พงศาวดารภาคอีสาน (พระสุนทรราชเดช)
พงศาวดารภาคอีสาน |
ฉะบับของ |
พระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ) |
กรมการพิเศษ |
จังหวัดอุบลราชธานี |
พิมพ์ในงานปลงศพ |
หม่อมทรัพย์ ศรีธวัช ณ อยุธยา |
แห่งหม่อมเจ้านิสากร ศรีธวัช |
วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๓ |
พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีหงส์ |
ด้วยหม่อมเจ้านิสากร ศรีธวัช จะทรงจัดการปลงศพหม่อมทรัพย์ ศรีธวัช ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหม่อมของท่าน ใคร่จะมีหนังสือแจกตามสมัยนิยมสักเรื่องหนึ่ง แต่เป็นเวลาที่กระชั้นกับวันงานเข้ามาแล้ว จึงทรงมอบให้ข้าพเจ้าเป็นธุระเลือกหาหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วแต่จะเห็นสมควร เพื่อพิมพ์ขึ้นให้ทันในงานนี้ ข้าพเจ้าจึงได้รีบจัดการค้นดูเรื่องเก่า ๆ ที่ได้คัดลอกและเก็บรวบรวมไว้แต่ครั้งยังรับราชการอยู่หัวเมือง ก็ไปพบพงศาวดารภาคอีสานเข้าเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นฉะบับของพระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ) ผู้ว่าราชการเมือง ครั้งอำเภอยโสธรซึ่งขึ้นแก่จังหวัดอุบลราชธานี เดี๋ยวนี้ยังเป็นเมืองอยู่ รู้สึกพอใจเป็นอันมาก เพราะเหตุว่า ท่านผู้เป็นเจ้าภาพดกับข้าพเจ้าได้เคยไปรับราชการอยู่ทางแถบโน้นร่วมมณฑลเดียวกันมาเป็นเวลาหลายปี น่าจะได้เรื่องราวทางแถบโน้นมาแสวงเป็นที่ระลึกไว้บ้าง นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของต้นฉะบับพงศาวดารนี้ต่างก็รู้จักชอบพอด้วยกันอีก ย่อมทำให้เพิ่มน้ำหนักที่น่าจะพิมพ์พงศาวดารฉะบับนี้ยิ่งขึ้น แต่เมื่อมาตรวจเนื้อเรื่องดู รู้สึกว่า เป็นเรื่องอยู่ข้างสั้นมาก ถ้าจะพิมพ์ขึ้น ก็ได้หนังสือน้อยยกเต็มที หรือหากว่าจะจับเรื่องใดเรื่องหนึ่งรวมเข้าด้วย ก็ผะสมกันไม่ติด ครั้นจะตรวจค้นเลือกดูเรื่องอื่นต่อไป ก็เกรงจะช้าวันและจะไม่ทันกำหนดงาน ออกรู้สึกลำบากใจเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงได้ถวายพงศาวดารฉะบับนี้แด่ท่านผู้เป็นเจ้าภาพเพื่อทรงตรวจและทรงพิเคราะห์ต่อไปว่า จะควรประการใด เมื่อท่านทรงตรวจดูแล้ว ก็เป็นที่พอพระทัย และโปรดให้พิมพ์พงศาวดารฉะบับนี้ขึ้น ข้าพเจ้าจึงได้ทำคำอธิบายเพิ่มเติมไว้บางแห่งสำหรับประกอบเรื่องตามที่ควรจะทำได้ในเวลาอันน้อย (มีเวลาทำธุระในเรื่องนี้เพียง ๓ วันเท่านั้น) เพื่อเป็นทางวินิจฉัยต่อไป ถ้าจะมีพลาดพลั้งอยู่บ้างประการใด ขอประทานอภัยไว้ณที่นี้ด้วย
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในพระกุศลทักษิณานุปทานซึ่งหม่อมเจ้านิสากร ศรีธวัช ได้ทรงบำเพ็ญเป็นปัตติทานมัย มีทารสังคหธรรมเป็นที่ตั้ง ทั้งได้โปรดให้พิมพ์พงศาวดารฉะบับนี้ให้แพร่หลายเป็นที่ระลึกด้วย
เรื่องพงศาวดารและแผ่นศิลาเลขที่ท่านได้จารึกไว้แต่ก่อนเดิมได้ความว่า เดิมตระกูลที่จะได้มาตั้งเป็นเมืองยโสธรมีพ่อตาแม่ยาชื่อว่า พระตา พระวอ ตั้งอยู่บ้านหนองบัวลุ่มภู[1] แขวงเวียงจันทนบุรี มีบุตรเจ้าล้านช้างคนหนึ่งออกมาแต่เวียงจันทนบุรีมาอาศัยอยู่กับพระตา พระวอ ในขณะนั้น ข้างเวียงจันทนบุรี หามีคนใดจะนั่งเสวยเมืองจันทนบุรีมิได้ จึงมาเชิญเอากษัตริย์บุตรเจ้าจันทนบุรีที่มาอาศัยอยู่กับพระตา พระวอ บ้านหนองบัวลุ่มภู ขึ้นเป็นเจ้าจันทนบุรี ในขณะนั้น เจ้าจันทนบุรีจึงแต่งให้กรมการออกมาขอเอาบุตรหลานของพระตา พระวอ ไปเป็นห้าม ทางพระตา พระวอ ไม่ยอมให้บุตรหลานเป็นห้าม ข้างเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีจึงจัดเอากำลังมาจับได้ตัวพระตาไปฆ่า แล้วท้าวพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ ท้าวคำผง และท้าวมุม จึงพาพวกพันธุ์พี่น้องอพยพหนีจะไปนครจำปาศักดิ์ ครั้นมาถึงดงสิงห์โคก สิงห์ท่า ท้าวมุม บุตรหลานพระวอ จึงพาครัวหนึ่งพักอยู่ดงสิงห์โคก สิงห์ท่า ท้าวมุมเป็นคนครอบครองบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า ท้าวพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม ไปตั้งอยู่บ้านดู่ บ้านแก เจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีจึงแต่งให้เพี้ยสุโภและอรรคฮาต (หำทอง) เอาไพร่พลลงไปขอเอาครัวพระตา พระวอ ท้าวคำผง บ้านดู่ บ้านแก ริมห้วงพรึง แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ จึงบอกให้เพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ว่า ให้ไปเกลี้ยกล่อมเล้าโลมเอาเทอญ ข้างเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ว่า ได้คำสั่งของเจ้านครจำปาศักดิ์แล้ว ก็ทำตัวมีอำนาจออกมาว่า จะจับผูกมัดเอา ท้าวพระวอ และท้าวฝ่ายหน้า บ้านดู่ บ้านแก ไม่ยอมกลับคืนไปเมืองเวียงจันทนบุรี กับเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ข้างเพี้ยสุโภและอรรคฮาต (หำทอง) ก็เลยโกรธขึ้งขึ้นว่า จะจับเอาตัวพระวอ และท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ แต่พระวอ ท้าวฝ่ายหน้า และท้าวก่ำ ไม่ยอมให้จับ ก็เลยเกิดความวิวาทกันที่บ้านดู่ บ้านแก ข้างพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า และท้าวก่ำ จึงแต่งให้ท้าวคำผงไปขอเอากำลังกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์หาให้กำลังไม่ ท้าวคำผงจึงกลับคืนมาหาพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า และท้าวก่ำ ข้างเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) รู้กระแสว่า พระวอ ท้าวฝ่ายหน้า และท้าวก่ำ แต่งให้ท้าวคำผงไปขอเอากำลังกับเจ้านครจำปาศักดิ์ จึงแต่งให้เพี้ยแก้วอาสาขึ้นไปขอเอากำลังกับเจ้าจันทนบุรี ข้างพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า และท้าวก่ำ รู้กระแส จึงได้แต่งให้เพี้ยแก้วโยธา เพี้ยแก้วท้ายช้าง ลงไปทูลขอเอากำลังทัพกับพระเจ้าตากณกรุงเทพฯ พระเจ้าตากจึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ คุมเอากองทัพขึ้นมาเมืองนครจำปาศักดิ์ ก็ยังหามาถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ไม่ ฝ่ายข้างเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) รู้กระแสว่า กองทัพใหญ่จะขึ้นมาแต่กรุงเทพฯ จึงพากันลอบมองจับเอาพระวอไปได้ แล้วก็เลยเอาพระวอไปฆ่าเสียริมน้ำห้วยพรึงในคืนนั้น ยังแต่ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวก่ำ และท้าวทิดพรม รักษาควบคุมเอาไพร่พลไว้ที่บ้านดู่ บ้านแก และท้าวทิดพรมรักษาควบคุมเอาไพร่พลไว้ที่บ้านดู่ บ้านแก ครั้นเจ้าแม่ทัพใหญ่ขึ้นมาถึงกลางทาง จึงใช้ทูตถือราชสาส์นขึ้นมาถึงพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ ท้าวคำผง และท้าวทิดผง ฝ่ายข้างเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) แจ้งกระแสข้อความว่า กองทัพใหญ่กรุงเทพฯ จะมาถึงแล้ว เพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ก็เลยพากำลังหลบตัวหนีขึ้นไปทางเวียงจันทนบุรี ครั้นเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ แม่กองทัพใหญ่ ขึ้นมาถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ จึงเรียกหาเอาตัวพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ ท้าวคำผง และท้าวทิดพรม เข้าไปถามดูพวกพลทหารเมืองเวียงจันทน์อยู่ที่ไหน พวกท้าวฝ่ายหน้าจึงกราบเรียนเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ว่า เมื่อข้าพเจ้ามีใบบอกลงไปขอกองทัพณกรุงเทพฯ ในขณะนั้น เพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) รู้ ก็ลอบมองเข้ามาจับเอาตัวท้าวพระวอ ได้ตัวท้าวพระวอไป แล้วก็เลยเอาท้าวพระวอฆ่าริมน้ำห้วยพริง ครั้นเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ แม่ทัพใหญ่ มีราชสาส์นขึ้นมาถึงข้าพเจ้า ฝ่ายข้างเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) รู้ว่า ฯพณฯ มาถึงแล้ว เพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) กลัวบารมีของ ฯพณฯ ก็หลบตัว พากำลังขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ ฯพณฯ ตรัสถามว่า คนไหนเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ข้าศึกเกิดมีในท้องแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ทำไมจึงไม่เอากำลังมาช่วย มีใจเพิกเฉยเสีย ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวทิดพรม จึงเรียนว่า เมื่อเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) มาสู้รบกับพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าก็ไสให้ท้าวคำผงไปขอเอากำลังเจ้านครจำปาศักดิ์มาช่วยแรงพวกข้าพเจ้า เจ้านครจำปาศักดิ์ก็หาให้กำลังไม่ ฝ่ายเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) รู้กระแสว่า พวกข้าพเจ้าไปขอเอากำลังกับเจ้านครจำปาศักดิ์ ก็เลยมีใบบอกขึ้นไปขอกำลังกับเจ้าเมืองเวียงจันทน์ พวกข้าพเจ้าก็น้อยตัว เห็นจะค้ำกำลังเมืองเวียงจันทนบุรีไม่ได้ จึงได้มีใบบอกลงไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ ฯพณฯ ขึ้นมา เจ้านครจำปาศักดิ์ก็หาได้ดูแลไม่ ฯพณฯ จึงมีบัญชาต่อท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ ท้าวคำผง และท้าวทิดพรมว่า ถ้ามีคำจริงดังนั้น ก็พาเราไปหาเจ้านครจำปาศักดิ์เทอญ เราจะได้เรียกเอาตัวมาถามดู ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวทิดพรหม จึงพา ฯพณฯ ไปหาเจ้านครจำปาศักดิ์ พักอยู่ที่วัดศรีเกิด ขณะนั้น เจ้านครจำปาศักดิ์รู้ว่า ฯพณฯ พักอยู่ที่วัดศรีเกิด เจ้านครจำปาศักดิ์ก็เลยลงเรือล่องไปพักอยู่ที่บ้านหัวดอนชัย ฯพณฯ จึงใช้คนไปตามเอาตัวเจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ตัวเจ้านครจำปาศักดิ์มาแล้ว ฯพณฯ จึงตรัสถามว่า ข้าศึกเกิดในท้องแขวงเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ทำไมจึงไม่ช่วย เจ้านครจำปาศักดิ์จึงกราบเรียนว่า เมื่อเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ถือเอาตราเจ้ากรุงจันทนบุรีมาถึงข้าพเจ้า ขอเอาครองครัวท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ ท้าวคำผง และท้าวทิดพรม ที่มาตั้งอยู่บ้านดู่ บ้านแก ขึ่นไปจันทนบุรีตามเดิม ข้าพเจ้าก็ได้ให้เพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) เกลี้ยกล่อมเอาตามใจไพร่สมัคร เพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ไปถึงบ้านดู่ บ้านแก ก็ทำตัวมีอำนาจจะผูกมัด ข้างฝ่ายพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ ท้าวคำผง และท้าวทิดพรม ไม่ยอมขึ้นไปเลยไม่ยอมให้ผูกมัด ก็เลยเกิดความวิวาทรบกัน ครั้นทีหลัง ท้าวพระวอ ท้าวก้ำ ท้าวฝ่ายหน้า จึงใช้ให้ท้าวคำผงมาขอเอากำลังกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักที่จะให้กำลังไป เผานายบ่าวเป็นข้าศึกแก่กัน ครั้นข้าพเจ้าจะให้กำลังไป กลัวเมืองเวียงจันทบุรีจะว่า ข้าพเจ้าเอาใจช่วยพวกท้าวพระวอ ฯพณฯ จึงมีบัญชาว่า เจ้านครจำป⟨า⟩ศักดิ์มีความผิดเป็นอันมาก จะคุมเอาตัวลงไปกรุง⟨เ⟩ทพฯ ขณะนั้น ฯพณฯ จึงภาคโทษเจ้านครจำปาศักดิ์ไว้ครั้งหนึ่ง ฯพณฯ จึงมีบัญชาถามท้าวทิดพรมว่า ครั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เรามารบข้าศึกเมืองเวียงจันทบุรีที่มาตั้งอยู่บ้านดู่ บ้านแก ครั้นเราขึ้นมาถึงแล้ว หาได้รบข้าศึกตามท่านโปรดมาไม่ ให้ท่านทั้งปวงพาเราไปดูเมืองเวียงจันทนบุรีเทอญ ขณะนั้น ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวทิดพรม ก็เลยพา ฯพณฯ ขึ้นไปถึงพันพร้าวที่ริมแม่น้ำโขงใกล้เคียงกับเมืองเวียงจันทนบุรี ขณะนั้น เจ้าอัน ผู้เป็นเจ้าเมืองเวียงจันทบุรี หลบตัวหนีขึ้นพึ่งเจ้านครหลวงพระบาง ครั้น ฯพณฯ มีราชสาส์นไปถึงเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรี ยังแต่เจ้าอุปราช ดวงหน้า ดวงหลัง นำเอาราชสาส์นออกมาหา ฯพณฯ อยู่ที่พันพร้าว ฯพณฯ จึงถามเจ้าอุปราช ดวงหน้า ดวงหลัง ว่า เจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีหนีไปแห่งใด เจ้าอุปราชบอกว่า เจ้าเมืองจันทนบุรีหนีตัวขึ้นไปเมืองนครหลวงพระบาง ขณะนั้น ฯพณฯ ให้เจ้าอุปราชพาขึ้นไปตามหาตัวเจ้าเมืองเวียงจันทนุบรีที่เมืองนครหลวงพระบาง ฯพณฯ จึงใช้เจ้าอุปราชเข้าไปเชิญเอาเจ้านครหลวงพระบางออกมาหา ฯพณฯ แล้ว ฯพณฯ จึงถามเจ้านครหลวงพระบางว่า เจ้าเมืองเวียงจันทบุรีหนีตัวขึ้นมาอยู่กับเมืองของท่านที่นี่แล้วหนีไปแห่งใด เจ้านครหลวงพระบางกราบเรียนว่า เจ้าเมืองเวียงจันทนบุรียังอยู่ที่นี่ ขณะนั้น ฯพณฯ จึงให้เจ้านครหลวงพระบางส่งตัวเจ้าเมืองเวียงจันทบุรีออกมาหา ฯพณฯ เจ้านครหลวงพระบางจึงส่งตัวเจ้าเมืองเวียงจันทบุรีออกมาหา ฯพณฯ จึงถามเจ้าเมืองเวียงจันทบุรีว่า เหตุใดท่านจึงแต่งเพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ไปก่อการกองทัพที่แขวงเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองเวียงจันทบุรีจึงว่า ได้แต่งให้เพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ไปเกลี้ยกล่อมซอมซุบเอาท้าวพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง คืนมาบ้านเมืองตามเดิม หาได้ให้ไปคิดก่อการกองทัพไม่ ฯพณฯ จึงมีบัญชาว่า ท้าวพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง อยู่บ้านดู่ บ้านแก แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ เหตุใดจึงได้ให้เพี้ยสุโภ อรรคฮาต (หำทอง) ไปเกลี้ยกล่อมเอาขึ้นมาเวียงจันทนบุรี แล้วเจ้าเมืองเวียงจันทบุรีจึงว่า แต่ก่อน ท้าวพระวอ ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า พาครอบครัวตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านหนองบัวลุ่มภูขึ้นกับเมืองเวียงจันทบุรี แล้วพากันหลบตัวหนีไปตั้งอยู่บ้านดู่ บ้านแก แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ แต่ณปีมะโรง ตรีนิศก ศักราช ๑๑๓๓ หาได้บอกกับข้าพเจ้าไม่ ฯพณฯ จึงว่า เจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีหามีเหตุจับเอาตัวท้าวพระตาผู้ไม่มีผิดมาผลาญชีวิต ท้าวพระวอ ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า และท้าวก่ำ กลัวอำนาจเจ้าจันทบุรี จึงได้พาครอบครัวอพยพไปพึ่งเจ้านครจำปาศักดิ์ แล้วเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีก็รับว่า ได้ฆ่าท้าวพระตาจริง ด้วยท้าวพระตาขัดไม่ให้บุตรีแก่ข้าพเจ้าไปเป็นภรรยา แล้ว ฯพณฯ จึงว่า เจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีเป็นกษัตริย์ครอบงำปกครองบ้านเมือง ไม่อยู่ในยุตติธรรม กดขี่ข่มเหงแม่ป้าน้าสาว เอาท้าวพระตาไปฆ่า เจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีต้องตกไปตามกัน ฯพณฯ เลยฆ่าเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีตกไปตามกัน อยู่เมืองนครหลวงพระบาง แล้ว ฯพณฯ จึงให้เจ้าอุปราชเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรี แล้วเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีคนใหม่กับเจ้านครหลวงพระบางแห็นว่า ฯพณฯ มีอำนาจฆ่าเจ้าเมืองเวียงจันทรบุรีได้ เจ้าเมืองเวียงจันทนบุรี เจ้านครหลวงพระบาง จึงยอมถวายดอกไม้เงินทองขึ้นกับกรุงเทพฯ แล้วเจ้าเวียงจันทนบุรีจึงจัดเอานางเขียวค่อม บุตรีเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีคนเก่า ออกมาถวาย ฯพณฯ จึงแต่งให้พระหลวงขุนหมื่นพาเอานางเขียวค่อมลงไปถวายพระเจ้าตากณกรุงเทพฯ แล้ว ฯพณฯ เลยกลับลงไปเมืองนครจำปาศักดิ์ แล้วบอกเจ้านครจำปาศักดิ์ว่า แต่ครัวท้าวคำผง ท้าวทิดพรม ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวก่ำ ท้าวสิง และท้าวกุลบุตร จะได้ให้ยกขึ้นไปตั้งอยู่ตามลำน้ำพระมูล ลำพระชี เจ้านครจำปาศักดิ์ก็ยอมให้พวกท้าวฝ่ายหน้าขึ้นมาตามคำสั่ง ฯพณฯ ท้าวคำผง ท้าวทิดพรม ท้าวกุลบุตร และท้าวก่ำ ขึ้นมาตั้งอยู่บ้านแจะละแม ริมลำน้ำพระมูล ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวสิง ตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า ริมลำน้ำพระชี พากันเป็นหมวดเป็นกองอยู่ได้ประมาณ ๒๐ ปี
ครั้นปีขาล ตรีนิศก[2] ศักราช ๑๑๔๓ เกิดทัพเมืองประทายเพ็ชร์ พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพขึ้นมาปราบปรามกองทัพเมืองประทายเพ็ชร์ เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ จึงมีตราขึ้นมาถึงท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรม และท้าวก่ำ ที่ยกมาจากบ้านดู่ บ้านแก ขึ้นมาตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า บ้านแจะละแม นั้น ให้คุมกำลังลงไปรบกองทัพบรรจบกับเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ที่พระตะบอง แล้วเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ แม่ทัพใหญ่ พร้อมด้วยพระยาคทาธร เจ้าเมืองพระตะบอง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรม ท้าวก่ำ และท้าวสิง บ้านสิงห์ท่า บ้านแจะละแม คุมกำลังไปรบเมืองประทายเพ็ชร์มีชัยชะนะ แล้วเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ เลยกลับเข้าไปกรุงเทพฯ พวกท้าวฝ่ายหน้าก็พากันกลับคืนมาบ้านสิงห์ท่า บ้านแจะละแม ครั้นอยู่มา กองทัพจามสมมุติเซียงแก้วเขาโองยกมารบเมืองนครจำปาศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวสิง เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกำลังหัวเมืองฝ่ายตะวันออกไปรบจามสมมุติเซียงแก้วเขาโองมีชัยชะนะแล้ว ท้าวฝ่ายหน้าจึงตามจับได้ตัวเจ้านครจำปาศักดิ์ที่หนีกองทัพ จามสมมุติเซียงแก้วเขาโองไปพึ่งอยู่กับข่าพะนัง คุมลงไปส่งกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวฝ่ายหน้าเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้ท้าวสิงเป็นที่เจ้าราชวงศ์ ขึ้นมาครอบครองอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ แล้วเจ้านครจำปาศักดิ์ให้เจ้าราชวงศ์ไปอยู่เมืองเชียงของ
ครั้นถึงปีขาล[3] ศักราช ๑๑๔๗ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงบอกขอรับพระราชทานให้ท้าวทิดพรมเป็นเจ้าเมือง ท้าวก่ำเป็นอุปฮาด โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งท้าวทิดพรมเป็นที่พระพรหมวงษา เจ้าเมือง ท้าวก่ำเป็นอุปฮาด ยกบ้านแจะละแมขึ้นเป็นเมืองอุบล เป็นข้าหลวงเดิม ผูกส่วยน้ำรัก ๒ เลขต่อเบี้ยป่าน ๒ เลขต่อขอด
ครั้นถึงปีมะโรง นพศก[4] ศักราช ๑๑๖๙ อุปฮาด (ก่ำ) ออกจากเมืองอุบล ไปตั้งอยู่บ้านโคกกงดงพะเนียงริมแม่น้ำโขง แล้วพระพรหมวงษา เจ้าเมืองอุบลฯ พระสุนทรราชวงษา เมืองยโสธร บอกขอรับพระราชทานให้อุปฮาต (ก่ำ) เป็นเจ้าเมือง โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งอุปฮาด (ก่ำ) เมืองอุบล เป็นที่พระเทพวงษา เจ้าเมือง ยกบ้านโคกกงดงพะเนียงขึ้นเป็นเมืองเขมราฐ ผูกส่วยน้ำรัก ๒ เลขต่อเบี้ย ป่าน ๒ เลขต่อขอด ด้วยมีความชอบรบข้าศึกศัตรูมีชัยชะนะ จึงได้เป็นเมืองข้าหลวงเดิม
ครั้นถึงณปีวอก จัตวาศก ศักราช ๑๑๗๔ เจ้านครจำปาศักดิ์บอกขอรับพระราชทานให้ท้าวสิง ผู้เป็นที่ราชวงศ์เมืองเชียงโขง เป็นเจ้าเมือง ขอสีชา บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ เป็นที่อุปฮาด ยกบ้านสิงห์ท่าเป็นเมืองยโสธร แล้วทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตร ตั้งราชวงศ์ (สิง) เป็นที่พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมือง ตั้งท้าวสีชาเป็นอุปฮาด ตั้งท้าวบุตร บุตรพระสุนทรฯ เป็นราชวงศ์ ตั้งท้าวเสน บุตรท้าวพระวอ เป็นราชบุตร ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองยโสธร ผูกส่วยน้ำรัก ๒ เลขต่อเบี้ย ป่าน ๒ เลขต่อขอด ครั้นอยู่ได้ประมาณ ๘–๙ ปี พระสุนทรราชวงษา (สิง) ถึงแก่กรรม แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตร ตั้งอุปฮาด (สีชา) เป็นที่พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมือง ราชวงศ์ (บุตร) เป็นที่อุปฮาด ราชบุตรเป็นที่ราชวงศ์ ท้าวสุตตา บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ ท้าวหน้า เป็นราชบุตร อยู่ได้ประมาณสามเดือน พระสุนทรราชวงษาเลยถึงแก่กรรมไป บ้านเมืองก็ยังว่างอยู่
ครั้นปีจอ สัปตศก[5] ศักราช ๑๑๘๗ เจ้าอนุ ผู้เป็นที่เจ้าเวียงจันทน์ ครอบงำเมืองเวียงจันทนบุรี คิดก่อการกองทัพรบกับกรุงเทพฯ แล้วเจ้าอนุแต่งให้เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และเจ้าสุทธิสาร เป็นแม่ทัพ คุมกำลังออกจากเวียงจันทนบุรี เจ้าราชวงศ์ คุมกำลังลงมารบเมืองร้อยเอ็ด เมืองกาฬสินธุ์ เมืองยโสธร และหัวเมืองต่าง ๆ ลงไปจนถึงเมืองนครราชสีมา เจ้าราชบุตรคุมกำลังลงมารบเมืองเขมราฐ เมืองนครจำปาศักดิ์ และหัวเมืองต่าง ๆ ไปจนถึงเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ เจ้าสุทธิสารคุมกำลังลงไปรบเมืองหล่มศักดิ์และหัวเมืองต่าง ๆ ไปจนถึงเมืองเลย ขณะนั้น ข้อความหลายกองทัพขุ่นเคืองไปถึงใต่ฝ่าละอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิไว้พระทัยแก่ข้าศึกศัตรู จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพคุมทหารกรุงเทพฯ และไพร่หัวเมืองยกออกจากกรุงเทพฯ มาปราบปรามกองทัพราชวงศ์ในปีนั้น ครั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีคุมกำลังขึ้นมาถึงแก่งคอย พบราชวงศ์กับพวกกำลังอยู่ที่นั่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา แต่ยังเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี พากำลังและนายทัพนายกองเข้าสู้รบกับกองทัพราชวงศ์ ราชวงศ์กับนายทัพนายกองและไพร่กำลังสู้ทนเจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่ได้ เลยพากำลังหักทัพหลบตัวขึ้นมาถึงมูลเค็ง แขวงเมืองนครราชสีมา เจ้าพระยาราชสุภาวดีคุมกำลังตามกองทัพราชวงศ์ขึ้นมาถึงมูลเค็ง พบราชวงศ์กำลังอยู่ที่นั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีคุมกำลังเข้าสู้รบกับกองทัพราชวงศ์อยู่ที่มูลเค็ง แล้วพวกครอบครัวเมืองนครราชสีมาที่ราชวงศ์สู้รบได้ ว่าจะคุมขึ้นไปเมืองเวียงจันทบุรีนั้น ก็กลับสามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี เข้าสู้รบกับกองทัพราชวงศ์ ราชวงศ์ทนไม่ได้ ก็เลยพากำลังหักจากกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นมาถึงค่ายส้มป่อย แขวงเมืองศีร์ษะเกตุ แล้วเจ้าพระยาราชสุภาวดีพากำลังเข้าสู้รบกองทัพราชวงศ์ด้วยอาวุธสั้นยาว ราชวงศ์และนายหมวดนายกองสู้รบ ทนกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่ได้ เลยพากำลังหักจากกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับคืนไปเมืองเวียงจันทนบุรี แล้วเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงขึ้นมาตั้งอยู่เมืองยโสธร จัดเอานายหมวดนายกองและไพร่กำลังเมืองอุบลฯ ได้อุปฮาดเมืองเขมราฐคุมกำลังเมืองยโสธร ได้อุปฮาด ราชบุตร ท้าวฝ่าย ท้าวค่ำ ท้าวสุวอ และท้าวจันสีสุราช เป็นแม่ทัพคุมกำลัง ครั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีจัดได้นายหมวดนายกองและไพร่กำลังสิ้นเชิงแล้ว ถึงฤกษ์ยาม ก็เลยพานายหมวดนายกองและไพร่ยกจากเมืองยโสธร ตามกองทัพราชวงศ์ขึ้นไปเมืองเวียงจันทนบุรี ครั้นไปถึงบ้านผักหวาน แขวงเมืองหนองคาย ราชวงศ์ตั้งค่ายอยู่ที่นั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ราชวงศ์ ขี่ม้าเข้าสู้รบ อุปฮาด (บุตร) ท้าวฝ่าย ท้าวคำ ท้าวสุวอ ตามหลักม้า เจ้าพระยาราชสุภาวดีกำลังเข้าสู้รบกับกองทัพราชวงศ์ กองทัพราชวงศ์ทนกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีมิได้ ก็เลยพากำลังข้ามโขงไปพึ่งอยู่เมืองญวน เจ้าพระยาราชสุภาวดีพานายทัพนายกองตามเจ้าอนุและราชวงศ์ไปเมืองเวียงจันทน์อีก หาเห็นราชวงศ์ไม่ เมืองเวียงจันทนบุรีก็เงียบงอมอยู่
ขณะนั้น เจ้าน้อย บุตรเขยเจ้าอนุ ผู้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง จึงสามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี ยอมถวายดอกไม้ทองเงินเป็นทางพระราชไมตรีขึ้นกับกรุงเทพฯ แล้วเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงบังคับให้เจ้าน้อยเมืองเชียงขวางส่งตัวเจ้าอนุกับราชวงศ์ที่หนีตัวไปอยู่เมืองญวน ครั้นเจ้าน้อยเมืองเชียงขวางตามไป ได้ตัวเจ้าอนุมาส่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดีเลยคุมเอาตัวเจ้าอนุเข้าไปกรุงเทพฯ
ขณะนั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงตรวจดูครอบครัวเมืองเวียงจันทนบุรี จะคุมลงไปกรุงเทพฯ แล้วท้าวบุตรจึงกราบเรียนเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า ท้าวคำ น้องชายอุปฮาด (บุตร) ปิดบังครอบครัวไว้ ครั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีไต่สวนได้ความจริงว่า ท้าวคำปิดบังครอบครัวเมืองเวียงจันทนบุรีไว้ จึงเจ้าพระยาราชสุภาวดีจะเอาท้าวคำมอดชีวิต แล้วอุปฮาดจึงกราบเรียนเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า ท้าวคำเป็นน้องชายข้าพเจ้า ไปรบข้าศึกศัตรูด้วย ก็มีชัยชะนะแก่ข้าศึกศัตรูมาแล้ว ถ้าจะเอาตัวท้าวคำไปผลาญชีวิต ก็ขอให้เอาตัวข้าพเจ้ามาผลาญเสียด้วยกัน ว่าดังนั้นแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดีเลยสั่งให้พลทหารทำคอกริมลำน้ำพระชี หัวนอน[6] เมืองยโสธร เสร็จแล้ว เอาดินปืนเข้าใส่ไว้ในคอก ครั้นถึงกำหนดแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดีให้เพ็ชฌฆาตเอาอุปฮาด ผู้พี่ ท้าวคำ ผู้น้อง และบุตรภรรยาญาติพี่น้องของอุปฮาด บุตรท้าวคำ เข้าใส่ในคอก ถึงกำหนดแล้ว เอาเพลิงจุดอุปฮาด ท้าวคำ ภรรยาญาติพี่น้อง เลยพร้อมกันสิ้นชีวิตไป
ครั้นณปีเถาะ โทศก[7] ศักราช ๑๑๙๒ เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงโปรดให้ท้าวฝ่าย บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ เป็นที่พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมือง ให้ท้าวแพง บุตรพระปทุมฯ เป็นที่อุปฮาด ท้าวสุตตาเป็นราชวงศ์ ท้าวอินเป็นราชบุตร คุ้มครองเมืองยโสธ แล้วเห็นว่า พระสุนทรราชวงษามีความชอบมาก โปรดประทานครัวที่รบมาได้ให้พระสุนทรฯ ๕๐๐ ครัว และให้เป็นเจ้าเมืองทั้งสอง คือ เมืองยโสธรและนครพนม ครั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับเข้าไปกรุงเทพฯ พระสุนทรฯ จึงให้อุปฮาด (แพง) เป็นผู้ว่าราชการแทนอยู่ณเมืองยโสธร พระสุนทรวงษาเลยขึ้นไปจัดราชการอยู่ณเมืองนครพนมประมาณ ๖–๗ ปี พระสุนทรราชวงษาจึงบอกขอรับพระราชทานที่ดินที่ควรในเมืองนครพนมสร้างวัดและพระอาราม พระเจดีย์หนึ่งหลังไว้กับเมืองนครพนม ก็เป็นที่สะอาดภาคภูมิแก่บ้านเมืองมาเท่าทุกวันนี้ แต่อุปฮาด (แพง) ผู้ว่าราชการแทนพระสุนทรราชวงษาอยู่ณเมืองยโสธร ก็พร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการขอรับพระราชทานที่ดินที่ควรในเมืองยโสธร ๒ แห่ง ที่บ้านขัว แขวงเมืองยโสธร แห่ง ๑ สร้างวัด และสร้างพระอาราม พระเจดีย์ ที่เมืองยโสธ ๒ วัด ๆ หนึ่งชื่อ วัดศรีเมืองคุณ วัดหนึ่งชื่อ วัดบัวระพานุทิศ และสร้างอุปมุงใส่พระพุทธรูปมหากัจจายน์หลัง ๑ และสร้างองค์พระพุทธรูปใหญ่ปิดทองก็หลายองค์ เป็นที่สะอาดแก่บ้านเมืองเท่าทุกวันนี้ และอุปฮาด (แพง) ได้ไปตีทัพเมืองพระตะบอง ขณะเมื่อพระสุนทรราชวงษาขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองนครพนมนั้น ก็ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาช้านาน ก็หามีความผิดไม่ แล้วพระสุนทรราชวงษาจึงไปเกลี้ยกล่อมซ่องสุมเอาครอบครัวเมืองตะโปน เมืองวัง เมืองมหาชัยกองแก้ว ได้ครอบครัวนอกรพระราชอาณาเขตต์มาขึ้นกับกรุงเทพฯ เป็นครอบครัวหลายร้อยหลายพัน แต่ครัวเมืองพิน เมืองตะโปน ยกมาตั้งห้วยแซงขึ้นเป็นบ้านฮองแซง ครัวเมืองมหาชัยกองแก้ว พระสุนทรฯ มีใบบอกขอรับพระราชทานให้เป็นเมืองสกลนคร ครัวเมืองวัง พระสุนทรฯ บอกขอรับพระราชทานขึ้นเป็นเมืองเว (คือ เมืองเรณูนคร)[8] ครัวเมืองนอง พระสุนทรฯ บอกขอรับพระราชทานขึ้นเป็นเมืองท่าอุเทน[9] ขึ้นแก่เมืองนครพนม แต่เมืองวานรนิวาศ[10] พระสุนทรฯ บอกให้เป็นเมืองขึ้นกับเมืองสกลนคร ครั้นต่อมาได้ประมาณ ๕–๖ ปี พระสุนทรราชวงษาแต่งให้ช้างต่อหมอควาญคุมช้างพังพลายเข้าไปโพนแซกคล้องตามเถื่อนป่า หมอควาญไพร่เมืองยโสธรได้ช้างสีประหลาดมาให้พระสุนทรฯ พระสุนทรฯ จึงมีใบบอกถวายช้างสีประหลาดลงไปกรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรออกมาทอดพระเนตรรับช้างสีประหลาด แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรเลื่อนยศช้างสีประหลาดเป็นพระพิมลฯ ช้าง ๑ เป็นพระวิสุทธฯ ช้าง ๑ แล้วโปรดพระราชทานตราความชอบให้แก่พระสุนทรฯ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งหมอควาญ
ต่อมาถึงณปีชวด จัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔ พระสุนทรฯ จึงมอบเมืองนครพนมคืนให้แก่อุปฮาดและกรมการเมืองนครพนม แล้วพระสุนทรฯ จึงกราบถวายบังคมลามาอยู่เมืองยโสธรตามเดิม แล้วก็สร้างวัดขึ้นที่เมืองยโสธรอีกแห่งหนึ่ง
ครั้นถึงปีมะเส็ง นพศก ศักราช ๑๒๑๙ พระสุนทรฯ เจ้าเมืองยโสธและเมืองนครพนมถึงแก่กรรม อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ก็เลยถึงแก่กรรมไปด้วยกัน ยังแต่หลวงศรีวรราชเฝ้าศพบิดารักษาราชการบ้านเมืองอยู่ หามีเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ไม่ บ้านเมืองก็ว่างเปล่าอยู่
ครั้นถึงณปีมะเมีย สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐ พระศรีวรราช ผู้ช่วย จึงมีใบบอกขอรับพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงเผาศพพระสุนทรฯ บิดา เสร็จ
ครั้นถึงปีมะแม สัปตศก ศักราช ๑๒๒๑ จึงมีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช แต่ยังเป็นที่พระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา ขึ้นมาเป็นข้าหลวงแม่กองสัก ตั้งสักเลขหัวเมืองทั้งปวงฝ่ายตะวันออกอยู่ณเมืองยโสธร
ครั้นถึงณปีวอก โทศก ศักราช ๑๒๒๒ เมืองแสน เมืองจันทร์ ท้าวเพี้ยกรมการเมืองยโสธร เห็นว่า พระศรีวรราชเป็นบุตรพระสุนทรฯ ท้าวแข้เป็นบุตรอุปฮาด ท้าวอ้นเป็นบุตรท้าวจันศรีสุราช ท้าวพิมเป็นหลานอุปฮาด (แพง) ท้าวสุพรมเป็นบุตรพระสุนทรฯ และมีความชอบมาด้วยได้ตีทัพและได้ช้างเผือก และเมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่นั้น ก็พากันรับราชการมั่นคงแข็งแรง เมืองแสน เมืองจันทร์ ท้าวเพี้ยกรมการ ญาติพี่น้อง จึงพร้อมกันมีใบบอกลงไปกราบบังคมทูลพระกรุณาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทขอรับพระราชทานให้พระศรีวรราช (เหม็น) เป็นพระสุนทรฯ ท้าวแข้เป็นอุปฮาด ท้าวอ้นเป็นราชวงศ์ ท้าวพิมเป็นราชบุตร ท้าวสุพรมเป็นหลวงศรีวรราช ผู้ช่วยราชการ จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งพระศรีวรราชเป็นที่พระสุนทรฯ ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร ท้าวแข้เป็นที่อุปฮาด ท้าวอ้นเป็นราชวงศ์ ท้าวพิมเป็นราชบุตร ท้าวสุพรหมเป็นพระศรีวรราช ผู้ช่วย ขึ้นมาครอบครองแม่ป้าน้าสาวบ่าวไพร่เมืองยโสธร ครั้นอยู่มาได้ประมาณ ๓–๔ ปี อุปฮาด (แข้) ถึงแก่กรรม ต่อมาอีกประมาณ ๒–๓ ปี พระสุนทรฯ แต่งให้ช้างต่อหมอควาญไปแซกโพน ได้ช้างสีประหลาดช้างหนึ่ง ได้บอกลงไปนำถวายชื่อ เสวก ครั้นอยู่มาช้านานประมาณ ๒–๓ ปี พระสุนทรฯ ราชวงศ์ ราชบุตร พระศรีวรราช และบุตรภรรยา สร้างวัด สร้างอาราม สร้างพระพุทธรูป และสร้างพระเจดีย์ ได้ประมาณ ๒–๓ ปี ราชวงศ์กับราชบุตรถึงแก่กรรม
ครั้นปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕ พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมืองยโสธร ขอรับพระราชทานให้พระศรีสุพรมเป็นที่อุปฮาด ขอท้าวบาเป็นราชบุตร ท้าวแก่เป็นที่พระศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยโสธร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งพระศรีสุพหมเป็นที่อุปฮาด ตั้งท้าวบาเป็นราชบุตร ตั้งท้าวแก่เป็นที่พระศรีวรราช ขึ้นมารับราชการช่วยพระสุนทรฯ
ครั้นต่อมาถึงณปีจอ สัปตศก[11] ศักราช ๑๒๓๗ เกิดทัพอ้ายฮ่อที่ค่ายสมดี ค่ายวัดจันทน์ แขวงเมืองหนองคาย จึงมีตราโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ ข้าหลวง เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีทัพอ้ายฮ่อณเมืองหนองคาย พระยามหาอำมาตย์จึงเกณฑ์เอากำลังเมืองยโสธรห้าร้อยคน พระสุนทรฯ (เหม็น) ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร จึงแต่งให้อุปฮาด (บา) แต่ยังเป็นที่ราชบุตร ท้าวกันยา แต่ยังเป็นที่ท้าวสุทธิสม เป็นนายหมวดนายกองคุมเอากำลังทัพห้าร้อยคนขึ้นไปตีทัพอ้ายฮ่อพร้อมทัพพระยามหาอำมาตย์ณเมืองหนองคาย ครั้นเสร็จราชการแล้ว ต่อมาถึงปีฉลู นพศก ศักราช ๑๒๓๙ พระสุนทรฯ ถึงแก่กรรม ครั้นถึงณปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐ อุปฮาด (สุพรม) ราชบุตร (บา) พระศรีวรราช (แก่) บอกขอรับพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงขึ้นมาเผาศพพระสุนทรฯ อุปฮาด (แข้) ราชวงศ์ (อ้น) ราชบุตร (พิม) ครั้นเสร็จแล้ว เมืองแสน เมืองจันทร์ ท้าวเพี้ยกรมการ พร้อมกันเห็นว่า อุปฮาด (สุพรม) ราชบุตร (บา) พระศรีวรราช (แก่) ท้าวกันยา บุตรอุปฮาด (แพง) ท้าวอ้น บุตรราชวงศ์ (สุตตา) เป็นคนสัตย์ซื่อมั่นคง รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยทางสุจริต จึงได้บอกให้อุปฮาด (สุพรม) ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งอุปฮาด (สุพรม) เป็นที่พระสุนทรฯ ราชบุตร (บา) เป็นอุปฮาด พระศรีวรราช (แก่) เป็นราชวงศ์ ท้าวกันยาเป็นราชบุตร ท้าวอ้นเป็นพระศรีวรราช ผู้ช่วยราชการ ขึ้นมารับราชการครอบครองเมืองยโสธร ในปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐ เวลาเมื่อพระสุนทรฯ จะลงไปรับสัญญาบัตรนั้น หลวงจุมพลภักดี นายกอง บุตรพระประทุมฯ ซึ่งพระสุนทรฯ (เหม็น) ตั้งให้เป็นกรมการ มีความทะเลาะวิวาท อยากทำส่วยผลเร่วเป็นแผนกขึ้นกับกรุงเทพฯ ต่างหาก อุปฮาด (สุพรม) ไม่ยอมให้หลวงจุมพลภักดีทำส่วยผลเร่วเป็นแผนก จะให้ทำส่วยผลเร่วขึ้นกับเมืองยโสธรตามเดิม หลวงจุมพลภักดี นายกอง หายอมขึ้นเมืองยโสธรไม่ จึงทำเอาบัญชีรายชื่อตัวเลขเมืองยโสธรไปขึ้นเมืองกมลาสัย แล้วพระราษฎรบริหาร ผู้ว่าราชการเมืองกมลาสัย จึงบอกขอรับพระราชทานให้หลวงจุมพลภักดีเป็นที่เจ้าเมือง ขอบ้านเขาดินบึงโดนในเขตต์แขวงเมืองยโสธรขึ้นเป็นเมืองเสลภูมิ
ครั้นถึงณปีเถาะ เอกศก ศักราช ๑๒๔๑ มีท้องตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ขึ้นมาถึงพระสุนทรฯ (สุพรม) ราชวงศ์ และราชบุตรว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พรระาชทานนามสัญญาบัตรตั้งหลวงจุมพลภักดีขึ้นเป็นที่พระนิคมบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองเสลภูมิ ยกบ้านเขาดินบึงโดน เขตต์แขวงเมืองยโสธร ขึ้นเป็นเมืองเสลภูมิ[12] แล้วโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเขตต์แขวงเมืองยโสธ แต่ห้วยยังเหนือ ให้เป็นเขตต์แขวงเมืองเสลภูมิ ฝ่ายใต้เป็นเขตต์แขวงเมืองยโสธร เมื่อโปรดเกล้าฯ ดังนี้ พระสุนทรฯ ยังหายอมแบ่งปันไม่ ครั้นต่อมาประมาณ ๔–๕ ปี พระศรีวรราช (อ้น) ถึงแก่กรรม พระสุนทรฯ เห็นว่า ท้าวสุย บุตรราชบุตร เป็นคนสัตย์ซื่อมั่นคง พระสุนทรฯ จึงบอกขอรับพระราชทานให้ท้าวสุยเป็นที่พระศรีวรราช ขึ้นมารับราชการกับพระสุนทรฯ เจ้าเมือง อยู่ได้ประมาณ ๔–๕ ปี ราชบุตร (กันยา) พระศรีวรราช (สุย) ถึงแก่กรรมไป ยังหาทันได้เผาศพไม่ ครั้นถึงปีมะเส็ง ตรีนิศก ศักราช ๑๒๔๓ อุปฮาด (บา) ถึงแก่กรรมไปอีก จึงบอกขอรับพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงขึ้นมาเผาศพอุปฮาด (บา)
ครั้นต่อมาถึงณปีมะแม เบญจศก ศักราช ๑๒๔๕ อ้ายฮ่อยกกองทัพมาตั้งอยู่ทุ่งเชียงคำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชวรานุกูลเป็นแม่ทัพขึ้นมาตีทัพอ้ายฮ่กอยู่ณทุ่งเชียงคำ พระยาราชวรานุกูลจึงมีหนังสือแต่งให้หลวงอภัยพิพิธเป็นข้าหลวงมาเกณฑ์เอาช้างม้าโคต่างเมืองยโสธรบรรทุกเข้าน้ำลำเลียงไปเลี้ยงกองทัพพระยาราชวรานุกูลอยู่ทุ่งเชียงคำ พระสุนทรฯ (สุพรม) จึงแต่งให้ราชวงศ์ (ฮู่) แต่ยังเป็นสุริยง เป็นนายคุมเอาช้างม้าโคต่างบรรทุกเข้าลำเลียงขึ้นไปเลี้ยงกองทัพณทุ่งเชียงคำ ยังหาทันเสร็จไม่ พระยาราชวรานุกูลจึงพาแม่ทัพนายกองกลับคืนมาตั้งอยู่ณเมืองหนองคาย
ครั้นต่อมา มีตราโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่คุมนายทัพนายกองขึ้นมาตีทัพ ตั้งกองอยู่ณเมืองหนองคาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน[13] จึงมีตราเกณฑ์เอาช้างม้าโคต่างเมืองยโสธไปเข้ากระบวนทัพณเมืองหนองคาย พระสุนทรฯ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร พระศรีวรราช ท้าวเพี้ยกรมการ จึงจัดช้าง แต่งให้ท้าวโพธิสาร (เพ็ด) บุตรพระสุนทรฯ คนเก่า เป็นนายคุมเอาช้างขึ้นไปเข้ากองทัพพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวพวนณเมืองหนองคาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม และแม่ทัพนายกอง ปราบปรามอ้ายฮ่อมีชัยชะนะเสร็จแล้ว ครั้นถึงปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ พระสุนทรฯ เจ้าเมือง เห็นว่า ราชวงศ์ (แก่) เป็นผู้ใหญ่ และควรได้สัญญาบัตร ทั้งมีความชอบ กับได้ให้ท้าวฮู่ ผู้บุตรอุปฮาด (แข้) ไปส่งเข้าลำเลียงกองทัพฮ่อครั้งพระยาราชวรานุกูล พระสุนทรฯ จึงบอกขอรับพระราชทานให้ราชวงศ์ (แก่) เป็นอุปฮาด ท้าวฮู่เป็นราชวงศ์ ขึ้นมารับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่กับพระสุนทรฯ เจ้าเมือง
ครั้นปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) ตรงกับปีขาล โทศก ศักราช ๑๒๕๒ พระสุนทรราชวงษา (สุพรม) เจ้าเมือง พร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการ คุมเอาเงินแทนผลเร่วส่วยของหลวงไปทูลเกล้าฯ ถวายณกรุงเทพฯ และไปในงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฏราชกุมาร แล้วพระสุนทรฯ ท้าวเพี้ยเมืองยโสธร ที่คุมเงินส่วย จึงพร้อมกันทำฎีกาน้อมเกล้าฯ ถวายขอรับพระราชทานให้ท้าววรบุตร (หุน) เป็นที่ราชบุตร ท้าวจันศรีสุราชเป็นที่หลวงศรีวรราช แล้วพระสุนทรฯ เลยกราบถวายบังคมลาขึ้นมารับราชการเมืองยโสธร
ครั้นถึงณปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) ตรงกับปีเถาะ ตรีนิศก ศักราช ๑๒๕๓ ราชบุตร (หุน) หลวงศรีวรราช (ศรีสุราช) ผู้ช่วย เชิญเอาสัญญาบัตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานขึ้นไปรับราชการอยู่กับพระสุนทรฯ ครั้นอยู่มา ถึงเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้น พระสุนทรฯ เจ้าเมือง ราชวงศ์ (ฮู่) ถึงแก่กรรม
ในปลายปี ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) นั้น มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จขึ้นมาประทับอยู่ณเมืองอุบลฯ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว แล้วโปรดเกล้าฯ มีลายพระหัตถ์ให้ท้าวสุทธิกุมาร (ทองดี) บุตรอุปฮาด (บา) รับราชการตำแหน่งราชวงศ์
ครั้นถึงณปี ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) อุปฮาด (แก่) ราชบุตร (หนุน) หลวงศรีวรราช ผู้ช่วย พร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการ บอกขอรับพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงขึ้นมาเผาศพพระสุนทรฯ (สุพรม) เจ้าเมือง แต่หาทันได้เผาไม่
ครั้นปี ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์สุเทพ ข้าหลวง ท้าวไชยกุมาร กรมการเมืองอุบลฯ ขึ้นมาจัดราชการอยู่เมืองยโสธร แล้วอุปฮาด ราชบุตร หลวงศรีวรราช ท้าวสุทธิกุมาร ผู้รับที่ราชวงศ์ จึงพร้อมด้วยหลวงพิทักษ์สุเทพ ข้าหลวง เผาศพพระสุนทรฯ (สุพรม) เจ้าเมืองยโสธร เสร็จแล้ว บ้านเมืองก็ว่างเปล่าอยู่ มีแต่อุปฮาด (แก่) ราชบุตร (หนุน) หลวงศรีวรราช รับราชการบ้านเมืองอยู่กับหลวงพิทักษ์สุเทพ
ต่อมาในปีเดียวกันนั้น เกิดทัพฝรั่งเศสขึ้นทางเมืองเขมราฐ แห่ง ๑ เมืองเสียมโบก แห่ง ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว โปรดเกล้าฯ เกณฑ์เอากำลังเมืองยโสธร ๑,๐๐๐ คน ให้หลวงพิทักษ์สุเทพเป็นแม่ทัพคุมไป ข้างเมืองเขมราฐ ๑๕๐๐ คน อุปฮาด ราชบุตร หลวงศรีวรราช กรมการ แต่งให้ราชวงศ์ ราชบุตร คุมไปเข้ากองทัพ ข้างเมืองเสียมโบก ๕๐๐ คน ครั้นเสร็จราชการแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพฯ
ครั้นถึงปี ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จขึ้นมาประทับอยู่เมืองอุบลฯ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นายร้อยโท สอน เป็นข้าหลวงขึ้นมาจัดราชการเมืองยโสธร แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดรับราชการตำแหน่งพระสุนทรฯ ให้ราชบุตรรับราชการตำแหน่งอุปฮาด ให้หลวงศรีวรราช ผู้ช่วยพิเศษ รับราชการตำแหน่งราชบุตร
ครั้นถึงปี ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงศรีวรราช ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร เป็นพระสุนทรราชเดช ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร
ครั้นถึงปี ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอิสาณ เสด็จมาประทับที่เมืองยโสธร โปรดประทานประทวนตั้งราชวงศ์ (ทองดี) เป็นหลวงยศไกรเกรียงเดช ทำการตำแหน่งยกรบัตร ให้ท้าวโพธิสาร (ตา) รับประทวนเป็นหลวงยศเยศสุรามฤต ผู้ช่วย เป็นผู้แทนนายอำเภออุทัยยโสธร โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสิทธิสาร (สมเพศ) รับประทวนเป็นหลวงยศวิทยธำรง ผู้ช่วย โปรดเกล้าฯ ให้เมืองจันทร์ (ฉิม) รับประทวนเป็นหลวงยศเขตรวิมลคุณ ทำการตำแหน่งมหาดไทย์ เป็นผู้แทนนายอำเภอปจิมยโสธร
ครั้นถึงปี ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) โปรดให้ซานนท์ (ชาย) รับประทวนเป็นหลวงยศอดุลผฤตเดช ทำการตำแหน่งพล
ครั้นปี ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) มณฑลอุบลฯ แต่งให้เจ้าเหลี่ยม บุตรเจ้าอุปราชเมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นผู้แทนนายอำเภออุทัยยโสธรณบ้านลุมพุก ให้นายพัน เมืองอุบลฯ เป็นผู้แทนนายอำเภอปจิมยโสธร
ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกันนั้น นายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑๐ มณฑลอุบลฯ มณฑลอุดร และมณฑลร้อยเอ็ด เสด็จมาตรวจราชการ และเสด็จมาที่เมืองยโสธร
ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามอำเภออุทัยยโสธรเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว และเปลี่ยนนามอำเภอปจิมยโสธรเป็นอำเภอยโสธร
พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีหงส์ |
หลังโรงหนังนาครเกษม จังหวัดพระนคร |
วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ |
- ↑ บ้านหนองบัวลุ่มภูนี้ ต่อมาตั้งขึ้นเป็นเมืองเรียกว่า เมืองกมุทาสัย บัดนี้เป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอหนองบัวลำภู ขึ้นจังหวัดอุดรธานี มณฑลอุดร
- ↑ ปีขาล ตรีนิศก ที่ว่า ปีขาล ตรีนิศก ศักราช ๑๑๔๓ นั้น ถ้าจุลศักราช ๑๑๔๓ ต้องเป็นปีฉลู
- ↑ ปีขาล ที่ว่า ปีขาล ศักราช ๑๑๔๗ นั้น ถ้าเป็นจุลศักราช ๑๑๔๗ แล้ว ต้องเป็นปีมะเส็ง
- ↑ ปีมะโรง นพศก ที่ว่า ปีมะโรง นพศก ศักราช ๑๑๖๙ นั้น ถ้าเป็นจุลศักราช ๑๑๖๙ แล้ว ต้องเป็นปีเถาะ
- ↑ ปีจอ สัปตศก ที่ว่า ปีจอ สัปตศก ศักราช ๑๑๘๗ นั้น ถ้าเป็นจุลศักราช ๑๑๘๗ ต้องเป็นปีระกา
- ↑ หัวนอน คือ ทิศใต้ เพราะประเพณีของชาวแถบนี้ปลูกเรือนตามตะวัน หันหน้าเรือนไปสู่ทิศเหนือ และนอนมักขวางเรือง คือ หันศีร์ษะไปทางทิศใต้ และเหยียดเท้าไปทางทิศเหนือ เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกทิศใต้ว่า หัวนอน และเรียกทิศเหนือว่า ปลายตีน.
- ↑ ปีเถาะ โทศก ที่ว่า ปีเถาะ โทศก ศักราช ๑๑๙๒ นั้น ถ้าเป็นจุลศักราช ๑๑๙๒ แล้ว ต้องเป็นปีขาล.
- ↑ เมืองเรณูนคร เวลานี้ยุบลงเป็นตำบลเสียแล้ว.
- ↑ เมืองท่าอุเทน เวลานี้ยุบลงเป็นอำเภอและขึ้นจังหวัดนครพนมตามเดิม.
- ↑ เมืองวานรนิวาศ เวลานี้ยุบลงเป็นอำเภอและขึ้นจังหวัดสกลนครตามเดิม.
- ↑ ปีจอ สัปตศก ที่ว่า ปีจอ สัปตศก ศักราช ๑๒๓๗ นั้น ถ้าเป็นจุลศักราช ๑๒๓๗ แล้ว ต้องเป็นปีกุน
- ↑ เมืองเสลภูมิ เวลานี้ยุบลงเป็นอำเภอและขึ้นจังหวัดร้อยเอ็ด มณฑลนครราชสีมา
- ↑ มณฑลลาวพวน เมื่อจัดการปกครองแบ่งเป็นมณฑลขึ้นครั้งแรก เรียก มณฑลอุดร ว่า มณฑลลาวพวน เรียก มณฑลอิสาณ ว่า มณฑลลาวกาว และเรียก มณฑลนครราชสีมา ว่า มณฑลาวกลาง ครั้นต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น มณฑลอุดร มณฑลอิสาณ และมณฑลนครราชสีมา รวมเรียกชาวแถบนี้ว่า ลาวพุงขาว เพราะไม่ได้สักพุง.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก