ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙ หมวด ก

จาก วิกิซอร์ซ
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙


เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กับ ครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาคที่ ๖

มหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าธำรงศิริ
พิมพ์ในการบำเพ็ญกุศล อายุครบ ๕๐ ปี




หมวด  ก
  • จดหมายเหตุมองเซนเยอร์บรีโกต์เรื่องคนเข้ารีดถูกตัดนิ้ว หน้า ๑
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐสวรรคตแลพระเจ้าเอกทัศได้เสวยราขย์ " ๒
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยเหตุการณ์เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน " ๓
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพวกเข้ารีดในเมืองมะริด " ๔
  • ว่าด้วยบาดหลวงเปนความกับเจ้าเมืองตะนาวศรี " ๕
  • ว่าด้วยเจ้าเมืองตะนาวศรีต้องรับโทษ " ๘
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพม่าตีเมืองมะริด " ๑๐
  • จดหมายมองซิเออร์มาแตงว่าด้วยพวกเข้ารีดกลับมาเมืองมะริด " ๑๑
  • จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยว่าด้วย มองซิเออร์ซีรู ทำลายศิลาจารึกประจาน " ๑๒
  • ว่าด้วยพม่าตีเมืองทวายและเมืองมะริดเมือง ตะนาวศรีและยกมาล้อมกรุง ฯ " ๑๓
  • ว่าด้วยพม่าตีกรุงศรีอยุทธยา " ๑๔
  • ว่าด้วยพม่าตีเมืองกำแพงเพ็ชร์ " ๑๖

.....................................................................


จดหมายเหตุของพวกคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตีครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ
กับครั้งกรุงธนบุรีแลครั้งกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น

มองเซนเยอร์บรีโกต์ ค.ศ. ๑๗๕๕ - ๑๗๗๖(พ.ศ.๒๒๙๘ - ๒๓๑๙)
ว่าด้วยคณะบาดหลวงในเมืองไทย ต้องเลิกล้มหมด



(หน้า ๑)


จดหมายเหตุมองเซนเยอร์บรีโกต์เรื่องคนเข้ารีดถูกตัดนิ้ว

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๗๘ (พ.ศ. ๒๓๐๑)

เมื่อสองสามวันมานี้ พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้ตัดนิ้วคนเข้ารีดคน๑ ทั้ง๑๐ นิ้ว คนเข้ารีดคนนี้เปนลูกศิษย์ของบาดหลวงเยซวิต ได้ดื่มสุราเมาแล้วได้ไปทุบต่อยพระพุทธรูปแล้วได้พาพระพุทธรูปไปเสียด้วย เวลานี้คนเข้ารีดคนนี้ยังติดคุกอยู่ ถึงญาติพี่น้องจะเสียเงินเสียทองสักเท่าไรก็ไม่ไหว จะแก้ไขเอาคนเข้ารีดคนนี้ออกจากคุกไม่ได้



(หน้า ๒)

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐสวรรคตแลพระเจ้าเอกทัศได้เสวยราขย์

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๓ เดือน สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๕๙ (พ.ศ.๒๓๐๒)

พระมหาอุปราชของกรุงศรีอยุธยา ต้องถูกสำเร็จโทษในระหว่างที่พระราชบิดายังมีพระชนม์อยู่ โดยพระอนุชาต่างมารดาได้กล่าวโทษ แต่ข้อหานั้นจะจริงหรือเท็จประการใดหาทราบไม่ เมื่อพระราชโอรสผู้เปนพระมหาอุปราชได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ในไม่ช้าเท่าไรนักพระราชบิดาก็ได้สวรรคตเหมือนกัน พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จสวรรคตเมื่อปลายเดือนเมษายน ค.ศ.๑๗๕๕ (พ.ศ.๒๓๐๑) แต่ที่สวรรคตนั้นเปนด้วยทรงพระชรา หาใช่พระโรคเบียดเบียนไม่ พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ซึ่งพระราชบิดาได้ตั้งพระทัยไว้ว่าจะทรงมอบราชสมบัติให้นั้น ได้เสด็จขึ้นผ่านพิภพ พอได้ขึ้นครองราชสมบัติก็ได้มีรับสั่งให้สำเร็จโทษพระอนุชาต่าวมารดาเสีย ๓ พระองค์ ซึ่งเวลานั้นต้องติดคุกอยู่ โดยต้องหาว่าจะคิดการขบถ ครั้นภายหลังพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ไม่ถูกกันกับพระเชษฐา ซึ่งมีผู้พูดกันว่าเปนพระโรคเรื้อนนั้น จึงได้เวรราชสมบัติถวายแก่พระเชษฐา เมื่อวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน แล้วได้เสด็จกลับไปประทับยังวัด ซึ่งเปนวัดที่พระองค์เคยประทับอยู่ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แล้วจึงได้เลยทรงผนวชในวัด นั้นเอง



(หน้า ๓)
การที่เราหวังว่าจะได้พึ่งพระมหาอุปราชนั้นเปนการหมดหวังในครั้งนี้เอง


จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยเหตุการณ์เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน

จดหมายมองเซนเยอร์บีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๒ เดือน พฤศจิกายน ค.ศ.๑๗๖๐ (พ.ศ. ๒๓๐๓)

เมื่อ ๒ ปีที่ล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ได้ละทิ้งราชสมบัติ เพื่อเสด็จไปทรงผนวช พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ได้ครองราชสมบัติอยู่เดือนเดียวเท่านั้น เมื่อพระราชบิดาได้เสด็จสวรรคต เมื่อปลายเดือนเมษายน ค.ศ.๑๗๕๘ (พ.ศ.๒๓๐๑) พระองค์เจ้า ต่างมารดา ๓ พระองค์ได้ถูกสำเร็จโทษในคุก เพราะเจ้าหล่านี้ คิดจะชิงราชสมบัติพระเชษฐาของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะทรงผนวชนั้น ได้ขึ้นครองราชสมบัติมาได้ ๒๐ เดือนแล้ว เมื่อปีกลายนี้ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ได้ให้ลงพระราชอาญาแก่ข้าราชการผู้ใหญ่เกือบทุกคน เพราะข้าราชการเหล่านี้คบคิดกันจะเชิญพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงผนวชให้กลับมาครองราชสมบัติอีก ข้าราชการที่ไม่ต้องรับพระราชอาญา ก็มีแต่เจ้าพระยาพระคลังคนเดียวเท่านั้น และที่รอดตัวมาได้ ก็เพราะได้เอาของถวายมากต่อมาก นอกจากการในหน้าที่ประจำแล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้รับหน้าที่รักษาพระราชลัญจร ด้วย ยังมีพระองค์เจ้าต่างมารดาอีกองค์๑ ทรงผนวชอยู่ ได้คบคิดกับข้าราชการ ในเรื่องที่จะถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระ จึงต้องถูกเนรเทศไปเมืองลังกา



(หน้า ๔)

แต่เรือที่พาเจ้าองค์นี้ไปเมืองลังกานั้น ได้ถูกซัดไปเข้าเฝ้าเกาะสุมาตรา เจ้าองค์นี้จึงได้ขึ้นไปอาศรัยอยู่ที่เกาะสุมาตราได้สักหน่อย แล้วก็ได้เลยเสด็จไปเกาะมาลากา มีคนเปนอันมากอยากจะให้เจ้าองค์นี้ได้ครองราชสมับติ และบางทีพวกฮอลันดาก็จะช่วยให้ได้สมประสงค์ก็จะเปนได้


จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วย พวกเข้ารีดในเมืองมะริด

เมืองมะริด

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๒๗๕๘(พ.ศ. ๒๓๐๐)

มองซิเออร์ ลาเฮดู โปนาล นายเรือลำใหญ่ของบริษัทได้ทราบข่าวว่า ได้มีคนจับเรือของฝรั่งเศสไปอีกลำ ๑ จึงได้กลับเรือ เลยมาที่เมืองมะริด และรับมองซิเออร์ อันดรีเออไปด้วย เพราะเหตุว่า มองซิเออร์อันดรีเออ มีความเบื่อหน่ายในการที่ได้รับแต่ความอยุติธรรม จึงได้คิดไปยังเมือง ปอนดีเชรี เพื่อไปขอของฝากจาก มองซิเออร์เดอลอ เจ้าเมืองปอนดีเชรี การที่ไปหาเจ้าเมือง ปอนดีเชรี นั้น ก็ได้สำเร็จตามความปรารถนา และเมื่อได้ไปสัก ๖ เดือนแล้ว ก็ได้กลับมายัง เมืองมะริด พร้อมกับนายเรือคนเก่า นั้นเอง ของฝากเหล่านี้ ได้ส่งไปในนามของ เจ้าเมืองปอนดีเชรี เพื่อถวายพระเจ้ากรุงสยาม ถวายพระมหาอุปราชและฝากต่อเจ้าพระยาพระคลังด้วย



(หน้า ๕)

ว่าด้วยบาดหลวงเปนความกับเจ้าเมืองตะนาวศรี

เมื่อได้ส่งของไปถวายนั้น ก็ได้มีหนังสือร้องฟ้องกล่าวโทษเข้าไปด้วย ซึ่งเจ้าพนักงานในกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับโดยดี และเจ้าพระยาพระคลังก็ได้ตอบหนังสือกล่าวโทษฉบับนั้น โดยสำนวนอันไพเราะ ทั้งได้มีคำสั่ง ไปยังรัฐบาล เมืองตะนาวศรีให้รับรอง อุดหนุนช่วยเหลือพวกฝรั่งเศส และให้ส่งเข้าสารกับดีบุกไปยัง เมืองปอนดีเชรีด้วย แต่พอคำสั่งเรื่องนี้ ได้มาถึงเมืองตะนาวศรี เจ้าเมืองตะนาวศรีก็คิดอ่านหาทางที่จะทำให้ พวกพ่อค้าขัดเคืองอีก และได้พยายามรังแกมองซิเออร์ ฟรังซัววิโอเลต์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งตั้งบ้านเรืออยู่ในเมืองมะริด และเปนผู้บังคับเรือของมองซิเออร์เดอ มอราแซง เจ้าเมือง มสุลีปตันด้วย
เมื่อการเปนเช่นนี้ มองซิเออร์ อันดรีเออ จึงเห็นเปนการจำเปน ที่จะส่งหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ให้แก่เจ้าเมืองตะนาวศรี เมื่อเวลาเจ้าเมือง ตะนาวศรี รับหนังสือของเจ้าพระยาระคลัง นั้น ก็ไม่เห็นทำกิริยานบนอบอย่างไร

ในครั้งนั้น เจ้าเมืองตะนาวศรี ได้หาความว่า พวกเข้ารีดได้คุมสมัพรรคพวกเข้าไปในบ้านเจ้าเมือง ตะนาวศรี เพื่อจะไปฆ่าตัวเจ้าเมือง
และหาความว่า พวกมิชชันนารีขัดขืน ไม่ยอมให้พวกเข้ารีด ออกติดตามจับพวกโจรสลัด และหาความว่า พวกมิชชันนารีรับบุตรของคนที่ไม่ได้เข้ารีด ไปเข้ารีด ผิดด้วยประกาศพระราชโองการซึ่งได้จารึกไว้ในแผ่นศิลา แล้วเจ้าเมือง ตะนาวศรี ได้สั่งให้ล่าม ส่งตัวมิชชันนารีให้แก่ไทย และสั่งให้พวกเขารีด ไปขนหินบนภูเขา ไปใส่ไว้ใน เมืองซาลำปูร์



(หน้า ๖)

ฝ่ายมองซิเออร์ อันดรีเออ ได้คิดเห็นว่า คณะบาดหลวงเมืองมะริด น่ากลัวจะล้มตั้งไม่ติด เปนแน่ จึงได้หนีไปในคืนวันที่ ๘ เดือนมกราคม และได้ลักลอบเข้าไปในกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ ๑๖(มกราคม)

การที่มองซิเออร์อันดรีเออ มาฟ้องร้องกล่าวโทษ เจ้าเมืองตะนาวศรีนั้น ข้าพเจ้าก็เห็นด้วย เพราะฉนั้น จึงได้พากันไปยังบ้าน เจ้าพระยาพระคลัง เพื่อขอให้เจ้าพระยาพระคลังถอดเจ้าเมืองตะนาวศรีเสีย

เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ตอบว่า จะได้จัดคนออกไปไต่สวนเสียก่อน และถ้าได้ความจริงตามข้อหาของพวกฝรั่งเศสแล้ว เจ้าเมืองตะนาวศรีก็จะดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่ได้
แล้วเจ้าพระยาพระคลัง จึงได้นำความเรื่องนี้กราบทูลต่อพระเจ้ากรุงสยาม ๆ จึงได้มีกระแสรับสั่งว่า ถ้าไต่สวนได้ความจริงแม้แต่ข้อเดียวหรือ ๒ ข้อ ก็ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนเจ้าเมืองตะนาวศรีเสีย แต่ ส่วนข้อความที่เจ้าเมืองตะนาวศรีกล่าวโทษพวกเรานั้น พระเจ้ากรุงสยาม หาทรงฟังไม่

ครั้งมองซิเออร์ อันดรีเออ ป่วยลง พวกคณะบาดหลวงในกรุงศรีอยุธยา จึงขอให้ข้าพเจ้าไปแทน มองซิเออร์ อันดรีเออ ที่เมืองมะริด เพื่อจะได้ไปจัดการในเรื่องนี้ให้เสร็จไป ครั้นข้าพเจ้า ได้รับหนังสือเดิรทาง จากเจ้าพระยาพระคลังแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑ เดือนมีนาคม

เวลานั้น มองซิเออร์ อันดรีเออ ค่อยทุเลาป่วยบ้างแล้ว จึงได้เลยไปกับข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้ากับ มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้ไปถึงเมืองมะริดในปลายเดือนนั้นเอง ( มีนาคม )



(หน้า ๗)

และได้ไปพบกับ มองซิเออร์ อูร์แบงเลอเฟฟร์ ซึ่งได้ออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อปลายปี ค.ศ. ๑๗๕๘ (พ.ศ. ๒๓๐๑) โดยท่าน อาชบีชอบเดอตูร์ ได้เรียกให้กลับไปพยาบาลมารดา ซึ่งป่วยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้ออกจากเมืองมะริด เพื่อไปยังเมืองตะนาวศรี พร้อมด้วยมองซิเออร์ วิโอเลต์ เมื่อวันที่ ๖ เดือน เมษายน

เมื่อวันที่ ๑๐ เดือน เมษายน ข้าพเจ้า ได้รับจดหมายจาก มองซิเออร์ อันดรีเออ บอกมาว่า ข้าหลวง ที่มาจากกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับเรา ๔ คนเพื่อจะไปไต่สวนเรื่องนี้นั้น ได้กักตัวเจ้าเมืองตะนาวศรี ไว้ยังศาลเพื่อรอคำสั่งจากกรุงศรีอยุธยา เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยตัวไปแล้ว เจ้าเมืองตะนาวศรี คงจะคิดอ่านทำร้ายแก้แค้น พวกที่เปนพยานในเรื่องนี้

แต่เพอิญในวันรุ่งขึ้น เปนวันปีใหม่ของไทย เพราะฉะนั้น ข้าหลวงจะได้ปล่อยตัวเจ้าเมืองตะนาวศรีไปก่อน แล้วข้าหลวงทั้ง ๔ คน ได้กลับมายัง เมืองมะริด ภายหลังอีก ๔ วันข้าหลวงได้สืบพยานแล้วอีก ๘ คน พยานเหล่านี้ได้ให้การสมข้อหาของเรา ทุกประการ


ว่าด้วยเจ้าเมืองตะนาวศรีต้องรับโทษ 

ครั้น วันที่ ๕ เดือน พฤษภาคม ข้าหลวงทั้ง ๔ คนได้พิพากษาว่า เจ้าเมืองตะนาวศรี มีความผิดจริงดังข้อหาของเรา แต่ในทันใดนั้น เจ้าเมืองชั่วคนนี้ ได้เรียกทหารแขกอาหรับ ซึ่งได้หนีมาจากเรือรบฝรั่งเศศ ที่เมืองบาซอรา ตั้งแต่ปีกลายนี้ และ บอกให้ทหารอาหรับนั้น เขียนคำฟ้อง กล่าวหาว่า มองซิเออร์ อันดรีเออ กับ นายเรือ ได้พร้อมกัน สั่งให้ทหารอาหรับเหล่านี้ ไปฆ่าเจ้าเมืองมะริด แล้วให้ ฆ่าเจ้าเมือง



(หน้า ๘)

ตะนาวศรี ด้วย เพราะจำเลยทั้ง ๒ นี้ ปรารถนาจะยึดเอาเมืองไว้โดย อ้างเหตุว่า แต่ก่อนนี้ เมืองมะริด เปนของฝรั่งเศส

เมื่อเจ้าเมือง ตะนาวศรี ได้สั่งให้ทหารอาหรับ เขียนคำฟ้องดังนี้ แล้ว เจ้าเมืองตะนาวศรี ก็บอกป่วย และ ไม่ยอมไปยังศาลเปนอันขาด
เราจึงได้จัดคนเร็ว ให้ไปบอกข่าวยัง กรุงศรีอยุธยา คนเร็วเหล่านี้ ได้กลับมาถึง เมื่อวันที่ ๑ เดือนสิงหาคม และได้นำหนังสือของ มองซิเออร์ แคแฮเว และหนังสือของ มองซิเออร์ มาแตงมาด้วย

ได้ความว่า พระเจ้ากรุงสยามทรงกริ้ว เจ้าเมืองตะนาวศรีมากและ ได้มีรับสั่งให้ น้องชายเจ้าเมืองคนก่อน ไปจับตัวเจ้าเมืองตะนาวศรี กับได้ทรง ตั้งบุตรของจีนผู้ ๑ ให้ไปเปนเจ้าเมืองตะนาวศรีต่อไป
อีกประการ ๑ การที่เจ้าเมือง ได้กล่าวโทษหาความร้าย ใส่พวกฝรั่งเศส โดยพละการตนเองนั้น ทำให้ พระเจ้ากรุงสยาม ทรงกริ้วเปนอันมาก เพราะเหตุว่า ข้อที่หานั้น ไม่เปนจริงแล้ว ก็ไม่ควรจะกราบทูลเลย

ถ้าเปนความจริง ตามข้อหาแล้ว เจ้าเมืองตะนาวศรี ไม่ควรจะกล่าวโทษแต่ผู้เดียว แต่ควร ให้ข้าราชการอื่น ๆ ลงชื่อในคำกล่าวนั้นด้วย จึงจะถูกด้วยระเบียบ
แต่ในคำกล่าวโทษ อันนี้ ข้าราชการอื่น ๆ หาได้ลงชื่อด้วยไม่ พระเจ้ากรุงสยาม จึงทรงวินิจฉัยว่า เปนเรื่องที่หาความเปล่า ๆ เพื่อประสงค์ จะล้างผลาญมิชันนารี ผู้ที่กล่าวโทษ เจ้าเมืองตะนาวศรีเท่านั้น



(หน้า ๙)

เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม
ได้มีเรือรบลำ ๑ ชื่อ ฮาเลม แวะเข้ามาเมืองนี้ เรือรบลำนี้เดิม เปนเรือรบของ ฮอลันดา ซึ่ง ฝรั่งเศสจับไว้เปนเชลย เมื่อปีก่อนนี้ เจ้าพนักงารที่ ๒ ของเรือลำนี้ได้ไปยัง เมืองตะนาวศรี พร้อมด้วย มองซิเออร์ อันดรีเออ เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนนี้ (?) เขาได้นำของต่าง ๆ ไปให้แก่ ข้าหลวงต่างพระองค์ ซึ่งเวลานี้ ยังทำการแทนเจ้าเมืองอยู่
ครั้นเมื่อ วันที่ ๑๘ มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้กลับมาถึง เมืองมะริด ได้มารายงารว่า เขาได้เห็นเจ้าเมือง ตะนาวศรี ที่ถูกถอดนั้น ต้องถูกเฆี่ยน ด้วยหวายอย่างแรงที่สุด

และว่า เจ้าเมืองที่ถูกถอดนั้น หมดอำนาจวาศนาแล้ว เวลานี้ต้องจำคุกอยู่ เพราะฉนั้น ในปีนี้ ท่านชาวฝรั่งเศส เท่ากับน้ำขึ้นแล้ว มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้ขอให้ข้าพเจ้าส่งบาดหลวงแขกอินเดียให้คน ๑
ข้าพเจ้าได้ส่ง บาดหลวง ยูซะโตดีโอเดอ อารัญ ไปให้แล้ว และ มองซิเออร์ อันดรีเออ ก็พอใจในบาดหลวงคนนี้ เปนอันมาก เพราะฉนั้น ขอท่านได้โปรดส่งคำสั่งรับรองมาด้วย



(หน้า ๑๐)

เรื่องพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก เมืองมะริดและกรุงศรีอยุธยาก่อนพม่ามาตีกรุง และภายหลังเมื่อพม่ามาตีกรุงแล้ว
จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ว่าด้วยพม่าตีเมืองมะริด

เมืองมะริด

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการณะต่างประเทศ
วันที่ ๙ เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๗๖๑ (พ.ศ.๒๓๐๓)

พวกพม่าเมืองอังวะ เมื่อได้ตีเมืองมอญได้หมดแล้ว ได้ ยกทัพเข้ามาในเมืองไทยเมื่อต้นปีนี้ พวกเข้ารีดในเมืองมะริดโดย มากได้หนีลงเรือฝรั่งเศส พร้อมกับมองซิเออร์ อันดรีเออ และมองซิเออร์ เลอเฟฟร์ เมื่อพวกบาดหลวงและพวกเข้ารีดได้ออก จากเมืองมะริดไปแล้ว พวกพม่าข้าศึกก็ได้ยกทัพเข้าเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี และได้เอาไฟเผาเมืองทั้ง๒ นี้เกือบหมดเมือง แล้วพวกพม่าได้จัดเจ้าพนักงารไว้ให้รักษาเมืองมะริดและเมืองตะ- นาวศรี จึงได้ยกกองทัพเลยเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา และใน ระหว่างที่เดิรทัพมานั้น ได้ตีกองทัพไทยกลางทางแตกไปหลายกอง

เปนการน่ากลัวอยู่บ้าง ว่าถ้าภายหลังไทยได้จัดบ้านเมือง ให้สงบราบคาบลงอีกแล้ว ก็คงจะให้เราเปนผู้รับผิดชอบในการที่มองซิเออร์ อันดรีเออ ได้พาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระเจ้ากรุงสยาม -



(หน้า ๑๑)

หนีออกจากเมืองมะริด โดยยังมิได้รับพระราชานุญาต ในเรื่องนี้ ก็มีเสียงพูดกันในพระราชวังอยู่แล้ว
เจ้าเมืองตะนาวศรีคนเก่าซึ่งได้รู้จักกันกับ มองซิเออร์ โอมอง และซึ่งบุตรได้ทำความเดือดร้อนให้แก่มิชันนารีนักนั้น มีหลายอยู่

คน ๑ ซึ่งไทยเรียกว่า มองตัด (Montat) ได้รับหน้าที่เปน เจ้าเมือง ตะนาวศรีแทนปู่ แต่ มองตัด ได้พยายามทุกอย่างที่จะไม่รับหน้าที่นี้
โดยอ้างว่าทรัพย์สมบัติได้ฉิบหายไปจนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว แต่ถึงดังนั้น ไทยก็บังคับให้ไปครองเมืองอันว่างนี้ให้จงได้
มองตัด จึงได้มาขอบาดหลวง ให้ออกไปตั้งคณะที่ เมืองมะริดอย่างเดิม

มองซิเออร์ มาแตง ได้ยอมรับที่จะไปยังเมืองมะริด แต่ข้าพเจ้า ยังบอกไม่ได้ว่าเขาจะไปได้เมื่อไร เพราะเขายังต้องการบาดหลวงให้ไปด้วยอีกรูป ๑

ในเวลานี้ ข้าพเจ้าไม่มีใครที่จะให้ไปได้นอกจาก บาดหลวงปอตุเกต เท่านั้น แต่ บาดหลวงปอตุเกตองค์ นี้ไม่ยอมมาอยู่กับเราในเวลานี้
แต่ขอผัดไปเดือนพฤศจิกายนหน้าจึงจะมา แต่ที่เมืองมะริดนั้น วัดก็ไม่มีบ้านก็ไม่มี และพวกเข้ารีดก็หมดเนื้อหมดตัวแล้ว เพราะฉนั้น จะต้องไปลงทุนสร้างใหม่ทั้งหมด


จดหมายมองซิเออร์มาแตง ว่าด้วยพวกเข้ารีดกลับมาเมืองมะริด

จดหมายมองซิเออร์มาแตง ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๔ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๖๑ (พ.ศ. ๒๓๐๓)

ในเวลานี้ วัดที่ เมืองมะริด ร้างหมดเหลือแต่ กากอิฐกากปูนเท่านั้น



(หน้า ๑๒)

และวัดนี้มองซิเออร์ดูบัวก็ได้ลงทุนสร้างเปนอันมากฝ่ายพวกเข้ารีด ซึ่งได้กระจัดพลัดพรายไปนั้น บัดได้กลับเข้ามาบ้างแล้ว
เพราะฉนั้น ท่านสังฆราชจึงได้จัดให้ข้าพเจ้า ไปอยู่เมืองมะริด เพื่อจะได้ควบคุมพวกเข้ารีด และเพื่อจะได้ลงมือสร้างวัดเล็ก ๆ สักวัด ๑ ด้วย



กรุงศรีอยุธยา
ศิลาจารึกสำหรับประจารได้ทำลายแล้ว
เรื่อง พม่ามาตีกรุง


จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ว่าด้วยว่าด้วยมองซิเออร์ซีรู ทำลายศิลาจารึกประจาน

จดหมายมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๒ เดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๐ (พ.ศ. ๒๓๐๓)

เมื่อข้าพเจ้าได้กลับมาเมืองมะริด ถึงกรุงศรีอยุธยา ได้เห็นว่า ประกาศพระราชโองการของพระเจ้ากรุงสยามซึ่งได้จารึกไว้ในแผ่นศิลา และซึ่งได้ไปตั้งไว้ริมประตูวัดของเรานั้นได้ลบเลือนหมดแล้ว
และมองซิเออร์ ซีรู ก็ตั้งใจจะทำลายศิลาแผ่นนั้นเสียทีเดียว
ในเวลานั้น ข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจว่า มองซิเออร์ ซีรู จะทำประการใด ข้าพเจ้าจึง ได้ห้ามไว้ว่าอย่าได้ทำลายแผ่นศิลานั้นเลย แต่ถึงข้าพเจ้าห้ามดังนั้น มองซิเออร์ ซีรูก็หาฟังไม่
เพราะเมื่อวันที่ ๔ เดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๖๐ (พ.ศ. ๒๓๐๒) มองซิเออร์ ซีรู ก็ได้ทำลายศิลาแผ่นนั้นเสีย เลอียดหมด



(หน้า ๑๓)

ว่าด้วยพม่าตีเมืองทวายและเมืองมะริดเมือง ตะนาวศรีและยกมาล้อมกรุง ฯ


การที่มองซิเออร์ ซีรู ได้ทำลายศิลาจารึกนั้น เคราะห์ดี อีก ๒-๓วัน พวกพม่าก็ยกกองทัพเข้ามา ไทยจึงไม่ได้นึกถึงการที่จะลงโทษพวกเราในเรื่องทำลายศิลาจารึกนั้น
และเปนการเคราะห์ดี บ้านเราหาได้ถูกข้าศึกเอาไฟมาเผาไม่

พวกพม่า ได้ไล่พวกอังกฤษ เมืองเนกราย (Negrailles) ประจวบเวลากันกับพม่า ได้ไปยึด เมืองมสุลีปตันไว้ พวกพม่า ได้ตีเมืองมอญเปนเชลยได้ทั้งเมือง
แล้วได้เลยเข้ามาถึง เมืองทวาย ตีเมืองทวายแตกแลจับเจ้าเมืองทวายฆ่าเสียด้วย
เขากลัวกันว่า พวกพม่าคงจะยกทัพเข้ามาตีเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรีด้วย เพราะพวกพม่าได้มุ่งจะมาตีเมืองทั้ง ๒ นี้แล้ว (ภายหลังพม่าก็ได้มาตีเมืองทั้ง ๒ นี้จริง ๆ )

เมื่อเดือนมีนาคม ได้ทราบข่าวว่า พวกพม่าได้ตีกองทัพไทย ซึ่งมีพลถึง ๑๕,๐๐ แตกกระจายไปแล้ว ไทยจึงได้ให้พวกเข้ารีดของเราอยู่ประจำรักษากรุง
ไทยได้จัดการซ่อมแซมป้อมคูประตูหอรบให้แขงแรงขึ้น และได้เอาแพที่อยู่รองกำแพงเมืองถอยลงไปไว้ที่แม่น้ำข้างใต้
และเพื่อจะป้องกันกรุงให้มั่นคงขึ้นอีก จึงได้ให้ รื้อบ้านช่องซึ่งอยู่ติดกับกำแพงเมืองทั้งหมด ไทยได้จัดให้พวกเข้ารีดของเราไปรักษาการอยู่ตามช่องในเสมา



(หน้า ๑๔)

และได้ส่งกองทัพไปสกัดหน้าข้าศึก ๒ กอง เพราะมีเสียงโจษกันว่า ข้าศึกไดยกทัพมาใกล้เมืองราชบุรีแล้ว ครั้นได้ทราบกันว่าการที่พม่าข้าศึกจะเข้ามาตีกรุงคราวนี้
เปนด้วยคนโปรดของ พระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า ได้คบคิดกับพม่านั้น ไทยจึงได้จับตัวคนโปรด และสมัคพรรคพวก มาชำระ


ว่าด้วยพม่าตีกรุงศรีอยุทธยา

เมื่อวันที่ ๘ เดือนเมษายน ข้าศึกได้ยกทัพมาประชิดเมืองห่างกับเมืองประมาณ ๒ ไมล์เท่านั้น ไทยจึงได้จัดกองสอดแนมให้ออกไปสืบข่าวข้าศึก
เมื่อวันที่ ๙ (เมษายน) เราได้เห็นเพลิงไหม้ในกรุงถึง ๓ แห่ง พระเจ้ากรุงสยาม ไม่ไว้พระทัยผู้ใดเลย จึงได้ให้เอา เจ้าพระยาพระคลัง และบิดาเลี้ยงของพระองค์ไปขังคุกเสีย
เมื่อวันที่ ๑๑ (เมษายน) ข้าศึกได้เอาไฟเผาบ้านเรือนรอบเมืองทั้งหมด เว้นแต่ค่ายพวกเข้ารีดหาได้ถูกเผาไม่

มองซิเออร์ แคแฮเว กับ มองซิเออร มาแตง ได้พากพวกนักเรียนหนีไปทั้งหมด เขาได้หนีล่องลงไปตามแม่น้ำจนถึงท่าจอดเรือ
เมื่อ ๘ วันก่อนนี้ข้าพเจ้าได้จัดให้ บาดหลวงปอล ซึ่งเปนบาดหลวงชาติจีน ให้ลงไปที่บางกอก เพื่อไปคอยควบคุมพวกจีนเข้ารีด

เมื่อวันที่๑๓ (เมษายน) พวกพม่า ได้เอาไฟเผาค่ายพวกฮอลันดา และได้จับเรือหลวงไว้ได้ ๑๔ ลำ พวกพม่าจึงได้ลงเรือที่จับไว้ได้นั้นและได้ล่องน้ำลงไปที่ด่านภาษี
เมื่อถึงด่านภาษีแล้ว ข้าศึกได้ขึ้นปล้น และเอาไฟเผาเรือของจีน และฮอลันดาเปนอันมาก



(หน้า ๑๕)

พวกพม่าได้ทำร้ายแก่ หัวหน้าฮอลันดามีบาดแผลฉกรรจ์ปางตาย และได้จับพวกเข้ารีด ทั้งผู้ชายผู้หญิงไปเปนเชลยหลายคน แต่พวกเข้ารีดเชลยนั้น บางคนก็ได้หนีกลับมาได้แต่ก็ฉิบหายหมดเนื้อหมดตัวทีเดียว
ฝ่ายพวกเข้ารีด ซึ่งยังคงอยู่ในค่ายของเราหาได้รับความเสียหายอย่างใดไม่
เพราะพวกเข้ารีดของเราที่ บางปลาเห็ต ได้ออกขู่พวกข้าศึก ๆ ก็ไม่กล้าเข้ามาในค่าย ถ้าข้าศึกจะเข้ามาก็ง่ายที่สุด เพราะต้องข้ามคลองเล็ก ๆ คลองเดียวเท่านั้น
ในค่ายบาดหลวงเยซวิต ถูกเพลิงไหม้แต่แถบเดียว พวกเข้ารีดได้ต่อสู้พวกข้าศึกอย่างแขงแรง ค่ายพวกเยซวิต จึงไม่ได้ไหม้หมด

ฝ่ายข้าศึกได้เอาปืนใหญ่ ยิงระดมเข้ามาในกรุงตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตลอดถึงวันที่ ๑๖ เดือนเมษายน แล้วข้าศึกได้เอาลูกแตกโยนเข้ามาในกรุง ๒ ลูก แต่เปนการเคราะห์ดี ลูกแตกได้ตกลงไปในบ่อน้ำ
จึงหาได้ทำอันตรายแก่บ้านเมืองไม่

ครั้นวันที่ ๑๖ (เมษายน) เวลากลางคืนพวกพม่าก็ล่าทัพกลับไป ข้าศึกเหล่านี้มีทั้งพลม้าและพลเดิรเท้า และเพื่อจะแก้แค้นพวกเรา ข้าศึกจึงได้เอาไฟไปเผาโรงเรียน มหาพราหมณ์ ซึ่งเวลานี้เหลือแต่ขี้เท่าเท่านั้น

เมื่อวันทีท๒๐ (เมษายน) ไทยได้ส่งกองทัพเล็ก ๆ ออกไปไล่ติดตามข้าศึก แต่กองทัพไทยนี้ อยู่ห่างกับกองทัพข้าศึกมาก พวกพม่าพูดว่า ปีน่าจะกลับมาอีก และจะยกกองทัพใหญ่กว่าคราวนี้เข้ามาตี กรุงให้จงได้ แต่ถึงรู้ตัวว่าพม่าจะกลับมาอีกก็จริง ฝ่ายไทยก็ไม่เห็นเตรียมการที่จะต่อสู้อย่างใด



(หน้า ๑๖)


ว่าด้วยพม่าตีเมืองกำแพงเพ็ชร์

เมื่อวันที่ ๒๙(เมษายน) ได้โปรดปล่อยให้เจ้าพระยาพระคลังพ้นออกจากคุก และได้มีรับสั่งใหเจ้าพระยาพระคลังไปบวชเสียเพื่อลบล้างความผิดที่ทำไว้
แต่ในเวลานี้ เจ้าพระยาพระคลัง ได้สึกออกมาแล้ว และได้กลับเข้ารับหน้าที่ตามเดิม การที่เปนเช่นนี้ กระทำให้พวกข้าราชการผู้ใหญ่ยินดีเปนอันมาก แต่การที่ยินดีนี้ ก็ไม่มากเท่าไรนัก
เพราะเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ได้กลับทรงผนวชอีกครั้ ๑ เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม เพราะเหตุว่าไม่ทรงถูกกันกับพระเชษฐา พวกข้าราชการกำลังระส่ำระสายกันมาก

ในวันที่ ๒๙ นี้เอง มองซิเออร์ แคแฮเว กับ มองซิเออร์ มาแตง ได้กลับมาพร้อมกับ บาดหลวงปอลและนักเรียนทั้งหมด
เมื่อวันที่ ๒ เดือนพฤษาภาคม รัฐบาลสยามได้อนุญาตให้พวกเข้ารีด ร้องเพลงสวดเตเดอัม ในระหว่างที่สวดนั้นได้ยิงปืนและตีกลองให้เปนกาครึกครื้นด้วย

เมื่อวันที่ ๑๔ (พฤษษภาคม) ข้าพเจ้าได้ทราบว่าพม่าได้ไปตีเมืองกำแพง (Champeng) แตก เมืองกำแพงนี้เปนเมืองหน้าด่านของไทยติดกับเขตเมืองมอญ
แต่พวกพม่าเปนคนสัญชาติป่าดง ไม่รู้จักผิดชอบอย่างใด ไปไหนก็เอาไฟเผาที่นั่น และไม่รู้จักรักวาจาของตัวเลย เพราะฉนั้นเราจึงเชื่อกันว่าถ้าเรายังจะขืนอยู่ในเมืองไทยก็คงจะไม่พ้นอันตรายเปนแน่