ผู้ใช้:นคเรศ/ทางอิสระ
หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือคู่มือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ หลักวิธีการปฏิบัติแบบสติปัฏฐานสี่และอานาปานสติกรรมฐาน ทั้งในรูปแบบหลักปริยัติ และรูปแบบปฏิบัติ ซึ่งข้าพเจ้าจะบูรณะการให้เข้ากันเพื่อความเข้าใจง่าย จะว่าไปแล้วก็คือหนังสือ เรื่อง วิปัสสนาคืออะไร? ที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้เล่มแรก โดยมีคุณ ปาริชาต ชลธวัช เป็นเจ้าภาพ อันนี้ก็ขออนุโมทนาในบุญ และที่ลืมไม่ได้คือเจ้าของเครื่องโน๊ดบุ๊คที่นำมาถวายให้ทำงานคือคุณสอยฤทัย วงศ์วัฒนา ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณอยู่เสมอ ตอนนั้นไม่มีเวลาเขียน เล่มแรก ใช้เวลาเขียนเพียง ๑๕ วันเท่านั้น ซึ่งข้าพเจ้าได้อ่านแล้วคิดว่า ยังไม่สมบูรณ์ ยังต้องปรับปรุงแก้ไขอีกมาก บัดนี้ข้าพเจ้าได้พักการเรียนไว้ มาอยู่ที่วัดป่าเงียบๆคนเดียว เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาระยะหนึ่ง ความพร้อมทั้งกายและจิตพร้อมแล้วก็คิดว่าถึงเวลาที่จะปรับปรุงแก้ไขปรับปรุงหนังสือที่เขียนไว้เล่มแรกเสียที เพราะตอนกลางวันจะนั่งสมาธิ หรือปฏิบัติก็เป็นกังวลเนื่องจากมีญาติโยมมาหามิได้ขาด จึงคิดว่าใช้เวลากลางวันนี่แหละเขียนหนังสือ กลางคืนก็ปฏิบัติ เพราะตอนกลางคืนไม่มีไครกล้ามาหา เพราะชาวบ้านกลัวกัน ที่ข้าพเจ้าพักอยู่เป็นป่าช้าเขาตราบ บ้านเขาหลัก หมู่ ๗ ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ที่ข้าพเจ้าเลือกที่จะพักอยู่ที่นี่เพราะชาวบ้านใจดีมากๆ อยู่กันแบบวิถีชาวบ้านแท้ๆ มีน้ำใจ สามัคคีปรองดองกัน และเอาใจใส่การเป็นอยู่ของพระเป็นอย่างดี อากาศก็ดี ทิวทัศน์ก็งดงามล้อมรอบด้วยภูเขา เป็นความสวยงามตามธรรมชาติทั้งคนและสถานที่ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเป็นที่เหมาะที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะปฏิบัติด้วยเขียนด้วย เวลาเขียนก็เป็นการทบทวนหลักปริยัติ และทบทวนการปฏิบัติของตนเองในแต่ละวัน ก็จะเข้าหลักการที่ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพราะทั้งสามอย่างนี้ต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกลมกลืนกันจึงจะเกิดมรรคผล หากมีแต่ปริยัติไม่ปฏิบัติก็ไร้ผล แต่จะปฏิบัติโดยไม่อาศัยการเรียนรู้อาศัยครูแนะนำขาดหลักปริยัติ ก็เหมือนการเดินทางแบบไร้แผนที่ อาจหลงทิศหลงทางเสียเวลาเปล่าประโยชน์ ปฏิเวธจะมีได้เพราะอาศัยการปฏิบัติ การปฏิบัติจะถูกต้องเป็นไปก็ต้องอาศัยปริยัติ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงวางสามอย่างไว้ตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง นั่นคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประกายแสงส่องทางแก่ท่านผู้สนใจปฏิบัติไม่มากก็น้อย
- ด้วยความเคารพต่อพระธรรม
- พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ แก้วมณี ป.เปรียญ
เจตนารมณ์
[แก้ไข]พระพุทธศาสนา เน้นการปฏิบัติตามคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนไว้เพื่อจุดมุ่งหมายอันเดียวเท่านั้นคือ การพัฒนาตนเองด้วยตนเองตามหลักคำสอนของพระองค์เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางคือความพ้นทุกข์ ชนิดแบบถอนรากถอนโคน หรือเรียกว่าสิ้นอาสวะกิเลส กล่าวคือพระนิพพานนั่นเอง ธรรมะแม้จะมากถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ก็จริง แต่เมื่อรวมลงแล้วก็คือการไม่ประมาทในชีวิตด้วยการปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์นั่นเอง ดังที่พระองค์เคยรูดใบไม้มาไว้นำมือที่ป่าไม้สีเสียดแล้วถามภิกษุทั้งหลายในที่นั้นว่า ใบไม้ในมือของพระองค์กับอยู่ในป่าอันไหนมากกว่ากัน แน่ล่ะภิกษุก็ต้องตอบว่าในป่ามากกว่า แล้วพระองค์ก็ตรัสบอกว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีมากมายไร้ขอบเขตเหมือนใบไม้ในป่า แต่สิ่งที่พระองค์จะทรงสอนนั้นมีเพียงหยิบมือเดียว หยิบมือเดียวนั้นอะไร? นั่นคือสอน เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ วิธีการดับทุกข์ แค่นี้เอง จะว่าไปแล้วโครงสร้างใหญ่ๆคำสอนของพระองค์ทั้งหมดก็คืออริยะสัจนั่นเอง นั่นคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าจึงมีเจตนามุ่งเขียนในเรื่องการดับทุกข์ คือเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน หลักเทคนิควิธีการวิปัสสนากรรมฐาน โดยจะใช้ภาษาง่ายๆแบบเล่มแรกที่เขียน และจะใช้โครงเรื่องและเนื้อหาเดิม แต่จะเพิ่มเนื้อหาและปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์และกระชับเนื้อหาไม่ให้ยาวเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่หากเห็นหนังสือเล่มหนาๆ ก็จะไม่อยากอ่าน และเพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนท้ายเล่ม ก็จะพิมพ์พระสูตรลงไปด้วย เพื่อผู้อ่านจะได้สอบทานกับคำสอนโดยตรงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยจิตเจตนามุ่งหวังเผยแผ่ธรรมเป็นทานนี้ บุญไดจะเกิดจากเล่มนี้ข้าพเจ้าขอแบ่งบุญต่อผู้สนใจการปฏิบัติทุกท่าน และผู้ได้อ่านทุกท่าน จงกระทำให้ถึงซึ่งที่สุดแห่งทุกข์คือพระนิพพานทุกท่านทุกคนด้วยเทอญ
- ด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
- พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ ป. เปรียญ
-
- น้อมระลึกพระครูภาวนาปัญญาภรณ์(บุญส่ง โกวิโท)
- (พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา วัดเนินพระเนา อ.เมือง จ. หนองคาย)
- น้อมระลึกพระครูภาวนาปัญญาภรณ์(บุญส่ง โกวิโท)
กระผมขอน้อมระลึกถึงคุณอันยิ่งใหญ่ของพระครูภาวนาปัญญาภรณ์ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา วัดเนินพระเนา จ. หนองคาย ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นเหมือนผู้ฉุดดึงข้าพเจ้าจากขุมนรก ดึงจากนิสัยที่อาศัยทิฐิมานะอันหยาบเลวทรามไปด้วยอัตตาตัวตน เข้าสู่ทางแห่งพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง(มรรค ๘) แม้ว่าโดยส่วนตัวท่านจะไม่รู้จักมักคุ้นกับข้าพเจ้าก็ตาม แต่ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยลากพาสังขารอันเต็มไปด้วยความทุกข์ ที่อัดแน่นด้วยความปวดร้าว น้ำตาที่ไหลลงข้างในหัวใจ อันเป็นเหมือนน้ำกรดที่หยาดหยดรดลงตรงหัวใจ ซึ่งมีแต่ความร้าวลึกปวดร้าว ชีวิตที่ผ่านมามีแต่ความล้มเหลว พลาดแล้วพลาดเล่า เจ็บแล้วเจ็บอีก แม้แต่อยากจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา หนีความทุกข์ เดินทางสู่วัดเนินพระเนา ๆ ซึ่งเป็นเหมือนความหวังเดียวที่เหลืออยู่ ความหวังว่าจะฝ่าฟันความมืดมนแห่งชีวิตด้วยอานุภาพแห่งรสพระธรรมฝ่ายปฏิบัติ ข้าพเจ้ามาถึงวัดเนินพระเนา ก็นับเป็นความเมตตาของพระอาจารย์ใหญ่ที่ให้พระจัดเสนาสนะอันสงัดและสัปปายะให้แก่ข้าพเจ้า และให้พระอาจารย์มาสอนหลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่ข้าพเจ้าเมื่อเข้าใจดี ข้าพเจ้าก็ได้ขึ้นกรรมฐาน (เก็บอารมณ์) ๑ เดือนเต็มที่ข้าพเจ้า ไม่ได้พูดคุยกับใครเลย นอนวันละ ๔ ชั่วโมง นอกนั้นก็เป็นการปฏิบัติ หลายครั้งที่ท้อแท้อยากเลิก เพราะรู้สึกว่าหนักเหลือเกิน หลายครั้งที่ต้องนั่งน้ำตาไหลกับความผิดพลาดในอดีต หลายครั้งที่รำพึงรำพันร่ำไรอยู่ ว่า จะมีใครที่ทุกข์อย่างฉัน ใครบ้างจะเข้าใจฉัน ทุกๆย่างก้าวของชีวิต ทุกๆนาทีที่ผ่านพ้นมันช่างเนิ่นนาน และเจ็บปวดนัก ยิ่งทุกข์ยิ่งสร้างความเพียร จนครึ่งเดือนผ่านพ้น ข้าพเจ้าก็เข้าใจขันธ์ ๕ รู้ทันรูป-นาม ความทุกข์ที่ค้างข้องในใจไม่รู้เหือดหายไปไหน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ข้าพเจ้าได้รู้จักความสุขชนิดนี้ เป็นความสุขที่ในชีวิตไม่เคยพบพาน เพราะเป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส เป็นความโปร่งโล่งอิสระ เบาตัวเบาใจ จนทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจในการปฏิบัติ ว่าทางนี้แหละเป็นทางสิ้นทุกข์ที่พระองค์ทรงชี้ไว้ จนในที่สุดข้าพเจ้าก็เข้าใจชีวิต ว่าชีวิตคืออะไร เป็นอย่างไร เราควรให้เป็นไปอย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร เมื่อข้าพเจ้ามั่นใจว่าตนเองรู้หลักการปฏิบัติที่ไม่ผิดทางแล้ว ข้าพเจ้าก็ออกจากกรรมฐานมา ในวันที่ออกข้าพเจ้าตั้งใจไว้ว่า ชีวิตที่เหลือข้าพเจ้าจะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย หรือความลำบากไดๆ เพราะข้าพเจ้าเข้าใจในทุกข์ของตนในอดีต ผู้อื่นก็ทุกข์ เราผ่านทุกข์มาอย่างไร ก็ต้องการให้ผู้อื่นผ่านได้อย่างนั้นเช่นกัน
ดังนั้นหลวงพ่อพระครูภาวนาปัญญาภรณ์จึงเป็นเหมือนผู้ให้ชีวิตใหม่แก่ข้าพเจ้า และเป็นเหมือนผู้ประทานแสงสว่างในยามที่ชีวิตของข้าพเจ้ามืดมน เป็นกัลลยาณมิตรในยามที่ข้าพเจ้ารู้สึกโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่งพา ไม่มีแม้แต่ญาติมิตรเพื่อนสนิทที่ปลอบใจ ท่านเป็นเหมือนแหล่งน้ำ ยามหิวกระหาย เป็นเหมือนผู้ฉุดดึงมือขึ้นจากบ่อในขณะจะจมลงสู่ก้นบ่อ ข้าพเจ้าจึงขอน้อมระลึกอยู่ทุกขณะจิต บุญกุศลอันไดที่เกิดจากหนังสือเล่มนี้ หรือเกิดจากการให้ธรรมเป็นทาน ขออานุภาพแห่งบุญนี้ส่งให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ของชาวพุทธผู้ขาดแคลนธรรมต่อไปด้วยเทอญ
- ด้วยความเคารพอย่างสูง
- พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ ป.เปรียญ
น้อมระลึกคุณหลวงปู่ดาบแก้ว จกฺกวโร (วัดเกาะแก้ววีรธรรม บ.หนองอ่าง ต.กำแพง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด) หลวงปู่แก้ว หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงตาดาบ หรือหลวงปู่ดาบ หากจะกล่าวว่าพระที่เคร่งต่อพระธรรมวินัย และมีความเพียรในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ในชีวิตข้าพเจ้าไม่เคยเห็นท่านเป็น ๒ รองใคร และข้าพเจ้าก็เคยได้ยินพระอาจารย์ใหญ่วัดเนินพเนาได้พูดถึงท่านว่า ท่านเป็นพระที่มีความเพียรมากที่สุดท่านหนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ท่าน หลวงปู่แก้วท่านเป็นข้าราชการตำรวจมาก่อน เป็นหัวหน้าสถานีมียศเป็นนายดาบ หลังจากที่ท่านลาออกราชการท่านก็มาบวช ท่านก็รักในการปฏิบัติ ท่านอยู่ในห้องเก็บอารมณ์ที่วัดเนินเพนาเป็นเวลา ๗ ปี เมื่อท่านออกจากวัดเนินพระเนาแล้วท่านก็ปฏิบัติเองของท่านเองนับรวมเวลาการปฏิบัติ เป็นเวลา ๒๖ ปี ท่านเข้านิโรธ ๗ วัน วันที่ ๘ ออกรับอาหาร จำนวนที่เข้านิโรธ ๒๔ ครั้ง
ท่านนับเป็นบูรพาจารย์ของข้าพเจ้า เป็นอาจารย์รูปแรกในด้านวิปัสสนากรรมฐานแก่ข้าพเจ้า และเป็นผู้แนะนำฝากข้าพเจ้าไปวัดเนินพระเนา จ.หนองคาย ช่วงที่อยู่กับท่าน สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นนั่นคือความเพียรที่ไม่ลดละ ปัจจุบันท่านอายุ ๘๖ ปีแล้วแต่ท่านก็ตื่นมาสวดมนต์และนั่งสมาธิตั้งแต่เวลา 02.00 -05.00 ทุกวัน และแม้ท่านจะอายุมากแล้ว แต่ความจำกับแม่นยำ จำดีกว่าข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนหนุ่มอีก ท่านเป็นพระที่ตรงไปตรงมา และเป็นพระนักปฏิบัติที่หายากรูปหนึ่งในสังคมปัจจุบัน
ดังนั้นท่านจึงเป็นเหมือนบิดาคนที่ ๒ ของข้าพเจ้า คือผู้ให้เกิดความเป็นคนใหม่ เป็นผู้ชี้ทางในขณะที่ข้าพเจ้าหลงทาง บุญไดที่เกิดจากการให้ธรรมเป็นทานนี้ ขอให้หลวงปู่อยู่กับลูกหลานอีกนาน และมีสุขภาพแข็งแรงตลอดกาลนานเทอญ
- ด้วยความเคารพต่อบูรพาจารย์
- พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ
- น้อมระลึกพระครูสุวัฒน์วีรธรรม
- (รองเจ้าคณะอำเภอเกษตรวิสัย วัดบ้านไทรทอง ต.กำแพง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด)
- น้อมระลึกพระครูสุวัฒน์วีรธรรม
หลวงพ่อพระครูสุวัฒน์ ท่านเป็นพระอีกรูปหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงไม่ได้ ท่านเป็นพระที่พูดน้อยแต่ทำมาก ท่านทำงานเพื่อพระพุทธศาสนามาตั้งแต่หนุ่มโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ท่านเป็นผู้บุกเบิกลานธรรมแห่งสวนป่าพุทธธรรมบ้านไทรทอง นำพาชาวพุทธปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า และท่านเองก็เป็นศิษย์วัดเนินพระเนา คือเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพระครูภานาปัญญาภรณ์ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา จ.หนองคาย ท่านได้นำการปฏิบัติแบบสติปัฏฐาน ๔ มาสู่ภาคประชาชน เป็นพระที่มีสีลาจารวัตรที่งดงาม หากจะกล่าวว่า จะหาพระที่ประพฤติเรียบร้อยทั้งกาย วาจา และประกอบพร้อมด้วยจิตเมตตาแล้วล่ะก็ ท่านนับเป็นอีกรูปหนึ่ง ท่านได้ฝึกการสอน หรือเทศน์ด้านวิปัสสนากรรมฐานแบบปฏิบัติการให้แก่ข้าพเจ้า คือท่านไม่ได้สอนด้วยวาจา แต่ท่านให้ทำงานเลย เอางานเป็นครู เอางานเป็นห้องเรียน ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจและการปฏิบัติมากขึ้น ตลอดจนถึงเชี่ยวชาญขึ้นมาบ้าง
ด้านการปกครองในเขตความรับผิดชอบของท่าน ท่านก็เป็นพระที่ปกครองแบบพ่อปกครองลูกแม้จะต้องว่าด้วยกฏระเบียบที่ต้องทำตาม แต่ท่านก็แผ่เมตตาคุณถึงทุกรูป ไม่เลือกที่รักที่ชังทุกคนก็จะเสมอเท่าทัดเทียมกัน หลังจากที่ท่านกลับจากไปเก็บอารมณ์กรรมฐานที่วัดเนินพเนา ท่านก็มาริเริ่มงานอบรมธรรมที่ส่วนป่าพุทธธรรมบ้านไทรทอง เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธุ์ พ.ศ ๒๕๒๗ บัดนี้นับรวมเวลาจนถึงปีนี้ก็ ๒๐ ปี พอดี ข้าพเจ้าจึงเอาท่านเป็นเยี่ยงอย่าง หวังอยู่ว่าจะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขของคนเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นสำภารธรรมนำต้นให้ถึงซึ่งนิพพานในปัจจุบันชาติ หรือไม่สามารถก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลในภพต่อไป
- ด้วยความเคารพยิ่งต่ออุปัชฌาย์อาจารย์
- พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ
- คุณกถาถึงจิตอาสายุวพุทธิกสมาคม
-
- (ลูกศษของคุณแม่ ดร.สิริ กิรินชัย สายหลวงพ่อโชดก)
เมื่อประมาณปี พ.ศ ๒๕๔๓-๒๕๔๕ ข้าพเจ้าสอนบาลีที่สำนักเรียนวัดตึกคชหิรัญฯ ต.อมฤต อ.ผักไห่ จ. อยุธยา ที่นั่นในแต่ละปี จะมีการปฏิบัติธรรม ปีละ ๒ ครั้ง ซึ่งเป็นของยุวพุทธิกสมาคมมาจัด ตอนนั้นข้าพเจ้าเองไม่ได้สนใจด้านวิปัสสนากรรมฐานเพราะหลงยึดอยู่กับเรื่องความขลัง ศักดิ์สิทธิ์อยู่ แต่เกรงใจเจ้าอาวาส จึงได้เข้าร่วมปฏิบัติ ปรากฏว่าข้าพเจ้าแม้จะยังไม่เข้าใจนัก แต่ก็มีความชื่นชมกับบรรดาจิตอาสา ที่ทำงานกันด้วยใจ เอาใจใส่ต่อผู้มาปฏิบัติเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าเองจำได้ว่ามีโยมผู้ชายที่เป็นจิตอาสาชื่อ นิวัต นี่แหละคอยแนะนำท่าเดิน ท่านั่ง ท่าลุก ท่ายืน แก่ข้าพเจ้า และคอยบอกการกำหนด หนอกับข้าพเจ้า และสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นเป็นคุณอันยิ่งใหญ่อันหนึ่ง นั่นคือการอธิบายเรื่อง ญาณ ๑๖ จากเทปของหลวงพ่อโชดก เนื่องจากโยมท่านยังไม่ชำนาญเลยอธิบายสั้นๆพอได้ใจความแก่ข้าพเจ้า แต่กลับเป็นผลดีมหาศาลต่อข้าพเจ้านัก เพราะทำให้ข้าพเจ้าจำได้ไม่ลืม จนหลายปีผ่านพ้นเมื่อข้าพเจ้าไปปฏิบัติที่วัดเนินพระเนาแบบเก็บอารมณ์ อยู่คนเดียวเวลาติดขัดขึ้นมา หรือสงสัย ความจำในเรื่องญาณ ๑๖ นี้กลับแจ่มใส และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งต่อข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าอยู่คนเดียวได้โดยไม่กังวล ดังนั้นข้าพเจ้าจึงนึกถึงคุณอันยิ่งใหญ่นี้ไม่เคยลืม และขออนุโมทนาแก่บรรดาจิตอาสาของยุวพุทธิกสมาคมทุกท่านในการที่ท่านได้ทำงานด้านเผยแผ่ สิ่งที่ท่านทำไว้นับเป็นคุณูปการต่อพระศาสนาอย่างมากมาย ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมอันพระอรหันต์ทั้งหลายได้เห็นแล้วด้วยเทอญ
- ด้วยจิตที่ระลึกถึงเสมอ
- พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ
อนุโมทนากถา
[แก้ไข]ธุระ คือหน้าที่ ที่พุทธบริษัทผู้ตังอยู่ในธรรม ควรเอาใจใส่ประพฤติปฏิบัติ มี ๒ ประการคือ คันถะธุระ ธุระฝ่ายคัมภีร์ ได้แกเล่าเรียน เขียนอ่าน พระไตรปิฎก แล้วนำมากล่าวสอน บอกทรงจำไว้ วิปัสสนาธุระ ธุระฝ่ายวิปัสสนา ซึ่งต้องพิจารณาผู้เห็นในไตรลักษณ์ ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาญาณ จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือบรรลุมรรคผลและนิพพาน ในฝ่ายคันถะธุระนั้น ปรากฏมีคัมภีร์และตำราอยู่เป็นอันมาก ที่จะให้ผู้สนใจใฝ่รู้ ได้ศึกษา นำไปปฏิบัติ จนเห็นผลของธรรมนั้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผู้รู้ที่รู้แล้ว ปฏิบัติตาม ได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่ธรรม ทั้งส่วนที่เป็นทิฏฐะธรรม และสัมปรายิกธรรม แต่ปรากฏว่าในฝ่ายวิปัสสนาธุระ แม้จะมีตำรามากมาย ทั้งที่แปลโดยตรงจากพระไตรปิฎก ทั้งที่มีสำนักปฏิบัติต่างๆได้จัดพิมพ์ตามความรู้ความเข้าใจของอาจารย์ของตน หรือของตัวผู้ปฏิบัติเอง จะเห็นแจ้ง เขียนเรื่องเดียวกัน แต่มีเนื้อหาเหมือนกันบ้าง ต่างออกไปบ้าง ทำให้ผู้ได้มาศึกษาตำรานั้น มีความเห็นต่างกันไป ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความไขว้เขว ลังเลอยู่มิใช่น้อย
หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียน พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ เปรียญธรรม ๕ ประโยค ได้รวบรวมเรียบเรียงจากพระบาลี คือพระไตรปิฎก และความรู้ความเข้าใจที่ท่านได้ศึกษาปฏิบัติ จากสำนักต่างๆด้วยตนเอง โดยกล่าวเรื่องสำคัญๆไว้ เช่น ขันธ์ ๕ การเจริญอานาปานสติ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น โดยไม่ทิ้งตำรา นำเอาพระบาลีเป็นหลัก แล้วอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ตรงจุด เพื่อให้พระโยคีหรือพระโยคาวจรทั้งหลาย ผู้เริ่มทำความเพียร มุ่งสู่วิปัสสนาธุระ สามารถนำไปศึกษาและปฏิบัติ ได้โดยไม่ลำบาก เหมือนรับประทานอาหารที่พ่อครัวได้ปรุงไว้ดีแล้ว
ในการนี้ ขออนุโมทนาแก่ท่านเจ้าภาพ พร้อมทั้งคณะ ที่ได้มีความเคารพนับถือในท่าน พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ ป. และเกิดกุศลจิต กุศลศรัทธา ในอันที่จะเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยได้จัดพิมพ์หนังสือ วิปัสสนากรรมฐานเล่มนี้ เพื่อแจกจ่ายเป็นธรรมบรรณาการ แก่ท่านสาธุชนผู้สนใจทั้งหลาย
ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และกุศลบุญราศรี ทั้งท่านเจ้าภาพและคณะได้ตั้งใจบำเพ็ญให้เป็นไปแล้วนี้ ขอจงได้เป็นพรชัยอำนวยให้ท่านทั้งหลายและสัมพันธชน จงเจริญด้วย สิริสวัสดิ์ พิพัฒนะมงคล สมบูรณ์พูลผล อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธรรมสาร คุณสารสมบัติ มีความเจริญรุ่งเรืองในการประพฤติ ปฏิบัติพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดกาลเป็นนิตย์เทอญ
- พระมหาวิรัตน์ อภิรตโน
- ป.ธ ๘ ศศ.บ อาจารย์สอนปริยัติธรรม แผนกบาลี ป.ธ ๖ สำนักเรียนวัดเทพลีลา บางกระปี กรุงเทพฯ
อนุโมทนากถา
[แก้ไข]ธุระในทางพระพุทธศาสนามีด้วยกัน๒อย่างคือ ๑. คันถธุระ ๒. วิปัสสนาธุระ คันถธุระหมายถึง การศึกษาเล่าเรียนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนวิปัสสนาธุระหมายถึงการปฏิบัติธรรม การเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นการแสดงธรรมหรือการเขียนหนังสือธรรมะ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคันถธุระที่ภิกษุและสามเณรควรจะมีนอกเหนือจากการศึกษาเล่าเรียนหลักธรรมคำสอนชึ่งในปัจจุบันนี้พุทธศาสนาของเราไม่ค่อยจะมีภิกษุมากนักที่เขียนหนังสือเผยแผ่หลักธรรมคำสอน พุทธศาสนาของเราจะตั้งอยู่ได้นานก็ต้องอาศัยบริษัททั้ง ๔ ช่วยกันทำนุบำรุงรักษา การเขียนหนังสือธรรมะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ควรจะมี เพราะสังคมปัจจุบันนี้การดำเนินชีวิตเต็มไปด้วยการดิ้นรนและแข่งขัน ทำให้ชีวิตของฆราวาสไม่ค่อยได้เข้าวัดมากนัก หนังสือธรรมะจึงได้มีบทบาทสำคัญกับสังคมปัจจุบัน
ดังนั้นการที่ พระมหาวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาซึ่งเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมถือว่าเป็นหนังสือที่มีความสำคัญในปัจจุบัน เพราะว่าการปฏิบัติธรรมหรือวิปัสสนาธุระถือว่าเป็นก้าวต่อไปของการศึกษาเล่าเรียน อาตมภาพจึงรู้สึกชื่นชมยินดีกับ พระมหาวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ ที่มีความวิริยะอุตสาหะและเอาใจใส่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
และขออนุโมทนาแก่ท่านเจ้าภาพทุกท่านที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เพราะเท่ากับท่านทั้งหลายได้เผยแผ่ด้วยตนเอง และได้ให้สิ่งที่เลิศ เพราะให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง หากมีคนอ่าน ๑๐๐ คน และไปสอนต่ออีก ๑,๐๐๐ คน ๆ สอนต่ออีก คนละ ๑๐ คนก็เป็น ๑๐,๐๐๐ คนต่อไปเรื่อยๆ ผลบุญยิ่งแผ่ไพศาล
สุดท้ายขอให้ท่านเจ้าภาพจงเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานในปัจจุบันชาติทุกคนเทอญ
- พระมหา อิสรานนท์ อตฺตาธิปติ
- ป.ธ ๙ น.บ, ร.บ
- อาจารย์สอนบาลี ป.ธ ๖ วัดเทพลีลา บางกระปิ กรุงเทพฯ
คำนำ
[แก้ไข]ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก สนใจด้านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และสำนักวิปัสสนาก็มีอย่างมากหลาย แต่ละสำนักก็มีวิธีการปฏิบัติและข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป แต่ถึงอย่างไร หากทุกสำนักวิปัสสนาที่ติดป้ายยี่ห้อว่าวิปัสสนายังคงอยู่ในโครงสร้างใหญ่คือ อริยะสัจจ์สี่ เดินตามหลักมรรคมีองค์ ๘ ด้วยวิธีการที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ตามความมุ่งหมายของการปฏิบัติวิปัสสนาที่แท้แล้วละก็ ไม่ว่าจะปฏิบัติที่ไหน? สำนักอะไร?ก็สามารถเข้าถึงวิธีการดับทุกข์ได้เหมือนกัน ดังพุทธดำรัสตรัสกับสาวกคนสุดท้ายในคราวจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า ถ้าสำนักได ลัทธิได อาจารย์ได ศาสนาได ไม่สอนด้วยทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการแล้ว ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ เหมือนรอยเท้านกในอากาศฉะนั้น (ที่ ๑ พระโสดาบัน ๒ พระสกิทาคามี ๓ พระอนาคามี ๔ พระอรหันต์) หากสำนักได ฯลฯ สอนด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วไซร้ ย่อมมีสมณะที่ ๑ -๔ เป็นแน่แท้
ปัญหาอยู่ที่ว่าคนจำนวนมาก จะปฏิบัติอย่างไร และเป้าหมายในการปฏิบัติเพื่ออะไร รวมความหลักๆก็คือว่า จริงแล้วๆวิปัสสนาคืออะไร? ให้ผลอย่างไร? จะได้อะไร? และจะปฏิบัติอย่างไร? สรูปคือ อะไร? เพื่ออะไร? ได้อะไร? ด้วยวิธีการอย่างไร?
ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าจึงจะเขียนถึงความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของวิปัสสนากรรมฐานสำหรับผู้สนในการปฏิบัติ โดยจะใช้ภาษาง่ายๆ ที่เรียกว่าภาษาชาวบ้าน แต่จะคงทั้งหลักเทคนิคและวิชาการ ที่สอดคล้องตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เป็นที่เข้าใจง่ายแก่ผู้สนใจปฏิบัติทุกๆท่าน ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ท่านผู้สนใจปฏิบัติ ด้วยความนอบน้อมต่อพระธรรม พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ ป.เปรียญ
ภาค ๑ วิปัสสนาคืออะไร
[แก้ไข]๑.วิปัสสนาคืออะไร?
[แก้ไข]ถ้าพูดถึงวิปัสสนาแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงมีความคิดหลายอย่าง หลายประการและอาจเกิดจินตนาการไปต่างๆนาๆตามความเข้าใจของแต่ละคน หรือตามที่ได้ยินได้ฟังมาผิดบ้าง ถูกบ้าง ตามแต่การได้รับถ่ายมา จะว่าไปแล้วประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่สมบูรณ์ด้วยวิชาการทางพระพุทธศาสนา และสำนักปฏิบัติก็มีมากมายแทบทุกจังหวัด พระที่มีความเข้าใจในเรื่องวิปัสสนากรรมฐานทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติก็มีมาก อีกทั้งอุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการและการปฏิบัติก็มีจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันมีการเผยแผ่แพร่หลายไปยังนาๆประเทศโดยเฉพาะโลกตะวันตก เดี๋ยวนี้ชาวฝรั่งประเทศที่มีความเจริญทางด้านวัตถุเทคโนโลยีจนถึงขีดสุด ต่างก็หันมาสนใจทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน จะว่าไปแล้วก็นับว่าเป็นยุคเจริญทางด้านวิปัสสนากรรมฐานเลยก็ว่าได้
แต่ทำไม?คนไทยเป็นจำนวนมากกับไม่รู้ว่าจริงๆแล้ววิปัสสนาคืออะไร? มีความสำคัญและจำเป็นมากแค่ไหนสำหรับชีวิต ทั้งๆที่เป็นชาวพุทธ จริงๆแล้ว วิปัสสนากรรมฐานถือว่าเป็นหัวใจหลักพระพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้ เพราะพุทธศาสนาสอนจุดมุ่งหมายสูงสุดอันเดียวนั่นคือความพ้นทุกข์ (พระนิพพาน) ซึ่งเป็นจุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น กล้ายืนยันว่าไม่มีในศาสนาอื่น เพราะการที่จะพ้นทุกข์ได้โดยเด็ดขาดสิ้นเชิงนั้นต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์ก็ตรัสไว้กับภิกษุทั้งหลายแล้วว่า “ธรรมที่เราแสดงไว้ดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ธรรมนี้อันใครๆจะรู้ได้ ด้วยการตรึก การนึก การคิด ด้วยด้วยตรรกะ (การหาเหตุ-ผล) การคิดด้วยปรัชญา การอ่าน หรือวิธีไดๆก็หาไม่ แต่ธรรมที่เราแสดงไว้ดีแล้วนี้ ย่อมรู้ได้ เห็นได้ ด้วยการปฏิบัติเท่านั้น”
และที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ที่มาในทีฆนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๗๓-๓๐๐ ว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นหนทางที่ไปอันเอก (เป็นที่ไปของบุคคลผู้เดียว) เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกและความร่ำไรเสีย เพื่ออัสดงดับไป แห่งเหล่าทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูก เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้คือสติปัฏฐาน (ธรรมเป็นที่ตั้งทั่วไปแห่งสติ) ๔” จากพระดำรัสตรงนี้ก็พอจะยืนยันได้ว่าทางพ้นทุกข์นั้นไม่มีวิธีอื่นนอกจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางที่พระองค์ทรงวางไว้ดีแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้นวิชา วิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นหลักหรือแก่นสำคัญของวิธีการที่มนุษย์จะฝึกหัด พัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ประเสริฐสุด และหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวลได้ด้วยวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น เอาละคราวนี้เรามารู้จกกันเสียที่ว่า วิปัสสนาคืออะไร?
วิปัสสนา มาจากคำว่า วิ+ปัสสนา วิ หมายถึง วิเศษ แจ้ง ต่าง ปัสสนา การเห็น รวมความว่า เห็นโดย วิเศษ เห็นโดยแจ้ง เห็นโดยต่าง(รวมความว่า เห็นชีวิต รูป นาม ตามความจริง)
เห็นโดยวิเศษคือ คือเห็นโดยปรมัตถ์คือพ้นจากสมมติสัจจะ เช่นเห็นกาย ก็เพียงร่างกายที่กายสังขารปรุงแต่งขึ้นจากธาตุทั้ง ๔ เท่านั้น ไม่ใช่เห็นเป็นนาย ก นาย ข คนรัก คนชัง คือความจริงตามสภาวะที่มันเป็น ดูกายให้เห็นกาย อย่างนี้เป็นต้น
เห็นแจ้ง คือเมื่อฝึกวิปัสสนากรรมฐานแล้วจะต้องเห็นโดยแจ้งในขัน ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมคือ กาย กับ จิต หรือที่เรียกกันว่า รูปและนาม สรูปก็คือชีวิตนั่นเอง คือเห็นแจ้งว่าชีวิตคืออะไร?
เห็นโดยต่าง คือ ต่างจากสามัญชนคนทั่วไปเห็นคือ เห็นว่าชีวิต คือ กายกับใจ มันเป็นเพียงแต่เป็นธรรมชาติปรุงแต่งขึ้น ไม่มีใครไปดลบันดาลหรือเกิดจากอำนาจใครๆเสกสรรปั้นแต่งขึ้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่มันเป็นเท่านั้น คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ (คือตั้งอยู่ไม่นาน) อนัตตา คือเป็นสภาพที่ใครๆเข้าไปบังคับบัญชาไม่ได้ เช่น เมื่อจะแก่ก็แก่ของมันตามธรรมชาติ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครห้ามได้ หรือเปลี่ยนแปลงได้ ดังนี้เป็นต้น รวมความว่าเห็นชีวิตว่าเป็นอย่างไร? แล้วถอนความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูได้ จึงเรียกว่าเห็นโดยต่าง
เพื่อความเข้าใจในเรื่องวิปัสสนา
[แก้ไข]วิปัสสนากรรมฐานถือว่าเป็นเป็นแก่นหลักพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวิชาที่ปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า อะไร?เป็นอะไร? จนถึงที่สุด ว่าไปแล้วก็คือวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาญาณในการที่จะรู้อริยสัจ ๔ หรือความจริงของชีวิตทุกแง่ทุกมุมจนชนิดมองเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ไม่มีอะไร ที่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสชอบพูดเสมอว่า ไม่ทีตัวกู ของกู และท้ายที่สุด ไม่มีอะไร ที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น หรือที่มาในพระบาลีว่า
สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย. สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จากตรงนี้พิจารณาให้ดีนะว่าวิปัสสนานั้นคือวิชาการเทคนิควิธีการที่จะทำให้เราเข้าถึงปัญญาที่เป็นปัญญาที่จะทำให้เราพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงนั่นเอง ก็พอสรูปว่าวิปัสสนาเป็นกระบวนการของปัญญาล้วนๆ ซึ่งข้าพเจ้ากล้ายืนยันว่าไม่มีพิธีรีตองไดๆ เพียงแต่เข้าใจเทคนิควิธีการ การปฏิบัติอย่างถูกต้องก็ลงมือปฏิบัติได้เลย ทุกเวลาทุกสถานที่ปฏิบัติได้ทั้งนั้น ซึ่งข้าพเจ้าจะได้อธิบายไว้ในบทที่ ๔ ความเข้าใจผิดในเรื่องวิปัสสนาของคนบางพวก
สำหรับคนบางกลุ่มบางพวกที่ที่เข้าใจวิปัสสนาในแง่ของอุดมคติหรือตามจินตนาการที่ได้เห็นได้ฟังแบบสืบๆกันมา แต่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง มีอะไรบ้าง?
๑. เห็นว่าวิปัสสนาเป็นของสูงเกินเอื้อมเกินกว่าคนทั่วไปจะนำมาปฏิบัติได้ ๒. เห็นว่าวิปัสสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นไปเพื่ออิทธิปาฏิหาริย์บันดาลโชค ๓. เห็นว่าวิปัสสนาเป็นของนักบวชสมณะชีพราหมณ์ที่อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรหรือผู้อยู่วัดเท่านั้น ๔. เห็นว่าวิปัสสนาเป็นการฝึกเพื่อได้คุณวิเศษ เช่นหูทิพย์ ตาทิพย์เป็นต้น ๕. เห็นว่าวิปัสสนาเป็นการทำบุญเพื่อให้ดลบันดาลตามใจปรารถนา ๖. เห็นว่าในสมัยปัจจุบันไม่มีมรรคผลนิพพานวิปัสสนาเป็นเพียงการสั่งสมบุญเพื่อนิพพานในอีกหลายแสนชาติ หรือในยุคพระศรีอาริย์เท่านั้น ๗. เห็นว่าวิปัสสนาเป็นเรื่องของความเชื่อเท่านั้น
ทั้ง ๗ ข้อนี้ข้าพเจ้านำมากล่าวพอสังเขป อันที่จริงยังมีคนที่มีความเห็นหลากหลายมากมายหลายประการอยู่ แต่จะนำมากล่าวนี้คือเท่าที่เห็นมากที่สุดและพบกับคนที่มีความเห็นเช่นนี้บ่อยทั้งพระทั้งโยมเลยก็ว่าได้ เอาล่ะเราดูว่าในแต่ละข้อนั้นมีรายระเอียดอย่างไร?
๑.เห็นว่าวิปัสสนาเป็นของสูงเกินเอื้อมเกินกว่าคนทั่วไปจะนำมาปฏิบัติได้ สำหรับข้อนี้นั้นมักพบกับคนเก่าคนแก่ที่ยังฝังอยู่กับความคิดแบบเก่าๆ จะปฏิบัติวิปัสสนาหรือนั่งสมาธิอะไรก็ตามแต่จะต้องมุ่งเน้นไปที่พิธีกรรมดูให้น่าเลื่อมใสศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ เวลานั่งแม้จะนั่งจนปวดขาเหน็บชาแค่ไหนก็ไม่กล้าที่จะขยับเพราะคิดว่าจะเป็นบาป จะต้องนั่งที่หน้าพระเท่านั้น นั่งที่อื่นไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้บุญ แม้ยุงจะกัดแมลงจะตอมก็ทน นับเป้นความลำบากแท้ แต่ก็ดีในแง่ของศรัทธาเพียงแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ข้าพเจ้าเคยพูดกับคนพวกนี้ว่า วิปัสสนาเป็นเรื่องของปัญญาปฏิบัติได้ทุกที่แม่แต่ในขณะทำธุระหนักเบาในห้องน้ำ กลับถูกด่าด้วยความโกรธว่าข้าพเจ้าต้องตกนรกแน่ เอาของสูงมาล้อเล่น นรกจะกินหัว วิปัสสนาเป็นของสูงที่เราจะต้องเคารพบูชา เขาไม่เข้าใจ ในสติปัฏฐานสี่หมวดสัมปชัญญะ พระพุทธเจ้าสอนภิกษุในทุกๆอิริยาบถ เช่น “ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะในการอุจจาระปัสสาวะ” เป็นต้นเพียงเท่านี้เราก็จะเห็นแล้วว่าวิปัสสนาไม่มีสถานที่ ที่ของวิปัสสนา คือ กาย เวทนา จิต ธรรม หรือรูป นาม เท่านั้น บางคนเพียงแค่จิตคิดลามกก็ไม่กล้านั่ง หากเขาเข้าใจเขาจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสคือตามดูอาการของจิต ดังในหมวดจิตตานุปัสสนาว่า สราคํ จิตฺตํ ปชานาติ จิตมีราคะ ก็ให้รู้ชัดว่า จิตมีราคะ คือไม่ว่าจิตจะคิดอะไรก็ให้รู้มันชัดๆคือเรียนรู้จักมัน ว่าจริงๆราคะคืออะไร เกิดเพราะอะไร ดับไปได้อย่างไร แต่พอเห็นเป็นของสูงชนิดต้องเทิดทูนอย่างเดียวก็นับว่าเสียโอกาสจริงๆ
๒.เห็นว่าวิปัสสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นไปเพื่ออิทธิปาฏิหาริย์บันดาลโชค สำหรับข้อนี้นั้นนับว่ามีจำนวนมากจริงๆ เพราะเมื่อก่อนแม้ตัวข้าพเจ้าเองก็เคยหลงเข้าใจอย่างนั้น เพราะอะไร คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจอย่างนั้น นั่นเพราะสังคมไทยเราแต่โบราณกาลมาเราอยู่กับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บันดาลโชค เราได้พบเห็นแบบอย่างจากบรรดาพระเกจิอาจารย์ขลัง ซึ่งคนก็มักจะพูดท่านเป็นพระวิปัสสนา ท่านนั่งวิปัสสนาปลุกเสกเครื่องรางของขลัง อย่างนี้เป็นต้น หรือได้หวยได้เบอร์จากพระที่ท่านนั่งวิปัสสนา อีกมากมายหลายอย่าง ปลุกเสกวัตถุมงคล อยู่ยงคงกระพัน หรือเมตตาค้าขาย ก็มักจะพูดว่าที่ทำขลังศักดิ์สิทธิ์เพราะท่านเป็นพระวิปัสสนากรรมฐานเลยมีคาถาดีจิตถึงเลยทำได้ขลัง บางวัดทางนครปฐมทำของขลังขุนแผนกุมารจนโด่งดังทั่วประเทศ เมื่อมรณภาพไป ลูกศิษย์ถึงกับออกแผ่นซีดีขึ้นหน้าปกหราว่า ตามรอยพระอริยะ ข้าพเจ้าเห็นแล้วถึงสะท้อนใจถึงกับความหลงผิดของคนที่ทำแผ่น นั่นคงจะทำเพื่อลาภสักการะเป็นแน่ พระอริยะนั้นท่านละสีลัพพตรปรามาสได้แล้ว จะมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์มาจากไหน ท่านมั่นคงในพระรตนะตรัยแล้ว จะสร้างขุนแผนกุมารมาทำไมกัน และอีกหลายๆที่หลายๆรูป ต้องแยกให้ออกพระขลังอาจารย์เวทมนต์กับพระวิปัสสนานั้นคนละพวกกัน และความเห็นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง
เมื่อสังคมส่วนใหญ่เราเห็นกันมาแบบนี้ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จะมองว่าวิปัสสนาเป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บันดาลโชคก็คงจะไม่แปลกอะไร เพราะพระผู้มีชื่อเสียงสร้างภาพความเข้าใจอย่างนั้น ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าพระเกจิไม่ดี ท่านก็เป็นพระที่ดีเหมือนกันอย่างน้อยก็เป็นที่พึ่งทางใจของคนเป็นจำนวนมาก หรือช่วยพัฒนาสังคม ดังจะเห็นว่าพระเกจิหลายรูปสร้างถนน สร้างโรงพยาบาล ถนน โรงเรียน ฯลฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่ในข้อนี้ข้าพเจ้าเพียงต้องการแยกแยะให้ออกว่าท่านเหล่านั่นไม่ได้เป็นนักวิปัสสนาหรือสอนในเรื่องของความพ้นทุกข์ตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาเท่านั้นเอง
๓.เห็นว่าวิปัสสนาเป็นของนักบวชสมณะชีพราหมณ์ที่อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรหรือผู้อยู่วัดเท่านั้น ในข้อนี้ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่เข้าใจว่า การปฏิบัติวิปัสสนานั้นจะต้องเป็นที่วัดเท่านั้น หรือตามวัดป่าอย่างเดียว หรือก็เป็นเรื่องของสมณะชีพราหมณ์ ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน แค่ทำบุญบริจาคก็พอ หรือบางคนนานๆที่หรือสึกฝืดเคืองก็หิ้วถังสังฆทานเข้าวัดหวังว่าจะไปแลกกับความสุขโชคลาภนาๆประการ ไม่เคยสนใจที่จะฝึก หัดพัฒนาตน ถ้าบอกว่าไปปฏิบัติวิปัสสนาไหมก็จะบอกทันทีว่า ให้ฉันแก่ก่อน หรือจะรีบส่ายหัวทันทีเลย หากเขารู้ว่าวิปัสสนาคือการศึกษาชีวิตเพื่อพัฒนาชีวิตเพื่อความสุขของชีวิต เขาคงจะไม่ลังเล รอจนแก่นะ จะแก่จริงหรือ ใครๆจะกำหนดได้ว่าจะตายตอนไหน และวิปัสสนาไม่ใช่เรื่องของใครแต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อความดับทุกข์ของตนด้วยตน เพราะทางสายนี้ไม่มีใครทำแทนกันได้
๔.เห็นว่าวิปัสสนาเป็นการฝึกเพื่อได้คุณวิเศษ เช่นหูทิพย์ ตาทิพย์เป็นต้น ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวชมาได้มีโอกาสไปหลายที่หลายแห่งทั้งเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก ไต้ ทั้งตามป่า ในเมือง ตั้งแต่วัดในท่ามกลางเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จนถึงกันดารสุด แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหนๆมักจะเจอทั้งพระทั้งโยมที่มาปฏิบัติวิปัสสนาและปฏิบัติอยู่ แต่ก็มีจำนวนมากที่ปฏิบัติเพื่อคุณวิเศษเหล่านี้ คืออยากมีตาทิพย์ หูทิพย์เพื่อได้เห็นเทพเทวดา เห็นหวยเห็นเบอร์ หรือ ทำนายทายทักได้อย่างอัศจรรย์ ไปอย่างนั้น น้อยมากที่จะเจอคนบอกว่า ผมมาปฏิบัติเพื่อให้แจ้งในขันธ์ ๕ เพื่อละอุปาทนในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ คือพระนิพพาน ส่วนใหญ่เพื่อคุณวิเศษทั้งนั้น ลืมเป้าหมายวิปัสสนาที่พระพุทธเจ้าเน้นย้ำในตอนต้นของวิปัสสนาว่า เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกและความร่ำไรเสีย เพื่ออัสดงค์ดับไป แห่งเหล่าทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูก เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง หากตระหนักถึงจุดมุ่งหมายอันนี้ล่ะก็จะมีวันหลงทางแน่นอน
๕.เห็นว่าวิปัสสนาเป็นการทำบุญเพื่อให้ดลบันดาลตามใจปรารถนา ในข้อนี้พบหลายแห่งหลายสำนัก เมื่อข้าพเจ้าได้ไปร่วมปฏิบัติ พระบางรูปโยมบางท่านมักจะคุยอวดให้ฟังด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบภูมิใจยิ้มแย้มอย่างเบิกบานว่า ผมมาปฏิบัติวิปัสสนาแล้วผมกลับไปผมถูกหวย หรือทำอะไรก็สำเร็จ ค้าขายดี ลูกหลานจากที่เคยไม่เคยสนใจ ก็มาเอาใจใส่ โชคลาภมีมาไม่ได้ขาด ผมกำลังจะทำการค้าใหญ่เลยต้องมาปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อดลบันดาลให้ทำการค้าสำเร็จ เฮ้อ..เป็นงั้นไป เขาไม่เขาใจหลักวิปัสสนาเลยว่าให้เห็นทุกอย่างเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง ที่ได้มันเป็นเรื่องของโลกธรรม ๘ คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เป็นเรื่องของอนิจจัง ไม่มีใครสมหวังหรือผิดหวังตลอด หากครั้งนี้เขาผิดหวังครั้งหน้าคงเข็ดวิปัสสนาเป็นแน่ นี่ก็เป็นการเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่ง
๖.เห็นว่าในสมัยปัจจุบันไม่มีมรรคผลนิพพานวิปัสสนาเป็นเพียงการสั่งสมบุญเพื่อนิพพานในอีกหลายแสนชาติ หรือในยุคพระศรีอาริย์เท่านั้น นี่ก็อีกพวกหนึ่งที่เชื่ออยากฝังใจว่ามรรคผลไม่มีในปัจจุบัน แม้จะมาปฏิบัติสมาธิภาวนา ก็ปรารถนาชาติหน้าเรื่อยไปหรือในยุคพระศรีอาริยะเมตตัยโน่น ถ้าบอกว่าเอาชาตินี้สิ ก็จะเถียงหัวชนฝาทันทีว่า หมดยุคพระอริยะแล้ว ไม่มีแล้ว โน่นต้องรอพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปโน่นถึงจะสำเร็จได้ เพราะคนเหล่านี้คิดว่าผู้สำเร็จมรรคผลนั้นต้องเป็นผู้วิเศษไม่ใช่คนธรรมดา เขาไม่รู้ว่าผู้ที่บรรลุมรรคผลท่านก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่ว่าท่านอุปาทานในขันธ์ ๕ หรือท่านหมดเยื่อใยในตัณหาได้เท่านั้น นอกนั้นท่านก็เหมือนเราเท่านั้น รอชาติหน้าไม่เอาชาตินี้ใครจะไปรู้ว่า ชาติหน้าจะเกิดเป็นอะไร จะได้พบพระพุทธศาสนาหรือไม่ จะได้ทำกรรมหนักอะไรหรือไม่ เพราะในภพน้อยภพใหญ่ไม่มีที่ไหนปลอดภัย หรือจะพ้นจากกฎไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปได้ ยังต้องเวียนว่ายไปตามกรรมอีกนาน มนุษย์นี่แหละ ขณะมีชีวิตอยู่นี่แหละเป็นโชคดีนาทีทองที่จะปฏิบัติให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสารอันน่ากลัวนี้
๗.เห็นว่าวิปัสสนาเป็นเรื่องของความเชื่อเท่านั้น ข้อสุดท้ายนี้ถือว่าหนักเอาการเลยก็ว่าได้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิเลยก็ว่าได้ เพราะมีคนบางกลุ่มถึงกับเห็นว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น นรก สวรรค์ นิพพาน จะมีมาแต่ที่ไหน คนเราเกิดมาชาติเดียว ตายก็จบกันไป อยากทำอะไรก็รีบทำ บาปไม่มี บุญไม่มี วันๆแสวงหาความสุขทางกามอย่างเดียว เสพรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ให้หนำใจ ทำชั่วได้สารพัด ขอให้เป็นประโยชน์แก่ตนเท่านั้นผิดชอบชั่วดีไม่สนใจขอให้ตนเองได้เป็นพอ หากความคิดเหล่านี้เกิดกับคนที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนาเลย หรือเป็นคนป่าที่ไร้อารยะธรรมก็จะไม่แปลกอะไร แต่นี่ความคิดเช่นนี้กับมีอยู่กับความคิดของคนที่เรียกตนเองว่าเป็นชาวพุทธ น่าตกใจที่สุดคือได้ยินพระที่บวช ๑๐ กว่าพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งที่ภาคอีสานเทศให้โยมฟัง ตายแล้วไม่ได้เกิดอีก บุญไม่มี บาปไม่มี จะนั่งสมาธิให้ลำบากไปทำไม พวกนั่งหลับหูหลับตาน่ะ เปล่าประโยชน์ ความคิดเช่นนี้เรียกว่าอุจเฉถทิฏฐิ เห็นว่าตายแล้วสูญ เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรง ตกนรกหนักพอๆกับอนันตริยกรรมเลยก็ว่าได้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นตอแห่งวัฏฏะเลยก็ว่าได้
สำหรับในเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในเรื่องวิปัสสนาก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้
ขันธ์ ๕ เบื้องต้นที่นักปฏิบัติต้องรู้
[แก้ไข]ถ้าพูดถึงขันธ์ ๕ นี้ถือว่าเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเหล่าสาวกมากที่สุด และเป็นหลักธรรมที่เป็นแก่นธรรมเพื่อพิจารณาโดยแยบคายเพื่อยังวิปัสสนาให้เจริญจนถึงการหลุดพ้นจากตันหาอุปาทานได้ จนถึงความพ้นทุกข์ จะว่าไปแล้วขันธ์ ๕ นี้และคือตัวทุกข์ ดังพระบาลีที่เราสวดทำวัตรเช้าเป็นประจำบางตอนว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ฯลฯ เอวัง พะหุลัง สาวะเก วิเนติ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมแนะนำสาวกทั้งหลาย เช่นนี้เป็นส่วนมากฯ ก็คือขันธ์ ๕ นี้แหละที่พระองค์สั่งสอนแนะนำพุทธบริษัทเป็นส่วนมาก เพื่อความเข้าใจในชีวิตแล้วคลายความยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ ขันธ์๕นี้มีอะไรบ้าง?
ขันธ์ ๕ นี้คือ รูป- เวทนา - สัญญา -สังขาร - วิญญาณ ๕อย่างนี้เป็นอย่างไร?
รูป คือร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ อย่างนี้มาประชุมกันเข้าหรือที่เรียกว่าสังขาร คือการปรุงแต่งขึ้น พิจารณาดังนี้แล้วเราก็จะเห็นเพียงแต่ธรรมชาติมารวมกันแล้วเราก็สมมติกันขึ้นว่า สัตว์ ว่าคน ว่า นาย ก นาย ข เอาละเพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้นจะแยกย่อยลงไปอีกว่า แต่ละธาตุนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างไร จึงเรียกว่าธาตุดิน-น้ำ-ไฟ-ลม
ธาตุดินคือ สิ่งที่เป็นกลุ่มก้อนหรือแข็ง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก ฯลฯ เป็นต้น
ธาตุน้ำคือ สิ่งที่เป็นของเหลว เช่น เสลด หนอง เลือด เหงื่อ เป็นต้น
ธาตุไฟ คือ ไฟในร่างกาย เช่น ความร้อน ความอุ่นในร่างกาย เป็นต้น รวมความว่า สภาพที่แผ่ความร้อนในร่างกาย
ธาตุลม คือ ลมหายใจเข้า-ออก ฯลฯ เป็นต้น
จะขอยกคำแปลจากบาลีที่เราสวดกันเป็นประจำที่เรียกว่าอาการ ๓๒ มาให้ท่านทั้งหลายดู เพื่อความเข้าใจว่าในกายนี้มีอะไรบ้าง
อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ในร่างกายนี้มี ผมทั้งหลาย, ขนทั้งหลาย, เล็บทั้งหลาย , ฟันทั้งหลาย, หนัง,เนื้อ, เอ็นทั้งหลาย, กระดูกทั้งหลาย,เยื่อในกระดูก,ไต,หัวใจ,ตับ,พังผืด,ม้าม,ปอด,ลำไส้,ลำไส้สุด,อาหารในกระเพาะ,อุจจาระ,น้ำดี,เสลด,หนอง,โลหิต,เหงื่อ,มัน,น้ำตา,น้ำเหลือง,น้ำลาย,น้ำเมือก,น้ำลื่นหล่อข้อ,น้ำมูตร,เยื่อมันสมองในกะโหลกศีรษะ ดังนี้ ฯ
เมื่อเราเห็นดังนี้แล้วเราจะเขาใจว่า เมื่อแยกย่อยลงไปก็หาตัวตนที่แท้จริงของมันไม่ได้เลยอย่างเช่น บ้าน ที่เราเรียกกันว่าบ้าน แต่เมื่อเรารื้อมันมาเป็นกองๆ จะเห็น แต่กองวัสดุเช่น ประตู หน้าต่าง เสา ขื่อ กระเบื้อง ตะปู ไม้ เหล็ก อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเราจะหาตัวตนว่าบ้านไม่มีเลย ร่างกาย หรือรูปธรรมนี้เหมือนกัน เมื่อแยกย่อยออกไปแล้วก็หาความเป็นตัวตนไม่ได้มันปรุงแต่งขึ้นตามเหตุตามปัจจัย จึงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (จะอธิบายในหัวข้อไตรลักษณ์)
เวทนา คือ ความรู้สึกที่เป็นสุข ๑ (ทั้งทางกายทางใจ) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ๑ (ทั้งทางกายทางใจ) ความรู้สึกที่เฉยๆ ๑ (ทั้งทางกายทางใจ) ซึ่งเกิดจากผัสสะทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย) และที่เกิดจากใจ ถ้ามองดูให้ดีๆเราก็จะเห็นว่าเวทนานี้มันก็เป็นธรรมชาติ ก็ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัยที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ไม่มีใครมาคอยดลบันดาลทั้งนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา
สัญญา คือความจำได้ จำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ (สิ่งที่ถูกต้องกับใจ) หากจะพิจารณาให้ชัดขึ้นสัญญาก็จำจากเวทนา คือเกิดความรู้สึกอย่างไดอย่างหนึ่งแล้วก็จะจำ เช่นเวลาเราเดินทาง ในทางผ่านนั้นเราใช่ว่าจะจำทุกอย่างแต่พอเกิดเวทนาขึ้นจะจดจำได้ดี เช่นแวะข้างทางเพราะเห็นป้ายร้านอาหารเมื่อรับประทานเอร็ดอร่อยเป็นที่ชอบใจเวลาผ่านไปเราก็จะยังจำร้านนี้ได้ดี เมื่อผ่านมาอีกก็จะนึกถึงทันที ดังนี้เราจะเห็นได้ว่า ตาทำหน้าที่ดูที่เห็นคือใจ เห็นรูป คือป้ายร้านอาหาร สัญญาจากการอ่านการเรียนคือจำได้ว่าอักษรอ่านอย่างไร ตาทำหน้าที่ดู ใจเห็นเมนูอาหาร จึงมีทั้งชอบไม่ชอบ สั่งตามความชอบ คือใจเห็นใจสั่ง กิน ลิ้นรับรส ใจรู้รส อร่อยถูกใจ เป็นสุข จำไว้ จะเห็นกระบวนการทำงานอย่างนี้ว่า ตา-รูป> ผัสสะ> เวนทา> สัญญา นี่ก็เป็นธรรมชาติอีก ดังนั้น สัญญา จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (จะอธิบายต่อในเรื่องของไตรลักษณ์)
สังขาร คือความคิด คิดดี คิดชั่ว คิดกลางๆไม่ดีไม่ชั่ว อดีต ปัจจุบัน อนาคต คิดอยากทำบุญทำทาน คิดมีหิริ คิดมีเหตุ-ผล ฯลฯ สารพัดจะคิด คิดจากอะไร? ปรุงจากอะไร? มาตรงนี้เราก็จะเห็นว่าความคิดก็มาจากเหตุและปัจจัยเหมือนกัน คือ คิดจาก เวทนา – สัญญา – วิตก(ความคิดแบบรวบยอด) มาปรุงกันขึ้น สัง-พร้อม ขาระ- มาจาก การะ แปลว่าการกระทำ สังขารคือการกระทำพร้อมกันคือปรุงจากสิ่งต่างๆขึ้น จึงเรียกว่า สังขาร เหมือนที่เราเรียกอาหารว่าลาบ ก็มาจากการปรุงเนื้อ ผัก เครื่องปรุง เช่น น้ำปลา ชูรส ข้าวขั้ว หัวหอม มะนาว พริกป่น เป็นต้น พอปรุงเข้ากันเราก็เรียกว่าลาบ แต่พอแยกออกไปถึงที่มาเราก็จะหาตัวลาบไม่เจอ สรูปสังขารคือ ความคิด เป็นธรรมชาติและก็เป็นไปโดยธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา
วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และอารมณ์ทางใจ ตา คู่กับ รูป เกิดผัสสะ เกิดวิญญาณ คือการรับรู้ ตัววิญญาณก็คือนามธรรม หรือใจ ที่ว่าตาดูแต่ใจเห็น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยู่ในห้องเปิดไฟอยู่เรายังมองเห็นประตูแต่พอดับไฟ มืดลงตามองไม่เห็นประตูแต่เรายังเดินไปถูกตรงที่มีประตู นั่นก็เพราะว่าใจมันเห็นคือจำได้ หรือชายหนุ่มตาเห็นสาวสวยที่ถูกใจ แม้ว่าสาวจะกลับบ้านไปจนตามองไม่เห็นแล้ว แต่ใจก็ยังเห็นใบหน้าของสาวคนนั้นอยู่ อย่างนี้เป็นต้น เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายก็เช่นกัน ดังนั้นเราก็จะเห็นว่าวิญญาณก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่มันเป็น วิญญาณจึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
รวมความว่าขันธ์๕ คือ รูป คือร่างกาย ส่วน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ อย่างนี้รวมเรียกว่าใจ ได้แก่ชีวิตทั้งทั้งชีวิตนั่นเอง มาถึงตรงนี้เราก็จะเข้าใจว่าชีวิตคือขันธ์ ๕ นั่นเอง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เมื่อเห็นขันธ์ ๕ อย่างชัดแจ้งอย่างนี้แล้ว คลายความยึดมั่นถือมั่นจากตัวกู ของกู ชื่อว่ายังโลกนี้ให้สว่าง เพราะไม่มืดบอดด้วยอวิชชาคือโมหะ หลงเข้าไปกอดยึดอย่างเหนียวแน่นว่าเป็นอัตตา ไตรลักษณ์คือความเป็นไปของขันธ์ทั้ง๕
เมื่อเรารู้อย่างชัดเจนแล้วว่าขัน ๕ คืออะไร? คราวนี้นี้เราจะมารู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร? เมื่อขันธ์ทั้ง ๕ เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ คือธรรมที่ตั้งอยู่ตลอดกาลไม่ว่าตถาคตเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นหรือไม่ มันก็จะดำรงอยู่อย่างนั้น เรียกว่าธรรมนิยาม แต่ธรรมคือ อนัตตา จะปรากฏชัดเจนเห็นด้วยปัญญานั้น ต้องอาศัยการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นคนทั้งหลายจึงเห็นแต่ อนิจจัง และ ทุกขังเท่านั้น จึงไม่เข้าใจว่าที่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เพราะอะไร? บางพวกก็เข้าใจว่าเกิดจากอำนาจของเทพเทวดา เช่น พระพรหมเป็นต้นให้เป็นไป จึงเกิดพิธีการต่างๆ ลัทธิบูชาต่างๆเพื่อเอาใจเทพเจ้า ที่พัฒนาการมาจนเป็นศาสนาพราหมณ์ และลัทธิอื่นๆ จนเมื่อพระพุทธเจ้าของเราตรัสรู้จึงพบเหตุว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน เอาล่ะต่อไปนี้เรามารู้จักไตรลักษณ์กันว่าเป็นอย่างไร? มีอะไรบ้าง? และอะไรปิดบังไตรลักษณ์?
ไตรลักษณ์คือ
[แก้ไข]๑.อนิจจัง ความไม่เที่ยง (ความเปลี่ยนแปลง หรือไม่แน่นอนตลอดเวลา ไม่คงที่) ๒.ทุกขัง ตั้งอยู่ไม่นาน (ทุกข์ใน เวทนา หมายถึงความบีบคั้น เช่นเจ็บปวดฯลฯ) ๓.อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน (สภาพที่ใครๆบังคับบัญชาให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้)
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์
๑. สันตติ ความสืบต่อ ปิดบังอนิจจัง ๒. อิริยาบถ ปิดบังทุกขัง ๓. ฆนะ ความเป็นแท่ง ปิดบังอนัตตา
ต่อแต่นี้ไปเราจะมาดูว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างไร? และทำไม?เราจึงมองไม่เห็นความเป็นจริงในข้อนี้
รูป (ร่างกาย) เป็นอนิจจังคือไม่เที่ยง สำหรับข้อนี้เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มองจากจุดที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วจนไปถึงจุดเปลี่ยนอย่างช้าๆ มองในชีวิตประจำวัน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวยืน เดี๋ยวนั่ง เดียวนอน ไม่แน่นอนๆเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หรือเปลี่ยนอย่างช้าๆ เช่น จากทารก สู่เด็กที่ค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากเด็กสู่วัยหนุ่มสาว ก้าวสู่วัยกลางคน แล้วก็ย่างสู่วัยชรา แต่ที่เราไม่เห็นมันเพราะมันมีการสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็ว อย่างนี้เหมือนเราเห็นพัดลมที่มันหมุนแต่มองไม่เห็นใบพัด เพราะถ้ามองจริงๆเราจะเห็นว่ามีแค่ใบพัด ๓ ตัว เท่านั้นมันไม่ได้เป็นวงกลมๆ ที่ไม่เห็นเพราะมันมีการสืบต่ออย่างรวดเร็ว มองสิ่งทั่วไปกับรูปธรรมอย่างอื่นก็เช่นกัน บ้าน รถ คน สัตว์ สิ่งของ ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากใหม่สู่ความเป็นของคร่ำคร่า ชำรุดทรุดโทรมไปตมกาลเวลา ทุกอย่างในโลกล้วนแล้วอนิจจัง
รูป เป็นทุกขัง ที่ว่ามันเป็นทุกข์เพราะมันไม่สามารถนิ่งอยู่หรือทนอยู่ได้นานๆ ที่มักพูดกันว่า ทุกข์ เป็นของทนได้ยาก เพราะมันจะต้องเปลี่ยนเสมอ นั่งนานก็เป็นทุกข์ ยืนนานก็เป็นทุกข์ นอน-เดิน นานๆ ก็เป็นทุกข์ วันหนึ่งเราต้องเปลี่ยนไม่รู้กี่ครั้ง แต่เราไม่ค่อยได้สังเกต เพราะไม่มีสติ-สัมปชัญญะ คอยรู้ คอยดู ที่ภาษาบาลีว่า สิกขะติ ศึกษาดู สังเกตดู พิจารณาดู หรือคนอีสานจะบอกว่าค่อยๆซอมเบิ่ง ที่บอกว่าอิริยาบถบังทุกข์ขัง นั่นเพราะว่าพอทนไม่ไหวใจมันก็สั่งเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นเวลานอนกว่าเราจะหลับ เรานอนพลิกไปพลิกมาไม่รู้กี่ครั้ง เวลานั่ง เช่นนั่งสมาธิตามสถานที่ที่เขาพากำหนดนั่งตามเวลา ตัวอย่างสักหนึ่งชั่วโมง พอนนานๆ จะปวดขา หรือเหน็บชา ปวดหลัง อย่างนี้เป็นต้น ที่เราเห็นมันเพราะเราไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถตามใจเรา เพราะต้องทนตามกำหนดเวลาเช่นนี้จึงเห็นทุกข์ได้ชัดเจน นี่แหละที่บอกว่าอิริยาบถบังทุกขัง
รูป เป็นอนัตตา ที่แปลว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่มีอะไรเป็นตัวตนของมันจริงๆ เช่นรถ ถ้าเราแยกส่วนประกอบออกมาทีละชิ้น มีล้อ เพลา พวงมาลัย ตัวถัง ยางล้อ หลังคา ฯลฯ เราก็หารถไม่เจอ หรือเก้าอี้ เมื่อเราแยกส่วนประกอบออกมาก็แค่เศษไม้เท่านั้น หาความเป็นตัวตนของรถหรือเก้าอี้ก็ไม่มี ร่างกายก็เช่นกัน ที่เราเรียกว่าตนๆนั้น เมื่อแยกตามธาตุต่างๆ หรือตามอาการ ๓๒ แล้วก็จะหาตนไม่มีเลย ที่เรามองไม่เห็นเพราะฆนะ คือการมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนนี้แหละปิดบังไว้ อย่างที่เขาว่าเห็นเสื้อไม่เห็นด้าย เห็นขนมไม่เห็นแป้ง เห็นโต๊ะไม่เห็นไม้
อนัตตา ที่แปลว่าสภาพที่ใครๆเข้าไปบังคับบัญชาให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้ หมายถึงตัวอนัตตา มันเป็นสภาวะธรรมชาติ มีการเป็นไปในตัวของมันเอง คือ อนิจจัง และทุกขัง เช่น เมื่อคนเราจะตายจะหมดลม ใครๆจะอ้อนวอนหรือบังคับก็ไม่ได้ มันก็หมดไปตามเหตุตามปัจจัย คือมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะเจ็บ จะป่วย หรือความแก่ก็เหมือนกันใครจะไปห้ามมันได้ เพราะมันเกิดแต่เหตุ ก็ต้องเป็นไปตามเหตุ ก็เท่านั้น หากจะแกไขจริงๆ เราต้องแก้ไขที่เหตุนั่นคือความยึดมั่นว่าตัว ว่าตน ตัวกู-ของกู นั่นแหละจึงจะแก้ได้ คือไม่เป็นทุกข์ อาลัยอาวรณ์กับมันเมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย จะแก่ก็ไม่กังวลทนได้ จะตายก็ไม่พรั่นพรึง
ดังนั้น รูปคือร่างกาย จึงเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา ไม่มีอำนาจเทพเทวดา อินทร์ พรหม ที่ใหนมาบังคับแทรกแซงกระบวนการธรรมชาติของมันได้
สรูปสั้นๆง่ายๆว่า รูป ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา อะไรทั้งสิ้น หรือว่าสวย ว่างาม น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ ขอแต่งกลอนตบท้ายสักกลอนเพื่อแสดงถึงความรำพันของหญิงแก่คนหนึ่งที่สามีไปหลงรูปร่างกายเมียน้อย เลยรำพึง นึกถึง ความรักของตนตอนสาวสวย
ความหนุ่มสาวถึงคราวแก่ก็แปรผัน คืนและวันผันเปลี่ยนไปไม่กลับหลัง
ความสาวสวยเปลี่ยนแปรเป็นน่าชัง อนิจจังที่เคยรักก็ชักคลาย
เวทนา ความรู้สึก เป็นอนิจจัง ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็ต้องพบเจอความรูสึกที่เป็นสุข ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆไม่สุข ไม่ทุกข์ หมุดเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามธรรมดาของมัน เช่นในวันหนึ่งๆ เราต้องรับเวทนาจากผัสสะทั้ง ๕ ขาดสติเมื่อได ในการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถ้าถูกใจยินดี ก็จะส่งผลคือการเกิดสุขเวทนา ถ้าไม่พอใจขัดเคืองก็จะส่งผลเกิดทุกขเวทนา ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ก็จะค่อยคลายสลายไป เราก็จะเห็นความเฉยๆ(อุเบกขา)เกิดขึ้น ดังนั้นเวทนาจึงเป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ตามเหตุตามปัจจัย
เวทนา เป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกทางไหน สุข ทุกข์ เฉยๆ มันก็ตั้งอยู่นานไม่ได้ สุขก็ไม่สุขตลอด ทุกข์ก็ไม่ทุกข์ตลอด อาการเฉยๆก็ไม่ตลอด เมื่อไดที่ขาดสติหลงไปกอดติดความรู้สึกอยากให้มี อยากให้เป็น ทุกข์คือความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจก็จะติดตามมา อย่างที่เรียกว่าติดสุข เกลียดทุกข์ เวทนานี้แหละที่ทำให้เราต้องดิ้นรนแสวงหาเรียกว่ายอมเป็นทาสของมันเลย เช่นสุขเวทนาจากการเสพกาม ที่เกิดจาก รูป การร่วมเพศที่ถือว่าเป็นสุขอย่างยอดยิ่งของมนุษย์คนเป็นจำนวนมากจึงดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาจะด้วยวิธีไดก็ตาม แก่งแย่ง ฉุดคร่า หาเงินแบบทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งปรารถนาคือเพศรส มีคู่ครองก็ไม่พอแก่ความต้องการมีกิ๊ก ๑ กิ๊ก ๒,๓,๔ เรื่อยไป สิ่งที่ติดตามมาจึงมีแต่ปัญหา ค่าใช้จ่าย กามโรค ปัญหาหึงหวง อกหักรักสลาย บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย หรือฆ่าคนอื่นๆ ยอมรับไม่ได้เมื่อต้องผิดหวัง พัดพรากจากคนที่รัก ที่ปรารถนา ถ้าเพียงแต่ตั้งสติดำริชอบ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริงว่าเวทนานั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คลายความยึดมั่นอาการกอดรัดลุ่มหลงอย่างฝังรากลึกเหนียวแน่นแล้ว ปัญหาต่างๆก็จะค่อยๆจางหายสลายไปในที่สุด เวลาทุกข์ ก็ไม่ร่ำให้ เสียใจ คับแค้นขัดเคือง ทุรนทุราย เพียงแต่มีสติดูมัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไปเท่านั้น ดังในสติปัฏฐานสูตรว่า บัดนี้เราเสวยสุข-ทุกข์ เวทนา ก็รู้ชัดว่า สุข-ทุกข์ เวทนา แม้แต่สุขเวทนาที่ไม่มีอามิสเช่นสุขในสมาธิ (ในฌาน)พระองค์ก็ทรงให้ละ เพียงแต่ให้รู้ชัดเท่านั้น ไม่ให้ติดสุข ท้ายในข้อเวทนา เราก็จะเห็นว่า ให้เห็นความเกิดขึ้น และดับไปของเวทนา แล้วละความยึดมั่นถือมั่นเสีย
เพราะความเป็นจริงของชีวิต สังขารที่มีวิญญาณครอง จะต้องมีความรู้สึกทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะเอาหรือไม่เอา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า มีเวทนาก็สักว่าเวทนา ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า เรารู้สึก พูดง่ายๆว่าไม่เข้าไปยึดมั่นว่า ตัวกู ของกู กูสุข กูทุกข์
เวทนา เป็นอนัตตา ที่ว่าเวทนาไม่ใช่ตัวตน นั่นก็เพราะเวทนาก็ไม่ได้มีตัวตนของมันเองมันก็มาจากปัจจัยที่อาศัยเนื่องกันและกันเกิดขึ้น ตา-รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รส >ผัสสะ(การกระทบ) > การรับรู้> เวทนา เมื่อสาวหาที่มาเราก็จะหาตัวตนที่แท้ของมันไม่เจอ ดังนั้นเวทนาใครๆก็ไม่สามมารถบังคับเอาตามใจชอบได้ ต่อให้บนบานสานกล่าวก็ไร้ผล เพราะธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ
เวทนา นี้จึงเป็นอนัตตา จะให้ใครๆไปบังคับให้สุขหรือทุกข์ตามชอบใจไม่ได้เวทนานี้ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ตามเหตุตามปัจจัยที่มันเป็น ดังที่คนมักพูดกันว่า “เมื่อวัยเด็กเห็นโลกสนุกทุกค่ำ-เช้า วัยหนุ่มสาวเห็นโลกล้วนสดใส วัยกลางคนเห็นสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันนา ยามแก่หง่อมโลกล้วนอนิจจัง”
สัญญา คือความจำได้ เป็นอนิจจา จำจากไหนล่ะ จำจาก รูป- เสียง - กลิ่น - รส -อารมณ์ที่ถูกต้องกับใจ จากเกิดมาจนถึงปัจจุบันชีวิตเรา เกิดผัสสะมากมายที่ผ่านเข้ามาทางอาตยนะ ดังนั้นมันจึงเปลี่ยนแปลงไปมา ไม่แน่ไม่นอน นึกถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้กับสิ่งที่ผ่านมากำหนดแน่นอนตายตัวลงไปไม่ได้ สัญญา จึงไม่เที่ยง
สัญญา เป็นทุกข์ คือตั้งอยู่ไม่ได้นาน ถ้าเรามีสติรู้ตามดูอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นว่าพอจำเรื่องอะไรมาจากอดีตพอกำลังนึกอยู่แป๊บเดียวความคิดใหม่ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ จึงมีแต่ความเกิดดับๆๆ อยู่ร่ำไป ไม่มีอะไรที่ตั้งอยู่ได้นาน ถ้าหลงเข้าไปยึดเมื่อไรก็เกิดทุกข์เมื่อนั้น เช่นคนอกหักก็หลงยึดอยู่กับภาพทรงจำเก่าๆไม่ยอมปล่อยวาง ยิ่งยึดยิ่งเจ็บ ยิ่งถือมั่นยิ่งปวดร้าว อาลัยอาวรณ์กับสิ่งที่ผ่านพ้นไป พระพุทธเจ้าของเราจึงตรัสว่า อย่าคำนึกถึงอดีต คืออย่าเอาความรู้สึกไปจมปลักอยู่กับสุขและทุกข์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว (ไม่ใช่ไม่ให้นึกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา) เพราะดีหรือเลว ก็กลับไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือปล่อยวาง มีสติแจ่มชัดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นใจปัจจุบัน พูดเข้าใจง่าย เวลาไดก็ไม่มีค่าเท่ากับปัจจุบัน คือเดี๋ยวนี้ เวลานี้ ดังพพระบาลีว่า ขโณ โว มา อุปจฺจคา ขณะ (เวลา) อย่าเข้าไปล่วงแล้วซึ่งท่านทั้งหลาย หมายความว่าอย่าปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าคนอีสานเว้ากันซื่อๆจะบอกว่า อย่าสะมามัวนั่งหายใจถิ่ม สรูปว่าสัญญาเป็นทุกข์ ทนได้ยาก เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่มันเป็น
สัญญา เป็นอนัตตา สัญญาก็ไม่ใช่ตัวตน คือไม่มีรูปลักษณ์ กลิ่น สี สัณฐาน ไดๆที่บ่งชี้ได้ว่านี่สัญญา เพราะสัญญาเองต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่งขึ้น คือ อายตนะ> ผัสสะ>ผลของผัสสะ เวทนา> สัญญา(จำไว้ บันทึกข้อมูล)
สัญญา ที่ใครๆบังคบไม่ได้ นั่นหมายความว่า แม้สัญญา ใครๆจะบังคับให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการไม่ได้ เมื่อมีชีวิตอยู่มันก็อยู่กับเราไปจนตายมันก็ทำงานไปของมันถ้าเราไปยึดมาว่าเป็นตัวกูเมื่อไรก็ให้ผลคือทุกข์ อุทาหรณ์ พระองคุลีมาลตอนที่ท่านยังไม่บรรลุพระอรหันต์นั้น ท่านกำลังทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสอยู่นั้น สัญญาขันธ์ส่งผลต่อท่านอย่างมาก จนเกิดความกลัดกลุ้มรุมเร้าเป็นทุกข์อย่างหนัก จนไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ จนพระพุทธเจ้าได้มาแก้อารมณ์ให้ ว่ามันเป็นเพียงสัญญาขันธ์ พระโจรองคุลีมาลในอดีตตายไปแล้ว ในที่นี้ไม่มีโจรฆ่าคน มีแต่พระอหิงสกะเท่านั้น โจรก็ไม่มี คนตายเพราะโจรฆ่าก็ไม่มี ที่มีเพราะยึดว่าอัตตาตัวตน ว่ากูฆ่า กูทำ กูปล้น เมื่อท่านนำพระดำรัสของพระพุทธเจ้ามาพิจารณาท่านก็แจ้งด้วยความจริงว่า สัญญาเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่นานท่านก็บรรลุพระอรหันต์
สรูปว่า สัญญา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรเข้าไปยึดมั่น ถือมั่นว่า เรา ของเรา หรือตัวกู ของกู นั่นเอง
สังขาร ความคิด สังขารก็ไม่เที่ยง ตัวสังขารนี้ยิ่งตามดูได้ยาก เพราะความคิดเกิดดับในชั่วขณะหนึ่งนั้นเร็วมาก ดังนั้นในสติปัฏฐานข้อจิตตานุปัสสนาพระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า คิดก็ให้รู้ว่าคิด พอแค่นี้แหละ คิดอย่างไรก็ช่างเพียงแต่รู้ดูมัน สิกขะติ สังเกตความเกิดดับของความคิดเท่านั้น แต่อย่าได้ไปตามมันว่า จิตจะคิดอะไร? คิดไปถึงไหน? เรื่องอะไรบ้าง? ถ้าไปตามอย่างนี้ไม่นานก็ฟุ้งซ่าน หรืออาจเป็นบ้าไปเลยก็ได้ เพราะสังขารคือความคิดมันเป็นอนิจจัง เกิดดับๆๆๆๆ เร็วมาก จนเรามองถึงความละเอียดไม่ทัน เรามักจะได้ยินเสมอว่า ใจไปไวกว่าแสง เพราะจิตมันทำงานตลอดเวลา รวมความว่า สังขารไม่เที่ยง
สังขารเป็นทุกข์ คือทนได้อยาก เรื่องสังขารนี่ก็เช่นกัน ความคิดไม่ว่าคิดอะไร คิดดี คิดชั่ว มันก็ตั้งอยู่ไม่นาน โดยเฉาะตัวความคิดนี้เร็วมาก ที่คนมักพูดกันว่าใจไปไวกว่าแสงนั้นเป็นเรื่องจริง ยิ่งถ้าใครเรียนอภิธรรมยิ่งจะเข้าใจว่าใจขณะแค่เพียงนิดเดียวความคิดเกิดดับเป็นจำนวนมาก ในความคิดก็มีความคิดอีกที่ซ้อนๆกันอยู่ ในทางปฏิบัติในสติปัฏฐานพระพุทธเจ้าของเราจึงให้แต่เพียงให้รู้ว่าคิด จะคิดกี่ครั้งก็ให้แต่เพียงแค่รู้ทุกครั้งไป จิตมีราคะก็ให้รู้ว่ามีราคะ มีโทสะก็ให้รู้ว่ามีโทสะ แล้วดูรู้ถึงความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ของมัน ปล่อยวางเสียอย่าไปยึดมั่นถือมั่น แต่อย่าเผลอตามดูความคิดเข้าเพราะความคิดเป็นธรรมชาติและเป็นไปเร็วตามทันยาก ถ้าเผลอตามดูยิ่งฟุ้ง หรืออาจวิปลาสได้ อย่างที่เขาเรียกกันว่าสังขารหลอกหน้า บางคนเพียงแค่คิดตรึกตรองธรรมะบ่อยๆแล้วใจสงบปล่อยวางได้ด้วยปัญญาเพียงแค่ชั่วขณะก็เข้าใจว่าตนเองบรรลุแล้วอย่างนี้ก็มีมาก แต่พออารมณ์มากระทบยิ่งมากด้วยอัตตาตัวตน กูรู้ กูเก่ง อย่างนี้ก็มีมาก สรูปว่าสังขารคือความคิดเป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้นาน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เหมือนคนยืนอยู่ข้างถนนฟังเสียงรถวิ่งไปวิ่งมา เมื่อรถวิ่งมาใกล้เราจะได้ยินชัดแล้วค่อยจางหายไป เสียงรถก็เหมือนสังขาร เกิดดับๆๆอย่างนี้เป็นธรรมดา จึงไม่ควรเข้าไปยินดี ยินร้ายกับมัน ให้ตามความเป็นจริง ตรงกับสภาวะเท่าที่มันเป็นก็เท่านั้น
สังขารเป็นอนัตตา สังขาร ความคิดนี่ก็เช่นกันไม่มีตัวตนที่จริงของมัน เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น ไม่มีรูปร่าง สี ทรวดทรงให้กำหนดได้ ในตัวสังขารที่เป็นนามธรรมเองก็เกิดจากการปรุงขึ้นจาก เวทนา-สัญญา-วิตก รวมกันขึ้นพร้องกันจึงเป็นสังขาร ตัวความคิดจึงเป็นอนัตตาใครๆจะคอยบังคับบงการไม่ได้ว่า ให้คิดแต่เรื่องดีๆที่ชอบ หรือคิดอย่าคิดเรื่องที่ไม่พอใจ ดังนั้น ความคิดมันจึงคิดได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะคิดดี คิดเลว คิดทำบุญทำทาน คิดลามก คิดโกรธ คิดได้สารพัด มันก็ห้ามไม่ได้ดังนั้นอย่าไปยินดี ยินร้ายกับมัน คิดก็ให้รู้ว่าคิด สังขารเหมือนกาบกล้วยแก่นสารไม่ได้ เราจะเห็นต้นกล้วย เมื่อเราเอาเปลือกมันออก ดึงออกไปเรื่อยๆท้ายที่สุดก็ไม่หลงเหลืออะไร เป็นแต่เพียงความว่างเปล่า
หากเมื่อใดเราขาดสติหลงยึดว่าตัวตน ผลคือวิ่งตามความคิด เช่น ตอนเป็นหนุ่ม เป็นสาวใหม่ๆ กำลังตกหลุมรัก จนความรักสุขงอมพร้อมจะอยู่เป็นคู่ รีบขวนขวายแต่งงาน เพราะวาดวิมานในอากาศไว้อย่างสวยหรู แต่งแล้วเราจะอยู่กันอย่างมีความสุขตลอดชีวิต มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง ฉันและเธอจะรักมั่นคงต่อกันใจเดียวรักเดียว ชีวิตนี้เธอจะมีแต่ฉัน ฉันจะมีแต่เธอ อนิจจา ชีวิตจริงคิดเอาไม่ได้ แต่งเติมตามใจปรารถนาไม่ได้ พอผิดหวังรักพังทลาย ก็ฟูมฟายเสียน้ำตา สะอื้นให้อาลัยรัก ตีอกชกหัวรำพึงรำพัน โทษดวง โทษฟ้าดิน ร้องด่าดินฟ้า ร้องท้าอินพรหม เพราะไม่เข้าใจว่าการพลัดพรากจากคนที่เรารักย่อมเป็นเรื่องธรรมดา การผิดหวังสมหวังก็เป็นธรรมดา ต้องโทษเราเองที่ไม่ใช้ชีวิตด้วยปัญญา แต่กับวิ่งตามความคิดที่ฝังติดแน่นอยู่กับอำนาจตันหาอุปาทาน เมื่อเข้าใจแล้วก็อย่าเป็นทาสของความคิด
สรูปว่า สังขาร ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ควรละหรือที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า นั่นตัวตน นั่นกูคิด เขาคิด ธรรมทังหลายไม่ใช่ตัวตน
วิญญาณ คือความรู้ ที่เกิดจากการรับรู้ทางทวารทั้ง ๖ ก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง ตา คู่กับ รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รส กาย-สัมผัส และอารมณ์ที่เกิดกับใจ สิ่งเหล่านี้ก็ผันแปรตลอดเวลา ทั้งดีทั้งร้าย มันก็รับมาหมด ตามีประสาทตาทำงานมีรูปมากระทบเข้าก็เกิดความรู้ทางตา มันจะไม่เห็นไม่ได้ ที่มันรู้ว่า ดี ชั่ว สูง ต่ำ ดำ ขาว นั่นคือวิญญาณ คือการรับรู้ เมื่อรับมา มันก็ส่งเข้ากระบวนการ เมื่อยึดว่ากูเห็น ไม่สักแต่ว่าเห็น ตัวธรรมชาติก็จะไหลบ่าทำงานทันที อายตนะ(จุดเชื่อต่อ)>ผัสสะ>เวทนา>ตัณหา>อุปาทาน>ภพ>ชาติ ตัวอย่างตาเห็นรูปผัสสะ ร่างกายภรรยาผู้อื่น เวทนา รู้สึกรักชอบ เกิดตันหา ดินร้น แสวงหา ได้มา ครอบครอง หวงแหนเกิด อุปาทานๆส่งให้ เกิดภพคือความมีความเป็น เป็นชู้กู เป็นกิ๊กกู นำไปสู่ชาติ การเกิดทุกข์ พลัดพราก คับแค้น ห่วงหา ปรารถนา ท้ายก็ทุกข์ จมลงสู่วัฏฏะจักร ถ้าเพียงแต่เรามีสติเห็นสักแต่ว่าเห็น รู้สักแต่ว่ารู้ ไม่เข้าไปว่ากูรู้ กูเห็น ปล่อยวางในความไม่เที่ยงของวิญญาณ ปัจจัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิดก็สั้นลง อย่างนี้ วิญญาณไม่เที่ยง เสียงเหมือนกัน มีหู มีเสียง มากระทบ มันจะต้องได้ยินเป็นธรรมดา ที่เป็นคำด่า คำชม คำน่ารัก นินทา สรรเสริญ นั่นใจมันปรุงของมันเองทั้งนั้น อายตะอย่างอื่นก็เช่นกันเป็นไปลักษณะนี้
วิญญาณ มันก็เป็นทุกข์ ตังอยู่ไม่ได้นาน ง่ายๆแค่การดูวันหนึ่งๆ ในช่วงๆหนึ่งที่เราว่าเราดูตลอดนั้น มันก็เกิดๆดับๆตลอดเวลา สังเกตว่าเราจกระพริบตาอยู่เสมอ เสียงก็เหมือนกันเกิดๆดับๆอยู่ตลอดเวลา ในอายตะทั้ง ๖ นี้ จิตมันเสวยเพียงอารมเดียว มันจึงวิ่งไปวิ่งมาในทวารทั้ง ๖ ทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับไป ดังนั้นวิญญาณจึงเป็นทุกข์
วิญญาณ เป็น อนัตตา ตัววิญญาณเองก็ไม่มีตัวตน ใครๆก็มาบังคับให้เป็นไปตามใจชอบไม่ได้เช่นกัน มันจึงเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุปัจจัยที่มันเป็น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป (วิญญาณ ข้อนี้จะยกยอดไปอธิบายรวมกับตัณหาในเรื่องของอายตนะในบทที่๒ ต่อไป เพื่อจะได้ไม่ซ้ำกันจนเกินไป)
สรูปว่า ขันธ์ ๕ ก็คือชีวิต ทั้งรูปและนาม (กายและใจ) ทั้งหมดนี้เป็นไปในอำนาจของไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติธรรมต้องเห็นธรรมเหล่านี้อย่างชัดเจนที่สุดแล้วจึงละอุปาทานในสังขารทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม จึงจะได้ชื่อว่าวิปัสสนา ไม่ใช่ให้ไปเห็นสีเห็นแสง เห็นผี เห็นเทวดา ทำนายทายทัก เกิดฤทธิ์เกิดเดชอำนาจบันดาลโชค แล้วมาทึกทักว่านี่เป็นผลสำเร็จของวิปัสสนา
อนัตตะลักขณสูตร (บทสรูปของขันธ์ ๕)
[แก้ไข]อนัตตลักขณสูตรเป็นพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแก่พระปัญจวัคคีทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพารราณสี เป็นธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ ที่พระองค์ทรงแสดงในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งตอนนั้นปัญจะวัคคีทั้ง ๕ ต่างก็สำเร็จเป็นพระโสดาบันหมดแล้ว เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมจบ พระปัญจวัคคีทั้ง ๕ ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้นก็เกิดมีพระอรหันต์ ๖ องค์ รวมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า อนัตตลักขณสูตรนี้นับว่าเป็นบทสรูปของขัน ๕ ได้ดีที่สุด ซึ่งข้าพเจ้าจะอธิบายเป็นภาษาง่ายๆและรวบรัดให้ง่ายและเข้าใจง่ายที่สุด เพราะท่านทั้งหลายคงอ่านเรื่องขันธ์ ๕ มาเป็นอย่างดีแล้ว ใจความอนัตตลักขณสูตร
รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตาฯ รูปญฺจหิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส นยิทํ รูปํ อาพาธาย
สงฺวตฺเตยฺย ลพฺเภถ จ รูเป เอวํ เม รูปํ โหตุ เอวํ เม รูปํ มา อโหสิ ฯ ยสฺมา
จ โข ภิกฺขเว รูปํ อนตฺตา ตสฺมา รูปํ อาพาธาย สงฺวตฺตติ น จ ลพฺภติ รูเป เอวํ
เม รูปํ มา อโหสีติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป เป็นอนัตตา ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ใครๆย่อมได้ตามใจหวังในรูปว่า รูปจงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล รูปเป็นอนัตตาเพราะเหตุได เพราะเหตุนั้น รูปย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่มีใครได้ดังใจหวังในรูปว่า รูปจงเป็นอย่างนี้ รูปอย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ
ก่อนจะอธิบายขยายความเป็นภาษาง่ายๆในเรื่องอนัตตะลักขณะสูตร ขอยกพุทธดำรัส ยกบาลีมาสักหัวข้อเพื่อเป็นการนอบน้อมบรมครูสักหน่อย และเพื่อเป็นหลักอ้างว่า ที่ข้าพเจ้านำมาอธิบายถีงจะมีเพิ่มเติมใช้ภาษาร่วมสมัยก็ไม่ได้หนีจากพระพุทธพจน์แต่อย่างได เรียกว่าไม่เอาความคิดตัวเองหรือสอนโดยนัยอัตตโนมติ เรียกว่ามีหลักอ้าง ศิษย์มีครู เอาละเพื่อไม่ยืดเยื้อมากความเรามาเข้าเนื้อหากันเลย
ในข้อแรกพระองค์ทรงแสดงสภาวะความเป็นจริงอันสูงสุดของรูปธรรม (ร่างกาย)ตามสภาพความเป็นจริงอันเป็นปรมัตถ์ธรรมที่ไม่มีใครคัดค้านได้ ด้วยพระดำรัสที่สั้นแต่มีใจความสุขุมลุ่มลึกชัดเจนแจ่มแจ้งว่า “รูป เป็นอนัตตา” แล้วพระองก็ทรงชี้ถึงเหตุว่า ทำไมถึงเป็นอนัตตาไม่เป็นไปในอำนาจของใคร บังคับบัญชาไม่ได้ ด้วยยกสิ่งที่ตรงกันข้ามว่า หากรูปนี้เป็นอัตตาเป็นไปตามอำนาจ บังคับบัญชาได้แล้ว รูป (ร่างกาย) ของเราคงจะบอกมันได้ บังคับมันได้ ว่าอย่าเจ็บ อย่าไข้ อย่าป่วย อย่าอ้วน อย่าผอม ต้องสวย ต้องหล่อ ต้องหุ่นดี อย่าหิวเวลานี้ อย่าปวดหนักปวดเบาเวลานี้ ก็คงจะสั่งได้ดังใจนึกสารพัด แต่เมื่อรูปนี้เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร จึงเป็นไปตามธรรมชาติ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นเอง จะแก่ก็แก่เอง จะตายก็ตายเอง บังคับหรือขอร้องไม่ได้ พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล รูปเป็นอนัตตาเพราะเหตุได เพราะเหตุนั้น รูปย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่มีใครได้ดังใจหวังในรูปว่า รูปจงเป็นอย่างนี้ รูปอย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ
- ธาตุดิน ผมจะหงอก ฟันจะหลุด หนังจะเหี่ยว จะอ้วน จะผอม จะดำ จะขาว สิวจะขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเอง ไม่เป็นไปในอำนาจ บังคับเอาตามใจปรารถนาไม่ได้
- ธาตุน้ำ เลือดจะจาง เหงื่อจะออก หรือปวดปัสสาวะ น้ำลายจะไหล น้ำหนอง จะมีหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นเอง ไม่มีใครสั่งบังคับได้ตามใจหวัง ไม่เป็นไปตามอำนาจใคร จึงได้ชื่อว่าอนัตตา
- ธาตุลม จะจุกเสียดแน่นท้อง จะลมขึ้น ลมลง จะผายลม จะหายใจเข้า จะหายใจออก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามธรรมชาติของมัน เป็นเอง ไม่อยู่ในอำนาจของใคร
- ธาตุไฟ จะเป็นไข้ตัวร้อนมาก เพราะธาตุไฟมากเกิน ไฟย่อยอาหาร ไฟในร่างกาย จะมากจะน้อย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเอง เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยู่ในอำนาจใคร
ดังนั้นรูป อันประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จึงไม่เป็นในอำนาจของใคร จึงเป็นเพื่อความอาพาธ คือความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ผันแปรเรื่อยไปคืออนิจจัง ทุกขัง ตั้งอยู่ไม่ได้นาน จากเด็กสู่หนุ่มสาว ก้าวสู่วัยกลางคน วัยแก่ วัยชรา แล้วก็ตาย เมื่อเวลาจะตายธาตุลมจะหมดก่อน ต่อมาก็ธาตุไฟ คนตายจึงตัวเย็น จากนั้นก็ก็ธาตุน้ำ ดังนั้นเราจะเห็นศพอืด น้ำเลือดน้ำหนองก็แตกไหลออก และสุดท้ายก็ธาตุดิน
รูปมาจากธรรมชาติก็คืนสู่ธรรมชาติ ดินคืนสู่ดิน น้ำคืนสู่น้ำ ลมคืนสู่ลม ไฟคืนสู่ไฟ
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกฎธรรมชาติ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนานี้ เป็นอนัตตา ฯดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ใครๆย่อมได้ตามใจหวังในเวทนาว่า รูปจงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล เวทนาเป็นอนัตตาเพราะเหตุได เพราะเหตุนั้น เวทนาย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่มีใครได้ดังใจหวังในเวทนาว่า เวทนาจงเป็นอย่างนี้ เวทนาอย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ
เวทนา (ความรู้สึก) สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา นี้ก็เช่นกันเป็นเอง ไม่เป็นไปในอำนาจของของใคร บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น จะสุขก็สุขเอง จะทุกข์ก็ทุกข์เอง จะไม่สุขไม่ทุกข์คือเฉยๆก็เป็นเอง จึงผันแปรไปตามเหตุตามปัจจัย และก็ตั้งอยู่ไม่ได้นาน เพราะเวทนานี้เป็นอนัตตา
หากว่าเวทนานี้เป็นอัตตา คือตัวกูของกูแล้วล่ะก็คงจะไม่มีคนมีความทุกข์ เพราะทุกคนคงจะเลือกเอาแต่สุขเวทนาเท่านั้น อารมณ์ทุกข์โทมนัส เสียใจ รำพึงรำพัน ในคราวผิดหวังเสียใจ ก็คงจะไม่มี แต่เพราะเวทนานี้เป็นอนัตตา จึงไม่มีใครได้ดังใจหวังว่า เวทนา(ความรู้สึก) จงเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญานี้ เป็นอนัตตา ฯดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ใครๆย่อมได้ตามใจหวังในสัญญาว่า สัญญาจงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล สัญญาเป็นอนัตตาเพราะเหตุได เพราะเหตุนั้น สัญญาย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่มีใครได้ดังใจหวังในสัญญาว่า สัญญาจงเป็นอย่างนี้ สัญญาอย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ
สัญญา ความจำอารมณ์เบื้องหลัง สัญญานี้ก็เป็นอนัตตา ไม่มีใครให้เป็นไปในอำนาจได้ หรือได้ตามใจปรารถนา หมายความว่า เราจะเลือกจำเฉพาะเรื่องดีๆหรือเรื่องที่ถูกใจก็ไม่ได้ สิ่งที่ผ่านมาแล้วที่เป็นอารมณ์เบื้องหลัง ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ตัวสัญญาขันธ์มันก็ทำหน้าที่ของมัน ดังนั้นวันหนึ่งๆ เราจะนึกถึงเรื่องราวหนหลังที่ผ่านมาไม่รู้กี่เรื่องทั้งดีทั้งชั่ว มันจะจำจะนึกก็เป็นของมันเอง ห้ามไม่ได้ บอกไม่ฟัง เพราะสัญญานี้มันเป็นอนัตตา จึงไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ท่านจึงไม่ให้เข้าไปยึดว่าเป็นอัตตา ตัวตน หรือที่เรียกว่า ตัวกู ของกูนั่นเอง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารนี้ เป็นอนัตตา ฯดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าสังขารนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สังขารนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ใครๆย่อมได้ตามใจหวังในสังขารว่า สังขารจงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล สังขารเป็นอนัตตาเพราะเหตุได เพราะเหตุนั้น สังขารย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่มีใครได้ดังใจหวังในสังขารว่า สังขารจงเป็นอย่างนี้ สัญญาอย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ
สังขาร ความคิด นี้เป็นอนัตตา คือมันไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น อันความคิดนี้แหละร้ายการนัก คนจะเป็นโรคจิต โรคประสาทก็เพราะความคิดนี่แหละ ความคิดนี้มันไปได้สารพัดทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน วาดวิมานในอากาศ ความคิดนี้ก็เหมือนกันมันไม่ตกอยู่ในอำนาจของใคร ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ว่าจงคิดแต่เรื่องดีๆ หรือคิดได้ตามใจ หรือบังคับไม่ให้มันคิดตามต้องการได้ ดังนั้นจึงเป็นอนัตตา สังขารจึงไม่เที่ยง เดี๋ยวคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ละเรื่องก็ตั้งอยู่ไม่นานเรียกว่าทุกขัง แค่นาทีเดียวก็คิดได้เป็นสิบๆเรื่องแล้ว ดังนั้นจึงสรูปได้ว่าสังขารก็เป็นอนัตตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณนี้ เป็นอนัตตา ฯดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ใครๆย่อมได้ตามใจหวังในวิญญาณว่า วิญญาณจงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารนี้ เป็นอนัตตา ฯดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าสังขารนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สังขารนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ใครๆย่อมได้ตามใจหวังในสังขารว่า สังขารจงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล สังขารเป็นอนัตตาเพราะเหตุได เพราะเหตุนั้น สังขารย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่มีใครได้ดังใจหวังในสังขารว่า สังขารจงเป็นอย่างนี้ สัญญาอย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ
วิญญาณ ความรู้ทางทวารทั้ง ๖ คือ ความรู้ทางตา ความรู้ทางหู ความรู้ทางจมูก ความรู้ทางลิ้น ความรู้ทางกายสัมผัส ความรู้อารมณ์ทางใจ ซึ่งต้องอาศัยผัสสะ คือการกระทบจากอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ตา คู่กับ รูป หู คู่กับ เสียง จมูก คู่กับ กลิ่น ลิ้น คู่กับ รส กาย คู่กับ โผฏฐัพพะ (สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ) ใจ คู่กับ ธรรมารมณ์ (ความรู้สึกทางใจ) อายตนะทั้งภายในภายนอกนี้ต้องอาศัยผัสสะคือการกระทบจึงจะเกิดวิญญาณเหมือนการตบมือ ต้องตบทั้งสองข้างจึงจะเกิดเสียง ดังที่มักพูดว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง
วิญญาณนี้ก็เป็นเป็นนามธรรม วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ไม่มีใครให้เป็นไปในอำนาจได้ หรือได้ตามใจปรารถนา จะเห็นก็เห็นเอง จะได้ยินก็ได้ยินเอง จะได้กลิ่นก็ได้กลิ่นเอง จะรู้รส ก็รู้เอง จะสัมผัสเย็นร้อน อ่อนแข็งก็เป็นเอง จะรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง ก็เป็นเอง หากว่าวิญญาณนี้เป็นอัตตา คือตัวกูแล้วไซร้ เราย่อมได้ตามใจปรารถนาว่า จงเห็นแต่สิ่งดีๆ ฟังแต่สิ่งที่ไพเราะถูกใจ ได้แต่กลิ่นหอมๆ เวลากินดื่มก็ให้มีแต่รสอร่อยถูกใจ กายก็ให้เย็นสบาย สัมผัสแต่สิ่งที่ถูกใจ ความรู้สึกทางใจก็ให้มีแต่ความสบายอารมณ์รื่นเริงบันเทิงใจ แต่เพราะวิญญาณนี้เป็นอนัตตา จึงให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้ มันก็เป็นไปตามธรรมชาติของมัน คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในแต่ละอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จึงไม่มีตัวกูของกู ถามว่า ถ้าไม่ใช่ตัวกูแล้วจะเป็นอะไร ตอบว่า วิญญาณทั้ง ๖ นั้นเป็นนาม
- นามที่เกิดทางตา คือการเห็น เรียกว่า จักขุวิญญาญ
- นามที่เกิดทางหู คือการได้ยิน เรียกว่า โสตวิญญาณ
- นามที่เกิดทางจมูก คือการได้กลิ่น เรียกว่า ฆานวิญญาณ
- นามที่เกิดลิ้น คือลิ้มรส เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
- นามที่เกิดทางกาย คือนามที่เกิดทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรียกว่า กายวิญญาณ
- นามที่เกิดทางใจ คือความนึก คิด ทั้งหมด เรียกว่า มโนวิญญาญ
ดังนั้น ก็สรูปได้ว่า วิญญาณทั้ง ๖ นี้เป็นอนัตตา สมดังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคที่พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณนี้ เป็นอนัตตา ฯดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ใครๆย่อมได้ตามใจหวังในวิญญาณว่า วิญญาณจงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล สังขารเป็นอนัตตาเพราะเหตุได เพราะเหตุนั้น สังขารย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่มีใครได้ดังใจหวังในสังขารว่า สังขารจงเป็นอย่างนี้ สัญญาอย่าได้เป็นอย่างนี้”ฯ
เมื่อพระองค์ทรงแสดงความที่ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ โดยความเป็นอนัตตาแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสถามพระปัญจวัคคีทั้ง ๕ ว่า ขันธ์ ทั้ง ๕ นี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง พระปัญจวัคคีก็ตอบพร้อมกันว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ขันธ์ ๕ นี้เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ เป็นทุกข์พระเจ้าข้า เมื่อขันธ์ ๕ นี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ควรละหรือที่จะไปยึดว่าเป็นอัตตาตัวตน พระองค์จึงถามย้ำสรูปว่า ขันธ์ ๕ นี้เป็นอัตตาหรืออนัตตา เป็นอนัตตาพระเจ้าข้า เมื่อพระปัญจวัคคีทั้ง ๕ ซึ่งท่านทั้งหมดเป็นพระโสดาบันอยู่แล้วเมื่อพิจารณาตามพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เห็นว่า ขันธ์ ๕ นี้เป็นแต่เพียงธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีตัวกูของกู หรือมีส่วนไหนเป็นอัตตาเลย เห็นชีวิตทั้งชีวิตเป็นเพียงรูปและนามเท่านั้น ไม่มีอะไรควรเข้าไปยึดได้เลยว่าเป็น เรา เป็น เขา เป็นนั่นเป็นนี่ จึงหมดเยื่อใยในขันธ์ ๕ ละอุปาทานได้หมด ก็สิ้นอาสวะกิเลส เป็นพระอรหันต์ทันที
ขันธ์ ๕ นี้หากผู้ปราถนามรรคผลนี้พาน พึงกระทำให้แจ้งในขันธ์ ๕ นี้ เพราะเมื่อเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วไซร้ ย่อมเบื่อหน่าย ในขันธ์ ๕ นี้ นั่นหละคือความพ้นทุกข์ ดังพระดำรัสว่า “เมื่อไดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลาย (รูปธรรม นามธรรม) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และธรรมทั้งปวงโดยความเป็น อนัตตา นั่นคือหนทางอันหมดจด” สำหรับบทที่ ๑ ก็ขอจบเพียงเท่านี้
๒.เพื่ออะไร? (เป้าหมาย)
[แก้ไข]ก่อนจะพูดถึงเป้าหมายข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะพูดถึงหัวใจหลักพระศาสนาเสียก่อน หัวใจหลักพระพุทธศาสนาถ้าจะว่าไปแล้วก็มีเพียงใจความสั้นๆเท่านั้น แต่สั้นๆนี่แหละกินใจความถึงพระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เลยทีเดียว พระธรรมะทั้งหมดเมื่อรวมลงแล้วก็มาอยู่ที่ตรงนี้ หลักปริยัติและปฏิบัติก็อยู่ตรงนี้เมื่อรวมลงก็เพื่อให้รู้และปฏิบัติตามหัวใจหลักนี้ หัวใจพระศาสนาท่านพระอัสสชิเถระ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีทั้ง ๕ ท่านได้แสดงใจความพระพุธศาสนาทั้งหมดด้วยใจความสั้นๆแก่พระสารีบุตร ตอนที่พระสารีบุตรเป็นอุปติสสมาณพอยู่ มีใจความว่า เย ธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จ เอวัง วาที มหาสะมะโณ
(คำแปล) “สิ่งทั้งหลายเหล่าใดเกิดมาแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิง ของสิ่งเหล่านั้น เพราะหมดเหตุ พระมหาสมณะเจ้ามีปกติตรัสอย่างนี้” จากข้อความนี้แม้จะสั้นแต่กินใจความทั้งหมด เราอ่านแล้วเราจะทราบว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ไม่มีคำว่าบังเอิญ และถ้าจะดับเหตุ ก็ต้องดับที่เหตุด้วยการสร้างเหตุคือการปฏิบัติเพื่อเข้าไปดับที่เหตุ ต้นเหตุแห่งทุกทั้งมวลนั่นคือ สมุทัย นิโรธคือความดับทุก กิจของนิโรธคือกระทำให้แจ้งในสมุทัย และผลของสมุทัย นั่นคือทุกข์ ด้วยวิธีการที่เรียกว่ามรรค ก็จะสรูปลงที่อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นเอง ในบทที่ ๑ ได้กล่าวถึงผลคือตัวทุกข์ทั้งหมด นั่นคือ ขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ เพราะจะว่าไปแล้วความทุกข์ทั้งมวลก็คืออุปาทานขันธ์นั่นเอง ในบทนี้ก็จะได้กล่าวถึงสมุทัย คือเหตุแห่งทุกข์นั้นเอง ทีนี้เราก็จะมองเห็นแล้วว่า หัวใจหลักพระศาสนาอยู่ที่อริยสัจ ๔ นี้เอง ท่านพระอัสสะชิเถระเจ้าได้ย่อ อริยสัจ ๔ ลงไปอีกเพียง ๒ ข้อคือ เหตุเกิด เหตุดับ เท่านั้น ดังนั้นเป้าหมายของนักวิปัสสนาคือ รู้เหตุเกิด แล้วสร้างเหตุดับ เมื่อพูดถึงเป้าหมาย เรามักจะเปรียบเทียบกับการเดินทาง คือกำหนดเป้าหมายว่าเราจะไปไหน? เพื่ออะไร? ตรงไหน? คือจุดหมายที่เราไปถึง จึงต้องวางแผนการเดินทาง แผนที่ เลือกเส้นทาง ยานพาหนะสำหรับเดินทาง สัมภาระ เงินทองของใช้ที่จำเป็น ความพร้อม แล้วก็ออกเดินทาง หรือจะทำอะไร? ก็ตามทีเราก็จะมีเป้าหมายเหมือนกัน เช่นจะทำอะไร เพื่ออะไร ได้อะไร ทำด้วยวิธีการอย่างไร มันก็จะเป็นขั้นเป็นตอนไป หากไม่มีแผน เหมือนเดินทางไม่มีจุดหมายไม่มีวันถึง เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็เช่นกัน อย่างแรกต้องรู้จักว่า วิปัสสนาคืออะไร? เรามาปฏิบัติ ฝึก หัด พัฒนา เพื่ออะไร? ในบทที่ ๑ นั้นข้าพเจ้าได้พูดแล้วว่าวิปัสสนาคืออะไร ถ้าเข้าใจตามนั้นแล้ว เป้าหมายเราก็จะไม่เบี่ยงเบน ถ้ารู้ผิด การมุ่งหมายก็พลอยจะผิดไปด้วย อย่างไร? จึงได้ชื่อว่าเข้าใจผิด รู้ผิดๆ เป้าหมายก็ผิดไป ก่อนอื่นขอย้อนไปตอนเป็นเด็กของข้าพเจ้าสักหน่อย เพื่อนำมาเป็นอุทาหรณ์ให้เข้าใจในที่ว่า การรู้ผิด นำไปสู่การเดินทางแบบผิดๆ ชีวิตจึงผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พลาดแล้ว พลาดอีก เมื่อพวกท่านอ่านแล้วอาจมองเห็นตนเอง หรือหลายชีวิตที่ตกอยู่ในวงเวียนเช่นนี้ ข้าพเจ้าเกิดที่แดนดินถิ่นราบสูง ณ ภาคอีสาน พ.ศ ๒๕๑๘ เป็นบ้านป่าไกลปืนเที่ยง สมัยนั้นไฟฟ้าก็ยังไม่มี วิถีชีวิตของสังคมชาวบ้านก็เป็นไปอย่างราบเรียบตามวิถีของชีวิตชาวนา ชาวไร่ ด้านข้อมูลข่าวสารที่ทางการจะสื่อสารได้ก็มีแต่วิทยุแบบรุ่นเก่า แต่ใช่ว่าจะมีทุกหลังคาบ้านจะมีกันทุกคน ยิ่งในด้านผู้นำทางด้านจิต วิญญาณด้วยแล้วแทบไม่มี ดังนั้นในเรื่องพุทธศาสนาจึงมีแต่ที่นับถือแบบสืบๆกันมา พระที่วัดโดยมากท่านก็จะรู้เพียงแค่การสวดมนต์ หรือมุ่งเน้นในด้านพิธีกรรมมากกว่าที่จะมุ่งสั่งสอนธรรมเพื่อการดับทุกข์ พระประจำวัดก็เป็นคนที่บ้านมาบวช เมื่อท่านบวชมาท่านก็ไม่ได้ศึกษาด้านปริยัติที่เป็นหลักธรรมคำสอนที่พอจะเป็นอุปการะในการปฏิบัติให้พ้นทุกข์ แต่สิ่งที่เป็นความสนใจของพระและคนทั่วไปนั่นคือ การมีอำนาจความขลังสิทธิ์ ตามมาด้วยพิธีกรรมการอ้อนวอนขอความเมตตาจากเจ้าป่า เจ้าเขา รวมทั้งภูตผี เทวดาผู้มีอำนาจการดลบันดาล พระที่พอมีชื่อเสียงท่านก็มุ่งเน้นในด้านการปัดเป่าเคราะห์ต่ออายุ อาบน้ำมนต์ สักน้ำมันปลุกเสกเครื่องรางของขลัง สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังข้าพเจ้ามาตั้งแต่เด็ก เห็นมาตั้งแต่เด็ก จนกลายมาเป็นความเชื่อยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น เชื่อในอำนาจดวงชะตา การดลบันดาล ความมีอิทธิฤทธิ์บันดาลโชค ยิ่งเรื่องวิปัสสนายิ่งเข้าใจผิด เพราะสมัยเด็กเห็นคนหรือพระไปนั่งหาหวยกัน หาของในดินกัน พอถามท่านเหล่านั้นก็ตอบเป็นเสียเดียวกันว่านั่งสมาธิวิปัสสนากัน เลยเข้าใจว่าผู้ได้วิปัสสนาต้องมีคุณวิเศษ ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ นั่งแล้วต้องเห็นนั่นเห็นนี่ พอโตมาบวชเป็นสามเณรไปที่ไหน สำนักไหนก็จะเจอแต่พระวิปัสสนาที่เป็นเกจิ เลยเชื่อกันไปใหญ่ เมื่อเชื่อว่าชีวิตที่ต้องเป็นไปตามดวง จะได้ จะเสีย แล้วแต่เทพดลบันดาลประทานให้ จึงเที่ยววิ่งหาของขลังวัตถุมงคลเพื่อเสริมอำนาจบารมี แต่ไม่เคยคิดเปลี่ยนนิสัยสันดานที่ผิดๆของตนเองเลย เมื่อเชื่อเทพบันดาล การจะพัฒนาตนยิ่งไม่มี ที่เคยผิดก็ผิดแล้วผิดเล่า แต่ไม่เคยโทษตัวเองกับหันหน้าไปโทษเพียงเรื่องดวง อะไรไม่ดีเกิดขึ้นทางแก้คืออาบน้ำมนต์ เสริมดวงชะตา เสริมราศี พิธีกรรมตัดกรรมสารพัดจะทำตามความเชื่อ
เมื่อเชื่อผิดๆ แก้ผิดๆ ให้ยาไม่ถูกโรค เกาไม่ถูกที่คัน ทายาผิดที่ ชีวิตก็บรรลัย ไหลบ่าสู่ห้วงแห้งความทุกข์อย่างมหันต์ ปัจจุบันแม้จะเป็นยุคแห่งเทคโนโลยี แต่ที่เห็นความเชื่อเหล่านั้นยังไม่หมดไปจากสังคมไทย แต่กับยิ่งเพิ่มมากกว่าเดิมอีก นับว่าเป็นสิ่งที่พระเผยแผ่ต้องทำงานอย่างหนักเลยทีเดียวในสมัยปัจจุบัน เอาล่ะเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรากลับมาเข้าเรื่องของวิปัสสนากันต่อไป
เป้าหมายวิปัสสนาคือ ละสมุทัย จนถึงนิโรธ (ปรารถนาพระนิพพาน ในชาตินี้ ทำกันในชาตินี้ ลงมือกันเดี๋ยวนี้) เมื่อท่านได้อ่านบทที่ ๑ แล้วท่านคงจะเข้าใจแล้วว่าอะไรคือตัวทุกข์ ในบทนี้เราเราก็จะมาเรียนรู้หน้าตาของสาเหตุที่เราต้องทุกข์และวนเวียนทุกข์แล้วทุกข์เล่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา หรือหลายร้อยหลายแสนชาติที่ผ่านมา อะไรคือต้นตอของความทุกข์ทั้งมวล เราจะได้รู้ว่าที่ว่าทุกข์มันเกิดจากเทพบันดาล พรหมลิขิต ภูตผีเนรมิตให้หรือไม่ แท้ทีจริงทุกข์มาจากอะไร? ว่าตามสัจจะข้อที่ ๒ ในอริยะสัจ ๔ สาเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวลนั้นคือความเพลิดเพลิน ลุ่มหลง มัวเมา ยึดติดอย่างเหนียวแน่นฝังจิตฝังใจในความอยาก ๓ ประการ คือ กามตัณหา ๑ ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑ ทั้ง ๓นี้เป็นอย่างไร? ตัณหาทั้ง ๓ นี้คือ
๑ กามตัณหา ความอยากในกาม ก่อนจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกามตัณหา เรามารู้จักลักษณะของตัณหาตามความมุ่งหมายในความมุ่งหมายของตัวต้นตอแห่งทุกข์เสียก่อนว่าตัณหาชนิดไหน? ที่ทำให้เกิดทุกข์ ลักษณะตัณหาที่ทำให้เกิดทุก ตัณหา ความอยาก> แสวงหา>ได้มา>ครอบครอง>หวงแหน ยึดติดฝังแน่น ลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมา จนเป็นอุปาทานอย่างฝังรากลึก เพื่อความเข้าใจง่ายๆจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาให้ดูสักตัวอย่าง เช่นนายดำเห็นนางสาวขาว เห็นแล้วเกิดความอยากพยามยามดิ้นรนไขว่คว้าแสวงหาจึงตามจีบเอาอกเอาใจ เมื่อสมหวังได้มา เป็นเจ้าของครอบครอง รักหวงลุ่มหลง เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ การนอกใจ ตายจาก พลัดพราก เข้ากันไม่ได้ สิ่งที่เป็นผลติดตามมาคือทุกข์ใจ คับแค้น เสียอกเสีย ร่ำไรรำพัน อย่างนี้เป็นต้น กามตัณหา ความทยานอยากในกามซึ่งเกิดจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ที่ถูกกับใจ ตาเห็นรูป หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็น ร้อน อ่อนแข็งเป็นต้น ใจคิด นึก ตรึก ตรอง ถึง ผัสสะทั้ง ๕ จะว่าไปแล้วตัวอายตนะนั่นเองเป็นช่องทางสัมผัส เสพโลก บรรดาอารมณ์ต่างๆ ดังนั้นในข้อกามตันหา จึงจะอธิบายในเรื่องของอายตนะไปด้วยเลยเสียทีเดียวเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ตา รับสื่อเข้ามา คือรูป เกิดการรับรู้เพราะผัสสะ จึงเกิด การเห็น (จักขุวิญญาณ)
ข้อนี้เกี่ยวกับการเห็นเราจะเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติที่ทำหน้าที่ของมันเท่านั้น ถ้าเมื่อไดมีอัตตา ตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องว่ากูเห็น สิ่งที่เกิดต่อมาคือ ความยินดียินร้าย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เดินเที่ยวห้าง ตามองไปเจอเสื้อผ้าสวยๆราคาแพง นาฬิกา เรือนงาน โทรศัพท์เครื่องหรู กระเป๋าของนำเข้าราคาสูง ฯลฯ จิปาถะ เมื่อเห็นแล้วเกิดความอยากไม่รู้จบ แต่เงินในกระเป๋าจำกัด รายได้ต่ำรสนิยมสูง อยากๆๆๆ ผลติดตามมาก็ทุกข์ บางรายเพื่อได้เสพสุขตามต้องการถึงกับ ทำทุจริตผิดกฎหมาย หรือแม้แต่ขายตัวก็ทำ พูดมาถึงตรงนี้ท่านทั้งหลายคงเริ่มจะเห็นแล้วว่า ความอยากในรูปทำให้เกิดความทุกข์อย่างไร?
หู รับสื่อ เสียง ผลของผัสสะเกิดการรับรู้เสียง คือการได้ยิน (โสตวิญญาณ)
ในข้อนี้เหมือนกัน ถ้าได้ยินสักแต่ว่าได้ยินก็จะไม่เกิดปัญหาอะไร แต่พอมีตัวตนเข้าไปได้ยิน คือกูได้ยิน มันก็มีทั้งดีทั้งร้าย กูได้ยิน คนนั้นด่ากู นินทากู คนนั้นชื่นชมกู ถ้าคนที่รักกันชอบกัน ก็อยากได้ยินแต่คำว่า รักๆๆ แต่พอได้ยินอย่างอื่นก็ขัดเคือง ดังนั้นเสียงก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความอยาก ดังเราจะเห็นคนที่หลงเสียงเพลงเครื่องเสียงแพงขนาดไหนก็ยอมลำบากหาซื้อมาเพื่อสนองความต้องการจนได้ ไพเราะเสนะหูก็อยากได้ยิน ด่าทอ หยาบคาย นินทา ก็ไม่อยากได้ยิน อย่างนี้เป็นต้น
จมูก รับสื่อ กลิ่น ผัสสะมีขึ้น เกิดการรับรู้คือ ได้กลิ่น (ฆานวิญญาณ)
คนทั้งหลายเมื่อจมูกได้กลิ่นเข้าไปไม่ว่า จะหอมหรือเหม็น จะมีสักกี่คนที่มีสติรับรู้ตามความจริงว่า นี่เป็นแค่เพียงธรรมชาติเท่านั้น มีจมูกที่ไม่พิการ มีกลิ่นมากระทบ มันจะต้องได้กลิ่นเป็นเป็นธรรมดา ถ้ามีกูดม กูได้กลิ่น สิ่งที่ตามมาคือยินดียินร้าย หอมก็อยากได้ เหม็นก็รังเกียจ อยากหนีห่างไกลทันที ดังนั้นกลิ่นก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นแดนเกิดตัณหา อันเป็นเหตุแห่งทุกข์นั่นเอง
ลิ้น รับสื่อ รส ผัสสะมีขึ้น เกิดการรับรู้ คือได้รู้รส (ชิวหาวิญญาณ)
ในข้อเกี่ยวกับรสนี้ ก็เป็นช่องทางแห่งตัณหาอย่างร้ายกาจเช่นกัน ทุกวันนี้แทบจะแทบทั่วทั้งโลกที่คนพยายามสรรหารสอาหารแปลกใหม่มาปรนเปรอความต้องการอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ใครที่หลงติดในรสก็สัดส่ายแสวงหามาเพื่อสนองความอยากให้จงได้จนลืมทุกจุดมุ่งหมายของการกิน ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เรากินเพื่ออะไร? เวลาทำวัตรเช้า วัตรเย็น ก็สวดกันเป็นประจำในข้อที่ว่า ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ ฯลฯ ผาสุวิหาโรจาติ ก็คือข้อพิจารณาอาหาร สรูปสั้นๆในความมุ่งหมายเพื่อการกินจริงๆ ของพระพุทธเจ้าคือ เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ พูดภาษางายๆ กินเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ความเป็นอยู่ เพื่อทำความดี และทำที่สุดแห่งทุกข์ กินเพื่อยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน ทั่วทุกที่ในสังคมเจริญทางวัตถุ เราจะพบร้านอาหารเต็มไปหมด หากกินเพราะหิวก็คงจะไม่แปลก แต่ทุกวันส่วนใหญ่แม้แต่การกินก็ต้องเข้าร้านอาหารภัตตาคารหรูๆ แพงลิบลิ่วเพื่ออวดตน เพื่ออวดบารมีทั้งที่รายได้ไม่ค่อยจะมากนัก รสเหล้า รสอาหาร ยิ่งครบวงจร อาหารรสเลิศ เสียงเพลงไพเราะ หนุ่มหล่อๆ สาวสวยๆ เครื่องของมึนเมาพร้อมเสร็จแล้วละก็คนยิ่งติด ยอมลำบากหาเงินมาสนองความอยากอยู่ร่ำไป ไม่รู้จบรู้สิ้น ดังนั้นรส หรือชิวหาวิญญาณก็เป็นช่องทางเสพโลกทางหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้ เพื่อจะละไม่ให้ตกเป็นทาสชนิดติดกับของรสจนพาตัวเองตกสู่ห้วงความทุกข์ (ในหัวข้อนี้คือการพิจารณาอาหารมีอธิบายในเรื่องใช้ชีวิตแบบปัญญาไม่ใช่ตัณหา)
กาย เป็นแดนรับ โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องกับกาย) เกิดการรับรู้ เรียกว่า กายวิญญาณ
กายก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เสพรู้รสต่ออารมณ์ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจอะไร?ที่เราจะเห็นว่าคนติดสุขเพราะสิ่งที่ถูกต้องกับกายชนิดแบบโงหัวไม่ขึ้นมีมากมาย เช่นการเสพกามที่เรียกกันว่าเพศรส (การมีเพศสัมพันธ์) การติดอยู่ที่นอนนุ่มๆ ห้องแอร์ที่เย็นฉ่ำ พูดมาถึงตรงนี้อาจมีหลายคนค้านขึ้นมาว่าก็มันมีให้ใช้ ที่พูดนี่มุ่งหมายคนที่กำลังการแสวงหาทรัพย์น้อยแต่ยอมลำบากเพื่อปรนเปรอความสบาย หรือเศรษฐีที่ออกจากบ้านไปที่ไหนจะต้องสบายไปทุกๆที่ ทีไหนไม่ได้ดั่งใจก็คับแค้นขัดเคือง ในส่วนนี้จะมีคำอธิบายในหัวขอที่ว่า การใช้ชีวิตแบบตัณหาและปัญญา ซึงจะได้พูดถึงเป็นหัวข้อต่อไป สรูปว่า ทางกายก็เป็นอีกทางที่เราจะต้องเอาสติเข้าไปควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้ตกเข้าไปเป็นทาสของตัณหาคือความอยากนั่นเอง
มโน (ใจ) เป็นแดนรับธรรมในใจ(เรื่องในใจ) เกิดความรู้สึกในใจ (มโนวิญญาณ)
จะว่าไปแล้วเรื่องในใจนี่แหละเป็นจุดรวมของผัสสะที่เข้ามาทั้ง๕ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มารวมลงที่ใจ เพราะฉะนั้น แม้บางเวลาที่เราอยู่คนเดียวเงียบในห้องส่วนตัว ถึงจะปิดไฟมืดสนิท นอนนิ่งบนที่นอน แต่ใช่ว่าใจมันจะมืดหรือนิ่งไปด้วย ใจมันยังนึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่ถูกต้องกับกาย ที่ผ่านมามิได้ขาด แล้วก็นำมาปรุง คือคิดไปต่างๆนาๆสารพัด ดังนั้นจึงส่งผลต่อความรู้สึก สุข ทุกข์ แจ่มใส หดหู่ ฯลฯ ตัวอย่างคนที่มีปัญหาชีวิต ทั้งเรื่องงาน ความรัก ครอบครัว แล้วหลบหนีไปอยู่ที่เงียบๆอาจจะเข้าป่าไปอยู่คนเดียว แต่ว่าใจมันไม่ได้ไปด้วย มันก็คงอยู่กับปัญหา อยู่กับคนรัก อยู่กับความวุ่นวายในใจอยู่นั่นแหละ เพราะความจริงไม่ว่าเราไปไหน ใจมันก็ไปกับเรานั่นแหละ จะดับ มันก็ต้องดับที่ใจ เหมือนกับที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุผู้อยู่ป่าว่า ถ้าภิกษุได ปรารถนาว่าจักปลีกวิเวก (ไปสู่สถานที่สงบหรือป่าอยู่คนเดียว) แต่เธอนั้นมีใจเป็นที่ ๒ คือคิด นึก ตรึก ถึงมาตุคามอยู่เนืองนิตย์ ภิกษุนั้นไม่ชื่อว่าปลีกวิเวกเลยพิจารณาจากตรงนี้เราจะพบว่าพระองค์ทรงมุ่งหมายถึงการแก้ความวุ่นวายใจเสียก่อนคือ ให้ใจสงบอีกอย่างคือเคลียปัญหาคาใจหรือที่กังวลใจก่อน เพื่อความพร้อมที่จะทำความเพียรขั้นต่อไปดังนั้นความสงบสงัดพระองค์ไม่มุ่งเน้นว่าเป็นสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่พระองค์ทรงมุ่งหมายคือความสงบใจ คือใจที่สงัดจากกามกิเลสนั่นเอง
สรูปว่าตัววิญญาณทั้ง ๖ นั่นเองเป็นเส้นทางแห่งการเกิดกามตัณหา (การจะเป็นวิญญาณหรือไม่อยู่ที่การใสใจ เพราะถ้าไม่ใส่ใจก็ไม่ทำให้เกิดวิญญาณเช่น ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง ตัวอย่างเวลาเราได้ยินเสียงคนพูดกัน แต่เราไม่ใส่ใจที่จะฟัง คือสนใจอย่างอื่นอยู่ เราก็ไม่รู้เรื่องว่าเขาพูดอะไรกัน) กามตัณหานี่แหละเป็นต้นตอแห่งการเกิดทุกข์ และตัวกามตัณหานี่แหละ พอมันได้มากๆจนติดแล้วมันก็จะส่งให้เป็นตัณหาตัวต่อไปคือภวตัณหา ถ้าพูดแบบง่ายๆคือ อยากได้ อยากเป็น อยากหนี เอาละที่บรรยายมาแค่นี้ ท่านทั้งหลายคงรู้เข้าใจแล้วว่า กามตัณหาคืออะไร ต่อไปเรามารู้จักว่าภวตัณหาคืออะไรกันต่อไป ภวตัณหา ความอยากเป็น ภวตัณหาถ้าพิจารณาเราจะเห็นว่ามันก็มาจากกามตัณหานั่นเอง แต่คราวนี้มันพัฒนายกขึ้นมาอีกระดับที่นับวันยิ่งฝังรากลึกลงไปทุกที อาตมาจะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ดูง่ายๆทั้งในอดีตกาล และสมัยปัจจุบันเพื่อท่านทั้งหลายจะมองภาพออกว่าตัณหาทั้ง ๒ นี้เป็นจุดเชื่อมต่อกันอย่างไร? และอาศัยกันอย่างไร? ตัวอย่างที่ ๑ ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์แต่ละประเทศ เราจะเห็นว่า การเป็นพระราชามักจะถูกกลุ่มอำนาจอีกฝ่ายคอยจ้องแย่งอำนาจเสมอ ทำไมคนเป็นใหญ่มีอำนาจในสมัยโบราณจึงใฝ่ฝันความเป็นพระราชา ความเป็นพระราชานับว่าเป็นความลำบากมาก เพราะต้องคอยบริหารบ้านเมือง คอยดูแลทุกข์สุขของประชาชน แต่ทำไมจึงมีแต่คนอยากเป็น เช่นพระมหากษัตริย์ที่แก่งแย่งชิงอำนาจกันจนบ้านเมืองขาดความสามัคคีในปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงเสียกรุงให้กับประเทศพม่าครั้งที่๒ เหล่าขุนนางประจบสอพลอเพื่อการก้าวสู่อำนาจก็คือความอยากเป็น อะไร?เป็นปัจจัยที่ผลักดันชนิดที่ต้องแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นมาให้ได้ ถ้าเรามองย้อนไปก็เพราะหลงติดอยู่กับกาม เกียรติ์ เมื่อเสพสุขอยู่กับกามารมณ์จนติดแล้ว ก็เกิดการหวงแหนอยากให้สิ่งที่ตนครอบครองอยู่เป็นไปในอำนาจ และไม่มีใครมาแย่งไปก็จำต้องเป็นผู้มีอำนาจวาสนา เพื่อเพิ่มกำลังในการแสวงหาผลประโยชน์ในหารสนองตอบต่อความต้องการที่ไม่เคยพอ เพื่อตน เพื่อครอบครัว เพื่อพวกพ้อง เพื่อความเป็นตามที่ต้องการแม่จะฆ่าล้างฝ่ายตรงข้ามก็ตาม ดังเราจะเห็นการรบราฆ่าฟันของคน ๒ กลุ่มเสมอคือ ฝ่ายที่เป็นผู้มีอำนาจ พระราชา สู้เพื่อรักษาความเป็นผู้มีอำนาจ อีกฝ่ายสู้เพื่ออยากเป็นผู้มีอำนาจ เพื่อให้ได้มาเพื่อความเป็นพระราชา ผู้มีอำนาจ แล้วใช้อำนาจเพื่อกามตัณหานั่นเอง อยากได้>อยากครอง>เบื่อหน่ายอยากหนี ตัวอย่างที่ ๒ ปัจจุบันเราจะเห็น คนส่วนใหญ่มุ่งแสวงหาทรัพย์เพื่อกาม เพื่อเกียรติ์กันตลอด น้อยคนจะเข้าใจเป้าหมายว่าแสวงหาทรัพย์เพื่ออะไร? ดังนั้นเราจะเห็นว่าเป็นคนธรรมดาแล้วก็อยากเป็นเศรษฐี ต่อไปก็อยากเป็นนักการเมือง อ.บ.ต –อ.บ.จ –ส.ส –รัฐมนตรี -นายกรัฐมนตรี จะมีสักกี่คนที่อยากเข้ามาเป็นเพื่อประเทศจริงๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปเพื่อธุรกิจ กลุ่มธุรกิจ พวกพ้อง พี่น้อง เห็นง่ายๆมีการแบ่งฝักฝ่ายแล้วก็ช่วงชิงอำนาจ เมื่อมีอำนาจตามภวตัณหาคือความอยากเป็นแล้ว ก็จะย้อนกลับมาแสวงหาในเรื่องกามตัณหาอีกนั่นเอง สรูปว่า ไม่ว่าอยากเป็นอะไร ดารา นักร้อง นักธุรกิจ นักการเมือง คนดัง คนเก่ง เมื่อมองถึงสาเหตุก็จะพบว่าเพื่อกามเกียรติ์ นั่นเอง ดังนั้นภวตัณหาเป็นทุกข์ คืออยากเป็นก็ให้ทุกข์ เมื่อเป็นแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ในการรักษาความเป็น ดังที่คนมักพูดว่า เป็นคนดังนั้นว่ายาก แต่จะรักษาความดังนั้นยิ่งยากกว่า หรืออยากเป็นคนสวยแล้วก็ทำทุกอย่างเพื่อความสวย จะผ่าจะตัดจะเสริมก็ยอม สวยแล้วการรักษาความสวยให้คงอยู่กับลำบากกว่า เพราะสัพพะสิ่งในโลกหล้าล้วนอนิจจัง วิภวตัณหา อยากออกจากความเป็นที่เป็นอยู่ ( ความเบื่อหน่าย อยากหนีจากสภาพที่เป็นอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งความขัดใจ คับแค้นกับสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ความหมดอาลัยตายอยาก หรือความเป็นในสิ่งที่ไม่อยากเป็น) วิภวตัณหานี้ที่ผ่านมาเราจะเข้าใจยากสักหน่อย และหาหนังสือที่อธิบายเนื้อความที่ชัดเจนนั้นยิ่งลำบาก ดังนั้นข้าเจ้าจะอธิบายพร้อมตัวอย่างง่ายๆ ขอย้อนไปในสมัยโบราณก่อนการเกิดพุทธศาสนาสักหน่อย ในสมัยก่อนคนหมกมุ่นอยู่กับ กามตัณหาและภวตัณหา เช่นพระราชาเป็นต้นความสุขในโลกนี้พระราชาถือว่าได้เสพสุขมากที่สุด หรือพราหมณ์ คหบดี ต่างก็เสพสุขทางโลกตามความต้องการทางกามกันมาตลอดเพราะคิดว่าจะให้ความสุขได้ตลอด จึงกอดรัดอยู่กับกามารมณ์ แต่พอความทุกข์เข้ามาจริงๆไม่ว่าจะเป็นความผิดหวัง ความพลัดพราก ความแก่ความเจ็บ ความตาย กับเป็นความทุกข์ที่ยากต่อการแก้ไขจึงดิ้นรนแสวงหาวิธีการออกจาทุกข์ประการนี้โดยวิธีการต่างๆ จึงเริ่มมีการออกบวช แสวงหาความพ้นทุกข์ ที่เริ่มมีบทมากในประเทศอินเดียเราจะเห็นปรากฏในยุคอุปนิษัท ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ จะมองอีกแง่มุมหนึ่งก็จะเห็นว่าคับแค้น ขัดเคือง หรือหมดหวัง เช่นไม่อยากเป็นคนแก่แต่มันก็เป็น ไม่อยากเป็นคนล้มเหลวแต่ก็มาเป็นเป็นต้น จึงดิ้นรนหาทางออกอยากเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ในสมัยนั้นที่นิยมกันมากที่สุดก็เห็นจะเป็นการทรมานตนเอง (ทำทุกกิริยา) ถ้าในธรรมจักรจะพบว่าคนในสมัยนั้นพยามออกจากทุกข์ด้วยสองวิธีคือ การประกอบตนในกาม คือ คิดว่าเกิดมาชาติเดียวเดี๋ยวก็ตาย อะไรบำเรอบำรุงตนได้ด้วยกามก็แสวงหา เสพรสแห่งกามนั้นๆ อีกพวกคือทรมานร่างกายตน ซึ่งพระพุทธเจ้าของพวกเราได้ปฏิเสธทางสุดโต่งทั้ง ๒ ทาง หันมาดำเนินด้วยทางสายกลางเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา สรูปว่าวิภวตัณหา ก็คืออาการที่เบื่อหน่ายกับสิ่งที่มี ที่เป็น เอาแบบเข้าใจง่ายๆภาษาชาวบ้าน วิภวตัณหา คือ ความเบื่อหน่าย ขัดใจ คับแค้น ไม่เป็นอย่างที่อยากได้อยากเป็นนั่นเอง
เพื่อละสมุทัย (กามตัณหา-ภวตัณหา-วิภวตัณหา)
เมื่อท่านทั้งหลาย ได้อ่านบทที่ ๑ มาแล้วก็จะเข้าใจว่า วิปัสสนาคืออะไร และเราก็ได้เข้าใจแล้วว่า สมุทัยคื่ออะไร ดังนั้นเป้าหมายของการปฏิบัติวิปัสสนาก็จะเข้าใจง่ายขึ้นว่าเราปฏิบัติวิปัสสนาเพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ คือดับที่เหตุ ก็คือละสมุทัย ต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งมวลบรรดามี ในสมุทัย นั้นก็มีกิจของสมุทัยออยู่ ดังที่ปรากฏในธรรมจักรกัปปะวัตตะนะสูตร จะเห็นอยู่สองขั้นตอนนั้นคือ ปะหาตัพพันติ พึงละ ๑ ปะหีนันติ ย่อมละ ๑ ปะหาตัพพันติ พึงละ หมายความว่าเมื่อเรารู้ว่าเหตุแห่งทุกข์มาจากอะไร อย่างแรกคือค่อยๆละไป ด้วยใช้ความเพียรอย่างต่อเนื่อง ต้องใช้อิทธิบาทเข้าช่วยเหลือ ก็เป็นธรรมดาล่ะก็กิเลสตัณหา มันอยู่ก็เรามานานไม่รู้กี่ภพกี่ชาติจะตัดขาดละได้ทันทีทันได มันก็ลำบากอยู่ ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเลยวางกิจข้อแรกคือค่อยๆละไป ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าความเพียรอันเป็นไปติดต่อ ถ้าบารมียังไม่แก่กล้าปัญญายังไม่ถึง เราก็ต้องค่อยๆทำไปเพราะว่าทำวิปัสสนากรรมฐานมีแต่กำไรชีวิต ไม่มีขาดทุนทำน้อยๆก็ได้น้อยๆทำมากๆก็ได้มากๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พหุลีกะตายะ ทำให้มากๆ คือทำจนเป็นนิสัย ความเคยชิน เป็นชีวิตจิตใจ ปัญหาคือคนสมัยนี้ใจร้อนด่วนได้ ทำอะไรก็ต้องให้ได้ดั่งใจนึก เรียกว่าอยากเป็นพระอริยะหรือพระอรหันต์กดปุ่มกันเลยทีเดียว รวมความว่ากิจข้อแรกค่อยๆละ เหมือนคนติดเหล้ามานานอยากจะเลิกอย่างจริงจังก็ค่อยๆลดจำนวนลงปรับสภาพร่างกายดีแล้วคราวนี้ก็ต้องละเลิกให้ได้ ปะหีนันติ ต้องละ หมายความว่าเมื่อเราค่อยๆละมาแล้วระยะหนึ่ง จนปัญญาแก่กล้าบารมีพร้อมคราวนี้เราก็ต้องละให้ได้เด็ดขาด เหมือนตัวอย่างในข้อแรก เมื่อเราเลิกเหล้าได้แล้ว ไม่มีอาการลงแดง อาการสั่นเพราะติดเหล้าหายไป คราวนี้เราก็มาบำบัดรักษาอาการให้หายขาด เมื่อหายขาดแล้วเราก็ต้องมารักษาใจ คือทำอย่างไรเราจะไม่อยากอีก คือไม่กลับไปกินเหล้าอีก เพราะบางคนเลิกมาละได้แต่ใจละไม่ขาดก็อาจกลับไปกินอีกได้ ดังนั้นใน กิจข้อที่๒ นี้คือละได้แล้วมันจะไม่หวนกลับมาอีก อุปมากิเลสตัณหาดั่งงูร้ายเราจะฆ่างูที่มีความปราดเปรียวว่องไว มีพิษร้าย อย่างแรกเราให้มันอดอาหาร ดักไว้ในกับดัก ปล่อยให้อดอาหาร พอมันหมดเรี่ยวแรงก็ตีหัวมันเลย กับตัณหาเหมือนกันถ้าเราตามใจตัณหา คือเติมอาหารของกิเลส คือเสพกามารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ่น กาย ใจแบบลุ่มหลงมัวเมาเพลิดเพลิน จนขาดสติตลอดเวลา กิเลสมันก็อิ่มหนำสำราญด้วยอาหาร การที่เราจะไปจัดการกับมันก็ลำบาก ดังนั้นเราต้องดักทางมันให้มันตกเข้ามาในหารควบคุม คือสติ งดอาหารของกิเลส แล้วเราค่อยจัดการมันขั้นเด็ดขาด อาวุธที่สามารถประหารกิเลสให้แหลกเป็นผุยผงได้ ก็มีทางเดียวนั่นคือ ทางสายเอก ทางนั้นคือสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธะองค์ตรัสว่า ทางสายเอกแห่งการับทุกข์ สติปัฏฐาน ๔ ก็คือหลักเทคนิค วิธีการปฏิบัติวิปัสสนานั่นแหละ ดังนั้นกิจข้อที่ ๒ คือ การละได้อย่างเด็ดขาดนั่นเอง วิปัสสนาเป็นอย่างไร ? ในบทที่ ๑ เราจะทราบมาแล้วว่า วิปัสสนาคืออะไร มาในบทที่ ๒ เรื่องละสมุทัย เราจะมารู้กันว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร คือปฏิบัติแล้วลำดับขั้นตอนการละสมุทัย คือเหตุแห่งทุกข์นี้อย่างไร ในขั้นตอนต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะขอยกเอาขั้นตอนของวิปัสสนาในหนังสือคู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์ ของท่านพุทธทาส มาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ โดยภาษาง่ายๆ เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติและคอยเป็นเครื่องตรวจสอบตนเองว่า การปฏิบัติของเรานั้นพัฒนาขึ้นหรือไม่ ในที่นี้จะกล่าวถึงวิสุทธิ์ ๗ เปรียบเหมือนเราจะเดินทาง ถึงจุดหมายปลายทางนั้นจะต้อง ต่อรถ ถึง ๗ คัน คือลงท่านี้ ตีตั๋วต่อท่านั้นทันที วิสุทธิ์ ๗ มีอะไรบ้าง? วิสุทธิ ๗ คือ สีลวิสุทธิ ๑ จิตตะวิสุทธิ ๑ ทิฏฐิวิสุทธิ ๑ กังขาวิตรนวิสุทธิ๑ มัคคามัคคญาณทัสสะนะวิสุทธิ ๑ ปฏิปทาญาณวิสุทธิ๑ ญาณวิสุทธิ ๑ ๑. สีลวิสุทธิ คือ ผู้ที่ฝึกวิปัสสนากรรมฐานเมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว อย่างแรกเลยคือทำแล้ว สติจะต้องมีในการที่จะพูด จะทำ โดยมีสัมมาทิฐิและสัมมาสังกัปปะ คือตัวปัญญานำหน้ามาคอยควบคุมความประพฤติทางกายและวาจา ให้เป็นไปเรียบร้อย เรียกว่าปัญญาอบรมศีล การปฏิบัติสติปัฏฐานอย่างแรกเลยจะต้องเกิดศีล เมื่อสติปัญญาอบรมศีลบริสุทธิ์แล้ว ศีลก็เป็นบันไดทำให้เกิดสมาธิๆก็ไปอบรมจิตทำให้จิตบริสุทธิ์ สีลวิสุทธิจึงเป็นบันไดขึ้นต่อวิสุทธิขั้นต่อไป นั้นคือ จิตตะวิสุทธิ ๒.จิตตะวิสุทธิ คือ จิตบริสุทธิ์ ในข้อนี้ขออธิบายง่ายๆว่า จิตบริสุทธิ์ คือจิตที่เป็นสมาธิ สมาธิในที่นี้หมายถึง จิตที่เป็นกัมมโยนิ คือจิตที่ควรต่อการงาน พูดเข้าใจง่ายๆจิตที่พร้อมจะรู้ธรรมในขั้นต่อๆไปด้วยสภาพที่ โป่งโล่ง เบาสบาย ไม่มีนิวรณ์มาขวางกั้น เมื่อมาถึงตรงนี้จิตตะวิสุทธิก็จะส่งไปสู่วิสุทธิตัวที่ ๓ ซึ่งเริ่มเป็นตัววิปัสสนาของแท้เลยก็ว่าได้ เพราะตัววิปัสสนาจะว่าไปแล้วก็เริ่มตรงที่ ทิฏฐิวิสุทธินี่แหละ ๓.ทิฏฐิวิสุทธิ ความเห็นบริสุทธิ์ มาถึงข้อนี้ความเห็นจะบริสุทธิ์แล้ว คือไม่เห็นว่า เป็นสัตว์ บุคคล เรา เขา คือไม่มีความเห็นรูปร่างกาย กับจิตใจ ว่าเป็นตัวกู ของกูแล้ว จะเห็นแต่เพียงว่า มีแต่ธรรมชาติที่ปรุงแต่งเท่านั้น คือเห็นเพียงรูปกับนาม มีแต่รูปยืน รูปนั่ง รูปเดิน รูปนอน ที่รู้ว่านั่ง ว่ายืน ว่าเดิน ว่านอน ก็คือนาม ตัวกูของกูก็หายไป ความสงสัยในรูปนามก็จะหายไป จึงเป็นการก้าวขึ้นวิสุทธิข้อต่อไป ๔. กังขาวิตรนวิสุทธิ การข้ามข้นอย่างหมดข้อสงสัยอย่างหมดจด แล้วจะเข้าใจว่าชีวิตคืออะไร เป็นอย่างไร คือเห็นร่างกายกับใจ เป็นแต่ของปรุงแต่งขึ้นทั้งนั้น ความสงสัยในเรื่องอำนาจการดลบันดาลให้เป็นไปในอำนาจ หรือการดลบันดาลของเทพเจ้าก็จะไม่มี เห็นแต่ตัวธรรมชาติคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของขันธ์ ๕ จะเข้าใจว่า ตัณหา อุปาทาน คือตัวต้นเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่อำนาจดวงชะตา พรหมลิขิตแต่อย่างได แล้วต่อไปก็จะเห็น ทางที่จะเดินต่อไป และทางที่ไม่ควรเดินเรียกว่าวิสุทธิขั้นต่อไป ๕. มัคคามัคคะญาณทัสสะนะวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งการเห็นด้วยญาณในทางที่จะก้าวต่อไป และทางที่ไม่ก้าวต่อไป ในข้อนี้จะลำบากสำหรับผู้ปฏิบัติที่ไม่มีครูอาจารย์คอยสอบอารมณ์ หรือสำหรับนักปริยัติทั้งหลายที่ไม่มีอาจารย์คอยกำกับดูแล เพราะมาถึงตรงนี้บางคนกับพอใจกับสภาวธรรมต่างๆที่เกิดกับตนเองในลักษณะต่างๆบางคนถึงกับเข้าใจว่าเป็นผลสำเร็จเลยก็ว่าได้ บางท่านเห็นเทวดามาหามาไหว้มาบอกมรรคบอกผล เห็นครูบาอาจารย์เก่าๆที่ตนนับถือมาตลอดชีวิต มาเทศน์มาแสดงธรรมให้ฟัง หรือบางทีก็เกิดแสงสว่างภายในตนเองแล้วปีติสุขอย่างรุนแรง หรือเกิดสุขชนิดที่ประณีตละเอียดที่ตนไม่เคยสัมผัสมาก่อน หรือการที่เกิดแตกฉานในข้ออรรถ ข้อธรรมต่างๆจนน่าอัศจรรย์ ถ้าพอใจแค่อยู่ตรงนี้ก็ยากที่ข้ามต่อไปได้ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติละต่อไป ไม่สนใจกับสิ่งที่พบเห็นในการปฏิบัติด้วย สติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม เห็นแต่เพียงความเกิดดับของนามธรรมขั้นละเอียดก็จะพบทางที่ตนจะเดินต่อไป และจะพบว่าทางอีกทางเป็นทางที่ไม่ควรเข้าไปยึดถือหรือหลงเดินเข้าไป พอถึงตรงนี้เราก็จะก้าวต่อไปสู่วิสุทธิข้อต่อไปคือปฏิปทาญาณวิสุทธิ ๖.ปฏิปทาญาณวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งความรู้ในทางปฏิบัติ ในข้อนี้จะเห็นทางการปฏิบัติที่ตรง ไม่สัดส่ายหลงทางแล้ว คือเห็นแล้วว่าจะปฏิบัติอย่างไรจนถึงความพ้นทุกข์ซึ่งในข้อนี้ก็แบ่งย่อยซอยลำดับลงไปอีกถึง ๙ ข้อ ที่ท่านเรียกว่าวิปัสสนาญาณ ๙ นั่นเอง
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณที่เข้าไปรู้ การเกิดขึ้น และการเสื่อมไปของสังขารทั้งหลาย ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม เช่นเห็น การเกิดเวทนา และดับไปของเวทนา ตัวอย่างการปวดท่องเข้าห้องน้ำ หรือเห็นความเกิดขึ้นของความคิด ตลอดจนเห็น การเกิดของกาย และการดับของกาย ทั้งภายในภายนอก เป็นต้น ๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณที่เห็นแต่ความสิ้นไปเสื่อมไป ของสังขารทั้งหลาย จากสัตว์ บุคคล บ้าน ภูเขา จนเห็นการแตกสลายไปของโลกและทุกสิ่ง ๓. ภยตุปัฎฐานญาณ ญาณที่เห็นภัยที่เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เห็นว่าการเกิดมาในโลกนี้น่ากลัวด้วยภัย คือภัยอันเกิดแต่ ราคะ โทสะ โมหะ จนทำให้จมในวัฏฏะสงสาร ต้องวนเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น หาที่สุดไม่เจอ เกิดความกลัวชนิดที่ถอนความพอใจทั้งในโลกนี้หรือโลกของสวรรค์ มุ่งหวังคือนิพพานเท่านั้น ๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ เห็นโทษแห่งอวิชาอันเป็นตัวต้นตอแห่งวัฏฏะจักรทั้งหลาย เช่นการเกิด แก่เจ็บ ตาย ในโลกมนุษย์ การหมดบุญในโลกสวรรค์ ในที่ไหนๆก็รู้สึกว่าไม่ปรอดภัย เต็มไปด้วยโทษภัย เหมือนคนเข้าป่า ก็เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย ลงทะเลก็เจอแต่ฝูงปลาฉลาม เข้าเมืองก็เจอแต่โจร อย่างนี้เป็นต้น ๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณตามดูรูปนามด้วยความเบื่อหน่าย มาถึงตรงนี้จะเต็มไปด้วยความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ คือรูปกับนามที่ตนเคยยึด เคยหลงว่าตัวกูของกูอย่างรุนแรง เหมือนสามีภรรยาที่รู้เช่นเห็นชาติกันทุกอย่างแล้วเบื่อหน่ายอย่างมากมาย หมดความรักความห่วงใยกันชนิดไม่เหลือไว้ในใจสักน้อยนิด จนออยากอย่าขาดกันอย่างรวดเร็วทันทีทันได ๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณปรารถนาที่จะพ้น ญาณในข้อนี้คืออาการที่อยากหลุดพ้นจริงๆ เนื่องจากเห็นความทุกข์ที่น่ากลัวในภพทั้ง ๓ ยิ่งเห็นมากยิ่งอยากพ้นมาก เหมือนกับการที่สัตว์ป่าที่มันดิ้นรนอยากพ้นจากที่คุมขัง หรือกับดัก หรือเหมือนเขียดที่พยายามดิ้นออกจากปากงู ๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณพิจารณาทางรอด มาถึงตรงนี้สติปัญญาทำงานอย่างเต็มที่เพื่อพิจารณาหาทางรอด แล้วจะเข้าใจว่า ตัวปัญหาทั้งมวนมันอยู่ตรงที่ ตัณหา อุปาทาน นี่เอง ว่าโดยย่อคือตัวอุปาทานขันธ์นั่นเอง แล้วสติสัมปชัญญะก็จะพิจารณาอุบายเครื่องทำลายตัวตัณหาอุปาทาน เหมือนกับการคิดหาวิธีฆ่างูที่ยกตัวอย่างมาแล้วนั้นนั่นเอง ๘. สังขารุเปกขาญาณ ญาณในการวางเฉยต่อสังขาร หรือที่เรียกกันว่าอุเบกขาญาณ เช่นความฟุ้งซ่าน เราเคยทุกข์กับมัน พอรู้เท่าทันว่ามันแค่นามธรรมเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา เพราะถ้ามันคิดเราจะหนีมันไปไม่ได้ จะนอน จะนั่ง จะเข้าบ้าน เข้าป่า มันก็ไปกับเราได้ทั้งนั้น พอวางเฉยกับมัน มันก็สงบไปเอง ตรงนี้เป็นความวางเฉยที่ละเอียดมาก จะไม่มีความรัก ความชัง ในสังขารทั้งปวง นึกถึงคนชังก็ไม่ชัง นึกถึงคนรักก็ไม่รัก วางเฉยต่อทุกอย่าง เหมือนสามีภรรยาที่หมดรักต่อกันแล้ว อย่าร้างกันไปนาน ไปพบเขาควงคนใหม่ ก็ไม่รู้สึกอะไรเลยสักนิดเดียว ตรงนี้ราวกับว่าไม่หลงเหลือกิเลสอะไรอีกเลย ตรงนี้แหละที่นักปฏิบัติส่วนใหญ่เลิกความเพียรต่อเพราะเข้าใจว่าตนเองบรรลุอรหันต์แล้ว แม้แต่ตัวข้าพเจ้ายังเคยเกือบเข้าใจผิดมาแล้วดีที่มีครูอาจารย์คอยชี้แนะ ที่จริงมันยังอยู่แค่อุเบกขาญาณเท่านั้นเอง ๙. สัจจานุโลมญาณ ญาณที่ตามรู้เห็นตามความเป็นจริง มาถึงตรงนี้ญาณก็จะมารู้อริยสัจจ์ ๔ โดยลักษณะปฏิจจะสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น (จะมีอธิบายในข้อต่อไป) โดยการวน ๓ รอบ คือ อนุโลม ปฏิโลม ทั้งปฏิโลมและอนุโลม รู้ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับแห่งกองทุกข์ มรรคทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์
ทั้ง ๙ ข้อนี้เป็นลำดับญาณในวิสุทธิข้อที่ ๖ อันที่จริงในสติปัฏฐานก็เรียงลำดับไว้แล้ว เพียงแต่สั้นและง่าย เพื่อความสะดวกสบายในการปฏิบัติ แต่ญาณ ๑๖ หรือนี้พระอรรถกถาจารย์ท่านมาเรียงไว้เพื่อความเข้าใจมากขึ้น จะได้อธิบายเชื่อมโยงให้มองเห็นภาพในข้อว่าด้วยสติปัฏฐานต่อไป ๗.ญาณวิสุทธิ ความรู้ที่บริสุทธิ์ เป็นความรู้ที่อิสระ โป่งโล่ง หลุดพ้นจากอวิชา เป็นความรู้จริงตามสภาวะธรรมชาติล้วนๆเท่าทีมันเป็น ไม่มีตัณหาอุปาทานมาเกี่ยวข้อง เป็นญาณความรู้พร้อมที่จะข้ามโคตรภูญาณ ข้ามฝั่งจากปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยะเจ้า ลงสู่กระแสแห่งพระนิพาน ตั้งแต่พระโสดาบัน-พระอรหันต์นั่นเอง เอาละจากที่อธิบายมา ในบทที่ ๒ นี้ ท่านทั้งหลายคงจะเห็นชัดแล้วว่าปฏิบัติวิปัสสนาเพื่ออะไร เป้าหมายคืออะไร และวิปัสสนาเป็นอย่างไร ดังที่ได้บรรยายมาก็จบแต่เพียงเท่านี้
๓.ได้อะไร? ได้นิโรธ( ถึงเป้าหมาย )
[แก้ไข]นิโรธคือ
[แก้ไข]อิทัง โข ปนะ ภิกขเว ทุกขะนิโรโธ อริยสัจจัง ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อนาลโย ฯ
- ภิกษุทั้งหลาย ก็อริยสัจจ์ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้ มีอยู่ เพราะจางไป โดยไม่เหลือของตัณหาเองนั่นเอง เป็นความสละทิ้ง เป็นความสลัดคืน เป็นความปล่อย เป็นความไม่มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น ฯ
จากพุทธะดำรัสเบื้องต้น เราจะเห็นความหมายของนิโรธอย่างชัดเจนว่า การถึงเปาหมายถึงนิโรธแล้วนั้นเป็นอย่างไรบ้าง สรูปคือ ความดับทุกข์ที่มีอยู่ เริ่มตั้งแต่ค่อยๆจางไปจนไปถึงดับโดยไม่เหลือ จึงแบ่งเป็น ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีอรหันต์ ดับหรือตัดสังโยชน์ ๑๐ นั่นเอง ซึ่งเป็นไปตามลำดับดังนี้
๑. เป็นความสละทิ้ง (จาโค) ๒. เป็นความสลัดคืน (ปฏินิสสัคโค) ๓. เป็นความปล่อย (มุตติ) ๔. เป็นความไม่มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้นฯ (อนาลโย)
ก่อนที่เราจะมารู้จักการละสังโยชน์ ๑๐ ตามลำดับขั้นของพระอริยะบุคคล คือผู้ปฏิบัติที่ข้ามโคตรภูญาณมาแล้วนั้น เรามารู้จักหน้าที่ที่ต้องทำในนิโรธนี้เสียก่อนว่า กิจในนิโรธนี้มีอะไรบ้าง กิจของนิโรธ ในนิโรธนี้ ว่าตามหน้าที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในธรรมจักกัปปะวัตตะนะสูตรมีอยู่ ๒ อย่างคือ สัจจิกาตัพพันติ พึงกระทำให้แจ้ง ๑ สัจจิกะตันติ ย่อมกระทำให้แจ้ง ๑
๑.สัจฉิกาตัพพันติ พึงกระทำให้แจ้ง
[แก้ไข]ในคำนี้จะมีความหมายแตกจ่างจากข้อ ๒ อยู่บ้างถึงดูจะเหมือนกันก็จริง คำว่าพึงกระทำคือยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการอยู่ คือยังดำเนินการอยู่ยังไม่สำเร็จ สำหรับข้อที่ ๒ คือสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ทำให้แคล่วคล่องชำนาญเพื่อนำมาเปิดเผย ชี้ทาง บอกกล่าว แก่ผู้ที่ยังไม่แจ่มใสชัดแจ้งได้ ทำให้แจ้งซึ่งอะไร ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจจ์๔ โดยปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างไร? ปฏิจจสมุปบาท คือ กระบวนการธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เหมือนที่เรามองเห็นต้นไม้ ถ้าเรามองเห็นกระบวนธรรมชาติที่มันเจริญเติบโตมาตั้งแต่ต้น คืออาศัยเมล็ดพันธุ์พืชที่มีเชื้อในยางเช่นเมล็ดมะม่วง ฝังลงดินพอเหมาะ อาศัยความอบอุ่นรสแห่งดิน ความชื้นแห่งน้ำในดินแล้วจึงค่อยๆเกิดและอาศัยรากที่งอกแล้วดูดซับอาหารจากดินจึงค่อยเจริญเติบโตตามลำดับ ความเกิดแห่งสังขารทั้งหลายที่เป็นรูปและนามก็เช่นกันย่อมอาศัยปัจจัยหนุนเนื่องกันและกันเกิดขึ้นอย่างนี้คือ
- อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร
- สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ
- วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป
- นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ
- สฬายตะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ
- ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา
- เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา
- ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน
- อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ
- ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ
- ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความพลัดพราก ฯลฯ
ซึ่งพอจะมองเห็นเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างนี้ อวิชชา> สังขาร> วิญญาณ> นามรูป> สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหา> อุปาทาน> ภพ >ชาติ > ชรา มรณะ ฯลฯ
อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร อย่างไร? อวิชชานั้นได้แก่ ความไม่รู้จริง ไม่รู้ชัดแจ้งว่าความจริงเป็นอย่างไร ไม่รู้อะไร? คือไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร และเป็นไปอย่างไร? จึงยึดมั่นถือมันอย่างเหนียวแน่น ว่าเป็นโน่น เป็นนี่ คือ เป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือเห็นว่าเป็นตัวกู ของกู พอมันเปลี่ยนแปลงไปเพราะกฎธรรมชาติคือไตรลักษณ์ ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร? จึงทึกทักเอาว่า เป็นเพราะอย่างนี้ อย่างนั้น คือ เทพบันดาล พระเจ้าสร้างสรรค์มา เกิดจากอำนาจของผู้มีฤทธิ์ เช่นคนโบราณเห็น ฝนตก ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง ก็เกิดจินตนาการว่ามีเทพเจ้าว้างขวานเป็นต้น ไอ้ตัวจินตนาการนั่นแหละเรียกว่าสังขาร ดังนั้นพอเกิดอวิชชาคือไม่รู้จริงว่าขันธ์ ๕ นี้ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจึงไม่รู้ ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้การดับทุกข์ ไม่รู้มรรควิธีแก้ทุกข์ จึงปรุงแต่งๆปต่างๆนาๆ เหมือนกับเราเห็นคนที่รักทำหน้าบึ้งตึงใส่ ยิ่งเรามีแผลในใจซักอย่างเช่นแอบมีกิ๊ก ก็จะเกิดความคิดปรุงแต่งไปต่างๆว่าเขาคงจะทราบเพราะอย่างโน้นอย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้แหละจึงเรียกว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ อย่างไร? เมื่อเกิดสังขารคือความคิด การเกี่ยวเนื่องทางการรับรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้น วิญญาณ ก็คือการรับรู้ รับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่ถูกต้องกับใจ อีกประหนึ่งก็หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ คือการเกิดรับรู้ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ของมารดา (ไม่ได้หมายถึงดวงวิญญาณเร่ร่อนที่ชาวบ้านเขาพูดกัน) เวลาคนมีท้องหมอมักจะแนะนำให้ทำใจให้ผ่องใสเพื่อสุขภาพจิตของเด็กในท้องนั่นก็หมายความว่าเด็กเกิดวิญญาณ คือการรับรู้ความรู้สึกของมารดา ดังนั้นวิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป อย่างไร ? วิญญาณและรูปต้องอาศัยกันและกัน วิญญาณมีเพราะอาศัยรูป รูปมีเพราะอาศัยวิญญาณ ดังกายกับจิตต้องอาศัยกัน จะขาดอย่างไดอย่างหนึ่งมิได้ อุปมาง่ายๆ ตามองเห็นสร้อยทองเส้นงาม สร้อยนั่นแหละคือรูปอาศัยการเห็นประสาททางตาเกิดความรู้ทางตา จักขุวิญญาญ คิด(สังขาร)อยากได้ มโนวิญญาณรู้สึกความอยากได้นั้นคือความต้องการ ดิ้นรน ร้อนรุ่ม หรือหนุ่มเห็นสาวแล้ว สังขารปรุงแต่ง น่ารัก ถูกใจ โดนใจ วิญญาณ รู้สึกสดชื่น เบิกบาน หรือกายกับจิตต้องอาศัยกัน เช่นทารกทันทีที่มีรูปวิญญาณก็ต้องมี เมื่อวิญญาณมีรูปก็ต้องมี ดังนั้นแม้เด็กในท้องก็มีวิญญาณ รู้สึก หิว กลัว เครียด เศร้า เสียใจเป็น ดังนั้นทางจิตแพทย์ถึงบอกว่าพฤติกรรมของเด็กบางอย่างก็มีผลสืบเนื่องมาจากการถ่ายทอดทางอารมณ์ของมารดาตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ ดังนั้นวิญญาณจึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารเหมือนรถจะวิ่งได้เพราะอาศัยคนขับ คนขับจะเดินทางได้ก็ต้องอาศัยรถอย่างนี้เป็นต้น
นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ อย่างไร ? สฬายตนะคือ อายตะ (ตัวสื่อ การติดต่อ) ภายใน และ ภายนอก ภายในได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อาตนะภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องกับกาย) ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่ถูกต้องกับใจ) นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะอย่างนี้ อธิบายง่ายๆว่า เมื่อมีร่างกายสิ่งเหล่านี้ก็ต้องมี และต้องสอดคล้องกันจึงจะทำงานได้ ถ้าร่างกายไม่มีฝ่ายนามธรรมก็ทำงานต่อไม่ได้ นั่นก็เรียกว่าคนตาย หรือศพ ตา หู เป็นต้น มันก็ทำงานไม่ได้ ตา-รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รส กาย-โผฏฐัพพะ ใจ-ธรรมารมณ์ เมื่อปัจจัยพร้อม เพราะความพร้อมแห่งนามรูปและสฬายตะเป็นปัจจัย สิ่งที่เกิดต่อมานั้นคือผัสสะ สฬายตนะจึงเป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ
สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ อย่างไร? เมื่อตามี รูปมี มากระทบกันเข้า วิญญาณ การรับรู้มีขึ้น จึงเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ คือ การรับสื่อ การกระทบ ผลจากการทำงาน ๓ อย่างพร้อมกันและสอดคล้องกัน คือ ตา> รูป >วิญญาณ>ผัสสะ แล้วก็ส่งผลคือ เวทนา ความรู้สึก
เวทนา เป็นปัจจัย ให้เกิด ตัณหา อย่างไร ? เมื่อมีความรู้สึก สิ่งที่เกิดต่อมาก็คือความอยาก ถ้าถูกใจก็อยากได้ อยากครอบครอง ถ้าผิดใจก็อยากผลักใส อยากหนี อยากทำลายล้างให้ย่อยยับ เรียกว่า ยินดี กับไม่ยินดี เช่นลิ้นเวลาเรากินอาหาร พอเกิดผัสสะถูกใจเอร็ดอร่อย ก็รู้สึกเป็นสุข จึงทำให้ติดใจอยากกินอยู่ตลอด ดังนั้นเวทนา จึงทำให้เกิดตัณหาๆทำให้ติด เรียกว่าอุปาทาน
ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน อย่างไร? อุปาทานคือการยึดติด ฝังแน่น ติดใจ เมื่อติดแล้ว ก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น ดังนั้นอุปาทาน จึงเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ อย่างไร? ภพคือ ความมี ความเป็น การที่ยึดติดเหนียวแน่นจากตัณหาแล้ว ได้มาครอบครองสมใจจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เช่นเป็นสามี ภรรยา เป็นต้นเรียกว่าอุปัตติภพ การยึดแน่นอยู่กับอะไรแล้วคิด หาวิธีการที่จะเป็น ด้านความรู้ การกระทำ เทคนิค วิชาการ เช่นอยากเป็นผู้วิเศษ หรือเทวดา แล้วก็ทำตามพิธีกรรมตามความเชื่อของตนแล้วก็เป็นไปตามอำนาจเหตุปัจจัย เช่นทำดี รักษาศีล เพราะอยากเป็นเทวดา หรือทำผิดวิธีเพราะเชื่อผิดแทนที่จะเป็นเทวดากลับไปเป็นสัตว์นรก นี่เรียกว่า กรรมภพ
ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ อย่างไร? เมื่อมีภพก็มีชาติ คือการเกิด เกิดเป็นสามี เกิดเป็นภรรยา เกิดเป็นพ่อคน เป็นแม่คน หรือการเกิดจากครรภ์ คลอดนั่นเอง เพราะมีภพคือการเป็นสามีอยู่ร่วมกัน จึงทำไปตามกรรมหน้าที่ เสพสม จึงเป็นกรรมภพมีท้อง มีท้องแล้วก็ส่งต่อการเกิด อย่างนี้เป็นต้น ภพจึงเป็นปัจจัยให้เกิดชาติอย่างนี้
ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ ฯลฯ แน่นอน เมื่อเกิดมาแล้วสิ่งทั้งมวลทั้งหลายก็ตามมา แก่ เจ็บ ตาย ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ พลัดพราก ผิดหวัง สมหวัง ไปตามสภาพธรรมชาติคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็สรูปว่า ทุกข์ทั้งปวงมีมาเพราะอาศัยการเกิดนี่เอง ที่มาเกิดเพราะอะไร? เพราะมีอวิชชาเป็นตัวต้นเหตุนี่เอง มันก็จะเป็นวัฏฏะจักรวนเวียนอย่างนี้เอง
- อวิชชา> สังขาร> วิญญาณ> นามรูป> สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหา> อุปาทาน> ภพ >ชาติ > ชรา มรณะ ฯลฯ
- อวิชชา< สังขาร< วิญญาณ< นามรูป< สฬายตนะ < ผัสสะ < เวทนา <ตัณหา< อุปาทาน< ภพ <ชาติ < ชรา มรณะ ฯลฯ
เมื่อท่านทั้งหลายอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็จะทราบว่าเมื่อนักปฏิบัติ ปฏิบัติมาถึงจุดนี้คือกำลังทำกิจของนิโรธในข้อแรกอยู่ เมื่อเห็นว่ารูป-นามนั้น มันมีการเกิดอย่างนี้ วัฏฏะสงสารเป็นอย่างนี้ มีปัจจัยหนุนเนื่องส่งเสริมกันอย่างนี้ ความแจ้งด้วยปัญญาก็จะเกิดตามลำดับอย่างนี้คือ จักขุกรณี ทำให้เกิดจักษุ คำนี้ไม่ได้ถึงตาเนื้อ หรือตาที่ ๓-๔ แต่ประการได แต่หมายดวงตาคือปัญญา คือมองเห็นความจริงที่เป็นจริง จากที่เคยมืดบอดเพราะอวิชชาปิดบังมาหลายแสนชาติ มาถึงตรงนี้ความมืดของอวิชชาก็จะปิดบังไม่ได้อีก เหมือนลูกไก่ที่อาศัยความอบอุ่นที่แม่ไก่หมอบและกกอยู่อย่างนั้นไม่ขาดสายเมื่อความอุ่นพร้อมปัจจัยพร้อมก็จิกเปลือกไข่ออกมาดูโลกฉะนั้น
ญาณกรณี ทำให้รู้ คือรู้เห็นตามความจริงที่มันเป็น คือเห็นแต่เพียงขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีตัวกูของกู จะนั่งก็ไม่มีกูนั่ง จะคิดก็ไม่มีกูคิด อย่างนี้เป็นต้น รู้แล้ววาง ไม่มีอุปาทานเข้าไปรู้ อุปสมายะ เพื่อความสงบ เมื่อเดดวงตาคือปัญญาเห็นแจ้งแล้ว เกิดญาณรู้เห็นอย่างบริสุทธิ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบระงับเสียได้ คือสงบจากกิเลส ความวุ่นวาย ร้อนรนด้วยตัณหาอุปาทาน เป็นความสงบ โปร่งโล่ง อิสระ กายเบา จิตเบา อภิญญาย เพื่อความรู้ยิ่ง เมื่อสงบแล้วจิตก็พร้อมที่จะรู้แจ้งธรรมที่ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆอีก จนถึงที่สุดแห่งธรรม คือความพ้นทุกข์ สัมโพธาย เพื่อตรัสรู้ ตรงนี้สติสัมปชัญญะมีกำลังพร้อม อินทรีย์แก่กล้าปัญญาพร้อม พูดเข้าใจง่ายๆคือ พร้อมทั้งกายใจเพราะปฏิบัติจนบริบูรณ์ตามหลักสติปัฏฐานแล้ว ก็เป็นความพร้อมที่จะตรัสรู้ คือรู้แจ้งนิโรธ คือ ดับทุกข์ นิพพานายะ เพื่อนิพพาน จิตในวิสุทธิที่ ๗ สมบูรณ์แล้ว การทำกิจในนิโรธก็สมบูรณ์แล้ว คือ เกิดจักษุ ความรู้แจ้ง สงบระงับ พร้อมตรัสรู้แล้ว จิตก็ข้ามโคตรภูญาณก้าวเข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพานคือพระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์นั่นเอง นี่คือกิจในนิโรธข้อที่ ๑ ที่ว่าด้วย พึงกระทำให้แจ้ง เป็นอย่างนี้
๒. สัจฉิกะตันติ ย่อมกระทำให้แจ้ง
[แก้ไข]ในข้อที่ ๒ นี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างกิจข้อที่ ๑ เมือค่อยๆทำให้แจ้งแล้ว มาถึงตรงนี้คือรู้ชัดเจน แจ่มแจ้ง ไม่มีอะไรเคลือบแคลงอีกแล้ว เป็นการู้แล้วละได้ขาด ตรงนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบไว้ว่า เหมือนคนที่เป็นโรคเรื้อนมาช้านาน มีความสุขกับการเกาแผล ยิ่งเกา ยิ่งมัน ยิ่งคันก็ยิ่งเกา ต้องคอยย่างไฟ คอยพอกยาที่แผล เป็นความลำบาก แต่พอมีหมอที่รู้โรค รู้เหตุของโรค รู้วิธีรักษาโรค ชนิดหายขาด พอรักษาหายขาดแล้ว คนที่หายขาดจากโรคแล้วไม่มีคนไดที่จะปรารถนากลับไปเป็นโรคนั้นอีก แม้จะเห็นคนอื่นเกาอย่างเมามันก็ตามที จะมีก็แต่ความกรุณาที่จะมอบยา มอบวิธีรักษาต่อผู้อื่นเท่านั้น
รู้แล้วละได้ ละอะไร? ละสิ่งที่ทำให้เราเกี่ยวเนื่อง ติดพัน วนเวียน อยู่ในภพทั้ง ๓ นี้ คือที่ทำให้เราจมอยู่ในวัฏฏะสงสารยาวนานที่ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นนี้ รวมเรียกว่า สังโชน์ ๑๐ นั่นเอง มีอะไรบ้าง สังโยชน์ ๑๐ คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส ๔. กามราคะ ๕.ปฏิฆะ ๖. รูปราคะ ๗. อรูปราคะ ๘. มานะ ๙. อุทธัจจะ ๑๐. อวิชชา สังโยชน์เบื้องต้นทั้ง ๓ นี้เมื่อผู้ข้ามโคตรภูญาณมาแล้วก็จะละได้โดยติดต่อกันสืบเนื่องกันเพราะเมื่อละข้อหนึ่งได้ ข้อ๒ ข้อ ๓ ก็จะชัดเจนและละได้โดยอัตโนมัติ เมือสังโยชน์ทั้ง ๓ หมดไปก็สำเร็จเป็นพระโสดาบันคือพระอริยะบุคคลที่ ๑ ถ้าจะกลับมาเกิดอีก ก็เพียง ๓ หรือ ๗ ชาติเท่านั้น และจะต้องได้นิพพานอย่างแน่นอน เพราะได้เข้าสู่กระแสแห่งนิพพานแล้ว โสตะ= กระแส อาปันนะ= ถึง พูดเป็นภาษาไทยว่า โสดาบัน แปลว่าผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน พระสกิทาคามี กามราคะ และโทสะเบาบางลง กลับมาเกิดอีกชาติเดียว พระอนาคามี ละสังโยชน์เบื้องต้น ๑-๕ ได้หมด ผู้ไม่กลับมาอีก ไปนิพพานในภพที่เกิดคือชั้นสุทธาวาส พระอรหันต์ละทั่งหมด นิพพานในชาตินี้
สังโยชน์ ๑๐
[แก้ไข]๑.สักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่ากายเป็นของตน ว่าตัวตน ตรงนี้ก็ไม่ต้องอธิบายมาก เพราะถ้าท่านอ่านมาตั้งแต่บทแรกแล้วก็จะเข้าใจว่า คำว่าตัวตน หรือตัวกู ของกูนั้นเป็นอย่างไร ในสังโชน์ข้อที่ ๑ คือตัวนี้ได้อย่างเด็ดขาด คือการไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า ร่างกายและสิ่งที่อาศัยกาย สรูปก็คือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน หรือว่าเป็นของๆตนอีก การที่จะหลงไปตามอำนาจอุปาทานในรูปนามนั้นก็ไม่มี การเห็นว่าตัวกู ของกูก็หมดไป
๒.วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ ๆในอะไร? ความลังเลในการที่จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สงสัยในมรรคผลว่ามีจริงหรือไม่ ไม่แน่ใจว่าเป็นทางพ้นทุกข์จริงหรืออย่างไรอีกอย่างคือสงใสในพระรัตนตรัย สงสัยในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ตรงนี้จะหมดไปหลังจากละสังโยชน์ข้อที่๑ ได้แล้ว เมื่อปฏิบัติต่อเนื่องเห็นขันธ์ ๕ โดยอนัตตาแล้วจะไม่สงสัยอีก เพราะเมื่อธรรมคืออนัตตาปรากฏอย่างแจ่มชัด เห็นอริยะสัจจ์ ๔ อย่างแจ่มแจ้งก็จะไม่ลังเลในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมคือไตรลักษณ์ตนได้เห็นอย่างชัดเจนด้วยปัญญาของตนแล้ว ก็จะศรัทธาพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เพราะได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว ดังที่พระองค์ตรัสว่า ผู้ไดเห็น ธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผูไดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม
๓.สีลัพพตปรามาส ถ้าแปลตรงตัวก็คือสักว่าลูบคำศีลและวัตร คือเชื่อแค่ศีลพอใจแค่การรักษาศีลคือติดแค่กฎระเบียบ หรือมรรยาทที่งดงามเท่านั้น ว่าจะสามารถพัฒนาตนสู่ความพ้นทุกข์ได้ โดยละเลยการพัฒนาทางจิต เพื่อปล่อยเพื่อละเพื่อวาง คือพอใจแค่ศีลเท่านั้น วัตร หมายถึงข้อปฏิบัติที่มุ่งหมายถึงความขลังศักดิ์สิทธิ์แม้แต่การปฏิบัติกรรมฐานก็เช่นกัน การสวดมนต์ ไหว้พระถ้ามุ่งเน้นไปที่ความขลังศักดิ์สิทธิ์รวมถึง พิธีกรรมต่างๆ แก้เคราะห์ บูชาราหู มีการเซ่นสรวงบูชา อ้อนวอน ร้องขอ บนบานสานกล่าว ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเพราะเชื่อว่าจะทำให้พ้นจากทุกข์ได้ก็คือสีลัพพตปรามาส ตรงนี้จะหมดไปเพราะสังโยชน์ที่๑-๒ ละได้แล้ว ความเชื่ออย่างงมงายก็จะหายไปเพราะได้เห็นการเกิดขึ้นแห่งสังขารทั้งหลายด้วยปฏิจจสมุปบาท และการตกอยู่ในกฎธรรมชาติคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของขันธ์ ๕ ดังนั้นการที่จะไปยึดติดอยู่ที่พิธีกรรมหรือแค่ศีลวัตรก็จะหมดไป
๔. กามราคะ คือความที่ยังมีเชื่อในยางของกามราคะอยู่ คือยังยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อยู่ ราวกะว่ามันแนบสนิทฝังรากลึกอยู่ยากที่จะสลัดตัดขาดได้ เพราะกามราคะนี่แหละที่มันนอนเนื่องอยู่ในอนุสัยสันดานเรามาหลายภพหลายชาติ แม้ว่าพระโสดาบันและพระสกิทาคามีจะละสังโยชน์ทั้ง ๓ เบื้องต้นได้แล้วก็จริงแต่ก็ยังมีกามราคะเหลืออยู่ คือยังเสพกามอยู่นั่นเอง
๕. ปฏิฆะ เป็นความกระทบกระทั่งแห่งจิตฝ่ายที่รู้สึกไม่พอใจ หรือคับแค้นขัดข้องใจชั่วขณะ แต่ไม่ถึงกับเป็นความโกรธเกลียดหรือพยาบาท เพราะความรู้สึกเหล่านั้นเป็นของหยาบจะมีได้สำหรับปุถุชนเท่านั้น แต่ปฏิฆะ คือความกระทบกระทั่งแห่งจิตนี้ เกิดเพียงชั่วขณะท่านก็ปล่อยวางได้ด้วยคุณแห่งพระอริยะบุคคลชั้นต้น คือพระโสดาบันหรือพระสกิทาคามี
- (ตั้งแต่ข้อ ๖-๑๐ ข้าพเจ้าคัดลอกมาจากหนังสือคู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์ของหลวงพ่อพุทธทาส สำนักพิมพ์ธรรมสภา)
๖. รูปราคะ หมายถึงความรักพอใจ ในความสุขที่เกิดแต่รูปสมาบัติ เหมือนที่เป็นแก่สัตว์ที่ตั้งอยู่ในรูปาวจรภูมเป็นประจำ พระอริยะเจ้าชั้นต้นๆ ๓ จำพวกไม่สามารถละความสุขความใจที่เกิดแต่รูปฌาน หรือรูปสมาบัติได้ พระอริยะบางประเภทในขั้นต้นเหล่านั้น บางพวกเกิดในรูปาวจรก็ยังมี พระอริยะเจ้าทั้ง ๓ ข้างตนที่เกิดอยู่ในมนุษย์โลกนี้ บางท่านยังพอใจในความสุข อันเกิดแต่รูปฌานอย่างถอนไม่ขึ้นก็มี แต่จะต้องถอนได้ในเมื่อเลื่อนมาถึงพระอริยะเจ้าชั้นสุดท้าย คือพระอรหันต์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าความสงบสุขเยือกเย็นอันเกิดมาแต่รูปฌานนั้น ก็มีรสชาติที่จับอกจับใจ ถึงกับพอจะเรียกได้ว่าเป็นพระนิพพานชิมลองดูก่อน เป็นพระนิพพานล่วงหน้า มีรสอย่างเดียวหรือทำนองเดียวกับรสของพระนิพพานแท้จริง หากแต่ว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เป็นเรื่องที่เป็นไปในระหว่างกิเลสสงบระงับเพราะอำนาจของฌานไม่ใช่กิเลสสูญหายเหือดแห้งไป ครั้นหมดกำลังของฌานกิเลสก็ปรากฏขึ้นอีก ขณะที่กิเลสสงบระงับอยู่ด้วยอำนาจของกำลังฌานไม่รบกวนจิต จิตก็ว่างโปร่งเป็นอิสระ มีรสชาติเหมือนคล้ายกับรสเกิดแต่พระนิพพานแท้จริงเหมือนกัน ฉะนั้นจึงเป็นที่ตั้งความหลงใหลได้ง่าย และยากที่จะละได้สำหรับพระอริยะชั้นต้นๆ ๓ พวกนั้น ถึงกับมาละได้เด็ดขาดในพระอริเจ้าชั้นสุดท้าย
๗. อรูปราคะ นั้นหมายถึงความพอใจติดใจ ในความสุขที่เกิดมาแต่อรูปสมาบัติ เรื่องต่างๆคล้ายๆกับข้อที่ ๖ ผิดแต่ว่าชั้นนี้ละเอียดประณีตสุขุมลงไปอีกชั้นหนึ่ง การเจริญฌานโดยมีสิ่งที่มีรูปเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดนั้น ย่อมได้ความสงบที่เนื่องอยู่กับรูปนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงหยาบกว่าการเจริญฌานอันกำหนดเอาสิ่งที่ไม่มีรูป เช่นอากาศหรือความว่างเปล่าเป็นตนมาเป็นอารมณ์ การเอาความว่าง เอาวิญญาณธาตุ เอาความไม่มีอะไร เอาความไม่มีความรู้สึกตัวทั้ง ๔ อย่างนี้แต่ละอย่างๆมาเป็นอารมณ์นั้น ได้ผลเป็นความสงบเงียบยิ่งไปกว่า และเรียกว่าอรูปฌาน เพราะความสงบที่เกิดที่เกิดจากอรูปฌาน ประณีตกว่า สุขุมหว้า ลึกซึ้งกว่า ถ้าใครเข้าถึงจะติดใจกว่าความสงบที่เป็นรูปฌาน ถ้าพอใจแน่นแฟ้นหลงไหลในความสุขชนิดนี้ก็เรียกว่า อรูปราคะ ฯ
๘. มานะ ได้แก่ความรู้สึกสำคัญว่าเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นชั้น เป็นเชิง คือเป็นความดี ความเลว ความเสมอกัน เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาว่าเรา เลวกว่าเขา เราเสมอๆกันกับเขา เราดีหรือสูงกว่าเขา เป็นต้น ฉะนั้นท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่ามานะในที่นี้ มีความหมายกว้างขวางกว่าคำว่า มานะ ในภาษาไทย ซึ่งหมายถึงแต่มานะทิฏฐิจะแข็งขันคนที่ดีกว่า มานะที่เป็นชื่อของกิเลสในที่นี้นั้น หมายถึงความสำคัญในทางเป็นชั้นเป็นเชิง คือถ้ารู้สึกว่าตนเลวกว่า ก็น้อยใจ รู้สึกว่าตนดีกว่า ก็ทะนงใจ รู้สึกว่าเสมอๆกัน ก็นึกไปในทางที่จะแข็งขัน หรือทำตนให้ก้าวหน้ากว่า ทำนองนี้เป็นต้น คำว่ามานะในที่นี้หมายถึงความรู้สึกในชั้น สำหรับให้กำหนดรู้ความเป็นชั้นๆ ว่ามีอยู่อย่างไรทั่วไป ไม่หมายถึงมานะทิฏฐิด้วยความเย่อยิ่งจองหองอย่างเดียวเท่านั้นมันคับแคบไป น้อยไป ถ้ามีผู้ใดมีความรู้สึกสำคัญตนว่า เราต่ำต้อยกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีกว่าเขา ทำนองนี้แล้ว ย่อมเป็นความรู้สึกที่เป็นไปในทำนองถือชั้นเชิงและอาจให้เกิดความรู้สึกผิดปรกติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้ทั้งนั้น จึงจัดเป็นความมานะทั้งสิ้นทั้งเป็นการเหลือวิสัยที่จะไม่ให้ใครตามปกติรู้สึกว่าตัวดีกว่าเขาเลวกว่า ในทำนองนี้ กิเลสชื่อนี้มาอยู่อันดับที่ ๘ เกือบสุดท้ายเช่นนี้ย่อมหมายความว่ามันละยาก จึงมาอยู่แทบจะรั้งหลังสุด ซึ่งพระอริยะเจ้าชั้นสูงสุดเท่านั้นจึงจะละได้ พระอริยะเจ้าชั้นต้นทั้ง ๓ นั้น แม้จะจัดไว้เป็นฝ่ายโลกุตระแล้วก็ตาม ก็ยังละมันไม่ได้ ชั้นเราๆตามธรรมดาจึงละไม่ไหว การรู้สึกถือตัวตน ว่าตนดีกว่า หรือเสมอกัน หรือตนเลวกว่าอันนี้ ย่อมมาจากอุปาทานเป็นธรรมดา ที่แท้ก็คืออุปาทานชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่ท่านไม่ใช้ชื่ออุปาทาน ท่านใช้ชื่อว่ามานะ ถ้าความยึดถือว่าตัวตนมีอยู่แล้ว ความยึดถือว่าตนมีลักษณะชั้นเชิงคุณสมบัติหรือหรือสิ่งประกอบอื่นๆเป็นอย่างไร อันจะเป็นเครื่องวัดกันได้ย่อมมีขึ้นเป็นธรรมดา ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการยึดถืออุปาทาน ว่ามีตัวตน มีดีมีชั่วตามที่สมติกันในโลกนั่นเอง ถ้ามีจิตใจที่อยู่เหนือความดีชั่วเสียแล้ว ความรู้สึกต่างๆเช่นนี้จะมีอยู่ไม่ได้ แต่เพราะจิตใจเรายังแพ้ต่อความดีชั่ว ฉะนั้นเราจึงมีความรู้สึกว่า คนดีคนชั่วหรือเสมอกัน เป็นให้ดิ้นรนกระวนกระวายเพราะเหตุที่รู้สึกเช่นนั้น ไม่เป็นความสงบสุขจนถึงที่สุด ฯ
๙. อุทธัจจะ แปลว่าความกระเพื่อม ความฟุ้งหรือความไม่สงบอยู่ได้ โดยใจความได้แความรู้สึกที่ฟุ้ง หรือกระพือขึ้นในเมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งไดเป็นที่ตั้งแห่งความสนใจที่ผ่านมา ขอให้เพ่งเล็งตรงที่จิตกระเพื่อมไปตามอำนาจของสิ่งที่ยั่วความสนใจ คนเราย่อมมีกิเลส มีความต้องการอะไรๆ อยู่ประจำใจ โดยเฉพาะก็คือตัณหา อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น อยากไม่เอา อยากไม่เป็นเหล่านี้ เมื่อมีสิ่งไดผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย มาลักษณะที่ตรงจุดของตัณหาชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ความฟุ้งหรือความกระพือขึ้นของจิต ย่อมจะมีเป็นธรรมดา ถ้าเรียกกันโดยโวหารภาษาไทยธรรมดา อาตมาเห็นว่าตรงกับภาษาไทยที่เราเรียกกันคำหนึ่งว่า “ความทึ่ง” เมื่อมีอะไรผ่านมา ก็จะมีความทึ่งเกิดขึ้นมาไม่มากก็น้อย แต่จะทึ่งในแง่ดีก็ได้ในแง่ร้ายก็ได้ ทึ่งด้วยความลังเลสงสัยก็ได้ ถ้าดูแปลกประหลาดแล้ว เป็นเกิดความสงสัยขึ้นมาทีเดียว เพราะเรายังมีสิ่งที่ต้องการ ยังมีสิ่งที่หวาดกลัว วิตกกังวลระแวงอยู่ ฉะนั้นเราจึงทนไม่ได้ ต้องทึ่งต่อสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา ยิ่งมาในลักษณะที่แปลกประหลาดแล้ว ก็เหลือที่จะอดทึ่งได้ คนธรรมดาเป็นอย่างนี้ วันหนึ่งๆจึงมีความทึ่งหรือสนใจ เล็กใหญ่ มากน้อย ช้าเร็วอะไรๆมากมายหลายเรื่องด้วยกัน ถ้าเป็นสิ่งที่ตรงกับกิเลสหรือตัณหาแล้ว ก็เหลือที่จะระงับได้ ย่อมมีความทึ่งหรือสนใจจนเนื้อเต้น ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกใจ ก็ดีจนทำให้ถึงกับจิตหวั่นไหวลืมตัว ถ้าเป็นเรื่องที่เศร้าใจ ก็ทำให้จิตทรุดโทรม แฟบเหี่ยวจนถึงหมดความรู้สึกสนุก นี่คือลักษณะของสิ่งที่เรียก อุทธัจจะ แต่ท่านหมายถึงทุกระดับ
พระอริยะเจ้า ๓ ประเภทข้างต้น ก็ยังมีความทึ่งหรือความสนใจในบางสางบางอย่าง แต่ขั้นสุดท้ายคือพระอรหันต์ย่อมมีความทึ่ง ไม่มีความสนใจในสิ่งไดเลย เพราะเหตุว่าบัดนี้ จิตใจของท่านหมดความกระหายอยากในสิ่งทั้งปวง หมดความกลัวในสิ่งทั้งปวง เพราะท่านหมดกิเลสทั้งปวงโดยสิ้นเชิงอย่างเดียวเท่านั้นจึงหมดความอยาก หมดความเกลียด หมดความกลัว หมดความวิตกกังวล ความระแวง ความสงสัยอยากรู้อยากเห็นในสิ่งทั้งปวง ท่านมีจิตใจที่เป็นอิสระ ไม่มีอะไรมาล่อหรือยั่วให้เกิดความทึ่งหรือความสนใจ ไม่ว่าจะยั่วให้ยินดีหลงรัก หรือมาในรูปยั่วให้ยินร้าย ยั่วให้โกรธ หรือให้เกลียด ให้กลัว ล้วนแต่ไม่มีความหมาย เพราะจิตในส่วนลึกนั้น หมดความต้องการโดยประการทั้งปวง จึงจะได้หมดข้อสงสัยโดยประการทั้งปวง
ขอให้เข้าใจไว้เสียด้วยว่า ความสงสัยในปัญหาต่างๆนั้น มันมีอยู่หรือมันเกิดขึ้น เพราะความอยากหรือความต้องการอย่างไดอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่อยากเป็นผู้รู้ไปทีเดียว มันสงสัยไปว่าสิ่งนั้นๆจะเกี่ยวกับเราอย่างไดบ้าง มันจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์ที่สุดอย่างไรได้บ้าง ความสงสัยจะเกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ เราไม่รู้หรือว่าเป็นของใหม่ นี่ก็มาแต่ความอยากเอาผลอย่างไดอย่างหนึ่งจากสิ่งนั้น ครั้นหมดความอยากโดยประการทั้งปวง โดยหลักที่เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรที่น่าเอา น่าเป็น หมดความอยากถึงขนาดนั้นแล้ว จึงไม่มีความทึ่งในสิ่งใดๆ จนให้ฟ้าผ่าลงมาข้างๆท่านก็ไม่มีความทึ่ง เพราะไม่มีความรู้สึกกลัวตาย อรืออยากอยู่ อะไรทำนองนั้น แม้จะมีอะไรที่ร้ายชนิดไหน หรือว่าเกิดความรู้ความคิดใหม่ๆในโลก เช่นมีเรื่องของปรมาณูสมัยนี้ ท่านก็ไม่มีความทึ่ง ความสนใจ เพราะมันไม่มีความหมายอะไรสำหรับท่าน ท่านไม่ต้องการทราบสิ่งไดเป็นลักษณะ ที่ว่ามันจะอำนวยอะไรให้ท่านบ้าง เพราะท่านไม่ต้องการอะไรเลย ฉะนั้นจึงไม่มีความทึ่งในลักษณะไดหมด จิตของท่านจึงบริสุทธิ์หรือสงบ อย่างที่เราคาดไม่ถึง ส่วนพวกเรามีกิเลสหรือสังโยชน์ เรียกว่าอุทธัจจะ พร้อมที่ฟุ้งขึ้นมา ในทุกๆอย่าง ที่ยั่วความสงสัยไม่มีขอบเขต เป็นให้เราทึ่งหรือสนใจ มากเรื่องมากราว หรือทำงานจับจด ทำงานเรื่องนี้ยังไม่เสร็จก็คิดทำงานเรื่องอื่น ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนี้เป็นต้น ฯ
๑๐.อวิชชา อวิชชาอันเป็นข้อสุดท้ายนี้เป็นที่รวมหมดของบรรดากิเลสทั้งหลาย ที่ไม่ระบุไว้เป็นอย่างอื่นในเก้าอย่างที่กล่าวมาแล้วด้วย คำว่าอวิชชานี้ แปลว่าความไม่รู้ หรือภาวะที่ปราศจากความรู้ การแปลความไม่รู้นี้ มีทางทำให้เกิดความเข้าใจผิดบางอย่างได้ แต่ถ้าแปลว่าความไม่รู้นี้ มีทางทำให้เกิดความเข้าผิดบางอย่างได้ แต่ถ้าแปลว่าภาวะที่ปราศจากความรู้ ก็เป็นการถูกต้องกว่า เป็นคำที่รัดกุม กันความเข้าใจผิดได้มากกว่า สำหรับความรู้ที่ประสงค์ในที่นี้ หมายถึงความรู้จริง คือไม่ใช่รู้ผิดหรือรู้เท็จ ฉะนั้นจึงไม่มีการรู้ผิดรู้ถูกกันอีกแล้ว เมื่อมีความรู้ ก็หมายถึงความรู้ถูก ถ้าปราศจากความรู้ ก็คือมืดหรือไม่มีความรู้ ซึ่งโดยพฤตินัยก็ได้แก่ความรู้ผิดนั่นเอง เพราะว่าตามธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย จะอยู่โดยปราศจากความรู้สึกอะไรเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เขาต้องมีความรู้สึกที่เป็นความรู้อย่างไดอย่างหนึ่งเสมอ แต่ถ้าความรู้นี้เป็นความรู้ผิด ก็มีค่าเท่ากับไม่รู้ คนธรรมดาเราจึงมีอวิชชา คือ ไม่รู้หรือรู้ผิดซึ่งมีค่าเท่ากับไม่รู้กันอยู่เป็นประจำ จึงมืดมนต่อปัญหาสำคัญที่สุดของมนุษย์เรา คือปัญหาที่ว่าอะไรเป็นความทุกข์ที่แท้จริง อะไรเป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกกข์ที่แท้จริง อะไรเป็นหนทางหรือวิธีซึ่งจะให้ไม่ได้มาซึ่งความไม่มีทุกข์นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะขยายความไปทางไหนก็ได้ คำว่าทุกข์นี้กว้าง กินความได้ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ ทุกข์อย่างต่ำ ทุกข์อย่างกลาง ทุกข์อย่างสูง ทุกข์ของคนในภูมินั้น ทุกข์ของสัตว์ในระดับนั้น ทุกข์ของสัตว์ในระดับนี้ ทุกข์ของสัตว์ในระดับโน้น จะเอาไปขยายเป็นอันไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่มุ่งหมายถึงความทุกข์เป็นปัญหาสำคัญ ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับสนิทไม่เหลือของความทุกข์และวิธีที่จะทำให้ดับสนิทไม่เหลือเหล่านี้ เป็นความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ถ้าใครมีความรู้แจ้งจริงๆแล้ว เรียกว่าคนนั้นไม่มีอวิชชา แต่จัดเป็นผู้มีวิชชาในที่นี้ ในบรรดาความรู้ทั้งหลาย มีมากเหลือที่จะกล่าวได้ที่พระพุทธเจ้าท่านจัดไว้พวกที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้
อวิชชา เป็นความไม่รู้ หรือรู้ผิด ทำให้หลง สำคัญผิดในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นความสุขไป จนถึงกับพอใจเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ และสำคัญผิดในเหตุของความทุกข์ จนไปค้นหาเหตุผิดไป หรือความโง่เขลาใหม่ๆขึ้นมา เช่นไปโทษผี โทษสาง โทษเทวดา โทษอะไรต่างๆว่าเป็นเหตุให้เกิดเจ็บไข้ แทนที่จะรักษาโดยวิธีที่ถูกต้อง ก็ไปนั่งอ้อนวอนผีสางเทวดาอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเป็นอวิชชาในส่วนเหตุของความทุกข์ชั้นต้นๆต่ำๆที่สุด นี้เป็นตัวอย่าง สำหรับ อวิชชาในเรื่องของความดับสนิทของทุกข์ไม่มีเหลือ นั้นคือไม่รู้เรื่องการดับกิเลสดับตัณหา ซึ่งเป็นเหตุของทุกข์โดยตรง ไปหลงเอาความสงบสุขชนิดที่เกิดจากสมาธิหรือฌานสมาบัติ ว่าเป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง คือเป็นนิพพานไป ซึ่งมีอยู่ในดกดื่นในสมัยพุทธกาล และยังคงมีอยู่จนถึงบัดนี้ เพราะมีอวิชชาในเรื่องความดับทุกข์ และยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจถึงกับยึดเอากามารมณ์มาเป็นเครื่องดับทุกข์ ดังบางคนได้ยึดเป็นหลักว่า กามารมณ์เป็นของจำเป็น หรือเป็นอาหารชนิดหนึ่งของชีวิต เป็นของจำเป็นเช่นเดียวกับหยูกยา ข้าวปลาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ก็ได้เพิ่มกามารมณ์เข้าไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นปัจจัย ๕ อย่าง อย่างนี้ก็มี ลัทธิบางลัทธิที่อยู่ในรูปของศาสนา ได้เอากามารมณ์เป็นเครื่องดับทุกข์ก็มี จึงเกิดมีลัทธิที่มีการกระทำอันน่าบัดสีลามกอนาจารขึ้นที่วิหารนั่นเอง ดังนี้ก็มี จึงเป็นอันกล่าวได้ว่าอวิชชาความไม่รู้ในความดับสนิทของทุกข์นี้ เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจหรือการกระทำที่แปลกประหลาดประหลาดวุ่นวาย หรือถึงกับเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นในโลกได้ สำหรับอวิชชาความไม่รู้ในหนทาง ที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์นั้นก็เหมือนกัน หนทางที่ถูกคืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมาทิฏฐิเป็นต้น จนถึงสัมมาสมาธิเป็นที่สุด แต่คนที่มีอวิชชาเขาไม่อาจจะมองเห็นอย่างนี้ ย่อมทำไปตามอำนาจกิเลสตัณหา หรือความต้องการของตน หรือมีความเชื่อในวัตถุปัจจัยภายนอก พึ่งผี พึ่งเทวดาไปตามประสาของคนที่ไม่มีศาสนา แม้เป็นพุทธบริษัทโดยกำเนิดอยู่แล้ว ก็ยังมีหลงไปถึงอย่างนั้นได้ เพราะอำนาจของอวิชชา ทำให้ไม่ยินดีในการที่จะดับทุกข์โดยอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ไปดับทุกข์โดยจุดธูปเทียนอ้อนวอนผีสางเทวดา
ขอให้เราทุกคนศึกษาเรื่องอวิชชา ในฐานะเป็นเครื่องหุ้มห่อโลกทั้งโลกไว้ เป็นแสงสว่างที่บังลูกตา หมายความว่าตามปกติคนทุกคนต่างช่วยให้ตนมีความรู้ แต่ความรู้ของตนเป็นความรู้ที่ผิด และยิ่งรู้มากยิ่งผิดมาก เลยกลายเป็นความรู้ชนิดที่บังลูกตา ฉะนั้นเพียงแต่คำว่าแสงสว่าง- แสงสว่างนี้ก็ยังต้องระวัง อาจเป็นแสงสว่างของอวิชชาก็ได้ คือแสงสว่างที่ทำให้หลงผิด และให้เกิดความประมาท แล้วไม่อาจสำนึกได้ด้วยว่า เรากำลังถูกแสงสว่างของอวิชชานี้บังลูกตาอยู่ด้วยทุกคน เราจึงไม่สามรารถจะเอาชนะความทุกข์ได้ เราหลงในสิ่งขี้เหร่เล็กๆน้อยๆอย่างเทิดทูนบูชา หลงในกามารมณ์ว่าเป็นอุดมธรรมของมนุษย์อยู่ก็ได้ อุดมธรรม ในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับเสียก่อนที่จะตาย ในข้อนี้เรากำลังหลงกามารมณ์เป็นอุดมธรรมของมนุษย์อยู่ก็ได้ เพราะว่าเราอาจทำทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในบัดนี้ ก็คือผลคือกามารมณ์เท่านั้น แล้วจะแก้ตัวว่าทำตัวเพื่ออุดมคติอันอื่นอย่างไรได้ ให้เวลาอีกอีก ๒ ชาติ ๓ ชาติ ก็อาจยังหวังผลเป็นกามารมณ์ การไปเกิดในสวรรค์ก็เอากามารมณ์ ดูๆอะไรๆก็ไปติดแค่กามารมณ์ นี่ก็เพราะอวิชชาได้หุ้มห่อโลกทั้งโลกไว้อย่างนี้ ไม่ให้ไครทลุรอดไปได้ อุปมาพระบาลีแห่งนั้น ได้อุปมาอวิชชาเหมือนกับเปลือกหนาที่หุ้มโลกไว้ทั้งหมดไม่ให้สัตว์ได้เห็นแสงสว่างที่แท้จริง ท่านจัดอวิชชาไว้เป็นกิเลสขั้นสุดท้าย เป็นอันว่า ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์จึงตัดกิเลศ ๕ อย่างข้างท้ายเพิ่มขึ้น คือตัดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ซึ่งเป็นการตัดหมดทุกอย่าง และเป็นอริเจ้าชั้นสูงสุด
พระอริยะเจ้าทั้ง ๔ ประเภท คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี อนาคามี อรหันต์นี้ จัดรวมเป็นผู้ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิ คืออยู่เหนือโลก ถ้ามองกันอีกทางหนึ่ง คือมองกันที่ตัวธรรมที่ท่านได้บรรลุ เขาเรียกว่า โลกกุตตรธรรม ๆ แยกออกเป็น ๙ อย่าง คือภาวะของพระโสดาบันในขณะที่ตัดกิเลสนั้น เรียกว่า โสดาปัตติมรรค อย่างหนึ่ง เมื่อตัดกิเลสแล้ว เรียกว่าโสดาปัตติผล จึงได้เป็นคู่ๆ คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นี้คือเป็น ๘ คือ ๔ คู่ เติม นิพพาน เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง จึงเป็น ๙ อย่าง นี้เรียกว่าโลกุตตรธรรม คือสิ่งที่เป็นโลกุตตระ ถ้าดูกันที่บุคคลเป็นเกณฑ์ก็ได้เพียง ๔ คือผู้ตั้งอยู่ในเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระสกิทาคามี ความเป็นพระอนาคามี และตั้งอยู่ในความเป็นพระอรหันต์ บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่ตั้งอยู่ในโลกกุตตรภูมิ เป็นผู้มีความทุกข์น้อยลงตามส่วน จนกระทั้งไม่มีทุกข์เลย ภาวะเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นผลอันสุดท้าย ที่การเจริญวิปัสสนาจะนำไปสู่ คือเมื่อการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องตามเป็นจริง เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จนดับความอยากทั้งปวงได้จริงๆแล้ว ก็จะเกิดเป็นโลกุตตรภูมิขึ้นมา แล้วทำจิตอยู่เหนือวิสัยโลก ซึ่งหลังจากนี้สิ่งต่างๆซึ่งเป็นที่ตั้งความยินดีหรือยินร้ายในโลกนั้นๆก็ไม่สามารถจะครอบงาจิตของท่านได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็สำหรับพระอรหันต์ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิสุดท้ายที่สุด เพราะละกิเลสได้จนสิ้นเชิง
ส่วนสิ่งที่เรียกว่านิพพานๆนั้น ถ้าในกรณีโลกุตรธรรมนี้ ก็หมายถึงสภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าไม่เหมือนกับสิ่งไดๆหมด คือไม่เหมือนกับโลก ผิดจากทุกสิ่งในโลกโดยประการทั้งปวง เมื่อโลกทั้งหลายหรือสิ่งทั้งหลายที่เป็นวิสัยโลกมีภาวะเป็นอย่างไร ยกเลิกภาวะและวิสัยเหล่านั้นทั้งหมดเสีย ก็จะเหลือสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน คือสภาพตรงกันข้ามจากโลกโดยประการทั้งปวง เป็นธรรมหรือเป็นสิ่งที่ทรงอยู่ในตัวเองชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดเป็นปัจจัยปรุงแต่ง และไม่ปรุงแต่งสิ่งใด เป็นที่ดับของสังขารทั้งปวง เมื่อสังขารธรรมทั้งปวงมาถึงนิพพาน ก็ย่อมดับตัวเอง จึงเรียกว่า เป็นที่ดับของสังขารทั้งปวง แต่ถ้าจะกล่าวโดยผล นิพพานหมายถึงภาวะที่ปราศจากความเผาลน ปราศจากการตบตี ทิ่มแทง ร้อยรัด ครอบงำ พัวพันอะไรทั้งหมดเหล่านี้ เพราะว่ากิเลสซึ่งเป็นเหตุให้จิตถูกเผาลนตบตีทิ่มแทง ร้อยรัด พัวพันนั้น จะมีในนิพพานนี้ไม่ได้ ลักษณะอาการนี้ยากจะเปรียบให้เห็น แต่มองดูด้วยการทำโนคติเอาก็แล้วกันว่า ถ้ากิเลสทั้งหลายมีอยู่ พฤติการณ์ทั้งหลายจะมีอยู่ในลักษณะอย่างไร ครั้นมาถึงขอบเขตพระนิพพานแล้ว กิเลสมันก็จะสูญหายละลายไปหมด แล้วพฤติการณ์ทั้งหลายจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าสมมติ ก็เหมือนกับว่าเป็นเขตแดนอันหนึ่ง ซึ่งเป็นที่สลายของกิเลสและความทุกข์ เหมือนอย่างว่าโซนร้อนมีอยู่โซนหนึ่งในโลกนี้ ถ้ำน้ำแข็งในทะเลแห่งโซนเหนือ คือโซนหนาวลอยมาถึงโซนร้อนมีโซนหนึ่งในโลกนี้ มันต้องละลายหมดที่โซนร้อนนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น
นิพพาน มีอยู่ในฐานะเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่มันไม่มีขอบเขตและไม่ต้องการกินเนื้อที่ ไม่ขึ้นอยู่กับการล่วงไปของเวลา หรือไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลา หรือไม่เกี่ยวข้องกับการเวลา แต่อยู่ในลักษณะเป็นตัวของตัวเองชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนอะไรๆในโลก แต่เป็นที่ดับของโลก สมมติว่าถ้าโลกแทรกซึมไปถึงที่นั่น จะต้องดับตัวเอง กิเลสหรือความทุกข์แทรกซึมไปถึงที่นั่น จะต้องดับตัวเอง นี่เป็นการพูดอย่างอุปมา ไม่ใช่ตัวจริง เพราะมันไม่เหมือนกับบ้านกับเมืองหรืออะไรอย่างนั้น แต่พูดในฐานะเป็นอุปมาของพระนิพพาน ที่ท่านให้นามว่า แดนที่ดับของสังขารทั้งปวง จึงเป็น ธรรมที่เกษมจากโยคะ คำว่าโยคะ หมายความว่า เครื่องร้อยรัดพัวพันหุ้มห่อ เกษมจากโยคะ หมายความว่าปลอดโปร่งว่างเงียบจากโยคะทั้งปวง จึงไม่มีการเผาลน เสียดสี ทิ่มแทง ร้อยรัด พัวพัน หุ้มห่อ หรืออะไรอื่นๆทั้งสิ้น นี่เป็นลักษณะของ โลกุตตรธรรมข้อสุดท้าย นี่เป็นสิ่งที่มุ่งหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา เป็นธรรมที่แสดงผลสุดท้ายของการปฏิบัติที่พระพุทธศาสนาจะนำไปสู่ ทั้งหมดนี้ นับว่าเราได้ติดตามกันมาตั้งแต่ต้น จนถึงเรื่องผลของพระพุทธศาสนา เป็นหลักอันชี้ให้เห็นกิเลสอันละเอียด ๑๐ อย่าง ที่มีอยู่ในทุกคน มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าใครละได้ถึงกิเลสชั้นไหน จะเป็นอยู่เหนือโลกในชั้นนั้น และเมื่อละได้หมด จะประสบผลอันสุดท้ายอย่างไร เรื่องทั้งหมดไปจบสิ้นสุดลงที่พระนิพพาน ดังหลักพระพุทธภาษิตว่า “ผู้รู้คือพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นอุดมธรรม” นับว่าเป็นที่สิ้นสุดลงสำหรับสิ่งทั้งหลาย ฯ (ตั้งแต่ข้อ ๖ จนจบตรงนี้ข้าพเจ้าได้นำคำอธิบายของหลวงพ่อพุธทาสจากหนังสือคู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์ เพราะเห็นว่าเป็นภาษาร่วมสมัยและเข้าใจง่ายไม่เกินความสามารถที่ท่านผู้สนใจด้านการปฏิบัติจะทำความเข้าใจ เพราะหากข้าพเจ้านำสำนวนพระไตรปิฎกมาลงไว้อาจเป็นที่เข้าใจยาก เพราะเป็นสำนวนโบราณอยู่ ครั้นจะอธิบายเองก็กลัวไม่ชัดเจน เพราะว่าข้าพเจ้าเองแม้จะปฏิบัติอยู่ทุกวี่วันไม่ได้ขาด ก็ยังละไม่ได้สักข้อ เพียงแต่ทำให้สบายใจ และสงบ มีความสุขกับชีวิตที่เป็นปัจจุบันธรรมเท่านั้น แต่กิเลสหรือสังโยชน์ ยังมีอยู่ครบทุกข้อ ข้อ๑-๕ ข้าพเจ้าก็พอจะเข้าใจและอธิบายได้ก็เลยเอาเฉพาที่ตนเองยังไม่ชัดเจน ต้องอาศัยคำสอนของบูรพาจารย์อย่างท่านพุทธทาส ซึ่งถือว่าเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งของเมืองไทย) สำหรับบทนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้
๔.ด้วยวิธีการอย่างไร (วิธีการปฏิบัติวิปัสสนา)
[แก้ไข]เมื่อท่านทั้งหลายได้ศึกษาในบทที่ ๑-๓ มาแล้วก็จะทราบว่า วิปัสสนาคืออะไร? วิปัสสนาเป็นอย่างไร? และวิปัสสนาปฏิบัติแล้วได้อะไร?
สำหรับบทที่ ๔ นี้ก็จะเป็นบทสรูปของวิปัสสนาว่า ปฏิบัติอย่างไร? ตรงนี้นับว่าเป็นจุดสำคัญที่สุด เพราะมรรคผลจะเกิดหรือไม่อยู่ที่การปฏิบัตินี่แหละ เพราะถ้าเพียงแต่รู้เข้าใจว่าวิปัสสนาคืออะไร เพื่ออะไร ได้อะไร แต่กับไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร นี่นับว่าเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงเลยทีเดียวสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์ เพราะถ้าไม่รู้วิธีการปฏิบัติ ก็จะไม่เกิดผล พอไม่เกิดผลก็อาจจะทึกทักเอาว่า พุทธศาสนาเป็นแค่ปรัชญา หรือพระนิพพานเป็นเรื่องเพ้อฝัน หรือเผลอหลงปฏิบัติแต่สมถะเพียงอย่างเดียว พอเกิดฤทธิ์เดช หรือได้หูทิพย์ ตาทิพย์ ก็อาจหลงเข้าใจว่าเป็นผลสำเร็จของวิปัสสนา ต่อจากนั้นก็ตกไปในวังวนของลาภ ยศ สรรเสริญ แล้วก็ติดกับอุปาทานอย่างจัง ชนิดถอนตัวไม่ขึ้นเกิดอัตตาตัวตนอย่างชนิดไม่เคยหลงมาก่อน อย่างนี้ก็มีจำนวนมาก ดังนั้นเบื้องต้นผู้ปฏิบัติจะปฏิบัติวิปัสสนาต้องรู้จักมรรคมีองค์ ๘ เสียก่อน เพราะมรรค ๘ นั่นแหละคือทางเดินของวิปัสสนา เทคนิควิธีการ(สติปัฏฐาน)คือยานพาหนะที่จะเดินตามมรรคานี้ อิทธิบาท ๔ คือน้ำมันที่ต้องคอยเติมดังนั้นจึงต้องรู้จัก อริยมรรคนี้เป็นเบื้องต้น มรรคมีองค์ ๘ อะยะเมวะ อริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ เสยยะถีทัง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิฯ นี้นั่นแล คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ฯ อริยมรรคนี้ เป็นไฉน? อริยมรรคนี้คือ สัมมาทิฏฐิ๑ สัมมาสังกัปปะ๑ สัมมาวาจา๑ สัมมากัมมันตะ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ๑ สัมมาสติ๑ สัมมาสมาธิ๑ ฯ (นี้คือพุทธะดำรัส ในธัมมจักกัปปวัตตะนะสูตร) ต่อแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจะได้อธิบายมรรคมีองค์ ๘ โดยภาษาง่ายๆ เพื่อความเข้าใจและง่ายต่อการนำไปใช้กับชีวิตประจำวัน และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติ จะอธิบายมรรค ๘ ๒แบบคือ ในรูปแบบตามตำราที่เคยเรียนมา และมรรค ๘ ที่เคยปฏิบัติวิปัสสนามาว่ามีความเหมือนกับมีความแตกต่างอย่างไร อุปมาเหมือน อันแรกเปรียบเช่นแผนที่หรือข้อมูลที่ดูก่อนเดินทาง อย่างที่ ๒ เหมือนสถานการณ์จริงที่เราเผชิญตอนเดินทางแล้ว ซึ่งจะอธิบายขยายความรวมกับหัวข้อการปฏิบัติแบบเก็บอารมณ์ ต่อแต่นี้ไปจะได้เริ่มทำความรู้จักสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นมรรคองแรก ซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะถ้ามรรคองค์แรกไม่เกิด มรรคที่เหลือไม่จำต้องกล่าวถึง มรรคที่เหลือจะมีได้ก็เพราะอาศัยมรรคองแรกเป็นตัวนำ เหมือนรถไฟจะออกจากสถานีต้องอาศัยตัวหัวจักรนำหน้า ถ้าตู้แรกพุ่งตกรางแล้วตู้ที่เหลืออีก ๗ ตู้ก็ไม่ต้องกล่าวถึงอีกว่าจะไม่ตกหรือเดินทางต่อไปได้
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นอย่างไร? คือ เห็นทุกข์ (อุปาทานขันธ์) เห็นเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) เห็นนิโรธ (ความดับทุกข์) เห็นมรรค (ข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์)
สัมมาทิฏฐิ ๒ ระดับ คือระดับโลกิยะ คือเห็นอย่างกัลละยาณะชนที่ยังเป็นระดับปถุชนอย่างหนึ่ง ระดับโลกุตระ คือเห็นทางออกจากทุกข์ในโลกนี้ เหนือโลก คือเห็นอย่างพระอริยะบุคคลอย่างหนึ่ง
ระดับโลกิยะ คือเห็นแบบไม่ขาดทุนนั่นคือการเชื่อในหลักกรรม ทำดีได้ดีคือประโยชน์สุข ความไม่เดือดร้อนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทำชั่วได้ชั่วคือปัจจุบันชาติก็เดือดร้อนละจากโลกนี้ไปก็ไปสู่ทุคติ มีนรกเป็นต้น สุขทุกข์ล้วนเป็นผลจากกรรมคือการกระทำของตนเองทั้งนั้น เห็นทุกข์คือผลของความชั่ว สมุทัย เพราะทำชั่ว นิโรธ เลิกทำชั่ว มรรค ทำความดีหันมาบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา นี่คือแบบโลกิยะคือยังอยู่ในระดับปัญญาของผู้ยังหนาแน่นในกิเลสอยู่
สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตระ คือเห็นทุกข์ คืออุปทานขันธ์ ความเป็นตัวตน ตัวกูของกูนี่เอง สมุทัย คือเห็นปฏิจจสมุปบาท ต้นตอแห่งกองทุกข์ทั้งมวล นิโรธ ดับทุกข์ได้ สลัดคืนตัณหา อุปาทาน มรรค เห็นข้อที่จะปฏิบัติให้ถึงทางออกจากทุกข์ได้ คือมรรคมีองค์ ๘นั่นเอง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ คือ ปรโตโฆสะ ๑ เสียงจากผู้อื่น โยนิโสมนิการ คิดโดยแยบคาย ๑
ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อืน คือ แหล่งข้อมูลข่าวสาร ในห้องเรียน หนังสือ ฟังเทศน์ วิทยุ โทรทัศ หรือระบบออนไลน์ รับการถ่ายทอดจากใครสักคนที่บอก สอน แนะนำเราให้รู้และเข้าใจในเรื่องนั้นๆ
โยนิโสมนสิการ การคิดโดยแยบคาย ซึ่งก็มีอยู่ ๔ วิธีคือ
- ๑. วิธีคิด การคิดอย่างเข้าถึงความจริง คือไม่ใช่คิดอย่างฟุ้งซ่าน คิดอย่างมีอคติ หรือคิดแบบมีตัณหานำหน้า โดยไม่มองตรงความจริง เช่นมีคนด่าว่าเรา ไม่คิดด่าคืนด้วยความโกรธ แค่ควรคิดความจริงเราทำอะไรให้เขาด่า ที่เขาว่าเป็นจริงไหม ด่าเพราะอะไร สาเหตุมาจากอะไร หรือคิดเรื่องความทุกข์ เช่นทุกข์คืออะไร ขัน ๕ เป็นทุกข์อย่างไร? คิดอย่างเข้าถึงความจริง เหมือนจะซ่อมรถต้องเข้าถึงจุดความจริงตรงที่มันเสียทำให้รถวิ่งไปไม่ได้ก่อน เรียกว่า อุปายมนสิการ คิดเป็น (เข้าถึงความจริง)
- ๒. คิดมีลำดับ มีขั้นมีตอน (คิดเป็นระบบ) คือคิดหาสาเหตุ เช่นเมื่อมีความเสียใจ คับแค้นใจเกิดขึ้น คิดเป็นระบบคือ ความจริงคือกำลังเสียใจ๑ เพราะอะไรเราจึงเสียใจ๑จะดับอย่างไร๑ จะแก้ไขป้องกันอย่างไร๑ นี่คือคิดมีขั้นมีตอนมีระเบียบเรียกทางภาษาบาลีว่า ปถมนสิการ คิดมีลำดับมีขั้นมีตอน
- ๓. คิดมีเหตุผล คือคิดถึงเหตุเกิด ผลที่เกิดจากเหตุ คามดับเหตุ การคิดหาเหตุผลยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นกำลังทุกใจเพราะไม่มีเงินพอค่าใช้จ่ายต่อเดือน ติดลบ ที่ไม่มีเงินคือผลที่เกิดจากเหตุ เหตุเพราะเที่ยว กินเหล้า ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายไม่เป็น กิน ใช้ ตามใจ ตามใจกิเลส ตัดต้นเหตุ เลิกเที่ยว ไม่ดื่มเหล้า ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ประหยัด อดออม ดับปัญหา การณมนสิการ คิดมีเหตุผล
- ๔. คิดอย่างมีเป้าหมาย คือคิดตามวิธีที่ ๑-๓ มาแล้ว คราวนี้ก็คือการนำไปใช้ให้เกิดผลตามความคิดที่ไตรตรองไว้นั่นเอง เรียกว่าอุปาทกมนสิการ คิดมีเป้าหมาย
สรูปคือ คิดเป็น คิดมีระบบ คิดมีเหตุผล คิดนำไปใช้ ถ้ามองให้ดี เราก็จะเห็นขั้นตอนแบบอริยสัจจ์ ๔ นั่นเอง อะไร เกิดจากอะไรอะไร หมดปัญหาอย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งอยางนี้จะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยกัลลยาณะมิตรอีกนั่นและ เพราะสัมมาทิฏฐิก็ต้องอาศัยกัลลยาณะมิตรนั่นเอง
กัลลยาณะมิตรเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิอย่างไร? กัลลยาณะมิตรเป็นอย่างไร? ประการแรกข้อมูลหรือความรู้ที่รับมานั่นและจะเป็นปัจจัยทำให้เราคิดโดยโยโสมนิสิการได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าแหล่งข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะสมัยปัจจุบันมีหลายคน หลายสำนักสอนเป็นอัตตะโนมติ คือสอนตามที่ตนเองเชื่อ ตนเองคิด โดยไม่สนใจว่าจะถูกต้องหรือไม่ เอาใจตนเองเป็นใหญ่ จึงมีเกิดลัทธิขึ้นมากมาย นอกธรรมนอกวินัยกันดาษดื่น ปัญหามาอีกแล้วถ้าจะอ่านหนังสือหรือหาข้อมูลของสำนักนั้น อาจารย์นี้จะเอาอะไรมาตัดสินว่าอันไหนผิด อันไหนถูก อันนี้ก็ไม่ยาก เพราะพระพุทธะเจ้าของพวกเราพระองค์ก็วางหลักตรวจสอบไว้อยู่ทั้งทางที่ผิด และที่ถูกอยู่ เรียกว่า แว่นส่องธรรม หรือหลักตัดสินพระธรรมวินัยของพระองค์ว่าใช่หรือไม่ใช่ซึ่งพระองค์วางหลักไว้ดังนี้
ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ
๑. ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ (เพื่อเพลิดเพลินในตัณหา) ๒. เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ ๓. เป็นไปเพื่อความสะสมกองกิเลส ๔. เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ ๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษมักน้อย คือมักมาก ๖. เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ (ความไม่สงบเพราะวุ่นวายเพราะหมู่มาก) ๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
ทั่ง ๘ขอนี้ พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ฯ
๑. ธรรมเหล่าไดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ๒. เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์ ๓. เป็นไปเพื่อความอยากอันน้อย ๔. เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกิเลส ๕. เป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ๖. เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่ ๗. เป็นไปเพื่อความเพียร ๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ กัลลยาณะมิตรเป็นอย่างไร? คือบุคคลที่ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ นี่และถ้าเป็นคนที่สอนเราแนะนำเราได้ ไม่นอกลู่นอกธรรม เรียกว่าสัตตะบุรุษ ๆ คือ
สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ( ธรรมของสัตตะบุรุษ )
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้เหตุแห่งสุข ๒. อัตถัญญุตา รู้ว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน ว่าเราโดยชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้คุณธรรมเพียงเท่านั้น และประพฤติตนให้สมควรแกที่เป็นอยู่อย่างไร หมายความว่ารู้จักตนเองดี ทำตนเหมาะสมกับตำแหน่ง ความรู้ ฐานะนั่นเอง ๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภค ( รู้จักใช้จ่าย ใช้ชีวิตด้วยปัญญา ไม่ใช้ใช้ชีวิตแบตัณหา เช่นการกิน ก็กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่กินตามใจอยาก) ๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกิจนั้นๆ ๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนและกิริยามารยาทที่ต้องประพฤติต่อ ประชุมชนนั้นๆ ๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นบุคคลควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบเป็นต้น
อีก ๗ ประการ ธรรมของสัตตบุรุษ
๑.มีศรัทธา ที่ประกอบด้วยปัญญา มีหิริโอตตัปปะ เป็นพหุสูตร (ได้ยินได้ฟังมามาก หรือเรียนมามากรู้ศิลปะวิทยาการมากหลาย) มีความเพียร มีสติมั่นคง มีปัญญา ๒. จะปรึกษาสิ่ใดๆกับใครๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น ๓. จะคิดสิ่งได ก็ไม่คิดเบียดเบียนตนและผู้อื่น ๔. จะพูดก็พูด ก็ไม่พูดเท็จ คำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ ๕.จะทำสิ่งได ก็ไม่เบียดตนและผู้อื่น ๖. มีความเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิ ๗. ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแบ่งปันความสุข ข้าวข้องตนแก่ผู้อื่นด้วยความจริงใจ ผ่องใส เบิกบาน
นี่คือลักษณะของกัลยาณมิตรที่จะสามารถทำให้เป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิได้ นอกจากนี้ก็มองไม่เห็นปัจจัยอื่น คนที่รู้เองได้ก็มีแต่พระสัมมาสัมพุทธะเจ้าเท่านั้น แม้แต่พระสารีบุตรผู้เลิศด้วยปัญญาก็ยังอาศัยกัลลยาณะมิตรคือท่านพระอัสสชิเถระจึงเกิดสัมมาทิฏฐิได้ ในข้อแรกข้าพเจ้าอธิบายยาวหน่อยเพราะเป็นข้อสำคัญที่สุด เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่ออกผลแล้ว ความสำคัญอย่างแรกคือเมล็ดพันธุ์พืชต้องดี ปลูกที่เหมาะสม ดูแลอย่างดี ความเจริญเติบโตก็จะมาเองโดยไม่ต้องสงสัย
- สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ เป็นอย่างไร ? คือ ความดำริออกจากกาม ดำริในการไม่คิดปองร้าย ดำริในการไม่เบียดเบียน
- สัมมาวาจา วาจาชอบเป็นอย่างไร ? พูดจริง ไพเราะอ่อนหวาน ไม่พูดยุแหย่ผู้อื่นให้แตกร้าว ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
- สัมมากัมมันตะ การงานชอบเป็นอย่างไร? คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
- สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบเป็นอย่างไร ? คือ ประกอบอาชีพสุจริต ไม่ผิดธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดพระวินัย เป็นพระก็คือแสวงหาด้วยการบิณฑบาต
- สัมมาวายามะ ความเพียรชอบเป็นอย่างไร? คือพยายามระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้นในชีวิต กายกับใจ จุดเน้นคือใจ พยามละความชั่วที่มีอยู่ให้ได้ พยายามรักษาความดีที่มีอยู่ให้มั่นคง และพยายามพัฒนาความดีให้ดียิ่งๆขึ้นๆไปให้ได้
- สัมมาสติ การระลึกชอบเป็นอย่างไร? คือมีสติสัมปชัญญะระลึก คือตามดู ตามรู้ พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม อยู่ตลอดเวลา เพื่อกำจัดความยินดี ยินร้าย คลายความกำหนัด ความพอใจในโลกนี้ เพื่อละซึ่งตัณหา อุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕ (จะมีอธิบายในข้อสติปัฏฐาน)
- สัมมาสมาธิ สมาธิชอบเป็นอย่างไร ? คือจิตที่ตั้งมั่นแบบพอดีๆ พร้อมที่จะตัดกิเลส เมื่อสติเป็นมหาสติแล้ว ก็ส่งผลต่อคือสมาธิ เป็นสมาธิที่ชอบ คือไม่ใช่พวกสมาธิที่ทำให้เกิดฤทธิ์เดช ปาฏิหาริย์แต่อย่างได แต่เป็นดุจมีดอันคมที่พร้อมจะตัดกิเลสทั้งมวลได้ หลวงพ่อพุทธทาสท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ว่าด้วยเรื่องวิปัสสนาว่า สัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่ควรต่อการงานนั่นเอง (หากจะพูดตามหลักปริยัติ เรื่องของฌาน ก็อาจจะทำให้ผู้สนใจเกิดความสับสนได้ จึงเอาความหมายของสัมมาสมาธิแทน)
บัดนี้เมื่อท่านทั้งหลายได้รู้จัก มรรค ๘ ตามหลักปริยัติแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะก้าวสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังเสียที นั่นก็คือวิธีการปฏิบัติวิปัสสนา ที่เรียกว่าสติปัฏฐานสี่กันอย่างจริงจังเสียที และข้าพเจ้าจะได้อธิบายหลักวิธีการปฏิบัติ สองแบบคือ ปฏิบัติอยู่กับบ้านกับเรือนหรือทุกสถานที่ก็ว่าได้ ที่เรียกว่าวิปัสสนาธรรมชาติ และแบบเก็บอารมณ์ที่เป็นการปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อประหัตประหารกิเลสชนิดตาต่อตา ฟันตอฟัน ทุกวินาที นาทีต่อนาที
สติปัฏฐาน ๔ วิปัสสนากรรามฐาน
[แก้ไข]- (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ ทีฆนิกาย มหาวัคค์ มหาสติปัฏฐานสูตร)
ก่อนจะอธิบายในเรื่องสติปัฏฐาน เรามารู้จักความหมายของสติปัฏฐาน และความมุ่งหมายเสียก่อน สติปัฏฐานคืออะไร ? มีอะไรบ้าง? มุงหมายนำไปปฏิบัติได้อย่างไร?
สติปัฏฐานคืออะไร? ได้แก่ ฐานที่ตั้งเฉพาะของสติ หรือที่เรียกกันง่ายๆว่าตำแหน่งที่สติต้องเข้าไปกำหนด ตามรู้ ตามดูเสมอตลอดเวลา พยามตั้งสติไม่ให้เผลอไปที่อื่น
สติปัฏฐานมีอะไรบ้าง? กายานุปัสสี มีปกติตามเห็นกายในกาย ๑ เวทนานุปัสสี มีปกติตามดูเวทนาในเวทนา๑ จิตตานุปัสสี มีปกติตามดูจิตในจิต ๑ ธัมมานุปัสสี มีปกติตามดูธรรมในธรรม ๑
สติปัฏฐานมีความมุ่งหมายอย่างไร? ความมุ่งหมายหรือเป้าหมายของสติปัฏฐานตามที่พระบรมศาสดาทรงชี้ให้เห็นคือ เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกและความร่ำไรเสีย เพื่ออัสดงดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูก เพื่อพระนิพพาน รวมความก็คือความดับทุกข์ทั้งปวงชนิดแบบถาวรนั่นเอง
ก่อนจะเข้าสู่วิธีการปฏิบัติเรามาทำความเข้าใจในจุดมุ่งหมายนี่เสียก่อนว่า ทำไมพระองค์ถึงตรัสจุดมุ่งหมายไว้อย่างชัดเจนเป็นอันดับแรก ท่านทั้งหลายต้องควรทราบว่า ในพระธรรมอันไดก็ตามอันสำคัญพระองค์จะทรงตรัสวางไว้เป็นอันดับแรก พระธรรมเทศนาสติปัฏฐานนี้พระองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่นิคมชื่อกัมมาสธัมมะ แคว้นกุรุ เนื่องจากชาวเมืองนั้นชอบการปฏิบัติธรรมมาก ในการเริ่มต้นพระองค์ก็ทรงตรัสเน้นย้ำถึงเป้าหมายหรือความมุ่งหมายทันที นั่นก็คือ เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อพระนิพพาน เพราะอะไร
นั่นเพราะพระองค์ต้องการเน้นย้ำให้ภิกษุตระหนักถึงเป้าหมาย ไม่ให้ไขว้เขว หลงทิศหลงทางในเวลาปฏิบัติ เนื่องจากบางท่านในเวลาปฏิบัติอาจเกิดคุณวิเศษขึ้น เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ หรือรู้วาระจิตของผู้อื่น หรือเกิดฌานสมาบัติ แสดงฤทธิ์ แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆได้ แล้วเกิดติดอกติดใจลืมความมุ่งหมายเสียแต่แรก เพราะนั่นไม่ใช่ทางหลุดพ้น ยังอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงอยู่ การจะพ้นจากวัฏฏะสงสารนั้นมีแต่พระนิพพาน บางครั้งคุณวิเศษอาจเป็นกับดักอย่างจัง คือแสดงฤทธิ์ได้ก็เกิดลาภสักการะต่างๆแล้วก็หลงติดอยู่ตรงนั้น แล้วก็หนีไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดอีก ตัวอย่างสมมติ ว่า นาย ก ฝึกนั่งสมาธิ จนได้คุณวิเศษตาทิพย์ และรู้ความคิดผู้อื่น แต่ตัณหายังไม่เบาบางลงเลยเพียงแต่สงบอยู่เท่านั้น วันหนึ่งพบนางสาว ข ซึ่งเป็นสาวสวย น่ารัก หุ่นดี ทราบความในใจว่านางสาว ข รักตน ชอบตน อยากนอนกับตน กิเลสก็ฟูตามที่จิตรับรู้มา หลังจากนั้นก็เกิดการเกี่ยวพัน ติดต่อ อยู่ร่วม หันเข้าสู่วังวนกิเลสอีก คราวนี้ท่านทั้งหลายคงจะทราบแล้วว่าคุณวิเศษหากตัณหายังไม่ดับ เราไปหลงมันก่อนก็เป็นโทษอย่างมหันต์ แต่ถ้าบรรลุมรรคผลแล้วถึงมีก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า เป็นโทษ ถึงไม่มีก็ไม่เป็นไรเลย เพราะไม่ใช่ความสำคัญอะไร
ขนาดพระองค์ตรัสความมุ่งหมายไว้อย่างนี้ ปัจจุบันยังเห็นคนเป็นจำนวนมากหลงผิดอยู่ จึงมีหลายคนถึงกับเอาเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ วิปัสสนาพารวย วิปัสสนาเสดาะเคราะห์ วิปัสสนาเพื่อแสดงฤทธิ์ หรือแม้แต่บางคนมาปฏิบัติเพื่อดลบันดาลโชค หรือตามกิเลส อยากให้คนนั้นรัก คนนั้นหลง สารพัดจะมี ลืมความมุ่งหมายที่พระองค์ตรัสเลยทีเดียว เป็นที่น่าเสียดายมากนัก
๑. กายานุปัสสนา
[แก้ไข]สำหรับกายานุปัสสนานั้นว่าตามพระสูตรนั้นมีอยู่ ๖ ข้อด้วยกัน คือ ๑.ว่าด้วยหมวดอานาปานสติ (ลมหายใจ) ๒. หมวดอิริยาบถ ๓.หมวดสัมปชัญญะ ๔.หมวดของปฏิกูล ๕. หมวดธาตุ ๖. หมวดป่าช้า ๙ ซึ่งจะว่าเป็นข้อๆต่อไปตามลำดับดังนี้
๑. ๑ อานาปานสติ ข้อกำหนดด้วยลมหายใจเข้า-ออก
[แก้ไข]ในข้อนี้ก็มีกิจเบื้องต้นที่เราจะทำความเข้าใจอยู่บ้าง ตามพระสูตรพระองค์ได้ตรัสวางหลักว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่โคนไม้ก็ตาม ป่าไม้ก็ตาม เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้บัลลัง ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า มีสติ มีความเพียรแผดเผากิเลส มีสัมปชัญญะ ตามข้อความเบื้องต้น เราจะเห็นว่าการทำอานาปานสตินั้นมีขั้นตอนสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ระบุว่าที่ไหน แต่มีคำว่าก็ตามๆ แสดงว่าที่ไหนก็ได้ที่เหมาะสม สมควรที่จะทำอานาปานสติได้โดยไม่มีกังวล ขั้นตอนต่อมา นั่งคู้บัลลัง ก็คือนั่งคู้ขาเข้ามาไม่ต้องขาขวาทับขาซ้ายก็ได้ คือคู้ขาเข้ามาให้อยู่ในท่าที่สบาย ตั้งกายให้ตรง คือยืดกายให้ตรงตั้งแต่ คอ ลำตัว อย่าคอเอียง หรือหลังงอ หรือเงยหน้า ก้มหน้า เพื่อการไหลเวียนสะดวกของเลือด และระบบประสาทนั่นเอง ดำรงสติจำเพาะหน้า คือมีสติ สัมปชัญญะ จำเพาะหน้านี้ คือปัจจุบันขณะนี้ เวลานี้ จะคิดอดีต อนาคต ปัจจุบัน ก็ให้รู้อยู่ตรงหน้านี้เมื่อพร้อมแล้วก็กำหนดลมหายใจเข้าออกดังนี้ (อานาปานสติในสติปัฏฐานจะมีความแตกต่างจากอานาปานสติสูตรอยู่บ้างซึ่งข้าพเจ้าจะอธิบายในอานาปานสติกรรมฐาน คืออานาปานสิในที่นี้เอาแค่ถึงข้อกายสังขารระงับแล้วยกสู่วิปัสสนาทันที)
๑.๑ เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว ในข้อนี้เริ่มต้นง่ายๆก็คือเอาสติไปดูที่ลมหายใจ รู้อย่างชัดเจนกับลมหายใจว่าที่กำลังหายใจเข้าหรือออกนั้นมันสั้นหรือยาว ในข้อแรกสังเกตดูเราจะพบว่าตอนนั่งใหม่ๆนั้นจิตมันยังไม่นิ่ง กายยังไม่สงบดี ลมหายใจจะหยาบอยู่นั่นคือหายใจยาว ก็ให้เราเข้าไปกำหนดรู้ว่ามันเข้าและออกยาว แค่นี้ ที่สำคัญคือต้องมีสติ สัมปชัญญะ คือรู้ชัด คือชัดแจ้งนั่นเอง
๑.๒ เมื่อหายใจออกสั้น ก็ให้รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็ให้รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น เมื่อเรามีสติอยู่กับลมหายใจมาเรื่อยๆ เราจะพบว่า ลมมันไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลง คือจากยาวมันจะค่อยๆสั้นลงๆ บางครั้งเหมือนหายใจหอบถี่ จนมันสั้นอย่างเห็นได้ชัด เหมือนกับหายใจไม่เต็มอิ่มไม่ทั่วท้อง ตรงนี้ก็ให้เรารู้ชัดว่ามั่นหายใจ เข้า-ออก สั้น
๑.๓ ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งหมด หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งหมด หายใจเข้า คราวนี้เมื่อนั่งมาสักระยะเราจะเห็นลมหายใจ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางครั้งก็เร็ว บางครั้งก็ช้า ทั้งยาว ทั้งสั้น บางครั้งเบา บางรั้งก็หนัก หรือบางครั้งมันละเอียดจนเหมือนกับเราไม่หายใจ ก็ให้เราเข้าไปรู้มันทั้งหมด คือกายลมทั้งหมด กายคือรูป มหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ลมหายใจก็เป็นส่วน ๑ ของกาย คือรู้กายลมทั้งหมด หายใจเข้า หายใจออก
๑.๔ ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า พอมาถึงตรงนี้จิตจะเริ่มสงบ กายก็จะระงับ คือสงบกายสงบใจ บางคนอาจจะขนลุกชูชัน บางคนก็ร่างกายส่ายไปมาโอนเอน หรือตัวโยก บางทีก็เมือมีไรตัวเล็กๆไต่ตามหน้า ตามตัว ตรงนี้เราก็ต้องมีสติดู รู้ตัว แล้วเราจะเห็นว่ามันค่อยๆระงับไปเอง จิตจะค่อยๆเป็นสมาธิ เมื่อจิตระงับแล้ว สงบแล้ว ให้ตื่นตัว มีสติ สัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมหายใจออก หายใจเข้า อย่าให้เลยนี้ไปเดี๋ยวพลังสมาธิจะมากกว่าสติจะกลายเป็นสมถะไป แล้วให้ย้อนกลับมาที่ลมหายใจอีกรอบกับลมหายใจสั้น-ยาว ตามลำดับมาอีก เพื่อให้ชำนาญและชัดเจนขึ้นแล้วให้ยกสู่วิปัสสนา คือการใช้ปัญญาซึ่งจะอธิบายต่อไป
อุปมา เหมือนนายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ฉลาด เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงสั้น จากตรงนี้ เราจะพบเคล็ดลับสำคัญว่า เวลาเขาดึงเชือก เขาจะมีสติที่เชือก แต่ไม่ใช่จับจ้องที่เชือก หรือถังที่ใช้เชือกชักขึ้นชักลง อธิบายง่ายๆคืออย่าไปเพ่งจ้องเชือก แต่ให้มีสติอยู่กับการชักขึ้น ชักลงของเชือก การดูลมหายใจเหมือนกันแค่มีสติดู อย่าเพ่งจ้องมัน หรือเข้าไปแทรกแซงมัน อย่าบังคับมัน เหมือนเรานั่งดูคนเดินเข้าและออกประตู เราอย่าไปบังคับคนเข้าคนออกเพราะเป็นทุกข์ แค่ดูว่าใครจะเข้าจะออก ช่างมัน ดังนั้นลมหายใจเช่นกัน ตามดู แต่อย่าเพ่งหรือจับจ้อง จนหน้านิ่วคิ้วขมวด เพราะการเพ่งเป็นวิธีการของสมถะกรรมฐาน
รอบที่ ๒ ก็กำหนดใหม่ตั้งแต่ข้อที่ ๑-๔ วนไป วนมา จนชำนาญแล้ว เมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่นแล้ว จิตก็ควรแก่การงาน คราวนี้ก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาทันที ตรงนี้ตนมักจะเกิดคำถามว่าพอนั่งมาแล้วพอจิตสงบ ก็จะแช่อยู่อย่างนั้น ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ทำทีไรก็มาถึงแค่ตรงนี้ไม่พัฒนาต่อเลย แท้ที่จริงจุดนี้คือจุดเชื่อมต่อระหว่างสมถะและวิปัสสนา นั่นเอง ถ้าไม่ทำกิจของอานาปานสติ จิตก็จะตกสู่อัปปันนาสมาธิไหลไปสู่สมถะทันที ซึ่งก็จะเป็นสมาธิแบบฤๅษีไป ผิดความมุ่งหมายไป ดังนั้นจึงต้องทำกิจของอานาปานสติคือยกขึ้นสู่วิปัสสนาคือปัญญาเสีย กิจของอานาปานสติมีอะไรบ้าง?
กิจของอานาปานสติ คือสิ่งที่ต้องทำในลมหายใจเข้า-ออก ก่อนจะอธิบายเรามาดูกิจตามพุทธดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรเสียก่อน ซึ่งรวมแล้วมี ๗ ข้อดังนี้
๑. ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายในบ้าง ๒. ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายนอกบ้าง ๓. ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ๔. ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ๕. ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ๖. ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายอันเป็นภายในบ้าง ๗. ก็หรือสติ (ความระลึกว่ากายมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก
ทั้ง ๗ ข้อนี้คือกิจที่ต้องทำในอานาปานสติ ซึ่งจะอธิบายให้เข้าใจเป็นลำดับเป็นข้อๆไป
ในข้อที่ ๑ นั้นคือให้เราพิจารณาถึงลมหายใจว่า ในร่างกายนี้มันเป็นแต่เพียงธาตุ เช่นธาตุลมที่ดูอยู่ขณะนี้ที่มันอยู่ได้ก็เพราะการอาศัยการปรุงเข้าด้วยกันคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีตัวกูของกูเลยเป็นแต่เพียงกายเท่านั้น ในข้อที่ ๒ นี้ พอเราพิจารณาเห็นว่าลม หรือกายลมของเราเป็นแต่เพียงธาตุเท่านั้น ก็มองไปที่กายของผู้อื่น เราก็จะเห็นว่า กายอื่นก็เหมือนกันอาศัยสังขารคือการปรุงกันเข้าเท่านั้น มีลมหายใจเข้าออกเหมือนกัน ในข้อที่ ๓ ก็คือพิจารณาทั้งข้อหนึ่ง ข้อสอง สลับไปมา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอย่างชัดเจนแล้วมรรคตัวแรกคือสัมมาทิฏฐิก็จะเกิดทันที คือเห็นชอบว่า กายเป็นกาย ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีตัวกู ของกู เพราะเห็นแต่เป็นเพียงธาตุเท่านั้น เมื่อเห็นดังนี้แล้วก็ยกขึ้นข้อต่อไป ในข้อที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ คือเห็นไตรลักษณ์ในลมหายใจนั่นเอง คือเห็นทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เห็นอย่างไร เมื่อเราทำสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจ เราจะพบว่ามันมีความเกิด ดับ ที่เร็วมาก เมื่อหายใจออก หายใจเข้าก็ดับไป เมื่อหายใจเข้า หายใจออกก็ดับไป และในขณะที่เข้ากับออก เราจะสังเกตพบว่ามันมีการนิ่งอยู่ ชั่ววินาที มันจึงเข้า จึงออก นี่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และลมหายใจมันไม่เที่ยง เดี๋ยวสั้น เดี๋ยวยาว ดังเราจะเห็นในชีวิตประจำวัน เวลาเกิดความโกรธหรืออารมณ์ทางเพศ ลมหายใจจะหอบถี่ รุนแรง เป็นลมหยาบสังเกตง่าย เวลาอ่อนล้าทางจิตใจเราจะพบว่า ลมหายใจอ่อนแรงบางเบา หรือหายใจอย่างรวดเร็วเหมือนเวลาเด็จจะร้องให้ นี่เราเห็นอนิจจังจากลมหายใจอย่างนี้ ทุกขัง คือตั้งอยู่ไม่นาน ไม่ว่าจะหายใจแบบไห้มันก็อยู่ไม่นานเพราะเป็นของทนได้ยาก เป็นอนัตตา ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็บังคับมันไม่ได้ หรือใครๆก็บังคับมันไม่ได้ เช่นเวลาจะตาย ใครๆก็บังคับหรืออ้อนวอนให้มันหายใจต่อไปไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น
ข้อที่ ๗ เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ให้วางเฉย คือไม่ยินดี ยินร้ายกับมัน ไม่เข้าไปรักไปชัง ในร่างกายสังขารนี้ ทั้งภายในภายนอก เห็นว่าร่างกายที่อยู่ตรงนี้เป็นแต่เพียงอาศัยของนามธรรมเท่านั้น ไม่มีตัวกูของกู ต้องแก่ เจ็บ ตายในที่สุดเท่านั้นเอง
พอมาถึงตรงนี้ ถ้าในวิปัสสนาญาณ ๙ ก็คือ อุเบกขาญาณ นั่นเอง ผลจะเกิดขึ้นต่อมา คือมาตามเป้าหมายที่พระผู้มีพระภาคทรงวางไว้แต่แรกนั่นคือ บรรลุธรรมที่ถูก คือที่พระองค์ตรัสไว้ท้ายข้ออานาปานะสติว่า “เธอย่อมมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิ ไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นในอะไรๆ ในโลกด้วย” เมื่อละอุปาทานแล้ว ก็ก้าวเข้าสู่ความเป็นอริยะคือพระโสดาบันเป็นต้น ในอานาปานสติมีลำดับขั้นตอนอย่างนี้ และเป็นไปอย่างนี้
จบข้อที่ว่าด้วย อานาปานะสติ แต่เพียงเท่านี้
๑.๒ ข้อกำหนดด้วยอิริยาบถใหญ่
[แก้ไข]ในข้อนี้เป็นจุดเชื่อมต่อจากอานาปานสติ คือหลังจากผู้ปฏิบัตินั่งสมาธิแล้ว อยากเปลี่ยนอิริยาบถ คือปฏิบัติแบบต่อเนื่องเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสต่อว่า (พุทธะดำรัส)
“ปุนะ จะ ปรัง ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่น ยังมีอยู่อีก
เมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า เดี๋ยวนี้เราเดิน หรือเมื่อยืนก็รู้ชัด เดี๋ยวนี้เรายืน หรือเมื่อนั่งก็รู้ชัดว่า เดี๋ยวนี้เรานั่ง หรือเมื่อนอนก็รู้ชัดว่า เดี๋ยวนี้เรานอน เมื่อเธอนั้น เป็นผู้ตั้งกายไว้แล้วอย่างไดๆ ก็ย่อมรู้ชัดอาการนั้น อย่างนั้นๆ อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายอันเป็นภายในบ้าง ก็หรือสติ (ความระลึกว่ากายมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอย่างนี้แล”
จากข้อนี้เราจะพบว่า ต้องมีสติกับอิริยาบถใหญ่ คือยืน เดิน นั่ง นอน มีสติระลึกได้อยู่เสมอตลอดเวลา มีเคล็ดลับสำคัญที่เราต้องเข้าใจอยู่ว่า รู้ชัดและเดี๋ยวนี้ ความนี้หมายถึง ต้องเป็นปัจจุบันจริงๆ ไม่ใช่นึกถึงการยืน เดิน นั่ง นอน ในอดีตหรืออนาคต ต้องชัดเจนคือเป็นปัจจุบันและเป็นจริง เช่นกำลังเดิน ก็คือกำลังเดินอยู่ ไม่ใช่กำลังจะเดิน หรือพึ่งเดินมา อย่างนี้เป็นต้น เมื่อเป็นมหาสติแล้วคือมีทั้งสติและสมาธิแล้ว ก็ถึงขั้นตอนที่ต้องใช้ปัญญาแล้ว คือยกขึ้นสู่วิปัสสนาเหมือนข้ออานาปานสตินั่นเอง เช่น พิจารณาเห็นกาย อันเป็นไปในภายใน ภายนอก หมายความว่า กายนี้ มียืน เดิน นั่ง นอน กายอื่นก็เหมือนกัน ดังนี้เป็นต้น (ขั้นตอนวิธีการดูข้อที่ ๑.๑ ตอนยกสู่วิปัสสนา) จบข้อกำหนดว่าด้วยอิริยาบถใหญ่
๑.๓ หมวดสัมปชัญญะ (อิริยาบถย่อย)
[แก้ไข]ในบทนี้เป็นบทต่อเนื่องต่อกันจากอิริยาบถใหญ่ จะว่าไปแล้วคือชีวิตประจำวันของเราทั้งหมด คือตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนเลยทีเดียว ถ้ามองอย่างสังเกตและเข้าใจเราจะพบว่าพระพุทธะองค์ พระองค์ทรงสั่งสอนอะไร จะเป็นระบบ ระเบียบ เป็นขั้น เป็นตอน ต่อกันอย่างสืบเนื่อง เพราะพระองค์ทรงเป็นบรมครูผู้สอนของเทวดามนุษย์ทั้งหลาย
เมื่อสติเราตามทันอิริยาบถใหญ่แล้ว คือจนชำนาญแล้ว พระองค์ก็ทรงเพิ่มความระเอียดเข้าไปอีกเพื่อทำให้เป็นมหาสติโดยเร็ว นั่นก็คืออิริยาบถย่อย ดังนี้ (พุทธดำรัส)
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลายข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) ในการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับข้างหลัง ,แลไปข้างหน้า เหลียวไปข้างหลัง, ในการคู้อวัยวะเข้าและเหยียดอวัยวะออก,ทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร,ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ, กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส,ยืน เดิน นั่ง หลับ และนิ่ง,” ทั้งหมดนี้คือต้องทำสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว)
อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายอันเป็นภายในบ้าง ก็หรือสติ (ความระลึกว่ากายมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอย่างนี้แล”
สรูปว่า ไม่ว่าจะทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับกาย ในแต่ละวัน แม้แต่เวลาเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ นาทีต่อนาที ต้องมีสติและสัมปชัญญะอยู่เสมอ ทำไปเรื่อยๆจนเกิดผลแล้วก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนาคือตัวปัญญานั่นเอง จบข้อกำหนดด้วยสัมปชัญญะ
๑.๔ กำหนดว่าด้วยของปฏิกูล
[แก้ไข]ในข้อนี้ คือพิจารณาของไม่สะอาดในร่างกายของเรา ก็คือเพื่อจะแยกย่อยซอยลงไปให้ระเอียดลงไปอีก คือเพื่อให้ปล่อยวางลงได้ง่ายลงไปอีก หมวดนี้ให้พิจารณาคือใช้ปัญญาในขณะที่ฝึกข้อที่ผ่านมาแต่ยังไม่ชัดเจนในการเพื่อละอุปาทานในตัวกูของกู ก็เพิ่มรายระเอียดลงไปอีกคือพิจารณาว่าในร่างกายตั้งแต่พื้นเท้าจนถึงศีรษะกลับไปกลับมาอย่างนี้มี อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ในร่างกายนี้มี ผมทั้งหลาย, ขนทั้งหลาย, เล็บทั้งหลาย , ฟันทั้งหลาย, หนัง,เนื้อ, เอ็นทั้งหลาย, กระดูกทั้งหลาย,เยื่อในกระดูก,ไต,หัวใจ,ตับ,พังผืด,ม้าม,ปอด,ลำไส้,ลำไส้สุด,อาหารในกระเพาะ,อุจจาระ,น้ำดี,เสลด,หนอง,โลหิต,เหงื่อ,มัน,น้ำตา,น้ำเหลือง,น้ำลาย,น้ำเมือก,น้ำลื่นหล่อข้อ,น้ำมูตร,เยื่อมันสมองในกะโหลกศีรษะ ดังนี้ ฯ เหมือนอย่างว่า ไถ้ (ถุง) มีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญชาติมีประการต่างๆ คืออะไรบ้าง? ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษแก้ไถ้นั้นออกแล้ว พึงเห็นได้ว่า เหล่านี้คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร ฉันได ก็พึงพิจารณาร่างกายฉันนั้นเหมือนกัน คือให้พิจาณาอย่างนี้ เมื่อพิจารณาอย่างแล้วก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนาคือกิจที่ต้องทำสำหรับกายานุปัสสนาเหมือนข้อที่ผ่านมาคือ อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายในบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายอันเป็นภายในบ้าง ก็หรือสติ (ความระลึกว่ากายมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอย่างนี้แล” จบข้อว่าด้วยของปฏิกูล
๑.๕ข้อกำหนดว่าด้วยหมวดธาตุ
ในข้อนี้ จะสั้นหน่อยเพราะในบทที่ ๑ ได้อธิบายเรื่องธาตุทั้ง ๔ ไว้แล้วท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจ ในเรื่องของธาตุนี้ จะอยู่ในขั้นตอนคือการพิจารณาร่างกายแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน เหมือนกับที่เขาฆ่าวัวแล้วแบ่งปันกันเป็นภูตๆไปตามเขียงเป็นต้น นั่นคือพิจารณาเห็นกาย คือเพียงสังขารที่ประกอบกันเข้าด้วยธาตุทั้ง ๔ เท่านั้น คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นต้น แล้วก็พิจารณาตามขั้นตอนเหมือนข้อที่ผ่านๆมา คือพิจารณาเห็นกายในกายนอกเป็นต้น แล้วยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ละอุปาทานเสีย ก็เท่านี้ฯ
๑.๖ข้อกำหนดด้วยป่าช้า ๙ สำหรับข้อนี้เพื่อความกระชับและสั้น เพื่อความเข้าใจง่าย ข้าพเจ้าอธิบายแบบรวบยอดโดยครบทั้งเนื้อหาที่ชัดเจน จะว่าไปแล้วในข้อนี้ก็คือให้พิจารณาศพ หรือคนตายใหม่ๆ จนถึงทิ้งไว้เป็นปี คือจากศพที่อืดพองไปจนถึงกระดูกเป็นผุยผงนั่นเอง พิจารณาศพแล้วก็น้อมเข้ามาหาตัวเองว่า แม้ร่างกายที่เราหลงนักหลงหนานี้มันก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่วันไดก็วันหนึ่งแน่นอน หลีกหนีไม่พ้น เอาละมาดูกันว่าป่าช้า ๙ มีอะไรบ้าง ๑. ศพที่ตายได้ ๒-๓ วัน (ศพอืด) ๒. ศพที่ฝูงกาจิกกิน ที่เขาทิ้งไว้ตามป่าช้า ๓. ศพที่เห็นกระดูกมีเนื้อ ๔. ร่างที่มีกระดูดเปื้อนเลือด ๕. กระดูกที่ยังเป็นรูปคนอยู่ ไต่ไม่มีเลือดและเนื้อ ๖. กระดูกที่แยกไปคนละทาง แขน ขา กระโลก ฯลฯ ไปคนละทาง ๗. กระดูกที่แห้งเหมือนดังสังข์ ๘. กระดูกที่ทิ้งไว้เกินปี กระจัดกระจายไปทั่วทุกทิศ ๙. กระดูกที่ผุพัง จนเป็นผุยผง จากที่พิจารณาร่างกายตั้งแต่ตนจนจบอย่างนี้ ก็จะทำให้เราเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดในร่างกาย ก็จะไม่ไปยึดว่าสวย ว่างามอีกต่อไป ต่อจากนั้นก็พิจารณาตามวิธีแห่งกายานุปัสสนาต่อไปนั่นคือ (ตามพุทธะดำรัส)
อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายในบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมภายในกายอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายอันเป็นภายในบ้าง ก็หรือสติ (ความระลึกว่ากายมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอย่างนี้แล” จบข้อว่าด้วยป่าช้า ๙ จบข้อกายานุปัสสนาแต่เพียงเท่านี้ ๒.เวทนานุปัสสนา
ในข้อว่าด้วยเวทนานี้ ก็จะกำหนดยากกว่าข้อกายานุปัสสนาขึ้นมาอีก เพราะเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง หรือรูปประพรรณสัณฐาน หรือเครื่องหมายให้กำหนดได้ แต่ก็จะอธิบายไม่ยากนักเพราะเรื่องของเวทนา ได้อธิบายไว้ในขัน ๕ อย่างระเอียดแล้ว และจะมีอธิบายใน ข้อเก็บอารมณ์อีก ในข้อเวทนานุปัฏบานนี้เอาแบบเข้าใจง่าย มีเวทนาที่เราจะต้องสังเกต รู้ชัดด้วยสติ ในการปฏิบัตินั้น สรูปพอเข้าใจง่าย มี ๖ ประการคือ
๑. สุขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นสุข ที่ไม่มีอามิส ๒. สุขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นสุข มีอามิส ๓. ทุกขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ไม่มีอามิส ๔. ทุกขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ มีอามิส ๕. อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขา) มีอามิส ๖. อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่มีอามิส
ย่อให้สั้นลงอีก ก็คือ สุข ๑ ทุกข์ ๑ เฉยๆ ๑ คำว่าเจืออามิส ก็คือเจือด้วยกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ) ตัวอย่างเช่นได้ฟังเพลงเพราะๆแล้วมีความสุข นอนที่นอนนุ่มๆ อย่างนี้เป็นต้น ชื่อว่า สุขเจืออามิส ความสุขที่เกิดจากสมาธิ หรือเกิดจากฌานสมาบัติ อย่างนี้เรียกว่า สุขไม่เจืออามิส ความทุกข์ ที่อาศัยกามคุณก็เช่นกัน เช่น ทุกข์เพราะได้ฟังคนนินทา เพราะดูหนังดูละคร ไม่ได้ดั่งใจ เคยนอนแอร์เย็นสบาย พอไฟฟ้าดับก็เป็นทุกข์อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าทุกมีอามิส คือทุกข์ที่เกิดจากกามคุณ ๕ นั่นเอง ความทุกข์ที่เกิด จากความบีบค้นทางจิตใจ ทุกข์เพราะอยากหนีจากวัฏฏะสงสารอย่างนี้เป็นต้น หรือทุกเพราะสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์เล่นงานอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าทุกข์ไม่มีอามิส อุเบกขา คือการเฉยๆ ต่อสุขและทุกข์ ทั้งที่เจืออามิสและไม่เจืออามิสนั้น (ในที่นี้คืออาการที่เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ใช่อุเบกขาคือการปล่อยวาง คนละอย่างกัน คือความเป็นจริงที่ตั้งอยู่แล้วค่อยๆเสื่อมไป เช่นเราฟังเพลงใหม่ๆรู้สึกสุขใจ แต่พอนานๆเข้า ก็เฉยๆ แล้วก็เริ่มเบื่อหน่าย เปลี่ยนไปหาสุขสิ่งใหม่แทน) ในเวทนานี้เราก็เพียงเข้าไปรู้ชัดว่ามันเป็นเวทนาอะไรเท่านั้น อย่าไปแทรกแซงกระบวนการมัน ไม่ว่าจะเป็นเวทนาชนิดไหนก็แค่เข้าไปรู้มันเท่านั้นเอง แล้วก็พิจารณาตามขั้นตอนเหมือนข้อกายานุปัฏฐานอย่างนี้ว่า อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอันเป็นภายในบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นในเวทนาอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมในเวทนาอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในเวทนาอันเป็นภายในภายนอกบ้าง ก็หรือสติ (ความระลึกว่าเวทนามีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอย่างนี้แล” จบข้อว่าด้วยเวทนานุปัฏฐาน ๒. จิตตานุปัสสนา
ในข้อนี้ก็จะกำหนดยากขึ้นมาสักหน่อยสำหรับผู้ไม่เข้าใจ ข้อนี้เป็นปัญหาอยู่บ้างสำหรับผู้ไม่เข้าใจคำว่าตามดูจิต ส่วนใหญ่คนปฏิบัติมักตามดูว่าจิตคิดอะไร? ซึ่งนั่นเป็นการหลงทางไปไกลเลยทีเดียว และยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะวันหนึ่งๆหรือแค่นาทีเดียวไม่รู้ว่าจิตเรามันคิดอะไรบ้าง ธรรมดาของจิตมันคิดเร็วมาก ดังที่มักพูดกันว่า ใจไปไวกว่าแสง มีปกติฟุ้งไปในอารมณ์ต่างๆ คิดไปไกลๆ อดีต อนาคต มากมายจนตามไม่ทัน ที่ว่าตามดูจิต คือมุ่งหมายการตามดู มีสติรู้ การเสวยอารมณ์ของจิตที่เกิดจากความคิด ซึ่งพอจะสรูปง่ายๆที่เราจะคอยดู คอยสังเกตมัน มีอยู่ ๑๖ ข้อด้วยกัน ดังนี้
๑. สราคํ มีราคะ ๒. วีตราคํ ไม่มีราคะ ๓. สโทสํ มีโทสะ ๔. วีตโทสํ ไม่มีโทสะ ๕. สโมหํ มีโมหะ ๖. วีตโมหํ ไม่มีโมหะ ๗. สงฺขิตฺตํ หดหู่ ๘. วิกฺขิตฺตํ ไม่หดหู่ ๙. มหคฺคตํ จิตกว้าง (พรหมวิหาร ๔) ๑๐. อมหคฺคตํ จิตแคบ (ตระหนี่) ๑๑. สอุตฺตรํ จิตต่ำ ๑๒. อนตุตฺตรํ จิตสูง (จิตยอดเยี่ยม) ๑๓. สมาหิตํ มีสามธิ ๑๔. อสมาหิตํ ไม่มีสามธิ ๑๕. วิมุตฺตํ หลุดพ้น ( หลุดพ้นแบบโลกิยะ คืออุเบกขาญาณ หรือ ชั่วคราว) ๑๖. อวิมุตฺตํ ไม่หลุดพ้น
เมื่อเราเห็นทั้ง ๑๖ ข้อ ของอารมณ์เป็นที่เสวยของจิตแล้ว คราวนี้เราก็แค่ มีสติสัมปชัญญะ คือรู้ตามอาการที่มันเป็นในขณะนั้น ที่เป็นปัจจุบัน คือดูมันเฉยๆอย่าไปยินดี ยินร้ายกับมัน มันจะรักก็อย่าไปรักกับมัน อย่างนี้เป็นต้น ดังพระพุทธะดำรัสว่า “เมื่อจิตมีราคะก็ให้รู้ชัดว่า จิตมีราคะ” ถ้าเราดูตรงนี้ เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ให้เราห้ามความคิด แต่ให้มีสติกับความคิด บางคนพอนั่งสมาธิใจเผลอไปคิดเรื่องกามราคะอารมณ์ทางเพศ ก็เลิกเสียเพราะกลัวบาป ถ้าใครเข้าใจขันธ์ ๕ แล้วก็จะเข้าใจในเรื่องสังขารเป็นอย่างดี รวมความว่า ไม่ว่ามัน จะมี หรือไม่มี ราคะ โทสะ โมหะ หรือหดหู่ เราก็มีแค่หน้าที่รู้แล้วดูมัน จน ชำนาญตามทันทุกวาระจิต แล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา คือไตรลักษณ์นั่นเอง บางคนนั่งสมาธิกรรมฐานแล้ว หรือปฏิบัติกรรมฐานอยู่ จิตมันเกิดพรหมวิหารขึ้น เมตตาต่อสรรพสัตว์ คิดอยากช่วยคนทั้งโลกและสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ อยากทำบุญอยากทำทาน สารพัด ก็เพียงแค่ตามดูมัน มันจะกว้างจะแคบก็ตามดูมัน มันจะสูง จะต่ำ จะหลุด ตรงนี้ดูให้ชัดเพราะจิตวิมุตหลุดพ้นชั่วคราวนี่แหละที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าตนเองสำเร็จอรหันต์แล้ว จิตหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น ก็เพียงแค่เข้าไปรู้เท่านั้นอย่าเผลอไปเต้นตามมัน เดี๋ยวจะเป็นทุกข์เข้า เมื่อตามดูจนชำนาญแล้วก็ยกขึ้นสู่ปัญญาเหมือนเดิมคือ อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอันเป็นภายในบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นในจิตอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมในจิตอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในจิตอันเป็นภายในภายนอกบ้าง ก็หรือสติ (ความระลึกว่าจิตมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอย่างนี้แล” ๓. ธัมมานุปัสสนา
สำหรับในข้อธรรมารมณ์ (ธัมมานุปัสสี มีปกติตามดูธรรมในธรรม) ก็คืออารมณ์ที่ยินดี และยินร้าย (ถูกใจ ไม่ถูกใจ) หรืออารมณ์ธรรมที่ถูกต้องกับใจ (ผลที่เกิดจากจิตเสวยอารมณ์) ซึ่งจะมีอธิบายเป็นข้อๆต่อไป ในธัมมานุปัสสนานี้มี ๕ หัวข้อด้วยกัน ดังต่อไปนี้
๔.๑ว่าด้วยเรื่องนิวรณ์ ๕
๔.๒ว่าด้วยขันธ์ ๕
๔.๓ว่าด้วยเรื่องอายตนะ ๔.๔โพชฌงค์ ๗ ๔.๕อริยสัจจฺ ๔
ตั้งแต่เวทนาเป็นต้นมาจนถึงข้อธรรม นี้ก็เป็นฝ่ายนามธรรมทั้งสิ้น ซึ่งก็ระเอียดขึ้นตามลำดับมาข้อนี้ในพระสูตรพระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างระเอียด ถ้านำมาหมดก็จะทำให้ยาวไปหรือทำให้ผู้ต้องการปฏิบัติเห็นเป็นของยากไป ข้าพเจ้าจึงจะทำให้สั้นและเข้าใจง่าย เพราะถ้าพวกท่านได้อ่านมาตั้งแต่บทที่ ๑ มาแล้วก็คงจะเข้าใจง่าย จะเห็นว่าตั้งแต่บทที่ ๑ เป็นต้นมามีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง ก็หวังว่าพวกท่านคงอ่านไม่ลัดตัดตอนมาจึงจะเข้าใจและกลายเป็นของง่าย
๔.๑ นิวรณ์ ๕
นิวรณ์ ก็คือ เครื่องกัน กีดขวาง การพัฒนาจิต หรือที่เรียกว่ากำแพงกันสู่ความดีนั่นเอง มีอะไรบ้าง? ๑.กามฉันทะ ๒. พยาบาท ๓. ถีนะมิทธะ ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ๕.วิจิกิจฉา ทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าจะอธิบายเป็นข้อๆดังต่อไปนี้ ๑. กามฉันทะ ความพอใจในกาม (กามคุณ ๕) คำว่าการพอใจในกามนี่มันเป็นกำแพงขวางกั้นอย่างไร ขอให้ท่านนึกง่ายๆว่า เวลาที่เราจิตใจกำลังหมกมุ่นยินดีปรีดากับกามารมณ์ เช่นกำลังนึกถึงรสในอาหารแซบๆ ฟังเพราะๆ สาวบริการสวยๆ จิตใจพอใจอยากใจ ตกลงว่าจะไป หรือหนุ่มๆสาวๆ ซึ่งกำลังตกหลุมรัก นัดพบกัน แล้วละก็จะให้เจริญสมาธินั้นยาก หรือแม้แต่เรียน ทำงานก็ตามที ใจมันไม่เอา ใจมันจดจ่อต่อสิ่งที่รอคอยคือกามารมณ์เท่านั้น นี่ก็นับเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว หรือแม้แต่อยากได้หูทิพย์ ตาทิพย์ ในการภาวนาเพื่อจะดูหวยดูเบอร์แล้วละก็ การจะให้ดูธรรมอย่างอื่นก็อย่าหวังเลย นี่คือนิวรณ์ข้อแรก ๒. พยาบาท ความปองร้าย (ความต้องการให้คนสัตว์พินาศ) สำหรับข้อนี้เหมือนกัน ถ้าอารมณ์ความแค้นเคือง อยากฆ่าคนนั้น อยากตีคนนี้ ใจมันก็ไม่อยากทำอะไรเช่นกัน เพราะมันคิดแต่จะแก้แค้นเท่านั้น นี่คือนิวรณ์ข้อที่ ๒ ๓. ถีนะมิทธะ ความมีใจมืดมัว หรือ กายโงกง่วง ถ้าใจมันยังมืดบอดจมอยู่เซื่องซึม หงอยเหงา หดหู่ หรือความง่วงนอนเข้าครอบงำอยู่ละก็ มันก็เป็นกำแพงกั้นการก้าวต่อไปในธรรมที่ยิ่งขึ้นไปอยู่ดี นี่คือนิวรณ์ข้อที่ ภ ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ความฟุ้งซ่าน นี่เหมือนกัน ถ้ามันเกิดขึ้นกับใครแล้วละก็ กำลังทำอะไรอยู่มันก็ทำได้ไม่ดี ยิ่งเวลาทำกรรมฐานแล้ว ถ้าเกิดขึ้นกับใครแล้วก็ไม่อยากปฏิบัติอีกต่อไป นี่ก็เป็นนิวรณ์ ข้อที่ ๔ ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ความลังเล สงสัย นี่ก็เหมือนกัน ถ้ายังมัวแต่ลังเลสงสัยอยู่ก็เป็นการเนิ่นช้าต่อการปฏิบัติ เช่นสงสัยว่า ปฏิบัติแล้วดับทุกข์ได้หรือไม่ นิพพานมีอยู่หรือ พระพุทธะเจ้ามีจริงหรือไม่ สวรรค์ นรก บุญ บาป มีอยู่หรือไม่อย่างไร มัวแต่ลังเลสงใสอยู่ร่ำไปเลยไม่ได้ปฏิบัติสักที นี่คือนิวรณ์ ข้อที่ ๕ ในนิวรณ์นี้พอมันเกิดขึ้นเราก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ เข้าไปรู้ ศึกษามัน ในข้อนี้ก็มีขั้นตอนอยู่ซึ่งพระพุทธะองค์ได้วางกิจไว้ คือสิ่งที่ต้องทำในนิวรณ์ นั้นก็มีอยู่ ๕ ขั้นตอน คือ
๑. เมื่อนิวรณ์ข้อใดเกิดขึ้น ก็รู้ชัดว่ามีนิวรณ์นั้น เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้น เราต้องกำหนดสติให้เห็นนิวรณ์อย่างชัดเชน เช่นกำลังกำลังพอใจในกามอยู่ ก็ให้รู้ชัดว่า เรากำลังพอใจอยู่กับกาม ข้ออื่นก็เหมือนกัน เกิดนิวรณ์ข้อไหนก็ต้องทราบให้ชัด คือที่เป็นปัจจุบันธรรม ขณะที่เป็นอยู่นั่นเอง ๒. เมือนิวรณ์ที่เกิดขึ้นดับไป ไม่มีแล้ว ก็รู้ชัดว่านิวรณ์ไม่มี เมื่อมีสติตามดูอยู่เราจะเห็นว่ามันค่อยๆดับไป เมื่อมันดับไป ไม่มีแล้ว เราก็ให้รู้ว่าปัจจุบันนี้ นิวรณ์ไม่มีแล้ว ๓. เข้าไปกำหนดรู้ว่านิวรณ์ที่เกิดนั้น เกิดขึ้นอย่างไร เมื่อเห็นความเกิด ดับ แล้ว ข้อนี้ก็สาวหาสาเหตุว่าเกิดเพราะอะไร เช่น เมื่อเรากำลังอยากทำร้ายนาย ก พยาบาท เมื่อมีสติตามดู เห็นมันดับไปแล้ว เราก็มาดูเหตุของมัน พยาบาทเพราะอาศัยเสียงที่เกิดทางหู ได้ยินว่าเขาด่า เหตุเพราะยึดมั่นว่า เสียงด่า ๔. เข้าไปกำหนดรู้ว่าดับไปอย่างไร ก็มาดูว่ามันดับไปอย่างไรเช่น เมื่อรู้เหตุว่าเกิดเพราะอุปาทานในขันธ์ โสตวิญญาณนั่นเอง เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาถึงความธรรมดา ของนินทาและสรรเสริญ เมื่อมีหู มีเสียง ผัสสะ เกิดขึ้น การได้ยิน ก็ต้องมีเป็นธรรมดา รู้แล้วปล่อยวาง พยาบาทนั้นก็ดับไป ๕. เราจะละนิวรณ์นั้นได้อย่างไร เมื่อเห็นเหตุเกิด และเหตุดับแห่งนิวรณ์ เช่นนี้ การคิดวิธีละก็จะดำเนินไป คือรู้ว่านิวรณ์ ก็คือนามธรรม ตัวนามนั่นเอง การที่จะละได้ก็ต้องอาศัยปัญญาในการเห็นแจ้งในไตรลักษณ์นั่นเอง แล้วก็ยกขึ้นสู่การพิจารณา ต่อไป คือพิจารณาอย่างนี้ว่า (พุทธะดำรัส) อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นในธรรมอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในธรรมอันเป็นภายในภายนอกบ้าง ก็หรือสติ ความระลึกว่าธรรมมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นนิธรรมในธรรมอย่างนี้แล” จบข้อว่าด้วยนิวรณ์ ๔.๒ ข้อว่าด้วยขันธ์ ๕
สำหรับข้อนี้ ก็จะไม่อธิบายยาวหรือมากนัก เพราะเรื่องขันธ์ ๕ ก็พูดมาในบทที่ ๑ คือเรื่องวิปัสสนาคืออะไร ท่านทั้งหลายคงจะทราบแล้วว่าขันธ์คืออะไร เพื่อเป็นการทบทวน ก็จะอบายพอสังเขปในข้อนี้อีกสักเล็กน้อย ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้พิจารณาขัน ๕ นี้ โยลักษณ์ไตรลักษณ์นั่นเอง เกิดขึ้น ตังอยู่ ดับไป นั่นเอง ขอยกตัวอย่างสักข้อ รูป คือร่างกาย อย่างนี้ความเสื่อมไปของรูป อย่างนี้ความดับไปของรูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้น ของเวทนา อย่างนี้ความดับไปของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกัน พูดให้เข้าใจก็คือให้มีสติตามดูความเกิดดับของขันธ์ ๕ นั่นเอง ตัวอย่างในเวลาเราเดินจงกรมเสร็จแล้วมานั่ง เราจะเห็นว่าในขณะที่เรากำลังนั่งลง เราจะเห็นว่ารูปยืนค่อยๆเสื่อมไป จนเกิดรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน ก็ดับไป เมื่อเอนหลังลงนอน รูปนั่งก็ค่อยๆเสื่อมไป รูปนอนก็เกิดขึ้น รูปนอนเกิดขึ้นแล้ว รูปนั่ง รูปยืน รูปเดินก็หายไป ในขณะที่นั่ง ที่นอน ยืน เดิน สุข หรือทุกข์ เฉยๆ เวทนาเกิดขึ้นก็ดู เช่นเดินจนปวดขาทุกขเวทนาเกิดขึ้น พอเปลี่ยนอิริยาบถมานั่ง ทุกขเวทนาก็ค่อยๆดับไป หรือขณะที่นั่ง สัญญา ความจำ จำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ดูความเกิดดับของมัน พอมันคิด(สังขาร) ก็รู้ว่ามันคิด เห็นความเกิดดับของความคิด วิญญาณ ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน อะไร เราก็ให้เห็นความเกิด ดับ ของขันธ์ ๕ เท่านั้น เมื่อพิจารณาจนเกิดปัญญาแล้ว ก็ทำกิจต่อไปในสติปัฏฐาน คือ อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายในบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นในธรรมอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในธรรมอันเป็นภายในภายนอกบ้าง ก็หรือสติ ความระลึกว่าธรรมมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอย่างนี้แล” จบข้อว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๔.๓ ข้อว่าด้วยอายตะ
ในข้อว่าด้วยอายตนะนี้พระองค์ทรงมุ่งหมายการเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่มีบทบาทต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งปวง นั่นคือกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องกับกาย) และ อารมณ์ที่ถูกต้องกับใจ เพื่อให้มีสติปฏิบัติอย่างถูกต้องกับสิ่งที่มากระทบกับ ตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นช่องทางการเสพโลกของเราทุกคนนั่นเอง โดยพระองค์ทรงวางหลักไว้สำหรับให้สติเข้าไปพิจารณาอย่างนี้คือ พุทธะดำรัส “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมรู้จักตาด้วย ย่อมรู้จักรูปด้วย อนึ่ง สัญโยชน์ (เครื่องผูกไว้ในภพ) ย่อมเกิดขึ้นอาศัยตาและรูปฉันได ย่อมรู้จักอันนั้นด้วย อนึ่งความที่สัญโยชน์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการได ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย ความละสัญโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่งความที่ละสัญโยชน์อันตนละแล้ว จะไม่เกิดขึ้นได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย” จากพุทธะดำรัสเบื้องต้น อันดับแรกเราจะพบว่าอันดับแรกนั่นก็คือเข้าใจความเป็นจริง ตามที่มันเป็นว่า เรามีประสาทสัมผัสคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัส ใจ ทั้งหมดนี้ไม่ได้พิการหรือเสียหายไป เป็นของใช้การได้ ไม่บกพร่อง เมื่อมี รูป ฯลฯ ธรรมารมณ์ มากระทบ ผัสสะทำงาน ความรู้ทางทวารทั้ง ๖ ก็ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เป็นธรรมดา
ตา –รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รส กาย-โผฏฐัพพะ ใจ-ธรรมารมณ์
สิ่งที่สำคัญเมื่อรับรู้แล้ว เกี่ยวข้องแล้ว เราจะปฏิบัติอย่างไร ในข้อต่อมาเราจะเห็นว่าพระองค์ให้เรา รู้เหตุเกิด เหตุดับ และการที่เราปล่อยวางแล้ว คือละ และขั้นตอนสุดท้ายอย่าให้เกิดขึ้นอีก ตัวอย่างเช่น ตาเห็นรถยนต์คันละหลายล้าน เกิดความเกี่ยวเนื่องคือเห็น รับเข้ามา คิดอยากได้ เป็นทุกข์เพราะไม่มีเงิน ทำใจปล่อยวางรู้เห็นความธรรมดาของการเห็นว่า เมื่อตามี รูปรถ ก็มีให้เห็นอยู่ตลอด ถ้าตามใจกิเลสที่อาศัยตาเห็น ก็จะไม่รู้จบ เห็นอีก อยากได้อีกเรื่อยไป ดังนั้นมีสติปล่อยวาง เห็นสักแต่ว่าเห็น เป็นการละและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ในทวารอื่นมีเสียงเป็นต้นก็เหมือนกันให้พิจารณาอย่างนี้แล้วก็ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์เหมือนข้อที่ผ่านมา
อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นในธรรมอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในธรรมอันเป็นภายในภายนอกบ้าง ก็หรือสติ ความระลึกว่าธรรมมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอย่างนี้แล” จบข้อว่าด้วยอายตนะ ๔.๔ โพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ ๗ นั้น มีอะไรบ้าง โพชฌงค์ ๗ ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู่ เหล่านี้คือ
๑. สติ ความระลึก ๒. ธัมมะวิจยะ ความสอดส่องธรรม (การวิจัยธรรม) ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบใจและอารมณ์ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗. อุเบกขา ความวางเฉย
พอมาถึงข้อนี้จะแตกต่างจากข้ออื่นๆที่ผ่านมา ธรรมเหล่านี้จะมีพร้อมหรือเกิดขึ้น ต้องเกิดมาได้เพราะ ได้ปฏิบัติสติปัฏฐานมาต่อเนืองอย่างไม่ขาดสาย คือทั้งกลาวงวันกลางคืน ๒๔ ชั่วโมง นอนเพียง ๔ ชั่วโมงเท่านั้น ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับอยู่ในการฝึกสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อสติสัมปชัญญะฝึกจนชำนาญแล้วองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้เหล่านี้ก็จะเกิดตามลำดับดังนี้ ๑. สติ ความระลึกได้ ในข้อนี้ หมายถึงสติที่ชำนาญแล้วจากสติสามัญธรรมดามาเป็นมหาสติ คือสติที่เป็นไปโดยอัตตะโนมัติ เมื่อสติเป็นมหาสติแล้วก็จะส่งผลให้เกิดธรรมข้อต่อมาคือ ๒. ธัมมะวิจะยะ ความสอดส่องธรรม (วิจัยธรรม) คือธรรมที่เป็นปรมัตถ์แล้ว ไม่มีการเห็นแบบอัตตาตัวตน เลือกเฟ้นธรรมที่จะหลุดพ้นแล้ว คือมรรคทั้ง ๘ ทำงานเป็นมัคคะสมังคีแล้ว ความเข้าใจในธรรมก็เป็นสัมมาทิฏฐิ คือตัวปัญญาที่เห็นอย่างถูกต้อง คือเห็นรูปนามตามสภาวะที่เป็นจริง ไม่เอนเอียงไปตามตัณหาอุปาทาน คือไม่มีตัวกู ของกูมาเกี่ยวข้องนั่นเอง เมื่อเกิดธัมมะวิจะยะเช่นนี้แล้วตัววิริยะก็จะมาทันที ๓. วิริยะ ความเพียร ในข้อนี้จากอิทธิบาท ๔ อยู่บ้าง ความเพียรในที่อื่นเราต้องฝึกต้องฝึน แต่ในความเพียรในที่นี้เกิดมาพร้อมเองเมื่อธัมมะวิจะยะเกิดแล้ว อุปมาเหมือนนักขุดสมบัติ เมื่อขุดเจอสมบัติที่ตนปรารถนา ความเกียจคร้านก็หายไป ความเพียรชนิดที่จะแผดเผากิเลสก็เกิดขึ้นทันที เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้วอย่างนี้ไม่นานปีติก็เกิด ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ปีติตัวนี้คือความเอิบอิ่มในธรรมก็จะเกิดขึ้น บางคนถึงกับร้องให้ หรือนั่งยิ้ม นอนยิ้ม ทั้งวัน หรือบางคนเดินจงกรมทั้งวัน นั่งทั้งวันยังไม่รู้สึกตัว พอปีติหายไปความสงบก็จะเกิดขึ้นแทน คือองค์ธรรมข้อต่อปัสสัทธินั่นเอง ๕. ปัสสัทธิ ความสงบใจสงบอารมณ์ เมื่อปีติจางคลายหายไป ความสงบระงับทั้งจิต และอารมณ์ของจิตก็จะสงบระงับทันที เป็นความสุขที่ประณีต เบากาย เบาใจ เป็นปัจจัยให้เกิดความตั้งมั่นแห่งจิต นั่นคือสมาธิ ๖. สมาธิ ความตั้งมั่นแห่งจิตจะมีพร้อมทันที เมื่อโพชฌงค์ ๑-๖ หนุนเนื่องมาตามลำดับไม่ขาดสาย ตั้งแต่ของ ๒ – ๕ เป็นผลสืบเนื่องมาจากสติ ที่เป็นมหาสตินั่นเอง สัมมาสติก็เป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสมาธิ สมาธิในที่นี้คือความตั่งมั่นชนิดอย่างไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน สติเหมือนคนที่ร่างกายแข็งแรง เรี่ยวแรงและกำลังก็มีพร้อม สมาธิเหมือนมีดที่ทำด้วยเหล็กกล้าชั้นดีที่ฝนจนคมกริบพร้อมที่จะตัดป่า หรือต้นไม้ (ป่าไม้คือกิเลส ตัวอุปาทานนั่นเอง) เมื่อสมาธิมีกำลัง ละอุปาทานขันธ์ได้แล้ว ความวางเฉย ปล่อยวางก็มีขึ้น เรียกว่าอุเบกขา ๗. อุเบกขา ความวางเฉย ความวางเฉยในที่นี้หมายถึงการปล่อยวางในอุปาทานว่าตัวกู ของกู นึกถึงคนรักก็ไม่รัก นึกถึงคนชังก็ไม่ชัง ไม่ยินดี ยินร้ายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรืออารมณ์อะไรๆที่มาถูกต้องกับใจ เมื่อนั้นญาณในการรู้อย่างบริสุทธิ์ ญาณวิสุทธิ ก็เกิดขึ้น คือความรู้พร้อมที่จะตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ซึ่งก็คือ ธรรมารมณ์ข้อสุดท้ายนั่นเองนั่นเอง อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายในบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นในธรรมอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในธรรมอันเป็นภายในภายนอกบ้าง ก็หรือสติ ความระลึกว่าธรรมมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอย่างนี้แล” จบข้อว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ ๔.๕ข้อว่าด้วยอริยะสัจจ์ ๔
สำหรับข้ออริยสัจจ์นี้ เป็นข้อสุดท้ายในสติปัฏฐาน เป็นข้อที่สืบต่อจากข้อโพชฌงค์ ๗ นั่นเอง หลังจากมีโพชฌงค์เป็นเครื่องมือที่จะตัสรู้ธรรมคืออริยสัจจ์แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายนี้เป็นด่านสุดท้ายที่จะข้ามพ้นจากปถุชนก้าวเข้าสู่อริยะชนมีความเป็นพระโสดาบันเป็นต้น รู้อย่างบริสุทธิ์ ญาณวิสุทธิ นี้คือเป็นปัญญาที่เกิดจาการปฏิบัติสติปัฏฐานจนเกิดโพชฌงค์แล้ว ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากกานนึก การคิด การตรอง แต่อย่างได แล้วเข้าไปรู้อริยสัจจ์ ๔ โดยการวน ๓ รอบ ทั้งอนุโลม ทั้งปฏิโลม และทั้งอนุโลมปฏิโลม หรือปฏิจจมุปบาท จนทำลายอวิชชาและสังโยชน์ได้สำเร็จ ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ทำลาย สักกายทิฏฐิ สีลพพตรปรามาส วิจิกิจฉา สัญญโยชน์ ๓ เบื้องต้นได้ อริยะสัจจ์ ๔ มีอะไรบ้าง? อริยะสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ที่พอใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ความปรารถนาแล้วไม่ได้ตามปรารถนา สิ่งเหล่านี้คือความทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ (ได้อธิบายในเรื่องขันธ์ ๕ ในบทที่ ๑ แล้ว) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา (อธิบายไว้แล้วในบทที่ ๒) นิโรธ ความดับทุกข์ (อธิบายไว้แล้วในบทที่ ๓) มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ (อธิบายไว้ตอนต้นของบทนี้ในเรื่องของมรรค ๘แล้ว) อย่างนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายในบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอันเป็นไปทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นในธรรมอันเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในธรรมอันเป็นภายในภายนอกบ้าง ก็หรือสติ ความระลึกว่าธรรมมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉาะหน้าแก่เธอนั้น แต่เพียงสักว่าญาณ (ความรู้) แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก เธอมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลกด้วย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอย่างนี้แล” จบข้อว่าด้วยอริยสัจจ์ ๔ จบสติปัฏฐาน แต่เพียงเท่านี้
ปฏิบัติสติปัฏฐานแบบเก็บอารมณ์
การปฏิบัติแบบเก็บอารมณ์ ถือว่าเป็นการปฏิบัติแบบจริงจังหวังการข้ามพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง หวังพระนิพพานในปัจจุบันชาติ เป็นการปฏิบัติแบบที่พระอริยะเจ้าในอดีตพุทธกาลปฏิบัติกันมาแล้ว การปฏิบัติเช่นนี้พระปัญจวัคคีทั้ง ๕นับเป็นรุ่นแรก ถ้าคนยังไม่รู้จักวิปัสสนามาก่อน ไม่เคยเรียนรู้ขัน ๕ อย่างเข้าใจมาก่อน หรือไม่เคยมีพื้นฐานด้านการปฏิบัติมาก่อน นับว่าเป็นการปฏิบัติที่หนักเอาการทีเดียว จึงต้องมีอาจารย์คอยสอดส่อง คอยให้อารมณ์กรรมฐาน ชี้ทางที่ถูก ยังที่มืดให้สว่าง ทำของยากให้เป็นของง่าย เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติ จะต้องมีสติสัมปชัญญะที่ประกอบด้วยความเพียรที่เรียกว่า อาตาปี ความเพียรที่ชนิดแผดเผากิเลสให้เร่าร้อน ตลอดชีวิตที่ผ่านมากิเลสแผดเผาเรามาตลอด มาบัดนี้เราจะเป็นฝ่ายแผดเผากิเลสให้ร้อนมาก ดังนั้นความเพียรในที่นี้จึงต้องเป็นความเพียรชนิดสามารถเผากิเลสให้มอดไหม้ได้จริงๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยอิทธิบาท ๔ เข้าช่วยคือเครื่องมือการที่จะเข้าถึงความสำเร็จและ พละคือกำลังแห่งการปฏิบัติเข้าช่วยหนุน เรียกว่าพละ ๕ ซึ่งเป็นกำลังในการปฏิบัติ ทั้ง ๒ อย่างนี้หนุนเนื่องกันอย่างไร
อิทธิบาท ๔ ๑. ฉันทะ ความพอใจ การทำอะไร ก็ตามอันดับแรกแล้วต้องมีความพอใจ คือพอใจที่จะทำด้วยความต้องการขอนตนเอง ปลูกความพอใจให้เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าเวลาที่เราทำในสิ่งที่ตนรัก ตนชอบ ไม่ว่าจะยากเย็นเพียงไร ก็รู้สึกไม่เหน็ดเหนื่อย มีความสุขที่ได้ทำ การปฏิบัติเหมือนกัน อย่างแรกต้องปลูกความพอใจให้มี ให้เกิดเสียก่อนจึงจะปฏิบัติอย่างสบายใจไร้กังวล ๒. วิริยะ ความเพียร อันว่าความเพียรนี้สำคัญเป็นข้อต่อมาเลยทีเดียว เพราะบางคนพอใจที่จะทำ พอใจที่จะปฏิบัติ แต่พอมาแล้วก็เกิดความขี้เกียจ นอนเสียส่วนใหญ่ ปล่อยเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นพอใจแล้ว ต้องขยันด้วย คือต้องฝืนความขี้เกียจบ้าง ๓. จิตตะ เอาใจใส่ คือต้องเอาเป็นธุระ เอาจิตไปเกาะติดแนบแน่นอยู่กับการปฏิบัติ การทำอะไรก็ตามถ้าเรา เอาเป็นธุระ ไม่ปล่อยใจกับธุระที่ทำ ไม่ทิ้งกลางคัน งานก็จะมีความก้าวหน้าสู่ความสำเร็จเป็นแน่นอน ๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาถึงเหตุ ถึงผลในสิ่งที่ทำ การปฏิบัติก็เช่นกันก็ต้องคอยตรวจตราดู ให้ถ้วนถี่ทั้งเทคนิควิชาการ อย่าเอาใจตนเองเป็นใหญ่ แต่ต้องเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เช่นเมื่อปฏิบัติมานานแล้วไม่ก้าวหน้าเสียทีทั้งๆที่ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ แต่ทำไม่ยังไม่ก้าวหน้า วิมังสาตัวนี้แหละจะเป็นตัวเข้าไปสำรวจตรวจตราเพื่อหาจุดเด่น จุดด้อยอย่างๆเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ก้าวหน้าขึ้น พละ ๕ ๑. สัทธา ความเชื่อ ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มอย่างสำคัญของการปฏิบัติ เพราะหากไม่ศรัทธาแล้ว การปฏิบัติก็จะเป็นไปได้ยาก บางทีก็อาจเกิดอคติอย่างรุนแรงต่อการปฏิบัติไปเลย เพราะฉะนั้นอย่างแรกต้องมีศรัทธา ความเชื่อเสียก่อน ว่าทางนี้แหละคือทางออกแห่งทุกข์ทั้งปวง ไม่มีทางอื่นอีก เพราะทางนี้คือทางสายเอก เพื่อพระนิพพาน ๒. วิริยะ ความเพียร เมื่อมีศรัทธาแล้วต้องมีความเพียร เหมือนเรามีศรัทธาที่จะมาวัด แต่ยังขี้เกียจอยู่ ถ้าไม่ฝืนความขี้เกียจ ก็จะไม่มาถึงวัดสักที ดังนั้นกำลังอย่างที่ ๒ นี้คือความเพียรจึงมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติ เพราะการฝึกอะไรก็ตามต้องทรมานทั้งร่างกายและจิตใจทั้งนั้น คำว่าทรมานในที่นี้คือ การฝืนไม่ตามใจกิเลสที่ชอบสบาย จะพาเที่ยว พานอน พาเล่นอย่างเดียว ดังพระพุทธะดำรัสว่า “ผู้มีตนอันทรมานแล้วย่อมนำสุขมาให้” นั่นคือการ ฝึก หัด พัฒนา ตนนั่นเอง ๓. สติ ความระลึกได้ การทำอะไร ไม่ว่าจะเรียน จะทำงาน สตินับเป็นตัวสำคัญ หากขาดสติเสียแล้วไม่ว่าการกระทำอะไรๆย่อมยังความเสียหายให้เกิดขึ้น ดังนั้นต้องมีสติไว้คอยกำกับดูแลเสมอ ยิ่งถ้าปฏิบัติแล้วจะต้องมีสติตลอดเวลา ๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น หมายถึงต้องมีความตั้งใจที่มั่นคงในการปฏิบัติ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เดี๋ยวจะทำนั้นจะทำนี้ตามใจตนเอง บางทีปฏิบัติอยู่ดีๆ ก็ไม่มีความตั้งมั่นในเป้าหมาย พอเขาชวนไปอย่างอื่นที่สบายและถูกใจเช่น ไปทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ หรือดูดวง อาบนั้นมนต์ ก็รีบวิ่งแจ้นไปทันที ความตั้งใจก็ไม่มั่นคง ดังนั้นต้องมีความตั้งมั่นในสิ่งที่ตนเองจะกระทำ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ส่ายไป ส่ายมา ๕. ปัญญา ความรอบรู้ เมื่อทุกอย่างมีครบหมดแล้วสิ่งที่จะขาดไม่ได้นั่นคือปัญญา ความรอบรู้ ความเข้าใจในกิจที่ตนทำอยู่ ว่าทำอะไร เพื่ออะไร มีผลอย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร จึงจะเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เป็นการกระทำด้วยความงมงาย ที่สักแต่ว่าทำๆไปโดยไม่เข้าใจ ไม่มีจุดหมาย สู่เทคนิค วิธีการ การปฏิบัติแบบเก็บอารมณ์
มาถึงตรงนี้เราก็เข้าสู่การปฏิบัติกันเสียที เมื่อผู้ปฏิบัติ เข้าสู่ที่พักทำกิจส่วนตัวแล้ว แต่งกายให้สบาย เรียบรอยควรแก่การปฏิบัติกรรมฐาน ทำวัตรสวดมนต์สักเล็กน้อย แล้วก็รับศีล ๘ ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรอยู่แล้ว ก็ไม่ต้อง ต่อจากนั้นฟังโอวาทและระเบียบการเข้าปฏิบัติจากอาจารย์ผู้ให้กรรมฐาน หลังจากนั้นก็ขึ้นกรรมฐาน (สมาทานวิปัสสนากรรมฐาน) ก็คือตั้งสัจจะในการเข้าปฏิบัตินั่นเอง เมื่อกิจเบื้องต้นเสร็จแล้ว ก็กำหนดเดินเข้าสู่ที่พัก แล้วก็ตั้งจิตอธิฏฐานลงมือปฏิบัติทันที
อิริยาบถใหญ่
อิริยาบถนั่ง เริ่มจากอิริยาบถนั่ง เมื่อนั่งแล้วก็ให้มีสติสัมปชัญญะ คือรู้ตัวว่า ที่นั่งอยู่นี่คือที่นั่งคู้ขาเข้ามาตั้งกายตรงอยู่นี้ คือรูป (ร่างกาย) ที่รู้ว่านั่งนั่นคือนาม (ใจ) ที่มันพองมันยุบนั้นนะ คือร่างกาย ที่รู้ว่าพองว่ายุบคือนาม ให้รูอย่างนี้ ก็จะเป็นการเดินมรรค ๘ ไปด้วยนั่นคือสัมมาทิฏฐิ คือปัญญานำหน้าว่าที่นั่งอยู่นี้ ไม่มีตัวกู ของกู มีแต่รูป-นาม เท่านั้น ในขณะที่นั่งนั้น อะไรจะมากระทบต้องรู้ตัวเสมอ คือเวลาดูพองยุบนั้น ต้องทำให้เป็นมรคคสมังคี คือเป็นไปพร้อมกันทั้งกายทั้งจิต รูปนามอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปพร้อมกันอย่างนี้คือ เมื่อดูอานาปานสติ จะดูที่ปลายจมูก หรือที่ท้องพองยุบ อย่าไปเพ่ง จดจ้อง หรือภาวนาว่า พองหนอยุบหนอ โดยไม่รู้ตัว แต่ให้ดูที่อาการของมันคืออารพองกับยุบ มีสติอยู่กับพองยุบเมื่อมันพองเราก็รู้ว่ามันพอง เมื่อมันยุบ เราก็รู้ว่ามันยุบ ตามอาการที่มันเป็นจริงในขณะนั้น และอะไรเกิดกับจิต ก็รู้ด้วย อะไรเกิดบ้าง? เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนา ความรู้สึก ในเวลาที่เรานั่งนานๆสิ่งที่จะติดตามมาคือเวทนา เช่น ปวดขา ปวด หลัง เหน็บชา เป็นต้น เมื่อจิตเสวยเวทนาเช่น ขามันเกิดอาการเหน็บชา ความทุกเกิดขึ้นชัดเจน เราก็มีสติดูที่เวทนาว่า ที่มันรู้สึกว่าปวดนั่นคือนามขามันรู้สึกเองไม่ได้ กำหนดรู้ทุกข์ แล้วก็รู้ว่าที่อยากเปลี่ยนอิริยาบถนั่นคือนามหรือใจ ใจสั่งให้เปลี่ยนรูปก็เปลี่ยนตาม เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถแล้ว เราจะค่อยๆเห็นว่า ทุกขเวทนาค่อยๆเสื่อมไปคือหายอาการเหน็บชา หลังจากนั้น ความสุขสบายก็เกิดขึ้น แต่พอนานๆ เราก็จะรู้สึกเฉยๆ ดังนี้แล้วเราก็จะพบว่า เวทนานั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่าไปมีตัวกูในเวทนา เช่นกูปวดขา กูทุกข์ ให้เห็นแต่เพียงรูปนามเท่านั้น รูปก็เหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องคอยเปลี่ยนเสมอ ทุกข์เอง เป็นเอง ไม่มีใครบังคับ หรือบันดาล ธรรมชาติเป็นเช่นนี้เอง เมื่อเวทนาดับแล้วค่อยเอาสติมาดูที่พองยุบต่อไป สัญญา ความจำ เมื่อเรานั่งอยู่สัญญาขันธ์มันก็ทำงานของมันเหมือนกัน เมื่อจิตคิดถึงเรื่องไดในอดีต เราก็เพียงดูรู้มันเท่านั้น อย่าไปปรุงหรือแทรกแซงกระบวนการมัน เราจะเห็นว่าสัญญาก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป มันจึงจำเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้เห็นตลอดเวลา ก็ให้รู้ว่าสัญญาก็คือนามธรรมเท่านั้น ไม่มีกูจำ เพราะถ้ามีตัวกูของกูขึ้นมา เราก็จะคอยไปยินดียินร้ายกับมัน นึกถึงเรื่องดีที่ตนเองเคยทำทำก็ดีใจ นึกถึงเรื่องเคยทำชั่วก็เสียใจ อย่างนี้เป็นต้น สังขาร ความคิด ในขณะเวลานั่ง ไม่ว่าจะคิดดี คิดชั่ว เฉยๆไม่ดีไม่ชั่ว คิดอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็ดู ก็รู้มัน ว่าเป็นแต่เพียงสังขาร ความคิดเท่านั้น คือตัวนาม เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อย่าไปยึด เพราะบางคนไม่เข้าใจพยายามห้ามความคิด คือไม่อยากคิดเรื่องไม่ดี อยากคิดแต่เรื่องดีๆ อันนี้เป็นการโง่อย่างมากทีเดียว เพราะสังขาร ความคิด คิดถึง รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่ถูกต้องกับกาย (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง )ล้วนแต่เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ มันจึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สังขารก็คือตัวนาม มันจะคิดอะไรก็อย่าไปสนใจมัน ให้รู้แต่เพียงว่ามันคิด อย่าไปมีตัวกูเข้ามาเกี่ยวข้อง วิญญาณ ความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่กระทบเกิดรับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่ถูกกับใจ ในขณะที่นั่งอายตนะมันก็ยังทำงานตามปกติ เราก็ต้องมีสติรู้ทัน จักขุวิญญาณ ความรู้ทางตา เช่นเมื่อนั่งลืมตา เห็นมดเดินผ่าน ก็ให้รู้ว่า สิ่งที่เห็นคือรูป ที่รู้ว่าเห็นคือนาม อธิบายว่า ที่รู้ว่ามดนั่นเพราะสัญญาความจำชื่อสมมติบัญญัติว่า ไอ้สัตว์ตัวเล็กๆชนิดนี้เรียกว่ามด โสตะวิญญาณ ความรู้ทางหู เมื่อมีเสียงมากระทบก้องรู้ทัน เสียงเป็นรูป ที่ได้ยินเป็นนาม เพราะเสียงจะรู้ตัวมันเองไม่ได้ว่าเสียงเพลง ไพเราะ หรือสนุก เสียงด่า เสียงชม ที่รู้ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็คือตัวนามธรรมนั่นเอง จึงไม่มีตัวกูเข้าไปได้ยิน ฆานะวิญญาณ ความรู้ทางกลิ่น เมื่อจมูกไม่เป็นของพิการ เป็นช่องทางรับกลิ่น มีกลิ่นมากระทบเข้ามันจะต้องเกิดฆานะวิญญาณเป็นธรรมดา ก็ให้มีสติกำหนดรู้อีก กลิ่นเป็นรูป ที่รู้ว่า หอม เหม็น นั่นคือนาม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชิวหาวิญญาณ เมื่อลิ้นไม่เป็นของเสียหาย สมบูรณ์ดี เมื่อมีของเย็น ร้อน เปรี้ยว หวาน มันเค็ม จากน้ำ อาหาร มากระทบเข้า มันจะต้องรู้ รสเป็นรูป ที่รู้รสเป็นนาม ทุกครั้งที่ดื่ม กิน ลิ้นสัมผัสต้องมีสติเข้าไปกำหนดรู้ รู้ตามที่มันเป็น แล้วปล่อยวาง อย่าไปยินดี ยินร้ายกับมัน กายวิญญาณ ความรู้ทางกาย เมื่อกายสัมผัสถูกต้องกับของเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ต้องรู้ สิ่งที่ถูกต้องเป็นรูป ที่รู้ว่า แข็ง นุ่ม เย็น ร้อน เป็นนาม มโนวิญญาณ ความรู้สึกทางใจ เมื่อใจมันคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วเกิดความรู้สึกทางใจขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ราคะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น เช่นนิวรณ์ ๕ ความตรึก นึก พอใจ ยินดีในกาม ก็ให้รู้ว่ามันก็เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น ไม่มีกูไปรู้สึก เราก็จะเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ว่าจะรู้สึกถึงอารมณ์ได จะยินดี ยินร้าย ก็ให้รู้ทันมัน แต่ทั้งหมดนี้อย่าไปแทรกแซงมัน มันจะรักจะชัง ก็ปล่อยมัน เราแต่เพียงเข้าไปรู้ดูมันตามที่มันเป็นในปัจจุบันที่กำลังเป็นไป อย่าไปนึกถึงอารมณ์ที่ผ่านมา หรือที่ยังไม่เกิด และอย่าไปพิจารณา กับมัน เพราะถึงเราไม่พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อนัตตา กับมัน มันก็จะเป็นของมันเองเพียงแต่เรามีสติดู ธรรมคือไตรลักษณ์ก็จะปรากฏเป็นของชัดเจนเอง อิริยาบถยืน ในอิริยาบถยืนก็เช่นกัน เมื่อเรานั่งนานแล้วเป็นทุกข์ความอยากลุกมีขึ้นก็ให้รู้ว่าที่อยากลุกนั่นคือนาม ที่นั่งยังไม่ทันลุกนี่คือรูป เมื่อนามสั่งให้ลุกมันก็ลุก เมื่อเราค่อยๆลุก เราก็จะเห็นรูปนั่งค่อยสลายไป คือรูปนั่งดับไป รูปยืนเกิดขึ้น เมื่อยืนต้องมีสติสัมปชัญญะรู้ที่ปัจจุบันว่าขณะนี้กำลังยืน ที่ยืนอยู่คือรูป ที่รู้ว่ายืนคือนาม ในข้อนี้ก็เช่นกันต้องเป็นมรรคสมังคี คือสติต้องรู้รูปและนามเป็นไปพร้อมกัน ขณะยืน จะเกิดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไร ก็ต้องรู้ทัน อิริยาบถเดิน ในอิริยาบถเดิน อยากเดินก็ให้รู้ว่าที่อยากเดินคือนาม ที่ยืนอยู่ยังไม่เดินคือรูป เมื่อเริ่มก้าวเดินรูปยืนก็ดับไป นั่งกับยืนก็เป็นเพียงอดีตเท่านั้น เมื่อเดินก็ให้รู้ว่าเดิน อย่าไปจ้อง มองเพ่งที่ขา หรือการเดิน เพียงแต่ให้รู้ทันปัจจุบันว่า กำลังเดิน ที่เดินอยู่เป็นรูป ที่รู้ว่าเดินเป็นนาม และต้องเป็นมรรคสมังคี คือสติต้องรู้รูปและนามเป็นไปพร้อมกัน ขณะเดิน จะเกิดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไร ก็ต้องรู้ทัน อิริยาบถนอน เมือเรานอน รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง ก็ดับไป เป็นเพียงรูปในอดีตเท่านั้น เมื่อนอนอยู่ก็ให้รู้ชัดว่า ที่นอนยาวอยู่นี้เป็นรูป ที่รู้ว่านอนคือนามนั่นเอง และต้องเป็นมรรคสมังคี คือสติต้องรู้รูปและนามเป็นไปพร้อมกัน ขณะนอน จะเกิดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไร ก็ต้องรู้ทัน
จบอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย
ในอิริยาบถย่อยนี้ ก็ต้องมีสัมปชัญญะคือรู้ตัวเสมอ คือสติตามให้ทันไม่ว่า จะหันซ้าย แลขวา สลัดปลายมือปลายเท้า กิน ดื่ม พูด เคี้ยวอาหาร กลืนอาหาร กลืนน้ำ กลืนน้ำลาย กระพริบตา ถ่มน้ำลาย คายเสลด นอนพริกซ้าย พลิกขวา อุจจาระ ปัสสาวะ นุ่งผ้า ห่มผ้า ใส่เสื้อ เช็ดตัว ก้มหน้า เงยหน้า เกาที่คันด้วยมือ ด้วยเท้า สติจะต้องตามทันรูปนามตลอดเวลา เช่นจะหันซ้าย ต้องรู้ก่อนว่าจะหันซ้าย ที่อยากหันซ้ายและสั่งให้หันคือนาม ที่หันไปนั้นคือรูป อย่างนี้เป็นต้น เวลารับประทานอาหาร เมื่อเรานั่งในท่าที่พร้อมจะรับประทานอาหาร สติกำหนดรู้ตัวเสมอว่า ที่อยากนั้นคือนาม ที่จะตักอาหารนั้นคือรูป แล้วค่อยๆตัก สติตามทันเมื่อจะอ้าปาก เมื่อจะเคี้ยว เมื่อกลิ่นอาหารกระทบจมูกรู้ รสอาหารสัมผัสลิ้นก็รู้ มีสติในการเคี้ยวการกลืน กำหนดไปเรื่อยๆจนกว่าจะอิ่ม เวลาอาบน้ำ แปลงฟัน เมื่อเราจะแปรงฟันก็ต้องทัน กำหนดการหยิบแปลง หยิบยา บีบยา การแปรงยกขึ้น ยกลง ดึงเข้า ดึงออก อมน้ำม้วนปาก เมื่ออาบน้ำก็เหมือนกันต้องกำหนดให้ทัน น้ำถูกตัวครั้งแรก น้ำเป็นรูป ที่รู้ว่าเย็นคือนาม จะถูสบู่ เช็ดตัวก็กำหนดไปเรื่อยๆ
ในเวลาที่จำเป็นจะพูดจริงๆ ก็ต้องกำหนดให้ทันรูปนาม ตลอดเวลา แต่ไม่ควรพูดเกินความจำเป็นจริงๆ
เมื่อตื่นนอน ก่อนลืมตาก็กำหนดรู้แล้วค่อยลืมตา เมื่อตื่นนอนใจมันก็อยากจะไปห้องน้ำ เปิดไฟ เราจะเห็นว่าใจไปก่อนเสมอ จะทำอะไรก็ให้กำหนดตลอด รวมความว่า สติต้องทันตลอดเวลาในทุกอิริยาบถ เมื่อท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติกรรมฐานอย่างสืบเนื่องต่อเนื่องมาจนเกิดมหาสติแล้ว มรรค ๘ ก็เป็นอันเจริญ เพราะเมื่อสติเห็นแต่ รูป นาม คือเห็นตามความจริงที่มันเป็น ไม่มีความเห็นแบบกิเลสคือมีอัตตาตัวตน คือ ตัวกู ของกู มาถึงตรงนี้ตัววิปัสสนาตัวแรก หรือวิสุทธิตัวที่ ๓ คือทิฏฐิวิสุทธิ เห็นอย่างบริสุทธิ์ เมื่อจิตเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว มรรคองค์แรกเกิดแล้วสัมมาสังกัปปะก็จะเกิดพร้อมตามมีความดำริชอบ คืออยากออกจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ของกู เมื่อสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเกิดแล้วมีตัวปัญญานำหน้า ปัญญาก็ไปอบรมณ์ศีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายโม ก็เกิดขึ้นตามลำดับ เกิดอย่างไร เมื่อมีปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติแล้ว จะพูดก็พูดแต่สิ่งที่จริงและมีประโยชน์ การงานทางกายก็สุจริตไปตาม อาชีพการเลี้ยงชีพก็เป็นไปอย่างสุจริต ความเพียรแผดเผากิเลส คือระวังไม่ให้ตัวกู ของกูเกิดขึ้น ก็เพิ่มขึ้น จนเป็นมหาสติ สัมมาสติ คือระลึกชอบก็มีทันทีมีสติกับ วิญญาณทั้ง ๖ โดยระลึกได้ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ไม่มีตัวกูของกู จนรูปนาม แยกขาดจากกัน จิตกับเจตสิกก็แยกจากกัน สัมมาสสามธิก็เกิดขึ้น นั่นคือขั้นสุดท้ายของมรรค ๘ เมื่อมรรค ๘ บริบูรณ์แล้ว โพชฌงค์ ๗ ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ก็มาพร้อม ก็เป็นนาทีทองที่จะข้ามพ้นวัฏฏะสงสาร หรือตัดสงสารให้สั้นลง คือก้าวเข้าสู่ความเป็นอริยบุคคลตั้งแต่เป็นโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหัตน์นั้นเอง นี่เรียกว่ามรรค ๘ เกิดเพราะอาศัยสติปัฏฐาน๔ และ สติปัฏฐาน ๔ จะถูกต้องก็เพราะอาศัยมรรค ๘ นั่นเอง เรียกว่าวิปัสสนาทำให้เกิดมรรค มรรคทำให้วิปัสสนาถูกต้องเป็นไป สิ่งที่ต้องต้องเข้าใจ นี่เป็นการฝึกสติให้เป็นมหาสติแบบทางลัด และตรง ดังนั้นการฝึกเช่นนี้ต้องมีอาจารย์ผู้ชำนาญและเข้าใจคอยควบคุมดูแล ในเวลาฝึกปฏิบัติใหม่ๆ อย่าไปเครียดหากไม่ทัน ค่อยๆทำไป ทันบ้างไม่ทันบ้างก็ไม่เป็นไร เรายังเป็นผู้ใหม่อยู่ แต่อย่าลืมอิทธิบาท ๔ ใหม่ๆต้องคอยกำหนดรูปนามให้ทันเพราะนั่นเป็นการฝึกอยู่ พอชำนาญแคล่วคล่องแล้วเป็นมหาสติแล้ว มันก็จะเป็นเองโดยอัตตะโนมติ โดยไม่ต้องกำหนด มันจะรู้ รูป-นาม ของมันเอง เพื่อความเข้าในในการปฏิบัติในการเก็บอารมณ์ให้ละเอียดขึ้นไปอีก ข้าพเจ้าขอนำพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานจังหวัดหนองคาย ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปเก็บอารมณ์ที่นั่น ๑ เดือน มาให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาดู
ปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โดย พระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (บุญส่ง โกวิโท) วัดเนินพระเนาวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เมื่อวันอาสาฬหบูชา ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ .......................................... นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
ขอนอบน้อมแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นองค์พระศาสดาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ขอเจริญสุข ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วันนี้เป็นวันพระ วันเพ็ญเดือน ๘เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก จำเดิมแต่พระองค์ทรงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณในวันเพ็ญเดือน ๖ ต่อมาพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมในวันเพ็ญเดือน ๘ ในวันนี้จึงขอยก ปฐมเทศนา หรือที่เรียกกันว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ขึ้นมาแสดง ในคราวที่พระองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยานั้น ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยทรงเห็นว่า ทุกทางทางกาย มาจากอนิจจังเป็นต้นเหตุ คือความไม่เที่ยง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทางกาย กายนั้นมีปกติไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ไม่ว่า จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะคู้ จะเหยียด จะเคลื่อนไหว ก็ล้วนเกิดจากความทุกข์เป็นต้นเหตุนั่นเอง แม้การนอน ที่บางครั้งที่เข้าใจว่ามันสุข มันก็สุขแต่ต้นชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะรู้สึกเฉยๆ ต่อมาก็ก็จะเกิดเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะนอนคู้ นอนเหยียด นอนหงาย นอนตะแคง ก็ล้วนมีเวทนา ๓ ตัว คือ สุข เฉยๆ และทุกข์ บีบคั้นอยู่เป็นประจำ ฉะนั้นในคืนหนึ่งๆ การนอนจึงมีทั้งนอนคู้ นอนเหยียด นอนหงาย มีทั้งนอนตะแคง เพราะมันไม่เที่ยง มันเป็นเป็นทุกข์ มันไม่เหมือนเมื่อต้นชั่วโมงเสียแล้ว จึงต้องมีการคู้ คู้แล้วก็เหยียด เหยียดแล้วก็คู้ ตะแคงแล้วก็หงาย หงายแล้วก็ตะแคง กว่าจะตื่นนอนในตอนเช้า ไม่รู้นอนตะแคงกี่ครั้ง นอนหงายกี่ครั้ง นอนคู้กี่ครั้ง นอนเหยียดกี่ครั้ง เพราะมันทนได้ยาก ถ้าไม่คู้ ไม่เหยียด ไม่หงาย ไม่ตะแคง มันจะทนไม่ไหว ทั้งหมดนั่นแหละ ล้วนเป็นทุกข์ทางกาย แม้การนั่งก็เหมือนกัน จะนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ ก็สุขแต่ต้นชั่วโมงเท่านั้น เลยชั่วโมงไปแล้วก็รู้สึกเฉยๆ จากนั้นก็ติดตามมาด้วยทุกข์ไม่ว่าจะนั่งพับเพียบ หรือนั่งเทพพนมก็ตาม ก็สุขตอนเบื้องตนเท่านั้น จากนั้นก็เฉยๆแล้วก็เป็นทุกข์ต้องอาศัยได้เปลี่ยนอิริยาบถ ต้องได้พลิกข้างขวา ต้องได้พลิกข้างซ้าย ถ้านั่งข้างซ้ายก่อนก็สุขแต่นั่งครั้งแรก หากนั่งข้างขวาต้องพลิกมาข้างซ้าย หากนั่งข้างซ้ายต้องได้พลิกมาข้างขวา เพราะความทุกข์มันบีบคั้นเหมือนกัน นอกจากนั้น ก็ยังมีทุกข์อย่างอื่นอีก เช่นเจ็บก็นักก็เป็นทุกข์ เจ็บเบาก็เป็นทุกข์ หิวก็เป็นทุกข์ กระหายก็เป็นทุกข์ กระหายก็เป็นทุกข์ รูปอันเกิดจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้ง ๔ อย่าง มีปรกติแปรปรวนอยู่เป็นประจำ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟนั้น เมือแปรปรวนก็เป็นทุกข์ ทำให้เกิดอาพาธต่างๆ ความทุกข์ทางกายนั้นมาจากอนิจจังคือความไม่เที่ยง ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ที่กายมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันก็ไม่เที่ยงเอง ไม่ใช่เราทำให้มันเที่ยง ไม่ใช่เราให้มันเป็นทุกข์ มันเป็นของมันเอง ความไม่เที่ยง เขาก็ไม่เที่ยงเอง ความเป็นทุกข์เขาก็เป็นทุกข์เอง ทั้งนอน ทั้งนั่ง ทั้งยืน ทั้งเดิน ทั้งคู้ ทั้งเหยียด ทั้งเคลื่อน ทั้งไหว ทั้งยุบ ทั้งพอง ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น ธรรมชาติทั้งหลายเหล่านี้ชื่อว่าทุกข์ เมื่อพระองค์ท่านทรงเห็นความทุกข์ทางกายแล้ว ท่านก็เห็นทุกข์ทางใจ หรือเห็นทุกข์ทางจิต ในชีวิตที่ผ่านมา หรือในอดีต ทุกๆคนก็เหมือนกันนั่นแหละ เวลาโดนเขาด่าก็โมโห เป็นความทุกข์ ไม่ใช่ความสุข เวลาเขายกย่องก็เต้นแร้งเต้นกา ลืมเนื้อลืมตัวตัวก็เป็นทุกข์ จิตใจก็ขึ้นๆลงๆ เวลามันโมโหมันก็ฟุบลง เวลาดีใจมันก็ฟูขึ้น เป็นวัฏฏะสงสาร เป็นสังสารวัฏ เป็นการขึ้นลงของจิต เหตุที่มันโมโหนั้นเป็นเพราะอะไร ? ทำไมเมื่อได้ยินเสียงด่ามันจึงโมโห ?
ทำไมเวลาได้ยินเสียงเพลง เสียงดนตรี หรือเสียวยกย่องมันจึงดีใจ?
ความดีใจ กับความโมโห คือทุกข์ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางจิต ก็จะเห็นได้ว่า เหตุที่มันขึ้นลง เหตุที่มันโมโห หรือดีใจ ก็เพราะมันเห็นผิด เห็นว่าได้ยินเสียงด่านั้น เป็นเราได้ยิน เราถูกเขาด่า มันจึงเสียใจ มันจึงโมโห เวลาได้ยินเสียงเพลง เสียงยกย่อง เสียดนตรี ก็เห็นว่า เป็นเราได้ยิน มันจึงดีใจ มันเห็นผิดอย่างนี้เสมอๆ ที่จริงการได้ยินเสียงด่า การได้ยินเสียงติ หรือเสียงชม หรือการได้ยินเสียงดนตรีทั้งหลายเหล่านั้น มันเป็นการงานของนาม นามที่เรียกว่ามันเป็นโสตะวิญญาณ เป็นวิญญาณขันธ์ ส่วนที่กำลังนั่งหรือนอน หรือยืน หรือเดิน นั้นเป็นรูป การได้ยินเสียงด่า ติชมนั้นมันเป็น นาม เป็นนามที่เกิดขึ้นทางหู ผู้ที่ยืน เดิน นั่ง นอน มันเป็นรูป แต่เราเห็นผิดในรูปว่า เป็นเรา เราเห็นผิดในนามว่าเป็นเรา ไม่ได้เห็นรูปโดยความเป็นรูป ไม่ได้เห็นนามโดยความเป็นนาม ถ้าว่าโดยขันธ์ ผู้ที่นั่งอยู่ ก็เป็นรูปขันธ์ ที่ได้ยินเสียงด่า ติ ชม นั้นเป็น วิญญาณขันธ์ โดยความเป็นจริงแล้ว เรามีความเห็นผิดเสมอๆ เพราะเห็นว่าวิญญาณขันธ์นั้น เป็นเรา และมีความเห็นผิดว่า รูปขันธ์นั้นเป็นเรา อันเป็นความเห็นผิดทั้งขึ้นทั้งล่อง
เมื่อมีความเห็นผิด ก็เกิดกิเลส เมื่อเกิดกิเลสก็เกิดทุกข์ เกิดมีอัตตาตัวตน ทุกข์จึงเกิดขึ้นเพราะความเห็นผิดนั่นเอง
ถามว่า ความจริงถ้าหากไม่ใช่เป็น “เรา” แล้วจะเป็นอะไร? เป็นขันธ์ไหน ?
ตอบว่า ที่ได้ยินเสียงด่านั้น มันเป็นวิญญาณขันธ์ คือโสตวิญาณ ความรู้ทางหู ถามว่า แล้วผู้นั่งหายใจ ยุบ พองอยู่นี้ เป็นขันธ์ไหน? ตอบว่า ก็คือ เป็นรูปขันธ์ ถ้าได้พิจารณาให้ดีเห็นส่วนนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะต้องเห็นว่ามันเป็นรูปขันธ์
ในยามที่ได้ยินเสียงด่า ติ ชม แล้วมีปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า มันเป็นเพียงวิญญาณขันธ์ ไม่ได้เป็นเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็จะไม่ดีใจ เสียใจ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ในที่นั้น ในยามที่ได้ยินเสียงด่า ติ ชม แล้วมีปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า มันเป็นเพียงวิญญาณขันธ์ ไม่ได้เป็นเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็จะไม่ดีใจเสียใจ เพราะเห็นแต่ขันธ์ ๕ ที่เป็นไป เห็นว่านามได้ยินมันเกิดขึ้นทางหู ที่นั่งอยู่ก็เห็นว่าเป็นรูปขันธ์นั่ง จึงไม่มีอัตตาตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ในที่นั้น ถ้ามีความเห็นชอบ เห็นถูกต้องตามสภาวธรรมที่เขาเป็นไปตามตามความเป็นจริงอยู่อย่างนี้ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ไม่มี ความขึ้นลงของจิตก็ไม่มี แต่ที่ยังมีกานขึ้นลงของจิตอยู่นั้น ก็เพราะมีความเห็นผิด เห็นวิญญาณขันธ์ว่า
เป็นเรา เมื่อเห็นรูปขันธ์ว่า เป็นเรา ก็เกิดความเห็นผิดว่าเป็นเรา ทั้งสองอย่าง จึงเกิดกิเลส เกิดทุกข์ มีภพ มีชาติ มีอัตตาตัวตนขึ้นมา
เมื่อเห็นความจริงอย่างนี้ ก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ เห็นที่มาของความทุกข์ทางใจแล้ว เวลานึกถึงเรื่องอดีตแต่หนหลัง ที่เป็นเรื่องไม่ดี ก็เศร้าใจ นี่เป็นเพราะว่า มีความเห็นผิดว่าเป็นเราคิด มันจึงเศร้าใจ ในบรรดาขันธ์ ๕ ผู้ที่กำลังนึกถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมาทั้งดีและที่ไม่ดี ก็เป็นเพียง สัญญาขันธ์ ส่วนผู้ที่กำลังนั่ง กำลังหายใจ ยุบ พองอยู่นี่ก็เป็นเพียง รูปขันธ์ ถ้าเห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นชอบ เมื่อเกิดเห็นชอบขึ้นมา ก็ดับกิเลส ดับทุกข์ได้ ถ้าหากเห็นว่า เป็นเรา ก็ชื่อว่ามีความเห็นผิด ถ้ายังมีความเห็นผิด ก็เกิดกิเลส เกิดทุกข์ เรียกว่าเป็นทุกข์ทางจิต คือทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั่นเอง ทีนี้เลาร่างกายจะตายก็กลัวขึ้นมา สมัยในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็กลัวนักนักกลัวหนา กลัวว่าจะตาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็กลัวตาย เกิดมีความตายขึ้นมา ก็เพราะมันเห็นผิด มันเห็นว่าร่างที่กำลังนอนหายใจแผ่วเบานั้น เป็นเรา ไม่ได้เห็นว่าเป็น รูปขันธ์ เมื่อเห็นว่า เป็นเรา มันจึงกลัวว่าเราจะหมดลม เห็นว่าเราจะตาย นั่นเอง เห็นผิดในรูปขันธ์ว่ารูปขันธ์นั้น เป็นเรา เมื่อรูปขันธ์จวนเจียนจะแตกดับก็กลัวนักกลัวหนา เกิดความกลัวตายขึ้นมา แม้ผู้ที่เห็นว่า ตัวจะหมดลม ก็เห็นว่าเป็นเราเห็นอีก ไม่ได้เห็นว่าเป็นนามขันธ์ ไม่ได้เห็นนามขันธ์ว่าเป็นนาม ไม่ได้เห็นรูปขันธ์ว่า เป็นรูป เป็นเราไปเสียทั้งสิ้นเลย เมื่อเห็นผิดว่า รูปนาม เป็นเรา ความกลัวตายจึงเกิดขึ้น แม้เวลาญาติตาย พ่อตาย แม่ตาย ผัวตาย เมียตาย ปู่ ย่า ตา ยาย ตาย ก็ไม่มีปัญญาที่จะเห็นความจริงว่า เป็นเพียงแต่รูปแตกนามดับเท่านั้น แต่กลับไปเห็นรูปนั้นว่า เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นผัว เป็นเมีย เป็นลูก เป็นหลานขึ้นมา ในเวลาเห็นรูปของคนอื่นแตกดับก็เกิดความกลัว แม้จะไม่เศร้าโศก แต่เมื่อเห็นเป็นพ่อกูตาย เป็นแม่กูตาย เป็นผัวกูตาย เป็นเมียกูตาย เป็นลูกกูตาย เป็นหลานกูตาย ถึงแม้จะไม่ใช่ กู แต่เห็นเป็น ของกูขึ้นมา เห็นเป็นผัวของกู เป็นเมียของกู ลูกของกู พ่อของกู แม่ของกู ถึงจะไม่กลัวก็เกิดความเสียใจ เกิดโสกะ คือความโศก เกิดปริเทวะ ได้แก่การบ่นเพ้อ รำพัน เกิดความทุกข์ใจ โทมนัส ตรอมใจ อุปายาส น้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมา เพราะด้วยความเห็นผิดนั่นแหละ ไม่ได้เห็นว่า เป็นรูปของพ่อแตก หรือรูปของแตก และไม่ได้เห็นว่า นามของท่านดับ แต่ถ้าเห็นเป็นรูปท่านแตกนามท่านดับเฉยๆ ทุกข์ก็ไม่เกิด เห็นรูปของพ่อแตกก็คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ แตก และเห็นนามคือวิญญาณ ๖ ของพ่อแม่นั้นดับไปเฉยๆ ดังนั้น โสกะ
ปริเวทะ ทุกข์ โทมนัส ก็จะไม่มี ก็จะมีแต่ความสังเวช สลดใจเท่านั้นว่า รูปของท่านนั้นนามของท่านนั้นแตกดับไปเร็วนัก แม้รูปนามของเราสักวันหนึ่งข้างหน้าก็จะพึงแตกดับไปเช่นนี้เหมือนกัน เมื่อเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ได้ ก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ และเห็นเหตุที่มาแห่งความทุกข์นั้นได้ จึงละเหตุนั้นเสีย เห็นนิโรธคือความดับทุกข์ที่ปัญญาทำให้แจ้ง เพราะเห็นว่าไม่ใช่พ่อ ไม่ใช่แม่ ไม่ใช่ผัว ไม่ใช่เมีย ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา
ก็เวลาตายก็เห็นแต่รูปแตก นามดับ จึงไม่เห็นใครตาย รูปก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครจะมีอำนาจไปบังคับบัญชาได้ นามก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจของใครเลย ขันธ์ทั้ง ๔ ขันธ์ข้างปลายที่เป็นนามขันธ์ ก็เป็นอนัตตา ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ส่วนขันธ์ที่ ๑ มันเป็น
รูปขันธ์ ขันธ์ ๕ จึงมีรูปขันธ์ที่เป็นรูป และมีนามขันธ์ ๔ เป็นนาม ปัญญาเมื่อเห็นตามความเป็นจริงว่า ทั้งหมดเป็นเพียงรูปนาม จึงเห็นแต่รูปแตกนามดับเท่านั้น เห็นแต่เพียงรูปของคุณแม่ ของคุณพ่อ ของคุณตา ของคุณยาย ของสามี ของภรรยาแตก และเห็นแต่นาม คือวิญญาณ ๖ ของพวกเขาดับเท่านั้นเอง เมื่อเห็นแต่รูปแตกนามดับ จึงไม่มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส แม้ตัวเอง ในที่สุด รูปก็จะแตกดับเหมือนกัน ถ้าเห็นว่าไม่ใช่เรา เห็นแต่เพียงรูปกำลังแตก คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ทั้ง ๔ อย่างกำลังจะแตกจากกัน ธาตุลมกำลังจะหมดแล้ว วิญญาณ ๖ ก็ดับ วิญญาณ ๖ ดับ ก็คือ การได้ยินดับ การรู้กลิ่นดับ การรู้รสดับ การรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งดับ การนึกคิดดับ เมื่อรูปแตก ธาตุลม คือลมหายใจหมดไปแล้ว นามก็ดับเท่านั้นเท่านั้น นามคือวิญญาณ ๖ ทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ก็ต้องดับเช่นกัน
จึงเห็นแต่รูปแตก นามดับ ไม่มีตัวตนที่จะตายกับเขาเลย ท่านจึงแสดงว่า เมื่อเห็นความจริงของรูปนามจนถึงที่สุดแล้ว ก็จะหายตัวได้ คือพญายมราชตามหาไม่เจอ ตามไปลงโทษไม่เจอแล้ว จึงพ้นไปจากการเกิด พ้นไปจากการแก่ การเจ็บ การตาย เพราะเป็นแต่ขันธ์ ๕ มันเกิด และเป็นเพียงขันธ์ ๕ มันแตก มันดับ ไปตามสภาพของมันเอง ไม่มีตัวตน จะแก่ จะเจ็บ จะตาย กับเขา ดังนั้น เวลาร่างกาย แก่เจ็บหรือตาย จึงไม่กลัว ผู้ที่เจริญกรรมฐาน กระทั่งเห็นรูปนามจนถึงที่สุดแล้ว เวลาญาติพี่น้อง แก่เจ็บ ตายลงไป จึงไม่โศกเศร้า ไม่มีโสกะ ปริเวทะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส เป็นคนที่อยู่ด้วยสติ อยู่ด้วยปัญญา นั่นเป็นเพราะท่านเห็นทุกข์ และเหตุที่มาแห่งความทุกข์ นิโรธ คือความดับทุกข์ ก็ทำให้แจ้งแล้ว ดูขันธ์ ก็เห็นเป็นขันธ์ ดูเป็นธาตุก็เห็นเป็นเพียงธาตุ ดูรูปนามก็เห็นเป็นเพียงรูปนามเท่านั้น จึงชื่อว่ารู้แจ้ง ทุกข์ท่านก็กำหนดรู้แล้ว เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ท่านก็ละแล้ว นิโรธคือความดับทุก ทำให้แจ้งในขันธ์ ๕ โดยความเป็นอนัตตา มรรค ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ถึงสัมมาสมาธิ ท่านก็เจริญแล้ว ท่านเจริญมรรค ๘ พิจารณาเห็นขันธ์ ๔ ขันธ์ เบื้องปลายเป็นนาม เห็นขันธ์ที่ ๑ เบื้องต้นนั้นเป็นรูป ผู้ที่เพียรเห็นอย่างนี้ เพียรเจริญขึ้นอย่างอิ่มตัวเต็มที่ ในที่สุดอุปาทานขันธ์จึงไม่มี ก็ชื่อว่าละอุปาทานขันธ์ เมื่ออุปาทานไม่มี ทุกข์ก็ดับ นี่คืออริยสัจที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ท่านทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ตรัสรู้ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในวันเพ็ญเดือน ๖ ในธรรมทั้งหลายเหล่านี้คือ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ และพระองค์ก็ทรงเห็นทุกข์แล้ว ตัณหาที่เป็นไปกับความยึดถือในความเห็นผิด ที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ พระองค์ก็ทรงละแล้ว ละเหตุที่มาแห่งทุกข์ทั้ง ๒ ทางคือทั้งทางกาย และทางจิตแล้ว นิโรธ คือความดับทุกข์ ท่านได้กระทำให้แจ้งแล้ว เห็นแจ้งขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มรรคมีองค์แปด ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ ถึงสัมมาสมาธิ เป็นธรรมที่พระองค์ได้ทรงเจริญจนอิ่มตัวอย่างบริบูรณ์ เมื่อเจริญมรรค ๘ แล้ว พระองค์ก็ทรงรู้แจ้ง เมื่อพระองค์ทรงรู้แจ้งแล้ว ก็หมดอุปาทาน เมื่อพระองค์หมดอุปาทานในขันธ์ ๕ แล้ว พระองค์ท่านก็ไม่มีทุกข์ เมื่ออุปาทานเช่นนี้แล้วทุกข์จะมาจากที่ไหน? ทุกหมดเพราะท่านตรัสรู้อริยสัจ ๔ ท่านตรัสรู้ในธรรมที่พระองค์ท่านไม่เคยได้ยินมาก่อน ทรงตรัสรู้ด้วยปัญญาอันรู้เอง ตามความเป็นจริงของพระองค์ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ แจ่มแจ้งในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น ในที่สุด จิตปุถุชนก็ดับลงสู่ภวังค์ แล้วมรรคญาณและผลญาณ คือ มรรคจิต ผลจิต ก็เกิดขึ้น เมื่อมรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นครั้งแรก ก็เป็นเหตุทำลายสังโยชน์ ๓ อย่างข้างต้น คือ ทำลายความเห็นผิด ที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิ ได้แก่ทำลายความเห็นผิดที่เห็นกายธาตุทั้ง ๔เป็นตัวตนนั้นให้หมดไป ทำลายวิจิกิจฉา ความลังเลในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็หมดไป สินความสงสัยที่ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงอยู่หรือไม่ เพราะเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งขึ้นมาว่าพระพุทธเจ้านั้นต้องมีอยู่จริง คือ ใครที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ก่อนคนอื่นในโลกนั่นแหละ ท่านผู้นั้นคือพระพุทธเจ้า และท่านผู้นั้นคือผู้สิ้นหมดแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการจนหมดสิ้นแล้วนั่นเอง การรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ นั้น ทำให้สังโยชน์เครื่องใจ ถูกตัดขาดไปตามลำดับ ถ้าบุคคลไดเห็นอริยสัจ ๔ เพียงครั้งเดียว บารมีไม่แก่กล้าเหมือนพุทธญาณ บารมีญาณก็รู้ใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เพียงรอบเดียว การรู้อริยสัจ ๔ รอบเดียวนั้น ก็ทำให้ประหารสังโยชน์ ๓ อย่างข้างต้นได้ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือละความเห็นผิดที่เคยเห็นกายเห็นใจว่า เป็นตัวตนได้หมดไป และขณะเดียวกัน ก็ทำลาย วิจิกิจฉาสังโยชน์ สิ้นความสงสัยในพระรตนตรัย คือหมดความสงสัยในพระพุทธเจ้า หมดความสงสัยในพระธรรม หมดความสงสัยในพระอริสงฆ์ สีลัพพตรปรามาส การเชื่อในอำนาจอ้อนวอน ความศักดิ์สิทธิ์ หรือพิธีกรรมไดๆที่จะทำให้ได้ดังหวังหรือพ้นทุกข์ ก็หมดสิ้นไป ถามว่า พระพุทธเจ้าคือใคร ? ตอบว่า ท่านได เป็นผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ก่อนผู้อื่นในโลก ท่านนั้นก็คือพระพุทธเจ้า ถามว่า ทำจึงรู้ว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้า? คำตอบ คือ เพราะเราดำเนินตาม “พระธรรม” หนทางแห่งการตรัสรู้ที่พระองค์ทรงตรัสสอน ได้เจริญมรรคมีองค์ ๘ จนรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ แล้ว บัดนี้กิเลสของเรา ในบรรดากิเลสทั้ง ๑๐ อย่าง ก็หมดไป ๓ อย่างแล้วทีเดียว จึงสิ้นสงสัยในพระพุทธเจ้า สิ้นสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ และสิ้นสงสัยในพระอริยะสงฆ์ เพราะตนเองเดินตามหนทางนั้นมา ก็ได้ทำลายกิเลสละสังโยชน์แล้ว ๓ อย่าง ดังนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นต้นฉบับ ต้นแบบหนทางนั้น ท่านย่อมตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้นทั้ง ๑๐ อย่างนั่นแหละ ตั้งแต่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพัตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ และอวิชชา สังโยชน์คือเครื่องผูกมัดจิตใจของสัตว์เหล่านั้น เมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งแล้ว ย่อมเกิดความเข้าใจว่า ท่านผู้สามรถตัดสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ นั้น ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ ผู้ที่ละสังโยชน์ ๓ อย่างได้ก็ต้องเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามีก็เหมือนกัน เพียงแต่กามราคะเบาบางลง ผู้ที่ละสังโยชน์ได้ ๕ อย่างก็ต้องเป้นพระอนาคามี คือเป็นผู้ปราศจากราคะและปฏิฆะแล้ว ส่วนผู้ที่ละสังโยชน์ได้ทั้งหมดที่เหลือคือ ละรูปราคะ ได้แก่ความยินดีต่อรูปฌาน ให้หมดสิ้นไป ละอรูปราคะ ได้แก่ละความยินดีต่ออรูปฌานทั้ง ๔ ให้หมดไป กำจัดอุทธัจจะ คือละความฟุ้งซ่านให้หมดสิ้นไป กำจัดมานะคือความถือตัว ให้หมดสิ้นไป จนกระทั่งกำจักอวิชชา อันได้แก่ความโง่อันละเอียดอ่อนให้หมดสิ้นไป ถึงที่สุด ผู้ที่สามารถละสังโยชน์อันเป็นเครื่องผูกให้หมดสิ้นไปจากจิตแล้ว ก็ชื่อว่าหลุดพ้น คือ หลุดพ้นไปจากอุปาทานทั้ง ๕ นั่นเอง หลุดพ้นจากการยึดถือใน “รูป” ว่าเป็นตัวตนแล้ว
หลุดพ้นจากการยึดถือใน “เวทนา” ที่เคยหลงยึดว่าเป็นตัวตนสิ้นไป หลุดพ้นจากการยึดถือใน “สัญญา” คือความยึดถือในความจำอารมณ์เบื้องหลัง จำบุญ จำบาปว่า เป็นตัวตน หลุดพ้นจากการยึดถือใน “สังขาร” คือหมดความยึดถือในความนึกคิดปรุงแต่ง ในปัจจุบัน และอนาคต ว่าเป็นตัวตน หลุดพ้นจากการยึดถือใน “วิญญาณทั้ง ๖” ว่าเป็นตัวตนไปจนหมดสิ้น
เมื่อหลุดพ้นไปอย่างนี้ อุปาทานขันธ์ก็หมดไป จึงเรียกว่า ได้เดินทางมาจนถึงที่สุดแล้ว ละสังโยชน์ทั้งสิ้น ๑๐ ประการ กามราคะก็หมด รูปราคะ อรูปราคะก็หมด อุทธัจจะความฟุ้งซ่านก็หมด มานะความถือตัวก็มด อวิชชาความโง่ก็หมด นี่ชื่อว่าเดินทางทางถึงที่สุดแล้ว ถ้าเดินทางถึงที่สุดเช่นนี้แล้ว ก็ชื่อว่า หมดกิจที่ควรทำในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ นี้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ในที่ ๓ แห่งราตรี สิ้นอาสวกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว จึงเปล่งอุทานในเวลารุ่งขึ้นว่า “ดูก่อนนายช่างคือ ตัณหา บัดนี้เราจับท่านได้แล้ว กระดูกซี่โครงของท่าน เราก็ทำลายแล้ว มันสมองของท่านเราก็ทำลายแล้ว ท่านจะมาสร้างภพ สร้างชาติให้เรา ไม่ได้อีกต่อไป” ตัวกามใหญ่คือ ตัวกู อัตตาตัวตนนั่นแหละเป็นนายช่าง ได้แก่ตัวภวตัณหา ผู้ก่อภพ ก่อชาติ ก่อทุกข์ ก่อเหตุให้เกิดทุกข์เรื่อยไป เมื่อพระองค์ทรงละได้หมดสิ้นแล้ว ต่อแต่นี้ไปนายช่าง คือ ตัณหา ก็ไม่อาจจะสร้างภพ สร้างชาติให้เกิดได้อีก นั่น! ท่านกล่าวเย้ยตัณหาอย่างนี้หลังจากตรัสรู้ในยาม ๓ แห่งราตรี หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงพำนักอยู่ที่รอบต้นศรีมหาโพธิ์นั้นถึง ๗ สัปดาห์ จึงเรียกสถานที่ตรงนั้นว่า สัตตะมหาสถานทั้ง ๗ คือ สถานที่ทรงประทับรอบต้นโพธิ์ ๗ แห่งๆละ ๗ วัน รวมเป็น ๔๙ วัน ทรงใช้เวลานั้นพิจารณาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้อย่างละเอียด เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงทรงเห็นว่า ธรรมนี้ช่างละเอียดและสุขุมลุ่มลึกยิ่งนัก ยากที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ตาม จึงเกิดความขวานน้อยที่จะประกาศธรรม เป็นเหตุให้พรหมต้องมากราบทูลอาราธนาขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรม เพราะเหตุที่มีธุลีในดวงตาน้อย คือ ผู้มีปัญญามากพอที่จะบรรลุธรรมได้นั้น มีอยู่ จากนั้น พระองค์ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นธรรมชาติสิ่งแวดล้อม คือบัว ๔ เหล่า บัวที่อยู่ในสระรอบๆต้นโพธิ์นั้นมีมาก ที่ประเทศอินเดีย พวกเขาชอบปลูกบัวตามสระ เมื่อพระองค์ท่านเห็นบัว ๔ เหล่า ก็เกิดความคิดมาว่า ดอกบัวบางพวก มันชูช่อ กิ่งก้าน ดอกใบ พ้นน้ำขึ้นมาแล้ว ในเวลาที่แสงอาทิตย์อุทัยขึ้นทางด้านทิศตะวันออก ดอกบัวประเภทนี้ พอได้ต้องแสงแดด มันก็แย้มกลีบบานทันที นี่เป็นประเภทที่ ๑ หมายความว่า บุคคลบางคลในโลกนี้ เป็นผู้มีสติปัญญาแหลมคมมาก ครั้นเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม เพียงแค่ได้ยินหัวข้อธรรม ที่พระองค์ทรงยกขึ้นมาแสดง ยังไม่ต้องอธิบายขยายความมาก ก็สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดไปได้ร้อยนัยพันนัยนั้นบัวคลที่แหลมคมอย่างนี้เหมือนกับบัวประเภทที่ ๑ ซึ่งเรียกว่า อุคฆฏิตัญญูบุคคล เพียงแต่อาศัยหัวข้อธรรมที่ขึ้นกล่าว บุคคลประเภทนี้ ก็รู้แจ้งแทงตลอดบรรลุธรรมได้ ส่วนบัวประเภทที่สอง เป็นบัวเสมอน้ำ ต้องรอแดดเผานานๆเสียก่อน เมื่อแดดเผานานแล้ว ก็จะแย้มกลีบบานออกได้ ก็เปรียบเสมือนคนผู้มีปัญญามากเป็นอันดับที่ ๒ คือบุคคลบางคนในโลกนี้เมื่อยกหัวข้อธรรมขึ้นกล่าวก็อาจจะยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งได้ แต่เมื่อมีผู้อธิบายขยายหัวข้อธรรมนั้นๆ จึงจะเกิดความเข้าใจค่อยๆรู้ขึ้นมา บุคคลเช่นนี้ก็มีอยู่ นับเป็นบุคคลพวกที่ ๒ ชื่อว่าวิปจิตัญญูบุคคล ท่านเปรียบบุคคลประเภทนี้ เหมือนบัวเสมอน้ำ ที่ต้องถูกแดดเผานานๆ จึงแย้มกลีบบานได้ ส่วนประเภทที่ ๓ เรียกว่า เนยยบุคล ท่านเปรียบเหมือนบัวที่อยู่กลางน้ำ ต้องรอไปอีกหลายวัน จึงจะได้มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำมาต้องแสงอาทิตย์จึงแย้มกลีบบานได้ ไม่อาจจะทำความเข้าใจโดยรวดเร็ว เหมือนบุคคลสองประเภทแรกข้างต้นได้ ต้องอาศัยความเพียรปฏิบัติธรรมต่อ ต้องใช้เวลานานในการหาประสบการณ์เอาเองจากการอบรมกรรมฐานหลังจากที่ได้ฟังพระสัทธรรม จนเห็นรูป เห็นนาม จนกระทั่งไปเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยการ นั่น นอน ยืน เดิน คู้ เหยียด เคลื่อนไหวนั่นเอง ในเวลาต่อมาจึงตรัสรู้ ตามพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งต้องใช้เวลามาก ท่านเรียกว่าเนยยบุคล ได้แก่บุคคลผู้พอจะแนะนำได้ แต่ต้องใช้เวลามาก เหมือนบัวที่อยู่กลางน้ำต้องใช้เวลานานกว่าที่บานได้ ส่วนพวกที่ ๔ เป็นประเภทปทปรมบุคคล ได้แก่บุคคลผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง คือเกิดมาไม่สมประกอบ เกิดมาปัญญาอ่อนตั้งแต่เกิด จะเพียรทำ ๓ อย่าง ข้างต้นก็ไม่เข้าใจ
ต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม แม้พระพุทธเจ้าก็โปรดไม่ได้ หรือแม้แต่บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้อาภัพเช่นนี้ แต่เกิดมีปัญญาน้อย จึงไม่อาจทำความเข้าใจในพระสัทธรรม จึงไม่อาจบรรลุธรรมได้
หรือแม้แต่เป็นผู้เกิดมามีปัญญาดี เช่น พระเทวทัต แต่ก็มากด้วยทิฏฐิมานะ แข็งกระด้างมาก ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของพระพุทธเจ้า บุคคลอย่างนี้ต้องปล่อยไปตามยถากรรม ที่ว่าปทปรมบุคคล ก็รวมทั้งบุคคลที่มีทิฏฐิมานะเป็นอย่างยิ่ง ไม่ยอมให้ไครบอกใครเตือน ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของใคร อย่างนี้ปล่อยไปตามยถากรรม แต่ถ้าไม่เทศน์ไม่สอนก็จะฉิบหาย เสื่อมจากมรรคผลนิพพานในเบื้องหน้า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาแล้ว ก็ทรงเห็นว่า ถ้าหากพระองค์ไม่ทรงประกาศธรรมเพื่อแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์โลก ก็เป็นอันว่าบุคคลทั้ง ๔ ก็เป็นอันว่าบุคคทั้ง ๔ นับตั้งแต่อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ย่อมจะเป็นบุคคลที่เสื่อมจากมรรค ผล นิพพานไปเสียทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ถ้าพระองค์ทรงเทศนาแล้วสั่งสอนแล้ว ก็เป็นอันว่า จะเสื่อมไปเพียงพวกเดียว คือ ประเภทปทปรมะ เท่านั้น ส่วนสามประเภทเบื้องต้นทั้งหมดจะตรัสรู้ บรรลุตามพระองค์ได้ไปตามลำดับ สำหรับประเภทปทปรมบุคคล ก็จะมีโอกาสสั่งสมเป็นปัจจัยต่อการบรรลุธรรมในกาลเบื้องหน้า เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว พระองค์ท่านก็พิจารณาถึงบุคคลผู้ที่ควรจะรับพระธรรมเทศนานี้ก่อน คือ ผู้มีกิเลสน้อย เป็นผู้มีปัญญากล้า พระองค์จึงทรงระลึกถึง ท่านอาฬารดาบส และท่านอุทกดาบสขึ้นมา แต่ทว่า พระองค์ทรงกำหนดรู้ดด้วยพระญาณว่า ท่านทั้งสองมรณภาพไปก่อนหน้านี้เสียแล้ว คนหนึ่งมรณภาพไปแล้ว ๓วัน อีกคนหนึ่งมรภาพไปแล้ว ๕ วัน พระองค์ก็ทรงเปล่งอุทานออกว่า “โอ... ความเสื่อมใหญ่เกิดขึ้นแล้ว แก่ดาบสทั้ง ๒” คือยังไม่ได้โอกาสฟังธรรมธรรมอะไรเลย ยังไม่บรรลุคุณธรรมวิอันเศษ คือมรรคผลนิพพานประการใด แม้จะจะได้ฌานสมาบัติ แต่ก็ยังเป็นไปเนื่องด้วยธรรมที่เป็นฝ่ายโลกีย์ แม้จะได้ไปเกิดในอรูปภูมิ เป็นพรหมที่ไม่มีรูป ไม่มีตา ไม่มีหู เรียกว่าอรูปพรหม มีอายุยืนยาวมาก แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระสัทธรรมเพราะไม่มีอายตนะที่จะรับฟัง เนื่องจากเป็นพรหมที่ไม่มี รูป ไม่มีตา ไม่มีหู แต่เพราะยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็เท่ายังปิดประตูอบายภูมิไม่ได้ เมื่อตายไปเสียก่อน โดยยังไม่ทัน ได้ฟังพระสัทธรรม จึงชื่อว่า เป็นผู้เสียหายมาก จากนั้นพระองค์ก้ทรงพิจารณาหาบุคคลต่อไปว่า นอกเหนือจากดาบสทั้งสองนั้นแล้ว ผู้ใดหนอ? ควรจะได้รับฟังพระธรรมเทศนาที่ยังไม่บรรลุธรรมได้ ก็ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งได้หนีจากพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ห่างไกลจากสถานที่พระองค์ตรัสรู้ ประมาณ ๒๕๐ ก.ม เศษ พวกปัญจวัคคีย์พากันหนีไปอยู่โน่น เพราะตอนที่พระองค์ทรงเลิกกระทำทุกกิริยา เพื่อจะหันมาฝึกจิต เหมือนกับผู้ที่เขาฝึกช้าง ฝึกม้า แบบชาวนาฝึกควายไถนา ฝึกวัวเทียมเกวียน ต้องทวนกระแสจิต ไม่ตามมันไป เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่า กิเลสนั้นเกิดที่ใจ ไม่ได้เกิดที่รูป ดังนั้น พระองค์ทรงจำเป็นจะต้องเสวยพระกระยาหาร เพียงพอเพื่อให้มีกำลังที่จะ เดิน นั่ง นอน คู้เหยียดเคลื่อนไหว ได้สะดวกสบายจึงจะเหมาะกับการฝึกจิตกระทำความเพียร ก่อนหน้านั้นคนทั้ง ๕ เมื่อเห็นพระองค์ท่านยุติการกระทำทุกกิริยานั้นแล้ว ก็เข้าใจผิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียร มีความโลภมาก คงตรัสรู้ไม่ได้แน่แล้ว เลยพากันจากไป จึงเป็นเหตุให้พระองค์ได้วิเวก สามารถทำความสงัดกาย ไม่ต้องระคนด้วยหมู่คณะ เมื่อกายวิเวกเกิดความสงัดกาย จิตก็สงบ ได้วิเวก เรียกว่าจิตวิเวก สงบเพราะไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ พระองค์ทรงยืนพระองค์เดียว เดินพระองค์เดียว นั่งนอนพระองค์เดียว ในอิริยาบถทั้ง ๔ ไม่ได้พูดคุยกับใคร เป้นอยู่พระองค์เดียว จึงทรงเริ่มฝึกจิต ฝึกอย่างที่พวกเราฝึกกันอยู่เดี๋ยวนี้ เมื่อจิตมันต้องการจะเปลี่ยนอิริยาบถเร็ว ก็ให้เปลี่ยนช้าลง ให้จิตมันขอเปลี่ยน ๒-๓ ครั้งเสียก่อนจึงเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนอะไรมันจะเกิดขึ้น ใครเป็นผู้สั่งให้เปลี่ยน? ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วมันจะเป็นอย่างไร? ก็จะได้คำตอบอยู่ ณ ที่นั่นเอง คือถ้าไม่เปลี่ยนมันจะทนไม่ไหว จะได้เห็นว่าผู้สั่งให้เปลี่ยน คือจิต ถ้าไม่เปลี่ยนตามจิตสั่ง มันจะทนไม่ไหว มันเป็นทุกข์ ต่อมาก็จะเข้าใจ จึงเห็นว่า ผู้สั่งเป็นนาม ส่วนผู้ทำตามนามนั้นเป็นรูป นามสั่งให้เปลี่ยนอิริยาบถ สั่งให้นั่ง สั่งให้ยืน สั่งให้เดิน เมื่อมีนามสั่งให้เดิน รูปก็เดิน เมื่อนามสั่งให้นอน รูปก็นอน นามสั่งให้นั่ง รูปจึงนั่ง รูปนามจึงเป็นไปเนื่องด้วยในอิริยาบถทั้ง ๔ วนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ จึงเห็นผู้สั่ง และผู้ทำตามผู้สั่ง เห็นผู้สั่งนั้นเป็นนาม เห็นผู้ทำตามนามนั้น เป็นรูป จนที่สุดนอกจากเห็นผู้สั่ง ให้ ยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถใหญ่แล้ว ต่อไปก็จะเห็นนามมันสั่งให้คู้ ให้เหยียด ให้เคลื่อน ให้ไหวในอิริยาบถย่อยยังไม่พอ ต่อมาก็เห็นนามมันสั่งให้หลับตา สั่งให้ลืมตา ให้ส่ายตาให้กระพริบตา ก็จะเห็นจิตเป็นผู้สั่งทั้งสิ้น ทั้งในอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถกลาง อิริยาบถย่อย เมื่อเห็นนามมันสั่งแล้ว ก็ดูทวารทั้ง ๖ คือ การเห็นที่เกิดขึ้นทางตา การได้ยินที่เกิดขึ้นทางหู การได้กลิ่นที่เกิดขึ้นทางจมูก การรู้รสที่เกิดขึ้นทางลิ้น การรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งที่เกิดขึ้นทางกาย การรู้ความนึกคิดที่เกิดทางใจ ก็นามเหล่านั้นเขาเห็นเอง แม้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเห็น เขาก็เห็นเอง นามได้ยิน เขาก็ได้ยินเอง นามได้กลิ่น เขาก็ได้กลิ่นเอง นามรู้รส เขาก็รู้รสเอง นามทางกายที่เขารู้เย็นร้อนอ่อนแข็ง เขาก็รู้เอง ส่วนนามทางใจเขาก็คิดเอง จึงเห็นมันเกิดเอง เห็นมันดับเอง และแล้วก็เข้าใจธรรมชาติของนามรูปที่เกิดขึ้น คือประจักษ์ว่า การเห็นไม่ใช่เรา แม้การได้ยินก็ไม่ใช่เรา มันเกิดจากอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสีย กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เช่น เมื่อตากับรูปกระทบกัน และมีแสงสว่าง การเห็นจึงเกิดขึ้น แม้มีตา มีแสงสว่าง แต่ไม่มีรูป การเห็นก็ไม่เกิด แม้มีแสงสว่าง มีรูป แต่ตาบอด การเห็นก็ไม่เกิดขึ้น การเห็นจึงเกิดขึ้นเอง เพราะมีเหตุปัจจัยพร้อมเพียงกันในที่นั้น เมื่ออายะตะภายใน คือประสาทตา และอายตนะภายนอก คือแสงสว่าง และรูปกระทบกันแล้ว นามเห็นจึงเกิดขึ้น ถ้ามีประสาทตาดี แต่แสงสว่างไม่มี มันก็ไม่เห็น หรือมีรูป มีแสงสว่าง แต่ตาบอดมันก็ไม่เห็น หรือถ้ามีประสาทหูดี แต่ไม่มีเสียงมากระทบ มันก็ไม่ได้ยิน หรือถ้ามีเสียงมากระทบ แต่หูหนวกมันก็ไม่ได้ยินอีก ถึงมีจมูก แต่ไม่มีกลิ่นมากระทบ มันก็ไม่เกิดนามที่จะรู้กลิ่น หรือแม้จะมีกลิ่นแต่เป็นหวัดคัดจมูก หายใจไม่ออก ต้องหายใจทางปาก นามที่รู้กลิ่นมันก็ไม่เกิดขึ้น หรือมีลิ้น แต่ไม่มีรสมากระทบ อย่างที่เรานั่งอมลินอยู่อยู่เดี๋ยวนี้ ไม่มีรสเผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยวกระทบ มันก็ไม่รู้สึกรส จะเกิดนามรู้รสได้ก็ต่อเมื่อมีรสมากระทบลิ้น มีประสาทกายดี แต่ไม่มีรูปเย็นรูปร้อน หรือรูปอ่อนรูปอ่อนมากระทบ มันก็ไม่รู้สัมผัสทางกาย ต่อเมื่อมีเย็นร้อน อ่อนแข็งมากระทบ เกิดความคิดที่เป็นไปกับอนาคตและปัจจุบันขึ้นมา มีสัญญาเจตสิกมากระทบ จึงรู้ว่าคิดไปในอดีต มีสังขารเจตสิกมากระทบจึงรู้ว่ามีคิดไปในอนาคตหรือปัจจุบัน มโนวิญญาณจึงเกิด เมื่อเกิดความเข้าใจถูกต้อง ก็จะเห็นอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ เขาเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่มากระทบกัน เหมือนเราปรบมือนี่แหละ ปรบข้างเดียวมันไม่ดัง ปรบสองข้างมันก็ดัง ปรบแต่ข้างซ้ายข้างเดียว มันก็ไม่ดัง มันจะดังก็ต่อเมื่อปรบมือทั้งสองข้าง มีแต่ตา ไม่มีแสงสว่างก็ไม่เห็น มีแต่หูไม่มีเสียงมากระทบ มันก็ไม่ได้ยิน มีจมูกไม่มีกลิ่นโชยมากระทบก็ไม่รู้ มีแต่ลิ้นไม่มีลิ้นมากระทบก็ไม่รู้ ทวารทั้ง ๕ เป้นอย่างนี้ เขาจึงเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของเขาเอง นามนั้นจึงเห็นเอง มันจึงได้ยินเอง มันจึงรู้กลิ่นเอง มันจึงรู้รสเอง มันรู้เย็น รู้ร้อนเอง มันคิดเองไม่ได้ตั้งใจ เมื่อปัญญาเห็นเห็นความจริงประจักษ์แก่ใจขึ้นมา ก็จะเห็นว่า มันเกิดเองแล้วมันก็ดับเอง ไม่ได้ตั้งใจ จึงเห็นว่าวิญญาณ ๖ ไม่ใช่ตัวตน เห็นว่าวิญญาณ ๖ เป็นเพียงวิญญาณขันธ์ เห็นรูปเป็นเพียงรูปขันธ์ เห็นเวทนา ที่เป็นไปกับสุข เฉยๆ หรือทุกข์ ก็เป็นเพียงเวทนาขันธ์ ไม่ใช่ตัวตน เห็นสัญญา คือความจำอารมณ์เบื้องหลังในอดีต ก็เป็นเพียงสัญญาขันธ์ ไม่ใช่ตัวตน มันจำของมันเอง สัญญาเป็นนามที่นึกเรื่องราวในอดีต เห็นสังขาร คือการปรุงแต่งของจิตที่เป็นเรื่องราวในปัจจุบันหรืออนาคต ก็เป็นเพียงสังขารเท่านั้น เห็นวิญญาณ คือจิตที่มันมารับรู้อารมณ์ทั้ง ๖ ทวาร ก็สักแต่ว่าเป็นวิญญาณขันธ์เท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ผู้ที่รู้สึกอารมณ์ในทวารทั้ง ๖ ก็เป็นแต่นาม ส่วนทางกายก็เป็นแต่รูป พระองค์จึงได้ตรัสรู้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง ในตอนเช้า พระองค์ทรงรับข้าวมธุปายาสอันมีน้ำน้อย ที่นางสุชาดาใส่ถาดนำมาถวายพระองค์ท่านที่ต้นโพธิ์ทางฝั่งตะวันออก พระองค์เมื่อทรงเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้วก็ทรงลอยถาดนั้นไป ลอยถาดแล้วก็ทรงปฏิบัติธรรมอยู่ทางทิศตะวันออก คือมีต้นโพธิ์หลายต้น ตกบ่ายๆ ก็มีโสตถิยะพราหมณ์มาพบเข้า เกิดศรัทธา เลื่อมใสในพระองค์ พราหมณ์นั้นหาบหญ้ามาแปดก้อนหรือแปดกำ ข้างละสี่กำ ข้ามแม่น้ำเนรัญชรามาถึงฝั่งตะวันออก จึงน้อมหาบหญ้านั้นเข้าไปถวายพระองค์ พระองค์ทรงเกลี่ยหญ้าลงทางต้นโพธิ์ ด้านตะวันออกแล้วปูหญ้าทับ นั่งทำความเพียรอยู่ที่โคนต้นโพธิ์นั้น เมื่อปฐมยามก็ทรงบุพเพนิวาสนุสติญาณ ระลึกเห็นเรื่องอดีตทั้งใกล้ทั้งไกล จนข้ามภพข้ามชาติ นอกจากชาติในปัจจุบันแล้ว ยังข้ามภพข้ามชาติว่าก่อนมาเกิดในเมืองมนุษย์มาจากไหน มาจากสวรรค์ชั้น ๔ ชั้นดุสิต ก่อนจะมาเกิดในสวรรค์ชั้น ๔ มาจากไหน มาจากพระเจ้า ๕ๆๆ ชาติ พระองค์ท่านระลึกได้ถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมาทั้งใกล้ทั้งไกลทั้งในชาตินี้และชาติก่อน จึงเรียกบุพเพนิวาสนานุสติญาณ ยามที่ ๒ คือตั้งแต่ ๕ทุ่ม ๖ ทุ่ม ตี ๑ ตี ๒ ก็เกิดจุตูปปาตญาณ เห็นนามรูปที่เกิดดับในภพภูมิต่างๆ ในภูมิที่พระองค์ทรงเกิดมาแล้ว ในบรรดา ๓๑ ภูมิ (เว้นแต่ภูมิสุทธาวาสทั้ง ๕ เท่านั้น ซึ่งในวิสัยผู้ที่จะมาตรัสรู้เป้นพระสัมมาสัมพุทธะเจ้านั้น จะไม่เคยไปเกิดในภูมสุทธาวาสทั้ง ๕ ภูมิเลย เพราะภูมนั้นเป็นภูมที่อาศัยของพระอนาคามีผู้แก่กล้าด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ เท่านั้น) พระองค์ทรงเห็นว่า ภพใดภูมิใดที่สัตว์เกิดแล้ว ที่จะไม่ตายนั้นไม่มีเลย จึงเห็นภพทั้งหลายไม่แน่นอน เกิดแล้วก็ตาย เกิดแล้วก็ตาย เกิดแล้วก็ตาย อบายภูมิ ๔ เกิดแล้วก็ตาย สวรรค์ ๖ ชั้น เกิดแล้วก็ตาย มนุษย์เกิดแล้วก็ตาย เกิดเป็นรูปพรหมแล้วก็ตาย แม้เกิดเป็นรูปพรหม ๔ แล้วก็ต้องตาย จึงมองหาภพภูมิที่มั่นคงถาวรใน ๓๑ ภพ ๓๑ ภูมินั้น ไม่มีเลย จิตจึงไม่อยากจะเกิดอีก จึงทรงเกิดความเบื่อหน่ายต่อภพภูมิ เปรียบเหมือนด้วยบุคคลมีซากศพแขวนไว้ที่คอ ย่อมต้องการที่จะผลักใสมันไปจากคอโดยเร็วที่สุด อันภพทั้ง ๓ นี้ก็เหมือนกัน พระองค์ทรงต้องการให้มันสิ้นสุด โดยเร็วที่สุด ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป เพราะมันเมื่อเกิดอีก มันก็จะต้องตายอีก จิตจึงน้อมไปในความไม่เกิด วิปัสสนาญาณต่างๆจึงเกิดขึ้นตามลำดับ ถ้านับตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณไปจนถึงภังคญาณ ก็เรียกว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ เพราะญาณนี้มันนึกถึงเห็นแต่เรื่องอดีต จากภังคญาณ จนถึงสังขารุเบกขาญาณ มันมีแต่ปรุงแต่งปัจจุบันกับอนาคตเกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอยู่อย่างนั้น ความนึกคิดไปในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากทวารทั้ง ๖ นั้น ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงเรียกว่าจุตูปปาตญาณ เห็นการเกิดดับรูปนาม การเห็นเกิดไปทางตา ก็ดับไปทางตา เสียงเกิดทางหูก็ดับไปทางหู การได้กลิ่นทางจมูกก็ดับไปทางจมูก การรู้รสเกิดทางลิ้นก็ดับไปทางลิ้น เย็นร้อน อ่อน แข็ง ที่เกิดทางกาย ก็ดับไปทางกาย ความนึกคิดที่เกิดที่เกิดทางในก็ดับทางใจ อารมณ์ที่เกิดในทวารใดก็ดับไปในทวารนั้น เกิดแล้วไม่ดับไม่มี จึงเรียกว่าจุตูปปาตญาณ นอกจากนั้นก็เห็นภพภูมิที่เคยเกิด แล้วก็เคยตายทุกแห่ง ไม่มีภพภูมิใดที่เกิดแล้วไม่ตาย ไม่มี จึงไม่อยากเกิดอีก เพราะเมื่อเกิดอีก มันก็จะตายอีก จึงน้อมไปเพื่อความไม่เกิด เกิดปัญญาเข้าใจรู้เห็นว่า ถ้าตราบใดที่จิตยังเกิดขึ้นๆลงๆ เมื่อถูกเขาด่ายังเกิดเสียใจ เขายกย่องยังเกิดดีใจอยู่ ความเกิดก็ยังไม่สิ้นสุด ก็ต่อเมื่อไม่ขึ้น ไม่ลง โดนด่าก็ไม่โมโห ยกย่องก็ไม่ดีใจ ร่างกายตายไปก็ไม่กลัว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขขึ้นมา ก็ไม่เกิดความดีใจ ครั้นพอเสื่อมจากลาภ เสื่อมยศ เกิดนินทา เกิดทางทางกายก็ไม่เสียใจ ตราบนั้นแหละมันจึงหยุดเกิด มันจึงไม่เกิดในภพภูมิต่างๆอีกต่อไป พระองค์จึงทรงน้อมไปเพื่อความไม่เกิด จึงพิจารณาดูเห็นรูปนามเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ระเอียดกว่าเดิม การหลับตา กระพริบตา ส่ายตา กระดิก พลิกแพลงปลายมือปลายเท้า ล้วนแต่เป็นการแสดงธรรมชาติของรูปนามเท่านั้น ว่าที่ข้าต้องทำอย่างนี้ เพราะทนไม่ไหว ที่ต้องกระพริบตา ที่ต้องส่ายตา เพราข้าทนนิ่งสงบ ไม่ส่ายตา ไม่กระพริบตาไม่ไหว จะต้องกระดิกพลิกแพลงปลายมือปลายเท้า เพราะไม่กระดิกก็ทนไม่ไหว มันอยู่ได้ยาก มันเป็นทุกข์ จากนั้นก็เห็นทุกข์ในอริสัจ ๔ รู้เหตุผลว่าทำไมแต่ก่อนเรานั้นเมื่อเวลาโดนเขาด่า โดนตำหนิ ก็โมโห เวลาเขายกย่องก็ดีใจ เวลาความแก่ ความเจ็บมาถึงก็กลัวตาย เวลานึกถึงอดีตที่ไม่ดีก็เศร้าใจ นึกเห็นเรื่องดีก็ดีใจ ขึ้นๆลงๆสูงๆต่ำๆ นั่นคือความเกิดทางใจ ก็จะเห็นได้ว่า ที่โดนด่า ก็คือมันเกิดโมโห แต่เมื่อมีใครเขายกย่องหรือยามที่ได้ยินเสียงเพลง หรือเสียงดนตรีมันก็เกิดดีใจ มันจึงเป็นวัฏฏะสงสาร ถามว่าทำไมมันขึ้นมันลง? เพราะมันเห็นผิด มันเห็นเห็นเรา ได้ยินเสียงด่าก็เป็นเรา มันจึงขึ้น มันจึงลง ถามว่า ถ้าไม่ใช่เราแล้วมันเป็นอะไร? ตอบว่า ที่ได้ยินเสียงด่า ได้ยินเสียงยกย่องนั้น เป็นนามเกิดทางหู ส่วนที่ยืน เดิน นั่ง นอนนั่นก็เป็นรูป ผู้ที่ได้ยินเสียงก็เป็นนาม ถ้าเห็นความจริงว่า เป็นนามเป็นรูปเฉยๆ จิตใจก็ไม่ส่ายซัด ไม่ขึ้นไม่ลง ที่มันขึ้นๆลงๆก็เพราะมันเห็นเป็นเรา จึงเกิดความเข้าใจว่า แต่ก่อนมันเห็นผิด มันจึงขึ้นจึงลง จึงเกิดดีใจเมื่อเขายกยอ จึงเกิดเสียใจเมื่อเขาติด่า เสียงยกยอกับเสียงด่าที่กระทบ มันก็เป็นเสียงเหมือนกันนั่นแหละ ผู้ที่ได้ยินก็เป็นโสตวิญญาณเหมือนกัน มันเป็นนามเกิดทางหู ที่กำลังนั่ง นอน ยืนเดิน ก็เป็นเพียงรูป ส่วนผู้ที่ได้ยินเสียง เขาก็เป็นนาม หากยังเห็นว่าเป็นเรา ไม่เห็นว่าเป็นนาม จิตใจมันต้องขึ้นต้องลง เพราะมันเห็นเป็นกู ถ้าเห็นเป็นนามเห็น นามได้ยิน นามได้กลิ่น นามรู้รส นามรู้สึกทางกาย เห็นผู้ที่กำลังยืน เดิน นั่ง นอนเป็นรูป ใจมันก็ไม่ขึ้นไม่ลงเท่านั้น จึงเห็นเหตุที่มา ที่ทำให้จิตใจมันขึ้นๆลงๆ เป็นวัฏฏะสงสาร นึกเห็นอดีตที่ไม่ดีก็เศร้าใจ นึกถึงเรื่องที่ดีมันก็ดีใจ ก็ขึ้นลงเหมือนกัน มันมีค่าเท่ากัน บุญกับบาป พาให้ท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร บุญพาให้ฟูขึ้น บาปพาให้ฟุบลง ให้ขึ้นให้ลงเป็นวัฏฏะสงสาร เป็นการเกิดดับ เวลาได้ยินเสียงยกย่อง ดีใจก็เกิด เวลาได้ยินเสียงด่า เสียใจก็เกิด ที่ได้ยินเสียงด่า เสียงตำหนินั้น ถ้ามันเห็นว่า เป็นนามที่เกิดทางหู ส่วนผู้ที่กำลังยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นรูป ถ้าเห็นเป็นนาม เป็นรูปอย่างนี้แล้ว จิตใจมันก็ไม่ขึ้นไม่ลง มันก็หยุดความเกิด ปัญญาเมื่อเห็นการเกิดบ่อยๆ ก็เป็นทุกข์บ่อยๆขึ้น ขึ้นบ่อยๆลงบ่อยๆ ก็ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น จึงไม่ต้องการจะเกิดอีก เมื่อพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอารมณ์ มันก็ไม่ขึ้นไม่ลง ถ้าเห็นนามเป็นนาม เห็นรูปเป็นรูปแล้ว การขึ้นลงของจิตก็จะไม่มี การดีใจ เสียใจก็ไม่มี ก็คือการหยุดเกิด ถ้ามันหยุดได้อย่างนั้นแหละ เมื่อร่างกายตายไป การเกิดอีกทางใจก็จะหมดไป ขันธ์ ๕ แตกดับ ก็จะแตกดับไปเฉยๆ รูปแตก นามดับไปเฉยๆ จิตก็จะไม่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร จึงรู้จักที่ทำให้ภพชาติมันสิ้นสุดลงด้วยการไม่เกิด ด้วยการเข้าใจในอริยสัจ ๔ ทุกข์มี เพราะอุปาทานในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือว่าเป็นเรา นั้นมี ที่มีอุปาทานในขันธ์ ๕ ก็เพราะไม่รู้แจ้งในขันธ์ ๕ การไม่รู้แจ้งในขันธ์ ๕ มี เพราะมรรค ๘ ไม่เจริญ เมื่อรู้แจ้งในขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา เมื่อรู้แจ้งแล้ว ก็หมดอุปาทานในขันธ์ทั้งปวง แล้วทุกข์จะมาจากไหน ก็เป็นอันว่า ทุกข์ก็ดับไป ปัญญาที่เห็นความจริงอย่างนี้ จึงเข้าใจอริยสัจ ๔ ทั้งอนุโลมและปฏิโลม เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว หายสงสัยในอริยสัจ ๔ แล้ว จิตปุถุชนของผู้ปฏิบัติก็ดับลงสู่ภวังค์ครั้งแรก ดับตั้งแต่ภังคญาณ แยกความคิดกับรูปเป็นคนละอันแล้ว แยกได้เต็มที่แล้วก็ดับ นั่นเป็นการดับครั้งแรก เรียกว่าภังคญาณ ยังเป็นปุถุชนอยู่ เพียงจิตกับเจตสิกเป็นคนละอันกันเท่านั้น คิดกับรูปเป็นคนละอันเท่านั้น บัดนี้เห็นชัดเจนยิ่งกว่านั้น เห็นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอีกแล้ว เห็นความคิดเป็นนามเท่านั้น ทางกายก็เป็นรูปเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน เห็นนามเป็นนาม เห็นรูปเป็นรูป จิตที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นนาม กำลังเดิน ยืน เดิน นอน นั่ง คู้เหยียด เคลื่อนไหวเป็นรูป ส่วนหนึ่งเป็นรูป ส่วนหนึ่งเป็นนาม เมื่อเห็นนามเป็นนาม เห็นรูปเป็นรูปแล้ว จึงเห็นความทุกข์เกิดจากที่ไม่เห็นเป็นรูปนาม แต่เห็นนามเป็นกู เห็นรูปเป็นกู จึงเกิดทุกข์ ท่านจึงแนะนำว่าให้รู้ทุกข์ ทุกข์ท่านให้กำหนดรู้ ส่วนเหตุที่ก่อทุกข์ คือตัวกู ท่านก็ให้ละ นิโรธ ความดับทุกข์ ต้องทำให้แจ้ง ทำให้เห็นว่าเราเป็นขันธ์ไหน ใน ๕ ขันธ์ เป็นรูป หรือเป็นนาม เป็นรูปหรือเป็นเวทนา เป็นสัญญา สังขาร วิญญาณ เข้าใจแจ่มแจ้งในขันธ์ ๕ แล้วมรรค ๘ ก็ยิ่งเจริญขึ้น เมื่อมรรค ๘ เจริญมากขึ้นเท่าไร ก็รู้แจ้งในขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาเท่านั้น เมื่อเห็นขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาเท่าไร การปล่อยวางก็มีมากขึ้น การหลุดพ้นก็มีมากขึ้นเท่านั้น หลุดพ้นว่าเป็นตัวตน (ตัวกู ของกู) ท่านจึงว่ากิจในอริยสัจ ๔ ที่พึงทำ ก็ได้แก่ ทุกข์ให้กำหนดรู้ เหตุที่เกิดทุกข์ก็ให้ละ นิโรธ คือความดับทุกข์ ต้องทำให้แจ้ง มรรค ๘ เป็นธรรมที่ต้องเจริญ เมื่อมรรคทั้ง ๘ เจริญอิ่มตัวตั้งแต่สัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธิ พระองค์ก็รู้แจ้ง ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ในยาม ๓ แห่งราตรี ทำชาติภพให้สิ้นสุดลงนั่นเอง พระองค์จึงทรงประกาศว่า ชาติสิ้นแล้ว ภพสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว การเกิดของเราไม่มีอีกแล้ว เกิดรักก็หมด เกิดชังก็หมด เกิดดีใจก็หมด เกิดเสียใจก็หมด จึงไม่มีการเกิดอีกตั้งแต่บัดนี้ พระองค์ท่านเจริญมรรค ๘ จนอิ่มตัว ถึงพร้อมอย่างบริบูรณ์แล้ว คราวนั้น จิตปุถุชนของท่านก็ดับลงสู่ภวังค์ ที่ท่านเรียกว่าโคตรภูญาณ ดับโคตรปุถุชน เกิดในแดนอริยะเจ้า เกิดโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จงกระทั่งถึงพระอรหัตตะผล ก็เกิดขึ้น พระองค์ทรงเจริญคราวเดียวรู้แจ้งแทงตลอดไป เกิดมรรค ๔ ผล ๔ ณ ที่นั้น ท่านจึงอุปมาเหมือนกับบุรุษผู้มีกำลัง หอบฟาง เชื้อเพลิงไปเผาต้นไม้ เถาวัลย์ที่ปกคลุมก็แห้ง เมื่อฟางไปติดที่โคนแล้ว ย่อมลุกขึ้นครั้งเดียวเผาตั้งแต่โคนจนถึงปลายถึงยอด เพราะต้นไม้มันมันแห้ง ไม่มียางเหนียว เถาวัลย์ที่ปกคลุมนั้นก็แห้งเหมือนกัน จึงไหม้คราวเดียวจากโคนถึงยอด ด้วยสัมมาสัมพุทธบารมีญาณ ไม่ใช่สาวกบารมีญาณ ส่วนมากพระสงฆ์สาวกนั้นจะค่อยๆเป็นค่อยๆไป เผาไปทีละเล็กทีละน้อย ที่จะผ่านไปคราวเดียวจากต้นไปถึงปลายเลยนั้นหายาก จะมีบ้างก็นับว่าน้อยมาก จึงไม่อาจเปรียบเทียบกับพุทธญาณได้ เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว จึงพักอยู่ที่นั้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ต่อมาจึงทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะทรงสงเคราะห์ก่อน คือ ปัญจะวัคคีย์ทั้ง ๕ พระองค์จึงทรงออกเดินทาง ก่อนอื่นที่จะออกเดินทางก็ได้รับข้าวจตุผงจตุก้อนจากปุตตะมัลละ พ่อค้าสองพี่น้อง พ่อค่าเกวียน ๕๐๐ เล่ม สองพี่น้องชาวพม่า คนทั้งสองได้ขอของที่ระลึก พระองค์ยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นลูบพระเศียรได้พระเกศา ๘ เส้น หลุดล่วงลงมามอบให้ พ่อค้าทั้ง ๒ ก็ดีใจ กลับถึงพม่าก็ไปสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ถ้าจำทิศทางไม่ผิด คงเป็นทางทิศตะวันตกของชเวดากองนั่นแหละ เป็นเจดีย์ของปุตตะมัลละสร้าง เอาไว้ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน ภายหลังต่อมากษัตริย์พม่า จึงได้สร้างเจดีย์ชเวดากองขึ้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็ได้อัญเชิญเอาพระเกศา ๘ เส้น จากเจดีย์ชเวดากองเดิมที่ปุตตะมัลละสร้างบรรจุพระเกศาไว้นั้น มาบรรจุไว้ที่เจดีชเวดากอง แต่ว่าสร้างหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน แต่องค์เดิมสร้างตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์เสด็จออกเดินทางต่อไปพบอุปกาชีวก นักบวชศาสนาอื่น มากล่าวชมเชยพระพุทธองค์ว่า ผิวพรรณของท่านเปล่งปลั่งยิ่งนัก วรรณะของท่านผ่องใสนัก ไคเป็นศาสดาของท่าน? พระองค์ก็ตรัสความเป็นสยมภู คือผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ในเมื่ออริยสัจ ๔ เราเป็นคนพบคนแรก ในเมื่ออวิชชาเราก็เป็นคนทำลายคนแรกในโลก จะเรียกใครว่าเป็นศาสดา เป้นครู เป็นอาจารย์เล่า เราเป็นสยมภู ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ อุปกาชีวกได้ฟังแล้วก็ไม่พอใจ แลบลิ้นส่ายศีรษะ ถ่มน้ำลาย กล่าวประชดว่า ท่านเป็นสยมภูก็เป็นเสียให้พอใจ มีหรือคนในโลกนี้ดีเอง ไม่มีครูอาจารย์ แล้วก็หลีกทางไป เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๘ พระพุทธองค์ก็เสด็จมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งหนทางไกลจากที่ตรัสรู้ ๒๔๐ กม. เศษ ในปัจจุบันนี้ เป็นที่ห่างไกลกันพอสมควร แต่ในปัจจุบันมีถนนหนทางเลนเดียว ทางลาดยาง เมื่อพระองค์ไปถึง ณ ที่นั้น ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มองเห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล ก็ต่างให้สัญญากันไว้ว่า พระสมณโคดมผู้คลายความเพียร มีความโลภมากตรัสรู้ไม่ได้ ตามพวกเรามาอีกแล้ว จะมาไม้ไหนกันแน่ คือมองในแง่ลบ ไม่ได้มองในแง่บวก เอาเถิดพวกเราจะจัดที่ประทับไว้ พระองค์ประสงจะประทับก็ทรงประทับ ประสงค์จะทรงไปก็ทรงไป จึงจัดที่ประทับไว้ด้วยความไม่พอใจนั้น เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงก็พากันต้อนรับบาตร จีวร แม้จะไม่พอใจก็เก็บไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก รักษามารยาทของเจ้าของบ้านต้อนรับแขก แต่ยังกล่าวกับพระองค์ว่าคุณ คุณโคดม คุณไปอย่างไร มาอย่างไร คุณจะไปไหน การเรียกคุณๆนี้ไม่เคยกล่าวในคราวที่ทำอุปัฏฐาก เป็นถ้อยคำยกตนเสมอท่าน เป็นคำไม่เคารพ พระองค์จึงทรงตรัสเตือนว่า พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนั้นเลย เรามาที่นี่ ก็เพราะมีประสงค์จะตอบแทนบุญแทนคุณพวกท่าน ในฐานะที่พวกท่านทั้ง ๕ มีคุณต่อเราในคราวที่เราบำเพ็ญทุกรกิริยาใน ๓ วาระนั้น บัดนี้เราได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว การมานี้เพื่อประโยชน์สุขแก่ท่านทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมให้พวกท่านฟัง คนทั้ง ๕ ก็ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ กล่าวว่า แม้คราวที่ท่านทำความเพียร ๓ วาระ ในคราวทำทุกรกิริยาถึงขนาดนั้นท่านก็ยังตรัสรู้ไม่ได้เลย มาบัดนี้ ท่านล้มเลิกการทำความเพียรในการทำทุกรกิริยาแล้ว หันกลับมาเสวยพระกระยาหารเหมือนเดิม จะตรัสรู้ได้อย่างไร? พระพุทธองค์ทรงย้อนคำพูดของปัญจวัคคีย์ว่า พวกท่านทั้งหลายอยู่อุปัฏฐากเราหลายปี เคยได้ยินเราเคยกล่าวคำเท็จไหม? ตรัสคำจริงเป็นคำเท็จ เคยได้ยินบ้างไหม? เราเคยกล่าวอย่างนั้นกับพวกท่านหรือไม่? คนทั้ง ๕ ต่างยอมรับว่าไม่เคย พระองค์ตรัสคำใดคำนั้นเป็นจริงเสมอ ไม่ใช่คำเท็จ พระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าพวกท่านรู้ว่าเราไม่เคยกล่าวเท็จ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ที่ว่าตรัสรู้แล้ว ก็เป็นคำจริง ไม่ใช่คำเท็จ คนทั้ง ๕ ก็ต้องยอมจำนนด้วยเหตุผลนี้ เมื่อคนทั้ง ๕ หยุดการโต้เถียง พระองค์ก็ทรงเริ่มเสดงปฐมเทศนา แสดงมรรคมีองค์ ๘ ข้างต้น พระองค์ทรงปฏิเสธที่สุดสองอย่าง คือ ๑. กามสุขัลลิกานุโยค คือ การทำความเพียรด้วยการประกอบด้วยกามคุณ ๕ หรือปรารถนากามคุณ ๕ เช่น ชฎิล ๓ พี่น้อง มีอุรุเวกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ เป้นต้น พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐คน บูชายันต์ออกบวชเป็นชฎิล บูชาไฟปรารถนากามคุณ ๕ คือ ปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันน่าพอใจ แล้วประกาศตนว่า พวกตนเป้นพระอรหันต์ แต่มั่วอยู่ในกามคุณ ๕ พระองค์ทรงปฏิเสธที่สุดสองอย่างนี้ คือ กามมสุขัลลิกานุโยค พระองค์เคยเป็นฆราวาสอยู่ในปราสาท ๓ หลัง ประกอบด้วยกามคุณ ๕ รูปอันน่าพอใจ เสียงอันน่าพึงใจ กลิ่นรสสัมผัสอันน่าพอใจในปราสาท ๓ หลัง อันมีสนมจำนวนมากเป็นผู้ปรนเปรอ ปรนนิบัติด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าพอใจ ถ้าตรัสรู้ได้ด้วยธรรมอย่างนั้น เราคงไม่ต้องออกบวช เราคงตรัสรู้ได้ ในปราสาท ๓ หลังนั้นแล้ว เพราะสมบูรณ์ด้วยกามคุณ ๕ แต่หนทางเช่นนั้นไม่อาจจะตรัสรู้ได้ กามคุณ ๕ นั้น เป้นของหย่อนยาน เป็นของหยาบ สัตว์เดรัจฉานมี ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หมู หมา กา ไก่ ก็ต่างพากันแสวงหา นั่นไม่ใช่ทางพระอริยะเจ้า เมื่อพระองค์ทรงปฏิเสธกามสุขัลลิกานุโยคว่า ไม่ใช่ทางแล้วก็ทรงประกาศว่า ที่สุดอีกส่วนหนึ่งคือ อัตตะกิลมถานุโยค ได้แก่ผู้ปฏิบัติด้วยการทรมานตนเองให้ลำบาก เพราะในสมัยนั้น ฤษีชีไพรบางพวก ทรมานร่างกายด้วยการนอนย่างไฟ เหมือนแม่อยู่กรรม ประกาศว่าพวกตนเป้นพระอรหันต์ บางพวกกำมือให้แน่นให้เล็บทะลุออกหลังมือ เวลากินอาหาร ฉันอาหาร ใช้ปากคาบเหมือนโคเหมือนสุนัข เพราะมือทั้งสองนั้นกำให้แน่น ให้เล็บทะลุออกหลังมือ ฤษีตนไดทำให้เล็บทะลุออกหลังมือได้ ถือว่าตบะกล้า มีคนเลื่อมใส เคารพนับถือมาก พวกนี้ก็ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน บางพวกนอนบนหนาม ที่นอนเอาตะปูมาตีแผ่นกระดานให้ทะลุออกสักร้อยกว่าตัว หงายทางแหลมๆขึ้น นอนบนนั้นเพื่อให้มันทิ่มแทงกิเลส ในคราวที่พระองค์ทรงทำทุกรกิริยา พระองค์ก็ไม่ได้ทำแบบนั้น เมื่อหาที่ข้ามฝั่งมายังแม่น้ำเนรัญชรา ในคราวนั้น พระองค์ก็ทรงทำ ๓ วาระ เริ่มจากการกัดฟันด้วยฟัน กดพระกาลุด้วยพระชิวหา พระกาลุคือเพดาน ชิวหาคือลิ้น ทำอยู่เป็นเวลานาน นิวรณ์ ๕ ก็ยังเกิดเหมือนเดิม (กามฉันทะ ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา) ก็ยังมีเหมือนเดิม ก็ทรงเลิกการทำแบบนั้น ก็มาถึงวาระที่ ๒ ต้องกลั้นลมหายใจเข้าออก ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เป็นลมหายใจเข้าออก ก็ทำอยู่นานเหมือนกัน ถึงอย่างนั้นนิวรณ์ ๕ ก็ยังเกิดเหมือนเดิม แม้วาระที่ ๓ ลดอาหารลงวันละคำๆ จนเลิกไปเลย จนร่างกายซูบผอม เลือดเนื้อเหือดแห้งไป เพราะไม่มีอาหาร จนไม่สามารถจะยืน จะเดินได้ ได้แต่นอนกับนั่ง เวลาไปหนักเบาก็คลานไป พระองค์ท่านจึงซูบผอม เอามือลูบท้องก็ถูกกระดูกสันหลัง ลูบหลังก็ถูกหน้าท้อง จึงไม่สามารถจะอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ ได้ ได้แต่นอนกับนั่ง ยืนกับเดินไม่ได้ ถึงอย่างนั้นนิวรณ์ ๕ ก็ยังเกิดเหมือนเดิม บางครั้งยังนึกถึงความสุขในกามสุข ไปนึกถึงปราสาท ๓ หลัง อันมีนางสนมปรนนิบัติ ด้วยกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันน่าพอใจ กามฉันทนิวรณ์ก็เกิด กามารมณ์เกิด เกิดความกำหนัดยินดี แม้ร่างกายจะมีแต่หนัง เอ็น กระดูกรึงรัดก็ตาม ทางกายนั้นหมดกำลังแล้ว แต่ทางใจ ก็ยังเกิดกิเลสอยู่ นี่เป็นฤทธิ์ของกามคุณ ๕ บางทีในยามพวกปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ถวายการอุปัฏฐากให้ให้ไม่เป็นที่พอพระหฤทัย ก็เกิดพิโรธ คือโกรธเขา โทสะก็ยังเหมือนเดิม จึงได้ทรงพิจารณาเห็นว่า การตรัสรู้คงเป็นทางอื่น ไม่ใช่ทางนี้แน่ จึงรำพึงนึกถึงอดีตที่คราวไปเรียนวิชานักรบที่ตักกสิลา มหาวิทยาลัยกตักกสิลาเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาในสมัยนั้น พวกกษัตริย์เรียนวิชานักรบ มีการฟันดาบ ยิงธนู รับดาบด้วยโล่ รับลูกธนูด้วยโล่ และก็มีการเรียนฝึกช้างพยศให้หายพยศ ฝึกม้าพยศให้หายพยศ ให้เป็นช้างม้าตัวประเสริฐ คู่ควรกับการเข้าสนามรบ ควรต่อพระราชา ควรต่ออุปราช หรือมหาอำมาตย์ เหมือนสมัยอยุธยาบ้านเราในสมัยก่อน พระราชาทรงขึ้นหลังช้าง หลังม้า เข้าสนามรบ การไปเรียนวิชานักรบก็ต้องได้ฝึกทั้งหมด มีการฝึกช้างฝึกม้า จึงนึกเห็นเรื่องอดีต ที่ทรงเคยฝึกช้าง ฝึกม้า พิจารณาว่า การฝึกช้าง การฝึกม้า ตัวที่มันพยศให้หายพยศ ก็คือบังคับให้มันอยู่ในอำนาจ ไม่ให้มันลุอำนาจ ไม่เกิน ๑๐ วันมันก็หายพยศ และเห็นชาวนาฝึกควายไถนาอยู่แถวใกล้ๆ ก็เหมือนกัน เขาก็ฝึกบังคับ ไม่ให้ลุอำนาจ ให้อยู่ในอำนาจ ไม่เกิน ๑๐ วันมันก็หายพยศเหมือนกัน ก็สามารถเทียมล้อเทียมเกวียน เทียมแอก ลากล้อ ลากเกวียน แอกไถได้ ช้างม้าก็เหมือนกัน ไม่เกิน ๑๐ วัน ก็สามารถฝึกให้เป็นช้างตัวประเสริฐได้ คู่ควรต่อพระราชา จึงทรงรำพึงว่า การฝึกจิตก็ควรทำแบบนั้น แบบที่เราฝึกช้างฝึกม้ามาแล้วนั่นแหละ การฝึกจิตแบบนั้นต้องเสวยพระกระยาหารให้ร่างกายมีกำลัง สามารถยืนได้ เดินได้ นั่งได้ นอนได้เสียก่อน จึงสะดวก จากนั้น วันหลังถัดมาพระองค์จึงทรงเสยพระกระยาหาร เริ่มจากคำหนึ่งขึ้นไป จนถึงเหมือนเดิม จนร่างกายเริ่มมีเลือด มีเนื้อ มีน้ำมีนวลมีกำลังขึ้นมา ยืนได้ เดินได้ นั่งได้ นอนได้ ในอิริยาบถทั้ง ๔ พระองค์ทรงฝึกจิตมาก่อนพวกเรา จนได้ตรัสรู้ จนเห็นรูป เห็นนาม เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ด้วยการอาศัยการฝึกจิตแบบนี้ เมื่อพระองค์ทรงปฏิเสธที่สุด ๒ อย่างแล้ว ก็ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ เห็นว่าที่นอน นั่ง ยืน เดิน คู้เหยียด เคลื่อนไหว เป็นแต่รูป ผู้รู้นอน รู้นั่ง รู้ยืน รู้เดิน รู้เหยียด เคลื่อนไหว ก็เป็นนาม มีผู้นอนให้รู้กับผู้รู้ มีผู้นั่งให้รู้และผู้รู้ มีผู้ยืนให้รู้กับผู้รู้ มีผู้เดินให้รู้กับผู้รู้ มีสองอย่าง มีผู้ยืน ผู้เดิน ผู้นั่ง ผู้นอน คือรูป ผู้รู้อาการยืน เดิน นั่ง นอนเป็นรูป การเห็นเป็นนาม เกิดทางตา นั่งอยู่เป็นรูป ได้ยินเสียงนกร้อง เป็นนามเกิดทางหู ที่นั่งหายใจยุบ พองก็รู้ การรู้สึกกลิ่นทางจมูกก็นามเกิดทางจมูก การรู้รสทางลิ้นก็เป็นนามเกิดทางลิ้น ที่นั่งอมหารอยู่เป็นรูป การรู้กลิ่นทางจมูกก็เป็นนมเกิดทางจมูก นั่งอยู่เป็นรูป ชิวหาวิญญาณก็เป็นนามเกิดทางลิ้น ยืน เดิน นั่ง นอนก็เป็นรูป การรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นนามเกิดทางกาย ยืนอยู่ถือขันเปล่าก็เป็นรูป เห็นอารมณ์ทวารทั้ง ๖ เป็นนาม เห็นกายอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ เป็นแต่รูป เป็นแต่รูปนอน เป็นแต่รูปนั่ง รูปยืน รูปไหว รูปนิ่ง รูปยุบ รูปพอง ความรู้สึกเป็นนาม ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นรูป จึงทรงเห็นรูป เป็นรูป เห็นนามเป็นนาม ไม่เห็นเป็นเรา เรียกว่าเห็นชอบ ต่อมา คือ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ได้แก่ พยามเอาตัวกูออกไป จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้มีกูเห็น กูได้ยิน กูรู้กลิ่น กูรู้รส กูรู้เย็นร้อน กูคิด ถ้าไม่ใช่กูแล้วเป็นอะไร? ตอบว่า ผู้รู้อารมณ์ในทวารทั้ง ๖ เป็นนามเท่านั้น อย่ามีกูนอน กูนั่ง กูยืน กูคู้ กูเหยียด กูเคลื่อน กูไหว ถ้าไม่ใช่ก็แล้วเป็นอะไร? ยืน เดิน นั่ง นอน คู้เหยียด เคลื่อนไหวเป็นรูปใช่ไหม? ส่วนความรู้สึกนั้นเป็นนาม ถอนตัวกูออก คือ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบในรูปนาม ต่อมา คือ สัมมาวาจา วาจาชอบ เมื่อผู้ฝึกจิตจนเกิดสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เห็นตรงตามสภาพธรรมที่เป็นจริง มีสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบเป็นตัวหนุนเนื่องในการเห็นรูปนามแล้วไซร้ การพูดย่อมเป็นคำจริง ไม่หยาบคาย ไม่ไร้สาระ เพราะไม่พูดตามอำนาจแห่งการยึดอัตตาตัวตน ดังนั้น ทุกคำจึงเป็นคำพูดด้วยสติธรรม จึงเป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ในแง่ของการปฏิบัติ การงานทางกาย เมื่อมีความเห็นตรง และคิดออกจากกองทุกข์ทั้งมวล การจะทำการงานอันเป็นปัจจัยให้เดือดร้อนย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ทำด้วยตัวกู ของกู จึงเป็นการงานชอบ เพราะทำด้วยปัญญาอันเห็นชอบ (สัมมาวาจาและสัมมากันมันตะข้าพเจ้าเพิ่มเข้ามาเอง เพราะหลวงปู่ท่านเทศข้ามไป ที่ท่านข้ามท่านไม่ได้ลืม แต่ท่านมุ่งเน้นย้ำถึงการปฏิบัติให้สั้นลง และเพื่อกระชับเวลา กระผมพระวุฒิเลิศ จึงขอเสริมนิดเติมหน่อย เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาบ้าง) ต่อมาคือสัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ (การดำเนินชีวิตในขณะปฏิบัติ) จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพลิกซ้าย พลิกขวา ระลึกให้รู้ตัวเสียก่อนค่อยทำ ตัวสั่งให้พลิกซ้าย พลิกขวาเป็นนาม ที่นั่งอยู่ยังไม่พลิกตามสั่งเป็นรูป ถ้าไม่พลิกอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่พลิกตามมันสั่ง มันจะทนไม่ไหว มันทุกข์ มันเกิดขึ้น มันจึงสั่งให้เปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อบรรเทาทุกข์ ให้เห็นผู้สั่งเป็นนาม ส่วนผู้ทำตามเป็นรูปตลอดไปในอิริยาบถทั้ง ๔ ฝึกสติด้วยสติสัมปชัญญะฝึกสติให้แก่กล้า หรือเดินจงกรมให้ห่างกัน ให้มันขาดกัน ให้ไหวกับนิ่งมันขาดกัน เวลาเดินให้อิริยาบถทั้ง ๔ มันขาดกัน ทำให้ขาดกันในจังหวะต่างๆ เริ่มตั้งแต่อิริยาบถใหญ่ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไห้ขาดกัน อิริยาบถกลาง คือ คู้ เหยียด เคลื่อน ไหว ก็ให้ไหวกับนิ่งมันขาดกัน อิริยาบถย่อย หลับตา ลืมตา ส่ายตากระพริบตา ก็ให้มันขาดกัน อย่าให้มันต่อเนื่องกัน ให้สันตติความสืบต่อมันขาดกัน เมื่อจังหวะขาดกันแล้ว อารมณ์ที่เกิดทวารทั้ง ๖ กับความคิดก็จะขาดกัน ตัวคิดกับตัวรู้ขาดกัน การเห็นกับการรู้ว่าเห็นเป็นคนละอันกัน การได้ยินเสียงกับการรู้ว่าเสียงก็อันละอันกัน ความรู้สึกกลิ่นกับตัวรู้ว่ามีกลิ่นเกิดขึ้นก็คนละอันกัน รู้สึกรสทางลิ้นกับรู้ว่ามีรสเกิดขึ้นทางลิ้นก็ขาดกัน อาบน้ำรู้สึกเย็น ตัวรู้สึกเย็นกับรู้ว่ามีเย็นเกิดขึ้นก็ขาดกัน คิดกับตัวรู้ว่าคิดก็ขาดกัน มันจะขาดกัน อารมณ์ที่เกิดทวารทั้ง ๖ กับตัวรู้เป็นคนละอัน เมื่อขาดกันแล้ว นั่นแหละอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถกลาง อิริยาบถย่อย หลับตา ลืมตา ก็ดูใครสั่งให้หลับ ใครสั่งให้ลืม ใครสั่งให้ดู เห็นผู้สั่งเป็นนาม ผู้ทำตามสั่งเป็นรูป เหตุที่มันสั่งเพราะมันทนไม่ไหว มันทุกข์ จึงเห็นทุกข์ทั้งอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถกลาง อิริยาบถย่อยแล้ว ก็จะเห็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ ก็จะเห็นทุกข์ทางใจ ในชีวิตที่ผ่านมา เวลาโดนด่า โดนตำหนิ ทำไมจึงโกรธ หรือความทุกข์ เวลาได้ยินเสียงเพลง เสียงรำ เสียงดนตรี เสียงยกย่อง ทำไมดีใจ ความดีใจคือความขึ้นลงทางจิตใจ ก็ทุกข์เหมือนกัน ดีใจก็ทุกข์ เสียใจก็ทุกข์ มันเกี่ยวข้องอะไรกับเรา จึงไปโกรธเขา เขาก็ด่าตามเรื่องของเขา เขาก็ร้องรำทำเพลงตามเรื่องของเขา ทำไมไปดีใจ ไปเต้นแร้ง เต้นกา ฟูๆ แฟบๆ จึงเห็นความทุกข์เป็นที่มาแห่งการดีใจ เสียใจ คือมันมีกู มันมีเรา มันมีเราโดนเขาด่า มันมีเรายืนอยู่ นั่งอยู่ ถ้าไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร? ได้ยินเสียงด่าเป็นนามเกิดทางหู เป็นวิญญาณขันธ์ นั่งหรือยืนอยู่ ก็เป็นรูปยืน รูปนั่ง ถ้าเห็นส่วนนี้คือรูป ส่วนนั้นเป็นนาม มันก็ยุติลง มันก็ไม่ดีใจ เสียใจ เพราะเสียงด่า เสียงติ เสียงชม นั่นท่านว่าทุกข์ให้กำหนดรู้ เหตุคือทำให้เกิดทุกข์คือตัวกู ท่านให้ละ นิโรธ ความดับทุกข์ ถ้าไม่ใช่ตัวกู เป็นขันธ์ไหน ในขันธ์ ๕ ก็รูปขันธ์ ถ้าเห็นว่าอันนี้รูปขันธ์ อันนั้นวิญญาณขันธ์ มันก็ไม่นึกว่าเป็นกู ที่จริงอันนั้นมันเป็นวิญญาณขันธ์ อันนั้นมันเป็นรูปขันธ์ นิโรธ คือความดับทุกข์ ท่านให้ทำให้แจ้ง มรรคคือสัมมาทิฏฐิทำให้มันเจริญมากขึ้น ให้สัมมาทิฏฐิความเห็นแจ้งมันเจริญ เมื่อสัมมาทิฏฐิมันเจริญมันก็รู้แจ้ง รู้แจ้งการได้ยินเสียงด่า ติ ชม เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นโสตวิญญาณ นั่ง ยืน เดิน นอนเป็นรูปขันธ์ เป็นรูปธรรม เมื่อรู้แจ้งมันก็วาง วางตัวกู เมื่อมันวางแล้ว ทุกข์ก็หายไป ความดีใจ ความเสียใจ ก็ไม่มี ดับไป ทุกข์ก็ดับไป ทุกข์มี เพราะอุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นกูนั้น มีอยู่ อุปาทานขันธ์มี เพราะไม่รู้แจ้ง ไม่รู้แจ้งเพราะมรรค ๘ ไม่เจริญ ทีนี้เมื่อมรรค ๘ เจริญก็รู้แจ้ง เมื่อรู้แจ้ง ก็หมดอุปาทาน เมื่ออุปาทานไม่มี ทุกข์จะมาเกิดได้ที่ไหน? ทุกข์จึงดับ เพราะแจ่มแจ้งในอริยสัจ ๔ ในจำนวน ๕ คนที่ฟังอยู่นั้น รู้อริยสัจ ๔ องค์เดียว คือท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห้นธรรม เห้นทุกข์ เห้นที่มาแห่งความทุกข์ นิโรธ คือความดับทุกข์ ได้ทำให้แจ้งในขันธ์ ๕ มรรค คือสัมมาทิฏฐิให้เจริญขึ้น ทุกข์ได้กำหนดรู้ เหตุเกิดทุกข์ท่านได้ละ นิโรธความดับทุกข์ท่านทำให้แจ้ง ท่านได้เจริญมรรคมีองค์ ๘ มีคนเดียวคือท่านอัญญาโกณฑัญญะ ส่วนอีก ๔ คน ยังเห็นเป็นกู เป้นกูอยู่ ยังไม่บรรลุธรรม เมื่ออัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าก้ทรงทราบจึงเปล่งอุทานว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ ๆ ท่านโกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอๆ” เรารู้จักรูปนาม ไตรลักษณ์ อริยสัจ ๔ ก็รู้ตามแล้วหนอ พระองค์จึงทรงเปล่งอุทานขึ้น ในขณะนั้นเอง พวกภุมมะเทวดา คือเทวดาที่อยู่ตามภาคพื้นดินต่างๆ ก็แซ่ซ้องสาธุการเสียงดังกึกก้องจากแผ่นดินขึ้นไปบนอากาศ พวกอากาศเทวดา คือเทวดาที่อาศัยอยู่ในอากาศได้ยินเสียงกึกก้องจนถึงชั้นจาตุมหาราชิกาจนกระทั่งขึ้นไปในสวรรค์ ๖ ชั้น สูงขึ้นไปจนถึงพรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น เสียงดังขึ้นไปตามลำดับ พวกรูปพรหม อรูปพรหม ที่สำคัญว่าตนเองอยู่ในปีติสุข เอกัคคตาเป็นอารมณ์ เข้าใจว่านั่นเป็นนิพพานแล้ว แต่ครั้นพอได้ยินพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสูตร ก็เกิดการหวั่นไหวว่าตนยังไม่นิพพานจริง เกิดความสะทกสะท้านหวั่นไหว โลกธาตุก็เกิดหวั่นไหว กามโลกหวั่นไหว รูปโลก รูปพรหมหวั่นไหว โลกธาตุทั้ง ๓ จึงหวั่นไหว เพราะพระพุทธองค์ทรงยังธรรมคือจักรให้เป็นไป ไม่มี เทวดา มาร พรหม พวกไหน จะต่อต้าน คัดค้าน ว่าไม่จริง ไม่มีใครคัดค้านได้ เทวดาก็คัดค้านไม่ได้ พวกมารก็คัดค้านไม่ได้ พวกพรหมก็คัดค้านไม่ได้ ท่านจึงว่าธรรมจักรอันประเสริฐ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทำให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเทวดา มาร พรหมจะให้เป็นต่อได้ ก็เกิดขึ้นโดยอาการอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้ การแสดงธรรมในวันเพ็ญเดือน ๘ นี้ คนฟัง ๕ คน บรรลุมรรคผลเพียงคนเดียว คือพระอัญญาโกฑัญญะ เป็นพระโสดาบันองค์แรก เกิดขึ้นแล้วในโลก ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เป็นสักขีพยานให้ทรงทราบว่า พระองค์ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เป้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถแสดงธรรมให้คนอื่นรู้ตามได้ สามารถจะตั้งศาสนาได้ ด้วยเหตุนั้น ในการกล่าวธรรมิกถาสำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ จึงกล่าวเรื่องปฐมเทศนา คือการแสดงธรรมกัณฑ์แรก แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเทวดา มาร พรหม ไม่สามารถ จะโต้แย้ง คัดค้านได้ จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้ ในที่สุดขออนุโมทนาสาธุการในการตั้งใจฟังของทุกท่าน จงเป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด ทำให้แจ้งในปฐมเทศนา จนสามารถยกตนออกจากทุกข์ได้เหมือนท่านอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุถึงบรมวุขคือ อมตมหานิพพาน อันหาอุปทานในขันธ์ ๕ไม่ได้ โดยทั่วหน้ากัน ดังเทศนามา เอวัง ก็มีด้วยประกาฉะนี้
.........
(ข้าพเจ้าได้นำเทศนาของท่านหลวงปู่ใหญ่มาลงด้วยเหตุผล ๓ ประการคือ
๑. เพื่อเทิดทูนบูรพาจารย์ผู้มีปัญญาแตกฉานในธรรมอันสุขุมลุ่มลึก และเป็นผู้ปฏิบัติตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ๒. เพื่อให้หลักการปฏิบัติที่ข้าพเจ้าบรรยายมาเบื้องต้นได้ระเอียดสมบูรณ์ขึ้น ด้วยธรรมเทศนาของครูอาจารย์ช่วยเสริม ๓. เพื่อยืนยันว่า ที่ข้าพเข้าอธิบายมาแต่ต้น ข้าเจ้าไม่ใช่ผ่าเหล่าเข้าใจนึกเอาเอง แต่มีแบบแผนเดินตามรอยครูอาจารย์ผู้เป็นพระปฏิบัติอย่างเที่ยงตรง หากจะกล่าวว่าในชีวิตข้าพเจ้าจะเชื่อว่าพระอรหันต์มีจริง ข้าพเจ้าก็สรูปว่า หลวงพ่อพระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (บุญส่ง โกวิโท) และหลวงปู่แก้ว จกฺกวโร ลูกศิษย์ท่านนี้แหละ แต่ท่านเป้หรือเปล่าข้าพเจ้าก็ไม่รู้ เพราะท่านก็ไม่เคยบอกว่าท่านเป็นอะไร นอกจากรูปกับนาม ที่เป็นไปตามธรรมชาติ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
๕.อานาปานสติกรรมฐาน
ถ้าพูดถึงการทำสมาธิภาวนา การเจริญอานาปานสติกรรมฐาน หรือที่เรียกกันเพื่อความเข้าใจง่ายๆว่านั่งดูลมหายใจ การดูลมหายใจเข้าออกเป็นกรรมฐานที่คนไทยหรือชาวพุทธทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเถราวาทหรือมหายานต่างก็คุ้นเคยกันอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่สอนกันมากกว่ากรรมฐานอย่างอื่น เพราะอะไร ? เพราะอานาปานสตินั้นฝึกง่าย เพียงแค่เอาสติไปจับที่ลมหายใจเข้าออก ทำไปเรื่อยๆก็สงบ แต่ที่ว่าง่ายๆกับน้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้านั่นคือ การเป็นผู้รู้แจ้งและปล่อยวางในตัณหาและทิฏฐิได้ในที่สุด แต่บางครั้งผู้ฝึกกับลุ่มหลงมีอัตตาตัวตนมากกว่าตอนที่ยังไม่ได้ฝึกอีก ทำไม? นั่นเพราะว่าขาดครูอาจารย์ที่คอยแนะนำได้อย่างถูกต้อง หรือขาดตำราที่คอยชี้แนวทาง แผนที่นั่นเอง เรียกว่าปริยัติไม่อุดม ปฏิบัติย่อมไม่สมบูรณ์ และย่อมออกนอกเส้นทาง บางคนก็อาศัยอานาปานสตินี้แหละบรรลุมรรคผลได้ นั่นเพราะอะไร? เพราะได้กัลลยาณมิตรคอยแนะนำ จึงเกิดสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ทำอย่างถูกต้อง ไม่หลงเป้าหมาย จึงถึงความสำเร็จ ถ้าบอกว่าอานาปานสติเลย คนไทยก็มักจะไม่คุ้นเคยสักเท่าไร เพราะเรามักจะเรียกกันง่ายๆว่านั่งภาวนา อย่างสมัยก่อนๆคนโบราณเวลาไปวัดถือศีลอุโบสถในพรรษา พระเจ้าอาวาสหรือพระเถระก็จะพานั่งดูลมหายใจเข้าออก แต่จะเอากันง่ายๆไม่มีพิธีรีตองหรือสอนกันมากนัก ก็จะให้ภาวนากันง่ายๆเลย เช่น พุทโธ หรือ สัมมาอะระหัง หรือพองหนอ ยุบหนอ ก็ว่ากันไป หรือจะนั่งดูแค่ลมหายใจเข้าออกโดยไม่ภาวนาอะไรเลยก็มี ทั้งหมดนี้ พวกเราก็จะเรียกรวมกันว่า นั่งภาวนา หรือนั่งวิปัสสนา หลายแห่งหลายที่ก็ประสบความสำเร็จ เกิดเป็นสำนักมีชื่อเสียง มีลูกศิษย์มากมาย เช่น หลวงปู่มั่น ท่านนับเป็นแบบอย่างที่ดีแกผู้ใฝ่ปฏิบัติในรุ่นหลังพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต นับเป็นพระที่หาได้ยาก ถ้าเราสังเกตจากประวัติของท่านเราจะพบว่าไม่ว่าท่านจะใช้อุบายสอนแบบไหน ท่านก็จะยังคงอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นกัลลยาณมิตรต่อบรรดาศิษย์การสอนของท่านจึงประสบผลสำเร็จอย่างนี้เป็นต้น แต่บางแห่งกับแห้งแล้งเหือดหายสลายไปในที่สุด หรือบางที่ก็เป็นเกจิอาจารย์ขลังไปเลย ทำไมนั่งภาวนาเหมือนกันแต่ผลหรือความเห็นต่างกัน บางที่ก็ถึงกับยืนอยู่คนละฟากฝั่งทางความคิด เกิดสำนักมากมาย บ้างก็โจมตีกัน ของเราถูก ของเขาผิด เกิดอัตตาตัวตน อาจารย์กู อาจารย์มึง สำนักกู สำนักมึง สาเหตุเหล่านี้เพราะอะไร ถ้าจะมองในแง่ของวิชาการก็จะมีมากมายหลายเหตุผล หลายประการ ดังนั้นข้าพเจ้าจะสรูปตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังพุทธดำรัสตรัสกับสาวกคนสุดท้ายในคราวจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า ถ้าสำนักได ลัทธิได อาจารย์ได ศาสนาได ไม่สอนด้วยทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการแล้ว ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ เหมือนรอยเท้านกในอากาศฉะนั้น (ที่ ๑ พระโสดาบัน ๒ พระสกิทาคามี ๓ พระอนาคามี ๔ พระอรหันต์) หากสำนักได ฯลฯ สอนด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วไซร้ ย่อมมีสมณะที่ ๑ -๔ เป็นแน่แท้ การปฏิบัติที่ผิดจากแนวภาวนา หลงสู่มิจฉาสมาธิ นั่นก็เพราะไม่เดินตามอริยมรรค คือ มรรค ๘ นั่นเอง มรรค ๘ มีอะไรบ้าง (ข้าพเจ้าขอคัดลอกจากหนังสือวิปัสสนากรรมฐานที่ข้าพเจ้าเขียนไว้เล่มที่ ๑ ว่าด้วยมรรค ๘ มาพอเป็นที่เข้าใจ) อานาปานสติคืออะไร? อานาปานสติ มาจากคำว่า อานะ = ลมหายใจออก อุทาหรณ์ว่า ทีฆํ วา อสฺสนฺโต ทีฆํ อสฺสสามีติ ปชานาติ เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว ปานะ = ลมหายใจเข้า อุทาหรณ์ว่า ทีฆํ วา ปสฺสนโต ทีฆํ ปสฺสสามีติ ปชานาติ เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว สติ คามระลึกได้ อุทาหรณ์ ว่า สรตีติ สติ ธรรมชาติใด ย่อมระลึก เห็นนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า สติ (ชื่อว่าผู้ระลึก) อานาปานสติ ก็คือ การมีสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง จากความหมายข้างบนนี้เราก็จะเห็นแล้วว่า ไม่มีคำภาวนา หรือคำพูดที่เข้าไปแทรกแซงการหายใจเลย ที่ว่าพุทโธ หรือ สัมมาอรหัง ก็ล้วนเป็นอุบายอันชาญฉลาดของครูอาจารย์รุ่นก่อนท่านนำมาสอนลูกศิษย์ในเบื้องต้นเท่านั้น พอได้สมาธิในระดับหนึ่งแล้วท่านก็จะค่อยๆอธิบาย ขันธ์ ๕ และธรรมอื่นๆยิ่งๆขึ้นไป เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์เข้าใจว่า ชีวิตคืออะไร? ชีวิตเป็นอย่างไร? ควรจะให้ชีวิตเป็นไปอย่างไร? ด้วยวิธีการอย่างไร? ท้ายสุดท่านอาจารย์ผู้เป็นกัลลยาณมิตรเหล่านั้นท่านก็จะนำกลับมาสู่หัวใจพระพุทธศาสนานั่นคือ อริยสัจจ์ ๔ นั่นเอง ต่อไปนี้เราจะมาทำความรู้จักอานาปานสติกันว่าอานาปานสตินั้น ปฏิบัติอย่างไร ให้ผลอย่างไร เป็นลำดับไป
วิธีเจริญอานาปานสติ
ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ข้าพเจ้ากล้าพูดได้ว่ามีแต่อานาปานสติเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงขั้นตอนของพิธีกรรมคือเตรียมทั้งสถานที่ ท่านั่ง เทคนิควิธีการ ข้ออื่นๆทำได้เลยไม่ต้องมีขั้นตอนไดๆ ดังที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้เล่มแรก ในบทที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องสติปัฏฐานสี่ เราจะเห็นว่าในหมวดกายานุปัฏฐานนั้น ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และในข้อ เวทนา จิตตา หรือ ธัมมาก็เหมือนกัน เป็นการปฏิบัติได้ตลอดเวลา แต่สำหรับอานาปานสติกับมีขั้นตอนวิธีการที่ชัดเจน ดังที่ปรากฏในอานาปานสติสูตรว่า (พุทธดำรัส) สถานที่ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี วิธีนั่ง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า
เทคนิควิธีการ ๑. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาวหรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว ๒. เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น ๓. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักกำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า ๔. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเราจักระงับกายสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับกายกายสังขารหายใจออก ๕. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ปีติหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า ๖. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้สุขหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า ๗. สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า ๘. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า ๙. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า ๑๐. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า ๑๑. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า ๑๒. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า ๑๓. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความไม่เที่ยงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราตามพิจารณาความไม่เที่ยงหายใจเข้า ๑๔. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความคลายกำหนัดหายใจออก เราจักพิจารณาหายใจเข้า ๑๕. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความดับกิเลสหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักตามพิจารณาความดับกิเลสหายใจเข้า ๑๖. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาสละคืนกิเลสหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความสละคืนกิเลสหายใจเข้า (จบพุทธดำรัส)
จากพุทธดำรัส เราจะเห็นว่าสำหรับอานาปานสตินั้น อันดับแรกพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสถานที่ เราอย่าได้มองข้ามสิ่งอันละเล็กละน้อย ต้องเข้าใจว่า พระดำรัส(คำพูด) ของพระพุทธเจ้านั้นสำคัญทุกคำ ยิ่งพระองค์ตรัสไว้ต้นๆเลย แสดงว่าสำคัญมาก การทำสมาธิต้องมีบริกรรมๆไม่ได้หมายถึงคำพูดบริกรรม หมายถึงการเตรียมตัวนั่นเอง การเตรียมตัวเริ่มตั้งแต่สถานที่ คำว่า อยู่ในป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดี ตรงนี้เราจะเห็นว่าพระองค์ทรงมุ่งหมายสถานที่สงัด ปราศจากสิ่งรบกวน เช่นในป่า ตามโคนต้นไม้ ก็เป็นสถานที่สงบไม่พลุกพล่านเหมือนในเมืองหรือบ้านคน เวลาอยู่ป่าคนเดียวก็ไม่กังวลว่าใครจะมารบกวน หรือเรือนว่าง หมายถึงห้องที่เหมาะสม กุฏิ วิหาร ที่ไม่มีเครื่องรบกวนไดๆ ถ้าเป็นบ้านเราสมัยนี้ ห้องพระน่าจะเหมาะ เพราะไม่มีเครื่องเสียง หรือทีวี รบกวน เป็นห้องที่เราทำไว้สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิอยู่แล้ว เพราะอะไร? เพราะการทำอานาปานสติ มีความเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาหากคลาดเคลื่อนจากขั้นตอนเพียงนิดเดียว เช่นลืมสติเพราะสมาธิมาก ในระหว่างจิตที่กำลังจะเชื่อมต่อระหว่างอุปจาระสมาธิกับอัปปันนาสมาธิถือว่าอันตรายมากสำหรับผู้ฝึกใหม่ๆ หรือฝึกเองโดยไม่มีครูอาจารย์คอยแนะนำ เพราะเวลานั้นถ้าเกิดสิ่งไม่คาดคิด มีคนมาทำให้ตกใจ บางคนก็สมาธิแตกไปเลย หรืออาจเป็นโรคหัวใจง่ายๆถ้าโดนบ่อยๆเข้า (ตัวอย่างเช่นสมาธิแบธรรมดา เรากำลังคิดเพลินๆมีคนมาแกล้งส่งเสียงดังข้างหูเรา เราจะตกใจทันที) อย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาว่า คนนั้นคนนี้บ้า สติแตกเพราะไปฝึกกรรมฐานมา อันที่จริงถ้าทำถูกตามขั้นตอนคือมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลามันก็ไม่เป็นหรอก หรือมีครูอาจารย์คอยแนะนำก็ไม่เป็นบ้าหรอก ที่สำคัญอย่าดันเก่งเกินพระพุทธเจ้าคือ คิดเอง ทำเอง สรูปเอง จึงเกิดพ่อมด หมอผี คนทรงต่างๆ เพราะมานั่งสมาธินี่แหละ จึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาให้ดี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงวางหลักปริยัติไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เรียนให้เข้าใจ สอบถามจนหายสงใจ ไร้ข้อกังวล ลงมือปฏิบัติ คอยตรวจตราประเมินผลตามที่ศึกษามาเรียกว่าเดินตามแผนที่อย่านอกเส้นทาง ถึงเป้าหมาย ปฏิเวธ สรูปว่าอันดับแรกสถานที่ต้องเหมาะสมที่จะทำอานาปานสติ คือนั่งสมาธิ นั่นเอง อย่าละเลยความสำคัญอันนี้ ถ้าเป็นกรรมฐานข้ออื่นก็ไม่จำเป็น เช่น หมวดสัมปชัญญะในสติปัฏฐานสูตร ทำได้ทุกที่ทุกเวลาแม้กระทั่งตอนเข้าห้องน้ำ ดังความตอนหนึ่งว่า ภิกษุพึงมีสัมปชัญญะในการอุจจาระ ปัสสาวะ อย่างนี้เป็นต้น วิธีนั่ง ปัจจุบันมีคนหลายคนมักง่าย หรือครูอาจารย์หลายๆคน มักพูดง่ายๆว่านั่งสมาธินั่งท่าไหนก็ได้ บนเก้าอี้ หรือยืน นอน เดิน ก็กำหนดลมหายใจเข้าออก อันนี้ก็ไม่เถียงดอก ไม่ผิดหรอกหากว่า จะทำสมาธิแค่นิดๆหน่อยๆ พอให้ใจสงบบ้าง เพื่อพักผ่อนสมอง เช่นเวลานั่งทำงานนานๆมันเครียด ก็เอนหลังบนเก้าอี้หลับตาเบาๆแล้วดูลมหายใจ เพื่อให้สงบคลายเครียด นั่นนับเป็นวิธีการที่ดีเลยทีเดียว แต่อย่าเหมาเอารวมกันกับอานาปานสติกรรมฐานในข้อนี้ เพราะในข้อนี้หมายถึงการฝึกกรรมฐานกับลมหายใจเพื่อลดละกิเลส ถอนตัณหาทิฏฐิซึ่งนอนเนื่องในสันดานของเราทั้งหลายที่ติดมากับเราไม่รู้กี่แสนกี่ล้านชาติ เพราะฉะนั้นจะทำง่ายๆไม่ได้ การนั่งแบบคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง คือนั่งแบบคู้ขาเข้ามาทั้งสองข้าง ไม่ได้หมายถึงขาขวาทับขาซ้ายดังที่เข้าใจ ตั้งกายตรง นี่ก็สำคัญ เพราะพระพุทธเจ้าต้องการให้นั่งได้นานและไม่เสียสุขภาพ เนื่องด้วยการนั่งแบบคู้บัลลังก์จั้งกายตรงนั้นเลือดลมไหลเวียนสะดวก ระบบประสาททำงานได้ดีไม่ติดขัด เพราะในร่างกายเราเลือดลมไหลเวียนอยู่ตลอด ลมหายใจก็ไม่ติดขัด พูดตรงๆถ้าจะนั่งก็ให้มันถูกต้องกับระบบทางร่างกายที่ไม่ติดขัดนั่นเอง และนั่งแบบนี้ได้สมาธิง่าย อย่าเงยหน้า เอียงคอด้านซ้ายด้านขวา หรือก้มหน้าจนปวดคอ ตั้งตรงทั้งคอและลำตัว (ยกเว้นคนพิการ หรือหลังค่อม) หลับตาพอเบาๆสบายๆคล้ายกับตอนเรานอน หรือลืมตาก็ได้ตามแต่ถนัด แต่ถ้าลืมตาควรทอดสายตาพอประมาณ ไม่ควนเกิน ๒ วา เมื่อนั่งแล้วก็ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม กำหนดรูปนามให้เข้าใจ ที่นั่งเป็นแท่งอยู่นี่คือรูป (ร่างกาย) ที่รู้ว่านั่งนั่นคือนาม (ใจ) แล้วก็เข้าสู่ลำดับการเตรียมต่อมาคือ ดำรงสติเฉพาะหน้า คำว่าดำรงสติเฉพาะหน้า หมายความว่า ขณะนี้ เวลานี้ ตรงหน้านี้ คือปัจจุบันธรรมนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็กำหนดที่ตรงหน้านี้ คิดเรื่องอดีต อนาคต หรือรู้สึกอะไร ไม่ว่าจะรักจะชัง จะเหงา จะเศร้า ฯลฯ ก็ให้มันรู้อยู่ตรงหน้านี้ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ว่าที่นั่งหายใจเข้าใจออกอยู่นี้คือรูป ที่รู้ว่านั่งว่าหายใจนั่นคือนาม เอาสติความระลึกกำหนดเป้าหมายที่ลมหายใจ และต้องมีสัมปชัญญะความรู้ตัวคอยตรวจตาว่าจิตคิดอะไรบ้าง คือทั้งกายทั้งจิตเป็นไปพร้อมกัน คือให้เป็นปัจจุบัน นี่คือความหมายว่า ดำรงสติจำเพาะหน้า
เมื่อบริกรรม คือกิจเบื้องต้น ได้แก่การเตรียมทุกอย่างทั้งกายใจเรียบร้อยแล้วเราก็มาเริ่มสู่ขั้นตอนการฝึกอานาปานสติกันเป็นลำดับไป
๑.เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาวหรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
ในข้อแรกนี้ง่ายๆคือเริ่มจากลมหายใจยาว ไม่ว่ามันจะเข้าจะออกเราก็กำหนดสติตามรู้ ตามดูไปเรื่อยๆ หมายความว่าแค่ดูมันเข้ามันออก ดูที่ปลายจมูกนี่ ไม่ต้องถึงกับตามดูมันผ่านลำคอ ผ่านท้องไปอันนั้นจะลำบากไป และจะเป็นการเพ่งไปเสีย และอาจทำให้หงุดหงิด หรือฟุ้งซ่านเร็ว สำหรับผู้เขียนเวลาทำอานาปานสติพอเริ่มต้น จะหายใจยาวๆเข้าออกสัก ร้อยครั้ง เพื่อเคลียลมให้หายใจสะดวก จากนั้นก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ ตรงนี้ค่อยนับเป็นการเริ่มต้น พอเราตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบอกว่าให้รู้ชัด คือเห็นลมอย่างชัดเจน แล้วเราจะพบว่าลมหายใจจากที่มันยาวมันจะค่อยๆสั้นลงๆเรื่อยๆ จนเราเห็นอย่างชัดเจนว่ามันสั้นจริงๆ เราค่อยกำหนดข้อต่อมาคือ
๒.เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
ในข้อนี้เราจะพบว่าเมื่อลมหายใจสั้นนั้น มันจะเป็นลักษณะเบาบาง แวบๆ พอนานๆเข้ามันก็จะเริ่มเปลี่ยนกลับไปยาว บางทีก็เหมือนถอนหายใจ เฮือกๆๆ อยู่ นั่นคือความบีบคั้นของลม มันเป็นทุกข์ ต่อมามันก็จะเปลี่ยนระหว่างยาวกับสั้นเร็วขึ้น เราก็ต้องกำหนดรู้มีสติตามดูรู้ทันกับลมหายใจ ไม่ว่ายาวหรือสั้น อุปมา เหมือนนายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ฉลาด เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงสั้น
จากตรงนี้ เราจะพบเคล็ดลับสำคัญว่า เวลาเขาดึงเชือก เขาจะมีสติที่เชือก แต่ไม่ใช่จับจ้องที่เชือก หรือถังที่ใช้เชือกชักขึ้นชักลง อธิบายง่ายๆคืออย่าไปเพ่งจ้องเชือก แต่ให้มีสติอยู่กับการชักขึ้น ชักลงของเชือก การดูลมหายใจเหมือนกันแค่มีสติดู อย่าเพ่งจ้องมัน หรือเข้าไปแทรกแซงมัน อย่าบังคับมัน เหมือนเรานั่งดูคนเดินเข้าและออกประตู เราอย่าไปบังคับคนเข้าคนออกเพราะเป็นทุกข์ แค่ดูว่าใครจะเข้าจะออก ช่างมัน ดังนั้นลมหายใจเช่นกัน ตามดู แต่อย่าเพ่งหรือจับจ้อง จนหน้านิ่วคิ้วขมวด แล้วก็ยกขึ้นสู่ข้อที่ ๓ ต่อไป ๓.สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักกำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า ตรงนี้ แตกต่างจากข้อ ๑-๒ ตรงที่มีคำว่าสำเหนียก แทนคำว่ารู้ชัด ภาษาบาลีว่า ปะชานาติ แปลว่า รู้ชัด สิกขะติ สำเหนียก (สังเกต ศึกษา หรือพิจารณา) มาข้อนี้สัมปชัญญะจะเริ่มทำงานมาก กว่าสติ (อายตะ คือตัวทำงาน จิตคือตัวสั่งงาน สติ คือตัวคุมงาน สัมปชัญญะคือตัวตรวจงาน) ในข้อนี้ทำอย่างไร พอมาปฏิบัติถึงตรงนี้ เราจะพบว่ากายลมหรือกองลมทั้งหมดในร่างกายเรามันจะมีอยู่ทั่วร่างกาย บางคราวจึงรู้สึกเหมือนสะบั้นตัว หรือขนลุกบ้าง บางทีก็เหมือนตัวไรเล็กๆไต่ตามเนื้อตัว บางทีก็จะเอนกาย โยกซ้าย-ขวา หรือตัวหมุน นั่นล้วนเป็นอาการของลม ที่มันกำลังจะสงบระงับ บางครั้งก็ระเอียดมากจนเหมือนกับไม่ได้หายใจ นี่เราก็ต้องกำหนดรู้ แล้วมันก็จะไหลเข้าสู่ข้อต่อไป ๔.สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับกายกายสังขารหายใจเข้า ทั้งข้อ ๓ ข้อ ๔ นี้จะเป็นไปโดยติดต่อกัน เหมือนเราหิวข้าวมานั่งทานข้าวพอกินมาเรื่อยๆพอความอิ่มเกิดขึ้น ความหิวก็ดับไป คือพอเรากำหนดกองลมทั้งปวงสติเป็นไปโดยติดต่อไม่ขาดสาย กายก็จะระงับลง เมื่อกายระงับ ปีติก็จะเกิดขึ้น ๕. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ปีติหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเรา จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า เมื่อเรากำหนดสติลมหายใจมาถึงตรงนี้ปีติก็จะเกิดขึ้น ตรงนี้ระวังให้ดี เพราะถ้าศึกษาไม่ดี หรือไม่มีครูอาจารย์คอยแนะนำก็อาจจะบ้าหรือจิตวิปลาสได้ เพราะบางคนปีติแรงมาก เช่นเกิดขนลุกชูชัน ขนพองสยองเกล้า บางคนเข้าใจผิดนึกว่ากำลังเจอภูตผีปีศาจ หรือเทวดาอินทร์พรหมมาแสดงฤทธิ์ บางคนก็เห็นตัวเองเล็กลงเท่ากำปั้น หรือใหญ่ขึ้นเท่าศาลาก็มี บางทีก็เห็นลำตัวขาดไปก็มี หรือตัวเบาราวกะจะเหาะได้บางท่านเคยเผลอโดดกุฏิก็มี หรือบางทานนั่งๆไปก็เหมือนลำตัวหายไป บางคนก็ร้องให้สะอึกสะอื้นราวกับเสียอกเสียใจอย่างจะขาดใจตาย สรูปว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เพียงสังเกตพิจารณาดูแค่นั้น คือต้องมีสติที่ลมหายใจ และสัมปชัญญะคอยตรวจอาการปีติต่างๆที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า เมื่อปีติจางคลายหายไปก็เป็นข้อลำดับต่อมาที่เราจะต้องทำการสังเกตต่อไป ๖. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้สุขหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้สุข หายใจเข้า เมื่อปีติจางคลายหายไป ความสุขก็จะเกิดขึ้น ความสุขตรงนี้จะเป็นความสุขที่ประณีต สุขุมลุ่มลึก เป็นความสุขที่ไม่เจืออามิส (กามคุณ ๕) มีเงินเป็นล้านก็ซื้อหาไม่ได้ เป็นความสุขที่แผ่ซ่านไปทั่วสรีระรวมทั้งกายทั้งใจ เป็นความสุขที่มนุษย์ทั่วไปใช่ว่าจะเสพสุขได้ง่ายๆ นอกจากการปฏิบัติธรรมเท่านั้น ตรงนี้ก็ต้องระหวังจะหลงติดกับเข้าอย่างจัง เพราะอาจเข้าใจว่านี่เป็นผลสำเร็จของกรรมฐาน จึงมีหลายคนที่เผลอหลงติดอยู่ตรงนี้ อย่าลืมคำว่าสำเหนียก คือไม่ว่ามันจะสุขแค่ไหนเราก็แค่สังเกตศึกษาดู แล้วก็ผ่านไปเพราะนี่เป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น ทำอย่างไร ตรงนี้ผู้คุมทำงานน้อย ผู้ตรวจจะทำงานอย่างหนัก หมายความว่า ในอานาปานสตินั้น ไม่ว่าจะมาถึงขั้นไหนสติอย่าทิ้งลมหายใจ เทคนิควิธีการมีอยู่คือเอาสติจับที่ลมหายใจพอเบาๆ รู้การหายใจเข้าหายใจออก พร้อมกับความสุขที่เกิด แล้วอะไรล่ะที่รู้สุข นั่นคือสัมปชัญญะจะคอยรู้ คอยดูความสุข พิจารณาตรงนี้ก็จะเห็นว่า รูป-นาม ก็เป็นไปพร้อมกัน สติตามลมหายใจไม่ขาดสายนั่นคือเห็นรูป สัมปชัญญะรู้สุขในขณะที่หายใจเข้าออกนั่นคือรู้นาม ความสุขก็เป็นนาม แล้วก็กำหนดสติไปเรื่อยๆอย่าหยุด แล้วความสุขก็จะจางคลายลงแล้วก็เป็นธรรมข้อต่อไป ๗.สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า เมื่อมาถึงตรงนี้จิตจะเกิดเมตตาและกรุณาและมุทิตาอย่างมากมายมหาศาลชนิดที่ในชีวิตไม่เคยมีมาก่อน อยากให้คนทั้งโลกมาปฏิบัติธรรม อยากให้เกิดสันติสุขแก่ครอบครัว หมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ ทั้งโลก อยากทำบุญทำทาน อยากสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สารพัดตรงนี้แหละคนเผลอทำบุญจนหมดตัว พอสติกลับคืนกลับกลายเป็นหนี้เป็นสิน เพราะทำในขณะที่สติหายเพราะหลงนึกว่าตัวเองสำเร็จแล้ว เรียกว่ามีพรหมวิหารยังไม่ครบนั่นเองนั่นคือ ยังขาดอุเบกขาอยู่ เพราะการทำบุญต้องประกอบพร้อมกันระหว่างสัทธา และปัญญา จิตจึงจะผ่องใสไม่หวนมาขุ่นมัวเมื่อมีอกุศลธรรมอย่างอื่นมากระทบบางคนฟุ้งจนคุมไม่ได้ สังขารมันปรุงอยากเทศน์ อยากแสดงธรรมเรื่อยไป อยากสอนธรรมแก่คนนั้น คนนี้ ในข้อนี้ก็เช่นกันต้องมีสติกับลมหายใจ และสัมปชัญญะคอยสังเกตจิตไปเรื่อยๆ อย่างแยบคายใกล้ชิด กำหนดรูป-นามไปเรื่อยด้วยสติสัมปชัญญะก็จะข้ามขึ้นไปข้อต่อไป ๘. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า มาถึงตรงนี้เราต้องระงับจิตคือวางเฉยกับจิตที่กว้างอย่างนั้น คือจิตที่มันเป็นเมตตาอย่างไพศาลนั้นคือให้มันสงบลงเองก่อน ไม่ต้องไปบังคับแทรกแซงแต่อย่างไดเพียงแต่ดูมันไปพร้อมกับลมหายใจเรื่อยๆ ระงับคืออาการที่มันเป็นอยู่ไม่ว่าจะจิตกว้างจิตแคบมันก็จะคอยๆสงบลงตามธรรมชาติของมันเอง เมื่อสงบแล้ว อาการของจิตก็จะก้าวต่อไปสู่ข้อต่อไป ๙. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตหายใจเข้าเมื่อนักปฏิบัติทำสมาธิมาจนถึงตรงนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกิเลส (หลุดชั่วคราว) คือหลุดแบบโลกิยะอยู่ เรียกว่าจิตวิมุตคือ ตะทังคะวิมุต หลุดพ้นชั่วคราว ตรงนี้จะเป็นสภาพธรรมที่ระเอียดประณีตอย่างน่าอัศจรรย์ จะเป็นความสุขยิ่งกว่าตอนที่สุขในข้อที่ ๖ อีก เพราะไม่มีกิเลสตัณหาเจือปน ตรงนี้ต้องตั้งสติให้ดีเพราะเราจะพบพระนิพพานจำลอง จิตจะสว่างโพลงไปทั่วไม่ที่กั้น ไม่มีที่กำหนด ตรงนี้ทำให้นักปฏิบัติหลงผิดคิดเข้าใจว่าตนเองบรรลุอรหันต์ก็มี ดังนั้นก็ใช้หลักการเดิมคือสติตาดูลมหายใจ สัมปชัญญะรู้อาการเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติของมันอีก คือราคะ โทสะ โมหะ เพราะอาศัยผัสสะแห่งอายตนะนั่นเอง จึงต้องก้าวเข้าสู่ข้อต่อมา ๑๐. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า เมื่อจิตคลายจากสมาธิแล้ว ถึงตรงนี้ถ้าไม่ทำความเพียรต่อก็ถือว่าอันตรายทีเดียวเพราะจิตที่เคยถูกกิเลสชักนำมาหลายภพหลายชาติ พอมันถูกกดไว้ด้วยสติทับด้วยสมาธิมาชั่วระยะมันก็จะฟื้นอย่างรวดเร็ว โกรธง่าย หลงง่าย หรือเกิดราคะมากกว่าเดิมอีกชนิดที่เรียกว่าหน้ามืด เราจะพบว่าในอดีตที่คนพูดว่ายิ่งภาวนายิ่งลูกดกอย่างนี้ก็มี ในสมัยก่อนพุทธกาลก็พวกฤษีก็เกิดราคะง่ายเช่นกัน ดังมาในเรื่องของนางสามดีพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายธรรมบท พระราชมารดาของพระเจ้าอุเทน ถูกนกหัสสดีลิงค์นำไปทิ้งไว้กลางป่า ฤๅษีมาพบเข้าและช่วยไว้ อยู่นานเข้าพระเทวีก็กลัวฤษีจะทิ้งเพราะไม่มีสัมพันธ์ไดๆต่อกัน จึงแกล้งนุ่งผ้าหลวมๆ หลุดบ่อยๆต่อหน้าดาบสเข้า ไม่นานก็ตบะแตกก็กลายเป็นผัวเมียกัน อยู่ร่วมกัน ดังนั้นอย่าลืมคำว่า สำเหนียก คือศึกษาพิจารณาอย่างมีสติต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ความพอใจในกาม หรือ พยาบาท ความง่วงหดหู่ ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย อะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องมีสติสัมปชัญญะดูต่อไป เพราะนี่คือทางผ่านเท่านั้น จงก้าวต่อไป (จะมีอธิบายนิวรณ์ในตอนที่๒) พอผ่านมาเรื่อยๆเมื่ออกจากนิวรณ์แล้วคราวนี้จิตก็จะผ่องใสเบิกบาน อุปมาเหมือนคนที่พึ่งหายป่วยกลับมาร่างกายแข็งแรง กินได้นอนหลับ นี่ล่ะที่บอกว่าทำจิตให้ร่าเริง คือไม่ใช่บังคับให้มันร่าเริงเบิกบาน แต่เราใช้สติ ความเพียร สัมปชัญญะ พามันผ่านพ้นด่านนิวรณ์ มาแล้วมันจะร่าเริงเอง เบิกบานเอง
๑๑. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า
เมื่อจิตร่าเริงแล้วเบิกบานแล้ว คราวนี้จิตมันก็ตั้งมั่นนั่นคือสมาธิ จะเป็นความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว พอมาถึงตรงนี้ก็เหมือนเดิม จิตมีสมาธิก็ให้รู้ว่ามีสมาธิ พร้อมกับกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกต่อไป สัมปชัญญะก็รู้สมาธิไป รูปและนามก็จะถูกสติและสัมปชัญญะประคองไป คือมีสัมมาทิฏฐิ คือตัวปัญญานำหน้าเสมอ ไม่มีตัวกูของกูมีแต่รูปนามเท่านั้น
๑.๒ สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า
สำหรับข้อนี้หลายคนอาจสงสัยว่าเปลื้องคืออะไร คือ ถอนออกจากสมาธิที่มีกำลังมาก ทำอย่างไร ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในรูปนามค่อยๆลืมตา ตรงนี้ตัวผู้เขียนเองก็เคยสงสัยไม่เข้าใจเช่นกัน แม้พยายามจะอ่านจากตำราก็ไม่ค่อยเข้าใจ จนได้ไปปฏิบัติเก็บอารมณ์จึงเข้าใจ ที่วัดเนินพระเนา จ.หนองคาย จึงเข้าใจ คำว่าเปลื้องในที่นี้คือคลายจิตออกจาสมาธิ ที่มันตั้งมั่นอย่างแรง หรือเรียกว่าสมาธิมาก เพื่อให้จิตเป็นสมาธิพอดีๆ ควรแก่การงาน แล้วก็ยกขึ้นสู่ปัญญาในข้อต่อไป ข้อต่อไปนี้ตั้งแต่ข้อ ๑๓-๑๖ นับเป็นจุดสำคัญ หรือเป้าหมายการทำสมาธิภาวนา หรืออานาปานสติกรรมฐานเลยที่เดียว
๑๓. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความไม่เที่ยงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราตามพิจารณาความไม่เที่ยงหายใจเข้า หลายต่อหลายคนเคยเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตายว่า สมถะและวิปัสสนาคนละอันกัน คนที่ทำวิปัสสนาไม่จำต้องมีสมถะมาก่อน คนที่ทำสมถะก็จะอ้างว่าต้องทำสมถะก่อนจึงค่อยยกสู่วิปัสสนา ในข้อนี้จะเป็นคำตอบได้ดีที่สุด ถ้าสังเกตให้ดี ตั้งแต่ข้อที่ ๑-๑๒ นั่นแหละสมถะคือยังเป็นขั้นตอนและอาการของสมถะอยู่เพียงแต่ว่า เราใช้เทคนิควิธีการของวิปัสสนาประคับประคองมา จะเรียกว่าวิปัสสนาเลยก็ได้แต่ไม่ทิ้งสมถะเสียทีเดียว หรือที่เรียกกันว่า สมถะอาศัยวิปัสสนา วิปัสสนาอาศัยสมถะ เหมือนตะเกียงกับไฟของตะเกียง ผลที่ได้คือแสงสว่างนั่นเอง ถ้าไม่กำหนดสติรู้รูปนามมาแต่ต้น หรือหลงสติไปกับข้อไดข้อหนึ่ง ก็จะเป็นสมถะทั้งดุ้น คือเป็นแบบสมถะของบรรดานักเลงสมาธิในสมัยก่อนพุทธกาล มุ่งเพื่ออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรือพรหมโลก ไม่ใช่มุ่งหมายเพื่อพระนิพพานคือความพ้นทุกข์ แต่อานาปานสติกรรมฐานตั้งแต่ต้นแม้จะเป็นสมถะในช่วงแรกๆ แต่ก็ใช้เทคนิควิธีการวิปัสสนาล้วนๆ จึงเป็นสมาธิเพื่อความพ้นทุกข์ตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา เอาละคราวนี้เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักพิจารณาความไม่เที่ยงหายใจออก หายใจเข้า เป้นอย่างไร อนิจจัง ความไม่เที่ยง ที่มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เกิดๆดับๆ อยู่กับลมหายใจนี้ ถ้าเราสำเหนียกดีๆ เราจะเห็นว่าเป็นการไหลบ่าของธรรมชาติทั้งนั้น นั่นคือการทำงานของขันธ์ ๕ รูป-นาม นั่นเอง ไม่มีตัวกู ของกูเลย เริ่มตั้งแต่ หายใจยาว หายใจสั้น มันก็เกิดๆดับๆ ต่อมาก็จิตสังขารระงับ ๆดับไปปีติก็เกิด ปีติดับไป สุขเกิด จิตกว้าง จิตแคบ ฟุ้งซ่าน สงบ เกิดๆดับๆอยู่อย่างนี้ ในขณะที่นั่งดูลมหายใจอยู่ เดี๋ยวรู้สึกสุขและทุกข์หรือเฉยๆ นี่ก็เวทนา บ้างก็นึกถึงอดีตที่ผ่านมาเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่เวทนา บ้างก็ก็คิดอดีต อนาคต ปัจจุบัน คิดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือ สังขาร ความคิด หรือไม่ก็ได้ยินเสียง ได้กลิ่น สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง นี่วิญญาณขันธ์ทำงาน รู้สึกตามความคิด จักขุ-โสต-ฆาน-ชิวหา-กาย-มโนวิญญาณ เราจะเห็นว่ามีแต่รูปและนามเท่านั้นที่เกิดดับๆ อยู่อย่างนี้ เมื่อเราเห็นอนิจจังอย่างนี้แล้ว สิ่งที่จะเห็นติดตามมาโดยอัตตะโนมติคือ ทุกขัง อนัตตา อย่างไร เมื่อเราเห็นที่มันเกิดดับๆอย่างนี้ เพราะทุกข์บีบคั้นทั้งนั่น คือมันทนกับอะไรนานๆไม่ได้ เช่นการกระพริบตา ก็เพราะทุกข์บีบคั้นทั้งนั้น หรือนั่งไปเหน็บชาเกิดขึ้นเราก็ต้องเปลี่ยนท่านั่ง นั่นก็เพราะมันเกิดทุกข์ นั่นเอง พอเราเห็นอย่างนี้แล้ว คือเห็น อนิจจังและทุกขังแล้ว เราจะเข้าใจว่า มันเป็นอนัตตา คือมันเป็นของมันเอง ไม่มีใครบังคับบัญชามั่นได้ เป็นไปตามธรรมดาของมันเอง ตามเหตุตามปัจจัย นี่เรียกว่าสำเหนียกพิจารณาอยู่อย่างนี้ ในขณะที่มีสติอยู่กับลมหายใจออกหายใจเข้า เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วเราก็จะต้องปล่อยวางในขันธ์ทั้งปวงนั่นคือกิจข้อต่อมา ๑๔. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความคลายกำหนัดหายใจออก เราจักพิจารณาหายใจเข้า เมื่อทำอานาปานสติมาถึงขั้นนี้ ศึกษาสังเกตพิจารณาจนเห็นไตรลักษณ์แล้ว ก็ต้องอาศัยพลังสติสมาธิ ปล่อยวางกับรูปนาม คือคลายความกำหนัด คือความรักความหลงยึดมั่นถือมั่น ในรูปนามอันนี้ คือถอนจากความเป็นตัวกูของกูนั่นเอง เห็นกายก็เพียงกาย (ที่ต้องแก่ เจ็บ ตายไป เห็นลมก็เพียงกาย มีเกิดก็ต้องมีดับสักวันเหมือนกัน) นามธรรม เมื่อกายดับวิญญาณก็อาศัยอยู่ไม่ได้ ก็ต้องดับไปด้วย ควรละหรือที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าตัว ว่าตน ว่าตัวกู ของกู ที่ในสติปัฏฐานพระองค์ทรงตรัสบอกว่าย่อมละความยึดมั่นถือมั่น ถอนเสียซึ่งตัณหาและทิฏฐิที่นอนเนื่องในสันดาน ก็จะถอนความยึดมั่นถือมั่นอะไรๆในโลกนี้ ย่อมถึงซึ่งกระแสแห่งพระนิพพานเป็นแน่แท้ ๑๕. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความดับกิเลสหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักตามพิจารณาความดับกิเลสหายใจเข้า เมื่อนักปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ คือเมื่อไตรลักษณ์ปรากฏชัดแล้วด้วยอาการอย่างนั้น จิตคลายจากความกำหนัด คือโมหะความลุ่มหลงที่เรากอดยึดมานานแสนนานว่าตัวกู ของกู จะค่อยๆดับไป สิ้นไปหมดไป ปัญญาคือจักษุ ตาปัญญาก็จะเห็นสภาพตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ การที่จะได้มรรคผล หรือสวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ล้วนมาจากเหตุ ใครๆจะมาดลบันดาลให้ไม่ได้ เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าพระองค์ก็เป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น เราก็จะมองเห็นกระบวนธรรมของชีวิต หรือวงจรชีวิต ที่เป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เรียกว่าปฏิจจะสมุปบาท เราจะเข้าใจว่า ที่เราเกิดมาก็อาศัยเหตุอาศัยปัจจัยทั้งนั้นไม่มีใครมาสร้างหรือมาบันดาลให้เกิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดกระบวนธรรมต่างๆติดตามมา (จะมีอธิบายในตอนที่ ๒ ในเรื่องปฏิจจะสมุปบาท) ความเชื่อในเรื่องอัตตาตัวตน อิทธิปาฏิหาริย์ หรือสีลัพพตระปรามาส ก็จะหมดไป ความลังเลสงสัยในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าก็จะหมดไป เพราะได้เห็นนามรูปเป็นเป็นแค่ธรรมชาติและเป็นไปตามธรรมชาติคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สังโยชน์ ๓ เบื้องต้น ก็จะถูกทำลายไป เพราะเห็นโดยบริสุทธิ์ คือไม่เห็นอย่างตัณหา ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งไดมีอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีอันดับไปเป็นธรรมดา ดังเราจะเห็นธรรมที่เกิดขึ้นตามลำดับอย่างนี้ในธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสูตรว่า จักขุง อุทะปาทิ ดวงตา เกิดขึ้นแล้ว ดวงตาคือปัญญาในการเห็นรูปนามตามเป็นจริง ตามเหตุตามปัจจัย คือไม่เห็นว่ามีตัวกูของกู ญาณัง อุทปาทิ ญาณ เกิดขึ้นแล้ว ญาณ คือรู้ คือรู้ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ มรรค วิธีการที่จะปฏิบัติให้ถึงทางพ้นทุกข์ ปัญญา อุทปาทิ ปัญญา เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาคือความรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ว่าสิ่งทั้งปวงนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วปล่อยวาง ในขันธ์ทั้งปวง เพราะได้เห็นแล้วว่าอุปาทานขันธ์นั่นแหละคืออวิชชา ต้นตอแห่งทุกข์ทั้งมวล วิชชา อุทปาทิ คือความรู้อย่างชัดเจนจำเพาะลงไปอีก คือวิชชา ๓ บุพเพนุวาสานุสติญาณ๑ จุตูปาปตญาณ ๑ อาสวักขวยญาณ๑ นั่นเอง อาโลโก อุทะปาทิ ความสว่างไสวก็เกิดขึ้น เมื่อมาถึงขั้นนี้ความสว่างของจิตก็จะเกิดขึ้นเพราะได้ทำลายอวิชชาขั้นหยาบสุดคือละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้นได้แล้ว ย่อมถึงกระแสแห่งพระนิพพาน คือความเป็นพระโสดาบันนั่นเอง ๑๖. สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาสละคืนกิเลสหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความสละคืนกิเลสหายใจเข้า เมื่อมาถึงลำดับสุดท้ายหลังจากได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ก็อย่าพอใจแค่นั้น เพราะพระพุทธเจ้าพระองค์ก็ได้บอกแล้วว่า ภิกษุทั้งหลาย อย่าพอใจแค่โสดาบัน เพราะนั่นยังต่ำนักในมรรคผล ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ดังนั้นเราก็ทำอานาปานสติต่อไป เพื่อสละคืน สังโยชน์ที่เหลืออีก ๗ สังโยชน์ นั่นคือ กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา โสดาบัน สละคืนสังโยชน์ ๓ เบื้องต้นคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส สกิทาคามี ทำโลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลง อนาคามี ละได้ ๕ สังโยชน์เบื้องต่ำได้หมดคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ อรหันต์ ละได้ทั้งหมด คือสละคืนทั้งหมดนั่นเอง ทั้งหมดนี้สามารถละได้ด้วยอานาปานาสติกรรมฐาน ด้วยการปฏิบัติด้วยความเพียรอันเป็นไปติดต่อ เรียกว่า สติมา มีสติ อาตาปี มีความเพียรชนิดเผากิเลสให้เร่าร้อน สัมปัชชมาโน มีสัมปชัญญะ อยู่ตลอดเวลา อย่าลืมคำว่าสติ เพราะในอานาปานสตินี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสำทับย้ำเน้นแล้วว่า ภิกษุทั้งหลายเราไม่ตรัสว่าอานาปานะสติ สำหรับภิกษุผู้ไม่มีสติเลย นั่นก็หมายความว่าต้องมีสติตลอดเวลา ไม่ใช่นั่งในฌาน เหมือนสมาธิของพวกดาบส เรียกว่าสมาธิตอไม้ ดังนั้น ตั้งแต่ต้นจนจบจนละอาสวะกิเลสได้นั้น ทำได้ด้วยการมีสติอยู่กับลมหายใจนี้ เพราะฉะนั้นอานาปานสติพระองค์จึงตรัสไว้มากที่สุด ในบรรดากรรมฐานทั้งหมด
อานนาปานะสติกรรมฐานจึงเป็นกรรมฐานอันเอกอันหนึ่งที่เป็นธรรมอันสามารถทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ตั้งแต่ข้อ๑-๑๖ นี่คือ วิธีการปฏิบัติอานาปานสติกรรมฐาน ๑.๓ เจริญอานาปานสติอย่างไร ? สติปัฏฐานสี่จึงบริบูรณ์ (พุทธดำรัส) “ภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะทำให้สติปัฏฐานบริบูรณ์
(๑)ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด เมื่อภิกษุหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาวหรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้นหรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายใจกาย มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวลมหายใจออกลมหายใจเข้านี้ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในจำพวกกายทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้” ในข้อนี้เราจะเห็นว่าถ้าเราทำอานาปานสติอย่างช่ำชองแล้ว สติปัฏฐานสี่ก็อยู่ในอานาปานสตินี้แหละ จากพุทธดำรัสเบื้องต้นอานาปานสติ ๑๖ ข้อ ข้อที่๑-๔ นั้น ก็คือกายานุปัสสนา (การตามกายเห็นกาย) ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในสติปัฏฐานสี่นั่นเอง อันนี้ในแต่ละอันข้าพเจ้าก็ได้อธิบายไว้ทั้ง ๑๖ ข้อแล้ว ต่อไปก็อาศัยพุทธดำรัสเป็นเครื่องนำทาง (๒) ข้อที่ ๕-๘ ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ปีติหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้สุขหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวการใส่ใจลมหายใจออกลมหายใจเข้านี้ว่าเป็นอย่างดีว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่งในจำพวกเวทนาทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุ จึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (๓)ข้อที่ ๙-๑๒ ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งมั่นจิตให้ร่าเริงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งมั่นจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตไม่กล่าว(ว่ามี) อานาปานสติสำหรับภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (๔) ข้อที่๑๓-๑๖ ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความไม่เที่ยงหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความไม่เที่ยงหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความคลายกำหนัดหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความคลายกำหนัดหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความดับกิเลสหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาความดับกิเลสหายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาสละคืนกิเลสหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตามพิจารณาสละคืนกิเลสหายใจเข้า ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุ จึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ๆ โพชฌงค์ ๗ ย่อมบริบูรณ์ ๆ วิชาและวิมุติย่อมเจริญ
สิ่งที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับอานาปานสติ
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจแก่ผู้เจริญอานาปานะสติทั้งหลาย เพื่อไขข้อข้องใจที่มีผู้มักถกเถียงกันว่า ฝึกอานาปานสติอย่างเดียว ไม่ต้องฝึกสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้ เพราะในอานาปานสติมีสติปัฏฐานอยู่แล้ว หรือบางท่านก็บอกว่าชอบนั่งอย่างเดียว ไม่ชอบเดิน และก็มักเปรียบเทียบว่า ในสมัยพุทธกาลพระผู้บรรลุธรรมถึงการสิ้นทุกข์เพราะอานาปานสติอย่างเดียวนั้นก็มีมาก และอานาปานสติพระพุทธองค์ก็ทรงสั่งสอนไว้มาก เรียกว่ามีมากที่สุดในพระไตรปิฎกในบรรดาพระกรรมฐานทั้งหมด อันนี้ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเราศึกษาให้ดีเราจะพบว่า ถ้าเรายึดอานาปานสติอย่างเดียวเลยสำหรับลงมือปฏิบัติ โดยไม่ยึดหลักสติปัฏฐาน ๔ ก่อน ก็ขอบอกว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์เลยทีเดียว อาจมีแย้งมาว่าก็ในสติปัฏฐาน ข้อแรกก็ยังเป็นอานาปานสติอยู่มิใช่หรือ ก็เอาเพียงข้อเดียวไม่ได้หรือ อันนี้ขออธิบายว่า สำหรับผู้ไม่เคยทำวิปัสสนามาก่อนนั้น ต้องทำสติปัฏฐานก่อน เพราะเป็นการปฏิบัติติดต่อกันไม่ขาดสาย จะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน ก็เป็นการปฏิบัติทั้งนั้น ดังนี้แล้วการปฏิบัติก็จะไม่ขาดสาย เรียกว่าปฏิบัติแบบครบวงจร ปฏิบัติจนเกิดสติสมบูรณ์แล้ว เรียกว่ามีกำลังแก่กล้าแล้วด้วยความเพียร ๔ อย่างคือ
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน คือ อย่าหลงไปยึดกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่ถูกกับใจ ระวังไม่ให้มีตัวกูของกู ๒. ปหานธาน เพียรละตัวกู ของกู ออกจากจิต ๓. ภาวนาปธาน พัฒนาจิตให้เห็นแต่รูป-นาม แยกรูป แยกนาม ไม่ให้มีตัวกูของกูเกิดขึ้น ๔. อนุรักขนาปธาน พยายามรักษาสติที่เห็นรูป-นามนี้ให้อยู่ตลอด
เรียกอีกอย่างหนึ่งทั้ง ๔ อย่างนี้คือสัมมาวายามะในมรรค ๘ นั่นเอง เมื่อความเพียรพร้อม กำลังก็สมบูรณ์ กำลังอะไร กำลังสำหรับปฏิบัตินั่นแหละ มี ๕ คือ
๑. สัทธา ความเชื่อ คือเชื่อในหลักการปฏิบัติอย่างไม่ลังเล เชื่ออย่างสนิทใจว่า นี่คือทางพ้นทุกข์ ไม่มีทางอื่นอีก ๒. วิริยะ ความเพียร เมื่อสัทธา ความเชื่อตั้งมั่นแล้ว ความเพียรเพื่อจะออกจากกองทุกข์ก็มีมา เพราะเป็นความเพียรที่เกิดจากใจ หรือมีศรัทธาเป็นตัวนำ เรียกว่ามีฉันทะ จึงมีวิริยะ ๓. สติ ความระลึกได้ ความระลึกได้ คือมีความรู้ตัวทั่วพร้อมเสมอ คือสติเป็นสัมมาสติแล้ว คือมีสติระลึกทัน อารมณ์ที่ผากระทบทางอายตะทั้ง ภายใน ภายนอก ภายใน ตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ ภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ๔. สมาธิ คือมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว เป็นสมาธิที่รู้พร้อมจะทำการงานนั่นเอง คือสมาธิแบบพอดีๆ ไม่มากไปจนลึกอยู่ในฌาน ไม่น้อยไป คือแค่ขนิกะสมาธิ แต่มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามกามคุณ ๕ ๕. ปัญญา คือความรู้ ในขันธ์ ๕ ความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ นั่นเอง
เมื่อปฏิบัติสติปัฏฐานมาจนชำนาญแล้วนั่นแหละจึงควรหันมาฝึกตามความชอบนั่นคือ ชอบแบบอานาปานสติอย่างเดียวก็ทำได้ และจะไม่หลงทิศหลงทาง หรือเกิดวิปลาสขึ้น พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างนี้ เพราะเมื่อฝึกสติปัฏฐานมาช่ำชองแล้วอานาปานสติก็ง่ายต่อการบรรลุธรรม
หากว่าไปทำอานาปานสติอย่างเดียวเลย กลัวว่าถ้าบารมีไม่มากพอเหมือนพระในสมัยพระพุทธเจ้าแล้วละก็ก็ยากเต็มที หรือสำเร็จได้ ก็เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ตรงนี้ข้าพเจ้าไม่ได้สรูปเอาเอง ข้าพเจ้าเคยพูดแล้วว่าอันไหนสำคัญพระพุทธเจ้า จะตรัสไว้ก่อน ในอานาปานสตินี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสสอนสติปัฏฐาน ๔ ก่อน และค่อยตรัสอานาปานสติกับภิกษุผูมีอินทรีย์คือกำลัง ๕ แก่กล้าแล้วนั่นเอง คือเพื่อเป็นวิหารธรรมแก่ภิกษุผู้ปฏิบัติจนได้คุณวิเศษเบื้องต้น คือพระโสดาบันเป็นต้นมาแล้ว ค่อยไปทำอานาปานสติกรรมฐาน มีพุทธะดำรัสเป็นหลักอ้างดังนี้ (มีภิกษุทั้งที่บรรลุธรรมและปฏิบัติเพื่อบรรลุ) ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนได้แล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพระรู้ชอบ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะสิ้นสัญโยชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ จะได้ปรินิพพานในโลกนั้น ๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสัญโยชน์ ๓ อย่าง และเพราะละ ราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง มายังโลกนี้ครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสัญโยชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพียรในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพียรในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญพละ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญเมตตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญกรุณาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมุทิตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอุเบกขาอยู่ ผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้ย่อมมีภิกษุผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอานาปานสติอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้ สติปัฏฐาน ๔ ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ได้ โพชฌงค์ ๗ ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ได้ จากหลักฐานในพระสูตรนี้ก็พอจะสรูปได้ว่า พระที่ฟังอานาปานสติกรรมฐานนั้นล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสติปัฏฐานเป็นอย่างดี และอาจารย์ผู้สอนก็ล้วนแต่เป็นอัครสาวกหรือพระอรหันต์ผู้เลิศในทางไดทางหนึ่ง ตรงนี้เราต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะที่ผ่านมาเรามองไม่ตลอดสายจึงพากันปฏิบัติไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ส่วนใหญ่แล้ว มักไปสุดแค่เกิดอิทธิฤทธิ์แล้วก็พอแค่นั้น จึงเกิดเกจิอาจารย์ขลังอย่างมากมาย ในประเทศไทยก็มีมาทุกยุคสมัย แต่ที่สำเร็จก็มีมากเหมือนกัน
อานาปานสติแบบหลวงปู่มั่น (พุทโธ)
จากที่ข้าพเจ้า ได้อ่านหนังสือประวัติของหลวงปู่มั่น และได้สนทนากับบรรดาหลานศิษย์ ของท่านข้าพเจ้าก็เห็นว่า พระอาจารย์มั่นนับเป็นพระนักสอนค่อนข้างอัจฉริยะมากทีเดียว เรียกว่าสอนสติปัฏฐาน ๔ แบบครบวงจรในรูปปฏิบัติการ เพราะเราจะพบว่าเวลานั่งสมาธิ แม้ท่านจะให้ภาวนาว่าพุทโธ ก็จริง แต่พอท่านสอนหรือเทศน์ท่านจะเน้นที่ขันธ์ ๕ คือปูพื้นวิปัสสนา จากนั้นก็พาไปป่าช้า ดูศพบ้าง ดูที่เขาเผาศพบ้าง ลูกศิษย์ท่านไหน เกิดนิวรณ์อะไรท่านก็จะช่วยแก้ ธุดงค์ไปที่ต่างๆ ท้ายสุดท่านก็จะวกเข้าสู่มรรค ๘ เพื่อให้เห็นชีวิต นั่นคือรูปนามว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ให้ละความพอใจในสังขาร คือไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นใน สังขารทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม นามธรรม นั่นคือจุดสำคัญ คำภาวนาว่าพุทโธ เป็นแต่เพียงก้าวแรกของผู้มาใหม่เท่านั้น แต่หลายท่านกับไม่ศึกษาความมุ่งหมายของท่านและไม่ยอมเปิดใจ ศึกษาธรรมะอันเป็นทางวิปัสสนา นั่นคือเรื่องขันธ์ ๕ สติปัฏฐาน ๔ จึงพากันทำแค่พุทโธๆๆ พอสงบแล้วก็พอ ไม่ทำต่อ ไม่เข้าหาครูอาจารย์ผู้เป็นกัลลยาณมิตร เอะอะก็อ้างว่าสายหลวงปู่มั่น หากศรัทธาหลวงปู่มั่นจริงก็ให้ขอศึกษา ของท่านให้ถ้องแท้เข้าใจ รับรองว่าไม่ผิดหวังหรอก
พองหนอ-ยุบหนอ หลวงพ่อโชดก วัดมหาธาตุฯ ก.ท.ม
หลวงพ่อเจ้าคุณโชดก นับเป็นพระอีกรูปหนึ่งที่หาได้ยาก ที่ท่านสอนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านปรับรูปแบบสติปัฏฐาน ให้มีระบบ ระเบียบ ให้เป็นแบบจำเพาะที่ฝึกง่ายต่อคนไทย ในอานาปานสติ ท่านให้กำหนดอาการพองยุบ คือมีสติรู้ตามอาการที่มันเป็นจริง มันพอก็รู้ว่ามันพอง มันยุบก็รู้ว่ามันยุบ และท่านก็นำสติปัฏฐานมาให้ครบในการ ดูพองยุบนี่เลย เช่นดูพอง ดูยุบ กำหนดนั่งหนอ ถูกหนอ นี่เป็นกายานุปัสสนา เวลาปวดขา ก็กำหนดว่า ปวดหนอ เวทนานุปัสสนา เวลาจิตคิดอะไรก็กำหนด เช่นมีราคะ ก็กำหนดว่า ราคะหนอ นี่จิตตานุปัสสนา เกิดนิวรณ์เช่นพยาบาท หรือฟุ้งซ่าน ก็กำหนดว่า พยาบาทหนอ ฟุ้งซ่านหนอ นี่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐานสี่ อยู่ในนี้ สรูปว่าไม่ว่าจะปฏิบัติแบบไหน เราจะเห็นได้ว่าพระอาจารย์ผู้เป็นกัลลยาณะมิตรทั้งหลาย ท่านจะยังคงยึดหลักของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ดังนั้นท่านทั้งหลายจะฝึกแบบไหนควรศึกษาให้ถ่องแท้ ให้รู้ซึ้งจะได้ไม่ต้องผิดพลาด สำหรับตัวข้าพเจ้ายังคงยึดหลักตามแบบดั้งเดิมแท้ คือเดินตามรอยพระพุทธเจ้า เอาพระองค์เป็นหลักดีที่สุดแล้ว เพราะคงไม่มีอาจารย์ได สำนักไดมาเถียงพระพุทธเจ้าเป็นแน่ (อานาปานสติจะมีอธิบายเพิ่มในภาค ๒ ก่อนแสงอุทัย)
๖. เป้าหมายสติปัฏฐาน
ในบทที่ ๕ นี้ข้าพเจ้าจะเขียนถึงเป้าหมายของสติปัฏฐาน ๔ ใน ๒ ระดับ เพื่อเน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะคนส่วนใหญ่แม้จะเข้าใจในเรื่องของวิปัสสนา แต่กลับไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งๆที่เป้าหมายวิปัสสนาคือการเรียนรู้ชีวิตจริงๆที่เป็นปรมัตถ์ เมื่อศึกษาชีวิตก็ต้องเข้าใจชีวิต และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจะเขียนเป้าหมายไว้ ๒ ระดับคือ
๑. เพื่อเป็นการใช้ชีวิตในสังคมแบบปัญญา ไม่ใช่อย่างตัณหา (แบบปุถุชน) ๒. เพื่อการอยู่อย่างอิสระจากการตกเป็นทาสของอุปาทาน (แบบอริยะชน) ๑.การใช้ชีวิตแบบปัญญา ไม่ใช่แบบตัณหา
ในการปฏิบัติวิปัสสนาข้าพเจ้ากล้าพูดว่า วิปัสสนาไม่มีพิธีกรรม เพราะวิปัสสนาเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา คือความรู้จริง รู้แจ้ง รู้อย่างหมดจดวิเศษ เป็นกระบวนการทางปัญญาล้วนๆ จึงไม่มีพิธีกรรม หรือพิธีรีตองแต่อย่างได และวิปัสสนาไม่มีสถานที่จำเพาะ วิปัสสนาสามารถปฏิบัติได้ทุกที่ ทุกสถาน แม้กระทั่งในห้องน้ำ จากหลักฐานที่ว่า “ภิกษุพึงมีสติ ในการอุจจาระ ปัสสาวะ.....ฯลฯ” นี่คือพุทธะดำรัสในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ ฑีฆะนิกาย มหาวัคค์ มหาสติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยหมวดสัมปชัญญะ วิปัสสนาหรือสติปัฏฐานคือ ฐานที่ตั้งของสติซึ่งมีอยู่ ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรมย่อลงมาคือกายกับใจนั่นเอง ก็เราอยู่ที่ไหนก็ต้องเอากายกับใจไปด้วย ดังนั้นจึงไม่มีสถานที่ที่เรียกว่าที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ดังนั้นวิปัสสนาจึงสามารถทำได้ทุกที่ ทุกสถาน ทุกเวลา ทุกนาที ไม่ว่าจะเป็นเวลา กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำได้ตลอดเวลา เพื่ออะไรบ้าง
๑. เพื่อใช้ปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้องกับวัตถุทั้งปวง ๒. เพื่อใช้ปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งปวง
เพราะในชีวิตทุกนาทีเลยก็ว่าได้ ถ้าเราไม่เกี่ยวข้องกับคน ก็เกี่ยวข้องกับวัตถุ เมื่อชีวิตเราต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งได ก็ควรไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา เพื่อลดความทุกข์ให้น้อยลง เพราะโดยปกติชีวิตก็มีเรื่องทุกข์มากมายอยู่แล้ว ไม่ทุกข์กาย ก็ทุกใจ ถ้าจะเอามากล่าวให้หมดก็คงจะมากมายสุดคณานับ จึงจะนำมากล่าวจำเพาะหลักๆ ที่เราเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเสียก่อน นั่นคือการใช้สอยปัจจัย ๔ ตรงนี้ก็จะเอาตามหลักพระพุทธศาสนาที่พระองค์สอนภิกษุพิจารณาเป็นประจำ นั่นคือ จีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช แต่จะแปรให้เป็นของชาวบ้านทั่วไป เพื่อง่ายต่อการเข้าใจ
๑.เพื่อใช้ปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้องกับวัตถุทั้งปวง
๑.(จีวร) ฝ่ายคนทั่วไปได้แก่เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแฟชั่นทันสมัยทั้งในและต่างประเทศออกมาไม่ขาดสาย คนออกแบเสื้อผ้าก็ออกแบบแข่งกันมากมาย ว่ากันไปก็ออกแบเสื้อผ้าแบบเอาใจกิเลสของบรรดาพวกหลงรูปนั่นเอง ราคาก็แสนแพง ซื้อมาใช้ก็ใส่ไม่ค่อยคุ้มค่าที่เสียไป บางทีสั่งตัดหมดเป็นหมื่นหรือมากกว่านั้น แต่ใส่เพียงครั้งเดียวก็ทิ้งนับเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแท้ๆ ในข้อนี้เรามาดูว่าในพระพุทธศาสนาสอนในการใช้เสื้อผ้าเพื่ออะไรบ้าง ถึงจะเป็นการใช้สอยอย่างปัญญา ๑. เพื่อบำบัดความหนาว ๒. เพื่อบำบัดความร้อน ๓. เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบยุง ลม แดด แล้สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ๔. เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะ อันให้เกิดความละอาย
จากความมุ่งหมายตรงนี้เราก็จะเห็นว่าประโยชน์ของเสื้อผ้าที่เราจะนำมาใช้นั้น ก็เพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ เหตุการณ์ สถานที่ หน้าร้อนก็ใส่แบบหนึ่งเมื่อกันแดด หน้าหนาวก็ใส่กันลมกันความหนาว ถ้าอยู่กับป่าเสื้อผ้ากางเกง ก็ให้เหมาะกับสภาพป่า กางเกงยาวหนา เสื้อยาวหนาเพื่อป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย รวมทั้งพวกงูด้วย ดังนั้นเสื้อผ้าถ้าเราซื้อเพื่อใช้ประโยชน์จริงๆก็เพื่อประโยชน์เท่านี้จริงๆ
ถ้าใช้อย่างตัณหา ทุกวันนี้ถึงกับเป็นปัญหาเลยก็ว่าได้ เพราะวัยรุ่นสมัยปัจจุบัน ลุ่มหลงในแฟชั่นหาเงินยังไม่ได้ พ่อแม่ก็ไม่อยู่ในฐานะทีเป็นคนมีเงินเหลือกินเหลือใช้ เมื่อรายได้ต่ำรสนิยมสูง ปัญหาก็ตามมาคือ เมื่อความอยากบีบคั้น การดิ้นรนแสวงหาก็เกิดขึ้นบางทีแสวงหาแบบผิดๆเช่น เช่นขายตัว ขโมย ท้ายสุดผันตัวเข้าสู่สังคมมิจฉาชีพเต็มรูปแบบหรือแม้แต่ค้ายาเสพติดก็ทำ เพียงแค่นำเงินมาสนองความสัดส่ายซ่านไปตามกิเลสตัณหาเท่านั้น บางคนไม่ได้เสื้อผ้าที่ถูกใจถึงกับร้องให้ คับแค้น โกรธเคือง แล้วก็แสดงพฤติกรรมต่างๆออกมาทั้งๆที่ทางเลือกการใช้ชีวิตแบบปัญญาก็มีอยู่ ทางออกของปัญหานั่นคือวิปัสสนา คือตัวปัญญานั่นเอง ดังนั้นท่านจงพิจารณาเอาเองว่าจะเลือกใช้ชีวิตแบได ๒.อาหารปิณฑะบาต พูดง่ายๆก็เรื่องอาหารการกิน การกินนี่ก็เป็นสิ่งที่เราเกี่ยวข้องทุกวัน วันละ ๒ หรือ ๓ มื้อ ต่อวัน การกินนี้ก็มีการกินแบบปัญญา และแบบตัณหา ทั้ง ๒ นี้ก็ให้ผลที่แตกต่างออกไป คือสุขกับทุกข์นั่นเอง
๑. ไม่ให้เป็นไปเพื่อความสนุกสนาน ๒. ไม่ให้เป็นไปเพื่อเกิดความเมามัน เกิดกำลังพลังทางกาย ๓. ไม่ให้เป็นไปเพื่อประดับ ไม่ให้เป็นไปเพื่อตกแต่ง ๔. แต่ให้เป็นไปเพื่อความยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อความเป็นไปได้ของอัตตะภาพ ๕. เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย ๖. เพื่อความอนุเคราะห์แก่ความประพฤติพรหมจรรย์ จากการพิจารณากับข้อความทั้ง ๖ ข้อแล้วนี้ เราก็จะพบว่าวัตถุประสงค์กับการกิน ข้อที่ ๑-๓ เป็นหารปฏิเสธการกินแบบตัณหา ข้อที่ ๔-๖ เป็นการกินเพื่อได้รับประโยชน์จากอาหาร ต่อไปนี้เรามาทราบความหมายแต่ละข้อกันว่าในการกินแต่ละอย่างนั้นหมายถึงอะไร ๑. ไม่ให้เป็นไปเพื่อความสนุกสนาน กินอย่างไร? เรียกว่ากินเพื่อความสนุกสนาน ท่านทั้งหลายลองนึกถึงการที่เราไปกินอาหารที่ร้านคาราโอเกะ หรือร้านอาหารที่มีทั้งดนตรี นักร้อง สาวคอยบริการสวยๆ หนุ่มๆบริการหน้าตาดีๆ กินเหล้ากับแกล้มเฮอฮา สนุกสนาน ตามมาด้วยความมึนเมาประมาทลืมตัว ค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเงาตามตัว ไหนจะพวงมาลัยนักร้อง ไหนจะต้องใช้เงินติ๊บสาวบริการ ไหนจะซื้อใจสาวๆบริการเพื่อตามไปเอาใจทั้งในร้านและนอกร้าน บางโอกาสอาจต้องมีเรื่องมีคดีเพราะทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุเพราะเมาขับ สรูปแล้วถ้าเพื่อความสนุกสนานก็มีแต่ทางเสียมากขึ้นโดยไม่จำเป็น หรืออาจเสียชีวิตเพราะการกินก็ได้เมาแล้วขับ ดังนั้นอย่ากินอย่างนี้ ๒. ไม่ให้เป็นไปเพื่อเกิดความเมามัน เกิดกำลังพลังทางกาย ในข้อนี้มุ่งหมายไม่ให้กินเพื่อบำรุงกำลังทางเพศ อันจะทำให้เกิดความมัวเมาลุ่มหลงเพลิดเพลิน จนหลงติดอยู่กับการเสพการ หรือที่เรียกว่าติดกามจนเดือดร้อนทั้งคนและสัตว์อื่น ปัจจุบันคนมีความเชื่อในเรื่องยาบำรุงทางเพศไปต่างๆ เช่นกินลิง สุนัข อุ้งตีนหมี หูฉลาม หรืออะไรต่อมิอะไรมากมาย ก็สรรหามาไม่ขาดสายหรือยาเสริมพลังทางด้านนี้ ว่าจะแพงจะยากแค่ไหนก็พยายามสรรหามาเพื่อสนองตัณหาจนได้ ทั้งสิ้นเปลือง ทั้งลำบากผู้หา ซึ่งจะว่าไปแล้วการกินเพื่อสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นสำหรับมนุษย์เลย ดังนี้นอย่ากินเพื่อสิ่งนี้ ๓. ไม่ให้เป็นไปเพื่อประดับ ไม่ให้เป็นไปเพื่อตกแต่ง ในข้อนี้กินเพื่อประดับและตกแต่ง อันนี้ก็ไม่จำเป็นสำหรับการกินเหมือนกัน คือจุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ภิกษุหรือผู้ปฏิบัติเป็นคนเลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยาก กินประดับอย่างไร? เอาง่ายๆ ถ้าการที่เราจะกินอะไร แล้วเรากินเพื่อประดับฐานะ ประดับบารมีละก็ ก็เป็นการเปลืองโดยมิใช่เหตุ เช่นจะกินทีต้องอาหารมีระดับ มีราคา หรือกินอาหารภัตตาคารหรูๆแค่เดินเข้าร้านหรือภัตตาคารก็เพื่อจะให้คนมองว่าตนเองมีฐานะร่ำรวย ไฮโซโก้หรูหรา สั่งอาหารก็เพื่ออวดความรู้ประดับความเป็นไฮโซโก้หรูซะอย่างนั้น ไม่ได้กินเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ หรือเพื่อบำบัดความหิว ตามความมุ่งหมายของการกิน อันนี้ก็สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ กินเพื่อตกแต่ง คือจะกินแต่ละครั้งก็ต้องพอใจยึดติดอยู่กับความสวยความงาม ดังเราจะเห็นการตกแต่งอย่างสวยหรูกับอาหาร แต่ไม่ว่าจะสวยหรูแค่ไหนอาหารเหล่านั้นก็ถูกกินไป ความสวยงามก็หายไป ไม่เกิดประโยชน์อยู่ดี ความสำคัญของอาหารคือ สะอาดถูกหลักอนามัยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย และไม่เป็นอาหารแสลงต่อโรคของผู้บริโภคเท่านั้น จึงไม่จำเป็นที่ต้องประดับและตกแต่งแต่ปะการไดเลย ๔. แต่ให้เป็นไปเพื่อความยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อความเป็นไปได้ของอัตตะภาพ ในข้อนี้ก็ตรงตัวอยู่แล้วคือกิน เพื่อให้ร่างกายอยู่รอดและทำงานได้ มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ๕. เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย เมื่อร่างกายขาดอาหารหรือหิวโหย จะทำอะไรก็ลำบาก จะเรียน จะทำงาน หรือปฏิบัติก็ลำบาก ดังนั้นเพื่อไม่ให้ลำบากเราจำต้องกินเพื่อประโยชน์เหล่านี้ ๖. เพื่อความอนุเคราะห์แก่ความประพฤติพรหมจรรย์ ข้อนี้นักปฏิบัติต้องเข้าใจว่าเรากินอาหารเพื่อให้มีเรี่ยวแรงและกำลังเป้าหมายเพื่อประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น อย่ากินตามใจกิเลส หรือกินเพื่อความเอร็ดอร่อย แต่กินเพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้นเอง กินเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ เพื่อทำความดีเท่านั้นเอง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น
นี่คือการใช้ปัญญาในการกิน ในการเกี่ยวข้องกับวัตถุ หากเราใช้อย่างปัญญาตรงนี้ถ้ามองในแง่ของเศรษฐศาสตร์ นี่ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างหนึ่งที่จะลดต้นทุนในการผลิตในระบบครัวเรือน และทำให้รายจ่ายลดลง รายรับเพิ่มขึ้น เงินออมมีมากกว่าเดิม ดังนั้นการนุ่งห่ม การกินก็ส่งผลทั้งลบและบวกในระบบเศรษฐกิจระดับครัวเรือนเช่นกัน
๓.เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) ตรงนี้รวมความว่า บ้าน รถ เครื่องใช้จำเป็น สำหรับข้อนี้ก็นับเป็นปัญหาอย่างมากเหมือนกันสำหรับคนเป็นจำนวนมาก เดี๋ยวนี้ตามต่างจังหวัดคนยอมเป็นหนี้ ธ.ก.ส ยอมเอาที่จำนอง กู้ยืม นำเงินมาสร้างบ้านอย่างใหญ่โต ออกรถคันหรูๆ ทั้งที่รายได้ ไม่ค่อยจะมี หรือกำลังสติปัญญาในการแสวงหาเงินก็มีขีดจำกัด แต่ออกตามกิเลสเท่านั้นเอง ทั้งที่ตามปกติบ้านก็ยังมีพออาศัยอยู่ได้ หรือเงินเก็บก็พอจะทำบ้านอย่างแข็งแรงมั่นคงพอดีสำหรับตนเองอยูได้ แต่กับทำเสียใหญ่โตหรูหราเกินความจำเป็น เกินฐานะของตนเองนั่นเท่ากับแสวงหาความทุกข์ให้ตนเองแท้ๆ ถือเป็นความบรมโง่ต่อกิเลสอย่างร้ายแรงทีเดียว แต่ถ้าใคร รวยแล้วมีเงินเป็นร้อยล้านขึ้นไป แล้วมาอยู่แบบคับแคบอึดอัด อันนั้นก็โง่คือรู้จักใช้สอยทรัพย์ให้เป็นประโยชน์สุขต่อตนเองและผู้อื่น ความมุ่งหมายของบ้านคืออะไรบ้าง
๑. เพื่อบำบัดความหนาว ๒. เพื่อบำบัดความร้อน ๓. เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบยุง ลม แดด แล้สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย
๔. เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายจะพึงมีจากดินฟ้าอากาศ และเพื่อความเป็นผู้ยินดีอยู่ได้ ในที่ หลีกเร้นสำหรับภาวนา
ในข้อ๑-๔ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเพื่ออะไร แต่ข้อท้ายของข้อที่ ๔ มุ่งหมายถึงภิกษุและผู้ปฏิบัติ คือให้รู้ว่าเพื่ออะไร เพื่อภาวนาคือพัฒนาจิตใจเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความสบาย หรืออวดตำแหน่งฐานะแต่ประการได เพราะในสถานที่ปฏิบัติหลายที่เป็นป่าเครื่องอำนวยความสะดวกไม่มี ผู้ที่เคยสบายเสียจนชินจะอยู่ไม่ได้ จึงต้องชี้ความมุ่งหมายให้เข้าใจ
๔.คิลานเภสัช ยารักษาโรค ในข้อนี้ก็มีความมุ่งหมาย ๒ ประการคือ
๑.เพื่อให้เราไม่ประมาทในชีวิตคือให้ตะหนักเสมอว่า ร่างกายนี้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ จึงต้องออมทรัพย์ไว้ส่วนหนึ่ง กันไว้ใช้จ่ายยามป่วยนั่นเอง ๒. เพื่อให้ใช้ยาอย่างระมัดระวัง บางคนไม่เจ็บป่วย แต่ใช้อย่างตัณหา ยาบำรุงทางเพศ ยาที่เขาโฆษณาชวนเชื่อเพื่อความสวยความงาม หรือยาพิษทำลายล้างผู้อื่นให้ถึงความวิบัติ ตามที่ปรากฏในบทพิจารณาเภสัชนั้นมีดังนี้
๑. เพียงเพื่อบำบัดทุกขเวทนาอันบังเกิดขึ้นแล้ว มีอาพาธต่างๆเป็นมูล ๒. เพื่อความเป็นผู้ไม่มีโรคเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง ในการใช้ชีวิตด้วยปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้องกับวัตถุก็พอจะสรูปได้ดังนี้ ๒.เพื่อใช้ปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งปวง
ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน สำคัญตรงที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องแบบตัณหาหรือปัญญา การที่เราจะเข้าใจผู้อื่นได้ดีนั้นเราต้องเข้าใจตนเองให้ดีเสียก่อน นั่นก็ต้องอาศัยหลักวิปัสสนาอีกนั่นแหละ วิปัสสนาปฏิบัติเพื่อเข้าใจชีวิต ได้แก่กายกับจิต หรือแบ่งอย่างระเอียดนั่นก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๆ ทั้งหมดนี้ก่อเกิดปัญหาอย่างไร? ในชีวิตทั้งตนเองและผู้อื่น สำหรับขันธ์ ๕ เราได้เรียนรู้มาแล้วว่า คืออะไร เป็นอย่างไร จะเข้าไปดับอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ต่อแต่นี้ไปเรามารู้ว่า มันเป็นปัญหาสำหรับชีวิตและสังคมอย่างไร และเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรกับขันธ์ ๕ ทั้งของตนเองและผู้อื่น ในสติปัฏฐานพระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสไว้ตอนท้ายเสมอว่า ตามดูกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งภายนอก ภายใน ทั้งที่เป็นไปในภายในและภายนอก นั่นก็เพื่อให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งในตนและผู้อื่นอย่างใช้ปัญญาไม่ใช่อย่างตัณหา คราวนี้รามาดูกันว่าสิ่งเหล่านี่เป็นปัญหาอย่างไร รูป ร่างกายนี่ก็เป็นปัญหาได้ถ้าเราไปหลงยึดมัน เช่นคนที่สวยๆหุ่นดี ใบหน้าสวย ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสังขารที่มันปรุงแต่งขึ้น ก็จะหลงตัวเองอย่างแรง ชนิดดูแคลนคนที่มีรูปร่างไม่สวย หรือใช้รูปไปในทางที่ผิด เอารูปสนองตัณหาทั้งตนเองและผู้อื่น บางคนถึงกับยอมรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงคือหลักอนิจจัง เพียงแค่มีรอยย่านตีนกาขึ้นก็เป็นทุกข์อย่างไม่เป็นอันกินอันนอนวิ่งเข้าคลินิกความงามเสียเงินเสียทองเพื่อบรรเทาความแก่ แต่ละเดือนต้องเปลืองค่าน้ำแร่แช่น้ำนมไม่รู้เท่าไร และบางคนก็หลงรูปผู้อื่น ถึงกับเกิดปัญหาอาชญากรฆ่ากันเพราะหึงหวง หรือเกิดปัญหาครอบครัว สามีมีเมียน้อยมีแล้วมีอีก เมียแอบมีชู้กับหนุ่มหล่อหน้าตาดี พอจับได้ก็นำไปสู่การอย่าร้าง พ่อไปทาง แม่ไปทาง บางครอบครัวฆ่าเมีย ฆ่าลูก ฆ่าตัวตายตามอีกชนิดที่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานทำไม่ได้ แต่มนุษย์ทำได้ หรือบางคนเกิดมาร่างกายไม่สวยไม่งามก็เป็นทุกข์ถึงกับเกิดอิจฉา ริษยาผู้อื่นอย่ารุนแรง หรือถึงกับฆ่าตัวตายถ้ามีคนพูดตอกย้ำมากๆเข้า คราวนี้ท่านทั้งหลายคงเห็นแล้วว่า รูป (ร่างกาย) เป็นปัญหาอย่างไร? ถ้าเราไม่มีปัญญาเข้าไปรู้จริงกับมัน เวทนา ความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ ตรงนี้ยิ่งร้ายกาจ ยิ่งคนที่ติดสุขยิ่งไปใหญ่ เช่นติดกามสุข เจ้าชู้ไม่เลือก หรือเคยสบาย พอฐานะเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นทุกข์เสียจนรับอะไรไม่ได้ เคยอยู่บ้านราคาหลายล้าน รถคันหรูๆ คนใช้เต็มบ้าน แทบไม่ต้องทำอะไร แต่พอทุกอย่างเปลี่ยนไปกับปล่อยวางไม่ได้ ยิ่งมองโลกในแง่ร้าย บางรายเพื่อสนองเวทนา ถึงกับค้ายาเสพติด มิจฉาชีพ ทุจริต คอรัปชั่น ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นกฎแห่งกรรม จึงเกิดปัญหาติดตามมา สัญญา ความจำได้ ถ้าไปยึดมันก็สร้างปัญหาได้มากเหมือนกัน เหมือนคนอกหักรักคุดใหม่ๆ ไปนึกถึงแต่ความหลังแห่งรัก ยิ่งนึก ยิ่งยึด พอคิดมากๆยึดมากๆ ก็ยิ่งทุกข์แล้วก็ส่งผลต่อพยาบาท ปองร้าย หรือประชดชีวิตด้วยการติดสุรายาเมา แล้วก็ส่งผลต่อปัญหาสังคม ถ้าท่านเคยดูหนังจีนกำลังภายในแทบทุกเรื่อง พ่อพระเอกหรือนางเอกต้องถูกฆ่าแล้วก็ปลูกฝังให้ล้างแค้นกันไปกันมาชนิดพูดแบบปลูกฝังหัวเลยว่า ลูกผู้ชายแก้แค้น ๑๐ ปีไม่สาย ท่านคิดดูมันกอดสัญญาเป็นสิบปี ยี่สิบปี ช่วงเวลานี้ถ้าไม่ยึดอยู่กับสัญญาเก่าๆเขาคงทำอะไรต่อมิอะไรได้ไม่น้อยเลยทีเดียว สังขาร ความคิด ถ้าเราไม่มีสตินี่ก็มีปัญหาแน่ๆ เราจะพบในชีวิตว่าในบางคราวเราถูกด่า ถูกตี หรือถูกกล่าวตู่ใส่ร้าย หลายครั้งนั้น นั่นล้วนเกิดจากการเข้าใจผิด แล้วการเข้าใจผิดก็เกิดจากไอ้ตัวสังขารความคิดนี่แหละ ผัวเมียบางรายฆ่ากันเพราะความคิดก็มีมาก หนังสือพิมพ์เคยออกข่าว และเคยดูเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง ๓ ที่เด็กแค่ ม.๓ ยิงเด็กผู้หญิง ม.๒ ตาย เพราะเห็นว่าแฟนคุยโทรศัพท์นาน คิดว่าแฟนนอกใจ ทั้งๆที่เขาคุยกับพ่อแท้ๆเลย ตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่ สังขาร ความคิดถ้าเราไม่มีสติ ยิ่งมีปัญหา ทั้งตนเองและผู้อื่น วิญญาณ ความรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้ถ้าเราไม่มีสติเข้าไปบริหารจัดการด้วยปัญญาแล้วละก็ยิ่งสร้างปัญหา เราคิดดูเราต้องวิ่งตามสิ่งเหล่านี้เท่าไร ดูหนัง ดูละคร ดูวงดนตรี ฟังเพลงชุดนั้นชุดนี้ น้ำหอมยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ อาหารต้องอย่างนั้นอย่างนี้ถึงจะถูกใจ ที่นั่งที่นอนต้องนุ่ม ต้องเย็น สารพัด ใจฉันต้องอย่างนั้นอย่างนี้ วิ่งตามสิ่งเหล่านี้จนเป็นทาสของมัน มาถึงตรงนี้เราจะพบว่า เราก็มีขันธ์ ๕ ผู้อื่นก็เหมือนกัน เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนที่กำลังยินดี ยินร้ายกับอุปาทานขันธ์อย่างไร เช่นคนกำลังโกรธถ้าเราจำเป็นต้องเกี่ยวข้อง เราจะทำอย่างไร คนเจ้าชู้ราคะจัดเราจะไปเกี่ยวข้องอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น จาก ๒ ข้อนี้เราจะเห็นแล้วว่านี่คือ เป้าหมายสติปัฏฐานอย่างแรกสำหรับผู้ยังไม่บรรลุธรรมขั้นสูง ก็คือการนำหลักธรรมมาใช้กับชีวิตให้เกิดประโยชน์นั่นเอง
๒.เพื่อการอยู่อย่างอิสระจากการตกเป็นทาสของอุปาทาน (แบบอริยะชน)
เป้าหมายในการปฏิบัติแบบตรงตัวปฏิบัติแบบวิปัสสนากรรมฐานเลยคือสติปัฏฐานตามที่พระบรมศาสดาทรงชี้ให้เห็นคือ
๑.เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย
๒.เพื่อข้ามพ้นความโศกและความร่ำไรเสีย
๓. เพื่ออัสดงดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส ๔. เพื่อบรรลุธรรมที่ถูก ๔.เพื่อพระนิพพาน รวมความก็คือความดับทุกข์ทั้งปวงชนิดแบบถาวรนั่นเอง
จากข้อความด้านบนและได้อธิบายไว้ในบทที่ ๔ ในหัวข้อเป้าหมายสติปัฏฐาน ๔ แล้วท่านคงพอจะเข้าใจ ต่อไปนี้ก็เป็นเพียงเพิ่มความเข้าใจเท่านั้นเอง ๑.เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย ในข้อแรกความมุ่งหมายของปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสิ่งแรก นั่นคือความบริสุทธิ์หมดจดวิเศษ เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต > สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีลนั่นเอง ผู้ปฏิบัติเมื่อมีสติแล้วสิ่งที่ตามมาคือพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย วาจา ย่อมหมดจด สะอาด และเกิด มโนสุจริต> จิตตวิสุทธฺ ความหมดจดแห่งจิต คือไม่มีใจที่อาฆาต พยาบาท หรือโลภอยากได้ของอื่น นี่คือจุดมุ่งหมายในข้อแรก เรียกว่าเป็นไปเพื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา ในข้อนี้คือศีล
๒.เพื่อข้ามพ้นความโศกและความร่ำไรเสีย ๓. เพื่ออัสดงดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส
ในสองข้อนี้คือมุ่งหมาย สมาธิ เมื่อศีลมีแล้ว ข้อ๒ในไตรสิกขาต้องเกิดนั่นคือ สมาธิ การที่จะข้ามพ้น ความโศกและความรับไร ความทุกข์โทมนัสได้นั้น ต้องอาศัย สมาธิ คือผลที่เกิดจากสัมมาสติแล้วส่งผลให้เกิดสัมมาสมาธิ เพื่อข้ามพ้นจากสิ่งเหล้านี้ ตั้งแต่ค่อยๆละ จนละขาด เพราะความโศกความร่ำไรนี่แหละบางทีก็ทำให้คนกลับไปเป็นคนเลวได้ ดังที่เราเคยเห็นกันมานักต่อนักบางคนทำตัวดีมาตลอด แต่พอผิดหวังกับชีวิต อกหักรักสลาย ไม่สามารถข้ามความโศกความร่ำไรนี้ได้ กลับประชดชีวิต เมามาย ก่อกรรมทำร้ายตนเองและผู้อื่น บางคนเคยโดนหลอกทั้งๆที่ผ่านมาก็ดี แต่พอโดนเข้าก็แก้แค้น หลอกคนนั้น คนนี้ เพราะฉะนั้นความร่ำไรนี้เราต้องข้ามพ้นให้ได้ และข้าพเจ้าก็ไม่พิจารณาเห็นวิธีอื่นที่จะข้ามได้ นอกจากวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น
๔. เพื่อบรรลุธรรมที่ถูก ในข้อนี้มีที่น่าสังเกตว่า ธรรมที่ถูก ถึงตรงนี้ต้องใช้ ปํญญา เมื่อมีธรรมที่ถูกก็ต้องมีธรรมที่ผิดเหมือนกัน ถ้าเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิปัสสนูกิเลส ถ้าใครศึกษาไม่ดี ทำไม่ถูกต้องอาจหลงผิดไปได้
หรือในบางทีปฏิบัติไปพอได้ฌานสมาบัติ แล้วสามารถแสดงอภินิหารได้ ทายใจคนออกแล้วหลงยึดอยู่แค่นั้น ไม่ทำต่อนึกว่านี่คือผลสำเร็จ หรือหลงมองคุณพิเศษของผู้บรรลุธรรมแล้วว่านั่นคือผลสำเร็จของท่าน ไม่มองว่าท่านปล่อยวางการยึดมั่นในกิเลสทั้งปวง เหมือนคนมองคุณพิเศษของพระอนุรุทธะอรหันต์เถระเจ้า ว่าท่านมีตาทิพย์ก็เข้าใจว่าพระอริยะต้องมีตาทิพย์ ไม่เข้าใจว่านั่นเป็นบุญของแต่ละบุคคล กลับไปเข้าใจว่าผู้บรรลุคือผู้มีคุณพิเศษ ธรรมที่ถูกคือการปล่อยวางละอุปาทานในขันธ์ทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ ไม่ใช่อำนาจวิเศษอภินิหารแต่ประการได ๔.เพื่อพระนิพพาน คือดับทุกข์ในชาตินี้ รวมความก็คือความดับทุกข์ทั้งปวงชนิดแบบถาวรนั่นเอง สำหรับข้อนี้ยิ่งไม่ต้องอธิบาย ก็ตรงตัวคือเพื่อนิพพาน คือสิ้นอาสวะกิเลสในชาตินี้นี่แหละ สำหรับข้อนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้ ท่านทั่งหลายคงจะเข้าใจแล้วว่าเป้าหมาวิปัสสนากรรมฐานที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร
สำหรับภาค ๑ ก็ขอจบเพียงแค่นี้
ภาค ๒ เสียดายถ้าไม่ได้อ่าน ก่อนแสงอุทัย
โดย จนฺทปญฺโญ ภิกฺขุ
ภาค ๒ เสียดายถ้าไม่ได้อ่าน.....ก่อนแสงอุทัย สารบัญ - เมื่อครั้งยังเยาว์ - สู่ร่มเงาพุทธศาสนา - พานพบผู้วิเศษ (เดินสู่โมหะอย่างรุนแรง) - บวชพระ - คืนสู่เพศฆราวาส - ลุ่มหลง - คืนสู่เพศบรรพชิต - ท่ามกลางไพร - ครั้งแรกของวิปัสสนา - หินทับหญ้า - หลงตนเอง - วิบากกรรม (เมื่ออาทิตย์อัสดง) - สังขารหลอกหน้ากับความคิดโง่ๆ - จากเมืองสู่บ้านป่า (นกคืนรัง) - พึ่งตนด้วยตน ด้วยอานาปานสติกรรมฐาน - พบแสงอุทัย (รุ่งอรุณแห่งพรหมจรรย์ มรรค ๘) - เป้าหมายชีวิต
คำปรารภ
ท่านผู้อ่านทุกท่าน คุณเคยไหม? ที่รู้สึกว่า คุณกำลังโดดเดี่ยวเพียงลำพัง อยู่ท่ามกลางความมืดมิดทั้งพายุทั้งฝนก็โหมกระหน่ำ ท่ามกลางความมืดมิดและหนาวเหน็บ ไร้ทิศทางที่ก้าวเดิน ไม่มีเพื่อน ไม่มีคนชี้ทาง ไม่มีแม้คำปลอบใจจากใครๆ ไม่มีกำลังใจจากใครๆที่คุณจะนึกถึง ซ้ำยังรันทดหดหู่เจ็บช้ำน้ำใจ ปวดร้าวถึงก้นบึ้งหัวใจ แต่ความจำเป็นที่ต้องเดินต่อไปบีบบังคับ จำต้องก้าวเดินต่อไป เดินทั้งๆที่พายุยังโหมกระหน่ำ เดินทั้งๆที่มองไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นหลุมลึกหรือหุบเหว หรือภยันตรายไดที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งหนาวเหน็บ ทั้งหวาดหวั่นและพรั่นพรึง เชื่อว่าใครก็ตามที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น สิ่งที่ปรารถนาสุดต้องการที่สุด คือแสงสว่างที่สาดส่องนำทางและสถานที่พักหลบลมฝน ข้าพเจ้าเช่นกันเมื่อตกอยู่ในภาวการณ์เช่นนั้น สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการสุดคือแสงแห่งอุทัยในยามเช้าที่สาดส่องลงมายังพื้นโลกเพื่อกำจัดความมืดมิดให้หายไป จะได้ก้าวเดินต่อไปอย่างแคล้วคลาดจากบ่อหลุมหรือหุบเหวอันน่าสะพรึงกลัวเมื่ออยู่ในความมืด หากว่าคุณไม่ตกเหวตกเขาตายไปก่อน เมื่อแสงตะวันสาดส่องคิดว่ามันคงเป็นเหมือนน้ำทิพย์สวรรค์ที่หยาดหยดลงมาจากฟากฟ้าให้คุณได้ดื่มกินยามหิวกระหาย ความหวัง กำลังใจ คงฟื้นกลับมา เมื่อเจอแสงสว่างที่สาดส่องนำทางให้ก้าวเดินต่อไปและเป็นหลักประกันว่าคุณจะถึงจุดหมายโดยสวัสดีไร้อุปสรรคแผ้วพาน หากคุณเคย โปรดได้อ่านก่อนแสงอุทัยทุกหน้าทุกบรรทัด อย่าขาดตอน เพราะบางช่วงคุณอาจเคยอยู่ในความมืดเช่นข้าพเจ้า หรือกำลังอยู่ท่ามกลางความมืด บางทีหนังสือเล่มนี้อาจเป็นแสงสว่างแก่ท่าน ไม่มากก็น้อย หรืออาจเป็นแค่แสงจากฟ้าแลบก็ยังดีเพื่อได้เห็นทางที่จะก้าวเดินได้บ้าง ก่อนแสงอุทัย เรื่องนี้ข้าพเจ้าเขียนถึงประสบการณ์ความถูกต้องและข้อผิดพลาด ของข้าพเจ้าเอง ซึ่งจะเอาเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น เพราะหากเขียนเรื่องของตนทุกแง่มุม ก็จะเป็นการเขียนประวัติตนเองไป ซึ่งนั่นไม่ใช่จุดต้องการเพราะตนเองไม่ใช่คนเด่นดัง หรือสลักสำคัญอะไรๆ เพียงแต่เห็นว่าประสบการณ์ของตนเองทั้งข้อดี ข้อเสีย คงจะเป็นอุทาหรณ์แก่คนอื่นได้บ้าง ที่ดีก็เอาไปใช้เป็นประโยชน์ ที่ไม่ดีเป็นข้อเสียก็จะได้ละเว้นไม่หลงเข้าไปกระทำตาม เพราะว่าเราจะทำอะไร ไม่ว่าดีร้ายล้วนแต่มีผลทั้งนั้น เพราะผลทั้งหลายที่เรากำลังเสวยอยู่ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากเหตุ เพราะธรรมทั้งหลายจะเป็นกุศลหรืออกุศลย่อมเกิดมาแต่เหตุ และถ้าจะดับก็ต้องเข้าไปดับที่เหตุอีกนั่นและ ดังนั้นในเรื่องก่อนแสงอุทัยนี้ ข้าพเจ้าจะเขียนเรียงลำดับตั้งแต่ความเชื่อแรกตั้งแต่เป็นเด็ก จากความเห็นผิดจนกระทั้งค่อยๆเข้าใจ จนกระทั่งพบทางแสงสว่างที่จะปฏิบัติและมั่นใจทางนี้แหละเป็นเส้นทางที่จะเดินสู่ทางแห่งอิสรภาพคือหลุดพ้นจากความมืดคือ อวิชชา หรือที่เรียกว่าโมหะ ก่อนแสงอุทัย หมายถึงช่วงที่ยังไม่สว่าง เป็นยามค่ำคืนราตรี ความว่าเป็นช่วงที่ใช้ชีวิตด้วยอวิชชา มีโมหะเป็นที่ปิดกั้น จึงใช้ชีวิตไปตามอำนาจแห่งราคะและโทสะ ถูกกระแสธารแห่งตัณหาอุปาทานฉุดกระชากลากดึง ต้องวิ่งตามอำนาจแห่งกิเลสที่คอยบงการที่มาทั้งในรูปแบบทั้งหยาบและประณีต กว่าแสงอุทัยจะสาดส่องหลายครั้งหลายคราที่ต้องพลัดตกหลุม ล้มลุกคลุกคลาน พลาดแล้วพลาดเล่า ผิดแล้วผิดอีก ถือว่ายังมีบุญนำพา บารมีแห่งพุทธธรรมนำรักษา จึงรอดพ้นจากความมืดมาได้ ข้าพเจ้าเลยคิดว่า น่าจะนำมาเป็นอุทาหรณ์ตัวอย่างแก่ผู้อื่นบ้าง เพราะสิ่งที่เราเคยหลงเคยผิดพลาดมา ยังมีคนอีกจำนวนมากยังเดินตามทางนั้นอยู่ เพราะยังพบอยู่เสมอเจออยู่ตลอด นั่นคือความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของพระธรรมคำสอนกับความเชื่อวัฒนธรรม ประเพณี มันเป็นคนละเรื่องกัน แต่มักจะนำมาปะปนกันจนทำให้คนรุ่นหลังเดินตามอย่างผิดๆ บางครั้งบางคราวเรากับเอาประเพณีความเชื่อเหมารวมว่านี่คือพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น บุญบั้งไฟ ทางภาคอีสานเป็นต้น หรือพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา หรือถ้าไปตามวัดจะเห็นบริจาคโลงศพสะเดาะเคราะห์ อย่างนี้เป็นต้น ไปในวัดใหญ่ๆหลายแห่ง หลายที่มีทั้งศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ตำหนักปู่นั่น ปู่นี่ สารพัดทั้งมัคคะนายก ทั้งพระแนะนำให้บนบาลศาลกล่าวกันขวักไขว่ เคยไปวัดเช่นวัดหลวงพ่อโสธรเป็นต้น ส่วนมากคนก็ไปบนไข่บ้าง นางรำบ้าง อยากถามทุกท่านที่ไปบนนั่นเหลือหลายว่า ก็พระองค์นิพพานไปแล้วจะรับเครื่องสังเวยอย่างไร ยิ่งนางรำแล้วใหญ่พระองค์ปราศจากราคะ ยังต้องการดูนางรำอีกทำไม เรื่องอ้อนวอนบนบานเป็นความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์โน่น แล้วเราก็เหมาเอารวมว่าเป็นสิ่งที่มีในพุทธศาสนา ทั้งๆที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มี หรือไสยศาสตร์ไม่มี แต่ต้องการให้แยกแยะให้ออก ว่าอันไหนเป็นพุทธ อันไหนเป็นพราหมณ์ อันไหนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า สั้นๆง่ายๆคำสอนของพุทธศาสนา พระองค์มุ่งเน้นการแก้ปัญหาชีวิตคือทุกข์ ที่สมุทัยคือต้นตอเหตุแห่งทุกข์ และนิโรธ ความดับทุกข์แก้ปัญหา ด้วยการลงมือปฏิบัติตามหลักวิธีการที่ถูกต้องหรือถูกทาง เรียกว่ามรรค ๘ สรูปคือ ให้รู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ นิโรธ ต้องทำให้แจ้งชัดเจน มรรค เทคนิควิธีการที่ทำให้ดับทุกข์ นี่จึงเป็นใจความสำคัญหรือความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา อย่างอื่น วิธีอื่น กล้าพูดว่าไม่ใช่ทางที่พระพุทธเจ้าของเรามุ่งหมาย ดังนั้นในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะเขียนทั้งความเชื่อ และหลักธรรมตามคำสอนพุทธธรรม อันเกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของข้าพเจ้า ก็หวังเป็นอย่างยิ่ง เรื่องก่อนแสงอุทัย จะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายไม่มากก็น้อย
ด้วยปรารถนาเห็นผู้อื่นเป็นผู้ไร้ทุกข์ พระวุฒิเลิศ จนฺทปญฺโญ
เมื่อครั้งยังเยาว์ (ความเชื่อแรก)
ข้าพเจ้าเกิดปี พ.ศ ๒๕๑๘ ที่บ้านดงยาง ต.ดู่น้อย อ.จตุรพักพิมาน จ. ร้อยเอ็ด และก็ย้ายมาที่หมู่บ้านที่ห่างกันประมาณ ๓ กิโลเศษ คือบ้านหนองชาติ ต.ดู่น้อย อ.จตุรพักพิมาน จ.หวัดร้อยเอ็ด เป็นหมู่บ้านมี่ข้าพเจ้าจำความได้แล้ว และเริ่มเรียนรู้ซึมซับรับเอาความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีที่นี่ และเป็นความเชื่อแบบฝังรากลึกจนถึงขนาดที่เรียกว่าอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นชนิดที่เกาะกุมฝังลึกอย่างเหนียวแน่น หมู่บ้านหนองชาติ ก็คือบ้านป่าชนบท ที่ห่างไกลความเจริญ สมัยนั้นไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แสงสว่างยามราตรีก็อาศัยตะเกียงหรือแสงเทียน การได้รับข่าวสารทางบ้านเมืองก็ต้องอาศัยวิทยุแบบรุ่นเก่า แต่ใช่ว่าจะมีกันทุกครัวเรือน การเป็นอยู่ส่วนใหญ่ก็คือยากจน เป็นสังคมหาเช้ากินค่ำ อาชีพทำนา ชีวิตอยู่กับท้องไร่ท้องนากับป่าดงพงไพร เจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษากันไปตามมีตามเกิด ตามความเชื่อ หลายๆอย่างของวิถีชีวิตบ้านป่าบ้านนาบ้านนอกได้เริ่มหล่อหลอมจนเป็นความเชื่อหลายๆอย่างที่ผ่านมา ซึ่งข้าพเจ้าจะลำดับดังต่อไปนี้ ความเชื่อเรื่องผี เรื่องผีๆ หรือคำว่าผีนี่กล้าพูดว่าถูกกรอกหูมาตั้งแต่จำความได้ และมักมีเรื่องเล่าลือมาไม่ขาดสาย บางเรื่องถึงกับเป็นตำนาน หรือเป็นนิทาน ที่ผู้ใหญ่คอยพูด คอยย้ำ ให้เชื่ออย่างนั้น รวมทั้งประเพณีเซ่นสรวงบูชาผีปู่ ย่า ตายาย ผีบรรพบุรุษ ผีป่า ผีนา สารพัดผีๆ แต่ที่ฮิตติดชื่อของคนภาคอีสาน นั่นคือ ผีปอบ เมื่อมีผี แน่นอนก็ต้องมีคู่ปรับนั่นก็คือบรรดาหมอผี (ทางภาคอีสานมักเรียกว่าหมอธรรม) แม้แต่จะทำอะไร? ทำบุญ ทำไร่ ทำนา เป็นอันต้องบอกกล่าวกับบรรดาผีเสียก่อน เห็นอยู่ตลอดเวลา ถูกสอนทั้งคำพูด การกระทำที่ผ่านมาในรูปแบบพิธีกรรมตามประเพณีความเชื่อ จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเรื่องแปลกผิดอะไร ที่ชาวบ้านจะเชื่อหรือนับถือเช่นนั้น ถ้าจะมองในแง่ของประวัติศาสตร์ การนับถือผี การเซ่นสรวงบูชา นี่นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นหลายร้อยหลายพันปี ถ้าท่านเคยอ่านประวัติบรรพบุรุษคนไทยของเรา จะพบว่าก่อนที่เราจะอพยพย้ายถิ่นฐานลงมาทางไต้ บรรพบุรุษของเราอยู่แถบเทือกเขาอันไต ที่เขาเรียกว่าพวกไต เป็นชนเผ่าที่รักสงบใช้วิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ทำอาชีพกสิกรรม ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ หาของป่าดำรงชีพ ในด้านศาสนาหรือความเชื่อก่อนที่จะรับวัฒนธรรมจากอินเดีย หรือมีพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ ชนเผ่าไต หรือคนไทย บรรพบุรุษของพวกเราก็นับถือผีฟ้า ผีแถน กันอยู่ การนับถือผีฟ้าผีแถนที่ยังเห็นเป็นรูปร่างหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน นั่นคือบุญบั้งไฟทางภาคอีสานนั่นเอง และพวกนับถือผีฟ้า ที่เวลาทรงจะมีคนมาฟ้อนรำ มีคนเป่าแคน ซึ่งปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่ในบางพื้นที่ ก็ก็นับน้อยลงทุกที เรียกว่านับถือผีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ความเชื่อนี้ได้ฝังรากลึกจนเข้าสายเลือดของพวกเราแล้ว ปัจจุบันแม้จะเป็นยุคไอที แต่ความเชื่อนี้ก็ยังเหนียวแน่นอยู่ ตอนข้าพเจ้าเป็นเด็กในเวลาหน้าฝนชาวบ้านถ้าคืนไหนฝนตกหนัก เสียงอึ่งกบเขียดร้องระงมเต็มทุ่ง แต่นั่นชาวบ้านมักคิดว่าเป็นเสียงสวรรค์ เพราะเสียงกบ เขียด อึ่ง มันหมายถึงอาหารที่จะมาจุนเจือในครอบครัว เมื่อเสียงกบเขียดร้องชาวบ้านก็จะออกทุ่งกันเป็นกลุ่มเพื่อไปจับกบเขียดหรืออึ่งตามแต่จะได้ ในทุกๆเช้า ก็มักจะมีข่าวในหมู่บ้านโจษจันเล่าลือว่าคนนั้นไปหากบคนเดียวโดนผีที่โน่น ที่นี่หลอกมา อย่างนี้เป็นประจำ มันทำให้ข้าพเจ้ากลัวจนจับจิต เวลาค่ำคืนมืดลงเมื่อเข้านอนก็จะนอนคุมโปงจนถึงเช้า หากตื่นก่อนสว่างได้แต่รอแสงอรุณในยามเช้า นับเป็นการรอที่เนิ่นนานจริงๆ เพราะความกลัวและรอคอยมันช่างทรมานและเนิ่นนานจริงๆ ซ้ำร้ายที่หมู่บ้านของข้าพเจ้า ก็มีคำร่ำลือว่ามีปอบทุกคนกลัวกัน จะว่าไปแล้วถ้าเป็นสมัยปัจจุบันข้าพเจ้าพบ คงจะคิดว่าแกต้องป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่าง เพราะตามที่เห็นและจำความได้ ยายคนนี้แกชอบกินแต่ของสดๆ อยู่เงียบๆไม่สุงสิงกับใคร ชอบเล่นคาถาอาคม ยามค่ำคืนก็จะมีเสียงพร่ำบ่นคาถา ภาวนาอาคม แต่ก็แปลกอยู่ เพราะทุกวันพระใหญ่ ๑๕ ค่ำมักจะมีคนถูกปอบเข้า แน่ล่ะก็ต้องเดือดร้อนถึงหมอผี พอหมอผีมาถึงก็จะทำมัดผี แล้วถามว่า เป็นผีตนได อยู่ไหน ทุกครั้งที่ถูกเข้า ก็จะออกปากว่าเป็นใคร เมื่อเอ่ยชื่อคนใด คนนั้นก็ตกเป็นจำเลยของสังคม ทุกคนรังเกียจ ซึ่งข้าพเจ้าออกจะงมงายไปหน่อย และคนที่ถูกกล่าวหาก็ไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง หรือแก้ต่างใดๆได้เลย นับว่าโชคร้ายจริงๆและน่าเห็นใจมาก เพราะบางทีอาจเป็นแค่โรคอุปาทาน หรืออาการทางจิตประสาทก็ได้ แต่ก็อย่าพึ่งสรูปว่าผีปอบไม่มี ตามที่ได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง คนที่เป็นปอบคือคนที่ร่ำเรียนวิชามาแล้วรักษาไม่ได้ ทำผิดครูอาจารย์ที่สอนสั่ง วิชาเข้าตัวก็เลยเป็นปอบ นี่จำพวกหนึ่ง อีกพวกคือ คนที่ได้รับสืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย หรือพ่อ แม่ เรียกว่าเวลาจะตายก็มักจะถ่ายทอดให้คนอยู่ใกล้ตัวนั่นเอง ตำนานบอกว่าเป็นปอบชนิดที่แก่กล้ามาก ประเภทที่ ๓ คือพวกหมอธรรมที่ไปรักษาปอบ หรือไปเสียผี พวกปอบที่ถูกรักษาออกจาตัวคนแล้ว เมื่อไร้ที่อาศัยก็จะมาอยู่กับพวกหมอผีนี่แหละ ถ้ามาอยู่รวมกันหลายๆตัวอันนี้ก็ร้ายกาจพอกับปอบประเภทที่ ๒ นี่คือจำพวกตำนานความเชื่อเรื่องปอบ หรือเรื่องคนเป็นปอบ หากที่บ้าน ไก่หรือวัวของใครตายทีหลายๆตัว ชาวบ้านก็จะลงความเห็นทันทีว่า ปอบลง ถ้าสมัยนั้นมีหมอเข้าไปตรวจโรคก็คงจะดี จะได้บอกชาวบ้านว่ามันเป็นอะไรตาย บางครั้งข้าพเจ้าคิดว่ามันน่าเป็นโรคระบาดอะไรสักอย่าง แต่คนแก่ก็จะบอกว่า “บักหำน้อย มึงบ่อฮู้จัก มันบ่ได้เป็นโรค ผีห่ากับผีปอบมันมาลง มื้ออื่นเขาสิเอาหมอธรรมมาไล่ปอบ” ท้ายที่สุดก็สรูปลงที่ผีเหมือนเดิม จำได้ว่าตอนนั้นข้าพเจ้าพึ่งจะสิบขวบ คนข้างบ้านแกไปรับจ้างถางป่าถางไร่ทางภาคกลางแล้วป่วยกับมา พ่อข้าพเจ้าบอกว่าอาการหนาวสั่นแบบนี้ ต้องพาไปหาหมอ น่าจะเป็นไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า แต่คนข้างบ้านกับไม่เชื่อ กับดันไปเชื่อหมอผี บอกว่ามีผีนามาทำรักษาด้วยน้ำมนต์ ท้ายที่สุดก็ตาย สิ่งที่ได้คือคำแก้ตัวของหมอผีว่า ผีนามันแข็งสู้ไม่ได้ หากเชื่อพ่อของข้าพเจ้าก็คงจะมีทางหาย เพราะไปถึงมือหมอโรงพยาบาล การรักษาก็คงจะหาย เพราะรักษาถูกโรค แต่นี่ปล่อยให้นอนอยู่บ้าน รักษาด้วยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ก็จบกันเท่านั้น ตอนข้าพเจ้าอายุ ๑๑ ปี ที่หมู่บ้านจะพากันเอาไม้มาทำปลัดขิก อันใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ทาหัวสีแดง แล้วก็ตอกไว้หน้าบ้าน บอกว่ากันผีแม่หม้าย ผู้ชายที่เป็นหนุ่มขึ้นไปก็ให้นุ่งผ้าถุงนอน ทำกันทุกครัวเรือน ยกเว้นบ้านข้าพเจ้า เพราะโยมพ่อแกไม่ค่อยเชื่อ แกเป็นคนเชื่อมันในตัวเอง เคยบวชเคยเรียน สมัยนั้นจบนักธรรมโทก็นับว่าหรูแล้ว แกเลยไม่งมงาย แกมักเชื่อเหตุและผลมากกว่า แต่ก็ไม่ถึงกับไม่เชื่อเรื่องอำนาจผีสางเทวดา เรื่องผีแม่หม้ายเกิดจากมีผู้ชายจำนวนมากนอนหลับแล้วใหลตาย บ่อยมาก เมื่อไม่ทราบสาเหตุการตาย สุดท้ายก็ไม่พ้นคำวินิจฉัยตัดสินของบรรดาหมอผีว่า ที่ตายเพราะมีผีแม่หม้ายมาจากเมืองลับแลมาเอาวิญญาณไปเป็นผัว ช่วงนั้นทางราชการน่าจะให้หมอไปให้ความรู้ประชาชนว่าตายเพราะอะไร? เกิดจากสาเหตุอะไร? ถ้าตามที่ข้าพเจ้าสังเกตและนึกดูย้อนหลังเมื่อตอนโต เวลามีข่าวลือมา ข้าพเจ้าสังเกตพวกที่ตายส่วนมาก คือพวกที่ทำงานหนัก กินอาหารไม่ครบ ๕ หมู่ อย่างมากก็ข้าวเหนียวปลาล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ อาหารไม่สมบูรณ์ ทำงานหนัก ที่สำคัญเลิกงานมาข้าวปลาไม่ค่อยกินกับไปกินเหล้าขาว ๔๐ ดีกรีเป็นประจำ แบบนี้ไม่ใหลตายให้มันรู้ไป มาถึงตรงนี้ก็ให้หวนระลึกนึกถึงว่าที่พระพุทธเจ้าสอนว่าเมื่อไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่เข้าใจในขันธ์ ๕ จึงชื่อว่ามีอวิชชา เมื่อมีอวิชชาก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หมายความว่า พอไม่รู้จริง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คนก็จะเกิดจินตนาการไปต่างๆนาๆ อวิชชาคือความมืด หรือความไม่รู้ สังขารคือคือความคิดจินตนาการ สังเกตว่าเมื่อยามค่ำคืนถ้าเรามองไปยังทิศทางที่เราไม่เคยเห็นตอนกลางวัน ถ้ามองในตอนกลางคืนเราไม่รู้ว่าไอ้ที่อยู่ข้างหน้ามันเป็นอะไรบ้าง ก็จะได้แต่จินตนาการคิดเอาว่า มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ หากเห็นอะไรวูบๆวาบๆ ทำให้ขนลุกล่ะก็ ความคิดแรกก็จะวิ่งไปยังความจำฝังใจในเรื่องของความกลัว ก็คงจะไม่พ้นเรื่องผี ถามว่าทำไมผีไม่หลอกกลางวัน ขอตอบว่า เพราะตอนกลางวันมีแสงสว่างมองเห็นความจริง จึงไม่เกิดจินตนาการ แต่กลางคืนความมืดของราตรี ไม่สามารถมองเห็นตามความจริงได้ จึงเกิดจินตนาการ เมื่อจินตนาการเรื่องผี ก็ย่อมมีผีเป็นธรรมดา เอาละสำหรับความเชื่อเรื่องผี การได้รับอิทธิพลทางความคิดจนเชื่อตามในเรื่องของผี ก็พอแค่นี้ก่อน ความเชื่อเรื่องอำนาจดลบันดาล ถ้าพูดถึงความเชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์บันดาลโชคแล้วละก็ ถ้าศึกษาจากแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์แทบจะกล่าวได้ว่าทุกชาติทุกภาษา ไม่ว่าจะเป็นคนเอเชีย หรือแม้แต่โลกตะวันตกพวกฝรั่งก็ตามที มักมีความเชื่อเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน เพียงแต่จะแตกต่างกันในแง่ของพิธีกรรมตามความความเชื่อ ตามสภาพภูมิประเทศเท่านั้น มนุษย์โบราณมักมีคำถามและปัญหาที่สุมหัวหาคำตอบไม่ได้ เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ของธรรมชาติ เช่น ฝน ตก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหวภูเขาไฟระเบิด จึงเกิดจินตนาการถึงอำนาจที่เหนือมนุษย์ เช่นพวกเทพเทวดา เจ้าป่า เจ้าเขา ถ้าอยู่ติดทะเล ก็จะมีเจ้าแม่สมุทร พระยานาค มังกร หลากหลายจินตนาการ อย่างพวกอีหยิบ และพวกกรีก ก็มีเทพเจ้าของเขา แม้แต่พระจันทร์ พระอาทิตย์ก็พลอยได้เป็นเทพไปด้วย ความเชื่อนี้ค่อยพัฒนาการจนมาเป็นศาสนาในเรื่องของพระเจ้าผู้สร้างผู้ดลบันดาลในสรรพสิ่ง ความเชื่อนี้ไม่ได้หนีหายไปไหน ยังฝังรากลึกอยู่กับมนุษย์ทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยเราส่วนใหญ่เราจะได้รับอิทธิพลทางความเชื่อมาจากมหาอำนาจของเอเชียแต่โบราณกาลนั่นคือ จีนกับอินเดีย คนจีนยุคโบราณมักมีความเชื่อว่าในสรรพสิ่งย่อมมีวงจิต ดวงวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ หิน ทะเล ทุกอย่าง ถ้าเราดูหนังจีนที่เป็นตำนานหลายเรื่องๆ เช่นเรื่องไซอิ๋ว เราจะเห็นเทพหรือปีศาจมากมาย ปีศาจหอย ปีศาจกุ้ง ปีศาจหิน สรพัดเป็นต้น แม้แต่ตัวเอกอย่างซุนหงอคงก็มาจากหินอุกาบาตโน่น จึงมีการสร้างศาลเจ้าต่างๆ และบรรดาศาลเจ้าต่างๆ ก็จะเป็นที่แห่แหนไปบนบาลอ้อนวอนร้องขอความช่วยเหลือ จากอดีตยุคโบราณจนถึงปัจจุบันก็ยังเหนียวแน่นเหมือนเดิม อินเดียนับว่าเป็นถิ่นเกิดศาสนาวัฒนะธรรมความเชื่ออย่างมากมายที่สุด และประเทศไทยเราส่วนใหญ่ก็รับอิทธิพลมาจากอินเดียมากที่สุด นั่นคือลัทธิศาสนาพราหมณ์ เมื่อก่อนคนไทยเรา อาจมีแค่ผีฟ้าผีแถน แต่พอรับวัฒนธรรมมาจากอินเดียแล้วเราก็มีเทพมากมาย มีพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ และอีกมากมาย แม้จะมีพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อประชาชน แต่ค่านิยม ความเชื่อเดิมก็ไม่ได้ลดละลงไปเลยสักนิด จนในที่สุดก็ประสานกลมกลืนเข้ากันจนเป็นวัฒนธรรมสืบทอดเป็นประเพณีกันสืบมา จนทำให้ผู้ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างเข้าใจแยกแยะไม่ออกว่าอันไหนพราหมณ์อันไหนพุทธ แม้แต่ต้นตำหรับอย่างพราหมณ์แท้ๆมาพบเข้าก็คงจะออกอาการงง ว่าอะไรกันแน่ แม้แต่ปัจจุบันในวัดใหญ่ๆในเมืองหลวง กราบพระพุทธรูปเสร็จ เดินอีกหน่อยก็มีทั้งพระพรหม พระนารายณ์ พระพิฆเนศ เต็มไปหมด บางวัดรวมกันเลยทั้งพระพุทธรูป ทั้งเทพ ทั้งเจ้าพ่อเจ้าแม่ ดูแล้วก็สับสนน่าดู ก็ไม่ว่ากันที่พึ่งทางใจ อย่างน้อยก็ทำให้คนรู้จักกราบไหว้ รู้จักเกรงกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง อย่างน้อยคนที่กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ยังเชื่อเรื่องบาปบุญอยู่บ้าง และยังพอจะเป็นเนยยะบุคคลอยู่บ้าง คือเป็นบุคคลที่พอจะแนะนำให้เป็นบัวที่พ้นน้ำได้ เอาละมาว่ากันต่อว่าความเชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์บันดาลโชค มันได้เข้ามาฝังแน่นอยู่ในจิตใจของข้าพเจ้า จนกลายเป็นนิสัย เป็นสันดานที่นอนเนื่องติดแน่นแนบสนิทในจิตใจ จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดจนกระทั่งหลงผิด เดินทางผิดสู่โมหะอย่างรุนแรงในเวลาต่อมาได้อย่างไร เมื่อข้าพเจ้าจำความได้ สิ่งที่ได้เห็นเป็นประจำนั่นคือพิธีกรรมทางด้านบนบานอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เนืองนิตย์ ที่บ้านหนองชาติมีป่าที่ติดหมู่บ้านทางด้านหลังวัดเนื้อที่ไม่มากนักประมาณ ๓ ไร่เศษ ชาวบ้านเรียกว่าดอนตาปู่ (คือที่สถิตอยู่ของภูมิเจ้าที่ของหมู่บ้าน ตามความเชื่อ) ในทุกๆปีก่อนจะลงทำนา ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นช่วงเดือน ๖ไทย หรือประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปีนี่แหละ จะมีการเซ่นสรวงกันทุกปี ในวันนั้นทุกครัวเรือนจะต้องฆ่าไก่บ้านละตัว ต้มไปบ้านละตัวเอาไปรวมกัน นำไปรวมกัน แล้วก็ทำพิธีบวงสรวงตามความเชื่อ เจ้าพิธีก็หนีไม่พ้นหมอผี หรือหมอธรรมประจำหมู่บ้านอีกนั่นแหละ ข้าพเจ้าจะตามแม่ไปร่วมพิธีเสมอ ที่ชอบไปอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ จะได้ไก่มาเป็นอาหาร เด็กๆทุกคนก็มักจะตามไป เพราะมีทั้งผลไม้ ขนมหวาน แน่ล่ะตามถิ่นชนบทไกลปืนเที่ยงที่ห่างไกลความเจริญในสมัยนั้น ถ้าไม่มีงานสำคัญอย่าหวังว่าจะมีลาภปากงง่ายๆ การบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทบจะเป็นสรณะที่พึ่งในทุกๆเรื่อง เวลาเจ็บป่วยก็จะพากันอ้อนวอนต่อเทพเทวดามาดลให้หายป่วย จะทำนา ไปทำงานต่างจังหวัด เดินทางไกล ก็ต้องพึ่งการบนบานอีกนั่นแหละ ก็มีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ที่สำเร็จยิ่งลุ่มหลง ที่ไม่สำเร็จก็มักโทษดวงชะตา หากมีพระที่สอนในเรื่องของอนิจจังความไม่เที่ยงก็คงจะดีไม่น้อย จะได้เข้าใจว่าเรื่องสมหวัง ผิดหวัง ได้ เสีย เป็นธรรมดาของโลก ไม่ขึ้นต่ออำนาจของใคร เรียกว่าโลกธรรม ๘ เรื่องธรรมดาของโลก ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ จะบนบานหรือไม่ จะมีเทพเทวาหรือไม่ มันก็เป็นไปของมันอย่างนี้ตามเหตุ ตามปัจจัย นานเข้าสิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของข้าพเจ้า ค่านิยมความเชื่อเหล่านี้ ได้หล่อหลอมเด็กชนบทบ้านนอกอย่างข้าพเจ้า จนมีความเชื่อแบบไม่สงสัย และฝังแน่นอย่างเหนียวแน่น ทุกอย่างมองเป็นเรื่องของเทพบันดาล สมัยเด็กช่วงหน้าแล้งเดือน ๕ ก็ไปเลี้ยงควายตามท้องทุ่งข้าพเจ้าสังเกตว่า แผ่นดินอีสานที่แห้งแล้ง ไม่มีน้ำ ไม่มีปลาในนา แต่พอเข้าหน้าฝนพอมีน้ำท่วมขัง ในนากับมีปลา ข้าพเจ้ายังเคยคิดว่า กุ้ง หอย ปู ปลา คงจะหล่นมาจากฟากฟ้า เทวดาคงบันดาลให้ เพราะก็เห็นอยู่ว่าตอนฝนยังไม่ตก ไม่มีน้ำสักที่ ปลาก็ไม่มี แต่พอหน้าฝนปู ปลากับมีมา จนโตมาค่อยเข้าใจ ปลามันอยู่กับบ่อ หรือสระตามท้องนา ที่พอมีน้ำอยู่บ้าง พอหน้าฝนมาปลาก็มากับน้ำ นี่แหละที่พระพุทธองค์บอกว่า อวิชชาเป็นปัจจัย ให้เกิดสังขาร พอไม่รู้จริง ไม่รู้แจ้งก็จินตนาการ แล้วก็เชื่อตามความคิดนั้น ความเชื่อในเรื่องของศาสนา ความเชื่อเรื่องของการทำบุญ เรื่องประเพณีการทำบุญนี่ทางภาคอีสานนี่มีความเป็นเอกลักษณ์พิเศษแตกต่างจากภาคอื่นๆอยู่มากพอสมควร เรื่องบุญในรูปแบบประเพณีกับบุญตามหลักพุทธธรรมแทบไปคนละเรื่อง การทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นถ้าถือเอาตามคัมภีร์ก็จะไม่พิธีกรรมอะไรเลย พูดถึงการกระทำและองค์ประกอบของการกระทำ ถ้าอยากทราบโดยระเอียดในเรื่องการทำบุญท่านผู้อ่านสามารถไปค้นคว้าเพิ่มเติมในเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้ จะได้รู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างแค่เรื่องการทำบุญด้วยการให้ทานตามหลักพุทธธรรมกับการทำบุญตามความเชื่อที่สืบทอดตามประเพณีนั้นมันแตกต่างกันอย่างไร เรื่องของทานตามหลักการทางพุทธศาสนาท่านหมายถึงหารให้ การฝึกหัดตนเองให้เป็นผู้รู้จักเสียสละ แบ่งปัน ด้วยจิตเมตตา เพื่อความน่าอยู่ของสังคม หากในสังคมได รู้จักแบ่งปันความสุขแก่กันและกัน ไม่เห็นแก่ตัว สังคมนั้นก็จะน่าอยู่ขึ้น และการให้ทานจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดความโลภทางจิตใจให้น้อยลงบ้าง เป็นคนที่รู้จักให้ไม่ใช่รู้จักแต่เอา และเป็นการอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อีกทาง ถ้าทานแบบทำบุญกับพระก็ง่ายๆ ในด้านอามิสหรือสิ่งของที่จะให้นั้น ต้องเป็นของที่ได้มาอย่างสุจริต ด้านผู้ให้ก็ต้องมีคุณธรรม ๓ ประการ คือ มีเจตนาที่จะให้ ๑ กำลังจะให้ย่อมมีใจดี ๑ ให้แล้วย่อมมีใจผ่องใส ๑ ๑.มีเจตนาที่จะให้ หมายความว่า ตั้งใจทำด้วยตนเอง ด้วยจิตเจตนาที่จะให้ทานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีใครมาบังคับหรือขอร้อง หรือทำเพราะเห็นแก่หน้า หรือเพราะต้องการอยากได้สิ่งตอบแทน นี่คือองค์ประกอบที่ ๑ ๒. กำลังจะให้ย่อมมีใจดี หมายความว่าเมื่อตั้งใจถวายทาน ก็อย่าจำเพาะเจาะจง เลือกที่รักมักที่ชัง เลือกว่าจะถวายแก่พระรูปนั้น รูปนี้ รักรูปนั้น ชอบรูปนี้ พอไม่อยู่ ถวายกับรูปที่ตนเองไม่ชอบก็ใจไม่ดี เริ่มไม่พอใจ ดังนั้นเวลาจะให้ไม่ว่ากับใคร หรือกับพระรูปไหนก็ขอให้มีใจยินดี ยินดีกับกรรมคือการกระทำในการให้ของตนเอง ๓. ให้แล้วย่อมมีใจผ่องใส หมายความว่า เมื่อถวายไปแล้วควรทำใจให้เบิกบาน อย่าไปคิดเป็นเจ้าของ หรือเสียดายกับสิ่งที่ให้ไป บางคนถวายแก่สงฆ์ไปแล้วยังเที่ยวหวงอยู่ว่า นั่นของฉันๆ เวลาพระให้คนที่ตนเองไม่ชอบหยิบยืมไปก็โกรธ เสียดาย จิตใจขุนมัวเลยทำให้บุญคอยหม่นหมองไปด้วย ดังนั้นเมื่อเราทำไปแล้วต้องทำใจให้ผ่องใสเบิกบาน ไม่เสียดาย ไม่กลับไปเป็นเจ้าของอีก ในการให้ทานสำหรับผู้ทำทานมีแค่นี้ ไม่มีพิธีกรรมอะไรเลย ไม่มีอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อนสักนิด ไม่เกี่ยวกับฤดูกาล ไม่เกี่ยวกับฤกษ์ยามดี เพราะความดีทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องคอยไปให้หมอทำนายบอกวันดี วันฟู วันมหาโชคสิทธิโชคอะไรทำนองนั้นให้ยุ่งยาก บางคนอยากทำบุญแต่กับหาฤกษ์ไม่ได้ หรืออีกหายอาทิตย์ข้างหน้า อยากถามว่าถ้าตายก่อนฤกษ์ดีจะมาจะได้ทำไหม ฤกษ์ดีของข้าพเจ้าคือ พร้อมเมื่อไร สะดวกเมื่อไร นั่นแหละฤกษ์ดีสุด โอกาสดี มีความพร้อม น้อมจิตมั่นคง คือฤกษ์อมฤตราชาโชคเลย นี่คือการทำบุญแบบทานตามหลักพระพุทธศาสนา แต่ถ้าทำแบบความเชื่อที่สืบทอดกันมาล่ะ อันนี้ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน และบางทีก็ออกจะสวนทางไปเลยกับหลักพุทธศาสนาแต่เรากับมองว่านี่ล่ะพุทธศาสนา เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นในเรื่องของการทำบุญตามประเพณีหลายอย่างที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่ แต่ก็ไม่มีใครแนะนำสั่งสอน เราทำตามความเชื่อ เชื่อจนเป็นการงมงาย ไม่ได้แยกแยะผิดถูก สมัยก่อนถ้าบอกว่าบ้านไหนมีงานบุญ สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นตั้งแต่เด็กนั่นคือ การฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมาก เช่นงานบุญผะเหวด(บุญมหาชาติ) ที่เรียกว่าผะเหวด น่าจะมาจากการเรียกว่า พระเวสสันดร(พระเจ้าสิบชาติ ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์) แต่เรียกสั้นๆว่าพระเวส แต่พอนานเข้าเสียงเพี้ยนเปลี่ยนไปจึงกลายมาเป็นผาเหวด ในงานบุญมหาชาติต้องมีการฆ่าหมู ฆ่าวัว ไก่ ปลา เป็นจำนวนมาก ตอนกลางคืน ก็หมอลำ สิ่งที่พบในงานบุญก็คือคนเมา แล้วก็นักเลงนักเมาทะเลาะวิวาทต่อยตีหน้าเวทีหมอลำ ต่างบ้านที่บอกมาเอาบุญ ส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าจะไปที่วัดฟังเทศน์ฟังธรรมแต่ประการได นอกจากตั้งวงกินเหล้าสวนเสเฮฮา แล้วก็กลับบ้าน ในงานบุญต่างๆ บุญบั้งไพ บุญแจกข้าวเหมือนกัน ก็อย่างนี้ บางคนทำหน้าใหญ่ใจโตเกินฐานะบอกว่าทำบุญหมดหลายแสน ที่ข้าพเจ้าเห็นเข้าวัดหรือทำกิจกรรมทางศาสนาประมาณว่าไม่ถึงหมื่น นอกนั้นค่าเหล้า ค่าหมอลำ ค่าจิปาถะ ค่าวัวที่ซื้อมาฆ่าและหมูก็หนักเอาการ วันงานก็หน้าชื่นตาบานกับเสียงชื่นชม จบงานก็หน้าเหี่ยวแห้งปวดกบาลกับค่าใช้จ่าย แต่เราก็ยังเรียกว่าบุญๆของชาวพุทธ จนข้าพเจ้าถึงกับคิดว่า วันหน้าถ้าจะทำบุญให้ปู่ย่าตายายคงหนักเอาการ จนเกิดอาการกลัวบุญ ดังนั้นความเชื่อแรกในเรื่องของบุญในสมัยเด็กของข้าพเจ้าจึงเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำได้ยาก เพราะต้องสิ้นเปลืองอย่างมากมาย และบางคราวก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ครั้งหนึ่งตอนเป็นเด็กก่อนงานบุญหลายวันข้าพเจ้าเห็นวัวที่เขาจะเอาไปฆ่า เขามาล่ามไว้ข้าพเจ้าเห็นมันซึมเศร้าและที่ตาของมันมีน้ำตาไหลอยู่ตลอด มันร้องตลอดเวลา มันคงจะรู้ว่าอีกไม่กี่วันมันคงต้องตายแล้ว ต้องจากลูกอันเป็นที่รักของมัน ลูกของมันก็คลอเคลียอยู่ไม่ห่างทั้งๆที่ตามปกติเห็นมันร่าเริงแจ่มใสอยู่ตามท้องทุ่ง นั่นเป็นภาพติดตาข้าพเจ้าไม่มีวันลืม ความเชื่อเรื่องวิปัสสนา ในเรื่องวิปัสสนาตามความเชื่อในวัยเด็กนี่ก็เหมือนกัน มีเรื่องเล่ามากมาย ถ้าท่านได้อ่านวิปัสสนาคืออะไร? ในภาคแรกมาแล้ว ท่านคงจะทราบดีว่าวิปัสสนาคืออะไร? เป็นอย่างไร? เพื่ออะไร? ไดอะไร? ด้วยวิธีการอย่างไร? ถ้าจะนำมากล่าวในที่นี้ก็จะเป็นการกล่าวซ้ำซากจำเจ และอาจจะไม่ตรงตามความตั้งใจเขียนเรื่องก่อนแสงอุทัย ในที่นี้จะมุ่งเขียนความเข้าใจผิด ถือผิดในหลายๆเรื่อง บางท่านอาจสงสัยว่า แหม..ๆไหนบอกว่าเป็นเด็กบ้านนอก แล้วทำไม? มีเรื่องแยะจัง ก็เรื่องเยอะแยะของเด็กบ้านนอกนี่แหละ เอาละเพื่อไม่เป็นการอารัมภบทมากไป เรามาเข้าเรื่องกันต่อ สมัยเป็นเด็กข้าพเจ้ามักได้ยินคำว่า วิปัสสนา ออกค่อนข้างบ่อย ที่ว่าได้ยินบ่อยเพราะมีเหตุเกี่ยวเนื่องกับคำนี้เป็นประจำ แน่ล่ะก็คงหนีไม่พ้นเรื่องหนีไม่พ้นอิทธิปาฏิหาริย์บันดาลโชค หรือคุณพิเศษในเรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์เป็นต้น ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่าวิปัสสนา ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่า วิปัสสนาคงเป็นคาถาอาคมบางอย่างที่เสกเป่าให้เข้มขลังเข้าใจไปอย่างนั้น ตอนนั้นจำได้ว่าอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เป็นโรงเรียนวัด ที่วัดก็ไม่ค่อยมีพระ นานๆจะมีพระจรมาพักสักที วันหนึ่งช่วงเวลาบ่ายคล้อยก็มีพระหลวงตารูปหนึ่งท่านมาพักที่วัดในหมู่บ้าน ช่วงเย็นก็มีบรรดาญาติโยมมาหากันมากพอสมควร ข้าพเจ้าก็ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็นซะทุกเรื่อง จึงมากับผู้ใหญ่ เมื่อท่านได้ทักทายปราสัยไต่ถามสารทุกสุขดิบพอสมควรแล้ว ชาวบ้านต่างก็ขอของดีตามความเชื่อ ท่านหลวงตาท่านก็ช่างมีพร้อมเสียเหลือเกินนั่นก็คือ ด้ายผูกแขนมีตระกุดเล็กหุ้มอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้ด้วย ข้าพเจ้าถามตาที่อยู่ข้างๆว่า เอาไว้ทำไม คุณตาแกก็รีบทำหน้าเหมือนดุๆใช้นิ้วแตะปากในทำนองบอกว่าเงียบๆ แกรู้ไหมด้ายนี่กันผีปอบ ผีทุกอย่าง โชคดีแค่ไหนที่แกได้ มีบุญดอกจึงได้มา ผมถามต่อว่าหลวงตาท่านเป็นหมอผีเหรอ คุณตาทำหน้าเอือมในความขี้สงสัยของข้าพเจ้า บ๊ะ! ไอ้นี่ ท่านจะเป็นหมอผีได้ไง ท่านเป็นพระวิปัสสนากรรมฐาน ท่านจึงมีคาถาอาคมเก่งกล้า ผีอยู่ไหน ผีอะไรท่านรู้ ท่านเห็นหมด เอาเป็นว่าครั้งแรกความเข้าใจในเรื่องวิปัสสนาของข้าพเจ้าก็เข้าใจผิดไปไกลเลยทีเดียว แน่ละขนาดผู้ใหญ่ยังไม่รู้ พระก็ไม่เข้าใจ เด็กน้อยอย่างข้าพเจ้าจะเข้าใจได้อย่างไร กล้าที่จะพูดได้ว่าสมัยนั้นในหมู่บ้านข้าพเจ้าไม่มีใครรู้เรื่องวิปัสสนาอย่างแท้จริงสักคนเลย หากพูดทั้งจังหวัดข้าพเจ้าคิดว่าสัก ๑๐% ก็ถือว่ามากแล้ว ทำไมถึงบังอาจพูดอย่างนั้น ข้าพเจ้ามีเหตุผล แล้วข้าพเจ้าจะสรูปให้ฟังตอนท้ายเรื่องนี้ ต่อมาก็มีหมอธรรมไปนั่งเอาหวยตามป่า อันว่าเรื่องหวยนี่นับว่าเป็นความหวัง ความต้องการของบรรดาชาวบ้าน นักเสี่ยงโชค นักการพนันแต่ไหนแต่ไรมาเลยทีเดียว หรือบางทีก็มีพระมานั่งบ้าง ตามต้นไม้ใหญ่ ตามป่าช้า ตามที่ๆเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ พอถามว่าเขานั่งอย่างไรถึงเห็น คนเฒ่าคนแก่ก็จะตอบเป็นเสียงเดียวว่า ที่นั่งได้เพราะท่านเรียนวิปัสสนามา เวลามีงานปลุกเสกเครื่องรางของขลัง โฆษกผู้ประกาศตามงานว่าพระอาจารย์ที่มานั่งปรกล้วนแล้วแต่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่ทรงวิทยาคมกล้าคาถามหาวิเศษ สารพัดจะโฆษนาชวนเชื่อ เป็นเช่นนี้ข้าพเจ้าถูกหล่อหลอมมาอย่างนี้จึงมีความเห็นผิดๆมาแต่เด็กว่า วิปัสสนาคือวิชาอันหนึ่งที่ทำให้มีฤทธิ์เหนือผู้คน มีคุณวิเศษตาทิพย์ หูทิพย์ ดังนั้นวิปัสสนากรรมฐานในความเชื่อเมื่อครั้งยังเยาว์ของข้าพเจ้า ก็คือเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บันดาลโชค เวทมนต์ คาถานั่นเอง ที่ข้าพเจ้าพูดว่าทั้งจังหวัดหาคนรู้เรื่องวิปัสสนาแท้ๆในสมัยนั้นแค่ ๑๐% ไม่ได้เกินจริง เอาอะไรมาวัด ข้าพเจ้าวัดจากงานบุญ ประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรมท้องถิ่น และพระผู้เป็นผู้นำ ที่ไหนๆก็เหมือนกัน มีงานบุญมีแต่ฆ่าวัว ควาย หมู รวมทั้งเหล้ายาปลาปิ้ง พระแต่ละที่ก็มุ่งเน้นไปที่เครื่องรางของขลัง นั่งสมาธิภาวนาก็ล้วนเพื่ออิทธิปาฏิหาริย์บันดาลโชคเท่านั้น(เฉพาะเมื่อ ๓๐ ปีก่อนโน้นนะ) สรูปว่า เมื่อครั้งยังเยาว์ข้าพเจ้าก็ได้รับถ่ายทอดค่านิยมทางความเชื่อผ่านรูปแบบของวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ จึงยึดมั่นกับอำนาจดลบันดาล อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ บันดาลโชค เชื่อว่าคนจะดี จะชั่ว จะดีหรือร้ายประการได อยู่ที่เทพบันดาล อยู่ที่ดวงชะตาฟ้าลิขิต นับว่าเป็นโมหะแรกที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นความโง่และพาตนเองเดินสู่ความมืดมิด ความผิดพลาดครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา เปรียบเช่นคนเดินทางมาไกลแสนไกล แต่ทว่าเส้นทางที่เดินกับมีจุดจบของเส้นทางที่หุบเหวลึก เดินต่อไปก็ตายเปล่า เดินกลับก็สุดจะเหนื่อยล้า จะหยุดอยู่กับที่ก็ไม่เกิดประโยชน์ ชีวิตที่เหลือก็จะไร้ค่าไร้ราคา จะหาทางออกอย่างไร เพราะฉะนั้นการสอนเด็กจำต้องรอบคอบ คำสอน ตัวอย่างที่เห็น สภาพแวดล้อมของสังคม ล้วนมีอิทธิพลกำหนดพฤติกรรมในเวลาต่อมา จะว่าไปแล้วนิสัยที่ถ่ายทอดพันธุกรรมก็เพียง ๒๐% เท่านั้นเอง นอกนั้น ครอบครัว บิดามารดา สภาพแวดล้อม สังคม การศึกษาจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและค่านิยมทางความเชื่อ นิสัยใจคอ ทัศสนคติ ข้าพเจ้าเองเคยอบรมเด็กภาคฤดูร้อนหลายปี สอนเด็กหลายที่ จากที่สังเกตพฤติกรรมเด็ก ทั้งการแสดงออก เด็กที่มาจากครอบครัวอบอุ่น และพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี ก็จะนิสัยเรียบร้อย ฉลาด จิตใจดี มองโลกในแง่บวก แต่ที่มาจากครอบครัวแม่ด่าเก่ง ใช้อารมณ์ พ่อขี้เหล้า เด็กก็จะมีปัญหากับเพื่อนตลอด ทั้งคำพูด พฤติกรรมก็ก้าวร้าว มองโลกในแง่ลบ มักคิดว่าเพื่อนๆคิดร้ายกับตนเองเสมอ เอาละสำหรับความเชื่อเมื่อตอนเด็กของข้าพเจ้า ก็ขอจบเพียงแค่นี้
สู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา
เมื่อข้าพเจ้าจบชั้น ป. ๕ พ่อก็พาย้ายบ้านมาอยู่ที่ อ.เกษตรวิสัย ที่บ้านทุ่งสวรรค์ ต.กำแพง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ข้าพเจ้ามาเรียน ป. ๖ ที่นี่ ถือว่าที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตใหม่ของข้าพเจ้าก็ว่าได้ เพราะเป็นเส้นทางที่ข้าพเจ้าไม่ได้คิดว่าจะได้เริ่มเร็วขนาดนี้ นั่นคือการได้ก้าวย่างเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา ปี พ.ศ ๒๕๓๑ ข้าพเจ้า จบชั้นประถมปีที่ ๖ ของการปีการศึกษาปีนั้น ข้าพเจ้าชอบการเรียนมาก การได้เรียน ได้อ่านหนังสือ ถือว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าจบการศึกษาระดับต้นแล้วแล้ว ก็อยากเรียนต่อในระดับมัธยม ก็ขอพ่อเรียนต่อ แต่พ่อก็บอกว่าไม่สามารถส่งเสียต่อได้ พ่อเองก็ให้เหตุผลว่า ใจจริงอยากให้เรียนสูงๆ แต่ครอบครัวเรายากจน แค่การกินอยู่ในครอบครัวในแต่ละวัน ก็ฝืดเคือง จะเอาเงินที่ไหนส่ง ข้าพเจ้าเองก็เข้าใจ เพราะพ่อมีลูกถึง ๗ คน ข้าพเจ้าเป็นคนที่ ๓ แม้จะเสียใจที่ไม่ได้เรียนต่อก็ได้แต่ทำใจ อายุแค่ ๑๓ ไปทำงานก็ไม่ได้ ก็ได้แต่อยู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นเด็กเลี้ยงควาย เช้ามาก็พาควายออกไปเลี้ยงกลางทุ่ง ยามเย็นย่ำค่ำสนธยามาเยือนค่อยต้อนควายกลับบ้าน ชีวิตดูเหมือนจะไร้จุดหมาย ไม่รู้อนาคตจะเป็นเช่นไร คิดไม่ได้ ทายไม่ออก บอกไม่ถูก เมื่อฤดูกาลการศึกษาเปิดใหม่ ตอนเช้าไปเลี้ยงควายมองดูเพื่อนชั้นเรียนปถมศึกษาด้วยกันเขาพากันถีบจักรยานไปเรียนมัธยมกัน คนแล้วคนเล่าที่ผ่านไป ข้าพเจ้ามองด้วยความอิจฉา อิจฉาที่เขาได้เรียนกัน แล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจในชะตาวาสนาตนเอง มองไปบนท้องฟ้าได้แต่ตั้งคำถามว่า “ไฉนท่านพระพรหมท่านถึงใจร้ายนัก ทำไมท่านให้คนอื่นเรียนได้ แต่กับข้าพเจ้ากับมาเป็นแค่เด็กเลี้ยงควายอยู่ตามท้องทุ่งเพียงลำพังเดียวดายเช่นนี้ ช่างเหงาจริงๆ” นานวันเข้าความอยากรู้อยากเห็นตอนเย็นๆ ก็ต้อนควายมาหากินหญ้าที่ริมถนนที่เพื่อนๆเลิกเรียนจะถีบรถผ่าน เมื่อเพื่อนๆผ่านมาถึงผมก็ร้องถามด้วยความดีใจที่ได้คุยกับเพื่อน แต่คำตอบของเพื่อนทำให้ให้ข้าพเจ้ายิ้มฝืนๆกลืนน้ำลายลงอย่างฝืดคอ “ก็ดีเพื่อนเยอะแยะ ดีกว่าอยู่เลี้ยงควายวะ!” ด้วยคำพูดนี้ๆ เป็นเหมือนแรงกระตุ้นทำให้เกิดมานะอยากเอาชนะเป็นครั้งแรกในชีวิต คิดในใจว่า เราต้องหาทางเรียนให้ได้ ต้องทำให้ได้ จะไม่ยอมเป็นแค่เด็กเลี้ยงควายไปแน่ๆ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ข้าพเจ้าก้าวเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา หลังจากวันนั้นข้าพเจ้าก็เที่ยวถามคนที่พอจะให้คำปรึกษาได้ วันหนึ่งก็ได้พบกับความหวังของการเรียนขึ้นมารำไร มีตาคนหนึ่งไม่ทราบชื่อแกมาจากต่างหมู่บ้าน แกเห็นข้าพเจ้าผมยาวไม่ได้ตัดทรงนักเรียนแกจึงถามว่า “หนูออกโรงเรียนแล้วหรือ” ผมตอบแกว่าออกแล้ว แกก็ถามคืนว่าแล้วไม่ได้เรียนต่อมัธยมหรือ ข้าพเจ้าตอบว่าไม่มีเงินเรียน แกบอกว่าโอ้...ผู้ชายอย่างนี้สบาย ไม่ต้องใช้เงินเรียน ก็เรียนได้ แกบอกว่าให้ไปบวชเรียนสิ ก็ได้เรียนเหมือนกัน บวชเรียน คำนี้ข้าพเจ้ารำพึงในใจ แล้วจะไปบวชได้อย่างไร ใครจะพาไปบวช บวชที่ไหน เรียนอะไร ทุกอย่างตกอยู่ในห้วงความคิด คิดถึงพระหลวงปู่ หลวงตา ที่บ้าน ท่านก็ไม่ได้เรียนอะไร ท่านก็อยู่วัดเฉยๆ เพื่อนเคยบวชเณร ก็แค่ท่องมนต์ ไว้ฉันข้าวเท่านั้น จะเรียนอย่างไร คิดทั้งวัน จะไปถามโยมพ่อก็ไม่กล้า ได้แต่เก็บความสงสัยไว้เพียงลำพัง และก็จินตนาการไปตามประสาเด็ก และแล้วโอกาสก็มาถึง ที่หมู่บ้านมีคนตาย ตอนเย็นมีพระมาสวดพระอภิธรรม ก็เลยคิดว่าจะไปที่งานมีโอกาสจะถามพระดูเพื่อให้หายสงสัย ก่อนไปก็ต้องมีพิธีหน่อย ครั้งแรกกับอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็นึกถึงเวลาผู้ใหญ่เขาจะไปไหน เขาชอบบอกกล่าวกันก่อน บอกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่บ้านข้าพเจ้าบนหิ้งพระมีพระปางลีลาสีดำเนื้อดินองค์ใหญ่หน่อยเป็นของหลวงพ่อขอม วัดป่าเรไลย์ จ.สุพรรณบุรี ข้าพเจ้าขึ้นไปคุกเข้ากราบท่าน สายตาเพ่งจ้องด้วยความเคารพอย่างสูง พร้อมกับเอ่ยวาจาว่า สาธุ..หลวงพ่อลูกช้างลูกม้าอยากจะเรียนต่อ จะไปถามพระเรื่องบวช ขอให้หลวงพ่อช่วยลูกหน่อยเถอะ แล้วก็กราบลง จำได้ว่าตอนนั้น เกิดขนลุกชูชัน จิ้งจก ตุ๊กแกบนบ้านร้องพร้อมกัน ทำให้ข้าพเจ้ากลัวๆหวาดๆอย่างบอกไม่ถูก แต่ก็เป็นที่อัศจรรย์เหลือเกิน วันนั้นข้าพเจ้านั่งฟังพระสวดอยู่ ก็เห็นสายตาท่านเจ้าอาวาสอีกวัดหนึ่งท่านมองมายังข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าไม่รู้จัก พอสวดเสร็จท่านก็เรียกเข้าไปหา ท่านถามว่าไม่ได้เรียนหนังสือเหรอ ที่ถามเพราะผมยาว ไม่ใช่ทรงนักเรียน ผมตอบว่า ไม่ได้เรียนครับ ท่านถามต่อว่า บวชเณรไหม ไม่รู้อะไรดลใจข้าพเจ้าตอบแบบไม่คิดเลยว่า บวชครับ วันนั้นเองสวดเสร็จท่านก็มาบ้านข้าพเจ้า โยมพ่อเองก็แปลกใจที่เห็นพระมาบ้าน ท่านมาขอข้าพเจ้าจากโยมพ่อเพื่อจะพาไปบวช พ่อเองก็อนุญาต ๑๐ วันต่อมาข้าพเจ้าก็ได้บวชตามความตั้งใจ เมื่อบวชแล้วก็มาอยู่วัดไกล้ๆบ้าน ตอนบวชบวชด้วยกันกับเพื่อนสองคน เมื่อบวชมาแล้วก็ได้แต่รอ รอว่าจะได้ไปเรียนที่สำนักเรียนตามที่อาจารย์บอก ปีหนึ่งเต็มๆที่ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่น ช่วงที่อยู่ที่นั่นแม้ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็ได้เรียนรู้หลายอย่างทั้งผิด ทั้งถูก และประสบการณ์กับเรื่องของความเชื่อของพระและชาวบ้าน ประเพณีท้องถิ่น
สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมตอกย้ำความเห็น ความเชื่อแก่ข้าพเจ้า อันธรรมดาย่อมมีทั้งด้านดีและด้านร้ายเสมอ เหรียญย่อมมี ๒ ด้านฉันได วัฒนธรรมประเพณีที่ปลูกฝังเช่นกัน ย่อมมีทั้งคุณและโทษเป็นธรรมดาเช่นกัน
ความเชื่อของพระและชาวบ้าน อันความเชื่อของพระและชาวบ้านในสมัยนั้นก็เหมือนจะไม่แตกต่างกัน เพราะพระก็มาจากลูกหลานชาวบ้าน ได้รับมรดกทางความเชื่อวัฒนธรรมประเพณีมาจากแหล่งเดียวกัน พระส่วนใหญ่ไม่ว่าจะปฏิบัติธรรมหรือสวดมนต์หรือเรื่องพิธีทางศาสนา หรือการบุญต่างๆ แทบไม่มีเลยที่จะมีพระสักรูปลุกขึ้นมาเปิดหนังสือพระไตรปิฎก ศึกษาค้นคว้าสอบทาน หรือสอบทานจากผู้รู้มาแนะนำค่อยๆเปลี่ยนค่านิยมทางความเชื่อที่ผิดๆของชาวบ้านหรือพระหนุ่มเณรน้อยที่พึ่งบวชเข้ามาจะได้ไม่เดินตามอย่างผิดๆ ทุกๆวัดในเขตชนบทบ้านนอกในสมัยนั้น ล้วนทำตามประเพณี ความเชื่อ ผิดถูกอย่างไรก็ยังอยู่อย่างนั้น ที่ถูกที่ดีก็ไม่ได้รับการพัฒนาขึ้น ที่ผิดก็ไม่ยอมแก้ไขปรับปรุง แล้วลูกหลานที่เติบโตมาภายหลังจะเดินทางถูกได้อย่างไร ความเชื่อเรื่องแก้กรรม (พระทำโยมตาม พระตามโยมทำ) อันเรื่องแก้กรรมหรือล้างบาปนี่สงสัยจะเอาอย่างต่างศาสนากระมัง การแก้ไขละเลิกในพุทธศาสนานั้นก็มีอยู่ ก็คือการละบาปทั้งปวงได้ด้วยการปฏิบัติให้เข้าถึงธรรม คือละอุปาทานขันธ์นั่นเอง ไม่ได้ละหรือแก้ด้วยพิธีกรรมไดๆ แต่นี่พุทธรุ่นใหม่ รุ่นเอาใจกิเลสเรามีสารพัด ต่อศีล ปลงอาบัติล้างบาป ตอนข้าพเจ้าบวชเป็นสามเณรปีแรก ช่วงหน้าเข้าพรรษา เป็นช่วงที่ชาวบ้านลงทำไร่ไถนากัน ดังนั้นคนมาวัดตอนเช้า เพลจึงน้อย อาหารการขบฉันก็พลอยขาดแคลน วันหนึ่งอาจารย์ใช้ข้าพเจ้าจับไก่มาวัดมาต้ม สั่งให้ฆ่า ข้าพเจ้าก็ถามว่า มันก็ผิดศีลข้อปาณาติบาตจะฆ่าได้อย่างไร? อาจารย์ก็บอกว่า บ่อเป็นหยังดอก ตอนแลงจังต่อศีล (ค่อยทำพิธีต่อศีลตอนเย็น) ตอนเย็นก็ให้ไปเก็บดอกไม้ ๕ คู่ เทียน ๕ คู่ ธูป ๕ คู่ แล้วทำพิธีขอขมาลาโทษหน้าพระประธานต่อจากนั้น ก็มาขอศีล เป็นอันเสร็จพิธี จากวันนั้นทั้งฆ่าไก หากุ้งปลา มาทำอาหาร ที่หน้าแปลกญาติโยมที่มาเจอก็มาหาช่วย และก็จะบอกว่าอย่าลืมต่อศีลเด้อจัวน้อย (เณรตัวเล็กๆ) ในพรรษามีคนหนุ่มในหมู่บ้านมาบวช ๗ คน บางวันฝนตกหนัก ตอนกลางคืนกบ อึ่ง เขียดร้อง วิญญาณหนุ่มท้องทุ่งก็เข้าสิงทันที พระหนุ่ม ๓-๔ รูป ออกทุ่งหากบเขียด อึ่งกัน เป็นอาหารจังหันเช้า แน่ล่ะอาจารย์เจ้าอาวาสท่านก็จะบอกว่า ตอนเย็นค่อยปลงอาบัติตอนทำวัตรเย็น เป็นไงละทุกท่านความเชื่อแบบรุ่นต่อรุ่น วิจารณ์ความเชื่อนี้ตามความเห็นของข้าพเจ้า ก่อนอื่นต้องทำความเขาใจเกี่ยวกับการต่อศีลหรือขอศีลสามเณรกันเสียก่อน ตามหลักฐานในหนังสือมงคลสูตรหรือสมันตปาสาทิกาคัมภีร์อรรถกถาจารย์ท่านระบุว่า เมื่ออนุปสัมบันคือสามเณร กระทำผิดละเมิดสิกขาบทไดในบรรดาสิกขาบททั้งสิบข้อ ๕ ข้อแรกเป็นนาสนะ คือให้พ้นจากเพศหรือให้พ้นจากหมู่ ๕ ข้อหลัง เป็นทัณฑกรรม คือให้ลงโทษแล้วจึงพ้นโทษได้ แต่ไม่ว่ากรณีได ในสิกขาบททั้ง ๑๐ เมื่อสามเณรได้ละเมิดแล้ว หากเธอสำนึกผิดและคิดเป็นผู้ตั้งในสังวรต่อไปอุปัชฌาย์พึงให้สรณะและสิกขาบทอีก พูดง่ายคือบวชใหม่ได้เป็นสามเณรอีกนั่นแหละ เมื่อรับสรณะสิกขาบทใหม่อุปัชฌาย์พึงสอนให้เธอพึงตั้งอยู่ในศีลเป็นอันดีต่อไป สำหรับการปลงอาบัติพระเช่นกัน คือภิกษุต้องอาบัติเบาคือปาจิตตีย์เป็นต้น แล้วตนต้องข้อไดก็ประกาศให้สงฆ์รับทราบ แล้วปฏิญาณตนว่า จะไม่พูด ไม่ทำ ไม่คิดอีก เพื่อความสำรวมระวังต่อไป แม้จะพ้นจากอาบัติเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเดิมก็ตาม แต่ไม่ได้ความว่าจะหมดกรรมไปด้วย เช่นภิกษุฆ่าไก่เพื่อย่างสักตัว แม้จะปลงอาบัติแล้วพ้นอาบัติแล้ว แต่กรรมคือการแกล้งปลงลงเสียซึ่งสัตว์อื่นจากชีวิตไม่ได้หายไป กรรมนั้นยังมีวิบาก คือยังมีผลของกรรมที่จะแสดงอยู่ แต่เพื่อความสะดวกท่านจึงให้ว่าเป็นภาษาบาลี แต่เนื่องจากว่าคนรู้ความหมายคำแปลมีน้อยนานวันเข้าสิ่งที่จำมาเมื่อรุ่นต่อรุ่นจึงค่อยเรือนหายกลายมาเป็นความเชื่ออยู่กับพิธีกรรม ทำไมเมื่อขอขมาขอศีล ปลงอาบัติ จึงมีดอกไม้ ๕ คู่ เทียน ๕ คู่ ธูป ๕ คู่ ที่คนอีสานเรียงว่าแต่งขัน ๕ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวเนื่องอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร ถ้าจะหาหลักฐานที่เป็นตำราก็หายาก เพราะไม่ได้ระบุไว้ เคยค้นคว้าจากหนังสือประเพณีอีสานก็ไม่มีระบุไว้ เพียงแต่บอกว่าเวลาจะทำอะไรต้องมีขัน ๕ ขัน ๘ (ขัน ๘ ดอกไม้ ธูป เทียน อย่างละ ๘ คู่) ดังนั้นตรงนี้ข้าพเจ้าจึงขอวิจารณ์ตามความน่าจะเป็นตามความเห็นของข้าพเจ้า ผิดถูกประการไรก็ช่วยกันพิจารณา ถ้าพูดถึงขัน ๕ น่าจะหมายถึง ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่นย่อลงก็คือ กายกับใจ รวมความว่าชีวิตทั้งชีวิต คนโบราณเมื่อจะร่ำเรียนวิชาอะไร จำต้องมีความรักเคารพในครูอาจารย์จึงควรมอบชีวิตทั้งชีวิตให้ เช่นจะเรียนกรรมฐานก็ต้องมอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็ดำเนินตามมรรคาแห่งอริยมรรค ๘ ประการ คือตั้งแต่สัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธินั่นเอง เพราะหลักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ก็คือมรรค ๘ นี่เอง ใช้มรรค ๘ เพื่อความรู้แจ้งในขันธ์ ๕ ละอุปาทานในขันธ์ ๕ ด้วยมรรค ๘ คนโบราณที่เป็นอาจารย์ท่านจึงบอกว่าจะเรียนอะไรอย่าลืมอย่าทิ้ง ขันธ์ ๕ มรรค ๘ ขันธ์ที่ท่านหมายถึงคือ กองแห่งสังขารที่แบ่งเป็นส่วนๆ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จากขันธ์ซึ่งแปลว่ากองหรือส่วน กลับกลายไปเป็นขัน ที่หมายถึงภาชนะ หรือเครื่องหมายตัวแทน ตรงนี้ถ้าวิเคราะห์น่าจะมีเหตุ ๒ ประการดังนี้ ประการที่ที่ ๑ เพื่อปลูกฝังศรัทธาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงมีการนำเครื่องสักการะเช่นดอกไม้ธูปเทียนสักการระบูชาความรู้ที่ร่ำเรียน เช่นเมื่อเรียนอารมณ์กรรมฐานคือขันธ์ ๕ เมื่อเข้าใจชัดเจน จึงอยากสักการระบูชาอาจารย์แล้วยกชีวิตคืออัตตะภาพถวายแก่ครูอาจารย์เป็นผู้ชี้ทางพ้นทุกข์ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยใช้ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นเครื่องหมายของชีวิต คือสื่อถึงความมุ่งหมายมอบกายมอบใจถวายแด่พระพุทธศาสนานั่นเอง หรือนัยหนึ่ง ก็หมายถึงเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ในกัปนี้คือ พระกุกกุสันโท โกนาคมะนะ กัสสปะ โคดม อริยะเมตไตรย แต่อย่างหลังข้าพเจ้าคิดว่าไม่ใช่ เพราะมีขันธ์ ๘ บังคับอยู่ จึงน่าจะหมายถึง ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั่นเอง ประการที่ ๒ น่าจะเป็นอุบายวิธีแนะนำที่ชาญฉลาดของนักปราชญ์โบราณสมัยก่อน เพราะคนโบราณทำอะไร มักแฝงด้วยปมปริศนา ปรัชญา เมื่อให้ผู้ที่ยังเขลาอยู่ได้ไต่ถามแล้วถือโอกาสอธิบายแนะนำตามกำลังสติปัญญาของแต่ละคน ขอยกตัวอย่างเช่นเงินปากผี คนรุ่นหลังจะไม่รู้ว่าเขาใส่ไปทำไม ถ้าถามคนรุ่นหลังๆมาก็จะตอบว่าเอาไว้ให้เขาไปใช้ชาติหน้าโน่น อันที่จริงท่านนักปราชญ์โบราณท่านใส่ไว้ให้คนถาม คือเมื่อตายก็เอาเงินใส่ปาก คนก็จะถามว่าใส่เพื่ออะไร ท่านก็จะตอบว่าชีวิตคนเกิดมาในโลกนี้สิ่งที่จะติดตามไปโลกหน้ามีบุญกับบาปเท่านั้น ไม่สามารถนำทรัพย์ติดตัวไปได้ แม่ว่าต่อให้เราใส่ปาก ขี้ผึ้งอัดไว้ก็เอาไปไม่ได้ ยังคงเหลือไว้กับกองกระดูกนั่นเอง เพื่อให้คนปลง ปล่อยวาง ใช้คนตาย สอนคนเป็น ใช้คนตายเตือนสติคนเป็นไม่ให้ประมาทในชีวิต ประเพณีหลายอย่างถ้าเรามองให้เป็น ศึกษาให้เข้าใจเราก็แยกแยะออกว่าอันไหนบัณฑิตพาทำ อันไหนคนพาลพาทำ ขันธ์ ๕ หรือ ขัน ๕ นี่ก็เช่นกัน ท่านให้มีการสักการะเพื่อยกระดับจิตใจ และเพื่อให้ศึกษาถึงความหมาย เพื่อให้เข้าใจชีวิต ว่าชีวิตคืออะไร? เป็นอย่างไร ? ควรให้เป็นอย่างไร? ด้วยวิธีการอย่างไร? ชีวิต คือ ขันธ์ ๕ หรือกายกับใจ ที่เรียกว่ารูปและนามนั่นเอง เป็นอย่างไร? ชีวิตมันเป็นทุกข์ เพราะมันไม่อยู่อำนาจใคร? คือ อนิจจัง ผันแปรอยู่ตลอดเวลา ทุกขังทนอยู่กับสิ่งเดิมๆได้ยาก อนัตตา บังคับให้ได้ตามใจไม่ได้ ควรให้เป้นอย่างไร? ควรทำให้แจ้งในชีวิต คือนิโรธ ความดับทุกข์ ด้วยวิธีการอย่างไร? ด้วยการทำมรรคให้เจริญ คือมรรค ๘ นั่นเอง มรรค ๘ เจริญแล้วย่อมกระทำให้แจ้งในขันธ์ ๕ เมื่อแจ้งในขันธ์ ๕ มรรคผลก็มีตามลำดับ มาถึงตรงนี้ท่านทั้งหลายคงจะเห็นแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ขันธ์ ๕ พอนานเข้า ขาดคนรู้เข้าใจถ่องแท้ ความหมายในแง่ปริศนาธรรมอันลึกซึ้งค่อยๆจางหายไปในที่สุด จนเหลือแค่สัญลักษณ์ที่ยึดถือในรูปแบบพิธีกรรม และถือกันอย่างเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นในยุคหลังมาคนอีสานทำไรจึงมักมีขัน ๕ ขัน ๘ พิธีตัดกรรมล้างบาป พิธีกรรมนี้แหละที่ทำให้คนกล้าที่จะทำบาป เพราะคิดว่าทำชั่ว ทำเลว ทำผิดอะไรมา ก็มาทำพิธีนี้ก็หาย คนที่คิดพิธีกรรมนี้ขึ้นมานับว่าเป็นการทำพระธรรมวินัยให้วิปริต กรรมหนัก นับเป็นการย่ำยีตัวสัมมาทิฏฐิของเหล่ากุลบุตรชาวพุทธที่เกิดมาภายหลังอย่างโหดร้ายที่สุด ขอทุกท่านอ่านไปจะรู้ว่าคำพูดนี้ไม่ได้เกินจริง ความเชื่อนี้ทำให้ข้าพเจ้าหลงผิดมาแล้ว กว่าจะพบผู้ชี้ทางสว่างก็เกือบสายเกินไป เกินเยียวยา คนที่คิดค้นขึ้นมาเพื่ออะไร ก็เพื่อลาภสักการะนั่นเอง หากินบนความโง่เขลาของคนอื่น โง่ในที่นี้หมายถึงโง่ต่อกิเลสก็คือโมหะนั่นเอง พิธีเหล่านี้มักจะพบเห็นบ่อยซึ่งข้าพเจ้าพอจะสรูปได้อยู่ ๔ ประเภท คือ ๑.พวกหมอดู ๒. พวกที่เชื่อถือแบบสืบทอดกันมาแบบยึดมั่นถือมั่น ๓. วัดที่มุ่งเน้นลาภสักการะผลประโยชน์ ๔.กลุ่มคนทั้งพระและฆราวาสที่มุ่งผลกำไรทางการค้า จำพวกที่ ๑ พวกหมอดู การทำนายทายทักถ้ามองจากประวัติศาสตร์ก็นับว่า มีความเป็นมาอย่างยาวนาน นับเป็นศาสตร์ที่มีความละเอียด มีขั้นตอนที่ซับซ้อน และมีความท้าทาย และอีกหลายๆอย่าง อย่างน่าทึ่ง หากว่าไม่มีจริงก็คงจะไม่อยู่คู่มนุษย์จนถึงวันนี้ แต่ถ้าหากว่าสามารถมีอิทธิพลกำหนดแน่นอนในชีวิตของมนุษย์ได้จริงแล้วไซร้ ก็คงไม่มีใครต่อต้านคัดค้านว่าเป็นความงมงาย คนที่ไม่เห็นด้วยก็หาเหตุผลหักล้าง พวกที่เชื่อถือก็หาเหตุผลสนับสนุน จึงมีทั้งพวกเชื่อ และไม่เชื่อ และอีกพวก เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง หมอดูบางคนที่เป้นพระถึงกับเอาพุทธประวัติมาสนับสนุนศาสตร์ของตนเอง โดยอ้างว่าแม้พระผู้พระภาคเมื่อทรงประสูตได้ ๕ วัน ก็มีพวกพราหมณ์ที่เป็นผู้มีความรู้เจนจบในวิชาไตรเวทย์ มาทำนายลักษณ์ว่าหากพระองค์อยู่ครองราชย์ก็จะได้เป็นมหาจักรพรรดิราช และถ้าเสด็จออกบรรพชาจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก และคำทำนายก็เป็นจริง ดังนั้นการทำนายหรือดวงชะตาก็มีจริง อีกพวกหนึ่งก็บอกว่า ที่พูดเช่นนั้นก็ถูกที่ว่ามีการทำนายดวงในคราวพระองค์ประสูตได้ ๕ วัน แต่ถ้าเป็นวิชาที่สามารถแก้ทุกข์แก้ปัญหาได้จริงพระองค์ก็คงจะไม่ตำหนิว่าเป็นสีลัพพตรปรามาสหรอก พระองค์ปฏิเสธเรื่องดวงแล้วพระองค์ก็ทรงสอนให้เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม เรียกว่ากัมมสัทธา วิปากสัทธา เมื่อพระองค์ทำนาย พระองค์ก็เอากรรมเป็นตัวชี้วัด ชี้ผลที่เกิดจากเหตุ เช่นบุคคลนี้ที่เขาได้อย่างนี้ เพราะเขาทำกรรมอย่างนี้ อุปมาเหมือนปลูกแตงโมย่อมได้ผลแตงโม หรือคนที่กำลังเผ็ดลิ้นแสบปาก เพราะมาจากเหตุคือเขากินพริกขี้หนู จะได้มาเพราะใครบันดาลก็มาไม่ เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะที่ท่านได้เป็นสาวกองค์แรกก็เพราะมาจากเหตุ คือการที่ท่านเคยทำมหาทานอันยิ่งใหญ่แล้วตั้งจิตปรารถนาที่แทบเท้าของพระพุทธเจ้าในอดีตองค์ก่อนในหลายแสนชาติก่อน ได้เพราะกรรมไม่ใช่เพราะดวง ถ้าหากศึกษาอย่างเข้าใจในพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะเข้าใจว่าพระองค์ทรงมีวิธีจัดการอย่างไร พระผู้มีพระภาคพระองค์ไม่ไปคัดค้านต่อต้านความเชื่อเดิมในเรื่องของดวง โชคชะตา หรือพรหมบันดาล และพระองค์ก็ไม่สนับสนุนพวกที่ไม่เชื่อหรือต่อต้าน แต่พระองค์ทรงชี้นำให้เข้าหาเหตุผลของพระองค์ นั่นก็คืออริยสัจ ๔ ชี้ให้เห็นว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือต้นตอของความทุกทั้งมวล (สมุทัย) อะไรคือการดับทุกข์ (นิโรธ) และจะปฏิบัติอย่างไรให้พ้นทุกข์ (มรรค) เพราะจะมัวมาหาทางพิสูจน์ว่าเรื่องดวงมีจริงหรือไม่จริง ก็เสียเวลาเปล่าประโยชน์ ไม่ใช่หน้าที่ที่ชาวพุทธจะไปเสียเวลา เพราะหากมีจริงก็ไม่ทำให้เกิดมรรคผลแต่ประการได หากไม่มีจริงเป็นแค่เพียงความงมงาย พิสูจน์ได้แล้วก็ไม่เกิดอะไรที่เป็นประโยชน์กับตนเอง เพราะยังมีคนเชื่ออีกมากมาย จริงแล้วเป็นยังไง ไม่จริงแล้วเป็นยังไง แต่ที่จำเป็นและสำคัญนั่นคือกิจหรือหน้าที่ของชาวพุทธคือ ทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องทำให้เจริญ นี่ต่างหากสิ่งที่ต้องทำ เอาละทุกท่านอารัมภบทในเรื่องนี้ก็พอหอมปากหอมคอแล้ว เรามาเข้าเรื่องกันต่อ หมอดูกับการตัดกรรมล้างบาป สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา พระทำโยมตาม พระตามโยมทำ เมื่อตอนที่ข้าพเจ้าจำความได้จวบจนกระทั่งบวชเณร ก็เห็นอยู่เป็นประจำคือพวกทำพิธีสะเดาะเคราะห์ตัดกรรมตัดเวรว่ากันไป ตามที่ข้าพเจ้าสังเกตชาวบ้านพิธีนี้จะเกิดย่อมอาศัยเหตุสองประการคือ ๑. เกิดความทุกข์ ความไม่สบายกาย สบายใจ เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ฝันร้าย รางร้าย เหตุประหลาดเช่นงูเข้าบ้าน จิ้งจกทัก และจิปาถะ แล้ววิ่งหาทางแก้ ไม่พ้นหมอดู ๒. หมอดู หมอผี เกจิ ทำนายทายทัก แล้วก็ตามมาด้วยพิธีกรรม สะเดาะเคราะห์ ไล่อุบาทจัญไร ขับไล่อัปมงคล ตัดกรรมล้างเวร ก็ว่ากันไป พระทำโยมตาม หากหมู่บ้านไหนมีพระเจ้าอาวาส เป็นพระครู เป็นเจ้าอาวาสที่อายุกาลพรรษามากๆญาติโยมก็จะเข้าหา วันหนึ่งๆไม่น้อยอาบน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา พิธีกรรมก็แตกต่างกันไป แต่ละที่ก็ว่ากันไปตามประเพณีตามความเชื่อที่ได้รับถ่ายทอดมา อันนี้จะเป้นพระพาทำเรียกว่าเป็นทั้งพระ ทั้งหมอดู หมอพราหมณ์ หมอผีเบ็ดเสร็จในรูปเดียวช่างคุ้มจริงๆ ยังกะกาแฟทรีอินวัน รุ่นใหม่หลายอย่างในซองเดียวว่างั้นเถอะ ตามที่ข้าพเจ้าเห็นมาที่พานพบก็พอจะยกตัวอย่างมาให้ดูสัก ๕ วิธีของพระ ๒ ของโยม ๒ และเหมือนกันอีก ๑ รวมเป็น ๕ พิธีที่ ๑ นี้จะพบเห็นทางภาคอีสาน จะมีพระหรือหมอทำขวัญเป็นเจ้าพิธี สิ่งที่พบเห็นในพิธีก็คือ ใช้กาบกล้วยมาเย็บเป็นกระทง ๔ หรือ ๑๒ ห้อง มีข้าวดำ ข้าวแดง อาหารหวานคาว และมีไผ่ทำเป็นตอกเสียบไว้มีกระดาษตัดเป็นธง ๓ เหลี่ยมติดไว้ตรงปลายตอกไม้ไผ่ แล้วก็จะมีด้ายผูกแขนจำนวนหนึ่ง เมื่อทำพิธีเสร็จจะผูกแขน หลังจากนั้นก็จะนำกระทงไปทิ้งตรงทาง ๓ แพร่ง แค่นี้ก็ถือว่าตัดกรรมเหมดเคราะห์ได้แล้ว แล้วก็เฝ้ารอดวงมาบรามีหนุนตามความเชื่อสำเร็จก็ดีใจลุ่มหลงหนักขึ้น ถ้าไม่สำเร็จก็วิ่งหาที่ทำใหม่ที่คิดว่าขลังกว่า ดีกว่า ไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้ผู้ทำมีทั้งพระทั้งโยม ไปบางทียิ่งหน้าเศร้าใจที่เห็นพระนั่งพนมมือแต้เวลามีหมอพราหมณ์มาทำพิธี ก็พระเจ้าอาวาสยังหนุ่มพรรษายังอ่อน พอเจอหมอดูทักเข้าหน่อยก็รีบแจ้นทำพิธีทันที นี่แหละที่เรียกว่าพระทำโยมตาม พระตามโยมทำ จะโทษพระก็ไม่ได้เพราะท่านไม่ได้ร่ำเรียนอะไรนอกจากท่องมนต์ไว้รับกิจนิมนต์ จะว่าโยมหลอกก็ไม่ได้เพราะเขาก็ได้รับถ่ายทอดค่านิยมความเชื่อมาอย่างนั้น นี่เรียกว่าตาบอดจูงตาบอดแท้ๆ พิธีที่ ๒ อันนี้พบเห็นในหลายพื้นที่ พิธีกรรมจะเป็นพระทำอย่างเดียวนั่นคือ ให้คนไปนอนในโลงศพแล้วก็ชักบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย จากนั้นก็ถวายทานก็เป็นอันเสร็จพิธี หลายครั้งที่มีคำล่ำลือว่าทำแล้วโชคดี ร่ำรวย ถูกหวยรวยเบอร์แล้วแต่จะร่ำลือกันไป พิธีที่ ๓ อันนี้จะพบเห็นเป็นบางพื้นที่ทางภาคกลางและภาคอีสาน คลายกับพิธีที่ ๒ แต่เพิ่มการสวดถอดเข้ามา ใช้พระ ๔ รูป เอาผ้าขาวห่มแล้วก็สวดถอนเหมือนถอนโบสถ์ถอนสีมา แล้วก็ทำเหมือนพิธีที่ ๒ จากนั้นก็อาบน้ำมนต์ พิธีนี้มีความเชื่อว่าได้ถอนกรรมเวรในอดีตและความชั่วร้ายทั้งมวลออกจากตัวได้ แหม..หากถอนได้จริงโปรดทำพิธีถอนกิเลส ตัณหา อุปาทาน ราคะ โทสะ โมหะ ของข้าพเจ้าออกสักทีเถอะน่ารู้สึกมากมายเหลือเกิน พิธีที่ ๔ อันนี้พบเห็นทั่วไป อาบน้ำมนต์ ถวายสังฆทาน แล้วก็ปล่อยนกปล่อยปลา หอยขม เต่าปลาไหล อะไรก็แล้วแต่จะหาได้ แล้วก็เหมือนกันรอวาสนา ประมาทเหมือนเดิม พิธีที่ ๕ อันนี้พบบ่อยแถวภาคกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นวัดใหญ่ เจ้าอาวาสมักจะเป็นหมอดู หรือพระเกจิอาจารย์ พิธีนี้คือการสวดธรรมจักร จุดเทียน ๙๙ เล่ม จัดดอกบัวบูชา ๙๙ ดอก ธูป ๙๙ ดอก นิมนต์พระ ๙ รูป หรือเท่าอายุ ตามกำลังทรัพย์กำลังสัทธา แล้วก็อาบน้ำมนต์ธรรมจักร อันนี้ก็มีความเชื่อว่าจะทำให้หมดเคราะห์ แก้กรรม ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน เฮ้อ...คนที่เชื่อสิ่งเหล่านี้อยากให้ฟังธรรมจักรของหลวงพ่อพระครูภาวนาปัญญาภรณ์จังจะได้เข้าใจ ธรรมจักรเป็นหลักธรรมที่ต้องนำมาเรียนรู้แล้วปฏิบัติจึงพ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่มาประกอบพิธี คนคิดค้นพิธีกรรมไม่รู้เอาอะไรคิด ช่างคิดออกได้จริงๆ นี่ไม่เรียกว่าบิดเบือนคำสอนหรืออย่างไร ก็ในธรรมจักรก็บอกแล้วว่า สิ่งทั้งปวงมีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ทุกข์คืออะไร เหตุแห่งทุกข์มีอะไรบ้าง จะดับทุกข์ด้วยวิธีการอย่างไร ในธรรมจักรก็บอกไว้แล้ว จากต้นจนจบ ไม่มีให้อาบน้ำมนต์ นิมนต์พระเท่านั้น เท่านี้มาสวดแล้วจะหมดทุกข์หมดโศก นี่ไม่เรียกว่าบิดเบียนคำสอนจะเรียกว่าอะไร? เอาละที่ยกมาก็พอเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย อันที่จริงพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งนี้ยังมีอีกมาก แต่ที่ยกมาเพื่อให้พี่น้องชาวพุทธได้พิจารณาว่า สิ่งที่เป็นความเชื่อที่คนคิดขึ้นเพราะความไม่รู้อริยสัจ ๔ นั่นย่อมแตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นคำสอนแท้ๆของพระพุทธเจ้าแล้วที่ไหน เวลาได ย่อมคงเดิม เช่น ธรรมคืออริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่มีใครมาเปลี่ยนแปลงได้ หรือแต่งเติมดัดแปลงได้ หรือธรรมคือไตรลักษณ์ คือความเป็นไปของสิ่งทั้งปวงทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมนั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมเหล่านี้เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ขึ้นต่อดวง ไม่เกี่ยวพิธีกรรม ไม่เลือกกาล เป็นอกาลิโก ไม่ขึ้นต่อกาลเวลา พวกที่ ๒ พวกที่เชื่อถือแบบสืบทอดกันมา สำหรับพวกนี้เท่าที่พิจารณาก็เห็นว่า มีส่วนดีอยู่บ้าง และน่าชื่นชมอยู่สักหน่อย เพราะไม่ได้งมงายหรือคอยจ้องทำเวลาเกิดปัญหาชีวิต จะทำเป็นฤดูกาล เช่นปีใหม่ สงกรานต์ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำเสร็จก็ไม่รอคอยวาสนา หรือคาดหวังอะไร ทำเพราะเห็นว่าเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา อนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นประเพณีหรือมรดกทางวัฒนธรรมเท่านั้น บางพิธีกรรมก็เป็นการแสดงออกถึงความเป็นผู้ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิด และสามัคคีกันของคนท้องถิ่น เช่นพิธีทำบุญบ้าน ปัดเสนียดจัญไร ตอนเย็นนิมนต์พระเจริญพุทธมนต์ เช้าตักบาตร อันนี้ชาวบ้านก็จะมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ญาติๆพี่น้องที่ไปอยู่ต่างถิ่นก็มารวมกัน ลูกหลานก็ได้โอกาสมาเยี่ยมบุพพการี อันนี้ก็ถือว่าน่าชื่นชมได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น การได้พบปะญาติพี่น้อง ได้รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม ได้แสดงถึงความมีน้ำใจ ความสามัคคี อันนี้เห็นว่าน่ารักษาไว้ ปัจจุบันค่อยๆเลือนหายไป ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าพูดถึงคำว่า วัฒนธรรม ประเพณีบ่อยๆ ก็เลยอยากให้ความหมาย หรือคำกำจัดความสำหรับคำนี้สักหน่อย เคยอ่านหนังสือหลายๆเล่มมักเห็นบรรดาท่านนักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายท่านชอบให้ความหมายคำหรือคำกำจัดความหลายๆอย่าง ก็เลยอยากมีกับเขาบ้าง เพียงแต่ข้าพเจ้าทั้งไม่ใช่นักปราชญ์ทั้งไม่ใช่บัณฑิต ความรูทางโลกที่มีก็เพียงชั้น ป. ๖ เท่านั้นเอง คำว่าวัฒนธรรม มาจากคำว่า วัฒนะ แปลว่า ความเจริญ ความรุ่งเรือง การพัฒนาที่เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ แบบแผน ซึ่งได้ชื่อว่าวัฒนะ คำว่าธรรม หมายถึง สิ่งที่เป็นนามธรรมที่เป็นองค์ความรู้ หรือสิ่งที่เป็นความรู้ที่เป็นไปในตัวของมัน ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ทั้งที่เป็นธรรมชาติคือเกิดขึ้นโดยตัวของมันไม่มีใครปรุงแต่งหรือสร้างขึ้น และทั้งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการความคิดที่เป็นระบบระเบียบแบบแผนตามขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ คำว่าประเพณี หมายถึง การสืบต่อทางความคิด หรือการกระทำที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่น มีผู้ถ่ายทอด มีผู้รับการถ่ายทอด กระทำตามไม่ขาดตอน จนเป็นเครื่องยึดถือร่วมกันของคนในกลุ่มนั้นๆ หรือชนชาตินั้นๆ ดังนั้นคำว่าประเพณีทางวัฒนธรรม ตามความหมายของข้าพเจ้า ขอให้คำจัดความว่า สิ่งที่ต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อธรรมรงค์คงไว้ซึ่งความรู้ทางภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นหรือคนในชาตินั้นๆในการพัฒนาจุดศูนย์รวมทางจิตใจเพื่อความเจริญทางด้านจิตใจและความสามัคคีทางทางความเชื่อ วิถีชีวิต ค่านิยมทางความคิดของคนในสังคมในรูปแบบพิธีกรรมหรือพิธีการอันไดอันหนึ่งแบบรุ่นต่อรุนของชนในชาติ หรือสั้นๆง่ายๆว่า การสืบสานความรู้ ค่านิยมทางความคิด ความเชื่อนั่นเอง จำพวกที่ ๓ คือวัดที่มุ่งเน้นลาภสักการะผลประโยชน์ ในหัวข้อนี้ก็ต้องกราบขออภัยพระคุณเจ้าบรรดาเจ้าอาวาสหรือพระภิกษุผู้เป็นเจ้าพิธีกรรมต่างๆไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่เขียนไม่ได้คิดต่อต้าน หรือมุ่งเสียดสีทำลายแต่ประการได วัตถุประสงค์ก็เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของชาวพุทธเท่านั้นเองว่าอันไหนพุทธ อันไหนพราหมณ์ เมื่อข้าพเจ้าบวชเป็นสามเณรได้มีโอกาสท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ หลายที่ หลายจังหวัด ทั้งกลาง เหนือ อีสาน ตะวันออก ไต้ ได้มีโอกาสร่วมงานในสถานที่ต่างๆ เพราะตอนนั้นข้าพเจ้าเชื่อถือในเรื่องอย่างนี้แบบเต็มร้อยไร้ข้อกังขา ชนิดแบบฝังจิตฝังใจ เมื่อมีงานอย่างนี้ถ้าพบเจอก็ไม่พลาดอยู่แล้ว ก็ถูกปลูกฝังมาอย่างนี้ตั้งแต่จำความได้แล้วนี่ หลายวัดที่จัดพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา แก้ราหู เสริมชะตาราศี แต่ละที่เป็นงานใหญ่ คนมาจนล้นหลาม รถแทบไม่มีที่จอด ทั้งพระทั้งฆราวาสเต็มไปหมด มีทุกระดับตั้งแต่ยาจกยันเศรษฐี ทั้งผู้ไร้การศึกษาจนถึงพวกปัญญาชนคนมีความรู้ เรียกว่าตั้งแต่ ป.๔ จนถึงปริญญาเอก เรามาร่วมกันในงาน ก่อนงานก็มีป้ายติดตามที่ต่างๆ ใบปลิวชวนเชื่อต่างๆ ในงานก็มีวัตถุมงคลเครื่องรางต่างไว้ให้เช่าบูชาตามความชอบ กันคุณไสย แก้อาถรรพ์ สารพัดจะมี ยิ่งถ้ามีเกจิดังมาร่วมพิธี ปล่อยเช่าแทบไม่ทัน แม้แต่ด้ายสายสิญจน์ ในงานก็ยื้อแย่งกันราวกับว่าของล้ำค่า ทั้งเงินทำบุญอีกมากมายงานเสร็จแม้รายจ่ายจะมากมายแต่รายรับก็ทำให้ผู้จัดยิ้มแป้นตามๆกัน กำไรเลข ๗ หลักขึ้น แบบนี้ต้องจัดบ่อยๆ งัดกลเม็ดเด็ดวิธีมาชวนเชื่อสารพัด อันหนึ่งที่เห็นบ่อยนับเป็นวิธีดึงลูกค้าได้มากมาย คือในใบปลิวหรือโฆษนา ปีนี้เป็นปีขาลหรือปีอะไรก็ว่าไป ท่านที่เกิดปีมะ หรือปีชวด หรือเกิดวันอังคาร วันพุธกลางวัน กลางคือ เสาร์ ชื่อที่ขึ้นต้นด้วยอักษร ส หรือ ก จ อะไรก็ว่ากันไป เฮ้อ..คิดการตลาดได้ดีจริงๆ ถ้านับเฉพาะคนปีมะก็มากแล้ว มีกี่มะล่ะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม แค่คนเกิดในปีนี้ที่หลงเชื่อก็มากมาย ไหนจะปีชวด วันที่กำหนดอีก อักษรย่อของชื่ออีก รวมทั้งคนทั่วไปที่เชื่อถือสัทธาอีกรับรองว่าคุ้มจริงถ้ามองในแง่ของการตลาดแบบเก็งกำไร แต่ถ้ามองแบบชาวพุทธในแง่ของศาสนาที่มุ่งเน้นการใช้ชีวิตด้วยปัญญา นับว่าขาดทุนแบบแทบล้มละลายเลยทีเดียว เพราะคนที่มาพระที่จัดเท่ากับเป็นเครื่องชี้วัดว่า อยู่ในพุทธศาสนา อาศัยพุทธศาสนาแต่ไม่รู้จักพุทธศาสนาเลย ทึกทักความเชื่อพิธีกรรมว่าเป็นของชาวพุทธ นี่เรียกว่าตาบอดคลำช้างแท้ๆ หากมีคนมาเถียงว่า ไม่จริง คนที่มารู้จักพุทธศาสนาทั้งนั้นพระบางรูปได้มหาเปรียญสูงๆก็มี จบมหาลัยสงฆ์ก็เพียบญาติโยมบางคนเป็นครูสอนมหาลัยทั้งทางนอกและมหาลัยสงฆ์จะบอกว่าไม่รู้ได้ไง อ่า..ใจเย็นๆครับ ที่ว่าความรู้ ข้าพเจ้าหมายถึงรู้จริง รู้ถึงสภาวธรรมที่เป็นจริง รู้ถึงจิตถึงใจ ไม่ใช่ความรู้ตามตำราเพียงอย่างเดียว เพราะคนที่อ่านพระไตรปิฎกจนจบหมดทั้ง ๔๕ เล่มแต่ไม่เคยเห็นความเกิดดับของรูปนามเต็มไปด้วยอัตตาตัวตน นี่ยังไม่เรียกว่ารู้ ชาวบ้านที่ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกเลย แต่เห็นรูปและนามโดยความเป็นอนัตตาละความยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกูได้ นี่ถือว่าเท่ากับรู้พุทธศาสนาทั้งหมดเลยทีเดียว พวกที่ ๔ กลุ่มคนทั้งพระและฆราวาสที่มุ่งผลกำไรทางการค้า กลุ่มคนที่ว่านี้อันนับผลที่สืบเนื่องมาจากจำพวกที่ ๓ เมื่อเห็นว่าจัดงานประเภทนี้ผลกำไรงาม ก็เกิดความละโมบโลภมาก เมื่อมีความโลภก็ต้องคิดวิธีการในการจัดพิธีกรรมอันนี้ขึ้นเรื่อยๆ การที่จะจัดที่เดิมก็คงจะไม่ได้ จึงต้องแสวงหาที่ใหม่ เมื่อจะจัดเป็นอาชีพก็ต้องมีทีมงานทั้งฝ่ายพระและฆราวาสเรียกว่าตั้งกันเป็นทีม อยากจะให้ชื่อว่าบริษัทกำจัดเคราะห์จำกัด ท่าจะเข้าท่าดี กลุ่มคนนี้ก็จะไปจัดตามวัดต่างๆในจังหวัดต่างๆ ก็จะมีนายหน้าไปติดต่อ วัดไหนอยู่มี่ย่านชุมชน ถนนเข้าออกสะดวก การเดินทางสบาย เป็นแหล่งเศรษฐกิจดี คนมีสะตังใช้ ก็เป็นที่เหมาะ พิธีกรรมพิธีการต่างๆก็จะเริ่มทันที มีทั้งรูปแบบเช่าที่ หรือแบบเหมาจ่ายว่ากันไป ตามแต่สะดวก แบบเช่าที่ คือทางวัดไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องลงทุนสักบาท ทีมงานนี้จัดมาหมด ทั้งของพิธีกรรม ด้านการสื่อสารโฆษนา วัตถุมงคล พระประกอบพิธี เจ้าหน้าที่ปล่อยวัตถุมงคล รวมทั้งหน้าม้าที่คอยแสดงอาการชักดิ้นชักงอเหมือนของเข้า เจ้าลง องค์เข้า ตอนพระสวดคาถาภาวนาอาคม คนที่มีอุปาทานอยู่แล้วก็พลอยชักดิ้นชักงอไปด้วย คนที่เชื่ออยู่แล้วยิ่งงมงาย คนที่ไม่ค่อยเชื่อเลยเชื่ออย่างสนิทใจ คนที่ไม่เคยเชื่อก็ชักเริ่มลังเล ที่ว่าหน้าม้าเพราะไปร่วมหลายงานก็สังเกตว่าชุดเดิมนั่นแหละ คนที่คอยชักงอก็คนเดิมนั่นแหละ มีพระที่รู้จักอยู่ในทีมงานเลยแอบถามว่าไอ้ที่มันดิ้นเหมือนผีเข้านะมันได้งานเท่าไร ท่านตอบว่างานละพัน อ๋อ..ถึงว่าตีบทแตกเชียว งานเสร็จเจ้าอาวาสก็รับทรัพย์หน้าบาน กำไรเนื้อๆเพราะไม่ต้องออกทุนสักบาท และเป็นการโฆษนาวัดไปในตัว เงินก็ได้ วัดก็ดัง คนก็สัทธา กำไรล้วนๆ แบบเหมาจ่าย อันนี้เจ้าอาวาสและบรรดากรรมการวัดจัดขึ้นเอง แต่ก็ต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญในด้านพิธีกรรม การโฆษนา การประชาสัมพันธ์ อันนี้ก็ต้องว่าจ้างติดต่อบริษัทกำจัดเคราะห์จำกัดกลุ่มนี้ อันนี้บางครั้งผู้จัดก็ขาดทุน บางครั้งก็กำไรงามตามแต่สภาพพื้นที่ ค่านิยมของคนในที่นั้นๆ ว่ากันว่าเมื่อไรเศรษฐกิจแย่ คนว่างงานมาก กิจการเหล่านี้จะเฟื่องฟู เพราะคนเวลาตกงานจะเที่ยววิ่งหาหมอดู เมื่อไรจะมีงาน เมื่อไรจะสบาย เมื่อไรจะรวย นั่นก็เป็นโอกาสของพวกหมอดูจริงๆ ในหลักของเศรษฐศาสตร์บางอย่างท่านก็ว่า วิกฤตอย่างหนึ่งของคนพวกหนึ่ง ก็มักเป็นโอกาสของคนกลุ่มหนึ่ง วนเวียนอยู่อย่างนี้ เกิดดับ เกิดดับ เป็นธรรมดา ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ในโอกาสก็ย่อมมีวิกฤต ปะปนกันไป
ทัศนะวิจารณ์ถึงความเป็นมาของความเชื่อนี้ตามความคิดของข้าพเจ้า
ตามความเห็นของข้าพเจ้า พิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ ตัดกรรม ล้างบาป หรือการบวงสรวง ความเชื่อต่ออำนาจการดลบันดาลของเทพเจ้า ที่ต้องคอยอ้อนวอนบนบานให้เทพเจ้าเมตตาประทานพรตามความปรารถนานี้ น่าจะมีที่มาอยู่ ๓ ประการ คือประการที่ ๑ รับอิทธิพลทางความเชื่อตลอดถึงพิธีกรรมนี้จากลัทธิพราหมณ์โดยตรง ประการที่ ๒ อิทธิพลของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประการที่ ๓ การผสมผสานระหว่างความเชื่อเดิมและความเชื่อใหม่ หรือพุทธกับพราหมณ์ ประการที่๑ รับอิทธิพลทางความเชื่อตลอดถึงพิธีกรรมนี้จากลัทธิพราหมณ์โดยตรง
เป็นที่ทราบกันดีว่าในภูมิภาคเอเชียเราประวัติศาสตร์อารยะธรรมมนุษย์ที่ยาวนานและเป็นจุดเริ่มต้นของอารยะธรรมต่างๆของคนในทวีปเอเชีย เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินเก่ายุคหินใหม่จนถึงยุคของประวัติศาสตร์ ก็คงหนีไม่พ้นสองมหาอำนาจแห่งเอเชียนั่นก็คือ จีนและอินเดีย สองประเทศนี้ได้แผ่ขยายอิทธิพลทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เข้ามายังสยามประเทศแต่อดีตกาลโบราณมาโดยระยะไม่ขาดสาย ลัทธิเทพเจ้าของพราหมณ์ก็เช่นกัน ทั้งพิธีบูชายัญ อะไรต่างๆก็แผ่ขยายเข้ามาเช่นกัน ตามความคิดของข้าพเจ้าน่าจะเข้ามากับพวกพ่อค้าวานิชต่างๆ เพราะจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ประเทศไทยเราก็ได้มีการติดต่อค้าขายกับพวกแขกอยู่ก็ไม่น้อย ความเชื่อนี้ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยตั้งแต่ระดับพระราชาจนถึงประชาชนอย่างมากตามความเห็นข้าพเจ้าน่าจะสมัยอยุธยาเป็นราชธานี สังเกตจากการปกครองจากกษัตริย์ที่ปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัย ฐานะพระราชาก็เปลี่ยนไป เป็นเทพผู้สูงสุด เป็นพระเจ้าผู้มีสิทธิขาดในอำนาจทั้งปวง แม้แต่ชื่อราชธานีก็ตั้งตามชื่อตามแบบพงศาวดารอินเดีย หรือเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชื่อของพระรามติดมาด้วย “อโยธยาศรีรามเทพนคร” เมื่อรับความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เข้ามามีบทบาทต่อคนในชาติ วิถีชีวิต รูปแบบประเพณี วัฒนธรรม ย่อมมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพกาล หรือจะเรียกว่าการกลืนวัฒนธรรมนั่นเอง พิธีกรรมต่างๆจุดเริ่มต้นก็น่าจะมาจากลัทธิศาสนาพราหมณ์ที่แผ่ขยายอิทธิพลมาจากอินเดียนี่เอง
ประการที่ ๒ อิทธิพลของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ถ้าพูดถึงพุทธศาสนาฝ่ายมหายานคนไทยเราปัจจุบันอาจจะไม่ค้นเคย ถึงแม้จะเป็นที่รู้จักกันดีก็ตาม แต่เท่าที่เคยศึกษาตำราประวัติศาสตร์พุทธศาสนานิกายมหายาน ก็จะทราบว่าเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทยในระยะเวลาไม่ห่างกันกับนิกายเถราวาทเหมือนกัน จากที่ศึกษาดูพบว่าพิธีกรรมต่างๆในมหายานนั้นค่อนข้างมากทีเดียว ทีเป็นเช่นนี้อันสืบเนื่องมาจากการที่พุทธศาสนาถูกรุกรานจากศาสนาพราหมณ์หลังพุทธปรินิพานในยุคหลังมา พุทธศาสนาบางครั้งก็เฟื่องฟู บางครั้งแฟบลง นักเผยแผ่พุทธศาสนาผู้แตกฉานในวิชาต่างๆจำต้องงัดกลยุทธวิธีเข้าหาประชาชนผสมสานความเชื่อเดิมกับความรู้ใหม่คือหลักพุทธธรรมให้สอดคลองกลมกลืนกัน ศาสนาพราหมณ์มีพระอีศวรอาวตาลลงมาช่วยมนุษย์ในปางต่างๆ ในความเชื่อของพราหมณ์ถ้าใครทำดีจนเป็นที่พอใจของพระพรหมหรือบำเพ็ญตบะจนสำเร็จตามมรรควิธีของพราหมณ์ ก็จะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพระพรหม ซึ่งเรียกว่าพรหมมันหรืออาตมัน โดยเชื่อว่าเป็นชีวิตนิรันดร เป็นอมตะนั่นเอง และจริงมนุษย์เองก็พอใจในสิ่งที่เป็นแดนหรือสถานที่ตามจินตนาการว่าดีที่สุด ว่าตามจิรงก็คือยังพอใจกับอัตตาตัวตน ตัวกู ของกูอยู่นั่นเอง ในทางพุทธศาสนาแสดงถึงนิพพานเป็นอนัตตา ไม่มีแดน ไม่มีสถานที่ เป็นภาวะธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งไม่ขึ้นกับอะไร ไม่ขึ้นกับกาลเวลา หรือความดีความชั่ว บุญหรือบาป ไม่มีลักษณะไดที่จะบรรยายหรืออธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ เป็นสิ่งที่ผู้เข้าถึงสัมผัสได้ด้วยตนเอง เรียกว่าเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น คนอินเดียโดยส่วนใหญ่เรียกว่าแทบจะทั้งหมดมีความเชื่อแบบฝังหัวอยู่กับเทพเจ้า เชื่อในเรื่องพรหมบันดาลมาแต่บรรพบุรุษเรียกว่าฝังโดยสายเลือด แม้จะมีพุทธศาสนาอุบัติขึ้นแผ่ไพศาลไปทั่วอินเดีย แต่ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้จืดจางห่างหายไปไหนเลย ยิ่งเมื่อหลังพุทธปรินิพพาน พระสงฆ์สาวกก็แตกกันเป็นสองฝ่ายตั้งแต่ในคราวสังคายนาครั้งแรก จึงเริ่มมีสัทธรรมปฏิรูปเพิ่มเติมเข้ามา อันพิธีกรรมต่างๆก็เช่นกัน เพื่อจะเข้าถึงประชาชนชาวอินเดียที่หัวใจไม่ว่างจากการอ้อนวอน และพระโดยมากก็มาจากศาสนาพราหมณ์คือโดยส่วนใหญ่ก็นับถือพราหมณ์มาก่อน เมื่อบวชมาบางรูปก้ยังนำความเชื่อพิธีกรรมของพราหมณ์เข้ามาด้วย ยิ่งมีแนวคิดปฏิรูปให้คล้ายพราหมณ์ยิ่งถนัด จึงไม่ยากที่จะงัดกลยุธเข้าแข็งขันกับพวกพราหมณ์ เราก็จำต้องมี ดังนั้นเราจึงมีพระโพธิสัตว์ปางต่างๆเช่นกัน เพื่อเอาใจคนชอบบนบานอ้อนวอน จนขนาดยอมเอาพระนิพพานยกขึ้นมาเป็นสถานที่เป็นแดนสักแห่งเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำความดีเพื่อจะไปอยู่กับพระพุทธเจ้าในแดนนิพพานที่เรียกว่า แดนสุขาวดีอย่างนี้เป็นต้น ปัจจุบันยังมีคราบเงาหลงเหลืออยู่ดังเราจะเห็นในหนังสือคำอวยพรในงานบุญต่างๆ หรือความปรารถนาเวลาทำบุญของคนเฒ่าคนแก่ว่า “ขอให้พบดวงแก้ว ให้คลาดแคล้วบ่วงมาร ให้ถึงเมืองแก้วคือพระนิพพาน” คือมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้ากับเหล่าสาวกพากันไปอยู่เมืองๆหนึ่งที่มีแต่ความสุขสมปรารถนา อันมีชื่อว่านิพพานนคร ปัจจุบันมีชาวพุทธเป็นจำนวนมากแม้จะเป็นนิกายเถราวาทก็ตามก็ยังมีความเชื่อเหล่านี้ บางวัดที่มีเชื่อเสียงก็ยังมีความเชื่อเช่นนี้ถึงกับบอกว่าสามารถไปถวายข้าวพระพุทธในแดนๆหนึ่งได้ เมื่อนิพพานเป็นเมืองหรือเป็นแดน ความเป็นอัตตาย่อมมีขึ้น คือต้องการให้เป็นไปในอำนาจ ตามความปรารถนา พิธีกรรม การอ้อนวอน เอาใจบวงสรวงเพื่อความพอใจของเทพเจ้าย่อมมีตามมา เมื่อเชื่อในการอ้อนวอน การประทานพรจากเบื้องบนสวรรค์ จึงเริ่มเบี่ยงเบนจากคำสอนที่เป็นหลักพุทธธรรม จากที่พระองค์เคยสอนว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ก็เปลี่ยนมาเป็นพิธีกรรมแทน เปลี่ยนจากการปฏิบัติตามทางสายกลาง มาเป็นการอ้อนวอนร้องขอเพื่อความเห็นใจขึ้นมาแทน แหละอย่างหลังก็มักเป็นสิ่งที่มนุษย์ชอบพอใจอยู่แล้ว คืออยากได้แต่ไม่อยากทำ ประการที่ ๓ การผสมผสานระหว่างความเชื่อเดิมและความเชื่อใหม่ หรือพุทธกับพราหมณ์ ประการสุดท้ายนี้ข้าพเจ้าคิดว่ามีน้ำหนักมากที่สุด คือเป็นการผสมผสานระหว่างพุทธกับพราหมณ์ และมหายานกับเถราวาท ได้ผสมผสานบวกกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นนั้นจนเป็นเนื้อเดียวกัน แม้แต่ต้นตำหรับจะเป็นพี่พราหมณ์หรือฝ่ายมหายานมาพบประสบเข้าคงจะออกอาการมึนงงสงสัยระคนกัน แขกแค่เจอพิธีพราหมณ์ทางภาคอีสานแกคงร้องว่า “นาราย นาราย อีนี่มานอาราย” ขอยกตัวอย่างสัก ๒-๓ ตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาสักหน่อย ๑. การถวายข้าวพระพุทธ การถวายข้าวพระพุทธนี่ก็เหมือนกันก็น่าจะมาจากความเชื่อเดิม คือคนสมัยก่อนถนัดและเคยชินกับการเซ่นสรวงบูชาในสิ่งที่ตนเคารพกราบไหว้ ไม่ว่าชนชาติภาษาไดมักจะมีอยู่แล้ว เมื่อพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ก็ยิ่งง่ายเพราะเข้ากับความเชื่อเดิมอยู่แล้ว พอพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนา เวลาทำบุญประกอบพิธีทางศาสนา ถ้าจะไม่มีการเซ่นสรวงสิ่งที่ตนเคารพนับถือก็เหมือนขาดอะไรไปอย่าง เหมือนกับไม่สมบูรณ์ ไม่สบายใจว่างั้นเถอะ เมื่อเป้นเช่นนี้การบูชาข้าวพระพุทธหรือเซ่นสรวงพระพุทธเจ้าจึงมีขึ้น ทั้งที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปรินิพพานแล้ว เพระองค์ไม่มีทั้งรูปธรรมและนามธรรมอันไดที่เป็นอัตตาจะมารับเครื่องเซ่นสังเวยได้ คือไม่ได้โดยประการทั้งปวง แต่พระมหาเถระในอดีตท่านเหล่านั้นท่านล้วนเป็นผู้ชาญฉลาดในอุบายวิธีที่จะเข้าถึงประชาชนท่านจึงไม่ได้คัดค้านในวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นหรือความเชื่อเดิมของประชาชนเพราะจะยากต่อการเผยแพร่และท่านก็เล็งเห็นว่าพอมีประโยชน์อยู่บ้าง คืออย่างน้อยเขาก็ได้ในส่วนที่เป็นพุทธานุสสติ คือมีใจนึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพสัทธา ตามหลักฐานในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายธรรมบท เรื่องท้าวสักกเทวราช มีใจความตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสกับท้าวสักกะว่า ดูก่อนเทวราชผู้เป็นจอมแห่งเทพ ทานที่ผู้ถวายแล้วมีจิตระลึกถึงเราตถาคตด้วยความเลื่อมใส ผลนั้นย่อมมีเสมอเหมือนการมีอยู่แห่งเรา จากพระดำรัสนี้ก็พอที่พระเถระทั้งหลายเล็งเห็นประโยชน์เลยมิได้คัดค้านหรือสนับสนุน ดังนั้นข้าวพระพุทธจะมีหรือไม่ก็ได้ เมื่อทำเช่นนี้คนสบายใจ และเป็นเหตุให้ทายกมีใจชื่นบานในทานที่ทำ จึงนิยมทำกันมาจนเป็นประเพณีสืบต่อกันมา นี่คือการผสมผสานความเชื่อใหม่ความเชื่อเก่าให้เข้ากัน ๒. บุญแจกข้าว (ทำบุญอุทิศแก่ญาติๆผู้ตายจาก) บุญนี้แหละที่ข้าพเจ้าเห็นมาตั้งแต่เด็ก ในงานบุญ ที่ไหนมีงานบุญ ที่เรียกว่าเป็นบุญ เราจะเห็นคนเมาบุญ วันธรรมดาทั่วไปคนจะไม่ค่อยเมา ถ้ามีงานบุญก็จะพบคนเมา เมาตั้งแต่เจ้าภาพจนถึงแขกในงาน ก่อนงานก็จะได้ยินเสียงร่ำร้องขอชีวิตของสัตว์ผู้ถูกสังเวยทั้งเสียงหมู เสียงวัว ทำให้จิตใจผู้เป็นบุญจริงๆต้องหดหู่ แต่ก็เป็นเสียงอันน่าชื่นใจของนักดื่มทั้งหลายที่มีกับแกล้มทั้งลาบทั้งก้อย บุญที่แลกมาด้วยชีวิตของสัตว์อื่น จักเป็นบุญได้อย่างไร การฆ่านี้ครบองค์ประกอบของปาณาติบาตทุกอย่าง ๑.รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๒.เจตนา ตั้งใจฆ่า ๓.พยายาม ๔. สำเร็จด้วยความพยายามนั้น วัวหรือหมูเป็นสัตว์มีชีวิต เตรียมไว้ฆ่าในงาน เจตนา เมื่อจูงไปสู่ที่ฆ่ามันขัดขืน จึงบังคับ มีความพยายาม ฆ่าเสร็จ ถือว่าสำเร็จด้วยความพยายามนั้น กรรมนี้ย่อมมีผลและเป็นวิบากที่ต้องชดใช้ บางงานถ้าเป็นงานของผู้มีอันจะกินหน้าใหญ่ใจโตมือเติบ วัว ๕-๖ ตัว หมูอีก ๔-๕ ตัว ไก่เป็ด และปลาอีกนับไม่ถ้วน เหล้าเบียร์เป็นคันรถ เฮ้อ...บุญหนอบุญ ถามว่า แล้วพระสงฆ์องค์เจ้าท่านไม่บอกไม่สอนหรือ ตอบว่า บอกสิท่านบอกแน่นอน แต่ท่านไม่ได้บอกว่าอย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนะ ท่านจะบอกว่าหลังฆ่าเสร็จ ตี ๓ ตี ๔ อย่าลืมเอาเนื้อมาก้อยดึกนะ ข้าวเหนียวร้อนๆ แจ่วดีขมๆ ทุกงานไป จนกลายเป็นประเพณี เวลามีงานสมัยข้าพเจ้าเป็นสามเณร ตีสอง ตีสาม เสียงเคาะประตูมาแล้ว พระคุณเจ้าท่านก็ตื่นมาฉันก้อยดึกกัน ท่านบอกว่าเลยเที่ยงคืนแล้วมันฉันได้เป็นวันใหม่แล้ว ไม่ใช่ท่านคิดเอง แต่ถูกสอนมาอย่างนั้นรุ่นต่อรุ่น พอข้าพเจ้ามาเรียนถึงรู้ว่าวันใหม่ตามพระวินัยคือสว่างเห็นลายมือ หรือเห็นสีใบไม้จึงฉันได้ เคยบอกับท่านทั้งหลายหลวงปู่หลวงตา ท่านก็บอกว่าเรียนมากคิดมาก เขาทำมาตั้งแต่รุ่นปู่เป็นซะงั้น ก็ท่านทั้งหลาย เอะอะก็อ้างแต่ว่ามันเป็นประเพณี ก็ไม่ยอมเปลี่ยนสักทีน่า
ยิ่งเวลางานผ้าป่าประชุมกันตกลงเอาหารเลี้ยงแขกที่วัดเจ้าอาวาสสมัยนั้นบางท่านเสนอทั้งหมูทั้งวัว แถมหมักเหล้าสาโทไว้ที่วัดอีก ไม่ใช่พระแอบทำ แต่ทำกันแบบรู้กันทั้งหมู่บ้าน ก็มันเป็นประเพณีท่านว่าอย่างงั้น ไหนจะจ้างหนังมาดู หมอลำมาฉลอง สมัยนั้นถ้าพระรูปไหนเทศน์สอนในทางที่ถูกบอกว่าฆ่าสัตว์เป็นบาป ทำบุญมีเหล้า มีมหรสพ มันไม่ใช่บุญ เป็นอันว่าได้เทศน์ครั้งเดียวหรือไม่เป็นที่พอใจบรรดาเจ้าภาพและหลวงพ่อหวงตาทั้งหลายที่ยังยึดมั่นอยู่กับประเพณีอย่างเหนียวแน่นทันทีเลย กลางคืนหมอลำแสดงวัยรุ่น หรือบรรดานักเลงมารวมกันบุญใหญ่จริงๆ ตีกันทั้งคืน ทั้งไล่ตีไล่แทงกันสารพัด เล่นที่ไหน ในวัด งานเลิกขยะเต็มวัด ห้องน้ำสกปรก ก็ต้องลำบากหลวงพ่อ หลวงพี่อีกนั่นแหละ เอาละพูดไปก็ยาวมาดูว่าเค้ามูลจุดเริ่มต้นประเพณีการทำบุญอย่างนี้มาจากไหน
ตามข้อสันนิฐานของข้าพเจ้า น่าจะมาจากพิธีบวงสรวงบูชายัญ หรือการอุทิศให้ผู้ตายในสมัยโบราณ การทำบุญในศาสนาพราหมณ์ในสมัยก่อน ก็มีการฆ่าสัตว์บูชายัญหรือเชิญพราหมณ์มารับอาหาร เหมือนเราทำบุญนี่แหละ หรือฆ่าเพื่อสังเวยบูชาโดยเชื่อว่าผู้ที่ตายไปแล้ว หรือวิญญาณบรรพบุรุษจะกิน ได้รับจากนั้นก็จะนำของที่เซ่นบูชาแล้วมาเลี้ยงคนที่มาร่วมพิธี แม้กระทั่งชาวจีนก็คิดเช่นนั้นเราจะเห็นว่าตรุษจีนที ไก่ หัวหมูขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สมัยก่อนก็คงเชื่อหมูเชือดไก่ไม่น้อยเวลาไหว้เจ้า คนไทยเราก็ซึมซับรับเอามาไม่น้อยทั้งจีนทั้งแขก ทั้งความเชื่อเดิม เมื่ออิทธิพลพระพุทธศาสนาแผ่เข้ามาก็ปรับเปลี่ยนจากบูชายัญหรือเซ่นสรวงมาเป็นบุญอุทิศถึงผู้ตาย แต่ก็ยังคงผสมผสานวัฒนธรรมประเพณีเดิม จึงก่อเกิดวัฒนธรรมประเพณีใหม่และปรับเปลี่ยนตามยุคตามสมัยมาเรื่อยๆ ดังเราจะพบว่า ประเพณีการทำบุญของชาวพุทธแต่ละท้องที่ย่อมมีความแตกต่างกันไป ไม่เป็นเอกภาพ หรืออย่างเดียวกัน ทั้งที่เป็นพุทธเหมือนกัน ที่เป็นเช่นนี้นั่นเพราะว่าคนได้เอาความเชื่อประเพณีท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนา จะเรียกความเชื่อวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้ว่าพุทธศาสนาเนื้องอกก็ได้ เพราะไม่ปรากฏในหลักพุทธธรรมคำสั่งสอนที่เป็นหลักคำสอนจริงๆ หลักสัทธรรมปฏิรูปหรือพุทธศาสนาเนื้องอกจึงมีให้เห็นกันจนดาษดื่นมากมาย และยังเป็นไปอยู่ มีให้เห็นอยู่ แม้ปัจจุบันจะมีการเผยแผ่กันอย่างจริงจังทั้งใช้สื่อทุกอย่าง หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ การออกทำงานของพระธรรมทูต นักปาฐกถา นักบรรยายก็ตามที แต่ก็ยังมิอาจหมดจากไปความเชื่อเดิมๆได้ เอาละสำหรับบทนี้การเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนาก็ขอจบเพียงแค่นี้ ก็เป็นอันสรูปได้ว่า ข้าพเจ้าบวชสามเณรเข้าสู่ร่มเงาพระศาสนาครั้งแรก ไม่ได้บวชเพราะสัทธาในพระศาสนา หรือต้องการพ้นทุกข์ตามหลักการบรรพชาตามความมุ่งหมายในพุทธศาสนา แต่บวชด้วยตันหา คือความอยาก อยากเรียน อยากมีอนาคตที่ดี อยากหนีความเป็นเด็กเลี้ยงควายบ้านนอกว่าอย่างนั้น เมื่อบวชเข้ามาก็ได้รับปลูกฝังกับความเชื่อตามประเพณี ค่านิยมความเชื่อ ไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้อันเป็นหลักหรือแก่นพระศาสนาเลย นับว่าเป็นความเสียหายจริงๆนั่นเท่ากับว่ายังไม่รู้จักพุทธศาสนาเลย
- พานพบผู้วิเศษ (เดินสู่โมหะอย่างรุนแรง)
พุทธศาสนาเป็นหลักธรรมคำสอนที่ครอบคลุมทุกอย่างในการดำรงชีวิต ผู้ที่จะอยู่ครองเรือนก็มีธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ทำการค้า ศึกษาศิลปะวิทยา เจ้าหน้าที่กรมการเมือง การปกครอง หลักการใช้จ่ายบริหารทรัพย์หรือเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ อีกมากมายสำหรับฆราวาส หลักคิหิปฏิบัติ หรือมงคล ๓๘ ก็ครอบคลุมทุกอย่าง สำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายทางโลกอยากแสวงหาความสงบพ้นทุกข์ก็มีธรรมสำหรับนักบวช หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ไตรสิกขา ปัญญา ศีล สมาธิ แต่ไม่ว่าจะโดยหลักการได พุทธศาสนามุ่งเน้นการปฏิบัติด้วยตัวบุคคล ไม่อิงอาศัยอำนาจไดๆ หรือพูดได้อย่างเต็มปากว่าพุทธศาสนาเป็นอเทวนิยม คือไม่สอนให้ยึดถืออยู่ที่อำนาจของเทพเทวดา หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บันดาลโชค พระองค์ทรงสอนให้พึ่งตนด้วยตน ดังพระดำรัสว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา แปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่า จะเป็นที่ได้ (คนอื่น รวมความถึงอำนาจผีสางเทวดา) พูดง่ายๆให้เข้าใจสุขหรทอทุกข์ ความจนความรวยขึ้นอยู่การกระทำของเราเป็นหลักใหญ่ ไม่ขึ้นต่อโชคชะตา เทพเทวาประการไดเลย กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม รวมความว่าพระองค์สอนให้พึ่งตนเอง โดยตนเองต้องมีธรรมเป็นที่พึ่ง คืออาศัยหลักธรรมนำมาปฏิบัติ รวมลงสั้นๆคือ ปัญญา ศีล สมาธิ นั่นเอง
ก็เมื่อหลักพุทธธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วทำไมสิ่งที่เห็นอยู่ตำตา ตำใจอยู่ทุกวี่วัน ในชาวพุทธทั้งฝ่ายพระฝ่ายโยมแทบทุกถิ่นที่จึงมีแต่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์บันดาลโชค วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังออกมาเป็นละลอกไม่ขาดสาย นับแต่โบราณกาลมาส่วนใหญ่มีแต่เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ประชาชนโดยส่วนใหญ่ยังยึดมั่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ชนิดวิ่งตามแสวงหาเลยก็ว่าได้ เมื่อตั้งแต่ระดับผู้นำทางศาสนานำพาเอง ผู้หลักผู้ใหญ่ก็สอนสั่ง แล้วลูกหลานรุ่นต่อมาจะไม่เชื่อได้อย่างไร พวกเราตกเป็นเหยื่อของค่านิยมความเชื่อหรือเปล่า เดินหลงทางเพราะเดินตามหลังผู้ใหญ่หรือไม่ จะโทษใคร
ในเรื่องนี้ถ้ามองอย่างความเป็นธรรมไม่เข้าข้างใคร จะพบว่าไม่ใช่โทษของใครเลย แต่เป็นโทษของวัฏฏะ นั่นคืออวิชชา ความไม่รู้จริง ไม่มีใครหลอกใคร ท่านเชื่อของท่านอย่างนั้น ท่านจึงทำตามอย่างนั้น ทำไปด้วยอำนาจแห่งอวิชชานั่นเอง เหมือนอย่างว่าคนเชื่อในคนผีเข้าเจ้าทรงและเขาก็ยึดมั่นจนเป็นอุปาทาน ทุกครั้งที่เขาเข้าทรงก็เชื่อตามนั้นอย่างเต็มที่ เมื่อเราเชื่อตาม ทำตามที่เขาบอกมาช้านาน วันหนึ่งไปพบผู้รู้ชี้ทางสว่างจนพบความจริงของชีวิตตามหลักพุทธธรรมเราจะไปโกรธว่าเขาหลอกเราพาเราหลงผิดไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริงของเขา แต่ความจริงของเขาไม่ใช่ของจริงเท่านั้นเอง เขาจึงดำเนินชีวิตไปตามความเชื่อ ตอนนั้นเราเองก็เชื่อ เหตุเพราะว่าเรายังไม่รู้จริง สรูปก็คือโมหะทั้งคู่ ตาบอด จูงตาบอด จะไปโทษคนจูงว่าพาเราตกหลุมตกบ่อไม่ได้เพราะเขาก็ไม่เห็นเหมือนกัน จะว่าไปแล้วเขาเหล่านั้นน่าสงสารต่างหาก เมื่อเราพบทางสว่างแล้วจึงควรเข้าไปปลูกความเมตตาค่อยๆชี้นำทางแก่เขาใหม่ เอาละอารัมภบทมากแล้วขอวกมาเข้าเรื่องสักที
เมื่อข้าพเจ้าบวชสามเณรได้ปีหนึ่งเต็มๆก็ได้จากบ้านจากวัดที่อยู่เดิมไปอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ร่อนเร่พเนจรราวกับว่านกขมิ้นไร้รังโผ ผินอย่างอิสรเสรีท่องเที่ยวไปทุกถิ่นที่ ทุกๆบ้าน ทุกๆตำบล ทุกๆอำเภอ จังหวัดที่ได้ท่องเที่ยว เหมือนกับว่าข้าพเจ้ากำลังเรียนหรืออ่านตำราเล่มใหญ่ เพียงแต่ตำราเล่มนี้ไม่ได้เขียนด้วยปากกา หากแต่มันเขียนด้วยประสบการณ์ตรงจากชีวิต สุขจริง ทุกข์จริง เศร้าจริง พบจริง จากจริง รู้สึกจริงกับมันจริงๆ
หลังจากมาอยู่อำเภอสตึก จังหวดบุรีรัมย์ ที่วัดป่าบูรพาวนาราม ที่วัดเป็นป่าช้าเก่า ในวัดก็มีศาลพระภูมิใหญ่อยู่อันหนึ่งเรียกว่ากราบไหว้กันทั้งพระทั้งโยมในสมัยนั้น ที่นี่ก็ไม่แตกต่างค่านิยมความเชื่อก็เหมือนกัน นับถือผี สาง เทวดา เหมือนตอกย้ำความเชื่อที่อยู่ในจิตใจให้แน่นแฟนขึ้น จังหวัดนี้แหละนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ความเป็นผู้เข้มขลัง จอมคาถาอาคมก็ว่าได้ เพื่อนๆมักล้อเลียนเสมอว่า หนุ่ยจอมอาคม ชื่อเล่นของข้าพเจ้า เมื่อมาอยู่ทีบุรีรัมย์มักได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จากหนังสือรายเดือนบ้าง รายสัปดาห์บ้าง อ่านเรื่องราวของพระเกจิ พระธุดงค์ผู้ทรงวิทยาคมบ้าง ยิ่งได้ฟังเรื่องราวต่างๆจากครูอาจารย์ยิ่งเพ้อฝัน ยิ่งอาจารย์เจ้าอาวาสเป็นพระเกจิดัง (หลวงตาวัน) ยิ่งง่ายต่อการซึมซับเป็นแบบอย่าง ใฝ่ฝันอยากมีอาจารย์เก่งๆสักคนเพื่อจะได้เรียนคาถาอาคม และแล้วฝันก็เป็นจริง
อาจารย์คนแรกกับครั้งแรกของเวทย์มนต์ ข้าพเจ้าจำได้ว่าตอนั้นข้าพเจ้าอายุ ๑๔-๑๕ วัดที่ข้าพเจ้าอยู่ติดกับสวนของอาจารย์คนแรก ตอนนั้นข้าพเจ้าไม่รู้จักว่าแกเป็นอาจารย์ขลัง และไม่รู้ว่าแกโด่งดังพอสมควรเป็นอาจารย์ของพระเกจิดังหลายๆท่านของภาคอีสานใครๆก็ปรารถนาที่จะมาเรียนกับแก แต่แกก็ค่อนข้างจะหวงวิชาสักหน่อย ตอนนั้นข้าเพจ้าเห็นแก่เป็นคนแก่ที่มาทำไร่ทำสวนอยู่ใกล้ๆวัด ทุกๆวันเวลาฉันเพลเสร็จอาหารก็เหลือมากมายเพราะเป็นวัดอยู่ใกล้ตัวอำเภอและหมู่บ้านก็เป็นหมู่บ้านใหญ่ ฉันเพลเสร็จข้าพเจ้าได้นำทั้งข้าวปลาอาหารและขนมไปให้แกที่สวนทุกวันเพราะอยู่ติดวัด นานวันเข้าข้าพเจ้าก็คุ้นเคยกับแกเป็นอย่างดี วันหนึ่งเย็นแล้วยังเห็นแกอยู่ที่สวนยังไม่กลับบ้านเลยแวะไปนั่งเล่นกับแก แกก่อไฟสุมกอไม้ใบหญ้าแกตามประสาชาวไร่ ข้าพเจ้าไปนั่งคุยกับแกซักโน่นซักนี่ตามประสาเด็ก ขณะนั้นแกหยิบบุหรี่มาจะสูบแต่แกหาไม้ขีดไม่เจอ สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นทำให้ข้าพเจ้าถึงกับอัศจรรย์ใจ เป้นความทึ่งครั้งแรกของชีวิต คือข้าพเจ้าเห็นแกใช้มือเปล่าๆหยิบถ่านไฟแดงๆมาจุดบุหรี่โดยไม่แสดงอาการร้อนหรือแสดงการไดๆ จุดบุหรี่เสร็จแกก็วางลงที่เดิมอย่างหน้าตาเฉย