พระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนมากได้แสดงความจำนงขอลาออกจากสมาชิกภาพ และประกอบกับสมาชิกที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฉะนั้น สมควรยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อจะได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นใหม่ให้เป็นการสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชกฤษฎีกานี้ให้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๖"
มาตรา๒พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้ยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแต่งตั้งสมาชิกตามจำนวนที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรกำหนด ประกอบเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรอีกวาระหนึ่ง
มาตรา๔ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- สัญญา ธรรมศักดิ์
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "พระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516". (2516, 16 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 90, ตอน 165 ก, ฉบับพิเศษ. หน้า 16–17.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"