสวัสดิภาพ ศรีมหาราชา วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๘ ถึงศรีมหาราชา เรือทอดสมอทางทิศใต้ของเขาเขียว วันนี้เดือนหงายดี ทำให้รู้สึกโปร่งใจมาก เวลาประมาณ ๕ ก.ท. หลวงนายสิทธิ์เชิญหมอบรัดเล พร้อมด้วยโยนส์แลภรรยา ให้ขึ้นไปเที่ยวบนฝั่งพวกมิซชันนารีจึงขึ้นไปเที่ยวบนฝั่งกับหลวงนายสิทธิ์แลคุณกลิ่นภรรยาของท่าน พอไปถึงที่พัก พวกมิซชันนารี ได้พบคนเปนจำนวนมาก ออกรู้สึกเสียใจที่เวลาออกจากกรุงเทพ ฯ ไม่ได้เอาหนังสือ (สอน



๓๘ สาสนา) ติดตัวมาด้วย หาไม่ก็จะได้แจกแก่ผู้ที่ได้พบเปนจำนวนมากเหล่านี้ หลวงนายสิทธิ์แลพวกมิซชันนารีเที่ยวอยู่ที่ฝั่งนั้นหลายชั่วโมง มีความสนุกสนานแลสบายเปนอันมาก แลรับประทานอาหารกันที่ฝั่งนั้น มีผู้คนจัดอาหารมาให้มากมาย เวลา ๑๐ ก.ท. จึงบ่ายหน้ากลับไปยังเรือ คุณกลิ่นกับพวกมิซชันนารีมาเรือลำเดียวกัน หลวงนายสิทธิ์มาอิกลำหนึ่งต่างหาก เวลา ๑๑ ก.ท. เรือถอนสมอเดิรทางต่อไปอิก วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน เรือแล่นมาในกลางทะเล ๓ วัน คลื่นลมแรงมาก จนดูเหมือนเรือแล่นไม่ค่อยขเยื่อนที่เลย วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน วันนี้กำหนดกันไว้ว่าจะมาถึงปากน้ำจันทบุรี ก็มาถึงตามที่คาดหมาย ผ่านแหลม ๆ หนึ่งเรียกว่าแหลมสิงห์แลเกาะเล็ก ๆ อิกเกาะหนึ่ง น้ำขึ้นมาก จนฝั่งปริ่มน้ำทำให้แลเห็นภาพทางเกาะงดงามมากเหลือที่จะพรรณนา ท่าเรือจันทบุรี รุ่งขึ้นวันที่ ๑๙ แลเห็นเมืองจันทบุรี พวกมิซชันนารี รู้สึกยินดีเปนอันมากที่เดิรทางผ่านพ้นอันตรายมาได้ แลขอบคุณพระเปนเจ้ามาก ที่ปากน้ำเมืองจันทบุรีมีท่าเรือ ที่ท่าเรือนี้มีภูเขายื่นออกมาทางทะเลโค้งเปนวงแขน เหมาะที่จะเปนท่าเรือมากทีเดียว จากทะเลขึ้นไปประมาณ ๑๐ ไมล์แลเห็นเขาสระบาปแลต้นมะพร้าวขึ้นสพรั่งไปหมด วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน เพราะเหตุที่เมืองจันทบุรี ไม่ได้อยู่ริมทะเล หลวงนายสิทธิ์ล่วงหน้าขึ้นไปเมืองตั้งแต่เมื่อวานนี้ ส่งเรือมารับพวก


๓๙ มิซชันนารีลำ ๑ พวกมิซชันนารีดีใจมากที่จะได้ขึ้นบก แต่เรือที่ส่งมารับนั้นเปนเรือใบ เผอิญลมไม่มีต้องใช้แจว เลยไม่ถึงในตอนเย็นวันนั้น ต้องค้างคืนในเรือ ๑ คืน เวลา ๔ ก.ท. พวกมิซชันนารีตื่นขึ้นนึกว่าถึงเมืองแล้ว แต่ยังไม่ถึง ถึงบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งหลวงนายสิทธิ์กะไว้ว่าจะมาคอยพวกมิซชันรีอยู่ที่นั่น แต่พวกมิซชันนารีมาถึงช้าไป จึงคลาศกับหลวงนายสิทธิ์ไปเสีย วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน เรือนที่พวกมิซชันนารีพักอยู่นี้ เปนเรือนบ้านนอก อยู่ที่ตำบลอู่ต่อเรือสยาม ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังกับหลวงนายสิทธิ์มาทำการต่ออยู่นั้น ในเวลานั้นก็ยังมีเรือที่กำลังต่ออยู่อิกกว่า ๕๐ ลำ น้ำหนัก ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ ตัน เรื่องที่ไทยเตรียมต่อเรือไว้มากเช่นนี้ เข้าใจว่า เปนเพราะต้องการจะเตรียมตัวไว้มิให้พวกญวนมา รบกวนทางเมืองแถบนี้ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน หมอบรัดเลกับ ม. โยนส์ แลภรรยาเดิรทางไปยังบางกะจะ ในเวลาที่พวกมิซชันนารีผ่านไปนั้น มีคนมาดูแลถามว่าจะไปไหนกัน พวกมิซชันนารี บอกว่าจะไปหาหลวงนายสิทธิ์ คนเหล่านั้นก็ช่วยบอกหนทางให้ เวลา ๔ ล.ท. พวกมิซชันนารีไปถึงบ้านหลวงนายสิทธิ์ แลรับประทานอาหารเย็นพร้อมกันที่นั่น วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ วันนี้หลวงนายสิทธ์ มีความกรุณาเตรียมเข้าของแลเครื่องเสบียงอาหารอันจะใช้เปนของสำหรับเดิรทางกลับกรุงเทพ ฯ ให้แก่หมอบรัดเล เปนจำนวนมาก


๔๐ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ วันนี้หมอบรัดเลลงเรือที่ปากน้ำจันทบุรี เดิรทางกลับกรุงเทพ ฯ กลับมาพร้อมกับน้องเขยของหลวงนายสิทธิ์ (พระยาสุรเสนา สวัสดิ์) วันที่ ๑๙ ถึงปากน้ำเมืองสมุท วันที่ ๒๐ ลงเรือสำปั้นเข้ามากรุงเทพ ฯ กับนายสุดจินดา๑ วันที่ ๒๑ ถึงกรุงเทพฯ มีความสุขสบายดี วันที่ ๒๒ เจ้าพระยาภัยโณฤทธิ์ ทราบว่า หมอบรัดเลกลับมาจากจันทบุรี ก็ให้เชิญตัวไปหาที่บ้าน เพื่อตรวจดูโรคที่ท่านได้เปนมาแล้วประมาณ ๒๐ ปี เมื่อหมอบรัดเลไปถึงไม่ใคร่จะยอมให้ตรวจเท้าทั้ง ๒ ข้าง ให้ตรวจแลลองรักษาดูข้างเดียวก่อน ครั้นหมอบรัดเลตรวจแลพูดจาถูกต้อง เปนที่พอใจ จึงได้ยอมให้ตรวจแลรักษาทั้ง ๒ ข้าง เจ้าคุณผู้นี้ หมอบรัดเลว่าเปนผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยนดียิ่งนัก วันที่ ๒๓ หมอบรัดเลไปเยี่ยมแลตรวจอาการโรคของเจ้าคุณภัยโณฤทธิ์อิก คราวนี้ เจ้าคุณมอบภาระเรื่องโรคของท่านให้หมอบรัดเลทั้งสิ้นทีเดียว เท้าข้างหนึ่ง ซึ่งหมอบรัดเล พอกยาไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ค่อยยังชั่วขึ้นมาก แต่อิกข้างหนึ่งยังมีความปวดอยู่บ้าง วันที่ ๒๔ วันนี้เจ้าคุณได้ต้อนรับหมอบรัดเลอย่างเต็มที่ ขอบใจมาก ให้ส้มโอ มะพร้าวแลกล้วยแก่หมอบรัดเลเพื่อเปนการตอบแทนในการที่ได้รักษาโรคของท่าน วันที่ ๒๘ ธันวาคม วันนี้มีการเลี้ยงอาหารเย็นที่บ้านกงสุลปอตุเกตพวกมิซชันนารีได้รับเชิญทุกคน แลนอกจากพวกมิซชันนารีแล้ว ยังมี ๑ คือพระยาสุรเสนา สวัสดิ์ ต้นสกุล สวัสดิชูโตนั้นเอง


๔๑ ม. ฮันเตอร์ ม.เฮส์ กับตันลีช ม. มัวแลโยชินดิซิลวา เปนแขกมาในการรับประทานอาหารวันนี้อิก ก่อนเวลาที่พวกมิซชันนารีจะลุกจากโต๊ะมีมหาดเล็กผู้หนึ่งรับ ๆ สั่งมาจากเจ้าฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้า ฯ) กล่าวขอโทษต่อพวกแขกในการที่เจ้าฟ้าน้อยมิได้เสด็จมาเสวยร่วมโต๊ะด้วย แลบอกหมอบรัดเลว่าหม่อมของเจ้าฟ้าน้อยประสูติพระธิดา พระองค์ขอเชิญหมอบรัดเล ไปที่พระราชวังให้จงได้ เรื่องนี้ มหาดเล็กได้บอกอย่างลับ ๆ เสียอิก แต่ถึงเช่นนั้น ในชั่วประเดี๋ยวเดียวก็รู้กันทั่วหมด เพราะนางผู้ประสูติพระธิดานี้ มิใช่เปนคนสามัญ เปนหม่อมของเจ้าฟ้าน้อยซึ่งนับเปนที่ ๒ รองแต่พระเจ้าแผ่นดินของประเทศ หมอบรัดเลกลับถึงบ้าน ก็มีคนเอาเรือมารับไปวังของเจ้าฟ้าน้อย พอไปถึงหน้าท่าก็พบพระองค์ท่านประทับรออยู่แล้ว ครั้นทอดพระเนตรเห็นหมอบรัดเล ก็รับสั่งทีเดียวว่าหม่อมของพระองค์ประสูติธิดาองค์หนึ่ง (คือพระองค์หญิงใหญ่ พี่กรมพระราชวังบวรฯ ในเจ้าคุณจอมมารดาเอม) ก่อนหน้าที่หมอบรัดเลกลับมาถึงหน่อยหนึ่ง แลรับสั่งต่อไปว่า ตามธรรมเนียมไทยเมื่อหญิงคลอดบุตรแล้ว ต้องอยู่ไฟฉนั้นหม่อมของพระองค์ก็กำลังอยู่ไฟ แลจะต้องอยู่ให้ครบ ๓๐ วันด้วย เพราะพึ่งจะคลอดเปนครั้งแรก ถ้าครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ก็อยู่ลดลงมาเปนลำดับ คือ ๒๕ วัน ๑๘ วัน ๑๕ วัน แล ๑๑ วัน วันที่ ๒๙ ธันวาคม วันนี้ เวลาเย็น หมอบรัดเลกับภรรยาไปเฝ้าเจ้าฟ้าน้อยอิก พระองค์ทรงรับรองเปนอย่างดี หม่อมยังคงอยู่ที่ ๖


๔๒ กระดานไฟ ชั้นแรกดูเหมือนหม่อมอยู่ข้างจะละอายในการที่นางบรัดเลผู้ซึ่งเธอไม่เคยรู้จักเข้าไปหาด้วย แต่เพราะเปนหญิงด้วยกัน ไม่ช้าก็ระงับความอายเสียได้ นางบรัดเลได้แนะนำให้เธอกินยาของหมอบรัดเล แลแนะนำให้ ๆ น้ำนมของเธอเองให้ธิดาเสวยอย่ามอบให้แก่นางนมในชั้นแรกนี้ วันที่ ๓๐ ธันวาคม วันนี้เจ้าคุณอภัยโณฤทธิ์ ให้คนมาแจ้งแก่หมอบรัดเลว่า ท่านได้หายจากโรคที่เปนแล้วแลขอบใจหมอบรัดเลมาก แลถ้าข้างหน้ามีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นแก่ท่านแล้ว จะต้องขอใช้หมอบรัดเล เสมอ วันที่ ๓๑ ธันวาคม วันนี้ เวลา ๒ ล.ท. เจ้าฟ้าน้อยให้มหาดเล็กรีบมาตามหมอบรัดเลไปดูหม่อมแลธิดาของพระองค์ พอหมอบรัดเลทราบข่าวก็รีบไปพระราชวังทีเดียว แต่หมอบรัดเลไปถึงไม่ทันจะช่วยเหลือธิดาอย่างใด ๆ ได้เสียแล้ว เพราะสิ้นชีพเสียก่อนหน้าที่หมอบรัดเลมาถึงแล้ว เจ้าฟ้าน้อยทรงพระโทมนัสมาก ในการที่หม่อมเจ้าอันเปนหัวปีของพระองค์ได้สิ้นชีพไปนั้น บรรดาพระญาติแลบริพารก็ร้องไห้อาลัยถึงเธอเปนอันมาก ดูเหมือนว่า เจ้าฟ้าน้อยทรงพระดำริห์จะเลิกใช้หมอไทยซึ่งได้ถวายพระโอสถรักษาพยาบาลหม่อมของพระองค์อยู่นั้น แลจะมอบภาระให้หมอบรัดเล ถวายพระโอสถแต่ผู้เดียว แต่ต้องเสียพระทัยด้วยไม่สมด้วยพระดำริห์ เพราะพระราชมารดาแลเหล่าพระภคินีกับทั้งหมอหลวงแลผู้เถ้าผู้แก่ทั้งหลายเปนจำนวนมาก ไม่เห็นชอบด้วยตามพระดำริห์นั้น


๔๓ วันที่ ๘ มกราคม วันนี้ เวลาบ่าย เจ้าฟ้าน้อยทรงส่งเรือมารับหมอบรัดเลกับภรรยา ให้ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทร พระราชมารดาของพระองค์ หมอบรัดเล พร้อมด้วยภรรยา จึงได้รีบไปเฝ้า ตามพระกระแสรับสั่งนั้น สมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทรนี้ ประทับอยู่ในวังเดียวกับเจ้าฟ้าน้อย แต่ต่างตำหนัก ก่อนหน้าที่จะเฝ้าสมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทร เจ้าฟ้าน้อยทรงพาให้หมอบรัดเลกับภรรยาชมเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง เปนเครื่องลาว (แคน) หมอบรัดเลเคยทราบว่า แคนมีเสียงไพเราะนัก อยากจะได้ฟัง จึงถามว่าใคร ๆ ที่อยู่ในที่นี้เป่าแคนได้บ้าง เจ้าฟ้าน้อยตรัสตอบว่า ได้ซิ แล้วพระองค์จึงหยิบแคนขึ้นทรงเป่าแลตรัสถามหมอบรัดเลว่า ต้องการจะฟังแอ่วด้วยหรือ เมื่อหมอบรัดเลตอบรับแล้ว พระองค์จึงตรัสเรียกคนใช้เข้ามาคน ๑ คนใช้นั้นเข้ามากระทำความเคารพโดยคุกเข่ากราบลง ๓ ครั้ง แล้วก็นั่งลงยังพื้นคอยฟังแคนอยู่ ครั้นได้จังหวะก็เริ่มแอ่วอย่างไพเราะจับใจดูเหมือนจะได้ศึกษามาเปนอันดี จากโรงเรียนสอนดนตรีฉนั้น ประมาณสักครึ่งชั่วโมงกว่า ๆ ข้าหลวงตัวโปรดคน ๑ ซึ่งเรียกกันว่าคุณ เข้ามาเฝ้าเจ้าฟ้าน้อย นั่งพับเพียบลงถวายบังคมแล้วทูลว่า เวลานี้เข้าเฝ้าได้แล้ว ครั้นทราบเช่นนั้น หมอบรัดเลกับภรรยาจึงเดิรเกี่ยวแขนกันเข้าไป เจ้าฟ้าน้อยทรงพระดำเนิรตามไป


๔๔ ข้างหลัง การที่หมอบรัดเลกับภรรยา เดิรเกี่ยวแขนกันเข้าไปเช่นนั้นดูเหมือนจะทำให้เห็นเปนการแปลกมาก หนทางที่เดิรเข้าไป ผ่านพวกข้าหลวงไปเปนอันมาก พวกข้าหลวงเหล่านี้เมื่อเห็นเจ้าฟ้าน้อยเสด็จมาก็หมอบลงถวายบังคมทุกคน หมอบรัดเลกับภรรยาเข้าไปถึงตำหนักของสมเด็จพระราชินีแล้วเข้าไปในท้องพระโรงเวลานั้นสมเด็จพระราชินียังไม่ได้เสด็จออกมาประทับบนพระแท่น ซึ่งตั้งอยู่กลางท้องพระโรงที่พื้นข้างหน้าพระแท่นมีหมู่เจ้าหญิงประทับอยู่ ๑๒-๑๓ พระองค์ หมอบรัดเลกับภรรยานั่งบนเก้าอี้ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพระแท่นที่ประทับนั้นในขณะนั้น เจ้าหญิงองค์หนึ่งซึ่งประทับอยู่ในท้องพระโรงนั้น ต้องพระประสงค์ให้หมอบรัดเลตรวจอาการโรคของพระองค์ ในเวลาที่หมอบรัดเลกำลังตรวจอยู่นั้น สมเด็จพระราชินีก็เสด็จออกมาจากพระทวารกลางซึ่งอยู่ตรงกับพระแท่นที่ประทับ นางบรัดเลเห็นพระองค์ก่อนจึงลุกขึ้นเดิรตรงเข้าไปเฝ้า การที่นางบรัดเลอาจเดิรเข้าไปเฝ้าเช่นนั้น ดูเหมือนเจ้าหน้าที่ผู้เฝ้าแหนอยู่รู้สึกไม่พอใจกันมาก แต่หากไม่กล้าที่จะพูดประการใด เมื่อนางบรัดเลเข้าไปถึงพระองค์แล้ว ทูลถามถึงสุขทุกข์ส่วนพระองค์ทันที พระองค์ตรัสตอบว่าไม่ใคร่จะทรงสบาย แลใคร่จะได้หมอมารักษา เมื่อรับสั่งเปนช่องเช่นนั้น นางบรัดเลจึงออกมานำหมอบรัดเลเข้าไปเฝ้าใกล้ ๆ หมอบรัดเลลุกขึ้นทำความเคารพอย่างธรรมเนียมอเมริกันแลพระองค์ก็ประทานพระหัดถ์ให้จับเปนเกียรติยศ เมื่อเสร็จการทำความเคารพแล้ว หมอบรัดเลก็รีบลงมือ


๔๕ ตรวจพระโรคทันที ดูเหมือนพระองค์จะทรงแปลกพระทัยมาก ที่หมอบรัดเลซึ่งใคร ๆ ก็กล่าวยกย่องสรรเสริญว่าเปนหมอที่มีความรู้ดี แต่หาสมจริงตามคำที่เล่าลือกันไม่ รู้อาการพระโรคของพระองค์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หมอบรัดเลเลยต้องทูลสาระภาพว่าเขาไม่มีความรู้อย่างที่เข้าใจกันจนชินในเมืองไทยว่า พอเห็นคนไข้ก็ทราบได้ทันทีทีเดียวว่าจะเปนหรือจะตายเช่นนั้น แลการที่ถือกันเช่นนั้นเองทำให้ความสามารถทางใช้ยาของเขาถูกลบหลู่มาก หมอบรัดเลทูลต่อไปว่าหมออเมริกันที่มีชื่อเสียงไม่คุยอวดดีเหมือนหมอไทยเลย แลว่าการที่จะรู้ว่าจะเปนหรือจะตายนั้น ธรรมดามนุษย์ย่อมรู้ไม่ได้ รู้ได้แต่พระเจ้าบนสวรรค์พระองค์เดียวเท่านั้น แล้วสมเด็จพระราชินีตรัสถามถึงเรื่องประเทศอเมริกาว่าไกลเท่าไรจากประเทศสยาม แลเดิรทางมาเสียค่าพาหนะเท่าไร พวกมิซชันนารีจะมาอยู่ในเมืองไทยนี้นานเท่าไร แลที่สุดตรัสถามว่า ประเทศอเมริกามีความสุขสบายอย่างประเทศสยามนี้หรือไม่ หมอบรัดเลทูลตอบว่ามีความสุขสบายมาก ตรัสว่าถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมพวกท่านจึงมาประเทศนี้เล่า หมอบรัดเลทูลตอบว่า การที่มานี้ มิได้มาหาความสุข มาโดยหวังจะนำคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์มาเผยแผ่แก่สัตว์โลกทั่วไป ในระหว่างที่สมเด็จพระราชินีตรัสแก่หมอบรัดเลนั้น เจ้าฟ้าน้อยประทับนิ่งมิได้ตรัสประการใดเลย แลดูเหมือนว่า พระองค์ทรงเกรงกลัวพระราชมารดามากทีเดียว



๔๖ เมื่อได้เฝ้าสมเด็จพระราชินีอยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่งแล้ว หมอบรัดเล กับภรรยาก็ทูลลากลับ คำนับอย่างธรรมเนียมอเมริกัน เดิรเกี่ยวแขนกันออกมา ส่วนสมเด็จพระราชินีพร้อมด้วยราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าแลฝ่ายในก็พากันแลตามดูหมอบรัดเลกับภรรยา ซึ่งเดิรเกี่ยวแขนกันเช่นนั้น ซึ่งเปนภาพที่แปลกยังไม่มีใครได้เห็นเลย แลแปลกกับธรรมเนียมของไทยมาก วันที่ ๑๑ มกราคม วันนี้พวกคนไข้มาขอยากันเปนจำนวนมาก วันที่ ๒๔ มกราคม วันนี้เปนวันพระของพวกมิซชันนารี มีการประชุมสวดมนต์ไหว้พระกันตามเคยแลมีการแจกยาแก่ผู้ที่ไปขอที่โรงสวดด้วย วันที่ ๒๕ มกราคม วันนี้พวกมิซชันนารี เตรียมตัวจะไปเที่ยวอยุธยา ราชธานีเก่าของกรุงสยาม เดิมคิดจะไปกันอย่างเงียบ ๆ แต่ ม.ฮันเตอร์มาแนะนำว่าตามหนทางที่ดีแล้วควรต้องขอหนังสือเดิรทางจากเจ้าพระยาพระคลังเสียก่อน หาไม่อาจถูกจับก็ได้ หมอบรัดเลรู้สึกว่าคำแนะนำของ ม.ฮันเตอร์สมควรดี เพราะหนังสืออนุญาตจากชาวด่านนั้น ชาวต่างประเทศใช้เปนหนังสือเดิรทางไม่ได้ นอกจากหนังสืออนุญาตจากเจ้าพระยาพระคลังฉบับเดียวเท่านั้น วันที่ ๒๖ มกราคม พวกมิซชันนารีที่จะไปเที่ยวอยุธยานั้น คือหมอบรัดเล เรเวอเรนต์รอบินสันแลเรเวอเรนต์ดีน เมื่อพวกมิซชันนารี มาพร้อมกันแล้ว ม. ฮันเตอร์จึงบอกว่า ควรจะไปหาเจ้าพระยาพระคลัง


๔๗ เสียวันนี้ทีเดียว (เจ้าพระยาพระคลังคนที่ ม. ฮันเตอร์บอกให้พวกมิซชัน นารีไปหานี้ หาใช่ตัวเจ้าพระยาพระคลังจริงไม่ ๑ ) ในเวลาเย็น พวกมิซชันนารีแล ม. ฮันเตอร์ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง พบกำลังอยู่ในห้อง เปนโรครูมะติซำ เจ้าคุณพระคลังมีความยินดีที่ได้ทราบว่าพวกมิซชันนารีจะไปเที่ยวอยุธยา แต่เสียใจว่าการออกหนังสือเดิรทางให้นั้นไม่ใช่หน้าที่ของท่านเปนหน้าที่ของพระยาพิพัฒน์โกษา (เจ้าพระยาพระคลังที่ ๒) แล้วเจ้าคุณพระคลัง ได้เอื้อเฟื้อส่งล่ามปอตุเกตให้มากับพวกมิซชันนารีด้วย ประมาณครึ่งชั่วโมงกว่า ๆ พวกมิซชันนารี ข้ามแม่น้ำไปหาพระยาพิพัฒน์ พบเจ้าคุณที่ท่าน้ำกำลังจะลงเรือ เมื่อได้ทราบข่าวว่าพวกมิซชันนารีจะไปเที่ยวอยุธยา ท่านเจ้าคุณกล่าวว่าไม่เปนการสมควรที่พวกมิซชันนารีจะไปที่นั่น แลว่าจะได้รับความลำบากทั้งพวกมิซชันนารีแลพวกอื่นด้วย แล้วจึงได้ถามว่า พวกมิซชันนารีมีความประสงค์อย่างไรที่จะไปอยุธยา พวกมิซชันนารีตอบว่าต้องการจะไปแจกหนังสือสอนสาสนาคริสตังแก่ประชาชนที่เมืองนั้น แลจะดูว่าเมืองนั้นสมควรจะเปนแห่งที่ประดิษฐานสาสนาหรือไม่ ดูท่านไม่พอใจกลับถามว่า ทำไมก็ได้รับอนุญาตให้ไปตั้งได้ในจันทบุรีแล้ว ยังไม่พอใจอิกหรือ เมื่อได้สนทนาโต้ตอบกันพักหนึ่งแล้ว ท่านกล่าวเปนคำขาดว่าพวกมิซชันนารีจะไปอยุธยาไม่ได้ เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว พวกมิซชันนารี ๑ เข้าใจว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เวลานั้นเปนพระยาศรีพิพัฒน์รั้งราชการกรมท่า


๔๘ ก็จำเปนต้องลาท่านกลับไปยังที่พักของตน คิดจะดื้อไปให้ได้ แต่ ม.ฮันเตอร์ คัดค้านว่า ถ้าขืนไปเกิดถูกจับขึ้นแล้ว จะเกิดความลำบากมาก ทั้งจะทำให้เสียหนทางของพวกมิซชันนารีต่อไปในข้างหน้าด้วย พวกมิซชันนารีเห็นชอบด้วย จึงเปนอันงดการไปเที่ยวเมืองอยุธยา วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ วันนี้พอหมอบรัดเลกินอาหารเย็นแล้ว ภรรยาของพระยาพิพัฒน์โกษาส่งเรือมาให้รับหมอบรัดเลไปบ้านของท่าน เมื่อไปถึงบ้านแล้วก็ได้รับเชิญให้เข้าไปในห้องรับแขก บุตรีของพระยาพิพัฒน์โกษาคน ๑ เปนไข้ทรพิษประมาณ ๑๐ ปีล่วงมาแล้ว ในตาข้างซ้ายของเธอเกิดเปนต้อขึ้นเพราะการออกไข้ทรพิษนั้น พระยาพิพัฒน์โกษาต้องการจะให้หมอบรัดเลรักษาต้อนี้ บุตรีอิกคนหนึ่งในตระกูลนั้นจะให้รักษาโรคที่จะหมูก (ริดสีดวง) อิกคนหนึ่งจะให้รักษาที่ร่างกายส่วนอื่น ถามว่าจะรักษาได้หรือไม่ หมอบรัดเลตอบว่าจะรักษาได้หรือไม่นั้น ต้องตรวจดูเสียก่อน แล้วจึงเอื้อมมือไปจะจับศีร์ษะเพอตรวจดู เหมือนกับที่เคยทำแก่เด็ก ๆ ในประเทศของตน ในทันใดนั้น บุตรีของพระยาพิพัฒน์โกษา ร้องไห้โฮแลห้ามไม่ให้หมอบรัดเลจับศีร์ษะของเธอเปนอันขาด (ข้อนี้ทำให้หมอบรัดเลแปลกใจมากแลชักโกรธ ด้วยยังไม่เคยรู้ธรรมเนียมของไทยซึ่งถือกันว่าไม่สมควรจะจับศีร์ษะกันเล่นง่าย ๆ หมอบรัดเลเลยจำเปนบทเรียนของตัว ไม่จับศีร์ษะของเด็กซึ่งมีสกูลเช่นนั้นเล่นอิก) ส่วนตัวของพระยาพิพัฒน์โกษาเองต้องการให้รักษาโรครูมะติซำซึ่งได้เปนมานานแล้ว หมอบรัดเลรับรักษาอย่างดีแลพอใจมาก


๔๙ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๗๘ วันนี้ หมอบรัดเลแลภรรยาไปดูเรือสำเภาซึ่งพึ่งเข้ามาจากเมืองจีนเปนครั้งแรกในปีใหม่ของฝรั่ง (ขึ้นต้นแต่เดือนมกราคม) หมอบรัดเลเล่าว่า ในครั้งกระนั้นเมื่อมีเรือสำเภาเข้ามา นับว่าเปนสิ่งที่พอใจของประชาชนยิ่งนัก ด้วยเรือสำเภาเหล่านั้น นำของดี ๆ ของที่หายากแลของแปลก ๆ เข้ามาขายมากมาย เรือลำนี้ คนขายของเปนจีนมากคนด้วยกัน ตั้งแต่ ๒๐ ถึง ๖๐ คน ซึ่งอาศรัยอยู่ในชั้นดาดฟ้าของเรือนั้นเอง พอเรือสำเภาเข้ามาถึงก็มีฝูงคนไปประชุมกันซื้อของหนาแน่น ฤดูที่มีเรือสำเภาเข้ามาเมืองไทยนั้น คือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงเดือนเมษายน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนมกราคมเปนฤดูสำเภาออก ในขาออกไป สำเภามักจะบรรทุกสินค้าต่าง ๆ ออกไป ขายเมืองจีนอิก สินค้าเหล่านั้น คือ น้ำตาลทราย มะพร้าว กำยาน เปลือกไม้สำหรับย้อมสี ฝ้าย เขา กระดูก แลงาช้างเปนต้น วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ วันนี้พวกมิซชันนารี รู้สึกว่าเปนเกียรติยศมาก ที่มีพวกชาววังมาขอให้รักษาโรคที่ร้านจำหน่ายยาถึง ๓ คน คนที่มาก่อนยอมให้รักษาตามตำราของพวกมิซชันนารี ไม่มีความเห็นคัดค้านอย่างใดเลย แต่อิก ๒ คนหลัง ออกจะถือตัวอยู่บ้าง หรือออกจะถือธรรมเนียมจัดเกินไป จนไม่ยอมให้ผู้ช่วยของหมอบรัดเลทำการรักษาอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ๗


๕๐ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ในบรรดาคนไข้ของพวกมิซชันนารี มีพระสงฆ์เปนจำนวนมากเหมือนกัน หมอบรัดเลก็ให้เกียรติยศแก่พระมากกว่าพวกฆราวาสเล็กน้อย คือยอมให้พระเข้านั่งบนม้าในร้านขายยาได้ ส่วนคนสามัญต้องนั่งคอยอยู่ข้างนอก หมอบรัดเลเล่าว่าในสมัยนั้น คนชั้นต่ำเมื่อเห็นพระเปนแต่แสดงความเคารพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ยกมือไหว้) ส่วนคนชั้นสูงนั้น เคารพอย่างจริง ๆ จัง ๆ ทีเดียว ถึงกับต้องคลานเมื่อพบพระเข้าในที่เช่นนั้น คือเมื่อสองสามวันที่ล่วงมานี้เอง มีหญิงชาววังคนหนึ่งมาที่ร้านขายยาเพื่อต้องการยาบางอย่าง ชั้นแรกนางไม่เต็มใจจะเข้าไปข้างในด้วยเห็นมีพระอยู่มาก หมอบรัดเลขอเชิญให้เข้าไป แต่หมอ ปลาดใจมากที่ได้เห็นหญิงชาววังผู้นั้น ลงคลานเข่าเข้าไปแลไม่ยอมนั่งบนม้าเลย อ้างว่าการที่จะขึ้นนั่งบนม้าเสมอกับพระสงฆ์เช่นนั้น เปนการแสดงความไม่เคารพแลผิดธรรมเนียม แต่คนสามัญไม่ได้คิดที่จะคลานเช่นนั้นเลย เปนแต่แสดงความเคารพยำเกรงนิดหน่อยเท่านั้น วันที่ ๔ มินาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ วันนี้หมอบรัดเลแลภรรยากับพวกมิซชันนารีทั้งหมด รวมทั้ง ม.อันเตอร์แล ม. เฮส์ด้วย ได้ไปในการพระราชพิธีแห่งพระศพของพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่ง๑ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์มาประมาณ ๑๐ เดือนแล้ว พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ พวกมิซชันนารีกล่าวไว้ว่า ถ้าท่านมี ๑ คือพระองค์เจ้าลักขณาณุคุณ


๕๑ พระชนม์อยู่จะได้เปนพระมหาอุปราชในอาณาจักร แลว่าเปนความจริงทีเดียวด้วยตั้งแต่ท่านสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่มีผู้ใดได้รับตำแหน่งนั้นมาจนถึง ปี พ.ศ. ๒๓๙๓ วันที่ ๙ มินาคม วันนี้พวกมิซชันนารีได้ไปดูการพนันซึ่งเล่นกันที่แพริมบ้านของพวกมิซชันนารี พวกจีนเปนหัวหน้าตั้งขึ้นพวกจีนออกจะเปนครูสำหรับการพนันในกรุงเทพ ฯ ทุกอย่าง แลไม่ใช่แต่การพนันเท่านั้น ในเวลาเล่นยังมีการมหรศพอิกด้วย ตามริมแม่น้ำได้เล่นกันหลายแห่ง แลถ้าคิดทั่วทั้งกรุงเทพ ฯ บางทีจะกว่าร้อยแห่งด้วยกัน การเปิดโอกาศให้เล่นการพนัน โดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเช่นนี้ ในปีหนึ่งได้เล่นกันถึง ๙ วัน คือในวันขึ้นปีใหม่ของจีน ๓ วัน ขึ้นปีใหม่ของไทยอิก ๓ วัน แลสงกรานต์อิก ๓ วัน วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๗๙ วันนี้ ม. วัลดรอน นายทหารเรืออเมริกัน มาหาพวกมิซชันนารี ม.วัลดรอนมาจากปากน้ำตั้งแต่เมื่อวานนี้ เขาถูกกักอยู่ที่ปากน้ำ หลายเวลาเกือบจะหมดหวัง ที่จะได้หนังสือเดิรทางเข้ามากรุงเทพ ฯ เขาเปนนายทหารเรือคนแรกของเรือสลุปปิก๊อค ผู้ซึ่งเข้ามาถึงประเทศสยาม ม. โรเบิตส์ อรรคราชทูตอเมริกันก็ว่าจะเข้ามาถึงในวันสองวันนี้ พวกมิซชันนารีมีความตื่นเต้นยินดีอย่างเหลือล้น ที่ได้พบแลสนทนากับชาวอเมริกันด้วยกันเปนครั้งแรก ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยอันอ้างว้างแลเปล่าเปลี่ยวนี้


๕๒ ในอาทิตย์นี้ คนไข้ของหมอบรัดเลมีจำนวนมาก คิดเฉลี่ยราววันละ ๑๔๐ คน แต่ที่ร้านขายยาไม่สู้จะยุ่งอะไรมากนัก เพราะหมอบรัดเลได้จัดระเบียบไว้เรียบร้อย แม้จะมีงารมากก็เรียกว่ามากอย่างมีระเบียบ คือจัดให้นางบรัดเลแลหญิงผู้ช่วยเปนผู้จ่ายยาให้แก่คนไข้พวกผู้หญิง ให้ ม. ยอนแลจีนผู้ช่วยเปนธุระจ่ายยาให้แก่พวกคนไข้ผู้ชาย ตัวหมอบรัดเลคอยดูแลกำกับงารทั่วไป แลยังมีครูภาษาไทยของหมอบรัดเลนั่งโต๊ะตรงกับหมอบรัดเลอิกคนหนึ่ง คอยเขียนก๊าดคนป่วย แลคำถามคำตอบในระหว่างหมอบรัดเลกับคนป่วย การที่หมอบรัดเลทำการเช่นนั้น โดยประสงค์จะเรียนภาษาไทยในเรื่องไข้เจ็บให้ชำนาญยิ่ง ๆ ขึ้น วันที่ ๓ เมษายน วันนี้ เรเวอเรนต์รอบินสัน แสดงปาฐกถาที่แพของพวกมิซชันนารี มีคนไปฟังกันหนาแน่น จนถึงแพปริ่มน้ำ ฉะเพาะผู้ที่อยู่สวดมนต์ไหว้พระเวลาที่เลิกปาฐกถาแล้ว ยังมีจำนวนถึง ๑๗๐ คน วันที่ ๗ เมษายน วันนี้ มีพวกนายทหารเรือในเรือสลุปปิก๊อกมาหาพวกมิซชันนารี ๔ คน ๆ หนึ่งเปนนักประพันธ์ผู้มีนามโด่งดัง ชื่อหมอ สวิเดนเบิกแพทย์ทหารเรือ ซึ่งเคยแต่งหนังสือชื่อ ตรี เยีย อิน ธี แปซิฟิก พวกมิซชันนารีมีความยินดีมาก ที่พวกนายทหารเรือเหล่านั้นมาหาทั้งได้ค้างอยู่กับพวกมิซชันนารีถึง ๓ คืน ในวันนี้เอง เจ้าฟ้าใหญ่ (พระจอมเกล้า) พระราชอนุชาของพระ เจ้าแผ่นดินแลเปนประธานของพระสงฆ์ในอาณาจักร มีรับสั่งให้หมอ


๕๓ บรัดเลไปเฝ้าที่วัด ซึ่งอยู่เหนือที่พักของพวกมิซชันนารีขึ้นไปราว ๑๒๐ เส้น๑ หมอบรัดเลรู้สึกหนักใจอยู่บ้างในเรื่องพาภรรยาไปด้วย เพราะเจ้าฟ้าใหญ่เปนพระที่มีพระเกียรติยศสูง ดูไม่สู้จะเหมาะนักในการที่จะนำผู้หญิงไปเฝ้าพระองค์ แต่คิดว่าเปนการดีเหมือนกันที่จะให้คนไทยรู้เสียบ้างว่าชาวอเมริกันไม่นับผู้หญิงว่าเปนเพสที่เลวกว่าชายเลย พอไปถึงพระองค์ทรงรับรองหมอบรัดเลอย่างดี แลเชิญให้นั่งที่โต๊ะแห่งหนง แล้วพระองค์เองก็ประทับที่เก้าอี้ ตรงข้ามกับเขาทั้ง ๒ ดูเหมือนว่าพระองค์มิได้ทรงรังเกียจในการที่หมอบรัดเลพาภรรยามาด้วยเลย เจ้าฟ้าใหญ่พระองค์นี้ หมอบรัดเลกล่าวว่า พระองค์สมควรจะเปนรัชทายาทโดยตรงทีเดียว แต่ตามขัตติยราชประเพณีราชสมบัติต้องได้แก่พระเชษฐาธิราชก่อน เหตุนั้นพระองค์จึงเสด็จออกทรงผนวชเสีย วันที่ ๑๐ เมษายน วันนี้เปนวันพระของพวกมิซชันนารี มีการสวดมนต์ไหว้พระกันที่บ้านของพวกมิซชันนารีตามเคย วันที่ ๑๓ เมษายน วันนี้มีการเลี้ยงน้ำชาที่บ้านของ เรเวอเรนต์ รอบินสัน ม. โรเบิตส์ อรรคราชทูตอเมริกัน เรเวอเรนต์เทเลอร์ แล ม. ฮันเตอร์ หมอบรัดเลพร้อมทั้งภรรยา ได้มาประชุมที่บ้านเรเวอเรนต์ รอบินสัน มีการสนทนาปราสัยกันเปนอย่างดี เมื่อเลี้ยงน้ำชาเสร็จแล้วมีการสวดมนต์ไหว้พระเพื่อเปนการแสดงความเคารพต่อพระเปนเจ้าด้วย วันที่ ๑๖ เมษายน วันนี้ ม. โรเบิตส์ อรรคราชทูตอเมริกัน เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ๑ คือวัดราชาธิวาส เวลานั้นยังเรียกวัดสมอราย


๕๔ วันที่ ๑๘ เมษายน วันนี้ ม. ยอน ผู้ช่วยในร้านขายยา ลาหยุดพักไปรับใช้ท่านอรรคราชทูตอเมริกัน แลในเย็นวันนี้เองเปนวันที่ท่านอรรคราชทูตออกจากกรุงเทพ ฯ กลับไปประเทศอเมริกา วันที่ ๒๓ เมษายน เวลาเช้าหมอบรัดเลได้รับสั่งจาก เจ้าฟ้าน้อย ขอเชิญให้หมอบรัดเลไปเฝ้าเจ้าฟ้าใหญ่ ไปพร้อมกับพระองค์แลส่งเรือเก๋งประทานมาให้รับหมอบรัดเลไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จโดยเรือพระที่นั่งอิกลำหนึ่งต่างหากตามไปข้างหลัง ที่วัดวันนี้มีผู้คนมาทำบุญกันแน่นหนา เมื่อไปถึงแล้วคอยอยู่สักครึ่งชั่วโมงจึงได้เข้าเฝ้า เจ้าฟ้าใหญ่เสด็จออกมาประทับบนพระเก้าอี้ตรงหน้าหมอบรัดเล หมอบรัดเลนั่งเฝ้าอยู่บนเก้าอี้ ซึ่งสูงกว่าบันดาผู้ที่หมอบเฝ้าอยู่ทุก ๆ คน สงสัยว่าจะต้องกล่าวคำขอโทษหรือไม่ แต่ถือเสียว่าเปนธรรมเนียมฝรั่งแลทั้งไม่มีผู้ใดต้องการให้กล่าวคำขอโทษด้วย จึงมิได้กล่าวคำขอโทษอย่างใด ๆ หมอบรัดเลเห็นว่าอาการประชวรของพระองค์ไม่ใช่โรคเล็กน้อย โรคชนิดนี้ หมอไทยเรียกกันว่า โรคลม (อัมพาต) เดิมจับตั้งแต่พระบาทแล้วลามสูงขึ้นไปโดยลำดับจนถึงเท่าที่เปนอยู่ในบัดนี้ (ถึงพระพักตร) แลเท่าที่หมอไทยได้รักษากันมาแล้วนั้น ใช้ยาชนิดร้อน ๆ พอก หมอบรัดเลตรวจอยู่เปนเวลานาน จึงเห็นว่าตามที่หมอไทยว่าเปนโรคเกิดแต่ลมแลรักษาโดยวิธีนั้น ไม่ถูกเสียแล้ว เมื่อเจ้าฟ้าใหญ่แลเจ้าฟ้าน้อยได้ทรงสดับคำชี้แจงกราบทูลของหมอบรัดเลเช่นนั้น ก็ทรงเห็นว่ามีความจริงมาก


๕๕ ใคร่จะทรงเลิกหมอไทยแลให้หมอบรัดเลรักษาต่อไป แต่ชั้นต้นก็ยังทรงลังเลพระหฤทัยอยู่ จนเมื่อหมอบรัดเลได้ชี้แจงถวายให้ชัดเจนอิกครั้งหนึ่งแล้ว จึงตกลงให้เลิกหมอไทย แล้วมอบภาระในเรื่องการรักษาพระโรคให้แก่หมอบรัดเลต่อไป ในเวลาที่หมอบรัดเลออกจากที่เฝ้าแล้ว มีคนนำไปพักยังตึกเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีหน้าต่างเปิดได้รอบ มีพรมปูพื้นแลเครื่องประดับห้องอย่างธรรมเนียมอเมริกัน แลมีอาหารลูกไม้ขนมจัดไว้เรียบร้อย สำหรับรับรองหมอบรัดเลด้วย ในระหว่างที่หมอบรัดเลรับประทานอาหารอยู่นั้น มีคนไปล้อมดูกันมากเพราะยังไม่เคยเห็นฝรั่งชาวอเมริกันกินอาหารเลย วันที่ ๒๕ เมษายน เช้าวันนี้เจ้าเมืองนคร๑ ซึ่งเข้ามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสยาม ให้มาเชิญหมอบรัดเลกับ ม. ฮันเตอร์ไปหาหมอบรัดเลแล ม. ฮันเตอร์ ก็ไปหาตามความประสงค์ เจ้าเมืองนครผู้นี้หมอบรัดเลว่าเปนคนที่มีอัธยาศัยใจคอดีนัก แลว่าชอบชาวประเทศที่เจริญรุ่งเรือง เพื่อเปนที่ระลึกของตัวเจ้าเมืองแลของลูกสาว เจ้าเมืองนครได้ให้ผ้านุ่งไหมแก่ หมอบรัดเล ๓ ผืน แลสั่งว่ามะรืนนี้ให้ไปหาอิก วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๗๙ วันนี้ หมอบรัดเลกับภรรยา ไปหาเจ้าพระยานคร ฯ ตามที่ได้รับเชิญไว้ว่าจะไป เจ้าพระยานครรับรองเปนอย่างดี ชั้นแรกรับที่เรือนหลังหนึ่งริมแม่น้ำ ๒ ภายหลังชวนหมอบรัดเลไปยังเรือนอิกหลังหนึ่ง ๑ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ๒ อยู่ตรงหน้าวัดมหาธาตุ


๕๖ ใหญ่โตกว้างขวางมาก เรือนเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะพึ่งสร้างขึ้นเปนที่พักของเจ้าพระยาคนนี้ ในระหว่างที่เข้ามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินคราวนี้เอง เจ้าพระยาคนนี้ ได้แสดงกิริยาตามแบบอเมริกันแลอังกฤษทุกอย่างเท่าที่ตนรู้ จัดให้หมอบรัดเลกับภรรยานั่งเก้าอี้นวมยาวตัวเดียวกัน หมอบรัดเลนั่งข้างซ้ายของภรรยา ในระหว่างที่นั่งสนทนากันนี้ เจ้า พระยาเรียกผู้หญิงหลายคนเข้ามาในห้องนั้น พวกผู้หญิงเหล่านี้ หมอบรัดเลนึกว่าเปนภรรยาของเจ้าเมืองคนนี้แทบทุกคน ด้วยหมอบรัดเลได้เห็นเองในระหว่างเวลาอยู่ณะที่นั้นขึ้นไปนั่งร่วมอาสนกับเจ้าพระยานคร อันเปนการผิดธรรมเนียมของคนที่ไม่ใช่สามีภรรยากัน เจ้าพระยานครได้ให้จัดโต๊ะเลี้ยงน้ำชาแก่หมอบรัดเลแลภรรยา การจัดโต๊ะพยายามจะทำให้เปนไปตามแบบของชาวอเมริกันทุกอย่าง ชาก็เลือกชนิดที่ดี ขนมก็ล้วนแต่อย่างอร่อย มะปรางก็หวานสนิทน่ารับประทานทุกอย่าง เมื่อกินน้ำชากันเสร็จแล้ว เจ้าพระยานครให้หมอบรัดเล ตรวจโรคลูกชายซึ่งมีอายุได้ ๑๘ หรือ ๒๐ ปี แลตรวจตัวเจ้าพระยานครเอง เพื่ออยากทราบว่ากินยาชนิดไรจึงจะดี ที่สุดให้ตรวจโรคเนื้องอกที่ข้อมือของลูกสาวคนหนึ่งด้วย วันที่ ๒ พฤษภาคม บ่ายวันนี้ หมอบรัดเลกับเรเวอเรนต์รอบินสัน ไปหาเจ้าพระยานครอิก คอยอยู่ประมาณชั่วโมง ๑ เจ้าพระยานครจึงได้ออกมา ยาดีเกลือ ซึ่งหมอบรัดเลให้ไว้แต่คราวก่อนก็ยังไม่ได้กิน โดยกลัวว่าจะเปนยามีพิษ หมอบรัดเลได้พยายามอธิบายให้เห็นว่า


๕๗ ไม่จำเปนต้องกลัว แต่เจ้าพระยานครต้องการจะพิศูจน์ให้เห็นประจักษ์แก่จักษุ จึงได้เรียกคนใช้มาคนหนึ่ง ซึ่งเปนคนมีความปรกติสุขดี ให้กินยาดีเกลือนั้นต่อหน้าของตน โดยกล่าวว่า ถ้ายาดีจริงแล้ว ท่านจึงจะขอใหม่ คนใช้นั้นก็กระทำตามคำสั่ง วันที่ ๔ พฤษภาคม วันนี้ เรเวอเรนต์ ยอนสันกับภรรยา กลับมาจากเมืองจันทบุรี ซึ่งได้ไปอยู่ถึง ๖ เดือน ในระหว่างที่อยู่เมืองจันทบุรีนั้น เขาได้สอนสาสนาแลแจกจ่ายหนังสือทุก ๆ วันแก่พวกจีนนับด้วยจำนวนพัน เขาเดิรทางมา ๔ วัน ถึงปากน้ำ แลเดิรทางจากปากน้ำเข้ามากรุงอิก ๓ วัน เสียเวลาอยู่ที่ปากน้ำเสีย ๒ วันเปล่า ๆ โดยความ เฉื่อยชาของเจ้าหน้าที่ วันที่ ๕ พฤษภาคม บรรดาคนไข้ของพวกมิซชันนารีมีทั้งต่างจังหวัดแลในพระนคร โดยมากมาจากอยุธยา สามโคก ปากลัดแลปากน้ำ ซึ่งไกลจากที่อยู่ของพวกมิซชันนารีออกไปตั้งหลาย ๆ ไมล์ ในเวลานี้ชื่อเสียงของหมอบรัดเลเลื่องลือไปทั้งในที่ใกล้แลที่ไกล มีคนนับหน้าถือตากันมากว่าเปนหมอที่มีความรู้ดี วันที่ ๖ พฤษภาคม วันนี้ เจ้าฟ้าใหญ่มีลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งมาถึงหมอบรัดเลว่า บัดนี้พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการจะให้หมอหลวงมาประจำรักษาพระองค์ แลได้ทรงสัญญาว่าหมอหลวงนั้นจะรักษาให้หายได้ ภายใน ๓ วันเท่านั้น พระองค์ได้ทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทรง ๘


๕๘ ทราบเหมือนกัน ว่าเวลานี้หมอบรัดเลได้ถวายพระโอสถอยู่ แลว่าพระองค์ทรงสบายขึ้นมากตั้งแต่ได้เสวยพระโอสถที่หมอบรัดเลถวาย แต่ครั้นจะทรงปฏิเสธหมอหลวงเสียทีเดียว ก็เกรงว่าจะเปนการขัดพระราชโองการ ฉนั้น พระองค์จึงได้แจ้งแก่หมอบรัดเลว่า ขอให้หมอหลวงได้รักษาพระองค์ตามพระราชประสงค์ ขอหมอบรัดเลอย่าได้มีความรังเกียจเลย ถ้าว่าหมอหลวงไม่สามารถรักษาพระองค์ให้หายตามกำหนดนั้นแล้ว พระองค์จึงจะขอให้หมอบรัดเลถวายพระโอสถต่อไปใหม่ หมอบรัดเลทูลตอบไปว่า มีความยินดีจะให้หมอหลวงได้ถวายพระโอสถตามพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน แลให้อยู่ในความรับผิดชอบของหมอหลวงนั้นทีเดียว แลไม่ยอมรับถวายพระโอสถพระองค์อิกต่อไป ด้วยเกรงว่าจะเกิดมีการแกล้งกันขึ้นในระหว่างหมอซึ่งอาจจะเปนอันตรายแก่คนไข้ (คือว่าเมื่อต้องการจะให้หมออิกฝ่ายหนึ่งเสียชื่อก็จะแกล้งเอายาที่แสลงแก่โรควางแล้วก็ทิ้งเสีย) อนึ่งหมอบรัดเลเชื่อว่าพระอาการโรคของเจ้าฟ้าใหญ่เท่าที่ตนได้รักษาไปแล้วนั้น นับว่าเกือบหายดีแล้ว แลถึงแม้ว่าจะไม่ได้เสวยพระโอสถอย่างใด ๆ อิก พระองค์ก็มีแต่จะทรงสบายขึ้นทุก ๆ วัน เรื่องนี้ หมอบรัดเลเชื่อว่าเจ้าฟ้าใหญ่ทรงทราบอยู่ในพระหฤทัยเปนอันดี แลปอตกับตัน ก็เห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะว่าพระโรคที่เจ้าฟ้าใหญ่ทรงประชวรนั้น หมอบรัดเลเชื่อว่าหมอไทยน้อยตัวนักที่จะรู้ถึง แลหมอบรัดเลอยากรู้นักว่าหมอไทยคนไหนที่ได้กล้าสัญญาว่าจะรักษาให้หายได้ในภายใน ๓ วัน เท่านั้น ตัวเขาจะได้สบายใจไม่ต้องเกี่ยวข้องอิกต่อไป


๕๙ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม วันนี้ หมอบรัดเลไปหาเจ้าพระยานครอิกไปคราวนี้เอาหนังสือใบเบล คัมภีร์แมตธิว ซึ่งมิซซิส จัดสัน แปลไว้เปนภาษาไทย ไปให้เจ้าพระยานครด้วย หมอบรัดเลอ้อนวอนพระเปนเจ้าขอให้ดลใจเจ้าพระยาคนนี้ให้อ่านหนังสือนี้ให้จงได้ อนึ่ง วันนี้เองเปนวันที่ เจ้าพระยานคร เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน วันที่ ๑๙ พฤษภาคม วันนี้ ลูกชายของเรเวอเรนต์ รอบินสัน ถึงแก่ความตาย หมอบรัดเลพยายามรักษาอย่างเต็มความสามารถ แต่เกินกำลังที่หมอบรัดเลจะเอาไว้ได้ หมอบรัดเลโทมนัสถึงแทบจะเลิกเปนหมอ (ลูกชายของรอบินสันคนนี้ หมอบรัดเลว่าเปนบิด) วันที่ ๓ มิถุนายน วันนี้ เรเวอเรนต์รอบินสัน ได้ส่งหนังสือพิมพ์แผ่นหนึ่งเปนตัวอักษรไทยมาให้หมอบรัดเล พิมพ์แยกถ้อยคำถูกต้องดีมาก หนังสือฉบับนี้ หมอบรัดเลว่าเปนหนังสือไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในเมืองไทย วันที่ ๔ มิถุนายน เย็นวันนี้ เจ้าพระยาพระคลังกลับจากจันทบุรีกล่าวกันว่า ท่านเดิรทางบกมาจนถึงบางปลาสร้อย แล้วจึงได้ลงเรือต่อมายังกรุงเทพ ฯ เพราะระหว่างเมืองจันทบุรีกับบางปลาสร้อย มีคลื่นลมจัดเรือเดิรไม่ได้ เจ้าพระยาพระคลังไปสร้างป้อมป้องกันพวกญวณที่จันทบุรีซึ่งเปนราชการสำคัญ อยู่เสียเปนเวลานาน จึงพึ่งกลับมากรุงเทพ ฯ วันนี้เอง



๖๐ วันที่ ๑๓ มิถุนายน เย็นวันนี้ ขณะที่หมอบรัดเลนั่งอยู่ในห้องอ่านหนังสือ มีเสียงร้องทักเปนภาษาอังกฤษว่า Hallo Doctor ! How do you do? เปนอย่างไรหมอ สบายดี หรือ หมอบรัดเล ได้ยินเช่นนั้น จึงหันไปดูทางนอกชานว่าจะเปนชาวอังกฤษที่ไหนมา เมื่อได้เห็นคนรูปร่างสันทัด ผิวเนื้อดำแดง แต่งตัวเปนทหารเรือ มีกระบี่กาไหล่ทองแขวนอยู่ข้าง ๆ จึงเดิรตรงเข้าไปหา ขณะที่หมอบรัดเล เดิรตรงเข้าไปหานี้เอง นายทหารเรือผู้นั้นอดขันไม่ได้ หัวเราะออกมาดัง ๆ อาการเช่นนั้นทำให้หมอบรัดเลจำได้ว่าไม่ใช่ใครที่ไหนมา คือเจ้าฟ้าน้อยนั่นเอง พระองค์ทรงเครื่องทหารเรือที่ได้รับพระราชทานเมื่อเร็ว ๆ นี้ แลการที่ทรงเครื่องมาเช่นนี้ ก็โดยพระประสงค์จะทรงสัพยอกหมอบรัดเลกับภรรยาเล่นเพื่อเปนการสนุกซึ่งพระองค์ทรงโปรดนัก วันที่ ๑๕ มิถุนายน เย็นวันนี้ มีการประชุมสวดมนต์ที่บ้านหมอบรัดเล การประชุมชนิดนี้มีทุกวันพุธ ที่บ้านของพวกมิซชันนารีคนใดคนหนึ่ง พวกมิซชันนารีโปรเตสแตนต์ในกรุงเทพ ฯ มากันทั้งหมด เมื่อสวดมนต์แล้วมีเทศน์ด้วย แต่ผู้ที่จะเทศน์นั้นผลัดเปลี่ยนกันเวียนไปตามตัวอักษร เมื่อถึงชื่อผู้ใด ผู้นั้นต้องเปนผู้เทศน์ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พระยาพิพัฒน์แลพระยาโชฎึกต้องรับพระราชอาญา วันนี้ ประชาชน มีความตนตกใจกันเปนอันมาก โดยที่ได้ทราบว่า


๖๑ ข้าราชการผู้ใหญ่ ๒ คน คือ พระยาโชฎึก กับพระยาพิพัฒน์ต้องรับพระราชอาญาเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เปนเช่นนี้ คือ พระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงทราบว่าเรือสำเภาจีนทั้งหมด เมื่อขายสินค้าหมดแล้ว บันทุกเข้าสารกลับออกไปแทนไม้ฝาง ซึ่งเปนไม้ที่ได้ภาษีขาออกสูง ส่วนเข้าสารได้ภาษีขาออกต่ำ ปีนี้พระเจ้าแผ่นดินตั้งพระหฤทัยจะให้ไม้ฝางออกจากประเทศให้มาก จะได้รับภาษีงาม ๆ เมื่อมาทรงทราบว่าไม่เปนไปดังพระราชดำริห์เช่นนั้น พระองค์ จึงมีพระราชโองการให้จำพระยาทั้ง ๒ ซึ่งเปนเจ้าหน้าที่นั้นทันที โดยมิได้มีผู้พิพากษาหรือตุลาการตัดสินเลย เปนด้วยปีนี้ พระองค์ต้องพระราชประสงค์จะได้พระราชทรัพย์มาก ๆ เพื่อจะเอามาทรงใช้จ่ายในการสร้างวัด ซึ่งทรงตั้งพระหฤทัยจะให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด วันที่ ๒ กรกฎาคม วันนี้ หมอบรัดเลได้รับรอง ม. รีดแล ม. เดเวนปอตซึ่งพึ่งมาจากสิงคโปร์ ถึงกรุงเทพ ฯ ในวันนี้ ด้วยความยินดี นาง รีด ยังอยู่ที่เรือแลนาง เดเวนปอต ยังป่วยอยู่ที่สิงคโปร์ เขาทั้ง ๒ มาเที่ยวนี้ เตรียมพร้อมสำหรับการงารของมิซชันนารีคณะแบบติสต์ บอด คือคนหนึ่งเปนช่างพิมพ์หนังสือ ได้นำเครื่องพิมพ์อย่างดีมาด้วยเครื่อง ๑ พร้อมทั้งเครื่องอาไหล่สำหรับใช้ในการพิมพ์หนังสือด้วย เดเวนปอต จะเข้าสมทบกับแพนกไทย (คือพวกที่มีธุระเกี่ยวข้องกับคนไทย) รีด จะเข้าสมทบกับแพนกจีน (คือพวกที่มีธุระเกี่ยวข้องกับจีน)


๖๒ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม วันนี้ เปนวันมีเหตุสำคัญของหมอบรัดเล คือเปนวันที่เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้หมอบรัดเลนำเครื่องมือที่ใช้ในการตัดผ่าทั้งหมดไปแสดงที่บ้านของท่าน หมอบรัดเล ยอมทำตามความประสงค์ มีข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นเจ้าเมืองซึ่งอยู่ในจังหวัดต่างๆ มาดูกันมาก เจ้าพระยาพระคลังเข้าใจ แลรู้จักวิธีใช้เครื่องมือเหล่านี้ดีกว่าคนที่มาดูทั้งหมด ในวันนี้เองหมอบรัดเล เห็นว่าเปนโอกาศอันดีที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าพระยาพระคลังสักอย่างหนึ่ง คือมีที่ดินแปลงหนึ่งของเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งหมอบรัดเลคิดว่าเปนสถานอันเหมาะสำหรับจะตั้งโรงสวดสำหรับคนไทยขึ้น ถ้าขอเช่าจากเจ้าพระยาพระคลังได้ คำขอร้องเรื่องนี้ก็เปนผลสำเร็จ เจ้าพระยาพระคลังยอมให้พวกมิซชันนารีเช่าที่แห่งนั้น เมื่อพวกมิซชันนารีเช่าที่ตรงนั้นได้แล้ว จึงได้สร้างโรงสวดสำหรับคนไทย ขึ้นในระหว่างบ้านอรรคราชทูตแลคลอง นับว่าเปนสาขาแห่งหนึ่งของคณะ อเมริกัน บอด ออฟ คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ โฟเรน มิซชันส์ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม เมื่อวันที่ ๑๕ ม.ริด กับ ม.เดเวนปอต ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง เรียนถามเรื่องจะอนุญาตให้เขาทั้งสองอยู่ตรงไหน แลจะให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่แห่งใด เจ้าคุณพระคลังตอบว่า พวกฝรั่งจะต้องอยู่ในหมู่เดียวกับ ม. ฮันเตอร์ ( ที่ตำบลกฎีจีน ) ทั้งหมด ( คือ โรงงารของ ม. ฮันเตอร์ อยู่ตรงกลาง พวกมิซชันนารีคณะแบบ


๖๓ ติสต์ บอด อยู่ข้างขวา พวกคณะอเมริกัน บอด ออฟ คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ โฟเรน มิซชันส์ อยู่ข้างซ้าย ) วันที่ ๑๘ กรกฎาคม วันนี้เปนวันฉลองวันเกิดของหมอบรัดเล เปนวันตายของมารดาหมอบรัดเล แลเปนวันที่หมอบรัดเลมาถึงกรุงเทพ ฯ แต่นางบรัดเล กับมาติลดาไปเปลี่ยนอากาศที่ปากน้ำ นางบรัดเลขึ้นไปเที่ยวบนเรือของพวกแขกชาวเมืองสุหรัดลำหนึ่ง ได้พบจดหมายแลกระดาษต่าง ๆ เข้าหีบหนึ่ง จดหมายแลกระดาษต่าง ๆ เหล่านี้ พวกมิซชันนารีคอยรับมา ๑๘ วันแล้ว ตั้งแต่เรือลำนี้ข้ามสันดอนเข้ามา ( สมัยนั้น เปนสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญ เมล์จากสิงคโปร์มากรุงเทพ ฯ อย่างเร็วที่สุด ๔ เดือนจึงจะมีครั้งหนึ่ง จดหมายแลสรรพหนังสือต่าง ๆ ๖ เดือนจึงจะมาถึงสักครั้ง ๑) วันที่ ๙ สิงหาคม วันนี้เรือแฟตเติล บาร์รี ของบริษัทบอมเบ ซึ่งเปนเรือลำที่หมอบรัดเลแลครอบครัวพร้อมทั้งพวกมิซชันนารี โดยสารมากรุงเทพ ฯ คราวแรกนั้น เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เรเวอเรนต์โยนส์ พร้อมด้วยภรรยาแลลูกกับนาง เดเวนปอต โดยสารเข้ามากรุงเทพ ฯ ในเที่ยวนี้ วันที่ ๒๖ สิงหาคม เช้าวันนี้ ช้างเผือกเชือกหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดิน เจ็บมาก พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงสบายพระหฤทัย เพราะความตายของพระยาช้างซึ่งเปนที่นับถือกันเช่นนั้น ถือกันว่าเปนลางร้ายสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน แลเรื่องราวก็ได้เคยเปนมาแล้ว คือพระราชบิดาแลพระ


๖๔ อัยกาของพระองค์ก็เสด็จสวรรคตภายหลังเมื่อพญาช้างเผือกล้มในไม่ สู้ช้านักเหมือนกัน วันที่ ๑ กันยายน พญาช้างเผือกตัวสำคัญของอาณาจักร์ ยังคงอยู่ในอาการหนัก พระเจ้าแผ่นดิน ทรงตกพระหฤหัยมาก วันที่ ๙ กันยายน เจ้าพระยาพระคลัง มีธุระยุ่งด้วยเรื่องช้างเผือกเจ็บมาก ต้องไปคอยดูอาการทั้งกลางวันแลกลางคืน พร้อมด้วยข้าราชากรชั้นผู้ใหญ่แลหมอหลวง พวกมิซชันนารีคอยจะพบท่านเพื่อต้องการพูดจาเรื่องเรือนที่จะให้ท่านปลูกให้เช่า แต่หมดหวังที่จะได้พบจะพบกับท่านได้ก็เมื่อพญาช้างเผือกได้ถึงแก่ความตายหรือหายนั่นแหละ วันที่ ๑๗ กันยายน แม้ว่า เจ้าพระยาพระคลังจะอยู่บ้าน พวก มิซชันนารี ก็ไม่มีโอกาศจะพบท่านได้ ด้วยท่านมัวแต่กังวลปรึกษาหารือถึงเรื่องพญาช้างเผือกป่วยเท่านั้น จนแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอนเลย (แต่พญาช้างเชือกนั้น หายป่วย พระเจ้าแผ่นดินมีพระชนม์ ครองราชสมบัติยืนนานมาได้อิกถึง ๑๔ พระพรรษา) วันที่ ๑๘ ตุลาคม วันนี้ สมเด็จพระราชินี พระมารดาของเจ้าฟ้า ใหญ่แลเจ้าฟ้าน้อย เสด็จสวรรคต ครั้งนี้ข้าราชการน้อยใหญ่ทั้งหมดต่างมีธุระยุ่งไม่น้อยไปกว่าคราวที่พระยาช้างเผือกได้ป่วยลงนั้น พวกราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าแลฝ่ายในทั้งหมด ได้โกนศีร์ษะกันเพื่อเปนการไว้ทุกข์



๖๕ วันที่ ๒๕ ตุลาคม เช้าวันนี้ มีผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่ง ชาวเมืองอยุธยามาหาหมอบรัดเล ในขณะที่หมอบรัดเลพูดกับหญิงนั้นถึงเรื่องสวรรค์แลนรก หล่อนตอบว่าไม่ได้ตั้งใจจะไปอยู่ที่ไหนทั้งนั้น จนกว่าหล่อนจะได้พูดจาตกลงกับสามีเสียก่อน ถ้าสามีจะไปสวรรค์ หล่อนก็จะไปด้วย ถ้าสามีจะไปนรก หล่อนก็จะไปอยู่กับเขายังที่นั้นด้วยเหมือนกัน การที่หล่อนพูดเช่นนี้ เห็นได้ว่ามีความรักสามีผิดกับคนธรรมดา แลมีความเมตตาปราณีแก่ลูกชายแลลูกสาวทั้ง ๒ ซึ่งพามาให้หมอบรัดเลรักษาโรคหูหนวกนั้นเปนอันมาก วันที่ ๒๖ ตุลาคม เมื่อวานนี้ เรเวอเรนต์ รอบินสัน ได้พิมพ์หนังสือไทยขึ้นฉบับหนึ่ง โดยเครื่องพิมพ์ของพวกมิซชันนารี คณะแบบติสต์ พิมพ์คราวนี้ ดีกว่าพิมพ์คราวก่อนซึ่งตัวพิมพ์ยังแกะด้วยไม้นั้นมาก พวกมิซชันนารีหวังว่าการพิมพ์หนังสือนี้ ต่อไปข้างน่าคงจะทำให้ประชาชนไทยมีความนิยมกันมาก วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน วันนี้ พวกมิซชันนารี ไปดูเรือรบซึ่งหลวงนายสิทธิ์ต่อที่อู่เมืองจันทบุรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ เรือลำนี้มีน้ำหนัก ๗๐๐ ถึง ๘๐๐ ตัน คาดกันว่าจะเปนเรือที่ใช้การได้ดีและเปนเกียรติยศแก่ผู้ต่อเปนอันมาก เปนเรือลำที่ ๔ ซึ่งไทยต่อตามแบบฝรั่ง วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน วันนี้ เรือคราบดิเลบอย ของแขกอาหรับเข้ามาจากสิงคโปร์ลำ ๑ แต่ไม่ได้เอาเมล์เข้ามาด้วย ทำให้พวกมิซชันนารีหลง หวังใจผิด ๙


๖๖ วันที่ ๒ ธันวาคม วันนี้เปนวันแรกที่หมอบรัดเล ได้เริ่มปลูกฝีกันไข้ทรพิษ โดยวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในแขนของเด็ก ๆ ประมาณ ๑๕ คน ถ้าหากว่าการปลูกฝีเปนผลสำเร็จดีแล้ว จะเปนประโยชน์แก่ชาวสยามซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการออกฝีดาดกันทุก ๆ ปีนั้นมากทีเดียว หมอบรัดเล ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง หารือเรื่องปลูกฝีกันไข้ ทรพิษ เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย แลกล่าวว่าเปนการบุญอย่างยิ่งจะหาการบุญอย่างอื่นมาเปรียบเทียบได้โดยยาก ถ้าว่า หมอบรัดเล คิดการปลูกฝีเปนผลสำเร็จ แลท่านจะยินดีอนุญาตให้หมอบรัดเล เรียกเอาขวัญเข้าจากคนที่ได้ปลูกฝีขึ้นแล้วคนละ ๑ บาท แต่หมอบรัดเล ทำการครั้งนั้นยังไม่สำเร็จ อยู่ตั้ง ๔ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๓๘๓ การปลูกฝีจึงได้เปนผลสำเร็จ จดหมายเหตุทั่วไป สำหรับ พ.ศ. ๒๓๗๙ พวกมิซชันนารีแยกกันตั้งอยู่ ๓ แห่ง คือ เรเวอเรนต์ รอบินสันตั้งอยู่ฝั่งตวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งพระนคร ใต้พระราชวังลงไปประมาณ ๘๐ เส้น ใกล้กับโรงสวดของคณะแบบติสต์ เรเวอเรนต์ ยอนสัน ตั้งอยู่ฝั่งพระนครเหมือนกัน ใต้พระราชวังไปประมาณ ๒๐ เส้น หรือเหนือบ้านเรเวอเรนต์ รอบินสัน ขึ้นมาประมาณ ๖๐ เส้น หมอบรัดเล ตั้งอยู่ฝั่งตวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องกับรอบินสันเล็กน้อย ในบริเวณที่พวกมิซชันนารีตั้งอยู่นั้น นับว่าเหมาะทั้ง ๒ ฝั่ง เพราะ


๖๗ อยู่ในที่ประชุมชนชาติต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนตั้งล้านกว่า แต่เปนจีนโดยมากพวกมิซชันนารียังได้เที่ยวไปตามบริเวณห่างจากที่อยู่ออกไปตั้ง๑๒๐๐เส้น ซึ่งเต็มแน่นไปด้วยหมู่ราษฎร ผู้มีความกระหายอยากได้หนังสือแจกยิ่งนัก ทั้งในทิศเหนือแลทิศใต้ของพระนคร ในบรรดาฝูงชนเหล่านั้นมีพวกพม่าแลญวนอยู่ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐๐๐ คน ซึ่งสมควรจะแจกหนังสือแลสั่งสอนสาสนา พวกมิซชันนารี ๒ คน คือ เรเวอเรนต์ ยอนสันกับภรรยา ได้ไปจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเปนเมืองอยู่ในทิศตวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพ ฯ ไกลออกไปประมาณ ๖๔๐๐ เส้น ใกล้กับเขตแดนเขมร เมืองนี้มีราษฎรประมาณ ๑๐๐๐๐ คน ฉเพาะแต่ในเมืองมีราษฎรประมาณ ๑๐๐๐ ถึง ๕๐๐๐ คน พวกมิซชันนารีได้รับอนุญาต ให้แจกหนังสือแลสอนสาสนาแก่พวกจีนที่เมืองนี้ได้ตามความชอบใจ เรเวอเรนต์ ยอนสันกับภรรยา ได้อยู่ที่เมืองจันทบุรี กับครอบครัวของหลวงนายสิทธิ์ลูกชายเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งเปนผู้เชิญให้ไปถึง ๖ เดือน แพนกจีน ได้แจกหนังสือไปเปนจำนวนมาก แก่พวกจีนที่อยู่ในเมือง แลพวกจีนที่มาสำเภาจากเมืองจีน หนังสือจีนทั้งหมดที่ได้แจกไปประมาณ ๒๐๐๐๐ เล่มกว่า พวกคณะแบบติสต์ก็ได้แจกไปเท่าๆ กับจำนวนนี้เหมือนกัน แพนกไทย ได้แจกหนังสือไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะหนังสือมีไม่พอแจก ถ้ามีมากจะแจกสักกี่พันก็ได้ หนังสือภาษาไทย


๖๘ ( พิมพ์ด้วยตัวโรมัน) คัมภีร์ยอน ๒-๓ ฉบับ (ฉบับละ ๔-๕ ตอน) เท่านั้น ที่ได้พิมพ์แลแจกจ่ายไปในเมืองไทย ในระหว่างที่พวกมิซชันนารีอยู่ที่สิงคโปร์ ได้พิมพ์หนังสือ คัมภีร์ลูก ซึ่ง ม. กัตส์ลาฟ แปลออกไว้ ๗๐๐ ฉบับ แล้วนำเข้ามาด้วย แลต่อมา เรเวอเรนต์โยนส์ ได้พิมพ์คัมภีร์ แมตธิวขึ้นอิก ๒๐๐๐ ฉบับ ในแพนกนี้ ได้แจกหนังสือไทย ทั้งที่พิมพ์ด้วยตัวอักษร โรมัน แลตัวอักษรไทย ไปได้รวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๐๐๐ ฉบับเท่านั้น แพนกยา ในแพนกนี้ ได้ทำประโยชน์มากที่สุด กล่าวคือ ได้รักษาคนไข้ทั้งชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ เกินกว่า ๓๘๐๐ คนนับว่าได้ทำการช่วยเหลือคนทุก ๆ ส่วนของประเทศ แลได้ทำให้เกิดวิชาหมออย่างใหม่ขึ้นในเมืองไทยด้วย เรื่องราวของพวกมิซชันนารี คณะ อเมริกัน แบบติสต์ บอดแอนด์ อเมริกัน บอด ออฟ คอมมิซชันเนอร์ ฟอร์ โฟเรน มิซชันส์ ที่หมอบรัดเล เขียนไว้ หมดใจความเพียงเท่านี้ หมอบรัดเล กล่าวไว้ว่า ถ้ามีโอกาศก็จะได้เขียนต่อไปอิก แต่ก็ยังไม่ได้เขียนไว้ จึงสมมติว่า เปนอันจบเรื่องของพวกมิซชันนารีชุดที่ ๓ ที่ได้เข้ามาทำการในเมืองไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๘ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๙ เพียงเท่านี้


งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก