ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 70/ผู้วายชนม์
ทางพระบิดา
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าจอมมารดาอำภา
มีพระโอรสธิดา ๖ พระองค์ คือ
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหมื่นนฤบาล (พระองค์เจ้ากปิฐา ต้นสกุล กปิฐา ณอยุธยา)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พระองค์เจ้าปราโมช ต้นสกุลปราโมช ณอยุธยา)
- พระองค์เจ้าชายกรรฐา
- พระองค์เจ้าชายเกยูร
- พระองค์เจ้าหญิงกัลยาณี
- พระองค์เจ้าหญิงกนิษฐน้อยนารี
กรมพระราชวังสถานพิมุข (พระวังหลัง)
พระองค์เจ้าทับทิม หม่อมแย้ม
มีธิดา ๓ ท่าน คือ
- หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช
- หม่อมราชวงศ์จร อิศรางกูร
- หม่อมราชวงศ์ดาว ปราโมช
กรมขุนวรจักรฯ และหม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช มีพระโอรส, พระธิดา ๑๑ องค์
- หม่อมเจ้าหญิงไม่มีนาม
- หม่อมเจ้าชายไม่มีนาม
- หม่อมเจ้าหญิงเมาฬี ปราโมช
- หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ปราโมช
- หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช
- หม่อมเจ้าชายจำรูญ ปราโมช
- หม่อมเจ้าชายไม่มีนาม
- หม่อมเจ้าชายเสพย์บัณฑิตย์ ปราโมช
- หม่อมเจ้าหญิงโอษฐอ่อน ปราโมช
- หม่อมเจ้าหญิงรัมแข ปราโมช
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ
หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ได้เสด็จเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรตั้งแต่พระชันษาย่าง ๑๖ ปี เข้าไปอยู่ได้ ๔ เดือน ด้วยคุณงามความดีของท่าน สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯ ได้ทรงมอบให้เป็นหน้าที่ปอกผลไม้ตั้งเครื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๕ ตลอดมาและเทียบเครื่องคาวด้วย จนพระชันษาได้ ๓๗ ปี ตรงกับปี ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านได้ทรงรับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าที่ ๓ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดขึ้นทั้งข้างในและข้างนอก
ปี ร.ศ. ๑๑๔ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรทิวงคต
พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค ได้ทรงมอบให้หม่อมเจ้าหญิงคอยท่าเป็นผู้จัดการจ่ายเงินเครื่องพระศพและค่าอาหารของข้าหลวงทั้งหมด
ปีกุน ร.ศ. ๑๑๗ ถวายพระเพลิงกรมพระยาสุดารัตนฯ แล้ว ท่านได้ไปรับราชการทำเครื่องต้นอยู่กับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ
ปีจอ ร.ศ. ๑๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๕ สวรรคตแล้ว ท่านยังทรงทำเครื่องพระบรมศพตลอดไปจนถวายพระเพลิง
ร.ศ. ๑๒๙ ปลายปี สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินี พระพันปีหลวง ได้ทรงขอร้องให้ไปช่วยทำเครื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นผู้ช่วยคุณท้าวราชกิจทำอยู่ ๒ ปี จนถึงปี ร.ศ. ๑๓๑ ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าที่ ๒
ปี ร.ศ.๑๓๒ ได้ทรงเป็นผู้อำนวยการห้องเครื่องต้นทั้งหมดแทนคุณท้าวราชกิจ และต่อมา ได้รับราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๓ เข็มพระบรมนามาภิไธยชั้น ๑ ประดับเพ็ชร และเข็มเสมา ร.ร.๖ ชั้น ๒
ระหว่างที่ท่านทรงรับราชการอยู่ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทุกคราว เหตุด้วยพระองค์ท่านมีพระนิสสัยอันดีงามและโอบอ้อมอารี ทำให้เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาข้าราชการหัวเมืองที่มาติดต่อกับพระองค์ท่าน ต่างพากันชมเชยคุณความดีของท่านอยู่เสมอ คราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จไปซ้อมรบเสือป่า ท่านทรงทำเครื่องต้นและรับเลี้ยงอาหารเสือป่าที่ไปซ้อมรบเป็นจำนวนมากทั้งหมด ขณะที่ทรงรับราชการอยู่นั้น ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดทั้งในและนอกปีละ ๓,๐๐๐ บาท และเงินเดือน ๆ ละ ๓๐๐ บาท ต่อมา ท่านได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการด้วยโรคภัยเบียดเพียฬเมื่อปีจอ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ตอนนี้ยังได้ทรงรับเงินปีอยู่ปีละ ๑,๐๐๐ บาท
หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ทรงเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ที่ยามท่านล่วงลับไปแล้ว ในฐานะที่ท่านทรงเป็นอุบาสิกาในวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันท่านสิ้นนั้น สมเด็จวชิรญาณฯ ได้มีการเทศนาถึงคุณความดีของท่านที่ได้มีแก่วัดและแก่พระสงฆ์ ดังปรากฏอยู่แก่ท่านผู้ฟังธรรมในวัดนั้นแล้วทุกท่าน ทั้งคณะสงฆ์วัดบวรฯ ได้ทำบุญถวายท่าน ๗ วันครั้งหนึ่ง อุบาสิกาในวัดบวรฯ ๗ วันครั้งหนึ่ง สมเด็จวัดบวรฯ ๗ วันครั้งหนึ่ง ท่านได้ทรงสร้างกุฏิคอยท่า ปราโมช ๑ หลังเป็นเงิน ๕,๕๐๐ บาท และทรงบริจจาคทรัพย์สร้างเสนาสนะและถนนในวัดบวรฯ และถวายนิตยภัตต์ประจำเดือนแก่ภิกษุบางรูป ทรงเป็นประมุขของอุบาสิกาในวัดบวรนิเวศฯ
ส่วนวัดบรมนิวาส ได้ทรงสร้างหอเขียว ฉะเพาะหอเขียวนี้ ส่วนพระองค์ท่านได้ทรงออกเงิน ๘,๐๐๐ บาท และสร้างกุฏิอีกหนึ่งหลัง ได้เคยทรงสร้างกุฏีวัดราชาธิวาส ๑ หลัง ซึ่งภายหลังได้ใช้เป็นโรงเรียนบาลีสำหรับพระสงฆ์ และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปใหญ่ ๑ องค์บนพระตำหนักเขียวที่วัดราชาธิวาส และซ่อมศาลาแดงคู่ที่หน้าวัดราชาฯ
วัดเสาธงทองที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นวัดคุณจอมมารดาอำภา คุณย่าของท่าน ปฏิสังขรณ์ วัดนี้เมื่อหม่อมเจ้าหญิงคอยท่ายังมีพระชนม์อยู่และเมื่อยังอยู่ในราชการท่านเคยทรงทอดกฐินหลายครั้ง ได้ทรงช่วยปฏิสังขรณ์โบสถ์ สร้างศาลาน้ำและกุฎี และเคยทรงสอนหลาน ๆ ว่า วัดนี้เป็นวัดคุณชวดได้ปฏิสังขรณ์ ถ้าต่อไปหลานคนใดมีอันจะกินขึ้น ควรจะมาทอดกฐิน ทุกคนจะได้มีความเจริญรุ่งเรืองในภายหน้า นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นพระทัยอันดีงามของท่านว่า แม้แต่สิ่งใดที่เป็นของบรรพบุรุษก็มิได้ทรงลืม แม้ทรงเห็นว่า พระชนม์ของท่านมากแล้ว ก็ยังอุตส่าห์ทรงสอนหลาน ๆ ไว้ให้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อพระองค์ท่านอีก
ส่วนตามวัดหัวเมือง ได้ทรงเข้าทำโบสถ์วัดเมืองหลังสวน ๕๐๐ บาท และวัดจันนฤมิตต์ (เขาพระงาม) จังหวัดสระบุรี ๔๐๐ บาท เมื่อสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงซ่อมองค์พระปฐมเจดีย์ ท่านก็ได้เข้าเงินตามเสด็จซ่อมองค์ปฐม ๑ ช่อง
ทางโรงพยาบาลท่านได้เข้าเงินที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ๓๐๐๐ บาท ได้ทรงเป็นสมาชิกกิติมศักดิ์แห่งโรงพยาบาลนี้ และเมื่อทรงทำบุญพระชันษาครบ ๕ รอบ ก็ได้เข้าเงินตามโรงพยาบาลเท่าพระชนม์ มีวชิรพยาบาล, โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อทรงทำบุญ ๘๑ ก็ทรงเข้าตามโรงพยาบาลเหล่านี้อีกเช่นกัน
อนึ่ง ท่านได้ทรงเป็นบุพพการีแก่หลานทุกคน ไม่ว่ามีหรือจน ได้ทรงช่วยเหลือตามวิทยะฐานะ มิได้ทรงลำเอียงเลย ผู้ใดประพฤติดี ก็ทรงยินดีด้วย ถ้าผู้ใดยากจน ก็ทรงประทานตามพระกำลังที่พอจะทำได้ ทรงเป็นหลักของสกุลปราโมช ไม่ว่าเจ้านายพี่น้องก็ดี หลานก็ดี ทรงพระเมตตาทั่วถึงกัน ยามใครมีสุข ก็ทรงยินดีด้วยน้ำพระทัยอันแท้จริง ยามทุกข์ ก็ทรงสั่งสอนด้วยธรรมให้คลายทุกข์ ทรงเป็นผู้อุปการะแก่มวลญาติ เป็นที่พึ่งแก่ผู้น้อย เป็นมิตรที่ดี แม้ยามประชวร นายแพทย์ มีพระวรสุนทรโรสถ ได้เคยกล่าวว่า ท่านเป็นคนไข้ที่เอาใจหมอดีมาก แม้จะทรงหงุดหงิดเพราะพยาธิ ก็ยังทรงคุยให้สนุกสนานได้ในเมื่อยามทรงทุเลา ในคราวประชวรหนักคราวนี้ ยังได้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดถวายทุกคืน เมื่อเวลาพระสวด ท่านอุตส่าห์พะยุงพระองค์ขึ้นนั่งประณมพระหัตถ์ฟังตลอดเวลา จนลุกไม่ได้ก็บรรทมประณมพระหัตถ์ฟังโดยสำรวม ท่านเป็นผู้ที่มั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาอันแท้จริง
เมื่อเวลาประชวรก่อนสิ้นพระชนม์ ท่านทรงปรารภว่า ถ้าชีวิตยังมีอยู่ จะรวมเงินช่วยป้องกันภัยทางอากาศ การป้องกันภัยทางอากาศนี้รัฐบาลได้แถลงในวิทยุ ท่านทรงฟังวิทยุทีไร ก็ปรารภอยู่เสมอ แต่หากเป็นเวลากำลังประชวร ทั้งยังมีพระทัยเป็นห่วงพวกพี่น้องที่อพยพมาจากอินโดจีนด้วยความสงสาร เคยรับสั่งอยู่เสมอ จะได้จัดการมอบเงินเพื่อประโยชน์แก่องค์การณ์ทั้งนี้ให้สบพระทัยเมื่อเวลายังมีพระชนม์อยู่ต่อไป
หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ประชวรด้วยพระโรคชราสิ้นชีพตักษัยด้วยพระอาการอันสงบในท่ามกลางพระสงฆ์ที่มาเยี่ยมและหมู่พระญาติมิตรเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๓ เวลา ๑๖.๕๕ น. คำนวณพระชันษาได้ ๘๔ บริบูรณ์ เป็นที่วิปโยคแก่บรรดาพระญาติวงศ์มิตรสหายและบริวารทั่วกัน
ในการที่เธอทำบุญชันษาครอบ ๖๐ ปีบริบูรณเวลานี้ ฉันมีความพอใจที่จะกล่าวว่า ฉันยินดีที่เธอได้มีชนมายุเจริญวัยมาจนถึงบัดนี้แล้ว และได้รับราชการในวังมาช้านานด้วยความจงรักภักดี สมควรเปนตัวอย่างแก่บรรดาญาติพี่น้องทั้งหญิงและชาย
ฉันขออำนวยพรให้เธอมีความเจริญในจัตุพิธพร คือ ให้มีชนมายุยืนนาน, มีผิวพรรณผุดผ่องด้วยความสำราญปราศจากโรค, มีความสุขปราศจากทุกข์โศกและเครื่องรำคาญทั้งหลาย, มีพละกำลังกายประกอบกิจการอันเปนประโยชน์ได้อีกตลอดไป, แม้จะมีความประสงค์สิ่งใด จงได้ดังมโนรถปราถนาทุกประการเทอญ