ประวัติพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)
พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)
เมื่อยังเยาว์
[แก้ไข]มหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ สยามินทรภักดีพิริยพาหะ (พร เดชะคุปต์) ป.ช., ป.ม., ท.จ ว., ร.ว., ร.ด.ม. (ศิลป), รัตน. (จ.ป.ร.๓, ว.ป.ร.๒, ป.ป.ร.๓), ร.ร. (ทอง) ฯ องคมนตรี มหาเสวกโท (กิติมศักดิ์) เกิดในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นบุตรขุนฤทธิ์ดรุณเสรฐ (เดช เดชะคุปต์) สารวัตรใหญ่มหาดเล็กเวรฤทธิ์ กับนางไผ่ ฤทธิ์ดรุณเสรฐ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน คือ
๑. หลวงประชุมบรรณสาร (พิณ เดชะคุปต์) รับราชการกระทรวงกลาโหม (ยังรับบำนาญอยู่)
๒. พระยาพิพิธภักดี (เพิ่ม เดชะคุปต์) รับราชการกระทรวงมหาดไทย ถึงอนิจกรรมแล้ว
๓. นางสาวใย เดชะคุปต์
๔. พระยาโบราณราชธานินทร์ ฯ (พร เดชะคุปต์) รับราชการกระทรวงมหาดไทย
๕. นางอภิรักษสมบัติ (เรือน ดิษยรักษ์)
๖. นายพล เดชะคุปต์ ถึงแก่กรรมแล้ว
บ้านบิดาอันเป็นที่เกิด อยู่เหนือวัดศรีสุดาราม คลองบางกอกน้อย แขวงจังหวัดธนบุรี เมื่อยังเยาว์เริ่มศึกษาอักขรสมัยที่สำนักวัดยี่ส่าย บิดานำถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร แล้วส่งเข้าเป็นนักเรียนที่โรงเรียนสราญรมย์ ศึกษาในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อยู่ระยะหนึ่ง ถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ยังไม่ได้รับกรม ทรงจัดการศึกษา บิดาจึงนำนายพรไปถวายฝากให้ทรงฝึกหัดตั้งแต่ยังไม่ได้โกนจุก สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงทราบว่าเคยเล่าเรียนมาบ้างแล้ว จึงโปรดให้ส่งเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ อันเป็นโรงเรียนเพิ่งตั้งขึ้นสำหรับสอนวิชาชั้นสูงในสมัยนั้น แต่บิดาขอลาเอาไปโกนจุกและให้บวชเป็นสามเณรตามประเพณีบ้านเมือง อยู่ณวัดมหาธาตุพรรษา ๑ แล้วจึงส่งกลับมาเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ครูในโรงเรียนพากันสรรเสริญว่าฉลาดมาแต่แรก เรียนอยู่สัก ๓ ปี ก็สามารถสอบไล่ได้วิชาบริบูรณ์ทั้งประโยค ๑ และประโยค ๒ ของโรงเรียนนั้น ได้รับรางวัลชั้นสูงหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อเข้าไปรับพระราชทานรางวัลต่อพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสถามว่า "นายพรนี้เป็นลูกใคร" สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กราบบังคมทูลให้ทรงทราบนามบิดา พระยาโบราณฯ ถือกรณีครั้งนั้นเป็นศุภนิมิตรมาตลอดอายุ ด้วยเป็นวันแรกที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรู้จัก
ประวัติเมื่อรับราชการในกรุงเทพฯ
[แก้ไข]ในเวลาเมื่อพระยาโบราณฯ สำเร็จการศึกษานั้น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบกำลังเจริญ พวกผู้ดีพากันส่งลูกหลานเข้าเป็นนักเรียนมาก จนครูประจำโรงเรียนไม่พอจะสอน พระยาโอวาทวรกิจ (แก่น โอวาทสาร) อาจารย์ให้จึงชวนนักเรียนซึ่งสำเร็จการเรียนแล้วให้อยู่เป็นครูชั่วคราว พระยาโบราณฯ ยอมอยู่ช่วยพระยาโอวาท จึงได้เป็น "ครู" เป็นตำแหน่งแรกที่เข้ารับราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ แต่เป็นครูอยู่ไม่ช้า ด้วยเวลานั้นตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นแล้ว พอโรงเรียนหาครูได้พอการ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็โปรดให้ไปรับราชการในกรมศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ เวลานั้นอายุได้ ๑๙ ปี สมัยนั้นเป็นเวลาเริ่มแก้ไขวิธี การปกครองบ้านเมือง ตั้งกระทรวงขึ้นใหม่บ้าง เหล่ากระทรวงเก่าก็เปลี่ยนแปลงกระบวรการในกระทรวงเข้าหาระเบียบใหม่วิธีทำการละเอียดกว่าอย่างแต่ก่อน เพราะฉะนั้นต่างกระทรวงต่างก็หาคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้เข้ารับราชการเวลานั้น มีโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแห่งเดียวที่สอนวิชาหนังสือไทยชั้นสูง และมีการสอบวิชาให้ปรากฏความรู้ กระทรวงต่างๆ จึงอยากได้นักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ นักเรียนคนไหนได้ประกาศนียบัตรไปสมัครรับราชการกระทรวงใด เจ้ากระทรวงก็ยินดีรับเข้าตำแหน่งในทันที แต่นักเรียนที่สอบความรู้ได้ตลอดประโยค ๒ เช่นพระยาโบราณฯ ในเวลานั้นยังมีปีละน้อยคน เวลาแรกเข้าทำการก็มักได้เป็นตำแหน่งถึงชั้นเสมียนโท พอฝึกหัดทำการงานในหน้าที่แล้วก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นเสมียนเอกแทบทุกคน ต่อไปถ้าทำการงานดี ก็มักได้เลื่อนที่รวดเร็ว ข้อนี้พึงเห็นอุทาหรณ์ได้ในประวัติของพระยาโบราณฯ ที่กล่าวต่อไปนี้
- พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นเสมียนโทในกรมศึกษาธิการ
- พ.ศ. ๒๔๓๔ เลื่อนเป็นเสมียนเอกแล้วเป็นสารวัตรตรวจโรงเรียนหลวงในกระทรวงธรรมการ
- พ.ศ. ๒๔๓๕ ย้ายไปรับราชการกระทรวงพระคลัง ด้วยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์เมื่อทรงบัญชาการกระทรวงพระคลังตรัสขอไปเป็นตำแหน่งรองเลขานุการสำหรับพระองค์ ครั้งนั้นเรียกว่า เสมียนเอกเวรวิเศษ และในระหว่างนั้นโปรดให้เป็นอาจารย์ถวายอักษรหม่อมเจ้าในกรม คือหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี ชายาในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กับหม่อมเจ้าสุรางค์ศรีโสภางค์ ในพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์อีกองค์หนึ่ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ พระราชทานเงินเดือนพิเศษเดือนละ ๒๐ บาท แต่ในปีนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ย้ายจากกระทรวงธรรมการไปทรงบัญชาการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเมื่อกรมพระนราธิปฯ ทรงเวนคืนตำแหน่งในกระทรวงพระคลัง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ตรัสชวนให้ไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย
- พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้เป็นเสมียนเอก มีหน้าที่เป็นครูฝึกหัดนักเรียนซึ่งจะส่งไปรับราชการตามหัวเมือง
- พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้เป็นรองนายเวรกรมพลังภังในกระทรวงมหาดไทย เวลารับราชการอยู่ในตำแหน่งนี้ พระยาโบราณฯ ได้เริ่มเรียบเรียงแบบโทรเลข (ลับ) ขึ้นใช้ในราชการ พิมพ์สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ คือ "แบบโทรเลขมหาดไทย ฉะบับพันพุฒอนุราช (พร) เรียบเรียง" ยังใช้ในราชการลับของกระทรวงมหาดไทยอยู่จนทุกวันนี้
- พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รับประทวนเป็นที่ขุนวิเศษรักษา เลื่อนตำแหน่งเป็นนายเวรกรมพลัมภัง
- พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับพระรานทานสัญญาบัตรเป็นที่พันพุฒอนุราช ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้ากรมพลัมภัง
ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่จัดใหม่ในสมัยนั้น กรมพลัมภังเป็นเจ้าหน้าที่แผนกการปกครองท้องที่ในหัวเมือง พระยาโบราณฯ มีตำแหน่งอยู่ในกรมพลัมภัง ๒ ปีเศษ ได้เริ่มศึกษาวิธีการปกครองหัวเมืองในตอนนี้
รับราชการหัวเมือง
[แก้ไข]- พ.ศ. ๒๔๓๙ ในสมัยนั้นเพิ่มแรกตั้งมณฑล ๆ อยุธยายังขาดข้าหลวงในมหาดไทย กรมขุนมรุพงศศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล ตรัสขอพันพุฒอนุราช (คือพระยาโบราณฯ) เป็นข้าหลวงมหาดไทย เจ้ากระทรวงนำความขึ้นกราบบังคมทูล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นที่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร ไปเป็นตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอยุธยาเมื่ออายุได้ ๒๕ ปี
- พ.ศ. ๒๔๔๐ พระยาชัยวิชิต (นาก ณ ป้อมเพ็ชร) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา (ตรงกับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด) เวนคืนตำแหน่งยังไม่มีตัวผู้จะเป็นแทน สมุหเทศาภิบาลขอให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศรข้าหลวงมหาดไทยรักษาราชการชั่วคราว แต่เมื่อทำการมาไม่ช้าก็ปรากฏความสามารถว่าอาจจะเป็นผู้รักษากรุงได้
- พ.ศ. ๒๔๔๑ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระอนุรักษ์ภูเบศและเป็นตำแหน่งผู้รักษากรุงศรีอยุธยา เมื่ออายุ ๒๗ ปี
- พ.ศ. ๒๔๔๔ รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาโบราณบุรานุรักษ์ ปลัดเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา (สมัยนั้นยังเรียกว่า "มณฑลกรุงเก่า") ด้วย
- พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กรมขุนมรุพงศศิริพัฒน์ ซึ่งเป็นสมุหเทศภิบาลมณฑลอยุธยามาแต่แรกตั้ง เสด็จย้ายไปทรงบัญชาการแก้ไขความยากลำบากซึ่งเกิดขึ้นในมณฑลปราจิณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณฯ เป็นผู้รับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ด้วยทรงคุ้นเคยทราบคุณวุฒิของพระยาโบราณฯ แล้ว ถึงกระนั้นก็โปรดให้เป็นผู้รั้งอยู่ถึง ๓ ปี
- พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา มีลำดับยศชั้นที่ ๑ ตรี (ตรงกับมหาอำมาตย์ตรี ในรัชกาลที่ ๖) เต็มตำแหน่ง เมื่ออายุได้ ๓๕ ปี
- พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริตั้งคณะเสือป่า พระยาโบราณฯ ก็เข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่แรกมาจนตลอดรัชกาลที่ ๖ ได้เคยเป็นตั้งแต่พลเสือป่าและต่อมาได้เลื่อนยศขึ้นโดยลำดับจนถึงเป็นนายกองใหญ่ ได้มีตำแหน่งในคณะเสือป่าตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองจนเป็นผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนอยุธยา เป็นราชองครักษ์และได้รับพระราชทานเหรียญมหาสารทูลมาลาด้วย
- พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเพิ่มเกียรติยศเปลี่ยนราชทินนามเป็น พระยาโบราณราชธานินทร์ สยามินทรภักดี พิริพาหะ ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ต่อมาอีกปี ๑ ได้เลื่อนยศเป็นมหาอำมาตย์โท
- พ.ศ. ๒๔๕๙ ตั้งระเบียบรวมหลายมณฑลเป็นภาค มีอุปราชบัญชาการเหนือสมุหเทศาภิบาลมณฑลอื่นในภาคนั้น พระยาโบราณฯ ได้เป็นอุปราชภาคอยุธยา มาจนเลิกระเบียบภาคในรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ก็คงเป็นสมุหเทศาภิบาลมลฑลอยุธยาอย่างเดิมต่อมา
- พ.ศ. ๒๔๗๒ พระยาโบราณฯ อายุได้ ๕๘ ปี ถึงเขตต์ออกรับเบี้ยบำนาญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาโบราณฯ ออกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล และพระราชทานเบี้ยบำนาญมาจนตลอดอายุ
ประมวลเวลาที่พระยาโบราณราชธานินทร์รับราชการ ตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ๗ ปี ขึ้นไปรับราชการอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแต่อายุ ๒๕ ปี จนอายุได้ ๕๘ ปี เป็นเวลารับราชการอยู่หัวเมือง ๓๓ ปี รวมได้รับราชการประจำถึง ๔๐ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่เดือนละ ๑๖ บาท ถึงเดือนละ ๑๗๕๐ บาท เป็นที่สุด แต่เมื่อออกรับเบี้ยบำนาญแล้ว ก็ยังคงรับราชการเป็นตำแหน่งอุปนายกแผนกโบราณคดีในราชบัณฑิตยสภามาจนประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๗๖
ประวัติของพระยาโบราณฯ เมื่อรับราชการหัวเมืองแปลกกับเพื่อนข้าราชการในสมัยเดียวกันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่รับราชการอยู่ในมณฑลเดียว หรือถ้าว่าให้ชัดยิ่งกว่านั้น ประจำอยู่แต่ในจังหวัดเดียว ตั้งแต่เป็นตำแหน่งชั้นต่ำจนถึงเป็นอุปราช อันเป็นชั้นสูงสุดในข้าราชการหัวเมือง หาเคยย้ายถิ่นที่รับราชการเหมือนคนอื่นไม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระยาโบราณฯ ทรงคุณวุฒิเฉพาะเหมาะแก่มณฑลอยุธยาไม่มีใครเหมือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ รัชกาลจึงไม่โปรดให้ย้ายไปรับราชการที่อื่น คุณวุฒิของพระยาโบราณฯ เป็น ๒ อย่างประกอบกัน คือความสามารถในการปกครองบ้านเมืองอย่าง ๑ ความรอบรู้โบราณคดีมณฑลอยุธยาอย่าง ๑ ความสามารถในการปกครองบ้านเมืองนั้น พระยาโบราณฯ ได้ขึ้นไปรับราชการตั้งแต่สมัยเมื่อแรกตั้งมณฑล รู้การที่กรมขุนมรุพงศศิริพัฒน์ทรงจัด และได้ช่วยทำการนั้นๆ มาแต่แรกจนชำนิชำนาญ ครั้นกรมขุนมรุพงศฯ เสด็จย้ายไปมณฑลอื่น พระยาโบราณฯ สามารถรักษาการต่างๆ ที่กรมขุนมรุพงศฯ ได้ทรงจัด เช่นวิธีปราบโจรผู้ร้ายเป็นต้น ไว้ได้ดังแต่ก่อนหมดทุกอย่าง นอกจากนั้นได้คิดอ่านจัดการให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองต่อมาด้วยสติปัญญาสามารถของตนเองอีกก็มาก จะพรรณาถึงรายการ (แม้เพียงในเวลาที่ผู้แต่งหนังสือนี้ได้มีหน้าที่ในการปกครองมาด้วยกันกับพระยาโบราณฯ จน พ.ศ. ๒๔๕๘) ก็จะยืดยาวนัก และเป็นการจัดตามหัวเมืองเหมือนกันทุกมณฑลโดยมาก เพราะฉะนั้นจะกล่าวแต่โดยย่อ ว่ามณฑลอื่นได้ทำอย่างไร พระยาโบราณฯ ก็ทำได้อย่างนั้น บางเรื่องก็ดีกว่ามณฑลอื่น จะยกพอเป็นอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง แรกตั้งพระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหารใน พ.ศ. ๒๔๔๘ คนพากันหลบหนีเข้าบวชเป็นอันมาก ถึงกระทรวงมหาดไทยเรียกเทศาฯ มณฑลที่ใช้พระราชบัญญัตินั้น เข้าไปปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไร เทศาฯ บางคนเห็นว่าการหลบหนีบวชก็เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ ควรจับเอาตัวมาฟ้องศาลเอาโทษตามกฎหมาย แต่พระยาโบราณฯ เสนอความเห็นว่าคนกำลังตื่น ถ้าจับกุมก็จะยิ่งตื่นกันหนักขึ้น ถ้าเห็นว่าวัดคุ้มไม่ได้ก็คงพากันหนีเข้าป่า เมื่อหมดสะเบียงอาหารก็จะเที่ยวปล้นสดมภ์เลี้ยงชีพ จะเลยต้องปราบโจรผู้ร้ายด้วยอีกอย่างหนึ่ง เห็นว่าปล่อยให้บวชอยู่ในวัดดีกว่า เหมือนกับฝากพระให้คุมไว้ เมื่อคนเหล่านั้นรู้ความตามพระราชบัญญัติ เห็นว่าที่ต้องเป็นทหารชั่วคราวไม่เป็นการเดือดร้อนเหลือเกิน ก็คง สึกออกมาเอง ที่จะทนอดเข้าเย็นเห็นจะมีน้อย กระทรวงมหาดไทยอนุมัติตามความเห็นของพระยาโบราณฯ การเกณฑ์ทหารครั้งนั้นก็สำเร็จได้ จึงนับถือกันว่าพระยาโบราณฯ อยู่ในเทศาฯ ที่มีสติปัญญาคนหนึ่ง ถึงกระนั้นความสามารถของพระยาโบราณฯ ในการปกครองบ้านเมืองก็ยังมีเทศาฯ มณฑลอื่นพอเปรียบได้ แต่ความสามารถด้วยรอบรู้โบราณคดีของมณฑลอยุธยา ข้อนี้ไม่มีผู้อื่นเปรียบได้ทีเดียว
พระยาโบราณฯ เป็นผู้รักรู้โบราณคดีโดยอุปนิสัย ชอบอ่านหนังสือพระราชพงศาวดารตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน พอขึ้นไปรับราชการอยู่ณพระนครศรีอยุธยาก็ตั้งต้นเที่ยวดูโบราณวงัตถุสถานต่างๆ ที่กล่าวถึงในหนังสือพระราชพงศาวดาร แห่งใดไม่ปรากฏก็พยายามค้นหา สุดแต่จะมีเวลาว่างเมื่อใดก็วานชาวบ้านพาบุกป่าฝ่าหนามเที่ยวค้นหาโบราณวัตถุสถานมาตั้งแต่ยังเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร จนเป็นพระยาโบราณฯ ก็มีความรอบรู้ด้วยได้พบโบราณวัตถุสถานในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งผู้อื่นยังไม่เคยเห็นเป็นอันมาก เมื่อความนั้นทราบถึงเจ้านายและผู้อื่นที่ชอบรู้โบราณคดีก็พากันไต่ถาม หรือให้พระยาโบราณฯ พาไปเที่ยวดูเนืองๆ จนความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดโบราณคดีมาก และเอาพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องโบราณคดีกรุงศรีอยุธยามาช้านาน ก็โปรดทรงซักไซ้ไต่ถามพระยาโบราณฯ เวลาเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน ก็โปรดให้พระยาโบราณฯ ถากถางนำทางเสด็จไปทอด พระเนตรโบราณสถานต่างๆ ทั้งที่ในกระนครและตามหัวเมืองในมณฑลอยุธยาเนืองๆ เป็นเหตุที่ทรงพระเมตตากรุณาพระยาโบราณฯ ยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา
การต่างๆ ที่พระยาโบราณฯ ได้ทำให้เกิดประโยชน์แก่ความรู้โบราณคดีมีหลายอย่าง จะเห็นได้ในคำอธิบายแผนที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งพิมพ์ต่อไปข้างหน้าโดยมาก แต่มีบางอย่างพระยาโบราณฯ มิได้กล่าวถึง และบางอย่างซึ่งเป็นการสำคัญกว่าที่พระยาโบราณฯ กล่าว จะเอามาพรรณนาให้ปรากฏต่อไปนี้ ตั้งแต่พระยาโบราณฯ มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้โบราณคดีมาก แม้จะยินดีก็เห็นจะรู้สึกรับผิดชอบที่จะต้องมิให้เสียชื่อเสียงในทางนั้น หรือจะเป็นด้วยความรักวิชาพาไปก็อาจเป็นได้เหมือนกัน พระยาโบราณฯ พยายามหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอเป็นนิจ ทั้งด้วยค้นหาหนังสืออ่านและเที่ยวดูตามท้องที่ บรรดาหนังสือซึ่งมีความเนื่องถึงพระนครศรีอยุธยา จะเป็นพงศาวดารก็ดี จดหมายเหตุก็ดี กฎหมายก็ดี ดูเหมือนพระยาโบราณฯ จะได้อ่านหมดไม่มีเว้น และจำความไว้ได้ด้วย จะยกอุทาหรณ์ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จลงเรือพระที่นั่ง พายในสระบางปะอินจะไปเที่ยวประพาส ตรัสเรียกพระยาโบราณฯ ให้ตามเสด็จ นั่งไปที่กระทงเรือหลังที่ประทับ พอเรือพายผ่านพระที่นั่งไอสวรรย์ทิพอาสนปราสาทที่อยู่กลางสระ ตรัสถามพระยาโบราณฯ ว่า "ปราสาทครั้งเกรุงเก่ายอดประดับกระจกหรือไม่" พระยาโบราณฯ กราบทูลสนองทันทีว่า "ประดับ" ตรัสย้อนถามว่า "ทำไมเจ้าจึงรู้ว่าประดับกระจก" พระยาโบราณฯ กราบทูลสนองว่า "ในหนังสือพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองว่า ครั้งหนึ่งพระนารายณ์ราชกุมารเล่นอยู่บนเกยปราสาท อสนีบาตลงต้องยอดปราสาทจนกระจกตกปลิวลงมาต้องพระองค์ พระนารายณ์ก็หาเป็นอันตรายด้วยสายฟ้าไม่" สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่า "เออจริงแล้ว" บรรดาผู้ที่ตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่งพากันชมความทรงจำของพระยาโบราณฯ กับทั้งที่คิดขึ้นได้ว่องไวด้วย เมื่อพระยาโบราณฯ อ่านเรื่องกรุงศรีอยุธยาที่มีในหนังสือไทยหมดแล้วยังไม่พอใจอุตส่าห์พยายามเรียนภาษาอังกฤษต่อไปในเวลาเมื่อเป็นเทศาฯ อยู่แล้วจนรู้ภาษาอังกฤษ อาจอ่านหนังสือเรื่องพระนครศรีอยุธยาซึ่งฝรั่งแต่งไว้แต่โบราณได้ และเลยพูดภาษาอังกฤษพอนำแขกเมืองบรรดาศักดิ์สูงเที่ยวดูพระนครศรีอยุธยาได้เอง แต่ข้อที่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษนั้น พระยาโบราณฯ มิใคร่บอกให้ใครทราบ เห็นจะเป็นด้วยเกรงผู้ที่ได้เรียนรู้มากกว่าจะหัวเราะเยาะเพราะพระยาโบราณฯ ปรารถนาจะเรียนแต่พออ่านหนังสือเรื่องกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น
การที่พระยาโบราณฯ เรียนเรื่องกรุงศรีอยุธยาด้วยเที่ยวตรวจตามท้องที่นั้น เห็นจะกล่าวได้โดยย่อว่า "เที่ยวดูทั่วทุกหัวระแหง" ยกอุทาหรณ์ดังเช่นอยากรู้หนทางที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพไปเมื่อคราวชนช้าง ในหนังสือพงศาวดารมีแต่ว่าเสด็จไปประชุมทัพที่ตำบลป่าโมกข์ พระยาโบราณฯ เที่ยวตรวจหาหนทางตั้งแต่ป่าโมกข์ไป จนได้ความว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวรเดินเลียบลำน้ำ "สามโก้" ไปเมืองสุพรรณ ทางอื่น ๆ เช่นทางป่าเมืองลพบุรี และเขาพระพุทธบาทก็ได้เคยไปแทบทั่วทุกตำบล เลยเป็นประโยชน์กว้างขวางนอกจากได้ความรู้โบราณคดี เพราะการที่เที่ยวตรวจท้องที่นั้นพระยาโบราณฯ ได้เห็นภูมิลำเนากับทั้งกิจการของพวกพลเมืองและที่สุดได้คุ้นกับราษฎรที่อยู่ในปกครองยิ่งกว่าผู้รักษากรุงแต่ก่อนมาทุกคนหมด ข้อนี้ก็เป็นมูลเหตุสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดให้ย้ายพระยาโบราณฯ จากมณฑลอยุธยา
เนื่องจากการที่เที่ยวตรวจตามท้องที่มากนั้น พระยาโบราณฯ ได้ทำให้เกิดประโยชน์เป็นแก่นสารสืบมาอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อไปพบโบราณวัตถุอันสมควรจะรักษาทอดทิ้งอยู่ที่ใด ก็สั่งให้เก็บเอามารักษาไว้ที่ในวังจันทรเกษม จำเนียรกาลนานมาได้ของโบราณมากขึ้น จนสามารถจัดเป็น "อยุธยาพิพิธภัณฑ์สถาน" ปรากฏอยู่จนบัดนี้ แม้มีพิพิธภัณฑ์สถานในกรุงเทพฯ แล้วก็ดี แต่ (เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๗) ยังจัดเหมือนกับเป็นคลังเก็บของคนจะไปดูก็ยาก อยุธยาพิพิธภัณฑ์สถานพระยาโบราณฯ จัดขึ้นเป็นอย่างพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่จึงเป็นที่คนชอบไปดู สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็โปรดเสด็จไปทอดพระเนตร เมื่อเสด็จไปยุโรปครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๕๑ เสด็จถึงเมืองฮอมเบิด ในประเทศเยอรมนี มีพระราชโทรเลขมาถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ฯ เมื่อยังเป็นกรมหลวงและเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ว่า
"มิวเซียมที่นี่เหมือนมิวเซียมกรุงเก่า ออกคิดถึงพระยาโบราณฯ ฉันจะแต่งหนังสือเรื่องมิวเซียมนี้"
พระยาโบราณฯ ได้เห็นสำเนาพระราชโทรเลขก็ยินดีเหมือนกับได้รับพระราชทานบำเหน็จที่จัดพิพิธภัณฑ์สถานนั้น แม้ชาวต่างประเทศทั้งที่เป็นแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์สูงและพวกที่ท่องเที่ยวมาถึงกรุงเทพฯ ถ้าใครมีเวลาพอก็ขึ้นไปดูพระราชวังกรุงศรีอยุธยาที่พระยาโบราณฯ ขุดตกแต่ง และอยุธยาพิพิธภัณฑ์ที่พระยาโบราณฯ จัด เพราะฉะนั้นพระยาโบราณฯ จึงได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ต่างประเทศหลายอย่าง คือ ตราเดนะโบรคชั้นที่ ๒ ของประเทศเดนมาร์ค ๑ ตรานกอินทรีแดง ชั้น ๒ ของประเทศปรุสเซีย ๑ ตรามงกุฎอิตาลี ชั้น ๒ ของประเทศอิตาลี ๑ และตราเฮนรีธีไลออน ชั้นที่ ๑ ของประเทศบรันสวิก ๑
เพราะเหตุที่มีความรอบรู้และได้ประกอบการให้เกิดประโยชน์แก่โบราณคดีดังกล่าวมา พระยาโบราณฯ ได้รับพระราชทานเกียรติศักดิ์อันเป็นเครื่องหมายคุณวิเศษในทางนั้นหลายอย่าง คือ
- พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร เป็นอนุสรณ์สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจำนวนปีแต่พระบรมราชสมภพครบสตพรรษ ทรงตั้งกรรมการสำหรับอำนวยการหอพระสมุดฯ นั้น โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นสภานายก และโปรดให้กรมพระสมมตอมรพันธุ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระยาประชากิจกรจักษ์ (แช่ม บุนนาค ซึ่งแต่งหนังสือตำนานโยนก) กับพระยาโบราณฯ เป็นกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดสำหรับพระนคร มาแต่แรก
- พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโบราณคดีสโมสร ทรงรับเป็นสภานายกเอง โปรดฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นอุปนายก และทรงตั้งพระยาโบราณฯ เป็นเลขานุการ พระราชทานพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้วให้ใช้สำหรับสโมสร
- พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้น ทรงรับเป็นสภานายกเอง และโปรดฯ ให้สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นอุปนายก[1] ให้กรรมสัมปาทิกหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง พระยาโบราณฯ จึงเป็นกรรมการด้วยคน ๑ และโปรดฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรรูปพระคเณศขึ้นสำหรับสโมสรนั้น
- พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งราชบัณฑิตย์ โปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์เป็นอุปนายก แผนกศิลปากร กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เป็นอุปนายกแผนกวรรณคดี และโปรดฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์เป็นอุปนายกแผนกโบราณคดี
เกียรติศักดิ์ตามที่ว่ามาเป็นฝ่ายข้างสูง พระยาโบราณฯ ยังได้เป็นตำแหน่งเกียรติศักดิ์ถึงชั้นราษฎร์อาจเป็นได้ก็มี เช่นรับเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งในตำบลหอรัตนไชยตามราษฎรเลือก และได้ทำการตามหน้าที่ เช่น ไปนั่งประชุมทำการกับกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลนั้นทั้งเป็นเทศาอยู่ด้วย เรื่องนี้พระยาโบราณฯ ประพฤติตามเยี่ยงอย่างกรมขุนมรุพงศ์ฯ และเทศาฯ มณฑลอื่น เพื่อจะบำรุงความนิยมของราษฎรในแบบการปกครองที่จัดใหม่ ต่อมาเมื่อตั้งพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ มีพระสงฆ์บางวัดเลือกพระยาโบราณฯ เป็นตำแหน่งมัครนายกตามพระราชบัญญัติ พระยาโบราณฯ ก็รับ เป็นมัครนายกวัดสุวรรณดาราราม วัดมณฑป และวัดพุทไธสวรรย์ รวมถึง ๓ วัดด้วยกัน จะเลยกล่าวบรรยายถึงการต่างๆ ที่พระยาโบราณฯ ได้ทำให้เกิดประโยชน์แก่พระศาสนาต่อไป เมื่อทำราชการเป็นหลักแหล่งแล้ว พวกญาติก็สมมตให้เป็นหัวหน้าในสกุลเดชะคุปต์ พระยาโบราณฯ บริจาคทรัพย์ปฏิสังขรณ์วัดยี่ส่าย และวัดศรีสุดาราม ในคลองบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี อันเป็นที่ทำบุญของสกุลแต่เดิมมาทั้ง ๒ วัดตามกำลังสามารถจะทำได้ ส่วนที่พระนครศรีอยุธยานั้นตั้งแต่พระยาโบราณฯ ยังเป็นตำแหน่งปลัดเทศาภิบาล ได้เสนอความเห็นเรื่องวัดที่พระนครศรีอยุธยาว่าได้ให้ตรวจนับวัดร้างมีจำนวนถึง ๕๔๓ วัด เป็นเนื้อที่ดิน ๒๑๓๘ ไร่ ในที่วัดร้างทั้งปวงนั้นมักมีคนเข้าไปทำไร่และป่าฟืนเก็บผลประโยชน์ด้วยไม่มีกรรมสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งไม่ต้องเสียเงินอากร เพราะรัฐบาลงดเว้นไม่เก็บในที่วัดมาแต่ก่อน บางแห่งก็ถึงเข้าไปปลูกเรือนชานอยู่ในที่วัดร้างด้วยไม่มีผู้ใดห้ามปราม นอกจากนั้นยังมีพวกที่ไปเที่ยวรื้อเจดียสถานที่ หักพังเอาอิฐไปใช้เป็นอาณาประโยชน์อีกพวกหนึ่ง พระยาโบราณฯ เห็นว่ารัฐบาลควรจะจัดการรักษาวัดร้าง และวิธีที่จัดนั้นเห็นว่า
๑) ควรเรียกค่าเช่าที่จากผู้ที่เข้าไปทำไร่และปลูกป่าฟืน หรือปลูกเรือนอยู่ในวัดร้างบ้างตามสมควร คนเหล่านั้นคงยอมเสียด้วยไม่รังเกียจ เพราะการเสียค่าเช่าต่อรัฐบาลนั้นทำให้เกิดสิทธิปกครอง ไม่มีผู้อื่นแย่ง
๒) การรื้อเอาอิฐวัดร้างไปใช้นั้นควรห้ามขาดทีเดียว
๓) เงินค่าเช่าที่ได้มาควรรวมไว้เป็นเงินพระราชกุศลแผนกหนึ่งต่างหาก สำหรับใช้ปฏิสังขรณ์หรือรักษาเจดียสถานของโบราณซึ่งสมควรจะรักษา
๔) ควรรวมเงินหลวงอีกประเภทหนึ่งซึ่งเรียกเงินกัลปนา (คือ เงินอากรเก็บจากที่ดินบางแห่ง) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงอุทิศพระราชทานไว้สำหรับรักษาวัดเอามารวมเข้ากับเงินพระราชกุศลนั้น
๕) เงินค่าเช่าที่จอดเรือแพตามหน้าวัด ซึ่งเวยยาวัจกรเก็บตามอำเภอใจ และมิใคร่ได้เป็นประโยชน์แก่วัดนั้น รัฐบาลก็ควรเข้าควบคุมการที่เก็บ ถ้าเป็นวัดมีพระสงฆ์อยู่ก็จ่ายแก่วัดนั้น ถ้าเป็นวัดร้างก็เอามาบวกเป็นเงินพระราชกุศล เป็นทุนสำหรับจัดการรักษาวัดโบราณ
เมื่อเทศาฯ บอกเข้ามาให้กราบบังคมทูล ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงชมเชยว่า ตามที่พระยาโบราณฯ คิดอ่านจัดการเช่นนี้ เป็นความคิดดีมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตามความคิดของพระยาโบราณฯ แม้ในมณฑลอื่นๆ ด้วย พอประจวบเวลาพระยาโบราณฯ เป็นเทศาฯ ก็ลงมือปฏิสังขรณ์วัดเก่าต่อมา แต่จำนวนเงินมีน้อยจึงเลือกทำแต่วัดที่สำคัญอันเห็นพอจะรักษาไว้ได้ คือ วัดพุทไธสวรรย์ วัดพระเจ้าแพนงเชิง วัดหน้าพระเมรุ วัดมณฑป วัดศรีอโยธยา วัดเสนาศนาราม และวัดสุวรรณดาราราม เหล่านี้เป็นวัดสำคัญ วิธีของพระยาโบราณฯ มักขอให้พระเป็นผู้ทำจ่ายเงินพระราชกุศลให้แต่พอเริ่มการ แล้วให้พระคิดบอกบุญเรี่ยรายต่อไป
สถานสาธารณประโยชน์ที่เกิดขึ้นณกรุงศรีอยุธยาด้วยความขวนขวายของพระยาโบราณฯ เมื่อเป็นเทศาฯ ก็หลายอย่าง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระยาโบราณฯ เป็นหัวหน้าชักชวนคนทั้งหลายให้สร้างสิ่งอนุสสรณ์สนองพระเดชพระคุณพระนครศรีอยุธยา เรี่ยรายได้เงินราว ๗๐,๐๐๐ บาท สร้างโรงพยาบาลขนานนามว่า "ปัญจมาธิราชอุทิศ" เป็นโรงพยาบาลแรกมีณพระนครศรีอยุธยา ยังมีเงินเหลืออยู่บ้าง พระยาโบราณฯ คิดจะสร้างโอสถศาลาถาวรขึ้นที่สระบุรีอีกแห่งหนึ่ง จึงชักชวนชาวสระบุรี และที่อื่นจนได้เงินกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท เอาไปสร้างโอสถศาลาที่เมืองสระบุรี เรียกอย่างเดียวกันว่า "โอสถศาลาปัญจมาธิราชอุทิศ" เป็นประโยชน์ช่วยชีวิตมนุษย์อยู่จนทุกวันนี้ทั้ง ๒ แห่ง
ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อพระยาโบราณฯ ยังเป็นที่หลวงอนุรักษ์ภูเบศรแต่งงานสมรสกับนางสาวจำเริญ ธิดาหลวงเทเพนทร ในกรุงเทพฯ อยู่ร่วมสุขทุกข์ช่วยสามีตั้งตัวมาจนได้เป็น "คุณหญิง" รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า เป็นเกียรติยศและได้รักษาพยาบาลสามีมาจนที่สุด มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน คือ
๑. นายพืชน์ เดชะคุปต์ ผู้ช่วยข้าหลวงตรวจการกรมมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย
๒. นางเทพอักษร (พันธ์ อินทุสุต)
๓. นางพูน อารยะกุล
๔.นางสาวเพ็ญ เดชะคุปต์
๕. นางสาวพัฒน์ เดชะคุปต์
ตั้งแต่พระยาโบราณฯ ออกจากราชการหัวเมืองแล้วลงมาสร้างบ้านเรือนอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ตรอกน้อมจิตร ถนนนเรศร อำเภอบางรัก ยังอุตส่าห์ทำราชการในราชบัณฑิตยสภาไม่ลาออก แต่เมื่อลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ สบายเป็นปกติอยู่ไม่ช้านานเท่าใด พอถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็เริ่มมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะ ดูคล้ายกับเป็นอำมะพาธอย่างอ่อนๆ มีเวลาสบายพอไปไหนได้บ้าง อ่อนเพลียต้องอยู่แต่กับที่บ้าง อย่างว่า "สามวันดีสี่วันไข้" อาการค่อยทรุดลงโดยลำดับจนถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้พระราชทานโกศประกอบลอง ๘ เหลี่ยมเป็นเกียรติยศเสมอชั้นเจ้าพระยา เมื่อถึงอนิจกรรมอายุได้ ๖๔ ปี
สิ้นเรื่องประวัติพระยาโบราณราชธานินทร์เพียงนี้.
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ เวลานั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นนายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร