ผู้ใช้:Thastp/ทุน เล่ม 1/1/1

จาก วิกิซอร์ซ

{{หัวเรื่องงานแปล <!-- ข้อมูลหลัก --> | ชื่อ = ทุน เล่ม 1 | ศักราช = ค.ศ.| ปี = 1890 | ภาษา = de | ต้นฉบับ = Das Kapital. Band I | ผู้สร้างสรรค์ = คาร์ล มาคส์| บรรณาธิการ = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ส่วน = บทที่ 1: โภคภัณฑ์| ผู้มีส่วนร่วม = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ก่อนหน้า = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/v|สารบัญ]]| ถัดไป = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/2|บทที่ 2: กระบวนการแลกเปลี่ยน]] | หมายเหตุ = <!-- ข้อมูลย่อย (สำหรับจัดระเบียบหรือเชื่อมโยงไปหน้าอื่น) --> | หมวดหมู่ = | แก้กำกวม = | รุ่น = | สถานีย่อย = | ผู้สร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้อง = | วิกิพีเดีย = | คอมมอนส์ = | หมวดหมู่คอมมอนส์ = | วิกิคำคม = | วิกิข่าว = | วิกิพจนานุกรม = | วิกิตำรา = | วิกิห้องสมุด = | วิกิสนเทศ = | วิกิท่องเที่ยว = | วิกิวิทยาลัย = | วิกิสปีชีส์ = | เมทา = }}

เล่มที่ 1
กระบวนการผลิตของทุน

ภาคที่ 1
สินค้าและเงินตรา
บทที่ 1
สินค้า
1) ปัจจัยสองประการของสินค้า: มูลค่าใช้สอยและมูลค่า (แก่นสารของมูลค่า, ขนาดของมูลค่า)

ความมั่งคั่งของสังคมที่ปกครองโดยวิถีการผลิตแบบทุนนิยมปรากฏตัวเป็น „สินค้ากองมหึมา“[1] โดยมีรูปมูลฐานเป็นสินค้าแต่ละชิ้น การสอบสวนของเราจะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สินค้า

ประการแรก สินค้าเป็นวัตถุภายนอก สิ่งที่สนองความต้องการมนุษย์ชนิดใดก็ตามด้วยสมบัติของตน ธรรมชาติของความต้องการเหล่านี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าเกิดจากปากท้องหรือจินตนาการเป็นต้น[2] และในที่นี้ก็ไม่เกี่ยวว่าสิ่งนั้นสนองความต้องการมนุษย์อย่างไร ไม่ว่าโดยตรงเป็นปัจจัยการยังชีพ กล่าวคือวัตถุสำหรับอุปโภคบริโภค หรือโดยอ้อมในฐานะปัจจัยการผลิต

เราจะพิจารณาสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งหลาย เช่นเหล็ก กระดาษ ฯลฯ จากมุมมองสองด้าน คุณภาพและปริมาณ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มก้อนของสมบัติมากมายและจึงสามารถมีประโยชน์ในหลากหลายด้าน การค้นพบด้านต่าง ๆ ที่ว่าและหนทางใช้สอยนานัปการจากสิ่งเหล่านี้เป็นกิจของประวัติศาสตร์[3] การค้นพบวิธีการชั่งตวงวัดทางสังคมสำหรับปริมาณของสิ่งที่มีประโยชน์เช่นเดียวกัน ความหลากหลายในวิธีการชั่งตวงวัดสินค้าส่วนหนึ่งเกิดจากความหลากหลายในธรรมชาติของวัตถุที่ต้องวัด ส่วนหนึ่งมาจากธรรมเนียม

ความมีประโยชน์ของสิ่งหนึ่งคือมูลค่าใช้สอยของสิ่งนั้น[4] ทว่าความมีประโยชน์นี้ไม่ได้ลอยอยู่กลางอากาศ แต่ขึ้นอยู่กับสมบัติทางกายของสินค้าและจะหมดไปหากไม่มี กายของสินค้าเองเช่นเหล็ก ข้าวสาลี เพชร ฯลฯ จึงเป็นมูลค่าใช้สอย คุณลักษณะนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงงานที่มนุษย์ต้องใช้ให้ได้สมบัติใช้สอยมาว่ามากน้อยเพียงใด ครั้นเราพิจารณาถึงมูลค่าใช้สอยให้สมมุติว่ามีปริมาณที่แน่นอนเท่าหนึ่งเสมอ เช่นนาฬิกาเป็นโหล ผ้าลินินเป็นหลา เหล็กเป็นตัน ฯลฯ มูลค่าใช้สอยของสินค้าเป็นเนื้อหาในสาขาวิชาของตัวเอง คือวิทยาการสินค้า[5][a] มูลค่าใช้สอยกลายเป็นจริงผ่านการใช้สอยหรืออุปโภคบริโภคเท่านั้น มูลค่าใช้สอยเป็นวัตถุที่ประกอบขึ้นเป็นความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะมีรูปทางสังคมแบบใด ในรูปแบบของสังคมที่เรากำลังจะพิจารณา ยังเป็นวัตถุที่เป็นพาหะให้กับ —— มูลค่าแลกเปลี่ยน

ประการแรก มูลค่าแลกเปลี่ยนปรากฏเป็นความสัมพันธ์เชิงปริมาณ หรืออัตราส่วน ของการแลกเปลี่ยนมูลค่าใช้สอยชนิดหนึ่งกับมูลค่าใช้สอยอีกชนิดหนึ่ง[6] อัตราส่วนซึ่งแปรเปลี่ยนตามกาลเทศะอย่างสม่ำเสมอ มูลค่าแลกเปลี่ยนจึงดูเหมือนเป็นสิ่งบังเอิญและสัมพัทธ์โดยสิ้นเชิง มูลค่าแลกเปลี่ยนซึ่งอยู่และมีในสินค้า (วาเลอร์ แอ็งแทร็งแซ็ก) จึงเป็นความขัดแย้งในคำคุณศัพท์[7] เราลองมองประเด็นให้ละเอียดกว่านี้

สินค้าอย่างหนึ่ง ข้าวสาลีหนึ่งควาร์เทอร์เป็นต้น แลกกับยาขัดรองเท้าได้ หรือผ้าไหมได้ หรือทองคำได้ ฯลฯ กล่าวคือสินค้าชนิดอื่นในอัตราส่วนสุดหลากหลาย ข้าวสาลีจึงมีมูลค่าแลกเปลี่ยนนานัปการแทนที่จะมีเพียงหนึ่งเดียว แต่เพราะยาขัดรองเท้า และผ้าไหม และทองคำ ฯลฯ เป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนของข้าวสาลีหนึ่งควาร์เทอร์ ยาขัดรองเท้า ผ้าไหม ทองคำ ฯลฯ ต้องทดแทนกันได้หรือเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนที่มีขนาดเท่ากัน ในขั้นแรกจึงแปลว่า มูลค่าแลกเปลี่ยนที่ถูกต้องต่าง ๆ ของสินค้าอย่างหนึ่งแสดงถึงสิ่งที่เท่ากัน ในขั้นที่สองทว่า มูลค่าแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปเป็นได้เพียงวิถีการแสดงออก หรือ „รูปปรากฏ“ ขององค์ประกอบหนึ่งที่จำแนกออกมาได้

อนึ่ง เอาสินค้าสองอย่าง เช่นข้าวสาลีกับเหล็ก อัตราส่วนแลกเปลี่ยนระหว่างกันเท่าใดก็ตามสามารถแสดงในรูปสมการได้เสมอ โดยจับข้าวสาลีปริมาณหนึ่งมาเท่ากับเหล็กอีกปริมาณหนึ่ง อาทิข้าวสาลี 1 ควาร์เทอร์ เหล็ก เซ็นท์เนอร์ สมการนี้บอกอะไร? ว่าในของสองอย่างที่ต่างกันมีสิ่งหนึ่งร่วมกันที่ขนาดเท่ากัน ในข้าวสาลี 1 ควาร์เทอร์และเช่นกันในเหล็ก เซ็นท์เนอร์ ดังนั้น ทั้งสองอย่างเท่ากับสิ่งที่สาม ซึ่งในและโดยตัวเองไม่ใช่ทั้งอย่างหนึ่งหรืออีกอย่าง ทั้งสองเท่าที่เป็นมูลค่าใช้สอยสามารถลดทอนเป็นสิ่งที่สามได้

ตัวอย่างเชิงเรขาคณิตอย่างง่ายจะทำให้เรื่องนี้กระจ่าง ในการหาและเปรียบเทียบพื้นที่ระหว่างรูปหลายเหลี่ยมใด ๆ เราจะแบ่งมันออกเป็นสามเหลี่ยมหลาย ๆ รูป เราลดทอนสามเหลี่ยมอีกกลายเป็นนิพจน์ที่ต่างไปจากรูปที่เรามองเห็นโดยสิ้นเชิง —— ครึ่งหนึ่งของผลคูณระหว่างเส้นฐานกับความสูงของมัน ในทางเดียวกัน เราลดทอนมูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้ากลายเป็นสิ่งที่มีร่วมกันซึ่งแสดงความมากกว่าหรือน้อยกว่า

สิ่งที่มีร่วมกันนี้ไม่สามารถเป็นสมบัติทางเรขาคณิต กายภาพ เคมี หรือธรรมชาติอื่นใดของสินค้า สมบัติทางกายถูกนำมาพิจารณาในฐานะที่ทำให้มีประโยชน์และเป็นมูลค่าใช้สอยเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง การเพิกจากมูลค่าใช้สอยนั่นเองคือคุณลักษณะประจักษ์ชัดในความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้า ซึ่งจะใช้มูลค่าใช้สอยใดก็ได้ต่อเมื่ออยู่ในอัตราส่วนที่ถูกต้อง หรือตามที่เฒ่าบาร์บอนกล่าว: „สินค้าชนิดหนึ่งดีพอ ๆ กับชนิดอื่น หากมีมูลค่าแลกเปลี่ยนเท่ากัน ไม่มีความแตกต่างหรือการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่มีมูลค่าแลกเปลี่ยนเท่ากัน“[8] ในฐานะมูลค่าใช้สอย เหนือสิ่งอื่นใด สินค้าแตกต่างกันในเชิงคุณภาพ ในฐานะมูลค่าแลกเปลี่ยน มีความแตกต่างกันในเชิงปริมาณเท่านั้น จึงไม่มีมูลค่าใช้สอยอยู่ด้วยแม้อะตอมเดียว

เมื่อเราเพิกเฉยต่อมูลค่าใช้สอยของกายสินค้า ก็เหลือแค่สมบัติเดียวคือการเป็นผลผลิตของแรงงาน อย่างไรก็ดี ผลผลิตแรงงานในมือของเราได้เปลี่ยนสัณฐานไปแล้ว ถ้าเราเพิกจากมูลค่าใช้สอย เราเพิกจากส่วนประกอบและรูปทางกายที่ทำให้มันเป็นมูลค่าใช้สอยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่โต๊ะ หรือบ้าน หรือด้าย หรือสิ่งที่มีประโยชน์ใด ๆ อีกต่อไป โลกิยสังขารทั้งสิ้นดับสลาย ไม่ได้เป็นผลผลิตของแรงงานช่างไม้ แรงงานก่อสร้าง แรงงานทอผ้า หรือแรงงานการผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งอีกต่อไป คุณลักษณะอันมีประโยชน์ของผลผลิตแรงงานหายไปพร้อม ๆ กับคุณลักษณะอันมีประโยชน์ของแรงงานซึ่งแสดงออกมาในสิ่งเหล่านั้น รูปแบบของแรงงานที่แตกต่างกันในเชิงรูปธรรมเหล่านี้จึงหายไปด้วย ไม่แยกแยะกันอีกต่อไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลลดทอนเป็นแรงงานมนุษย์ที่เท่ากัน แรงงานมนุษย์นามธรรม

คราวนี้เราพิจารณาเศษตกค้างของผลผลิตแรงงาน ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่แล้วเสียแต่วัตถุภาวะคล้ายผี เพียงวุ้นของแรงงานมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือการใช้จ่ายพลังแรงงานของมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบที่ใช้จ่ายไป สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการใช้จ่ายของพลังแรงงานมนุษย์หรือการจับตัวกันของแรงงานมนุษย์แค่นั้น ในฐานะผลึกของแก่นสารทางสังคมที่มีร่วมกัน มันคือมูลค่า —— มูลค่าสินค้า

ในความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าเอง มูลค่าแลกเปลี่ยนปรากฏต่อเราเหมือนบางสิ่งซึ่งเป็นอิสระจากมูลค่าใช้สอยเสียทีเดียว เมื่อเราเพิกจากมูลค่าใช้สอยของผลผลิตแรงงานแน่แล้ว ก็จะได้มูลค่าของมันมาดังเพิ่งวินิจฉัยไป สิ่งที่มีร่วมกันนั้นซึ่งแสดงอยู่ในความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนหรือมูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้าจึงเป็นมูลค่าของมัน ความคืบหน้าในการสอบสวนจะนำเรากลับไปยังมูลค่าแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นวิถีการแสดงออกหรือรูปปรากฏที่มูลค่าจำเป็น อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้เราจะพิจารณาต่างหากจากรูปนั้น

ฉะนั้นแล้ว มูลค่าใช้สอยหรือสินค้าจึงมีมูลค่าเพราะภายในมีแรงงานมนุษย์นามธรรมที่กลายเป็นรูปธรรมหรือกลายเป็นวัตถุอยู่เท่านั้น แล้วจะวัดขนาดของมูลค่าอย่างไร? ด้วยปริมาณของ „แก่นสารก่อสร้างมูลค่า“ หรือแรงงานที่มีอยู่ข้างใน ปริมาณของแรงงานเองวัดที่ระยะเวลา และเวลาแรงงานมีไม้วัดเป็นช่วงเวลาที่แน่นอน อาทิชั่วโมง วัน ฯลฯ

อาจดูเหมือนว่า ถ้าปริมาณของแรงงานที่ใช้จ่ายไประหว่างการผลิตเป็นตัวกำหนดมูลค่าของสินค้าแล้ว ยิ่งคนเกียจคร้านและงุ่มง่ามเท่าใด สินค้าของเขายิ่งมีค่าเท่านั้น เพราะต้องใช้เวลาผลิตมากกว่า แรงงานที่ประกอบแก่นสารของมูลค่าทว่าคือแรงงานมนุษย์ที่เท่ากัน การใช้จ่ายพลังแรงงานมนุษย์ที่เหมือนกัน ในที่นี้ ให้นับพลังแรงงานรวมของสังคมซึ่งสำแดงอยู่ในมูลค่าของสินค้าทั้งปวงเป็นพลังแรงงานมนุษย์อันหนึ่งอันเดียว โดยประกอบขึ้นจากพลังแรงงานปัจเจกเหลือคณานับ พลังแรงงานปัจเจกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพลังแรงงานมนุษย์ที่เหมือนกัน ถึงขนาดที่มีคุณลักษณะเป็นพลังแรงงานเฉลี่ยทางสังคม ทำงานเช่นพลังแรงงานเฉลี่ยทางสังคมดังกล่าว และจึงใช้เวลาแรงงานผลิตสินค้าเท่าที่จำเป็นโดยเฉลี่ยหรือจำเป็นทางสังคม เวลาแรงงานอันจำเป็นทางสังคมคือเวลาแรงงานที่ต้องใช้สำแดงมูลค่าใช้สอยอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขการผลิตที่ปกติทางสังคมที่มีอยู่ กับระดับของทักษะและความเข้มข้นของแรงงานโดยเฉลี่ยทางสังคม การนำกี่ไอน้ำมาใช้ในประเทศอังกฤษเป็นต้น อาจลดแรงงานที่ต้องใช้แปรรูปด้ายปริมาณหนึ่งเป็นสิ่งทอลงถึงครึ่งหนึ่งจากเมื่อก่อน จริงที่ช่างทอผ้าฝีมือชาวอังกฤษยังต้องใช้เวลาแรงงานเท่าเดิมกับเมื่อก่อนในการแปรรูป แต่ปัจจุบันผลผลิตจากชั่วโมงงานของเขาแต่ละคนแสดงถึงครึ่งหนึ่งของชั่วโมงงานทางสังคมเท่านั้น มูลค่าจึงตกลงมาครึ่งหนึ่งจากเมื่อก่อน

ดังนั้น ปริมาณของแรงงานอันจำเป็นทางสังคม หรือว่าเวลาแรงงานอันจำเป็นทางสังคมในการผลิตมูลค่าใช้สอยอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่เป็นตัวกำหนดขนาดของมูลค่า[9] ในที่นี้ สินค้าแต่ละชิ้นโดยทั่วไปนับเป็นตัวอย่างค่าเฉลี่ยของสินค้าชนิดนั้น[10] สินค้าซึ่งมีปริมาณของแรงงานที่เท่ากัน หรือที่สามารถผลิตได้ภายในเวลาแรงงานที่เท่ากัน จึงมีขนาดของมูลค่าที่เท่ากัน มูลค่าของสินค้าอย่างหนึ่งกับมูลค่าของสินค้าอย่างอื่นใด ๆ เป็นเหมือนกับเวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตสินค้าอย่างนั้นกับเวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตสินค้าอีกอย่าง „ในฐานะมูลค่า สินค้าทั้งหมดเพียงแค่ระบุมวลของเวลาแรงงานที่แข็งตัวเป็นก้อน“[11]

ขนาดของมูลค่าของสินค้าจึงเป็นค่าคงที่ ตราบใดที่เวลาแรงงานที่ต้องใช้ในการผลิตมีค่าคงที่ ทว่าอย่างหลังเปลี่ยนไปทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงในพลังการผลิตของแรงงาน ปัจจัยนานัปการเป็นตัวกำหนดพลังการผลิตของแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นระดับของทักษะโดยเฉลี่ยของคนงาน ระดับชั้นของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยี การจัดระเบียบทางสังคมของกระบวนการผลิต ขอบเขตและประสิทธิผลของปัจจัยการผลิต หรือเงื่อนไขทางธรรมชาติ แรงงานปริมาณเดียวกันแสดงออกมาเป็นข้าวสาลี 8 บุชเชิลในฤดูกาลที่เป็นใจเป็นต้น แต่ได้เพียง 4 ในฤดูที่ไม่เป็นใจ แรงงานปริมาณเดียวกันในเหมืองที่อุดมสมบูรณ์สกัดโลหะได้มากกว่าในเหมืองที่พร่องแล้ว ฯลฯ เพชรหายากบนเปลือกโลก โดยเฉลี่ยจึงต้องใช้เวลาแรงงานมากในการหามา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการแสดงออกของแรงงานที่มากในปริมาตรที่น้อย เจคอบตั้งข้อสงสัยว่าทองคำอาจไม่เคยถูกซื้อขายที่มูลค่าเต็มของมันเลย[b] สำหรับเพชรยิ่งกล่าวได้เช่นเดียวกัน อ้างอิงตามเอ็ชเวเกอ[c] ผลผลิตรวมทั้งสิ้นแปดทศวรรษจวบปี 1823 ของเหมืองเพชรบราซิลยังมีราคาเทียบไม่ถึงผลผลิตค่าเฉลี่ยระยะเวลา 112 ปีของไร่อ้อยหรือไร่กาแฟที่บราซิล แม้ว่าจะแสดงถึงแรงงานที่มากกว่า และจึงมีมูลค่ามากกว่า ในเหมืองที่อุดมสมบูรณ์กว่า แรงงานปริมาณเดียวกันจะแสดงอยู่ในเพชรที่มีจำนวนมากกว่าและมูลค่าจะลดลง หากเราแปรรูปถ่านหินเป็นเพชรได้สำเร็จด้วยแรงงานอันน้อยนิด มูลค่าของมันอาจตกลงต่ำกว่าของอิฐ โดยทั่วไปนั้น: ยิ่งพลังการผลิตของแรงงานสูงขึ้นเท่าใด เวลาแรงงานที่ต้องใช้ในการประดิษฐ์สิ่งของอย่างหนึ่งยิ่งน้อยลงเท่านั้น มวลของแรงงานที่ตกผลึกอยู่ข้างในก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น มูลค่าก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น ในทางผกผัน ยิ่งพลังการผลิตของแรงงานต่ำลงเท่าใด เวลาแรงงานอันจำเป็นในการประดิษฐ์สิ่งของอย่างหนึ่งยิ่งมากขึ้นเท่านั้น มูลค่าก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ขนาดของมูลค่าของสินค้าจึงแปรผันตรงกับปริมาณ และแปรผกผันกับพลังการผลิต ทั้งสองของแรงงานซึ่งกลายเป็นจริงอยู่ในสินค้า

สิ่งหนึ่งสามารถเป็นมูลค่าใช้สอยโดยไม่ได้เป็นมูลค่า กรณีนี้ ถ้ามีประโยชน์กับมนุษย์โดยไม่อาศัยแรงงานเป็นสื่อกลาง เช่นอากาศ ดินบริสุทธิ์ ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ป่าดิบ ฯลฯ สิ่งหนึ่งสามารถมีประโยชน์และเป็นผลผลิตของแรงงานมนุษย์โดยไม่ได้เป็นสินค้า ใครที่สนองความต้องการของเขาด้วยผลผลิตของตัวเอง เขาสร้างมูลค่าใช้สอยขึ้นมาจริง แต่ไม่ใช่สินค้า การจะผลิตสินค้า เขาต้องไม่ผลิตเพียงมูลค่าใช้สอย แต่มูลค่าใช้สอยสำหรับผู้อื่น มูลค่าใช้สอยทางสังคม [และไม่ใช่สำหรับผู้อื่นแค่นั้น ชาวนายุคกลางผลิตธัญพืชมาจ่ายค่าเช่าให้เจ้าศักดินาและถวายทศางค์ให้พระสงฆ์ แต่ไม่ว่าค่าเช่าหรือทศางค์ก็ไม่ใช่สินค้าถึงจะผลิตมาให้ผู้อื่นก็ตาม การจะเป็นสินค้า ผลผลิตต้องทำหน้าที่เป็นมูลค่าใช้สอยสำหรับผู้อื่น และต้องถ่ายโอนให้เขาผ่านการแลกเปลี่ยน][12] สุดท้าย ไม่มีสิ่งใดเป็นมูลค่าได้หากใช่มูลค่าใช้สอย ถ้าไร้ประโยชน์ แรงงานข้างในนั้นก็ไร้ประโยชน์ ไม่นับเป็นแรงงาน และจึงไม่ประกอบสร้างมูลค่า


  1. คาร์ล มาคส์: „ว่าด้วยบทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง. เบอร์ลิน 1859“, หน้า 4.
  2. „ความปรารถนาบ่งบอกถึงความต้องการ มันคือความกระหายของจิต ไม่ผิดธรรมชาติไปกว่าความหิวของกาย … คุณค่า (ของสรรพสิ่ง) นับไม่ถ้วนมาจากการสนองความต้องการแห่งจิต“ นิโคลัส บาร์บอน: „A Discourse on coining the new money lighter, in answer to Mr. Locke's Considerations etc. London 1696“, หน้า 2, 3.
  3. „สิ่งต่าง ๆ มีเวอร์ชูภายใน (นี่เป็นคำเฉพาะของบาร์บอนที่หมายถึงมูลค่าใช้สอย) ไม่ว่าอยู่แห่งใดก็มีเวอร์ชูเหมือนเดิม เช่นแม่เหล็กดึงดูดเหล็ก“ (เล่มเดิม หน้า 6) กว่าสมบัติดูดเหล็กของแม่เหล็กจะมีประโยชน์ก็เพียงเมื่อมีการค้นพบขั้วแม่เหล็กผ่านสมบัตินั้นเอง
  4. „เวิร์ธตามธรรมชาติของสิ่งใดนั้นกอปรด้วยสมรรถภาพของมันในการสนองความจำเป็นหรืออำนวยความสะดวกให้ชีวิตมนุษย์“ (จอห์น ล็อก: „Some Considerations on the Consequences of the Lowering of Interest, 1691“ ใน „Works edit. Lond. 1777“ V. II. หน้า 28.) เรามักจะยังพบคำว่า „เวิร์ธ“ สำหรับมูลค่าใช้สอยและ „แวลู“ สำหรับมูลค่าแลกเปลี่ยนในงานเขียนอังกฤษจากศตวรรษที่ 17 ตรงตามเจตนารมณ์ของภาษาที่ชอบแสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ต่อหน้าด้วยคำเจอร์แมนิกและสิ่งที่ถูกสะท้อนด้วยคำโรมานซ์ทีเดียว
  5. ในสังคมกระฎุมพี มีนิติสมมติอยู่ว่าผู้ซื้อสินค้าทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าเยี่ยงสารานุกรม
  6. „มูลค่าดำรงอยู่ในอัตราแลกเปลี่ยนที่พบระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ระหว่างผลผลิตอย่างหนึ่งปริมาณเท่าหนึ่งกับอีกอย่างหนึ่งอีกเท่าหนึ่ง“ (เลอ โทรน: „De l'Intérêt Social“. Physiocrates, บ.ก. แดร์. ปารีส 1846. หน้า 889.)
  7. „ไม่มีสิ่งใดมีคุณค่าภายในได้“ (นิโคลัส บาร์บอน เล่มเดิม หน้า 16) หรือตามที่บัตเลอร์กล่าว:
    „คุณค่าของสิ่งหนึ่ง
    เท่ากับที่จะได้กลับมาจากมัน“
  8. „สินค้าชนิดหนึ่งดีพอ ๆ กับชนิดอื่น หากมีคุณค่าเท่ากัน ไม่มีความแตกต่างหรือการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่มีคุณค่าเท่ากัน … ดีบุกหรือเหล็กราคาหนึ่งร้อยปอนด์มีคุณค่ามากพอ ๆ กับเงินและทองคำราคาหนึ่งร้อยปอนด์“ (นิโคลัส บาร์บอน เล่มเดิม หน้า 58 และ 7.)
  9. หมายเหตุในฉบับที่ 2 „The value of them (the necessaries of life) when they are exchanged the one for another, is regulated by the quantity of labour necessarily required, and commonly taken in producing them“. „มูลค่าของสิ่งใช้สอยต่าง ๆ เมื่อแลกเปลี่ยนอันหนึ่งกับอีกอัน ถูกกำหนดโดยปริมาณของแรงงานที่จำเป็นต้องใช้และที่ใช้โดยทั่วไปในการผลิตมัน“. („Some Thoughts on the Interest of Money in general, and particularly in the Public Funds etc.“. ลอนดอน. หน้า 36.) เอกสารที่ไม่ธรรมดาชิ้นนี้จากเมื่อร้อยปีก่อนโดยบุคคลนิรนามไม่ระบุวันที่ แต่จากเนื้อหาปรากฏว่าอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ประมาณปี 1739 หรือ 1740
  10. „แท้จริงแล้วผลผลิตชนิดเดียวกันล้วนประกอบเป็นมวลก้อนเดียว ซึ่งราคาจะถูกกำหนดโดยทั่วไปและไม่คำนึงถึงสภาวะแวดล้อมที่เจาะจง“. (เลอ โทรน เล่มเดิม หน้า 893.)
  11. คาร์ล มาคส์ เล่มเดิม หน้า 6.
  12. หมายเหตุในฉบับที่ 4 —— ผมแทรกวงเล็บลงไป เพราะจากการละเลยทำให้เกิดความเข้าใจผิดเป็นประจำว่า มาคส์นับผลผลิตทั้งหมดในโภคยกรรมของใครก็ตามที่ไม่ใช่ผู้ผลิตเป็นสินค้า —— ฟรีดริช เอ็งเงิลส์


  1. Warenkunde หรือ commodity science ในภาษาอังกฤษ แปลตามคำว่าวิทยาการข้อมูล วิทยาการจัดการ ฯลฯ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. Jacob, William (1831). An Historical Inquiry Into the Production and Consumption of the Precious Metals 2. น. 101.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. หมายถึง Wilhelm Ludwig von Eschwege โดยทาง Merivale, H.A.M. (1841). Lectures on Colonization and Colonies 1. น. 52n.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)

{{สัญญาอนุญาตงานแปล | {{สาธารณสมบัติ-เก่า}} | {{CC-BY-SA-4.0}} }}