ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙

จาก วิกิซอร์ซ
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙

เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ
กับ ครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาคที่ ๖

มหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าธำรงศิริ พิมพ์ในการบำเพ็ญกุศล อายุครบ ๕๐ ปี

พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีหงส์



คำนำ

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ มหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าธำรงศิริ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี
ได้ทรงขออนุญาต ต่อราชบัณฑิตสภา พิมพ์จดหมายเหตุ ของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส
ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ภาค ๕ นับเข้าในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๘
แจกในงานปลงศพ คุณหญิงทรงสุรเดช (ปริก บุนนาค) เล่มหนึ่ง

มาในปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๐) ทรงปรารภการบำเพ็ญกุศลฉลองชนมายุครบ ๕๐ ปี
ขอพิมพ์จดหมายเหตุพวกนี้ แจกญาติมิตร ที่มาช่วยงานอีกสักเล่มหนึ่ง

กรรมการราชบัณฑิตยสภา จึงเลือกจดหมายเหตุ ของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
กับ ครั้งกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร ตอนต้น
ต่อจากภาคก่อน ถวายให้ทรงพิมพ์ในเล่มนี้นับเปน ภาคที่ ๖.


ราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๐



สารบรรพ์



  • จดหมายเหตุมองเซนเยอร์บรีโกต์เรื่องคนเข้ารีดถูกตัดนิ้ว หน้า ๑
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐสวรรคตแลพระเจ้าเอกทัศได้เสวยราขย์ " ๒
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยเหตุการณ์เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน " ๓
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพวกเข้ารีดในเมืองมะริด " ๔
  • ว่าด้วยบาดหลวงเปนความกับเจ้าเมืองตะนาวศรี " ๕
  • ว่าด้วยเจ้าเมืองตะนาวศรีต้องรับโทษ " ๘
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพม่าตีเมืองมะริด " ๑๐
  • จดหมายมองซิเออร์มาแตงว่าด้วยพวกเข้ารีดกลับมาเมืองมะริด " ๑๑
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยว่าด้วย มองซิเออร์ซีรู ทำลายศิลาจารึกประจาน " ๑๒
  • ว่าด้วยพม่าตีเมืองทวายและเมืองมะริดเมือง ตะนาวศรีและยกมาล้อมกรุง ฯ " ๑๓
  • ว่าด้วยพม่าตีกรุงศรีอยุทธยา " ๑๔
  • ว่าด้วยพม่าตีเมืองกำแพงเพ็ชร์ " ๑๖



  • ว่าด้วยพวกเข้ารีดช่วยรบพม่า หน้า ๑๗
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพวกมอญในกรุงสยาม เปนขบถ " ๑๘
  • ว่าด้วยพม่าตีเมืองทวาย ๆ มาสวามิภักดิ์ต่อกรุงสยาม " ๑๙
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วย ด้วยกรมหมื่นเทพิพิธ เข้ามาอยู่เมืองตะนาวศรี " ๒๑
  • ว่าด้วยอำนาจเจ้านายผู้หญิงในเวลานั้น " ๒๒
  • จดหมายมองซิเออร์อาลารีว่าด้วยพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา " ๒๔
  • ว่าด้วยข้อวิตกที่พม่าจะมา " ๒๕
  • ว่าด้วยพม่ายกเข้ามาและเกิดการปล้นสดมภ์ขึ้น " ๒๘
  • ว่าด้วยพวกมิชชันนารีถูกพม่าจับ " ๓๐
  • ว่าด้วยพวกมิชชันนารีถูกแม่ทัพพม่าซักถาม และความวิตกของมิชชันนารี " ๓๓
  • ว่าด้วยมองซิเออร์อาลารีทำลายศิลาจารึกประจาน " ๓๔
  • จดหมายมองซิเออร์แคแฮว่าด้วยช่วยไทยรบพม่า " ๓๖
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพม่ายกทัพมาอีก " ๓๗
  • ว่าด้วยอังกฤษช่วยไทยรบพม่า " ๓๙
  • ว่าด้วยพม่าล้อมกรุง ฯ " ๔๒
  • ว่าด้วยพวกเข้ารีดต่อสู้พม่า " ๔๓



  • ว่าด้วยพม่าตีค่ายพวกเข้ารีดและค่ายจีน หน้า ๔๕
  • ว่าด้วยมองเซนเยอร์บรีโกต์ยอมให้พม่าจับ " ๔๖
  • ว่าด้วยเสียพระนครศรีอยุธยา " ๔๙
  • ว่าด้วยบาญชีจำนวนสิ่งของที่ฝังไว้ ในบริเวณบ้านบาดหลวงที่กรุงศรีอยุธยา " ๕๐
  • จดหมายมองซิเออร์อาโตด์ ว่าด้วยพวกมิชชันนารี หนีพม่าไปทางเมืองจันทบุรี " ๕๒
  • จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยเจ้าศรีสังข์ หนีไปอยู่เขมร " ๕๕
  • ว่าด้วยเจ้าตากคิดตั้งตัวเปนใหญ่ " ๕๖
  • ว่าด้วยเจ้าตากคิดจะจับเจ้าศรีสังข์ " ๕๖
  • จดหมายมองซิเออร์อาโตด์ ว่าด้วยเจ้าตาก ขอให้เจ้าเมืองคันเคา จับเจ้าศรีสังข์ " ๕๘
  • ว่าด้วยญวนคิดจะให้มองซิเออร์ ไปเมืองเขมร (ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าศรีสังข์) " ๖๑
  • ว่าด้วยข้อสัญญาของ มองซิเออร์อาโตด์ ที่จะไปเมืองเขมร " ๖๓
  • ว่าด้วยมองซิเออร์อาโตด์ไปเมืองเขมร " ๖๖
  • จดหมาย มองซิเออร์มอวัน ว่าด้วยเจ้าเมืองคันเคา รบกับ เจ้าตาก " ๖๗



  • จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยบาดหลวงเข้ามาตั้งในบางกอกและว่าด้วยความอัตคัดในเมืองไทย หน้า ๖๙
  • ว่าด้วยพวกจีนเที่ยวขุดทำลายพระพุทธรูปและพระเจดีย์เที่ยวหาทรัพย์แผ่นดิน " ๗๑
  • จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยเจ้าตากพระราชทานที่ดินให้พวกบาดหลวง " ๗๒
  • จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยเจ้าตากเที่ยวปราบปรามซ่องใหญ่ต่าง ๆ " ๗๔
  • จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยพระเจ้าตากไปตีเมืองนครศรีธรรมราช " ๗๗
  • ว่าด้วยพระเจ้าตากเสด็จมาเยี่ยมพวกบาดหลวง " ๘๑
  • ว่าด้วยพระเจ้าตากทรงดำริห์จะซ่อมพระพุทธบาท " ๘๒
  • ว่าด้วยไทยชอบทรงเจ้า " ๘๓
  • จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยพรเจ้าตากตีเมืองคันเคา " ๘๔
  • จดหมายมองเซนเยอร์เลอบองเรื่องให้ส่งมัชชันนารีเข้าไปกรุงสยาม " ๘๗
  • จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยเดิรทางมาสยาม " ๘๗
  • จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยเข้าเฝ้าพระเจ้าตากและถวายของ " ๘๙



  • ว่าด้วยพระเจ้าตากถึงลัทธิของคฤศเตียน หน้า ๙๐
  • ว่าด้วยพระนิสัยของเจ้าตาก " ๙๒
  • ว่าด้วยพระเจ้าตากส่งกองทัพไปตีเมืองเขมรจดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยความอัตคัดของพวกเข้ารีด " ๙๕
  • จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยพม่าเข้าตีเมืองไทย " ๙๖
  • ประกาศห้ามมิให้ ไทยและมอญเข้ารีดและถือสาสนามหมัด " ๙๗
  • จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยต้นเหตุที่จะประกาศ " ๙๘
  • จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยสังฆราชห้ามมิให้พวกเข้ารีดถือน้ำตามพิธีไทย " ๑๐๐
  • ว่าด้วยสังฆราชและพวกมิชชันนารีต้องจำคุก " ๑๐๒
  • ว่าด้วยสังฆราชและมิชชันนารีถูกซักและถูกเฆี่ยน " ๑๐๔
  • ว่าด้วยขุนนางเข้ารีดใจไม่แขง " ๑๐๖
  • ว่าด้วยพระราชดำรัสของพระเจ้าตาก " ๑๐๙
  • จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยสังฆราชและพวกมิชชันนารีพ้นโทษ " ๑๑๑



  • จดหมายมองเซนเออร์คูเด ว่าด้วยสังฆราชและพวกมิชชันนารีพ้นโทษ หน้า ๑๑๕
  • ว่าด้วยบาดหลวงเข้าเฝ้า " ๑๑๘
  • จดหมายมองเซนเออร์คูเด ว่าด้วยพวกเข้ารีดไม่ยอมเข้ากระบวนแห่ที่เกี่ยวด้วยพุทธสาสนา " ๑๒๐
  • ว่าด้วยทดลองสอนสาสนาแก่พวกลาว " ๑๒๒
  • จดหมายเหตุของสังฆราชเลอบอง ว่าด้วยพระเจ้าตากไม่พระราชทานเบี้ยหวัดพวกเข้ารีด " ๑๒๕
  • ว่าด้วยพระเจ้าตากโปรดนั่งทางวิปัสนา " ๑๒๙
  • ว่าด้วยพระเจ้าตากให้ไล่พวกบาดหลวง " ๑๓๐
  • ว่าด้วยพวกบาดหลวงออกจากเมืองไทย " ๑๓๕
  • จดหมายเหตุมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์ว่าด้วยพระเจ้าตากต้องสละราชสมบัติ " ๑๓๖
  • ว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษก " ๑๓๙
  • ว่าด้วยการเปนไปของสาสนาบาดหลวงกลับมาเมืองไทยอีก " ๑๔๐
  • จดหมายมองเซนเยอร์คูเดว่าด้วยการสาสนาในเมืองไทร " ๑๔๒
  • จดหมายเหตุของมองซิเออร์เดคู์วิแยร์เรื่องเจ้าเมืองไทรยกบ้านให้มองซิเออร์คูเด " ๑๔๔



  • จดหมายมองเซนเยอร์คูเดว่าด้วยพวกบาดหลวงเกิดขัดใจกับพวกปอตุเกต หน้า ๑๔๕
  • จดหมายมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์ ว่าด้วยพวกปอตุเกตหาความพวกบาดหลวง " ๑๕๒
  • จดหมายมองซิเออร์วิลแมง ว่าด้วยไทยส่งกองทัพไปเมืองญวน " ๑๕๔
  • ว่าด้วยพม่ายกทัพมาเมืองไทยอีก " ๑๕๖
  • จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ ว่าด้วยไทยไปตีเมืองทวาย " ๑๕๗
  • จดหมายมองซิเออร์ลาวูเอ ว่าด้วยญวนและเขมรเชลยในบางกอก " ๑๕๘
  • จดหมายมองซิเออร์ลาวูเอ ว่าด้วยพวกเข้ารีดไม่ยอมทำการก่อกำแพงวัด " ๑๖๐
  • จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ว่าด้วยว่าด้วยสอนสาสนาแก่พวกลาว " ๑๖๒
  • จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ ว่าด้วยพวกเข้ารีดถูกบีบคั้น " ๑๖๔
  • จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ ว่าด้วยขุนนางเข้ารีดไปบวชเปนพระสงฆ์ " ๑๖๕
  • จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ ว่าด้วยคิดจะตั้งโรงพิมพ์ในบางกอก " ๑๖๘



  • จดหมายมองซิเออร์ฟลอรังซ์ ว่าด้วยไทยไปตีเมืองทวาย หน้า ๑๖๙- ๑๗๐
  • จดหมายมองซิเออร์วิลแมง ว่าด้วยความกันดารในเมืองไทร " ๑๗๑
  • จดหมายมองซิเออรฃร์ราโบว่าด้วยพม่าตีเมืองภูเก็จ " ๑๗๑



....................................................................................


จดหมายเหตุของพวกคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตีครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ
กับครั้งกรุงธนบุรีแลครั้งกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น

มองเซนเยอร์บรีโกต์ ค.ศ. ๑๗๕๕ - ๑๗๗๖(พ.ศ.๒๒๙๘ - ๒๓๑๙)
ว่าด้วยคณะบาดหลวงในเมืองไทย ต้องเลิกล้มหมด



(หน้า ๑)


จดหมายเหตุมองเซนเยอร์บรีโกต์เรื่องคนเข้ารีดถูกตัดนิ้ว

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๗๘ (พ.ศ. ๒๓๐๑)

เมื่อสองสามวันมานี้ พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้ตัดนิ้วคนเข้ารีดคน๑ ทั้ง๑๐ นิ้ว คนเข้ารีดคนนี้เปนลูกศิษย์ของบาดหลวงเยซวิต ได้ดื่มสุราเมาแล้วได้ไปทุบต่อยพระพุทธรูปแล้วได้พาพระพุทธรูปไปเสียด้วย เวลานี้คนเข้ารีดคนนี้ยังติดคุกอยู่ ถึงญาติพี่น้องจะเสียเงินเสียทองสักเท่าไรก็ไม่ไหว จะแก้ไขเอาคนเข้ารีดคนนี้ออกจากคุกไม่ได้



(หน้า ๒)

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐสวรรคตแลพระเจ้าเอกทัศได้เสวยราขย์

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๓ เดือน สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๕๙ (พ.ศ.๒๓๐๒)

พระมหาอุปราชของกรุงศรีอยุธยา ต้องถูกสำเร็จโทษในระหว่างที่พระราชบิดายังมีพระชนม์อยู่ โดยพระอนุชาต่างมารดาได้กล่าวโทษ แต่ข้อหานั้นจะจริงหรือเท็จประการใดหาทราบไม่ เมื่อพระราชโอรสผู้เปนพระมหาอุปราชได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ในไม่ช้าเท่าไรนักพระราชบิดาก็ได้สวรรคตเหมือนกัน พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จสวรรคตเมื่อปลายเดือนเมษายน ค.ศ.๑๗๕๕ (พ.ศ.๒๓๐๑) แต่ที่สวรรคตนั้นเปนด้วยทรงพระชรา หาใช่พระโรคเบียดเบียนไม่ พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ซึ่งพระราชบิดาได้ตั้งพระทัยไว้ว่าจะทรงมอบราชสมบัติให้นั้น ได้เสด็จขึ้นผ่านพิภพ พอได้ขึ้นครองราชสมบัติก็ได้มีรับสั่งให้สำเร็จโทษพระอนุชาต่าวมารดาเสีย ๓ พระองค์ ซึ่งเวลานั้นต้องติดคุกอยู่ โดยต้องหาว่าจะคิดการขบถ ครั้นภายหลังพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ไม่ถูกกันกับพระเชษฐา ซึ่งมีผู้พูดกันว่าเปนพระโรคเรื้อนนั้น จึงได้เวรราชสมบัติถวายแก่พระเชษฐา เมื่อวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน แล้วได้เสด็จกลับไปประทับยังวัด ซึ่งเปนวัดที่พระองค์เคยประทับอยู่ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แล้วจึงได้เลยทรงผนวชในวัด นั้นเอง



(หน้า ๓)
การที่เราหวังว่าจะได้พึ่งพระมหาอุปราชนั้นเปนการหมดหวังในครั้งนี้เอง


จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยเหตุการณ์เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน

จดหมายมองเซนเยอร์บีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๒ เดือน พฤศจิกายน ค.ศ.๑๗๖๐ (พ.ศ. ๒๓๐๓)

เมื่อ ๒ ปีที่ล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ได้ละทิ้งราชสมบัติ เพื่อเสด็จไปทรงผนวช พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ได้ครองราชสมบัติอยู่เดือนเดียวเท่านั้น เมื่อพระราชบิดาได้เสด็จสวรรคต เมื่อปลายเดือนเมษายน ค.ศ.๑๗๕๘ (พ.ศ.๒๓๐๑) พระองค์เจ้า ต่างมารดา ๓ พระองค์ได้ถูกสำเร็จโทษในคุก เพราะเจ้าหล่านี้ คิดจะชิงราชสมบัติพระเชษฐาของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะทรงผนวชนั้น ได้ขึ้นครองราชสมบัติมาได้ ๒๐ เดือนแล้ว เมื่อปีกลายนี้ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ได้ให้ลงพระราชอาญาแก่ข้าราชการผู้ใหญ่เกือบทุกคน เพราะข้าราชการเหล่านี้คบคิดกันจะเชิญพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงผนวชให้กลับมาครองราชสมบัติอีก ข้าราชการที่ไม่ต้องรับพระราชอาญา ก็มีแต่เจ้าพระยาพระคลังคนเดียวเท่านั้น และที่รอดตัวมาได้ ก็เพราะได้เอาของถวายมากต่อมาก นอกจากการในหน้าที่ประจำแล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้รับหน้าที่รักษาพระราชลัญจร ด้วย ยังมีพระองค์เจ้าต่างมารดาอีกองค์๑ ทรงผนวชอยู่ ได้คบคิดกับข้าราชการ ในเรื่องที่จะถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระ จึงต้องถูกเนรเทศไปเมืองลังกา



(หน้า ๔)

แต่เรือที่พาเจ้าองค์นี้ไปเมืองลังกานั้น ได้ถูกซัดไปเข้าเฝ้าเกาะสุมาตรา เจ้าองค์นี้จึงได้ขึ้นไปอาศรัยอยู่ที่เกาะสุมาตราได้สักหน่อย แล้วก็ได้เลยเสด็จไปเกาะมาลากา มีคนเปนอันมากอยากจะให้เจ้าองค์นี้ได้ครองราชสมับติ และบางทีพวกฮอลันดาก็จะช่วยให้ได้สมประสงค์ก็จะเปนได้


จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วย พวกเข้ารีดในเมืองมะริด

เมืองมะริด

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๒๗๕๘(พ.ศ. ๒๓๐๐)

มองซิเออร์ ลาเฮดู โปนาล นายเรือลำใหญ่ของบริษัทได้ทราบข่าวว่า ได้มีคนจับเรือของฝรั่งเศสไปอีกลำ ๑ จึงได้กลับเรือ เลยมาที่เมืองมะริด และรับมองซิเออร์ อันดรีเออไปด้วย เพราะเหตุว่า มองซิเออร์อันดรีเออ มีความเบื่อหน่ายในการที่ได้รับแต่ความอยุติธรรม จึงได้คิดไปยังเมือง ปอนดีเชรี เพื่อไปขอของฝากจาก มองซิเออร์เดอลอ เจ้าเมืองปอนดีเชรี การที่ไปหาเจ้าเมือง ปอนดีเชรี นั้น ก็ได้สำเร็จตามความปรารถนา และเมื่อได้ไปสัก ๖ เดือนแล้ว ก็ได้กลับมายัง เมืองมะริด พร้อมกับนายเรือคนเก่า นั้นเอง ของฝากเหล่านี้ ได้ส่งไปในนามของ เจ้าเมืองปอนดีเชรี เพื่อถวายพระเจ้ากรุงสยาม ถวายพระมหาอุปราชและฝากต่อเจ้าพระยาพระคลังด้วย



(หน้า ๕)

ว่าด้วยบาดหลวงเปนความกับเจ้าเมืองตะนาวศรี

เมื่อได้ส่งของไปถวายนั้น ก็ได้มีหนังสือร้องฟ้องกล่าวโทษเข้าไปด้วย ซึ่งเจ้าพนักงานในกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับโดยดี และเจ้าพระยาพระคลังก็ได้ตอบหนังสือกล่าวโทษฉบับนั้น โดยสำนวนอันไพเราะ ทั้งได้มีคำสั่ง ไปยังรัฐบาล เมืองตะนาวศรีให้รับรอง อุดหนุนช่วยเหลือพวกฝรั่งเศส และให้ส่งเข้าสารกับดีบุกไปยัง เมืองปอนดีเชรีด้วย แต่พอคำสั่งเรื่องนี้ ได้มาถึงเมืองตะนาวศรี เจ้าเมืองตะนาวศรีก็คิดอ่านหาทางที่จะทำให้ พวกพ่อค้าขัดเคืองอีก และได้พยายามรังแกมองซิเออร์ ฟรังซัววิโอเลต์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งตั้งบ้านเรืออยู่ในเมืองมะริด และเปนผู้บังคับเรือของมองซิเออร์เดอ มอราแซง เจ้าเมือง มสุลีปตันด้วย
เมื่อการเปนเช่นนี้ มองซิเออร์ อันดรีเออ จึงเห็นเปนการจำเปน ที่จะส่งหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ให้แก่เจ้าเมืองตะนาวศรี เมื่อเวลาเจ้าเมือง ตะนาวศรี รับหนังสือของเจ้าพระยาระคลัง นั้น ก็ไม่เห็นทำกิริยานบนอบอย่างไร

ในครั้งนั้น เจ้าเมืองตะนาวศรี ได้หาความว่า พวกเข้ารีดได้คุมสมัพรรคพวกเข้าไปในบ้านเจ้าเมือง ตะนาวศรี เพื่อจะไปฆ่าตัวเจ้าเมือง
และหาความว่า พวกมิชชันนารีขัดขืน ไม่ยอมให้พวกเข้ารีด ออกติดตามจับพวกโจรสลัด และหาความว่า พวกมิชชันนารีรับบุตรของคนที่ไม่ได้เข้ารีด ไปเข้ารีด ผิดด้วยประกาศพระราชโองการซึ่งได้จารึกไว้ในแผ่นศิลา แล้วเจ้าเมือง ตะนาวศรี ได้สั่งให้ล่าม ส่งตัวมิชชันนารีให้แก่ไทย และสั่งให้พวกเขารีด ไปขนหินบนภูเขา ไปใส่ไว้ใน เมืองซาลำปูร์



(หน้า ๖)

ฝ่ายมองซิเออร์ อันดรีเออ ได้คิดเห็นว่า คณะบาดหลวงเมืองมะริด น่ากลัวจะล้มตั้งไม่ติด เปนแน่ จึงได้หนีไปในคืนวันที่ ๘ เดือนมกราคม และได้ลักลอบเข้าไปในกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ ๑๖(มกราคม)

การที่มองซิเออร์อันดรีเออ มาฟ้องร้องกล่าวโทษ เจ้าเมืองตะนาวศรีนั้น ข้าพเจ้าก็เห็นด้วย เพราะฉนั้น จึงได้พากันไปยังบ้าน เจ้าพระยาพระคลัง เพื่อขอให้เจ้าพระยาพระคลังถอดเจ้าเมืองตะนาวศรีเสีย

เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ตอบว่า จะได้จัดคนออกไปไต่สวนเสียก่อน และถ้าได้ความจริงตามข้อหาของพวกฝรั่งเศสแล้ว เจ้าเมืองตะนาวศรีก็จะดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่ได้
แล้วเจ้าพระยาพระคลัง จึงได้นำความเรื่องนี้กราบทูลต่อพระเจ้ากรุงสยาม ๆ จึงได้มีกระแสรับสั่งว่า ถ้าไต่สวนได้ความจริงแม้แต่ข้อเดียวหรือ ๒ ข้อ ก็ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนเจ้าเมืองตะนาวศรีเสีย แต่ ส่วนข้อความที่เจ้าเมืองตะนาวศรีกล่าวโทษพวกเรานั้น พระเจ้ากรุงสยาม หาทรงฟังไม่

ครั้งมองซิเออร์ อันดรีเออ ป่วยลง พวกคณะบาดหลวงในกรุงศรีอยุธยา จึงขอให้ข้าพเจ้าไปแทน มองซิเออร์ อันดรีเออ ที่เมืองมะริด เพื่อจะได้ไปจัดการในเรื่องนี้ให้เสร็จไป ครั้นข้าพเจ้า ได้รับหนังสือเดิรทาง จากเจ้าพระยาพระคลังแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑ เดือนมีนาคม

เวลานั้น มองซิเออร์ อันดรีเออ ค่อยทุเลาป่วยบ้างแล้ว จึงได้เลยไปกับข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้ากับ มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้ไปถึงเมืองมะริดในปลายเดือนนั้นเอง ( มีนาคม )



(หน้า ๗)

และได้ไปพบกับ มองซิเออร์ อูร์แบงเลอเฟฟร์ ซึ่งได้ออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อปลายปี ค.ศ. ๑๗๕๘ (พ.ศ. ๒๓๐๑) โดยท่าน อาชบีชอบเดอตูร์ ได้เรียกให้กลับไปพยาบาลมารดา ซึ่งป่วยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้ออกจากเมืองมะริด เพื่อไปยังเมืองตะนาวศรี พร้อมด้วยมองซิเออร์ วิโอเลต์ เมื่อวันที่ ๖ เดือน เมษายน

เมื่อวันที่ ๑๐ เดือน เมษายน ข้าพเจ้า ได้รับจดหมายจาก มองซิเออร์ อันดรีเออ บอกมาว่า ข้าหลวง ที่มาจากกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับเรา ๔ คนเพื่อจะไปไต่สวนเรื่องนี้นั้น ได้กักตัวเจ้าเมืองตะนาวศรี ไว้ยังศาลเพื่อรอคำสั่งจากกรุงศรีอยุธยา เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยตัวไปแล้ว เจ้าเมืองตะนาวศรี คงจะคิดอ่านทำร้ายแก้แค้น พวกที่เปนพยานในเรื่องนี้

แต่เพอิญในวันรุ่งขึ้น เปนวันปีใหม่ของไทย เพราะฉะนั้น ข้าหลวงจะได้ปล่อยตัวเจ้าเมืองตะนาวศรีไปก่อน แล้วข้าหลวงทั้ง ๔ คน ได้กลับมายัง เมืองมะริด ภายหลังอีก ๔ วันข้าหลวงได้สืบพยานแล้วอีก ๘ คน พยานเหล่านี้ได้ให้การสมข้อหาของเรา ทุกประการ


ว่าด้วยเจ้าเมืองตะนาวศรีต้องรับโทษ 

ครั้น วันที่ ๕ เดือน พฤษภาคม ข้าหลวงทั้ง ๔ คนได้พิพากษาว่า เจ้าเมืองตะนาวศรี มีความผิดจริงดังข้อหาของเรา แต่ในทันใดนั้น เจ้าเมืองชั่วคนนี้ ได้เรียกทหารแขกอาหรับ ซึ่งได้หนีมาจากเรือรบฝรั่งเศศ ที่เมืองบาซอรา ตั้งแต่ปีกลายนี้ และ บอกให้ทหารอาหรับนั้น เขียนคำฟ้อง กล่าวหาว่า มองซิเออร์ อันดรีเออ กับ นายเรือ ได้พร้อมกัน สั่งให้ทหารอาหรับเหล่านี้ ไปฆ่าเจ้าเมืองมะริด แล้วให้ ฆ่าเจ้าเมือง



(หน้า ๘)

ตะนาวศรี ด้วย เพราะจำเลยทั้ง ๒ นี้ ปรารถนาจะยึดเอาเมืองไว้โดย อ้างเหตุว่า แต่ก่อนนี้ เมืองมะริด เปนของฝรั่งเศส

เมื่อเจ้าเมือง ตะนาวศรี ได้สั่งให้ทหารอาหรับ เขียนคำฟ้องดังนี้ แล้ว เจ้าเมืองตะนาวศรี ก็บอกป่วย และ ไม่ยอมไปยังศาลเปนอันขาด
เราจึงได้จัดคนเร็ว ให้ไปบอกข่าวยัง กรุงศรีอยุธยา คนเร็วเหล่านี้ ได้กลับมาถึง เมื่อวันที่ ๑ เดือนสิงหาคม และได้นำหนังสือของ มองซิเออร์ แคแฮเว และหนังสือของ มองซิเออร์ มาแตงมาด้วย

ได้ความว่า พระเจ้ากรุงสยามทรงกริ้ว เจ้าเมืองตะนาวศรีมากและ ได้มีรับสั่งให้ น้องชายเจ้าเมืองคนก่อน ไปจับตัวเจ้าเมืองตะนาวศรี กับได้ทรง ตั้งบุตรของจีนผู้ ๑ ให้ไปเปนเจ้าเมืองตะนาวศรีต่อไป
อีกประการ ๑ การที่เจ้าเมือง ได้กล่าวโทษหาความร้าย ใส่พวกฝรั่งเศส โดยพละการตนเองนั้น ทำให้ พระเจ้ากรุงสยาม ทรงกริ้วเปนอันมาก เพราะเหตุว่า ข้อที่หานั้น ไม่เปนจริงแล้ว ก็ไม่ควรจะกราบทูลเลย

ถ้าเปนความจริง ตามข้อหาแล้ว เจ้าเมืองตะนาวศรี ไม่ควรจะกล่าวโทษแต่ผู้เดียว แต่ควร ให้ข้าราชการอื่น ๆ ลงชื่อในคำกล่าวนั้นด้วย จึงจะถูกด้วยระเบียบ
แต่ในคำกล่าวโทษ อันนี้ ข้าราชการอื่น ๆ หาได้ลงชื่อด้วยไม่ พระเจ้ากรุงสยาม จึงทรงวินิจฉัยว่า เปนเรื่องที่หาความเปล่า ๆ เพื่อประสงค์ จะล้างผลาญมิชันนารี ผู้ที่กล่าวโทษ เจ้าเมืองตะนาวศรีเท่านั้น



(หน้า ๙)

เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม
ได้มีเรือรบลำ ๑ ชื่อ ฮาเลม แวะเข้ามาเมืองนี้ เรือรบลำนี้เดิม เปนเรือรบของ ฮอลันดา ซึ่ง ฝรั่งเศสจับไว้เปนเชลย เมื่อปีก่อนนี้ เจ้าพนักงารที่ ๒ ของเรือลำนี้ได้ไปยัง เมืองตะนาวศรี พร้อมด้วย มองซิเออร์ อันดรีเออ เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนนี้ (?) เขาได้นำของต่าง ๆ ไปให้แก่ ข้าหลวงต่างพระองค์ ซึ่งเวลานี้ ยังทำการแทนเจ้าเมืองอยู่
ครั้นเมื่อ วันที่ ๑๘ มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้กลับมาถึง เมืองมะริด ได้มารายงารว่า เขาได้เห็นเจ้าเมือง ตะนาวศรี ที่ถูกถอดนั้น ต้องถูกเฆี่ยน ด้วยหวายอย่างแรงที่สุด

และว่า เจ้าเมืองที่ถูกถอดนั้น หมดอำนาจวาศนาแล้ว เวลานี้ต้องจำคุกอยู่ เพราะฉนั้น ในปีนี้ ท่านชาวฝรั่งเศส เท่ากับน้ำขึ้นแล้ว มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้ขอให้ข้าพเจ้าส่งบาดหลวงแขกอินเดียให้คน ๑
ข้าพเจ้าได้ส่ง บาดหลวง ยูซะโตดีโอเดอ อารัญ ไปให้แล้ว และ มองซิเออร์ อันดรีเออ ก็พอใจในบาดหลวงคนนี้ เปนอันมาก เพราะฉนั้น ขอท่านได้โปรดส่งคำสั่งรับรองมาด้วย



(หน้า ๑๐)

เรื่องพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก เมืองมะริดและกรุงศรีอยุธยาก่อนพม่ามาตีกรุง และภายหลังเมื่อพม่ามาตีกรุงแล้ว
จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ว่าด้วยพม่าตีเมืองมะริด

เมืองมะริด

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการณะต่างประเทศ
วันที่ ๙ เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๗๖๑ (พ.ศ.๒๓๐๓)

พวกพม่าเมืองอังวะ เมื่อได้ตีเมืองมอญได้หมดแล้ว ได้ ยกทัพเข้ามาในเมืองไทยเมื่อต้นปีนี้ พวกเข้ารีดในเมืองมะริดโดย มากได้หนีลงเรือฝรั่งเศส พร้อมกับมองซิเออร์ อันดรีเออ และมองซิเออร์ เลอเฟฟร์ เมื่อพวกบาดหลวงและพวกเข้ารีดได้ออก จากเมืองมะริดไปแล้ว พวกพม่าข้าศึกก็ได้ยกทัพเข้าเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี และได้เอาไฟเผาเมืองทั้ง๒ นี้เกือบหมดเมือง แล้วพวกพม่าได้จัดเจ้าพนักงารไว้ให้รักษาเมืองมะริดและเมืองตะ- นาวศรี จึงได้ยกกองทัพเลยเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา และใน ระหว่างที่เดิรทัพมานั้น ได้ตีกองทัพไทยกลางทางแตกไปหลายกอง

เปนการน่ากลัวอยู่บ้าง ว่าถ้าภายหลังไทยได้จัดบ้านเมือง ให้สงบราบคาบลงอีกแล้ว ก็คงจะให้เราเปนผู้รับผิดชอบในการที่มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้พาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระเจ้ากรุงสยาม -



(หน้า ๑๑)

หนีออกจากเมืองมะริด โดยยังมิได้รับพระราชานุญาต ในเรื่องนี้ ก็มีเสียงพูดกันในพระราชวังอยู่แล้ว
เจ้าเมืองตะนาวศรีคนเก่าซึ่งได้รู้จักกันกับ มองซิเออร์ โอมอง และซึ่งบุตรได้ทำความเดือดร้อนให้แก่มิชันนารีนักนั้น มีหลายอยู่

คน ๑ ซึ่งไทยเรียกว่า มองตัด (Montat) ได้รับหน้าที่เปน เจ้าเมือง ตะนาวศรีแทนปู่ แต่ มองตัด ได้พยายามทุกอย่างที่จะไม่รับหน้าที่นี้
โดยอ้างว่าทรัพย์สมบัติได้ฉิบหายไปจนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว แต่ถึงดังนั้น ไทยก็บังคับให้ไปครองเมืองอันว่างนี้ให้จงได้
มองตัด จึงได้มาขอบาดหลวง ให้ออกไปตั้งคณะที่ เมืองมะริดอย่างเดิม

มองซิเออร์ มาแตง ได้ยอมรับที่จะไปยังเมืองมะริด แต่ข้าพเจ้า ยังบอกไม่ได้ว่าเขาจะไปได้เมื่อไร เพราะเขายังต้องการบาดหลวงให้ไปด้วยอีกรูป ๑

ในเวลานี้ ข้าพเจ้าไม่มีใครที่จะให้ไปได้นอกจาก บาดหลวงปอตุเกต เท่านั้น แต่ บาดหลวงปอตุเกตองค์ นี้ไม่ยอมมาอยู่กับเราในเวลานี้
แต่ขอผัดไปเดือนพฤศจิกายนหน้าจึงจะมา แต่ที่เมืองมะริดนั้น วัดก็ไม่มีบ้านก็ไม่มี และพวกเข้ารีดก็หมดเนื้อหมดตัวแล้ว เพราะฉนั้น จะต้องไปลงทุนสร้างใหม่ทั้งหมด


จดหมายมองซิเออร์มาแตง ว่าด้วยพวกเข้ารีดกลับมาเมืองมะริด

จดหมายมองซิเออร์มาแตง ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๔ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๖๑ (พ.ศ. ๒๓๐๓)

ในเวลานี้ วัดที่ เมืองมะริด ร้างหมดเหลือแต่ กากอิฐกากปูนเท่านั้น



(หน้า ๑๒)

และวัดนี้มองซิเออร์ดูบัวก็ได้ลงทุนสร้างเปนอันมากฝ่ายพวกเข้ารีด ซึ่งได้กระจัดพลัดพรายไปนั้น บัดได้กลับเข้ามาบ้างแล้ว
เพราะฉนั้น ท่านสังฆราชจึงได้จัดให้ข้าพเจ้า ไปอยู่เมืองมะริด เพื่อจะได้ควบคุมพวกเข้ารีด และเพื่อจะได้ลงมือสร้างวัดเล็ก ๆ สักวัด ๑ ด้วย



กรุงศรีอยุธยา
ศิลาจารึกสำหรับประจารได้ทำลายแล้ว
เรื่อง พม่ามาตีกรุง


จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยว่าด้วยมองซิเออร์ซีรู ทำลายศิลาจารึกประจาน

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๒ เดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๐ (พ.ศ. ๒๓๐๓)

เมื่อข้าพเจ้าได้กลับมาเมืองมะริด ถึงกรุงศรีอยุธยา ได้เห็นว่า ประกาศพระราชโองการของพระเจ้ากรุงสยามซึ่งได้จารึกไว้ในแผ่นศิลา และซึ่งได้ไปตั้งไว้ริมประตูวัดของเรานั้นได้ลบเลือนหมดแล้ว
และมองซิเออร์ ซีรู ก็ตั้งใจจะทำลายศิลาแผ่นนั้นเสียทีเดียว
ในเวลานั้น ข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจว่า มองซิเออร์ ซีรู จะทำประการใด ข้าพเจ้าจึง ได้ห้ามไว้ว่าอย่าได้ทำลายแผ่นศิลานั้นเลย แต่ถึงข้าพเจ้าห้ามดังนั้น มองซิเออร์ ซีรูก็หาฟังไม่
เพราะเมื่อวันที่ ๔ เดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๖๐ (พ.ศ. ๒๓๐๒) มองซิเออร์ ซีรู ก็ได้ทำลายศิลาแผ่นนั้นเสีย เลอียดหมด



(หน้า ๑๓)

ว่าด้วยพม่าตีเมืองทวายและเมืองมะริดเมือง ตะนาวศรีและยกมาล้อมกรุง ฯ


การที่มองซิเออร์ ซีรู ได้ทำลายศิลาจารึกนั้น เคราะห์ดี อีก ๒-๓วัน พวกพม่าก็ยกกองทัพเข้ามา ไทยจึงไม่ได้นึกถึงการที่จะลงโทษพวกเราในเรื่องทำลายศิลาจารึกนั้น
และเปนการเคราะห์ดี บ้านเราหาได้ถูกข้าศึกเอาไฟมาเผาไม่

พวกพม่า ได้ไล่พวกอังกฤษ เมืองเนกราย (Negrailles) ประจวบเวลากันกับพม่า ได้ไปยึด เมืองมสุลีปตันไว้ พวกพม่า ได้ตีเมืองมอญเปนเชลยได้ทั้งเมือง
แล้วได้เลยเข้ามาถึง เมืองทวาย ตีเมืองทวายแตกแลจับเจ้าเมืองทวายฆ่าเสียด้วย
เขากลัวกันว่า พวกพม่าคงจะยกทัพเข้ามาตีเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรีด้วย เพราะพวกพม่าได้มุ่งจะมาตีเมืองทั้ง ๒ นี้แล้ว (ภายหลังพม่าก็ได้มาตีเมืองทั้ง ๒ นี้จริง ๆ )

เมื่อเดือนมีนาคม ได้ทราบข่าวว่า พวกพม่าได้ตีกองทัพไทย ซึ่งมีพลถึง ๑๕,๐๐ แตกกระจายไปแล้ว ไทยจึงได้ให้พวกเข้ารีดของเราอยู่ประจำรักษากรุง
ไทยได้จัดการซ่อมแซมป้อมคูประตูหอรบให้แขงแรงขึ้น และได้เอาแพที่อยู่รองกำแพงเมืองถอยลงไปไว้ที่แม่น้ำข้างใต้
และเพื่อจะป้องกันกรุงให้มั่นคงขึ้นอีก จึงได้ให้ รื้อบ้านช่องซึ่งอยู่ติดกับกำแพงเมืองทั้งหมด ไทยได้จัดให้พวกเข้ารีดของเราไปรักษาการอยู่ตามช่องในเสมา



(หน้า ๑๔)

และได้ส่งกองทัพไปสกัดหน้าข้าศึก ๒ กอง เพราะมีเสียงโจษกันว่า ข้าศึกไดยกทัพมาใกล้เมืองราชบุรีแล้ว ครั้นได้ทราบกันว่าการที่พม่าข้าศึกจะเข้ามาตีกรุงคราวนี้
เปนด้วยคนโปรดของ พระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า ได้คบคิดกับพม่านั้น ไทยจึงได้จับตัวคนโปรด และสมัคพรรคพวก มาชำระ


ว่าด้วยพม่าตีกรุงศรีอยุทธยา

เมื่อวันที่ ๘ เดือนเมษายน ข้าศึกได้ยกทัพมาประชิดเมืองห่างกับเมืองประมาณ ๒ ไมล์เท่านั้น ไทยจึงได้จัดกองสอดแนมให้ออกไปสืบข่าวข้าศึก
เมื่อวันที่ ๙ (เมษายน) เราได้เห็นเพลิงไหม้ในกรุงถึง ๓ แห่ง พระเจ้ากรุงสยาม ไม่ไว้พระทัยผู้ใดเลย จึงได้ให้เอา เจ้าพระยาพระคลัง และบิดาเลี้ยงของพระองค์ไปขังคุกเสีย
เมื่อวันที่ ๑๑ (เมษายน) ข้าศึกได้เอาไฟเผาบ้านเรือนรอบเมืองทั้งหมด เว้นแต่ค่ายพวกเข้ารีดหาได้ถูกเผาไม่

มองซิเออร์ แคแฮเว กับ มองซิเออร มาแตง ได้พากพวกนักเรียนหนีไปทั้งหมด เขาได้หนีล่องลงไปตามแม่น้ำจนถึงท่าจอดเรือ
เมื่อ ๘ วันก่อนนี้ข้าพเจ้าได้จัดให้ บาดหลวงปอล ซึ่งเปนบาดหลวงชาติจีน ให้ลงไปที่บางกอก เพื่อไปคอยควบคุมพวกจีนเข้ารีด

เมื่อวันที่๑๓ (เมษายน) พวกพม่า ได้เอาไฟเผาค่ายพวกฮอลันดา และได้จับเรือหลวงไว้ได้ ๑๔ ลำ พวกพม่าจึงได้ลงเรือที่จับไว้ได้นั้นและได้ล่องน้ำลงไปที่ด่านภาษี
เมื่อถึงด่านภาษีแล้ว ข้าศึกได้ขึ้นปล้น และเอาไฟเผาเรือของจีน และฮอลันดาเปนอันมาก



(หน้า ๑๕)

พวกพม่าได้ทำร้ายแก่ หัวหน้าฮอลันดามีบาดแผลฉกรรจ์ปางตาย และได้จับพวกเข้ารีด ทั้งผู้ชายผู้หญิงไปเปนเชลยหลายคน แต่พวกเข้ารีดเชลยนั้น บางคนก็ได้หนีกลับมาได้แต่ก็ฉิบหายหมดเนื้อหมดตัวทีเดียว
ฝ่ายพวกเข้ารีด ซึ่งยังคงอยู่ในค่ายของเราหาได้รับความเสียหายอย่างใดไม่
เพราะพวกเข้ารีดของเราที่ บางปลาเห็ต ได้ออกขู่พวกข้าศึก ๆ ก็ไม่กล้าเข้ามาในค่าย ถ้าข้าศึกจะเข้ามาก็ง่ายที่สุด เพราะต้องข้ามคลองเล็ก ๆ คลองเดียวเท่านั้น
ในค่ายบาดหลวงเยซวิต ถูกเพลิงไหม้แต่แถบเดียว พวกเข้ารีดได้ต่อสู้พวกข้าศึกอย่างแขงแรง ค่ายพวกเยซวิต จึงไม่ได้ไหม้หมด

ฝ่ายข้าศึกได้เอาปืนใหญ่ ยิงระดมเข้ามาในกรุงตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตลอดถึงวันที่ ๑๖ เดือนเมษายน แล้วข้าศึกได้เอาลูกแตกโยนเข้ามาในกรุง ๒ ลูก แต่เปนการเคราะห์ดี ลูกแตกได้ตกลงไปในบ่อน้ำ
จึงหาได้ทำอันตรายแก่บ้านเมืองไม่

ครั้นวันที่ ๑๖ (เมษายน) เวลากลางคืนพวกพม่าก็ล่าทัพกลับไป ข้าศึกเหล่านี้มีทั้งพลม้าและพลเดิรเท้า และเพื่อจะแก้แค้นพวกเรา ข้าศึกจึงได้เอาไฟไปเผาโรงเรียน มหาพราหมณ์ ซึ่งเวลานี้เหลือแต่ขี้เท่าเท่านั้น

เมื่อวันทีท๒๐ (เมษายน) ไทยได้ส่งกองทัพเล็ก ๆ ออกไปไล่ติดตามข้าศึก แต่กองทัพไทยนี้ อยู่ห่างกับกองทัพข้าศึกมาก พวกพม่าพูดว่า ปีน่าจะกลับมาอีก และจะยกกองทัพใหญ่กว่าคราวนี้เข้ามาตี กรุงให้จงได้ แต่ถึงรู้ตัวว่าพม่าจะกลับมาอีกก็จริง ฝ่ายไทยก็ไม่เห็นเตรียมการที่จะต่อสู้อย่างใด



(หน้า ๑๖)


ว่าด้วยพม่าตีเมืองกำแพงเพ็ชร์

เมื่อวันที่ ๒๙(เมษายน) ได้โปรดปล่อยให้เจ้าพระยาพระคลังพ้นออกจากคุก และได้มีรับสั่งใหเจ้าพระยาพระคลังไปบวชเสียเพื่อลบล้างความผิดที่ทำไว้
แต่ในเวลานี้ เจ้าพระยาพระคลัง ได้สึกออกมาแล้ว และได้กลับเข้ารับหน้าที่ตามเดิม การที่เปนเช่นนี้ กระทำให้พวกข้าราชการผู้ใหญ่ยินดีเปนอันมาก แต่การที่ยินดีนี้ ก็ไม่มากเท่าไรนัก
เพราะเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ได้กลับทรงผนวชอีกครั้ ๑ เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม เพราะเหตุว่าไม่ทรงถูกกันกับพระเชษฐา พวกข้าราชการกำลังระส่ำระสายกันมาก

ในวันที่ ๒๙ นี้เอง มองซิเออร์ แคแฮเว กับ มองซิเออร์ มาแตง ได้กลับมาพร้อมกับ บาดหลวงปอลและนักเรียนทั้งหมด
เมื่อวันที่ ๒ เดือนพฤษาภาคม รัฐบาลสยามได้อนุญาตให้พวกเข้ารีด ร้องเพลงสวดเตเดอัม ในระหว่างที่สวดนั้นได้ยิงปืนและตีกลองให้เปนกาครึกครื้นด้วย

เมื่อวันที่ ๑๔ (พฤษษภาคม) ข้าพเจ้าได้ทราบว่าพม่าได้ไปตีเมืองกำแพง (Champeng) แตก เมืองกำแพงนี้เปนเมืองหน้าด่านของไทยติดกับเขตเมืองมอญ
แต่พวกพม่าเปนคนสัญชาติป่าดง ไม่รู้จักผิดชอบอย่างใด ไปไหนก็เอาไฟเผาที่นั่น และไม่รู้จักรักวาจาของตัวเลย เพราะฉนั้นเราจึงเชื่อกันว่าถ้าเรายังจะขืนอยู่ในเมืองไทยก็คงจะไม่พ้นอันตรายเปนแน่



(หน้า ๑๗)


ว่าด้วยพวกเข้ารีดช่วยรบพม่า

ในการที่พวกเข้ารีดของเราได้ช่วยพวกไทย และเมื่อวันที่ ๓๐ เดือนพฤษภาคม เราได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลังคนใหม่ และเจ้าพระยาพระคลังก็ได้ลงจากแท่นมาต้อนรับเรา
พูดว่าในคราวสงครามกับพม่าครั้งนี้ พวกเราได้ช่วยไทยมากกว่าบาดหลวง แต่ก่อน ๆ ซึ่ง ได้เอาของมาให้แต่ประเทศยุโรปนั้น

แต่ถึงดังนั้นก็ดี พระเจ้ากรุงสยาม มีพระราชประสงค์จะยกย่องพวกพระสงฆ์ จึงได้ห้าม มิให้ใช้คำว่า สังฆราช ในเวลาเรียกข้าพเจ้า
และในเวลาที่ข้าพเจ้าจะเขียนจดหมายนั้น ก็ห้าม มิให้ข้าพเจ้าใช้คำว่า สังฆราช เปนอันขาด

พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานรางวัลเปนของเล็กน้อยแก่พวกเข้ารีด ซึ่งได้ช่วยป้องกันรักษาพระนคร
และเมื่อวันที่ ๔ เดือน กรกฎาคมก็ได้โปรดพระราชทานแพรดำผืนเล็กให้ข้าพเจ้าผืน ๑ แต่ แพรที่พระราชทานมานั้นก็เปื่อยแล้ว
แต่การที่ได้เอาแพรเปื่อยมาพระราชทานข้าพเจ้านั้น ไม่ใช่ความผิดของ พระเจ้ากรุงสยามดอก

ส่วนในเรื่องนักเรียนนั้น พระเจ้ากรุงสยามได้เข้าพระทัยผิดทีเดียวคือ ได้โปรดให้เอาผ้าที่มาจากฝั่ง คอรอมันเดล พระราชทานให้แก่พวกนักเรียน โดยเข้าพระทัยว่าพวกนี้ ได้อยู่ช่วยรบกับข้าศึกเหมือนกัน
แต่ ถ้าได้ทรงทราบว่านักเรียนพวกนี้ ได้หนีไปอยู่ที่อื่นในเวลาที่พม่ายกทัพมานั้น ก็คงจะไม่พระราชทานรางวัลเปนแน่


(หน้า ๑๘)

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพวกมอญในกรุง สยามเปนขบถ
การตกตื่นใจและการจลาจล

จดหมายมอวเซนเยอร์ บรีโกต์ ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๖ เดือน พฤษภาคม ค.ศ.๑๗๖๑ (พ.ศ.๒๓๐๔)

พวกเรามีแต่หวาดเสียวและตกใจอยู่เสมอ เพราะเหตุว่ามี เสียงลือกันไม่หยุดว่าพวกพม่าได้ยกทัพกลับเข้ามาอีกแล้ว แต่ ก็ไม่เห็นพม่ามาสักทีเดียว แต่เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (๒๓๐๓) ทางราชการได้ทราบความว่า มอญพวก๑ ซึ่งไทยได้ อนุญาตให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในหัวเมืองตวันตกเฉียงเหนือเมือง ๑ นั้น ได้เกิดเปนขบถขึ้น คือได้จับเจ้าเมืองไทยฆ่าเสียโดยหา ว่าเจ้าเมืองคนนี้ไม่ตั้งอยู่ในคลองยุติธรรม แล้วพวกมอญขบถก็ ได้พาพรคคพวกหนีไปตั้งมั่นอยู่บนภูเขาแห่ง ๑ ไทยได้จัดกองทัพออก ไปปราบพวกมอญขบถ แต่พวกมอญไม่ต้องการให้เปลืองดินปืน จึงได้สู้ไทยด้วยไม้แหลม และได้ตีกองทัพไทยแตกกระจายสิ้น เพราะฉนั้นเมื่อวันที่ ๒๑ เดือนนั้นเอง (กุมภาพันธ์) พวกไทยได้หนี กลับมาทำหน้าสลดและโดยมากก็ถูกบาดเจ็บกลับมา และเวลาที่ หนีพวกมอญนั้น ก็ได้ทิ้งอาวุธหมดเพื่อจะได้หนีได้คล่อง ๆ ข้าศึกใหม่นี้ซึ่งเรียกกันว่า มอญใหม่ก็เกิดกำเริบขึ้น จึงได้เที่ยว เอาไฟเผาหมู่บ้านต่าง ๆ ตลอดจนเกือบจะถึงพระนคร คือหนทางวัน



(หน้า ๑๙)

ว่าด้วยพม่าตีเมืองทวาย ๆ มาสวามิภักดิ์ต่อ กรุงสยาม

เดียวก็จะถึงพระนครอยู่แล้ว เมื่อพวกมอญเข้าตามหมู่บ้านนั้น ก็ได้ ปล้นสดมภ์เก็บริบทรัพย์สมบัติของชาวบ้านไปจนหมดสิ้น แล้วก็ หนีกลับไปตั้งมั่นอยู่ในค่าย พระเจ้ากรุงสยามทรงกริ้วในการที่เกิดปล้นสดมภ์ขึ้นเช่นนี้ จึงได้ทรงจัดกองทัพมีกำลังพล ๘๐๐๐ ให้ขึ้นไปจับพวกมอญขบถ กอง ทัพนี้เกือบจะแพ้พวกมอญอยู่แล้ว เพอิญเจ้าพระผู้เปนสมเด็จพระ อนุชาของพระเจ้ากรุงสยาม ได้จัดข้าราชการเก่า ๆ ให้ขึ้นไปช่วย ข้าราชการเหล่านี้ได้รวบรวมกำลังมีคน ๕๐๐ คน ได้ยกขึ้นไปตี พวกมอญ ได้ฆ่าพวกมอญล้มตายเป็นอันมาก จับเปนเชลยมา ได้ ๕๐ คน นอกนั้นก็แตกกระจายหนีหมด (พวกมอญมีกำลังอยู่ ๖๐๐ คนเท่านั้น) ข้าราชการของเจ้าพระได้นำความมากราบทูล พระเจ้ากรุงสยามเมื่อวันที่ ๒๘ เดือน กุมภาพันธ์ และมากล่าวโทษ ว่ากองทัพไทยที่โปรดจัดให้ไปปราบพวกมอญนั้น ทำการอ่อนแอมากความผิดอันนี้ก็ตกหนักอยู่กับตัวนายซึ่งควบคุมกองทัพไป พระเจ้า กรุงสยามจึงได้ให้เอานายทัพนายกองมาจำคุก และได้ทรงตัดสิน ว่าพวกนี้เปนขบถสมรู้เปนใจกับพวกมอญใหม่ ก่อนที่เรื่องจะสงบลงไปได้ ก็พอดีได้ข่าวมาจากเมืองมะริด ว่ามีมอญ ๓๐๐๐ คน พม่า ๓๐๐๐ คน ได้บยกเข้ามาตีเมืองทวาย เมืองทวายนี้ได้สวามิภักดิ์ยอมตัวขึ้นกับไทยแล้ว เมืองทวายจึงได้ มีบอกเข้ามาขอกำลังออกไปช่วย ข้างฝ่ายทางราชการในกรุงศรี



(หน้า ๒๐)

อยุธยาก็เกิดระส่ำระสายกันขึ้นอีก แต่ก็พอเบาใจได้บ้างเพราะจวน จะเข้าระดูฝนอยู่แล้วไทยจึงได้ตอบเจ้าเมืองทวายว่าจะส่งกำลังออก ไปช่วย และได้สั่ง มองตัด ซึ่งเปนแขกมลายูและเปนเจ้าเมือง ตะนาวศรีให้รวบรวมกำลังออกไปช่วยเมืองทวาย แต่การเรื่องนี้กว่า จะสั่งเสียกันได้ ก็ชักช้าเสียเวลามาก พวกทวายจึงได้ยกออกจาก เมืองเข้าโจมตีกองทัพมอญและพม่า ข้าศึกทานกำลังพวกทวายไม่ ไหวก็แตกกระจายพ่าบแพ้ไปสิ้น ฝ่ายเจ้าเมืองทวายอยากจะได้ กำลังไทยไปช่วยเพราะเกรงพม่าจะยกกลับมาอีก จึงได้ส่งต้นไม้ ทองเงินเครื่องบรรณาการยอมเปนเมืองขึ้นแก่ไทย พระเจ้ากรุง สยามได้ทรงทราบก็ดีพระทัย แต่ในไม่ช้าเท่าไรนักก็ต้องตกพระทัย อีก เพราะได้ทราบข่าวมาว่าพวกพม่ากำลังเตรียมทำดินปืนอยู่ทาง ทิศเหนือเมืองไทย จึงได้มีรับสั่งให้เจ้าพนักงารเกณฑ์ผู้คนเพิ่มเติม ขึ้นอีกและให้ถมชานกำแพงพระนครให้ใหญ่ออกไปอีก เพราะฉนั้น ในเวลานี้พวกเราอยู่ในฐานหวาดเสียวต้องระวังตัวอยู่เสมอ ยังมีพวกไทยที่พม่าจับไปเปนเชลยได้หนีกลับมาได้ และได้มารายงารว่า เวลานี้พวกพม่ากำลังเตรียมการใหญ่โตจะเข้ามาตีกรุงอีก



(หน้า ๒๑)

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วย ด้วยกรมหมื่นเทพิพิธ เข้ามาอยู่เมืองตะนาวศรี

จดหมาบมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๕ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๖๒ (พ.ศ. ๒๓๐๕)

ตั้งแต่ได้เกิดสงครามกับพม่าเมื่อปีค.ศ.๑๗๖๐(พ.ศ.๒๓๐๓) นั้นภายใน ๒ ปีนี้ พวกเรามีแต่ความหวาดเสียวต้องคอยระวังตัวอยู่เสมอ เพราะกลัวว่าข้าศึกจะกลับมาอีก และในปีนี้ก็มีข้อวิตกว่าเมือง ตะนาวศรีจะเปนขบถขึ้นและคงจะขอกำลังพม่ามาช่วย เพื่อจะยก เจ้าองค์ ๑ อันประสูติจากมารดาเปนพระสนม ซึ่งได้ถูกเนรเทศไป อยู่เกาะลังกาเมื่อ ๔ ปีมาแล้ว ฝ่ายเจ้าแผ่นดินเมืองแคนดีเห็นว่า ข้าราชการเมืองแคนดีและชาวเกาะลังกา มีความนับถือเจ้าองค์นี้มาก ก็เกิดไม่ไว้ใจขึ้น จึงได้ขับไล่เจ้าองค์นี้ให้ออกไปเสียให้พ้นเกาะลังกา เจ้าองค์นี้ได้ออกจากเกาะลังกาแล้วก็ได้เลยไปอยู่กับพวกอังกฤษที่ฝั่ง ครอมันเดล แล้วภายหลังได้เสด็จออกจากเมือง มสุลีปตัน เมื่อเดือนกรกฎาคม เสด็จลงเรือแขกมัวลำ ๑ มาประทับยังเมือง มะริด เมื่อได้เสด็จมาถึงเมืองมะริด แล้ว ก็ได้มีลายพระหัตถ์ถวายพระเจ้ากรุงสยาม ผู้เปนพระเชษฐา ขออนุญาตเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงรับลายพระหัดถ์ฉบับนี้ก็กริ้ว ทรงพระราช ดำริห์จะสำเร็จโทษเจ้าองค์นี้เสีย แต่ก่อนที่จะสำเร็จโทษได้ต้องเสีย เวลาเรียกเสนาข้าราชการมาปรึกษาหารือ และจะต้องเตรียมการให้เสร็จเสียก่อน ในเวลานั้นเจ้าเมืองเพ็ชร์บุรี คนเก่าซึ่งออกจากราชการ-



(หน้า ๒๒)

ว่าด้วยอำนาจเจ้านายผู้หญิงในเวลานั้น

-แล้วเกิดความไม่พอใจขึ้น เพราะไม่ได้รับรางวัลความชอบตามที่ ควรจะได้ทราบว่าพระเจ้ากรุงสยาม ทรงพระราชดำริห์จะฆ่าเจ้าองค์ นั้น จึงได้เกลี้ยกล่อมผู้คนได้ ๕๐๐ คนหนีไปหาเจ้าองค์นั้นที่เมือง มะริด ข้างฝ่ายไทยได้เกณฑ์ทหารให้ออกไปตามจับ และได้ มีคำสั่งถึงเจ้าเมืองรายทางทุกคน ให้คอยจับเจ้าเมืองเพ็ชรบุรีคนเก่านี้ ส่งเข้าไปยังกรุงให้จงได้
บรรดาผู้คนที่ได้เข้าเปนสมัคพรรคพวก ของเจ้าเมืองเพ็ชรบุรีได้ถูกริบทรัพย์มบัติจนหมดสิ้น ภายหลัง เจ้าพนักงารจับเจ้าเมืองเพ็ชรบุรีคนนี้ส่งเข้ามายังกรุง เจ้าพนักงาร จึงได้เอาตัวตระเวณรอบเมืองอย่างผู้ร้ายฉกรรจ์ ตั้งแต่นั้นมาการในเมืองตะนาวศรีก็สงบราบคาบ แต่ผู้คนร่วงโรยลงไปมากและเสบียงอาหารก็กันดารอัตคัดที่สุด ตั้งแต่ครั้งสมัยก่อน ๆ มา พระราฃโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่ากับเปนกฎหมายในเมืองนี้ ครั้นมาในบัดนี้เจ้านายผู้หญิงทุก องค์ก็มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน และข้าราชการก็ต้องเปลี่ยน กันอยู่เสมอ แต่ก่อน ๆ มา ผู้ที่มีความผิดฐานเปนขบถ ฆ่าคนตาย และเอาไฟเผาบ้านเรือน ต้องรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต แต่มาบัดนี้ความโลภของเจ้านายผู้หญิง ได้เปลี่ยนลงโทษความผิดชนิด นี้พียงแต่ริบทรัพย์ และทรัพย์ที่ริบไว้ได้นั้น ก็ตกเปนสมบัติ ของเจ้าหญิงเหล่านี้ทั้งสิ้น ฝ่ายพวกข้าราชการเห็นความโลภของ เจ้านายผู้หญิงเปนตัวอย่างก็หาหนทางที่จะหาประโยชน์บ้าง ถ้าผู้-



(หน้า ๒๓)

-ใดเปนถ้อยความแล้วข้าราชการเหล่านี้ก็คิดหาประโยชน์จากคู่ความ ให้ได้มากที่สุดจะเอาได้ การที่ทำเช่นนี้ก็ปิดความหาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบไม่ แต่ถ้าห่างพระเนตร์พระกรรณออกไปแล้วข้าราชการ เหล่านี้ก็ลักขะโมยอย่างไม่กลัวทีเดียว เมื่อปีกลายนี้พวกข้าราชการ ที่เมืองภูเก็จได้ปล้นเรืออังกฤษลำ ๑ ซึ่งได้หนีจากเมืองเบงกอลแวะ เข้ามาที่เมืองภูเก็จเพื่อหนีท่านเคาน์เดซแตง เมื่อปีนี้พวกข้าราชการเมืองภูเก็จได้แนะนำให้เรืออังกฤษอีกลำ ๑ เข้าไปซ่อมแซมเรือที่ฝั่ง เมืองแตร์แฟม (Teere Ferme) ใกล้กับเมือง โตยอง (Toyon) ซึ่งเปนเมืองที่มีคนเข้ารีดมากที่สุดในแถบเกาะภูเก็จนี้ ครั้นเรือ อังกฤษได้ไปทอดที่เมืองแตร์แฟมตามคำแนะนำของข้าราชการเมือง ภูเก็จแล้ว พวกไทยและมะลายูซึ่งอยู่ที่เมืองนั้นกู้กันกับข้าราชการ เมืองภูเก็จ จึงได้ฟันแทงพวกอังกฤษและขึ้นปล้นเรือเก็บสินค้าใน เรือนั้นไปหมดสิ้น ฝ่ายข้าราชการเมืองภูเก็จคิดจะปิดบังความผิด ของตัว จึงคิดอุบายาความว่าพวกเข้ารีดที่เมืองโตยอง เปนผู้ที่ปล้น และทำร้ายเรืออังกฤษ ลงท้ายที่สุดพวกเข้ารีดเหล่านี้ก็พลอยฉิบหาย ไปเปล่า ๆ ยังมีบาดหลวงคณะฟรังซิซแกง เปนชาติ ปอตุเกตคน ๑ ได้ตายด้วยความตรอมใจและถูกทรมาน เพราะเจ้าพนักงารเมือง ภูเก็จได้จับบาดหลวงคนนี้ขังไว้ในระหว่างพิจารณาความเกือบเดือน ๑



(หน้า ๒๔)

จดหมายมองซิเออร์อาลารีว่าด้วยพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา
พม่าตีกรุงครั้งที่ ๒

เมืองมะริด

จดหมายมองซิเออร์ อาลารี ถึง มองซิเออร์ เดอลาลาน
เขียนบนเรือลำ ๑ ซึ่งเดิรทางในระหว่างเมืองมะริดและเมืองย่างกุ้ง
วันที่ ๑๗ เดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๗๖๕ (พ.ศ. ๒๓๐๗)


จดหมายฉบับนี้ข้าพเจ้าต้องเขียนด้วยเศษกระดาษที่ค้นพบ ในเวลา ที่วัดและบ้านได้ถูกเพลิงไหม้หมดแล้ว เพื่อจะเล่าให้ท่านฟังถึง การที่เมืองมะริดแตกทำลายยับเยินหมด และถึงตัวข้าพเจ้าที่ต้อง ทนทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปรับหน้าที่ใหม่นี้ การที่พระเยซูโปรดให้เปนดังนี้เปนการที่ข้าพเจ้าไม่คัดค้านอย่างใด และในเรื่องนี้ความเห็นของข้าพเจ้าจะมีอย่างไรก็ไม่จำเปนจะต้องกล่าวเพื่อจะได้มีเวลาเล่าเรื่องอื่น ๆ ให้ท่านฟังได้บ้าง เมื่อปลายเดือน ธันวาคม ค.ศ.๑๗๖๔ (พ.ศ. ๒๓๐๗) ข้าพเจ้าได้มีจดหมายบอกมาให้ท่านทราบแล้วว่า ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่ โปรวิแกร์ (Provivaire) ในเมืองมะริด และหน้าที่นี้ข้าพเจ้าไม่เต็มใจรับ อย่างยิ่ง และได้เล่าให้ท่านฟังแล้ว ว่ามองซิเออร์ อันดรีเออถูก เรียกกลับไปอยู่กรุงศรีอยุธยา เพื่อไปทำการในโรงเรียนพร้อมกับมองซิเออร์ อาโต เวลานั้นมองซิเออร์ อันดรีเออ กับตัวข้าพเจ้าก็



(หน้า ๒๕)

เตรียมตัวพร้อมอยู่แล้วที่จะไปทำการตามหน้าที่ใหม่ แต่พเอิญพระ เปนเจ้าได้จัดการให้ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไปทำการอย่างอื่นต่อไป


ว่าด้วยข้อวิตกที่พม่าจะมา

เมื่อวันที่ ๒ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๖๕ (พ.ศ.๒๓๐๗) เวลา เช้าประมาณ ๔ โมง มีเรือต่างประเทศแปลกเข้ามาทอดสมอในลำ น้ำลำ ๑ มาบอกข่าวว่า รายาหรือเจ้าแผ่นดินเมืองทวายซึ่งเปนเมือง ขึ้นของไทย ได้หนีลงเรือพร้อมด้วยครอบครัวและข้าราชการเปน อันมาก เพราะพม่าได้ยกทัพมาจะล้อมเมือง แต่ได้ทราบจาก เสียงคนอื่นว่า การที่รายาเมืองทวายได้หนีเช่นนี้ เปนเพราะ เหตุว่ารายาคนนี้ดุร้ายนักจนราษฎรได้ลุกเปนขบถขึ้น พวกราษฎร จึงได้ไล่รายาคนนี้ออกจากเมือง ใคร ๆ ที่รู้จักนิสัยดุร้ายของรายา เมืองทวาย ได้พากันเชื่อว่าได้เกิดขบถขึ้นมากกว่าเชื่อว่าพม่าได้ เข้ามาล้อมเมือง แต่ถึงดังนั้นก็ไม่วายทำให้ชาวเมืองตะนาวศรีตื่น ตกใจทั้งเมือง และได้มีคนพาครอบครัวอพยพหนีไปก็มาก เพราะพวกชาวเมืองมีความเข็ดขยาด ที่ได้เคยเห็นความร้ายกาจของ พวกพม่าเมื่อครั้งสงครามคราวก่อน เพราะฉนั้นเมื่อมีข่าวมาว่าข้าศึก ได้ยกเข้ามาใกล้แล้ว จึงต่างคนต่าคิดหนีเอาตัวรอด การที่มอง ซิเออร์อันดรีเตรียมตัวจะเข้าไปกรุงศีอยุธยานั้นจึงต้องงด และส่วน



(หน้า ๒๖)

ตัวข้าพเจ้าก็กำลังตรองอยู่ว่าจะเลยไปที่ฝั่งคอรอมันเดล จะดีกว่ากระมัง เพือ่เปนการหลีกตัวให้พ้นสงครามคราวนี้ เพราะการสงครามครั้งนี้ หาได้เกี่ยวในการสาสนาอย่างใดไม่
แต่เพื่อจะไม่ทำการให้รวดเร็วเกินไป ข้าพเจ้าก็ยอมให้เรือออกไปลำ ๑ ก่อน และได้รอให้รายาเมืองทวายได้เข้ามาถึงเสียก่อน เพื่อจะได้ฟังข่าวให้แน่นอนด้วย แต่ครั้นรายาเมืองทวายได้มาถึงแล้ว ก็ไม่ได้ความแน่นอนอะไรขึ้นเลย
ฝ่ายราษฎรพงเมือง ก็ต่างคนต่างเตรียมตัวที่จะหนี ไทยก็ได้ส่งกองสอดแนมให้ออกไปสืบข่าวข้าศึก แต่พวกกองสอดแนมเปนคนขี้ขลาดไม่กล้าเข้าไปใกล้ข้าศึก จึงส่งแต่ข่าวตามที่เขาบอกเล่ามาทั้งนั้น
ในระหว่างนั้น บุตรของรายาเมืองทวาย ได้มายังบ้านบาดหลวง มองซิเออร์ อันดรีเออ ไม่อยู่ ข้าพเจ้าจึงออกต้อนรับแทน บุตรรายาเมืองทวาย ได้ถามข้าพเจ้าว่า
ข้าพเจ้าไม่คิดจะไปยังฝั่ง คอรอมันเดล หรืออย่างไร เพราะอีก ๒ วัน พวกพม่าก็จะเข้าเมืองทวายอยู่แล้ว ส่วนตัวบุตรของรายาเมืองทวาย เชื่อเอาจริง ๆ ว่า พม่าคงยกทัพมาเปนแน่ ความที่กลัวตาย จึงได้หนีบิดายกครอบครัวไปอยู่ที่เมืองอื่นต่อไป
พวกเข้ารีดก็ได้มาปรคกษา มองซิเออร์ อันดรีเออ ว่า เมื่อความอันตรายใกล้จะมาถึงตัวเช่นนี้จะควรทำประการใดดี แต่มองซิเออร์ อันดรีเออ ก็ไม่ยอมออกความว่าอย่างไร เปนแต่ตอบพวกเข้ารีดว่า ตัวมองซิเออร์อันดรีเออเองก็จะอยู่ที่วัดนั้นจะไม่ไปไหน และถ้า



(หน้า ๒๗)

ใครอยากจะไปอยู่ในวัดด้วย มองซิเออร์อันดรีเออก็ยินดีที่จะรับไว้ การที่มองซิเออร์อันดรีเออตอบดังนี้ พวกเข้ารีดไม่พอใจจึงได้มาหาข้าพเจ้าบอกว่าพวกนี้เอยากจะไปยังฝั่งคอรอมันเดล แต่ในเวลานั้นมองซิเออร์อันดรีเออได้รับรองไว้ ว่ายังจะคงปกครองคณะบาดหลวง ต่อไปจนกว่าจะเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าจึงไม่อยากรับผิด ชอบในข้อที่พวกเข้ารีดมาหารือ ข้าพเจ้าจึงได้ตอบว่า พวกเข้ารีด ควรจะระวังตัวไว้ การที่เราควรเชื่อใจในพระเปนเจ้านั้นไม่ควรจะ ทำให้เราเผลอตัวแต่ควรระวังและเตรียมตัวไว้เสมอจึงจะดี การ ที่ข้าพเจ้าได้ตอบดังนี้ ก็ทำให้พวกเข้ารีดพอใจอยู่บ้าง เพราะเขา ได้เห็นแล้วว่าเราไม่ต้องการให้พวกนี้ยึดเราไว้เปนหลัก และถึงแม้ ว่าส่วนตัวเราเองก็ไม่ได้เตรียมตัวไว้อย่างไร แต่เราก็ไม่ได้ห้าม ไม่ให้เขาเตรียมตัว พวกเข้ารีดจึงตกลงเตรียมหารือไว้เพื่อจะ ได้หนีไปอยู่ตามเกาะใกล้เคียง แต่การที่เตรียมเรือไว้เช่นนี้ไม่ ทันกับเวลา เพราะเมื่อเขาได้ลงเรือหนีไป ก็ถูกจับตามทาง ดัง ข้าพเจ้าจะได้เล่าให้ฟังในตอนหลังต่อไป

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงไม่ได้ทำตามคำแนะนำของตัวข้าพเจ้าเองและเหตุใดข้าพเจ้าจึงได้ปล่อยเรือออก ไปถึง ๔ ลำโดยไม่ได้อาศรัยไปกับเรือเหล่านั้น การที่เปนเช่นนี้ ก็คงเปนเพราะเหตุว่า ข้าพเจ้ากลัวเขาจะหาว่าข้าพเจ้าตื่นอย่าง ๑ กลัวว่าเขาจะหาว่าข้าพเจ้ารังเกียจเมืองมะริดอย่าง ๑ และกลัวว่า



(หน้า ๒๘)

ว่าด้วยพม่ายกเข้ามาและเกิดการปล้นสดมภ์ขึ้น

จะทำให้ มองซิเออร์ อันดรีเออ น้อยใจอีกอย่าง ๑ เพราะเหตุ มองซิเออร์ อันดรีเออ เชื่อใจแน่ว่าพวกพม่าคงจะไม่มาจึงเกรงว่าข้าพเจ้าจะกีดขวางในการที่มองซิเออร์อันดรีเออจะเข้าไปกรุงศรีอยธยาด้วยเหตุทั้งปวงเหล่านี้ข้าพเจ้าจึงได้รอจนผลที่สุด ซึ่งเปนการทำให้ข้าพเจ้าได้รับ ความลำบากมาก
ในวันที่ ๑๐ เดือนมกราคม มองซิเออร์อันดรีเออ คิดจะให้พวกเข้ารีดหายกลัว จึงได้เรียกพวกเข้ารีดที่จะไปกรุงศรีอยุธยากับมองซิเออร์อันดรีเออ
มาบอกว่าอีกสองสามวันจะได้ออกจากเมืองมะริด เข้าไปกรุงศรีอยุธยา
เพราะฉะนั้นการที่กลัวพวกพม่าไม่ควรจะกลัว เพราะการที่ว่า พม่าจะมานั้น ไม่มีมูลอะไรเลย
แต่ในเวลาที่มองซิเออร์อันดรีเออ พูดเช่นนี้ ความจริงข้าศึกก้ได้ยกเข้ามาใกล้แล้วพวกพม่า ยกเข้ามาเกิดการปล้นสดมภ์ขึ้น-


พวกพม่ายกเข้ามา เกิดการปล้นสดมภ์ขึ้น

-เมื่อคืนวันที่ ๑๐ ถึง ๑๑ (มกราคม) เวลาประมาณ ๒ ยาม เกิดเสียงคนร้องเอะอะเกรียวกราวขึ้น เข้าใจกันว่าข้าศึกได้เข้าเมือง แล้ว พวกเราจึงได้เดิรไปดูที่ชายตลิ่ง จึงได้ทราบว่าการเอะอะ เกรียวกราวนี้ ก็คือกระบวนเรือของรายาเมืองทวายมาถึงนั้นเอง แต่พวกชาวเมืองซึ่งลงไปอยู่ในเรือเพื่อจะได้หนีง่าย ๆ นั้น ได้ทราบ ข่าวมาว่าพวกข้าศึกได้ยกมาถึงปากน้ำแล้ว แต่อีกสักครู่ ๑ เสียง



(หน้า ๒๙)

เล่าลืออันนี้ก็สงบลงไป เมื่อเกิดเสียงเอะอะเกรียวกราวกันนั้น พวกเข้ารีดก็ได้รีบลงไปอยู่ในเรือและพวกชาวบ้านก็ได้ออกจากบ้านหนี เข้าไปอยู่ในป่า ส่วนเรือของเจ้าเมืองทวายนั้นได้ทอดอยู่ริมตลิ่ง ไม่มีใคร ทราบว่าเจ้าเมืองทวายได้หนีขึ้นบกแล้ว หรือได้ลงเรือลำอื่นอย่างไร พวกเราก็เข้านอนโดยไม่ทราบแน่ว่าได้เกิดอะไรกันขึ้นแต่ไม่ช้าก็ ต้องลุกขึ้นจากที่นอนอีก ครั้นเวลาประมาณ๑๐ ทุ่ม (๔ ก.ท.) ก็ได้เกิดเสียงเอะอะเกรียวกราวเหมือนเเมื่อ ๒ ยามอีกครั้ง ๑ แต่คราวนี้ไม่ใช่แต่เสียงเกรียวกราวอย่าเดียว แต่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ด้วยซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าพวกพม่า ได้เข้ามาแล้ว มองซิเออร์อันดรี ออซึ่งนอนอยู่ในห้องข้างหน้าได้ มาเรียกให้ข้าพเจ้าลุกขึ้นและบอกว่าข้าศึกมาแล้ว มองซิเออร์ อันดรีเออ จึงฉวยเสื้อยาวสวมตัวแล้วลงไปที่โบสถ์และข้าพเจ้าก็ ตามลงไปด้วย พวกเข้ารีดบางคนที่ยังอยู่ ก็ได้ตามเข้าไปในโบสถ์ มองซิเออร์อันดรีเออจึงได้ชี้แจงให้พวกเข้ารีดตั้งใจสละชีวิตให้แก่พระเปนเจ้าและได้ล้างบาปให้แก่พวกเข้ารีด แล้วมองซิเออร์อันดรีเออ กับข้าพเจ้าก็ได้ไปอยู่ในที่อื่นเพื่อต่างคนจะได้ล้างบาปให้ซึ่งกันและกันแต่การที่จะล้างบาปกันนี้ต้องทำอย่างสั้นที่สุด เพระาไฟที่ข้าศึก ได้จุดเผาบ้านราษฎรนั้น ได้ลุกลามไหม้มาเกือบจะถึงเราอยู่แล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเมื่อเวลายังมีอยู่ก็ควรคิดอ่านหนีเอาชีวิตรอดข้าพเจ้าจึงได้รวบรวมเงินที่ยังเหลืออยู่เล็กน้อย ไปส้อนไว้ข้างต้นไม้ต้น ๑ -



(หน้า ๓๐)

ว่าด้วยพวกมิชชันนารีถูกพม่าจับ

-ที่อยู่ใกล้ ๆ เมื่อเพลิงดับหมดแล้วจะได้ย้อนกลับมาเอาเงินรายนี้ ได้ แล้วข้าพเจ้าจึงได้รีบเรียกคนใช้ให้ไปในป่ากับข้าพเจ้าคน ๑ และสั่งให้คนใช้เอาปืนติดตัวไปด้วยเพื่อจะได้เอาไว้ยิงเสือ ในเวลาที่ข้าพเจ้ายืนเรียกคนใช้อยู่ที่เชิงบันไดนั้น พอเหลียว ไปดูทางประตูก็ได้เห็นข้าศึกยืนอยู่แน่นที่ประตูแล้ว พวกข้าศึกจึงเดิรตรงเข้ามาหาข้าพเจ้า บางคนถือหอก บางคนถือไต้ แต่ไต้ที่ถือมา นั้นจะสำหรับเผาบ้านหรือสำหรับส่องดูทางก็ไม่ทราบเพราะเวลานั้น ยังมืดอยู่ข้าพเจ้าก็หมดความคิดที่จะหนีต่อไป ข้าพเจ้าจึงเดิร ตรงเข้าไปหาข้าศึกที่เดิรนำหน้า เพื่อนคนใช้ของข้าพเจ้าพูดภาษา พม่าได้ ข้าพเจ้าจึงได้ให้บอกกับทหารพม่าว่าข้าพเจ้าไม่ต้องการสู้ ทหารพม่าก็หาได้ทำอะไรไม่เปนแต่บอกให้ข้าพเจ้าส่งหมวกให้ ข้าพเจ้าห็ถอดหมวกส่งให้ทันที แต่พวกทหารที่ตามหลังมานั้นหา ได้มีอัธยาศรัยดีเหมือนคนแรกไม่ เพราะพวกนี้ได้รีบเข้าไปใน บ้านเพื่อจะปล้นเอาของ จึงได้ไปพบมองซิเออร์อันดรีเออ ๆ ก็ได้ มอบลูกกุญแจ ให้พวกพม่าเปิดหีบและโต๊ะตู้ตามชอบใจพวกพม่า ได้ฟันหีบสำหรับเก็บถ้วยเงินและเครื่องประดับโบสถ์และได้เก็บเอา ของไปหมดไม่มีเหลือเลย ข้าพเจ้าก็เดิรเข้าไปในห้องเพื่อไปเปิด หีบให้ข้าศึกดู พอเดิรก้าวเข้าไปในห้อง ทหารพม่าคน ๑ เข้าใจ ว่าข้าพเจ้าคิดจะไปส้อนของ จึงได้เงื้อหอกจะแทงข้าพเจ้า ข้าพเจ้า



(หน้า ๓๑)

จึงทำกิริยาให้ทหารเห็นว่าข้าพเจ้าจะเก็บของส่งให้ ทหารคนนั้นจึง ได้เดิรเข้าไปในห้องพร้อมกับข้าพเจ้า เมื่อพบสิ่งใดก็เก็บเอาไปหมด ส่วนข้าพเจ้าเก็บได้แต่สมุดสวดมนต์ คัมภีร์ใบเบอลกับสมุดอีก ๓ เล่มเท่านั้น เพราะจะป้องกันไม่ให้หนังสือเหล่านี้ไหม้ไฟ และ ข้าพเจ้าคิดอ่านจะรักษาเสื้อซึ่งแต่งกายอยู่ในเวลานั้นด้วย แต่ ในทันใดนั้นเองพวกพม่าได้มาถอดเครื่องแต่งตัวออกจากตัวข้าพเจ้า ตั้งแต่ศีร์ษะตลอดถึงท้าว เหลือแต่เสื้อเชิ๊ตติดตัวอยู่กับหมวกกลมติด ศีร์ษะอยู่เท่านั้น ข้าพเจ้าได้ร้องว่าการเปลือยกายเช่นนี้เปนการขายหน้าและข้าพเจ้าจะไปไหนโดยแต่งตัวอย่างนี้ไม่ได้ แต่พวกพม่า หาฟังไม่ ข้าพเจ้าจำเปนต้องเดิรออกไปนอกถนนโดยสวมเสื้อเชิ๊ด อยู่ตัวเดียว กางเกงหรือรองท้าวก็ไม่มี บรศีร์ษะก็สวมหมวก มือก็ถือสมุดที่ได้กล่าวมาข้างบนนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงเข้าใจได้ว่าพวก พม่าข้าศึกคงจะจับเอาเราไปเปนเชลย และการที่พวกพม่าไม่ล้าง ชีวิตเสียนั้น ก็โดยเขากรุณาพออยู่แล้วพวกพม่าได้บังคับให้ เราเดิรออกหน้า พอเราออกจากบ้านแล้ว พวกพม่าก็ได้เอาไฟเผาบ้าน ทีเดียว ในระหว่างทางนั้นข้าพเจ้าได้พบทหารพม่าคน ๑ ถือเสื้อยาวตัวเก่า ๆ ของมองซิเออร์อันดรีเออตัว ๑ ข้าพเจ้าจึงได้ขอเสื้อตัวนี้พอ จะได้คลุมกายให้มิด และได้อธิบายว่าเสื้อตัวนี้ไม่เปนประโยชน์ อะไรแก่ทหารผู้นั้นเลย ข้าพเจ้าได้อ้อนวอนหนักเข้าขนทหารผู้นั้นก็



(หน้า ๓๒)

ยอมให้เสื้อแก่ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าได้รับเสื้อมาบังกายแล้ว ก็นึก ยินดีว่าคัมภีร์ใบเบอล ก็ยังอยู่ เพราะในเวลาที่ข้าพเจ้าต้องเปนเชลย อยู่นั้น จะได้อ่านใบเบอล ให้เพลินใจได้ แต่ที่ข้าพเจ้าคาดการ เช่นนี้ก็มิได้สมหวัง เพราะข้าพเจ้าเดิรไปยังไม่ถึง ๒๐ ก้าว ก็มี ทหารอีกคน ๑ มากระชากสมุดเหล่านี้ออกจากมือ แล้วทำกิริยาบอก ให้ข้าพเจ้าเดิรกลับไปริมตลิ่ง เพื่อไปลงเรือพร้อมกับมองซิเออร์ อันดรีเออ แต่เวลานั้นเปนเวลาที่น้ำแห้ง จึงต้องเดิรท่องโคลน ลึกถึงหัวเข่ากว่าจะไปถึงเรือลำที่เขาจะให้ข้าพเจ้านั่งไป การที่เดิร ท่องโคลนเช่นนี้เปนการที่ข้าพเจ้าไม่ได้เคยฝึกหัดมาเลย เพราะฉนั้น ถ้าคนใช้ ๒ คนที่ยังอยู่กับเราไม่ได้มาช่วยแล้ว เราสองคนก็คงจะต้อง ล้มจมโคลนเปนแน่ มองซิเออร์อันดรีเออได้หันมาบอกกับข้าพเจ้า ว่าให้คอยไปพร้อม ๆ กันอย่าให้ห่างกันได้ ข้าพเจ้าจึงตอบว่า ถึง เราจะไม่อยากห่างกันก็เห็นจะไม่ฟัง พวกพม่าคงแยกไม่ให้เราอยู่ด้วยกันเปนแน่ ในทันใดนั้นได้มีคนตะโกนมาจากตลิ่งให้เรากลับขึ้นบกเพื่อจะได้ไปพูดกับแม่ทัพ จึงจำเปนต้องเดิรท่องโคลนกลับไปอีก ครั้น มาถึงตลิ่งแล้วพวกพม่าได้บังคับให้เราลงนั่งกับดิน เพื่อเปนการ แสดงเคารพต่อท่านแม่ทัพ แต่ก็หาได้มีใครบอกไม่ว่าเวลาที่นั่ง กับดินนั้นจะต้องวางขาท่าไหน จึงเปนการไม่ปลาดเลยที่ข้าพเจ้านั่ง ไม่ถูกท่า ซึ่งเปนการทำให้ข้าพเจ้าต้องถูกหวดด้วยหวายเพื่อให้



(หน้า ๓๓)

ข้าพเจ้าลดขาลงให้ต่ำ ท่านแม่ทัพเองเปนผู้เอาหวายหวดข้าพเจ้า ก่อนที่ถูกหวายหวดนี้ข้าพเจ้าได้ถูกกำปั้นทุบหน้ามาที ๑


พวกมิชชันนารีถูกแม่ทัพซักถาม ความวิตกของมิชชันนารี

แม่ทัพพม่าได้ถามเราถึงเรื่องเรือที่จอดอยู่ใกล้ๆ เพราะเรือ เหล่านี้ไม่มีเวลาพอที่จะถอนสมอได้ จึงได้ตัดสายสมอเพื่อจะได้หนี ไปง่าย ๆ เมื่อเราได้ตอบคำถามหมดทุกข้อแล้ว แม่ทัพพม่า ได้ชี้ตัวข้าพเจ้า และส่งให้ข้าพเจ้าไปกับทหารพม่าเพื่อไปตีเรือ เหล่านั้น ข้าพเจ้าจึงได้ตอบว่าข้าพเจ้าไม่รู้จักวิธีรบอย่างไรเลย จึงได้มีทหารอีกคน๑ พูดว่ากระไรไม่ทราบ แต่เชื่อว่าเขาคงบอกว่า ข้าพเจ้าเปน ปองกุย แปลว่าเปนบาดหลวงของพวกเข้ารีด แม่ทัพ พม่าจึงไม่ได้รบกวนข้าพเจ้าอีก แต่ได้ให้คนใช้ของข้าพเจ้าไปแทนข้าพเจ้าคน ๑ แล้วพวกพม่าได้ทำกิริยาบอกให้เราลุกขึ้น ทหาร พม่าจึงไม่ได้พาเราเดิรระหว่างไฟซึ่งกำลังไหม้บ้านเรือนอยู่ ไปจนถึงสุดถนนริมน้ำเพื่อเตรียมตัวที่จะลงเรือต่อไป ตามทางที่ไป นั้นมีอยู่แห่ง ๑ ซึ่งไฟยังไม่ไหม้ ข้าพเจ้าได้พบกางเกงเก่า ๆ ตัว ๑ ซึ่งได้มีคนทิ้งหรือทำตกไว้ ข้าพเจ้าจึงขอบใจพระเปนเจ้าที่ทำให้



(หน้า ๓๔)

ว่าด้วยมองซิเออร์อาลารีทำลายศิลาจารึกประจาน

ข้าพเจ้าได้ของเช่นนี้ จะได้ไม่ต้องเปลือยกาย เพราะแต่ก่อนก็ได้เสื้อ ยาวมาตัว ๑ แล้ว พวกพม่าได้พาเราไปไว้กลางตลาด เท้าต้องจมโคลนอยู่ตั้งแต่สว่างจนเกือบเช้า ๔ โมงพวกพม่าได้ให้เราอยู่ต่างหากไม่ได้ปะปน กับคนอื่น จึงได้เกิดเสียงลือขึ้นว่าพม่าได้ฆ่าเราตายเสียแล้วข่าวลือ อันนี้ได้ไปจนถึงเรือซึ่งจะไปยังฝั่งคอรอมันเดล ดังเราได้ทราบมา ในภายหลัง แต่เวลานั้นก็หมดโอกาศที่จะบอกความจริงไปให้ มองซิเออร์มาธอน(๑) ทราบได้ และเราก็หมดปัญญาไม่ทราบว่า จะบอกไปทางไหนด้วย


มองซิเออร์อาลารีทำลายศิลาจารึก

พวกพม่าได้พาพวกเข้ารีดอื่นๆมารวมอยู่แห่งเดียวกันกับเราและเราต้องคอยอยู่ที่เมืองมะริดถึง ๑๕ วันเพราะคอยให้กองทัพ พม่ากลับมาจากเมืองตะนาวศรีเสียก่อน จึงจะพาเราไปยังเมืองทวาย ในระหว่างที่อคยอยู่นั้น พวกพม่าได้ปรึกษากันถึง ๒ ครั้งว่าจะฆ่า เราดีหรือจะพาเราไปด้วยดี ลงท้ายได้ตกลงกันว่าจะพาเราไป เพราะ ที่เมืองทวายมีเรือพม่าอยู่ลำ ๑ ซึ่งว่าง เพราะฉนั้นจึงเห็นกันว่าสมควรจะเอาเชลยบันทึกเรือลำนี้เพื่อเอาไปถวายพระเจ้าอังวะ
.......................

(๑) เปนอัยการของคณะต่างประเทศเมืองปอนดิเซริ



(หน้า ๓๕)

จดหมายมองซิเออร์แคแฮว่าด้วยช่วยไทยรบพม่า

ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสอันนี้ทำลายศิลาจารึก ซึ่งได้รอดมาตั้งแต่ครั้งสงครามคาวก่อนนั้นแล้ว เมื่อกองทัพพม่ามาถึงแล้ว เราก็ได้รีบลงเรือ ได้รออยู่ในเรือ ๒ วัน ครั้นตอนกลางคืนวันที่ ๒ พวกพม่าจึงได้ถอยเรือออกและ เมื่อได้ถอยเรือไปแล้ว พวกพม่าได้เอาไฟเผาบ้านที่ยังเหลืออยู่ เพราะบ้านเหล่านี้พวกพม่าไม่ได้เผาแต่เดิม ด้วยรักษาไว้สำหรับให้ ทหารและพวกเชลยพัก เมื่อพม่าถอยทัพแล้วจึงได้เผาบ้านเหล่านี้ จนหมดสิ้น



(หน้า ๓๖)

กรุงศรีอยุธยา
มองซิเออร์แคแฮเวช่วยไทย

จดหมายมองซิเออร์แคแฮเว ถึง มองซิเออร์ เดอลาลาน
วันที่ ๑๙ เดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๖๕ (พ.ศ. ๒๓๐๘)

ข้าพเจ้ามีความเสียใจอย่างยิ่ง ที่ได้รู้สึกตัวว่าข้าพเจ้าไม่เปนประโยชน์สำหรับคณะบาดหลวงนี้เลย เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงคิดพยายามออกจากกรุงศรีอยุธยาในปีนี้ ปต่การที่พวกพม่าได้ยกทัพ มานั้นจึงเปนการกระทำให้เรือออกไปไม่ได้จนลำเดียว และฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังก็ได้รับพระราชโองการฝห้เรียกข้าพเจ้าไปช่วยทำป้อมและฝึกหัดการยิงปืนใหญ่ด้วย เจ้าพระยาพระคลังจึงได้บอกข้าพเจ้าว่าจะไม่ยอมให้ข้าพเจ้าออกจากรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าไม่ เต็มใจเลยที่จะทำการชนิดนี้ แต่พวกเพื่อนบาดหลวงได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าทำการให้ถูกใจเจ้าพระยาพระคลัง เพราะต้องการเอาใจเจ้าพระยาพระคลังไว้ เพื่อให้นำความกราบทลขอพระราชทานที่ดิน อีกแห่ง ๑ สำหรับสร้างโรงเรียน ข้าพเจ้าจึงได้ไปช่วยทำป้อมและ ช่วยฝึกหัดการยิงปืนใหญ่บ้างเปนครั้งเปนคราว



(หน้า ๓๗)

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพม่ายกทัพมาอีก

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
พม่ายกทัพมา

ด้วยมองซิเออร์ อันดรีเออ กับ มองซิเอออาลารี มิชชันนารีฝรั่งเศส ได้เล่าถึง การที่พม่ามาตี เมืองมะริด และได้จับมิชชันนารีทั้ง ๒ ไปยัง เมืองมอญ แล้ว เพราะฉนั้น จดหมายฉบับนี้เท่ากับ เปนจดหมายเหตุ ต่อจากจดหมายเหตุของมิชชันนารีทั้ง ๒ นั้น

เมื่อก่อน มองซิเออร์ อันดรีเออ กับมองซิเออร์อาลารี จะออกจากเมืองทวาย นั้น เจ้าเมืองทวาย ได้ส่งกองทัพให้เข้ามาตี กรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่า ได้เดิรทางข้ามป่าข้ามเขาเปนอันมาก
จนถึงเดือนมีนาคม จึงได้ปล้นเมืองราชบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งเปนเมืองอยู่ทางทิศใต้กรุงศรีอยุธยา ทัพพม่าและทัพไทยได้ต่อสู้กันอย่างสามารถ จนทัพไทยแตกหนีไปแล้ว พวกพม่าจึงปล้นและเผาบ้านเมืองทั่งทุกหนทุกแห่ง
แม่ทัพพม่าจึงได้ยกทัพไปสร้างเมืองขึ้นเมือง ๑ เรียกว่า เมือง มีชอง (Michong) อยู่ตรงกับแม่น้ำ ๒ แม่น้ำมาต่อกัน แต่ในระหว่างที่พม่าปล้น และเผาเมืองราชบุรีและกาญจนบุรี นั้น ข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้เตรียมการอย่างใด
เพราะได้ทราบว่าพม่าได้ยกออกจาก เมืองตะนาวศรี และมะริดแล้ว
ครั้นวันที่ ๗ เมษายนไทยจึงได้ลงมือเตรียมการสู้ ตลอดจนถึงเดือนมิถุนายน ในระหว่างนั้นได้มีพวกราษฎร ซึ่งเปนชาวบ้านนอก เข้ามาอาศรัยในกรุงวันละมาก ๆ



(หน้า ๓๘)

เพราะเหตุว่า พวกพม่าคอยไล่จับรุกเข้ามาทุกที ฝ่ายสังฆราชฝรั่งเศส เห็นว่าจะไม่พ้นอันตรายแล้ว จึงได้ให้บาดหลวงฝรั่งเศส ๒ คน ชื่อมองซิเอร์ แคแฮเว และมองซิเออร์ อาโต คุมนักเรียน ๓๐ คน หนีไปอยู่เมืองจันทบุรี
เพราะเมืองจันทบุรีนี้เปนหนทางเหมาะสำหรับ จะหนีต่อไปที่อื่นได้ง่าย และในที่สุดบาดหลวงทั้ง ๒ นี้ก็ได้หนีจากเมืองจันทบุรี เข้าไปอยู่ในเมืองเขมร
บาดหลวงทั้ง ๒ ได้คุมนักเรียนออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อปลายเดือน มิถุนายน และที่คุมไปได้นั้น ก็นับว่าเคราะห์ดีถ้าช้าไปอีกหน่อยเดียวก็จะออกจากกรุงศรีอยุธยาไม่ได้เลย เพราะทางราชการได้สั่งไปตามด่านต่าง ๆ ให้คอยกักคนไว้ อย่าให้ใครเข้าออกได้เปนอันขาด
เพราะฉนั้นเรือ ๒ ลำซึ่งบันทุกสมุดต่าง ๆ ที่สังฆราชจะส่งออกไปที่ท่าเรือนั้น จึงได้ถูกจับที่ด่านภาษี และต้องกลับขึ้นมาที่กรุงอีก พอมาถึงกรุง เรือนั้นก็จมลงพอดี
ฝ่ายพม่าข้าศึกก็ยกทัพเข้ามาทีละน้อย หวังจะให้ขาดเสบียงในกรุง เพราะพวกพม่าได้ทำลายทุ่งนาบ้านเรือนโดยรอบกรุง ถ้าไทยจะคิดตัดเสบียงพวกข้าศึกแล้ว ก็จะทำได้ง่ายที่สุด แต่ก็ไม่เห็นไทย คิดจัดการอย่างใดเลย
ในระหว่างนี้ มีนักพรตจีนเข้ามายังกรุงศรีอยุธยารูป ๑ กับจีน ๔ คนชาวตั๋งเกี๋ยว ๔คน เพื่อมาเล่าเรียนในโรงเรียนของเรา ท่านสังฆราช จำต้องรับไว้เพราะจะส่งกลับออกไปไม่ได้ และเวลานั้นครูก็ไม่มี
ท่านสังฆราชจึงได้สอนนักเรียน ๘ คนนี้ด้วยตัวเอง



(หน้า ๓๙)

ว่าด้วยอังกฤษช่วยไทยรบพม่า

เมื่อนักพรตจีนคนนี้ได้มาถึงกรุงศรีอยุธยาได้สักสองสามวัน พวกพม่า ข้าศึกได้มาเอาไฟเผาสวนที่บางกอก และทำลายป้อมทั้งเปาสวน และปล้นบ้าเนรือนไม่ละเว้นเลย ตลอดตั้งแต่ท่าเรือจอดจนถึง ชานพระนคร โรงเรียนใหม่หลัง ๑ ซึ่งเราได้สร้างขึ้น กับไม้สำหรับสร้าง โรงเรียนอีกหลัง ๑ ก็ถูกพม่าเอาไฟเผาเสียหมดสิ้น


ชาวอังกฤษชื่อ ปอเน

ฝ่ายข้าศึกก็ได้กลับถอยไปอยู่ที่เมืองที่ได้สร้างขึ้นใหม่ เพราะ แม่ทัพพม่าอยู่ณที่นั้น และไฟที่พวกพม่าได้จุดไว้ยังไม่ทันดับก็มี นายเรืออังกฤษคน ๑ ชื่อ ปอเน ได้นำเรือใหญ่ลำ ๑ เล็กลำ ๑ บันทุกสินค้าเข้ามายังกรุง นายเรือนคนนี้ได้นำสัตว์ไลออนตัว ๑ ม้าอาหรับม้า ๑ เข้ามาถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉนั้นเจ้าพนักงาร จึงยกเว้นไม่เก็บภาษีแก่นายเรือคนนี้ แต่สินค้าที่นายเรือพาเข้ามา นั้นขายไม่ใคร่ได้ ถ้าจะขายก็ต้องขาดทุน แต่ถึงดังนั้นพระเจ้ากรุง สยามก็รับสั่งขอให้นายเรืออังกฤษคนนี้อยู่ช่วยรักษาพระนครต่อไป ฝ่ายชาวอังกฤษคนนี้เฟ็นการอ่อนแอของไทยก็มีความรังเกียจไม่อยากจะช่วย และยิ่งเห็นว่าพวกฮอลันดาได้รีบหนีออกจากเมือง นายเรืออังกฤษก็ยิ่งรังเกียจมากขึ้น ตั้งปต่ต้นปีมาแล้วพวกฮอลันดาได้ พยายมต่อเรือขึ้นลำ ๑ ครั้นต่อเรือเสร็จเมื่อเดือนตุลาคมจึงเตรียม การที่จะหนี ณวันที่ ๑ เดือนพฤศจิกายนเวลากลางคืน พวกฮอลันดา


(หน้า ๔๐)

จึงลอยลงเรือ และได้แล่นเรือฝ่าด่านภาษีหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปได้ นายเรืออังกฤษจึงได้ขออนุญาตไปอยู่ที่ห้างฮอลันดาและไทย ก็ได้อนุญาตให้ไปอยู่ตามขอ แต่ค่าโสหุ้ยของนายเรืออังกฤษคนนี้ ต้องจ่ายมากที่สุด เพราะในระหว่างที่พม่าล้อมอยู่เช่นนี้ เสบียง อาหารแพงเปนอันมาก แต่ส่วนที่บ้านบาดหลวงเสบียงอาหารอุดม เพราะพวกบาดหลวงได้เตรียมเสบียงไว้ให้พอเลี้ยงนักเรียนและพวกเข้ารีด พวกบาดหลวงอยากจะได้เด็กของพวกที่ไม่ได้เข้ารีดให้เอามาเข้ารีดเสีย จึงได้ทำทานแก่คนที่ไม่ได้เข้ารีด เพราะฉนั้นในกรุงศรีอยุธยาและตำบลใกล้เคียง บาดหลวงจึงได้ให้น้ำมนต์รับเด็กเข้ารีดปี ๑ ถึงหมื่น คนเศษ แต่ในเวลานั้น มิชชันนารีที่ยังเหลืออยู่ในกรุงมีแต่ สังฆราชคน ๑ มองซิเออร์ คอร์ คน ๑ กับบาดหลวงชาติจีนคน ๑ เท่านั้น
ฝ่ายรัฐบาลไทย ก็ได้จัดกองทัพให้ออกไปต่อสู้กับข้าศึกหลายกอง แต่กองทัพเหล่านี้พอไปเห็นกองทัพพม่าก็แตกกลับมาเท่านั้น

ครั้งนั้นมีเจ้าไทยองค์ ๑ ซึ่งได้ถูกเนรเทศไปอยู่ เกาะลังกา ได้กลับเข้ามายังเมืองไทย เกลี้ยกล่อมผู้คนรวบรวมไว้ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือของกรุง เจ้าองค์นั้นจึงได้ให้นำความกราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม ขอรับอาสาต่อสู้กับพวกพม่า ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยาม ทรงเห็นว่า การที่เจ้าองค์นี้มาอาสาดังนี้ เปนการองอาจ ก็กริ้ว จึงได้ทรงจัดกองทัพให้ไปจับเจ้าองค์นี้ ทัพกรุงและทัพของเจ้าได้ต่อสู้กันหลายครั้ง



(หน้า ๔๑)

บางทีก็ชนะบางทีก็แพ้ทัพของเจ้า และในเวลานั้นก็เกิดเสียงลือกัน ขึ้นด้วย ว่ากองทัพพม่าเต็มไปด้วยคนไทยซึ่งได้รับความเดือดร้อน เอาใจออกห่างจากไทยไปเข้ากับพม่า เรือลำใหญ่ของมิสเตอร์ ปอเน ได้ทอดสมอ อยู่ที่ลำน้ำใต้กรุงศรีอยุธยาตรงกับบางกอก
ครั้นเมื่อวันที่ ๒๔เดือนธันวาคม อยู่ดี ๆ ไม่ทันรู้ตัว พวกพม่าข้าศึกก็มาตีเรือ พวกเรือก็ได้ต่อสู้อย่างสามารถ แต่ถึงจะทำอย่างไรก็สู้พม่าไม่ได้ เพราะพม่าได้ไปยึดป้อมไว้ได้และได้เอาปืนใหญ่ ๆ ไปตั้งบนป้อมเพื่อจะยิงเรืออังกฤษ เจ้าพนักงารในเรือเห็นเช่นนั้น จึงได้จัดการลากเรือขึ้นไปตามลำแม่น้ำ
และ เมื่อไปถึงที่แห่ง๑ พวกอังกฤษก็เตรียมการที่จะป้องกันมิให้พวกพม่าตั้งป้อมได้ โดยอังกฤษใช้วิธียิงกราดลงไปทั้ง ๒ ฝั่ง เรือลำเล็กนั้นจอดอยู่หน้า และมิสเตอร์ ปอเนซึ่งแต่ก่อนทำอิดออดก็เปนอันตกลงจะอยู่ช่วยไทยรักษากรุง แต่ขอให้ไทยส่งกระสุนปืนใหญ่กับกระสุนดินดำให้มาก ๆ กับขอปืนเล็กกับกระสุนด้วย
ไทยก็ยอมจัดปืนให้ แต่ไม่ครบตามจำนวนที่อังกฤษต้องการ แต่ไทยได้สัญญาว่า การที่จะให้ส่งปืนและกระสุนดินดำนั้น อังกฤษจะต้องขนเอาสินค้าขึ้นไปเก็บในพระคลังหลวง
มิสเตอร์ ปอเน ไม่เต็มใจ แต่ก็ขัดไม่ได้ จึงได้ให้ขนสินค้าขึ้นฝากไว้ที่พระคลังหลวง ๓๘ หีบ ของที่ยังเหลืออยู่นั้นมิสเตอร์ ปอเน ได้ขนลงไปรวบรวมไว้ในเรือ และตัวมิสเตอร์ ปอเน ก็ได้ลงไปอยู่ในเรือ-


(หน้า ๔๒)

ว่าด้วยพม่าล้อมกรุง ฯ

-ได้สู้รบกับพม่ากว่าเดือน ๑ จึงได้มีจดหมายถวายพระเจ้ากรุงสยามขอปืนใหญ่และกระสุนดินดำเพิ่มขึ้นอีก ฝ่ายไทยทราบอยู่ว่าข้าศึก จะยกเข้ามาตีกรุงอีกด้าน ๑ ไม่เกี่ยวทางด้านที่เรืออังกฤษจอดอยู่ ทั้งยังไม่ค่อยจะไว้ใจอังกฤษนัก จึงไม่ยอมให้ปืนตามที่อังกฤษขอมา มิสเตอร์ ปอเน ก็โกรธมาก แล้วได้ส่งหนังสือคล้าย ๆ กับเปนการประกาศไปยังเสนาบดี จึงได้ถอนสมอล่องเรือลงไปตามลำน้ำ และในตอนล่อง เรือนั้นได้ให้ขึ้นไปริบของจากเรือสำเภาจีนรวม ๖ ลำ แต่ลำ ๑ เปนเรือของพระเจ้ากรุงสยาม นอกนั้นเปนเรือซึ่งมาจากประเทศจีนเพื่อมา ค้าขายในประเทศสยาม จึงได้มาจอดรออยู่ที่อ่าวสยาม


พม่าล้อมกรุง

พวกพม่าได้ยกทัพมีพลมากมายก่ายกองกระจายอยู่เต็มบ้านเต็ม เมืองดุจน้ำไหลอย่างเชี่ยว
เมื่อปี ค.ศ.๑๗๖๖ (พ.ศ. ๒๓๐๙) พม่าได้สร้างป้อมล้อมกรุงไว้ ๓ แห่ง แต่ถึงดังนั้น เสบียงอาหารในกรุงก็ยังบริบูรณ์ จะมีคนตายด้วยอดอาหารก็เพียงคนขอทานเท่านั้น
เพราะฉนั้น เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนกันยายน ข้าศึกจึงได้ยกมาตั้งติดประชิดกรุง ห่างจากกำแพงเมืองเพียงระยะทางปืนใหญ่เท่านั้น และก็ตั้งมั่นคอยจับผู้คนเสบียงพาหนะซึ่งจะผ่านไปมา



(หน้า ๔๓)

ว่าด้วยพวกเข้ารีดต่อสู้พม่า

ความประพฤติของพวกเข้ารีด

พวกเข้ารีดโดยมากมีหน้าที่รักษาเชิงเทิน ซึ่งเปนการหาประโยขน์มิได้ เพราะการศึกครั้งนี้ ได้รบกันนอกกำแพงเมือง ภายหลัง พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานปืนใหญ่ให้แก่วัดเข้ารีด ๓ วัด ซึ่งอยู่ นอกกำแพงพระนคร รวมเปนปืน ๓๐ กระบอกพร้อมทั้งลูกกระสุนดินดำ และได้พระราชทานปืนไปให้พวกจีนซึ่งมีอยู่ ๖๐๐๐ คน เพราะพวกจีนได้ขออนุญาต เอาห้างพวกฮอลันดากับวัด ซึ่งอยู่บนเนินสูงสำหรับตั้งเปนค่าย
ยังไม่ใช่แต่เท่านั้น ไทยยังให้เงินแก่พวกจีน ๒ หมื่น แฟรง และให้เงินแก่พวกเข้ารีด ๕๐๐๐ แฟรง เพื่อขอให้พวกจีน และพวกเข้ารีดคอยป้องกัน และสู้รบกับข้าศึกจนกว่าจะเลิกสงคราม
แต่นั้นแหละ พวกเข้ารีดมีเพียง ๘๐ คนเท่านั้น ใน ๘๐ คนนี้ก็ต้องแยกกันอยู่ตามวัดถึง ๓ แห่ง ซึ่งล้วนแต่อยู่ห่าง ๆ กันสุดทางปืนทั้งนั้น และคนเหล่านี้ ก็มิได้เคยได้รับการฝึกหัดในวิธีทำสงครามเลย
เพราะ ฉนั้นพวกเข้ารีดจะทำอะไรได้ แต่ถึงดังนั้น พวกเข้ารีดก็ถือปืนเล็ก คนละกระบอกและเคยยิงปืนใหญ่ด้วย พวกเข้ารีดได้สู้รบกับพวกพม่าอย่างวิธีกองโจร
ครั้นเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พวกข้าศึกได้ยกพลมาเปนอันมาก และได้มายึดวัดใหญ่ ๆ ใกล้กับวัดเข้ารีดไว้ ๒ วัด
การที่ไทยทำวัดไว้มาก ๆ รอบพระนครดังนี้ เปนการที่คิดการผิดโดยแท้ แต่ส่วนวัดเข้ารีดและค่ายพวกเข้ารีดนั้น ได้เอาเสาและไม้กระดานล้อมไว้อย่างแน่นหนา



(หน้า ๔๔)

แต่ถึงดังนั้น ข้าศึกยังไม่ได้เหยียบเข้ามาถึงค่ายเข้ารีดเลย พวกไทยและจีนก็ตื่นตกใจเสียแล้ว แต่ข้อที่น่าปลาด อยู่นั้นก็คือ กระสุนปืนได้ตกลงมาในค่ายพวกเข้ารีดเปนอันมาก แต่ก็หาได้ถูกผู้ใดไม่ และในค่ายนั้นก็เต็มไปด้วยผู้คนเพราะไม่ได้มีแต่ฉเพาะพวกเข้ารีดพวกเดียว พวกที่ไม่ได้เข้ารีด ก็ได้มาอาศรัยอยู่ในค่ายเปนอันมาก เพราะพวกนี้อยากมาอยู่ในค่ายพวกเข้ารีด มากกว่าอยู่ในพระนคร

เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนพฤศจิกายน พวกข้าศึกได้ไปยึดวัดใหญ่ วัด ๑ ซึ่งอยู่ตรงกับโรงเรียนสามเณร พวกเข้ารีดได้ต่อสู้อย่างสามารถแต่ทานกำลังพม่าไม่ไหว พวกข้าศึกจึงได้เอาปืนยิงวัดพวกเข้ารีด ซึ่งเรียกว่า วัดเซนต์โยเซฟ จนทลุปรุไปหมด ฝ่ายพวกเข้ารีด ก็ได้เอาปืนยิงวัดไทย ที่พวกข้าศึกตั้งมั่นอยู่และได้จับช้างของข้าศึกได้มา ๑ เชือก
แต่เมื่อวันที่ ๗ เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๖๗ (พ.ศ. ๒๓๐๙) พวกเข้ารีดได้เสียทีแก่ข้าศึก คือ พวกที่อยู่ยามได้พากันหลับหมด พวกข้าศึกจึงได้กรูกันเข้ามาเอาไฟเผาค่ายของท่านสังฆราช

บรรดาพวกเข้ารีดทั้งชายและหญิงก็ได้พากันหนีไปอาศรัยใน วัดเซนต์โยเซฟ และอาศัยในเขตบ้านของบาดหลวง แต่ได้มีคนเข้ารีดคน ๑ มีความชล่าใจจะกลับไปยังบ้านของตัว จึงถุกพวกข้าศึกจับได้และข้าศึก ก็ได้ฆ่าเสียโดยไม่มีเมตตาจิตเลย ฝ่ายที่รักษาค่ายสังฆราช ได้ต่อสู้ข้าศึกอย่างสามารถและได้เอาปืนระดมยิงข้าศึก จนข้าศึก-



(หน้า ๔๕) -ได้ล่าถอย ไปตีพวกจีนในค่ายฮอลันดาต่อไป


ว่าด้วยพม่าตีค่ายพวกเข้ารีดและค่ายจีน

ฝ่ายพวกเข้ารีดในค่ายปอตุเกตได้ไปสมทบกับพวกจีน ครั้นพวกพม่าเห็นว่าพวกจีนในค่ายฮอลันดาต่อสู้อย่างสามารถนัก จึงได้เลยยกไปตีที่วัดซึ่งมีจีนเข้าไปอาศรัยอยู่ ๒๐๐๐ คน แล้วพวกพม่า ก็ตัดทางมิให้พวกจีนในวัดนี้และพวกจีนในค่ายฮอลันดาไปมาถึงกัน ได้ โดยประสงค์จะล้อมไว้ เมื่อจีนคนใดออกจากวัดไปเพื่อหาอาหาร รับประทาน พวกพม่าก็จับฆ่าเสียทุกคน แล้วพวกข้าศึกได้เข้า ไปตีพวกจีนแตกหนีออกจากวัด จึงได้ยกกองไปตีวัดอีกวัด ๑ ซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายปอตุเกตระยะห่างเพียงหนทางปืนเล็กเท่านั้น ในขณะ นั้นมีสามเณรคณะเยซวิตชาติปอตุเกตคน ๑ มีความกลัวและหิวด้วย จึงได้หนีไปหาสังฆราช เพื่อไปหาอาหารรับประทานพวกบาดหลวงได้รับไว้และได้ให้อาหารรับประทานซึ่งทำให้สามเณรคนนี้สบายขึ้นมาก

ภายหลังพม่าได้ตีป้อมซึ่งอยู่นอกพระนครจากไทยได้ และได้เอาไฟไปเผาห้างฮอลันดา พม่าล้อมกรุงอยู่รวม ๘ วัน ครั้น วันที่ ๒๑ เดือนมีนาคมพม่าได้ยกไปตีค่ายปอตุเกต บาดหลวงคณะ ดอมินีแกงคน ๑ กับบาดหลวง คณะเยซวิตคน ๑ ซึ่งอยู่ในค่ายนั้นก็ยอมให้ข้าศึกจับโดยดี ข้าศึกได้งดรอไม่เผาวัดอยู่ ๒ วัน เพื่อเปนการล่อให้สังฆราชกับพวกเข้ารีดไปเข้าหาข้าศึก แต่ที่จริงท่าน-



(หน้า ๔๖)

-สังฆราชจะทำอย่างใดได้ ทหารก็ไม่มีป้อมก็ไม่มี ข้าศึกก็มีคน ถึง ๕๐๐๐ และได้มาล้อมโรงเรียนอยู่แล้ว

.........

มองเซนเยอร์บรีโกต์  ยอมให้พม่าจับ

การปล้นของ

แต่ข้างพวกพม่าก็ไม่อยากจะให้ผู้คนล้มตายโดยใช่เหตุ แม่ ทัพพม่าจึงได้ให้บาดหลวงปอตุเกตมีจดหมายถึงสังฆราชบอกว่า ถ้าสังฆราชยอมให้ข้าศึกจับไปโดยดีแล้ว ข้าศึกจะไม่ทำอันตรายต่อ วัดหรือโรงเรียนหรือเข้าของทรัพย์สมบัติของบาดหลวงเลย ท่านสังฆราชจึงได้จัดให้คนเข้ารีดคน ๑ ออกไปเจรจากับข้าศึก แม่ทัพพม่าจึงได้ยึดตัวคนเข้ารีดคนนี้ไว้ เพราะต้องการให้สังฆราชไปด้วยตัวเอง แม่ทัพได้ต้อนรับท่านสังฆราชอย่างดี และคงยืนคำว่าจะไม่ทำ อันตรายต่อวัดและโรงเรียน แต่การที่สัญญาเช่นนี้ก็พูดกันด้วยปาก หาได้เขียนเปนลายลักษณอักษรไว้ไม่ แล้วแม่ทัพพม่าจึงได้บอกว่า ในเวลากลางคืนแม่ทัพจะได้ให้เอาไฟไปเผาค่ายพวกเข้ารีดให้หมด เพราะฉนั้นให้พวกเข้ารีดไปอาศรัยอยู่ในโบสถ์หรือที่โรงเรียน ส่วน ตัวสังฆราชนั้นแม่ทัพพม่าบังคับให้เข้าไปอยู่ในวัดไทยแห่ง ๑ เมื่อการเปนดังนี้ก็จำต้องยอมจะทำอะไรไม่ได้ ครั้นเมื่อวันที่ ๒๓ เดือนมีนาคม เมื่อรับประทานอาหารค่ำแล้ว พวกพม่าได้เอาไฟไปเผาค่านพวก



(หน้า ๔๗)

เข้ารีดอย่างว่า แต่ไฟได้ลุกลามไปไหม้เอาวัดเข้ารีดด้วย และวัดนั้นทั้งเครื่องประดับและของต่าง ๆ ได้ไหม้ไฟไปสิ้น แล้วแม่ทัพพม่าจึงได้เข้าไปปล้นเก็บของในโรงเรียนหมด ซึ่งเปนการที่ผิดจากคำที่ได้สัญญาไว้ พม่าจึงได้จับพวกบาดหลวง พวกนักเรียนและพวกเข้ารีดไปยังค่ายและได้เก็บเข้าของทรัพย์สมบัติของพวกนี้ทั้งหมด
มีเจ้าองค์ ๑ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าอังวะองค์เก่าเปนหัวหน้าอยู่ในตำบลนี้ เคยเปนผู้ส่งเข้าสารและเนื้อโค มาให้บาดหลวงและพวกเข้ารีด ครั้นมาในบัดนี้เจ้าองค์นี้ก็ได้ให้ คนของตัวควบคุมพวกบาดหลวงและพวกเข้ารีด เพื่อระวังไม่ให้พวกนี้หนีได้ ฝ่ายพวกพม่าก็สงสัยว่า ท่านสังฆราชคงจะส้อนเข้าของ เงินทองไว้เปนแน่ แต่ถึงพม่าจะถามเท่าไร ๆ ท่านสังฆราชก็หาบอกไม่ เพราะฉนั้นพวกพม่าจึงได้ เนรเทศท่านสังฆราชไปอยู่ที่อื่น
คือ ที่หอคอยสูงใกล้กับตัวแม่ทัพ ไม่ช้าเท่าไหร่นัก บาดหลวงคณะเยซวิต ก็ตามไปอยุ่กับท่านสังฆราชด้วย
เมื่อคืนวันที่ ๗ - ๘ เดือนเมษายน พม่าข้าศึกได้ตีกรุงแตก และเอาไฟเผากรุงเสียด้วย เมื่อกรุงแตกแล้ว มองซิเออร์ คอร์ มิชชันนารีฝรั่งเศส ซึ่งได้อาศรัยอยู่ที่เตนท์ พร้อมกับพวกเข้ารีดนั้น จึงได้ไปเยี่ยมท่านสังฆราชได้

..............

บางกอกวันที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒)

พวกพม่าได้ยกทัพมาตั้งอยู่ข้างบ้านมหาพราหมณ์ และได้ยก-



(หน้า ๔๘)

-จากค่ายมหาพราหมณ์ ออกโจมตีไทยอยู่เสมอ ๆ แต่พม่าทำการได้ตามชอบใจเพราะไม่มีใครออกมาต่อสู้เลย แต่เพื่อจะกันมิให้ราษฏรพลเมืองไว้ว่า พวกไทยจึงได้ยกออกต่อสู้ข้าศึกบ้างเปนครั้งเปนคราว
แต่การต่อสู้นี้ก็ทำกันโดยอย่างเสียไม่ได้ เพราะเมื่อไทยออกต่อสู้พม่าคราวใด ก็สำหรับส่งอาวุธให้แก่ข้าศึกเท่านั้น
ไทยกับพม่า ไม่ได้รบกันประชันหน้า จนครั้งเดียว ฝ่ายพวกพม่าก็เห็นว่า ไทยไม่สู้จึงจัดการล้อมพระนครไว้ และเอาวัดต่าง ๆ ซึ่งอยู่รอบ พระนครเปนที่ตั้งมั่น
ส่วนพวกจีนนั้นก็ได้เตรียมการต่อสู้อยู่ในห้างฮอลันดา พวกพม่าจึงได้ไปตีค่ายพวกจีน ๑๘ วัน ๑๘ คืน พวกจีนชื่อ เฮียนเสือ (Hien Su) ถูกกระสุนปืนที่ศีร์ษะ พวกพม่าจึงตีพวกจีนแตกหนีไปและได้เอาไฟเผาห้างฮอลันดาจนหมดเหลือแต่กำแพง เท่านั้น
มีเสียงลือกันว่า การที่จีนแพ้พม่า โดยหัวหน้าถูกยิงนั้น เปนด้วยเกิดใส้ศึกในค่ายจีน แต่ข้อนี้จะจริงเท็จประการใด ข้าพเจ้า หาทราบไม่ ที่ วัดแซงโดมีนี ก็ถูกเพลิงไหม้เหมือนกัน แต่ วัดเซนปอล ได้รอดไปหาถูกเพลิงไหม้ไม่ แต่เข้าของในวัดนั้นหมดไม่มีเหลือ
ด้วยพวกจีนและไทย ได้เข้าไปลักของ จนที่สุดไม้เครื่องบนหลังคาก็เก็บเอาไปด้วย



(หน้า ๔๙)

ว่าด้วยเสียพระนครศรีอยุธยา

วัดและโรงเรียนสามเณรของเราก็ถูกไฟไหม้เหมือนกัน แต่ ไหม้คนละคราว พวกเข้ารีดที่วัดเซนต์ปอลได้ถูกจับเปนเชลยไป หมด ข้าศึกได้จับข้าพเจ้าและมองเซนเยอร์ตาบรากากับพวกเข้ารีด ไปไว้ยังวัดท่าใหม่ (Vat Thamai) พม่าได้เที่ยวเอาไฟเผาบ้านเรือน ทุบต่อยเข้าของและฆ่าผู้ฟันคนทั่วไปหมด เมื่อพม่าจับโรงเรียนสามเณรได้สัก ๘ วัน ก็ตีกรุงแตก พม่าได้เข้าไปในพระนคร

ได้ทราบมาเปนการแน่ว่า พระศรีสุราย ( Phra Si Surai) น้องภรรยาของพระเจ้าแผ่นดิน ได้สมรู้ร่วมคิดกับพวกข้าศึกด้วย แต่การที่คิด การเช่นนี้จะประสงค์อะไรก็ตาม แต่ฏ้หาได้สำเร็จตามความปรารถนาไม่ เพราะต้องถูกจำตรวนพร้อมด้วยเจ้าพระยาพระคลังและขุนนางอื่น ๆ ด้วย

ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามซึ่งเปนพระโรคเรื้อนนั้นก็หนีข้าศึกไป และไปสวรรคตที่โพธิ์สามต้น เมื่อพม่าได้ยกกลับไปแล้ว

เมื่อพม่าเข้ากรุงได้แล้วนั้น พม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือนทำลายเข้าของ อยู่ ๑๕ วัน และได้ฆ่าผู้ฟันตนไม่เลือกว่าคนมีเงินหรือไม่ มีเงินก็ฆ่าเสียสิ้น
แต่พวกพม่าก็พยายามฆ่าพวกพระสงฆ์มากกว่า และได้ฆ่าเสียนับจำนวนไม่ถ้วน ข้าพเจ้าเองได้เห็นพม่าฆ่าพระสงฆ์ ในตอนเช้าวันเดียวเท่านั้นกว่า ๒๐ องค์
เมื่อพม่าได้เผาบ้านเรือนในพระนครตลอดจนพระราชวังและวัดวาอารามหมดสิ้นแล้ว พวกพม่าจึงเตรียมการที่จะยกทัพกลับไป พวก -



(หน้า ๕๐)

-พม่าได้ยกทัพออกจากกรุงเมื่อวันที่ ๑๕ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๖๗ ( พ.ศ. ๒๓๑๐) บาดหลวงแบนาดีโนได้ตกน้ำตายใต้บางกอก บาดหลวงเยซวิต ได้ตายที่ข้างช้าง บาดหลวงอีซีดอร์ ได้หนีไปที่เมืองคันเคา ซาอานา ซิโอกับภรรยา ถูกพม่าเก็บทรัพย์สมบัติจนหมดตัว ลงปลายที่สุด ก็อดอาหารตาย
ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ได้หนีไปบางกอกพร้อมด้วย พวกเข้ารีด ๓๐๐ คน แล้วได้ลงเรือจีนไปยังเมืองคันเคาต่อไป


บาญชีและจำนวนของที่ได้ฝังไว้ ในบริเวณบ้านบาดหลวงที่กรุงศรีอยุธยา

ก่อนพม่าเข้ามาและซึ่งภายหลังหาไม่พบ มองซิเออร์คอร์เปนผู้จด
ค.ศ. ๑๗๗๔ ( พ.ศ. ๒๓๑๗)

๑ ฝังไว้ในห้องเก็บน้ำมันซึ่งอยู่ใกล้กับห้องของโกลดีโอ
ไม้ยศของสังฆราช กับของต่าง ๆ ของคณะบาดหลวงแต่จะเปนของอะไรบ้าง สังฆราชาได้บอกข้าพเจ้าไม่ สมุดจดเรื่องต่าง ๆ เล่ม ๑ น้ำมันที่เสกแล้วหีบ ๑ กับของ อื่น ๆ อีก



(หน้า ๕๑)

หีบเก็บเงินใบใหญ่ทาสีขาวหีบ ๑ มีเงินในนั้น ๖ ถึง ๗ ชั่ง เปนเงินของ โซาตาซา
เงิน ๑๐ ตำลึงหรือ๑ ชั่ง เท่าไรแน่ข้าพเจ้าไม่ทราบ เปนเงินของมาแตงเล็ก
เงิน ๑๐ ตำลึง ของไครอตภรรยาตาฉิม
เงิน ๑ หรือ ๒ ชั่ง ใส่ไว้ในหีบดำเปนเงินของ โบ

๒. ฝังไว้ที่ประตูสวนใกล้กับห้องนักเรียน
คือ เสื้อผ้าของ นางอันโตนีอากับหลุยลาเลอมัน

๓. ฝังไว้ข้างโบสถ์ใกล้กับหอระฆัง
ซึ่งนักเรียนเคยไว้โอ่งน้ำ เงิน ๑ ชั่ง ของนางอันโตนีอา

๔. ฝังไว้ในห้องน้ำมันซึ่งกล่าวมาแล้ว และในที่เดียวกันกับเงินของพวกเข้ารีด
มีเครื่องแต่งตัวเปนของรูปพรรณ ของยังคาน และบุตรหญิง ชื่อ บีบีนาอา
ที่บันไดเล็กบ้านบาดหลวงห่าง ๘ หรือ ๑๐ ก้าว ไปข้างด้านที่บูชา ได้เอาเครื่องเงินของ คณะบาดหลวงฝังไว้ลึก ๕ หรือ ๖ ฟิต และมีเงินเหรียญประมาณ ๖๐ เหรียญ ซึ่งมองเซนเยอร์เดอตาบรากา ได้ฝังไว้ด้วย

................



(หน้า ๕๒)

จดหมายมองซิเออร์อาโตด์ ว่าด้วยพวกมิชชันนารีหนีพม่า ไปทางเมืองจันทบุรี

จดหมายมองซิเออร์อาโตด์ ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๔ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๖๖ ( พ.ศ. ๒๓๐๘)

กองทัพพม่าได้ไปยึดหมู่บ้านไว้ได้หลายแห่ง จึงได้ตั้งค่าย มั่นไว้ในที่แห่ง ๑ แล้วก็ออกเที่ยวปล้นสดมภ์ทำร้ายต่าง ๆ ทั่วไป หมด จนใกล้เข้ามาเกือบถึงโรงเรียนหนทางอีกครึ่งวันก็จะถึงอยู่แล้วเพราะฉนั้นจึงเปนการจำเปนที่จะต้องพาพวกนักเรียนไปเสียให้พ้นมือข้าศึก ข้าพเจ้ากับพวกมองซิเออร์แคแฮเวได้ต่างคนรับอาสาจะอยู่แต่ต่างคนไม่ยอมจึงตกลงพาพวกนักเรียนไปพร้อมกันทั้ง ๒ คน การที่ล่องลง ไปถึงสันดอนนั้นล้วนมีแต่อันตรายรอบตัว และเมื่อไปถึงสันดอน แล้วก็กลับมีอันตรายทวีมากขึ้นอีก แต่ด้วยความช้วยเหลือพระ เยซูและความฉลาดไหวพริบของมองซิเออร์ แคแฮเว จึงได้ลงเรือต่อไปได้ การเดิรทางนั้นก็ไม่ช้าเท่าไร แต่น่ากลัวอันตรายมาก เพราะตั้งแต่ไหน ๆ มาไม่เคยมีพวกโจรสลัดซึ่งเปนพวกแขกมาลายู และพวกญวน มาอยู่ในอ่าวสยามมากเหมือนครั้งนี้เลย เมื่อเรา ได้ออกจากกรุงศรีอยุธยาได้สองวัน พวกข้าศึกก็ไปยึดบางกอก ไว้ได้ แล้วจึงล่องกลับมาที่สันดอนเผาบ้านซึ่งเราพักอาศรัยอยู่ใน วันก่อน พวกพม่าได้ฆ่าคนไทยตายเปนอันมากซึ่งผิดธรรมเนียมที่ พม่าเคยทำมา แต่ที่ฆ่าครั้งนี้ก็เห็นจะเปนเพราะพม่าแค้นที่ไทยได้ ต่อสู้ที่บางกอก แต่ความจริงการที่ไทยต่อสู้พม่าที่บางกอกก็ประ-



(หน้า ๕๓)

-เดี๋ยวเดียวเท่านั้น ดูเหมือนไม่ถึงครึ่งชั่วโมงไทยก็หนีพม่าไป ท่าน คงจะเห็นตามที่กล่าวเล่ามานี้ว่าความกล้าหาญของไทยจะมีสักเพียงใดข้าพเจ้าเชื่อว่าทั้งโลกเห็นจะไม่มีประเทศไหน ที่จะทำสงครามไม่เปนเหมือนกับประเทศสยามนี้เลย ครั้นพวกข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองจันทบุรี ก็พเอิญเปนเวลาระดู ที่กำลังเก็บเกี่ยวเข้า ข้าพเจ้าจึงได้ซื้อเข้ามาเก็บไว้เพราะเชื่อว่าจะ อยู่ในเมืองจันทบุรีจนกว่าจะเลิกสงคราม ฝ่ายพม่าข้าศึกก็รุก ใกล้เข้ามาทุกที และโจรผู้ร้ายในเมืองจันทบุรีก็ชุกชุมมากขึ้นกว่า เดิมหลายเท่า เพราะพวกในเวลานั้นพวกผู้ร้ายหมดกลัวด้วยบ้านเมืองกำลังระส่ำระสายข้าพเจ้าเห็นว่าจะอยู่ไม่ได้แล้ว จึงได้ยกออกจาก เมืองจันทบุรีเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน และได้ให้เข้าของกับบาดหลวงยากซ์ เพื่อตอบแทนในการที่บาดหลวงคนนี้ต้องเปลืองโสหุ้ยในเวลาที่เราพักอยู่ในเมืองนั้น การเดิรทางคราวนี้เปนที่เรียบร้อยไม่มี เหตุการณ์อย่างใด และเมื่อต้นเดือนธันวาคมเราก็ได้ไปถึงเมือง คันเคา เมื่อเวลาเราจะออกจากกรุงศรีอยุธยานั้น มองเซนเยอร์ ดอตาบรากาได้มอบเงินให้เราไว้ ๒ - ๓ ชั่งเท่านั้น เพราะฉนั้นเมื่อ เราได้ไปถึงเมืองคันเคาเงินจึงหมดไม่มีจะใช้แล้ว เมื่อวานนี้ข้าพเจ้า ได้รับจดหมายจากมองเซนเยอร์เดอคานาธ(๑) บอกมาว่าได้ส่งเงิน- ............. (๑) คือมองเซนเยอร์ ปีกูเอล (Piguel)



(หน้า ๕๔)

-มาให้ข้าพเจ้า ๕๐ เหรียญ พอได้เลี้ยงชีพไปได้พลาง เพราะเรา จะต้องอยู่ที่เมืองนี้ตลอดไปจนกว่าสงครามทางกรุงศรีอยุธยาจะได้สงบ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่าจะยืมเงินจากใครได้บ้างและถึงจะยืมได้ ก็คง จะต้องเสียดอกเบี้ยแพงเปนแน่

..................



(หน้า ๕๕)

จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยเจ้าศรีสังข์หนีไปอยู่ เขมร
เจ้าไทย พระดำริห์ของเจ้าไทย จะร้องไป ยังประเทศฝรั่งเศส

จดหมายมองซิเออร์คอร์ ถึง มองซิเออร์ดารากอง
เมืองเขมร
วันที่ ๓ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๖๘ (พ.ศ.๒๓๑๑)

เมื่อวันที่ ๑๙ เดือนธันวาคมปีกลายนี้ ได้มีเจ้าไทยองค์ ๑ ทรงพระนามว่าเจ้าศรีสังข์(๑) ได้เสด็จมายังเมืองเขมร เจ้าศรีสังข์ องค์นี้เปนพระราชโอรสของพระมหาอุปราชทรงพระนามว่าวัง (Vang) ซึ่งถูกพระอนุชาและพระเชษฐาปลงพระชนม์เสียก่อน
ข้าพเจ้าได้- ....................

(๑) เจ้าศรีสังข์องค์นี้เปนพระราชบุตรของเจ้าองค์ที่เรียกกันในเมืองไทยและในประเทศ ยุโรปว่าพระมหาอุปราช (Grand Prince) พระมหาอุปราชองค์นี้เองซึ่งทรงอุดหนุนเอื้อ เฟื้อแก่พวกเข้ารีดและทรงนับถือชาวยุโรปนัก ในเวลานั้นได้มีคนหวังกันว่าเมื่อพระราชบิดา ซึ่งทรงพระชราและทรงพระประชวรจวนจะสวรรคตอยู่แล้ว เมื่อเสด็จสวรรคตเมื่อใด พระ มหาอุปราชคงจะได้ขึ้นครองราชสมบัติแทนพระบิดา และคงจะได้เข้ารีดนับถือ ศาสนาคริศเตียนและคงจะทรงทำให้ใต้ฟ้าข้าแผ่นดินได้นับถือพระเปนเจ้าที่จริงแท้ทั่วกัน หมด แต่การที่หวังกันดังนี้หาได้สำเร็จตามหวังไม่ เพราะพระมหาอุปราชองค์นี้ถูกปลง พระชนม์เกือบได้พระเนตร์พระราชบิดา เมื่อพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์แล้วไม่กี่วัน สมเด็จพระราชบิดาก็เสด็จสวรรคตเหมือนกัน พระโอรสของพระมหาอุปราช คือเจ้าศรีสังข์ นั้น พระเจ้ากรุงสยามผู้เปนพระอาว์ได้เอาไปเลี้ยงไว้ในหระราชวัง ครั้นพระม่าเข้ามา ตีกรุงศรีอยุธยา เจ้าศรีสังข์กับพระอนุชาได้เล็ดลอดหนีพม่าไปได้ (คัดจากจดหมายของ ซิเออร์ อาโตด์)



(หน้า ๕๖)

-ไปถึงกรงศรีอยุธยาสักสองสามปี ในเรื่องพระมหาอุปราชองค์นี้ ท่านก็คงได้ยินออกพระนามอยู่บ่อย ๆ แล้ว เพราะทรงปกครอง ควบคุมพวกเข้ารีดและตั้งพระทัยที่จะช่วยการสาสนาด้วย ฝ่ายเจ้า ศรีสังข์มีพระชนม์เพียง ๒๒ ปี ทรงพระปรีชาสามารถได้เสด็จมา หาพวกเราเพื่อปรึกษาถึงการทรงดำริห์ว่าจะเสด็จไปยังประเทศยุโรป ในเมื่อพม่าเข้าไปตีกรุงนั้น เจ้าศรีสังข์ได้เสด็จเล็ดลอดหนีข้าศึกไปได้ จึงได้เสด็จด้นดั้นอยู่ตามป่าประมาณ ๓ เดือน ครั้นพวกพม่ายกกลับไปแล้ว เจ้าศรีสังข์จึงเสด็จกลับไปยังบางกอก แล้วจากบางกอก แล้วเสด็จไปยังบางปลาสร้อย

ว่าด้วยเจ้าตากคิดตั้งตัวเปนใหญ่
ว่าด้วยเจ้าตากคิดจะจับเจ้าศรีสังข์

ในเวลานั้นพระยาตากซึ่งเปนชาติจีน ครึ่ง ๑ นั้น กำลังดำริห์จะเอาราชสมบัติ ได้ทราบว่ามีเจ้าเชื้อ พระราชวงศ์เสด็จไปที่บางปลาสร้อย จึงได้จัดเรือให้ออกไปจับเจ้า ศรีสังข์มายังเมืองจันทบุรี ยังมีคนเข้ารีดของเราคน ๑ ได้เข้า ไปเปนพรรคพวกของเจ้าศรีสังข์ เพราะเห็นว่าเจ้าองค์นี้มีอัธยาศรัยอันดี คือพระทัยกว้างขวาง ทรงพระปรีชาเฉียบแหลมเกินกว่าอายุและยิ่ง กว่าคนไทยทั้งปวง ทั้งโปรดปรานพวกเข้ารีดและนับถือพวกฝรั่งเศส จึงมีพระประสงค์นักที่จะได้ไปเห็นของอันน่าพิศวง ซึ่งได้กล่าวไว้ใน จดหมายเหตุของราชทูตครั้งร้อยปีรอบที่ ๑๗ คนเข้ารีดคนนี้จึงได้ทูลเจ้าศรีสังข์ว่าเราจะได้ช่วยทุกอย่างให้การที่ทรงพระดำริห์ไว้นั้นได้เปนการสำเร็จ เพราะการที่คิดจะเสด็จไปประเทศยุโรปนั้นเปนสิ่งที่เราเห็นชอบด้วย เมื่อเจ้าศรีสังข์ได้ฟังดังนี้จึงได้เสด็จลงเรือลำเล็ก
หนทาง -



(หน้า ๕๗)

-ที่จะเสด็จใกล้จริงแต่น่ากลัวอันตรายมาก เพราะมีพวกโจรสลัดทั้ง ญวนและแขกมลายู ได้ไล่จับเรือเจ้าศรีสังข์ คลื่นก็ใหญ่มาก แต่ลง ท้ายที่สุดเจ้าศรีสังข์ได้เสด็จถึงเมืองฮอนดัตโดยเรียบร้อย เพราะ เจ้าศรีสังข์เข้าพระทัยว่าจะได้พบกับข้าพเจ้าในเมืองนั้น
ฝ่ายมอง ซิเออร์อาโตด์รู้จักนิสัยเจ้าเมืองคันเคา จึงไม่ยอมพบกับเจ้าศรีสังข์ เลย และได้บอกกับคนเข้ารีดคนนั้นให้ทูลเชิญให้เสด็จไปยังเมือง เขมร เพราะข้าพเจ้าอยู่ที่เมืองนั้นแล้ว เจ้าศรีสังข์จึงมิได้เสด็จขึ้นบก แต่ได้ออกเรือเลยขึ้นไปตามลำน้ำ อีกไม่เท่าไรวันก็ได้เสด็จไปถึง เมืองพราหมณ์ใบชม (Prambleichom) มองเซนเยอร์เดอคานาธได้ รับรองเจ้าศรีสังข์อย่างดี รุ่งขึ้นมองเซนเยอร์เดอคานาธได้ไปทูล พระเจ้ากรุงเขมรเรื่องเจ้าศรีสังข์เสด็จมา พระเจ้ากรุงเขมรได้ทรง ทราบก็ทรงยินดีเปนอันมาก พระเจ้ากรุงเขมรรับสั่งให้มาถามว่า เจ้าศรีสังข์องค์นี้เปนเจ้าที่เปนเชื้อพระราชวงศ์โดยตรงหรือไม่ใช่ ใน เรื่องนี้ได้โต้ตอบกันไปมาหลายเที่ยว จนที่สุดพระเจ้ากรุงเขมรได้เสด็จออกรับเจ้าศรีสังข์โดยให้เกียรติยศเต็มที่ แล้วพระเจ้ากรุงเขมรได้มี รังสั่งให้สร้างวังให้แก่เจ้าศรีสังข์ทำด้วยไม้ไผ่ เจ้าศรีสังข์ได้ไป ประทับในวังนี้โดยไม่สู้เต็มพระทัยเท่าไรนัก และได้อยู่กับพระเจ้า กรุงเขมรจนพระเจ้ากรุงเขมรโปรดปรานมาก เจ้าศรีสังข์จึงวิตกว่า จะเสด็จออกจากเมืองเขมรไม่ได้เสียแล้ว



(หน้า ๕๘)

ในเวลาที่พวกบาดหลวงในเมืองเขมรหวังใจกันว่าในไม่ช้าคณะบาดหลวงอันได้ล้มไปแล้วคงจะตั้งขึ้นได้อีก และสรรเสริญพระเยซูที่ ได้ให้การร้ายกลายเปนดีนั้น
ที่เมืองคันเคาได้เกิดเรื่องขึ้นซึ่งตรงกัน ข้ามกับเมืองเขมร ด้วยเจ้าเมืองคันเคาเกิดริษยาขึ้นในการที่เขมร ได้รับรองเจ้าไทย และเคืองว่าเจ้าไทยได้ผ่านบ้านเมืองของตัวโดย ตัวหาได้รู้เรื่องไม่ จึงได้คิดอ่านจะจัดการให้เจ้าศรีสังข์กลับมายัง เมืองคันเคาให้จงได้ แต่วิธีที่เจ้าเมืองคิดจะให้เจ้าศรีสังข์กลับมานั้น ทางยุติธรรมตามความเห็นของเจ้าเมือง ก็คือเอาบาดหลวงที่อยู่ที่ โรงเรียน กับมองซิเออร์ยากซ์ บาดหลวงชาติจีนขังคุกเสีย


จดหมายมองซิเออร์อาโตด์ ว่าด้วยเจ้าตากขอให้เจ้าเมือง คันเคาจับเจ้าศรีสังข์

จดหมายมองซิเออร์อาโตด์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ

เมื่อปี ค.ศ. ๑๗๖๗ (พ.ศ. ๒๓๑๐) เจ้าศรีสังข์ (Chau Si Sang) ซึ่งหนีมาจากเมืองไทยนั้น ได้ผ่านมาทางเมืองฮอนดัต เพื่อจะมา พบกับบาดหลวงที่ประจำโรงเรียน คือมองซิเออร์ปินโย กับมองซิเออร์อาโตด์ แต่บาดหลวงทั้งสองเกรงว่าจะมีเรื่องขึ้นจึงไม่ยอมพบกับเจ้า ศรีสังข์ ๆ จึงได้เลยไปเฝ้าเจ้ากรุงเขมร และเจ้ากรุงเขมรได้จัด การรับรองเจ้าศรีสังข์อย่างใหญ่โตมาก ฝ่ายบาดหลวงประจำที่ โรงเรียนก็คงทำการตามหน้าที่ของตัวโดยมิได้รู้สึกว่า
ทางในเมือง-



(หน้า ๕๙)

-ได้ทำอะไรกันบ้าง เพราะเวลานั้นเจ้าเมืองพึ่งได้รับจดหมายจาก
พระยาตากฉบับ ๑ พระยาตากคนนี้เปนคนที่ฉลาดไหวพริบมาก ได้ไปตั้งอยู่ที่บางกอก และได้ซ่อมแซมป้อมซึ่งพวกฝรั่งเศสได้สร้าง ขึ้นไว้เมื่อครั้งแผ่นดินหลุยที่ ๑๔ และซึ่งพวกพม่าได้ทำลายลง เมื่อ ได้ตีกรุงแล้ว พอพระยาตากได้ทราบว่าเจ้าศรีสังข์ได้หนีมาที่เมืองคันเคา ก็ได้มีจดหมายมาถึงเจ้าเมืองคันเคาให้ส่งตัวเจ้าศรีสังข์ให้จงได้ ถ้า ส่งเปนไม่ได้ก็ให้ส่งตาย แต่เรื่องนี้มิได้ปิดกันเงียบมาก แต่ภายหลัง อีกนานจึงได้ทราบเรื่องในเวลาที่พระยาตากมีหนังสือมาถึงเจ้าเมือง คันเคานั้น พระยาตากได้ส่งของอย่างดี ๆ มาให้ด้วย มีปืนใหญ่ ๒ กระบอกหล่ออย่างแบบยุโรปซึ่งเปนของที่ชาวเมืองนี้ตื่นกันมาก และพระยาตากสัญญาว่าถ้าเจ้าเมืองคันเคาส่งตัวเจ้าศรีสัข์ให้แล้ว พระ ยาตากจะส่งปืนชนิดนี้มาให้อีกหลายกระบอก ฝ่ายเจ้าเมืองคันเคา ไม่เคยได้เห็นปืนอย่างนี้เลย มีความยินดีนักที่ได้มา ๒ กระบอก และกระหายอยากจะได้อีก จึงได้ให้เที่ยวค้นหาตัวเจ้าศรีสังข์ให้ จงได้ ครั้นได้ทราบว่าเจ้าศรีสังข์ได้มาแวะใกล้กับโรงเรียน และยัง มีคนหาความต่อไปว่า เจ้าศรีสังข์ได้ขึ้นมาพักอยู่ที่โรงเรียนหลายวัน และพวกบาดหลวงได้เสือกไสให้เจ้าศรีสังข์เลยไปเมืองเขมรอย่าง เงียบ ๆ เจ้าเมืองคันเคาจึงโกรธเปนนักหนา และเจ้าเมืองคนนี้ เปนคนโทโสร้าย ถ้ายิ่งดื่มสุราเข้าไปแล้วก็ยิ่งโทโสมาก
ซึ่ง-



(หน้า ๖๐)

-เปนอย่างนี้หลายปีมาแล้ว เพราะฉนั้นเจ้าเมืองคันเคาจึงออก คำสั่งให้ไปจับตัวพวกบาดหลวงไปใส่คุกเสีย และให้ทำลายวัด เข้ารีดเสียด้วย เจ้าพนักงารจึงได้ส่งทหารไปให้จัดการตามคำสั่ง บางคนก็ได้ตรงไปยังโรงเรียน บางคนก็จะไปทำลายวัดเข้ารีด แต่
มีขุนนางคน ๑ ชื่อคายโท (Cai Tho) เปนขุนนางผู้ใหญ่และเปนคน สนิทของเจ้าเมือง ทั้งเปนคนตั้งอยู่ในความยุติธรรมและอารีอารอบจึงได้คัดค้านเจ้าเมืองคันเคาว่า
"การที่จะทำลายวัดเข้ารีดนั้น ข้าพเจ้า เห็นว่าเมื่อได้ฟังคำแก้ของพวกบาดหลวงแล้วจึงทำลายก็ได้ เพราะ บางทีพวกบาดหลวงจะมีคำแก้ตัวบ้างกระมัง ถ้าพวกบาดหลวงมี ความผิดและท่านยังคงต้องทำลายวัดอยู่ จะทำลายเสียพรุ่งนี้ เท่ากับในวันนี้ หรือจะทำลายลงเมื่อไร ๆ ก็ได้ อีกประการ ๑ ถ้าทำลายวัดลงเสียแล้ว พวกเข้ารีดที่มาเมืองนี้สำหรับทำพิธีของสาสนามิหนีทิ้งเมืองไปหมดหรือ"

เมื่อขุนนางคายโทคัดค้านดังนี้ เจ้าเมืองก็หาได้ตอบประการใดไม่ คายโทจึงได้ออกไปห้ามไม่ให้ทำลายวัด ดังที่ได้เตรียมการไว้แล้ว เมื่อวันที่ ๘ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๖๘ (พ.ศ. ๒๓๑๐) เวลา ๙ ทุ่มพวกทหารได้มาจับพวกบาดหลวงแล้วพาไปยังคุกเมืองคันเคา



(หน้า ๖๑)

ว่าด้วยญวนคิดจะให้มองซิเออร์ไปเมือง เขมร (ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าศรีสังข์)

ญวนคิดจะให้มองซิเออร์อาโตด์ ไปเมืองเขมร

พวกญวนคงจะเชื่อเปนแน่ว่าพวกบาดหลวงไม่มีความผิดอะไร แต่ถึงดังนั้นก็ยังจำพวกบาดหลวงไว้ยังคุก เพื่อจะให้บาดหลวงจัด การให้เจ้าเมืองไทยกลับมาจงได้ และญงนได้ให้คนมาบอกว่าถ้า บาดหลวงจัดการให้เจ้าศรีสังข์มาได้เมื่อใดก็จะปล่อยบาดหลวงออกทันที และญวนก็ได้ให้ไปบอกพวกนักเรียนหลายครั้งว่า ถ้าจะต้องการบาดหลวงคืนมาแล้ว ก็ให้ไปพาองค์เจ้าศรีสังข์มาก็แล้วกัน ภายหลังญวนได้ให้มาบอกพวกบาดหลวง ว่าให้บาดหลวงคนใดคน ๑ ไปรับ เจ้าศรีสังข์มาจากเมืองเขมร และเมื่อเจ้าศรีสังข์มาถึงแล้วจะได้ ปล่อยบาดหลวงอีก ๒ คนออกจากคุกทีเดียวฝ่ายท่านหัวหน้าบาดหลวงก็ได้อ้อนวอนขอให้มองซิเออร์ อาโตด์ไปยังเมืองเขมรตามความต้องการของญวน เพื่อการทั้งหลายจะได้เรียบร้อยต่อไป มองซิเออร์ อาโตด์ขัดข้องไม่ยอมไป เพราะไม่เต็มใจที่จะไปทำการเช่นนี้และ พูดว่า ยอมติดคุกอยู่ย่างนี้ดีกว่า แต่เจ้าเมืองและอุปราชก็มา รบเร้าอีก บาดหลวงอาโตด์จึงเห็นว่าเปนการจำเปนจะต้องไปแล้ว จึงได้ให้บอกเจ้าเมืองว่า จะยอมไปเมืองเขมรตามความต้องการ แต่มีข้อจะต้องสัญญากับเจ้าเมืองและอุปราช ซึ่งเมืองนี้เรียกกันว่า เฮียบตรำ (Hiep Tram) (แปลว่า ผู้ช่วยการแผ่นดิน) เสียก่อน ฝ่ายผู้พิพากษาก็อิดออดไม่ใคร่จะยอม เพราะเขาทราบอยู่ว่าบาดหลวง-


(หน้า ๖๒)

-คนนี้พูดตรง ๆ โดยไม่กลัวและไม่ทราบว่าบาดหลวงจะทำข้อสัญญาอย่างไรบ้าง แต่ครั้นเห็นว่าบาดหลวงยังคงยืนคำอยู่ พวกพิพากษา จึงไปแจ้งให้เจ้าเมืองทราบ เจ้าเมืองจึงบอกว่ารับประทานอาหารค่ำแล้วก็ให้บาดหลวงไปหา

ครั้นเวลาค่ำยาม ๑ ผู้พิพากษาที่ ๒ ได้เข้าไปรับตัวบาดหลวง ยังคุก ผู้พิพากษาที่ ๒ ได้คำนับบาดหลวงหลายครั้งจึงได้พาบาดหลวงไปยังที่ซึ่งผู้พิพากษานั่งชำระความ
แล้วผู้พิพากษาคนที่ ๒ จึงได้บอกกับผู้คุมว่า เจ้าเมืองได้ปล่อยบาดหลวงให้พ้นโทษแล้ว และได้สั่งให้บาดหลวงไปหายังบ้านผู้พิพากษาที่ ๒
จึงได้ลุกขึ้นแล้วพาบาดหลวงไปยัง องค์วาช (Ong Vach)(๑)

ผู้พิพากษาที่ ๑ องค์วาช ได้สั่งน้ำชาให้บาดหลวงรับประทานแล้วจึงพาไปที่แม่ทัพ เมื่อได้พบแม่ทัพแล้วจึงได้พาไปยังบ้านเจ้าเมือง

แต่ครั้งถึงบ้านเจ้าเมือง พวกทหารยามได้บอกว่าจะเข้าไปหาเจ้าเมืองไม่ได้ เพราะเจ้าเมืองมีความเสียใจมากที่ได้ทราบ ข่าวว่าชาวเรือสามลำที่ได้บันทุกของไปถวายเจ้าแผ่นดินญวนได้แตกเสีย แล้ว
แต่ผู้พิพากษาที่ ๑ และที่ ๒ ได้ให้เข้าไปบอกเจ้าเมืองว่า บาดหลวงได้มาถึงแล้ว
เจ้าเมืองจึงได้ตอบมาว่า เวลานี้จะออกไปพบกับบาดหลวงไม่ได้ ให้พาบาดหลวงไปพบอุปราชเถิด

.................... (๑) ในภาษาฝรั่งเศส ใช้คำว่า (Vriceroy) และวัง (Palace)



(หน้า ๖๓)

เวลานั้นอุปราช (Hiep Tram) กำลังทำการบุญศพบิดาที่วัด ผู้พิพากษาจึงได้พาบาดหลวงไปพบกับอุปราชที่วัดนั้นเอง
....................

ว่าด้วยข้อสัญญาของมองซิเออร์อาโตด์ที่จะไป เมืองเขมร

ข้อสัญญของมองซิเออร์อาโต

อุปราชได้รับบาดหลวงในโบสถ์โดยกิริยาอย่างสุภาพอันน่าอัศ จรรย์ และได้ให้บาดหลวงนั่งเคียงกับอุปราชแล้วเวลาที่อุปราชพูด กับบาดหลวงนั้นก็ได้แสดงกิริยาอย่างนบนอบ และได้ส่งน้ำชากับ หมากพลูให้แก่บาดหลวงด้วยมือของตัวเอง อุปราชจึงได้พูดกับ บาดหลวงอาโตด์ ขอให้บาดหลวงไปยังเมืองเขมรเพื่อชักชวนให้ เจ้าศรีสังข์กลับมายังเมืองคันเคา บาดหลวงอาโตด์จึงได้ตอบว่า การที่จะให้ไปเมืองเขมรนั้นบาดหลวงมีความรังเกียจมาก แต่เพื่อ จะไม่ขัดใจเจ้าเมืองและอุปราชก็จะยอมไปให้ แต่ต้องขอมีสัญญา ๔ ข้อเสียก่อนบาดหลวงจึงจะยอมไป คือ
๑ ก่อนที่บาดหลวงจะไป เมืองเขมรนั้น ขอให้ปล่อยบาดหลวง ๒ คนที่ยังติดคุกอยู่นั้นออก เสียก่อน เพราะถ้าบาดหลวง ๒ คนนั้นยังติดคุกอยู่บาดหลวง อาโตด์ จะทิ้งไปอย่างไรได้ ด้วยบาดหลวงอาโตด์รักบาดหลวงทั้ง ๒ นั้นมากกว่ารักตัวของตัวเอง จึงยอมติดคุกอยู่ด้วยกันดีกว่า
ข้อ ๒ ขอให้ เจ้าเมืองและอุปราชสัญญาว่า เมื่อเจ้าศรีสังข์ได้เสด็จมาแล้วจะไม่ ต้องถูกควบคุมอย่างใด แต่จะไปไหนมาไหนหรือจะออกจากเมือง -



(หน้า ๖๔)

-คันเคาได้ตามพระทัยของเจ้าศรีสังข์ทุกอย่าง บาดหลวงอาโตด์จึง ชี้แจงต่อไปในข้อนี้ว่า
"ถ้าท่านมีความประสงค์จะควบคุมกักขังเจ้า ศรีสังข์แล้วข้าพเจ้าจะเกี่ยวด้วยไม่ได้ การที่ขัาพเจ้าจะต้องการให้ ตัวข้าพเจ้าเองได้พ้นที่คุมขังนั้น ไม่ปราถนาจะให้คนอื่นได้รับความรำคาญเลย"
ข้อ ๓ การที่จะให้บาดหลวงไปเมืองเขมรนั้น ไม่ใช่ ไปในตำแหน่งราชทูตหรือตำแหน่งอย่างใดซึ่งผิดด้วยระเบียบการเลี้ยงชีพของบาดหลวง การที่มีหนังสือไปหรือจะให้พูดจากับใคร ๆ อย่าง ใด ขอให้จัดเจ้าพนักงารไปโดยเฉพาะ บาดหลวงจะเปนแต่ผู้ไป ด้วยเท่านั้น
ข้อ ๔ บาดหลวงไม่รับที่จะไปกราบทูลพระเจ้ากรุงเขมรอย่างใดเพราะไม่รู้จักกัน จะไปพูดกับเจ้าศรีสังข์อย่างเดียวเท่านั้น

และถ้าอุปราชยอมรับรองตามข้อสัญญานี้แล้ว บาดหลวงก็จะไปทูล เจ้าศรีสังข์ว่า เจ้าเมืองหรืออุปราชเมืองคันเคาไม่ได้คิดร้ายต่อเจ้า ศรีสังข์อย่างใด แต่การที่เจ้าศรีสังข์จะมาหรือไม่นั้น บาทหลวง ไม่รับรองอย่างใด

ข้อสัญญาข้อสุดท้ายนี้ ญวนถือว่าบาดหลวงพูดเช่นนี้ เพราะถ่อมตัว การที่จะไปชักชวนเจ้าศรีสังข์มานั้นคงจะไม่ลำบากอะไร
ส่วนสัญญาข้อ ๒ นั้นอุปราชรับรองว่า ทั้งเจ้าเมืองและตัวอุปราชจะยอม สาบาลให้ว่าจะไม่กักขังควบคุมเจ้าศรีสังข์อย่างใด เพราะเจ้าเมือง และอุปราชเมืองคันเคาอยากเปนไมตรีกับเจ้าศรีสังข์ และอยากจะ ช่วยให้เจ้าศรีสังข์ได้ขึ้นครองราชสมบัติซึ่งเปนของพระอัยกา
และการ -



(หน้า ๖๕)

- ที่อยากจะให้เจ้าศรีสังข์มายังเมืองคันเคา ก็เพื่อจะป้องกันไม่ให้ เกิดความสงสัยต่าง ๆ เท่านั้น

ส่วนสัญญาข้อ ๑ คือให้ปล่อย บาดหลวงปินโยกับบาดหลวงยากซ์ นั้น เปนข้อที่สำคัญมากไม่ใช่จะตกลงกันได้
เพราะองค์วาช คัดค้าน ว่าผิดความประสงค์ของเจ้าเมือง ซึ่งสั่งไว้ให้ขังบาดหลวงทั้ง ๒ ไว้ในคุกสำหรับล่อให้เจ้าศรีสังข์ได้รีบมาเมืองคันเคา

บาทหลวง อาโตด์จึงคัดค้านว่าถ้าทำเช่นนี้ ทำอย่างไร ๆ เจ้าศรีสังข์ก็คงจะไม่มาเปนแน่ และบาดหลวงอาโตด์ก็ไม่ยอมไปเพราะจะเสียเวลาเปล่า ๆ
ถึงหากว่าอุปราชจะปล่อยบาดหลวงทั้ง ๒ จริง บาดหลวงอาโตด์ก็ยังสงสัยอยู่ว่าเจ้าศรีสังข์จะมาหรือไม่ แต่การที่บาดหลวงจะยอมไปเมืองเขมรคราวนี้
ก็ไม่รับรองจะได้ทำการสมความปราถนาหรือไม่

ผู้พิพากษาที่ ๑ จึงได้ลุกออกไปนอกห้อง และอุปราชก็กล่าวว่า บาดหลวงพูดถูก
แต่เพื่อจะไม่ให้องค์วาช ขัดใจ อุปราชจึงคิดอลุ่มอล่วยให้ถูกใจทั้ง ๒ ฝ่าย คือจะให้เอาบาดหลวงทั้ง ๒ ออกจากคุก และอนุญาตให้ไปอยู่กับข้าราชการซึ่งเปนผู้เข้ารีด ๑ คน
ข้าราชการผู้นี้รับผิดชอบในตัวบาดหลวงทั้ง ๒ องค์วาช เห็นว่าจะแก้ไขอย่างอื่นไมได้ก็ยอมตามความเห็นของอุปราช
แต่บาดหลวงอาโตด์เห็นว่า การที่ทำดังนี้ก็ไม่เปนประโยชน์อะไรต่อโรงเรียนเลย
จึงได้คัดค้าน -




(หน้า ๖๖)

-ว่าถ้าทำดังนี้ ก็เท่ากับย้ายบาดหลวงทั้ง ๒ ออกจากคุกนี้ ไปขังไว้ในคุกโน้น และเปนข้อที่จะไปทูลกับเจ้าศรีสังข์ไม่ได้
ว่าบาดหลวง ทั้ง ๒ ได้พ้นที่คุมขังแล้ว เมื่อได้โต้เถียงกันและได้ปรึกษาหารือกันอยู่ ช้านาน
จึงเปนอันตกลงจะปล่อยบาดหลวงทั้ง ๒ ออกจากคุก ................

ว่าด้วยมองซิเออร์อาโตด์ไปเมืองเขมร

มองซิเออร์อาโตด์ไปเมืองเขมร


มองซิเออร์อาโตด์จึงไดลงเรือไปเมืองเขมร ครั้นไปถึงเมืองเขมรแล้ว มองเซนเยอร์เดอคานาธได้รับรองอย่างดี และได้พา มองซิเออร์อาโตด์ไปเฝ้าเจ้าศรีสังข์ พอเจ้าศรีสังข์ได้เห็นบาดหลวง อาโตด์ก็แสดงกิริยายินดีต่าง ๆ ครั้นเจ้าศรีสังข์ได้ทราบว่า มองซิเออร์อาโตด์มาเฝ้าด้วยเรื่องอะไร จึงรับสั่งว่าทำอย่างไร ๆ ก็จะเสด็จไปยังเมืองคันเคาไม่ได้ เพราะทรงทราบเปนการแน่นอนว่า เจ้าเมืองคันเคาจะจับพระองค์ส่งให้แก่พระยาตาก และได้รับส่งต่อ ไปว่า "การที่พระยาตากได้ส่งของดี ๆ มาให้เจ้าเมืองคันเคานั้น ก็เท่ากับซื้อศีร์ษะข้าพเจ้าเท่านั้น" การที่รับสั่งเช่นนี้ก็ไม่มีหลักฐาน อะไร แต่เหตุผลที่ทรงยกมาอ้างนั้น ก็พอที่จะทำให้บาดหลวง หยุดรบกวนที่จะให้เสด็จไปเมืองคันเคา บาดหลวงอาโตด์ จึงปล่อยให้คนแทนของเจ้าเมืองคันเคาได้พูดจากันเอาเอง แล้ว ได้กลับไปเมืองคันเคา โดยหาได้ตัวเจ้าศรีสังข์ไปด้วยไม่



(หน้า ๖๗)

จดหมายมองซิเออร์มอวัน ว่าด้วยเจ้าเมืองคันเคารบกับ เจ้าตาก

จดหมายมองซิเออร์มอวัน
ถึงมองซิเออร์โฮดี
เมืองวิรำปาตนำ วันที่ ๒๒ เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๗๑ (พ.ศ. ๒๓๑๓)

การที่เราได้จัดการสร้างโรงเรียนใหม่ขึ้นในเมืองนี้ก็ไม่ได้รับผลเท่าไร ในไม่ช้าเราก็ต้องหนีไปหมด เพราะในเวลานั้นคือเมื่อ เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๖๗ (พ.ศ. ๒๓๑๒) เจ้าเมืองคันเคา ได้เกิดเปนอริ ขึ้นกับพระยาตากพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ใหม่ เจ้าเมืองคันเคา จึงได้จัดกองทัพเรือ ๒ กอง ให้ไปรบกับพระเจ้าตากยังกรุงสยาม ฝ่ายพวกเขมร ๔ ตำบลกับจีนพวก ๑ เห็นว่ารัฐบาลเมืองคันเคากำลังอ่อนแอ จึงได้คบคิดกันเอาตัวออกหากจากญวนเมื่อเดือนตุลาคม พวกเขมรและจีนพวกนี้ได้มายังบ้านมองซิเออร์อาโตด์ พอเข้าไปถึงบ้านก็ ได้ยินคนพูดภาษาญวน พวกเขมรและจีนจึงลงมือจับพวกญวน ฆ่า จนมองซิเออร์อาโตด์ซึ่งเวลานั้นป่วยอยู่ ได้ชักม่านมาพูด ด้วยเสียงอย่างเบา พวกเขมรและจีนจึงหยุดการที่ฆ่าฟันพวกญวน ครั้นเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒) พวกจลาจลได้เข้ามายังบ้านบาดหลวงเปนอันมาก เพื่อจะมาดูว่าในโรงเรียนจะมีพวกจีนมาแอบซ่อนอยู่ด้วยหรือไม่ พวกจลาจลได้พบกับพวกจีนอยู่ในบ้านบาดหลวงอยู่ครัวเรือน ๑ พวกจลาจลจึงได้จับฆ่าหมด แต่เดิม ก็มีพวกจลาจลเข้ามาแต่ ๒ คนเท่านั้น
ครั้นทราบว่ามีพวกญวนอยู่ใน-



(หน้า ๖๘)

-บ้านบาดหลวงด้วย พวกจลาจลก็เข้ามากว่า ๑๐๐ คน พบใครก็จับฆ่าหมดสิ้น พวกเราจึงได้หนีลงเรือไปยังเมืองคันเคา พอเราออก เรือไปแล้วพวกจลาจลก็เข้าไปปล้นโรงเรียน และได้เอาโรงเรียนเปนที่พักต่อไป

.....................



(หน้า ๖๙)

จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยบาดหลวงเข้ามาตั้ง ในบางกอกและว่าด้วยความอัตคัดใน เมืองไทย

การพยายามที่จะตั้งคณะบาดหลวง ขึ้นในเมืองไทยอีก มองซิเออร์คอร์กลับไปยังเมืองไทย การเปนไปของเมืองไทย

จดหมายมองซิเออร์คอร์
ถึงมองซิเออร์มาธอน
วันที่ ๘ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒)

ทางที่จะไปเมืองไทยจากเมืองคันเคาเปนอันไปไม่ได้แล้ว เพราะเหตุว่าเจ้าเมืองคันเคาได้เกิดอริกับผู้ที่คิดจะเอาราชสมบัติไทย ข้าพเจ้าจึงได้ลองเดิรทางเมืองป่าสัก เพราะที่นั่นมีเรือจีนอยู่ลำ ๑ จวนจะแล่นใบไปยังเมืองไทยอยู่แล้ว
เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนมกราคม ข้าพเจ้าได้ลามองเซนเยอร์เดอคานาธ และข้าพเจ้าได้ลงเรือเมื่อ วันที่ ๒๒ เดือนมกราคม
และเมื่อวันที่ ๔ เดือนมีนาคมก็ได้ไปถึง บางกอก และได้ไปพักที่บ้านคนเข้ารีดชาติปอตุเกตคน ๑
รุ่งขึ้นกำลังข้าพเจ้าจะลงมือสวดมนต์ ก็ได้รับพระราชโองการให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าและได้มีเรือมามารับข้าพเจ้าด้วยลำ ๑
ข้าพเจ้าจึงจำเปนต้องเลิกการสวดมนต์และรีบไปเฝ้าตามรับสั่ง

พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานเงินให้แก่ข้าพเจ้า ๒๐ เหรียญ เรือลำ ๑ กับที่สำคัญปลูกวัดแห่ง ๑ เงิน -



(หน้า ๗๐)

- ๒๐ เหรียญนั้นข้าพเจ้าได้รับไว้แล้ว
แต่ของอื่น ๆ ยังมาไม่ถึงและของเหล่านั้นก็คงจะไม่ได้จนกว่าจะได้ให้เงิน หรือของแก่เจ้าพนักงาร
พวกไทยเห็นจะไม่ทิ้งนิสัยเปนแน่ อย่างไร ๆ ก็คงจะหาข้อแก้ตัวที่จะขัดพระราชโองการให้จงได้
เพื่อจะถ่วงเวลาให้ได้รับของกำนันเสียก่อนเท่านั้น

ข้าพเจ้าได้เห็นพวกเข้ารีดในค่ายของเราและค่ายปอตุเกตุ ซึ่งอยู่ใกล้กับป้อมที่บางกอกเหลืออยู่ ๑๔ คนเท่านั้น
นอกนั้นเที่ยวกระจายอยู่ทั่วไปหมด พวกนี้ก็ได้มาหาข้าพเจ้าโดยมาก ข้าพเจ้าได้นับพวกเข้ารีดมาหาข้าพเจ้าถึง ๑๐๘ คน
เมื่อพวกเข้ารีดที่หนีไปเมืองเขมรได้กลับมาเมื่อไร ก็คงจะรวบรวมพวกเข้ารีดได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ หรือ ๔๐๐ คน

ค่าอาหารการรับประทานในเมืองนี้แพงอย่างที่สุด เวลานี้
เข้าสารขายกัน ทนานละ ๒ เหรียญครึ่ง คนที่หาการเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างนั้นถึงจะหมั่นสักเพียงไร ก็จะหาเพียงซื้ออาหารรับประทานแต่คนเดียวก็ไม่พอ
เมื่อเปนเช่นนี้บุตรภรรยาจะเปนอย่างไรบ้าง พวกที่อ้างตัวว่าเปนปอตุเกตุนั้นดูเหมือนจะเดือดร้อนมากกว่าคนอื่นมาก
เพราะพวกนี้ไม่ละความเกียจคร้าน หรือลดหย่อนความหยิ่งของตัวเลย ร้องแต่ว่าทุนไม่มี จึงไม่ได้ทำอะไร นอกจากนอนขึงอยู่บนเสื่อ ตั้งแต่เช้าจนเย็น
ส่วนพวกเข้ารีดของเรานั้นพอเอาตัวรอดได้ เขาไม่ได้รบกวนใครแต่ทำมาหาเลี้ยงชีพของตัวไป
ฝ่ายพวกจีนและ -



(หน้า ๗๑)

ว่าด้วยพวกจีนเที่ยวขุดทำลายพระพุทธรูปและ พระเจดีย์เที่ยวหาทรัพย์แผ่นดิน

- พวกไทยเห็นว่าการหาเลี้ยงชีพเปนการฝืดเคือง จึงได้หันเข้าหาวัดโดยมาก
เพราะพวกไทยด้วยความเชื่อถืออะไรของเขาอย่าง ๑ ได้เอาเงินและทอง บัญจุไว้ในองค์พระพุทธรูปเปนอันมาก
เงินทองเหล่านี้บัญจุไว้ในพระเศียรก็มี ในพระอุระก็มี ในพระบาทก็มี และตามพระเจดีย์ต่าง ๆ ได้บัญจุไว้มากกว่าที่อื่น

ท่านคงจะคาดไม่ถูกเปนแน่ว่า พวกไทยได้เอาทองเที่ยวซุกซ่อนไว้เปนจำนวนมากมาย สักเท่าไร
ฝ่ายพวกเข้ารีดไปถือเสียว่า ถ้าตัวได้ทำความดีในชาตินี้ เท่าไร ก็คงได้รับความดีคืนตั้งร้อยเท่า จึงไม่ได้คาดการล่วงหน้า เหมือนอย่างไทย

ในพระเจดีย์องค์เดียวเท่านั้นมีคนพบเงินถึง ๕ ไหและทอง ๓ ไห ผู้ใดทำลายพระพุทธรูปลงแล้ว ไม่ได้เหนื่อยเปล่าจนคนเดียว
เพราะฉนั้นโดยเหตุที่พวกจีนมีความหมั่นเพียร และเปนคนชอบเงินมาก
ประเทศสยามยังคงบริบูรณ์อยู่เท่ากับเวลา ก่อนพม่ายกเข้ามาตีกรุง ทองคำเปนสิ่งที่หาง่ายจนถึงกับหยิบกันเล่นเปนกำ ๆ

ราคาทองคำซื้อขายกันราคา ๘ การัต พระเจดีย์เปนเหมือนเตา สำหรับหล่อพระพุทธรูปด้วย ทองเหลืองและทองแดง
ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยถ่านและเศษทองแดง และตามทางเดิร ดำยิ่งกว่าปล่องไฟเสียอีก
พระราชธานีของเมืองไทย ตลอดทั้ง วัดวาอาราม และบ้านของเรากับ ค่ายปอตุเกต เหมือนกับเปนสนามอันใหญ่ ที่มีคนขุดคุ้ยพรุนไปทั้งนั้น



(หน้า ๗๒)

ข้าพเจ้าได้ไปที่โรงเรียนสามเณรแล้ว จึงได้เห็นด้วยตาของ ตนเองว่าผนังวัดยังดีอยู่ และมีคนที่เข้าใจได้บอกกับข้าพเจ้าว่ายังจะซ่อมแซมได้โดยไม่ต้องเสียเงินสักเท่าใดเลย ส่วนบ้านบาดหลวง นั้น ชั้นบนถูกเพลิงไหม้และผนังไม้นั้นก็ถูกไหม้หมด ข้าพเจ้าจึง สงสัยว่าชั้นบนจะไม่มีกำลังพอที่จะรับเครื่องบนได้ ที่นี้จะหาอะไร หรือทำธุระอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว นอกจากจะมีของไว้สำหรับ ทำของกำนัน เพราะเปนธรรมเนียมของเมืองนี้และเปนการไม่ สมเกียรติยศของเมืองไทยที่จะไปหาขุนนางราชการโดยไม่มีของ ไปให้ ถ้าได้มีปืนดี ๆ ถวายต่อผู้ที่จะเอาราชสมบัติก็จะเปนสิ่งที่โปรดมาก สำหรับข้าราชการนั้นถ้าเอาปืนธรรมดาไปให้กับศิลาสำหรับ ปืนสักถุง ๑ ก็พอแล้ว ถ้าเอาของไปให้ก็คงจะได้เนื้อที่ดินหรือ ของอื่น ๆ ตามต้องการทุกอย่าง

......................


จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยเจ้าตากพระราชทาน ที่ดินให้พวกบาดหลวง

จดหมายมองซิเออร์คอร์
ถึงมองเซนเยอร์บรีโกต์
บางกอกวันที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒)

เมื่อข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองไทยได้เห็นราษฎรพลเมืองซึ่งได้รอดพ้นมือพม่าไปได้นั้น ยากจนเดือดร้อนอย่างที่สุด
ในเวลานี้ดูเหมือนดินฟ้าอากาศจะช่วยกันทำโทษพวกเรา ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล ชาวนาได้หว่านเข้าถึง ๓ ครั้ง
ก็มีตัวแมลงคอยกินรากต้นเข้า และ -



(หน้า ๗๓)

- รากผักทุก ๆ อย่าง โจรผู้ร้ายก็ชุกชุมมีทั่วทุกหนทุกแห่ง เพราะ ฉนั้นถ้าจะไปไหนจะต้องมีอาวุธติดมือไปด้วยเสมอ

เมื่อวันที่ ๔ เดือนมีนาคม ปีนี้ (๒๓๑๑) ข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอก พร้อมกับนักเรียนสามคนกับไทยเข้ารีดคน ๑ ที่ฝั่งคลองใกล้ กับป้อมนั้น
ข้าพเจ้าได้พบคนเข้ารีดประมาณ ๑๐๐ คน ข้าพเจ้าจะไม่พูดถึงความเดือดร้อนร่างกายของพวกนี้ จะกล่าวถึงแต่ความเดือดร้อนแห่งวิญญาณของเขา
พวกนี้โดยมากไม่ใคร่ได้ไปฟังสวดแล้ว และการปฎิบัติก็ไม่แปลกกันกับพวกที่ไม่ได้เข้ารีดเลย
พวกผู้หญิงสาว ๆ ที่รอดพ้นมือพม่าไปได้นั้น ก็ตกไปอยู่กับพวกจีนกระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง และการปฎิบัติของเขานั้น ก็เอาอย่างของนายเข้าสุก

เมื่อข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอก พระยาตากเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ได้ทรงต้อนรับข้าพเจ้าเปนอย่างดีและโปรดให้ข้าพเจ้าเลือกที่ดินตามชอบใจ
ข้าพเจ้าได้เลือกที่ไว้แห่ง ๑ เหนือหมู่บ้านพวกเข้ารีด แต่กิจการณ์ของพระเยซูจะให้สำเร็จไปทีเดียวไม่ได้
ข้าพเจ้า จึงได้พยายามหาที่อื่นต่อไปอีกหลายแห่ง
ครั้นเมื่อวันที่ ๑๔ เดือนกันยายน ปี ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒) ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐
พระยาอินทวงศา (Phia Inta Vonisa) ได้มาตรวจวัดปักเขตที่ดินของข้าพเจ้า แต่พวกไทยก็ยังร้องคัดค้านอยู่นั่นเอง

เมื่อวันที่ ๑๗ เดือน -


๑๐


(หน้า ๗๔)

- กันยายน
พระยาอิทวงศาได้กลับมาอีก และไก้ตรวจวัดปักเขตเสร็จในวันนั้นเอง เพื่อจะให้เปนที่ระฦกของวันนั้น ซึ่งเปนฤกษ์อันดีของสาสนาเราในเมืองไทยนั้น
ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะได้ให้พรแก่วัดของเรา แต่ข้าพเจ้าเปนคนจน และจะทำอะไรไม่ได้นอกจากเปนหนี้เขา
แต่เพื่อจะกันไม่ให้คนไทยบ่นได้ ข้าพเจ้าจึงได้สร้างบ้านเล็ก ๆ ขึ้น สักหลัง ๑

ข้าพเจ้าต้องอ้อนวอนขอให้ท่านเปนธุระในลูกศิษย์ของท่านให้มาก ๆ ข้าพเจ้าไม่มีเชิงเทียนหรือเครื่องประดับวัดอย่างใดเลย
และพวกเข้ารีดก็ตาย เพราะอดอาหารเปนอันมาก ข้าพเจ้าก็ได้จัดการช่วยเหลือพวกเข้ารีดทุกอย่างเท่าที่จะทำได้
ตั้งแต่ข้าพเจ้ามาถึงเมืองไทยตลอดจนถึงเดือนกันยายน ข้าพเจ้าสู้อดไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลย รับประทานแต่ปลาบ้างเล็กน้อยทุก ๆ วัน
ส่วนตัวข้าพเจ้าไม่ได้ซื้อหาอะไรเลย ได้ซื้อแต่เพียงเข้าสารเท่านั้น และเข้าสารที่ซื้อไว้นั้น ก็หาเพียงพอไม่
ข้าพเจ้าได้เรียกคนมายังโรงเรียนเพื่อช่วยกันขนเสา และขื่อรอดซึ่งไม่ได้ไหม้ไฟไปเก็บรักษาไว้

.......................

จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยเจ้าตากเที่ยวปราบปราม ซ่องใหญ่ต่าง ๆ

จดหมายมองซิเออร์คอร์
ถึงมองซิเออร์เลอฟิศกาลเดอมาลากา
วันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒)

ในเวลาที่พวกพม่าข้าศึกหนีจากกรุงศรีอยุธยานั้น พระยา -



(หน้า ๗๕)

- ตาก ก็ได้เตรียมการที่จะตั้งตัวเปนใหญ่ต่อไป โดยรวบรวมเกลี้ยกล่อมผู้คนที่ยังหนีกระจัดกระจายอยู่ แล้วจึงได้ไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองจันทบุรี
จากเมืองจันทบุรี พระยาตากได้ยกไปที่ เมืองเทียงออย ( Thieng-ioi ) แล้วยกไปที่ บางปลาสร้อยแล้วจึงเลยไปถึงบางกอก

เมื่อพระยาตากยกทัพไปถึงตำบลใด ก็ได้แจกจ่ายเงินทองทั่วไปทุกแห่ง กองทัพพระยาตากจึงมีจำนวนคนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
เมื่อพระยาตากได้เกลี้ยกล่อมผู้คนไว้ได้มากแล้ว จึงได้ตั้งต้นคิดการใหญ่ต่อไป

ในตอนแรกการได้ดำเนิร สมความคิดเปนที่เรียบร้อยทุกอย่าง ใคร ๆก็มาอ่อนน้อมหมด ไม่มีใครขัดแขงไว้เลย
ครั้นพระยาตากยกทัพ ขึ้นไปถึงเมืองนครราชสิมา ๆ ก็ยอมอ่อนน้อมโดยดีหาต้องรบพุ่งไม่

พระยาตาก จึงได้ให้จับ เจ้ากรมเทพจิตร์ (Chau Krom Tep-chit) ซึ่ง เปนเจ้าไทยเคยหนีไปอยู่ เมืองบาตาเวียมาครั้ง ๑ แล้ว
ครั้นพระยาตากกลับมาถึงบางกอก จึงได้ให้ตัดศีร์ษะ กรมหมื่นเทพพิพิธเสีย

ครั้นเมื่อเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๘ (พ.ศ. ๒๓๑๑)
พระยาตากได้เกิดอริ กับเจ้าเมืองคันเคา จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองคันเคา เพื่อทำโทษเจ้าเมือง
เปนธรรมเนียมของพระยาตากอย่าง ๑ ซึ่งต้องคุมกองทัพไปด้วยพระองค์เองเสมอ ครั้นเสด็จไปถึงเมืองคันเคา ก็ได้ทรงมีชัยชนะ
ผู้ใดทำผิดพระยาตากก็ลงโทษเสียสิ้น
ในระหว่างที่ พระเจ้าตากพระเจ้าแผ่นดินใหม่ของกรุงสยาม ได้ทรงทำให้บ้านเมืองใกล้เคียง สทกสท้านกลัวเดชนุภาพไปหมดนั้น



(หน้า ๗๖)

พวกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ต้องรับความเดือดร้อน ต้องล้มตายวันละมาก ๆ เพราะอาหารการกินอัตคัดกันดารอย่างที่สุด
ในปีนี้ ได้มีคนตายมีจำนวนมากกว่า เมื่อครั้งพม่าเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา
เหตุที่คนตายมากนักนั้นก็คือ เพราะเงินทองที่บัญจุไว้ตามพระเจดีย์ หมดเสียแล้ว

เมื่อปีก่อนและในปีนี้ พวกจีนและไทยไม่ได้หากินอย่างอื่น นอกจากเที่ยวทำลายพระพุทธรูปและพระเจดีย์
พวกจีนได้ทำให้เงินทองในเมืองไทยไหลไปเทมา และการที่ประเทศสยามกลับตั้งตัวได้เร็วเช่นนี้ ก็เพราะความหมั่นเพียรของพวกจีน
ถ้าพวกจีน ไม่ใช่เปนคนมักได้แล้ว ในเมืองไทยทุกวันนี้ ก็คงไม่มีเงินใช้เปนแน่ เพราะพวกพม่าได้ขนไปจนหมดสิ้น

เพราะฉนั้น การที่ได้มีการค้าขายกันในทุกวันนี้ ก็เปนเพราะพวกจีน ได้ไปเที่ยวขุดเงินทองที่ฝังไว้ตามดินและบัญจุไว้ตามพระเจดีย์นั่นเอง

เมื่อพวกจีนได้ทำลายวัดภูไทย (Vat Phu Thia) ซึ่งเปนวัดใหญ่อยู่ใกล้กับ โรงเรียนสามเณรนั้น ข้าพเจ้าได้กลับมาถึงเมืองไทยแล้ว
ในวัดนี้เมื่อทำลายลงแล้ว พวกจีนได้พบทองเปนอันมากพอบันทุกเรือยาวได้ถึงสามลำ
ในวัดที่พระ เจ้าแผ่นดินทรงผนวชเรียก วัดประดู่ (Vat Padu) วัดเดียวเท่านั้นได้ พบเงินถึง ๕ ไห และวัดอื่นๆ ก็มีเงินทุกวัด มากบ้างน้อยบ้าง พวกจีนเท่ากับทำสงครามกับพระพุทธรูป ที่หล่อด้วยทองแดง
เครื่องมือของจีนที่ ทำลายพระพุทธรูปนั้น ก็คือ บานหน้าต่างบานประตูและเสาโบสถ์



(หน้า ๗๗)

วัดต่างต่างเวลานี้เปรียบก็เท่ากับเตาไฟ ฝาผนังก็ดำหมด และตามลานวัดก็เต็มไปด้วยถ่าน
และพระพุทธรูปหักพังเปนชิ้นเล็กชิ้นน้อย พระเจ้ากรุงสยามองค์ใหม่ ได้หาจัดการป้องกันสาสนาไทยตามที่ควรทำไม่ เพราะเหตุว่าทรงเกรงว่าคนจะเอาใจออกห่าง

..........................

จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยพระเจ้าตากไปตีเมือง นครศรีธรรมราช

จดหมายมองซิเออร์คอร์
ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
บางกอกวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๐ (พ.ศ. ๒๓๑๓)

เมื่อข้าพเจ้าได้กลับมาถึงเมืองไทยได้หลายเดือน ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวดูในพระราชธานี ได้พบจำนวนเด็กเปนอันมากที่อดอยากอย่างที่สุด
ในระหว่างที่เข้าอยากหมากแพงนั้น เด็กพวกนี้ได้รับน้ำมนต์เข้ารีดจำนวน ๔๐๐ คน
เด็กเหล่านี้โดยมากเปนบุตรของชาวบ้านนอก ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้พามาจากหัวเมืองในเวลาที่เสด็จไปปราบหัวเมืองเหล่านั้น

คนเหล่านี้เปนชาวเมือง พิษณุโลก และชาวเมือง นครราชสิมา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้พาลงมาเปนเชลย เพื่อจะให้คนในกรุงแน่นหนาขึ้น
เพราะตั้งแต่ครั้งรบกับพม่า ในกรุงหมดผู้หมดคน เหลือแต่เสือและสัตว์ป่าอยู่ เท่านั้น

คนที่ต้องมาเปนเชลยนั้น หมดทางที่จะทำมาหากิน เพราะมาอยู่ในภูมิประเทศใหม่ซึ่งไม่เคยได้อยู่เลย เพราะฉนั้นคนเหล่านี้จึงจวน -



(หน้า ๗๘)

- จะตายด้วยอดอาหารการกิน และไม่มีใครที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือพวกนี้เลย ในเวลาที่พวกนี้กำลังทุกข์ร้อนอยู่เช่นนี้
จะไปพูดการสาสนาด้วยก็เห็นจะป่วยการเปล่า เพราะพวกนี้ไม่ต้องการอะไร นอกจากจะรับประทานอาหารเท่านั้น
คือต้องการเข้าสุกสำหรับตัวรับประทานเอง กับบุตรหลานหาต้องการหยูกยาอย่างใดไม่
เมื่อพวกนี้เห็นเราเข้าเมื่อใด ก็อดที่จะด่าและเยาะเย้ยเราไม่ได้

ว่าด้วยพระเจ้าตากไปตีเมือง นครศรีธรรมราช

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ได้เสด็จด้วยพระองค์เองไปปราบเมือง นครศรีธรรมราช พวกเข้ารีดของเราทุกคนต้องถูกเกณฑ์ไปทัพ ตามเสด็จ
ข้าพเจ้าอยู่ในกรุงเทพ ฯ คนเดียวกับบุตรภรรยาของพวกเข้ารีดที่ไปทัพ เท่านั้น
นอกนั้นจะหาคนแจวเรือหรือ หาคนสำหรับตำยาผสมยา สักคนเดียวก็ไม่ได้ ข้าพเจ้าก็หมดทุนรอนแล้ว เพราะฉนั้น ในปีนี้จึงไปเที่ยวให้น้ำมนต์เด็กเพื่อรับเข้ารีดไม่ได้

เมื่อครั้งพม่ามาตีกรุงนั้น ได้ทำลายวัดและพระพุทธรูปลงบ้าง แต่เล็กน้อยเท่านั้น แต่การดี อันนี้คือ
การทำลาย วัดและพระพุทธรูปนั้น พวกจีนและพวกไทย ได้ทำการ ต่อพวกพม่าอีก
การที่ได้เห็นคน ทำลายวัดและพระพุทธรูป เช่นนี้ ทำให้ นักพรตของพระเยซู มีความสบายใจมากขึ้น
เพราะเท่ากับ เห็นผู้ที่ นับถือเปรต ได้ทำลาย เปรต ซึ่งเปนที่นับถือ ของตนเอง

บรรดาพระพุทธรูปและพระเจดีย์ ซึ่งได้ปิดทองกันอย่างงดงาม บัดนี้ก็ได้ทำลายหักพังเปนผงธุลีไปหมดแล้ว ตามวัดวาอารามก็ร้างไปหมด



(หน้า ๗๙)

เพราะพวก พระสงฆ์ ได้หนีทิ้งวัดไปสิ้น ผ้าเหลืองเวลานี้ ไม่ใคร่มีใคร จะนับถือเหมือนแต่ก่อนแล้ว
และถ้ามีใคร ขืนครองผ้าเหลืองในเวลานี้ ก็ต้องอด
การที่เปนเช่นนี้ ไม่ใช่ แต่ฉเพาะในกรุงและตำบลใกล้เคียง แต่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จยกทัพไปที่แห่งใดก็เปนเช่นนี้ทั่วไป
เช่นเมือง พิษณุโลก นครราชสิมา เพ็ชรบุรี นครศรีธรรมราช และ เมืองภูเก็จ เปนต้น

การที่ วัดวาอาราม รกร้างว่างเปล่า และพระพุทธรูป ต้องทำลายลงเช่นนี้ เปนการกระทำให้เราหวังดี สำหรับสาสนาของเรา ในภายหน้าต่อไป
เพราะเวลานี้ บรรดาพระเจดีย์และพระพุทธรูปได้ถูกทำลายลงหมดแล้ว

ด้วยพวกจีนทราบได้ดีว่า ทองเงินของรูปพรรณ ได้บัญจุไว้ที่แห่งใดบ้าง และ พวกจีนก็ มิได้เลือกที่เลย
ของ มีที่ไหน ก็ทำลายสิ่งนั้นลงโดยไม่ละเว้น เมื่อทำลายแห่งนี้ลงแล้ว พวกจีนก็หยุดพอหายใจให้หายเหนื่อยสักหน่อย
ก็ไปทำลายสิ่งอื่นหาทรัพย์ต่อไปอีก

เมื่อพระเยซู ได้โปรดให้ทำลายสิ่ง ที่ทำให้คนตาบอด เช่นนี้ จะไม่ทำให้พวกนี้ใจอ่อน และรู้สึกถึงคุณความดีของพระองค์ทีเดียวหรือ
ข้าพเจ้าเห็นว่า เวลาบุคคลมิจฉาทิฐิ จะได้กลับใจได้ นั้นจวนจะมาถึงอยู่แล้ว บางทีความปราถนาของเรา จะทำให้เราหลงในสิ่งที่ผิดก็จะเปนได้
แต่เพื่อจะไม่ให้คนอื่นเข้าใจผิด เราจึงต้องเล่าตามเรื่องที่เราได้เห็นแก่ตา นิสัยของคนไทยนั้น
เปนคนโกงไม่จริงต่อใคร มีน้ำใจอย่างต่ำ -



(หน้า ๘๐)

- เลวทรามและขี้ขลาด ทำการเอาหน้าแต่จะเอาจริงสักอย่างก็ไม่ได้
พวกเราต้องคอยระวังตัวอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอุบายและความหลอกลวงของคนไทย

เมื่อเราเห็นสิ่งใดถูกหรือยุติธรรม เราก็ทำไปและ ต้องระวังมิให้ไทยหลอกลวงเราได้
ถ้าไทยทำการสิ่งใดหรือพูดอย่างใด เราต้องคอยใคร่ครวญดูว่า ที่ไทยทำเช่นนั้นหรือพูดดังนั้น ไทยจะประสงค์อะไร

ได้มีคนไทยเปนอันมาก ได้มาขอให้เราสอนสาสนาให้ และ เราได้สังเกตกิริยา ทั้งประกอบกับรู้ว่า พวกนี้กำลังเดือดร้อนอยู่
จึงเชื่อว่า เขาจะมาพูดด้วยจริงใจ หาได้มาหลอกลวงไม่
และ พวกนี้ก็หมั่นสวดมนต์ทั้งเช้าและเย็น บาดหลวงได้ชี้แจงต่อพวกนี้ว่า
การที่จะทำหน้าแดงนั้น ไม่ควรจะทำ นอกจากตัวทำความผิด จึงควร ทำหน้าแดง ด้วยความอาย
แต่ในส่วนที่เขาต้องการมาเรียนสาสนานั้น ไม่เปนสิ่งที่ควรต้องอายเลย เพราะ การที่จะเปนลูกของพระเปนเจ้า และเปนน้องของพระเยซูนั้น
เปนสิ่งที่มี ราคามากกว่ายศถาบรรดาศักดิ์ของโลกนี้
กับการที่ได้เลื่อนขั้นขึ้นเปนคริสเตียน เปนเกียรติยศอันประเสริฐ ซึ่งเราควรจะหวังถึงอยู่เสมอ

และบรรดาพระเจ้าแผ่นดิน และพระเจ้าทั้งหลาย ทั่วไป ได้โปรดนามที่พระองค์เปนคริสเตียน ยิ่งกว่าเกียรติยศอย่างอื่นๆ มาก
การที่ได้ชี้แจงสั่งสอนดังนี้ พวกเราก็พยายามสอนให้คนไทยเข้าใจให้จงได้
และก็ดูเหมือนพระเปนเจ้า ได้บันดาลให้คนไทย ได้เข้าใจฝังใส่ใจ ไว้แล้ว
มีคนไทยคน ๑ ได้มาบอกกับ ข้าพเจ้าว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดพวกเข้ารีดมากกว่าพวกอื่น และ -



(หน้า ๘๑)

- คนไทนคนนี้ได้พูดต่อไปว่า "คนไทยต้องรักษาชาติตระกูลของตัว ไม่ควร จะไปได้สามีภรรยาต่างชาติต่างตระกูลของตัว
ถ้าคนเข้ารีด ไปได้สามีหรือภรรยาที่ไม่ได้เข้ารีดแล้ว ก็เท่ากับผู้นั้น ล้างตระกูลอันดีของตัว
จะเปนการร้ายยิ่งกว่า เอาแร่เหล็กกับเงินมาผสมกัน เสียอีก"

พวกเข้ารีดเก่า ๆ ของเรา ก็ดูดีขึ้น ได้มีผู้หญิงสาวคน ๑ ซึ่งขุนนางไทย อันมีทรัพย์มากคน ๑ ได้มาขอเปนภรรยา
หญิงผู้นี้จึงได้ตอบว่า "เกียรติยศของคนเข้ารีดสูงกว่าเกียรติยศของขุนนางผู้นี้มากนัก ถึงจะเอาเงินทองทรัพย์สมบัติมาให้สักเท่าไร
ก็ไม่ยอม เอาเกียรติยศคริศเตียนเข้าแลกเปนอันขาด
และยอมได้สามีที่เปนคริศเตียน อันยากจนดีกว่า ที่จะเปน มเหษีของพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ได้ถือสาสนาคริศเตียน"

ว่าด้วยพระเจ้าตากเสด็จมาเยี่ยมพวกบาดหลวง 

เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคมปีนี้ (๒๓๑๓)
พระเจ้ากรุงสยาม ได้เสด็จมาเยี่ยม ข้าพเจ้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งเปนการไม่เคยมีตัวอย่างมา(ก่อน)เลย
พวกขุนนางผู้ใหญ่ ก็ไม่กล้าจะมาสนทนากับ สังฆราช ที่บ้านบาดหลวง
พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จมาในครั้งนี้ ได้ทอดพระเนตร์เห็นว่า ที่ของเราคับแคบมาก จึงมีรับสั่งให้รื้อศาลาซึ่งอยู่ในที่ของเราลงหลัง ๑
และรับสั่งให้ขุดคูเอาดินขึ้นถมที่ และให้ก่อผนังโบสถ์ซึ่งเปิดอยู่ทุกด้าน
แล้วได้รับสั่งสรรเสริญ ชมเชย พวกเข้ารีดเปนอันมาก คือรับสั่งว่า
"พวกเข้ารีด ลักขะโมยปล้น -


๑๑



(หน้า ๘๒)

- สดมภ์ไม่เปน และเปนคนที่ซื่อสัตย์และกล้าหาญดี ทั้งสาสนาคริศเตียน ก็เปนสาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนี้"

แล้วพระเจ้ากรุงสยามจึงได้รับสั่งถามข้าพเจ้าว่า
เหตุใด เราจึงยอมให้ฆ่าสัตว์

ข้าพเจ้าจึงได้กราบทูลตอบว่า
พระเยซูเจ้าผู้เปนนายของสิ่งทั้งปวง ได้ สร้างสัตว์ไว้สำหรับให้เปนประโยชน์แก่มนุษย์ อันนี้เปนสิ่งที่เชื่อกันทุกประเทศ เพราะฉนั้นจะผิดไม่ได้

เมื่อข้าพเจ้าได้กราบทูลมา ถึงเพียงนี้ ได้สังเกตว่า ยังไม่ทรงเบื่อที่จะฟังต่อไป ข้าพเจ้าจึงกราบทูลต่อไปอีกว่า
ถ้าไม่ยอมให้ฆ่าสัตว์แล้วไม่ช้าโลกเรานี้ก็จะไม่มีมนุษย์อยู่ เพราะเหตุว่า สัตว์กวางก็คงจะมารับประทานหญ้าและพันธุ์เข้าเสียหมด
ทำให้มนุษย์อดอาหารตาย ปลาก็จะตายตาม ลำน้ำลำคลอง ทำให้น้ำและอากาศเหม็นโสโครก เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นดังนี้

ในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้กราบทูลอยู่นั้น ทรงพลิกหนังสือทอดพระเนตร์อยู่ แล้วจึงรับสั่งว่า
"สาสนาคริศเตียนจะไม่ดีอย่างไรได้ อะไรของเขาดีไปหมด จนกระดาษที่เขาใช้ก็ดี "

ข้าพเจ้าจำได้ว่า แต่ก่อนได้เคยอ่านในพงศาวดาร ซึ่งเกี่ยวด้วยคณะบาดหลวงแห่ง ๑ ว่า
เมื่อครั้ง ต้นมะเดื่อใหญ่ อันเปนต้นไม้ซึ่งชาวกรุงโรมนับถือกันนักได้ล้มลงนั้น พวกบาดหลวง
ได้ถือว่าเปนลางอันดีสำหรับ การสาสนาของเราจะได้เจริญต่อไป

ว่าด้วยพระเจ้าตากทรงดำริห์จะซ่อมพระพุทธบาท

ก็ในเมืองไทย นี้มีที่อยู่แห่ง ๑ ซึ่งคนไทยนับถือกันนัก คือ เปนแห่งซึ่งไทยกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับจนรอยพระบาทได้ติดอยู่ในที่นั้น -



(หน้า ๘๓)

- บัดนี้รอยพระบาทได้ทำลายพังลงมาแล้ว
พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ได้ตั้งพระไทยที่จะไปปฎิสังขรณ์ถึง ๓ ครั้ง แต่ก็คงจะเกิดเรื่องขึ้น ซึ่งจะทำให้เสด็จไปไม่ได้ทุกคราว
ซึ่งทำให้ พระมารดาของพระองค์ เสียพระทัยนัก เพราะท่านพระมารดา ถือลางต่าง ๆ มาก
พวกโหร ได้ทำนายถวายว่า
ในเดือนพฤษภาคมอาหารการกิน จะมีราคาถูกลงมาก ครั้นถึงเดือน พฤษภาคมจริง อาหารการกินกลับมีราคาแพงขึ้นอีก
พระเจ้ากรุงสยามทรงมีพระราชประสงค์ จะหาวันดีสำหรับ พิธีเกศากันต์พระราชโอรส โหรได้ถวายฤกษ์ว่าวันที่ ๑๕ เมษายนเปนวันดี
แต่ในวันที่ ๑๕ เมษายน ที่โหรว่าเปนวันดีนั้น ฉเพาะเกิดเพลิงไหม้อย่างใหญ่ ซึ่งทำให้พวกจีนต้องฉิบหายเกือบหมดตัว

และยังมีการอื่นอีกหลายอย่าง ซึ่งพวกโหรได้ทำนายไว้แต่ก็ล้วนแต่ไม่จริงทั้งนั้น
พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงเห็นความเหลวไหลของพวกโหรแล้ว และพวกราษฏรพลเมือง ก็พากันล้อมพวกโหร ทั้งหมด
ถ้าข้าพเจ้าจะอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ชนิดนี้โดยละเอียดแล้ว ก็จะไม่รู้จักสิ้นสุดเลย

และการเหล่านี้ก็จะเห็นได้ว่าพระเยซูได้บันดาลให้เปนเช่นนี้ เพื่อเปิดตาคนตาบอดให้สว่างขึ้น
และพวกเรา ก็คอยจับเหตุเหล่านี้ สำหรับให้เปนประโยชน์แก่สาสนาของเราอยู่เสมอ

ว่าด้วยไทยชอบทรงเจ้า

ยังมีคนเข้ารีดของเราคน ๑ ได้เอาของไปเที่ยวขายตามบ้านต่าง ๆ ครั้นเอาของไปเร่ขายในหมู่บ้านแห่ง ๑
ได้เห็นผู้คนมุงกันแน่น
คนเข้ารีดของเรา จึงได้เดิรไปดู บ้างก็เห็นคนๆ ๑ ว่า -



(หน้า ๘๔)

- เปนหมอดู ทำท่า จะกระโดดโลดเต้น เพื่อจะถามความจากเจ้า ที่จะเข้าทรง
คนเข้ารีด ของเราเคยได้ยินพูดบ่อย ๆ ถึงเรื่องหมอดูว่าดูได้แม่นยำอย่างประหลาด จึงเห็นว่าเปนโอกาศ อันดีจึงแอบเข้าไปดูบ้าง
เพื่อจะได้เห็นเท็จและจริงด้วยตาของตัวเอง แต่หมอดูคนนั้น จะกระโดดโลดเต้นสักเท่าไร เจ้าที่จะเข้าทรงก็หาเข้าไม่
จะมัวนอนหลับ หรือจะไปเที่ยวเสียแล้วก็ไม่ทราบ

คนทรงจึงร้องขึ้นว่า คงจะมีคนเข้ารีดอยู่ในที่นั่นคน ๑ เจ้ากลัวจึงไม่เข้าทรง พวกที่ดูอยู่นั้นก็เที่ยว ค้นก็มาพบคนเข้ารีดของเรา
เขาจึงเชิญคนเข้ารีดไปเสียให้พ้นจากที่นั่น คนเข้ารีดก็ต้องไปโดยไม่ได้ดูทรงเจ้าดังที่ปราถนาไว้
แต่ในเรื่องนี้ก็มีดีอยู่บ้าง เพราะผู้คนที่ดูทรงเจ้าเปนอันมากนั้น ต่างคนต่างประหลาดใจว่า คนเข้ารีดมีอำนาจมากมาย จนถึงกับเจ้ากลัว
ดังนี้

..........................


จดหมายมองซิเออร์คอร์ ว่าด้วยพรเจ้าตากตีเมืองคันเคา

จดหมายมองซิเออร์คอร์
ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๖ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๗๒ (พ.ศ. ๒๓๑๔)

ข้าพเจ้ายังรอให้มองเซนเยอร์เลอบองมาถึงเพื่อจะได้ไปยังเมือง ภูเก็จ ด้วยพวกไทยที่เมืองถลางได้เชิญให้ข้าพเจ้าไปเมืองถลาง หลายครั้งแล้ว ชาวถลางเหล่านี้เปนชาวประโมง ขอพระเปน เจ้าได้โปรดให้พวกนี้ได้นำทางในการสาสนาในประเทศนี้ เถิด อีกประการ ๑ ได้มีคนเข้ารีด ๒ คน มากับเจ้าเมืองภูเก็จก็ได้มาชักชวนให้



(หน้า ๘๕)

ข้าพเจ้าไปหาพวกเข้ารีดที่เมืองภูเก็จด้วย คนเข้ารีดทั้งสองนี้ได้มาแสดงตัวว่าเขาขึ้นอยู่ในความปกครองของพวกบาดหลวง และว่าพวกชาวเมืองภูเก็จจะมีความยินดีที่จะได้ฟังการสอนสาสนาเปนภาษาไทย ถ้าการที่ได้วุ่นวายมาแล้วได้สงบเรียบร้อยเมื่อไร ข้าพเจ้าจะมีความ ยินดีไปลองสอนสาสนาที่เมืองภูเก็จเปนอันมาก เมื่อวันที่ ๓ เดือนพฤศจิกายน ปีกลายนี้ (๒๓๑๔) พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จยกทัพไปรบกับเจ้าเมืองคันเคา ทัพไทยและทัพญวน ได้สู้รบกันสามวัน ทัพไทยก็ได้เข้าไปยึดเมืองค้นเคาได้ ไทยได้ ฆ่าญวนเสียหมดสิ้น เว้นแต่พวกเข้ารีดมิได้ถูกฆ่า เพราะพวกนี้ ได้เข้าไปแอบอยู่ในวัดเข้ารีด ไทยได้ฆ่าผู้คนทำลายบ้านเรือน ทั่วไปหมด พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ ทหารเข้าปล้นบ้านเมืองมีกำหนด ๓ วัน และพระเจ้ากรุงสยามจึง ได้เก็บริบทรัพย์สมบัติในเมืองนั้นทั้งหมด สิ่งใดที่จะเอาไปไม่ได้ก็ได้ รับสั่งที่จะเอาไฟเผาและทำลายเสีย แต่เพอิญผู้ที่จะเอาไฟไปเผา บ้านเรือนนั้นได้ตายในไฟนั้นเอง ไฟได้ไหม้บ้านเมืองแต่แถบ เดียวเท่านั้นหาได้ไหม้ทั้งหมดไม่ ฝ่ายเจ้าเมืองกับบุตรนั้นหนีไป ได้ คน ๑ หนีทางบก คน ๑ หนีทางน้ำ ภายหลังเจ้าเมืองคัน เคาได้มีจดหมายมากราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม ขอพระราชทานพระ ราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่บ้านเมืองอย่างเดิม พระเจ้ากรุงสยามก็ โปรดพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าเมืองคันเคาได้กลับเข้ามา -



(หน้า ๘๖)

- อยู่ตามเดิม พวกไทยได้พาพวกญวนเข้ารีดซึ่งอยู่ในเมืองคันเคา มาด้วยรวม ๔๖ คน ล้นแต่เปนคนแก่ชราทั้งนั้น พวกเข้ารีด ๔๖ คนได้มาถึงเมืองไทยโดยอดอยากเหนื่อยล้าด้วยกันทุกคน แต่ พวกเข้ารีดของเราก็หมดหนทางที่จะช่วยเหลือได้ และตัวข้าพเจ้า เองก็ยากจนยิ่งกว่าพวกนี้เสียอีก สามเณรมาแตง เปนพวกนักพรตคณะแซงฟรังซัว และเปนคนชาติเมืองสะเปนได้มากับพวกเข้ารีด ๔๖ คนนี้ด้วย สามเณรมาแตง คนนี้จะทำให้ข้าพเจ้าได้รับความลำบากเปนอันมาก แต่จะลำบากอย่างไรนั้นมองซิเออร์บัวเรต์คงจะได้เล่าให้ท่านฟังต่อไป สารเณร มาแตงคิดจะมาตั้งคณะอยู่ในเมืองนี้ และคิกจะพาพวกบาดหลวงคณะฟรังซิซแก็งมาจากมนิลาด้วย บางทีความคิดของเขาจะสำเร็จ ได้ เพราะพระเจ้ากรุงสยามก็ทรงเห็นชอบกับความคิดของเขา ขอ พระเปนเจ้าได้โปรดจัดการให้ความคิดอันนี้ได้เปนเกียรติยศต่อ พระองค์เถิด สามเเณรมาแตงกำลังคิดจะตั้งโรงพยาบาลให้สำเร็จ ก่อนมองเซนเยอเลอบองมาถึง พวกเข้ารีดในเมืองจันทบุรี ได้หนีไปหมดแล้วไม่ทราบว่าไปไหน พวกเข้ารีดของเราได้นำกระดูกของมองซเออร์อาโตมาที่นี่แล้ว



(หน้า ๘๗)

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบองเรื่องให้ส่งมัชชันนารีเข้า ไปกรุงสยาม

การปฎิบัติของสังฆราชเลอบอง
เรื่องสังฆราชและมิชชันนารีถูกจำคุก
มองเซนเยอเลอบองมาถถึงกรุงสยาม
การต้อนรับของพระเจ้ากรุงสยาม


จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เมืองปอนดีเชรี วันที่ ๑๓ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๗๐ (พ.ศ. ๒๓๑๓)

ตามที่ได้ข่าวมาจากมองซิเออร์กอร์ในเรื่องเมืองไทยนั้น จึงทำให้ข้าพเจ้าตั้งใจจะไปเมืองไทยโดยเร็วอีกประมาณ ๑๕ วัน
ข้าพเจ้าจะได้ลงเรือแขกมัว ซึ่งจะไปยังบางกอก ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านส่งมิชชันนารีไปให้ข้าพเจ้าสักสองสามคน
เพื่อจะไปจัดการสาสนาในประเทศสยามและจัดคณะบาดหลวงในที่ต่าง ๆ ต่อไป
ข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านคงจะเปนธุระในเรื่องนี้ เพราะคณะบาดหลวงนี้ถือว่าท่านเปนหัวหน้าอยู่เสมอ


จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยเดิรทางมาสยาม

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง9
ถึงบาดหลวงโชเวอแลง
เขียนกลางทะเล ระหว่างทางไปเกาะมะลากา วันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๐ (พ.ศ. ๒๓๑๓)


(หน้า ๘๘)

ตามข่าวเมืองไทยที่ได้ทราบมาที่เมืองปอนดีเชรีนั้น ข้าพเจ้า ได้ทราบว่าเมืองไทยค่อยเรียบร้อยลงรอยเดิมเข้าบ้างแล้ว และว่ามิชชัน นารีของเราคน ๑ กลับไปเมืองไทยจากเมืองเขมรนั้น ไทยก็ได้ต้อนรับดีข้าพเจ้าจึงตั้งใจจะไปยังเมืองไทยเหมือนกัน มองซิเออร์ลอเจ้าเมืองปอนดีเชรี ได้มอบหนังสือให้ข้าพเจ้าฉบับ ๑ กับของต่าง ๆ มาจากประเทศยุโรป สำหรับไปถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ใหม่ ในนามของประเทศฝรั่งเศส เพื่อเปนทางสำหรับจะได้ต่อพระราช ไมตรีได้มีมาแต่ก่อนในระหว่างประเทศทั้ง ๒ นั้นด้วย เพราะฉนั้นข้าพเจ้าเท่ากับได้รับตำแหน่งเปนราชทูตเหมือนกัน เมื่อวันที่ ๗ เอนมิถุยายน ข้าพเจ้าได้ออกเรือจากเมืองปอนดี เชรีจะไปเมืองมัทราส ซึ่งเปนเมืองท่าสำคัญของอังกฤษในทวีปอินเดีย เมื่อวันที่ ๑๐ ข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองมัทราส ท่านเจ้าเมืองอังกฤษได้แสดงไมตรีอันดีโดยส่งเรือให้ไปรับข้าพเจ้าขึ้นบก และได้เชื้อเชิญ ให้ข้าพเจ้าไปพักในเมือง ข้าพเจ้าได้ขอโทษในการที่จะไปตามคำ เชิญของเจ้าเมืองไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าได้รับปากว่าจะไปพักที่บ้านสังฆราชปอตุเกตเสียแล้ว และในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้พักอยู่ที่เมือง มัทราส ๑๐ วัน ท่านสังฆราชปอตุเกตก็ได้เอื้อเฟื้อแก่ข้าพเจ้าทุกอย่าง เมื่อวันที่ ๒๐ ข้าพเจ้าได้ลงเรือมาจากมาเก๊าลำ ๑ เรือลำนี้จะเดิรทางเกาะมะลากา เมื่อถึงเกาะมะลากาแล้วข้าพเจ้าต้อง ถ่ายเรือสำหรับไปยังเมืองไทยต่อไป



(หน้า ๘๙)

เรือได้ตกค้างอยู่ในช่องมะลากา ๑๕ วัน เพราะเหตุว่าลมไม่ พัดมาเลย


จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยเข้าเฝ้าพระเจ้าตาก และถวายของ

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เมืองไทยวันที่ ๑ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๗๒ (พ.ศ. ๒๓๑๕)

ข้าพเจ้าได้มาถึงเมืองไทยตั้งแต่วันที่ ๒๒ เดือนพฤษภาคม ปีกลายนี้ พร้อมกับมองซิเออร์กาโนต์ มองซิเออร์คอร์ ซึ่งเปนมิชชันนารีหนีไปอยู่เมืองเขมร เมื่อครั้งไทยรบกับพม่าเมื่อปี ๑๗๖๔ (พ.ศ. ๒๓๐๘) นั้น
ได้กลับเข้ามาอยู่ในเมืองไทยกว่า ๒ ปีมาแล้ว มองซิเออร์คอร์ ได้นำเรือไปรับเราที่สันดอน ๒ ลำ และได้พาเราขึ้นไปยังบางกอก
ซึ่งเปนเมืองที่เจ้าตากได้ไปสร้างเปนราชธานีขึ้นใหม่

จดหมายของมองซิเออร์ลอ เจ้าเมืองปอนดีเชรีกับของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ข้าพเจ้าได้รับมาสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดินนั้น ได้ส่งไป ไว้ที่เจ้าพระยาพระคลังผู้เปนเสนาบดีว่าการต่างประเทศ
ครั้นเมื่อวันที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม ก็ได้มีพระราชโองการให้เราไปเฝ้า
ของถวายนั้นเจ้าพนักงาร ได้เอาไปกองไว้ที่ท้องพระโรงข้างพระโทรน พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งถามถึงมองซิเออร์ลอ
และได้โปรดพระราชทานหมากให้กับเรารับประทาน กับพระราชทานผ้าและ -


๑๒


(หน้า ๙๐)

เงินตามแบบธรรมเนียมของเมืองนี้แล้วจึงได้รับสั่งให้เสนาบดีเพิ่มที่ดิร ต่อกับ ที่ดิร(น)เดิม ซึ่งได้พระราชทานให้พวกเข้ารีดไว้แล้วนั้นด้วย
รุ่งขึ้นพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้คนมาถามเรา ว่าจะต้องให้เงิน แก่มองซิเออร์ลอค่าของที่เอามาถวายนั้นสักเท่าไร
เราจึงได้ตอบไปว่า การที่มองซิเออร์เลอได้ส่งของมาถวายนั้น มิได้คิดจะเอาราคา อย่างใดดอก

เปนแต่จะขอให้พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงพระกรุณาแก่สังฆราช มิชชันนารี และพวกเข้ารีดซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขต
และขอได้ทรงพระเมตตาแก่บรรดาเรือฝรั่งเศส ซึ่งจะไปค้าขายในเมืองไทยเท่านั้น

เมือ่เจ้าพนักงารได้นำคำตอบอันนี้ไปกราบทูลแล้ว จึงได้มีรับสั่งว่า
" ถ้าเช่นนั้น เราจะจัดเรือไปเมืองปอนดีเชรีบันทุกช้างไปให้มองซิเออร์ลอสัก ๕ ช้างก็ได้ "




ว่าด้วยพระเจ้าตากถึงลัทธิของคฤศเตียน

เมื่อวันที่ ๒ เดือนเมษายน ได้มีพระราชโองการให้เราไปเฝ้าอีก และในครั้งนี้ได้มีรับสั่งให้พระสงฆ์ที่สำคัญ ๆ กับพระเจ๊กไปเฝ้าด้วย
วันนั้นเปนวันรื่นเริงทั่วพระราชอาณาเขต เพราะเปนวันขึ้นปีใหม่ของไทย

พระเจ้าแผ่นดินกำลังสำราญพระทัย จึงได้ลงประทับกับเสื่อธรรมดาอย่างพวกเราเหมือนกัน
ในชั้นแรกได้รับสั่งถึงการต่าง ๆ หลายอย่าง แล้วจึงได้รับสั่งถามว่า การที่เราได้เปนบาดหลวงและ มีเมียไม่ได้ จะต้องเปนอยู่อย่างนี้ชั่วชีวิตหรืออย่างไร
เราจึงได้ทูลตอบว่า เมื่อเราได้อุทิศตัวให้แก่พระเปนเจ้าแล้ว ก็ต้องเปนอยู่เช่นนี้ชั่วชีวิต จะกลับกลายเปลี่ยนแปลงไม่ได้
จึงได้รับสั่งว่า -



(หน้า ๙๑)

- "เราตั้งใจว่าจะให้พระสงฆ์ของเราเปนเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉนั้น ต่อไปเมื่อพระสงฆ์ได้บวชแล้ว ห้ามมิให้สึกและห้ามมิให้มีเมีย "

พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงพระราชดำริห์ การอย่างดีสำหรับที่จะให้พลเมืองขอพระองค์เปนคนดี พระองค์ทรงถือพุทธสาสนา
และทรงเห็นชอบในสาสนาคริศเตียน แต่ข้อเดียว คือว่า ผู้ที่ได้ทำการในสาสนาแล้ว ไม่ควรจะมีภรรยา
และการที่ทรงบัญญัติเช่นนี้ก็หาได้ ทรงเกรงว่า อาณาประชาราษฎร ในพระราชอาณาเขตจะลดน้อยไปไม่

ในคราวนั้นพวกบาดหลวงเห็นเปนโอกาสอันเหมาะ จึงได้กราบทูลอธิบายถึงการสาสนาโดยยืดยาว
พระเจ้ากรุงสยามก็ตั้งพระทัยฟังจริง ๆ และทรงรับรองว่า ความจริงก็มีพระเปนเจ้าที่เปนใหญ่แต่พระองค์เดียวเท่านั้น
นอกนั้นก็เท่ากับเปนขุนนางรอง ๆ ลงมา

บางทีก็ทรงคัดค้านบ้าง เปนต้นว่ารับสั่งถามว่า "ถ้าพระเปนเจ้าไม่มีตัวตนแล้วจะพูดกับมนุษย์อย่างไรได้เล่า"
พวกเราก็ทูลอธิบายให้เข้าพระทัย ไม่ยากอย่างไร เพราะเราได้กราบทูลว่า "ผู้ที่ได้สร้างลิ้น หู และเสียงนั้น ถึงจะไม่มีตัวตนก็คงจะรู้จักหาทางที่ จะพูดกับมนุษย์ให้จงได้"

การที่บาดหลวงได้กราบทูลต่อพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้ เปนอันเชื่อได้แน่ว่า ตั้งแต่เกิดมาก็คงไม่มีใครได้ยินได้ฟังดังนี้เลย
บรรดาขุนนางข้าราชการที่เฝ้าอยู่ในที่นั้น ต่างคนประหลาดใจ ที่ได้เห็นบาดหลวงสอนสาสนาแก่พระเจ้าแผ่นดิน
ในเวลาเสด็จออกขุนนาง ทั้ง -



(หน้า ๙๒)

- อัศจรรย์ใจ ที่ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินโปรดฟัง และรับสั่งโต้ตอบกับบาดหลวงดังนี้
แล้วพระเจ้าตาก จึงหันพระองค์ไปทางที่พระสงฆ์เฝ้าอยู่ จึงรับสั่งว่า
"ตั้งแต่นี้จ่อไปเมื่อใครบวชแล้วจะสึกไม่ได้ และจะมีเมียไม่ได้เปนอันขาด"

และเพราะเหตุว่า พระเจ้าแผ่นดินเปนหัวหน้าของพุทธสาสนา จึงได้มีรับสั่งให้พระสงฆ์เรียนภาษาบาลีต่อไป
เพราะภาษาบาลีเปนภาษาที่พระสงฆ์ต้องใช้ ตรงกับของเราต้องใช้ภาษาลาตินเหมือนกัน
เพื่อพระสงฆ์จะได้อ่านหนังสือเข้าใจด้วยตัวเองได้ และได้รับสั่งว่า "นิทานต่าง ๆ ที่เคยเล่ากันมาให้ตัดออกเสียบ้าง เพราะนิทานเหล่านี้ล้วนแต่ไม่จริงทั้งนั้น"

เมื่อจวนจะเสด็จขึ้น ได้รับสั่งให้เสนาบดีจัดการต่อเรือยาวสำหรับพระราชทานเรา ๒ ลำ

ว่าด้วยพระนิสัยของเจ้าตาก

บรรดาคนทั้งหลายเรียก พระเจ้าตากว่า เปนพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองเรียกพระองค์เองว่า เปนแต่เพียงผู้รักษากรุง เท่านั้น
พระเจ้าตาก หาได้ทรงประพฤติเหมือน อย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อน ๆ ไม่
และในธรรมเนียมของเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตวันออก ที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วย กลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น
พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย

พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่า ถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์
และถ้าจะทรงมีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงอย่างใด
เพราะพระองค์มีพระประสงค์จะทอดพระเนตร์การทั้งปวงด้วยพระเนตร์ของพระองค์เอง
และจะทรงฟัง -



(หน้า ๙๓)

- การทั้งหลาย ด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น
พระองค์ทรงทนทานแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงกล้าหาญและพระปัญญาก็เฉียบแหลม มีพระนิสัยกล้าได้กล้าเสียและพระทัยเร็ว
ถ้าจะว่าก็เปนทหารอันกล้าหาญคน ๑ ตั้งแต่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้เสด็จยกทัพไปปราบเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองไทรบุรี
ก็มา ยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์แล้ว

เมือ่เร็ว ๆ นี้พระเจ้าตาก ได้เสด็จไปตีเมืองคันเคา และเมืองป่าสัก มาได้ และทางฝ่ายเขมร นั้นไม่มีใครคิดต่อสู้พระองค์เลย
ถ้าในระหว่างที่กำลังรบกันอยู่ พระเจ้าตากทรงเห็นนายทัพนากองคนใดถอยหลังแล้ว ก็เสด็จเข้าหานายทัพนายกองคนนั้นรับสั่งว่า
" เองกลัวดาบของข้าศึก แต่เองไม่กลัวคมดาบของข้าดอกหรือ"
แล้วก็ทรงเงื้อมพระแสงดาบฟันศีร์ษะ ฆ่านายทัพนายกองคนนั้นทันที

พระเจ้าตาก ทรงวางพระทัยในพวกเข้ารีดมาก ถ้าเสด็จทัพคราวใด ก็ต้องมีพวกเข้ารีดตามเสด็จไปด้วยเสมอทุกคราว
พวกเข้ารีด เปนพวกกล้าหาญ ของพระเจ้าตาก และพระเจ้าตากก็ทรงจัดไว้ ให้พวกเข้ารีดเปนทหารสำหรับรักษาพระองค์
ทั้งทรงโปรดยกเว้นไม่ให้พวกเข้ารีดต้องถูกเกณฑ์ไปทำการอย่างอื่นด้วย

ในเวลานี้พระเจ้าตากกำลังเตรียมการจะยกทัพไปอีก จะเสด็จไปทางไหนแน่ยังไม่ทราบกัน แต่เชื่อกันว่าคงจะเสด็จไปปราบทางเมืองเขมร
และเมืองญวน กับทรงเตรียมทัพอีกทัพ ๑ จะได้ไปตีพม่า ที่เมืองมะริด และให้ตีเมืองมะริด กลับคืนมาให้จงได้
ในระหว่าง -



(หน้า ๙๔)

- เวลาที่เปนระดูหนาวนั้น พระเจ้าตากทรงโปรดให้ตัดถอนหนทาง ซึ่งเปนการผิดแบบพระราชประเพณีของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก่อน ๆ
และโปรดให้สร้างป้อมขึ้นหลายป้อมด้วย เวลานี้ได้โปรดให้ยกกองทัพล่วงหน้า ไปคอยทัพหลวงในแดนเขมร
ทัพหน้านี้มีพล ๑๕,๐๐๐ คนหรือ ๒๐,๐๐๐ คน และได้โปรดให้ไถหว่านเข้า ให้ได้เข้าพอเลี้ยงกองทัพใน ๔ หรือ ๔ เดือน

นอกจากการที่เล่ามาข้างบนนี้ เราก็ยังหวั่นอยู่เสมอ ว่า น่ากลัวจะเกิดการจลาจลขึ้นอีก และบางทีจะถึงกับเกิดศึกภายนอกหรือภายในก็จะเปนได้

ป.ล. วันที่ ๒๒ มอถุนายน ถึงแม้ว่าพระเจ้าตากได้ทรงต้อนรับพวกเราอย่างดี ดังได้กล่าวมาข้างบนนี้แล้วนั้น
ถึงดังนั้น ข้าพเจ้าก็เกรงว่าจะต้องเกิดเรื่องขึ้น เพราะเหตุว่า ไทยถือว่าพวกเข้ารีดเปนคน ที่มีความรู้มากกว่าคนอื่น
พระเจ้าตากจึงโปรดเกณฑ์พวกนี้ไป ทำการต่าง ๆ มากกว่าเกณฑ์คนอื่น

และในการต่าง ๆ ที่เกณฑ์พวกเข้ารีดไปทำนั้น มีการที่เกี่ยวด้วยบำรุงพระพุทธสาสนาและ เกี่ยวด้วยพิธีของพระพุทธสาสนามาก
เพราะฉนั้นเมื่อพวกเข้ารีด ต้องถูกเกณฑ์ไปทำการที่เกี่ยวด้วยพระพุทธสาสนาแล้ว
ข้าพเจ้าจึงจำเปนต้อง ห้ามพวกเข้ารีดมิให้ไปทำการนั้น ๆ
เมื่อเร็ว ๆ นี้พวกเข้ารีด ถูกเกณฑ์ไปทำการ พวกเข้ารีดก็ มิได้รู้สึกว่าอย่างไร ก็ได้ลงมือทำการตามที่เขาสั่งให้ทำ
ข้าพเจ้าจึงได้เรียก พวกเข้ารีดเหล่า -



(หน้า ๙๕)

- นั้นให้กลับเสีย พวกเข้ารีดก็เลิกงารทันที ต่อหน้าเสนาบดี ซึ่งคุมงารอยู่ในที่นั้น
เจ้าพนักงารจึงได้ไปเรียนต่อ เสนาบดีว่า การที่พวกเข้ารีดได้เลิกงารไปนั้น ก็โดยคำสั่งของ สังฆราช

ข้าพเจ้า ไม่ทราบว่าการเรื่องนี้ จะมีผลอย่างไรต่อไป แต่จะอย่างไรก็ตาม ต้องเอาพระเปนเจ้าเปนใหญ่กว่าสิ่งอื่น
ชีวิตของเราก็ยอมสละถวายพระเจ้าแผ่นดินได้ แต่ต้องสละในสิ่งที่ ไม่เสียแก่สาสนาของเรา แต่ในสิ่งที่ขัดขวางแก่การของพระเปนเจ้าแล้ว
จะต้องยอมสละชีวิต ๑๐๐๐ ชีวิตดีกว่าที่จะไปช่วยในงารเช่นนั้น


ว่าด้วยพระเจ้าตากส่งกองทัพไปตีเมืองเขมร จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยความอัตคัดของ พวกเข้ารีด

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๓ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๗๕ (พ.ศ. ๒๓๑๘)

จนถึงเวลาเดี๋ยวนี้ อาหารการกินในเมืองนี้ยังแพงมาก เพราะบ้านเมืองไม่ได้เปนอันทำมาหากินมา ๑๕ ปีแล้ว เพราะเหตุว่ามีสงครามไม่หยุดเลย และในเวลานี้ก็ยังหาสงบทีเดียวไม่ เงิน ๒๐๐ เหรียญในทุกวันนี้มีราคาไม่เท่ากับเงิน ๕๐ เหรียญ เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้วซึ่งเปนเวลาที่เราได้ แรกมาตั้งคณะบาดหลวงในเมืองนี้ พวกเข้ารีดก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเราเลย เรากลับต้องเลี้ยงดูพวก เข้ารีดบางคนเสียอีก เวลานี้เราต้องเลี้ยงคนถึง ๒๐ คนทุกวันเรา ได้ตั้งต้นจัดโรงเรียนเล็ก ๆ ขึ้นแล้วมีนักเรียน ๕ หรือ ๖ คน และ



(หน้า ๙๖)

เราก็กำลังเรียกพวกบาดหลวงของเราที่ยังอยู่เมืองปอนดีเชรีให้กลับ มาแล้ว


จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยพม่าเข้าตี เมืองไทย

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง
ถึงมองเซนเยอร์บรีโกต์
วันที่ ๑๑ เดือน มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๕ (พ.ศ. ๒๓๑๘)

ข้าพเจ้าขอให้ท่านส่งมิชชันนารีมาให้อีกสัก ๒ คน เพื่อจะได้ จัดให้ไปอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้ เช่นเมืองเพ็ชรบุรี เมืองนคร- ศรีธรรมราช เมืองจันทบุรีเปนต้น เวลานี้ เมืองมะริดยังไม่ได้ เปนของเรา ในปีนี้ พวกพม่าได้เข้ามาตีไทยอีกแล้ว คราวนี้เข้ามาพร้อมกัน ๒ ด้านคือทางเหนือและทางตวันตก ไทยได้ออกไปต่อสู้มีไชยชนะ พวกพม่าได้ล้มตายไปประมาณ ๑๐๐ คน และไทยจับเปนเชลยได้ประมาณ ๒๐๐๐ คน พวกพม่าเชลยเหล่านี้ต้องจำตรวนและทำงารโยธาทุกคน พวกไทยยังล้อเลียนเราในเรื่องสาสนาอยู่เสมอ แต่ การทีเปนดังนี้ต้องโทษพวกเข้ารีดของเราเองมากกว่าพวกอื่น



(หน้า ๙๗)

ประกาศห้ามมิให้ ไทยและมอญเข้ารีดและถือสาสนามหะหมัด

ประกาศของไทยลงวันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม
ค.ศ. ๑๗๗๕ (พ.ศ. ๒๓๑๗)
ห้ามมิให้ไทยและมอญ เข้ารีดและนับถือสาสนามหะหมัด

มองเซนเยอร์เลอบองเปนผู้แปล

ด้วยพวก เข้ารีดแลพวกที่ถือสาสนามหะหมัด เปนคนที่อยู่นอกพระพุทธสาสนา
เปนคนที่ไม่มีกฎหมายและไม่ประพฤติตามพระพุทธวจนะ
ถ้าพวกไทยซึ่งเปนคนพื้นเมืองนี้ตั้งแต่กำเนิดไม่นับถือและไม่ประพฤติตามพระพุทธสาสนาถึงกับลืมชาติกำเนิดของตัว
ถ้าไทยไปประพฤติและปฏิบัติตามลัทธิของ พวกเข้ารีดและพวกมหะหมัด ก็จะตกอยู่ในฐานความผิดอย่างร้ายกาจ
เพราะฉนั้นเปนอันเห็นได้เที่ยงแท้ว่า
ถ้าคนจำพวกนี้ตายไป ก็ต้องตกนรกอเวจี ถ้าจะปล่อยให้พวกนี้ทำตามชอบใจ
ถ้าไม่เหนี่ยวรั้งไว้ ถ้าไม่ห้ามไว้แล้ว พวกนี้ ก็จะทำให้วุ่นขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว จนที่สุดพระพุทธสาสนาก็เสื่อมทรามลงไป

เพราะเหตุฉนี้ จึง ห้ามขาด มิให้ไทยและมอญ ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ ได้ไปเข้าพิธีของ พวกมหะหมัด หรือ พวกเข้ารีด

ถ้าผู้ใดมีใจดื้อแขง เจตนาไม่ดี มืดมัวไปด้วยกิเลสต่าง ๆ จะฝ่าฝืนต่อประกาศอันนี้
ขืนไปเข้าในพิธีของพวกมหะหมัดและพวกเข้ารีด แม้แต่อย่างใดอย่าง ๑ แล้ว
ให้เปนหน้าที่ของสังฆราช หรือ -


๑๓


(หน้า ๙๘)

- บาดหลวงมิชชันนารี หรือบุคคล ที่เปนคริศเตียนหรือมหะหมัด จะต้องคอย ห้ามปรามมิให้คนเหล่านั้น
ได้เข้าไปในพิธีของพวกคริศเตียนและพวกมหะหมัด

ให้เจ้าพนักงารจับกุมคนไทยและมอญที่ไปเข้าพิธีเข้ารีดและมหะหมัด ดังว่ามานี้ ส่งให้ผู้พิพากษาชำระ
และให้ผู้พิพากษาวางโทษถึงประหารชีวิต

ถ้าแม้สังฆราช ก็ดี มิชชันนารีคนใด ก็ดี หรือ คนเข้ารีดและพวกมหะหมัดคนใด ก็ดี ไม่เกรงกลัวต่อประกาศพระราชโองการนี้
ขืนชักชวน คนไทยหรือมอญ ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ ให้เข้าไปในพิธีของพวกเข้ารีตและพวกมะหะหมัด
แม้แต่พิธิใดๆ ก็ตาม

ก็ให้เจ้าพนักงารจับกุม สังฆราช หรือบาดหลวงมิชชันนารี หรือบุคคลที่เข้ารีดหรือเปนมหะหมัดนั้น ๆ ไว้
และให้วางโทษถึงประหารชีวิต
ให้เจ้าพนักงารจับกุมคนไทยหรือมอญ ซึ่งได้ไปเข้าพิธีของพวกเข้ารีตและพวกมหะหมัดนั้น วางโทษถึงประหารชีวิตเหมือนกัน

ประกาศพระราชโองการนี้ได้ส่งให้ไว้แก่ล่าม
เพื่อให้ไปปฏิบัติตามพระราชโองการนี้จงทุกประการ


ประกาศมาณวันอาทิตย์
ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๑๑ ปีมะเมีย ฉศก
(ตรงกับวันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๗๕ พ.ศ. ๒๓๑๗)
.......................


จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยต้นเหตุที่จะ ประกาศ(พระราชโองการ)

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๖ เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๗๕ (พ.ศ. ๒๓๑๗)

ต้นเหตุที่จะเกิดมีประกาศพระราชโองการห้ามการเข้ารีดกับเข้า



(หน้า ๙๙)

สาสนามหะหมัดนั้น ก็คือ
เมื่อสองสามวันที่ล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินได้รับสั่งให้พระสงฆ์ไทย บาดหลวงมิชชันนารีฝรั่งเศสกับพวกมหะหมัด
มาโตเถียงกันถึงเรื่อง สาสนา
ฝ่ายไทย ถือว่าการฆ่าสัตว์นั้นบาป พวกเข้ารีดและพวกมหะหมัดเถียงว่า การฆ่าสัตว์ไม่บาป
ในเวลาที่โต้เถียงกันอยู่นั้น พระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จมาประทับ เปนประธานและทรงรับสั่งโต้เถียงด้วยเหมือนกัน

ครั้นทรงฟังความเห็นของ พวกเข้ารีดและพวกมหะหมัดว่า การฆ่าสัตว์ไม่บาปนั้น ก็ไม่พอพระทัย
พอรุ่งขึ้นก็ได้ออกประกาศพระราชโองการนี้ทีเดียว

เมื่อเขาได้เอาประกาศมาให้เรา กูเรา ก็ได้ตอบว่า สาสนาของเราคือ สาสนาของพระเปนเจ้าที่แท้จริง บังคับให้เราทำทุกอย่างไม่ว่าในเมืองใด
ที่จะรับคนเข้ารีดแปลงว่า เราจะต้องสอนให้มุนษย์ทั่วไป รู้จักพระเปนเจ้าที่จริง เพื่อให้มนุษย์ได้รับความสุขชั่วกาลนปาวสาน
และการที่เราได้มาในเมืองไทยก็เพราะมีเจตนาจะทำเช่นนี้ เพราะฉนั้น เราจะยอมตายดีกว่าที่จะละโอกาศทำการตามหน้าที่สำคัญของเราเช่นนี้

การเรื่องนี้ก็เปนอันยุติกันเพียงนี้เอง เพราะในเวลานี้พวกพม่าข้าศึกได้ยกทัพเข้ามาถึงชายแดนพระราชอาณาเขตแล้ว
และไทย ก็ไม่ได้คิดการอย่างอื่น นอกจากจะไปต่อสู้พวกข้าศึก
และพระเจ้ากรุงสยาม ก็ยังเสด็จกทัพไปสู้ข้าศึก อยู่จนทุกวันนี้
ที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๗๕ (พ.ศ. ๒๓๑๗) ก็ยังหาเสด็จกลับมาไม่

.....................


(หน้า ๑๐๐)

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยสังฆราชห้ามมิให้ พวกเข้ารีดถือน้ำตามพิธีไทย

มองเซนเยอร์เลอบอง
ค.ศ. ๑๗๗๖ - ๑๗๘๐ (พ.ศ. ๒๓๑๙ - ๒๓๒๓)
พวกมิชชันนารีถูกไล่ออกจกาเมืองไทย

ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)
เรื่องพวกเข้ารีดถูกกดขี่
ขุนนางที่เข้ารีดถูกจำคุก


จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง
ถึงน้องและพี่สาว
วันที่ ๒๑ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๗๖ (พ.ศ. ๒๓๑๙)

พวกมิชชันนารีซึ่งอยู่ในเมืองไทยได้สอนพวกเข้ารีดถึงความบริสุทธิ์ของสาสนาคริศเตียน ซึ่งจะเอาการอย่างอื่นเช่นการกราบไหว้ ตกตาเข้ามาปนไม่ได้เปนอันขาด และได้ชี้เแจงโดยฉเพาะถึงการที่ ตนจะต้องกระทำสาบาลที่จะมีความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้น ว่าพวกเข้ารีดจะไปทำพิธีซึ่งเปนประเพณีของไทย เช่นไปวัดและดื่มน้ำซึ่งพราหมณ์และพระสงฆ์ไดทำพิธีแช่งไว้และซึ่งเอาเครื่องอาวุธ -



(หน้า ๑๐๑)

- ของพระเจ้าแผ่นดินลงจุ่มตามแบบของไทยไม่ได้ (๑)

ว่าด้วยสังฆราชและพวกมิชชันนารีต้องจำคุก

ครั้นถึงเดือนกันยายนซึ่งเปนเวลาที่จะต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาคนเข้ารีดสามคนซึ่งเปนข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน หาได้ไปยัง วัดสำหรับถือน้ำหรือไปเข้าในพิธีของพราหมณ์และของพระสงฆ์ และ หาได้ไปดื่มน้ำที่เข้าพิธีไม่ แต่ข้าราชการเข้ารีดทั้งสามคนนี้ได้ไป ยังวัดเข้ารีดในตอนเช้า ไปยืนอยู่หน้าที่บูชาพระ และได้สาบาลตัว ว่าจะมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน การสาบาลตัว คราวนี้ ข้าราชการทั้งสามคนได้สาบาลตัวเปนภาษาไทยแต่ทำ อย่างแบบของคนเข้ารีดและได้มีพวกเข้ารีดยืนดูเปนอันมาก และ ท่านสังฆราชก็กำกับอยู่ด้วย ครั้นความเรื่องนี้ทรงทราบไปถึงพระ เจ้ากรุงสยาม ก็ได้มีรับสั่งให้จับข้าราชการทั้งสามนี้และให้จำคุก .......................

(๑) ธรรมเนียมนี้เปนธรรมเนียมอันเก่าแก่ในเมืองไทย ซึ่งถือกันว่าเท่ากับเปนกฎหมายอย่าง ๑ คือ
การถือน้ำพิพัฒน์สัตยาการที่จะสาบาลตัวว่าจะมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่เปนการผิดต่อสาสนาของเราอย่างใด
แต่วิธีที่สาบาลกันนั้นขัดอยู่บ้าง พิธีถือน้ำของไทยนั้นทำดังนี้

เมื่อถึงวันกำหนดถือนา พวกขุนนางข้าราชการทั้งปวง ต้องไปพร้อมกันยังวัดซึ่งเต็มไปด้วยพระพุทธรูป แล้วมีพระสงฆ์ไปที่วัดนั้น
สวดมนต์ทำพิธีน้ำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์แล้วเจ้าพนักงาร จึงเชิญพระแสงดาบและราชศัตราวุธของพระเจ้าแผ่นดิน
จุ่มลงในน้ำนั้น ครั้นเอาพระแสงลงจุ่มแล้ว บรรดาขุนนาง ข้าราชการก็เรียกพระพุทธรูปและเทวดาต่าง ๆ ให้มาเปนพยาน
แล้วจึงดื่มน้ำที่ทำพิธีไว้แล้วนั้น เพราะน้ำนี้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระสงฆ์ได้สวดมนต์
และใครคิดขบถทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อดื่มน้ำอันศักดิ์สิทธิ์นี้แล้ว ก็จะต้องตาย
บางทีมีบางคนไม่ได้ดื่มน้ำนี้ ก็มี แต่ถือกันว่าดื่มแล้ว เจ้าพนักงาร ก็จดชื่อว่า ผู้นั้นได้ดื่มน้ำแล้วก็เปนอันหมดเรื่องกัน



(หน้า ๑๐๒)

เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนกันยายน เมื่อข้าราชการทั้งสามต้องจำคุกแล้ว ได้สัก ๒ วัน ท่านสังฆราชกับมิชชันนารี ๒ คน คือ มองซิเออร์กาโนต์ กับมองซิเออร์คูเด ก็ได้เข้าไปเยี่ยมในคุก เมื่อวันที่ ๒๔ เดือน กันยายน ท่านสังฆราชได้นั่งสนทนาอยู่กับข้าราชการที่เปนนักโทษ จึงได้พูดขึ้นว่า สังเกตดูเหตุผลต่าง ๆ ไม่ช้าสังฆราชก็คงจะต้องมา ติดคุกกับนักโทษทั้ง ๓ นี้เปนป่น การที่สังฆราชทำนายไว้เช่นนี้ ไม่ช้าก็ได้เปนจริงดังทำนาย

สังฆราชเลอบองกับมิชชันนารี สองคนต้องจำคุก

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ เดือนกันยายน เจ้าพนักงารได้มาจับสังฆราชกับบาดหลวง ๒ คนและได้คุมตัวไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสยาม ข้าชการเข้า รีด ๓ คนที่เปนนักโทษนั้น ก็ได้ถูกคุมไปเฝ้าอยู่ในที่นั้นเหมือนกัน พระเจ้าแผ่นดินทรงพระพิโรธมาก ได้รับสั่งด้วยพระสุรเสียงอย่างดัง สัก ๒-๓ องค์ จึงมีรับสั่งให้ลงพระอาญาแก่พวกเรา ในทันใดนั้น มีเจ้าพนักงาร ๒ คนถือเชือกและมัดหวาย ได้มาจับพวกเราทั้ง ๖ คน แล้วถอดเสื้อยาวเสื้อชั้นในและเสื้อเชิ๊ดออกจากตัว เหลือแต่ตัวเปล่า ๆ จึงได้เอาเราไปมัดมือมัดเท้าไว้ในระหว่างหลัก ๒ หลัก เจ้าพนักงาร ได้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนข้าราชการเข้ารีดด้วยหวายคนละ ๕๐ ที วิธี ที่เฆี่ยนนั้น เจ้าพนักงารยืนข้างผู้ที่จะถูกเฆี่ยนข้างละคน แล้วต่าง



(หน้า ๑๐๓)

คนต่างผลัดกันเฆี่ยนข้างละที ส่งนสังฆราชกับบาดหลวง ๒ คนนั้น รอดไปได้ในวันนั้น เพียงแต่ได้รับความตกใจและต้องเข้าผูกมัด ในหลักคาเท่านั้น วิธีที่เจ้าพนักงารได้เอาเราเข้าผูกกับหลักคานั้น ก็คือ ผูก พวกเราทั้ง ๖ คนเรียงเปนแถวเดียว หันหลังตรงกับที่ประทับหลัก ที่ผูกมักเรานั้นก็เปนคาในตัว เพราะต้องเอาศีร์ษะลอดเข้าไปในหลัก นั้นจนหันตัวไปข้างไหนก็ไม่ได้ คือผู้ที่ต้องเข้าหลักเข้าคานั้นจะหัน หรือเหลียวไปดูเพื่อนที่ถูกเฆี่ยนด้วยกันไม่ได้ แต่การที่เราต้อง ถูกมัดเข้าหลักเข้าคานั้น ก็หาได้มีใครบอกว่าเราจะถูกเพียง ต้องเปลื้องเสื้อออกและต้องเข้าหลักคาจะไม่ต้องถูกเฆี่ยน แต่จะเฆี่ยน ฉเพาะขุนนางเข้ารีด ๓ คนเท่านั้น เพราะฉนั้นเมื่อข้าพเจ้าได้ยินเสียงหวายและได้ยินเสียงร้องของผู้ถูกเฆี่ยน ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าพวกเรา ทั้ง ๖ คนคงถูกเฆี่ยนพร้อมกัน แต่ข้าพเจ้าก็มิได้รู้สึกหวายลง หลังสักทีเดียว จึงต้องสาระภาพให้ท่านฟังว่าในชั้นแรก ข้าพเจ้า ไปมุ่งหมายว่าพระเปนเจ้าได้ทำเหตุอัศจรรย์ให้เห็น โดยทำไม่ให้ข้าพเจ้ารู้สึกความเจ็บปวดอย่างใด แล้วภายหลังข้าพเจ้ามานึกว่า หรือพระเจ้าแผ่นดินจะรับสั่งให้งดลงพระราชอาญาฉเพาะข้าพเจ้าเปนพิเศษโดยจะทรงเห็นแก่ตำแหน่งและอายุมากของข้าพเจ้ากระมัง ส่วนอีก ๕ คน ก็คงจะถูก ลงพระราชอาญาพร้อมกันเปนแน่ จนที่สุด เมื่อเจ้าพนักงารได้แก้เราออกจากหลักจากคาและได้พาไปยังคุกนั้น



(หน้า ๑๐๔)

ข้าพเจ้าก็ร้องไห้บ่นเสียใจ ที่พระเจ้าแผ่นดินนได้ทรงยกเว้นไม่ลงพระราชอาญาแก่ข้าพเจ้าเปนพิเศษและพูดดังว่า ๆ "ถ้าในเรื่องนี้มีความ ผิดแล้ว เราก็มีความผิดเท่า ๆ กัน ตัวข้าพเจ้าเองก็เปนหัวหน้า ของคนผิด เพราะฉะนั้นจะไปเฆี่ยนคนอื่นและยกเว้นข้าพเจ้าเพราะ เหตุใด" ครั้นเข้าไปถึงคุกแล้วข้าพเจ้าจึงได้ทราบความจริง ว่า บาดหลวงสองคนก็ไม่ได้ถูกลงำพระราชอาญาเหมือนกับข้าพเจ้าต่อ นั้นไปในวันแรกก็ดี วันรุ่งขึ้นก็ดี ซึ่งเจ้าพนักงารได้จับเรา.ไปมัดกับ หลักคาเปนครั้งที่ ๒ และคราวนี้ได้เฆี่ยนข้าพเจ้าจริง ๆ พอข้าพเจ้า รู้สึกว่าเจ้าพนักงารมาเอาตัวไปเฆี่ยน ข้าพเจ้าก็หมดสติทีเดียว


ว่าด้วยสังฆราชและมิชชันนารีถูกซักและ ถูกเฆี่ยน

เมื่อคืนวันที่ ๒๕ ต่อกับวันที่ ๒๖ (กันยายน ) เจ้าพนักงารได้คุมเราทั้ง ๖ คนไปยังศาล เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป และการพิจารณากันนี้กินเวลาเกือบตลอดรุ่ง พวกขุนนางที่นั่งพิจารณาความนั้นได้ขอ ให้พวกเราได้ยอมทำตามที่เขาจะสั่งต่อไป เพื่อให้เรื่องนี้ได้เปนอัน แล้วกันสักที ขุนนางเหล่านั้นจึงสั่งให้ขุนนางเข้ารีด ๓ คนไปดื่มน้ำ ที่เข้าพิธี และสั่งให้สังฆราชกับบาดหลวงสองคนรับสารภาพว่าผิด และให้ขอโทษต่อพระเจ้าแผ่นดินเสีย แต่พวกเราทั้ง ๖ คนได้นัด กันไว้แล้วว่าทำอย่างไร ๆ ก็ไม่ยอม ผู้พิพากษาจึงออกไปจากห้อง-


(หน้า ๑๐๕)

-และขัดเคืองพวกเรามากเพราะหาว่าเราหัวดื้อ การที่ผู้พิพากษาไปรายงารในเรื่องนี้ก็ทำให้ไทยมีความโกรธเรามากขึ้น เพราะฉนั้นพอ ส่วางวันที่ ๒๖ กันยายน พระเจ้ากรุงสยามก็รับสั่งให้หาเราไปหน้าที่นั่งอีก
ในวันนี้ทรงกริ้วมากกว่าวันก่อนอีก จึงรับสั่งให้ถอดเสื้อสังฆราชและบาดหลวงสองคน และให้เอาตัวสังฆราชกับบาดหลวงเข้าหลักเข้าคา

พระเจ้าแผ่นดินน จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงาร ซึ่งยืนอยู่ข้างเราข้างละคน เฆี่ยนเราด้วยหวายคนละ ๑๐๐ ทีต่อหน้าที่นั่ง(๑)
เมื่อได้ถูกเฆี่ยนครบจำนวนแล้ว เนื้อหลังก็ขาดเลือดก็โซมตัว เจ้าพนักงารก็ได้คุมพวกเราไปไว้ยังคุกสามัญ และได้จำเราครบ ๕ ประการ คือ
มีเครื่องจองจำ ๕ อย่าง
๑ ตรวนใส่เท้า
๒ เท้าติดขื่อไม้
๓ โซ่ล่ามคอ
๔ คาไม้ใส่คอทับโซ่
๕ มือสองมือลอดเข้าไป
_________________________________________________________

(๑) ในเรื่องที่สังฆราช กับบาดหลวงต้องถูกลงพระราชอาญาในครั้งนี้ มองซิเออร์คูเดเขียนเล่าว่าดังนี้
เจ้าพนักงารได้เอาหวายเฆี่ยนหลังเรา เนื้อเปล่า ๆ คนละ ๑๐๐ ที เวลาที่เฆี่ยนนั้นเจ้าพนักงารได้นับดัง ๆ ทุกทีไป
พระเจ้าแผ่นดินก็ประทับทอดพระเนตร์อยู่ในที่นั้นด้วย
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพอหวายลงทีแรกเลือดก็ไหลทันที ข้าพเจ้าคอยอยู่ว่าจะขาดใจเมื่อไร
เพอิญเคราะห์ดีไม้กางเขนก็อยู่ตรงหน้าข้าพเจ้า ๆ จึงได้เอาไม้กางเขนนั้น เปนหลักสำหรับตั้งสติ
ทั้ง ๓ คนนิ่งกันหมดเวลาที่ถูกเฆี่ยน มิได้ครางหรือร้องจนคำเดียว พระเยซูได้ให้กำลังแก่เรา
สำหรับทำให้คนทั้งหลายเห็นว่าเราไม่มีความผิดอะไร การที่เราไม่ได้ร้องนั้นทำให้พระเจ้าแผ่นดินประหลาดพระทัยเปนอันมาก
เพราะเจ้าพนักงารก็เฆี่ยนเต็มแรงด้วยกลัวพระเจ้าแผ่นดินจะกริ้วว่า เจ้าพนักงารเฆี่ยนไม่แรง
เราก็ทนอยู่จนตลอดเวลา และเราก็ออกจากที่นั้น โดยหลังขาดเปนรอยริ้วและเลือดโซมตัว



(หน้า ๑๐๖)

- ในคาและไปติดกับขื่อมือทำด้วยไม้

การที่เราถูกจองจำเช่นนี้ไม่เปนการเหมาะสำหรับรักษาแผลที่หลังและที่สีข้างให้หายเลย เพราะฉนั้นเมื่อได้ล่วงเวลามาได้ ๒ เดือนแล้ว
แผลที่หลังยังไม่หายเลย
ใน ๔ หรือ ๕ วันแรกที่จำคุกอยู่นั้น เจ้าพนักงารได้ให้เราอยู่รวมกันทั้ง ๖ คน ซึ่งทำให้เราสบายใจบ้างเล็กน้อย

แต่เมื่อวันที่ ๒๙ หรือ ๓๐ เดือนกันยายน เจ้าพนักงารได้แยกเราออกเปน ๒ พวก คือพวกขุนนางเข้ารีด ๒ คนไปอยู่ในคุก ๑ ต่างหาก
สังฆราชกับบาดหลวง ๒ คนไปอยู่อีกคุก ๑


ว่าด้วยขุนนางเข้ารีดใจไม่แขง

เมื่อเราได้ติดคุกอยู่เช่นนี้ได้ ๒ เดือน เจ้าพนักงารได้ถอดเครื่องจำจองออกจากขุนนางเข้ารีด ๓ คน และเราได้ทราบซึ่งเปนการน่าเสียใจว่า
ขุนนางเข้ารีดทั้ง ๓ คนได้ออกจากคุกแล้ว ก็ตรงไปยังวัด เพื่อไปดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
แล้วพระเจ้ากรุงสยามจึงมีรับสั่งให้บรรดาทหารที่เข้ารีดทุกคน ไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดเสียด้วย

ทหารเข้ารีดเหล่านี้มีจำนวนอยู่ ๗๙ คน เราได้ทราบว่า มีทหารเข้ารีด ที่ไม่ได้ถือน้ำ แต่คนเดียวเท่านั้น
และก็ไม่เห็นใครจะรู้สึกว่ากระไร นอกจากนั้น ได้ไปถือน้ำทุกคน เพราะกลัวว่าถ้าไม่ไปถือน้ำตามคำสั่งแล้ว จะต้องรับโทษถึงตาย

เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนกันยายน เมื่อเราได้ถูกเฆี่ยนแล้ว ได้มี -



(หน้า ๑๐๗)

- คนเข้ารีดทั้งผู้หญิงผู้ชายหลายคน ได้ร้องไห้พากันไปเยี่ยมเราในคุก เจ้าพนักงารก็อนุญาตให้พวกเข้ารีดเข้าไปเยี่ยมเราได้
พวกเข้ารีด ได้ต่างช่วยกันเช็ดล้างแผลให้เราและได้ช่วยเหลือเราทุกอย่างเท่าที่จะทำได้
ยังมีหญิงแม่หม้ายคน ๑ ได้เอาผ้ามาเช็ดเลือดที่แผลเรา แล้วได้เก็บผ้าเปื้อนเลือดนั้นหอบเอาไปบ้านด้วย
ฝ่ายพวกเข้ารีด อื่น ๆ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งมิได้เข้าไปเยี่ยมเราในคุกนั้น ได้พากันไปบ้านหญิงแม่หม้าย ขอดูผ้าที่เปื้อนเลือด
ครั้นหญิงแม่หม้าย ได้เอาผ้ามาให้ดูแล้ว พวกเข้ารีดก็ได้เอาผ้านั้นมาจูบ และกราบไหว้ กระทำการเคารพต่อผ้าที่เปื้อนเลือดนั้นด้วย

เรื่องพวกเข้ารีดไปกราบไหว้ผ้าเปื้อนเลือดนั้น ในเวลานั้นเราได้ทราบเรื่องไม่ เพราะเวลานั้นแผลถูกเฆี่ยนก็ยังสดอยู่
เลือดก็ยังไหลอยู่เสมอ เราจึงไม่ได้นึกถึงเรื่องอะไรเลย นอกจากนึกถึงความเจ็บปวดของเรา
แต่ในเรื่องนี้จวนจะเปนเรื่องใหญ่โตขึ้นซึ่งน่ากลัวมาก คือ มีคนเข้ารีดคน ๑ เปนบ่าวของเราและเปนคนชั่ว
มีความเกลียดชังหญิงแม่หม้ายคนนั้นมาก และก็ไม่สู้รักใคร่เรา เท่าไรนักด้วย

ครั้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม คนเข้ารีดคนนี้ได้ ทำคำร้องกล่าวโทษหญิงแม่หม้ายและกล่าวโทษเรา
หาว่าเราเปนผู้แนะนำให้หญิงแม่หม้ายเก็บผ้าที่เช็ดเลือดเราไว้ และเราได้ห้ามหญิงแม่หม้าย ไม่ให้ล้างผ้า แต่ให้เลือดแห้งติดผ้าอยู่อย่างนั้น เพื่อจะได้ -



(หน้า ๑๐๘)

- เอาผ้าเปื้อนเลือดนั้น ส่งไปยังประเทศยุโรปและฝรั่งเศส สำหรับยุ ให้พวกฝรั่งมารบ กับไทย
เจ้าพนักงารได้รับคำร้องนี้ไว้ และได้ไต่สวนหาความจริงต่อไป

ในเวลานั้นมีเรือที่จะออกไปเมืองบาตาเวีย หลายลำ ไทยจึงได้ไปห้ามเรือเหล่านี้ มิให้รับฝากหนังสือหรือเข้าของอย่างใด จากพวกเข้ารีดเปนอันขาด
เจ้าพนักงารได้เรียกเราไป ถามปากคำ เราจึงได้ปฏิเสธตลอดข้อหา เพราะในข้อหาไม่มีความจริง อย่างใด จะมีก็เพียงผ้าเช็ดเลือดดังได้เล่ามาข้างบนนี้แล้ว ซึ่งเรา มิได้เกี่ยวหรือรับรู้ด้วยเลย

เจ้าพนักงารก็ได้ไปค้นหาผ้าที่เปื้อนเลือด ซึ่งโจทย์หาว่า หญิงแม่หม้ายเก็บรักษาไว้อย่างดี แต่ก็หาได้พบไม่
คดีเรื่องนี้เจ้าพนักงารได้นำความกราบทูลว่าเปนเรื่องที่ ไม่มีมูลอย่างใด

และในข้อหาข้ออื่นซึ่งโจทย์หาว่า เราได้เอาผืนดินปืนและศิลา สำหรับปืนซ่อนไว้ในบ้านและหาว่า เราได้รับคนเข้ารีดใหม่ ผิดด้วยข้อบังคับนั้น
ก็ไม่มีมูลเหมือนกัน โจทย์ก็ไม่มีพยานจะอ้าง และในข้อหาที่ว่าเรารับคนเข้ารีดนั้น เราก็ไม่ได้ต่อสู้อย่างใด
เพราะฉนั้นคดีเรื่องนี้เปนอันสงบเลิกกันไป

ผู้พิพากษาเองก็ได้ถามว่า เราจะกลับฟ้องโจทย์ผู้หาความใส่เราหรือไม่ เราจึงได้ตอบผู้พิพากษาว่า ธรรมเนียมของคนคริศลเตียน
ไม่ต้องการทำดังนั้น เพราะสาสนาคริศเตียนสอนให้ให้อภัยแก่ศัตรูของเรา
เพราะฉนั้นในเรื่องนี้ ไม่ใช่แต่เรา จะให้อภัยแก่โจทนย์อย่างเดียว แต่เราจะอนุญาตให้โจทย์ได้ออกจากบ้านของเรา โดยไม่ต้องนำเงินค่าตัว
มาใช้ให้ก็ได้ -




(หน้า ๑๐๙)

พระราชดำรัสของพระเจ้าตาก

เมื่อวันที่๑๕ เดือนมกราคม พระเจ้าตากได้เสด็จยกทัพด้วยพระองค์เอง เพื่อไปต่อสู้กับพวกพม่าข้าศึก
และได้ทิ้งเราไว้ในคุก ทั้งต้องจำโซ่ตรวนอยู่จนตลอดถึงวันนี้ (ที่ ๑๕ เมษายน) เราก็ยังหาได้พ้นการจองจำออกจากคุกได้ไม่
การเรื่องนี้จะไปสิ้นสุดเอาแค่ไหนเปนสิ่งที่ทราบไม่ได้

เราได้ทราบมาว่าเมื่อพระเจ้าตากได้ประทับอยู่ในพระราชวังได้มีรับสั่งว่า " สังฆราชกับพวกบาดหลวงจองหองนักมันไม่ยอมขอโทษเลย "

มีเสียงลือกันว่า พระเจ้ากรุงสยามทรงพระราชดำริห์ จะส่งพวกเราไปยังเมืองมาเก๊า โดยเรือลำแรกที่จะออก
ขอให้พระเปนเจ้าได้โปรดให้เปน ดังนั้นจริงเถิด การที่เรามาอยู่ที่นี่ก็โดยบารมีของพระเปนเจ้า เพราะฉนั้นที่ต้องติดคุกอยู่เช่นนี้จึงหักใจได้

ในเวลานี้ ขออย่าได้คิดถึงการที่ จะส่งมิชชันนารี ออกมาใหม่อีกเลย เพราะตัวเราเองบางที ก็จวนจะต้องออกจากเมืองไทยอยู่แล้ว
การในเมืองไทยไม่เหมือนกับในเมืองจีน เพราะในเมืองไทยจะไปแอบซ่อนตัวที่ไหนไม่ได้ หรือจะปลอมตัวไม่ให้คนรู้จักก็ไม่ได้เหมือนกัน

เมื่อปลายเดือนมีนาคม เราได้รับจดหมายฉบับ ๑ ซึ่งคนเข้ารีดในกองทัพคน ๑ ได้เขียนมาถึงสังฆราช เพื่อขอบใจสังฆราช
ที่ได้ แสดงวาจาปลอบโยนแก่คนเข้ารีด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และในจดหมายฉบับนั้นเล่ามาว่า
พระเจ้าตากได้ทรงรับสั่งต่อหน้าพวก -



(หน้า ๑๑๐)

- เข้ารีดว่า
"เรามีความเวทนาพวกเข้ารีดเหล่านี้มาก เมื่อเรากลับไปถึงบางกอก ก็จะต้องปล่อยสังฆราชและบาดหลวงออกเสียที"

ถ้าพระเจ้าตากทรงพระราชดำริห์ดังที่รับสั่งจริงแล้ว จะต้องรอให้เสด็จกลับมาถึงเสียก่อนด้วยเหตุใด
ถ้ารับสั่งให้ปล่อยเราออกคำเดียวเท่านั้น เราก็จะออกจากคุกได้โดยทันที
แต่เมื่อเวลายังประทับอยู่ที่บางกอก ก่อนที่เสด็จไปสงครามนั้น ก็ได้รับสั่งอย่างนี้หลายครั้ง แต่ก็ไม่เห็นมีผลอะไร
และการที่รับสั่งเช่นนี้ ก็ได้รับสั่งต่อหน้าพวกเข้ารีด ทุกคราว ดู ๆ ก็เหมือนพระเจ้าตาก จะต้องการเอาหน้าแก่พวกเข้ารีด

เมื่อเร็วๆ นี้เองเราได้รับจดหมายจากพลทหารและพวกเข้ารีดในกองทัพอีกฉบับ๑ ในจดหมายฉบับนี้ พวกทหารและคนเข้ารีดบอกว่า
เขาได้สังเกตเห็นว่า การที่สาสนาคริศเตียนถูกบีบคั้นในเวลานี้นั้น เปนเพราะเหตุที่ ในปีนี้ไทยเอาไชยชนะแก่ข้าศึกยากนัก
และจำนวนพม่า ก็น้อยกว่าไทยเปนอันมาก ถึงดังนั้นพม่าก็สู้รบอย่างแขงแรง ไทย จะเอาไชยชนะให้ได้เปรียบแก่พม่าไม่ได้เลย

พวกทหารที่มีหนังสือ มานั้น เปนคนที่เคยได้เปนนักเรียนที่ มหาพราหมณ์ จึงเอาเหตุ ในคัมภีร์มายกอ้างเปนตัวอย่าง
ซึ่งเปนข้อที่ควรจะชมเชยเข้าอยู่บ้าง

เมืองไทยวันที่ ๒๑ เดือนเมษายน
เขียนสนคุกที่บางกอก

ป.ล. การที่ข้าพเจ้าเขีนจดหมายฉบับนี้ได้ โดยยืดยาวนั้น ก็เพราะเหตุว่ามือข้าพเจ้าได้หลุดจากขื่อมือ วันนี้เอง



(หน้า ๑๑๑)

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยสังฆราชและ พวกมิชชันนารีพ้นโทษ

สังฆราชและมิชชันนารีพ้นโทษ

จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๗๖ (พ.ศ. ๒๓๑๙)

จดหมายฉบับก่อนของเราที่เขียนในคุกนั้น ได้ลงวันที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๗๖(พ.ศ. ๒๓๑๙) เมื่อเดือนกรกฎาคม
พวกเข้ารีด กับชาวอังกฤษคน ๑ ได้ไปพูดจาว่ากล่าวกับเสนาบดีที่ปรึกษาราชการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม เพื่อขอให้ปล่อยยเราให้พ้นโทษ
เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนกรกฎาคม
เจ้าพนักงารได้มาปลดคา ออกจากคอและได้ถอด ขื่อเท้าและ ขื่อมือออก แต่การที่จะปล่อยให้พ้นจากคุกนั้น
เจ้าพนักงารได้บอกว่ายังจะปล่อยไม่ได้ เพราะต้องรอให้ ข้าราชการอื่น ๆ กลับจากทัพเสียก่อน และคงไม่ช้า ข้าราชการเหล่านั้นก็คงจะกลับมา

เมื่อวันที่ ๑๔ เดือน สิงหาคม เจ้าพนักงารได้เอาโซ่ออกจากคอ เหลือแต่ตรวนติดเท้าอยู่ เท่านั้น เจ้าพนักงารจึงได้คุมเราไปทั้งตรวน
ไปหาอัคมหาเสนาบดี เพราะพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงมอบธุระให้ อัคมหาเสนาบดีได้สอบสวน เรื่องเราเสียใหม่ ให้เปนการเสร็จเด็ดขาดไป
และรับสั่งว่า ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะฟังเรื่องนี้อีกต่อไป เสนาบดี ต้องการให้พวกเข้ารีด ที่เปนคนสำคัญและเปนหัวหน้า -



(หน้า ๑๑๒)

- ทำหนังสือรับรองพวกเรา คือให้พวกเข้ารีดเปนประกันว่าเราจะไม่ หลบหนี และจะไม่คิดกระทำการอย่างใดต่อประเทศสยาม ถ้า เราได้หลบหนี หรือคิดการประทุษร้ายต่อประเทศสยามอย่างใดแล้วพวกเข้ารีดผู้เปนประกันจะต้องรับโทษถึงตาย หนังสือประกันฉบับนี้ พวกเข้ารีดได้ยอมทำโดยดี ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามได้ทรงเปลี่ยน พระราชดำริห์ในเรื่องเรา ในชั้นเดิมได้ทรงพระราชดำริห์จะส่งให้ เราออกไปพ้นพระราชอาณาเขต มาบัดนี้ทรงพระวิตกว่สเราจะกลับ ไปด้วยลำพังเราเอง และทรงพระวิตกว่าเราจะไแคิดประทุษร้ายต่อ แผ่นดินสยามและชาวสยาม เพราะฉนั้นจึงทรงจัดการป้องกันไม่ให้ เราหนีหายไปได้ เพื่อเอาเราไว้เปนประกัน ตั้งแต่มองซิเออร์ คอนซตันซ์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังได้ถูกฆ่านั้น รัฐบาลไทยก็ดำเนิรวิธี การอย่างนี้ เปนธรรมเนียมตลอดมาจนทุกวันนี้ เสนาบดีผู้จัดการในเรื่องนี้ ได้ให้เขียนหนังสือทานบลสำหรับให้เราเซ็นอีกฉบับ ๑ แต่ในหนังสือทานบลฉบับนี้มีข้อความว่ส เรา รับรองจะประพฤติตัวเสียใหม่ จะไม่ทำผิดอย่างนี้อีกต่อไป จะ ไม่ห้ามมิให้พวกเข้ารีดดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และจะไม่ขัดขวางในแบบธรรมเนียมของบ้านเมืองต่อไปนั้น เราจึงได้พูดขึ้นว่า ในข้อที่ เกี่ยวด้วยการสาสนานั้นเราจะเซ้นชื่อรับรองไม่ได้ แต่เรายอมสัญญาว่า ในการอย่างใดที่เกี่ยวด้วยความเจริญของบ้านเมืองแล้ว เราจะไม่ทำการขัดขวางอย่างใดเลย ในเรื่องนี้เปนข้อที่ต้องโต้เถียงกันในระหว่าง



(หน้า ๑๑๓)

ท่านเสนาบดีกับเราโดยยืดยาวมาก ครั้นท่านเสนาบดีเห็นว่าการที่ จะเถียงกับเราเสียเวลาเปล่า ๆ และเห็นแน่ว่าเรายอมตายดีกว่าที่ จะสัญญารับรองตามความต้องการของเสนาบดี และเวลานั้นก็เปนเวลาเย็นมากแล้ว ท่านเสนาบดีจึงได้ไล่ให้เรากลับไป และ บอกว่าในเรื่องนี้จะต้องตรึกตรองดูเสียก่อน ท่านเสนาบดีได้สั่งไม่ให้พากเราไปไว้ในคุก เพราะไม่ต้องการให้ขึ้นชื่อว่าเรายังเปนนักโทษ อยู่ เจ้าพนักงารจึงได้พาเราไปอยู่ที่กระท่อมเล็กนอกพระราชวัง ใน คืนวันที่ ๑๔ ต่อวันที่ ๑๕ มีคนคุมเราอยู่สามสี่คนและตรวนก็ยัง หาถอดได้ไม่ วันที่ ๑๕ (สิงหาคม) เวลาเช้าเจ้าพนักงารได้มาถอดตรวนให้และไม่มีใครพูดถึงหนังสือทานบลฉบับนั้นเลย แต่เขาได้คุมเราอยู่ ที่กระท่อมนั้นตลอดวันและตลอดคืน หาได้ยอมให้เรากลับบ้านไม่ เมื่อวันที่ ๑๖ (สิงหาคม) เวลาเช้าประมาณ ๓ หรือ ๔ โมง เจ้าพนักงารได้เอาตรวนมาจำอีกและได้พาไปไว้ยังคุกอย่างเดิมจึงได้ เอาโซ่ล่ามคอ และเอาเครื่องพันธนาการอย่างอื่นมาจำอีก ครบทุกอย่างและเราได้ยินพวกเข้าพนักงารพูดกันว่า การที่เราต้องมาถูกจำอีก เช่นนี้ ก็เพราะพวกเราไม่ยอมรับผิดและไม่ยอมขอโทษ ครั้นวันที่ ๒ เดือนกันยายน เจ้าพนักงารได้มาถอดเครื่องจอง จำทั้งหมด และปล่อยเราออกจากคุกโดยไม่มีพิธีหรือต้องทำหนังสือ


๑๕


(หน้า ๑๑๔)

อย่างใด คงยึดแต่หนังสือประกันของพวกหัวหน้าเข้ารีดฉบับเดียว เท่านั้น เพราะพวกเข้ารีดได้ยอมเปนประกันว่า ถ้าเราหลบหลีก หนีหาย หรือเราคิดการประทุษร้ายต่อประเทศสยามอย่างใดแล้ว พวกนี้พร้อมทั้งบุตรภรรยาต้องรับโทษถึงตาย การที่เปนเช่นนี้ความ จริงก็ดูเหมือนไทยจะออกเบื่อที่ต้องเอาเราขังคุกไว้นาน ๆ เช่นนี้ เพราะฉนั้นการที่เราได้ออกจากคุกมาอยู่ได้ตามเดิมโดยเราไม่ได้ถอนคำหรือทำสัญญาอย่างใดได้นั้นก็จริงอยู่ แต่ข้างฝ่ายไทยก็มิได้ ถอนข้อห้ามต่าง ๆ ที่ขัดกับการสาสนาเหมือนกัน และส่วนเราก็ไม่ได้ รับสิทธิ หรือความชอบธรรมขึ้นอย่างใดเลย เราจึงตกอยู่ในฐาน หวั่น ๆ อยู่เสมอว่าเมื่อรัฐบาลไทยชอบใจขึ้นมาเมื่อไร ก็คง จะมารังแกบีบคั้นเราขึ้นอีกเมื่อนั้น แต่การเรื่องนี้ก็แล้วแต่พระเปนเจ้าจะโปรดเถิด เพราะความคิดความอ่านของพระเปนเจ้า เปนสิ่งที่ มนุษย์ขะเล็งไม่เห็นได้เลย เราไม่ได้สงสัยเลยว่าการต่าง ๆ ที่เปนอยู่เช่นนี้ ผลที่สุดก็ควรเปนประโยชน์แก่สาสนานั้นเอง พวกเราได้พ้นโทษออกมาได้ ๓ เดือนแล้ว แต่ข้าพเจ้าไม่มีแรงเลยและเกือบจะเปนคนพิการจะทำ อะไรก็ไม่ได้ แม้แต่จะนั่งอยู่เฉย ๆ สักชั่วโมงก็ไม่ได้ การที่เขียน จดหมายฉบับนี้ต้องหยุดพักหลายครั้งจึงเขียนต่อไปได้ และจดหมายฉบับนี้เห็นจะเปนจดหมายฉบับที่สุดของข้าพเจ้าแล้ว


(หน้า ๑๑๕)

จดหมายมองเซนเออร์คูเด ว่าด้วยสังฆราชและพวก มิชชันนารีพ้นโทษ

จดหมายของมองซิเออร์ดูเด
ถึงมองซิเออร์เดอโคเอ็ตโลกอง
วันที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)

เมื่อพระเจ้าตากได้เสด็จกลับมาจากทัพ ดูพระกิริยาเชื่อมซึมและดูจะไม่สบายพระทัย เพราะทรงเกรงว่าพม่าข้าศึกจะยกเข้ามาถึงกรุง
ถ้าพม่าเข้ามาตีกรุงอีกแล้ว เมืองไทยก็เปนอันสูญชื่อกันคราวนี้เอง

พวกที่คอยบำรุงอุดหนุนเรา และพวกขุนนางไทยที่มีความเอื้อเฟื้อต่อเรานั้น ได้คอยหาช่องโอกาศที่จะกราบทูลพระเจ้าตากในเรื่องเรา...
แต่ก็หาโอกาศไม่ได้เลย ข้างฝ่ายไทยก็ไม่ต้องการอะไร นอกจากให้เราขอโทษต่อพระเจ้าแผ่นดินและให้เรารับผิดเท่านั้น
แต่เราก็คงดื้อ ยืนคำว่าเราเปนคนที่หาความผิดมิได้ และเราจะทำการบกพร่องในสาสนาของเราไม่ได้

เจ้าพนักงารก็ไม่กล้านำเราไปเฝ้า และ พระเจ้าตากก็ไม่มีพระราชประสงค์จะเกี่ยวข้องกับเรา เพราะถ้าทรงเกี่ยวกับเราแล้วก็จะต้องแพ้เรา
เพราะทำอย่างไร ๆ เราก็คงจะยืนคำเดิมอยู่นั่นเอง

เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนสิงหาคม พระเจ้าตากได้รับสั่งให้หาพวก นักโทษทั้งหลาย เพื่อเอาไปปล่อยบ้าง เอาไปลงพระราชอาญาบ้าง
ส่วนเรานั้นได้รับสั่งให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไต่สวนเราและให้ปล่อยเราออกไปอยู่กับพวกเข้ารีด
เจ้าพนักงารเข้าใจว่าเราเปนอันได้พ้น-



(หน้า ๑๑๖)

- โทษแล้ว ต่างคนต่างแสดงความยินดีต่อเรา แต่ถึงดังนั้นเจ้าพนักงารได้พาเราไปทั้งตรวนและพวงคอ ยังห้องใหญ่นอกพระราชวัง
เพื่อไปพบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการเหล่านี้ได้บอกกับเราว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงยกโทษให้เราแล้ว
แต่เราจะต้องทำหนังสือทานบล รับผิด และทำทานบลว่าเราจะไม่ประพฤติเช่นนี้อีก

ข้อนี้เปนข้อที่เราวิตกอยู่เสมอ เราจึงได้ตอบว่าเราจะไม่ยอมทำหนังสือทานบลอย่างที่ว่านั้นเปนอันขาด
ถ้าพระเจ้ากรุงสยามโปรดปล่อยให้เราพ้นโทษแล้ว เราก็จะไปสอนสาสนาของเราอีกตามเดิมเหมือนเมื่อครั้งก่อน
เราติดคุก เพราะเราเปนข้าราชการของพระเปนเจ้าทีแท้จริง และเราจะเปลี่ยนสาสนาของเราไม่ได้

ข้าราชการเหล่านั้นจึงถามว่า "ถ้าท่านไม่มีความผิด เหตุใดท่านจึงต้องติดคุก และ ต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนด้วยหวาย ๑๐๐ ทีเล่า "
เราได้ตอบว่า
"ติดคุกและถูกเฆี่ยนเปล่าโดยไม่มีความผิดอะไร"

ข้าราชการถามว่า
"ทำไมจึงไม่ร้องขึ้นเล่า"

เรตอบว่า
"ไม่มีใครยอมฟังเรา และพระเจ้าแผ่นดินก็กำลังกริ้วอยู่ด้วย"

ข้าราชการถามว่า
"ก็ท่านจะให้ข้าพเจ้าทำอย่างไรเล่า"

เราตอบว่า
"ท่านจะเอาเราใส่คุกอีกหรือท่านจะไล่ให้เราออกนอกพระราชอาณาเขต หรือท่านจะฆ่าเราให้ตายก็ได้ แต่ทำอย่างไรๆ -



(หน้า ๑๑๗)

- เราก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติเดิมของเรา "

เวลาที่พูดกันนี้เปนเวลาค่ำมืดแล้ว และก็ไม่เปนการตกลงอย่างใดเลย ข้าราชการผู้ใหญ่เหล่านั้นจึงสั่งให้เอาเราไปขังต่อไป
แต่ให้ไปขังไว้นอกพระราชวัง เราก็ได้ไปอยู่ในที่ขังใหม่นี้โดยไม่ทราบว่า ผลที่สุดจะเปนอย่างไรต่อไป แต่ถึงอย่างไรเราก็รู้สึกสบายใจขึ้น
จึงเตรียมการที่จะทำพิธีในวันนักขัตฤกษ์และเซนวิแยช

ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า เจ้าพนักงารได้มาถอดตรวนและพวงคอออก แต่ข้าราชการผู้ใหญ่ยังไม่ได้นำความกราบทูลให้ทรงทราบ
เจ้าพนักงาร จึงได้กักขังเราไว้ในห้องนั้นต่อไป
คนทั้งหลายได้มาบอกกับเราว่า ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๖ สิงหาคม ทำอย่างไร ๆ เราก็จะได้กลับไปอยู่วัดของเรา
แต่ครั้นถึงเวลาเช้าวันที่ ๑๖ เจ้าพนักงารได้เอาตรวนและพวงคอ มาจำเราเข้าอีก และได้พาเราไปขังไว้ยังคุกในพระราชวังอย่างเดิม

เจ้าพนักงารได้บอกเราว่าไม่ช้าเราก็จะได้พ้นโทษ แต่ในเวลานั้นเปนเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังกริ้วอยู่
เพราะเหตุว่า ข้าราชการผู้ใหญ่ยังไม่กลับมาถึงจากการทัพ และมีข้าราชการ ๔-๕ คนรับรองว่าจะจัดการให้เราได้พ้นโทษให้จงได้
แต่เวลานี้ต้องทำใจเย็น ๆ ไปก่อน

เมื่อวันที่ ๓๐ เดือนสิงหาคม บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ได้มาประชุมพร้อมกันหมดเพราะมีเรื่องที่ข้าราชการเหล่านี้
จะต้องปรึกษาหารือกันหลายเรื่อง แต่พอตั้งต้นข้าราขการที่เปนผู้ใหญ่ที่สุด -



(หน้า ๑๑๘)

- ในหมู่นั้นได้พูดขึ้นว่า จำเปนจะต้องปล่อยเราออกจากคุกโดยเร็วที่สุด ข้าราชการทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้นก็นิ่งกันหมดหาได้คัดค้านว่าอย่างไรไม่
แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรต่อไป เพราะกลัวว่าพระเจ้าแผ่นดินจะหาว่าพวกข้าราชการเข้ากับเรา

ครั้นวันที่ ๑ เดือนกันยายน พระเจ้าตากได้รับสั่งถามขึ้นเองว่า เรื่องของเราเปนอย่างไรบ้าง
ข้าราชการได้กราบทูลว่า กำลังไต่สวนอยู่ รุ่งขึ้นข้าราชการเหล่านั้นจึงได้กราบทูลว่า ได้เห็นพร้อมกันว่าควรจะปล่อยเราได้
พระเจ้าตากจึงรับสั่งให้ปล่อยเราพ้นโทษ แล้วก็เสด็จขึ้นทันที โดยไม่รับสั่งถึงราชการงารเมืองอย่างอื่นเลย

เจ้าพนักงารจึงได้นำความมาเล่าให้เราฟัง เรา ก็ได้ไปยังวัดเพื่อบูชาพระเยซูต่อไป ในคราวนี้ไม่มีใครพูดถึงหนังสือทานบลอีกเลย แต่ไทยได้บังคับให้พวกเข้ารีดทุกคนรับประกันว่า เราจะไม่ออกไปนอกพระราชอาณาเขต เพราะฉนั้นเมื่อชั้นเดิมเราก็เตรียมตัวที่จะถูกไล่ออกจากเมืองไทยหลายคราว ครั้นมาบัดนี้เรากลับต้องอยู่เมืองไทยแน่นกว่าแต่ก่อนเสียอีก

บาดหลวงเข้าเฝ้า

เมื่อเราได้พ้นโทษไปแล้วสักสามอาทิตย์ พระเจ้าตากได้มี รับสั่งให้เราเข้าไปเฝ้า เวลานั้นท่านสังฆราชป่วยอยู่ไปเฝ้าไม่ได้ เราจึงได้ไปเฝ้าแต่ ๒ คนเท่านั้น พระเจ้าตากได้ทรงแสดงไมตรี ต่อเรา และทรงแสดงว่าทรงโปรดปรานเรามาก พระเจ้าตากได้



(หน้า ๑๑๙)

เสด็จมาประทับในที่ต่ำกว่าเรา และโปรดให้เอาน้ำชามาพระราชทาน ให้เรารับประทาน ซึ่งเปนสิ่งที่ไม่เคยเลยจนที่สุดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็หาเคยพระราชทานน้ำชาให้รับประทานไม่ ในวันนั้นดูทรงเจตนาแสดงพระกิริยาให้เราลืมถึงเรื่องที่เราถูกทำโทษมาถึงปีหนึ่ง

ตั้งแต่วันนั้นมาเราก็ได้ไปเฝ้าพระเจ้าตากหลายคราว เมื่อไปเฝ้าคราวใดก็ทรงแสดงไมตรีต่อเราเสมอ
แต่นั่นแหละสาสนาของเรา ไม่ตรงกับสาสนาของไทยซึ่งล้วนแล้ว ไปด้วยความไม่จริง เราจึงจำเปนต้องขัดคอไทยอยู่เสมอ ๆ

พระเจ้าตากรับสั่งอยู่เสมอว่า ทรงเหาะเหิรเดิรอากาศได้(๑) เราก็ได้ทูลอยู่เสมอว่าเปนการที่เป็นไปไม่ได้
เราได้ทูลบ่อยเข้าจนถึงกับทรงเบื่อไม่อยากฟังเราแล้ว เพราะฉนั้น จึงไม่ได้รับสั่งให้เรา ไปเฝ้ามาได้ปี ๑ แล้ว
การที่เราไม่ได้เฝ้าแหนเลยนั้น กระทำให้เรามีเวลาสำหรับไปเที่ยวตามชาวบ้านได้มากขึ้น
..........................
(๑) พระเจ้าตากเปนคนที่มีความคิดพลิกแพลงอยู่เสมอ เพราะฉนั้นจึงได้ทรงพระราชดำริห์จะเปนพระพุทธเจ้า
ในเรื่องนี้ได้มีรับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะเปนพระพุทธเจ้า และก็มีคนเรียนพระองค์ว่าพระพุทธเจ้าแล้วก็มี
เพราะในเมืองนี้ไม่มีเลยที่ใครจะไม่ทำให้ถูกพระทัย ตามวิธีดำเนิรการที่ทรงพระราชดำริห์ไว้นั้น
ในชั้นต้นจะได้ทรงเหาะขึ้นไปตามอากาศก่อน และเพื่อจะเตรียมการที่จะทรงเหาะนี้ ได้ทรงทำพิธีต่าง ๆ ในวัดและในวังมา ๒ ปีแล้ว
เพราะฉนั้นในเวลานี้จะต้องถือว่าพระเจ้าตาก ไม่ใช่มนุษย์ในโลกนี้แล้ว
ถ้าเรื่องนี้ใครไปทูลขัดคอ หรือในเวลาที่ทรงเข้าพิธี ใครเข้าไปเฝ้าแล้ว คนนั้นก็ ถูกเคราะห์ร้าย


(หน้า ๑๒๐)

จดหมายมองเซนเออร์คูเด ว่าด้วยพวกเข้ารีดไม่ยอมเข้า กระบวนแห่ที่เกี่ยวด้วยพุทธสาสนา

จดหมายมองซิเออร์คูเด
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๑๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)

เวลานี้ในเมืองไทยการศึกสงครามได้สงบเงียบแล้ว พวกพม่าข้าสึกเก่าของเราไม่ได้คิดที่จะกลับมาตีเมืองไทยอีก
และเสบียงอาหารเข้าปลานาเกลือ ก็จับจะบริบูรณ์ขึ้นอีกแล้ว แต่ถึงดังนั้นพวกเราก็ยังวางใจ ในพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้

เมื่อ ๗ หรือ๘ เดือนนี้ได้เกิดเรื่องขึ้น ซึ่งน่ากลัวอันตรายมาก คือพระเจ้าตากได้ทรงแต่งแบบแผน ขนบธรรมเนียมของไทยขึ้นใหม่
เรื่องนี้ได้ทรงคิดแต่งมานานแล้ว ครั้นทรงแต่งเสร็จแล้ว ก็มีพระราชประสงค์จะทำการฉลอง

โดยให้มีกระบวนแห่อย่างใหญ่ ตามลำแม่น้ำ การฉลองคราวนี้จะมีงารกันถึง ๓ วัน บรรดาชนทุกชาติทุกภาษาจึงได้รับสั่งให้ไปช่วยในการแห่นี้
คือ ไทย จีน ญวน ลาว แขกมัว คนเข้ารีด และ ชนชาติอื่น ๆ ทั่วไปหมด

พระเจ้าตากจึงเสด็จออกประทับยังพลับพลา ซึ่งปลูกไว้ริมน้ำเพื่อทอดพระเนตร์กระบวนแห่ ครั้นทรงเห็นว่าพวกเข้ารีด มิได้เข้ากระบวนแห่ด้วย
จนคนเดียวก็กริ้ว จึงรับสั่งว่า

"การที่พวกเข้ารีดไม่ได้เข้ากระบวนแห่นั้น เพราะเหตุใด ทรงทราบได้ดีทีเดียว เพราะ ฉนั้นจะต้องให้เลิกการฉลอง
เพราะทรงบังคับพวกเข้ารีดตามพระทัยไม่ได้เสียแล้ว โดยเหตุที่ สังฆราชและพวกบาดหลวงคอย ขัดขวางอยู่เสมอ
จึงจะต้องฆ่าสังฆราชและบาดหลวงเสียให้หมด แล้ว"



(หน้า ๑๒๑)

จึงรับสั่งต่อไปว่า
"แต่นั่นและพวกบาดหลวงก็คงยอมให้เราฆ่า และ มันก็คงจะตายเหมือนกับสัตว์"

ขุนนางซึ่งเปนข้าราชการผู้ใหญ่ที่สุดและซึ่งเปนคนชอบพอกับเรา และมีความนับถือสาสนาของเราอยู่บ้าง เฝ้าอยู่ในที่นั้นด้วย
จึงได้กราบทูลแก้แทนเราว่า
"แต่ก่อน ๆ มาพวกเข้ารีด ไม่เคยได้มาเกี่ยว ในพิธีของไทยเลย เพราะพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก่อน ๆ ได้ทรงอนุญาตให้พวกเข้ารีดทำตามใจชอบ
ในการชนิดนี้ ถ้าในคราวนี้พระเจ้ากรุงสยามจะลงพระราชอาญาพวกเราแล้ว ก็จะทำให้ประเทศยุโรปหมดความนับถือพระองค์
และชาวยุโรปก็คงจะไม่เข้ามาในเมืองไทยต่อไป"

พระเจ้าตากได้ทรงฟังคำกราบทูลของข้าราชการผู้นี้ ก็ทรงนิ่ง หาได้รับสั่งว่ากระไรต่อไปไม่
ครั้นรุ่งขึ้น เวลาเสด็จออกขุนนางจึงได้รับสั่งแก่ขุนนางข้าราชการที่เฝ้าอยู่ว่า

"เราอยากจะชักนำให้มนุษย์ทั่วไปไปสู่ทางที่ดี แต่พวกเข้ารีดไม่ยอมทำตามเราเลย เพราะฉนั้นพวกนี้คงถึงซึ่งฉิบหาย แต่ก็เปนธุระของเขาเอง"

ฝ่ายพวกขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ในเมืองนี้ สังเกตดูก็ไม่ได้เกลียดชังเราเลย เมื่อได้เกิดเรื่องนี้แล้ว สักสองสามวัน
ข้าพเจ้ากลับมาจากเยี่ยมหมู่บ้านลาว ได้พบกับพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดิน

พระราชโอรสจึงเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าที่ศาลากลางทางแห่ง ๑ ได้รับสั่งกับข้าพเจ้าอย่างเปนกันเอง
และเมื่อได้เฝ้าอยู่สักครู่ ๑ ข้าพเจ้าได้ทูลลากลับบ้านเพราะเปนเวลาเย็น มากแล้ว


๑๖


(หน้า ๑๒๒)

การทดลองสอนสาสนาแก่พวกลาว

พวกที่ได้รับความเดือดร้อนในเมืองไทยมีจำนวนมากที่สุดเพราะเหตุว่าพรเจ้าตากได้มีรับสั่งให้ไปต้อนพวกชาวบ้านซึ่งอยู่ตามป่าตามดงชายพระราชอาณาเขต ให้เข้ามารวมอยู่ในกรุงให้หมด พวก นี้จึงได้รับความลำบากอย่างที่สุดโดยเหตุที่ไม่มีใครเอาเปนธุระด้วย เลย การที่พระเจ้าตากเสด็จยกทัพไปปราบบ้านเมืองใกล้เคียงและกวาดต้อนเชลยเข้ามาไว้ในกรุงนั้น กระทำให้จำนวนของคนที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกเปนอันมาก เมื่อเดือนสิงหาคมปีกลายนี้ ไทยได้ จับลาวมาเปนเชลยกว่า ๓๐๐๐ คน เพราะไทยได้ยกทัพไปรับกับลาวและได้เข้าปล้นและเผาเมืองลาวเสียสิ้น เมื่อพวกชาวเชลยได้ลง มาถึงกรุงก็ได้รับความลำบากจวนจะตายอยู่แล้ว และพวกลาวเชลย ได้ตายเสียตามทางมากกว่าจำนวนที่ลงมาถึงกรุงกว่า ๒ เท่า พวก เราจึงได้ลงมือรดน้ำมนต์รับเด็กเข้ารีด ในปีนี้เราได้รดน้ำมนต์รับเด็ก เข้ารีดกว่า ๙๐๐ คน พวกลาวมีนิสัยโอนอ่อน เมื่อเราได้เปนธุระ จัดการเรื่องเด็กแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้คิดจัดการในเรื่องผู้ใหญ่ต่อไป เพราะความยากจนคับแค้นเดือดร้อนของพวกนี้ กระทำให้ข้าพเจ้าสงสารมากจนถึงกับน้ำตาไหล แต่พวกนี้ก็ไม่มีบ้านช่องอยู่เปนหลัก ฐาน เพราะฉนั้นจึงเปนการยากที่จะเที่ยวตามสั่งสอนพวกนี้ได้ บาง ทีคนที่เราพบในวันนี้ไปหาพรุ่งนี้อีกไม่พบเสียแล้วก็มี และพวกลาวได้ ล้มตายเสียก่อนที่ได้รับคำสั่งสอนเสียก็มาก



(หน้า ๑๒๓)

เมื่อพวกลาวได้ลงมาถึงบางกอกได้สักหน่อย ไทยก็ได้แยก พวกนี้ออกเปน ๓ พวก เรียกว่า๓ ค่าย ๆ ๑ มี คนประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ คน ข้าพเจ้าได้ทราบแต่เพียงว่ามี ๒๓ ค่ายเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าคนเดียวจะวิ่งทั่วไปไม่ได้ เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงได้จัดครูพื้นเมืองให้ไปสั่ง สอนในค่าย ๑ อีกค่าย ๑ นั้นข้าพเจ้ารับธุระไปเอง พวกลาวเหล่านี้ ล้วนแต่ยินดีที่จะฟังคำสั่งสอน และในค่ายที่ครูพื้นเมืองไปสั่งสอน นั้นพวกลาวได้นิยมมากเพราะเปนคนพวกเดียวกัน พวกลาวไม่สงสัยเหมือนกับสงสัยคนชาวต่างประเทศ ทั้งพูดภาษาก็ถูกกันด้วย ได้มี ผู้หญิงเข้ารีดบางคนได้มาช่วยสั่งสอนเหมือนกัน และผู้หญิงพวกนี้ มีประโยชน์มากเพราะเข้าไปหาพูดจากับผู้หญิงลาวสนิธสนมดี ส่วน ตัวข้าพเจ้านั้นเห็นว่าพวกลาวนิยมอยากฟังคำสั่งสอน จึงได้พยายามหาพวกลาวนั้นเองสำหรับให้สั่งสอนกันเอง และข้าพเจ้าก็ได้พยายาม เรียนตัวหนังสือลาวซึ่งคล้าย ๆ กันกับหนังสือไทย ข้อนี้ทำให้พวก ลาวพอใจเปนอันมาก การทั้งหลายกำลังดำเนิรอยู่อย่างเรียบร้อยแล้วเพอินเกิดมีเรื่องขึ้น ซึ่งทำให้รเบียบที่ข้าพเจ้าได้จัดไว้เสียหมด และตัวข้าพเจ้าเองก็หมดความหวังต่อไป ข้าพเจ้าเกือบจะไปหาพวก นี้ไม่ได้แล้วเพราะข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาไปอยู่ที่ไหนกันหมด เรื่องท่เกิดขึ้นนั้นเล่าโดยย่อ ๆ มีดังนี้ โดยเหตุที่พวกลาวเปนเชลยศึก พระเจ้าตากจึงไม่ทรงไว้พระทัยในพวกลาวเลย และมีลาว บางพวกได้หนีไปด้วย ครั้นพระเจ้าตากทรงทราบว่าพวกลาวเชลย -



(หน้า ๑๒๔)

- หนี จึงรับสั่งให้เรียกพวกลาวมารวมกันให้หมด บางคนก็ได้ทรง ขังเสีย นอกนั้นได้พระราชทานแก่บรรดาขุนนางข้าราชการสำหรับ ไว้ใช้การงร ขุนนางบางคนได้รับพระราชทานเชลย ๔ ครัวก็มี ๕ ครัวก็มี ๖ ครัวก็มี เพราะฉนั้นพวกลาวเชลยจึงได้กระจาบไปอยู่ ตามบ้านข้าราชการทั่วทุกแห่ง ข้าพเจ้าได้แต่งคนซึ่งได้เคยช่วย ข้าพเจ้าปฏิวัติพวกลาวให้ไปเที่ยวสืบตามบ้านข้าราชการว่าลาวพวกนั้นเปนอย่างไรบ้าง คนที่ข้าพเจ้าใช้ให้ไปสืบเข้าตามบ้านขุนนางไทย ได้ง่าย และยิ่งเอายาไปเที่ยวแจกแก่คนป่วยเจ็ย พวกเจ้าของบ้านก็ ยินดีให้คนของข้าพเจ้าไปในบ้านได้ คนของข้าพเจ้าได้ไปพบลาว ที่เคยรู้จักกันหลายคน คนของข้าพเจ้าจึงได้จัดการสั่งสอนพวกลาว ต่อไป ข้าพเจ้าเองบางทีก็ได้เข้าไปในพระนคร และได้พบพวกลาวที่ข้าพเจ้าได้เคยสั่งสอนมาหลายคน ข้าพเจ้าไม่ได้พบกับคนเหล่านี้มา ถึง ๓ เดือนแล้ว แต่ถึงดังนั้นพวกนี้ก็ยังหาลืมคำสั่งสอนของข้าพเจ้าไม่ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นความทุกข์ยากของพวกนี้ ก็เกิดความสงสารจนถึง กับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ แต่การที่จะไปสอนการสาสนากับพวกลาวนั้นเวลานี้ยากอยู่สักหน่อย เพราะพวกลาวอยู่ปนกับคนไทยหมดแล้ว แต่ก็เปนการดีสำหรับที่จะหาโอกาศสอนสาสนา แก่พวกไทยได้ด้วย จริงอยู่พวกไทยไม่ใคร่จะเชื่อง่าย ๆ เหมือนพวกลาว แต่สังเกตดู พวกไยก็ดีขึ้นมากแล้ว ตั้งปต่พวกเราต้องไปติดคุกและยอมทน ทุกข์ทรมานสำหรับสาสนานั้น ดูพวกไทยมีความรักใคร่และนับ



(หน้า ๑๒๕)

ถือพวกเรามากขึ้นกว่าเก่า แม้แต่ข้าราชการผู้ใหญ่ก็ยอมรับว่า สาสนาของเราเปนสาสนาที่แท้ที่และที่ตรง และการที่ไทยเคย ถือในการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตนั้น บัดนี้ก็ดูคล้าย ๆ เข้าบ้างแล้ว เพราะ ออกจะรู้สึกว่าพระเจ้าได้สร้างสัตว์มาสำหรับให้มนุษย์ใช้ และรับประ ทาน แต่ในเมืองไทยจำนวนพระสงฆ์มีมากนัก และพระสงฆ์พวกนี้ก็คอยแต่รบกวนข้าราชการผู้ใหญ่ เพราะฉนั้นเมื่อเราคิดจะดำเนิรการอย่างใด พวกพระสงฆ์ก็ทราบทุกคราว เมื่อเราไปพูดกับไทย คนใดไทยคนนั้นก็ฟังคำอธิบายของเรา แต่พอเราหันหลังให้แล้ว พระสงฆ์ก็มาอธิบายล้างคำเราหมด


จดหมายเหตุของสังฆราชเลอบอง ว่าด้วยพระเจ้าตาก ไม่พระราชทานเบี้ยหวัดพวกเข้ารีด

พวกมิชชันนารีถูกไล่
เกิดการลำบากขึ้นอีก

จดหมายเหตุของสังฆราชเลอบอง
ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)

เมื่อวันสิ้นเดือนกรกฎาคมซึ่งเปนวันที่เคยจ่ายเบี้ยหวัดประจำปี ให้แก่นายทหารและพลทหารเข้ารีด นายทหารและพลทหารเหล่านี้ ได้เข้าไปยังพระราชวังตามคำสั่งเพื่อไปรับเบี้ยหวัดพระเจ้าตากได้ ทรงทราบว่าพวกเข้ารีดไปคอยรับเบี้ยหวัด จึงรับสั่งว่า

"จะเอาเบี้ยหวัดให้แก่คนจำพวกนี้จะมีประโยชน์อะไร เรามีการงารพระราชพิธี อย่างใดพวกนี้ไม่ยอมช่วยจนครั้งเดียว
จนที่สุดในวันนักขัตฤกษ์พวกนี้-



(หน้า ๑๒๖)

-ก็ไม่ยอมมาเล่นเครื่อวดนตรีให้เราฟัง"

การที่รับสั่งเช่นนี้ ก็มีคนซ้ำเติมตามเคยว่า ที่พวกเข้ารีดเปนเช่นนี้ ก็เพราะ สังฆราชและบาดหลวงฝรั่งเสศ ที่พวกนี้ซ้ำเติมพูดดังนี้
ดูประดุจสาสนาคริศเตียนเปนสาสนา ที่สั่งให้เชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ และดูประดุจเหมือนลมอากาศ เช่นสาสนาเท็จ

ในเวลานี้ ไทยยังพูดอยู่เสมอว่า จะเอาพวกบาดหลวงใส่คุกเสียบ้าง จะฆ่าเสียบ้าง จะไล่ออกจากพระราชอาณาเขตเสียบ้าง

พระเจ้าตากได้รับสั่งถามว่า จะมีเรือจีนออกบ้างหรือไม่ เพื่อจะให้พวกเราลงเรือไปเมืองจีน และทรงรับรองว่าจะทรงออกเงินค่าเดิรทางให้แก่เรา
จึงได้มีคนกราบทูลว่าในเวลานี้ ยังไม่มีเรือที่จะออก
แต่ถึงจะมีนายเรือ ก็จะไม่ยอมให้เราได้ไปกับเรือ เพราะในประเทศจีน มีข้อห้าม มิให้ใครรับชาวยุโรปเข้าไปในเมืองจีน
ใครขืนพาไป จะต้องมีโทษถึงตาย

จึงมีขุนนางอีกคน ๑ กราบทูลต่อไปอีกว่า "ถ้านายเรือสำเภารับพวกบาดหลวงไปแล้ว ก็จะทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเอาพวกบาดหลวงปล่อยเกาะเสียตามทาง"

พระเจ้าตากจึงรับสั่งว่า
"เรา ไม่ได้มีความประสงค์เช่นนั้น แต่จะไม่มีเรือไปยังเมืองบาตาเวียบ้าง ทีเดียวหรือ"
ข้าราชการจึงกราบทูลว่า มีแต่อีก ๕-๖ เดือนเรือ จึงจะออกไป

พระเจ้าตากจึงเสด็จขึ้นและรับสั่งว่า
"ถ้า สังฆราชกับบาดหลวง ยังอยู่ ตายใด ไม่ต้องให้เบี้ยหวัด แก่พวกเข้ารีดเลย "

พวกเข้ารีดได้ทราบว่า พระเจ้ากรุงสยาม ได้มีรับสั่งถึงการที่จะไล่ สังฆราชและบาดหลวงออก นอกพระราชอาณาเขต
พวกเข้ารีดก็พา -



(หน้า ๑๒๗)

- กันร้องไห้เศร้าโศกทั่วหน้ากันหมด และทั้งหญิงชายและเด็ก ก็ร้องไห้พากันมายัง วัดเข้ารีด จนต้องเปิดประตูวัด ทิ้งไว้สามวัน
พวกบาดหลวงเอง ก็เข้าไปอยู่ในโบสถ์ เพื่ออ้อนวอนพระเยซูให้ปัดเป่า อย่าต้องให้พวกบาดหลวงออกจากเมืองไทยเลย

การที่พวกบาดหลวงและพวกเข้ารีดได้พากันเศร้าโศกเช่นนี้ ดูเปนการน่าสงสารยิ่งนัก และมีคนไทยซึ่งรัฐบาลจัดมาให้คอยดูว่า
พวกเข้ารีดจะทำอย่างบ้าง ก็ได้เห็นแก่ตาจึงได้ไปรายงารให้เสนาบดีทราบ

ภายหลังอีก สองสามวันไทยได้มีการแห่ตามลำแม่น้ำตามเคย พวกเข้ารีดของเราบางคนและ ข้าราชการที่เข้ารีดบางคน ก็ได้เข้ากระบวนแห่ด้วย
เพราะกลัวพระเจ้าแผ่นดิน
พอข้าพเจ้าได้ทราบ ข้าพเจ้าก็ตัดสินลงโทษพวกที่กระทำความผิด การที่ตัดสินลงโทษเช่นนี้กลับมีคุณมาก
เพราะในจำนวนพวกเข้ารีดที่เข้ากระบวนแก่ ๑๑ คนนั้น ได้มาลุแก่โทษ รับผิด ๑๐ คน แต่อีกคน ๑ นั้นหัวดื้อหาได้มาลุแก่โทษตัวไม่


เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)
ข้าราชการไทยซึ่งเปนตำแหน่งเสนาบดีว่า การต่างประเทศซึ่งเรียกกันว่า เจ้าพระยาพระคลังนั้น
เปนคนชาติแขกมลายู และ เปนคนถือสาสนามหะหมัด
เมื่อครั้งเกิดเรื่องพวกเข้ารีดเมื่อเดือนกรกฎาคมดังได้บรรยามาแล้วนั้น เจ้าพระยาพระคลังคนนี้ได้คอยขัดขวาง พวกเข้ารีดเปนอันมาก
และได้นำความกราบทูลต่าง ๆ -



(หน้า ๑๒๘)

- ประสงค์จะให้พระเจ้าตาก กริ้วพวกเข้ารีด

ครั้นวันนี้ที่ ๔ เดือนสิงหาคม พระเจ้าตากได้เสด็จออกขุนนาง จึงได้รับสั่งตัดพ้อต่อว่า เจ้าพระยาพระคลัง ต่อหน้าขุนนางข้าราชการทั้งปวง
ที่เฝ้าอยู่ว่า

"เมื่อวันก่อน เจ้าเห็นว่าข้ากำลังกริ้วพวกเข้ารีดอยู่ เจ้าก็พยายามยุแหย่ให้ข้า กริ้วหนักขึ้นอีก พวกเข้ารีดเหล่านี้ ถือสาสนาของเขาอย่างมั่นคง
แต่ส่วนเจ้านั้น เจ้าเปนนก ๒ หัว (หรือสัตว์ ๒ หน้า) เจ้าจงเข้าใจเถิดว่า ถ้าข้าได้ทำโทษพวกเข้ารีดจนเกินไปแล้ว เจ้าก็ต้องได้รับโทษ
เหมือนกัน"

แล้วพระเจ้าตาก จึงได้รับสั่งถึง พวกทหารเข้ารีดว่า
"แต่อย่างไรๆ ก็ต้องให้พวกนี้ ได้กินเบี้ยหวัด ไม่ฉนั้นพวกนี้มันจะได้อะไรเลี้ยงชีพเล่า"

พระเจ้าตากจึงได้รับสั่งให้ พระมหาอุปราช ผู้เปนพระราชโอรสองค์ใหญ่ เปนพระธุระในการจ่ายเบี้ยหวัดให้แก่พวกทหารเข้ารีด

ในเวลาที่เสด็จออกขุนนาง และรับสั่งเรื่องทหารเข้ารีด คราวนี้ มิได้ รับสั่งถึงสังฆราชหรือบาดหลวง จนองค์เดียว
การที่ทรงพระดำริห์ จะไล่สังฆราชและบาดหลวง ให้ออกนอกพระราชอาณาเขตนั้น ดูเปนเรื่องที่สงบไปแล้ว




(หน้า ๑๒๙)

ว่าด้วยพระเจ้าตากโปรดนั่งทางวิปัสนา

สังฆราชและบาดหลวง ออกจากเมืองไทย

จดหมายมองซิเออร์คูเด
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
ค.ศ. ๑๗๘๐ (พ.ศ. ๒๓๒๓)

พวกเราได้อยู่ในเมืองไทยโดยสุขสบายดี จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒) ในระหว่างนั้นช้า ๆนานๆ
พระเจ้าตาก ก็กริ้วเราบ้างเปนครั้งคราว แต่ไม่ช้าก็หายกริ้วอีก

พระเจ้าตาก ไม่ได้รับสั่งให้เราเข้าเฝ้ากว่าปี ๑ แล้ว ในระหว่างนั้นก็ทรงสวดมนต์บ้าง อดพระกระยาหารบ้าง จำศีลภาวนาบ้าง
เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับเหิรเดิรอากาศต่อไป

ในส่วนเรา ก็ได้สอนพวกเข้ารีด อยู่เสมอว่า พวกเข้ารีดจะไปดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่เข้าพิธีไม่ได้ และห้ามพวกเราเข้ารีด มิให้ไปเกี่ยวข้องในพิธีทั้งปวง ซึ่งเกี่ยวด้วยสาสนาของไทย
การที่เราสั่งสอนห้ามปรามพวกเข้ารีดเช่นนี้ พระเจ้าตากก็ทรงทราบ เพราะฉนั้นเราจึงหวั่นอยู่เสมอว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น

การที่เราวิตกถึงเหตุร้ายนั้นก็ได้เกิดจริง ๆ ดังคาด และเรื่องที่จะเกิดขึ้นมีดังนี้

เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒) เปนวันที่จะต้องแจกเบี้ยหวัดเงินเดือนแก่ข้าราชการและทหารที่เข้ารีด -


๑๗


(หน้า ๑๓๐)

ว่าด้วยพระเจ้าตากให้ไล่พวกบาดหลวง


พระเจ้าตาก จึงได้รับสั่งให้พวกนี้เข้าไปเฝ้า และได้รับสั่งว่า
"พวกนี้ ไม่ได้ไปการทัพมาหลายปีแล้ว เพราะฉนั้น พวกนี้ไม่ได้ทำการใช้อาวุธอย่างใด ซึ่งสมควรจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน"

เพราะเงินพระราชทรัพย์ที่มีอยู่ในท้องพระคลังนั้น เปนเงินที่พระเจ้าตากได้ทรงหามาได้
ด้วยทรง กระทำการดี(๑)และทรงได้มาด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้า(๒)
ก็เมื่อพวกเข้ารีด ไม่ยอมทำการอย่างใดที่เกี่ยวด้วยการของพระพุทธเจ้าแล้ว
พวกนี้ก็ไม่ควรได้รับอย่างใด แต่ควรจะได้รับพระราชอาญาจึงจะถูก

ยังมีข้าราชการอยู่คน ๑ หวังจะเอาหน้าเกินไป จึงกราบทูลโต้ แทนพวกเข้ารีด และได้ขอรับพระราชทานโทษแทนพวกเข้ารีดด้วย
พวกเข้ารีดได้ฟังข้าราชการคนนั้นกราบทูล ก็พากันนิ่งหมด

พระเจ้าตากจึงได้รับสั่งว่า ทรงทราบได้ดีทีเดียวว่า การที่พวกเข้ารีด ทำการขัดพระทัยเช่นนี้ เปนด้วยเหตุใด
ก็คือ สังฆราชและ พวกบาดหลวงนั้นเอง
เพราะฉนั้น จะต้องฆ่าสังฆราชและบาดหลวงเสีย หรือ มิฉนั้นจะต้องเอาใส่คุกเสียตลอดชีวิต
หรือไล่เสียให้ออกพ้นพระราชอาณาเขต

ข้าราชการ ที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นได้กราบทูลว่า ถ้าไล่สังฆราชและบาดหลวงออกไป นอกพระราชอาณาเขตเสีย จะเปนการสดวกยิ่งกว่า
จะทำอย่างอื่น และ จะทำให้พวกเข้ารีด เจ็บช้ำยิ่งกว่าอย่างอื่นด้วย

พระเจ้าแผ่นดินจึงได้รับสั่งแก่ขุนนาง ซึ่งเปนหัวหน้าพวกจีน ให้จัดการ ให้เราได้โดยสารไปกับเรือสำเภาจีน แต่นายสำเภาไม่ยอม-
.......................

(๑) คงหมายถึง ทำบุญกุศลเอาไว้มาก เช่นการทำทาน เป็นต้น (๒)คงหมายถึง อานิสงค์ผลที่เกิดจากการทำทาน หรือทำกุศลกรรมบถทั้งหลายตามคำสอนของพระพุทธเจ้า



(หน้า ๑๓๑)

- รับเราขึ้นเรือโดยอ้างว่า พระเจ้ากรุงจีนได้มีประกาศห้ามมิให้ชาวยุโรปได้เหยียบเข้าไปในแผ่นดินจีน
เพราะฉนั้น ถ้าใครขืนรับชาวยุโรปพาไปเมืองจีนแล้ว พระเจ้ากรุงจีนคจะลงพระอาญาเปนแน่
พระเจ้าตาก จึงรับสั่งว่าจะทรงยอมออกเงินค่าเดิรทางให้ แต่ นายสำเภาก็ไม่ยอม

พระเจ้าตากได้รับสั่ง ให้ถามพวกทหารเข้ารีด ว่า
"จะยอมรับเบี้ยหวัด ซึ่งเปนเงิน ของพระพุทธเจ้าหรือไม่"

การที่รับสั่งให้ถามเปนอุบายเช่นนี้ แลเห็นได้ง่ายนักกว่าจะมีพระราชประสงค์อย่างไร
พวกทหารเข้ารีดตอบเปนเสียงเดียวกันหมดว่า
'ไม่ยอมรับเงินรายนี้'

และเพื่อจะให้เปนหลักฐานมั่นคงขึ้น พวกทหารเหล่านี้ ได้ทำหนังสือปฏิญาณฉบับ ๑ เซ็นชื่อพร้อมกันทุกคนว่า
"จะไม่ยอมรับเบี้ยหวัดของพระเจ้าแผ่นดินเปนอันขาด เว้นแต่ ถ้าพระราชทานเบี้ยหวัดอย่างที่ เคยพระราชทานมาแต่ปีก่อนๆ แล้วจึงจะยอมรับ"

แล้วเจ้าพระยาพระคลัง รับพระราชโองการให้มาถามพวกทหารเข้ารีดว่า
"จะยอมรับเบี้ยหวัดเงินเดือนของพระเจ้าแผ่นดิน หรือจะเอาสังฆราชและบาดหลวงไว้" จะต้องการอย่างไรให้เลือกเอาใน ๒ อย่างนี้

พวกทหารเข้ารีดได้ตอบเปนเสียงเดียวว่า
"ขอเอาสังฆราชและบาดหลวงไว้ และ ขอพระมหากรุณาต่อพระเจ้าแผ่นดินอย่าได้ไล่สังฆราชและบาดหลวงไปเสียเลย"
และถ้าโปรดให้สังฆราชและบาดหลวงอยู่ต่อไปแล้ว พวกทหารเข้ารีดจะไม่ขอรับพระราชทานเบี้ยหวัด
การที่พวกทหาร -



(หน้า ๑๓๒)

- เข้ารีดได้ตอบดังนี้ ทำให้เจ้าพระยาพระคลังโกรธเปนอันมาก
เจ้าพระยาพระคลังจึงพูดว่า
"ควรประหารชีวิตพวกนี้เสียดีกว่า เพราะการที่พวกนี้ไม่ยอมรับเบี้ยหวัดของพระเจ้าแผ่นดิน ก็เท่ากับเปนขบถ"

พวกทหารเข้ารีดจึงได้ตอบเจ้าพระยาพระคลังว่า
ที่พูดดังนี้ ก็เพราะได้อนุญาตให้เลือกเอาตามชอบใจแล้ว ถ้าแม้ได้โปรดพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือนอย่างแบบธรรมเนียมที่เคยพระราชทาน
แต่ก่อน ๆ แล้ว ทหารเข้ารีดพวกนี้ก็ยอมรับเบี้ยหวัดต่อไป
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พวกเข้ารีดขอพระมหากรุณาเอาสังฆราชและบาดหลวงไว้

ครั้นเจ้าพระยาพระคลังตอบว่า จะเอาสังฆราชกับบาดหลวงไว้ในพระราชอาณาเขตไม่ได้
พวกเข้ารีดจึงร้อง ขอออกไปนอกพระราชอาณาเขต ตามสังฆราชและบาดหลวงบ้าง
เจ้าพระยาพระคลังก็ตวาด พวกเข้ารีดและพูดว่าจะเอาพวกนี้จำตรวนเสีย

เจ้าพระยาพระคลังกับพวกทหารเข้ารีดก็โต้เถียงกันอยู่ช้านาน พวกเข้ารีดก็คงยืนคำอยู่ เจ้าพระยาพระคลังก็ไม่กล้าลงโทษพวกนี้อย่างไร
ลงท้าย เจ้าพระยาพระคลังได้ไล่ให้พวกทหารเข้ารีดกลับไปเสียก่อน เพราะจะต้องนำความกราบทูลให้ทรงทราบโดยละเอียด

พวกเข้ารีดในค่ายของเราได้พากันมีความวิตกเปนอันมาก ต่างคนต่างร้องไห้วิ่งมายังวัดเข้ารีด
ฝ่ายพวกทหารเข้ารีดก็ตั้งใจยืนตามคำเดิมถึงจะต้องเสียชีวิตก็ยอม
ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเจ้าพระยาพระคลังจะได้ไปกราบทูลว่าอย่างไร แต่พระ เจ้าตากทรงเห็นว่า ยังจะให้เราออกนอกพระราชอาณาเขตไม่ได้
จึงได้ -



(หน้า ๑๓๓)

- รับสั่งให้ลดเงินเบี้ยหวัดของพวกเข้ารีดเสียก่อน จนกว่าสังฆราชและบาดหลวงได้ออกไปพ้นพระราชอาณาเขตแล้ว
เมื่อสังฆราชและบาดหลวงไปแล้ว เมื่อใด จึงจะพระราชทานเงินรายนี้ให้แก่พวกเข้ารีด

การเรื่องนี้ก็ยุติเพียงเท่านี้ จนถึงสิ้นเดือนกันยายน พวกเราและพวกเข้ารีดก็ลังเลใจไม่ทราบว่า การจะเปนอย่างไรต่อไป
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มาบอกกับเราว่า ทำอย่างไร ๆ พระเจ้ากรุงสยามก็คงจะไม่ไล่เราออกนอกพระราชอาณาเขต
เพราะเวลาเสด็จออกขุนนางก็รับสั่งอยู่เสมอ ว่า ทรงสงสารพวกเราและพวกเข้ารีด และทรงกริ้ว เจ้าพระยาพระคลัง
ในข้อที่เจ้าพระยาพระคลังกราบทูลหนุนให้พระองค์กริ้วเรามากขึ้น มิได้หาทางแก้สำหรับให้พระองค์หายกริ้วเราลงบ้างเลย

จึงได้รับสั่งกับเจ้าพระยาพระคลังว่าถ้าได้ ทรงลงพระราชอาญาพวกเข้ารีด จนถึงตายแม้แต่คนเดียวแล้ว
เจ้าพระยาพระคลังก็จะต้องตายด้วยเหมือนกัน

การที่รับสั่งเช่นนี้ได้มีคนมาเล่าให้เราฟัง แต่จะเปนความจริงหรืออย่างไร ยากที่เราจะเชื่อได้
แต่ในระหว่างนี้เราก็ได้ทำการตามหน้าที่ของเราทุกอย่างโดย มิได้มีผู้ใดมาขัดขวางอย่างใด
ในวัดของเราก็ได้ทำพิธีต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ยิ่งกว่าพระสงฆ์ทำในวัดไทยเสียอีก
เพราะพระสงฆ์ไม่กล้าทำการเอิกเกริก จนที่สุดระฆังวัดก็ไม่กล้าตี เพราะกลัวพระเจ้าแผ่นดิน
ส่วนเรานั้นเราได้ตีระฆังถึง ๓ ระฆัง และก็ไม่เห็นมีใครว่ากระไร จนคำเดียว

ครั้นเมื่อปลายเดือนกันยายนได้มีเรือแขกมัวมากจากเมืองสุหรัตลำ ๑ -



(หน้า ๑๓๔)

-พวกเราก็เกิดอลหม่านวุ่นกันไปหมด เพราะ พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งไว้ให้คอยหาโอกาศที่จะส่งเราออกไปนอกพระราชอาณาเขต
จึงมีขุนนางบางคนซึ่งเกลียดพวกเข้ารีด แล เห็นเรือแขกมัวเข้ามาก็ ได้ระฦกถึงกระแสรับสั่งขึ้นทันที
แต่ในเรื่องนี้ก็ไม่มีใครพูดว่ากระไรโดยเปิดเผย แต่ก็มีเสียงลือขึ้นว่าเราจะต้องไปกับเรือลำนี้ เพราะฉนั้นพวกเข้ารีด จึงพากันร้อนใจและเศร้าใจเปนอันมาก

ว่าด้วยพวกบาดหลวงออกจากเมืองไทย

ครั้นเมื่อวันที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)
พระเจ้ากรุงสยาม ได้มีรับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง มาบอกให้เราออกไปพ้นพระราชอาณาเขต เราก็ได้พยายามทุกอย่างที่จะขออนุญาตอยู่ในเมืองไทย ต่อไปแต่ก็ไม่เปนการสำเร็จ

มองเซนเยอร์เดอเมเตโลโปลิศ จึงใช้ให้ข้าพเจ้าไปเฝ้า พระมหาอุปราช (๑) ผู้เปนพระราชโอรส
ของพระเจ้าแผ่นดินและ เปนรัชทายาท
เพื่อขอกรุณาให้ไปกราบทูลขอพระราชานุยาตให้เราได้อยู่ในเมืองไทยต่อไป
และเพื่อจะไปทูลถามว่า เราได้ทำอะไรที่กระทำให้พระเจ้ากรุงสยามกริ้วเราถึงเพียงนี้

และข้าพเจ้าก็ได้กราบทูลพระมหาอุปราชต่อไปว่า การสิ่งใดที่ไม่ขัดหรือไม่เสียแก่สาสนาของเราแล้ว
เราก็พร้อมอยู่ที่จะทำให้พระเจ้ากรุงสยามพอพระทัยทุกอย่าง

พระมหาอุปราชจึงได้รับสั่งว่า พระเจ้ากรุงสยามกริ้ว พวกเรา เพราะเราคอยห้ามพวกเข้ารีดไม่ให้มาช่วยในงารและพิธีต่าง ๆ ของสาสนาไทย
ถ้าพวกเข้ารีดคนใดมาช่วยในงารของไทย พวกบาดหลวงคอยข่มเหงอยู่เสมอ
ถ้าเราจะยอม -
...........................

(๑) สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์(เจ้าฟ้าชายจุ้ย) ประสูติในสมเด็จพระอัครมเหสีเอกกรมหลวงบาทบริจา (พระนามเดิม สอน)



(หน้า ๑๓๕)

- สัญญาว่าต่อไป เราจะไม่รังแกข่มเหงพวกเข้ารีด ในข้อนี้แล้ว พระเจ้ากรุงสยามก็จะทรงโปรดให้เราอยู่เปนสุขต่อไปได้
ข้าพเจ้าจึงทูลตอบว่า

"ข้าขอพระเปนเจ้าที่แท้ จะสัญญาเช่นนี้ไม่ได้ และเราคงจะสั่งสอนพวกเข้ารีดดังที่เราเคยได้สอนมาแล้ว เพราะเราได้เคยสอนอย่างนี้
ตั้งแต่แรกเราได้เข้ามาอยู่เมืองไทยแล้ว และพระเจ้าแผ่นดินก็หาได้ ทรงขัดขวางอย่างใดไม่ กลับสร้างวัดพระราชทานเราเสียอีก

พระมหาอุปราชจึงรับสั่งว่า
"ข้อนั้นก็จริงอยู่ แต่พระบิดาของเราได้เปลี่ยนพระอัธยาศรัยแล้ว"

สังเกตดูพระมหาอุปราช ก็ทรงกรุณาต่อเราอยู่บ้าง แต่จะไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินอย่างไร ๆ ก็หาสำเร็จไม่

เพราะ พวกพระสงฆ์ได้กราบทูลว่า ถ้าเปนเราอยู่ในพระราชอาณาเขต ตราบใด ก็ทรงจะเหาะเหิรเดิรอากาศไม่ได้

เพราะฉนั้น จึงเปนการจำเปน ที่เราจะต้องทิ้งพวกเข้ารีดของเราไว้ เราจึงได้ลงเรือในเวลากลางคืน
ครั้นวันที่ ๑ เดือนธันวาคม เรือก็แล่นใบออกจากเมืองไทยไปเกาะมะลากา

พระเจ้าตาก ได้รับสั่งให้ข้าราชการผู้ใหญ่ไปดูว่า เราได้อยู่ในเรือจริงหรือไม่ และข้าราชการ ซึ่งมีหน้าที่จะต้องคุมเราลงเรือ
หาได้มาคุมเราไปไม่ จึงต้องรับพระอาญาเฆี่ยน

วันที่ ๑๖ เดือนธันวาคม เราได้ไปถึงเกาะมะลากา พวกฮอลันดาได้รับรองต้อนรับเราอย่างดี และได้เอื้อเฟื้อให้ของต่าง ๆ
แก่เราตามที่เราต้องการ มองเซนเยอร์เดอเมเตโลโปลิศ ไม่มีแรงพอที่จะทนความเหน็ด -



(หน้า ๑๓๖)

- เหนื่อยได้ เพราะป่วยอยู่เสมอ จึงตั้งใจว่าจะกลับไปยุโรป วันที่ ๕ เดิอนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๘๐ (พ.ศ. ๒๓๒๒)
มองเซนอยอร์ เดอเมเตโลโปลิศ จึงได้ลงเรือไปเมืองโกอา ส่วนมองซิเออร์กาโนต์ กับตัวข้าพเจ้านั้น ได้ไปยังเมือง ปอนดีเชรี
เพื่อหาโอกาศที่จะกลับไปภูเก็จ

เมืองภูเก็จนี้ ขึ้นอยู่ ในคณะบาดหลวงเมืองไทย แต่เปนหัวเมืองที่อยู่ไกลกรุงมาก เพราะฉนั้นบางทีเราจะอยู่ในเมืองนี้ได้จนกว่าพระเยซู
จะหาหนทางให้เรากลับไปช่วยพวกเข้ารีดที่บางกอกได้

ที่เมืองภูเก็จนั้นมีปอตุเกต ครึ่งชาติอยู่ ๒ - ๓ คน อยู่ในความปกครองของ บาดหลวงฟรังซิซแกงชาติปอตุเกต
พวกนี้จะรับรองเราอย่างไร ก็ยังไม่ทราบได้ ........................


จดหมายเหตุมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์ว่าด้วยพระเจ้าตาก ต้องสละราชสมบัติ

เรื่องพระเจ้าตากละราชสมบัติและถูกปลงพระชนม์

จดหมายเหตุของมองซิเออร์เดอคูร์วิแยร์
วันที่ ๒๑ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๘๒ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

คนทั้งหลายคงจะอยากทราบการเกิดขบถขึ้นในเมืองไทย ข้าพเจ้าจะได้เล่าให้ฟังอย่างย่อ ๆ ตามเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมา
จากจดหมายที่มีผู้เขียนมาถึงข้าพเจ้าจากเมืองไทยบ้าง ได้ทราบมาจากข้าราชการไทยคน ๑ กับคนเข้ารีดคน ๑
ซึ่งได้มาพักอยู่ที่นี่ได้ เดือน ๑ แล้วบ้าง -



(หน้า ๑๓๗)

เมื่อหลายปีล่วงมาแล้ว
พระเจ้าตากได้ กดขี่ใต้ฟ้าข้าแผ่นดินและชาวต่างประเทศที่เข้าไปอยู่หรือไปทำการค้าขายในเมืองไทยอย่างสาหัสมาก
เมื่อปีกลายนี้พวกจีน ซึ่งเคยได้ไปค้าขายในเมืองไทย ต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติหนี ไปหมดด้วยทนความกดขี่ของพระเจ้าตากไม่ไหว
มาในปีนี้พระเจ้าตาก ซึ่งเสียพระสติแล้วนั้น ได้กลับกดขี่ข่มเหงพวกพลเมืองมากกว่าเก่าขึ้นอีกหลายเท่า
บางที ก็จับพระสนมหรือพระราชโอรสผู้เปนรัชทายาท หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จำตรวนเสียบ้าง ลงพระอาญาเฆี่ยนเสียบ้าง
แล้วแต่พระทัย จะฉุนเฉียวกลับกลอกอย่างไร ก็ทำเอาตามพระทัยทั้งสิ้น

บางคนก็ถูกบังคับให้รับผิดในสิ่งที่ตัวไม่รู้เรื่องเลยก็มี เพื่อจะได้ปรับผู้นั้นเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้นั้นจะมีให้ได้
บางคนก็ถูก พระเจ้าตากบังคับให้ซัดคนโน้นคนนี้ซึ่งหาความผิดมิได้ แต่เปนคนที่มีเงินเพื่อจะได้ปรับเอาเงินเข้าท้องพระคลังให้มาก ๆ

ข้าราชการ เข้ารีด ๒ คนได้ถูกซัดเช่นนี้ พระเจ้าตากก็ลงพระราชอาญาเฆี่ยน จนคน ๑ ทนความเจ็บปวดที่ถูกเฆี่ยนไม่ไหวก็เลยตาย
การที่ พระเจ้าตากทรงประพฤติเช่นนี้ ทำให้ราษฎรพลเมืองตลอดถึงเจ้าพนักงารข้าราชการเกลียดเปนอันมาก
ข้าราชการบางคนซึ่งได้รับ ๆ รับสั่งให้ทำการข่มเหงต่าง ๆ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น
ก็ลงปรึกษากันว่า " เราจะทำอย่างไรดี ถ้าเราไม่ทำตามรับสั่งเราก็จะ-


๑๘


(หน้า ๑๓๘)

- ถึงที่ตาย ถ้าเราคงทำตามรับสั่ง ราษฎรก็จะเกลียดเราเท่ากับที่ เขาเกลียดพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว และเราก็คงจะไม่พ้นมือพวกราษฎรเปนแน่ "

เมื่อข้าราชการได้ปรึกษากันดังนี้แล้ว จึงได้ตกลงกันจะยุ ให้ราษฎรเปนจลาจลขึ้น เพราะราษฎรก็คอยจะลุกอยู่แล้วและเต็มใจที่จะทำตามคำแนะนำของข้าราชการเหล่านี้

ครั้นเวลา ๒ ยาม ข้าราชการกับราษฎรได้ตรงไปล้อมพระราชวัง และได้พยายามที่จะเข้าไปในพระราชวังให้จงได้
แต่พวกทหารเข้ารีด ๓๖ คนซึ่งมีหน้าที่รักษาพระราชวัง ได้เอาปืนใหญ่ปืนเล็กและอาวุธต่าง ๆ ต่อสู้ และได้ต้านพวกจลาจลไว้จนตลอดสว่าง

พวกจลาจล หาเข้าไปในพระราชวังได้ไม่ พวกจลาจลจึงได้ล้อมพระราชวังไว้ มิให้ใครเข้า ออกได้
รุ่งขึ้นพระเจ้าตากทรงเห็นว่าจะสู้พวกจลาจลไม่ได้เสียแล้ว

จึงได้ทรงขอร้องจะทรงผนวช หัวหน้าพวกขบถ ก็ยอมให้พระเจ้าตากได้ทรงผนวชตามพระราชประสงค์
พระเจ้าตากจึงได้ปลงพระเกศา ทรงครองผ้าเหลือง แล้วจึงได้ทรงอนุญาตให้พวกขบถเข้าไปในพระราชวังได้

ข้าราชการ จึงได้นำความไปแจ้งต่อ ขุนนางสำคัญของเมืองนี้ ๒ คน ซึ่งเวลานั้นกำลังไป ทัพทางเมืองเขมรและเมืองญวน
ขุนนางทั้งสองนี้ พอได้ทราบถึงเรื่องที่เกิดในกรุง ก็ได้จัดทหารและนายทหารให้รีบลงไปที่ บางกอกโดยเร็ว
พอทหารและนายทหารเหล่านี้ได้ลงมา ถึงบางกอก ก็ได้มาเปลื้องผ้า -



(หน้า ๑๓๙)

- เหลืองออกจากพระองค์พระเจ้าตาก แล้วได้เอาพระเจ้าตากจำตรวน ไว้อีกสองสามวัน


ว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จปราบดาภิเษก

ขุนนางที่สำคัญ ๒ คนนั้น คือ อรรคมหาเสนาบดี และ เปนแม่ทัพของกองทัพไทย ก็ลงมาถึงบางกอก
ขุนนางทั้งสองนี้ เปนพี่น้องกัน ผู้พี่นั้นเปน อรรคมหาเสนาบดี พอได้มาถึงบางกอก *
อาณาประชาราษฎร ก็ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองราช-สมบัติทีเดียว

ต่อมาข้าพเจ้า ได้รับจดหมายมาอีกฉบับ ๑ บอกข่าวมาโดยเฉพาะว่า มีเสียงกล่าวกันว่าพระเจ้าตาก ต้องสวรรคตลงนั้น
เปนเพราะราษฎร มีความโกรธแค้นนัก จึงได้จับพระเจ้าตากฆ่าเสีย

แต่พระเจ้าตากจะสวรรคตด้วยประการใดก็ตาม ก็เปนอันแน่นอนว่า พระเจ้าตากได้ถูกปลงพระชนม์สวรรคต
เมื่อวันที่ ๗ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๘๒ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

เมื่อก่อนพระเจ้าตากสวรรคต และก่อนพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้เสด็จมาถึงนั้น พวกข้าราชการซึ่งได้ก่อการจลาจลพาราษฎรไปล้อมพระราชวังนั้น
มีความขัดเคืองพวกเข้ารีดซึ่งได้รักษาพระราชวังไว้ได้ จึงได้จับพวกทหารเข้ารีดขังคุกเสียหลายคน

..........................

* ในภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า มาถึงเมืองไทย(Siam) ตั้งแต่ต้นเรื่องมาแล้วภาษา ฝรั่งเศสไม่ได้ออกชื่อกรุงธนบุรีเลย เคยแต่เรียกว่าบางกอก เพราะฉนั้นในที่นี้จึงใช้ ตามคำเดิมของภาษาฝรั่งเศสว่าบางกอก



(หน้า ๑๔๐)

แต่พระเจ้าตาก ซึ่งเวลานั้น ทรงผนวชอยู่ได้ขอร้องให้พวกทหารเสีย พวกทหารเข้ารีดติดคุกอยู่ไม่กี่วันก็ออกได้
แต่ถึงดังนั้น พวกราษฎรก็ได้ไปปล้นค่ายพวกเข้ารีด และได้ไปปล้นวัดเข้ารีดเก็บเข้าของต่าง ๆ ที่ยังเหลืออยู่จนหมดสิ้น
คงเหลือแต่รูป สองสามรูป กับตัวโบสถ์อยู่ เท่านั้น

นี่แหละการที่พวกเข้ารีด ได้มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน กลับได้รับผลร้ายเช่นนี้
และถ้าจะว่าไปแล้วพวกเข้ารีดมีข้อที่จะ ไม่พอใจพระเจ้าแผ่นดิน ยิ่งกว่าคนอื่นเสียอีก


ว่าด้วยการเปนไปของสาสนาบาดหลวงกลับ มาเมืองไทยอีก

การเปนไปของการสาสนา

ได้มีคนเขียนจดหมายจากบางกอก ถึงมองเซนเยอร์คูเด ที่เมืองภูเก็จ บอกข่าวว่า
ในวันแรกที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้เสด็จออก ให้พวกเข้ารีดเฝ้า ได้มีพระราชโองการดำรัสว่า มีพระราชประสงค์ จะให้พวกเข้ารีด
เรียก สังฆราช และบาดหลวงซึ่งพระเจ้าตากได้ไล่ไปนั้น ให้กลับเข้ามาอยู่ในเมืองไทยอีก

และต่อ ๆ มาก็ได้รับสั่งเช่นนี้อีกหลายครั้ง แล้วพระเจ้ากรุงสยาม จึงจัดให้ข้าราชการ ที่เข้ารีดผู้หนึ่ง ลงเรือสำเภาหลวง
(คือเปนเรือของหลวงต่ออย่างแบบ เรือของจีน) ไปยังเมืองมาเก๊า
ให้ถือจดหมายเจ้าพระยาพระคลัง ไปส่งยังเจ้าเมืองมาเก๊าฉบับ ๑ ในจดหมายฉบับนี้มีใจความบอกให้เจ้าเมืองมาเก๊าทราบว่า
พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชประสงค์จะให้มิชชันนารีมายังเมืองไทย
และให้บอกพวกปอตุเกตให้ทราบว่าพระเจ้า -




(หน้า ๑๔๑)

- กรุงสยามมีพระราชประสงค์ จะเปนไมตรีกับนานาประเทศ และมีพระราชประสงค์ จะบำรุงการค้าขายในประเทศสยามให้เจริญดังแต่ก่อน

จดหมายเจ้าพระยาพระคลังฉบับนี้ เจ้าเมืองมาเก๊าได้รับไว้ด้วยความยินดี จึงได้ส่งจดหมายไปยังเมืองโกอา ต่อไป
และที่ปรึกษาราชการเมืองมาเก๊า ก็มีความยินดีที่ได้ทราบความตามจดหมายนั้นเหมือนกัน
จึงได้รับรองว่าจะช่วยให้การได้เปนไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงสยามเท่าที่จะทำได้
เพื่อพระมหากรุณาให้ทรงบำรุงและปล่อยให้พวกเข้ารีดในประเทศสยามได้ทำการในหน้าที่สาสนาได้โดยสดวก

แต่ก็ดูพวกเจ้าพนักงารเมืองมาเก๊า มิได้ รีบร้อนที่จะส่งเรือไปค้าขายในเมืองไทยเท่าไรนัก แต่การที่พวกมาเก๊าไม่รีบร้อนเช่นนี้
ก็คงจะไม่ทำให้การของสาสนาเสียหายไปได้


พระเจ้ากรุงสยามพระองค์ใหม่ได้โปรด ยกเว้น พวกทหารเข้ารีดไม่ต้องไปเข้าพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
ซึ่งเปนต้นเหตุที่กระทำให้เกิดวุ่นขึ้นในคราวหลังนี้
แต่ส่วนพวกขุนนางที่เข้ารีดนั้น หาได้ทรง ยกเว้นให้ไม่ ขุนนางที่เข้ารีดคน ๑ จึงได้มีจดหมายมายังข้าพเจ้าว่า
คิดจะลาออกจากราชการเพราะเหตุที่ไม่ได้รับความ ยกเว้นในการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระเจ้ากรุงสยาม ก็ได้โปรดปล่อยให้พวกหญิงเข้ารีด ได้กลับไปอยู่กับบิดามารดายังบ้าน
เพราะหญิงเหล่านี้เปนคนที่พระเจ้าตากให้ไปจับมา และเอาไปขังไว้ในพระราชวัง



(หน้า ๑๔๒)

จดหมายมองเซนเยอร์คูเดว่าด้วยการสาสนาในเมืองไทร

เมืองไทรบุรี จะทำการสาสนาในเมืองไทรได้สดวก

จดหมายมองเซนเยอคูเด
ถึง มองซิเออร์เดคูร์วีแยร์
วันที่ ๒๖ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๘๒ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

ข้าพเจ้าได้จัดให้มองซิเออร์กาโนต์ ประจำอยู่ที่เมืองไทรบุรีด้วยเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งยังจะอธิบายในที่นี้ไม่ได้
เมืองไทรบุรีนี้เปนเมือง ที่อยู่ชายพระราชอาณาเขตสยาม เปนเมืองที่ขึ้นอยู่กับกรุงสยาม และคนพื้นเมืองก็เปนคนไทย

ในเมืองไทรบุรีนี้ใช้พูดภาษาไทยกันมากกว่าภาษามลายู บรรดาพวกเข้ารีด ซึ่งมีอยู่ในเมืองนี้ทั้งเด็ก และ ผู้ใหญ่รวม ๘๐ คนนั้น
ล้วนแต่เปนคน ที่มาจากภูเก็จ หรือเปนคนไทย ที่เข้ารีดใหม่ทั้งนั้น

ข้าพเจ้าได้รู้สึกว่า คนจำพวกนี้โง่เขลาอย่างที่สุด เพราะตั้งแต่ไหน ๆ มาจนทุกวันนี้ มิชชันนารียังไม่เคยได้มาในเมืองนี้เลย
จะมีก็แต่เพียงบาดหลวงประจำเรือปอตุเกต หรือ บาดหลวงคณะฟรังซิซแกง ได้เคยมาแวะบ้างเท่านั้น ตั้งแต่เราได้มาอยู่ในเมืองไทรบุรีได้ ๕ เดือนแล้ว เราก็ได้ สั่งสอนพวกเข้ารีดเหล่านี้ ใช้ภาษาปอตุเกตสอนบ้างภาษาไทยบ้าง และได้มีคนไทยที่ไม่ได้เข้ารีดก็หลายคนมาเรียนที่เราเหมือนกัน การสาสนาคงจะได้ผลในเมืองนี้ทีละเล็กทีละน้อย เพราะพวกเข้ารีดเหล่านี้ยังไม่ได้เคยเห็นบาดหลวงหรือวัดเข้ารีดเลย การสอนสาสนา-


(หน้า ๑๔๓)

- ในเมืองนี้นับว่าพึ่งตั้งต้นขึ้น แต่ด้วยความพยายามและความปลอบโยน การของสาสนาก็คงจะเจริญได้ต่อไป
และบางทีในกรุงเอง ก็อาจจะจัดการให้สาสนาเจริญได้ ถ้าแม้ว่าการต่าง ๆ ได้สงบเรียบร้อยลงแล้ว
ข้าพเจ้าก็คงจะมีความยินดีที่จะเข้าไปอยู่ในกรุง

ด้วยอำนาจของพระเปนเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้กลับเข้ามาอยู่ในเมืองไทยอีกตามเดิม และข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีวัดในเมืองไทรบุรี
ซึ่งเปนวัดของคนไทย เพราะตั้งแต่ไหน ๆ มา พระเยซูไม่ได้รับคำสรรเสริญด้วยภาษาไทยเลย

ตามที่ข้าพเจ้าได้เล่ามาดังนี้ท่านก็คงจะเห็นได้ว่า ข้าพเจ้าต้องการบาดหลวงสำหรับมาช่วยข้าพเจ้าอีก ข้าพเจ้าไม่ต้องการไปอยู่ทีอื่น
นอกจากอยู่ในเมืองไทย

มองซิเออร์ กาโนต์ กับข้าพเจ้ายอมทำการจนตาย เพราะในคณะบาดหลวงนี้ เราได้พยายามต่อสู้การขัดขวางต่าง ๆ
จนผลที่สุดเราก็ต้องถูกไล่ออกจากเมืองไทย
เมื่อเราได้รับความเดือดร้อนและได้รับอันตรายมามากแล้ว ก็คงได้กลับเข้ามาอยู่อีกอย่างเดิม เพราะฉนั้นถ้าพระเยซูโปรดแล้ว

เราก็จะยอมตายในเมืองนี้ ขอท่านได้โปรดบอกข่าวให้พวกคณะของเราทราบด้วย และท่านจะมีจดหมายบอกไปยังกรุงปารีศก้ได้ ว่า
เราได้กลับเข้ามาอยู่ในคณะเดิมอีกแล้ว และให้บอก ด้วยว่าการสาสนาได้สอน ด้วยพูดภาษาไทยไทยแท้ ๆ ได้ ๕ เดือน เท่านั้นเอง



(หน้า ๑๔๔)

จดหมายเหตุของมองซิเออร์เดคู์วิแยร์เรื่องเจ้าเมืองไทร ยกบ้านให้มองซิเออร์คูเด

จดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดคูร์วีแยร์
วันที่ ๒๑ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๘๒ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

มีนายเรือ ปอตุเกตคน ๑ ได้มาเล่สาให้ข้าพเจ้าฟังว่า ก่อนที่ นายเรือคนนี้จะออกจากเมืองไทรบุรีวัน ๑
เจ้าแผ่นดินเมืองไทร(๑)
ได้ยกบ้านใหญ่ให้ มองซิเออร์คูเดหลัง ๑ เพื่อใช้ต่างโบสถ์ และยังมีนายเรือชาวฝรั่งเศสอีกคน ๑ ซึ่งทำการในเรือ ปอตุเกตลำนี้ ก็ได้
เล่าให้ข้าพเจ้าฟังเหมือนกัน เปนความตรงกันกับนายเรือปอตุเกต แต่ ในเรื่องนี้ ไม่เห็นมองซิเออร์กาโนต์ พูดถึงจนคำเดียว

พวกนายเรือปอตุเกตุสามหรือสี่ลำ ซึ่งได้ไปพบกับมองซิเออร์- คูเดและมองซิเออร์กาโนต์ก็ได้มาชมบ้านที่ยกเปนวัดนี้ว่าเปนบ้าน ที่งดงามมาก ..........................

(๑) ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า (King of Kedah)



(หน้า ๑๔๕)

จดหมายมองเซนเยอร์คูเดว่าด้วยพวกบาดหลวงเกิด ขัดใจกับพวกปอตุเกต

พวกบาดหลวงเกิดขัดใจกับพวกปอตุเกต

มองเซนเยอร์คูเด
ถึงมองซิเออร์เดคูร์วีแยร์
วันที่ ๑ เดือน มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๘๔ (พ.ศ. ๒๓๒๗)

การที่ท่านเข้าใจว่าเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๘๓ (พ.ศ. ๒๓๒๖) ข้าพเจ้าได้กลับเข้ามาอยู่ในราชธานีของประเทศสยามนั้นแล้ว เปนการที่ ท่านเข้าใจถูก เมื่อพระเจ้ากรุงสยามได้ทรงทราบว่าข้าพเจ้าได้มา ถึงเมืองนี้แล้ว ได้โปรดให้มีท้องตราไปยังผู้ว่าราชการเมืองให้จัด ส่งข้าพเจ้าเข้าไปยังบากอกโดยทันที แต่ถึงได้มีพระราชโองการอย่างเด็จขาดเช่นนี้ก็จริงอยู่ แต่พระเปนเจ้าหาได้ยอมให้ข้าพเจ้าเข้าไป บางกอกในปีนั้นไม่ การที่ข้าพเจ้าได้ไปช้าดังนี้ มีทั้งผลดีและร้าย เมื่อข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอกเมื่อวันที่ ๔ เมษายนปีนี้ (พ.ศ. ๒๓๒๗) ข้าพเจ้าได้เห็นพวกเข้ารีดแตกสามัคคีกันหมด และการ แตกสามัคคีนี้ดูฝังดูดดื่มนัก ข้าพเจ้าออกจะทอดอาลัยว่าจะจัดการให้เปนที่เรียบร้อยไม่ได้เสียแล้ว พวกปอตุเกตได้ทำการขัดขวางมิให้การสาสนาได้แผ่ออกไปได้ โดยจะต้องการให้พวกที่เข้ารีดใหม่ เปนคนในบังคับของพระเจ้ากรุง ปอตุเกตทั้งหมด โรงเรียนเก่าก็ได้ช่วยในการที่จจะให้คณะบาดหลวง


๑๙



(หน้า ๑๔๖)

ให้ล้มเลิกไป และได้พยายามในการนี้ทุกอย่างจนถึงกับแก้ไข แบบธรรมเนียมของบ้านเมือง แก้ไขวิธีการแต่งกาย แก้ไขการอีก หลายอย่าง การที่ข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอกช้าไปเปนการให้ผลร้าย ก็ โดยทำให้มีเวลาที่จะให้บาดหลวงปอตุเกตคณะโดมินีแกง ได้มา ถึงบางกอกก่อนข้าพเจ้า แต่ก่อนนี้พวกบาดหลวงคณะนี้เคยมีวัดและ มีคนเข้ารีดอยู่พวก ๑ ครั้นเมื่อเกิดศึกขึ้นพวกเข้ารีดในค่ายปอตุเกต ก็ได้มารวมอยู่กับพวกเข้ารีดของเรา และนับว่าพวกนี้เปนพวกเดียว กับเราแล้วจนถึงกับเข้าได้ทอดอาลัยว่าคงจะไม่ได้เห็นบาดหลวง ปอตุเกตต่อไปอีกแล้ว ครั้นบาดหลวงปอตุเกตคนนี้มาถึง ก็เปน เวลาเหมาะเพราะพวกทหารเข้ารีดได้รับความยกเว้นไม่ต้องถือน้ำ พระพิพัฒน์สัตยาแล้ว จึงตั้งหน้าคอยบาดหลวงเพื่อจะได้ปฏิบัติการสาสนาได้ต่อไปอีก ยาดหลวงปอตุเกตคนนี้ได้นำหมายตั้งมาให้ดู หมายตั้งเหล่านี้เปนหมายตั้งของสังฆราชผู้จัดการคณะบาดหลวงเมืองโกอา และเปนหมายตั้งหัวหน้าในคณะของเขาเอง บาดหลวง ปอตุเกตคนนี้จึงได้แสดงตัว ว่ามีอำนาจทำการได้ทุกอย่างโดยไม่ ต้องขึ้นอยู่กับใครฝ่ายพวกเข้ารีดซึ่งแต่ก่อนเคยอยู่ในความปกครอง ของมิชชันนารีฝรั่งเศส ก็ขัดขวางไม่ยอมขึ้นกับบาดหลวงปอตุเกต คนนี้ และคงรักษาวัดและบ้านของเราให้คงอยู่ดังมองเซนเยอร์เลอ บอง และข้าพเจ้าได้จัดไว้ก่อนที่ข้าพเจ้าได้ออกจากเมืองไทย บาด



(หน้า ๑๔๗)

หลวงปอตุเกตจะเข้าไปทำพิธีในวัดก็ได้ แต่ลูกกุญแจและของต่าง ๆ คงอยู่ในเมืองครูสอนสาสนา ที่เราได้มอบไว้ให้รักษา ในระหว่างนั้น พวกเข้ารีดได้เกิดแตกสามัคคีขึ้น พวกเข้ารีดเถียงบาดหลวงปอตุเกตุ อยู่เสมอ แต่เพอิญเคราะห์ดี ด้วยในเวลานั้นเปนเวลาที่เกิด ศึกสงครามขึ้นทางเมืองเขมรและเมืองญวน มองเซนเยอร์ดาดรัง จะอยู่ในเมืองเหล่านั้นไม่ได้แล้ว จึงได้หนีเข้ามาอยู่เมืองจันทบุรี ซึ่งเปนเมืองขึ้นของไทย และในระหว่างที่พวกเข้ารีดแตกหมู่แตก คณะกันนั้นก็พอดีมองเซนเยอร์ ดาดรังก็ได้เข้ามาถึงบางกอก ท่านสังฆราชจึงได้จัดการทุกอย่างที่จะให้การเรื่องนี้สงบไป จึงได้เอาประกาศและหมายตั้งต่า งๆ มาให้บาดหลวงปอตุเกตดู ให้เห็นถึง การที่ควรจะต้องแบ่งหน้าที่และอำนาจกันอย่างไร บาดหลวงปอตุเกตได้เห็นประกาศและหมายตั้งแล้ว ก็สงบไป แต่ก็มิได้วายที่จะคิด ตั้งใจหาอำนาจ หากว่ามีความเกรงใจท่านสังฆราชจึงหยุดมิได้วุ่น วายต่อไปบาดหลวงปอตุเกตกับท่านสังฆราชจึงได้ตกลงกันว่า ในเวลานี้ยังไม่ต้องจัดการอย่างไรให้รอข้าพเจ้ามาถึงเสียก่อน ครั้นท่านสังฆราชได้ออกจากบางกอกก็เกิดความลำบากขึ้นอีกยิ่งกว่าเก่าเวลาก็จวนถึงวันนักขัตฤกษ์อิศเตอร์แล้ว ฝ่ายพวกปอตุเกต จะต้องการทำพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวด้วยงารนักขัตฤกษ์นี้จึงได้คิดขออำนาจบ้านเมือง โดยไปทูลขอสมเด็จพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน ให้ประทานวัดของเราให้แก่บาดหลวงปอตุเกตต่อไป การที่พวกปอตุเกต



(หน้า ๑๔๘)

คิดการครั้งนี้ก็สมปราถนา เพราะเหตุว่าสมเด็จพระอนุชาทรงเห็นว่า วัดเข้ารีดไม่มีบาดหลวงแล้ว มีแต่คนสามัญเฝ้ารักษาอยู่จึงได้มี รับสั่งให้มอบวัดเข้ารีดให้แก่บาดหลวงปอตุเกต จนกว่าข้าพเจ้าจะ มาถึง เมื่อวันที่ ๑๑ เดือนมีนาคมเจ้าพนักงารจึงได้ไล่ให้ครูสอน สาสนาของเราออกจากวัดและออกจากบ้าน ครั้นเมื่อวันที่ ๔ เดือนเมษายนข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอก พวกปอตุเกตและบาดหลวงปอตุ เกตก็ได้เข้าไปปกครองอยู่ในวัดนั้นแล้ว ฝ่ายพวกเข้ารีดไปเข้าใจ เสียว่าตัวได้ถูกไล่ออกจากวัดเสียแล้วก็ไม่เหยียบเข้าไปในวัดอีก เลย บางคนคิดที่จะทิ้งค่ายไปที่อื่น บางคนได้ไปขออนุญาต ท่านอรรคมหาเสนาบดี จะจัดเรือออกไปรับข้าพเจ้าก็มี และได้ เตรียมการที่จะออกเรือในวันที่ ๔ เดือนเมษายนในเวลาน้ำลง ครั้น ได้ทราบกันว่าข้าพเจ้าได้มาถึงแล้ว ก็พากันยินดีพร้อมกันหมด และได้จัดเรือไปรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้ไปยังบ้านสังฆราชซึ่งเปนบ้านเก่าของเราในเวลาเช้า ๕ โมง แต่หาได้ตีระฆังไม่ เพราะระฆังนี้อยู่ในความรักษาและ ปกครองของพวกปอตุเกต เวลานั้นข้าพเจ้าเหนื่อยล้ามากและได้ เปนไข้มาถึง ๘ วันแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีแรงที่จะตรงไปเข้าโบสถ์ ได้ เมื่อข้าพเจ้าได้ต้อนรับพวกเข้ารีดทั้งหญิงชาลและเด็กซึ่งได้พา กันมาหาข้าพเจ้าเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้หยุดพักผ่อนร่างกาย ใน พวกเข้ารีดที่มาหาข้าพเจ้านั้นได้มีพวกปอตุเกตปนเข้ามาบ้าง



(หน้า ๑๔๙)

บางคน พวกที่ไม่ได้มานั้นได้แก้ตัวว่าข้าพเจ้าไม่ให้เข้า ส่วน บาดหลวงปอตุเกตนั้นหาได้มาไม่ แต่ข้าพเจ้าก็ทำไม่รู้เสีย มองซิเออร์วิลแมงได้มาถึงเมื่อวันอาทิตย์เวลา ๕ ทุ่ม ซึ่งกระ ทำให้ข้าพเจ้ามีความยินดีเปนอันมาก พอพระเจ้ากรุงสยามได้ทรงทราบว่าข้าพเจ้าได้มาถึงแล้ว ก็ได้ มีรับสั่งให้เจ้าพนักงารพาข้าพเจ้าไปเฝ้า เพราะฉนั้นเมื่อวันอังคารข้าพเจ้าจึงได้เข้าเฝ้ายังพระราชวัง ข้าพเจ้าไม่มีของที่จะถวาย เลย และที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่พอใจในการที่ต้องถวายของเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้าก็ได้เอาถุงมือไปถวาย ๓ คู่ กับกระดาษอย่างดีของยุโรป ถวายหลายแผ่น ของเหล่านี้พระเจ้ากรุงสยามโปรดมาก แต่ในวัน นั้นไม่สู้จะทรงสบายจึงทรงนัดเลื่อนให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าในวันอื่น ตั้งแต่ วันนั้นมาก็ยังไม่ได้รับสั่งให้หาข้าพเจ้าอีกเลย ข้าพเจ้าได้มอบให้มองซิเออร์วิลแวงเปนธุระดูแลในโบสถ์ ลูกกุญแจต่าง ๆ ก็ยังตกอยู่ในมือบาดหลวงปอตุเกต ข้าพเจ้าจึงได้ให้คนไปเรียกเอามา ซึ่งกระทำฝห้พวกเข้ารีดในคณะบาดหลวงปอตุเกต ขัดเคืองข้าพเจ้า พวกนี้จึงนำความเข้าไปร้องในวัง คำขอร้อง พวกเข้ารีดคณะปอตุเกตนี้เจ้าพนักงารได้ถวายต่อสมเด็จพระอนุชา ของพระเจ้ากรุงสยาม สมเด็จพระอนุชาจึงได้มีรับสั่งให้แยกพวก เข้ารีดหอตุเกตออกพวก ๑ ต่างหาก ไม่ให้ปะปนกับพวกเข้ารีดของ ข้าพเจ้า และรับสั่งให้ก่อโบสถ์ขึ้นอีกหลัง ๑ ซึ่งพระองค์เองจะทรง



(หน้า ๑๕๐)

ช่วยด้วย แต่โบสถ?นี้ข้าพเจ้าฟังไม่แน่ว่าจะได้มีรับสั่งยกให้บาด หลวงปอตุเกตหรืออย่างไร เวลาเช้า ๔ โมงทหารรักษาพระองค์ของสมเด็จพระอนุชา ได้มาบอกข้าพเจ้าให้ไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาใน เวลาเที่ยง และได้เลยไปบอกบาดหลวงปอตุเกตฝห้ไปเฝ้าเหมือน กัน ข้าพเจ้าจึงได้ไปเฝ้าตามกำหนดพร้อมกับมองซิเออร์วิลแมง บาดหลวงปอตุเกตกับพวกเข้ารีดก็ได้ไปเฝ้าพร้อมกัน ครั้นพวกเรา ได้ไปคอยเฝ้าอยู่ถึง ๕ ชั่วโมงแล้ว จึงได้มีข้าราชการของสมเด็จ พระอนุชาเข้ามาในห้องคน ๑ ข้าราชการคนนี้ได้เรียกให้ข้าพเจ้า เข้าไปหาดุจข้าพเจ้าเปนผู้ร้ายหาใช่ข้าพเจ้าเปนสังฆราชไม่ ข้าพเจ้า จึงได้รู้สึกว่า พวกเข้ารีดปอตุเกตได้กล่าวโทษข้าพเจ้าต่อศาลของ บ้านเมือง ข้าราชการคนนี้ได้แสดงกิริยาอย่างหยาบต่อข้าพเจ้า และ ติข้าพเจ้าในการที่ข้าพเจ้าไปอยู่ในวัดซึ่งเปนของ ๆ ข้าพเจ้า แล้วข้า ราชการคนนี้จึงได้สั่งให้ข้าพเจ้ามอบวัดให้แก่บาดหลวงปอตุเกตโดย อ้างว่าเปนรับสั่งของสมเด็จพระอนุชา และได้สั่งบรรดาคนเข้ารีด ทั้งสองฝ่ายให้ช่วยกันสร้างวัดให้ข้าพเจ้าใหม่อีกหลัง ๑ ข้าพเจ้า จะต้องการตอบชี้แจง แต่ข้าราชการผู้นั้นไม่ยอมฟังคำอธิบายของข้าพเจ้า ข้าราชการผู้นี้ได้รับของกำนันจากพวกเข้ารีดปอตุเกต จึงได้หลับตาลำเอียงเข้าข้างผู้ให้ของ และแกล้งหาว่าข้าพเจ้ากับ บาดหลวงปอตุเกตวิวาทกัน ข้าพเจ้าและบาดหลวงปอตุเกตได้ช่วยกันปฏเสธว่าเราหาได้วิวาทกันไม่ ความจริงในเรื่องนี้นี้ถ้าหากว่า



(หน้า ๑๕๑)

พวกเข้ารีดปอตุเกตไม่ได้เข้ามายุ่งด้วยแล้ว บาดหลวงปอตุเกต กับข้าพเจ้าก็พอจะทำความตกลงกันได้ พวกเข้ารีดซึ่งได้ทำการฝ่าฝืนหมายตั้งของข้าพเจ้านั้นได้กลับไปด้วยความรื่นเริง และคิดจะพาบาดหลวงปอตุเกตลงเรือไปกับเขา ด้วย แต่บาดหลวงปอตุเกตหายอมไปกับพวกนั้นไม่ จึงได้ มาลงเรือของข้าพเจ้า ซึ่งทำให้พวกเข้ารีดไม่พอใจอย่างยิ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๒๘ เดือนเมษายนข้าพเจ้าได้บอกกับบาดหลวง ปอตุเกตให้มาจัดการเปนเจ้าของวัดต่อไป บาดหลวงปอตุเกตไม่ ยอม พวกเข้ารีดปอตุเกตก็บ่นไม่พอใจ วันเสาร์ที่ ๓๐ ข้าพเจ้า จึงได้ให้เรียกพวกผู้เถ้าทั้งสองฝ่ายให้มาประชุมพร้อมกัน บาด หลวงปอตุเกตกับมองซิเออร์วิลแมงก็มาประชุมด้วย ข้าพเจ้าจึงได้ ชี้แจงว่า การที่พวกเข้ารีดได้ประพฤติเช่นนี้เปนการไม่สมควรอย่างยิ่ง ที่พวกเข้ารีดจะฟ้องกล่าวโทษสังฆราชของตัวต่อศาลสามัญนั้นไม่เคย มีตัวอย่างเลย แต่เพราะเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินเปนนายอยู่ในที่ นี้ และพื้นแผ่นดินก็เปนของท่าน เพราะฉนั้นอิฐปูนกระเบื้อง สำหรับก่อวัดนั้นก็ต้องเปนของท่านด้วยเหมือนกัน จึงเปนการจำเปนที่ข้าพเจ้าจะต้องปฏิบัติตามพระราชประสงค์ แต่เมื่อการเปนดังนี้ข้าพเจ้าจะต้องประกาศว่าตั้งแต่วันนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าจะไม่เหยียบเข้าไปในวัดนี้อีกต่อไปและจะไม่ถือว่าที่นี้เปนวัด เพราะฉนั้นข้าพเจ้า ขอมอบวัดนี้ให้แก่บาดหลวงปอตุเกตตามอำนาจที่บาดหลวงได้รับมา



(หน้า ๑๕๒)

จากพระเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้าจึงได้ให้เอากุญแจมามอบกับบาด หลวงปอตุเกต แต่บาดหลวงหายอมรับไว้ไม่ เพราะบาดหลวงมิ ได้ขอเอาตัววัดนี้ ครั้งบาดหลวงไม่ยอมรับลูกกุญแจแล้ว ข้าพเจ้า จึงเอาลูกกุญแจมามอบไว้แก่พวกเข้ารีดปอตุเกตที่เปนผู้เถ้า แต่ คนเหล่านี้ก็ไม่ยอมรับไว้เหมือนกัน โดยอ้างว่าเขามิได้ขอเอาวัดนี้ รุ่งขึ้นเปนวันอาทิตย์ ข้าพเจ้าได้ทำพิธีสวดในวัดเล็กที่มีอยู่กับบ้านมองซิเออร์วิลแมงกับบาดหลวงปอตุเกตก็ได้มาเหมือนกัน ส่วนพวก เข้ารีดจะมาก็ได้ แต่พวกปอตุเกตมิได้มาเลยจนคนเดียว มิหนำ ซ้ำกลับห้ามบุตร์หลานมิให้มาเสียด้วย เพราะฉนั้นโบสถ์หลังใหญ่ เท่ากับถูกห้ามไม่ให้ใครเข้าไป และระฆังก็ไม่ได้ยินเสียงตีมา เกือบเดือน ๑ แล้ว


จดหมายมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์ ว่าด้วยพวกปอตุเกต หาความพวกบาดหลวง

จดหมายมองซิเออร์เดคูร์แยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
ค.ศ. ๑๗๘๔ (พ.ศ. ๒๓๒๗)

มองซิเออร์วิลแมงได้มจดหมายมาเมื่อเดือนกรกฎาคม บอก มาว่าเวลานี้ยังเหลือคนเข้ารีดอยู่ประมาณ ๑๐๐ คนเท่านั้น และ ในหนังสือฉบับอื่น ๆ ก็บอกมาว่า พวกเข้ารีดไม่ได้เหยียบเข้าไป ในวัดเสียกว่าครึ่ง มีจีนเข้ารีดคน ๑ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมือง ไทยและเปนคนที่รักมิชชนนารีฝรั่งเศสได้มีหนังสือถึงข้าพเจ้าฉบับ ๑



(หน้า ๑๕๓)

บอกข่าวมาว่า พวกเข้ารีดปอตุเกตได้วุ่นขึ้นอีกคือ ๑ ได้พยายาม อีกครั้ง๑ ที่จะขอให้พระมหาอุปราชทำลายวัดของมองเซนเยอร์คูเดลงเสีย และได้กล่าวหาพวกฝรั่งเศสอย่างที่เคยถูกหามาแต่ก่อน แล้วว่า พวกฝรั่งเศสได้คิดขบถต่อพระเจ้ากรุงสยามตั้งแต่ครั้ง สมัยคนซตันตินปอลคอน ๒ พวกเข้ารีดปอตุเกตได้หาว่ามองเซน เยอร์ดาดรังได้ลักลอบส่งเสบียงอาหารให่แก่พระเจ้ากรุงญวน ซึ่ง หนีและๆม่ยอมกลับเข้ามาเมืองไทย ๒ และหาว่าพวหฝรั่งเศสได้รับ คนเข้ารีดผิดด้วยกฎหมายของแผ่นดินหลายคน ในจดหมายฉบับ นี้ได้เล่าต่อไปว่า เมื่อพระมหาอุปราชได้รับคำร้องพวกเข้ารีดปอตุ- เกต กล่าวโทษพวกฝรั่งเศสดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ดูพระ มหาอุปราชก็เฉย ๆ อยู่ หาได้เปนพระธุระในเรื่องนี้อย่างใดไม่ แต่การต่อไปจะเปนอย่างไร ไม่มีใครคาดการถูกได้

๒๐


(หน้า ๑๕๔)

จดหมายมองซิเออร์วิลแมง ว่าด้วยไทยส่งกองทัพไป เมืองญวน

เรื่องไทยส่งกองทัพไปเมืองญวน พม่ายกทัพมาเมืองไทยอีก

จดหมายมองซิเออร์วิลแมง ถึง
มองซิเออร์เดคูร์วิแยร์
บางกอก ค.ศ. ๑๗๘๕-๑๗๘๖ (พ.ศ. ๒๓๒๘ - ๒๓๒๙)

กองทัพไทยได้มีฃัยชนะมาหลายครั้งหลายคราวแล้ว ครั้น วันที่ ๑๘ เดือนมกราคมกองทัพไทยได้แพ้และได้แตกกระจายไปหมดกองทัพไทยต้องทิ้งเรือไว้หลายร้อยลำ และเรือของกองทัพเขมร ซึ่งบันทุกเสบียงอาหารก็ต้องทิ้งไว้เหมือนกัน ข้าศึกได้มาจับเรือพวก นี้ได้หมดทั้งศัสตราอาวุธไทยก็ต้องทิ้งเสียเปนอันมาก และมีคนไทย กว่า ๕๐๐ คน คนเข้ารีด ๑๖ คนหนีไม่ทันต้องตกค้างอยู่ฝั่งแม่น้ำ ฝั่งโน้น และในหมู่นี้คือเดือนมิถุนายน ทหารในกองทัพไทยซึ่งยัง เหลืออยู่ก็หนีกลับมาในกรุงอยู่เนือง ๆ กองทัพไทยในชั้นเดิมนั้นมี คนอยู่ราว ๕๐๐๐ ถึง ๖๐๐๐ คน ในคนเหล่านี้ได้ตายเสียในที่รบราว ๑ ใน ๓ ส่วน และพวกเขมรก็ตายมากเหมือนกัน พลทหารบางคน ซึ่งกลับมาถึงกรุงนั้น ถูกอาวุธบาดเจ็บปางตายหลายคน แต่ข้างฝ่ายข้าศึกนั้นทหารได้ล้มตายมากกว่าฝ่ายไทย เมืองเขมรนี้ดูน่าอนาถใจมาก ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พวก เข้ารีดในเมืองไทยซึ่งพวก ไท้สน (Tay-son) ได้พาไปเมืองญวนนั้น ได้ถูกกองทัพเขมรบังคับให้กลับไปอยู่เมืองเขมร เพราะในเวลานี้


(หน้า ๑๕๕)

ได้เปลี่ยเจ้าเมืองเขมรใหม่แล้ว และฝ่ายแม่ทัพไทยก็ได้แนะนำ ให้พวกนี้ไปอยู่เมืองเขมรเหมือนกันแต่ครั้นกองทัพไทยได้แตก ยับเยินในคราวนี้ พวกเข้ารีดก็เกิดกลัวพวกไท้สนขึ้นจึงได้หนีเข้า ป่าไปหมด มีคนเล่ากันว่ามองซิเออร์ลังเกอนัว ก็ถูกปล้น และเมื่อวันซืนนี้ได้มีคนไทยมาชวนใหข้าพเจ้าซื้อของจากวัดเมืองเขมร ข้าพเจ้าจะ ได้พยายามจัดการช่วยมองซิเออร์ลังเกอนัวบ้าง บางทีข้าพเจ้าก็จะ ชักชวนให้เขามาอยู่ในเมืองนี้ด้วย มองซิเออร์ ปิแยร์ลังเกอนัวได้เดิรทางบกมาถึงบางกอกเมื่อวัน ที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม และได้พาคนเข้ารีดมาจากเมืองเขมรประมาณ ๔๕๐ คน กับชาวเขมรซึ่งเปนทาสของพวกเข้ารีดอีก ๑๐๐ คนเศษ มองซิเออร์ลังเกอนัวได้ทิ้งพถวกเข้ารีดไว้ที่เหนือเมืองเขมรประมาณ ๒๗๐ คน และมองซิเออร์ลังเกอนัวบอกว่า เมื่อการทั้งปวงสงบ เรียบร้อยแล้วจะได้กลับไปอยู่เมืองเขมรอีก

_________________________________________________________
๑ ในเรื่องที่พวกเข้ารีดถูกปล้น คือมีเรือประมาณ ๑๕ ลำ กับของเครื่องแต่งตัว เขมรซึ่งได้ทำขึ้นที่เมืองซาเด็กนั้น ขอให้เข้าใจว่าผู้ที่ปล้นนั้น เปนพวกญวนพรรคพวก ของเจ้าแผ่นดินญวนองค์เก่า หาใช่พวกไทยปล้นไม่ ผู้บังคับการกองทัพไทยชื่อพระยานครสวรรค์ ได้ถูกหาว่าเปนขบถพระเจ้ากรุงสยามจึงมีรับสั่งให้จับตัว และไปจับตัวพระยานครสวรรค์ได้ที่ปากน้ำเมืองญวน เจ้าพนักงารได้พาพระยานครสวรรค์กลับไปเมืองไทย พระ- ยานครสวรรค์ ต้องรับพระราชอาญาประหารชีวิตและถูกริบราชบาทว์ด้วย เมื่อได้ไปริบ ของ ๆ พระยานครสวรรค์จึงได้ไปพบของบางอย่างซึ่งพวกญวนได้ปล้นไป



(หน้า ๑๕๖)

ว่าด้วยพม่ายกทัพมาเมืองไทยอีก

พวกพม่าได้ยกทัพเข้ามาไม่หยุดเลยจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๘๖(พ.ศ. ๒๓๒๘) แต่เปนการเคราะห์ดีที่พระเจ้ากรุงสยามของเรา
ได้ทรงตระเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยโปรดให้จัดกองทัพให้ เปนระเบียบดีขึ้น และโปรดให้ขุดสนามเพลาะเตรียมไว้
เพราะพวกพม่าข้าศึกได้เตรียมการที่จะมาตีเมืองไทยอยู่หลายเดือน

อยู่ดี ๆ โดยไม่ทันรู้ตัว พม่า ก็ยกทัพมามีพลประมาณ ๙๐,๐๐๐ คน ซึ่งเปนคนไทยบ้าง ลาวบ้าง แขกอารากันบ้าง
พวกข้าศึกได้แยกกองทัพเข้ามาเปน ๔ กอง แต่ด้วย พระเปนเจ้าช่วย
ไทยได้ไปต้านทานกองทัพพม่าแตกหนีไปทั้ง ๔ กอง โดยเกือบจะไม่ต้องรบกันเลยก็ว่าได้ เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ใคร่ได้มีคนล้มตาย

และพวกเข้ารีด ไม่ได้ตายเลยจนคนเดียว ไทยจับของเชลยจากพม่า ได้เปนอันมาก มีช้างม้าและโคเปนต้น
และจับพม่ามาเปนเชลยหลายร้อยคน เชลยเหล่านี้ ล้วนแต่ต้องจำโซ่ตรวนทั้งนั้น
และในเวลาที่พม่าข้าศึกแตกหนีไปนั้น ไทยก็ได้ไล่ฆ่าฟันล้มตายเปนอันมากทั้ง ๔ กอง

เขาพูดกันว่า ทัพพม่าที่แตกหนีไปคราวนี้ ได้รับคำสั่งให้พักอยู่ที่ชายแดนพม่ากับไทย และให้ทหารเหล่านี้ระดมกันทำนา
เมื่อเก็บเกี่ยวเข้าเสร็จแล้ว พม่าจะได้ยกลงมาตีไทยอีก แต่การที่พม่าคิดการเช่นนี้ เห็นจะเปนการขู่
เพราะพม่ากลัวไทยจะไล่ติดตามไปอีก
แต่จะอย่างไรก็ดี ถ้าพม่ายกเข้ามาคราวใด อาหารการกินในเมืองไทยก็แพงขึ้นทุกที
วันนี้เข้าเกวียนหนึ่ง ๘๐ สัดเล็กเปนราคาถึง ๔๕ บาท -



(หน้า ๑๕๗)

- (เหรียญ ๒๗ เหรียญ)ฉ
แต่การที่เข้าแพงนั้นเปนด้วยในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนน้ำท่วมมาก ซึ่งทำให้เข้าในนาเสียเปนอันมาก ทั้งทำให้ผลไม้ตามสวนในบางกอก
และในที่ใกล้เคียง ล้มตายมากที่สุด
ที่เมืองเขมรน้ำก็ท่วมนาเสียและต้นผลไม้ล้มตายเหมือนกับในเมืองไทย แต่ที่อาหารการกินแพงนั้น ก็เพราะพม่าข้าศึกมาช่วยกินและเผา
เสียก็มากเหมือนกัน


จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ ว่าด้วยไทยไปตีเมืองทวาย

จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เกาะหมากวันที่ ๒๔ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๘๘ (พ.ศ. ๒๓๓๑)

ด้วยพวกไทยมีความเบื่อหน่าย ในการที่พม่ายกเข้ามาทำศึกทุก ๆ ปีไม่เว้นเลย
และการที่พม่าเข้ามาคราวใด ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปทุกที เพราะฉนั้น ไทยเบื่อหน่ายเข้าเต็มทีแล้ว จึงได้ยกกองทัพไปตีพม่าบ้าง

ตามข่าวที่ทราบมา ได้ความว่า กองทัพไทยได้ตีเมืองทวาย และเมืองมะริดกลับคืนมาได้แล้ว
และได้ทราบต่อไปว่าพม่าเห็นจะสู้ไทมยไม่ไหวเปนแน่ เพราะไทยกลับแขงแรงและกล้าหาญขึ้นมาก
ไม่อ่อนแอเกียจคร้านเหมอนแต่ก่อนแล้ว พวกเราหวังกันว่าในไม่ช้าก็จะถึงเวลาที่จะได้รับความสุข ไม่ต้องวุ่นวายดังแต่ก่อน ๆ มา
พระเปนเจ้าจงโปรดให้เราได้รับความสุข ต่อไปเถิด



(หน้า ๑๕๘)

จดหมายมองซิเออร์ลาวูเอ ว่าด้วยญวนและเขมรเชลย ในบางกอก

เรื่องพวกญวนและเขมรเปนเชลยในบางกอก

จดหมายของมองซิเออร์ลาวูเอ
ถึงมองซิเออร์ อาลารี
ค.ศ. ๑๗๙๐ (พ.ศ. ๒๓๓๓)

ด้วยพวก ชาวตั๋งเกี๋ย ได้หนี พวกไท้สน (Tay-son) ไปทำการค้าขายยังเมืองลาว ไทยจึงได้จับพวกชาวตั๋งเกี๋ยวเปนเชลยประมาณ ๔๐๐ คน
และได้พาเชลยเหล่านี้มายัง บางกอก เมื่อมาถึงบางกอกแล้ว
พวกเชลยเหล่านี้ได้ตายไปด้วยอดอาหารบ้าง ทนความเหน็จเหนื่อ เดิรทางไม่ได้บ้าง ประมาณ ๓๐๐ คนแล้ว

ได้มีพวกเข้ารีดไปอาศรัยอยู่กับพวกไทยประมาณ ๒๐ คน คนเหล่านี้ได้ไปอยู่นอกเมืองไม่ห่างไกลเท่าไรนัก เพราะเปนที่ซึ่งพระเจ้ากรุงสยาม
ได้ทรงจัดให้พวกนี้ไปตั้งค่ายอยู่

ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมพวกนี้และได้เอายาไปแจกด้วย ข้าพเจ้าเจตนาจะช่วยพวกนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่วิญญาณและร่างกายของเขา
จึงได้ปลูกวัดเล็ก ๆ ให้ ๑ หลัง เพื่อพวกนี้จะได้รวบรวมกันได้

มีพวกไม่ได้เข้ารีดหลายคน ได้มาขอจะ เข้ารีด ถ้าหากว่า มีมิชชันนารีคอยจัดการอยู่สักคน ๑ พวกนี้ก็คงจะเข้ารีดทุกคน
แต่เปนการเคราะห์ร้ายด้วยเวลานี้ไม่มีใครเลย เพราะมีแต่ มองซิเออร์ ฟลอรังซ์ อยู่ที่บางกอกคนเดียวเท่านั้น
และท่านผู้นี้ก็มีหน้าที่ควบ -



(หน้า ๑๕๙)

- คุมพวกเข้ารีดไทย และปอตุเกต ซึ่งมีจำนวนถึง ๖๐๐ คนอยู่แล้ว
ใกล้กับค่ายพวกญวนนั้น ยังมีค่ายเขมรอีกค่าย ๑ มีคนประมาณ ๕๐๐ คน
เมื่อ พวกเขมร ได้เห็นข้าพเจ้า สร้างวัดขึ้น พวกนี้ก็พากันดีใจ แต่พวกนี้ ก็หาได้เปนคนเข้ารีดไม่
ถ้าข้าพเจ้าจะคงอยู่กับพวกนี้ได้ ดูเหมือนจะมีคนมารับคำสั่งสอนมาก -

................................


(หน้า ๑๖๐)

จดหมายมองซิเออร์ลาวูเอ ว่าด้วยพวกเข้ารีดไม่ยอมทำ การก่อกำแพงวัด

เรื่องเกตุที่เกิดขึ้นในเวลาสร้างพระอาราม

จดหมาย มองซิเออร์ ลาวูเอ
ถึงมองซิเออร์ บัวเรต์
บางกอก วันที่ ๑๒ เดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๑ (พ.ศ. ๒๓๓๓)

เวลานี้ ข้าพเจ้ากลับมาอยู่ที่บางกอก แทน มองซิเออร์ฟลอรังซ์แล้ว เพราะ มองซิเออร์ฟลอรังซ์ จะไปอยู่เมืองจันทบุรีหลายเดือน

เมื่อวารนี้ วันที่ ๑๑ เดือนกุมภาพันธ์ พวกเข้ารีดของเรา เกือบต้องเปนอันตรายทุกคน หากว่าพระเยซูได้โปรดช่วยให้เข้าได้รอดพ้นอันตราย
โดยมีเกียรติยศอยู่บ้าง
เรื่องที่เกิดขึ้น เกี่ยวแก่การที่ไทย จะก่อกำแพงวัด พวกเข้ารีดที่เปนชาวเขมร อยู่ในบังคับ ปอตุเกต
ได้ร้องขึ้นว่า การที่จะก่อกำแพงวัดเช่นนี้ เปนการที่ สาสนาคริศเตียน ห้ามไม่ให้เขาทำ
พวกข้าราชการไทยที่กำกับการก่อกำแพงนั้น หาฟังเสียงพวกเข้ารีดไม่ จึงพูดว่า
"พระเจ้าแผ่นดิน ได้มีรับสั่งแล้ว เพราะฉนั้น ต้องทำตามรับสั่ง ถึงวันกำหนดพวกนี้ ต้องมาทำงาร ตามรับสั่ง"

พวกหัวหน้าเข้ารีด จึงได้ปรึกษาหารือกับพวกทหารเข้ารีด และได้ตกลงกันว่า จะเปนตายร้ายดีอย่างไรก็ตาม
พวกนี้จะไม่ยอมก่อกำแพงวัดเปนอันขาด
แต่ถ้าถึงกำหนดวันพวกเข้ารีดจะต้องไป -



(หน้า ๑๖๑)

- พร้อมกัน
และถ้าเสนาบดี จะสั่งให้พวกนี้ทำงารแล้ว ก็ให้ขอร้องขึ้นพร้อมกัน ขอทำงารอย่างอื่น
ครั้นรุ่งเช้า พวกเข้ารีด ได้ไปพร้อมกันอยู่ใกล้กับวัด พอข้าราชการผู้กำกับงานเห็นพวกนี้เข้าก็สั่งให้ไปทำงาร
พวกเข้ารีดก็ไม่ยอมไป ข้าราชการผู้นี่นก็โกรธเปนอันมาก จึงได้ฉวยหวายไล่ตีพวกทหารเพื่อจะให้กลัว

ในขณะนั้นพอดี พระเจ้ากรุงสยามก็เสด็จมาทอดพระเนตร์งาร จึงรับสั่งถามว่า เฆี่ยนตีด้วยอะไรกัน
ครั้นทรงทราบว่า เพราะเหตุที่พวกเข้ารีดไม่ยอมทำงาร ที่เกี่ยวด้วยวัด โดยเขาอ้างว่าเปนการผิดสาสนานั้น
จึงได้รับสั่งว่า ไม่ได้มีพระราชประสงค์จะข่มขืนให้พวกเข้ารีดทำการ ที่ผิดด้วยกฎหมายของเขา และในเรื่องนี้ก็ได้รับสั่งไว้ครั้ง ๑ แล้ว

เพราะฉนั้น โปรดให้พวกเข้ารีดกลับไปได้ แต่รับสั่งว่า ในเรื่องนี้ก่อนที่จะทำอะไร ก็ควรจะกราบทูลให้ทรงทราบเสียก่อน
ในคราวนี้ มีผู้ถูกตี ๘ หรือ ๑๐ คนเท่านั้น
ครั้นพวกเข้ารีด เห็นว่า พระเจ้ากรุงสยาม มิได้ทรงถือโทษอย่างไร ก็พากันยินดีเปนที่สุด ต่างคนจึงรีบมายังวัดเข้ารีด
เพื่อขอบพระคุณ พระเปนเจ้า ที่ได้ช่วยเหลือเห็นประจักษ์แก่ตา เช่นนี้


๒๑


(หน้า ๑๖๒)

จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ว่าด้วยว่าด้วยสอนสาสนาแก่ พวกลาว

ข่าวบางกอกตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๙๘ ถึง ค.ศ. ๑๘๑๐ (พ.ศ. ๒๓๔๐ ถึง ๒๓๕๐)
ว่าด้วยพวกลาว

จดหมายมองเซนเยอ กาโนต์
ถึงมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์
บางกอกวันที่ ๒ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ (พ.ศ. ๒๓๔๑)

เมื่อ ๓ปีล่วงมาแล้ว ได้มี คนอพยพยกครอบครัวมาอยู่เมืองนี้ เปนอันมาก ไม่ทราบว่าคนจำพวกนี้จะเปนคนชาติใด แต่พูดภาษาลาว
คล้ายคลึงกับภาษาไทยมาก พอพูดเข้าใจกันได้ง่าย

พวกนี้ ไม่ได้นับถือ พุทธสานา และโดยมากสักแขนเปนรูปไม้ กางเขน
พอพวกนี้ มาอยู่บางกอกได้ สองสามวัน หัวหน้าก็ได้ มาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้จัดให้คนเข้ารีดทั้งหญิงและชายไปเยี่ยมคนพวกนี้
และให้ช่วยกันรักษาพวกที่ป่วยด้วย

ข้าพเจ้าเองก็ได้ไปเยี่ยมพวกนี้ เขาจึงได้เอาหนังสือมาให้ข้าพเจ้าดู ตัวอักษรนั้น คล้ายกันอักษรไทยมาก ข้าพเจ้าดูอยู่ครู่เดียวก็อ่านออก
หนังสือที่เขาเอามาให้ข้าพเจ้าดูนั้น เกี่ยวด้วยการสาสนา ที่เขาได้จดจำเอาไว้ สังเกตข้อความก็คล้ายคลึงกับในคัมภีร์ของสาสนาคริศเตียนมาก
เพราะฉนั้น ถ้าได้ลงมือสอนสาสนาแล้ว พวกนี้ก็คงเข้าใจได้ง่าย
ข้าพเจ้าก็หมายว่า จะตั้งหน้าสอนพวกนี้สักคราว แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเหตุว่าพวกนี้ ต้องถูกเกณฑ์ไปทำการโยธา ไกลจากกรุง ฯ
หนทางถึง ๒ - ๓ วัน คนที่อพยพมา -



(หน้า ๑๖๓)

- คราวนี้จำนวนคน ๘๐๐ คน เม่อสองสามเดือนที่ล่วงมาแล้วนักเรียนของเราคน ๑ ได้เข้าไปในเมืองเพื่อไปค้าขาย จึงได้ไปพบลาวชราคน ๑
นักเรียนของเรา จึงได้ไปสั่งสอนลาวคนนี้ แล้วถามว่า ตามที่สอนนี้เชื่อหรือไม่ ลาวคนนี้จึงได้บอกว่าเชื่อ

และเล่าต่อไปว่า พุทธสาสนานั้น ลาวคนนี้ไม่เชื่อเลย ลาวคนนี้เดิมบวชเปนพระสงฆ์ไทย และก็เปนคนใหญ่ อยู่ในคณะสงฆ์ด้วย
อีกสองสามวัน ลาวคนนี้ก็ได้กลับไปยังบ้านเมืองของตัว ซึ่งเปนเมืองขึ้นแก่ไทย



(หน้า ๑๖๔)

จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ ว่าด้วยพวกเข้ารีดถูก บีบคั้น

พวกเขารีดถูกกดขี่บีบคั้น

จดหมายของมองเซนเยอร์กาโนต์
ถึงมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์
บางกอกวันที่ ๒ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ (พ.ศ. ๒๓๔๑)

ข้าพเจ้า ต้องรายงารให้ ท่านคาดีแนล ทราบ ถึงการที่เราได้ถูกกดขี่บีบคั้นมาตั้งแต่เดือน กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๖ (พ.ศ. ๒๓๓๙)
ตลอดถึงราวกลางปี ค.ศ. ๑๗๙๗ (พ.ศ. ๒๓๔๐) แต่การที่เราได้ถูกกดขี่คราวนี้ ได้ทำให้สาสนามีชื่อและเกียรติยศขึ้นเปนอันมาก
เพราะ เรื่องนี้ได้เลื่องลือไปตลอดทั่ววพระราชอาณาเขต
จนที่สุดในเวลานี้ พระเจ้ากรุงสยาม ไม่ทรงฟังในการที่ มีผู้กล่าวโทษพวกเข้ารีดแล้ว

การที่เกิดขึ้นคราวนี้ เกิดจากพวกเข้ารีดของเราเอง ได้แตกสามัคคีกันขึ้น เพราะพวกเข้ารีดเหล่านี้ คิดจะไล่สังฆราชไปเสีย
และ คิดจะพา บาดหลวงปอตุเกต มาแทน สังฆราช จนถึงกับจัดคนไปเมืองจีน ๒ คน แล้ว เพื่อให้ไปหาสังฆราชเมืองมาเก๊า

สังฆราช เมืองมาเก๊า ก็ได้รับรองตามความต้องการของพวกเข้ารีด ในสิ่งที่ไม่ขัดกับอำนาจของโป๊ปและไม่ขัดกับการปกครองของคณะบาดหลวง
แต่ในชั้นนี้ สังฆราชเมืองมาเก๊า เปนแต่มีจดหมายมาถึงพวกเข้ารีดเท่านั้น
จดหมายฉบับนี้ ข้าพเจ้าได้พบอยู่ในห่อหนังสือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้เรียกพวกเข้ารีดมา เพื่อจะมอบหนังสือให้

ตั้งแต่แรกได้เกิดการกดขี่กันขึ้นได้มีพวกเข้ารีดผู้หญิงบางคน -



(หน้า ๑๖๕)

ไปเฝ้าเจ้านายผู้หญิง เจ้านายผู้หญิงจึงรับสั่งว่า
"เอะอะอะไรกัน เห็นจะเปนด้วยเหตุมีบาดหลวงปอตุเกตมาบางกอกแล้วกระมัง"
พวกเข้ารีดผู้หญิงจึงได้ทูลว่า "บาดหลวงปอตุเกตยังหามาไม่"
แต่เจ้านายผู้หญิงไม่ใคร่จะทรงเชื่อ เพราะยังทรงจำได้ว่าบาดหลวงปอตุเกตมาคราวก่อน เอะอะกันอย่างไรบ้าง


จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ ว่าด้วยขุนนางเข้ารีดไป บวชเปนพระสงฆ์

จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์
ถึงเปรเฟเดอลาโปรปากานด์
วันที่ ๘ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ (พ.ศ. ๒๓๔๑)

เราได้พ้นจากการกดขี่ อันเปนที่น่าน้อยใจเพราะเหตุว่า เปนเรื่องที่เกิดขึ้นจากพวกเข้ารีด ซึ่งคิดเอาใจออกหากจากคณะบาดหลวง
ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เกิดเรื่องขึ้น พวกเข้ารีดเกรง ขุนนางที่เข้ารีดอยู่คน ๑
เพราะขุนนางผู้นี้ ยังซื่อตรงต่อคณะบาดหลวง ของตัวอยู่

พวกเข้ารีด จึงคิดจะกำจัดขุนนางผู้นี้เพื่อจะไม่ให้มาขัดขวางได้ จึงกล่าวโทษหาว่าขุนนางผู้นี้
ได้ละทิ้งสาสนา ของบิดามารดา ไปเข้ารีดเปนคริศเตียน
พอความนี้ ทรงทราบถึงพระเจ้ากรุงสยาม จึงได้ มีรับสั่งให้ขุนนางผู้นั้น เข้าวัดและให้บวชเปนพระสงฆ์เสีย
แต่ใน ครั้งนั้น ขุนนางผู้นี้ มีโอกาศพอจะหลีกเลี่ยงไม่ต้องไปบวชได้ ต่อมาได้มีรับสั่งเปนครั้งที่ ๒ ให้ขุนนางผู้นี้ ไปบวชเปนสงฆ์
และห้าม มิให้ เข้าไปในวัดเข้ารีดอีก ต่อไป เปนอันขาด

ขุนนางผู้นี้ซึ่งมีความ -



(หน้า ๑๖๖)

- รู้ในสาสนาคริศเตียนแต่เล็กน้อย และรู้เท่าที่บุตร์หญิงลักสอนให้ในเวลากลางคืนนั้น จึงได้ ละสาสนาคริศเตียนไปเข้าไปบวชเป็นภิกษุสงฆ์
ตามรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน และ กลับเปน ผู้กดขี่ครอบครัวของตัวเสียด้วยซ้ำ
การเรื่องนี้มีเรื่องราวดังนี้

ในชั้นเดิม พระเจ้ากรุงสยาม ได้ตั้งพระทัยไว้ว่า จะยกขุนนางผู้นี้ขึ้นเปนขุนนางผู้ใหญ่ มาวัน ๑ พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงปรึกษาเรื่องนี้
อยู่กับสมเด็จ พระอนุชา ๆ จึงได้กราบทูลว่า ขุนนางผู้นี้ เปนคนไม่ซื่อสัตย์ และขัดพระราชโองการ โดยขืนไปยังวัดเข้ารีดบ่อย ๆ ผิดรับสั่ง

พระเจ้ากรุงสยามจึงได้กริ้วและรับสั่งให้ไต่สวนเรื่องนี้ต่อไป และโปรดให้เอาภรรยาและบุตร์ชายบุตร์หญิงของขุนนางจำเลยผู้นี้มาเปนประกันว่า
ต่อไปขุนนางผู้นี้ จะเปนผู้ซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดี ต่อพระเจ้าแผ่นดิน
บุตร์ภรรยาของขุนนางผู้นี้ เดิมก็เปนคนเข้ารีด แต่ได้ถูกบังคับให้ละทิ้งสาสนาคริศเตียน และให้นับถือ พุทธสานา ต่อไป

เมื่อต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๖ (พ.ศ. ๒๓๓๙) เจ้าพนักสารได้นำภรรยาของจำเลย ไปยังผู้พิพากษา แต่คำให้การในชั้นแรกเปนถอยคำซึ่ง
สมควรพระเจ้าแผ่นดินจะควรกริ้วอยู่บ้าง ผู้พิพากษาจึงได้อธิบายว่า การที่จะดื้อดึงอยู่เช่นนี้เปนการให้ใส่ร้ายแก่ตัวเอง
แต่ หญิงภรรยาจำเลยก็ไม่ยอมถอนคำที่ได้ให้ไว้แต่เดิม เจ้าพนักงาร จึงได้เอาหญิงผู้นี้จำตรวนเสีย เพื่อจะให้กลับใจมานับถือพุทธ -



(หน้า ๑๖๗)

- สาสนาต่อไป

ภายหลังอีก ๓ วัน คือวันที่ ๑๐ เดือนกันยายน เจ้าพนักงารได้พาบุตร์ของจำเลยไปยังศาล คือ ผู้ชาย ๒ คน ผู้หญิง ๒ คน
คนสุดท้องนั้น เปนผู้ชายอายุ ๑๔ ปี และ เปนนักเรียนอยู่ในโรงเรียน ของเรามาได้ ๒-๓ เดือนแล้ว
เจ้าพนักงารได้ พาพี่ชายและพี่สาวไปก่อน ส่วนน้องสุดท้องคนที่ว่านี้ ยังรออยู่ที่โรงเรียน เพราะเขาทราบอยู่แล้วว่า
บิดามารดา ได้ถูกทำโทษมาอย่างไร
ครั้นมีคนถาม เด็กนี้ว่า จะยอมตามที่เจ้าพนักงารบังคับ เพื่อไม่ต้องถูกกดขี่หรือ อย่างไร เด็กผู้นี้ก็ได้ตอบว่า
ถ้าทำเช่นนั้น ก็เสียเกียรติยศของคนเข้ารีต และเขาได้บอกกับมารดาของเขาว่า เขายอมตายกับมารดาเพื่อสำหรับรักษาชื่อของพระเยซูไว้

.............................



(หน้า ๑๖๘)

จดหมายมองเซนเยอร์กาโนต์ ว่าด้วยคิดจะตั้งโรงพิมพ์ ในบางกอก

เรื่องคิดจะตั้งโรงพิมพ์ในบางกอก

จดหมาบมองเซนเยอร์ กาโนต์
ถึงมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์
เมืองปอนดีเชรีวันที่ ๑๓ เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๘๗ (พ.ศ. ๒๓๓๐)

ขอท่านได้โปรดจัดส่งตัวพิมพ์มายังข้าพเจ้าด้วย เพราะโรงพิมพ์นี้ จะเปนประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเปนอันมาก
ด้วยเวลานี้ข้าพเจ้า มีคนเข้ารีดที่อ่านหนังสือฝรั่งได้ถึง ๙ คน
ข้าพเจ้าจะพิมพ์สำเนา และอ่านทานคนเดียวไม่ไหว ตัวพิมพ์ที่ท่านจะส่งมายังข้าพเจ้านั้น
ขอได้โปรดเลือกตัวพิมพ์ และ หมึกที่จำเปนจะต้องใช้ และซึ่งจะหาในเมืองนี้ไม่ได้



(หน้า ๑๖๙)


จดหมายมองซิเออร์ฟลอรังซ์ ว่าด้วยไทยไปตีเมือง ทวาย

จดหมายมองซิเออร์ฟลอรังซ์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๗ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ (พ.ศ. ๒๓๓๖)

เวลานี้ไทยเกิดทำสงครามกับพม่าอีกแล้ว การที่ได้เกิดศึกคราวนี้ เปนด้วยเจ้าเมืองทวายเปนต้นเหตุ เมืองทวายนี้เปนเมืองขึ้นของพม่า
คือ เจ้าเมืองทวาย คิดจะล่อลวงให้พระเจ้ากรุงสยาม เสด็จมายังเมืองทวาย จึงได้คิดอ่าน เอาดินระเบิดฝังไว้ประตูเมือง และกะการไว้ว่า

ถ้าพระเจ้ากรุงสยามเสด็จผ่านเข้าประตูเมืองเมื่อใด ก็จะได้ระเบิดประตูขึ้น แต่ความคิดอันนี้ก็หาได้สำเร็จไม่
เพราะ ยังไม่ทันระเบิดประตูขึ้น อุบายอันนี้ ก็ทราบถึงพระเจ้ากรุงสยามเสียก่อนแล้ว

และพระเจ้ากรุงสยาม ได้ตีเอาเมืองได้ น้องของเจ้าเมือง ซึ่งได้เคยเปนทูต เข้าไปยังเมืองไทยกับหญิงไทยคน ๑
ซึ่งอ้างตัวว่า เปนมารดาของเจ้าดารา นั้นได้ถูกตัดศีร์ษะ แต่ส่วนหญิงไทยนั้น ไม่ทราบว่าหายไปไหน

ตัวเจ้าเมืองทวายนั้น หนีเอาตัวรอดไปได้ และ ได้เลยไปบอกเจ้ากรุงพม่าว่า ไทยได้จับเมืองทวายไว้ได้แล้ว
พวกพม่า จึงได้ยกทัพมีพลเปนอันมากกับเรือฝรั่ง ๑๐ ลำ เพื่อจะมา ตีเอาเมืองทวายคืน

ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยาม ก็ได้ทรงเกณฑ์ ผู้คนเข้ากองทัพมากเหมือนกัน พวกเราจะเปนอย่างไรต่อไปก็ทราบไม่ได้
ต้องแล้วแต่พระเปนเจ้าจะโปรด

................................................................
๑ ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า King Dara


๒๒


(หน้า ๑๗๐)

จดหมายมองซิเออร์ฟลอรังซ์ ว่าด้วยไทยไปตีเมือง ทวาย

จดหมายมองซิเออร์ฟลังรังซ์ถึง
มองซิเออร์ บัวเรต์
วันที่ ๘ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๓ (พ.ศ. ๒๓๓๔)

พระเจ้ากรุงสยาม ได้เสด็จกลับมา เมื่อปลายเดือนมกราคม แล้ว เมื่อเดือน พฤศจิกายน ได้เสด็จไปป้องกันเมืองทวาย
ซึ่งได้ทรงตีจากพม่าได้เมื่อปีกลายนี้ พวกพม่าได้กลับมา และตีเอาเมืองทวายคืนจากไทยได้
และ ได้ฆ่าไทยตายเปนอันมาก เขาพูดกันว่าไทยได้ตาย ในคราวนี้กว่า ๑๐๐๐ คน
ไทยได้เสียปืนใหญ่ไปมากเหมือนกัน พวกเข้ารีดของเรา ไม่ได้ตายเลยจนคนเดียว



(หน้า ๑๗๑)

จดหมายมองซิเออร์วิลแมง ว่าด้วยความกันดารใน เมืองไทร

เมืองไทรบุรี

จดหมายมองซิเออร์วิลแมง
ถึงมองซิเออร์ เลอตอนดาล
เมืองไทร วันที่ ๗ เดทอนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๘๖ (พ.ศ. ๒๓๒๙)

เวลานี้ ในเมืองไทรบุรี เข้ายากหมากแพงอย่างที่สุด เงิน ๑ เหรียญไม่พอที่จะซื้อเข้ารับประทาน ฉเพาะตัวข้าพเจ้ากับเด็ก ๒ คน
วันนี้ข้าพเจ้าได้ให้คนออกไปเที่ยวซื้อเข้า คนได้กลับมามือเปล่า หาซื้อเข้าไม่ได้
วันนี้ข้าพเจ้าจะต้องนอน โดยไม่ได้รับประทานอาหาร แต่ออกสงสารเด็ก ๒ คนซึ่งอดอาหารผอมลงทุกวัน
เพราะฉนั้น จำเปนจะต้องเอาหมวกใบใหม่ของข้าพเจ้า ออกขายพรุ่งนี้เช้า เพื่อหาอะไรใส่ปากใส่ท้อง และจะต้องขายของไป
จนกว่าจะเหลือแต่เสื้อเชิ้ดตัวเดียว เท่านั้น


จดหมายมองซิเออรฃร์ราโบว่าด้วยพม่าตีเมืองภูเก็จ

จดหมายมองซิเออร์ราโบ
ถึงมองซิเออร์เรกเตนวาลด์
เมืองภูเก็จวันที่ ๒๒ เดือน มราคม ค.ศ. ๑๘๑๐ (พ.ศ. ๒๓๕๓)

ที่เกาะหมาก คงจะได้ทราบข่าวกันแล้วในเรื่องที่พม่า ได้มาเผาเมืองและเปาป้อม ที่เมืองภูเก็จ
ข่าวนี้เปนข่าวที่จริง พม่าได้มาล้อมเมืองภูเก็จอยู่ ๔ อาทิตย์ ไทยกับพม่าได้สู้รบกันอย่างสามารถ ได้ล้มตายเปนอันมากทั้งสองฝ่าย

จนผลที่สุด พม่าได้แหกเข้าเมืองได้ จึงได้เอาไฟเผาป้อม ซึ่งเปนที่พักอาศรัยของชาวเกาะภูเก็จ เสียหมดสิ้น
พวกชาวบ้านได้ถูกอาวุธตายบ้างก็มี
พม่าได้จับชาวเมืองเปนเชลยก็มาก แต่โดยมาก พวกพลเมืองได้แตกหนีเข้าป่าไปหมด



(หน้า ๑๗๒)

ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ได้มาถึงเมืองภูเก็จ เมื่อวันเสาร์ เวลา ๒ ยาม รุ่งขึ้นได้ทราบว่า จะเกิดรบกันขึ้นแล้ว และว่าพม่าได้ลงจากเรือขึ้นบกมาแล้ว
ข้าพเจ้าจึงฉวยหนังสือสวดมนต์กับเครื่องยาถุง ๑ ซึ่งข้าพเจ้ามีติดตัวเสมอสำหรับรักษาคนป่วยไข้ แล้วข้าพเจ้าก็ได้หนีเข้าไปอยู่ในป้อม

ในเวลาที่พม่าล้อมเมืองอยู่นั้น ข้าพเจ้าได้พักอยู่ในป้อมตลอดเวลา และมีความหวาดหวั่นไม่หยุดเลย
แต่โดยที่พระเปนเจ้า ได้ช่วยข้าพเจ้าหาได้ถูกบาดเจ็บไม่

ในระหว่างนั้นข้าพเจ้า ได้เปนธุระรักษาพยาบาลคนป่วยเจ็บ และเอาพระนามของพระเยซูเที่ยวสั่งสอนคนทั่วไป
พระเปนเจ้าได้โปรดให้คนเข้ารีด มีผู้ใหญ่ ๓ คน เด็กเล็ก ๆ ๒๐ คน ในผู้ใหญ่ ๓ คนนั้นเปนพระสงฆ์เสีย ๒ คน

ในคืนที่ฆ่าศึกจะตีป้อมแตกนั้น ข้าพเจ้าได้ให้น้ำมนต์กับคนเหล่านี้ เข้ารีดก่อนที่พม่าได้เข้ามาในป้อม
เมื่อได้ปรึกษาหารือกันแล้ว พวกเข้ารีด ได้ตกลงจะออกไปจากป้อม ข้าพเจ้าก็ตามพวกเข้ารีดไปด้วย แต่ครั้นไปก็ไปพบข้าศึกในค่ายพม่า
ข้าศึก ล้วนแต่ถือดาบถือหอก ทุกคน พวกเราจึงได้หนีไปซ่อนอยู่ในกระท่อมเล็กแห่ง ๑ และคอยเวลาที่เราจะต้องตาย

ข้าพเจ้าเห็นว่า จะอยู่อย่างนั้น ก็ไม่เปนประโยชน์อะไร ข้าพเจ้าจึงเดิรออกไปหาพวกข้าศึก มือขวาถือไม้กางเขนมือซ้ายถือรูปมารดาพระเยซู
ข้าพเจ้าจึงพูดกับพวกข้าศึกว่า
"ข้าพเจ้าเปนนักรบของพระเปนเจ้า อันมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าไม่ได้ทำร้ายกับผู้ใดเลย "
พระเปนเจ้า ก็โปรดทำให้พวกข้าศึกใจอ่อน พวกข้าศึก จึงเอามือมาจับ ศีร์ษะข้าพเจ้า -



(หน้า ๑๗๓)

- และจับศีร์ษะพวกเข้ารีด ที่ตามข้าพเจ้าออกไป
แล้วข้าศึกก็บอกให้พวกข้าพเจ้านั่งลง จึงได้เอาเชือกมามัดพวกเรา และได้ถอดเอาเสื้อยาวของข้าพเจ้าไป ทั้งสมุดสวดมนต์ด้วย
อีกสักครู่ ๑ พวกพม่าได้มาแก้มัดออก และได้พาเราไปอยู่ในค่าย พวกพม่าจึงได้เอาเชือกมามัดเท้าเราอีก แล้วก็ปิดประตูค่ายไว้

ข้าพเจ้า ต้องอยู่กลางแจ้งจนถึงเช้า ๔ โมง พวกข้าศึกได้มาถอดเครื่องแต่งตัวของข้าพเจ้าออกหมด เหลือไว้แต่กางเกงตัวเดียว เท่านั้น
ครั้นเวลาเช้า ประมาณ ๔ โมง นายทหารพม่าคน ๑ ซึ่งเปนคนชาติ แขกคาเฟีย และพูดภาษาปอตุเกตได้ ได้มาหาพวกเรา
และได้พาพวกเราไป แต่ฉเพาะ ๓ คนไปไว้ที่อื่น และได้เอื้อเฟื้อต่อเราทุกอย่าง

ครั้นรุ่งขึ้น อีกคืน ๑ ได้มีนายทหารเข้ารีดอีกคน ๑ ซึ่งเปนคนชอบกันกับแม่ทัพพม่า ได้ให้คนมาตามพวกเราไปอยู่ในค่ายของนายทหารเข้ารีด
ซึ่งติดกับค่ายของแม่ทัพ ข้าพเจ้าได้พักอยู่ในกระโจมผ้า (เต๊น) ของ นายทหารผู้นี้ได้ ๗ วันแล้ว

เวลานี้ข้าพเจ้าพยายามแต่จะกลับไปเมืองมะริด เพื่อจะได้ไปรวบรวมพวกเข้ารีดเมืองภูเก็จให้อยู่เปนแห่งเดียวกัน
และข้าพเจ้าเชื่อว่า พม่าคงจะอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้ไป เมืองมะริด เปนแน่

แม่ทัพเรือ ของพม่าชื่อ ยังบาเทล์ เปนคนเกิดในชาติ ฝรั่งเศส จะเปนผู้รับจดหมายฉบับนี้ ไปส่งยังท่าน
ข้าพเจ้าขอท่านได้โปรด ต้อนรับเขาให้ดี และโปรดขอบคุณเขา ที่เขาได้ช่วยเหลือเราเปนอันมาก

——————————————

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก