ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔๐

จาก วิกิซอร์ซ
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔๐
เรื่องจดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาค ๑


พิมพ์ที่ในงารพระราชทานเพลิงศพ
รองอำมาตย์โท ขุนนรพิติพิจารณ์ (เข้ม กนิษฐรัต)
เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๗๐


พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร



คำนำ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ หอพระสมุดสำหรับพระนครได้พิมพ์พงศาวดารขึ้นเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยไทยกับฝรั่งเศสเปนไมตรีกันครั้งแผ่นดินสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช ซึ่งแปลมาจากฉบับภาษาฝรั่งเศสของมองซิเออร์ลันเย ในคำปรารภหนังสือเล่มนั้นได้กล่าวเปนความไว้ข้อหนึ่งว่า มองซิเออร์ลันเยตรวจค้นจดหมายเหตุ แลหนังสือซึ่งแต่งว่าด้วยฝรั่งเศสเปนไมตรีกับไทยครั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มาเรียบเรียงเปนพงศาวดารขึ้นดังนี้ ต่อมากรรมการจึงได้เลือกหาบันดาจดหมายเหตุอันเกี่ยวด้วยเรื่องนั้นมารวมพิมพ์ขึ้นเปนประชุมพงศาวดาร เพื่อเปนเครื่องมือสอบสวนได้จดหมายเหตุ คณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทรเพียงรัชกาลที่ ๑ แลต้นรัชกาลที่ ๒ ซึ่งบาดหลวงโลเนรวมพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เรื่องหนึ่ง ได้พิมพ์มาตลอดแล้ว รวมเปนประชุมพงศาวดาร ๖ ภาค นอกจากนี้ยังมีจดหมายเหตุอื่นอีกเปนอันมาก กรรมการได้จัดให้มีผู้แปลไว้ในราชบัณฑิตยสภา เมื่อมีโอกาศจะได้จัดการพิมพ์ต่อไป

บัดนี้รองอำมาตย์เอก หลวงศรีวิเศษ (โจ้ กนิษฐรัต) ปรารภศพรองอำมาตย์โท ขุนนรพิติพิจารณ์ ( เข้ม กนิษฐรัต) ผู้เปนน้องชายใคร่จะพิมพ์หนังสือประเภทนี้แจกในงานนั้น
จึงมาขอต่อกรรมการราชบัณฑิตยสภา กรรมการจึงเลือกจดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งในสมัยเดียวกัน ให้หลวงศรีวิเศษพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ เลขานุการราชบัณฑิตยสภาได้ขอคัดมาจากประเทศฝรั่งเศส คราวออก -



(๒)


- ไปเยี่ยมบ้านเรือนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ตามรายการที่ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์จดมาให้ว่าได้พบแหล่งหนังสือเหล่านี้ ๔ แห่ง คือ
ที่กระทรวงว่าการเมืองขึ้นแห่ง ๑
เปนรายการแลจดหมายต่าง ๆ ที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้รับจากประเทศสยามที่กระทรวงทหารเรือแห่ง ๑
เปนสำเนาจดหมายแลคำสั่งต่าง ๆ ที่ได้ส่งมายังประเทศสยาม ที่กระทรวงต่าง ประเทศแห่ง ๑
เปนสำเนาหนังสือสัญญาแลรายงารสำคัญที่คณะทูตานุทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมืองไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทำเสนอเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศไว้ ที่หอสมุดสำหรับนครแห่ง ๑
เปนเรื่องเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวกับเมืองไทยในเวลานั้น มีทั้งต้นฉบับแลสำเนาจดหมายเหตุที่เห็นอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ขอคัดได้คราวนั้นแต่ ๓ แห่ง ที่กระทรวงทหารเรือยังไม่ได้มา ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ หวังใจว่าคงจะได้มาในไม่ช้า

จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสที่เข้ามาตั้ง ครั้งกรุงศรีอยุธยานี้ว่า โดยรูปเรื่องที่เกี่ยวกับพงศาวดารก็คล้าย กับจดหมายเหตุคณะบาดหลวง ฝรั่งเศส ผิดกันแต่ความมุ่งหมายของคณะ คือพวกบาดหลวงมุ่งหมายในการสอนสาสนามาก มีเหตุการณ์อันใดเกี่ยวแก่การสาสนาก็จดลงโดยพิสดาร
พวกพ่อค้าผู้มุ่งมากอยู่ในการค้าขาย ก็จดรายละเอียดไปในทางค้าขาย
ส่วนประวัติของบ้านเมืองใครรู้เห็นอย่างไรก็จดอย่างนั้น ข้อความจึงตรงกันบ้าง แผกเพี้ยนกันบ้าง เพราะเปนธรรมดาของคนภายนอกจะล่วงรู้การบ้านเมือง ภายในให้ละเอียดนั้นยาก




(๓)


จดหมายเหตุที่คนในสมัยนั้นจดไว้ ถึงจะไม่แจ่มแจ้งทีเดียว ก็ยังเปนหนังสือที่ช่วยความรู้ในพงศาวดารสมัยนั้น เพราะเปนเรื่องที่ได้ยินแก่หู รู้เห็นด้วยตาใกล้ความจริงโดยมาก


ราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐









ประวัติ
รองอำมาตย์โท ขุนนรพิติพิจารณ์


รองอำมาตย์โท ขุนนรพิติพิจารณ์ (เข้ม กนิษฐรัต) บุตรนายชิด นางสมบุญ กนิษฐรัต เกิดวันที่ ๑๘มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้เข้าโรงเรียนวิชาสามัญแลวิสามัญศึกษาในโรงเรียนต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๘ สอบไล่ได้สำเร็จวิชารัฐประศาสน์ศึกษาของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วออกรับราชการเปนมหาดเล็กรายงานมณฑลปราจิณบุรี แล้วย้ายไปเปนมหาดเล็กรายงานมณฑลอยุธยา แลย้ายเปนปลัดขวาอำเภอรอบกรุง ครั้น พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เปนนายอำเภอบางแก้ว จังหวัดอ่างทอง พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานยศเปนรองอำมาตย์ตรี พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้รับพระราชทานยศเปนรองอำมาตย์โท แล้วย้ายไปเปนนายอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบันดาศักดิ์เปนขุนนรพิติพิจารณ์พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ย้ายกลับไปเปนนายอำเภอบางแก้ว จังหวัดอ่างทอง ขุนนรพิติพิจารณ์ป่วยเปนโรคกระเพาะอาหารพิการ ถึงแก่กรรมวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ คำนวณอายุได้ ๓๓ ปี






สารบารพ์


  • สำเนาสาสนโป๊ปคเลมังที่ ๙ ภวายสมเด็จพระนารายณ์ หน้า ๑
  • คำสั่งเจ้าพระยาพระคลังเรื่องต้องการของบางอย่างในประเทศฝรั่งเศส " ๓
  • ว่าด้วยสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งทูตไปฝรั่งเศสครั้งแรก " ๔
  • เรื่องสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชดำริห์จะแต่งทูตไปฝรั่งเศส" ๗
  • มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลีศเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์" ๘
  • เตรียมของที่จะมอบให้ทูตไป " ๑๐
  • ว่าด้วยจารึกพระราชสาสน " ๑๑
  • ว่าด้วยทูตไทยออกจากสยาม " ๑๒
  • มองซิเออร์เกมขอให้ฝรั่งเศสจ่ายเงินค่าใช้สอยให้ทูตไทย " ๑๓
  • จดหมายมองซิเออร์กิลเฮมบอกข่าวการรับรองทูตไทย " ๑๔
  • บอกข่าวเรื่องเปลี่ยนเจ้าเมืองบันตำแลเรื่องพวกฮอลันดา กีดกันการค้าขาย" ๑๘
  • ว่าด้วยสัญญาค้าขายซึ่งไทยทำกับบริษัทฝรั่งเศส " ๒๑
  • เรื่องสังฆราชเดลีโอโปลีศอยู่ในกรุงศรีอยุธยา " ๒๒
  • จดหมายมองซิเออร์เดลานด์บอกข่าวเรื่อง สังฆราชเดลิโอโปลิศ อยู่ในเมืองไทย" ๒๕
  • บอกให้ส่งของมาถวาย " ๒๖
  • บอกการสินค้าแลการคิดตั้งบริษัท " ๒๗
  • บอกข่าวสังฆราชเมืองมอริตาเนียแลเมืองญวน " ๓๓


  • พวกจีนวิวาทกับพวกมิชชันนารี หน้า ๓๔
  • บอกเรื่องที่บริษัทติดต่อกับฟอลคอล " ๓๖
  • บอกข่าวเรื่องฮอลันดา " ๓๙
  • บอกข่าวเกี่ยวข้องด้วยเมืองภูเก็จ " ๔๐
  • บอกข่าวเกี่ยวข้องด้วยเมืองยะโฮ " ๔๒
  • บอกข่าวเรื่องสินค้า " ๔๗
  • บอกข่าวเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ " ๔๘
  • บอกข่าวเรื่องพระราชทานที่ให้สังฆราชสร้างวัด " ๕๐
  • บอกข่าวเรื่องสินค้า " ๕๒
  • บอกข่าวเรื่องกลัวอังกฤษจะมาแย่งสินค้าพริกไทย " ๕๓
  • เรื่องฟอลคอนขอให้บริษัทซื้อของส่งมาให้ " ๕๙
  • สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระดำริห์จะแต่งทูตไปฝรั่งเศสครั้งที่ ๒ " ๖๑
  • จดหมายมองซิเออร์เดลานด์บุโรบอกข่าวเรื่องสมเด็จพระนารายณ์ จะให้ไปสืบทูตไทยแลเรื่องสัญญาพริกไทย" ๖๒
  • หนังสือสัญญาว่าด้วยพริกไทยฝ่ายฝรั่งเศส " ๖๒
  • หนังสือสัญญาว่าด้วยพริกไทยฝ่ายไทย " ๖๙
  • บันทึกความเห็นแลวิธีการของบาดหลวงเดอชัวซีที่จะเข้ามา เมืองไทย" ๗๓
  • ความเห็นของบาดหลวงเดอชัวซีที่จะเข้ามาเมืองไทย " ๗๙
  • จดหมายบันทึกว่าด้วยการค้าขายในประเทศสยาม " ๘๕





จดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ


สำเนาสาสนโป๊ปคเลมังที่ ๙ ถวายสมเด็จพระนารายณ์


ทูลพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ได้รับแสงสว่างของพระเปนเจ้า ด้วยเรามีความยินดีเปนอันมากที่ได้ทราบว่าประเทศของพระองค์ ได้มีความสุขเจริญโดยที่พระองค์ได้ปกครองบ้านเมืองอย่างดี และเรามีความนับถือในความยุติธรรม ความโอบอ้อมอารี และพระอัธยาศัยอันดีของพระองค์ ซึ่งได้ทำให้พระองค์ได้ โปรดกรุณาแก่สาสนา คริสเตียน และทรงพระเมตตาแก่ผู้ที่มีใจศรัทธาในการสาสนา ดังเราได้ทราบมาจากพยานผู้มีชื่อ พยานอันสำคัญที่สุดในข้อนี้ซึ่งได้มา ชมเชยสรรเสริญบารมีของพระองค์ในเมืองนี้ ก็คือญาติอันเปนที่นับถือของเรา สังฆราชเดลีโอโปลิศนั้นเอง สังฆราชผู้นี้เได้ขอร้องอยากจะกลับไปอยู่ในแห่งที่จะได้ทำการเพื่อ ให้ความสุขแก่มนุษย์ทั่วไปชั่วกัล ปาวสาน เพราะฉนั้นเราจะได้จัดให้สังฆราชเดลีโอโปลิศกลับไปในเร็ว ๆ นี้ สังฆราชผู้นี้ได้มาเล่าถึงอำนาจและอานุภาพของพระองค์ ยังไม่แต่เท่านี้สังฆราชได้เล่าต่อไป ว่าพระองค์ได้โปรดพระราชทานที่ให้แก่





(หน้า ๒)


สังฆราชเดอเบรีธเอลาฮุยสำหรับปลูกสร้างบ้านอยู่ และได้โปรดพระราชทานของเครื่องใช้สำหรับสร้างวัดและบ้านด้วย ซึ่งเปนข่าวกระทำให้เราปีติเปนอันมาก และยังได้ทราบจากสังฆราชต่อไปอีกว่าพระองค์ยังได้ทรงพระเมตตากรุณาแก่สังฆราชอีกหลายอย่าง แต่ซึ่งพระองค์ยังหาได้กล้ากรุณาเเก่มิชชันนารีของเราซึ่งได้ไปอยู่ในราชธานีของพระองค์มาช้านานแล้วไม่โดยเหตุที่ได้เห็นพระกรุณาของพระองค์เช่นนี้ จึงกระทำให้เราขอร้องต่อพระองค์ ขอได้โปรดใช้พระราชอำนาจและความยุติธรรมของพระองค์ เพื่อป้องกันมิให้สังฆราชทั้งสองกับทั้งคน อื่น ๆ ซึ่งอยู่ในสาสนาโรมันคาธอลิกของเราแลซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ได้รับความหมิ่นประมาทหรือรับความกดขี่จากผู้ที่จะเปนศัตรูของสังฆราชและของคนอื่น ๆ ด้วย เราได้มอบให้สังฆราชเดลีโอโปลิศนำของต่าง ๆ ไปถวายต่อพระองค์ ที่จริงของที่เราส่งมาถวายนี้เปนของแต่เล็กน้อย แต่เปนสิ่งสำหรับเปนพยานแห่งความนับถือที่เรามีต่อพระองค์ สังฆราชเดลีโอโปลิศจะได้ทูลให้ทรงทราบว่า เราได้กราบไหว้อ้อนวอนพระเปนเจ้าอันมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ขอให้พระเปนเจ้าได้ โปรดบันดาลให้พระองค์ได้ทรงรับความสว่างของการสาสนา และให้พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในโลกนี้อยู่ช้านาน เพื่อพระองค์จะได้ครองสมบัติในชั้นฟ้าชั่วกัลปาวสานต่อไป ข้อนี้เราได้ขอร้องต่อพระเปนเจ้าด้วยน้ำใจอันจริงของเราอยู่ทุกเมื่อ เขียนที่กรุงโรม ที่แซนต์มารีมาเยอร์ เมื่อณวันที่ ๒๔ เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๖๖๙ (พ.ศ. ๒๒๑๒) เปนปีที่ ๓ ของโป๊ปนี้



(หน้า ๓)


คำสั่งเจ้าพระยาพระคลังเรื่องต้องการของบางอย่างในประเทศฝรั่งเศส

คำสั่งเจ้าพระยาพระคลังอรรคมหาเสนาบดี ของสมเด็จพระนารายณ์ให้ไว้แก่ ออกขุนวรวาที ล่ามของพวกฝรั่งเศส

ตามที่ท่านมาเล่าว่า ท่านสังฆราช ขอให้ข้าพเจ้าทูลถามต่อ พระเจ้ากรุงสยามนายของข้าพเจ้า ว่าจะมีพระราชประสงค์ในของใด ๆ ที่แปลก ๆ ในประเทศฝรั่งเศสบ้างนั้น
เมื่อมาพิเคราะห์ดูว่าพะราชไมตรีในระหว่างประเทศทั้งสองพึ่งจะเกิดขึ้นนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ใคร่จะอยากพูดในเรื่องนี้
แต่เมื่อท่านสังฆราชจะต้องการทราบแล้ว ข้าพเจ้าจะบอกได้แต่เพียงว่า ในเวลานี้พระเจ้ากรุงสยามนายของข้าพเจ้ามีพระราชประสงค์อยากจะได้ของต่างๆเหล่านี้ยิ่งกว่าอย่างอื่น คือ
ผ้าแดงอย่างเนื้อดีและผืนกว้าง ๆ ผ้าดอกอย่างดี หมวกรูปสูง ๆ ทำด้วยขนยาวโคลนใหญ่ปลายเล็ก
และให้มีสีต่าง ๆ คือ สีแดง สีแดงอ่อน สีม่วง สีเขียว สีน้ำเงิน สีเทา สีดำ สีเหลือง สีดอกกุหลาบ
และจะต้องพระราชประสงค์เครื่องแก้วชิ้นใหญ่ ๆกับอำพันก้อนโต ๆ กล้องส่องทำด้วยทองลงยา แว่นตาสำหรับคนหนุ่มและคนแก่กล้องส่องพระอาทิตย์และส่องดาว
เครื่องวัดสำหรับวัดทางไกลและวัดที่สูง กัลปังหาแดงกิ่งใหญ่ ๆ และงาม ๆ หนังลายทองสำหรับทำเปนพรมรองท้าว
และจะต้องพระราชประสงค์ช่างดี ๆ ที่ลงยาของต่าง ๆ ได้ กับคนที่ชำนาญใช้ปืนใหญ่ได้
ทั้งต้องการ เอนยินเนีย ผู้ชำนาญการสร้างป้อมหล่อปืนใหญ่ ทำกระจกเงาและหล่อแก้วได้ด้วย



(หน้า ๔)


ของเหล่านี้จะเปนสิ่งที่พอพระทัยพระเจ้ากรุงสยามมาก เพราะเปนของที่ต้องการใช้ในเมืองนี้
เพราะฉนั้นถ้าสังฆราช จะมีหนังสือไปในเรื่องนี้ ก็ให้เขียนบอกไปตามที่ได้จดหมายมาให้นี้ก็ได้





ว่าด้วยสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งทูตไปฝรั่งเศสครั้งแรก

ว่าด้วยการที่สมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าแผ่นดินสยาม จัดให้ราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสเปนการสำคัญอย่างไร

การที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส เปนเกียรติยศต่อพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เพียงไรนั้น เปนการที่จะพอเห็นได้โดยง่าย
เพราะเหตุว่าเมื่อพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้กระทำให้เจ้าแผ่นดินที่ใกล้เคียงมาอ่อนน้อมต่อพระองค์หมดแล้ว พระเกียรติยศได้ลือเลื่องตลอดถึงสุดโลก จนถึงกับพระเจ้าแผ่นดิน
ซึ่งนับกันว่า เปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่สุดในฝ่ายทิศตวันออก ได้ส่งราชทูตมาเพื่อขอทำไมตรีกับพระองค์เช่นนี้

การที่ไทยแต่งทูตมาคราวนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คงจะเล่าลือกันไม่เฉพาะแต่ในทวีปยุโรปแห่งเดียว แต่คงจะเล่าลือทั่วไปตลอดถึงเมืองเปอเซีย เมืองยี่ปุ่น เมืองจีน และเมืองอื่น ๆ
ในชมพูทวีปที่เคยได้ไปทำการค้าขายในประเทศสยามด้วย อนึ่งเกียรติยศและตำแหน่งของราชทูตสยามคราวนี้ จะเปนสิ่งที่ทำให้ทูตคราวนี้ได้มีชื่อเสียงโด่งดังมาก
เพราะเหตุว่าพระเจ้ากรุงสยามมีพระราชประสงค์ จะทำการให้สมพระเกียรติยศของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสให้ยิ่งขึ้น
และทั้งอยากจะทรงทราบความจริงถึงพระอานุภาพและความงดงามของ -



(หน้า ๕)


- ราชสำนักฝรั่งเศสอันมีเสียงเล่าลือว่างามนักนั้น จึงได้ทรงเลือกข้าราชการที่ได้เคยเปนราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงจีน ถึง ๓ ครั้งแล้วและอายุถึง ๖๒ ปีนั้น
ให้เปนราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงฝรั่งเศสต่อไป ผู้ที่ไปด้วยกับท่านราชทูตคราวนี้ มีราชทูตรอง ๒ นาย กับข้าราชการและคนใช้หลายคน รวมทั้งสิ้นเปนคน ๒๐ คน
การที่มีคนเพียงเท่านี้ก็เพราะเหตุว่าเรือบันทุกคนมากกว่านี้ไม่ได้ และทั้งไม่ต้องการให้ฝ่ายยุโรปเห็นว่าราชทูตพาคนไปด้วยมากนัก

แต่อย่างไรก็ดี บรรดาผู้ที่เข้าใจขนบธรรมเนียมของราชการฝ่ายตวันออกแล้ว ได้ลงเนื้อเห็นเปนเสียงเดียวกันว่า
ตั้งแต่ไหน ๆ มา พระเจ้ากรุงสยามยังไม่เคยได้แต่งทูตอันใหญ่โตเช่นครั้งนี้เลย เพราะแต่เดิม ๆ มาจนทุกวันนี้ พระเจ้าแผ่นดินสยามได้เคยแต่งราชทูตไปแต่เพียงกรุงจีน โมกูลใหญ่
และเมืองเปอเซียเท่านั้น และพระราชสาสนที่ทรงรับเข้าไปในพระราชวัง ก็ ฉเพาะแต่พระราชสาสนของเจ้าแผ่นดินทั้ง ๓ นี้เท่านั้น

นอกจากนั้น จะเปนพระราชสาสนของเจ้าแผ่นดินองค์ใด ๆ ก็ตาม ก็โปรดให้อรรคมหาเสนาบดีเปนผู้รับและตอบพระราชสาสนแทนพระองค์ทั้งสิ้น
และถ้าจะแต่งทูตไปที่แห่งใด นอกจากประเทศทั้งสามที่ออกนามมาข้างบนนี้แล้ว ก็จัดแต่เพียงข้าราชการผู้น้อยเปนทูตไปเท่านั้น
ข้อนี้ได้เห็นปรากฎเมื่อเร็ว ๆ นี้เองเมื่อไทยได้แต่งทูตไปเมืองเปอเซีย เพราะในคราวนี้ ก็ไม่ได้มีพระราชสาสนไปเปนแก่จดหมายของอรรคมหาเสนาบดีให้ข้าราชการ ๒นาย
กับคนใช้น้อยคน ถือไปยังเมืองเปอเซีย เพื่อขอทำการค้าขายให้สดวกเท่านั้น ใน -



(หน้า ๖)


- เวลาที่ราชทูตทั้งสองจะไปเมืองเปอเซียนั้น ก็หาได้มีพิธีอย่างใดดังพิธี ที่ทำครั้งส่งราชทูตไปฝรั่งเศส ดังได้อธิบายมานั้นแล้วไม่

การที่ไทยได้แต่งราชทูตไปประเทศฝรั่งเศสคราวนี้ ยังเปนข้อสำคัญอีกอย่าง๑ ก็คือ ที่จะทำให้การค้าขายเจริญขึ้น
เพราะในชมพูทวีปไม่มีเมืองใดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ามากเท่ากับประเทศสยาม
สินค้าชนิดใดก็ตามเมื่อได้ส่งเข้าไปในประเทศสยาม แล้วเปนอันขายได้ดีมาก และการซื้อขายกันนี้ก็ใช้เงินสดกันทั้งนั้น

ในที่นี้จะต้องกล่าวด้วยว่า พระเจ้ากรุงสยามมีพระทัยเอื้อเฟื้อแก่บริษัทฝรั่งเศส ดังได้เห็นปรากฎเมื่อครั้งเรือฝรั่งเศสได้แวะเข้าไปในท่าเรือเมืองตะนาวศรีเมื่อเร็ว ๆ นี้
ซึ่งเปนท่าเรือของประเทศสยาม ในครั้งนั้นหาได้มีใครกราบทูลไม่ แต่ได้ทรงพระราชดำริห์ขึ้นเองโปรดยกเว้นค่าภาษีต่าง ๆ ให้แก่เรือฝรั่งเศสลำนี้

เมื่อฝรั่งเศสได้ทำการติดต่อกับไทยในคราวที่ราชทูตไทยไปฝรั่งเศสครั้งนี้แล้ว ก็คงจะเปนการกระทำให้พระเจ้ากรุงสยาม ได้ทรงเอื้อเฟื้อและเปนพระธุระกับบริษัทฝรั่งเศสมากขึ้นอีกเปนแน่
และการที่พระเจ้ากรุงสยาม จะโปรดพระราชทานท่าเรือแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วแต่เราจะเลือกเอาสำหรับทำการค้าขายนั้น ก็ตกเปนหน้าที่ของเราที่จะเอาท่าเรือหรือไม่เอาเท่านั้น
แต่ข้อสำคัญของการที่ไทยแต่งทูตมาคราวนี้ ยังมีอยู่อีกข้อ ๑ ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าข้ออื่น ๆ ทั้งหมด กล่าวคือ
ข้อที่เกี่ยวด้วย การสาสนา และซึ่งเราหวังใจว่า จะได้ชักชวนให้ สมเด็จพระนารายณ์กับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้เข้ารีตถือสาสนาคริศเตียนทั้งหมด เพราะในเวลา -



(หน้า ๗)


- สังฆราชได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์นั้น ก็ดูพระองค์ ก็ทรงอ่อนเข้าหาสาสนาเราอยู่บ้างแล้ว และสังเกตดูสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงนับถือพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มากอยู่
เพราะฉนั้น ถ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้ทรงชักชวนแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ ก็คงจะหันเข้าหา สาสนาโรมันคาธอลิก เปนแน่
ถ้าการเปนเช่นนี้ได้จริงแล้ว จะเปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ สักเพียงไร เพราะในเวลาที่พระองค์ได้ทรงจัดการสาสนาในพระราชอาณาเขตของพระองค์
ยังได้ทรงจัดการทำลายสาสนาอันไม่ดี ในแผ่นดินฝ่ายตวันตกซึ่งนับว่าเปนประเทศที่เจริญที่สุดอยู่แล้ว




เรื่องสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชดำริห์จะแต่งทูตไปฝรั่งเศส

ค.ศ. ๑๖๘๐ - ๑๖๘๑ (พ.ศ. ๒๒๒๓ - ๒๒๒๔)
เรื่องสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชดำริห์จะแต่งทูตไปประเทศฝรั่งเศส และ เรื่องราชทูตออกจากเมืองไทย

ด้วยสมเด็จพระนารายณ์พระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งชนทั้งหลายรับรองว่า เปนพระเจ้าแผ่นดินอันทรงอานุภาพใหญ่ยิ่งฝ่ายตวันออกนั้น ได้ทรงพระราชดำริห์มาหลายปีแล้ว
ตั้งแต่ครั้งสังฆราชฝรั่งเศสได้ถวายพระราชสาสของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ว่าจะได้ทรงแต่งทูตไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อแสดงความนับถือและรักใคร่ซึ่งทรงมีต่อพระเจ้าหลุยที่ ๑๔
แต่ยังทรงจัดการให้สมพระราชประสงค์ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ไม่มีนายเรือหรือคนนำร่องที่จะพาเรือไปในทางไกลเช่นนี้ได้
แต่เพอิญได้มีเรือฝรั่งเศสแวะเข้ามาในพระราชอาณาเขตลำ ๑ และนายเรือก็รับรอง จะพาราชทูตไทยไปยังประเทศฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์จึงเปนอันตกลงพระทัย -



(หน้า ๘)


- จะได้ทรงแต่งทูตให้ไปในคราวนี้ แต่ก่อนที่จะแต่งทูตไปนั้นมีพระราชประสงค์จะทรงหารือมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศเสียก่อน เพราะทรงไว้วางพระราชหฤทัยในสังฆราชคนนี้มาก



มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลีศเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์

เมื่อเรือฝรั่งเศสลำนี้ได้มาถึงสักสองสามวัน สมเด็จพระนารายณ์ ก็ได้เสด็จขึ้นไปยัง เมืองลพบุรี ซึ่งเปนเมืองอยู่บ้านนอกห่างจากราชธานีหนทาง ๒ วัน
และซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ กำลังทรงสร้างราชนิเวศน์ในเมืองนี้ขึ้นใหม่
ครั้นได้เสด็จขึ้นไปถึงเมืองลพบุรีแล้ว ในวันนั้นเองก็ได้โปรดให้ข้าราชการลงมาตามสังฆราชฝรั่งเศสให้ขึ้นไปเฝ้า
และให้สังฆราชพามองซิเออร์เกม หัวหน้าคณะบาดหลวงในกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปด้วย เพราะสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจะโปรดให้มองซิเออร์เกมไปกับราชทูตด้วย

มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศ ได้ขึ้นไปถึงเมืองลพบุรี ก็ได้พักอยู่ในบ้านหลัง ๑ ซึ่งพระเจ้ากรุงสยามได้โปรดให้จัดเปนที่พักของสังฆราชอย่างงดงามมาก
และรุ่งขึ้นสมเด็จพระนารายณ์ได้โปรดให้จัดอาหารไปเลี้ยงสังฆราช อาหารนั้นใส่ในชามเงิน ๑๘ ชาม มีกับเข้าต่าง ๆ หลายอย่าง และมีของหวานมาจากเมืองจีนด้วย

ในเวลาที่เลี้ยงกันนั้น พระเจ้ากรุงสยาม ได้รับสั่งให้ข้าราชการไปรับประทานอาหารกับสังฆราชด้วยหลายคน ในตอนค่ำได้โปรดให้มาพักกับสังฆราช
ให้ไปเฝ้าในพระราชวังในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้า และให้สังฆราช พามองซิเออร์เกมไปเฝ้าด้วย
(ในที่นี้จะต้องบอกให้ผู้อ่านสังเกตว่า การที่จะเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวังนั้น เปนการที่พระเจ้าแผ่นดิน -



(หน้า ๙)


- พระราชทานเกียรติยศอย่างสูงมาก )

ครั้นถึงเวลาท่านสังฆราชกับมองซิเออร์เกมก็ได้เข้าไปในพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์ได้เสด็จออกประทับอยู่บนพระโทรนแล้ว และทรงพระมหามงกุฎประดับเพ็ชร์พลอยต่าง ๆ พระมหามงกุฎนี้ทรงแต่ฉเพาะเวลาที่ออกขุนนางใหญ่ ๆ เท่านั้น มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศกับมองซิเออร์เกมได้ก้มตัวลงถวายคำนับเดอเมเตโลโปลิศกับมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศนั่งกับพรมปักไหมทองตรงหน้าที่นั่ง ท่านอรรคมหาเสนาบดีหมอบอยู่บนพรมไหมตามแบบของบ้านเมืองข้างขวาสังฆราช และมองซิเออร์เกมนั่งลงข้างซ้ายสังฆราช สังฆราชได้เฝ้าอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง ในระหว่างนั้นสมเด็จพระนารายณ์ได้รับสั่งถามถึงวิชาเลข และรับสั่งถามถึงวิธีปกครองบ้านเมืองของเจ้าแผ่นดินในทวีปยุโรป แต่ข้อที่ทรงซักไซ้ไล่เลียงมากก็คือในสิ่งที่เกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศส และถึงชื่อเสียงอันโด่งดังของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ทรงแสดงความปลาดพระทัยว่าเหตุใดในบรรดาเจ้าแผ่นดินและเจ้านายต่าง ๆ ซึ่งแบ่งกันปกครองเมืองต่าง ๆ ในทวีปยุโรปมากองค์ด้วยกัน จึงได้ยินแต่พระนามของเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสองค์เดียวเท่านั้น แล้วได้รับสั่งต่อไปว่า การที่ทรงได้ยินได้ฟังถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสอยู่ทุก ๆวันนั้น กระทำให้พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะส่งราชทูตไปเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทวีขึ้นอีก และในเรื่องนี้พวกแขกมัวก็คอยขัดขวางอยู่เนือง ๆ เพราะแขกมัวเปนผู้ที่มีอำนาจในราชสำนักไทย ทั้งชนชาติประเทศอื่นก็คิดอ่านกราบทูล -





(หน้า ๑๐)


- ขัดขวางไว้เหมือนกัน แต่สมเด็จพระนารายณ์หาทรงฟังพวกนั้นไม่ จะทรงแต่งทูตออกไปให้จงได้


เตรียมของที่จะมอบให้ทูตไป 

เพราะฉนั้นจึงได้ทรงปฤกษากับสังฆราชเพื่อจะได้รีบจัดการให้ทูตได้ออกไปโดยเร็ว ในการที่สังฆราชเดอเมเตโลโปลิศได้เฝ้าในคราวนี้ มีข้อสำคัญที่ควรจะสังเกตอยู่ข้อ ๑ คือในเวลาที่สังฆราชกราบทูลนั้นหาต้องใช้ล่ามไม่แต่ได้กราบทูลด้วยตัวเองตลอดเวลาที่เฝ้าอยู่ และสังฆราชได้โอกาศอันดีที่รู้สึกถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนารายณ์ และรู้สึกว่าหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยสาสนาและที่แปลเปนภาษาไทยแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ทรงอ่านและได้ทรงจำข้อความต่าง ๆ นั้นโดยแม่นยำ

รุ่งขึ้น พระเจ้ากรุงสยามจะทรงแสดงความพอพระทัยในการที่สังฆราชได้เฝ้าในวันวารนี้นั้น จึงได้โปรดพระราชทานอาหารมาเลี้ยงสังฆราชดียิ่งกว่าวันก่อนไปอีก
สังฆราชเดอเมเตโลโปลิศ"ด้พักอยู่ที่เมืองลพบุรีหลายวัน รอให้เจ้าพนักงารเขียนพระราชสาสน เเละเลือกหาของที่จะส่งไปเปนเครื่องราชบรรณาการด้วย
เจ้าพนักงานได้เชิญให้มองซิเออร์เกมไปช่วยเลือกของด้วย
ในชั้นเเรกเจ้าพนักงารได้เอาของทำด้วยเงินมาให้ดู มองซิเออร์เกมจึงบอกว่า ยากที่จะหาของอย่างนี้ที่ดีกว่าของที่พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มีอยู่แล้ว
ลงท้ายที่สุดได้ตกลงเลือกของที่มาจากเมืองจีนและเมืองยี่ปุ่น เลือกเอาแต่เฉพาะสิ่งที่เกงกันว่าจะเปนสิ่งที่จะพอใจที่สุดในประเทศฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์ได้โปรดให้เจ้าพนักงานเที่ยวหาแรดตัวเล็ก ๆ เพื่อจะพระราชทานไปยังเมืองฝรั่ง -




(หน้า ๑๑)


- เศสแต่ก็หาแรดตัวเล็ก ๆ ไม่ได้ เจ้าพนักงานจึงได้เลือกจัดของไว้เปนพวก ๆ สำหรับส่งไปพระราชทานโป๊ปพวก ๑ส่งไปถวายพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ พวก ๑
สำหรับส่งไปถวายพระมเหษีพวก ๑ (ราชทูตได้มีความปลาดใจมากที่ได้ทราบว่าตัวจะต้องไปเฝ้าถวายบังคมพระมเหษีด้วยเหมือนกัน ซึ่งราชทูตเห็นเปนการแปลกมาก)
แล้วเจ้าพนักงานจึงได้เลือกของที่จะส่งไปพระราชทานมงกุฎราชกุมาร กับพระเชษฐาของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ทั้งของที่พระราชทานมองซิเออร์คอลแบต์
ซึ่งเปนหัวหน้าของราชบริษัทฝรั่งเศส และของที่จะพระราชทานแก่มองซิเออร์เบเรียด้วย


ว่าด้วยจารึกพระราชสาสน


เมื่อได้เตรียมของต่างๆ เสร็จเเล้วเจ้าพนักงารผู้มีหน้าที่จัดการในเรื่องราชทูตนี้ จึงได้ให้โหรหาฤกษ์สำหรับที่จะปิดผนึกพระราชสาสน
แลเชิญพระราชสาสนลงเรือตามแบบประเพณีของเมืองนี้
โหรได้ถวายฤกษ์ว่าวันที่ ๑ เดือนธันวาคมเปนวันดี ท่านอรรคมหาเสนาบดีจึงได้ให้คนมาบอกมิชชันนารีผู้ที่จะไปกับราชทูต ให้ไปยังวัดใหญ่เพื่อดูปิดผนึกพระราชสาสน

มองซิเออร์เกมก็ได้ไปยังวัดตามเวลา เพราะเรื่องนี้เปนการเกี่ยวทางราชการหาได้เกี่ยวทางสาสนาไม่
พระราชสาสนนั้นได้จารึกลงบนแผ่นทองคำบาง ยาว ๑ ฟุตครึ่ง กว้าง ๘ นิ้ว แผ่นทองคำนี้แผ่ออกไปบางมากจนม้วนได้ง่าย ๆ
ใจความในพระราชสาสนนั้นแต่งอย่างสำนวนเก่าของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายตวันออกแต่ก่อน ๆ สำนวนนั้นถ้าอ่านเปนภาษาไทยฟังไพเราะมาก
และถึงมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศจะพยายามแปลให้ตรงกับสำนวนเดิมสักเท่าไร คำแปลนั้นฟังไม่ไพเราะเหมือนกับต้นฉบับเลย
เพราะยากที่จะแปลตามสำนวนเดิมได้ สำเนาพระราชสาสน -




(หน้า ๑๒)


- นั้นได้ส่งมาพร้อมกับจดหมายเหตุนี้ด้วยแล้ว และขอให้สังเกตว่าในพระราชสาสนนั้นได้ยกย่องพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส โดยใช้พระนามว่าพระเจ้าแ่นดินอันใหญ่ยิ่ง
ซึ่งเปนพระนามที่ไทยใช้ในเวลาที่มีพระราชสาสน ไปยังพระเจ้ากรุงจีนเหมือนกัน


ว่าด้วยทูตไทยออกจากสยาม

พระราชสาสนนั้นได้บันจุในกล่อง ฉบับไม้จันซึ่งมีราคาแพงเท่ากับทองคำเหมือนกัน แต่ก่อนที่จะเชิญพระราชสาสนบันจุในกล่องนั้น
มองซิเออร์เกมได้เห็นว่าพระราชสาสนนั้นหาได้ประทับพระราชลัญจกรไม่ ครั้นถามก็ได้ความจากเจ้าพนักงาร ว่า ไม่เคยมีแบบที่จะประทับพระราชลัญจกร
ในทันใดนั้นเจ้าพนักงารก็ได้เป่าแตรสังข์ขึ้น ท่านอรรคมหาเสนบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ในที่นั้น จึงได้ลงกราบพระราชสาสนสามครั้ง
แล้วจึงเชิญพระราชสาสนซึ่งบันจุกล่องไว้แล้วนั้นลงบันจุหีบเล็ก ๆ หุ้มด้วยผ้าไหมทองมาจากเมืองจีน

หีบซึ่งบันจุพระราชสาสนถึงโป๊ปนั้นหุ้มด้วยผ้าไหมทองสีม่วง และหีบซึ่งบันจุพระราชสาสนถวายพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ นั้น
หุ้มผ้าไหมทองสีแดงเพื่อเปนเกียรติยศในการที่พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มีไชยชนะแก่ข้าศึก
ในการบันจุพระราชสาสนนี้ ราชทูตไทยทั้ง ๓ ก็ได้ช่วยอยู่ในที่นั้นด้วย แต่วิธีที่เชิญพระราชสาสนลงเรือนั้นเปนสิ่งที่งดงามน่าดูยิ่งนัก
ท่านอรรคมหาเสนาบดีได้เดิรตามพระราชสาสนจนถึงริมแม่น้ำ จึงได้ลงนั่งเรือยาวมีฝีพาย ๑๐๐ คน พอไปอีกสักหน่อยท่านอรรคมหาเสนาบดีก็กลับ
เพราะจะไปอีกไม่ได้ด้วยรรคมหาเสนาบดีจะไปไกลพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้
ส่วนข้าราชการอื่น ๆ ได้ตามพระราชสาสนาไปจนถึงเรือ และ -




(หน้า ๑๓)


-มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศก็ได้ขึ้นไปอยู่บนเรือนั้นแล้ว เพื่อจะคอย รับพระราชสาสนด้วย เมื่อพระราชสาสนได้มาถึงเรือนั้น เรือก็ได้ยิง ปืนใหญ่รับแล้วเจ้าพนักงานจึงเชิญพระราชสาสนไปวางบนพรมเปอเซีย อย่างดี ครั้นพระราชสาสนได้ประดิษฐาณอยู่ณที่นั้นเเล้วพวกข้าราชการจึงได้มากราบดุจเดียวกับที่จัวต้องถวายบังคมต่อพระเจ้าแผ่นดิน(เพราะตามแบบของไทยต้องให้เกียรติกับหนังสือเท่ากับให้เกียรติยศแก่เจ้า ของหนังสือเหมือนกัน) เมื่อข้าราชการได้กราบพระราชสาสนแล้วต่างคนก็กลับไป เรือที่เชิญพระราชสาสนได้ออกจากเมืองไทยเมื่อวันที่ ๒๔ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๐ (พ.ศ. ๒๒๒๓)และได้ไปถึงเมืองบันตำภายใน ๑๗ วัน ซึ่งเปนการเดิรทางเร็วมาก


มองซิเออร์เกมขอให้ฝรั่งเศสจ่ายเงินค่าใช้สอยให้ทูตไทย


ค.ศ. ๑๖๘๐ (พ.ศ. ๒๒๒๓)
มองซิเออร์เกม มิชชันนารีฝรั่งเศส ซึ่งรับเปนหน้าที่ล่ามของราชทูต


ที่พระเจ้ากรุงสยามแต่งไปยังกรุงฝรั่งเศนั้น ได้บอกไปยังผู้อำนวยการของคณะบาดหลวงที่กรุงปารีศว่า ก่อนเรือจะมาถึงฝั่งฝรั่งเศสมองซิเออร์ เกมจะได้บอกให้ผู้อำนวยการรู้ล่วงหน้า และได้ชี้แจงว่าราชทูตไทยที่เคยไปเจริญทางพระราชไมตรีในกรุงจีนนั้น เมื่อไปถึงประเทศ จีนแล้วข้างฝ่ายจีนก็ออกค่าโสหุ้ยให้แก่ราชทูต เพราะฉนั้นเพื่อเปนพระเกียรติยศแก่กรุงฝรั่งเศส ควรจะมีรับสั่งให้รับรองเลี้ยงดูและจ่ายค่าโสหุ้ยแทนราชทูต ตั้งแต่วันที่ราชทูตถึงประเทศฝรั่งเศสตลอดเวลาที่ยังพักอยู่ในเมืองฝรั่งเศสด้วย เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้ากว่าการปฏิบัติ -




(หน้า ๑๔)


- ของประเทศจีน และควรจะมีรถม้าและพาหนะเตรียมไว้สำหรับให้ราชทูต ไปยังพระราชวังด้วย มองซิเออร์เกมอธิบายต่อไปว่า ค่าใช้จ่ายของราชทูตไม่มากมายเท่าไรนัก เพราะฉนั้นถ้าประเทศฝรั่งเศสจะออกค่าโสหุ้ยให้แม้แต่เล็กน้อย ฝ่ายราชทูตก็คงจะเข้าใจว่าเปนเงินมาก อีกประการ ๑ ราชทูตก็ถือหนังสือสำคัญฉบับ ๑ สำหรับไปรับเงินจากราชบริษัทฝรั่งเศสแห่งอินเดีย และเชื่อกันว่าบริษัท คงจะรับรองหนังสือสำคัญฉบับนั้น เพราะเปนการเชื่อได้แน่ว่า เมื่อบริษัทได้ทดรองเงิน ให้แก่ราชทูตสักเท่าไร ไทยก็จะได้ใช้ให้โดยทันที เพราะเหตุว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงเปนพระธุระในการที่จะใช้หนี้สินโดยเร็ว ในเวลาที่คนใช้ของพระองค์บ้าง เรือหลวงบ้าง ได้ ไปยืมเงินแก่พวกอังกฤษและฮอลันดาบ่อย ๆ เพราะเปนการสดวก และถ้าข้าราชการของสมเด็จพระนารายณ์ไปยืมเงินคราวใด พวกอังกฤษและฮอลันดาก็รีบให้โดยทันทีมิได้ขัดข้องอย่างใดเลย เพราะฉนั้นเพื่อเปนเกียรติยศของประเทศเรา ก็ควรจะปฏิบัติการให้เหมือนเขาบ้าง





จดหมายมองซิเออร์กิลเฮมบอกข่าวการรับรองทูตไทย


สำเนาจดหมายมองซิเออร์กิลเฮม
เมืองบันตำ วันที่ ๒๕ เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๖๘๒ พ.ศ. ๒๓๒๔

เมื่อเรือของท่านลำที่ชื่อ โซเลย์ดอริยัง ได้ทำการซ่อมแซมและบันทุกน้ำขึ้นเรือเสร็จแล้ว มองซิเออร์บูโรผู้จัดการก็ได้ลงเรือ และได้สั่งให้ออกเรือเมื่อวันที่ ๒๐ เดือนกันยายน เพื่อกลับไปยังเมืองสุหรัต มองซิเออร์บูโรได้รับรองว่า มองซิเออร์บารองผู้อำนวยการใหญ่ จะได้ -




(หน้า ๑๕)


- จัดเรือของท่านลำ ๑ ลำใดให้ออกจากเมืองสุหรัต และจะบันทุกสินค้าแต่ครึ่งลำเท่านั้น เพื่อจะได้มาบันทุกพริกไทยในเมืองนี้ให้เต็มลำต่อไปและว่าเรือนั้นจะได้ออกจากเมืองสุหรัตในเดือนพฤศจิกายนเพื่อจะได้ให้มาถึงเมืองนี้ในต้นเดือนมกราคม คอยรับราชทูตซึ่งสมเด็จพระนารายณ์พระเจ้ากรุงสยามได้แต่งให้ไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินของเรา ราชทูตสยามได้มาโดยเรือชื่อโวตูร์ซึ่งได้ส่งไปโดยเฉพาะ สำหรับพาราชทูตมาคอยอยู่ที่ เมืองนี้เรือชื่อโวต์รซึ่งได้รับราชทูตสยามมาด้วย ๓ นายนั้น ได้มาถึงเมืองนี้เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้ (มกราคม) เดิรทาง ๑๖ วันจึงถึง เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนนี้ท่านราชทูตได้ออกจากเรือขึ้นบก ข้าพเจ้าได้ลงไปรับท่านราชฑูตในเรือเเละได้พาขึ้นบกโดยให้เกียรติยศต่อราชทูตทุกอย่างเท่าที่ข้าพเจ้าจะทำได้ บ้านที่ข้าพเจ้าได้เตรียมไว้สำหรับให้ราชทูตพักนั้นติดกับบ้านที่พวกเราอยู่กินสำหรับทำการค้าขาย ข้าพเจ้าได้ให้ตกแต่งประดับประดาบ้านนี้อย่างงามที่สุดที่จะทำได้ เพื่อแสดงให้ราชทูตเห็นว่าประเทศของเรานับถือราชทูตเพียงไร เเละให้เห็นว่าบริษัทฝรั่ง เศสระฦกถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้ากรุงสยามเพียงไร ด้วยท่านราชทูตได้ให้คนมาบอกข้าพเจ้าว่า การที่ข้าพเจ้าได้เอื้อเฟื้อต่าง ๆ นั้น ราชทูตจะไม่รู้จักลืมบุญคุณของข้าพเจ้าเลย แล้วข้าพเจ้าจึงได้สั่งให้ขนของขึ้นตากเรือเพื่อจะให้เรือไปที่เกาะเล็ก ซึ่งเรือชื่อโซเลย์ดอริยังจะได้จอดที่แหลมทิศตวันตกของท่าเรือนี้ และสั่งให้เรือเตรียมการทุกอย่าง ถ้าจำเปนจะได้เอาเรือลำนี้ไปประเทศฝรั่งเศสได้เรือได้ไปจอดในที่ว่านี้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ เดือนนี้ และได้ลงมือซ่อมแซมและทำการทุกอย่างที่-




(หน้า ๑๖)


- จำเปน แต่เรืออย่างที่มองซิเออร์บูโรรับรองว่าจะส่งมาจากเมืองฝรั่งเศสนั้นก็ยังไม่เห็นมาเลย บางทีจะไม่มีเรือของเราที่จะออกในเดือนพฤศจิกายนสำหรับไปเมืองฝรั่งเศสและผ่านมาทางนี้ก็เปนได้ แต่อย่างไร ๆ มองซิเออร์บารองคงจะส่งเรือมาในเดือนพฤศจิกายน เพื่อส่งสินค้ามาบันทุกเรือชื่อเลอโวตูร์ และเราก็ยังคอยเรือซึ่งมาจากฝั่งคอรอมันดเลอีกลำ ๑ เรือลำนี้จะไปเมืองตะนาวศรี และเราได้ทราบว่าเรือได้ไปถึงเมืองตะนาวศรีแล้วแต่มิได้ทำประโยชน์ได้ดังหวังไว้ มองซิเออร์มาแตงได้บอกมาว่า พอเขาได้ไปถึงเมืองปอนดีเชรีแล้ว จะได้เอาสินค้าลงบันทุกเรือลำนี้ให้เต็มลำ เพราะสินค้าเหล่านี้มองซิเออร์มาแตงได้เตรียมไว้นานแล้ว และมองซิเออร์มาแตงกะจะให้เรือลำนี้มาถึงเมืองนี้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อจะได้บันทุกสินค้าเลยไปยังประเทศ ฝรั่งเศสทีเดียว เรายังคอยเรือมาจากเมืองตังเกี๋ยอยู่ทุก ๆ วัน เรือลำนี้มองซิเออร์บูโรได้ให้ไปจากเมืองนี้เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ผู้ที่ไปอยู่ที่เมืองตังเกี๋ยเปนหัวหน้าห้างของท่านนั้น ได้มีหนังสือบอกมาว่าได้เดิรทางไปอย่างสดวก เจ้าแผ่นดินตังเกี๋ยและบุตร์ชาย ได้รับรองอย่างดี หัวหน้าห้างได้เอาของถวายในนามของท่าน แต่ด้วยความรบกวนของพวกข้าราชการนั้นต้องเพิ่มของถวายมากขึ้นกว่าที่กะไว้แต่เดิมและยังต้องให้ของแก่เจ้าเมือง กับข้าราชการอีก ๘ นายด้วย แต่ด้วยความช่วยเหลือและคำแนะนำของมองซิเออร์เกเดีย และมองซิเออร์ เดอบูร์ การทั้งหลายได้ดำเนิรอย่างสดวก และตกลงได้รับอนุญาตให้ทำการค้าขายได้ทุกอย่าง เมื่อเดือนพฤศจิกายนเขาได้หาซื้ออำพัน




(หน้า ๑๗)


- ทองกับแพรอย่างดีได้มากแล้ว และได้เตรียมจะให้เรือออกในวันที่ ๑๕ ธันวาคมถ้าเรือได้ออกตามกำหนดไว้นี้จริงแล้ว เรือก็เดิรทางช้ามาก เพราะหนทางเดิรเรือจากเมืองตังเกี๋ยกินเวลาเพียง ๒๐ ถึง ๒๕ วันเท่านั้น ราชทูตของพระเจ้ากรุงสยามสามนายนั้นได้รับของมาเปนอันมาก ของเหล่านี้เปนของที่พระเจ้ากรุงสยามจะส่งไปถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระมเหษี มกุฏราชกุมาร ท่านดุกดอเลียง และพระราชทานไปยังมองซิเออร์คอลแบต์และมองซิเออร์เบเรียด้วย นอกจากของเหล่านี้ยังมีของที่พระราชทานไปยังกรุงโรมสำหรับถวายโป๊ปอีก ของเหล่านี้มีตู้ มีชั้น มีโต๊ะ หีบต่าง ๆ แปลก ๆ จากเมืองยี่ปุ่น เสื้อยี่ปุ่น ผ้าแพร เครื่องทองและเงิน ลับแลจีนขนาดต่าง ๆ กัน และของอื่น ๆ อีกเปนอันมาก แจ้งอยู่ในบาญชีซึ่งได้ส่งมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ด้วยแล้ว ทั้งนี้พอจะได้เห็นว่าต้องกินที่ในเรือเปนอันมาก ยังไม่ใช่แต่เท่านี้ ยังมีช้างน้อยอีก ๒ ช้างเปนช้างพังตัว ๑ ช้างพลายตัว ๑ ผู้ที่ตามราชทูตมาด้วยนั้นมี บุตร์ชายท่านราชทูตที่ ๑ คน ๑ กับคนใช้ ๑๐ คน มิชชันนารีคน ๑ นักพรตหนุ่มคน ๑ เพราะฉนั้นการที่ต้องบันทุกเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงคนมากเช่นนี้ กับทั้งอาหารสำหรับช้าง และต้องบันทุกน้ำให้มาก จึงจำเปนต้องมีเรือที่ดีสำหรับบันทุกคนและของได้หมด ส่วนเรือชื่อเลอโวตูร์หาโตพอที่จะบันทุกคน และของได้เช่นนี้ไม่ เพราะฉนั้นถ้าไม่มีเรือมาจากเมืองสุหรัต หรือฝั่งคอรอมันดเลแล้วก็จะเปน-




(หน้า ๑๘)


- การลำบากมาก เพราะอย่างช้าที่สุดจะต้องออกเรือจากเมืองนี้ในราววันที่ ๑๕ หรือวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์จึงจะอ้อมแหลมเคปกุดโฮปได้ ถ้ารอช้าไปกว่านี้น่ากลัวจะต้องไปจอดพักที่เกาะยวงหรือเกาะอื่นๆ ใกล้เกาะ มากากาศกา จนเดือนกันยายน จึงจะอ้อมแหลมเคปออฟกุดโฮปไปยุโรปได้ เพราะฉนั้นเราจึงได้เตรียมการทุกอย่างที่จะไม่ให้เสียเวลาได้ในเวลาที่เรือลำ ๑ ลำใดจะมาถึง
ถ้าเราจะไปกับเรือที่จะมาจากเมืองสุหรัตก็ดี หรือจำเปนจะต้องไปกับเรือชื่อ โวตูร์ ก็ดี เราก็ไม่มีหนทางที่จะบอกให้ท่านทราบได้ แต่ภายใน ๑๕ วันที่ได้ส่งหนังสือฉบับนี้ไปจะมีเรืออังกฤษออกลำ ๑ บางทีเราจะได้ส่งข่าวมายังท่านกับเรืออังกฤษได้ แต่เรือที่จะรับจดหมายฉบับนี้ไปจะออกพรุ่งนี้ก็จริงอยู่เเต่ก็อาจจะช้าได้ เพราะที่ เมืองบันตำ ขาดพริกไทยไม่พอที่จะบันทุกให้เต็มลำได้


บอกข่าวเรื่องเปลี่ยนเจ้าเมืองบันตำแลเรื่องพวกฮอลันดา กีดกันการค้าขาย

ในระหว่างที่รอเรือเหล่านี้อยู่นั้น ข้าพเจ้าจะเล่าให้ท่านฟังถึงการเปนไปของเมืองบันตำ คือ เจ้าแผ่นดินเมืองบันตำ ได้เวรราชสมบัติให้พระราชโอรสแล้ว
เจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ จึงเปนธุระ ทำวังให้แน่นหนาแข็งแรงขึ้น โดยก่อกำแพงและเชิงเทินล้อมวังไว้ เพราะกลัวน้อง ๆ จะคิดร้าย
ทั้งกลัวพวกฮอลันดาด้วย เจ้าแผ่นดินเมืองบันตำ ได้แต่งทูตไปยัง ผู้จัดการใหญ่ของ บริษัทฮอลันดา ที่เมืองบาตาเวีย ทูตได้กลับมาแล้ว แต่หาได้ทำการสำเร็จไม่

ฝ่ายพวกฮอลันดาก็ได้แต่งทูตมา ๓ คน เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๘๐ (พ.ศ. ๒๒๒๓) ทูตฮอลันดาได้มาอยู่ที่นี่ ๑ เดือนหรือ ๕ อาทิตย์ โดยไม่ได้ทำความตกลงอย่างใด
นอกจากสัญญากันด้วยปาก ทั้งสองฝ่ายว่า ทั้งสองฝ่ายจะได้เปนไมตรี -




(หน้า ๑๙)


- กัน และต่างคนจะไม่คิดร้ายซึ่งกันและกันเท่านั้น แต่ถึงดังนั้นพวกฮอลันดาก็คิดพยายามจะเอาเจ้าเมืองมตารัม มาเปนเจ้าแผ่นดินเมืองบันตำ เจ้าเมืองมตารัมก็ยังไม่มีอำนาจเต็มที่ เพราะน้องชายยังเปนใหญ่อยู่ที่เมืองหลวงซึ่งเรียกว่าเมืองมตารัม และน้องชายก็ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพี่ชาย การที่เปนดังนี้ก็เพราะเหตุพวกฮอลันดาจะต้องการปกครองตลอดทั้งเกาะยาวา เพราะพวกฮอลันดาไม่ต้องเสียภาษีอากรอย่างใด และถ้าพ่อค้าชาติอื่นจะเข้าไปค้าขายในเมืองนี้แล้วก็ต้องมีหนังสือเดิรทางของพวกฮอลันดาโดยเฉพาะ และเรือที่ไปจากเมืองบันตำต้องถูกพวกฮอลันดากวดขันมาก พวกฮอลันดากำลังพยายามจะทำลายพ่อค้าทั้งหลาย และทำการเกือบสำเร็จแล้วโดยพวกฮอลันดาได้จับเรือเล็ก ๆ ไว้หลายลำ จนที่สุดไม่มีใครอาจไปค้าขายในเมืองซึ่งพวกฮอลันดาไปตั้งอยู่ แต่ส่วนเรือที่มาจากประเทศยุโรปนั้นพวกฮอลันดาระวังอยู่บ้างไม่ใคร่จะกวดขันเท่าไรนัก แต่ถึงดังนั้นก็คิดอุบายที่จะให้พวกนั้นค้าขายไม่ได้ โดยห้ามมิให้เอาสินค้าขึ้นบกบ้าง และไม่ยอมให้สินค้าออกจากเมือง ซึ่งทำให้การค้าขายในเมืองบันตำเสียหายเปนอันมาก จนที่สุดสินค้าที่มาจากฝั่งคอรอมันดเลและเมืองสุหรัตเทียบกับปีก่อนนี้ ได้ลดน้อยลงไปถึง ๑๐๐เปอเซน (ซึ่งเปนการไม่น่าเชื่อเลย แต่ซึ่งเปนความจริงที่เราได้รู้สึกอยู่แล้ว ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะได้ชี้แจงให้ท่านทราบโดยเลอียดต่อไป ในเวลาที่เรือของเราได้มาถึงแล้ว ข้าพเจ้าได้ส่งสำเนาจดหมายที่มองซิเออร์บูโรได้มีมายังท่านเมื่อเดือนกันยายน และได้ฝากมาทางมองซิเออร์ดูลีเนียณกรุงลอนดอน-




(หน้า ๒๐)


- และหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าก็จะฝากไปทางมองซิเออร์ดูลีเนียเหมือนกัน เรืออังกฤษชื่อ นาธาเนล ซึ่งจะรับหนังสือฉบับนี้ไปด้วยนั้นได้ชักช้าจนถึงวันนี้ที่ ๑๐ เดือนกุมภาพันธ์
เพราะเหตุว่า ยังรอเรืออังกฤษซึ่งได้ไปที่เกาะฟอโมซาตั้งแต่ปีกลายนี้ และในเวลานี้ยังหาได้กลับมาถึงไม่ เพราะเกิดเรื่องที่พวกจีนได้ไปยึดเกาะเอโมนีจากเจ้าแผ่นดินเตนัน จึงเปนอันมีโอกาศให้ข้าพเจ้าได้เพิ่มเติมจดหมายฉบับนี้ เพราะเรือของท่านชื่อ ตองแก็ง ได้กลับมาจากเมืองตังเกี๋ยอีกลำ ๑ เมื่อวันที่ ๖ เดือนกุมภาพันธ์ เรือลำนี้ได้ไปเมืองตังเกี๋ยตั้งแต่ปีกลายนี้ และได้ทำการค้าขายในเที่ยวแรกพอใช้ได้ เพราะได้บันทุกไหมและผ้าแพรมาด้วยของเหล่านี้เราจะได้ส่งไปพร้อมกับเรือ ที่รับราชทูตสยามไปยังประเทศฝรั่งเศส แต่ในเวลานี้เรือจากเมืองสุหรัตยังไม่มาเลย เพราะฉนั้นยังกะไม่ถูกว่าจะส่งของเหล่านี้ไปได้เมื่อไร และกำหนดไม่ได้ว่าราชทูตสยามจะต้องค้างอยู่นานสักเท่าไร ส่วนเรือฝั่งคอรอมันดเลที่เราคอยว่าจะมาจากเมืองปอนดีเชรีนั้น ก็ยังหามาถึงไม่ เพราะฉนั้นการที่เรากะไว้จึงเปนอันเสียหมด ขอพระเปนเจ้าได้โปรดให้เรือเหล่านี้มาโดยเร็วเถิดจะได้รีบส่งราชทูตสยามไป เพราะได้ทราบมาจากเมืองสุหรัตว่าในเรื่องราชทูตสยามนี้เปนเรื่องที่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสพอพระทัยมาก และข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส คงจะทรงต้อนรับราชทูตอย่างดีเปนแน่ ความคิดที่เจ้าพนักงารเมืองสุหรัตคิดจะไปตั้งห้างในเมืองไทย เพราะพระเจ้ากรุงสยามได้ทรงรับรองว่าได้ทรงอุดหนุนพวกเรานั้น คงจะเปน -




(หน้า ๒๑)


เรื่องที่รอฟังว่าท่านจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ และในเรื่อนี้เราคงจะทำแผ่ออกไปได้เพราะเรือของเรามีอยู่


(เซ็น) เลอกิลเฮม





ว่าด้วยสัญญาค้าขายซึ่งไทยทำกับบริษัทฝรั่งเศส


ค.ศ. ๑๖๘๒ (พ.ศ. ๒๒๒๕)
สำเนาข้อความคัดจากหนังสือสัญญาซึ่งได้ทำไว้ ในระหว่างเจ้าพระยาพระคลัง หรืออรรคมหาเสนาบดี ของพระเจ้ากรุงสยาม กับมองซิเออร์ เดลานด์


อนุญาตให้หัวหน้าบริษัทฝรั่งเศสในอินเดียซื้อสินค้าได้ทุก ๆ อย่าง แต่ต้องให้เจ้าพนักงารรักษาพระคลังหลวง ตรวจซื้อของตามที่ต้องการเสียก่อน
บรรดาพริกไทย ทั้งปวง ซึ่งพระเจ้ากรุงสยามจะได้สั่งให้ปลูกในพระราชอาณาเขต ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้กรุงศรีอยุธยานั้น จะได้ขายให้แก่บริษัทฝรั่งเศส
และการที่ซื้อพริกไทยนี้ ถึงราคาที่พวกพ่อค้า ซื้อขายกัน จะขึ้นลง ประการก็ตาม แต่บริษัท จะได้ซื้อยืนราคาอยู่เสมอ บาหา ละ ๑๖ ปาตาก เงินมานิลา

ห้ามมิให้พ่อค้าชาวต่างประเทศรับซื้อพริกไทยไว้เปนอันขาด ถ้าใครฝ่าฝืนขืนซื้อไว้ จะต้องริบพริกไทยไว้ และ จะต้องถูกปรับด้วยเจ้าพนักงารด่านภาษี
และเจ้าพนักงารอื่น ๆ ของพระเจ้ากรุงสยาม
จะต้องทำบาญชีจำนวนพริกไทย ซึ่งได้ซื้อ จากพ่อค้ายื่นให้แก่หัวหน้าของบริษัท และส่วนพริกไทยที่จะเก็บได้มากน้อยเท่าไร ใน ๑๐๐ บาหาที่เก็บได้นั้น



(หน้า ๒๒)


เจ้าพนักงารจะชักไว้เสีย ๑๐ หรือ ๒๐ บาหาก็ได้ ตามแต่พระเจ้ากรุงสยามจะต้องพระราชประสงค์
และถ้าต่อไปภายหน้า บริษัทจะรับซื้อพริกไทย ที่เก็บได้ทั้งหมดไม่ได้แล้ว บริษัทจะต้องแจ้งความให้พนักงารด่านภาษีทราบล่วงหน้า ๒ ปี ว่า
ต่อไปบริษัทจะต้องการพริกไทยจำนวนมากน้อยเท่าใด





เรื่องท่านสังฆราชเดลีโอโปลิศอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๒ (พ.ศ. ๒๒๒๕) สังฆราชเดลีโอโปลิศได้มาถึงกรุงศรีอยุธยา
เมื่อวันที่ ๔ เดือน กรกฎาคม พระเจ้ากรุงสยามได้มีรับสั่งให้จัดการรับพระราชสาสนซึ่งสังฆราชเชิญมา โดยทำพิธีให้เปนเกียรติยศเหมือนเมื่อครั้งรับพระราชสาสนฉบับก่อน มีคนชาวกริกคน ๑ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดพระองค์สมเด็จพระนารายณ์ชาวกริกคนนี้ชอบพวกฝรั่งเศสมาก ท่านสังฆราชได้เอาเครื่องราชบรรณาการออกมา ให้ชาวกริกคนนี้ดู ชาวกริกคนนี้จึงได้บอกสังฆราชว่าของเหล่านี้ไม่สมกับ พระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินทั้งสอง จึงเกรงว่าถ้าเอาของเหล่านี้ถวายแล้ว จะทำให้เกิดการมัวหมองขึ้น ชาวกริกจึงได้แนะนำว่าให้เอาของเหล่านี้ถวายสมเด็จพระนารายณ์ในนามของสังฆราชเอง สังฆราชก็เห็นด้วยจึงได้เอาของนั้นถวายในนามของตัวเองซึ่งเปนการเรียบร้อยดี สมเด็จพระ -




(หน้า ๒๓)


- นารายณ์จึงได้รับสั่งให้เสนาบดีบอกกับสังฆราช ว่าแต่ก่อน ๆ มาไม่เคยได้ทรงรับของถวายจากคนชนิดสังฆราชเลย แต่ในคราวนี้ทรงยินดีที่จะรับของถวายเหล่านี้ไว้ ตั้งแต่นั้นมาสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ โปรดให้คนมาสืบถามหลายครั้ง ว่าสังฆราชจะต้องการอะไรบ้าง ครั้นทรงทราบว่าถ้าได้โปรดรับสั่งให้สร้างวัดเข้ารีตพระราชทานแล้วสังฆราชจะเปนที่พอใจอย่างยิ่ง จึงได้มีรับสั่งในทันใดนั้น ให้ไปบอกสังฆราชว่าจะได้ทรงโปรดให้สร้างวัดพระราชทานสังฆราช จะเอาขนาดใหญ่เท่าไรและจะให้ทำเปนรูปอย่างไร ก็แล้วแต่ท่านสังฆราชจะพอใจ ทั้งนี้ก็เปนพยานปรากฎว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงนับถือสาสนาของเราสักเพียงไร วัดนี้จะได้สร้างเปนสามตอน ยาว ๒๐ วา กว้างและสูงตามส่วนมีหน้าต่างสองหน้าต่าง มียอดแหลมข้าง ๆ ๒ ยอด ถ้าเสนาบดีของสมเด็จพระนารายณ์ จะมีความรักใคร่พวกฝรั่งเศสเท่ากับองค์พระเจ้าแผ่นดินแล้ว การที่จะสร้างวัดนี้ก็คงจะแล้วโดยเร็วได้ ถ้าผู้ใดรู้สึกว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงรักใคร่พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เพียงไร ผู้นั้นก็คงจะรู้สึกปีติจับใจ สมเด็จพระนารายณ์รับสั่งถึงพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ บ่อย ๆ และโปรดให้เอาพระรูปพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มาทอดพระเนตร์วันละ ๓-๔ ครั้ง พระรูปนี้เปนรูปเล็ก ๆ ที่พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้ส่งมาถวาย สมเด็จพระนารายณ์ได้ โปรดให้เสนาบดีมาบอกท่านสังฆราชว่าจะได้ทรงเลือกหาของแปลก ๆ จากเมืองจีนและเมืองยี่ปุ่นส่งไปถวายพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ทุก ๆ ปี




(หน้า ๒๔)

ท่านสังฆราชขอให้นำความกราบทูลพระเจ้าหลุยที่๑๔ ให้ทรงทราบถึงภาระของพวกมิชชันนารี และให้ทรงทราบถึงความขาดเหลือบกพร่องของพวกมิชชันนารีเเละขอให้กราบทูลว่า สังฆราชเดลีโอโปลิศมีความวิตกว่าจะรับภาระอันนี้ไปไม่ได้นานเท่าไร นอกจากคณะบาดหลวงที่จะไปตั้งในเมืองจีนแล้ว สังฆราชจะต้องเปนธุระเลี้ยงดูคณะบาดหลวงต่าง ๆ ที่ได้ตั้งขึ้นในเมืองตังเกี๋ยเมืองญวน เมืองเขมร และเมืองไทยแล้ว และคณะบาดหลวงในเมืองไทยก็ได้แยกออกไปถึง ๑๐ ตำบล ซึ่งห่างไกลจากกรุงศรีอยุธยาหนทางตั้ง ๘๐ ถึง ๑๐๐ ไมล์ แห่ง ๑ ต้องเลี้ยงคนวัน ๑ กว่า ๘๐ คน รวมทั้งที่บ้านบาดหลวง และโรงพยาบาลด้วย และยังมีร้านอยู่ร้าน ๑ ซึ่งเปิดรับคนป่วยทุกชนิดและจำหน่ายยาทุก อย่างตามแต่ใครจะมาขอยาชนิดไร เพราะเหตุฉนี้ สังฆราชจึงขอความร่วมมือ จากคณะบาดหลวงที่กรุงปาริศบ้าง หรือจะจัดเปนเงินเดือนประจำสำหรับคณะบาดหลวงในอินเดียก็ได้ สังฆราชได้จัดให้มองซิเออร์เลอเฟฟร์ ไปยังประเทศฝรั่งเสศแล้ว มองซิเออร์เลอเฟฟร์ จะได้อธิบายถึงเหตุการณ์ ต่าง ๆ อันเกี่ยวด้วยคณะบาดหลวงให้ทราบโดยเลอียดต่อไป


---


(หน้า ๒๕)


จดหมายมองซิเออร์เดลานด์บอกข่าวเรื่อง สังฆราชเดลิโอโปลิศ อยู่ในเมืองไทย


วันที่ ๒๖ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๒ (พ.ศ. ๒๒๒๕)
สำเนาจดหมายมองซิเออร์เดลานด์
มีไปถึงมองซิเออร์บารอง ผู้อำนวยการใหญ่ในประเทศสยาม
ลงวันที่ ๒๖ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๒ (พ.ศ. ๒๒๒๕)

เมื่อวันที่ ๔ เดือนกรกฎาคม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวมาว่า เรือลำเล็กชื่อ เซนต์โยเซฟ ได้เข้ามาในลำแม่น้ำนี้แล้ว และได้ทราบว่าท่านสังฆราชเดลิโอโปลิศกับพวกมิชชันนารี ซึ่งได้ลงเรือลำนี้ที่เมืองสุหรัต นั้น มีความสุขสบายดีด้วยกันทุกคน เสมียนประจำเรือได้นำหนังสือของท่านลงวันที่ ๑๘ เดือนเมษายนมาส่งให้ข้าพเจ้าแล้ว และเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม มองซิเออร์ลำป์ตองก็ได้ส่งสำเนาหนังสือฉบับนั้นเองมา ให้ข้าพเจ้าแล้วเหมือนกัน ข้าพเจ้าจะได้ตอบจดหมายของท่านเปนบางข้อเสียก่อน จึงจะได้เล่าให้ท่านฟังถึงการงารของบริษัท นับตั้งแต่คราวที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือมาถึงท่านฉบับก่อนเปนต้นไป ข้าพเจ้าได้สังเกตว่าท่านได้เขียนบอกมาว่าในปีนี้ บริษัทหาได้ส่งของมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม และฝากเจ้าพระยาพระคลังไม่ ในเรื่องนี้จะควรอย่างไรก็แล้วแต่ท่านจะเห็นชอบ แต่ข้าพเจ้าจะต้องบอกให้ท่านทราบอีกครั้ง ๑ ว่า ทำอย่างไร ๆ พระเจ้ากรุงสยาม และเจ้าพระยาพระคลังคงจะไม่แสดงตัวว่ามีความประสงค์อยากจะได้ของถวาย และของฝาก ส่วนพระเจ้ากรุงสยามที่จะไม่ทรงแสดงว่าจะต้องพระราชประสงค์ของถวายนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระองค์เปนพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีพระทัย -





(หน้า ๒๖)


- โอบอ้อมอารี ไหนเลยจะแสดงพระองค์ว่าทรงอยากได้ของถวาย และส่วนเจ้าพระยาพระคลังนั้น ถึงจะอยากได้ของสักเท่าใด ก็คงจะไม่กล้าแสดงออกมา


บอกให้ส่งของมาถวาย

แต่อย่างไรก็ดี เปนธรรมเนียมในเมืองนี้มาช้านานแล้ว ว่าถ้าเรือเข้ามาถึงลำใด จะเปนเรือของบริษัทก็ตาม หรือเปนเรือของบุคคลก็ตาม
ถ้าเรือลำนั้นได้รับความ ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอย่างใดแล้ว เจ้าของเรือต้องหาของถวายพระเจ้าแผ่นดิน และให้ของแก่เจ้าพระยาพระคลังเสมอเปนนิจมา
เพราะฉนั้นในส่วนเราถ้าจะทำให้ผิดธรรมเนียมนี้ไปดูจะไม่สมควร

อนึ่งถ้าเราได้เอาเจ้าพระยาพระคลังเปนเพื่อนไว้แล้ว เราก็ดูจะได้มีโอกาศหลายพันครั้ง ที่จะได้รับประโยชน์คุ้มกับของเราที่จะให้แก่เจ้าพระยาพระคลัง
และส่วน ของที่ถวายต่อพระเจ้ากรุงสยามนั้นทำอย่างไรๆ เราก็คงได้ประโยชน์กลับคืนมาบ้าง

เพราะฉนั้นเมื่อ เดือนมิถุนายน เปนเวลาที่พระเจ้ากรุงสยาม ได้เสด็จกลับมาจากเมืองลพบุรีแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้เอาผ้าไปให้เจ้าพระยาพระคลัง คิดเปนราคาประมาณ ๔๒๕ รูเปีย
(เมืองลพบุรีนี้ในปี ๑ พระเจ้ากรุงสยามคงจะเสด็จขึ้นไปประทับราว ๘ เดือนทุกปี)
นอกจากผ้าที่กล่าวนี้ ข้าพเจ้า ยังไม่ได้เอาอะไรให้เจ้าพระยาพระคลังอีกเลย ถ้าท่านจะส่งสิงห์โต (ไลออน ) ที่อยู่ที่เมืองสุหรัตมาถวายได้
พระเจ้ากรุงสยามก็คงจะโปรดเปนอันมาก เพราะได้รับสั่งกับข้าพเจ้าแล้ว
แต่ถ้าท่านจะส่งสัตว์ไลออนตัวนี้มา ก็ขอได้โปรดส่งของอื่น ๆ มาด้วยบ้าง มิฉนั้น ก็อย่าส่งเสียงเลยดีกว่า

ข้าพเจ้าคอย มองซิเออร์คอช อยู่ทุก ๆ วัน ในปีนี้ข้าพเจ้าป่วยไม่สบายเลย ด้วยเกิดขาบวมขึ้น ถ้าข้าพเจ้ามีกิจการที่จะต้องทำมากก็จะเปนการลำบากติดขัดที่สุด




(หน้า ๒๗)

ข้าพเจ้า จำเปนต้องขอพระราชทานยืมเงิน จากพระเจ้ากรุงสยามเปนเงิน ๔๐๐๐ รูเปีย เพื่อแบ่งใช้หนี้ซึ่ง บริษัทเปนหนี้คณะบาดหลวงอยู่
เพราะเวลานั้น สังฆราชเดลิโอโปลิศ ยังไม่ได้กลับมา พวกบาดหลวงจึงต้องมาทวงหนี้ที่เรา แต่ข้อที่น่าเคืองนั้นก็คือ
ที่ข้าพเจ้า ได้ยืมเงินรายนี้ ก็โดยหวังใจว่า เมื่อเรือได้มาถึงจากเมืองสุหรัตแล้ว ก็จะได้รับเงินพอที่จะถวายคืนต่อพระเจ้ากรุงสยามได้
แต่ครั้นเรือมาถึงแล้ว ก็ไม่ได้มีเงินมาด้วยเลย เพราะฉนั้น จึงเปนเหตุ ทำให้ข้าพเจ้าผิดสัญญาไป
ข้าพเจ้าหวังใจว่า ในมรสุมหน้า ท่านคงจะได้ส่งเงินรายนี้มาให้ข้าพเจ้าใช้หนี้เสียให้เสร็จไป


บอกการสินค้าแลการคิดตั้งบริษัท

ข้าพเจ้าได้หวังใจว่า ท่านคงจะอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้ไปเมืองสุหรัต สักคราว ๑ เพราะเห็นว่าการที่จะไปเมืองสุหรัตนั้น จะเปนประโยชน์มากกว่าที่ข้าพเจ้าจะอยู่ในเมืองนี้
โดยไม่มีอะไรจะทำ
ท่านสังฆราชจะเปนพยานได้ว่า พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งถามหลายครั้งแล้ว ว่าเหตุใดจึงไม่มีเรือเข้ามาค้าขายเลย และเหตุใด เราจึงไม่ได้รับเงินทุนและสินค้ามาบ้างเลย

ข้าพเจ้าได้พยายามแก้ไขในข้อถามเหล่านี้ โดยได้ให้กราบทูลว่า ท่านได้รับข่าวที่เมืองสุหรัตว่า เรือที่ได้ออกจากเมืองนี้ไปเมืองยี่ปุ่นแต่ปีกลายนี้ยังไม่ได้กลับมาเลยจนลำเดียว
ท่านจึงได้เกิดความสงสัยขึ้น ว่าการค้าขายในเมืองนี้ จะไม่ได้ประโยชน์เท่าไรนัก

พระเจ้ากรุงสยามจึงได้รับสั่งตอบว่า มองซิเออร์ลำป์ตอง เปนแต่พ่อค้าบุคคล เท่านั้น ยังมาค้าขายในเมืองนี้ได้
ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้ปฤกษาหารือกับสังฆราชเดลิโอโปลิศ โดยเลอียดแล้ว จึงเห็นพร้อมกันว่า ถ้าบริษัท ไม่มีกำลังพาหนะพอที่จะตั้งห้างอยู่ใน -




(หน้า ๒๘)


- เมืองนี้ได้แล้ว หรือถ้าฝรั่งเศส ได้เกิดทำสงครามกับพวกฮอลันดา ดังข่าวเล่าลือแล้ว ก็ควรจะให้พวกเรากลับไปเสียก่อนชั่วคราวดีกว่าที่จะอยู่เมืองนี้
ถ้าเราได้กลับไปแล้ว ท่านสังฆราช ก็คงจะเปนธุระคิดอ่าน ให้พระเจ้ากรุงสยามคงมี พระทัยกรุณาเราอยู่เสมอได้
เพราะฉนั้น ถ้ายังไม่มีสงครามกับ ฮอลันดาเเล้ว ทางดีที่สุดก็ควรให้บริษัทส่งเรือมารับเรากลับไป หรือ มิฉนั้นเราจะโดยสานเรือที่จะไป เมืองสุหรัต หรือ ไปเมืองตะนาวศรีก็ได้

ถ้าเเม้ว่า ท่านไม่เห็นด้วยใน การที่จะเลิกถอนห้างไปทีเดียว ก็ขอได้โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้กลับไปเสียก่อน และส่วนการทางนี้
ข้าพเจ้า จะได้มอบ มองซิเออร์คอช ทำการแทนข้าพเจ้าต่อไป
เพราะการที่ มองซิเออร์คอช อยู่ในเมืองนี้ คงจะไม่เปลืองโสหุ้ยมากเท่ากับข้าพเจ้า ในเรื่องนี้ ถึงหากว่าท่านจะเห็นด้วยตามที่ข้าพเจ้าขอร้องมาทั้งนี้
ข้าพเจ้าก็คงจะไม่ทำการอย่างใด ซึ่งผิดจากความเห็นชอบของท่านสังฆราช

การที่ข้าพเจ้า ได้คิดไว้ว่า จะแบ่งสินค้าส่งไปเมืองยี่ปุ่นเสียบ้างนั้น เปนการไม่สำเร็จ เพราะเหตุว่าเรือที่ได้ส่งไปเมืองยี่ปุ่นแต่ปีกลายนี้ยัง ไม่ได้กลับมาเลยจนลำเดียว
เพราะเรือเหล่านี้ ได้เข้าไปจอดพักตาม เกาะกวางตุ้งบ้าง เกาะฟอโมซาบ้าง และเมืองญวนบ้าง
เพราะฉนั้น พวกจีนที่ไปเมืองยี่ปุ่น ในปีนี้ เปนจีนใหม่ซึ่งข้าพเจ้าไม่รู้จักทั้งนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเปนต้องหาโอกาศอย่างอื่น
โดยที่พระเจ้ากรุงสยาม ได้โปรดพระราชทาน พระราชานุญาตให้ข้าพเจ้า บันทุกสินค้าลงกำปั่นหลวงได้
และในขากลับ ให้บันทุกทองแดงมา โดยไม่ต้องเสียค่าระวางเรือและค่าภาษีอย่างใด -




(หน้า ๒๙)


- ค่าภาษีทองแดงนั้น เก็บกัน ๑๐๐ ละ ๑๐ เปอเซน เพราะฉนั้น ต่อไปภายหน้า ถ้าข้าพเจ้า มีสินค้าที่จำหน่ายไม่ได้แล้ว ก็จะต้องจัดการดังได้กล่าวมาแล้ว
ซึ่งจะเปนประโยชน์ที่สุด ที่บริษัทจะหาได้ในเมืองไทย

ข้าพเจ้า ได้รับบาญชีของซึ่งมีทองแดง ๕๐ หีบ กับดีบุก ๑๐๐ หาบแล้ว ของเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้บันทุกลงเรือชื่อ โวตูร์
ในบาญชี ของพระเจ้ากรุงสยาม และซึ่งท่านได้จัดการขายที่เมืองสุหรัตเปนเงิน ๖๔๑๘ แฟรง นั้น
เงินรายนี้ ข้าพเจ้าได้รับแล้วเหมือนกัน และได้จำหน่ายไปตามคำสั่งของเจ้าพระยาพระคลังแล้ว

การที่ขาย ทองแดงกับดีบุก คราวนี้ ได้กระทำให้มองซิเออร์ลำป์ตอง เกิดความเสียหายขึ้น เพราะไทยหาว่า สินค้าที่พระเจ้ากรุงสยามได้ฝาก มองซิเออร์ลำป์ตองไปจำหน่ายนั้น
มองซิเออร์ลำป์ตอง หาได้ไปขายโดยสุจริตไม่
ข้าพเจ้า หวังใจว่าต่อไปภายหน้า ถ้าพระเจ้ากรุงสยาม มีสินค้าจะไปจำหน่ายแล้ว ก็คงจะบันทุกลงเรือของบริษัทต่อไป

ข้าพเจ้า ขอท่านได้โปรดอธิบายข้อความในจดหมายของท่าน ในข้อที่ท่านสั่งมา ให้ข้าพเจ้ากระทำการตามคำแนะนำของท่านสังฆราชทุกอย่างนั้นว่า
ท่านมุ่งหมาย ไม่ให้ข้าพเจ้า ทำการค้าขายหรือการอย่างอื่นๆ นอกจากการที่สังฆราชจะเห็นชอบด้วยแล้วหรืออย่างไร
เพราะถ้าความประสงค์ของท่านเปนเช่นนั้นแล้ว ท่านควรจะต้องมีหนังสือถึงสังฆราชด้วย และเมื่อสังฆราชได้สั่งให้ข้าพเจ้าทำการอย่างใด
ก็ขอให้สังฆราชทำใบสำคัญคู่มือให้ข้าพเจ้าด้วย เพื่อเปนพยานว่า ข้าพเจ้าได้ทำตามคำสั่งของท่านสังฆราชแล้ว
หรือการที่ท่านเขียนมาดังนี้ก็เปนเรื่องที่พูด -




(หน้า ๓๐)


- เปล่า ๆ อย่างไรขอทราบให้แน่ด้วย

ตามธรรมดานั้นถ้าข้าพเจ้ามีเรื่องสำคัญ ๆ ที่จะกราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม หรือจะเรียนเจ้าพระยาพระคลังแล้ว ข้าพเจ้า มักจะบอกให้ท่านสังฆราชทราบทุกคราว
แต่การที่ ข้าพเจ้าได้บอกให้สังฆราชทราบนั้นก็บอกอย่างกันเอง หาเข้าใจว่าเปนการที่จำเปนจะต้องบอกไม่
ข้าพเจ้าจึง มิใคร่จะระวังเท่าไรนัก เพราะเห็นว่าท่านสังฆราช มุ่งแต่ในกิจของสังฆราชอย่างเดียวเท่านั้น หามีความรู้ในด้านการค้าขายหรือวิธีดำเนิรการค้าขายของราชสำนักไทยไม่

ทั้งรู้ไม่ได้ด้วยว่าใครจะเปนเพื่อนของข้าพเจ้าบ้าง และการต่าง ๆ เหล่านี้เปนสิ่งที่ข้าพเจ้า พยายามปฏิบัติและเล่าเรียนโดยเฉพาะ
แต่จะอย่างไรก็ตาม หน้าที่ของข้าพเจ้ามีอยู่ที่จะต้องทำตามคำสั่งของท่านทุกอย่าง
เพราะฉนั้น เมื่อท่านได้บอกความประสงค์ของท่านมาให้ข้าพเจ้าทราบแล้ว ข้าพเจ้า จะได้ปฏิบัติตามทุกประการ
แต่ข้อที่ข้าพเจ้าอยากทราบนั้นก็คือ ข้าพเจ้าจะจ่ายเงินของบริษัท สำหรับช่วยคณะบาดหลวงได้หรือไม่
หรือท่านประสงค์เพียงแต่ เอาชื่อของบริษัท และความช่วยเหลือของบริษัท สำหรับช่วยคณะบาดหลวงอย่างไร

ตั้งแต่เจ้าพระยาพระคลัง ได้รับหนังสือของท่านอธิบายเรื่อง กอลกอนด์ นั้นก็หาได้พูดถึงอีกต่อไปไม่ เพราะได้เชื่อตามคำอธิบายของท่าน
และได้ห้ามมิให้ท่านเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

ในเรื่อง มาดำเดอโฮเมนิล ถูกผู้ร้ายลักของไปนั้น คดีก็คงรูปเดิมนั้นเอง เจ้าพระยาพระคลัง ได้สั่งผู้พิพากษากว่า ๒๐ ครั้งแล้ว ให้รีบจัดการเรื่องนี้ให้เสร็จไปเสียโดยเร็ว
แต่ก็ยังหามีผลอย่างใดไม่ การ -




(หน้า ๓๑)


- ต่างๆ ในเมืองไทยไม่ใคร่จะมีที่สิ้นสุดเลย เพราะ ใครมีอำนาจมากกว่า หรือใครมีเงินมากกว่าจะชนะเสมอ

เมื่อทราบดังนี้ ข้าพเจ้าจะได้พยายามจัดการให้เราได้รับประโยชน์ที่สุดที่จะได้ ตั้งแต่ได้เกิดเรื่องนี้ขึ้น ดังข้าพเจ้าได้เล่ามาแล้วนั้น
เจ้าพระยาพระคลังได้สั่งให้ ผู้พิพากษาจ่ายเงิน ๑๐๐๐ รูเปีย เปนเงินทำขวัญในการที่เกิดผู้ร้ายขึ้นนี้
และข้าพเจ้าหวังใจว่า เมื่อข้าพเจ้า จะมีหนังสือถึง มาดำโฮเมนิล ข้าพเจ้าคงจะได้รับประโยชน์บ้างเปนแน่

พวกแขกมัว ซึ่งได้โดยสานเรือชื่อ โวตูร์ ในคราวที่ข้าพเจ้า มายังเมืองไทยนั้น ได้สัญญาว่า จะเสียค่าระวางบันทุกสินค้า และจะยอมเสียเงินค่าโดยสานด้วย
ครั้นเรือได้มาถึงเมืองไทย จึงได้ทราบกันว่า สินค้าเหล่านั้น เปนของพระเจ้ากรุงสยามโดยมาก
เจ้าพระยาพระคลัง จึงได้สั่งให้ข้าพเจ้า มอบสินค้าเหล่านี้ ให้ผู้ที่เปนเจ้าของ และ ให้ข้าพเจ้า ทำใบรับรองแทน แขกมัว

ข้าพเจ้าพึ่งมาถึงเมืองไทยใหม่ ๆ ยังไม่รู้จักในวิธีดำเนิรการของเมืองนี้ จึงได้ทำตามคำสั่งของ เจ้าพระยาพระคลังทุกประการ
ตั้งแต่นั้นมา ข้าพเจ้าได้ร้องขอเงินต่อ เจ้าพระยาพระคลังตั้ง ๑๐๐ ครั้ง และ เจ้าพระยาพระคลัง ก็ได้สั่งหัวหน้าแขกมัว ให้ใช้เงินแก่ข้าพเจ้าตั้ง ๑๐๐ ครั้งเหมือนกัน
แต่ก็หาได้เงินไม่
เงินรายนี้เปนจำนวน ๘๐๐ หรือ๙๐๐ รูเปีย ซึ่งกระทำให้ข้าพเจ้า ต้องเปนปากเสียงกับ พวกหัวหน้าแขกมัว เพราะพวกนี้อ้างว่า
พวกแขกมัว ที่เปนข้าของพระเจ้าแผ่นดินจะไปไหน ก็ไปได้โดยไม่ต้องเสียภาษีอากรอย่างใดเลย

ผลที่สุดของการเรื่องนี้เมื่อข้าพเจ้า -




(หน้า ๓๒)


- ได้ร้องและขู่นักหนาแล้ว หัวหน้าแขกมัว จึงได้ทำหนังสือให้ข้าพเจ้าฉบับ ๑ รับรองว่าจะได้ใช้เงินรายนี้ภายใน ๒ เดือน แต่ข้าพเจ้า ก็ทราบไม่ได้ว่าจะได้ใช้ให้จริงหรือไม่

การที่ข้าพเจ้าได้เล่าในเรื่องนี้โดยยืดยาว ก็เพื่อประสงค์จะให้บริษัท จัดการให้ข้าพเจ้า ได้โดยสานเรือของบริษัทกลับไปอย่าง ๑
อีกอย่าง ๑ นั้น เพื่อบริษัทจะได้ ระวังพวกแขกมัว ถ้าต่อไปพวกแขกมัว จะเปนคนของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ตามหรือมิใช่ก็ตาม ถ้าจะโดยสานเรือของบริษัทแล้ว
จะต้องให้ชำระเงินค่าโดยสานหรือค่าระวาง ที่เมืองสุหรัตเสียก่อน

หรือมิฉนั้น ต้องมีหนังสือสำคัญของ เจ้าพระยาพระคลัง เปนหลักฐาน จึงควรให้ใช้เรือของบริษัทได้ เพราะ พวกแขกมัวเปนพวกที่โกงมาก
และใน พวกแขกมัว ที่อยู่ในเมืองนี้ จะหาสัก สามคนที่จะไว้ใจ ให้ถือเงิน ๑๐๐๐ รูเปียก็เกือบไม่ได้

สุรา ๔ หีบ กับเหล้าบรั่น ๑ ถัง ที่ท่านได้ส่งมาให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้รับไว้ถูกต้องแล้ว แต่สุรา ๔ หีบ นั้นซึ่ง โดยมากแห้งไปเสียส่วน ๑ นั้นไม่เพียงพอเลย
เพราะในเมืองนี้ มีชาวต่างประเทศมาก ซึ่งข้าพเจ้าจำเปนต้องแจกอยู่เสมอ
เพราะฉนั้น ในเรื่องนี้ ขอท่านได้โปรดตรึกตรองให้ดี เพราะในเวลานี้ ของที่บริษัทซื้อได้ในเมืองสุหรัต เปนราคา ๒๐ รูเปีย ข้าพเจ้า ต้องซื้อในเมืองนี้ เปนราคา ๕๐ รูเปีย

อนึ่งของต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้า ได้ทำบาญชีส่งไปยังท่านเมื่อปีกลายนั้น ขอท่านได้โปรดกรุณาส่งมาให้ข้าพเจ้าด้วย เพราะข้าพเจ้าได้ขอแต่ของที่จำเปนแท้ ๆ
และที่หาในเมืองไทยไม่ได้เท่านั้น -




(หน้า ๓๓)


- บ้านที่เราพักอยู่ในเวลานี้ ถ้ามีคนเพิ่มมาแล้ว ก็ไม่พอจะอยู่กันได้ ข้าพเจ้าจึงได้ ขอเรือนไม้จากเจ้าพระยาพระคลัง เพื่อเอามาปลูกในที่ของเราเพิ่มเติมขึ้น
เจ้าพระยาพระคลัง ได้ให้เรือนหลัง ๑ พอจะอยู่ได้ ๒ คน ค่ารื้อและ ค่าปลูกเรือนหลังนี้ ก็แพงอยู่บ้าง ส่วนเรือนที่พวกเราอยู่กันนั้น ข้าพเจ้าต้องจัดการซ่อมแซมบ้าง
เพราะบ้านหลังนี้ จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีใครมาคิดค่าเช่าเลย


บอกข่าวสังฆราชเมืองมอริตาเนียแลเมืองญวน


เมื่อวันที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม เรือชื่อ เซนต์โยเซฟ ซึ่งจอดอยู่ใต้ป้อมบางกอกนั้น ได้ถอนสมอออกไปแล้ว มองซิเออร์เดอบูร์ ซึ่งได้มาจากเมืองตังเกี๋ย เมื่อเดือนเมษายน
เพื่อไปรับตำแหน่งสังฆราช ที่เมือง มอรีตาเนีย นั้น ได้โดยสานไปกับเรือลำนี้พร้อมกับ มองซิเออร์เลอเฟฟร์ กับมิชชันนารีอีก ๔ คน
ข้าพเจ้าหวังใจว่าพระเปนเจ้าคงจะได้โปรดให้ท่านเหล่านี้ได้เดิรทางโดยสดวก

ข้าพเจ้า ได้ให้บันทุกเสบียงบางอย่างที่ยังขาดอยู่ และไม่ได้สั่ง มองซิเออร์บาป์ตองอย่างใด นอกจากบอกให้กลับมาแวะเมืองนี้
เพื่อมาบันทุกสินค้า ราคาประมาณ ๔๐๐๐ หรือ ๕๐๐๐ รูเปีย ซึ่งข้าพเจ้าได้เก็บรักษาไว้ แต่ มองซิเออร์บาป์ตอง รับรองไม่ได้ว่าจะกลับมาได้หรือไม่
ข้าพเจ้า จึงได้งด ในการจัดซื้อสินค้าไว้อีก และสินค้านี้ ข้าพเจ้ายังจะหาซื้อได้อีก ไม่ต่ำกว่าราคา ๑๐,๐๐๐ รูเบีย
เพราะเกรงว่าสินค้าเหล่านี้ จะตกค้างอยู่จะหาทางส่งออกไปไม่ได้ ซึ่งจะเปนการกระทำให้บริษัทขาดทุน -






(หน้า ๓๔)

เมื่อ มองเซนเยอร์เดอเมเตโลโปลิศ ได้ไปเมืองญวน ได้พามิชชันนารีไปด้วย ๖ หรือ ๗ คน และได้หาของไปถวายเจ้าแผ่นดินญวนด้วย
ของที่เอาไปถวายนั้น มีปืนใหญ่สองกระบอก ซึ่งเปนปืนอย่างใหม่ เจ้าแผ่นดินญวนอยากได้นัก ปืนนี้ได้ส่งไปถวายในนามของบริษัท
ข้าพเจ้า จึงได้มีหนังสือ ถึงเสนาบดีญวนกำกับไปด้วยฉบับ ๑ ท่านสังฆราชได้ขอร้องจะเอาคนที่ชื่อ ชัมปายน์ ไปด้วย
ข้าพเจ้า ได้อนุญาตให้ไปแล้ว และได้ชำระเงินที่เขายังติดบริษัทอยู่เล็กน้อยให้ด้วย
ข้าพเจ้า เข้าใจว่าท่านสังฆราชคงจะกลับมาถึงเมืองนี้ในราวเดือนมีนาคม หรือเมษายนหน้า


พวกจีนวิวาทกับพวกมิชชันนารี

เมื่อวันก่อนวันนักขัตฤกษอิศเตอร์ ได้มีพวกจีนพากันเข้ามาในบ้านบาดหลวง จีนคน ๑ ได้ตบหน้ามิชชันนารีผู้ ๑ คนในบ้าน บาดหลวงจึงได้ออกมาช่วยกันจับจีนผู้นั้นได้
ฝ่าย ออกพระโชฎึก ขุนนางจีนผู้ใหญ่ จึงได้สั่งให้ จับล่ามของเราไป และได้สั่งให้ ขังล่ามไว้จนกว่า จะได้ตัวจีนที่พวกบาดหลวงจับไว้
และพวกจีน ตามเรือที่จอดอยู่ในลำแม่น้ำ ก็พากันมาด่าท้าทายที่ โรงเรียนสามเณร

เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่า เกิดเรื่องขึ้นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ชักชวนชาวฝรั่งเศส ๑๒ คน กับชาวยุโรปอื่น ๆ ที่จะชวนได้ถืออาวุธทุกคน พากันไปยังโรงเรียนสามเณร
พอพวกจีนทราบว่า พวกข้าพเจ้าได้ไปช่วย พวกจีนก็เลยสงบ หาได้ทำอะไรอีกไม่

ท่านสังฆราชกับข้าพเจ้า จึงได้จัดให้ชาวฝรั่งเศสคน ๑ ซึ่งเปน แพทย์ของพระเจ้ากรุงสยาม กับล่ามอีกคน ๑ ให้ไปหาออกพระโชฎึก เพื่อขอให้ออกพระโชฎึกปล่อยตัวล่ามของเรามา
ออกพระโชฎึก คิดจะทุบตีชาวฝรั่งเศสแพทย์ แต่ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ ได้ต่อสู้ไม่ยอมให้เขาทุบตี -




(หน้า ๓๕)


- แล้ว ออกพระโชฎึก จึงได้สั่งแพทย์ฝรั่งเศส ล่าม และหัวหน้าค่ายญวน ให้ไปตรวจดูอาการพวกจีน ซึ่งออกพระโชฎึก หาว่าได้ถูกเจ็บป่วยที่โรงเรียนสามเณร
ออกพระโชฎึก ได้จัดข้าราชการคน ๑ กับจีน ๒๐ คนให้คุมไปด้วย แต่แพทย์ชาวฝรั่งเศสกลัวจะมีอันตรายตามทาง จึงได้ชักดาบออกจากฝักและหนีไปซึ่ง ๆ หน้า

ครั้นค่ำ ข้าพเจ้าก็ได้กลับมาบ้าน และได้เกิดความหวาดขึ้นหลายครั้ง เพราะมีเสียงพูดกันว่า พวกจีนกำลังรวบรวมผู้คนจะยกมาตีพวกเรา
จึงจำเปน ต้องเตรียมตัวที่จะสู้อยู่เสมอ แต่พวกจีน ได้จับล่ามของเรา และหัวหน้าค่ายญวนไปทุบตีทำร้ายต่างๆ
และทิ้งล่าม กับหัวหน้าญวนไว้ ณ ที่นั้นเอง ด้วยเข้าใจว่า ได้ทุบตีจนคนทั้ง ๒ นี้ตายเสียแล้ว

เมื่อข้าพเจ้า ได้เห็นความดุร้ายของขุนนางจีนผู้นี้ และพรรคพวก ก็มาตรองเห็นว่าจะปล่อยให้เขาดูถูกเช่นนี้ต่อไปไม่ได้
ข้าพเจ้าจึงตกลงใจ จะขึ้นไปเฝ้าขอพระมหากรุณาต่อพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งประทับอยู่ในที่แห่ง ๑ ไกลจากพระนครระยะทาง ๔ หรือ ๕ วัน
ข้าพเจ้า ได้ขึ้นไปและได้ทำเรื่องราวยื่นต่อเจ้าพระยาพระคลังฉบับ ๑ เจ้าพระยาพระคลัง ได้แสดงความเสียใจที่ได้เกิดเหตุขึ้นเช่นนี้ และบอกข้าพเจ้าว่า

การที่พวกจีนดูถูกข้าพเจ้า ดังนี้ เจ้าพระยาพระคลัง ถือว่าเท่ากับดูถูกตัวท่านเองเหมือนกัน เพราะ ฉนั้นจำเปนต้องกราบทูลให้ทรงทราบ
รุ่งขึ้น เจ้าพระยาพระคลังได้บอกกับข้าพเจ้าว่า พระเจ้ากรุงสยามทรงกริ้วมาก
จึงได้รับสั่งให้ เจ้าพนักงารลงไปเอาเชือกผูกคอลาก ออกพระโชฎึก ขึ้นไปเฝ้าเเล้ว จะได้ลงพระราชอาญา ให้เอาไม้ไผ่เเทงศรีษะ ออกพระโชฦึกเสียก่อน แล้วจะได้ให้ประหาร -




(หน้า ๓๖)


- ชีวิตเสีย วิธีที่ทำโทษด้วยเอาไม้แทงศีร์ษะนั้น คือเอาไม้ไผ่ผ่า ๒ แล้วให้คนโทษนอนบนไม้ไผ่นี้

เจ้าพระยาพระคลังได้เล่าต่อไปว่า พระเจ้ากรุงสยามได้มีรับสั่ง ให้จับพวกจีน ที่เข้าไปในบ้านสังฆราชจำตรวน ให้หมดด้วย
เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบความดังนี้แล้ว ข้าพเจ้า ก็ได้ลาเจ้าพระยาพระคลังกลับลงมากรุงศรีอยุธยาอีกไม่ช้าเท่าไร
ข้าพเจ้า ก็ได้ทราบว่าเจ้าพนักงาร ได้ลงพระราชอาญา ออกพระโชฎึกแลพวกจีนตามที่ได้รับสั่งไว้ทุกประการ


บอกเรื่องที่บริษัทติดต่อกับฟอลคอล


ยังมีข้าราชการอยู่คน๑ ซึ่งพระเจ้ากรุงสยาม ได้ยกย่องตั้งให้เปนถึง ออกพระ ซึ่งเปนตำแหน่งชั้นที่ ๒ ของเมืองนี้ ขุนนางผู้นี้ชื่อ คอนซตันตินฟอลคอน เปนคนเกิดเมือง เซฟาโลนี และเคยเปนนักเรียน เมืองอังกฤษ จนถึงกับ ถือสาสนาลัทธิของพวกอังกฤษ
แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ละ สาสนาลัทธิอังกฤษ แล้ว และได้แต่งงาร มีภรรยาในเมืองนี้เอง

ขุนนางผู้นี้ เปนคนฉลาดไหวพริบ ตรึกตรองการลึกซึ้ง จึงได้ทำการจนเปนคนโปรดปรานมาได้ ๒ ปีแล้ว และคนทั้งหลายก็เรียกล้อเล่นว่าเปน เจ้าพระยาพระคลังที่ ๒
ขุนนางผู้นี้ ทำการค้าขายมากกว่าพ่อค้าทั้งปวง

วัน ๑ คงเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ๒ ครั้ง และ สมเด็จพระนารายณ์ มีพระนิสัยชอบเสาะแสวงหาความรู้ จึงโปรดฟังขุนนางผู้นี้กราบทูลการต่าง ๆ
บางทีโปรดให้ขุนนางผู้นี้ เล่าอะไร ๆ ต่าง ๆ ถวายตั้งสองสามชั่วโมงก็มี
เพราะฉนั้น ท่านคงจะพอแลเห็นได้ว่า ถ้าขุนนางผู้นี้ ได้เปนพวกเราแล้ว บริษัทจะได้ประโยชน์สักเพียงไร เพราะธรรมเนียมของเมืองนี้
ถ้ามีเรื่องราวอย่างไร จะกราบทูลตรงต่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ แต่ต้องพูดกับข้าราชการ -




(หน้า ๓๗)


- คนโปรดสำหรับให้กราบทูลแทนจึงจะได้
ข้าพเจ้า ได้ทำไมตรีกับข้าราชการคนนี้ไว้แล้ว และได้ขอร้องให้เขาช่วยสังฆราชด้วย เพราะฉนั้น ในเวลานี้ ถ้าสังฆราชจะทำการสิ่งใดหรือจะขอร้องอย่างใด
ก็ต้อง ปฤกษาขุนนางคนนี้เสียก่อน และขอให้ช่วยจัดการให้ตลอดไปด้วย

ในเวลาที่พบปะสนทนากันนั้น โดยมากเราก็พูดแต่เรื่องอำนาจ และอภินิหารของพระเจ้าฝรั่งเศสมาก จนถึงกับเอาพระรูปแขวนไว้ในบ้านในที่เปิดเผย
ซึ่งเปนการทำให้ชาวยุโรปชาติอื่น ๆ เช่นอังกฤษเปนต้น มีความริษยาเปนอันมาก

เมื่อ มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอน ได้ฟังเราเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แล้ว ก็คาบความนั้นไปเล่าถวายต่อสมเด็จพระนารายณ์
จนสมเด็จพระนารายณ์มีความรักใคร่และนับถือพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เปนอันมาก

เมื่อข้าพเจ้า มีกิจการอย่างใด ๆ ที่จะต้องไปพูดหรือทำธุระกับเจ้าพระยาคลัง แล้ว ข้าพเจ้าก็บอกให้ คอนซตันตินฟอลคอน ทราบทุกเรื่อง
และในเวลาที่ข้าพเจ้า หรือสังฆราช จะไปหาเจ้าพระยาพระคลังนั้น คอนซตันตินฟอลคอนก็ไปด้วยเสมอ
เรารู้สึกได้ดีว่า คอนซตันตินฟอลคอน มีอำนาจและรักชอบเราเพียงไร เพราะเหตุว่าเรื่องต่าง ๆ ของเรามักจะสำเร็จโดยมาก

ถึงแม้ว่าข้าพเจ้า ได้เล่าถึงเรื่องคอนซตันตินฟอลคอนโดยยืดยาว เช่นนี้ ก็ยังไม่หมดความที่ข้าพเจ้าจะควรเล่าได้ และข้าพเจ้า เชื่อว่าข้าพเจ้าได้เอาอกเอาใจคอนซตันตินฟอลคอน
จนเขาได้มีความใคร่เจตนาดีต่อบริษัทแล้ว

คอนซตันตินฟอลคอนได้บอกข้าพเจ้าว่า เขาจะได้ -




(หน้า ๓๘)


- มีจดหมายมายังท่านด้วยเหมือนกัน
ข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านคงจะขอบคุณเขาในการที่เขาได้เอื้อเฟื้อต่อพวกเราและท่านคงจะจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เขาได้มีน้ำใจช่วยเราให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ถึงแม้ว่าคน ๆ คนไม่ใช่เปนคนมักได้ก็จริงอยู่ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าท่านได้ฝากของมาให้บ้าง ดูก็จะเปนการควรยิ่งนัก

ของที่ฝากมาให้คอนซตันตินฟอลคอนนั้น จะเปนสุราเมืองเปอเซีย ๒-๓ หีบ น้ำดอกไม้เทศ ผลไม้เมืองเปอเซียและของรับประทานอย่างอื่นก็ได้
เพราะเปนของที่พอเราจะอ้างได้ว่า หาในเมืองนี้ไม่ได้ และถ้าจะฝากของอย่างอื่นเช่น อาวุธดี ๆ งาม ๆ รูปภาพแลของแปลก ๆ ในประเทศยุโรปบ้างก็ได้

ข้าพเจ้าขอให้ท่านเชื่อเถิดว่า ของที่เราจะให้คอนซตันตินฟอลคอน ตีราคา ๑ เหรียญนั้น คงจะกลับเปนประโยชน์ต่อบริษัทเท่าราคา ๕๐ เหรียญ
ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้มาอยู่เมืองนี้ ยังไม่ได้ให้ของแก่ คอนซตันตินฟอลคอนในนามของบริษัทเลย แต่เมื่อท่านสังฆราชได้มาถึงเมืองนี้ ก็ได้ให้ของแก่คอนซตันตินฟอลคอนบ้างแล้ว
และของที่ท่านสังฆราชให้นั้น คอนซตันตินฟอลคอนเกือบจะไม่รับเสียซ้ำไป

ขอท่านได้โปรดส่งข่าวในประเทศยุโรป มาให้ข้าพเจ้าทราบบ้างเพื่อ ข้าพเจ้าจะได้ส่งข่าวนั้นไปกราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม
เพราะในเวลาที่ข้าพเจ้าได้รับหนังสือคราวใด พระเจ้ากรุงสยาม ก็รับสั่งถามเสมอว่า มีข่าวอะไรมาบ้าง
ว่าเพราะสมเด็จพระนารายณ์ โปรดฟังในสิ่งที่เกี่ยวด้วยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสนายของเรา และถ้าใครเล่าถวายถึงวิธีปกครองบ้านเมืองของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แล้ว
สมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดฟังยิ่งนัก

การที่ -




(หน้า ๓๙)


- พระเจ้ากรุงสยามโปรดฟังการเช่นนี้ ก็คงจะทำให้เปนประโยชน์ต่อเรามาก


บอกข่าวเรื่องฮอลันดา

หัวหน้าพวกฮอลันดาได้มาแจ้งต่อข้าพเจ้าว่าเรือชื่อชัมปียองได้ผ่านแหลมเคปออฟกุดโฮป เมื่อเดือนเมษายนและได้แวะรับเสบียงอาหาร เมื่อเสร็จแล้วก็แล่นต่อไป พวกฮอลันดามีธรรมเนียมอยู่อย่าง ๑ ว่า ที่เมืองบาตาเวียต้องส่งข่าวของประเทศยุโรปและข่าวอินเดีย ให้หัวหน้าห้างฮอลันดาทราบทุก ๆ แห่ง และถ้าจะมีเหตุการณ์ของบริษัทฮอลันดาเกิดขึ้นอย่างใด ก็ต้องบอกให้รู้ทั่วกัน เพราะฉนั้นถ้าจะถามข่าวคราวอย่างใด ก็ต้องบอกให้รู้ทั่ว ๆ กัน เพราะฉนั้นถ้าจะถามข่าวคราวอย่างใด ๆ พวกฮอลันดาก็ตอบได้ โดยทันที ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าเราจะเอาแบบของพวกฮอลันดามาทำบ้าง ก็คงจะได้ ในปีนี้ได้มีคนสำคัญ ๆ ในเมืองมาเก๊า เขียนหนังสือถึงข้าพเจ้าหลายคน ถามว่าข้าพเจ้าจะทำการค้าขายกับเขาบ้างหรือไม่ และรับรองว่าเรือของเขาที่จะมายังเมืองนี้ จะไม่จำหน่ายสินค้าอย่างใดก่อน ข้าพเจ้าที่จะได้ตรวจเลือกตามที่ต้องการแล้ว แต่ในเวลานี้ข้าพเจ้ายังไม่พร้อมที่จะทำการค้าขายกับเมืองมาเก๊าได้ เมื่อเดือนมิถุนายน ได้มีคน ๆ หนึ่งชื่อดอนมิลกีออร์ดามาราล ออมีซัว ออกจากเมืองไทยไปเมืองมาเก๊า คนผู้นี้ได้แวะเข้ามาในเมืองไทยเมื่อเดือนสิงหาคม พอเขาได้มาถึงข้าพเจ้าก็ได้ขึ้นไปหาเพื่อต้อนรับ แต่เขาได้รับรองข้าพเจ้าอย่างไม่มีไมตรีเลย ภายหลังอีกเดือนหนึ่ง หัวหน้าพวกฮอลันดาก็ได้ไปเยี่ยมเขาบ้าง และอีก -




(หน้า ๔๐)


- สองสามวันเขาก็ได้มาเยี่ยมตอบแล้วภายหลังจึงได้มาหาเรา ข้าพเจ้าเลยให้บอกเสียว่า ข้าพเจ้าไม่อยู่

เมื่อก่อนพระเจ้ากรุงสยามจะเสด็จกลับจากเมืองลพบุรีสักสามสี่วัน ได้มีคน ๆ หนึ่งซึ่งได้ทำการของรัฐบาลในเมืองบาตาเวียมา ๒๕ ปีแล้ว
ได้มาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า พวกฮอลันดาพยายามจะทำการอยู่ ๒ อย่างคือ
อย่าง ๑ คิดจะเอาเมืองบันตำ
อีกอย่าง ๑ จะคิดเอาป้อมที่บางกอก ( ป้อมนี้อยู่ริมแม่น้ำห่างจากปากน้ำประมาณ ๑๐ ไมล์ )
เพื่อตัวจะได้เปนใหญ่ในการค้าขายในทะเลฝ่ายใต้

ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนหน้าที่ของข้าพเจ้า ที่จะต้องบอกให้เจ้าพระยาพระคลังทราบในความคิดของพวกฮอลันดาเช่นนี้
ข้าพเจ้าจึงได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง ได้เล่าให้ฟังถึงความคิดพวกฮอลันดาที่จะมายึดเอาป้อมที่บางกอก
และได้ชี้แจงต่อเจ้าพระยาพระคลังว่า ความคิดของพวกฮอลันดาอย่างนี้อาจจะเปนการจริงได้

ถ้าแม้ว่าพวกฮอลันดาได้มายึดบางกอกไว้แล้ว พวกฮอลันดาก็จะเปนใหญ่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในทะเลแถบนี้ เพราะท่าเรือที่สำคัญอยู่ในเวลานี้ก็เหลือแต่บางกอกแห่งเดียวเท่านั้น
เจ้าพระยาพระคลังได้ขอบใจข้าพเจ้า และตั้งแต่นั้นมา เมื่อพบปะกันคราวใดดูกิริยาเจ้าพระยาพระคลังดีขึ้นผิดกว่าเก่าก่อนมาก
ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยาม ก็ทรงริษยาพวกฮอลันดามาก และ เมื่อเร็ว ๆ นี้เจ้าพระยาพระคลังก็ได้ไปจัดการตามลำน้ำเพื่อคอยป้องกันพวกฮอลันดา


บอกข่าวเกี่ยวข้องด้วยเมืองภูเก็จ


มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอนได้มาบอกข้าพเจ้าว่า เจ้าเมืองบาตาเวียได้มีหนังสือมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม ขอพระราชทานเกาะ -




(หน้า ๔๑)


- ภูเก็จให้แก่ฮอลันดา และขอทำการค้าขายในเกาะนี้ได้แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น
แต่มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอนได้บอกข้าพเจ้าว่า หนังสือเจ้าเมืองบาตาเวียฉบับนี้ยังหาได้ถวายไม่
เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจว่า ถึงแม้ในเรื่องนี้ข้าพเจ้ายังไม่ได้รับคำสั่งจากท่านก็จริงอยู่ แต่เปนการสมควรที่ข้าพเจ้าจะขอเกาะภูเก็จนี้ให้แก่บริษัท
เพราะฉนั้นเมื่อเจ้าพระยาพระคลัง ได้กลับลงมาจากเมืองลพบุรีแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทำเรื่องราวยื่น ขอให้ไทยยกเกาะภูเก็จให้แก่บริษัทฝรั่งเศส

อีกสองสามวัน เจ้าพระยาพระคลังก็ตอบเรื่องราวของข้าพเจ้าว่า พวกฮอลันดาได้ขอเกาะภูเก็จนี้ และพวกฮอลันดาคิดจะเอาให้ได้
ถ้าไทยได้ยกเกาะภูเก็จให้แก่เราและไม่ให้แก่ฮอลันดาแล้ว ก็จะเปนการทำให้ไทยกับฮอลันดาแตกร้าวกันซึ่งจะยอมให้เปนเช่นนั้นไม่ได้
เพราะฉนั้น ขอให้บริษัทคงทำการค้าขายอย่างที่เคยทำมาแล้วเถิด แลขอให้รู้สึกว่า เมื่อราชทูตสยามได้กลับมาแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจะได้จัดการให้บริษัทฝรั่งเศส
ได้ทำการค้าขายอย่างสดวกที่สุด

การที่เจ้าพระยาพระคลังได้ตอบมาดังนี้ ก็ตรงกับที่ข้าพเจ้าได้คาด ไว้ และตรงกับความต้องการของข้าพเจ้าด้วย
ข้าพเจ้าจึงได้ขอเจ้า พระยาพระคลังสั่งไปยังเจ้าเมืองภูเก็จ ให้ช่วยเหลือเกื้อหนุนเจ้าพนักงารของบริษัท
เจ้าพระยาพระคลังก็ได้รับรองว่าจะได้สั่งไปตามคำขอของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้ทราบว่าเจ้าพระยาพระคลังก็ได้สั่งไปตามนั้นแล้ว






(หน้า ๔๒)


เมื่อได้พูดกันถึงเรื่องเมืองภูเก็จแล้วสักสองสามวัน เจ้าพระยาพระคลังได้ถามข้าพเจ้าว่า เหตุใดข้าพเจ้าจึงไม่ฉวยโอกาศซึ่งพระเจ้ากรุงสยามได้โปรดพระราชทานพระราชานุญาต ให้ข้าพเจ้าเอาสินค้าบันทุกเรือกำปั่นหลวงได้ ข้าพเจ้าจึงได้ตอบว่า พวกจีนที่ไปในกำปั่นหลวงนั้นเปนจีนใหม่ข้าพเจ้ายังไม่ไว้ใจ เจ้าพระยาพระคลังจึงได้บอก ข้าพเจ้าว่าจะเอาสินค้าบันทุกกำปั่นหลวงได้ทุก ๆ ลำ และจะส่งสินค้าเหล่านั้นไปได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องเสียค่าระวางเรือ และเมื่อข้าพเจ้ารับทองแดงมาจากเมืองยี่ปุ่น ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องเสียภาษีอย่างใดเลย เวลานี้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสกับพระเจ้ากรุงสยาม ได้เปนพระราชไมตรีกันแล้วเพราะฉนั้นข้าพเจ้าควรเชื่อใจได้ว่า พระเจ้ากรุงสยามคงจะทรงบำรุงอุดหนุนเราทุกอย่าง เมื่อเดือนกรกฎาคม เจ้าพระยาพระคลังได้ให้คนมาตามสังฆราชเดลีโอโปลิศกับตัวข้าพเจ้าให้ไปหา ครั้นท่านสังฆราชกับข้าพเจ้าได้ ไปถึงบ้านแล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้ชี้แจงโดยยืดยาวว่า พระ เจ้ากรุงสยามทรงรักใคร่ประเทศของเราเปนอันมาก และถ้าบริษัทฝรั่งเศสได้มาตั้งห้างในทะเลฝ่ายใต้แล้ว พระเจ้ากรุงสยามจะทรงยินดีเปนอันมาก เพราะได้ทรงรับรองไว้แล้วว่า จะได้พระราชทานท่าเรือแห่ง ๑ สำหรับให้ฝรั่งเศสสร้างป้อมได้ และในข้อนี้พระเจ้ากรุงสยามก็มิได้เปลี่ยนพระราชดำริห์อย่างใด มาบัดนี้ก็มีโอกาศอันดีแล้ว เพราะเจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮเปนเมืองขึ้นของไทย การที่เปนเมืองขึ้นก็โดย -




(หน้า ๔๓)


- เจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮได้สวามิภักดิ์มาขอพึ่งบรมโพธิสมภารเอง หาได้มาขึ้นเพราะการรบพุ่งกันไม่ ในเวลานี้พวกฮอลันดามารบกวนเจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮอยู่เสมอ เพราะพวกฮอลันดาจะขออนุญาตสร้างป้อมที่เมืองยะโฮ เพราะฉนั้นถ้าเราเต็มใจเอาที่นี้แล้ว พระเจ้ากรุงสยามจะได้มีรับสั่งให้ เจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮอนุญาตให้เราเข้าไปอยู่ในเมือง ได้
คราวนี้เปนโอกาศอันดีซึ่งเราไม่ควรจะทอดทิ้ง มิฉนั้นต่อไปภายหน้าจะหาโอกาศที่เหมาะอย่างนี้ได้ยาก ข้าพเจ้าได้ขอบพระเดชพระคุณเจ้าพระยาพระคลังที่ได้แนะนำเช่นนี้ และแสดงความกตัญญูในการที่พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงพระกรุณาแก่เรา แต่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงต่อเจ้าพระยาพระคลังว่า เวลานี้ข้าพเจ้าจะทำการสำคัญเช่นนี้ยังไม่ได้เพราะต้องรอคำสั่งของท่านเสียก่อน เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ตอบว่าข้อนี้ทราบอยู่ดีแล้ว แต่เรื่องนี้เจ้าพระยาพระคลังเห็นเปนเรื่องที่สำคัญนักเพราะฉนั้นในระหว่างที่รอคำสั่งอยู่นั้น ข้าพเจ้าควรจะจัดฝรั่งเศสคนหนึ่งคนใดให้ไปทำไมตรีไว้กับเจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮ และให้ตรวจดูด้วยว่า จะควรทำอะไรบ้าง เจ้าพระยาพระคลังรับรองว่า จะจัดเรือให้ไปและว่า พระเจ้ากรุงสยามจะได้ทรงมีลายพระหัตถ์ให้ทูตเชิญไปยังเจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮ และในพระราชหัตถเลขานั้นจะได้รับสั่งให้เจ้าแผ่นดินเมืองยะโฮจัดการให้เราได้รับความสดวกทุกอย่าง ข้าพเจ้าจึงได้ขอผัดตรึกตรองสองสามวัน เจ้าพระยาพระคลังก็ยอม ข้าพเจ้าจึงได้นำความที่พูดกับเจ้าพระยาพระคลังนั้น มาหารือท่านสังฆราช -




(หน้า ๔๔)


- หารือบาดหลวงเดอลียอน บาดหลวงดูเชนและมิชชันนารีอื่น ๆ ด้วย ท่านเหล่านี้เห็นพร้อมกันว่า เปนการจำเปนแท้ที่จะต้องทำตามความประสงค์ของเจ้าพระยาพระคลัง ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่เห็นด้วย แต่เมื่อคณะบาดหลวงได้เห็นพร้อมกันเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้บอกกับเจ้า พระยาพระคลังว่า ถ้าเรือได้มาจากเมืองบันตำเมื่อไร หรือเมื่อเรือจะมาจากเมืองมสุลีปตันเมื่อไร เพราะเรือเหล่านี้คงจะพาชาวฝรั่งเศส มาด้วย ข้าพเจ้าจะได้จัดส่งคนไปยังเมืองยะโฮ แล้วข้าพเจ้าได้มีคำสั่งถึงมองซิเออร์บัวตูว่าถ้ากลับจากเมืองตังเกี๋ยเมื่อใดก็ให้ไปแวะจอดในแม่น้ำเมืองยะโฮ และให้มองซิเออร์บัวตูจัดการหยั่งน้ำในแม่น้ำและให้เที่ยวตรวจดูว่าที่แห่งใดจึงจะเหมาะสำหรับสร้างป้อม กับใ?ห้สืบดูด้วยว่าในเมืองยะโฮจะมีชาวฝรั่งเศสอยู่บ้างหรือไม่ ตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีเรือมาจากเมืองบันตำ แต่หาได้มีใครมาไม่ และข้าพเจ้าก็ได้ทราบข่าวว่าน่ากลัวเราจะต้องทำสงครามกับพวกฮอลันดา ข้าพเจ้าจึงเห็น ว่า ถ้ายังมีข่าวเรื่องจะทำสงครามกับพวกฮอลันดาอยู่ตราบใดบริษัทเราก็ ยังจะลงมือทำอะไรไม่ได้ เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงต้องไปบอกกับเจ้า พระยาพระคลังว่า ข้าพเจ้าจะยังส่งคนไปเมืองยะโฮไม่ได้จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากท่าน เจ้าพระยาพระคลังก็ยอมตามที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงนั้น แต่เจ้าพระยาพระคลังได้กำชับให้ข้าพเจ้ารีบบอกข่าวมายังท่าน และขอให้ท่านรีบมีคำสั่งมาในเรื่องนี้ให้เด็ดขาด มิฉนั้นก็อย่าให้ท่านนึกถึงเรื่องนี้อีกต่อไปเลย -




(หน้า ๔๕)


-แม่น้ำเมืองยะโฮอยู่ที่ช่องเมืองสิงคโปร์ (Incapoura) ดังมีปรากฎอยู่ในแผนที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่นี้เปนที่เหมาะสำหรับป้องกันไม่ให้เรือข้ามจากช่องมาลากาไปทะเลใต้ได้ แต่การที่จะป้องกันเรือเช่นนี้ต้องใช้พาหนะเรือจึงจะได้ แม่น้ำเมืองยะโฮนี้เปนแม่น้ำใหญ่และงามมาก เรือจะเข้าไปอาศรัยได้มาก จากเมืองนี้จะไปได้ทุกแห่งในทะเลใต้และจะไปเมืองอินเดียในเวลามรสุมก็ได้ ถ้าจะไปเมืองฝรั่งเศสจากแห่งนี้แล้ว ก็จะไปได้ในระดูเดียวกับที่จะไปเมืองบันตำ ถ้าเราเปนเจ้าของในที่แห่งนี้แล้ว ก็อาจจะทำการค้าขายได้ดีเท่ากับที่เมืองบันตำเหมือนกัน อีกประการ ๑ ในที่นี้คงจะหาซื้อพริกไทยได้เปนอันมาก เพราะพวกพ่อค้าพริกไทยซึ่งไปรับพริกไทยมาจากเมืองบันตำ เมืองบอนิโอและฝั่งแหลมมลายู คงจะมารวมอยู่ที่นี่ทั้งหมดและพ่อค้าพริกไทยซึ่งอยู่ตามฝั่งเกาะสุมาตรา และเกาะใกล้เคียงในแหลมมลายู ก็มีอยู่ตั้งพันคน เพราะฉนั้นพวกที่ทำการค้าขายกับบริษัทก็คงจะมีหนทางทำมา หาเลี้ยงชีพได้มาก อนึ่งถ้าจะเกิดสงครามขึ้นเวลาใด เมืองยะโฮนี้ก็เปน ทำเลอันเหมาะสำหรับรังเเกพวกฮอลันดาที่ทำการค้าขายในเกาะมาลากาและบาตาเวียตลอดทั้งทะเลใต้ด้วย และตามที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาแล้วเมืองยะโฮนิ้เปนทำเลดีกว่าเมืองบังกาซึ่งมองซิเออร์เดอลาเฮ เเละมองซิเออร์ คารอง คิดจะไปตั้งห้างนั้เปนอันมาก แต่การที่จะไปตั้ง อยู่ที่เมืองยะโฮนั้น มีข้อติดขัดอยู่ ๒ อย่างคือ ๑ ถ้าจะไปเมืองยะโฮแล้ว จะต้องผ่านไปทางช่อง ซอนดา หรือช่องมาลากา ซึ่งพวกฮอลันดาเปนเจ้าของอยู่ แต่ข้อติดขัดอย่างนี้ก็จะมีเช่นนี้ทุกแห่งในทะเลฝ่ายใต้ข้อที่ ๒




(หน้า ๔๖)

เมืองนั้นอยู่ในท่ามกลาวพวกแขกมลายูซึ่งเปนคนโกง อย่างที่สุด พวกฮอลันดาที่ไปตั้งการค้าขายในเกาะมาลากาเมืองบาตาเวียและแห่งอื่น ๆ ก็ได้รับความลำบากจากพวกแขกมลายูเหมือนกัน แต่พวกฮอลันดาปราบพวกมลายูไว้อยู่ เพราะเขาได้สร้างป้อมและมีทหารที่คอยปราบพวกนี้อยู่เสมอ การที่ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงประโยชน์ของบริษัทดังนี้ ก็เปนแต่อธิบายอย่างเผิน ๆ เพราะทราบอยู่ว่าการที่ข้าพเจ้าอธิบายเพียงเท่านี้ ก็ พอเปนหนทางที่จะได้ให้ท่านตรึกตรองถึงการที่บริษัทจะไปตั้ง อยู่เมืองยะโฮนี้ และถ้าท่านปราถนาจะไปตั้งบริษัทอย่างว่านี้แล้ว ขอท่านได้โปรดสั่งมายังข้าพเจ้าอย่างกว้างขวางและอย่างเด็จขาดด้วย ถ้าแม้ว่าบริษัทเปนอันตกลงจะไปตั้งเมืองยะโฮ ก็จะต้องเพิ่มคนและจะต้องมีเรือเล็ก ๆ ขนาดเรือเซนโยเซฟสักลำ ๑ สำหรับจะได้ไปมาได้ง่าย และเราก็คงจะหาทางให้เรือลำนี้ได้คุ้มโสหุ้ยได้เสมอ ในเวลาที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับมองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอนนั้นได้เกิดความคิดขึ้นอย่าง ๑ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าจะเปนประโยชน์ต่อบริษัทมาก ข้าพเจ้าเกรงว่าความคิดอันนี้ดูเหมือนเจ้าพระยาพระคลังจะได้มีหนังสือบอกไปยังเจ้าเมืองมัทราศแล้ว แต่ส่วนข้าพเจ้านั้นก็ยังไม่ได้พูดกับใครเลย ความคิดของข้าพเจ้านั้นดังนี้ คือให้บริษัททำสัญญากับพระเจ้ากรุงสยาม รับสัญญาว่าในปี ๑ บริษัทจะได้ส่งเรือจากประเทศฝรั่เศส มากรุงสยาม ขนาด ๔๐๐-๕๐๐ ตัน ลำ ๑ ทุก ๆ ปี เรือนั้นจะได้บันทุกสินค้ามีราคาประมาณ ๑๐๐ บาทเปนผ้าชนิดที่พระเจ้ากรุงสยาม -




(หน้า ๔๗)


- ต้องพระราชประสงค์ราคา ๔๐-๕๐ บาท กันอย่างราคา ๕๐-๖๐ รูเปีย ผ้านี้ให้พระเจ้ากรุงสยามรับซื้อจากบริษัทคิดกำไรจากทุนเดิม ๒๐ หรือ ๒๕ เปอเซน


บอกข่าวเรื่องสินค้า

ถ้าเรือลำนี้ได้ออกจากประเทศฝรั่งเศสในเดือนมกราคม ก็คงจะมาถึงเมืองไทยอย่างช้าราวเดือนกรกฎาคม สิงหาคม หรือกันยายน เมื่อขากลับให้พระเจ้ากรุงสยามอนุญาตให้บันทุกดินประสิวกลับไป เพราะข้าพเจ้าได้ทราบว่าดินประสิวในเมืองนี้ดีกว่าดินประสิวที่เมืองเบงกอล ข้าพเจ้าเชื่อว่าดินประสิวที่เมืองนี้พอจะซื้อได้หาบละ ๑๐ รูเปีย แต่โดยปรกติพระเจ้ากรุงสยามทรงขายหาบละ ๒๑ รูเปีย นอกจากดินประสิวก็ให้เรือบันทุกทองแดงและดีบุก ทองแดงนั้นคิดราคาหีบละ ๒๐ รูเปีย ดีบุกนั้นคิดราคาหาบละ ๔๐หรือ ๕๐ รูเปีย เรือลำนี้จะได้กำหนดให้ออกจากเมืองไทยในปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม เพื่อให้ไปถุงฝั่งคอรอมันดเลในเดือนธันวาคม เมื่อถึงฝั่งคอรอมันดเลแล้วจะได้เอาทองแดงกับดีบุกขึ้นจากเรือ เพราะทองแดงกับดีบุกนี้ต้องซื้อขายกันเปนเงินสดและคงจะได้กำไรไม่น้อยกว่า ๒๐ เปอเซน เมื่อเรือได้ถ่ายทองแดงกับดีบุกออกแล้ว ก็ให้บันทุกผ้าต่อไป และให้ออกเรือจากฝั่งคอรอมันดเล ในต้นเดือนกุมภาพันธ์เลยไปเมืองฝรั่งเศสทีเดียว ประโยชน์ที่จะได้แก่บริษัทนั้นก็พอจะเห็นได้ง่ายเพราะคงจะ ได้กำไรในการขายผ้าเมืองฝรั่งเศสไม่ใช่น้อย และบางทีในเที่ยวเดียวก็อาจจะได้กำไรจากผ้า ทองแดงและดียุกถึง ๔๐ - ๕๐ ยังการที่จะ บันทุกดินประสิวนั้นก็จะเปนประโยชน์อีก เพราะจะได้เอาดินประสิวบันทุกแทบอับเฉาดีกว่าที่จะไปเอาหินจากฝั่งคอรอมันดเลมาเปนอับเฉา ถึงแม้ -




(หน้า ๔๘)


- ว่าบริษัทจะไปตั้งห้างอยู่ที่เมืองเบงกอล ก็คงจะหาดินประสิวให้มากพอบันทุกแทนอับเฉาไม่ได้ และถ้ายิ่งมีเรือหลายลำแล้วก็จะหาดินประสิวได้ไม่พอทีเดียว เพราะพวกอังกฤษและฮอลันดาก็ซื้อดินประสิวไม่ได้ครึ่งจำนวนที่เขาต้องการ ข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านจะได้ตอบข้าพเจ้าให้ทราบว่า ท่านมีความคิดอย่างไรตามความเห็นของข้าพเจ้าที่กล่าวมานี้ และขอทราบว่าท่านจะต้องการให้ข้าพเจ้าพูดกับ ไทยในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่


บอกข่าวเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์


ท่านสังฆราชเดลิโอโปลิศได้เชิญพระราชสาสนพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ถวายต่อสมเด็จพระนารายณ์แล้ว
ไทยได้จัดรับพระราชสาสนโดยพิธีอย่างเดียวกับที่พระราชสาสนคราวก่อน รุ่งขึ้นท่านสังฆราชได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์
ในการเฝ้าคราวนี้มีแต่ท่านสังฆราชกับบาดหลวงเดลียอนเฝ้า ๒ คนเท่านั้น

เจ้าพระยาพระคลังได้บอกข้าพเจ้านานแล้วว่า ก่อนที่พระเจ้ากรุงสยามจะเสด็จขึ้นไปประทับเมืองลพบุรี มีพระราชประสงค์จะทรงแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นว่า
ทรงรักใคร่ประเทศของเราและทรงโปรดปรานในตัวข้าพเจ้าด้วย
ครั้นภายหลังได้มีพนักงารมาบอกให้ข้าพเจ้าไปคอยเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามในพระราชวังในวันที่ ๑๑ เดือนตุลาคม ในวันนั้นจะเสด็จออกแขกเมืองให้ทูตเมืองยำบีเข้าเฝ้าเหมือนกัน

คั้รนเวลาเช้าวันที่๑๑ตุลาคมข้าพเจ้าได้ไปยังพระราชวัง ได้ผ่านชลาหลายชลาจนถึงชลาแห่ง ๑ ซึ่งตรงกับที่ประทับและมีทหารถืออาวุธอยู่ในที่นั้นมาก เจ้าพนักงารได้จัดให้ข้าพเจ้านั่งลงกับพื้น และจัดให้ทูตเมืองยำบี นั่งข้างหลังข้าพเจ้าห่าง๑๒ หรือ๑๕ ก้าว คือว่าข้าพเจ้านั่งใกล้กับที่ประทับมากกว่าทูตเมืองยำบี ๑๕ ก้าว




(หน้า ๔๙)

ในทันใดนั้นเจ้าพนักงารได้เป่าแตรสังข์ เจ้าพนักงารจึงได้รูดพระ วิสูตร์อันงดงามซึ่งบังพระโทรนอยู่ จึงได้เห็นพระเจ้ากรุงสยามประทับอยู่ บนพระโทรน พระโทรนนั้นงามอย่างที่สุด และองค์พระเจ้าแผ่นดินก็งามด้วยประดับพระองค์ด้วยเพ็ชรพลอยต่าง ๆ เต็มทั้งพระองค์ เมื่อสุดเสียงแตรสังข์แล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้กราบบังคมทูลว่า ตามที่ได้มีพระราชโองการไว้นั้น บัดนี้เจ้าพระยาพระคลังได้นำข้าพเจ้า มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับสั่งให้ ถามข้าพเจ้าถึงข่าวคราวพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส และรับสั่งถามว่าเหตุใด จึงไม่เห็นมีเรือเข้ามาเลย ครั้นข้าพเจ้าได้กราบทูลตอบตามข้อรับสั่งแล้วเจ้าพนักงารได้เชิญพานเงินมาวางต่อหน้าข้าพเจ้า ๑ พาน ในพานเงินนั้นมีเสื้อทำด้วยแพรดอกเงินแลทอง ๑ เสื้อ กับดาบเมืองอินเดียมีลวดทอง ๑ ดาบ แพรที่ทำเสื้อนั้นเปนแพรที่ข้าพเจ้าได้ถวายเมื่อมาถึงเมืองไทยนั้นเอง ข้าพเจ้าจึงยกพานเงินทั้งเสื้อและดาบขึ้นชูบนศีร์ษะ ๓ ครั้ง เจ้าพนักงารก็ได้เอาเสื้อมาสวมตัวข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าก็ลงกราบอย่างแบบธรรมเนียมของบ้านเมือง เมื่อเสร็จพิธีรับพระราชทาน เสื้อแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงรับสั่งกับราชทูตเมืองยำบี ๒-๓ องค์ เจ้าพนักงารก็ได้เอาเสื้อพระราชทานมาสวมให้ราชทูต เสื้อที่พระราชทานราชทูตนั้นไม่ใคร่มีราคาเท่าไรนัก พอเสร็จเจ้าพนักงารก็เป่าแตรสังข์ ขึ้นอีก และพระวิสูตรก็รูดปิดพระโทรนจนมิด การที่พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงพระกรุณาแก่ข้าพเจ้าเช่นนี้ ทำให้คนทั้งหลายปลาดใจมาก และ





(หน้า ๕๐)


- พวกอังกฤษกับปอตุเกตก็ริษยาข้าพเจ้ายิ่งนัก ฝ่ายหัวหน้าพวกฮอลันดาถึงจะเปนมิตร์กับหัวหน้าพวกฝรั่งเศสก็จริงอยู่ แต่มีความริษยาข้าพเจ้ายิ่งนักจนถึงกับอดแสดงให้เห็นไม่ได้
แต่ตัวข้าพเจ้าก็ต้องสารภาพว่า มีความปลาดใจเหมือนกันและที่พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงพระกรุณาให้เกียรติยศแก่ข้าพเจ้าเช่นนี้
ก็ต้องถือว่าเพราะพระองค์ทรงโปรดปรานประเทศของเรามาก ข้าพเจ้าหวังใจว่าการที่ข้าพเจ้าได้รับเกียรติยศเช่นนี้ คงจะทำให้ท่านมีความยินดีและพอใจเปนอันมาก
และข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านคงจะได้ให้เครื่องหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในการที่ข้าพเจ้าได้รับพระมหากรุณาจากพระเจ้ากรุงสยามเช่นนี้
เพื่อเปนพยานในวันหน้าต่อไปว่า ในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้มาอยู่ในเมืองนี้ ข้าพเจ้าได้พยายามรักษาชื่อเสียงและเกียรติยศของบริษัทและของประเทศฝรั่งเศสเพียงไร


บอกข่าวเรื่องพระราชทานที่ให้สังฆราชสร้างวัด


ท่านสังฆราชได้ทราบมานานแล้วว่าพระเจ้ากรุงสยาม ทรงพระราชดำริห์จะสร้างวัดพระราชทานให้แก่ คณะบาดหลวงมองเซนเยอเดลิโอโปลิศ ได้คิดอ่านหาโอกาศที่จะเตือน
ในเรื่องนี้จึงได้ไปพูดกับ มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอน ๆ ได้รับรองว่าในเรื่องนี้ไม่ต้องให้สังฆราชเดลีโอโปลิศขอร้องอย่างใด
แต่มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอน จะจัดการให้พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงเปนพระธุระให้เอง

ในเรื่องนี้เพื่อนของเราคนนี้คือ คอนซตันตินฟอลคอนได้จัดการตามที่ได้รับปากไว้ จนถึงกับพระเจ้ากรุงสยาม ได้มีรับสั่งให้มาขอแบบโบสถ์จากสังฆราช
ท่านสังฆราชได้ถวายแบบไป จึงได้มีรับสั่งให้วัดตามแบบของสังฆราช ซึ่งเปนวัดใหญ่และ -




(หน้า ๕๑)


- งามมาก ถ้าเจ้าพนักงารได้มีน้ำใจช่วยเหมือนกับสมเด็จพระนารายณ์แล้วไม่ช้าวันนักก็จะก่อแล้วเสร็จได้โดยเร็ว

สมเด็จพระนารายณ์ก็ได้มีรับสั่งให้สร้างบ้านขึ้นหลัง ๑ สำหรับคอยรับราชทูตฝรั่งเศสพระทรงหวังว่าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ คงจะแต่งราชทูตมาเปนแน่
ข้าพเจ้าได้ส่งแบบบ้านเข้าไปถวายแล้ว และถ้าได้สร้างตามแบบนี้แล้ว

บ้านนี้จะเปนบ้านที่งามมากและบางทีพวกเราเองก็จะได้อาศรัยได้บ้าง พระเจ้ากรุงสยามก็ได้มีรับสั่งให้ทำเครื่องเงินสำหรับให้ราชทูตฝรั่งเศสใช้ด้วย
และข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าราชทูตฝรั่งเศสได้มาจริงสมเด็จพระนารายณ์คงจะทรงต้อนรับอย่างใหญ่โตที่สุดเปนแน่

อนึ่งได้มีรับสั่งให้ไปทำของแปลก ๆ ที่หายากในเมืองยี่ปุ่น สำหรับจะพระราชทานไปยังเมืองฝรั่งเศส และได้รับสั่งว่าถึงจะไม่ทรงแต่งทูตไปฝรั่งเศส
ก็จะได้ส่งของไปถวายพระเจ้าแผ่นดินของเราเนือง ๆ

ข้าพเจ้า ขอท่านได้โปรดส่งม้ามาให้ข้าพเจ้า ๑ ม้า ให้มีอานพร้อม ด้วยซึ่งเปนของจำเปนที่สุด เพราะในอาทิตย์ ๑ ข้าพเจ้า ต้องไปหาเจ้าพระยาพระคลังอยู่ใน ๓-๔ ครั้งทุกอาทิตย์
และต้องไปกำลังเที่ยงด้วย ทั้งบ้านเจ้าพระยาพระคลังก็ไกลจากบ้านเราหนทางครึ่งไมล์

นอกจากนี้ข้าพเจ้า คาดคะเนว่า ข้าพเจ้าจะต้องขึ้นไปเมืองลพบุรีบ้าง เพราะในปี ๑ พระเจ้ากรุงสยามเสด็จขึ้นไปประทับที่เมืองลพบุรี
พร้อมด้วยขุนนางข้าราชการราว ๗ หรือ ๘ เดือนทุก ๆ ปี เพราะฉนั้น ถ้าท่านไม่กรุณาส่งม้ามาให้ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าก็จำเปนจะต้องหาซื้อในเมืองนี้
และราคาม้าดี ๆ ในเมืองนี้ก็แพงมาก -




(หน้า ๕๒)


บอกข่าวเรื่องสินค้า


สินค้าของเราที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งเปนสินค้าไม่มีราคาอันใด แลไม่สมควรสำหรับจะขายในเมืองนี้นั้น
ข้าพเจ้าได้ขายให้แก่มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอนไปหมดแล้ว สินค้าที่มาจากเมืองสุหรัตนั้น ข้าพเจ้าได้ขายมีกำไร ๓๕ เปอเซน คิดตามราคาซื้อขายกันในอินเดีย
และผ้าไหมทอง ซึ่งได้ส่งมาจาก เมืองบันตำ และซึ่งราคาตกถึง ๒๕ เปอเซน มาได้ ๑๐ ปี แล้วนั้น ข้าพเจ้าได้แลกกับดีบุก ๆ นี้
จะต้องส่งให้ข้าพเจ้า ในเวลาที่เรือได้มาถึงจากเมืองสุหรัต คิดเปนราคา บาหาละ๑๐๐ รูเปีย

ข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้า ได้จัดการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ โดยมีกำไรมาก เพราะการที่จะเก็บสินค้าเหล่านี้ไว้ หรือจะส่งสินค้าเเหล่านี้กลับไปที่เดิม ก็ไม่เปนประโยชน์อะไรเลย
พี่ชายข้าพเจ้า ได้มีหนังสือมาจากเมืองบันตำ บอกมาให้ขายผ้าไหมทอง โดยขาดทุน ๔๐ หรือ ๕๐ เปอเซน ดีกว่าที่จะส่งกลับคืนไปเมืองสุหรัต
เพราะถ้าส่งคืนไปเมืองสุหรัต ก็จะต้องขาดทุนยิ่งกว่านี้ไปอีก

ข้าพเจ้า ได้ขายสินค้าให้แก่คลังหลวงคิดเปนราคาเงิน ๔๐๐๐ รูเปีย แต่แลกเปลี่ยนกันกับทองแดง คือว่า เมื่อเรือมาจากเมืองยี่ปุ่นแล้ว
คลังหลวงจะต้องส่งทองแดงให้ข้าพเจ้า คิดราคาหีบละ ๒๐ บาท ในการแลกเปลี่ยนสินค้าสองอย่างนี้ ข้าพเจ้าคงจะได้ดีบุกราว ๔๕๐ ถึง ๕๐๐ หาบ
และคงจะได้ทองแดงในราว ๑๐๐ หีบ คิดราคาหีบละ ๕๐ หรือ ๖๐ บาท

ดีบุกกับทองแดงนี้ ข้าพเจ้าจะได้ พยายามจำหน่าย ก่อนที่เรือจะได้มาจากเมืองสุหรัต ซึ่งเปนการทุ่นโสหุ้ยของเรือ ที่ท่านบอกข้าพเจ้าว่า จะได้ส่งมาในคราวมรสุมหน้า




(หน้า ๕๓)


สินค้าที่ส่งมาจากเมืองสุหรัต ตกราคาทั้งหมด และผ้าอินเดียกับผ้าดอก จำหน่ายไม่ใคร่ได้เลย ข้าพเจ้าจะได้ทำบาญชีสินค้าที่จะส่งมา จำหน่ายในเมืองนี้ติดท้ายจดหมายฉบับนี้
สินค้าที่มองซิเออร์ลำบ์ตอง ได้พามานั้นคงจะขาดทุนเปนอันมาก
การที่สินค้าจำหน่ายฝืดเคืองนั้น เปนด้วยเหตุที่มีเรือยี่ปุ่นแวะเข้ามาในเมืองนี้หลายลำ และเกิดข้าวยากหมากแพงขึ้นด้วย อาหารการกินในเวลานี้แพงอย่างที่สุด
จะหาซื้อไก่ หมู โคและปลาก็เกือบจะไม่ได้

ข้าวเปลือกขึ้นราคาถึงเกวียนละ ๗๕ บาท แต่ก่อนเกวียน ๑ ราคา ๑๐-๑๕ บาทเท่านั้น แต่มาเดี๋ยวนี้ข้าวได้ลดราคาลงบ้างเล็กน้อย พอจะหาซื้อตามท้องตลาดได้บ้างแล้ว
ในระหว่าง ๒ เดือนที่ล่วงมาแล้ว ตามตลาดไม่มีข้าวขายเลย

ถ้าแม้ว่าท่านจะส่งเรือและของฝากมายังเมืองนี้แล้ว ควรท่านจะมีจดหมายถวายพระเจ้าแผ่นดินฉบับ ๑ มีมาถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับ ๑ ด้วย
หนังสือที่ท่านจะมีมานั้น ต้องเขียนบนกระดาดทองและต้องใส่ถุงทำด้วยผ้าอย่างดีสองถุง
ถุงที่ใส่หนังสือสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดินนั้นต้องเปนถุงใหญ่กว่าและทำด้วยผ้าดีกว่า ที่ใส่หนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลัง เพราะการชนิดนี้ เปนข้อถือของไทยยิ่งนัก


บอกข่าวเรื่องกลัวอังกฤษจะมาแย่งสินค้าพริกไทย

เมื่อเดือนมิถุนายน เราได้ทราบข่าวมาว่าพวกฮอลันดาได้ยึดเมืองบันตำ ไว้ได้แล้ว และว่ามีเจ้าพนักงานอังกฤษมายังเมืองไทยหลายคน
เพื่อจะมาหาที่สำหรับตั้งการค้าขายในทะเลใต้นี้สืบไป ตามที่ได้ข่าวมาเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเกรงไปว่าพวกอังกฤษที่จะมาเมืองนี้ คงจะมาขอซื้อพริกไทยจากพระเจ้ากรุงสยาม
เพราะมีพริกไทยปลูกกันในพระราช -




(หน้า ๕๔)


- อาณาเขตมาก และถ้าหากว่าจะไม่พระราชทานให้แก่พวกอังกฤษก็จะเลยไม่พระราชทานเราบ้างกระมัง หรืออย่างต่ำที่สุด ถ้ามีประเทศ ๒ ประเทศ มาประมูลราคากันเช่นนี้
ก็จะทำให้ราคาพริกไทยแพงขึ้นผิดกว่าที่ซื้อขายกันตามธรรมดา

ครั้นข้าพเจ้าได้รับหนังสือของท่านที่ท่านได้มีมาในปีนี้ ข้าพเจ้าก็ได้เลยไปพูดกับเจ้าพระยาพระคลังในเรื่องพริกไทยตามที่ข้าพเจ้าวิตกนั้น และขอให้เจ้าพระยาพระคลัง
ได้นำความกราบทูลพระเจ้ากรุงสยามด้วย ในหนังสือของท่านฉบับนี้ มีใจความว่าในเวลานี้ท่านยังไม่ต้องการทำสัญญากับพระเจ้ากรุงสยามก็จริงอยู่
แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องนี้เปนเรื่องสำคัญนัก

และการที่พวกฮอลันดาได้ยึดเมืองบันตำ เปนเรื่องที่ร้อนนัก ข้าพเจ้าจึงได้เลยพูดกับเจ้าพระยาพระคลังในเรื่องพริกไทยเสียทีเดียว ในเรื่องนี้ได้โต้ตอบกันอยู่ถึง ๕ เดือน
จึงได้ตกลงตามความต้องการของข้าพเจ้า คือ พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงตกลงว่าพริกไทยนั้น จะได้ชักไว้เปนของหลวง ๑๐ ชัก ๑
และเมื่อได้หักจำนวนพริกไทย สำหรับใช้ในพื้นบ้านเมือง มากน้อยเท่าไรแล้ว เหลือพริกไทยอยู่เท่าไรเปนของบริษัททั้งสิ้น โดยคิดราคา บาหาละ ๑๖บาท
ซึ่งเปนราคาซื้อขายกันในเมืองบันตำ

การที่ได้ตกลงกันเช่นนี้ นับว่าได้เปรียบกว่าชาวต่างประเทศอื่น ๆ อยู่แล้ว แต่ข้าพเจ้า ยังหาได้รับหนังสือสำคัญรับรองในเรื่องนี้ไม่
แต่เจ้าพระยาพระคลัง ก็รับว่าจะทำหนังสือสำคัญให้ตามแบบที่ข้าพเจ้าได้ทำให้ไว้ และถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะยังไม่ตรงกับความต้องการของข้าพเจ้าทุกอย่างก็จริงอยู่
แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า เมื่อได้อย่างไรก็ควรจะเอาอย่างนั้นดีกว่า เพราะต่อไปภายหลัง เมื่อเราเห็นแน่แล้วว่าต้องการอย่างไร
ข้าพเจ้าเชื่อว่า พอจะพูดจาขอร้องให้เพิ่มจำนวนให้มากขึ้นก็ได้




(หน้า ๕๕)

ข้าพเจ้า ได้รับหนังสือสำคัญฉบับ๑ ซึ่งเปนพระราชโองการของ พระเจ้ากรุงสยาม พระราชทานพระราชานุญาตให้ข้าพเจ้า ซื้อทองแดงและสินค้าอื่น ๆ
ซึ่งมาจากนอกพระราชอาณาเขตได้ตามชอบใจทุกอย่าง ขอท่านได้โปรดพิเคราะห์ใน เรื่องพริกไทยนี้ให้เลอียดด้วย
เพราะจะเปนสินค้าใหญ่ และบริษัทจะได้ประโยชน์มากที่สุดในฝ่ายอินเดีย และถ้าบริษัทได้ซื้อพริกไทย ในเมืองนี้ได้เท่ากับจำนวนพริกไทยในเมืองบันตำแล้ว
ก็จะเห็นได้ง่ายว่า สินค้าพริกไทยนี้ จะเปนสินค้าใหญ่ และให้ประโยชน์แก่บริษัทสักปานใด
เพราะพริกไทยได้ซื้อเพียงราคา บาหาละ ๑๖ บาทเท่านั้น

นอกจากพริกไทย ก็ยังจะมีดินประสิว และสินค้าอย่างอื่น บันทุกไปประเทศฝรั่งเศสได้อีกหลายอย่าง พริกไทยนั้นจะส่งไปจำหน่ายที่ เมืองยี่ปุ่น เมืองจีน เมืองตังเกี๋ย
ฝั่งคอรอมันดเล เมืองเบงกอล เมืองโมกะ เมืองสุหรัต และ เมืองเปอเซีย โดยมีกำไรมากทุกแห่ง และถ้าบริษัทได้ตั้งเปนหลักฐานแล้ว ก็พอจะค้าขายพริกไทยได้โดยสดวก

เจ้าพระยาพระคลังได้บอกกับข้าพเจ้าว่าภายใน ๒ หรือ ๓ ปีก็พอจะเก็บพริกไทยได้มาก แต่อีก ๔ หรือ ๕ ปี ก็จะได้พริกไทยมากยิ่งขึ้นไปอีก
ขอท่านได้โปรดชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบว่า ในเรื่องนี้ท่านจะต้องการให้ข้าพเจ้าทำประการใด และเมื่อถึงระดูที่เก็บพริกไทยแล้ว ท่านจะส่งเงินมาให้ข้าพเจ้าซื้อพริกไทยหรือไม่

เมื่อวันที่ ๑๕ เดือนธันวาคม มองซิเออร์รอแรง เสมียนเรือ เซนต์โยเซฟ ได้มาหาข้าพเจ้าในเวลากลางคืนและได้มาบอกว่าเรือ เซนต์โยเซฟได้มาถึงแล้ว
ซึ่งเปนการทำให้ข้าพเจ้าปลาดใจมาก เพราะ -




(หน้า ๕๖)


มองซิเออร์บัวตู ได้บอกข้าพเจ้าไว้ว่า ถ้าเขาไม่ได้พาเรือมาถึงเมืองไทยในเดือนพฤศจิกายนแล้ว ก็อย่าให้ข้าพเจ้าคอยเขาเลย
เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้เตรียมหาสินค้าไว้สำหรับบันทุกเรือลำนี้
ถ้าข้าพเจ้า ได้ทราบว่าเรือจะกลับมา ข้าพเจ้าก็จะพอหาสินค้าเตรียมไว้ได้ง่าย แต่เมื่อข้าพเจ้า คาดว่าเรือเซนต์โยเซฟจะไม่มา ข้าพเจ้าจึงได้เอาสินค้าบันทุกลงเรือมองซิเออร์ลำป์ตอง
คือ งาข้าง ๑๙๐ กิ่ง กำยาน ๒๐ หีบ โดยคิดค่าระวางให้ ๗ เปอเซนครึ่ง
แต่เพอินเรือของมองซิเออร์ลำป์ตอง ยังหาได้ออกไปไม่ ยังคงทอดสมออยู่ในท่าเรือ มองซิเออร์ลำป์ตองจึงได้ส่งนายเรือของเขาให้มอบของเหล่านี้ให้แก่เสมียนเรือ เซนต์โยเซฟ

และข้าพเจ้าก็ได้สั่งเสมียนเรือให้คอยรับของไว้แล้ว กับ ข้าพเจ้าได้สั่งเสมียนเรือด้วยว่า ถ้าท้องเรือยังว่างอยู่ก็ให้รับเอาไม้ฝางบันทุกให้เต็มลำ
แต่เมื่อได้บันทุกไม้ฝางลงเรือได้มากน้อยเท่าใด เสมียนเรือจะได้แจ้งให้ท่านทราบ เพราะข้าพเจ้าเองจะลงไปตรวจไม้ฝางที่ริมตลิ่งไม่ได้ เพราะได้เจ็บมาถึง ๒ คราวติด ๆ กัน
จนบัดนี้ก็ยังไม่หายเปนปรกติเลย

ข้าพเจ้าได้ให้ มองซิเออร์ชาปันเตีย หมอประจำเรือเซนต์โยเซฟ กับข้าพเจ้าต่อไปไม่ได้ไปกับเรือ และได้ชี้แจงมองซิเออร์ชาปันเตีย ฟังว่า
การที่ข้าพเจ้า เอาเขาไว้เช่นนี้ไม่ใช่สำหรับทำการหน้าที่หมออย่างเดียว แต่ให้เขาทำการทุก ๆ อย่างที่เขาจะทำได้

มองซิเออร์ชาปันเตีย ก็ยินดี เพราะเขาเปนคนเขียนหนังสือดีและดูก็เปนคนฉลาด ทั้งอยากทำการต่าง ๆ นอกจากหน้าที่หมอด้วยหนังสือต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้เขียนในปีนี้
ข้าพเจ้าได้คัดสำเนามอบให้มองซิเออร์เลอเฟฟ กับหนังสือที่เจ้าพระยาพระคลังได้มีมาถึงท่าน




(หน้า ๕๗)


ข้าพเจ้าได้คัดสำเนามอบมากับมองซิเออร์เลอเฟฟเหมือนกัน ถ้าท่าน จะมีหนังสือถึงพระยาพระคลังแล้ว ขอท่านได้ใช้นามยศของเจ้าพระยาพระคลังให้ถูก ได้มีคนเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าเจ้าเมืองบาตาเวียได้มีหนังสือถวายพระเจ้ากรุงสยามทุก ๆ ปี แต่หนังสือนั้นไม่ได้แต่งเปนสำนวนจดหมายแต่เปนสำนวนคล้ายเรื่องราว เพราะพระเจ้ากรุงสยามไม่ทรงรับหนังสือจากใครเลยนอกจากเปนพระราช สาสนมาจากพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น และที่พระเจ้ากรุงสยามทรงรับหนังสือที่ท่านฝากมาให้ข้าพเจ้าถวายนั้น ก็เพราะเหตุว่าเปนหนังสือฉบับแรกที่ท่านได้มีมา ถ้าท่านคิดจะส่งของมาถวายซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าจะงดเสียไม่ได้นั้น ก็ควรจะส่งของแปลก ๆ จากประเทศยุโรป และของที่เปนเครื่องลงยาถ้าจะหาของ เหล่านี้ไม่ได้แล้วก็ควรจะส่งผ้าขาวอย่างดีที่สุด ผ้าแพรแดงอย่างดี ผ้าอย่างอื่น ๆ ซึ่งเปนผ้าบาง ๆ เนื้อดีพรมทอด้วยไหมสัก ๓-๔ ผืนพรมมาจากเมืองเปอเซียอย่างดี ส่งมาถวายก็ได้ และถ้าจะส่งของชนิดนี้ฝากมาให้เจ้าพระยาพระคลังบ้างก็ควร เมื่อเดือนก่อนข้าพเจ้าได้มีจดหมายมาถึงท่านฉบับ ๑ ฝากมาทางเมืองมาซูลีปาตำ แต่ในจดหมายนั้นหามีข้อความอย่างใดแปลก ว่าจดหมายฉบับนี้ไม่ เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงมิได้คัดสำเนาส่งมา ในวันที่เรือเซนต์โยเซฟมาถึงนั้น รุ่งขึ้นก็เกิดเพลิงไหม้ห้างอังกฤษสินค้าของพวกอังกฤษที่ ได้ ไหม้ไฟใน คราวนี้คิดเปนราคาไม่ต่ำกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท





(หน้า ๕๘)

ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าถ้าท่านคิดจะค้าขาย กับเมืองตังเกี๋ยต่อไปแล้วทางดีที่สุดก็ควรท่านจะส่งเรือเซนต์โยเซฟมาประจำอยู่ที่เมืองนี้ เราจะได้เปนธุระให้เรือเซนต์โยเซฟไปคอยอยู่ที่ปากน้ำใน ปลายเดือนมิถุนายนเพื่อคอยรับบันทุกสินค้าที่จะส่งไปยังเมืองตังเกี๋ย เพราะข้าพเจ้าเข้าใจว่าบริษัทจะได้ส่งเรือมายังเมืองไทยทุก ๆ ปี เรือลำนี้ก็คงจะกลับมาทัน บันทุกของที่จะส่งไปเมืองสุหรัต สินค้าเหล่านี้เปนของอย่างดีที่จะรับมาจากเมืองตังเกี๋ยสำหรับส่งไปเมืองฝรั่งเศส และในเวลาที่เรือพ่อค้ามาจากยี่ปุ่น เรือของเราก็พอจะรับสินค้าอย่างอื่นได้ที่จะทำให้เรามีกำไรราว ๓๐ หรือ ๔๐ เปอเซน ในระหว่างนั้นเราก็จะได้ใช้เรือเซนต์โยเซฟ สำหรับไปค้าขายทางฝั่งแหลมมลายู ซึ่งจะทำให้เรามีประโยชน์และทำให้เรารู้จักคนกว้างขวางออกไปด้วย พระเปนเจ้าได้ โปรดเอาตัวมองซิเออร์บัวตูไปจากโลกย์นีเสียแล้วและมองซิเออร์คาลเวก็ บังคับการอยู่ในเรือ เซนต์โยเซฟคนเดียว ข้าพเจ้าจึงได้จัดให้มองซิเออร์ดรูยาด์คนนำร่องลงไปช่วยอีกคน ๑ ข้าพเจ้าได้สัญญาว่าจะตั้งเงินเดือนให้เขาเดือนละ ๕๐ แฟรง ซึ่งเปนจำนวนเดือนเท่ากับที่เขาได้รับจาก มองซิเออรฟรังซัวมาแตง ในเวลาที่เขาจะลงไปประจำในเรือโวตูร์ที่เมืองปอนดีเชรี ข้าพเจ้าได้จัดให้มองซิเออร์มาโกตาเปนคนช่างทำปืน ออกร้านขายสินค้าของบริษัทและภายหลังได้เลยมาอยู่ในบ้านของเรา บัดนี้มองซิเออร์มาโกตา จะเดิรสารเรือเซนต์โยเซฟกลับไปแล้ว มองซิเออร์มาโกตา ผู้นี้ได้ทำการทุกอย่างตามคำสั่งของข้าพเจ้า และได้ตั้งใจทำการให้แก่บริษัทด้วย -




(หน้า ๕๙)


เรื่องฟอลคอนขอให้บริษัทซื้อของส่งมาให้

มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอน ซึ่งข้าพเจ้าได้ออกชื่อมาในหนังสือฉบับนี้หลายครั้งแล้วนั้น ได้มีหนังสือมาถึงท่านฉบับ ๑ และได้ฝากเงินมากับมองซิเออร์ลำป์ตอง
เพื่อนำส่งให้ท่านเปนเงิน ๒๐๐๐ รูเปีย
แต่มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอน ไม่กล้ามีหนังสือบอกท่านว่า เขาจะประสงค์ให้ท่าน ทำอะไรกับเงินรายนี้จึงได้ ขอให้ข้าพเจ้าบอกท่านให้ทราบแทนเขา คือ
มองซิเออร์ฟอลคอน ต้องการให้ท่านซื้อไข่มุก ๕๐๐ เมล็ด ตีราคาเมล็ดละ ๓ รูเปีย และให้เลือกเมล็ดให้ได้ขนาดเท่าๆ กันที่สุดที่จะหาเลือกได้
ไข่มุกทั้งหมดนี้ คงเปนราคาเงินราว ๑๕๐๐ รูเปีย

เงินที่ยังเหลืออยู่เท่าไรนั้น ขอให้ท่านจัดซื้อผ้าดอกเมืองอามาดาบัต อย่างสีเขียว สีขาว และสีแดง กับให้ซื้อผ้าแดงมีลายทองด้วย ผ้าต่าง ๆ เหล่านี้
ขอให้เปนผ้าอย่างเนื้อนุ่มที่สุดที่จะหาได้
ข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านคงจะได้สั่ง ผู้หนึ่งผู้ใดให้จัดหาของตามความต้องการของมองซิเออร์ฟอลคอนนี้ และถ้าจะมีเหตุอย่างใดที่มองซิเออร์ลำป์ตองจะไม่ได้ส่งเงินรายนี้
ให้แก่ท่านแล้ว มองซิเออร์ฟอลคอน จะได้ใช้เงินให้ท่านโดยครบ

เมื่อเวลาบริษัทจะซื้อสินค้า จะต้องส่งเงินสดมาซื้อ ซึ่งเปนการอาจทำให้ขาดทุนได้เสมอ เพราะฉนั้น มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอน จึงขอให้ข้าพเจ้าสั่งของต่าง ๆ
ดังจะได้บอกจำนวนต่อไป สำหรับเอามาใช้ในราชการของพระเจ้ากรุงสยาม และเมื่อของมาถึงแล้ว
มองซิเออร์ฟอลคอน จะได้ชำระเงินตามราคาที่ซื้อขายกันที่ เมืองสุหรัต ของที่จะต้องการนั้น คือ -




(หน้า ๖๐)


สมอเรือหนัก ๑๘๐๐ หาบ ๑ สมอ
สมอเรือหนัก ๑๔๐๐ หาบ ๑ สมอ
สมอเรือหนัก ๑๒๐๐ หาบ ๑ สมอ
สมอเรือหนัก ๓๐๐ หาบ ๑ สมอ
สายสมอทำที่ประเทศยุโรป ๒ สายให้โตพอสำหรับจะใช้กัสมอใหญ่ ทั้งสองอันได้

ผ้าใบอย่างหนา ๖ พับ น้ำมันดิน ๖ ถัง ไส้เทียน ๖ ขด ถ้าหาในเมืองสุหรัตได้
เชือกปอต่าง ๆ ทุกชนิดที่จำเปนจะต้องใช้ในเรือขนาด ๓๐๐ตัน พระเจ้ากรุงสยามได้มีรับสั่งให้ มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอน มีหนังสือมาถึงท่าน เพื่อขอให้ท่านจัดหาของต่าง ๆ ซึ่งมีพระราชประสงค์จากเมืองฝรั่งเศส ข้าพเจ้าได้บอกกับมองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอนแล้วว่า ของที่จะต้องพระราชประสงค์นั้นมีหลายอย่างที่จะทำไม่ได้ และ มีหลายอย่างที่จะส่งจากฝรั่งเศสมาเมืองไทยได้โดยยาก แต่อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าเห็นว่าบริษัทควรจะหาของที่จะทำได้ส่งเข้ามาถวาย เพราะพวกฮอลันดาได้รับทำของตามพระราชประสงค์ทุกอย่างและของเหล่านี้พระเจ้ากรุงสยามก็สั่งจากพวกฮอลันดาเกือบจะทุกวัน มองซิเออร์แวตรีก ชาวฮอลันดาซึ่งแต่เดิมเคยเปนนายเรือของแขกมัว และบัดนี้ได้มาทำราชการของพระเจ้ากรุงสยามแล้วนั้น ได้มาขออนุญาตเอาดีบุกบันทุกลงเรือเซนต์โยเซฟ ๕ บาหา เพื่อส่งไปให้ -




(หน้า ๖๑)


- ภรรยาที่เมืองสุหรัต ข้าพเจ้าได้อนุญาตให้เขาบันทุกดีบุกลงเรือได้ โดยไม่ต้องเสียค่าระวาง เพราะมองซิเออร์แวตรีก คนนี้เมื่อยังอยู่ที่ เมืองสุหรัต ได้เอื้อเฟื้อช่วยเหลือบริษัท
ในระหว่างเวลาที่เกิดสงครามกัน และต่อไป เมื่อมีโอกาศก็คงจะได้อาศรัยเขาได้อีกบ้าง

เมื่อข้าพเจ้า จะปิดผนึกจดหมายฉบับนี้อยู่แล้ว พระเจ้ากรุงสยาม ได้มีรับสั่งให้เอาดีบุก บันทุกลงเรือเซนต์โยเซฟ ๒๐ บาหา
แต่ในเรื่องนี้มองซิเออร์คอนซตันตินฟอลคอนได้มีจดหมายชี้แจงมายังท่านแล้ว เพราะฉนัน ไม่จำเปนที่ข้าพเจ้าจะต้องอธิบายเพิ่มเติมต่อไป

ขอท่านได้โปรดกรุณาข้าพเจ้าเสมอ และข้าพเจ้า ก็มีความนับถือท่านอย่างยิ่ง





สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระดำริห์จะแต่งทูตไปฝรั่งเศสครั้งที่ ๒


ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๗)
ท่านสังฆราชเดอเมเตโลโปลิศ
กรุงศรีอยุธยา วันที่ ๑๙ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๖๘๔ (พ.ศ. ๒๒๒๖)

ครั้นสมเด็จพระนารายณ์พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงทราบว่า ไม่มีใครทราบเลยว่า ราชทูตที่ทรงแต่งไปประเทศฝรั่งเศสจะหายไปข้างไหน จึงทรงพระราชดำริห์จะแต่งทูตเปนครั้งที่ ๒ ให้ไปกับเรืออังกฤษ แต่เสนาบดีบางคนได้กราบทูลทัดทานว่า บางทีเรือที่พาราชทูตไปจะยังไม่แตกก็เปนได้ ถ้าหากว่าราชทูตต่อราชทูตไปพบกันที่ประเทศฝรั่งเศสพร้อมกันเข้าก็จะเกิดความลำบากขึ้น สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงงดในการที่จะแต่งทูต เปนแต่มีรับสั่งให้อัคมหาเสนาบดีมีหนังสือ -




(หน้า ๖๒)


- ถึงสังฆราช ขอให้สังฆราชนำความกราบทูลพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ว่าสมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะเปนพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุย ที่ ๑๔ ยิ่งนัก และให้ทูลมกุฏราชกุมารฝรั่งเศสด้วย ว่าการที่ท่าน ดุกเดอบรูกอยน์ได้ประสูติแล้วนั้น พระเจ้ากรุงสยามทรงยินดีด้วยเปนอันมาก และให้ทูลด้วยว่าพระเจ้ากรุงสยามมีพระราชประสงค์จะเปนพระราชไมตรีชั่วกาลนาน และขอให้ได้มีพระราชสาสนโต้ตอบกันให้เสมอด้วย


จดหมายมองซิเออร์เดลานด์บุโร บอกข่าวเรื่องสมเด็จพระนารายณ์ จะให้ไปสืบทูตไทย แล เรื่องสัญญาพริกไทย
หนังสือสัญญาว่าด้วยพริกไทยฝ่ายฝรั่งเศส


เมื่อเดือนกรกฎาคม มองซิเออร์เดลีโอโปลิศ ได้ออกจากกรุงศรีอยุธยาไปเมืองจีน แต่พวกปอตุเกต คอยกันไม่ให้มองซิเออร์เดลีโอโปลิศไปเมืองจีนได้
และอ้างว่า มีคำสั่งให้พวกปอตุเกต คอยจับตัวมองซิเออร์เดลีโอโปลิศ ส่งไปยังเมืองปอตุเกต

ถ้าพวกปอตุเกตจับตัวมองซิเออร์ เดลีโอโปลิศส่งไปเมืองปอตุเกตจริงดังว่า ก็คงจะทำการโดยไม่เต็มใจ เพราะเขาทราบอยู่ว่าพลเมือง ๆ มาเก๊าทุกคนมีความรักใคร่พวกมิชชันนารีมาก
พวกมาเก๊า คงจะคิดอ่านช่วยพวกมิชชันนารีให้เข้าไปในเมืองมาเก๊า และคงจะยินดีเลี้ยงดูพวกมิชชันนารีด้วย
ถ้าหากว่าพวกปอตุเกตจับมองซิเออร์เดลีโอโปลิศจริงอย่างว่าแล้ว มองซิเออร์เดลีโอโปลิศ หวังว่าฝรั่งเศสคงจะใช้อำนาจ ให้มองซิเออร์เดลีโอโปลิศ
ได้พ้นจากความกดขี่ของพวกปอตุเกตเปนแน่

ได้ส่งของ คือ หีบเล็กหีบ ๑ ไป พร้อมกับจดหมายของมองซิเออร์มอเรล ผู้อำนวยการบริษัทฝ่ายอินเดีย


ลงวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม
ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๗)



(หน้า ๖๓)


จดหมายมองซิเออร์เดลานด์บูโร มีไปเมืองสุหรัต
เมื่อวันที่ ๓๑ เดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๖๘๔ (พ.ศ. ๒๒๒๖)

ด้วยพระเจ้ากรุงสยาม ไม่ทรงทราบเลยว่า ราชทูตที่ทรงแต่งให้ไปเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสโดยเรือโซเลย์ดอริยังจะหายสูญไปไหน จึงได้รับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะให้มองซิเออร์เดลานด์บูโรไปยังเมืองสุหรัตเพื่อไปสืบข่าวเรื่องราชทูต และเพื่อไปชี้แจงในเรื่องที่เสนาบดีของพระเจ้ากรุงสยามได้ทำสัญญากับมองซิเออร์เดลานด์ด้วย ในสัญญาฉบับนี้พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานพริกไทย ซึ่งเพาะปลูกกันในพระราชอาณาเขต ให้แก่บริษัทคิดราคาบาหาละ ๑๖ แฟรงค์ บาหา ๑ นั้นคิดเท่าน้ำหนัก ๓๖๐ ปอนด์ ฝรั่งเศส ถ้าพริกไทยได้งอกงามดังคาดแล้ว ก็จะเปนประโยชน์ต่อบริษัทเปนอันมาก เพราะเวลานี้เมืองบันตำก็ตกไปอยู่ในอำนาจของพวกฮอลันดาแล้ว และสินค้าพริกไทยนี้จำหน่ายได้ดีในประเทศยุโรป ประเทศจีน เมืองตังเกี๋ย เมืองเบงกอล และเมืองสุหรัต ใน ๓ หรือ ๔ ปีคงจะเก็บพริกไทยได้มีจำนวนพอบันทุกเรือได้ ๒ ลำ มองซิเออร์มาแตงรับรองจะส่งสำเนาหนังสือสัญญานี้ และถ้าจะมีข้อหนึ่งข้อใดซึ่งจะเปนข้อเสียหายแก่บริษัทแล้วก็พอจะแก้ไขได้ง่าย การที่พระเจ้ากรุงสยามทรงโปรดปรานประเทศฝรั่งเศสอย่าง ๑ การที่บริษัทจะได้ประโยชน์จากสัญญาฉบับนี้อย่าง ๑ และการที่จะได้มีโอกาศค้าขายในระหว่างฝั่งคอรอมันเดล เมืองสุหรัต เมืองไทยและเมืองตังเกี๋ยอีกอย่าง ๑นั้น ควรจะเปนเครื่องประกอบสำหรับให้บริษัทตั้งห้างในเมืองไทยต่อไปได้



(หน้า ๖๔)


หนังสือสัญญาว่าด้วยเรื่องพริกไทย
ซึ่งพระเจ้ากรุงสยามได้ พระราชทานให้แก่บริษัทฝรั่งเศสฝ่ายอินเดียตวันออก


สำเนาหนังสือสัญญา

ซึ่ง ออกขุนพิพัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังได้ทำในพระนามของพระเจ้ากรุงสยาม
ให้ไว้แก่มองซิเออร์เดลานด์บูโร ซึ่งพระราชทานพริกไทยและสินค้าอย่างอี่นให้แก่บริษัทฝรั่งเศส
ณ วัน พฤหัสบดี แรม ๙ ค่ำเดือน ๑๒ ปีกุญเบญจศก ๑๐๔๕

มองซิเออร์เดลานด์หัวหน้าของบริษัทฝรั่งเศส ได้เขียนและมอบหนังสือสัญญาไว้ฉบับ ๑ ตามคำขอร้องที่มองซิเออร์เดลานด์ได้ ยื่นต่อท่านออกญาศรีธรรมราชาเดโชชาติอำมาตยานุชิด พิพิธรัตนราชโกษาธิบดี พิริยพาหนะออกญาพระคลัง ขอให้นำความกราบทูลแด่พระเจ้ากรุงสยามให้ทรงทราบว่าองซิเออร์เดลานด์ได้รับหนังสือจากมองซิเออร์ฟรังซัวบารอง ผู้อำนวยการของบริษัทฝรั่งเศสประจำอยู่ที่เมืองสุหรัต สั่งมาให้มองซิเออร์เดลานด์กราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม ขอให้ต่างคนต่างทำสัญญากันทั้งสองฝ่ายให้เปนหลักฐานว่า ต่อไปในภายภาคหน้า บริษัทจะมีอำนาจซื้อทองแดงและสินค้าอย่างอื่น ๆ ซึ่งจะมาจากนอกพระราชอาณาเขตสยาม และอีก ๓ ปีนับตั้งแต่วันนี้เปนต้นไป บริษัทมีอำนาจที่จะซื้อพริกไทยได้ทั้งหมดอันได้เพาะปลูกไว้ ในกรุงเทพมหานครบวรรัตนราชธานีศรีอยุธยา ซึ่งหมายความว่าทั่วพระราชอาณาจักร์สยาม ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชตลอดถึงกรุงศรีอยุธยา คิดราคาบาหาละ ๑๖ ปาตาก ถ้าคิดตามเงินสยามเปนราคา ๖ ตำลึง ๒ บาท พริกไทย -




(หน้า ๖๕)


- นี้ให้บริษัทซื้อได้แต่ผู้เดียว พ่อค้าต่างประเทศชาติอื่นจะมาซื้อพริกไทยไม่ได้เปนอันขาด ท่านออกญาพระคลังได้นำความทั้งนี้ขึ้นกราบทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้ปลัดทูลฉลอง (Balat Tun Sanong) ได้ทำสัญญากับหัวหน้าของบริษัทฝรั่งเศส เพื่อให้เปนหลักฐานและถาวรสำหรับการภายหน้าต่อไป แต่จะต้องให้ "เจ้าคลัง" ซื้อทองแดงและสินค้าอย่างอื่น ๆ อันมาแต่นอกพระราชอาณาเขตให้เพียงพอเสียก่อน เหลือมากน้อยเท่าใดจึงให้หัวหน้าบริษัทซื้อทองแดงและสินค้าอย่างอื่น ๆ โดยมิให้เจ้าพนักงารของพระเจ้ากรุงสยาม ทำการขัดขวางอย่างใด อีกประการ ๑ ได้มีพระราชโองการดำรัสสั่งว่าบรรดาพริกไทยทั้งปวงอันได้มีรับสั่งให้เพาะปลูกทั่วพระราชอาณาเขต ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้พระนคร ตั้งแต่นครศรีธรรมราชตลอดขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น จะได้เปนของบริษัททั้งสิ้น และราคาพริกไทยนั้น ถึงพวกพ่อค้าทั้งหลายจะซื้อขายกันเปนราคาขึ้นลงอย่างไรก็ตาม แต่บริษัทจะได้ซื้อจากเจ้าคลังโดยราคายืนไม่ขึ้นไม่ลงคิดเปนเงิน ๑๖ ปาตากและเจ้าพนักงารจะได้ห้ามมิให้พ่อค้าชาวต่าง ประเทศซื้อหรือรับพริกไทย อันได้ปลูกในตำบลเหล่านี้เปนอันขาด ถ้าพ่อค้าคนหนึ่งคนใดฝ่าฝืนขืนซื้อหรือลักลอบพริกไทยไปจากตำบลอันได้พระราชทานพระราชานุญาต ให้แก่บริษัทแล้วนั้น เมื่อไต่สวนได้ความจริงก็ให้พริกไทยนั้นเปนของ หลวง และให้ปรับผู้กระทำผิดตามจำนวนพริกไทยที่จับได้บาหาละ ๑๖ ปาตากให้แก่บริษัท -




(หน้า ๖๖)

อนึ่งหัวหน้าบริษัทจะต้องทำบาญชียื่นต่อเจ้าคลังบอกจำนวนพริกไทย ที่บริษัทได้ซื้อไว้ และในพริกไทย ๑๐๐ บาหานั้น ให้เจ้าคลังชักเอาไว้ ๑๐ บาหาสำหรับใช้ในราชการ ถ้าแม้ว่าพริกไทยที่ชักไว้ ๑๐๐ ละ ๑๐ นั้นจะยังไม่เพียงพอแก่ราชการ ก็ให้เจ้าคลังชักไว้ ๑๐๐ ละ ๒๐ ก็ได้ แต่เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว ก็ให้เจ้าพนักงารของพระเจ้ากรุงสยามและเจ้าพนักงารของบริษัทปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะเปนการสดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าหากว่าเจ้าพนักงารของเจ้าคลังจะไม่ต้องการพริกไทยแล้ว ก็ให้บริษัทรับซื้อไปได้ทั้งหมด ส่วนเงินค่าพริกไทยซึ่งบริษัทได้รับซื้อไปนั้น ให้บริษัทชำระเปนเงินปาตากเมืองมนิลา และต้องเลือกเนื้อเงินที่บริสุทธิ์แท้ ถ้าหากว่าจะหาเงินปาตากเมืองมนิลาไม่ได้แล้ว และบริษัทมีความประสงค์จะชำระเงินเปนปาตากอย่างอื่น หรือจะชำระเปนเงินต่างประเทศซึ่งเนื้อเงินไม่เหมือนกันแล้ว บริษัทจะได้ชำระเงินนั้นให้ครบโดยเอาเงินเมืองมนิลาเปนเกณฑ์

อนึ่งส่วนพริกไทยในเมืองนครศรีธรรมราชนั้นบริษัทจะได้จัดคนให้ไปประจำอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช และให้คอยซื้อพริกไทยตามราคาที่พ่อค้าในเมืองนั้นได้ซื้อขายกัน
เหมือนกับที่พวกฮอลันดาได้ปฏิบัติ ในเวลาที่ซื้อดีบุกดุจเดียวกัน และพวกฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช จะได้ทำบาญชีพริกไทยที่ได้ซื้อไว้นั้น
ยื่นต่อออกพระสุรินทสงคราม ผู้เก็บภาษีอากรของพระเจ้ากรุงสยาม เพื่อจะได้ส่งบาญชีนั้น ๆ เข้ามายังเจ้าคลังทุก ๆ ปี





(หน้า ๖๗)


อนึ่งถ้าจะมีพ่อค้ามาแต่เมืองอื่นนอกเขตเมืองนครศรีธรรมราช นำพริกไทยมาแต่เมืองอื่นเพื่อมาขายในเมืองไทยแล้ว เจ้าพนักงารซึ่งเจ้าคลังจะได้มอบหน้าที่ให้ตรวจตราในเรื่องพริกไทยนี้ จะได้ซื้อพริกไทยจากพ่อค้าเหล่านี้เพื่อจำหน่ายให้ราษฎรและพ่อค้าต่างประเทศสำหรับเอาไปซื้อขายกันต่อไป และเจ้าพนักงารผู้นั้นจะได้ทำบาญชีพริกไทย ที่ได้ซื้อไว้จากพ่อค้ายื่นต่อหัวหน้าบริษัทให้ทราบว่า เจ้าพนักงารได้ซื้อพริกไทยไว้เปนจำนวนมากน้อยเท่าไร อนึ่งถ้าจะมีพ่อค้าต่างประเทศประสงค์จะซื้อพริกไทยจากเจ้าพนักงาร เพื่อพาเปนสินค้าออกไปนอกพระราชอาณาเขตแล้ว พ่อค้านั้น ๆ จะต้องทำบาญชีจำนวนพริกไทยที่ได้ซื้อไว้นั้นยื่นต่อกรมท่า และกรมท่าจะได้ส่งบาญชีนั้นไปให้หัวหน้าของบริษัททราบทุกครั้ง ว่าครั้งใดพ่อค้าชาวประเทศใดได้ซื้อพริกไทยไปมีจำนวนมากน้อยเท่าไร อนึ่งถ้าเจ้าคลังมีความประสงค์ส่งพริกไทย ออกไปนอกพระราชอาณาเขตจะเปนพริกไทยในงบที่ชักไว้๑๐๐ ละ ๑๐หรือ ๒๐ บาหาก็ดี หรือจะเปนพริกไทยที่เจ้าพนักงารได้ซื้อไว้จากพ่อค้า ซึ่งนำมาจากนอกพระราชอาณาเขตก็ดี เจ้าคลังจะต้องทำบาญชีจำนวนพริกไทยที่ส่งออกไปนอกพระราชอาณาเขต ยื่นต่อหัวหน้าของบริษัททุกคราวที่ส่งออกไป เพื่อหัวหน้าบริษัทจะได้ทราบว่าพริกไทยส่งไปเมืองใด คราวใดมีจำนวนมากน้อยเท่าใด อนึ่งถ้าจำนวนพริกไทยที่ เก็บได้ในพระราชอาณาเขตทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ และตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชตลอดขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยา จะเปนจำนวนมากเกินความต้องการของบริษัทแล้ว หัวหน้าบริษัทจะต้องบอกให้กรมท่าทราบ -




(หน้า ๖๘)


- ล่วงหน้า ๒ ปี ว่าต่อไปบริษัทจะต้องการพริกไทยแต่เพียงจำนวนเท่านั้น ๆ เมื่อได้ทราบจไนวนแน่นอนแล้วเจ้าคลังจะได้กักพริกไทยไว้แต่พอความต้องการของบริษัทเท่านั้น อนึ่งเมื่อหนังสือสัญญาเรื่องพริกไทย และสินค้าอย่างอื่นอันมาแต่นอกพระราชอาณาเขตได้เปนอันตกลงใช้กันแล้ว มองซิเออร์เดลานด์ หัวหน้าของบริษัทจะได้แจ้งความไปให้บริษัททราบ และถ้าหากว่าเจ้าพนักงาร และข้าราชการของพระเจ้ากรุงสยามจะไปรับราชการในที่แห่งใด ซึ่งมีเจ้าพนักงารของบริษัทประจำอยู่ในที่นั้น และเจ้าพนักงารข้าราชการนั้น ๆ จะต้องการสิ่งใด ๆ แล้ว บริษัทจะได้เปนธุระจัดหาให้ตามความประสงค์ของเจ้าพนักงารและข้าราชการเหล่านั้น ถ้าแม้ว่าบริษัทจะ ได้ให้เจ้าพนักงารเเละข้าราชการนั้นๆยืมเงินไปมากน้อยเท่าใด บริษัทจะต้องแจ้งความมายังผู้ที่เปนหัวหน้าของบริษัทอันประจำอยู่ใน กรุงศรีอยุธยาให้ทราบ เจ้าคลังจะได้ส่งสินค้าต่างเงินใช้หนี้ให้แก่บริษัทต่อไป ปลัดทูลฉลอง เจ้าพนักงารสำหรับรับเรื่องราว ได้รับคำสั่งให้ทำหนังสือสัญญากับมองซิเออร์เดลานด์หัวหน้าบริษัท ตามข้อความซึ่งได้กล่าวมาข้างบนนี้แล้ว ถ้าหากว่าปลัดทูลฉลองไม่ได้ปฏิบัติตามข้อความที่ได้กล่าวมาข้างบนนี้แล้ว หัวหน้าบริษัทก็ไม่จำเปนจะต้องปฏิบัติตามข้อสัญญานี้เหมือนกัน หัวหน้าบริษัทได้ขอให้คัดหนังสือสัญญานี้เปน ๒ ฉบับความต้องกันคือฉบับ ๑ให้เขียนเปนภาษาและอักษรสยามประทับตราของพระยาพระคลังมอบไว้กับมองซิเออร์เดลานด์เพื่อให้เปนหลักฐานมั่นคงต่อไป




(หน้า ๖๙)

สำเนาหนังสือสัญญาดังได้คัดมาในที่นี้ ได้แปลออกจากต้นฉบับซึ่งเก็บไว้ที่ห้างในกรุงศรีอยุธยา และมองซิเออร์เปเรศบาดหลวงมิชชันนารีชาติปอตุเกตได้แปลจากภาษาไทยเปนภาษาปอตุเกต แล้วภายหลัง ข้าพเจ้าผู้มีชื่อข้างท้ายนี้ได้แปลจากภาษาปอตุเกตเปนภาษาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๔(พ.ศ. ๒๒๒๗)


(เซ็น) เดลานด์บูโร





หนังสือสัญญาว่าด้วยพริกไทยฝ่ายไทย

วันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๔ (พ.ศ. ๒๒๒๗)
ห้างฝ่ายตวันออก ณ กรุงศรีอยุธยา

หนังสือสัญญา ว่าด้วยเรื่องพริกไทย
ซึ่งได้ทำกันในระหว่าง
ออกขุนพิพัฒน์โกษาราชาพิทักษ์ กับ มองซิเออร์เดลานด์

ด้วยมองซิเออร์เดลานด์ได้ ยื่นเรื่องราวต่อออกญาศรีธรรมราชเดโชชาติอำมาตยานุชิตพิพิธรัตนราชโกษาธิบดีอภัยพิรียพาหะ ออกญาพระคลัง ขอให้นำความขึ้นกราบทูลพระกรุณาว่า มองซิเออร์เดลานด์ ได้รับหนังสือจากมองซิเออร์ฟรังซัวบารอง ผู้อำนวยการบริษัทฝรั่งเศสที่เมืองสุหรัตส่งมาให้มองซิเออร์เดลานด์กราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม ขอพระมหากรุณาให้ทำหนังสือสัญญาให้เปนหลักฐานมั่นคง อนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสมีอำนาจอย่างเด็ดขาดที่จะซื้อทองแดง และสินค้าอย่างอื่นอันจะมาจากเมืองต่างประเทศและให้บริษัทฝรั่งเศสได้ซื้อพริกไทยทั้ง หมด ที่ได้เพะปลูกไว้ในพระราชอาณาเขตสยาม ตั้งเเต่เหนือตลอดซึ่งมีอยู่ตามหัวเมืองและดินแดนอันขึ้นแก่กรุงสยาม ตั้งแต่เหนือตลอดลงไป -




(หน้า ๗๐)


- จนถึงเมืองนครศรีธรรมราช พริกไทยนี้บริษัทฝรั่งเศสจะได้ซื้อเปนราคาบาหาละ ๑๖ ปาตากเงินเมืองสเปน หรือคิดเปนเงินไทย ๖ ตำลึง ๒ บาท และห้ามมิให้ชาวต่างประเทศไม่ว่าชนชาติใดภาษาใดค้าขายพริกไทยเปนอันขาด เว้นแต่เปนคนของบริษัทเท่านั้น ข้อความทั้งนี้ออกญาพระคลังได้นำความขึ้นกราบ ทูลพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงได้มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้ผู้ช่วยของออกญาพระคลัง ได้ทำสัญญากับมองซิเออร์เดลานด์หัวหน้าของบริษัทฝรั่งเศสในเมืองไทย และสัญญานี้ให้ใช้เปนกฎหมายได้ต่อไป

ในสัญญาฉบับนี้มีใจความอนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสซื้อทองแดงและสินค้าอย่างอื่น ซึ่งชาวต่างประเทศจะได้นำเข้ามาในพระราชอาณาเขตโดยผู้หนึ่งผู้ใดจะขัดขวางกีดกันไม่ได้ และอนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสได้ซื้อพริกไทยอันมีอยู่ในพระราชอาณาเขต ตั้งแต่เหนือตลอดจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช
พริกไทยนี้บริษัทฝรั่งเศสจะได้รับซื้อเปนราคา บาหาละ ๖ ตำลึง ๒ บาท และถ้าราคาพริกไทยจะขึ้นลงอย่างใด บริษัทฝรั่งเศสก็คงจะต้องซื้อคงราคาไม่เกินหรือไม่ต่ำกว่า๖ ตำลึง ๒ บาท หรือ ๑๖ปาตากห้ามมิให้พ่อค้าอื่น ๆ เว้นแต่พนักงารของบริษัทค้าขายพริก ไทยเปนอันขาด ถ้าหากว่าผู้ ใดผู้หนึ่งไม่ว่าคนชนิดใดชาติใดภาษาใดได้ซื้อขายพริกไทยโดยทางตรงก็ตาม หรือทางอ้อมก็ตาม เมื่อจับพริกไทยได้จากผู้นั้นแล้ว เจ้าพนักงารจะริบพริกไทยเสีย และเมื่อพิจารณาเปนสัตย์แล้วจะปรับผู้กระทำผิดเปนเงินตามจำนวนพริก ไทยมากหรือน้อย -




(หน้า ๗๑)


- คิดอัตราค่าปรับบาหาละ ๑๖ ปาตาก หรือ ๖ ตำลึง ๒ บาท ถ้าหัวหน้าบริษัทฝรั่งเศสซื้อพริกไทยไว้มากน้อยเท่าใด หัวหน้าบริษัทจะต้องทำบาญชียื่นต่อเจ้าพนักงารพระคลังหลวง และให้เจ้าพนักงารพระคลังหลวงชักพริกไทยไว้ใช้ในราชการ ๑๐๐ ละ ๑๐ จากจำนวนพริกไทยที่บริษัทได้ซื้อไว้ ถ้าหากว่าในทางราชการจะต้องการพริกไทยเพิ่มขึ้น จะต้องชักไว้ถึง ๑๐๐ ละ ๒๐ แล้ว ก็ให้พนักงาร ของบริษัทเกลี่ยกล่ายให้เปนที่ตกลงพอใจด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อได้ชักภาคหลวงไว้ ๑๐๐ละ ๑๐หรือ๑๐๐ละ๒๐แล้ว พริกไทยที่บริษัท ได้ซื้อไว้มากน้อยเท่าใด บริษัทฝรั่งเศสจะต้องชำระเงินตามราคาพริกไทยที่ว่าเปนเงินปาตากเมืองสะเปน เพราะเงินในเมือสะเปนนี้เปนเงินที่บริสุทธิ์
ถ้าจะแลกเปลี่ยนกันก็ขาดทุนน้อยกว่าเงินอย่างอื่น ถ้าแม้ว่าบริษัทไม่มีเงินเมืองสะเปนจะให้แล้ว บริษัทจะต้องเพิ่มจำนวนเงินให้พอกับเนื้อเงินที่ขาดไป และคิดเปนเงินบาท ส่วนการที่จะซื้อขายพริกไทยที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น บริษัทจะต้องไปตั้งห้างในที่แห่งใดแห่งหนึ่งในเมืองนครศรีธรรมราช แล้วแต่จะเปนที่เหมาะสำหรับการค้าขายของบริษัท เหมือนกับที่พวกฮอลันดาไปตั้งห้างสำหรับซื้อขายดีบุกเช่นนั้น เมื่อพนักงารของบริษัทได้ซื้อพริกไทยที่เมืองนครศรีธรรมราชได้มากน้อยเท่าใด บริษัทจะต้องยื่นบาญชีต่อออกพระ (Soaj) เจ้าพนักงารพระคลังหลวงเสมอไป ถ้าจะมีพ่อค้าคนใดนำพริกไทยมาจำหน่าย ซึ่งมิใช่พริกไทยเกิดในเมืองนครศรีธรรมราชหรือหัวเมืองอันอยู่ในเขตสัญญานี้แล้ว เจ้าพนักงาร -




(หน้า ๗๒)


- คลังหลวงหรือพ่อค้าคนใดจะรับซื้อพริกไทยนั้นไว้ก็ได้ แต่พ่อค้าผู้นำพริกไทยมาจำหน่าย จะต้องทำบาญชีบอกจำนวนพริกไทยยื่นต่อบริษัทและถ้าจะมีพ่อค้าคนใดประสงค์จะนำพริกไทยนี้ ไปจำหน่ายนอกพระราชอาณาเขตแล้ว พ่อค้าผู้นั้นจะต้องทำบาญชียื่นต่อเจ้าพนักงารซึ่งตัวขึ้นอยู่ และเจ้าพนักงารผู้นั้นจะได้ทำบาญชียื่นต่อหัวหน้าบริษัทตามแบบ ที่ให้ตัวอย่างไว้นี้ คือ พ่อค้าคนนั้น ๆ ได้ซื้อพริกไทยจำนวนเท่านั้น ๆ จากพ่อค้าคนนั้น ๆ พริกไทยนี้ได้มาจากเมืองนั้น ๆ และจะส่งไปจำหน่ายที่เมืองนั้น ๆ

ทั้งนี้สำหรับให้บริษัทได้ทราบว่า ได้มีคนนำพริกไทยเข้ามาเท่าไร และได้นำออกไปเท่าไร ซึ่งเปนพริกไทยนอกจากจำนวนที่บริษัทได้รับซื้อไว้ ถ้าหากว่าเจ้าพนักงารคลังหลวง มีความประสงค์จะส่งพริกไทยอันเปนพริกไทยที่ชักไว้เปนภาคหลวง ๑๐๐ละ ๑๐หรือ ๑๐๐ละ ๒๐ ก็ดีหรือเปนพริกไทยที่ได้ซื้อไว้จากพ่อค้า อันได้นำมาจากที่อื่นนอกเขตที่อนุญาตไว้แก่บริษัทฝรั่งเศสก็ดี เมื่อจะส่งพริกไทยนั้น ๆ ทื ไปยังเมืองใดก็ตาม เจ้าพนักงารคลังหลวงจะต้องทำบาญชีบอกจำนวนพริกไทย ที่จะส่งออกไปนอกพระราชอาณาเขต ยื่นต่อหัวหน้าบริษัทให้ทราบ ถ้าหากว่าจำนวนพริกไทยจะมีมากกว่าความต้องการของบริษัทแล้ว หัวหน้าบริษัทจะต้องแจ้งความให้เสนาบดีของพระเจ้ากรุงสยามทราบล่วงหน้า ๒ ปีว่าต่อไปบริษัทจะต้องการพริกไทยจำนวนเท่าใด เพื่อเจ้าพนักงารจะได้จัดการมิให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ได้ขาดทุนในเรื่องพริกไทยนี้ได้




(หน้า ๗๓)

หัวหน้าบริษัทจะได้นำข้อความในหนังสือสัญญานี้ แจ้งไปให้ผู้อำนวยการบริษัททราบ ทั้งในเมืองฝรั่งเศสและเมืองอื่น ๆ ในอินเดียเพื่อว่าต่อไป ถ้าจะมีเจ้าพนักงารของพระเจ้ากรุงสยามอยู่ในที่แห่งใด ๆ ซึ่งบริษัทได้ตั้งห้างอยู่นั้น เมื่อบริษัทได้ช่วยเหลือข้าราชการเหล่านั้นในราชการของพระเจ้ากรุงสยามแล้ว ถ้าเปนเงินที่บริษัทได้ทดรองให้แก่ข้าราชการนั้น ๆ แล้ว ก็ให้บริษัทส่งบาญชีมายังหัวหน้า ของห้างในกรุงศรีอยุธยา และหัวหน้าของบริษัทจะได้รับสินค้าไปแทนเงินที่บริษัทจะได้รองจ่ายไปนั้น

เมื่อออกขุนพิพัฒน์โกษาราชาพิทักษ์กับหัวหน้าของบริษัทฝรั่งเศสได้เซ็นหนังสือสัญญาฉบับนี้แล้ว ก็ให้สัญญานี้เปนสัญญาอันมั่นคงใช้ได้ชั่วกาลนาน หัวหน้าบริษัทจะได้คัดหนังสือสัญญานี้เปนภาษาไทยฉบับหนึ่ง ภาษาฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง มอบไว้แก่ออกขุนพิพัฒน์ และฝ่ายออกขุนพิพัฒน์ก็จะได้ทำหนังสือให้แก่หัวหน้าบริษัทดุจเดียวกัน

คำแปลเปนภาษาฝรั่งเศส แปลที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๔ (พ.ศ. ๒๒๒๗)


(เซ็น) ฟอลคอน





บันทึกความเห็นแลวิธีการของบาดหลวงเดอชัวซีที่จะเข้ามา เมืองไทย


ท่านบาดหลวง เดอร์ชัวซี
ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๘)

ด้วยการที่พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้แต่งทูตไปเฝ้า และส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระนารายณ์นั้นไม่ได้มีพระราชประสงค์ -


๑๐



(หน้า ๗๔)

- อย่างใด นอกจากจะให้เปนคุณเปนประโยชน์แก่สาสนาเท่านั้น เพราะฉนั้นจึงควรกราบทูลให้ทรงทราบข้อความทุกๆอย่าง ที่จะให้พระราชดำริห์นี้เปนผลสำเร็จ เพราะความคิดอันใหญ่ยิ่งที่จะชักชวนให้พระเจ้าแผ่นดินอันมีชื่อเสียงโด่งดังได้เข้ารีด และจัดการให้ประเทศอันใหญ่ ได้นับถือสาสนาคริสเตียนนั้น
เปนความคิดที่พระเปนเจ้าและคนทั้งหลายย่อมต้องสรรเสริญอยู่เอง

ถ้าท่านเชอวาเลียเดอโชมอง ได้ออกจากเมืองฝรั่งเศสในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๗) คงจะไปถึงเมืองไทยราวเดือนตุลาคม และจำเปนจะต้องออกจากเมืองไทยในเดือนธันวาคม จึงจะทันมรสุมจะได้พาเรือฝรั่งเศสกลับมาพร้อมด้วยราชทูตสยาม ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์คงจะแต่งมาให้เฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เปนแน่ เพราะฉนั้นเชอวาเลียเดอโชมอง คงจะมีเวลาอยู่ในเมืองไทยราวสองหรือสามเดือนเท่านั้น และในเวลาน้อยเช่นนี้ยากที่เชอวาเลียเดอโชมองจะจัดการสำเร็จทุกอย่างได้ และถ้าสมเด็จพระนารายณ์จะยังไม่ปลงพระทัยที่ จะเข้ารีต เราจะทอดทิ้งไว้เช่นนั้นได้ละหรือ และถ้าได้มีข้าราชการสมเด็จพระนารายณ์ปลงพระทัยง่ายขึ้นหรือ เพราะต้องนับว่าเวลานี้เปนเวลาที่สาสนาคริสเตียนพึ่งจะเกิดขึ้น แต่ข้อนี้พอจะแก้ได้ คือบาดหลวงเดอชัวซีรับอาสาจะไปพร้อมกับเชอวาเลียเดอโชมอง โดยไม่มีตำแหน่งหน้าที่อย่างใด แต่ในเวลาที่เชอวาเลียเดอโชมองจะกลับไปประเทศฝรั่งเศสนั้น บาดหลวงเดอชัวซีจะไม่กลับ แต่จะขออยู่ใน -




(หน้า ๗๕)


- เมืองไทยต่อไปในตำแหน่งหน้าที่ราชการทูตสามัญ การที่บาดหลวงเดอชัวซีจะอยู่ในเมืองไทยนั้น จะขอแต่หมายตั้งอย่างเดียวเท่านั้น และบาดหลวงเดอชัวซีจะทำการมิให้เสียชื่อที่ตัวได้รับตำแหน่งราชทูต ถึงพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะพระราชทานผล ประโยชน์อย่างน้อยที่สุดก็พอจะทำการได้ เพราะบาดหลวงเดอชัวซีมีเงินค่าเช่าที่พระราชทานไว้ถึง ๔ หมื่นแฟรงก์เเล้ว เงินนี้จะเอาไปใช้อย่างอื่นคงจะไม่ดีเท่ากับใช้ในราชการของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและใช้ในกิจการของพระเปนเจ้า เพราะฉนั้นถึงแม้ว่าบาดหลวงเดอชัวซีจะไม่ได้รับความอุดหนุนอย่างใด ก็พอจะมีเงินใช้จ่ายอย่างฟูมฟายได้ เพราะเมืองไทยเปนเมืองที่เข้าของทุกอย่างถูกมาก บาดหลวงเดอชัวซีได้ลองปรึกษากับมองซิเออร์วาเชดูแล้ว และมองซิเออร์วาเชก็บอกว่า
ถ้ามีเงินใช้ในเมืองไทย ๒๕,๐๐๐ แฟรงก์ ก็เท่ากับมีเงินใช้ที่กรุงปารีส ๗๕,๐๐๐ แฟรงก์ และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในระหว่างเวลาที่อยู่ในเมืองไทยนั้น ไทยก็คงจะเอื้อเฟื้ออุดหนุน ท่านบาดหลวงทุกอย่าง เพราะราชทูตสยามกำลังอยู่ในประเทศฝรั่งเศสก็เท่ากับประกันอยู่ในตัว และเมื่อเรือได้พาราชทูตสยามกลับมา ก็จะได้รับบาดหลวงเดอชัวซีกลับไปฝรั่งเศสทีเดียว เมื่อได้จัดการดังนี้แล้วบาดหลวงเดอชัวซีก็คงต้องอยู่ในเมืองไทยราว ๒ ปี ซึ่งเปนเวลาพอที่จะรู้น้ำพระทัยของพระเจ้ากรุงสยามได้ และบางทีบาดหลวงเดอชัวซีอาจจะได้เปนพยานในการที่สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตก็ได้ แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อได้จัดการดังที่กล่าวมานี้แล้ว
ถึงที่สุดสมเด็จพระนารายณ์จะไม่ยอมเข้ารีตก็ดี แต่ก็หมดข้อที่เราจะเสียใจได้ เพราะได้พยายาม -




(หน้า ๗๖)


- ทุกอย่างแล้ว และอย่างต่ำที่สุดก็จะเปนการงามแก่ตาโลก ที่ได้เห็นว่าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้แต่งทูตให้ไปชิดสนิธกับพระเจ้ากรุงสยามถึง ๒ ปี โดยมีความหวังแต่จะแผ่อาณาเขตของพระเยซูอย่างเดียวเท่านั้นความคิดอันนี้สมเปนพระราชดำริห์ของพระเจ้าแผ่นดินได้

ถ้าแม้ว่าเชอวาเลียได้ ไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ และได้แน่แก่ใจว่า ทำอย่างไรสมเด็จพระนารายณ์ก็จะไม่เข้ารีตถือสาสนาคริสเตียนแล้ว หรือในที่สุดสมเด็จพระนารายณ์จะไม่ทรงแต่งทูตและส่งเครื่องบรรณาการไปถวายให้สมพระเกียรติยศแล้ว ถ้าฉนั้นบาดหลวงเดอชัวซีจะได้กลับมายังประเทศฝรั่งเศสโดยไม่ต้องใช้หมายตั้ง และโดยไม่ให้เสียพระเกียรติยศของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ อย่างใด คือว่าการที่บาดหลวงเดอชัวซีจะออกหน้าเปนราชทูตนั้น จะต้องได้รับคำแนะนำของเชอวาเลียเดอโชมองและสังฆราชฝรั่งเศสเสียก่อน

ถึงอย่างไร ๆ บาดหลวงเดอชัวซีหวังใจว่า เมื่อได้กลับมาถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว ก็คงจะได้มีความรู้อย่างดีถึงบ้านเมืองต่าง ๆ ในฝ่ายทิศตะวันออก เพราะกรุงศรีอยุธยาเปนที่ชุมนุมของชนต่างภาษา ก่วา๒๐ชาติ ซึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และต่างชาติก็มีค่ายอยู่เปนหมวดหมู่แยกกันทุก ๆ ชาติ เพราะฉนั้นบาดหลวงเดอชัวซีจะได้มีโอกาศสนทนากับชาวเมืองจีน เมืองยี่ปุ่น เมืองญวน เมืองตังเกี๋ย เมืองมอญ และเมืองอื่น ๆ และจะได้จดจำทำจดหมายเหตุอย่างแน่ถึงวิธีการปกครองบ้านเมือง ถึงกำลังทหารฝ่ายบกและฝ่ายทะเล ถึงการค้าขาย และ ถึงเรื่องพงศาวดารของประเทศเหล่านี้ -




(หน้า ๗๗)

- บาดหลวงเดอชัวซีจะยังแปลหนังสือที่ดีของประเทศเหล่านี้เปนภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ แต่ก็พอจะจดจำชื่อไว้ได้
และคงจะทำจดหมายเหตุ ให้พลิกดูได้ง่ายในเวลาที่ต้องการทราบถึงการของเมืองเหล่านี้ บาดหลวงเดอชัวซียังทยานใจอยู่ว่า
ในเวลาที่บาดหลวงอยู่ในเมืองไทยนั้น จะหาช่องโอกาศทำให้สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานได้เปนแน่ เพราะสมเด็จพระนารายณ์มีพระนิสัยเสาะแสวงหาความรู้ในการต่าง ๆ
บาดหลวงเดอชัวซีเข้าใจว่า ควรจะหาช่างเขียนถวายสมเด็จพระนารายณ์สักคน ๑ เพื่อสำหรับเขียนพระรูปพระเจ้าแผ่นดินพร้อมด้วยขุนนางข้าราชการ
และเขียนรูปบ้านเมืองเขียนรูปพระราชวัง เขียนรูปวัดต่าง ๆ และเขียนเครื่องแต่งตัวทั้งผู้หญิงผู้ชายของชนชาวตวันออกทุก ๆ ชาติด้วย กับการจะส่งเอนจิเนียริ่งสักคนหนึ่ง
คนชำนาญดาราศาสตรสักคนหนึ่งมาช่วยด้วย การที่บาดหลวงคณะเยซวิต ได้ส่งมิชชันนารีผู้ชำนาญการมานั้นเปนการดีนักหนา

ถ้าหากว่าได้คนชำนาญวิชาต่าง ๆ อย่างว่านี้แล้ว บาดหลวงเดอชัวซี จะได้พยายามเอาพวกนี้เปนสายสำหรับหาหนทางทำความคุ้นเคยกับพระเจ้ากรุงสยาม
และในระหว่างเดิรทาง ๗ หรือ ๘ เดือนนั้น บาดหลวงเดอชัวซีจะได้พยายามเรียนภาษาปอตุเกต เพื่อจะได้พูดจากับบรรดาเสนาบดีไทยโดยไม่ต้องใช้ล่ามได้
เพราะเสนาบดีไทยเข้าใจและพูดภาษาปอตุเกตเปนทุกคน ด้วยเหตุว่าภาษาปอตุเกตเปนภาษากลางใช้กันทั่วไปตลอดทั้งอินเดีย




(หน้า ๗๘)

ความเห็นของบาดหลวงเดอชัวซี เห็นว่าตัวคงจะทำการให้เปนประโยชน์แก่สาสนา กับทั้งให้เปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ ซึ่งเชอวาเลียเดอโชมองจะทำไม่ได้
เพราะอยู่ในเมืองไทยเพียง ๒ เดือนเท่านั้น

ถ้าจะเพิ่มเติมความอีกข้อ ๑ ก็ได้ คือว่าสมเด็จพระนารายณ์ได้มีรับสั่งให้แก่ข้าราชการว่า ถ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ จะแต่งทูตมายังเมืองไทยแล้ว
ก็ขอให้เลือกจำพวกนักพรตเปนราชทูตมา การที่สมเด็จพระนารายณ์ได้รับสั่งเช่นนี้ ก็เชื่อได้แน่ว่าคงเปนด้วยคำแนะนำของพวกสังฆราชฝรั่งเศส แต่เมื่อสังฆราชได้แนะนำดังนี้ก็เพราะเหตุว่า คงย่อมจะเห็นประโยชน์สำหรับการสาสนาแล้ว เพราะฉนั้นเมื่อได้จัดการตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น หน้าที่ของเชอวาเลียเดอโชมองซึ่งเปนเอกอัคราชทูตจะต้องทำการให้ พลเมืองฝ่ายตวันออกเห็นเกียรติยศเกียรติคุณของประเทศฝรั่งเศส และหน้าที่ของบาดหลวงเดอชัวซีจะไดพยายามจัดการให้สาสนาได้แพร่หลายออกไป ในที่สุดนี้บาดหลวงเดอชัวซีไม่ได้ขออะไรนอกจากขอเดิรทาง ๑๒๐๐๐ หรือ ๑๕๐๐๐ ไมล์ และขอตายในระหว่างทำการดีอันนี้ และมิได้ขออย่างอื่น
นอกจากจอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงใช้บาดหลวงเดอชัวซีเท่านั้น





(หน้า ๗๙)


ความเห็นของบาดหลวงเดอชัวซีที่จะเข้ามาเมืองไทย


บาดหลวงเดอชัวซี
ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๘)

ด้วยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงพระกรุณารับสั่งให้ข้าพเจ้าไปยังเมืองไทย เพราะฉนั้นจำเปนจะต้องบรรยายถึงการต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าควรจะทำประโยชน์ได้เปนข้อ ๆ
กล่าวคือ การสาสนา ๑ การสินค้า ๑ การเบ็ดเตล็ด ๑ ท่านเชอวาเลียเดอโชมองจะได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสยามรับรองในพระราชไมตรีของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส และจะได้ทูลต่อไปว่าหนทางอย่างดีที่จะทำให้พระราขไมตรีอันนี้ได้สนิธแน่นหนาไม่มีเวลาขาดได้ ก็โดยให้ทรงถือสาสนาร่วมกันและให้นับถือพระเปนเจ้าองค์เดียวกัน เพราะพระเปนเจ้าองค์นี้เปนพระเจ้าที่แท้จริง และเปนพระเจ้าของพวกคริสเตียน อาจจะทำให้มนุษย์ทั่วไปได้รับความสุขสำราญชั่วกัลปาวสานได้ การที่จะกราบทูลเช่นนี้ซึ่งนับว่าเท่ากับเปนรับสั่งของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส อาจจะทำให้พระทัยของพระเจ้ากรุงสยามอ่อนลงได้ เพราะพระองค์ได้โปรดฟังถึงการสาสนาอยู่บ้างแล้ว และได้ทรงเตรียมพระองค์ในเรื่องนี้มาช้านานแล้ว จนถึงกับได้มีรับสั่งแก่มองซิเออร์วาเชว่า ถ้ามองซิเออร์วาเชได้กลับมาจากเมืองฝรั่งเศสเมื่อใด จะได้รับสั่งอธิบายถึงข้อที่ทรงพระราชดำริห์ไว้อันจะเปนสิ่งซึ่งจะทำให้พวกมิชชันนารีมีความยินดีเปนอันมาก และฝ่ายสังฆราชก็ได้กราบทูลอธิบายมากแล้ว ว่าการที่ทรง ถือต่าง ๆ ตามลัทธิของไทยนั้นเปนการไม่สมควรเลย สมเด็จพระนารายณ์ได้รับสั่งให้ปิดวัดวาอารามมาได้ ๒ ปีแล้ว และถ้าในเวลา -




(หน้า ๘๐)


- นี้วัดวาอารามเหล่านั้นได้เปิดอย่างเดิมอีก ก็เปนพระเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ไม่แน่พระทัยว่าพระองค์จะนับถือสาสนาใดแน่ แต่การที่สมเด็จพระนารายณ์จะทรงนับถือสาสนามหะหมัดนั้น เปนเรื่องที่ไม่ต้องวิตกแล้ว และตั้งแต่เสนาบดีว่าการต่างประเทศได้ไปเข้ารีตกับบาดหลวงคณเยซวิต นั้น สมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ถอดบรรดาผู้ว่าราชการเมืองอันนับถือสาสนามหะหมัดโดยมาก และตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็จ นั้นก็ได้โปรด ฯ ให้คนเข้ารีตไปเปน สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงแสดงความโปรดปรานต่อพวกเข้ารีดเปนอันมาก จนถึงกับโปรดฯ ให้สร้างวัดเข้ารีตใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาวัด ๑ กับโปรดฯ ให้สร้างวัดเข้ารีตที่เมืองลพบุรีอีกวัด ๑ เพื่อพวกมิชชันนารีจะได้อยู่ใกล้กับพระองค์เสมอ
แต่ในเรื่องนี้ ข้อติดขัดที่เปนข้อสำคัญที่สุด คือ ที่พระองค์มีพระมเหษี และพระสนมมากนัก แต่พระชนมายุก็ถึง ๕๔ ปีแล้ว

บางทีพระเปนเจ้า อันมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์จะดลพระทัยเพื่อพระเจ้าหลุยที่๑๒ จะได้มีพระเกียรติยศและชื่อเสียงอันยิ่งใหญ่ ที่ได้ช่วยจัดการกู้วิญญาณของมนุษย์ด้วยจำนวนล้านคน
ซึ่งจะได้เข้ารีตตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์บ้างกระมัง

แต่จะอย่างไรก็ตามเชอวาเลียเดอโชมองจะได้จัดการทำทางไว้ก่อนและข้าพเจ้าจะได้ดำเนิรตามทางที่เชอวาเลียเดอโชมองได้ทำไว้ ฝ่ายสังฆราชฝรั่งเศสเมื่อได้รู้สึกว่าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ทรงหนุนอยู่ข้างหลังแล้ว ก็จะได้ทำการสอนสาสนาแข็งแรงดีขึ้นอีก ข้าพเจ้ายังจะกล้ารับรองต่อไปอีกว่า ข้าพเจ้าอาจจะจัดการให้พวกมิชชันนารีเเละพวกคณะเยซวิตได้ปรองดองกันได้ต่อไป เพราะพวกมิชชัน -




(หน้า ๘๑)


- ก็มีความไว้ใจข้าพเจ้า โดยเหตุที่ข้าพเจ้าได้เคยไปอยู่ร่วมกับเขาแล้ว และบาดหลวงแวยูหัวหน้าพวกเยซวิตในตวันออกก็เปนเพื่อนกับข้าพเจ้าและมีความไว้ใจข้าพเจ้าด้วย
คณะบาดหลวงทั้งสองคณะนี้ก็มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน แต่จะทำให้เกียรติยศของพระเปนเจ้าได้แพร่หลายออกไปเท่านั้น
เพราะฉนั้นเมื่อเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นและมีคนมาอธิบายชักโยงเข้าปล้ว ก็อาจจะปรองดองกันได้ต่อไป เพราะทั้งสองฝ่ายก็คงจะเห็นได้ว่าข้าพเจ้ามีแต่เจตนาที่ดี
และข้าพเจ้าก็จะได้พยายามตั้งตัวเปนกลางไม่ลำเอียงข้างฝ่ายใด แต่จะถือความจริงเปนหลักอยู่เท่านั้น

ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเดิรทางอยู่ในราวอย่างน้อย ๘ เดือนนั้น ข้าพเจ้าจะได้พยายามเรียนภาษาปอตุเกต เพื่อจะได้พูดจาสนทนากับเสนาบดีของสมเด็จพระนารายณ์โดยไม่ต้องใช้ล่าม เพราะเสนาบดีไทยพูดภาษาปอตุเกตเปนทุกคน ด้วยภาษานี้เปนภาษาสามัญที่ใช้กันทั่วไปในฝ่ายทิศตวันออก

ในส่วนที่เกี่ยวด้วยการค้าขายนั้น ข้าพเจ้าหวังใจว่าคงจะได้ทำประโยชน์ให้บ้างเหมือนกัน เพราะบริษัทฝรั่งเศสในอินเดียจะส่งคนแทนไปอยู่กรุงศรีอยุธยาแล้ว คนของบริษัทนี้จะได้ตรวจตราพิเคราะห์ดูว่าจะควรทำการค้าขายในประเทศสยามอย่างใด สินค้าเมืองนั้นมีอะไรบ้าง
และต้องคอยระวังในเวลาที่เรือพ่อค้าจะมาจากเมืองจีนและยี่ปุ่นซึ่งเคยมีเข้ามาทุก ๆ ปี ผู้แทนของบริษัทกับข้าพเจ้าจะได้ทำการร่วมกัน และเราจะได้พยายามขอสิทธิต่าง ๆ จากพระเจ้ากรุงสยามสำหรับบริษัทเปนต้นว่า ขออนุญาตรับซื้อสินค้าที่มาจากเมืองจีนและยี่ปุ่นโดย -




(หน้า ๘๒)


- ซื้อตามราคาต้นทุน หรือขอซื้อให้ได้ราคาต่ำกว่าพ่อค้าอื่น ๆ เพราะเราควรจะคิดค้าขายโดยอยู่ในความปกครองของพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งจะทำให้เราซื้อสินค้าได้ถูกกว่าและมีกำไรมากกว่าที่บริษัทจะส่งเรือออกไปค้าขายตามลำพังของตัวเอง ข้าพเจ้าเชื่อว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงเห็นว่า พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้ทำการสำหรับให้ถูกพระทัยเพียงไรพระองค์คงจะพยายามที่จะทำการค้าขาย ให้ติดต่อกับประเทศฝรั่งเศสให้จงได้ และคงจะพระราชทานสิทธิต่าง ๆ ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งจะไม่พระราชทานแก่ชนประเทศอื่นเปนแน่

ในข้อที่จะหาเรื่องแปลก ๆ นั้นเปนเรื่องที่คงจะไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าจะสรุปรวมความแล้วก็คือ ข้าพเจ้าหวังใจว่าข้าพเจ้าคงจะมีความรู้อย่างแน่นอนของการในประเทศสยาม เพราะในเวลาที่ข้าพเจ้าจะได้อยู่ในเมืองไทยถึง ๒ ปี เมื่อได้พยายามจนสุดกำลังโดยไม่ต้องคิดถึงการใช้จ่ายและโดยมีอำนาจอยู่บ้างเล็กน้อย ก็ยากอยู่ที่ข้าพเจ้าจะไม่รู้ในเรื่องของประเทศสยามเท่าที่ข้าพเจ้ามีความรู้ ในเรื่องของประเทศฝรั่งเศส

ข้าพเจ้ายังเชื่อใจว่าความรู้อันนี้จะไม่ใช่แต่มีความรู้ในเรื่องของเมืองไทยแห่งเดียว แต่คงจะมีความรู้ถึงเรื่องเมืองใกล้เคียงด้วย เพราะในกรุงศรีอยุธยานั้นข้าพเจ้าคงจะได้พบกับพวกจีน, ยี่ปุ่น, ลาว,ญวนและชาวเมืองอื่น ๆ อีกเปนอันมาก ข้าพเจ้าจะได้สนทนากับคนเหล่านี้และจะได้สืบถึงการบ้านในเวลาปัจจุบัน สืบถึงวิธีปกครองบ้านเมืองเหล่านี้ สืบถึงกำลังทหารทั้งทางบกและทางทะเล สืบถึงการค้าขายของเมืองนั้น ๆ และสืบถึงเรื่องพงศาวดารของเมืองเหล่านั้นด้วย ถ้าในข้อใดที่คนเหล่านี้จะตอบข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าก็จะได้ขอให้เขามีหนังสือ -




(หน้า ๘๓)


- ถามไป โดยข้าพเจ้าจะได้จดถามเปนข้อ ๆ และถามอย่างง่าย ๆ ซึ่งคนโง่เขลาที่สุดก็อาจจะตอบได้ แล้วข้าพเจ้าจะได้เล่าให้พวกนี้ฟังถึงเกียรติยศเกียรติคุณและอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินของฝรั่งเศส และข้าพเจ้าจะได้แจกพระรูปพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ให้พวกนี้ด้วย

ท่านเชอวาเลียเดอโชมอง ได้พาบาดหลวงคณะเยซวิตมาด้วย ๔ คน สำหรับให้ไปประจำอยู่ที่เมืองจีน ข้าพเจ้าจะได้มีหนังสือโต้ตอบกับบาดหลวง ๔ คนนี้อยู่เสมอ และจะได้มีหนังสือโต้ตอบกับบาดหลวง ๔ คนสืบในเมืองจีน เมื่อเรือของพระเจ้ากรุงสยามกลับจากเมืองจีน บาดหลวงก็จะฝากคำตอบมากับเรือหลวงได้ เพราะเรือหลวงเหล่านี้ได้ไปเมืองจีนทุก ๆ ปี การที่ข้าพเจ้าให้บาดหลวงเยซวิต ๔ คนสืบเรื่องเมืองจีนนั้นเขาคงจะไม่รังเกียจเพราะเขาคงทราบว่าเปนเรื่องที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ทั้งเปนหนทางที่เขาจะได้ข่าวในประเทศยุโรปจากข้าพเจ้าด้วย

ข้าพเจ้าจะได้พาช่างเขียนคน ๑ ผู้ชำนาญวิชาดาราศาสตร์ คน ๑ หมอคน ๑ และผู้ชำนาญการแปรธาตุคน ๑ไปกับข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจะได้จัดให้คนใดคนหนึ่งในคน ๔ คนนี้ ไปตามบ้านเมืองที่ใกล้เคียงกับเมืองไทย และจดข้อความที่จะให้เขาไปเที่ยวสืบตามเมืองเหล่านี้ เพื่อให้รู้ความจริงของการในเมืองตังเกี๋ย เมืองญวนและเมืองอื่นๆ ด้วย เพราะข้าพเจ้าได้สนทนากับมองซิเออร์เฟเนโรต์ ถึงเรื่องความลำบากและความขัดข้องที่มีอยู่กับเมืองต่าง ๆ ฝ่ายตวันออกแล้ว และถ้าข้าพเจ้าได้ตอบคำถามของมองซิเออร์เฟเนโรต์ ๑๐ ข้อ ตอบได้เพียงข้อเดียว เห็นว่าข้าพเจ้าไม่ได้ไปเสียเวลาเปล่า ๆ เลย




(หน้า ๘๔)

ข้าพเจ้าจะได้เอาหมอและผู้ชำนาญการแปรธาตุ ไว้กับข้าพเจ้าที่กรุงศรีอยุธยา และข้าพเจ้าจะได้พยายามให้คนทั้ง ๒ นี้ได้เปนประโยชน์แก่พลเมืองที่อยู่ในเมืองไทย วิธีที่จะเข้าไปตามบ้านได้ง่ายไม่มีอะไรจะดีกว่าการรักษาไข้เจ็บ และถ้าการรักษานั้นได้ทำกันโดยไม่ได้คิดหาผลประโยชน์แล้ว การเข้าไปในบ้านต่าง ๆ ก็กลับง่ายขึ้นอีก
เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจะได้จัดให้คนทั้งสองนี้ไปตามบ้าน พร้อมกับพวกมิชชันนารี และเมื่อหมอได้ทำการรักษาร่างกายแล้ว มิชชันนารีจะได้ทำการรักษาวิญญาณต่อไป

ข้าพเจ้าได้เอาตำรายาสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ ไปด้วย และได้เอาน้ำมันใส่แผลกับยาแก้โรคต่าง ๆ ไปด้วยถึง ๒ หีบใหญ่ ๆส่วนช่างเขียนนั้น จะได้เขียนพระรูปพระเจ้ากรุงสยาม
เขียนรูปเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ เขียนรูปบ้านเมืองอันมีทำเลงาม ๆ เขียนรูปบ้านงาม ๆ รูปวัดและรูปการแต่งกายของผู้ชายและผู้หญิงด้วย
นอกจากนี้ช่างเขียนจะได้ไปทำแผนที่ท่าเรือต่าง ๆ ริมชายทะเลทั่วพระราชอาณาจักรสยาม และข้าพเจ้าจะได้พยายามตรวจดูว่า ที่แห่งใดจะเปนที่เหมาะและง่ายสำหรับการสร้างป้อมได้

ส่วนผู้ที่ชำนาญดาราศาสตร์นั้น ก็คงจะทำประโยชน์ได้เหมือนกันเพราะในเมืองไทยนับถือวิชาเลขกันมาก นอกจากการที่ข้าพเจ้าได้บรรยายมานี้
ข้าพเจ้าจะได้เสาะแสวงหาเงินและเหรียญต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งจะมีอยู่ตามเมืองเหล่านี้และจะหาทั้งเงินและเหรียญทอง
เงินกับทองแดงทุกอย่างที่จะหาได้ กับจะได้พยายามหาหนังสือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเปนหนังสือภาษาใด เมื่อมี -




(หน้า ๘๕)


- โอกาศก็จะได้แปลหนังสือเหล่านี้ได้ และจะได้รวบรวมสรรพเครื่องศัสตราอาวุธ ซึ่งใช้กันในฝ่ายทิศตวันออก และถ้าข้าพเจ้าได้รวบรวมของเหล่านี้ได้แล้ว ก็จะเปนของแปลก สำหรับประเทศยุโรปบางทีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะทรงเอาของแปลก ๆ เหล่านี้ไว้ดูเล่นที่พระราชวังเวอซายบ้างกระมัง






จดหมายบันทึกว่าด้วยการค้าขายในประเทศสยาม


จดหมายบันทึกว่าด้วยการค้าขายในประเทศสยาม
ทำเมื่อวันที่ ๒๒ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๗)

บริษัทฝรั่งเศสควรจะต้องถือว่าการค้าขายในเมืองไทยเปนสิ่งที่จะเปนประโยชน์แก่บริษัทอย่าง ยิ่งในเวลาต่อไปภายหน้าด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ๑ เพราะบริษัทจะได้รับความอุดหนุนและความปกครองของพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งได้มีรับสั่งแก่มองซิเออร์เดลานด์หลายครั้งหลายหนว่า ถ้าบริษัทได้มาตั้งการค้าขาย
ในพระราชอาณาเขตแล้วจะเปนที่พอพระราชหฤทัยมาก และจะได้ทรงอุดหนุนบริษัทให้ได้ทำการค้าขายอย่างสดวกที่สุด ๒ ตั้งแต่เมืองบันตำได้ตกไปอยู่ในอำนาจของพวกฮอลันดา สินค้าเมืองจีน เมืองยี่ปุ่น เมืองมาเก๊า และเมืองอื่น ๆ อีกเปนอันมาก ซึ่งได้เคยผ่านไปทางเมืองบันตำก็มารวมอยู่ที่เมืองไทยหมดแล้ว การที่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะส่งเรือไปนั้น เปนการเหมาะสำหรับส่งคนที่ชำนาญและที่มีไหวพวิบให้ไปตรวจตราดูการต่าง ๆ ให้จดจำมาและให้ทดลองสินค้าทุก ๆ อย่างที่จะสมควรส่งไปยังเมืองฝรั่งเศสได้ สินค้าอันสำคัญที่ควรจะพิเคราะห์ให้ละเอียดนั้น ก็คือสินค้าที่มาจากเมือง -




(หน้า ๘๖)


- จีนแลเมืองยี่ปุ่น ซึ่งพวกอังกฤษและฮอลันดาค้าขายอยู่เสมอ แต่ซึ่งบริษัทยังไม่เคยได้ทดลองดูเลย ผู้ที่จะไปตรวจตราสินค้านั้น ควรจะต้องตรวจอย่างละเอียด คือดูสินค้าทุกอย่างทุกชนิดโดยไม่ต้องยกเว้นอย่างใดเลย และของต่างๆ เช่นผ้านั้นควรตรวจจนถึงขนาดกว้างยาวลวดลายที่ผ้าและสี นอกจากผ้านั้นก็ยังมีของอื่นที่ควรจะต้องตรวจอย่างละเอียด เช่นเครื่องเงินเครื่องทองและของอื่น ๆ อันนับจำนวนไม่ถ้วน ซึ่งล้วนแต่เปนสินค้าที่ควรส่งไปเมืองฝรั่งเศสได้ทั้งสิ้น

แต่สินค้าอันสำคัญซึ่งจะทำเปนหลักฐาน ในเมืองไทยได้ต่อไปนั้นก็คือสินค้าพริกไทย เพราะตามที่มองซิเออร์เดลานด์ได้บอกมาก็คงได้ความว่าพระเจ้ากรุงสยามทรงขายให้แก่บริษัทโดยราคาอย่างถูก เพราะฉนั้นเปนเรื่องที่บริษัทควรจะดำริห์ต่อไป

ตามปรกติเรือที่มาจากเมืองจีนและยี่ปุ่นได้ ไปถึงกรุงศรีอยุธยาในราวเดือนมกราคมและเดือกุมภาพันธ์ เรือเหล่านี้ล้วนแต่บันทุกสินค้าอย่างดีอันมีราคามาก เมื่อเรือจีนและยี่ปุ่นได้มาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้ากรุงสยามก็โปรดให้ข้าราชการลง ไปเลือกของที่พอพระทัยไว้ก่อน เมื่อทรงเลือกไว้แล้วยังเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด
พ่อค้าทั้งหลายก็รับซื้อไว้บ้าง แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นบ้าง ยังมีเรือจีนและยี่ปุ่นไปที่เมืองมาเก๊าอีกหลายลำ แต่สินค้าที่ส่งไปเมืองมาเก๊านั้นก็ต้องย้อนกลับมาเมืองไทยอีก
เพราะฉนั้นในเมืองไทยคงจะมีสินค้าจีน และยี่ปุ่นตก เข้ามาเสมอ สินค้าที่มีมากที่สุดนั้นก็คือผ้าและแพรต่าง ๆ
เช่นผ้าดอก สีต่าง ๆ ผ้าตาหลายอย่างหลายชนิด แลแพรขาวมีทั้งดอกเล็กและ -





(หน้า ๘๗)


- ดอกใหญ่ แพรนี้ ๒๐พับเปนเงิน ๒๑๐ แฟรงก์ ของเหล่านี้จะต้องหาตัวอย่างไว้ และจะต้องจดทำเปนบาญชีบอกให้รู้ขนาดกว้างยาวและสีด้วย ในเมืองไทยก็มีผ้าสีต่างๆลายทองและเงินซึ่งเขาว่ากันเปนราคาหลา ๑ เพียง ๕๐-๖๐ อัฐฝรั่งเศสเท่านั้น ผ้านี้กว้างอยู่ในครึ่งหลาเท่านั้น ถ้ามีผ้าชนิดนี้จริงก็ควรจะซื้อส่งไปเมืองฝรั่งเศสสัก ๒๐๐-๓๐๐ ผืน และควรจะเลือกสีอย่างงามที่สุด ทั้งเลือกลายต่าง ๆ ทั้งเล็ก และใหญ่ด้วยผ้าที่ดีและงามนั้นควรจะซื้อไว้ทุกอย่างทุกชนิด และผ้าที่เนื้อไม่สู้ดี และลายไม่ใคร่งามนั้นก็คงจะมีบ้างเหมือนกัน ในการที่จะซื้อผ้านั้นถ้าเปนราคาถูกแล้วก็ควรจะซื้อไว้ทั้งหมด แต่ผ้าที่เปนผ้าลายทองซึ่งเอาไหมทองปักมีลายทั้งสองข้างต้องระวัง เพราะคล้ายคลึงกับผ้ามาจากเมืองจีน แต่ผ้าที่มาจากเมืองจีนนั้นผิดกันที่ไม่ได้เอาไหมทองปัก แต่เอาแผ่นทองปิดบนผ้าเปนลายช่อดอกไม้ และลายอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ผ้าชนิดนี้ที่มาจากเมืองจีนจะขายในเมืองฝรั่งเศสไม่ได้ แต่การที่จะซื้อผ้าและของต่าง ๆ นั้นต้องแล้วแต่ความไหวพริบของผู้ซื้อที่จะรู้จักเลือกหาที่งามและดีที่สุด

ผ้าอย่างอื่นยังมีอยู่อีกหลายอย่างซึ่งไม่ใช่ผ้าอย่างดีนักแต่ราคาถูก พอจะซื้อขายในเมืองฝรั่งเศสได้กำไรมากแต่อย่างไรก็ตาม ควรจะหาผ้าทุกอย่าง ๆ ละ ๒๐ ผืนสำหรับส่งไปเปนตัวอย่าง ที่เมืองฝรั่งเศสแพรขาวอันมาจากเมืองจีนนั้นเปนสินค้าอย่างดีที่สุด สำหรับประเทศฝรั่งเศส แพรชนิดนี้ซื้อเอาในเมืองไทยได้
มท เปนราคาพันละ ๑๖๐ ถึง ๑๘๐ แฟรงก์ พับ ๑น้ำหนัก ๒๐ปอนด์ฝรั่งเศสตกปอนด์ละ ๔ แฟรงก์ถึง -




(หน้า ๘๘)


- ๔ แฟรงก์๑๐(อัฐฝรั่งเศส) และผ้าที่ว่านี้เปนผ้าอย่างงามและอย่างดีด้วยพวกฮอลันดาได้ค้าขายผ้าชนิดนี้เปนอันมาก เพราะเปนผ้าที่ใช้ได้มีประโยชน์เสมอ ยังมีของมาจากเมืองจีนและเมืองยี่ปุ่นอีกเปนอันมากซึ่งเรียกกันว่าของลงรัก เมื่อได้ลงรักแล้วก็ปิดลายทอง ลายทองนั้นก็มีทุกอย่างทุกชนิดเหมือนกัน
เครื่องภาชนะลงรักปิดทองชนิดนี้ทำกันที่อื่นเหมือนกันแต่ไม่ดีและไม่งามเท่ากับของที่มาจากเมืองจีนและเมืองยี่ปุ่น และของที่มาจากเมืองจีนเปนของที่หายากมีคนต้องการกันมาก ยังตู้หรือหีบสี่เหลี่ยมก็เปนสินค้าที่มีกำไรงามเหมือนกัน หีบสี่เหลี่ยมชนิดนี้มีทั้งใหญ่และเล็กทุกขนาด
ถ้าจะซื้อส่งไปเปนตัวอย่างที่เมืองฝรั่งเศส อย่างละ ๒ หีบก็พอ

แต่เมื่อจะซื้อหีบชนิดนี้ต้องระวังเลือกกุญแจที่ทำอย่าประณีตยังมีหีบเล็ก ๆ อย่างอื่น ๆ อีกเปนอันมาก ขนาดต่าง ๆ กันและลวดลายก็ต่างกันทั้งนั้น
และหีบสำหรับใส่ใบชามีเครื่องพร้อมเปนของแปลกที่จะขายในเมืองฝรั่งเศสได้ดี และถ้ารู้จักเลือกแล้วก็จะหากำไรได้งามมาก

ยังมีถาดหรือกระบะมีขอบสำหรับใส่ถ้วยกาแฟหรือถ้วยน้ำชา ยาว๑๔ หรือ ๑๕ นิ้ว กว้าง ๑๐ หรือ ๑๒ นิ้ว กระบะอย่างนี้ต้องซื้อไว้ให้มาก เพราะเปนของที่จะขายได้ดี ยังมีหีบรูปร่างคล้ายหีบสำหรับใส่เสื้อผ้าลงรักปิดทองเหมือนกันแต่หีบชนิดนี้จะขายในเมืองฝรั่งเศสไม่ได้ ยกเว้นแต่หีบชนิดนี้แล้ว ของ -




(หน้า ๘๙)


- อย่างอื่นซึ่งเปนของลงรักปิดทองจะเปนสินค้าที่ขายในเมืองฝรั่งเศสได้ดีทุกอย่าง

สินค้าที่มาจากเมืองจีนนั้นยังมีของที่ทำด้วยเงินอีกเปนอันมาก ของเหล่านี้ทำโดยฝีมืออย่างละเอียดจะใช้สำหรับทำอะไรได้ทุกอย่าง และเปนของที่จะขายในเมืองฝรั่งเศสได้ดีเหมือนกัน แต่เครื่องเงินเหล่านี้ต้องเลือกหาที่งามที่สุดและที่เปนลายดุนและต้องระวังเปนเงินแท้ จึงจะใช้ได้ เพราะของเหล่านี้ทำด้วยเงินไม่แท้ก็มีมาก
เขาพูดกันว่าเครื่องเงินชนิดนี้ขายกันหนักต่อหนัก มิได้เอาลวดลายเปนเกณฑ์สำหรับซื้อขายกันเลย เพราะฉนั้นเวลาที่เราจะซื้อเครื่องเงินเหล่านี้ต้องคิดอ่านซื้อโดยราคาถูกที่สุดที่จะซื้อได้ แต่เครื่องเงินที่ทำเปนลายโปร่งนั้นใช้ไม่ได้

เครื่องลายครามอย่างงามซึ่งเรียกกันว่าของเก่านั้น ก็มาจากเมืองจีนเหมือนกันและเครื่องลายครามใหม่ ๆ ก็มีมาจากเมืองยี่ปุ่น
แต่เปนของไม่ดีและไม่มีราคาเหมือนกับเครื่องลายคราม ที่มาจากเมืองจีนเครื่องลายครามที่นับถือกันว่าอย่างดีนั้นต้องเปนสีน้ำเงินกับขาว
และของเหล่านี้ทำเปนรูปต่าง ๆ เปนต้นว่าทำเปนแจกัน กระบอก ถ้วย โถ และขวด ต้องสังเกตด้วยว่าของที่นับถือกันว่าเปนของอย่างดีนั้น สูงเพียง ๘ นิ้วถึง ๑๒ นิ้ว
แต่เมื่อจะซื้อที่สูงและใหญ่กว่านี้บ้างก็ได้พอจะได้ตั้งคละปนกันไปได้ เวลาจะเลือกเครื่องลายครามนั้น ต้องตรวจดูสีน้ำเงินนั้นต้องเปนน้ำเงินจริงไม่พร่าและสีไม่ซีด
ดอกไม้หรือลายอื่น ๆ ต้องชัด -


๑๒



(หน้า ๙๐)


- กระจ่าง ถ้าเลือกได้อย่างนี้จึงจะเปนของดีและขายได้มีราคา ไม่จำเปนต้องเลือกแต่ฉเพาะที่ลายละเอียด

ส่วนถ้วยน้ำชานั้นจะได้จัดส่งตัวอย่างขนาดออกไปให้ เพราะถ้วยน้ำชานี้จะหาซื้อได้เปนอันมากทั้งถ้วยสีน้ำเงินและสีขาว และยังมีถ้วยพื้นขาวลายเปนสีต่างๆ อีกหลายอย่างหลายชนิด
แต่ต้องระวังเวลาซื้อถ้วยอย่าให้ถ้วยนั้นมีขอบหรือกระจัง ถ้วยอย่างอื่น ๆ สำหรับใส่น้ำยังจะหาซื้อได้อีกมาก ถ้วยน้ำชนิดนี้มักสูงอยู่ในราว ๔ นิ้ว
มีทั้งสีน้ำเงินสีขาว และระบายสีเหมือนกับถ้วยน้ำชาที่ได้อธิบายมาข้างบนนี้แล้ว แต่ต้องเลือกทั้งถ้วยน้ำชาและน้ำเย็น
อย่าเอาชนิดที่เขียนสีทับบน แต่สีนั้นต้องอยู่ในเนื้อครามเหมือนกับสีน้ำเงิน และสีชาวเปนเนื้อเดียวกันจึงจะใช้ได้ ของนี้พอเลือกตรวจได้ง่าย
เพราะชนิดที่เอาสีระบายทับนั้น ถ้าเอามีดขูดสีนั้นก็ลอกออก แต่ถ้าเปนสีที่เปนเนื้อเดียวกับครามแล้ว ทำอย่างไรสีนั้นก็ไม่ออก

เมื่อจะซื้อถ้วยน้ำชาเเละถ้วยน้ำเย็นดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ต้องซื้อจานรองถ้วยทั้งสีน้ำเงินสีขาวและสีต่าง ๆ ด้วย และเพื่อจะไม่ให้ผิดขนาดไปได้นั้น จะได้ส่งตัวอย่างออกไปให้ดูเหมือนกันคนที่จะไปอยู่เมืองไทยแทนบริษัทนั้นจะต้องเปนคนที่ชำนาญดูเพ็ชร ทุกชนิด และชำนาญดูทับทิมกับพลอยสีต่าง ๆ ทั้งดูไข่มุกด์เปนด้วย
และถึงหากว่าบริษัทจะยังไม่ได้ค้าพลอยก็ตาม แต่ผู้แทนจะต้องไปตรวจตราสืบสงวน ถึงสินค้าชนิดนี้อย่างละเอียดว่า ในเมืองไทยจะมีเพ็ชรพลอยอย่างใด
ที่จะเปนสินค้าส่งไปจำหน่ายยังเมืองฝรั่งเศสได้บ้าง ชนิดใดจะมีกำไรอย่างไร เพื่อเปนข้อดำริห์สำหรับการค้าขายในภายหน้าต่อไป และถึงใน -




(หน้า ๙๑)


- เวลานี้บริษัทจะยังไม่ค้าพลอยก็จริง แต่ถ้ามีโอกาศที่จะซื้อเพ็ชรพลอยได้โดยเห็นแน่ว่าจะมีกำไรแล้วก็ควรจะซื้อไว้บ้าง
ทั้งนี้ต้องแล้วแต่ความไหวพริบของผู้แทนบริษัท ไม่ฉเพาะแต่เพ็ชรพลอยอย่างเดียว แต่ในสินค้าอย่างอื่นทั่วไปด้วย

ยังมีของอื่น ๆ อีกซึ่งเปนของแปลก ๆ และจะขายได้ในเมืองฝรั่งเศส คือของที่ทำด้วยหยกและโมรา ซึ่งทำเปนรูปขวดก็มี เปนรูปถ้วยก็มี
ถ้าของเหล่านี้ทำรูปดี ๆ และสีงาม ๆ แล้วก็จะขายในเมืองฝรั่งเศสได้ราคาแพงมาก
แต่หยกนั้นถึงยังไม่ได้ทำเปนรูปพรรณ ถ้าเปนหยกที่ดีและซื้อได้ราคาถูกก็ควรซื้อไว้เหมือนกัน

โมรานั้นเปนของที่แปลกและมีคนต้องการกันมาก ยังมีหินชนิดนี้ ที่จะเอามาทำเปนของรูปพรรณอย่างอื่นได้ เช่นทำด้ามมีด ด้ามกระบี่หัวไม้เท้าเปนต้น
หินชนิดนี้ ถ้าดีก็จะขายในเมืองฝรั่งเศสได้ เพราะเปนของที่มีราคาถูก และหินสำหรับทำด้ามมีด และหัวไม้เท้านั้นจะขายในเมืองฝรั่งเศสได้ โดยมีกำไรถึง ๕๐ถึง ๒๐๐ เปอร์เซนต์

การทั้งนี้ต้องแล้วแต่ความไหวพริบของผู้แทนบริษัท และในเวลานี้บริษัทก็ยังไม่ได้ดำริห์ที่จะค้าขายของเหล่านี้ เพราะฉนั้น ผู้แทนบริษัทจะต้องคอยดู
เมื่อเห็นเปนโอกาศดีจะหากำไรได้มาก จึงควรจะซื้อของชนิดนี้ไว้ เพื่อเปนการสดวกและเจริญของบริษัท
เปนการจำเปนที่ผู้แทนของบริษัทซึ่งจะไปอยู่ในเมืองไทยนั้น จะต้องทำการติดต่อกับพวกเสมียนพนักงารที่อยู่ในเมืองนั้น และจะต้องรู้การทั้งปวงโดยละเอียด
เพื่อจะได้ทำการค้าขายกับคนพื้นเมืองได้ และผู้แทนบริษัทจะต้องศึกษาถึงวิธีการ -




(หน้า ๙๒)


- ค้าขายของคนพื้นเมือง เพื่อจะได้ทำการโดยไม่ต้องเสียเปรียบหรือถูกหลอกลวงอย่างใด แต่พวกแขกมัวนั้น จะต้องระวังให้มากเพราะเปนคนที่จะไว้ใจไม่ได้เลย
และหน้าที่ของผู้แทนบริษัท จะต้องทำการอย่างลมุนลม่อม และโดยซื่อตรง กับต้องหาเพื่อนมิตร์ไว้ให้มาก ๆ ด้วย
สรุปรวมความ ก็จะต้องทำการดี โดยอย่าให้ประโยชน์และเกียรติยศของบริษัทเสียไปได้

ในเวลาที่จะส่งสินค้าต่าง ๆ ไปเมืองฝรั่งเศสนั้นต้องระวังหุ้มห่อและบัญจุให้ดี และยิ่งของที่ละเอียดต้องระวังให้มาก เพื่อจะไม่เสียตามทาง
เพราะในเรือมักชื้นและถูกน้ำทะเลอยู่เสมอ เครื่องลงรักและทาน้ำมันเงานั้นต้องห่อและบันจุหีบอย่างประณีต เพื่อไม่ให้ถูกความร้อนได้
ของชนิดนี้ที่พวกอังกฤษและฮอลันดาส่งไปนั้นได้รักษาไปอย่างดีมาก

ผู้แทนบริษัทจะต้องทำบาญชีอย่างละเอียดและที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดว่า ได้ส่งสินค้าอะไรไปบ้าง และจะต้องทำรายงารอย่างละเอียดถึงสินค้าต่าง ๆ ในเมืองไทย
เช่นว่าสินค้าชนิดไรบ้าง กว้างยาวหนักและราคาอย่างไร สินค้าชนิดนี้กับสินค้าชนิดนั้น ต่างกันอย่างไร เปนต้น
คือว่า ต้องการรายงารไปให้ละเอียดสำหรับเปนดำริห์ของบริษัทในเวลาจะไปตั้งการค้าขายให้เปนหลักฐานได้

นอกจากการที่ได้อธิบายมาข้างบนนั้นผู้แทนบริษัทยังจะต้องตรวจตราพิเคราะห์ดูว่าสินค้าฝรั่งเศสซึ่งจะจำหน่ายมีกำไรในเมืองไทย จะมีอะไรบ้าง
และในข้อนี้จะต้องทำรายงารบอกมาอย่างละเอียด เพราะของต่าง ๆ ที่ควรจะขายได้ก็มีเครื่องแต่งตัวทำด้วยทอง เช่นแหวน ต่างหู -




(หน้า ๙๓)


- สายสร้อย ทำที่ประเทศเยอรมันหลายพันอย่าง ล้วนแต่เปนของงาม ๆ กับเครื่องเหล็กทำที่เมืองฝรั่งเศสก็เปนสินค้าที่ควรจะจำหน่ายได้ง่าย
ผู้แทนบริษัทจะต้องพิเคราะห์ในเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน จะถือแต่ฉเพาะบาญชีของหรือคำสั่งเปนเกณฑ์ไม่ได้ แต่จะต้องพิเคราะห์ด้วยตัวของตัวเอง
จึงจะเปนทางที่หากำไรได้มาก ในเรื่องนี้พวกอังกฤษและฮอลันดาได้ทำตัวอย่างอย่างดีให้เราเห็นอยู่แล้ว

ในเวลานี้นับว่าพึ่งจะตั้งต้นทดลองทำการค้าขายในเมืองไทย กล่าวคือค้าขายสินค้าที่พวกจีน และยี่ปุ่นพามาจากเมืองกวางตุ้งเมืองมาเก๊าแลเมืองอื่น
เพราะฉนั้นเมื่อเรือกำปั่นฝรั่งเศสเข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อไร ผู้แทนบริษัทจะต้องคอยเปนธุระ เพื่อหาโอกาศเอาสินค้าที่จะหาไว้ ได้บันทุกเรือในเวลากำปั่นฝรั่งเศสจะกลับออกไป และต้องทำบาญชีส่งไปพร้อมกับของด้วย

ฝ่ายท่านเชอวาเลียเดอโชมองก็คงมีใจช่วยในการของบริษัทอยู่แล้ว แต่ถึงดังนั้นผู้แทนบริษัทก็ควรจะเปนมิตร์ ไว้กับเชอวาเลียเดอโชมองในเวลาทีเดิรทางอยู่ด้วยกัน
เพื่อเปนหนทางที่จะทำการต่าง ๆ ได้สดวก ทั้งเปนการสมควรที่จะต้องทำการซื่อตรง และโดยอัชฌาสัยอันดีกับคนทั่วไปโดยไม่ต้องเลือกว่าใคร

ยังมีสินค้าที่มาจากเมืองจีนอีกชนิด ๑ คือ ลับแลทำมาเปนแผ่น ๆ หรือ กลีบลับแล ที่จะขายได้ในเมืองฝรั่งเศสต้องเปนลับแลชนิดมี ๖ หรือ ๘ แผ่น
ลับแลเหล่านี้ โดยปรกติทำด้วยกระดาดอย่างเหนียว หรือ แพรบางอย่างมัน และระบายสีเปนรูปบ้านเมือง หรือรูปแปลก ๆ ต่าง ๆ -




(หน้า ๙๔)


- หลายอย่าง ผู้แทนบริษัทจะต้องรู้จักเลือกเอาแต่ฉเพาะที่ดีและที่งามเท่านั้น ลับแลเหล่านี้ทำขนาดสูงหลายขนาด เพราะฉนั้นจะต้องรู้สึกว่าลับแลที่จะขายได้ในเมืองฝรั่งเศสต้องเปนขนาดเพียงสูง๔ หรือ ๕ ฟิตเท่านั้น ถ้าจะส่งลับแลมาเปนตัวอย่างแล้วสัก ๕ หรือ ๖ อันก็จะพอ ยังมีลับแลที่ทำด้วยไม้สลักเปนลวดลายก็มี
แต่ลับแลไม้สลักชนิดนี้จะขายเมืองฝรั่งเศสไม่ได้ ถึงของอื่น ๆ เช่น ตู้หรือหีบที่ทำด้วยไม้สลักเปนลวดลาย ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน

ในจดหมายมองซิเออร์เดลานด์ ฉบับ ๑ มีความว่า ควรบริษัทจะทำสัญญากับพระเจ้ากรุงสยาม รับสัญญาจะส่งเรือไปเมืองไทยลำ ๑ ทุก ๆ ปี
เรือนั้นให้โตขนาด ๔๐๐ หรือ ๕๐๐ ตัน และให้บันทุกสินค้าไปด้วย มีราคาแสนแฟรงก์ กล่าวคือ เปนผ้าต่างๆ
ชนิดที่พระเจ้ากรุงสยามจะต้องพระราชประสงค์ ๕๐,๐๐๐ แฟรงก์และอีก ๕๐,๐๐๐ แฟรงก์นั้น ให้บันทุกเปนเงินออกไป
พระเจ้ากรุงสยาม จะได้รับซื้อผ้าเหล่านี้ โดยให้กำไรแก่บริษัท ๒๐ หรือ ๒๕เปอร์เซนต์ ส่วนเงินนั้นพระเจ้ากรุงสยามจะได้รับซื้อตามราคาที่แลกเปลี่ยนเงินกันในเวลานั้น

ถ้าเรือลำนี้ได้ออกจากเมืองฝรั่งเศสใน เดือนมกราคม ก็คงจะต้องถึงกรุงสยามในราวเดือน กรกฎาคม สิงหาคมหรือกันยายน
ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามจะได้พระราชทานดินประสิวสำหรับบันทุกลงเรือ เพราะตามที่ว่า กันดินประสิวไทย ดีกว่าดินประสิวเมืองเบงกอลมาก และราคาก็เพียง๑๐ รูเปียต่อหาบ
หรือคิดตามน้ำหนักฝรั่งเศสหาบ ๑ ก็เท่ากับ ๑๒๐ ปอนด์ฝรั่งเศส นอกจากดินประสิวนี้ บริษัทจะได้ซื้อทองแดงและดีบุก ทองแดงนั้นราคาหีบ -




(หน้า ๙๕)


- ละ ๒๐ แฟรงก์ และดีบุกนั้นราคาบาหาละ ๔๐ หรือ ๔๒ แฟรงก์ ส่วนทองแดงที่พระเจ้ากรุงสยามเคยคิดเอากำไร ๑๐ เปอร์เซนต์นั้น จะได้ยกพระราชทานให้แก่บริษัท
เรือ นั้นจะได้ออกจากเมืองไทยในปลายเดือนกันยายน เพื่อจะได้ไปถึงฝั่ง คอรอมันเดล ในเดือนธันวาคม เมื่อเรือได้ไปฝั่งคอรอมันเดลแล้วจะได้เอาทองแดงและดีบุกขึ้นจากเรือ เพราะของสองอย่างนี้ เปนสินค้าที่ซื้อขายกันเปนเงินสด และบริษัทคงจะมีกำไรในสินค้า ๒ อย่างนี้ ๒๕ เปอเซนต์
แล้วเรือจะได้บันทุกผ้าและสินค้าอย่างอื่น และจะได้ออกจากฝั่งคอรอมันเดลในต้นเดือนกุมภาพันธ์ตรงไปประเทศฝรั่งเศสทีเดียว

นอกจากของที่กล่าวมาแล้วนั้นยังจะได้บันทุกพริกไทยอีกตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับพระเจ้ากรุงสยาม การที่จะเดิรเรือค้าขายเช่นนี้กำไรของบริษัทจะได้จากผ้าที่เอาไปขายในเมืองไทย
ซึ่งจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า ๒๕ เปอร์เซนต์ และทองแดงกับดีบุกก็คงได้กำไรเท่ากัน ทั้งดินประสิวก็จะได้บันทุกเปนอับเฉาเรือ แทนหินที่ต้องบันทุกเปนอับเฉา จากฝั่งคอรอมันเดล

ข้อที่จะต้องดำริห์ในเรื่องที่จะบันทุกสินค้าจากเมืองไทยนั้น ก็คือในเวลาที่ผู้ไปทำการค้าขาย ยังไม่มีความรู้แน่ว่าสินค้าชนิดใดจึง จะสมควรเอาไปขายในเมืองฝรั่งเศสได้
แต่ก็เปนการเชื่อได้ว่าเราคงจะบันทุกสินค้าอย่างอื่นได้นอกจากทองแดงและดีบุก เพราะในคลังของพระเจ้ากรุงสยามก็เต็มไปด้วยสินค้าต่าง ๆ ทุกอย่างทุกชนิด
เพราะฉนั้น ก็คงจะพอเลือกสินค้าที่จะเหมาะกับเมืองฝรั่งเศสบันทุกลงเรือได้บ้าง แต่สินค้าเหล่านี้จะเปนสินค้าอะไรบ้างนั้น ต้องรอให้เรือฝรั่งเศสกลับไปถึงฝรั่ง -




(หน้า ๙๖)


- เศสเสียก่อนจึงจะรู้ได้แน่ โดยตรวจดูตัวอย่างที่ผู้แทนบริษัทจะได้ส่งมาทั้งดูรายงารซึ่งผู้แทนบริษัทจะได้บอกมาอย่างละเอียดเพราะได้ไปสืบและตรวจตราสินค้ามาแล้ว
บริษัทจะได้เอารายงารนี้มาเปนข้อสำหรับดำริห์ที่จะทำการค้าขายต่อไป และบางทีก็จะทำตามแนะนำของผู้แทนในเมืองไทยบ้างก็ได้
เพราะฉนั้นจึงต้องเปนข้อที่ผู้แทนบริษัทจะต้องระวังอย่างที่สุดในเวลาแต่งรายงารเพื่อบริษัทจะได้ไม่เข้าใจผิด

คนโปรด ของพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเรียกกันว่า พระคลังที่ ๒ หรือเสนาบดี นั้น เปนคนชาติกริก ชื่อ คอนซตันตินฟอลคอน ซึ่งเราจะต้องพยายามทำไมตรีด้วยให้จงได้
คอนซตันตินฟอลคอน ได้รับราชการในตำแหน่งสูง ก็โดยความฉลาดเฉลียวไหวพริบของตัวเอง และในสิ่งที่เกี่ยวด้วยการค้าขายทั้งปวง
เปนคนที่พระเจ้ากรุงสยามไว้วางพระราชหฤทัยมาก

ในจดหมายมองซิเออร์เดลานด์มีข้อความว่า คนสำคัญ ๆ ในเมืองมาเก๊าหลายคน ได้มีหนังสือถาม มองซิเออร์เดลานด์ หลายครั้งว่าจะทำการค้าขายกับเมืองมาเก๊าหรือไม่
เพราะการค้าขายนี้จะทำให้บริษัทได้ประโยชน์มาก โดยเหตุที่ชาวมาเก๊า จะได้ช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการที่จะค้าขายติดต่อกับเมืองมาเก๊านั้น
คงจะเปนประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าสินค้าต่างๆทุกอย่างทุกชนิด ได้ไปรวมอยู่ที่เมืองมาเก๊าทั้งสิ้น เช่นผ้าต่างๆ ของเมืองจีนก็ส่งไปจำหน่ายที่เมืองมาเก๊าเหมือนกัน
และ พวกฮอลันดากับพวกอังกฤษ ได้รับผ้าจากเมืองมาเก๊า นั้นเอง เพราะฉนั้นในเรื่องนี้ควรจะหมั่นมีหนังสือถึงพวกมา -




(หน้า ๙๗)


- เก๊าบ่อย ๆ ถามความเห็นบ้าง ขอความแนะนำบ้าง ขอตัวอย่างสินค้าบ้าง เพื่อเปนความรู้สึกสำหรับให้บริษัทได้ดำริห์ต่อไป

แต่ผ้านั้น ถ้าเปนสีแปลก เปนอันใช้ไม่ได้ เช่น สีเขียวทะเล สีกุหลาบแห้ง สีเทา สีน้ำเงินซีด สีม่วงคล้ายสีมูลนกพิราบ สีโคลน เช่นนี้ เปนต้น
เปนสีที่ใช้ไม่ได้ และผ้าต่าง ๆ ที่ย้อมสีชนิดนี้ มีเปนอันมาก
สีผ้าที่ดีที่สุดก็สีขาว สีแดงเข้ม สีแดงเหมือนไฟ สีแดงบานเย็น สีเขียวซึ่งเปนสี ที่ยากในเมืองไทย
เพราะผ้าที่ส่งไปขายนั้นโดยมากมักเปน สีเหลือง สีน้ำเงินแก่ และ สีม่วงแก่

ชมดเชียง อย่างดีที่สุดก็มาจากเมืองไทย ซึ่งเปน ชมดเชียง ที่ดีและที่เลือกแล้ว ราคาหนัก ๑ ออนซ์เพียง ๔ แฟรงก์ ๑๐อัฐ(ฝรั่งเศส) หรือ ๕ แฟรงก์เท่านั้น
ซึ่งควรผู้แทนบริษัทจะซื้อไว้เปนราคาสัก๕๐๐๐แฟรงก์ หรือ ถ้าราคาถูก ก็ควรจะซื้อให้มากกว่านั้นได้ก็ยิ่งดี แต่ต้องระวังเลือก ชมดเชียงที่ดีแท้
เพราะชมดเชียงราคาถูกหาได้ง่าย จึงต้องระวัง ซื้อแต่ ชมดเชียง ที่แท้และไม่ใช่ ชมดเชียงปน
การซื้อชมดเชียงนั้นต้องระวังอย่างที่สุด เพราะของชนิดนี้ เปนสินค้าที่หลอกขายกันได้ง่าย ด้วยเอาของอื่นปน เช่น เอามูลนกพิราบ หรือของอื่นปนเปนต้น
และต้องดูหน้าคนขายด้วยว่า เปนคนที่จะเชื่อใจได้หรือไม่

ในส่วนเครื่องลายครามนั้น จะต้องระวังอย่า ให้หีบสำหรับบัญจุเครื่องลายครามนั้นเปนหีบใหญ่เกินไป จะได้ยกได้ง่าย ๆ แต่ควรจะให้เปนหีบขนาดเดียวกัน ชนิดเดียวกัน
และราคาก็ให้เหมือนกันทั้งหมด อนึ่งควร -


๑๓



(หน้า ๙๘)


- จะชักเอาตัวอย่างออกจากหีบทุกอย่าง และต้องจดนำเบอร์ที่ตัวอย่างให้ตรงกับของในหีบตัวอย่างต่างๆนั้น ควรจะบัญจุรวมลงหีบเสียหีบ ๑ ต่างหาก คือว่า
เมื่อเราเปิดหีบตัวอย่างแล้วก็อาจจะรู้ได้ว่าในหีบอื่น ๆ มีของอะไรชนิดไรบ้าง เพราะมีนำเบอร์กำกับอยู่ทุกสิ่งแล้ว และเมื่อจะขายหรือจะทำบาญชีก็เอาตัวอย่างนั้นเองเปนตัวอย่าง
สำหรับขายและทำบาญชีโดยไม่ต้องเปิดหีบใหญ่ก็ได้

อนึ่งผู้แทนบริษัทจะต้องสืบด้วยว่าในเมืองไทยจะมีเครื่องเทศชนิดไร บ้าง เช่น กานพลู กระวาน จันทน์เทศเปนต้น และสืบว่าของเหล่านี้ซื้อขายในราคาอย่างไร
ถ้าจะพูดอย่างสั้นแล้วก็คือผู้แทนบริษัทจะต้องสืบหาความรู้ในของทุก ๆ อย่าง




งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก