พระพุทธเจ้าหลวงทรงวิจารณ์หนังสือพิมพ์

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

พระพุทธเจ้าหลวงทรงวิจารณ์หนังสือพิมพ์[แก้ไข]

พระราชหัตถเลขานี้ได้ทรงมีถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อยังเป็นที่พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ ตำแหน่งเจ้ากรมตรวจการศึกษาในกระทรวงธรรมการเมื่อ พ.ศ. 2453 ก่อนเสด็จสวรรคตไม่นาน โดยมีเนื้อความเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น โดยหนังสือพิมพ์แนวหน้าฉบับพิเศษวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2527 ได้อัญเชิญนำมาลงไว้ พร้อมสำเนาหนังสือกราบบังคมทูลของพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ โดยใช้หัวเรื่องว่า “พระพุทธเจ้าหลวงทรงวิจารณ์หนังสือพิมพ์” ดังปรากฏข้างต้น


ฉบับที่ 1[แก้ไข]

สวนดุสิต


วันที่ 4 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 129 (พ.ศ. 2453)


พระยาไพศาล


หนังสือที่พิสมัยนำมาให้ดู 2 เล่ม ได้อ่านทันทีแต่เล่มเดียว วิทยาจารย์อ่านค้างมาที่ละน้อยๆ เพิ่งสำเร็จลง ได้เห็นแล้วว่าจัดการเดินเข้าถูกรอย ไม่เป็นปลูกต้นมะฮอกกานีในกระถาง เหตุที่กล่าวเช่นนั้น ได้แก่หวังจะสอนความรู้ที่ดี ไม่มีความรู้ชั้นต่ำแพร่หลายทั่วไปเหมือนภูมิพื้นแผ่นดิน แล้วจึงค่อยเลือกคัดขึ้นมา เมื่อควรจะดีถึงยอดได้เพียงใดก็จะได้โดยแม่นยำ ไม่เหมือนสอนตอนยอดไม่มีภาคพื้นซึ่งจะลงทุนไปได้เท่าใด ความรู้ไม่แพร่หลาย ติดอยู่ในแผ่นดินตายสูญไปกับชีวิตมนุษย์ อาการสั่งสอนเช่นนั้นซึ่งกล่าวว่า ปลูกต้นมะฮอกกานีในกระถาง

อนึ่ง อยากจะบอกให้รู้ความรำคาญใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีผู้เข้าใจว่าอยากจะให้ใช้ศัพท์ไทยไม่ใช้ศัพท์ฝรั่ง เช่นได้ตักเตือนไปยังกระทรวงด้วยคำว่า เทอม จะเข้าใจไปว่ารังเกียจคำต่างประเทศ อยากจะให้ใช้คำไทยเท่านั้น ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าคำที่จะใช้สำหรับคนสามัญเข้าใจทั่วไป เช่นประกาศกำหนดเวลาเรียน คนที่จะไม่รู้จักคำว่าเทอมนั้นมาก จึงแนะนำไปให้หาคำอื่นใช้ให้คนทั้งปวงเข้าใจง่าย แต่บางทีคำที่มาคิดขึ้นใหม่จากภาษาสันสกฤตภาษามคธ ซึ่งเป็นคำแปลกๆ ไม่ใคร่เคยได้ยิน จำยากกว่าภาษาอังกฤษ เช่นนี้ ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าพูดกันเองในชั้นผู้รู้ภาษาต่างประเทศไม่มีความรังเกียจ

ข้อซึ่ง ไม่ชอบแท้นั้น คือ สำแดงความโง่ของกรมศึกษา เช่นในหนังสือวิทยาจารย์ เล่ม 10 ตอน 8 วันที่ 15 เมษายน หน้า 313 มีคำเรียกชาติแขกว่า แตมิลู แล้วมีหมึกแดงฆ่าตีนอู เหลือแต่ แตมิล นี่เป็นความเขลา ซึ่งปรากฏในตำราเรียน ฤาข่าวของกรมศึกษา เพราะแขกชาตินี้ เรารู้จักมาแต่ไหนแต่ไร จนเป็นคำด่า นับว่าเป็นผรุสวาทมีในภาษามคธแลที่แปลเป็นภาษาไทยเป็นอันมากกว่า ทมิฬ ให้ดูพงศาวดารลังกา เสียงเอกอย่างฝรั่งโง่ เพราะหลงฝรั่งเช่นนี้เป็นที่เดือนร้อนรำคาญ ถ้าหากว่าจะอยากอวดดีจะว่าอังกฤษเขาเรียกแตมิล ซึ่งไทยเราเคยใช้ว่าทมิฬ เช่นนั้นก็ยังจะค่อยเป็นภูมิรู้สึกหน่อยหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างที่ยกขึ้นให้เห็นแต่เรื่องเดียว ยังมีอื่น ๆ อีกมาก เช่น เวียงจันทร์ เรียก เวียนเทียน ตามภาษาญวน ปากน้ำเซ เรียก ปักเส เมืองเมาะตมะ เรียก มาตาบาน เมืองทวาย เรียก ตีวอย เมืองตนาวศรี เรียก เตนแนสเซอริม ยังเมืองพม่า เมืองจีน บรรดาที่มีชื่ออยู่ในพงศาวดารแลในหนังสือไทย กลับเรียกตามเสียงฝรั่งไปหมด เช่น เมืองอ้ายมุ่ย เรียกเอมอย เมืองเซียงไฮ้ เรียกแซงไค เป็นต้น หนักกว่าหนักนี้เรื่องทนไม่ไหว ถ้าพยายามจะพูดฝรั่งเดี๋ยวนี้ว่าไอเดนติไฟ ชื่อเมืองที่เคยมีในภาษาไทย ให้ใช้ภาษาไทย อย่าให้จดหมายแลพงศาวดารแตกสูญเสียได้จะดี ถ้าขืนเอาอย่างฝรั่งตะพัดตะเพิดไปจะหลง ไม่รู้หัวนอนปลายตีน เมืองเก่าๆ ที่เรียกชื่อไว้ในหนังสือ จะกลายเป็นเรื่องพระอไภยไปหมด พาให้นักเรียนโง่ไปแน่แล้ว การเช่นนี้มีจนกระทั่งในกรุงเทพฯ เช่น หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยเราพลอยเรียกตามว่าวัวลำพอง นี่เป็นเรื่องที่ควรจะฟาดเคราะห์จริงๆ ในวิทยาจารย์มีเรื่องเช่นนี้มากหลายแห่ง แต่ไม่ได้จดจำไว้ที่สำหรับจะยกขึ้นกล่าวในเวลานี้


(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์


ฉบับที่ 2[แก้ไข]

สวนดุสิต


วันที่ 19 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 129


ถึง พระยาไพศาล


นี่แหละที่จะอดกลั้นแล้ว รู้สึกคันอยู่ในเนื้อที่หนาๆ เช่น ซ่นเท้า เกาไม่ถึงก็ปานกัน คือหนังสือกรุงเทพฯ เดลิเมล์ ออกเมื่อวานนี้ วันที่ 18 แต่ในหนังสือนั้นเอง ลงวันที่ 19 เล่าว่า มีคนไปจากเมืองไทยอยู่อเมริกา ชื่อจีนเอง จีนแฉ่ง เป็นฝาแฝด ดังนี้เขาเล่าสำหรับให้เป็นประโยชน์แก่คนไทย ซึ่งไม่มีใครรู้ ให้รู้ไว้ ด้วยชาติอื่น ภาษาอื่นเขารู้กันหมดเป็นเรื่องโด่งดัง แต่เราเจ้าของเองไม่รู้ เขามีสติปัญญาได้เรียนหนังสือฝรั่ง รู้ภาษาฝรั่ง แปลได้ ได้กระทำสงเคราะห์ญาติชาติภูมิเช่นนี้

เป็นน่าพิศวงด้วยนักเรียนชั้นแผ่นดินพระจุลจอมเกล้านี้ ความรู้หูตาแลความคิดช่างคับแคบราวกับรูเข็ม ไม่รู้ไม่เห็นการอะไรเกิน 3 ปีขึ้นไป พูดไทยก็ไม่ชัดเป็นอันมาก เพราะถ้าจะพูดออกมาให้ชัดสำเนียงฝรั่งจะแปร่ง แลการที่จะคะเนเดาอะไรต่างๆ นั้นก็เกี่ยวกับด้วยภูมิปัญญา

แต่เรื่องนี้พ่อนักเรียนชั้นใหม่ผิดแน่ละ เด็กอมมือมันก็รู้เรื่องแฝดคู่นี้ เพราะหนังสือเรื่องเมืองไทยจะไม่มีคนแฝดนี้ไม่ได้ คนไทยเราก็ไปพบที่อเมริกา เขาชื่ออินคนหนึ่ง จันคนหนึ่ง แต่เพราะเรียกภาษาฝรั่ง อิน จัน ไม่ชัด จึงเป็น เอง แฉ่ง เมื่อเป็นเองแฉ่งไปแล้ว หน้าตาสมเป็นเจ๊ก ก็ติดหางหนูให้เสียด้วย

นี่แหละจะเป็นนักเรียนของพระยาไพศาลฤามิใช่ ไม่มีใครจำโนทย์โจทนา แต่มันคันไม่รู้จะเกาทางไหน ก็กล่าวโทษพระยาไพศาลไปตามที่เคย เคยกล่าวมาแล้วเรื่องเรียกชื่อตามสำเนียงฝรั่ง


(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์


ฉบับที่ 3[แก้ไข]

(สำเนา)


วันที่ เดือน ร.ศ. 129


ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม


พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 19 เดือนนี้ พระราชทานพระบรมราชกระแส เรื่องหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ อวดอ้างทำเป็นที่หนึ่งว่า สงเคราะห์ญาติชาติภูมิ แต่กลับเป็นสำแดงความเขลาความคับแคบของตัวเองนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับทราบเกล้าฯ ทุกประการแล้ว พระมหากรุณาเป็นล้นเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้าได้สืบทราบความตลอดว่า เอดิเตอร์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เป็นนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบรุ่นก่อนข้าพระพุทธเจ้า ได้สอบไล่ประโยค 2 ได้แต่รัตนโกสินทรศก 108 แลได้ออกรับราชการมาแล้วหลายกระทรวง ได้เคยอยู่กรมราชเลขานุการ แล้วในที่สุดไปอยู่กรมเจ้าท่า เที่ยวเร่ร่อนจับจดอยู่เช่นนี้ จนกระทั่งตกมาเป็นเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ แล้วมาเป็นเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ รู้ภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อยไม่ได้เคยเรียนในโรงเรียน แต่มีคนครึ่งชาติเป็นกำลังช่วยในการแปลอยู่คนหนึ่ง เมื่อพบกับข้าพระพุทธเจ้าก็ได้สารภาพว่า เป็นผู้กะให้แปลและเป็นผู้ตรวจแก้เอง แต่พลอยตื้นไปตามผู้ช่วย จะขอลงแก้ไม่ให้เป็นการลวงเด็กที่เกิดชั้นหลังๆ ให้หลงผิดต่อไป

คนเช่นนี้ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า คงจะมีได้อีกหลายคน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้เล่าเรียนทั้งหมดแล้ว หวังด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นแต่ส่วนน้อยนิดเดียว ถ้ามีมากก็จะยิ่งเพิ่มความลำบากในการฝึกสอนเด็กชั้นเล็กๆ ต่อไปไม่ใช่น้อย เพราะนักเรียนจำจะต้องเป็นผู้ได้อ่านได้ฟังเป็นลำดับไป ถ้าไปอ่านหรือฟังที่ผิด ก็จะพลอยหลงผิดแลเขลาไปตามกันด้วย

ความข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้มีวิตกอยู่มาก ยิ่งขยายการเล่าเรียนให้แพร่หลาย จำนวนครูจะต้องทวีขึ้นโดยรวดเร็ว ครูที่ความรู้อ่อนคงจะมีมากต่อมาก การจัดจำต้องแลให้กว้างแลไกล ข้าพระพุทธเจ้าได้พยายามเต็มสติกำลังภายในหน้าที่แลความสามารถที่จะทำได้ แม้กระนั้น พระราชอาญาก็คงไม่พ้นเกล้าฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม


(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า พระยาไพศาลศิลปศาสตร์

ขอเดชะ


ฉบับที่ 4[แก้ไข]

สวนดุสิต


วันที่ 21 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 129


พระยาไพศาล


ได้รับจดหมายตอบเรื่องเอดิเตอร์หนังสือเดลิเมล์ ได้ทราบแล้วซึ่งอุตส่าห์ไปสืบสวนให้รู้เรื่องนั้นเป็นที่พอใจ ความจริงไม่ได้คิดจะผูกพันเอาเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบแต่มันคันกระดิบๆ พอที่จะพูดกับเจ้าเสียให้ทุเลาคันก็พูด ขออย่าถือว่าต้องรับผิดรับชอบทั่วไป ซึ่งเป็นการเหลือบ่ากว่าแรงอยู่เอง ขอไว้แต่เพียงว่าถ้าคันขึ้นมาให้ได้แก้คันพอเป็นที่สำหรับปรึกษาปรารภ สำหรับที่จะได้ป้องกันการข้างหน้าเท่านั้น


(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์


ฉบับที่ 5[แก้ไข]

สวนดุสิต


วันที่ 6 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 129


พระยาไพศาล


การโต้เถียงกันด้วยเรื่องกรมศึกษาเรียกค่าเล่าเรียนในหนังสือพิมพ์ ลงมาไม่หยุดนานแล้ว วันนี้มีผู้ใดลงหนังสือพิมพ์ไทยเซ็นชื่อปรวาที ค่อยเข้ารูป

จริงอยู่ถ้อยคำของคนที่ลงพิมพ์นี้ เป็นผู้ที่มีความรู้เกิดขึ้นทางหูได้ยินแว่วๆ แล้ว เดาผสมเป็นพื้น ไม่ใช่มีความรู้กว้างขวางอันใดส่วนความคิดนั้นเล่า ก็คิดไปตามการซึ่งมาปรากฏเฉพาะนัยน์ตา ได้เคยเห็นดีเพียงไหนก็คิดว่าดีที่สุดเพียงนั้น คนที่แต่งหนังสือส่งไปลงพิมพ์เป็นคนเช่นนี้โดยมาก จึงไม่น่าจะควรถือเอาเป็นข้อคำนึง แต่ก่อนมาพระบรมราโชบายอันใดที่จะทำไป ไม่ใคร่จะได้แสดงให้ราษฎรทราบเพราะเหตุว่า ถึงทราบก็ปราศจากความคิดฤากลับคิดเห็นการให้ผิดไปโดยมิได้แถลง เพราะความไม่เข้าใจเป็นที่ตั้ง จึงเป็นธรรมเนียมใช้นิ่งเสีย ไม่บอกว่ากระไร จัดไปทำไปทีเดียว ผิดกับประเทศอื่นๆ

การซึ่งได้ให้บอกเล่า เช่นหมอตรวจว่า ข้าวขาวเป็นเหตุให้เกิดโรคบวม รัฐบาลอังกฤษถามมาว่า เราจะมีความคิดอย่างไรบ้าง ตัวข้าเองเป็นผู้ได้โกรธหมดไฮเอ็ตตั้งแต่เมื่อกลับมาจากประชุมเมืองมนิลาว่าไปเอออวยกับเขา เมื่อยังมิได้ทดลองให้เห็นจริงแน่นอนเลย เห็นว่าเป็นเหตุที่จะให้สะดุ้งสะเทือนในการค้าขาย จึงให้กระทรวงเกษตรออกเซอร์คูลาร์ให้โรงสีทั้งปวงทราบถามความเห็นว่าเขาเห็นอย่างไร แลคิดอ่านให้จัดการทดลองในกระทรวงเกษตร เซอร์คูลาร์อันนี้เองมีคนเข้าใจว่า รัฐบาลห้ามไม่ให้สีข้าวขาวเสียแล้ว การพูดให้คนทราบยากที่จะทำให้เข้าใจ แม้แต่ในพวกพ่อค้าซึ่งคล่องแคล่วกว่าคนธรรมดาเป็นอันมาก ยังมีผู้เข้าใจผิดเช่นนี้ได้ เพราะฉะนั้น แต่ก่อนมาจึงไม่ใคร่จะบอกให้รู้เสียทีเดียว

แต่บัดนี้มีความคิดเห็นอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในใจ ว่าในเมืองเรานี้มีคนจำพวกหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีความรู้เล่าเรียนมาแต่เล็กแต่น้อย แต่ทำท่าคึกคักเหมือนรู้อะไรต่ออะไรพอพูดโวไปกับเขาได้ พวกนี้ได้ความรู้มาจากไหนจากคำที่โจษกัน ฟังคนนั้นพูดนิดคนนี้พูดหน่อย แต่น่าจะได้จากหนังสือพิมพ์เสียเป็นพื้น จึงมีความสงสัยว่าหนังสือพิมพ์นี้ไม่มีประโยชน์ที่จะถึงนำปับลิคโอปีเนียนให้เด่นตามก็จริงอยู่ แต่พวกที่หาความรู้ร่อน ๆ น่ากลัวจะเรียนจากหนังสือพิมพ์มากกระมัง บางคราวจึงเกิดรำคาญ เมื่อสำแดงความโง่ออกมา มีท่าทางที่จะชักพาให้คนอื่นคิดตาม แล้วไม่มีผู้ใดแก้ ก็ดูเหมือนความคิดนั้นถูก ก็ยิ่งจะชักพาคนพวกนั้นงมเงาหนักลงไปจึงเห็นว่า ถ้าหากว่าหนังสือพิมพ์ลงเฉไฉนัก น่าที่เจ้าพนักงานในกระทรวงนั้นจะแก้ไขบอกความจริงเสีย อย่าปล่อยให้ความเข้าใจผิดคิดอยู่ในหนังสือเปล่า ๆ เป็นอันได้ทำการสั่งสอน พวกเรียนด้วยหูด้วยตา ให้คิดอะไรใกล้ข้างถูกขึ้นในเวลานี้คนพวกนั้นยังมีอยู่มาก ซึ่งคงจะหมดไป จริงอยู่ แลคนพวกนั้นมักจะเป็นคนที่ฝรั่งเรียกเอปปิวปล หูตาว่องไว จึงได้ก้อรอก้อกางอยู่ได้ ถ้าสะกดให้รู้จักทางถูกเสียสักเล็กน้อย บางทีจะเป็นผลดีได้บ้างกระมัง

เช่นการเล่าเรียนที่หลงไปว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะหาคนใช้ไม่ใช่หน้าที่ของคนทั้งปวง ซึ่งจะต้องฝึกหัดตัวของตัวในวิชาความรู้เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความประพฤติดีความสุขแบบโภคทรัพย์ ตามทางที่พูดๆ กันอยู่ในเวลานี้ ว่าโดยย่อ ก็เรียนเป็นเสมียนซึ่งหวังใจว่าจะคืบขึ้นไปเป็นเสนาบดีด้วยกันทั้งหมด ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวที่จะปลูกฝังตัวเองให้เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ซึ่งมีความรู้แลทางหากินเสมอเหมือนพลเมืองประเทศอื่น

แลทำให้ความคิดแคบสั้น และดูเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่า เพราะตั้งต้นจะสั่งสอนไว้ สำหรับให้ทำราชการเหมือนอย่างกับคิดหัดละครโรงหนึ่ง ให้ได้คนพอเล่นละครก็แล้วกันให้ได้ การเล่าเรียนของรัฐบาลจัดเหมือนหนึ่งว่า ถ้าเดินไปพอได้ คนพอทำราชการไม่ขัดสนแล้ว ก็เป็นอันยุติ หมดความรู้ของผู้ที่เรียนด้วยตาด้วยหูร่อนๆ กันอยู่เพียงเท่านั้น ความคิดที่จะคิดว่าทำไฉนจะให้คนทั้งพระราชอาณาเขตได้มีโอกาสเล่าเรียนให้ทั่วถึงเช่นนี้ ไม่เคยมีปรากฏแก่ญาณของพวกเหล่านั้นเลย

จึงเห็นว่ากรมศึกษาเองน่าจะดำเนินความคิดอันนี้ เพาะปลูกความคิดของคนให้รู้จักหน้าที่ของตัว แลรู้จักความคิดกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งชาติทั้งประเทศ แต่ถ้าเป็นตำราก็ไม่อ่าน พวกนักเรียนหูนักเรียนตาเหล่านี้ เขามักจะหาความรู้ด้วยโฉบเอา เพราะมีทิฐิว่าไม่เป็นศิษย์ใคร ตรัสรู้เองเสียแล้วดังนี้เป็นที่ตั้ง จึงต้องเหมือนโยนข้าวปั้นให้ไปให้โฉบอย่างกาจะดีฤาร้ายอย่างไรบอกไม่ได้แน่ นึกในใจขึ้นมาเช่นนี้ก็พูดไปแก่เจ้าดูที เพราะเหตุที่มันเป็นความคิดนอกทางอยู่ จึงไม่ส่งไปยังกระทรวง พูดถึงเจ้าเพื่อจะไม่ให้เป็นทางราชการ


(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์


ฉบับที่ 6[แก้ไข]

(สำเนา)


วันที่ 7 สิงหาคม ร.ศ. 129


ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม


ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 6 เดือนนี้ พระราชทานพระราชปรารภเรื่องการโต้เถียงกันด้วยเรื่องกรมศึกษาเรียกค่าเล่าเรียนในหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้มีมาไม่หยุดหย่อนนั้นแล้ว พระมหากรุณาเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ความเป็นไปในเรื่องหนังสือพิมพ์ แลคนที่ได้ความรู้ความคิดจากการฟังเกี่ยวข้องด้วยหนังสือพิมพ์อยู่เป็นพื้นในทุกวันนี้นั้น ต้องด้วยพระราชกระแสทุกประการ เรื่องโต้เถียงกันต่างๆ นี้ ไม่ใช่อื่นไกล เกิดแต่ความไม่เข้าใจตลอดอย่างเดียว ในชั้นเดิมถ้าได้มีประกาศรับพระบรมราชโองการอธิบายความประสงค์ในการเรียกค่าเล่าเรียนนี้ให้ชัดเจน และประกาศให้แพร่หลายแล้ว เชื่อด้วยเกล้าฯ ว่าน่าจะไม่ต้องมีปากเสียงกันเหมือนเช่นนี้ แต่ประกาศที่ได้ออกความเห็นได้เห็นแต่ข่าวในหนังสือพิมพ์ ซึ่งผู้เขียนข่าวก็ไม่สามารถทราบเหตุผลตลอดเหมือนกันกับบางทีจะได้ทราบจากบุตรหลานที่เป็นนักเรียนอยู่บ้าง

ก็ออกความเห็นเขาไปต่าง ๆ สังเกตดูในหนังสือพิมพ์แผนกภาษาต่างประเทศ ก็ไม่เห็นมีข้อคัดค้านอย่างใด มีตกอยู่แต่ในส่วนภาษาไทยเท่านั้น ความจงรักภักดีของราษฎรทั้งหลายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและความเชื่อถือไว้ในพระบรมราโชบาย ยากที่จะหาราษฎรของประเทศอื่นเปรียบได้เพียงใด ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานยืนยันได้ผู้หนึ่ง เพราะฉะนั้น ในเรื่องเช่นนี้ ในชั้นต้นถึงแม้ว่าเป็นการยากที่จะให้คนทั้งหลายเข้าใจเหตุผลได้ทั่วกันก็ดี เพียงแต่เป็นประกาศดำเนินกระแสพระบรมราชโองการเท่านั้นก็พอเสียแล้ว

ความเห็นในหนังสือพิมพ์เหล่านี้ ได้ให้ข้าพระพุทธเจ้าแลเจ้าหน้าที่ทั้งหลายกระวนกระวายอยู่เสมอ หากติดด้วยปอลิซีของราชการ จึงมิได้มีการแก้ไขตลอดมา ถึงกระนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็ได้พยายามทางอ้อม ได้พบพูดแลเขียนชี้แจงถึงเอดิเตอร์เป็นไปรเวตอยู่เนืองๆ แต่คิดด้วยเกล้าฯ ว่าสู้พูดแลจัดเป็นทางราชการโดยตรงไม่ได้ เพราะการทั้งนี้อาจให้ผลเป็นเสื่อมเสียแก่ผู้อ่านผู้ฟังดังพระราชปรารภได้เป็นอันมาก เพราะฉะนั้นเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าได้มีประกาศกระทรวงธรรมการ หรือกรมศึกษาธิการอธิบายความให้ชัดเจนในหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ แล้วกำชับเอดิเตอร์ให้แข็งแรง การก็คงจะสำเร็จเรียบร้อยได้

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม


(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า พระยาไพศาลศิลปะศาสตร์

ขอเดชะ


ฉบับที่ 7[แก้ไข]

สวนดุสิต


วันที่ 7 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 129


พระยาไพศาล


ได้รับหนังสือตอบของเจ้าแล้ว ความคิดเป็นหลักฐานถูกต้องดีนัก ได้จดหมายสั่งไปยังพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ฉบับหนึ่ง ให้คิดร่างประกาศให้เจ้าช่วยกันเรียบเรียงให้ดีข้อความในประเทศญี่ปุ่นต้นสมุดเรื่องเอดูเคชันเมืองญี่ปุ่นลงเนื้อความกันกับเมืองเราได้ดี เรื่องราวนั้นก็เป็นเหมือนกัน แต่ต่างด้วยกาลเทศะ ฝ่ายประเทศเขาแบ่งคนเป็นสี่ตระกูล สือ หลง คงเสี่ยง ผู้ที่ถือว่าต้องเรียนแต่สือพวกเดียว แต่สือต้องเรียนก็ว่าเพราะประโยชน์ของรัฐบาล เพียงให้รัฐบาลใช้เงินเขาจึงประกาศว่าไม่เฉพาะแต่สือ ให้เรียนทั่วกันหมดแลเป็นหน้าที่ของคนทั่วไปจะต้องหาวิชาใส่ตัว

ฝ่ายเมืองเราถึงไม่ได้จำกัดพวกใด แต่ผู้เรียนรู้สึกเสียว่าสำหรับประโยชน์ราชการ ฤาประโยชน์ตนอันจะได้ทำราชการความก็เป็นอันรูปเดียวกันนั่นเอง แต่ฝ่ายเขาดูเหมือนจะมีผู้เข้าใจการแข่งขันในระหว่างพลเมืองเขาต่อพลเมืองชาติอื่น แต่ข้างเรานั้นไม่มีเสียเลย ถ้าขึ้นชื่อว่าฝรั่งแล้วก็ยอมแพ้ตายราบ ถ้าเจ๊กก็ดูถูกหนักไปแลเกินไปเสียทั้ง 2 อย่าง จนจะตกเป็นเย่อหยิ่งไม่เอาการ นี่เป็นข้อที่เดือดเนื้อร้อนใจอยู่มาก ถ้าหากว่าเรียงคำประกาศสะกิดให้เป็นทางความคิด อย่าให้แหลมเฉียบขาดถึงยุฤายั่วมากนัก แต่พอให้รู้เค้า ๆ ได้ น่าจะชักนำใจคนให้ดีขึ้น


(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์