ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนักนิ์ ๒๐ มิถุนายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๑

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชกฤษฎีกา

ว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนักนิ์


พระราชปรารภ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า แต่โบราณมาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิได้เคยต้องทรงกำหนดเขตร์พระราชฐานบางตอนว่า ที่นั้น ๆ เพียงนั้น ๆ เปนที่ระโหฐาน คือ เปนที่ซึ่งผู้ใดจะเข้าไปมิได้นอกจากได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ฤๅมีพระราชดำรัสเรียกเข้าไปโดยเฉภาะ ที่ไม่ได้เคยต้องทรงขีดเส้นเช่นนี้ เพราะประการหนึ่ง คนทั่วไปย่อมมีความเกรงกลัวพระราชอาญา ไม่กล้าเข้าไปในพระบรมมหาราชวังโดยพละการตนเองเลย แลมิได้เคยคิดฤๅฝันไปอย่างอื่นนอกจากว่าพระราชวังย่อมเปนที่ระโหฐานโดยแท้ทั่วทุกแห่ง อีกประการหนึ่ง ข้าราชการยังมีจำนวนน้อย จึงได้รู้ขนบธรรมเนียมแลรู้พระราชนิยมอยู่ทั่วกัน เปนอันไม่มีผู้ใดฝ่าฝืนพระราชนิยมในเรื่องที่ระโหฐานนั้นเลย

ต่อมาเกิดมีข้าราชการบางจำพวก ซึ่งมีความคิดความเห็นเปนอย่างที่ตนเองเข้าใจว่าเปนอย่างใหม่ สำคัญคิดว่าตนมีวิชาความรู้ดีกว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายายของตน คนจำพวกนี้ดูเหมือนจะเข้าใจไปเสียว่า พระราชวังเปนสาธารณสถาน คือ เปนที่ใครจะไปจะมาเมื่อใด ๆ ก็ได้ตามใจ แลโดยความทะเยอทะยานของตนที่จะเสมอน่ากับคนอื่น เห็นใครเข้าได้ถึงไหนก็จะเข้าไปถึงบ้าง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน โดยทรงพระมหากรุณาแก่ข้าราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าได้โดยเสมอน่ากัน อย่างมากที่สุดที่จะพึงจัดให้เปนไปได้ แต่ถ้าแม้ว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการทุกคนเฝ้าได้ทุกแห่งไป ก็เปนการฟั่นเฝือเหลือเกิน แลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็จะไม่ทรงมีเวลาที่จะทรงพระราชสำราญโปร่งพระราชหฤทัยได้บ้างเลย จึงต้องมีกำหนดขีดขั้นว่าที่นั้น ๆ เพียงนั้น ๆ เปนที่ระโหฐาน ฤๅเรียกตามศัพท์ที่เข้าใจกันอยู่โดยมากว่าเปนข้างในในที่เช่นนี้ ในชั้นต้นมีกำหนดเข้าใจกันอยู่ว่า เฉภาะข้าราชการในพระราชสำนักนิ์เท่านั้นจึงจะเข้าไปได้ ครั้นต่อมาข้าราชการมีจำนวนมากขึ้น ความรู้ในขนบธรรมเนียมแลพระราชนิยมก็ไม่มีทั่วถึงกัน จึงเกิดมีความเข้าใจผิดไปได้ต่าง ๆ เช่น แลเห็นข้าราชการในพระราชสำนักนิ์เข้าเฝ้าในที่ระโหฐานได้ก็มีจิตร์ฤศยา เห็นเปนว่าพวกข้าราชการเหล่านี้ได้เปรียบตน หาคิดไม่ว่าการที่ข้าราชการในพระราชสำนักนิ์ เข้าไปในที่ระโหฐานได้นั้นเพราะเขาเปนผู้มีหน้าที่เช่นนั้น กลับคิดเห็นไขว้เขวไปต่าง ๆ เมื่อความคิดเขวกันไปได้เพียงนี้แล้ว ก็ทำให้เกิดระแวงสงไสยพวกข้าราชการในพระราชสำนักนิ์อยู่เปนเนืองนิตย์ ใช่แต่เท่านั้น มิหนำซ้ำเมื่อพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชดำรัสอนุญาตให้ผู้ใดเข้าเฝ้าได้ ในที่ระโหฐานก็พลอยระแวงสงไสยผู้นั้นไปด้วย ที่เปนไปทั้งนี้ก็เพื่อความทะเยอทะยานแล้วจึงเลยเปนเหตุให้ฤศยา แลคอยมองหาช่องหาทางที่จะเข้าใกล้ชิดพระองค์บ้างเนือง ๆ โดยความเข้าใจผิดเช่นนี้ เมื่อมีอะไรเปนรูปสโมสรฤๅสมาคมอันใดขึ้น ถ้าแม้ว่ามีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอยู่ในนั้น ก็คงจะไม่พ้นความรำคาญต่าง ๆ มีข้อสำคัญอยู่เปน ๒ สถาน คือ สถานหนึ่ง จะมีผู้ที่ทะเยอทะยานอยากเข้าเปนสมาชิก โดยความหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ในส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง แลถ้าไม่ได้เข้าก็คงจะมีความโทมนัศแลพูดจาหาความต่าง ๆ อีกสถานหนึ่ง จะมีผู้ที่ช่างคิดมาก คิดเห็นการเปนสลักสำคัญใหญ่โตเกินไปกว่าที่เปนอยู่จริง เพราะฉนั้นสโมสรฤๅสมาคมที่จะตั้งขึ้นเพื่อบำรุงพระราชสำราญก็กลายเปนเครื่องนำมาซึ่งความรำคาญพระราชหฤทัย

แต่ความจำเปนในส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีอยู่บ้าง คือ เมื่อเปนเวลาที่ว่างพระราชกิจแล้ว ก็ย่อมจะมีพระราชประสงค์ที่ทรงพระสำราญอย่างสามัญชนบ้าง แลต้องมีเวลาที่ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าราชการบางคนได้เข้าเฝ้าบ้างโดยไม่เกี่ยวแก่ทางน่าที่ราชการ แต่เพื่อมิให้ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นเพราะไม่รู้ความจริงดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรประกาศอธิบายประเพณีเดิมให้ทราบไว้ กล่าวคือ กำหนดที่ในพระราชสำนักนิ์เปนที่ระโหฐาน แต่คำว่าระโหฐานนี้ ก็มีคนเข้าใจน้อยลงทุกทีแล้ว เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกฤษฎีกาไว้ดังต่อไปนี้

พระราชกฤษฎีกา


ข้อ ๑ ที่ระโหฐาน แปลว่า ที่ลับลี้ ที่เงียบ จึงเปนที่สำราญ แลผู้คนไม่พลุกพล่าน

ข้อ ๒ พระราชวังทุกแห่ง สวนหลวงฤๅที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐาน ให้ถือว่าเปนที่ระโหฐานทั่วไป ถึงวังเจ้านายฤๅบ้านข้าราชการ ตลอดจนถึงบ้านราษฎรก็ย่อมเปนที่ระโหฐานแห่งเจ้าของ

ข้อ ๓ เมื่อกำหนดลงว่าพระราชวังแลสวนหลวง ฤๅที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐาน เปนที่ระโหฐานทั่วไปเช่นนี้แล้ว ก็ต้องพึงเข้าใจต่อไปว่า บรรดาสถานที่ตึกรามทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปนที่ระโหฐานทุกแห่งไปไม่ว่าหลังใดแห่งใด ถึงแม้ตึกรามที่ใช้เปนที่ทำการของกระทรวงใด กรมใดก็ดี ถ้าอยู่ในเขตร์พระบรมมหาราชวังแล้วก็ต้องนับว่าเปนที่ระโหฐานทั้งสิ้น แลต้องถือว่ากระทรวงแลกรมนั้น ๆ มาอาศัยที่ภายในพระราชวังเพื่อเปนที่ทำการเท่านั้น จะถือว่าเปนสาธารณสถานไม่ได้เปนอันขาด

ข้อ ๔ เมื่อพระราชวังแลสวนหลวงฤๅที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐานเปนที่ระโหฐานเช่นนี้แล้ว ก็ต้องพึงเข้าใจว่า การที่ผู้ใดจะเข้าออกก็ได้แต่โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าของบ้านเท่านั้น ผู้ใดจะถือว่าตนมีอำนาจอันชอบธรรมที่จะเดิรเข้าออกได้ตามอำเภอใจไม่ได้เปนอันขาด ต้องเข้าใจว่าจะเดินเข้าออกที่บ้านสามัญชน ตามอำเภอใจไม่ได้ฉันใด ก็เข้าออกที่พระราชวังไม่ได้ฉันนั้น

ข้อ ๕ ตามที่กล่าวไว้แล้วในข้อ ๓ ที่ทำการของกระทรวงบางกระทรวงในเวลานี้ยังตั้งอยู่ภายในเขตร์กำแพงพระบรมมหาราชวัง ที่ไปตั้งอยู่เช่นนี้ก็เปนเพราะแต่ที่กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็เหมือนส่วนหนึ่ง ๆ แห่งการในพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เจ้ากระทรวงก็เปนคนใช้ของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้รับมอบให้ดูแลคนใช้อื่น ๆ การงานใด ๆ ก็มาทำอยู่ใกล้ ๆ เพื่อสดวกแก่พระเจ้าแผ่นดิน ประเพณีอันนี้ใช้กันเรื่อย ๆ มา แต่ระเบียบราชการเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อยข้าราชการมีจำนวนมากขึ้น แต่มีความรู้สึกว่าเปนข้าพระเจ้าแผ่นดินนั้นน้อยลงจึงเข้าใจผิดไปว่าที่ทำการเปนสาธารณสถานอันหนึ่ง เลยเหมาเอาพระราชวังเปนสาธารณสถานไปด้วย ความเข้าใจอันนี้ผิดโดยแท้ พระเจ้าแผ่นดินยังทรงมีอำนาจอันชอบธรรมเต็มที่ ๆ จะทรงกำหนดอนุญาตฤๅห้ามผู้ใด ๆ มิให้เข้าในพระบรมมหาราชวัง ฤๅแม้จะทรงห้ามทั่วไปก็ได้ แต่ถ้าแม้จะทรงห้ามเช่นนั้น ก็อาจที่จะเปนทางเสียราชการได้ เพราะฉนั้นจึงต้องทรงวางเปนกำหนดไว้ดังนี้ คือ (ก) ตลอดเวลาที่ ๆ ทำการของกระทรวงฤๅกรมในราชการแผ่นดินยังคงต้องตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ให้เสนาบดีกระทรวงวังจัดการผ่อนผันในเรื่องคนเข้าออก เฉภาะในส่วนที่จำเปน ต้องไปทำการในสถานที่นั้น เพื่อมิให้เสียราชการ แต่ว่า (ข) ต้องให้เปนที่เข้าใจกันชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับผ่อนผันเช่นนี้จะถือว่าเปนผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตฤๅว่ามีอำนาจอันชอบธรรมที่จะเข้าออกในพระบรมมหาราชวังตอนอื่น ๆ แลสวนหลวงฤๅที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐานทั่วไปไม่ได้ คือต้องเข้าใจว่าการที่อนุญาตให้เข้าไปทำการในพระบรมมหาราชวัง ไม่ใช่แปลว่าอนุญาตให้เข้าที่ระโหฐานของพระเจ้าแผ่นดินได้ทั่วไป

ข้อ ๖ สถานที่ ตึก เรือน โรงใด ๆ ถึงแม้ว่าแลดูประหนึ่งว่าเปนสโมสรสถานฤๅสมาคมก็ดี ถ้าแม้ว่าอยู่ภายในเขตร์พระราชวังแลสวนหลวงฤๅที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐานแล้ว ต้องพึงเข้าใจว่าเปนที่ระโหฐานทั้งสิ้น เพราะฉนั้นข้าราชการผู้ใด ๆ จะหวังเข้าเปนสมาชิกใช้สถานที่เช่นนั้นไม่ได้เปนอันขาด เว้นเสียแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปนพิเศษเฉภาะบุคคล ฤๅจะมีพระราชดำรัสให้หาเข้าไปในที่นั้น จึงจะเข้าไปได้ จะถือว่าเหมือนอย่างสมาคมฤๅสโมสรอย่างที่ตั้งอยู่ภายนอกเขตร์พระราชวังแลสวนหลวง ฤๅที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐานไม่ได้เปนอันขาด การที่ข้าราชการในพระราชสำนักนิ์ ฤๅนอกพระราชสำนักนิ์บางคน จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้สถานที่เช่นกล่าวมาแล้วนั้น โดยอาการคล้ายเปนสโมสรไม่เปนพยานว่าใคร ๆ ก็มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะใช้สถานที่นั้นได้เท่ากัน เพราะสถานที่อันนั้นอยู่ในที่ระโหฐาน ฤๅใช้ตามศัพท์สามัญว่าอยู่ในบ้านโดยแท้ แลการที่ผู้ใด ๆ จะเข้าออกในบ้านใด ก็แล้วแต่ความพอใจแห่งเจ้าของบ้านเท่านั้น

พระราชกฤษฎีกาอันนี้ ให้เปนน่าที่เสนาบดีกระทรวงวัง สมุหราชองครักษ์ แล สมุหพระตำรวจ จะรักษาให้เปนไปโดยเรียบร้อย แลถ้าแม้มีผู้ใดเคลือบแคลงสงไสยฤๅเข้าใจข้อความผิดเพี้ยนไป ก็ให้เปนน่าที่ชี้แจงให้เข้าใจ ๓


พระบรมราชโองการดำรัสสั่งตั้งแต่วันที่ ๒๐ มิถุนายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๑ เปนวันที่ ๕๘๘ ในรัชกาลปัตยุบันนี้


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"