พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. ๒๕๓๕
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. ๒๕๓๕"
พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
ในพระราชกฤษฎีกานี้
"รถไฟฟ้า" หมายความว่า รถที่พ่วงกันเป็นขบวนยาวโดยขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแล่นไปตามราง
"ราง" หมายความว่า ทางซึ่งใช้สำหรับรถไฟฟ้า
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร
"กรรมการ" หมายความว่า กรรมการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร
"ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร
"พนักงาน" หมายความว่า พนักงานขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร รวมทั้งผู้อำนวยการ
"ลูกจ้าง" หมายความว่า ลูกจ้างขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ให้จัดตั้งองค์การขึ้นองค์การหนึ่ง เรียกว่า "องค์การรถไฟฟ้ามหานคร" เรียกโดยย่อว่า "รฟม." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Metropolitan Rapid Transit Authority" เรียกโดยย่อว่า "MRTA"
ให้ รฟม. มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใกล้เคียง และจะจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักรก็ได้
รฟม. มีวัตถุประสงค์ในการจัดระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ซึ่งการขนส่งโดยรถไฟฟ้าและดำเนินการหรือให้บริการอันเกี่ยวกับการขนส่งโดยรถไฟฟ้าดังกล่าว กับดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม.
ให้ รฟม. มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) จัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้หรือบริการต่าง ๆ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยอันเกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของ รฟม.
(๒) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ ว่าจ้าง รับจ้าง จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๓) กำหนดอัตราค่าบริการในการใช้รถไฟฟ้า ตลอดจนมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการใช้และรักษาเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการบริการรถไฟฟ้า
(๔) วางแผน สำรวจ และออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายรถไฟฟ้า
(๕) กู้หรือยืมเงินภายในและภายนอกราชอาณาจักร
(๖) ให้กู้หรือให้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม.
(๗) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๘) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบกิจการขนส่งมวลชน หรือถือหุ้นหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม.
(๙) ตั้งหรือรับเป็นตัวแทน ตัวแทนค้าต่าง หรือนายหน้าในกิจการตามวัตถุประสงค์ของ รฟม.
(๑๐) ว่าจ้างหรือมอบให้บุคคลใดประกอบกิจการส่วนหนึ่งส่วนใดของ รฟม.
(๑๑) ประสานงานในเรื่องการจัดโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้ากับหน่วยงานอื่น
(๑๒) กระทำการอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ รฟม.
ทุนของ รฟม. ประกอบด้วย
(๑) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม
(๒) เงินและทรัพย์สินอื่นที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครที่รับโอนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(๓) เงินที่รัฐบาลจ่ายเพิ่มเติมให้เป็นคราว ๆ
(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)
เงินสำรองของ รฟม. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดา ซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ และเงินสำรองอื่น ๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร" ประกอบด้วยประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักผังเมือง ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสี่คน และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ประธานกรรมการ กรรมการ และผู้อำนวยการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้และจัดเจนเกี่ยวกับการบริหาร กฎหมาย วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การผังเมือง เศรษฐศาสตร์ หรือการคลัง
ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
(๑) มีส่วนได้เสียในสัญญากับ รฟม. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ รฟม. หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของ รฟม. ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นเพียงผู้ถือหุ้น หุ้นส่วน กรรมการ หรือเข้าร่วมดำเนินกิจการโดยการมอบหมายของ รฟม. ตามมาตรา ๗ (๘)
(๒) เป็นพนักงาน
(๓) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๕) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือข้าราชการการเมือง
(๖) เป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง กรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
ให้ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระทีเหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๓ ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒
ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ รฟม. อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
(๒) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
(๓) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานหรือวิธีปฏิบัติงาน
(๔) ออกระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน หรือค่าจ้างหรือเงินอื่น ๆ ของพนักงานหรือลูกจ้าง
(๕) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน หรือค่าจ้าง การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง
(๖) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างและครอบครัว โดยได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
(๗) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าทำงานล่วงเวลา และการจ่ายเงินอื่น
(๘) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง
(๙) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ รฟม.
(๑๐) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการใช้รถไฟฟ้า
ระเบียบหรือข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจของผู้อำนวยการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา
เพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม. ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของ รฟม. และกำหนดค่าตอบแทนอนุกรรมการได้
ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ผู้อำนวยการต้อง
(๑) มีความรู้ความสามารถในการบริการกิจการของ รฟม.
(๒) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ (๑) และ (๖)
(๓) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะกรรมการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙
มติของคณะกรรมการให้ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งตาม (๓) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง แต่ไม่รวมผู้อำนวยการ
ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของ รฟม. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ รฟม. และตามนโยบาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง
ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของ รฟม.
ผู้อำนวยการมีอำนาจ
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
(๒) กำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้าง และออกระเบียบวิธีปฏิบัติงานของ รฟม. โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนของ รฟม. และเพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
นิติกรรมที่ผู้อำนวยการกระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับตามมาตรา ๑๖ วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน รฟม. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
ในกรณีที่ผู้อำนวยการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการว่างลงและยังมิได้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการ
ให้ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้อำนวยการ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการในฐานะกรรมการ
ให้พนักงานและลูกจ้างของ รฟม. มีสิทธิร้องทุกข์เกี่ยวกับการลงโทษได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ รฟม. เพื่อการนี้จะสั่งให้ รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินการได้
ในกรณีที่ รฟม. จะต้องเสนอเรื่องใด ๆ ไปยังคณะรัฐมนตรี ให้ รฟม. นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการดังต่อไปนี้ได้
(๑) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินมีจำนวนเกินคราวละหนึ่งร้อยล้านบาท
(๒) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๓) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินห้าล้านบาท
(๔) จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ถือหุ้น หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น
ให้ รฟม. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่คณะกรรมการกำหนด
ให้ รฟม. จัดทำงบประมาณประจำปี โดยแยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนนั้นให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
รายได้ที่ รฟม. ได้รับจากการดำเนินการในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของ รฟม. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงาน ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสำรองตามมาตรา ๙ หนี้เงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระ และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
ในกรณีที่รายได้มีไม่เพียงพอสำหรับกรณีตามวรรคหนึ่ง นอกจากเงินสำรองตามมาตรา ๙ และ รฟม. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ รฟม. เท่าจำนวนที่ขาด หรือเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของ รฟม.
ให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของ รฟม. ในปีที่ล่วงมาแล้ว และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำให้ภายหน้า
ให้ รฟม. วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการสาธารณูปโภคแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการลงรายการรับและจ่ายเงินสินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควร ตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าวและให้มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ
ให้ รฟม. จัดทำงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ทุกปีให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีรวมทั้งการเงินทุกประเภทของ รฟม.
ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานของ รฟม. เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของ รฟม.
ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และให้ รฟม. โฆษณารายงานประจำปีของปีที่ล่วงแล้ว แสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้วภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง
ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- อานันท์ ปันยารชุน
- นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องจัดระบบการขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งและเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกยิ่งขึ้นในการใช้บริการของระบบการขนส่งดังกล่าว สมควรจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๙๐/หน้า ๑/๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๕
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"