ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกฤษฎีกากำหนดการแบ่งที่ดินในตำบลโคกโพธิ์หักให้แก่ราษฎร

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชกฤษฎีกา

กำหนดการแบ่งที่ดินในตำบลโคกโพธิ์หักให้แก่ราษฎร


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า

โดยที่การสงวนที่ดินในตำบลโคกโพธิ์หักไว้เป็นที่สำหรับเลี้ยงปศุสัตว์นั้น ไม่มีความจำเป็นต่อไปในเวลานี้ สมควรจะใช้ที่ดินซึ่งกล่าวนี้เพื่อการเพาะปลูก เป็นการบำรุงกสิกรรมส่งเสริมชาวนาผู้มีกำลังน้อยให้มีอุตสาหะตั้งตนเป็นหลักแหล่งในที่ดิน

และโดยที่วิธีอันสะดวกที่สุดซึ่งจะให้พระราชประสงค์นี้ถึงซึ่งความสำเร็จได้ ก็คือจัดแบ่งที่ดินดั่งกล่าวมาข้างต้นนั้นให้แก่ราษฎรผู้สามารถทำการเพาะปลูกได้เอง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาไว้ ดั่งต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้ให้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดการแบ่งที่ดินในตำบลโคกโพธิ์หักให้แก่ราษฎร

มาตรา ๒[๑] ให้ใช้พระราชกฤษฎีกานี้ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ประกาศให้ที่ตำบลโคกโพธิ์หักเป็นที่สำหรับเลี้ยงและผสมโค ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๓ นั้นให้ยกเลิกโดยพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา ๔ ที่ดินซึ่งสงวนไว้ในตำบลโคกโพธิ์หักนั้น ให้แบ่งให้แก่บุคคลผู้ขอ ตามที่ข้าหลวงพิเศษซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโดยพระราชกฤษฎีกานี้จะเห็นสมควร แต่ว่าในการแบ่งที่ดินนั้นให้ข้าหลวงพิเศษแบ่งให้เฉพาะแก่ผู้ขอซึ่งสามารถและรับจะทำการเพาะปลูกเองในที่ดินนั้น แต่ในครัวหนึ่งจำนวนที่ดินซึ่งจะแบ่งให้นั้นไม่ให้เกิน ๕๐ ไร่

มาตรา ๕ ให้ผู้ขอยื่นเรื่องราวขอแบ่งที่ดินต่อข้าหลวงพิเศษ ในเรื่องราวนั้นต้องระบุชื่อ สำนักที่อยู่ จำนวนคนในครอบครัว และถ้ามีที่ดินของตนทำการเพาะปลูกอยู่แล้วเท่าใด ก็ให้แสดงจำนวนเนื้อที่มาด้วย เมื่อข้าหลวงพิเศษได้ไต่สวนข้อความที่กล่าวไว้ในเรื่องราวนั้นแล้ว เห็นว่าเป็นผู้ที่มีกำลังสมควรจะได้รับแบ่งที่ดินไปทำการเพาะปลูกตามความมุ่งหมายของพระราชกฤษฎีกานี้ ก็ให้กำหนดเนื้อที่ให้พอสมควร

มาตรา ๖ การจัดแบ่งที่ดินนั้น ถ้าได้มีผู้เข้ามาตั้งอยู่แล้วโดยละเมิดต่อประกาศปี ร.ศ. ๑๒๓ ท่านว่ามิต้องคำนึงถึงการที่ได้เข้ามาตั้งอยู่ก่อนนั้น แต่ว่าถ้าผู้ที่ได้เข้ามาตั้งอยู่แล้วแสดงให้เป็นที่พอใจข้าหลวงพิเศษว่า สามารถทำการเพาะปลูกในที่ดินนั้นได้ไซร้ ท่านว่าข้อที่ได้เข้ามาตั้งอยู่โดยละเมิดนั้นไม่เป็นเหตุตัดสิทธิที่จะได้แบ่งรับที่ดิน

มาตรา ๗ ที่ดินที่ได้จัดแบ่งให้แก่ราษฎรตามพระราชกฤษฎีกานี้ ท่านว่าภายในสามปีนับแต่ได้รับการแบ่งนั้น ห้ามมิให้โอนให้แก่ผู้อื่นในทางใด ๆ นอกจากในทางสืบมรดกหรือในทางพินัยกรรม

มาตรา ๘ ให้ข้าราชการผู้มีนามต่อไปนี้เป็นข้าหลวงพิเศษตามพระราชกฤษฎีกานี้ คือ (๑) มหาอำมาตย์ตรี พระยาสุรเกษตรโศภน อธิบดีกรมทะเบียนที่ดิน (๒) อำมาตย์เอก พระยาราชเสนา เจ้ากรมการปกครอง (๓) อำมาตย์เอก พระยาวิภาคภูวดล เจ้ากรมรังวัดที่ดิน

มาตรา ๙ ให้ข้าหลวงพิเศษมีอำนาจและหน้าที่ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (๑) รับเรื่องราวขอแบ่งที่ดินในมาตรา ๔ (๒) หมายเรียกผู้ยื่นเรื่องราวและผู้อื่นมาเป็นพยานเพื่อสอบข้อความที่กล่าวในเรื่องราว เพื่อให้ข้าหลวงพิเศษเห็นเป็นที่พอใจว่า ผู้นั้นสามารถทำการเพาะปลูกในที่ดินได้ และเพื่อให้การในข้ออื่น ๆ อันจะยังให้การจัดแบ่งที่ดินนั้นเป็นไปโดยยุติธรรมภายในความมุ่งหมายแห่งพระราชกฤษฎีกานี้ ในการใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมานี้ ท่านให้ใช้กฎหมายลักษณะวิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายลักษณะพยานบังคับโดยอนุโลม คำจัดสินแบ่งที่ดินตามพระราชกฤษฎีกานี้ ท่านว่าให้ใช้ได้ต่อเมื่อข้าหลวงพิเศษเห็นชอบพร้อมกันและลงชื่อทั้งสามนาย

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ เป็นปีที่ ๓ ในราชการปัจจุบัน


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"