ผู้ใช้:Thastp/ทุน เล่ม 1/1/2
{{หัวเรื่องงานแปล <!-- ข้อมูลหลัก --> | ชื่อ = ทุน เล่ม 1 | ศักราช = ค.ศ.| ปี = 1890 | ภาษา = de | ต้นฉบับ = Das Kapital. Band I | ผู้สร้างสรรค์ = คาร์ล มาคส์| บรรณาธิการ = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ส่วน = บทที่ 1: โภคภัณฑ์| ผู้มีส่วนร่วม = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ก่อนหน้า = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/v|สารบัญ]]| ถัดไป = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/2|บทที่ 2: กระบวนการแลกเปลี่ยน]] | หมายเหตุ = <!-- ข้อมูลย่อย (สำหรับจัดระเบียบหรือเชื่อมโยงไปหน้าอื่น) --> | หมวดหมู่ = | แก้กำกวม = | รุ่น = | สถานีย่อย = | ผู้สร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้อง = | วิกิพีเดีย = | คอมมอนส์ = | หมวดหมู่คอมมอนส์ = | วิกิคำคม = | วิกิข่าว = | วิกิพจนานุกรม = | วิกิตำรา = | วิกิห้องสมุด = | วิกิสนเทศ = | วิกิท่องเที่ยว = | วิกิวิทยาลัย = | วิกิสปีชีส์ = | เมทา = }}
เดิมทีสินค้าปรากฏต่อเราเหมือนสิ่งกำกวมระหว่างมูลค่าใช้สอยกับมูลค่าแลกเปลี่ยน ต่อมาพบว่า แรงงานก็เช่นกัน ตราบที่แสดงออกในมูลค่า ไม่เหลือโฉมของผู้บังเกิดเกล้าให้มูลค่าใช้สอยอีกต่อไปแล้ว ผมเป็นคนแรกที่ได้พิสูจน์อย่างวิพากษ์ถึงธรรมชาติกำกวมของแรงงานในสินค้า[1] เนื่องด้วยประเด็นนี้เป็นแก่นของการทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมือง ต่อไปนี้จะอธิบายละเอียดลงไป
เอาสินค้าสองอย่าง เช่นเสื้อคลุมตัวหนึ่งกับผ้าลินิน 10 หลา อย่างแรกมีมูลค่าสองเท่าของอย่างหลัง ถ้าผ้าลินิน 10 หลา แล้วเสื้อคลุม
เสื้อคลุมเป็นมูลค่าใช้สอยซึ่งสนองความต้องการแบบหนึ่ง ต้องใช้กิจกรรมการผลิตแบบหนึ่งเพื่อผลิตขึ้นมา โดยกำหนดจากเป้าหมาย วิธีทำ วัตถุ ปัจจัย และผลลัพธ์ แรงงานที่แสดงความมีประโยชน์ของตัวเองในมูลค่าใช้สอยของผลผลิต หรือในการที่ผลผลิตเป็นมูลค่าใช้สอย เราจะเรียกสั้น ๆ ว่าแรงงานมีประโยชน์ จากมุมมองนี้ เราจะพิจารณาในส่วนของผลที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
เหมือนเสื้อคลุมกับผ้าลินินที่เป็นมูลค่าใช้สอยซึ่งแตกต่างกันเชิงคุณภาพ แรงงานซึ่งเป็นสื่อให้อัตถิภาวะของทั้งสองก็แตกต่างกันเชิงคุณภาพ —— การตัดเย็บและการถักทอ หากของสองอย่างนี้ไม่ใช่มูลค่าใช้สอยที่มีคุณภาพแตกต่างกัน และจึงไม่ใช่ผลผลิตของแรงงานมีประโยชน์ที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ก็จะไม่สามารถเผชิญหน้ากันและกันในฐานะสินค้าได้เลย เสื้อคลุมไม่แลกเปลี่ยนกับเสื้อคลุม มูลค่าใช้สอยอย่างเดียวกันไม่แลกเปลี่ยนกับมูลค่าใช้สอยอย่างเดียวกัน
ในบรรดามูลค่าใช้สอยหรือกายสินค้าสุดหลากหลาย ปรากฏบรรดาชนิด สกุล วงศาคณาญาติของแรงงานนานาเนกประโยชน์ทำนองเดียวกัน —— คือการแบ่งงานทางสังคม อันเป็นเงื่อนไขจำเป็นของการผลิตสินค้า ทว่าการผลิตสินค้าไม่ใช่เงื่อนไขจำเป็นของการแบ่งงานทางสังคม ในชุมชนอินเดียโบราณมีการแบ่งงานทางสังคม แต่ผลผลิตไม่กลายเป็นสินค้า หรือใกล้ตัวอีกนิด ในโรงงานทุกแห่งแรงงานถูกแบ่งอย่างเป็นระบบ แต่ไม่ได้แบ่งผ่านการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างคนงานแต่ละคน ผลผลิตของแรงงานเอกชนที่อยู่ด้วยตัวเองและไม่พึ่งพากันเท่านั้นจึงจะเผชิญหน้ากันในฐานะสินค้า
จึงเห็นแล้วว่า: ในมูลค่าใช้สอยของสินค้าทุกชิ้นมีกิจกรรมการผลิตที่มีเป้าหมายเจาะจงหรือแรงงานที่มีประโยชน์อยู่ มูลค่าใช้สอยไม่สามารถเผชิญหน้ากันในฐานะสินค้าได้ หากแรงงานมีประโยชน์ข้างในมีคุณภาพไม่แตกต่างกัน ในสังคมที่โดยทั่วไปผลผลิตมีรูปเป็นสินค้า กล่าวคือในสังคมของผู้ผลิตสินค้า ความแตกต่างเชิงคุณภาพของแรงงานมีประโยชน์ ซึ่งดำเนินโดยไม่ขึ้นต่อกันฉันธุรกิจเอกชนของผู้ผลิตอิสระ ก็จะพัฒนากลายเป็นระบบหลายแขนง กลายเป็นการแบ่งงานทางสังคม
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคนใส่เป็นช่างตัดเสื้อหรือลูกค้าของช่าง เสื้อคลุมก็ทำงานเป็นมูลค่าใช้สอยในทั้งสองกรณี ความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อคลุมกับแรงงานที่ผลิตมันในและโดยตัวเองก็ไม่เปลี่ยน แม้การตัดเย็บจะกลายเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง หรือกลายเป็นแขนงของตัวเองในการแบ่งงานทางสังคม ความต้องการเครื่องนุ่งห่มคาดคั้นให้มนุษย์ตัดเย็บเสื้อผ้ามาหลายพันปีก่อนมีใครได้เป็นช่างตัดเสื้อเสียอีก แต่การมีอยู่ของเสื้อคลุม ผ้าลินิน ตลอดทุกองค์ประกอบความมั่งคั่งเชิงวัตถุซึ่งไม่พบในธรรมชาติ ในทุกยุคทุกสมัย ต้องสื่อผ่านกิจกรรมการผลิตที่มีเป้าหมายเจาะจง ซึ่งกลืนกลายวัสดุธรรมชาติที่เจาะจงเข้ากับความต้องการของมนุษย์ที่เจาะจง ในฐานะผู้สร้างมูลค่าใช้สอย ในฐานะแรงงานมีประโยชน์ แรงงานจึงเป็นเงื่อนไขต่อการมีอยู่ของมนุษย์โดยไม่ขึ้นกับรูปแบบของสังคม เป็นความจำเป็นธรรมชาติโดยสถาพรในการสื่อวัสดุปริณาม[a]ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ และจึงเป็นสื่อของชีวิตมนุษย์
มูลค่าใช้สอยอย่างเสื้อคลุม ผ้าลินิน ฯลฯ โดยย่อว่ากายสินค้านั้นเป็นพันธะของธาตุสองชนิด คือวัสดุธรรมชาติกับแรงงาน หากเราถอนแรงงานมีประโยชน์ทั้งหมดออกมาจากเสื้อคลุม ผ้าลินิน ฯลฯ จนเกลี้ยง ก็จะเหลือเพียงวัสดุสารตั้งต้นเสมอ ซึ่งพบเจอได้ในธรรมชาติโดยไม่พึ่งมนุษย์ ในการผลิต มนุษย์กระทำเฉกเช่นธรรมชาติได้เท่านั้น กล่าวคือทำได้เพียงเปลี่ยนรูปของวัสดุ[2][b] ยิ่งกว่านั้น ในแรงงานที่เปลี่ยนรูปเองก็มีพลังธรรมชาติค้ำจุนอยู่เสมอ แรงงานจึงไม่ใช่บ่อเกิดอันหนึ่งอันเดียวของมูลค่าใช้สอยหรือความมั่งคั่งเชิงวัตถุที่มันผลิต พูดแบบวิลเลียม เพตตี แรงงานเป็นบิดา โลกาเป็นมารดา
เราจะขยับจากสินค้าที่จนบัดนี้เป็นวัตถุใช้สอย ไปยังมูลค่าของสินค้า
เราสมมุติไว้ให้เสื้อคลุมมีมูลค่าสองเท่าของผ้าลินิน นี่เป็นเพียงความแตกต่างเชิงปริมาณ เมื่อแรกเห็นเรายังไม่สนใจ ระลึกว่าถ้ามูลค่าของเสื้อคลุมตัวหนึ่งเป็นสองเท่าของผ้าลินิน 10 หลา ผ้าลินิน 20 หลาจะมีขนาดของมูลค่าเท่ากับเสื้อคลุมหนึ่งตัว ในฐานะมูลค่า เสื้อคลุมและผ้าลินินเป็นของจากแก่นสารเดียวกัน เป็นการแสดงออกเชิงรูปธรรมของแรงงานชนิดเดียวกัน แต่ว่าการตัดเย็บกับการถักทอเป็นแรงงานที่แตกต่างกันเชิงคุณภาพ ถึงอย่างนั้น ในบางสภาพสังคม มนุษย์คนเดียวอาจทำทั้งตัดเย็บและถักทอสลับกันไป วิธีใช้แรงงานที่ต่างกันสองแบบจึงเป็นแค่การดัดแปลงแรงงานของปัจเจกคนเดียวกัน และยังไม่เป็นบทบาทที่จำเพาะและถาวรของปัจเจกคนละคน ดังเช่นที่ช่างตัดเสื้ออาจตัดเสื้อคลุมวันนี้แล้วก็ตัดกางเกงพรุ่งนี้ ซึ่งต้องใช้แค่แรงงานแบบต่าง ๆ ของปัจเจกคนเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น เห็นได้จากสังคมทุนนิยมของเรา แรงงานมนุษย์บางส่วนจะสลับไปเป็นอุปทานในรูปของการตัดเย็บบ้าง ในรูปของการถักทอบ้าง ตามแนวโน้มอุปสงค์ของแรงงาน แรงงานอาจไม่ได้เปลี่ยนรูปโดยไร้แรงเสียดทานเลยเสียทีเดียว แต่ก็ต้องเปลี่ยน หากเรามองข้ามความจำเพาะของกิจกรรมการผลิต และฉะนั้นคุณลักษณะอันมีประโยชน์ของแรงงาน สิ่งที่เหลืออยู่คือการเป็นการใช้พลังแรงงานมนุษย์ แม้การตัดเย็บและการถักทอเป็นกิจกรรมการผลิตที่แตกต่างกันเชิงคุณภาพ ทั้งสองยังเป็นการใช้มันสมอง กล้ามเนื้อ เส้นประสาท น้ำมือ ฯลฯ ในการผลิต และในแง่นี้ทั้งสองคือแรงงานมนุษย์ เพียงการใช้พลังแรงงานมนุษย์ที่แตกต่างกันสองรูปแบบ จริงอยู่ที่พลังแรงงานมนุษย์เองจะใช้แบบนี้แบบนั้นได้ก็ต้องพัฒนาแล้วไม่มากก็น้อย มูลค่าของสินค้าทว่าแสดงถึงแรงงานมนุษย์เรียบ ๆ นั่นคือการใช้แรงงานมนุษย์โดยทั่วไป เหมือนกับที่นายพลและนายธนาคารมีบทบาทใหญ่โตในสังคมกระฎุมพี แต่มนุษย์ธรรมดาสามัญกลับมีบทบาทแสนต่ำต้อย[3] ในที่นี้ แรงงานมนุษย์ก็เช่นกัน เป็นการใช้พลังแรงงานมนุษย์เรียบง่าย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของปุถุชน ไม่ได้พัฒนาเป็นพิเศษ และมีอยู่แล้วในองคาพยพเนื้อหนังมนุษย์ แน่นอนว่าแรงงานเฉลี่ยเรียบง่ายเองก็แตกต่างกันตามแต่ละประเทศแต่ละสมัยอารยธรรม แต่พอกำหนดได้จากสังคมที่เป็นอยู่ แรงงานที่ซับซ้อนกว่านับเป็นแค่แรงงานเรียบง่ายยกกำลังหรือทวีคูณเพิ่มไป โดยที่แรงงานซับซ้อนในปริมาณน้อยกว่าจะเท่ากับแรงงานเรียบง่ายในปริมาณมากกว่า จากประสบการณ์ การลดทอนเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ สินค้าอย่างหนึ่งอาจเป็นผลผลิตของแรงงานซับซ้อนมาก ๆ แต่ก็เทียบมูลค่าได้กับผลผลิตของแรงงานเรียบง่าย และจึงเพียงแสดงถึงแรงงานเรียบง่ายปริมาณหนึ่ง[4] แรงงานแต่ละชนิดจะถูกลดทอนเป็นแรงงานเรียบง่ายเป็นหน่วยวัดในอัตราส่วนเท่าใดนั้น เป็นสิ่งที่ตกลงกันผ่านกระบวนการทางสังคมลับหลังผู้ผลิต จึงดูเหมือนถูกกำหนดตามธรรมเนียม เพื่อความเรียบง่าย จากนี้ไปเราจะนับพลังแรงงานทุกชนิดเป็นพลังแรงงานเรียบง่ายไปโดยพลัน ซึ่งเพียงสงวนภาระการลดทอนด้วยการนี้
ดังนั้น อย่างที่มีการเพิกออกจากความแตกต่างของมูลค่าใช้สอยในมูลค่าอย่างเสื้อคลุมและผ้าลินิน ก็ยังมีการเพิกออกจากความแตกต่างของแรงงานในรูปที่มีประโยชน์ เช่นการตัดเย็บและการถักทอ ในแรงงานซึ่งแสดงอยู่ในมูลค่าเหล่านั้นด้วย ขณะที่เสื้อคลุมและผ้าลินินในฐานะมูลค่าใช้สอยเป็นพันธะระหว่างผ้า ด้าย และกิจกรรมการผลิตที่มีเป้าหมายเจาะจง เสื้อคลุมและผ้าลินินในฐานะมูลค่ากลับเป็นเพียงวุ้นของแรงงานชนิดเดียวกัน แรงงานในมูลค่าก็จึงจะไม่ได้นับจากพฤติกรรมการผลิตที่กระทำต่อผ้าและด้าย แต่จากที่แค่เป็นการใช้พลังแรงงานมนุษย์ และที่การตัดเย็บและการถักทอเป็นองค์ประกอบที่สร้างมูลค่าใช้สอยอย่างเสื้อคลุมและผ้าลินินนั้น ก็เพราะมีคุณภาพที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง หากแต่เป็นแก่นสารของมูลค่าเสื้อคลุมและมูลค่าผ้าลินินเฉพาะตราบที่เพิกจากคุณภาพที่จำเพาะของตนและตนทั้งสองมีคุณภาพเหมือนกัน นั่นคือคุณภาพของแรงงานมนุษย์
เสื้อคลุมและผ้าลินินทว่าใช่แค่มูลค่าโดยทั่วไป แต่เป็นมูลค่าซึ่งมีขนาดแน่นอน และจากสมมุติฐานว่าเสื้อคลุมมีมูลค่าสองเท่าของผ้าลินิน 10 หลา ขนาดของมูลค่าที่ต่างกันมาจากไหน? จากที่มีแรงงานในผ้าลินินเพียงครึ่งหนึ่งของที่อยู่ในเสื้อคลุม โดยที่ต้องใช้พลังแรงงานผลิตอย่างหลังนานสองเท่าของที่ต้องใช้ผลิตอย่างแรก
ในแง่มูลค่าใช้สอย แรงงานในสินค้านับในเชิงคุณภาพเท่านั้น ในแง่ขนาดของมูลค่าก็จะนับในเชิงปริมาณเท่านั้น หลังจากถูกลดทอนเป็นแรงงานมนุษย์และปราศจากคุณภาพอื่นนอกเหนือจากนั้น ก่อนนี้เกี่ยวกับอะไรและอย่างไรของแรงงาน บัดนี้เกี่ยวกับเท่าใด เกี่ยวกับระยะเวลา และเมื่อขนาดของมูลค่าเพียงแสดงถึงปริมาณของแรงงานที่อยู่ในสินค้า สินค้าใดก็ดีในเมื่ออยู่ในอัตราส่วนที่แน่นอนเท่าหนึ่งย่อมเป็นมูลค่าขนาดเท่ากัน
หากพลังแรงงานคงเดิมไม่เปลี่ยน เช่นของแรงงานมีประโยชน์ทั้งหมดที่ต้องใช้ผลิตเสื้อคลุม ขนาดของมูลค่าของเสื้อคลุมจะเพิ่มตามปริมาณ เสื้อคลุม 1 ตัวแสดงถึงวันทำงาน วัน 2 ตัว วันเป็นต้น แต่สมมุติว่าแรงงานอันจำเป็นในการผลิตเสื้อคลุมเพิ่มขึ้นสองเท่าหรือลดลงครึ่งหนึ่ง ในกรณีแรก เสื้อคลุมจะมีมูลค่าเท่ากับเสื้อคลุมสองตัวจากเมื่อก่อน และในกรณีหลัง เสื้อคลุมสองตัวจะมีมูลค่าแค่ตัวเดียวจากเมื่อก่อน ทว่าในทั้งสองกรณี เสื้อคลุมยังคงทำหน้าที่เดียวกับเมื่อก่อน และแรงงานอันมีประโยชน์ข้างในก็ยังดีเหมือนเมื่อก่อน แต่ปริมาณแรงงานที่ใช้ไปในการผลิตเปลี่ยนไป
มูลค่าใช้สอยปริมาณมากกว่าเองนั้นสร้างความมั่งคั่งเชิงวัตถุที่มากกว่า เสื้อคลุมสองตัวมากกว่าหนึ่งตัว เสื้อคลุมสองตัวสวมได้สองคน เสื้อคลุมหนึ่งตัวสวมได้คนเดียว ฯลฯ ถึงอย่างนั้น การเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งเชิงวัตถุอาจสอดคล้องกับการลดลงของขนาดของมูลค่าไปพร้อม ๆ กัน ความเคลื่อนไหวสวนทางกันนี้เกิดจากลักษณะกำกวมของแรงงาน พลังการผลิตนั้นแน่นอนว่าเป็นพลังการผลิตของแรงงานรูปธรรมที่มีประโยชน์เสมอ และแน่นอนว่าเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของกิจกรรมการผลิตที่มีเป้าหมายภายในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น แรงงานมีประโยชน์จะเป็นแหล่งของผลผลิตอย่างล้นหลามหรือประปราย สัมพันธ์โดยตรงกับการขึ้นลงของพลังการผลิต ในทางตรงข้าม การเปลี่ยนแปลงของพลังการผลิตในและโดยตัวเองไม่ส่งผลใด ๆ ต่อแรงงานซึ่งแสดงอยู่ในสินค้า เพราะพลังการผลิตเป็นรูปหนึ่งที่มีประโยชน์เชิงรูปธรรมของแรงงาน จึงเป็นธรรมดาที่จะไม่ส่งผลอะไรกับแรงงานเมื่อเพิกจากรูปที่มีประโยชน์เชิงรูปธรรมไป แรงงานเดียวกันในระยะเวลาเดียวกันจึงให้มูลค่าขนาดเท่ากันเสมอ ไม่ว่าพลังการผลิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ถึงระยะเวลาเดียวกันก็ตาม จะได้มูลค่าใช้สอยปริมาณต่างกัน มากขึ้นเมื่อพลังการผลิตสูงขึ้น และน้อยลงเมื่อพลังการผลิตต่ำลง การเปลี่ยนแปลงในพลังการผลิตแบบเดียวกัน ที่เพิ่มดอกผลของแรงงานและฉะนั้นเพิ่มมวลของมูลค่าใช้สอยที่ผลิตได้ จึงลดขนาดของมูลค่าของมวลรวมที่เพิ่มขึ้น และถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นลดเวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตมวลรวมนั้นลง ก็จะกลับกันในทำนองเดียวกัน
ในด้านหนึ่ง แรงงานทั้งปวงเป็นการใช้พลังแรงงานมนุษย์ในความหมายแบบสรีรวิทยา และสร้างมูลค่าของสินค้าด้วยคุณสมบัติที่เป็นแรงงานมนุษย์ที่เท่ากันหรือแรงงานมนุษย์นามธรรม ในอีกด้านหนึ่ง แรงงานทั้งปวงเป็นการใช้พลังแรงงานมนุษย์ในรูปเจาะจงอย่างมีเป้าหมาย และผลิตมูลค่าใช้สอยด้วยคุณสมบัติที่เป็นแรงงานมีประโยชน์เชิงรูปธรรม[5]
- ↑ เล่มเดิม หน้า 12, 13 และทุกแห่ง.
- ↑ „ปรากฏการณ์ทั้งปวงในจักรวาล ไม่ว่าจะผลิตด้วยน้ำมือมนุษย์ หรือด้วยกฎสากลของฟิสิกส์ มิได้ทำให้นึกถึงการสร้างที่แท้จริง แต่เพียงแค่การดัดแปลงสสาร ในการวิเคราะห์มโนคติของการผลิตซ้ำ ปัญญามนุษย์พบเพียงองค์ประกอบของการประกบและการแยกออก และเช่นกันในการผลิตซ้ำมูลค่า (มูลค่าใช้สอย แต่ในบทโจมตีพวกฟิซิโอแครต แวร์รีเองก็ไม่รู้แน่ชัดว่ากำลังพูดถึงมูลค่าแบบไหน) และความมั่งคั่ง เมื่อดิน อากาศ และน้ำในนาแปรเป็นธัญพืช เมื่อกาวจากแมลงแปรเป็นผ้ากำมะหยี่ด้วยน้ำมือมนุษย์ หรือเมื่อชิ้นส่วนโลหะถูกจัดวางเพื่อประกอบเป็นนาฬิกา“. (ปีเอโตร แวร์รี: „Meditazioni sulla economia politica“ (พิมพ์ครั้งที่หนึ่งปี 1773) ใน italienischen Oekonomen ฉบับของกุสโตดี, Parte Moderna, เล่ม XV หน้า 22).
- ↑ เปรียบเทียบ „เฮเกิล, Philosophie des Rechts“ เบอร์ลิน 1840, หน้า 250, § 190.
- ↑ ผู้อ่านต้องตระหนักว่าในที่นี้เราไม่ได้พูดถึงค่าจ้างหรือมูลค่าที่คนงานได้จากวันทำงานสักวัน แต่พูดถึงมูลค่าสินค้าซึ่งหนึ่งวันทำงานนั้นกลายเป็นวัตถุอยู่ภายใน ยังไม่มีหมวดหมู่ที่ชื่อว่าค่าจ้างแรงงานในการบรรยายขั้นนี้
- ↑ หมายเหตุในฉบับที่ 2 เพื่อพิสูจน์ว่า „เพียงแรงงานเท่านั้นที่เป็นมาตรฐานสุดท้ายและแท้จริงที่ใช้ประมาณและเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าทั้งปวงในทุกที่ทุกเวลา“ อดัม สมิธ กล่าว: „แรงงานที่ปริมาณเท่ากัน ในทุกที่ทุกเวลา ต้องมีมูลค่าเท่ากันสำหรับคนงาน ด้วยสุขภาพ ความแข็งแรง และกิจกรรมที่ปกติ ด้วยระดับทักษะและความชำนาญทั่วไป เขาจะต้องยอมสละความสบาย อิสรภาพ และความสุขของเขาในสัดส่วนเดียวกัน“ (ความมั่งคั่งของประชาชาติ เล่ม I. บทที่ V.) ในด้านหนึ่ง อดัม สมิธ สับสนตรงนี้ (แต่ไม่ทุกที่) ระหว่างการกำหนดมูลค่าด้วยปริมาณของแรงงานที่ใช้ในการผลิตสินค้า กับการกำหนดมูลค่าของสินค้าด้วยมูลค่าของแรงงาน และจึงพยายามพิสูจน์ว่าแรงงานในปริมาณที่เท่ากันมีมูลค่าเดียวกันเสมอ ในอีกด้านหนึ่ง เขาสังหรณ์ว่าแรงงานเท่าที่แสดงอยู่ในมูลค่าของสินค้านั้นนับเป็นเพียงการใช้พลังแรงงาน แต่เขาเข้าใจว่าการใช้นั้นเป็นแค่การสละความสบาย อิสรภาพ และความสุขเท่านั้น แทนที่จะเป็นกิจกรรมชีวิตปกติ อย่างไรก็ดี เขากำลังนึกภาพของคนงานรับจ้างสมัยใหม่ —— บุคคลนิรนามผู้มาก่อนอดัม สมิธ ที่ผมอ้างอิงถึงในหมายเหตุที่ 9 กล่าวไว้ได้อย่างแหลมคมยิ่งกว่าว่า: „คน ๆ หนึ่งใช้งานตัวเองหนึ่งสัปดาห์เพื่อหาเลี้ยงสิ่งจำเป็นต่อชีวิตนี้ … และผู้ใดที่ให้อย่างอื่นใดมาเป็นการแลกเปลี่ยน เขาจะประมาณอย่างไรว่าอะไรเสมอกันได้อย่างถูกต้อง ไม่มีดีไปกว่าคำนวณว่าอะไรที่ต้องใช้แรงงานและเวลาที่เท่ากัน ในทางปฏิบัติ ไม่ต่างจากการแลกเปลี่ยนแรงงานของคนหนึ่งในสิ่งหนึ่งในระยะเวลาเท่าหนึ่งกับแรงงานของอีกคนหนึ่งในอีกสิ่งหนึ่งในระยะเวลาที่เท่ากัน“ (เล่มเดิม หน้า 39) —— [ในฉบับที่ 4: ภาษาอังกฤษมีข้อดีที่มีคำต่างกันสองคำสำหรับแรงงานที่ต่างกันในสองแง่ แรงงานที่สร้างมูลค่าใช้สอยและกำหนดจากคุณภาพเรียกว่าเวิร์ก ตรงข้ามกับเลเบอร์ แรงงานที่สร้างมูลค่าและวัดจากปริมาณเท่านั้นเรียกว่าเลเบอร์ ตรงข้ามกับเวิร์ก ดูที่หมายเหตุในฉบับแปลภาษาอังกฤษ หน้า 14 —— ฟรีดริช เอ็งเงิลส์]
- ↑ Stoffwechsel หมายถึง Metabolism หรือกระบวนการสร้างและสลายในร่างกาย และหมายตรงตัวว่าการเปลี่ยนวัสดุ "วัสดุปริณาม" มาจากคำว่า ปริณาม ซึ่งแปลว่าการผันแปร/เปลี่ยนแปลง/ย่อยไป นอกจากนี้ยังมีคำว่า ปริณามัคคี ซึ่งหมายถึงไฟย่อยอาหารในการแพทย์แผนไทย จึงเป็นการรักษานัยทั้งสอง (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Verri, Pietro (1804). Scrittori Classici Italiani di Economia Politica Parte Moderna XV. น. 21, 22. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
{{สัญญาอนุญาตงานแปล | {{สาธารณสมบัติ-เก่า}} | {{CC-BY-SA-4.0}} }}