พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 79) พ.ศ. 2521

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 79)

พ.ศ. 2521

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2521

เป็นปีที่ 33 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า 

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทการค้าระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 แห่งธรรมนั้น การปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2520 และมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ 

มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 79) พ.ศ. 2521 ” 

มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

มาตรา 3  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้ 

(1) สำหรับเงินได้ส่วนที่ได้จ่ายไปเป็นรายจ่ายในต่างประเทศของบริษัทการค้าซึ่งรายจ่ายนั้นไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี 

(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 7) 

(2) สำหรับเงินได้ส่วนที่จ่ายเป็นภาษีเงินได้ที่สาขาในต่างประเทศของบริษัทการค้าได้เสียให้กับประเทศอื่น ซึ่งรัฐบาลของประเทศนั้นมิไดทำสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับรัฐบาลไทย 

ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่บริษัทการค้าจะนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ 

คำว่า “ บริษัทการค้า ” หมายความว่า บริษัทการค้าระหว่างประเทศซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 

มาตรา 4  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส. โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ส่วนที่ได้จ่ายไปเป็นรายจ่ายในต่างประเทศของบริษัทการค้า และเงินได้ส่วนจ่ายเป็นภาษีเงินได้ที่สาขาในต่างประเทศของบริษัทการค้าได้เสียให้กับประเทศอื่น ซึ่งรัฐบาลของประเทศนั้นมิได้ทำสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับรัฐบาลไทย ทั้งนี้เฉพาะบริษัทการค้าซึ่งเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น

อ้างอิง[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"